A-NET – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Wed, 13 Jun 2018 12:05:21 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ชำแหละจุดอ่อน TCAS ภาระหนักอึ้งของ #Dek61 สะท้อนปัญหาใหญ่ระบบการศึกษาไทย https://thestandard.co/admission-system-tcas-dek61/ https://thestandard.co/admission-system-tcas-dek61/#respond Wed, 13 Jun 2018 12:05:21 +0000 https://thestandard.co/?p=97556

“ตอนนี้ขอแค่ติดอะไรได้ก็พอ”   หากติดตามโลกโซเชียลใ […]

The post ชำแหละจุดอ่อน TCAS ภาระหนักอึ้งของ #Dek61 สะท้อนปัญหาใหญ่ระบบการศึกษาไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>

“ตอนนี้ขอแค่ติดอะไรได้ก็พอ”

 

หากติดตามโลกโซเชียลในขณะนี้ จะพบสเตตัสของนักเรียน ม.6 หลายๆ คนเขียนระบายความรู้สึก ความเครียดในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย เพราะปีนี้มีการเปลี่ยนระบบคัดเลือกใหม่เป็นระบบทีแคส (TCAS) ที่ทดลองใช้ปีนี้เป็นปีแรก และสร้างปัญหาให้กับเด็ก ม.6 จำนวนมาก

 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีการเปลี่ยนระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้ง ระบบดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน อย่างระบบเอ็นทรานซ์ (Entrance) ที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2504 เป็นระบบกลางคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่เด็กสามารถเลือกอันดับสาขาวิชาได้ 6 อันดับ แต่ก็มีปัญหาเพราะสอบได้เพียงแค่ครั้งเดียว ถ้าพลาดก็ต้องเสียเวลารอปีถัดไป

 

ปี 2549 จึงมีการเปลี่ยนระบบคัดเลือกจากระบบเอ็นทรานซ์มาเป็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบกลางหรือที่รู้จักกันในชื่อ แอดมิชชัน (Admissions) ที่ใช้คะแนนเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) และคะแนนจากข้อสอบกลางเอเน็ต (A-NET) และโอเน็ต (O-NET) แต่ว่าก็มีปัญหามาตรฐานการเรียนของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน ทำให้เกรดแตกต่างกัน ปี 2553 จึงเปลี่ยนเป็นระบบแอดมิชชัน ระยะที่ 2 โดยแก้ไขลดสัดส่วนคะแนนเกรดลง และเปลี่ยนการสอบเอเน็ต มาเป็นแกท/แพท (GAT/PAT) มีการเพิ่มข้อสอบ 7 วิชาสามัญขึ้น ปี 2556 มีการเพิ่มข้อสอบจาก 7 วิชาสามัญเป็น 9 วิชาสามัญ

 

มาปี 2561 มีการเปลี่ยนระบบการคัดเลือกใหม่อีกครั้ง เป็นระบบทีแคส ซึ่งหลายๆ คนมองว่าเป็นระบบเอ็นทรานซ์ 4.0 แต่ตั้งแต่เปิดใช้ระบบมาก็มีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง ทั้งเวลาประกาศใช้ที่กะทันหันเกินไป ปัญหาคะแนนสูงแต่ไม่สามารถเข้าคณะที่อยากเข้าได้ เพราะการกั๊กที่ รวมถึงปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้การเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้จึงมีเสียงบ่นเคล้าน้ำตาของเด็ก ม.6 มากกว่าปีอื่นๆ

 

ปัญหาของระบบทีแคสอาจจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ปัญหาการเข้ามหาลัย แต่เป็นอนาคตของวงการการศึกษาไทย THE STANDARD ชวนมองเรื่องนี้ในมุมกว้างๆ จากงานเสวนา ‘ทีแคส-ทีใคร มองอนาคตการศึกษาไทย’ เวทีจุฬาฯ เสวนาครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ระบบ TCAS คืออะไร

TCAS ย่อมาจาก Thai University Central Admission System หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ทีแคส’ เป็นระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยรูปแบบใหม่ที่ทาง ทปอ. (ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) คิดขึ้นเพื่อจัดระเบียบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

 

ระบบทีแคสเปรียบเสมือนเจ้าหน้าที่เทศกิจที่เข้ามาจัดระเบียบการค้าขายในตลาดที่มีมหาวิทยาลัยเป็นพ่อค้าแม่ค้า โดยกำหนดให้ทุกมหาวิทยาลัยต้องเปิดรับสมัครเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และเลื่อนการสอบกลางทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นโอเน็ต (O-NET) แกท/แพท (GAT/PAT) และ 9 วิชาสามัญให้ไปสอบหลังจากเด็กนักเรียนจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว

 

ระบบทีแคสจะเปิดให้เด็กสามารถสมัครเข้ามหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด 5 รอบ รอบที่ 1 สมัครโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน หรือพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ในการคัดเลือก รอบที่ 2 เป็นการรับแบบโควตาของมหาวิทยาลัย ใช้คะแนน GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญยื่น

 

รอบที่ 3 เป็นรอบรับตรง รอบที่ 4 เป็นการรับแบบแอดมิชชัน และรอบที่ 5 รอบสุดท้าย เป็นการตรงแบบอิสระ หรือรอบเก็บตก ที่มหาวิทยาลัยจะเป็นคนรับด้วยวิธีการของตัวเอง

 

ทาง ทปอ. มองว่าระบบทีแคสจะช่วยแก้ไขปัญหาการกั๊กที่นั่งในมหาวิทยาลัย เพราะเด็ก 1 คนสามารถเลือกสาขาวิชาได้สูงสุดเพียง 4 สาขาวิชา และถ้ายืนยันสิทธิ์ในรอบใดรอบหนึ่งจะถูกตัดสิทธิ์ในรอบถัดไปทั้งหมด นอกจากนี้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบ เด็กไม่ต้องเสียเงินไปสอบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ใช้เพียงคะแนนจากข้อสอบกลางไปยื่นแทน

 

ทฤษฎีที่สวย แต่การจัดการล้มเหลว

มนัส อ่อนสังข์ บก. ข่าวการศึกษาและแอดมิชชัน Dek-D กล่าวบนเวทีเสวนาว่า ระบบทีแคส ถ้ามองเป็นทฤษฎีจะเป็นทฤษฎีที่สวยมาก แต่ในทางปฏิบัติแล้วถือเป็นคนละเรื่อง

 

ปัญหาแรกคือเวลาที่กระชั้นชิด โดยทาง ทปอ. เพิ่งประกาศใช้ระบบนี้เดือนตุลาคม 2560 เท่ากับว่าจะมีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้าเพียง 4 เดือน ทำให้เด็กและมหาวิทยาลัยบางแห่งเตรียมตัวไม่ทัน

 

ปัญหาที่สอง เพิ่มภาระให้กับเด็ก เพราะการเลื่อนการสอบทั้งหมดไปไว้หลังจบ ม.6 ทำให้เด็กมีเวลาอ่านหนังสือสอบเพียง 1 เดือนเท่านั้น

 

“สมมติว่าถ้าเด็กคนหนึ่งอยากเข้าเภสัช เขาจะต้องสอบทั้งหมด 18 วิชา พอไปดูวิชาที่สอบ อย่างภาษาไทยก็ต้องสอบ 3 รอบ สอบในโอเน็ต ข้อสอบแกท และ 9 วิชาสามัญ หรืออย่างวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน ต้องสอบ 3 รอบ แล้วแต่ละรอบไม่สามารถอ่านหนังสือได้ครั้งเดียวแล้วสอบได้ทั้งหมด ต้องอ่านแยกกันอีก”

 

อย่างที่สาม การลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งทาง ทปอ. เขาคิดว่าจะช่วยลดพวกค่าที่พัก ค่าเดินทางที่จะไปสอบของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่ในทางกลับกันก็เพิ่มค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขึ้นมา เช่น ทีแคสรอบแรกจะให้ยื่นโดยใช้แฟ้มสะสมผลงาน ซึ่งบางคณะไม่สามารถนำมาวัดได้ อย่างเช่น คณะแพทยศาสตร์ ทำให้เด็กบางคนบอกว่ามหาวิทยาลัยให้ไปสอบข้อสอบของเอกชนเพื่อเอาคะแนนมายื่น ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก หรือการทำแฟ้มผลงาน ถ้าเด็กสมัคร 5 ที่ ก็ต้องทำแฟ้มทั้งหมด 5 เล่ม เพื่อไปยื่น ซึ่งค่าใช้จ่ายแต่ละเล่มก็ไม่ใช้น้อยๆ

 

ส่วนปัญหาการกั๊กที่ มนัสกล่าวว่า เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว เพียงแต่เมื่อก่อนอยู่ใต้ดิน แต่ระบบใหม่อย่างทีแคสทำให้ปัญหานี้ชัดเจนขึ้น ถือเป็นการเอามาเปิดในที่แจ้ง

 

“ทาง ทปอ. เขาคิดว่าระบบเก่าเด็ก 1 คนติดได้ 10 ที่ ซึ่งระบบใหม่จะช่วยลดให้เด็กสามารถเลือกสูงสุดได้เพียง 4 ที่ แต่มุมมองของเด็กกลับคิดว่าระบบใหม่นี้จะทำให้ปัญหาการกั๊กที่มากขึ้นกว่าเดิม เพราะเคสเด็กติด 10 ที่ มันเกิดได้ 1 ใน 100 แต่ระบบใหม่เด็กทุกคนสามารถติดได้ 4 ที่ จำนวนก็เพิ่มมากกว่าเดิมอีก”

 

มนัสกล่าวต่ออีกว่า ในมุมมองของเด็ก เขาคิดว่าน่าจะมีการทำวิจัยระบบก่อน ให้เด็กมัธยม 600 คนมาลองระบบนี้ แล้วดูว่าผลลัพธ์ของแต่ละคนเป็นอย่างไร ไม่ใช่เอาเด็กทั้งรุ่นมาเป็นตัวทดลอง และปัญหาการกั๊กที่ เขาคิดว่ามันมีอยู่แล้ว เพราะเป็นสิทธิของเด็กๆ ที่จะเลือกได้หลายๆ ที่ แต่ทาง ทปอ. ควรมีการเตรียมวิธีรับมือที่ดีกว่านี้ เช่น ให้มีระบบตัวสำรอง

 

ด้าน รศ.ดร.วิชาญ ลิ่วกีรติยุตกุล ภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ระบบทีแคสเด็กที่เก่งจะติดตั้งแต่ตอนรอบแรกๆ เหลือเด็กปานกลางกับเด็กอ่อนไว้ ซึ่งสร้างความกดดันให้เด็กเหล่านี้เป็นอย่างมาก

 

“ระบบทีแคสเหมือนท่ออันหนึ่งที่เด็กทุกคนต้องผ่านท่อนี้ไปเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เด็กต้องโฟกัสทุกอย่าง ต่างจากเมื่อก่อนที่จะโฟกัสแค่ที่ที่เขาอยากเข้า”

 

เด็กเคว้งคว้าง ไร้ที่ปรึกษา ปัญหาเด็ก หรือปัญหาใคร

มนัสกล่าวว่า ทางเว็บเด็กดีเคยทำโพลคำพูดที่เด็กไม่อยากฟังจากผู้ปกครองมากที่สุด คำที่ได้อันดับหนึ่งคือคำว่า ‘เอาไงต่อ’ เพราะเด็กจะรู้สึกเหมือนถูกทิ้งไว้กลางทาง ผู้ปกครองบางท่านไม่ได้ศึกษาตัวระบบ ทำให้เด็กไม่สามารถปรึกษาได้

 

“เด็กไม่มีคนให้ปรึกษา อย่างครูแนะแนว บางโรงเรียนมีแค่คนเดียว บางโรงเรียนไม่มี หรือที่หนักกว่าคือ เอาครูวิชาอื่นมาสอน ซึ่งก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ มีเด็กบางคนเล่าว่าเอาเรื่องระบบไปปรึกษาครูแนะแนว แต่ครูตอบกลับมาว่าฉันก็รู้เท่าๆ กับเธอ”

 

สุดท้ายเด็กจะเลือกคณะที่คะแนนตัวเองติดได้พอ ส่วนจะชอบหรือไม่ชอบอีกเรื่องหนึ่ง ทำให้เกิดปัญหาเด็กซิ่ว เพราะไม่ได้เรียนในคณะที่ใช่

 

ด้าน ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ รักษาการเลขาธิการ ทปอ. กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ โดยทาง ทปอ. จะเปิดศูนย์เฉพาะกิจชื่อว่า ‘ศูนย์พี่ช่วยน้องสอบ TCAS’ เป็นศูนย์ที่ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และตอบปัญหาเกี่ยวกับระบบทีแคส รวมถึงจะมีบริการคอมพิวเตอร์ไว้สำหรับอำนวยความสะดวกให้เด็กสมัครสอบ การตั้งศูนย์จะมีการกระจายทั่วทุกภูมิภาค ภาคเหนือ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภาคกลาง ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

 

และในกรุงเทพฯ เปิดทั้งหมด 5 ศูนย์ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สำนักงาน ทปอ.

 

ปัญหา GPAX การกันที่ และไม่มีการจัดลำดับ
ปี 2560 กระทรวงศึกษาธิการออกนโยบายว่า

 

1. ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต้องเอื้อให้นักเรียนได้ใช้เวลาในห้องเรียนครบตามหลักสูตร เพื่อลดผลกระทบในการจัดการเรียนการสอนและนักเรียนละทิ้งห้องเรียน โดยสถาบันการศึกษาไม่ควรเริ่มกระบวนการรับเข้าเร็วกว่าเดือนมกราคม

 

2. สถาบันการศึกษาต้องนำผลการสอบจากส่วนกลาง เช่น GAT, PAT วิชาสามัญ O-NET, GPAX มาใช้ในการคัดเลือกทุกระบบ ทั้งระบบกลาง (แอดมิชชัน) ระบบรับตรงและระบบโควตา โดยสถาบันอุดมศึกษาต้องไม่จัดสอบเอง เพื่อลดการวิ่งรอกสอบและลดความตึงเครียดของนักเรียน รวมทั้ง ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

 

3. ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมการณ์ศึกษา ควรให้ความสำคัญกับระบบกลาง ส่วนสถาบันใดต้องการรับตรง จะต้องมีเงื่อนไข เช่น การรับนักเรียนในพื้นที่ การรับนักเรียนจากโรงเรียนในสังกัด การรับนักเรียนดีเด่นพิเศษ เป็นต้น

 

ซึ่งเด็กส่วนใหญ่บอกว่า GPAX เป็นคะแนนที่ไม่ยุติธรรม เพราะมีการปล่อยเกรด มาตรฐานการให้เกรดของแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน โรงเรียนไหนปล่อยเกรดก็เท่ากับว่าเด็กมีโอกาสมากกว่าโรงเรียนอื่นๆ ทั้งนี้ TCAS รอบที่ 3 มีปัญหาคือ เด็กจาก กสพท. (กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย) มากันที่นั่ง และทำไมไม่มีการให้จัดลำดับ

 

โดยทาง ทปอ. ยอมรับในปัญหาตรงนี้และจะนำไปปรับปรุงแก้ไขในปี 2562 ซึ่ง ผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ กล่าวว่า “การกันที่ในปีหน้าคงลดน้อยถอยไป เรารับฟังข้อเสนอในเรื่องของการจัดลำดับ แต่ปีนี้เราไม่สามารถจัดลำดับได้ และได้พยายามทำให้รู้สึกดีขึ้นโดยการมีรอบ 3/2 มาช่วย โดยจะแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและไม่นิ่งนอนใจ”

 

อีกทั้งยังกล่าวเสริมอีกว่า การที่ระบบ TCAS มี 5 รูปแบบก็เพื่อให้เด็กได้เลือกว่า เขาเหมาะสมกับรูปแบบไหนในการจะเข้ามหาวิทยาลัย โดยรอบพอร์ตโฟลิโอเป็นรอบที่สามารถบ่งชี้ความถนัดเฉพาะของเด็กได้ ซึ่งเอื้อให้กับเด็กที่ไม่เก่งแต่มีความสามารถ รอบโควตาก็เช่นกัน เป็นการให้โอกาสกับเด็กในพื้นที่ ไม่ใช่เด็กเก่ง ดังนั้นสองรอบแรกคือต้องการเด็กที่มีความสามารถเฉพาะ ไม่ใช่เด็กเก่ง และเป็นการให้โอกาสต่อเด็กในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอย่างเท่าเทียมมากขึ้น

จากทีแคสสู่คำถาม มหาวิทยาลัยมีไว้ทำอะไร

หลายท่านบนเวทีเสวนาสะท้อนแง่คิดว่าปัญหาใหญ่ตอนนี้คือเด็กไม่ได้เลือกที่คณะหรือสิ่งที่ตนชอบ แต่เลือกตามที่คะแนนที่ได้ กล่าวคือ ถ้าคะแนนถึงตรงไหนก็เลือกเรียนที่นั่น ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นคือ เด็กที่จบออกมากลายเป็นที่ไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

 

โดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ตั้งคำถามว่า “จริงๆ แล้วเรามีมหาวิทยาลัยไว้ทำอะไร มีไว้เพื่อผลิตบุคคลเพื่อขายเป็นสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด หรือเป็นช่วงที่คนหนุ่มสาวมาค้นพบศักยภาพตนเอง พัฒนาตนเองเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนสังคม”

 

อย่างไรก็ดี หากต้องการจะเปลี่ยนอนาคตของประเทศทางมหาวิทยาลัยเองก็มีส่วนสำคัญที่จะต้องช่วยแก้ไขปัญหา กล่าวคือ ทางมหาวิทยาลัยเองต้องไม่พยามยามคัดเอาแต่เด็กเก่งๆ ต้องเปิดโอกาสให้เด็กทุกคน ทั้งนี้ที่เกิดปัญหานี้ขึ้นส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามหาวิทยาลัยพยายามสรรหาเด็กเก่งๆ ทำให้ระบบไม่ตรงไปตรงมา

 

ซึ่ง ผศ.อรรถพล เสริมความเห็นว่า หากจะมองอนาคตประเทศไทยไปให้ไกลกว่านี้ เราต้องคิดว่า เราจะให้มหาวิทยาลัยถูกใช้งานเพียงแค่นี้จริงหรือ เราจะมองการจัดเด็กเป็นการจัดเข้าลู่ เด็กก็พยายามทำให้ตัวเองเก่งมากขึ้นเพื่อที่ตนเองจะได้มีโอกาสมากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นเราจะอยู่ในยุคที่มีการแข่งขันทางการศึกษาสูง เท่ากับว่าต้องปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนพาลูกหลานตัวเองขึ้นไปให้ได้ โดยไม่สนใจว่าใครจะหล่นลงไปข้างล่างบ้าง ตลอดเวลา 5 ปี โลกของงานเปลี่ยนไปแล้ว พ่อแม่ต้องอย่าเอาประสบการณ์มาวางรากฐานให้ลูก หากอยากจะให้การศึกษาและสังคมก้าวหน้าไป เราต้องช่วยกันตั้งคำถามว่ามีมหาวิทยาลัยเพื่ออะไร ถ้าตอบไม่ได้ก็จะวนอยู่ในระบบแบบเดิม

 

ธรรมชาติของความเครียดและดราม่า
ผศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ คณบดี คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประเด็นความตึงเครียกที่ #Dek61 ต้องเผชิญในเวลานี้ว่า

 

“เวลาที่มีเหตุการณ์อะไรก็ตามที่สังคมต้องแก้ไขกันในเวลาสั้นๆ โฟกัสจะมารวมกันที่ความรู้สึก มันจะมีความรู้สึกเกิดขึ้นเยอะ จนไม่ได้ฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน”

 

TCAS เป็นปัญหาที่เกิดกับเด็กทุกๆ คน กล่าวคือเป็นเรื่องการแข่งขันและโอกาส เหมือนกับการที่คุณอยากไปดูคอนเสิร์ต คุณมีเงินก็จริงแต่คุณจองไม่ทัน ก็ทำให้เกิดความเครียดได้ แต่ครั้งนี้หลายๆ คนเครียดหนักกว่าเดิม เพราะระบบนี้ยังใหม่เลยมีความไม่แน่นอน ไม่มั่นใจ การสื่อสารก็ยังไม่ชัดเจน ทำให้เด็กกลัวและที่สำคัญยังเกิดขึ้นหลายรอบ จะมีเด็กบางคนที่หวังและผิดหวังถึง 3 รอบ ทำให้ความรู้สึกเข้มข้น ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งตามจิตวิทยาแล้ว อะไรก็ตามที่เราคาดการณ์ไม่ได้หรือควบคุมไม่ได้ย่อมทำให้เกิดความเครียดเสมอ

ผศ.ดร.พรรณระพี สุทธิวรรณ เสนอวิธีการลดหรือคลายความเครียดสำหรับเด็กไว้สองวิธีคือ ให้เด็กลองคิดว่าถ้าไม่ติดจะทำอย่างไร ซึ่งผู้ปกครองต้องช่วยด้วย จะได้เปิดโอกาสและมีประตูให้เลือกหลายทาง ให้เตรียมความพร้อมเอาไว้ และอย่าไปยึดติดกับประตูเดียวที่คนอื่นยื่นเข้ามาให้

 

อีกอย่างคือการจัดการกับตัวเอง ควบคุมตัวเองให้ได้ โดยพ่อแม่ต้องเป็นแบ็กอัพให้กับลูก เพราะนี่คือเกมของเด็กที่ลูกต้องสู้และฝ่าฟันให้ได้ เด็กจะต้องจัดการกับตัวเองให้ได้ เพราะความสำเร็จในชีวิตคนมาจากความรู้และความสามารถบวกกับความไม่ท้อถอย และไม่ใช่เพียงแค่การเข้าสู่ระบบ TCAS เท่านั้น แต่ยังมีความรู้ความสามารถอีกมากมายให้เราได้เรียนรู้

 

ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน กล่าวคือปัญหาในครั้งนี้พ่อแม่ต้องใช้สติให้มาก วางทุกสิ่งอย่างและมาคุยกับลูก เพราะเด็กไม่ได้แบกแค่ความคาดหวังของตัวเองเท่านั้น แต่แบกความคาดหวังของพ่อแม่อีกด้วย ยังไม่รวมถึงป้าข้างบ้านและโซเชียลมีเดียต่างๆ ซึ่งพ่อแม่ต้องให้กำลังใจลูก ไม่ว่าลูกสอบได้หรือไม่ก็ตาม

 

“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความสามารถของลูก ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ระบบ และถึงแม้ลูกจะสอบไม่ติดก็ก็ไม่ได้ทำให้พ่อแม่รักเขาน้อยลง พ่อแม่ต้องอย่าตั้งคำถามที่เด็กไม่สามารถตอบได้ เช่น ทำไมไม่ดูหนังสือ ทำไมเราซวย ทำไมระบบไม่ดี คำถามพวกนี้ไม่มีคำตอบ แต่เป็นการเพิ่มความกดดันให้กับเด็ก มันจะทำให้ทะเลาะกัน และเหมือนกับคุณผลักลูกไปให้คนอื่น”

 

นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำกับผู้ปกครองเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะเลือกเส้นทางให้ลูก ให้ฟังลูกก่อน เพราะในความจริงแล้วเด็กไม่ได้กลัวว่าตัวเองเข้าเรียนไม่ได้ แต่เขากลัวว่า จะทำให้พ่อแม่เสียใจ พ่อแม่อย่าเอาความกดดันและความฝันของตัวเองไปฝากลูกไว้ เพราะเขาก็มีความฝันและเส้นทางของเขา อย่าไปตีกรอบแล้วยัดความเป็นตัวตนหรือสิ่งที่ต้องลงไป

 

“สำหรับตัวเด็กเองก็เช่นกัน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องแข่งขัน การแข่งขันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรามีทั้งผิดหวังและสมหวังเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต ครั้งนี้ก็เป็นอีกบททดสอบหนึ่งที่หนูจะผ่านไปได้ดี เพราะหนูเลือกด้วยตัวเอง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องท้อถอย ความฝันของเรา เราต้องไปให้ถึง อย่าให้คนอื่นมาบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะเปลี่ยนเราต้องเปลี่ยนด้วยตัวเอง อย่ากลัวการแข่งขัน ต้องเชื่อในตัวเอง”

 

ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบแน่ชัดว่า อนาคตของ #Dek61 ที่ยังไม่ได้ที่เรียนจะดำเนินต่อไปอย่างไร และมรดกทีแคสที่มาพร้อมกับปัญหามากมายจะถูกส่งมอบไปถึง #Dek62 หรือไม่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในวันนี้คือผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่ผู้กำหนดนโยบายควรยอมรับและแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด ที่สำคัญอย่าลืมฟังเสียงเด็กๆ ที่ต้องแบกรับชะตากรรมเหล่านี้ด้วยตัวของพวกเขาเอง

 

อ้างอิง:

The post ชำแหละจุดอ่อน TCAS ภาระหนักอึ้งของ #Dek61 สะท้อนปัญหาใหญ่ระบบการศึกษาไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/admission-system-tcas-dek61/feed/ 0
จากเด็กเอ็นทรานซ์ โอเน็ต สู่ #dek61 เมื่อความเท่าเทียมและเสถียรภาพของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่มีอยู่จริง https://thestandard.co/university-entrance-exam/ https://thestandard.co/university-entrance-exam/#respond Thu, 07 Jun 2018 09:41:23 +0000 https://thestandard.co/?p=95892

หากคุณได้ติดตามข่าวสารหรือเป็นนักเลื่อนนิ้วตัวยงในทวิตเ […]

The post จากเด็กเอ็นทรานซ์ โอเน็ต สู่ #dek61 เมื่อความเท่าเทียมและเสถียรภาพของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่มีอยู่จริง appeared first on THE STANDARD.

]]>

หากคุณได้ติดตามข่าวสารหรือเป็นนักเลื่อนนิ้วตัวยงในทวิตเตอร์ คุณคงคุ้นเคยกับแฮชแท็กอันลือลั่น #dek61 อันเป็นแฮชแท็กที่พูดถึงประเด็นการเข้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2561 หรือเด็กกลุ่มล่าสุดที่กำลังจะก้าวพ้นวงจรกระโปรงบานขาสั้นไปสู่วัยมหาวิทยาลัยด้วยระบบรูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า TCAS หรือ Thai University Center Admission System ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเริ่มนำมาใช้ในปีการศึกษานี้เป็นครั้งแรก เป็นระบบที่ออกแบบโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งสารภาพตามตรงว่าเราเองในฐานะผู้ที่เคยผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาก่อนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราถึงกับ ‘ตามไม่ทัน’ กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือนี่คือ ‘ความก้าวหน้า’ ด่านแรกของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาประเทศให้สอดคล้องกับนโยบาย 4.0 ของรัฐบาล?

 

 

 

 

การเปลี่ยนแปลงระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้คือสิ่งซับซ้อนที่สุดที่คนในรุ่นก่อนๆ อาจไม่เข้าใจ ไม่ใช่แค่ประชาชนทั่วไป แต่รวมไปถึงผู้จัดสอบเองก็ดีที่อาจจะยังไม่เข้าใจธรรมชาติและวิถีชีวิตของนักเรียนไทยมากพอ ทั้งการให้สิทธิ์เด็กนักเรียนสายวิทย์-คณิตที่อยากเรียนแพทย์ได้เลือกคณะมากกว่าเด็กสายศิลป์ การปรับระบบการรับตรงของทุกๆ มหาวิทยาลัยให้มารวมกันไว้ที่เดียว หรือการเปิดเลือกอันดับคณะที่อยากเข้าเรียนหลายๆ รอบ นำมาซึ่งเม็ดเงินมหาศาลจากเด็กนักเรียนไทย ตัวเด็ก #dek61 เองก็คงพยายามเข้าใจกระบวนการนี้อย่างลึกซึ้ง เพราะมันหมายถึงอนาคตของตัวพวกเขาเอง แต่พวกเราคนอื่นๆ ที่ไม่ต้องไปสอบกับพวกเขาล่ะ เราควรจะต้องทำความเข้าใจสิ่งนี้ไหม อย่างน้อยก็ลองมองดูลูกหลานในชายคาตัวเองสักหน่อยว่าพวกเขากำลังเผชิญอะไรกันอยู่

 

THE STANDARD ถือโอกาสสำรวจสถานการณ์ของ #dek61 และปัญหาที่เด็กรุ่น 61 นี้พบเจอ เอื้อนเอ่ยส่งต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มคนที่เคยผ่านการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมาก่อนตั้งแต่ยุคเอ็นทรานซ์จนถึงปัจจุบัน เพื่อรับฟังถึงประสบการณ์ ทัศนคติ ส่งต่อวิธีคิดและกำลังใจให้เด็กปี 61 รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อเผชิญปัญหาโดยลำพัง

 

พูดกันตรงๆ เถอะว่าประเทศไทยยังคงให้คุณค่าของนักเรียนไม่เท่ากัน เด็กสายวิทย์-คณิตมักเป็นเด็กที่เก่งกว่าเสมอในสายตาครูบาอาจารย์ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่บางครอบครัวที่ยังคงยัดเยียดความคิดว่า ‘ต้องเรียนมหาวิทยาลัยรัฐ’ ‘ต้องสอบให้ติด’ และดูเหมือนว่าในปีพุทธศักราช 2561 วิธีคิดดังกล่าวยังคงตามหลอกหลอนสังคมนี้อยู่เสมอ จึงทำให้เกิดความคิดเห็นบางส่วนของ #dek61 ในทวิตเตอร์เริ่มเกิดความกดดัน ความเครียดที่ถูกความคาดหวังจากครอบครัวถาโถมเข้ามาอย่างไม่ตั้งตัว

 

ปัจจุบันการสอบติดหรือสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยรัฐมันไม่ใช่ปัญหาแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดังมันเป็นการสร้างอะไรบางอย่างเช่นกัน

 

“เหตุผลเดียวที่พ่อแม่ต้องการให้ลูกสอบติดมหาวิทยาลัยรัฐคือมันราคาถูก ถูกกว่าเยอะมากในยุคนั้น ถูกกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนหลายเท่า หรือการสอบติดเพื่อเป็นเกียรติเป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล ซึ่งปัจจุบันมันไม่ได้สำคัญอะไรเลยนะ ลองเปรียบเทียบ มันเหมือนกับการยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ปัจจุบันการสอบติดหรือสอบไม่ติดมหาวิทยาลัยรัฐมันไม่ใช่ปัญหาแล้ว ได้รับการยอมรับเยอะขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนมหาวิทยาลัยชื่อดังมันเป็นการสร้างอะไรบางอย่างเช่นกัน” เจิมสิริ เหลืองศุภภรณ์ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าว THE STANDARD เธอเป็นหนึ่งในผู้ผ่านระบบเอ็นทรานซ์ ในขณะที่เรากำลังเล่าเรื่องระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยรุ่นปัจจุบันให้เธอฟัง คนรอบข้างในวงสัมภาษณ์เองก็มีปฏิกิริยาที่น่าสนใจ ทั้งการกล่าวคำว่า ‘บ้า’ ‘โหดจัง’ หรือการตั้งคำถามว่า ‘แล้วทั่วโลกเขาใช้ระบบอะไรกันวะ?’

 

ตัวอย่างการประกาศผลสอบเอ็นทรานซ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 ในปี 2530
Photo: YouTube – chainant

 

#dekEntrance วัดใจพร้อมกันทั้งประเทศ

แน่นอนว่าการสอบเอ็นทรานซ์ (Entrance Examination) นั้นเป็นวิธีที่ละมุนละม่อมและเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว วัดใจพร้อมกันทั้งประเทศด้วยการสอบรอบเดียวในช่วงปี 2516-2542 (ส่วนช่วงยุคเอ็นทรานซ์ 2 ในปี 2542-2548 จะมีการสอบวิชาหลักและวิชาเฉพาะทั้งหมด 2 รอบ) ติดก็ติด ไม่ติดก็คือไม่ติด และคีย์เวิร์ดที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ อย่างเช่น ‘ฝนรหัสคณะ’ ‘จุดเทียนดูผลสอบที่บอร์ด’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเอกลักษณ์ที่จดจำได้ของผู้ที่ผ่านการสอบมาในยุคนั้น

 

 

“ทำไมมันซับซ้อนจังวะ” คือคำอุทานของ อธิษฐาน กาญจนะพงศ์ #dek47 หนึ่งในโปรดิวเซอร์ทีมพอดแคสต์ของ THE STANDARD เมื่อเราเล่าวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของ #dek61 ให้เขาฟังทั้งเรื่องวิธีการสอบ การคัดเลือกถึง 5 รอบ นำมาซึ่งมูลค่าการสอบที่เป็นเม็ดเงินมากมาย

 

“คือตอนรุ่นเรา อยากจะสอบอะไรก็สอบ เด็กศิลป์จะไปสอบเลขก็ไป ถ้าไหว ในยุคที่เราสอบ โดยธรรมชาติหลายๆ คนจะโดนบล็อกอยู่แล้ว เพราะหลายๆ คณะจะเขียนข้อกำหนดไว้เลยว่าต้องการคะแนนของวิชาไหนบ้าง ซึ่งเด็กแต่ละคนมันสามารถปลดปล่อยความสามารถตัวเองได้ ขึ้นอยู่กับศักยภาพ มันจะไม่โดนบล็อกด้วยตัวระบบแบบนี้ วัดกันที่ศักยภาพล้วนๆ

 

“ถ้าเป็นคำตอบในเชิงธุรกิจ มันแย่มากเลยนะ มันเหมือนการตัดสินชีวิตโดยใช้เงินเป็นปัจจัยให้คนเข้าถึงสิทธิ์นั้น เหมือนเอาเงินแลกโอกาส จะเก่งจะไม่เก่งก็ควรชี้ชะตาด้วยศักยภาพของเด็กเอง อย่าให้เงินมาเป็นรูปธรรมในการเอาเด็กเข้ามหาวิทยาลัย ควรสร้างทางเลือกให้เด็กมากกว่านี้ แล้วสังคมมันก็จะเข้าใกล้คำว่าเท่าเทียมอย่างที่ทุกคนอยากให้มันเป็น”

 

คุณรู้หรือไม่ว่าค่าสมัครสอบของระบบ TCAS นี้จะทำให้ผู้ปกครองหรือเด็กๆ สูญเสียเงินกันไปมากเท่าไร พร้อมแล้วคุณลองหยิบเครื่องคิดเลขมาคำนวณพร้อมๆ กัน

  • ค่าสมัครสอบวิชาพื้นฐานอย่าง GAT-PAT ค่าสอบตัวละ 140 บาท (และแน่นอนว่าไม่ได้สอบกันแค่ตัวสองตัว)
  • หากลูกของคุณอยากเรียนหมอ ต้องเสียค่าสอบวิชาความถนัดทางการแพทย์อีก 800 บาท ค่าสมัครสอบ 9 วิชาสามัญอีกตัวละ 100 บาท
  • หากตั้งใจจะยื่นคะแนนในรอบรับตรงร่วม (รอบ 3) ต้องเสียค่ายื่นสมัครอันดับละ 200 บาท และแต่ละอันดับจะต้องเสียค่าดำเนินการและยืนยันสิทธิ์อีก 100 บาท เท่ากับว่าหากเลือกครบทั้ง 4 อันดับจะต้องเสียเงิน 900 บาท
  • และถ้าหากว่าในรอบรับตรงร่วมยังไม่ติดอีก คุณก็ต้องพาลูกหลานของคุณไปยื่นคะแนนเข้าสู่รอบแอดมิชชัน (รอบ 4) ซึ่งเสียค่ายื่นสมัครอันดับละ 150 บาท หากจะยื่นอันดับเพิ่มเติมต้องเสียเพิ่มอันดับละ 50 บาท เพราะฉะนั้นหากเลือกครบ 4 อันดับในรอบนี้จะต้องเสียเงินทั้งหมด 250 บาท

 

ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้เหมือนๆ กัน คุณน่าจะเข้าใจได้ ส่วนอีกหนึ่งคนอย่าง นทธัญ แสงไชย #dek48 โปรดิวเซอร์ทีมพอดแคสต์ของ THE STANDARD เอง ผู้เป็นกลุ่มนักเรียนที่ใช้ระบบการสอบเอ็นทรานซ์รุ่นสุดท้ายในปี 2548 นั้นก็มีความคิดเห็นบางส่วนในฐานะที่เขาเองก็ติดตามแฮชแท็ก #dek61 มาบ้าง “สำหรับเรา เราว่าการเรียนมหาวิทยาลัยไม่ใช่ทุกอย่างจริงๆ แต่จริงๆ เราเองก็ผ่านระบบนั้นมา เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นการเลือกสังคม เลือกอะไรบางอย่างต่างหาก แต่การสอบติดมันไม่ได้หมายความว่าเก่ง มันไม่ใช่เครื่องพิสูจน์เดียว และที่ได้ตามอ่านในทวิตเตอร์ เราเองก็อยากฝากถึงผู้ปกครอง พ่อแม่ทุกคนก็คงเครียดและกังวลในสถานการณ์แบบนี้ เพราะทางออกมันดูแย่ และเราทำอะไรไม่ได้เลย สิ่งที่ดีที่สุดคือการเป็นทีมเดียวกับลูก”

 

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์
Photo: YouTube – GTHChannel

 

#dek49 ผลผลิตของระบบการศึกษาไทยที่ถูกบั่นทอนจิตใจซ้ำแล้วซ้ำอีก

ถ้าให้เปรียบเทียบความเลวร้ายของระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเมืองไทย ปี 2549 คือปีหนึ่งที่ทุกคนจดจำได้ โดยเฉพาะการที่ค่ายหนัง GTH ได้เก็บภาพประวัติศาสตร์การสอบเหล่านั้นผ่านเด็กผู้ชาย 4 คนที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายในการ ‘เปลี่ยนระบบการสอบ’ เป็นครั้งแรก ซึ่งภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์’ ที่เข้าฉายในอีกหนึ่งปีให้หลังคือบันทึกหน้าหนึ่งที่ระบบการศึกษาไทยทำการบั่นทอนจิตใจเด็กวัยหัวเลี้ยวหัวต่อให้เหลวแหลกประหนึ่งดินสอ 2B ที่ทู่เกินฝน

 

ปี 2549 คือปีที่ปรับเปลี่ยนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจากเดิมที่เป็นระบบเอ็นทรานซ์ มาเป็นระบบที่ชื่อว่า ‘แอดมิชชัน’ เป็นปีแรก ท่ามกลางความไม่รู้อีโหน่อีเหน่ใดๆ ของนักเรียน โดยยุคนั้นจะแบ่งการสอบเก็บ คะแนนไว้ยื่นเข้าคณะต่างๆ 2 ครั้ง และแน่นอนว่าศัตรูของเด็กไทยในครั้งนี้คือ ‘O-NET’ และ ‘A-NET’ (ซึ่งพัฒนามาเป็น GAT/PAT ในภายหลัง) สอบครั้งเดียว รอบเดียว พร้อมกันทั่วประเทศ

 

การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสามัญ (Ordinary National Educational Test: O-NET) คือชื่อจริงของ O-NET อันเป็นการสอบความรู้รวบยอดปลายช่วงชั้น 6 ภาคเรียน โดยผู้จะต้องทำการสอบคือนักเรียนในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3, 6, มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ตามมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ทำการทดสอบความรู้ในกลุ่มสาระต่างๆ รวม 8 กลุ่มสาระ ได้แก่ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, สุขศึกษาและพลศึกษา, ศิลปะ การงานอาชีพ และเทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศ โดยมีช่วงเวลาสอบในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นการสอบประจำปีเพียงครั้งเดียวอย่างถาวร

 

ส่วน A-NET หรือ Advanced National Educational Test คือการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติในระดับขั้นสูงแบบเฉพาะทางสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เท่านั้น โดยเป็นการเอื้ออำนวยสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้คัดผู้เข้าเรียนที่มีความรู้ตรงความถนัดตามสาขาวิชาเรียน

 

 

“เราได้โควตาเรียนดีตั้งแต่ตอนเริ่มเรียน ม.6 เทอม 2 ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเรียนหรือเร่งอ่านหนังสือมาก แต่ตัวเราเองก็ลงสมัครสอบทุกอย่างไว้นะ เหมือนอยากวัดความรู้และอยากเก็บคะแนนไว้ใช้ เผื่อเกิดฉุกละหุกอะไร คือยุคนั้นมันจะมี ‘บัณฑิตแนะแนว’ ที่จะมาทำตารางเปรียบเทียบคะแนนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศว่าต้องมีช่วงคะแนนเท่าไรถึงเท่าไรจึงจะมีสิทธิ์สมัครเข้าคัดเลือก แล้วหลายคณะก็มีแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ของสายวิทย์ ของสายศิลป์” บพิตร วิเศษน้อย บรรณาธิการเว็บไซต์ Dooddot คือหนึ่งในเด็กที่สอบในศักราชนั้น และสิ่งที่เขาเล็งเห็นในเรื่องการสอบครั้งนี้คือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของนักเรียนไทย

 

“ต้องเข้าใจก่อนว่าโรงเรียนในต่างจังหวัดที่เราเรียนมาเขาแบ่งสายวิทย์กับศิลป์ไปถึงความฉลาดกับนิสัยเลยนะ สายวิทย์คือเด็กเรียน ประพฤติดี สายศิลป์คือเด็กโง่ นิสัยแย่ เราจะเห็นความแตกต่างทางความเครียดของเด็กกรุงเทพฯ และเด็กต่างจังหวัด อย่างเด็กในเมืองก็ต้องต่อสู้กับเรื่องพ่อแม่ว่าจะได้เรียนแบบที่ชอบไหม เพราะโอกาสมันมีมากกว่า ในขณะที่เด็กในโรงเรียนต่างจังหวัดอย่างเราส่วนใหญ่คือมองการสอบแอดมิชชันเป็นเรื่องปกติเหมือนสอบทั่วไปเลย เพราะพวกเขามั่นใจเลยว่าไม่มีทางไปแข่งขันได้หรอก อย่างมากสุดก็ได้มหาวิทยาลัยตามหัวเมืองใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น”

 

ตอนนั้น สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) โดนด่าเยอะมาก เพราะเขาเปิดรับสมัครสอบทางอินเทอร์เน็ตในช่วงที่ประเทศเรายังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกบ้านขนาดทุกวันนี้ ทุกอย่างเลยเกิดขึ้นที่โรงเรียน สมัครสอบในร้านอินเทอร์เน็ตก็มี

 

“จริงๆ ปีที่เราสอบมันเริ่มมีปัญหาตั้งแต่การประกาศระบบแล้ว อย่างการจัดสอบ O-NET ในช่วงกลางเทอมแรกของ ม.6 ตอนนั้นหลายโรงเรียนถึงขั้นต้องเร่งสอนให้ทันเพื่อให้คลุมเนื้อหาที่ O-NET อาจจะออก อีกเรื่องคือตอนนั้น สทศ. (สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ) โดนด่าเยอะมาก เพราะเขาเปิดรับสมัครสอบทางอินเทอร์เน็ตในช่วงที่ประเทศเรายังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ทุกบ้านขนาดทุกวันนี้ ทุกอย่างเลยเกิดขึ้นที่โรงเรียน สมัครสอบในร้านอินเทอร์เน็ตก็มี พอหลายคนมาคาดหวังกับแอดมิชชันก็เกิดปัญหาตามมาเป็นพรวนเลย ทั้งเรื่องการประกาศผล มีเคสการประกาศ T-Score เอาจริงๆ ก็ร้องไห้กันทั้งประเทศ ถึงขั้นที่ สทศ. ต้องออกมาประกาศแถลงออกทีวีว่าคะแนนผิดพลาด คิดดูสิ มันผิดพลาดจนเกินไป ทุกคนบอกเลยว่าเป็นปีที่เหมือนผู้ใหญ่เล่นสนุกกับการทดลองระบบ แต่กับเด็กนั้นไม่เลย เด็กเครียดมาก”

 

ยิ่งเล่ายิ่งเห็นภาพ ฟังดูแล้วเหมือนประสบการณ์ที่น่าจดจำครั้งหนึ่งที่พวกเขาผ่านมันมาได้ แต่หากย้อนกลับไปในยุคนั้นและเป็นตัวเราเองที่จะต้องเข้าสอบในระบบดังกล่าวคงไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเท่าไร ซึ่ง #dek61 นี้เองก็กำลังตกที่นั่งเดียวกันกับ #dek49 กับการทดสอบระบบการศึกษาแบบใหม่ และมั่นใจว่าประเทศของเราไม่เคยมีเสถียรภาพในเรื่องนี้จริงๆ เลยสักระบบเดียว

 

“พูดตรงๆ ว่าสงสารเด็กปีนี้มาก แต่อย่างที่สองคือแปลกใจ แปลกใจที่ประเทศเราทดลองระบบการสอบเข้าบ้าบออะไรแบบนี้มาเป็นสิบปีแล้วนะ แต่ก็นั่นแหละ เราว่าเด็กไทยทุกวันนี้ หน้าที่คือเป็นหนูทดลองให้ผู้ใหญ่ แต่ต้องจำไว้ว่าถ้าเราไม่ติดคณะที่หวังไว้ มันไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่งนะ เราอยากให้โทษระบบด้วยส่วนหนึ่ง มันคืออุปสรรคขัดขวางความฝันของเด็กไทยทุกคนจริงๆ

 

“เอาแค่เรื่องค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบ เราก็ไม่เห็นเลยว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกันของคนในสังคมอย่างไร จึงไม่แปลกอะไรที่ธุรกิจเรียนพิเศษมันจะเติบโต เพราะผู้ใหญ่กำลังยิ่งทำให้เด็กเครียด ความจริงเรายังเชียร์ให้มีสอบสัมภาษณ์กับสอบตรงนะ คือมันวัดกันแบบตัวต่อตัว ไม่ต้องไปแข่งกับใครเลย มหาวิทยาลัยควรไม่ใช่ที่แข่งขันแล้ว มันควรเป็นที่สำหรับการศึกษาหาความรู้เข้าตัว มันคือที่เติมเต็มแพสชันและทำฝันให้เป็นจริง”

 

ถ้าเราไม่ติดคณะที่หวังไว้ มันไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่งนะ เราอยากให้โทษระบบด้วยส่วนหนึ่ง มันคืออุปสรรคขัดขวางความฝันของเด็กไทยทุกคนจริงๆ

 

ตัวอย่างกระดาษคำตอบของข้อสอบ GAT หรือความถนัดทั่วไป

 

#dek54 เด็กน้อยขี้โกง

ตัวผู้เขียนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และแน่นอนว่าปีที่เราเข้าสอบนั้นคือปี 2554 อันได้ชื่อว่าเป็นปีของ ‘เด็กขี้โกง’ ไม่ใช่ว่ามีการโกงข้อสอบแบบครูพี่ลินในหนังเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง แต่อย่างใด แต่เราหมายถึงโอกาสในการสอบที่มากกว่าคนทุกรุ่นที่ผ่านมา หลังจากเปลี่ยนมาใช้ระบบแอดมิชชันกับการเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นนี้สามารถสอบ GAT-PAT ได้ถึง 5 ครั้ง (2 ครั้งในปี 2553 พร้อมกับพี่ๆ ม.6 และอีก 3 ครั้งในปี 2554 ที่ตัวเองขึ้น ม.6) ซึ่งเป็นเหมือนการลองเชิงให้นักเรียนในช่วงปีนี้ได้ลองสอบวิชาเหล่านั้น แต่นั่นก็หมายความว่าพวกเรามีโอกาสที่จะสามารถทำคะแนน ‘ที่ดีที่สุด’ ได้ถึง 5 ครั้ง ซึ่งมากกว่าทุกๆ รุ่นที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ไทย

 

 

#dek58 และผู้ใหญ่ที่อยู่เคียงข้างมาเสมอ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามีหลายบุคคลในสังคมที่มีคุณูปการแก่การศึกษาไทย ถึงแม้จะไม่ได้เป็นครูชื่อดังหรือเจ้าของสถาบันสอนพิเศษขวัญใจนักเรียน และเราเองก็เห็นว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีอิทธิพลที่ส่งผลถึงรุ่นต่อรุ่น ได้ยินชื่อเขาบ่อยๆ ตั้งแต่ยุคก่อนหน้าเราก็ดี ยุคเราก็ดี หรือยุคหลังจากเราอย่าง เช่น พลอยชนนี สุขปานประดิษฐ์ นักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกกับเรา เธอมีที่พึ่งในเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นผู้ใหญ่ใจดีที่คุณอาจจะคุ้นเคยชื่อของเขา

 

ทวิตเตอร์ของพี่ลาเต้ เว็บเด็กดี ที่มีผู้ติดตามอยู่ราว 7 แสนคน

 

“หนูเองก็ติดตามทวิตเตอร์ของพี่ลาเต้ เว็บเด็กดี หรือพี่โดม จากเว็บ Eduzone ซึ่งเขามีส่วนช่วยมาก ทั้งเป็นกระบอกเสียงให้เรา เป็นเหมือนผู้แจ้งเตือนให้เราตลอดว่าตอนนี้ระบบเป็นอย่างไร มีมหาวิทยาลัยไหนเปิดสอบตรงบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน ตอนเรียนอยู่ ม.6 ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ทางโรงเรียนก็จะมีการจัดติวให้ก่อนเข้าคาบเรียนที่ 1 ตลอดค่ะ และช่วงประมาณเทอมที่ 2 โรงเรียนก็จะหยุดเรียนให้ 1 วันทุกวันจันทร์ เพื่อให้นักเรียนได้เตรียมตัวอ่านหนังสือสอบ”

 

“เท่าที่อ่านๆ มาในทวิตเตอร์ หนูรู้สึกสงสาร เพราะระบบ TCAS มันแบ่งเป็นหลายรอบมาก เด็กที่ยื่นได้ไปแล้วเขาก็ไม่ให้เคลียร์ริงเฮาส์ (ตัดสิทธิ์) ยังสามารถยื่นต่อได้เรื่อยๆ บางคนได้คะแนนสูงมาก แต่ไม่ติด แต่หนูก็รู้สึกโชคดีที่ไม่ได้เจอระบบแบบนี้ หนูว่าระบบมันค่อนข้างไม่ได้เรื่อง”

 

 

#dek62 และอนาคตของชาติที่คุณต้องฟังเขาบ้าง

มาถึงตรงนี้ คุณคงจะพอเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นไปไม่มากก็น้อยในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา เราพบเจอความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยในทุกๆ แง่มุมที่ส่งผลถึงตัวเด็กเองก็ดี สถาบันครอบครัวเองก็ดี แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อคือความล้มเหลวแบบนี้จะยังเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอนจากบาดแผลเหวอะหวะของระบบ TCAS และเราเองก็ได้รับฟังความคิดเห็นจาก #dek62 หรือเด็กมัธยมศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วงเวียนของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีหน้า และ พันพศา จองสกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนไตรพัฒน์วอลดอร์ฟ คือเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ในวัย 17 ปี ที่กำลังจะต้องเผชิญกับสิ่งที่ ‘ไม่แน่นอน’ ในปีข้างหน้านี้

 

“ตัวหนูเองก็ติดตามข่าวเรื่องการสอบอยู่เสมอค่ะ และรู้สึกสงสารคนที่สอบปีนี้มาก โดยเฉพาะเด็กสายศิลป์ คือปีก่อนๆ เขาจะให้หมอสอบแยก แต่นี่เหมือนเอาหมอมาสอบรวม มีสิทธิ์เลือกอันดับได้ เลือกมหาวิทยาลัย เลือกคณะอะไรก็ได้ มันเลยไปกั๊กที่ของเด็กสายอื่น แต่หนูเองก็เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของมันนะคะ ข้อเสียก็อย่างที่บอก แต่ข้อดีคือเหมือนคนที่เลือกหมอก็มีสิทธิ์เช่นกันที่จะได้เลือกคณะอื่นๆ สำรองไว้ แต่ระบบไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน มันจึงไม่มีความมั่นคงให้เด็กคนอื่นๆ หรือเด็กที่ไม่เก่ง และหนูก็คิดตลอดว่าปีหน้าจะเปลี่ยนหรือเปล่า และมั่นใจว่าต้องเปลี่ยนแน่นอน”

 

และแน่นอนว่าความกังวลทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีนี้กำลังจะถูกส่งต่อไปยังกลุ่มเด็กในปีถัดไปหลังจากที่การยื่นคะแนนทั้งหมดสิ้นสุดลงภายในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ นี่ไม่ใช่เรื่องของการแก้แค้นที่จะต้องมาคอยชำระกันปีต่อปี แต่มันเป็นเรื่องของความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ใหญ่ในบ้านเมืองผู้กุมชะตาชีวิตในเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็ก และกลุ่มเด็กที่กำลังก้าวไปสู่รั้วมหาวิทยาลัยอันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

 

“หนูอยากให้ผู้ใหญ่เข้ามาศึกษาระบบที่เป็นอยู่ ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเข้าใจลูก อย่ากดดันพวกหนู ต้องสนับสนุนพวกหนู อยากให้ผู้ใหญ่ทำความเข้าใจเด็กมากขึ้น เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้มันไม่มีอะไรแน่นอนเลยค่ะ”

 

อ้างอิง:

The post จากเด็กเอ็นทรานซ์ โอเน็ต สู่ #dek61 เมื่อความเท่าเทียมและเสถียรภาพของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่มีอยู่จริง appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/university-entrance-exam/feed/ 0