ไมเคิล จิตติวาณิชย์ – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 25 Mar 2022 06:33:54 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 Google และ Facebook ประเทศไทยชี้ ปัญญาประดิษฐ์เป็นของทุกคน ช่วยต่อยอดความสำเร็จ https://thestandard.co/blognone-tomorrow-whats-next-in-tech-world/ https://thestandard.co/blognone-tomorrow-whats-next-in-tech-world/#respond Wed, 08 Aug 2018 13:00:00 +0000 https://thestandard.co/?p=112559

กว่า 14 ปีของการเป็นเว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีคุณภาพ วันนี้ […]

The post Google และ Facebook ประเทศไทยชี้ ปัญญาประดิษฐ์เป็นของทุกคน ช่วยต่อยอดความสำเร็จ appeared first on THE STANDARD.

]]>

กว่า 14 ปีของการเป็นเว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีคุณภาพ วันนี้ (8 ก.ค.) ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ Blognone ที่จัดงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีเชิงธุรกิจครั้งแรกภายใต้ชื่อ Blognone Tomorrow ด้วยแนวคิด What’s Next in Tech World เพื่อแบ่งปันมุมมองและไอเดียการปรับตัวของผู้ประกอบการธุรกิจในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาครอบงำชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ

 

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Blognone เริ่มต้นงานโดยยกประเด็นซอฟต์แวร์กำลังกลืนกินบริษัททั่วโลก ในเวลาเดียวกันกับที่ ‘เทคโนโลยี’ เข้ามามีบทบาทกับภาคธุรกิจที่หลากหลาย แม้แต่ในภาคอุตสาหกรรมที่หลายคนอาจนึกไม่ถึง เช่น ภาคการเกษตร อาหาร และการก่อสร้าง

 

 

“ปัจจุบัน 5 บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดของโลกเปลี่ยนจากบริษัทในกลุ่มธุรกิจน้ำมันมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีแล้ว เราจึงสามารถพูดได้เต็มปากว่าทุกบริษัทในวันนี้เป็นบริษัทเทคโนโลยีทั้งหมด แม้แต่อุตสาหกรรมที่หลายคนอาจจะไม่คิดว่าเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสักเท่าไรอย่างการเกษตร อาหาร และการก่อสร้าง”

 

อิสริยะบอกต่อว่าการเกษตรเคยเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง พึ่งพาดินฟ้าอากาศมาก และใช้เทคโนโลยีต่ำ แต่กลับกันคือในวันนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะโดรนดูแลแปลงเกษตรและพ่นยาฆ่าแมลงทดแทนแรงงานมนุษย์ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารที่เริ่มมีการใช้วัตถุดิบสังเคราะห์จากพืชเพื่อปูทางให้เกิดความยั่งยืนในวันข้างหน้า ตลอดจนอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์และเครื่องพิมพ์ 3 มิติสร้างสะพานข้ามแม่น้ำในประเทศเนเธอร์แลนด์

 

“ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมใดก็ต้องปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี คำถามคือทำอย่างไรจึงจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงได้เหมาะสมที่สุด”

 

 

ปัญญาประดิษฐ์เป็นของคนทุกคน

งานสัมมนาครั้งนี้มีวิทยากรจากองค์กรชั้นนำขึ้นเวทีให้ความรู้และอัปเดตเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงเป็นจำนวนมาก เช่น LINE, AIS, Google, Facebook, SCB, Dtac, KBank ฯลฯ และประเด็นที่วิทยากรส่วนใหญ่พูดก็ครอบคลุมตั้งแต่ปัญญาประดิษฐ์ (AI), อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT), Big Data ไปจนถึง Cloud เก็บข้อมูล

 

เราหยิบประเด็น ‘ปัญญาประดิษฐ์’ มาเล่าเป็นหลัก เพราะใกล้ตัวทุกคนและเป็นหัวข้อที่สองบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Google และ Facebook เลือกแสดงทัศนะได้อย่างน่าสนใจ

 

ไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าแผนกการตลาด Google ประเทศไทย มองปัญญาประดิษฐ์ว่าเป็นของคนทุกคน (AI for Everyone) ทั้งยังชี้ให้เห็นว่านวัตกรรมยอดนิยมส่วนใหญ่ในวันนี้ของ Google ล้วนแล้วแต่มีต้นตอมาจากปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning แทบทั้งสิ้น

 

“ปัญญาประดิษฐ์คือศาสตร์ของการทำให้สิ่งต่างๆ ฉลาดมากขึ้น แต่ถูกพูดถึงบ่อยในช่วงนี้เพราะเทคนิค Machine Learning ที่ทำให้ AI ก้าวกระโดดในเชิงการพัฒนามากขึ้น ความต่างกันของระบบการเขียนโปรแกรมรูปแบบนี้คือเราสามารถสอนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้การเขียนโปรแกรมได้ด้วยตัวเอง แล้วกระบวนการสอนก็มีทั้งการฝึก (Training) และการสรุปผล (Inference)”

 

ตัวอย่างคือการสอนให้ปัญญาประดิษฐ์รู้จักแยกแยะ ‘หมา’ และ ‘แมว’ ผ่านภาพถ่ายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ก่อนที่ในที่สุดมันจะสามารถแยกหมาและแมวออกจากกันด้วยการรู้จำและการคาดเดาได้ด้วยตัวเอง

 

 

ไมเคิลบอกต่อว่า Google ศึกษาการใช้ AI มาเป็นเวลานานแล้ว โดยมองการสร้างประโยชน์จาก AI ออกเป็น 3 ส่วนคือ

 

1. Making Apps & Services More Useful ทำให้แอปพลิเคชันและบริการต่างๆ ของ Google เข้ามามีประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ ตัวอย่างในกลุ่มนี้ เช่น Google Photo ที่ใช้ทั้ง AI และ Machine Learning เข้ามาทำประโยชน์ผ่านการรู้จำภาพถ่ายต่างๆ, Google Translate ฟีเจอร์ Word Lens ที่สามารถแปลภาษาผ่านรูปถ่าย และผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ Google Assistant ที่เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน

 

2. Helping Others Innovate ทำให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าถึงได้ทุกๆ ธุรกิจเพื่อให้ทุกฝ่ายใช้ประโยชน์ได้กับภาคธุรกิจของตน ตัวอย่างคือการเปิด Open Source ‘TensorFlow’ หรือการเขียนโปรแกรมสอนคอมพิวเตอร์ให้สามารถเรียนรู้ได้, ทำ Cloud APIs บน Google Cloud เพื่อให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถนำโมเดล Machine Learning ของ Google ไปปรับใช้ต่อได้ทันที และสุดท้ายคือการสร้างฮาร์ดแวร์ Tensor Processing Unit ซึ่งใช้รัน Machine Learning ได้โดยเฉพาะ

 

ผลลัพธ์ที่ได้จาก 3 สิ่งนี้คือการที่บริษัทผู้ผลิตอาหารสำหรับเด็กในญี่ปุ่น Kewpie ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของ Google มาคัดเลือกวัตถุดิบอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย

 

 

3. Solving for Humanity’s Big Challenges ช่วยเหลือให้นักวิจัยใช้ปัญญาประดิษฐ์แก้ปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น Health Tech ที่นำ AI มาสอนให้รู้จักวินิจฉัยความเสี่ยงของมนุษย์ที่จะมีโอกาสป่วยเป็นโรคต่างๆ จากการตรวจดูดวงตา รวมถึงโรคหัวใจ เพื่อวางแผนรักษาและป้องกันให้ทันท่วงที โดยภายในระยะเวลา 2 ปีของการพัฒนา ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ของพวกเขาสามารถวินิจฉัยได้ใกล้เคียงกับแพทย์เฉพาะทางแล้ว

 

นอกจากนี้ยังมีการเทรน AI ให้รู้จักวิเคราะห์อาการป่วยของพืชชนิดต่างๆ รวมถึงใช้ตรวจหาดาวเคราะห์ในอวกาศอีกด้วย

 

“ภารกิจของ Google คืออยากให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นของคนทุกคนได้เหมือนๆ กัน สามารถสร้างประโยชน์ในชีวิตประจำวันของเรา และองค์กรภาคธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงแก้ไขปัญหาของโลกเราในหลายๆ เรื่องได้ ในมุมมองของเรา AI จึงเปรียบเสมือนหนึ่งใน ‘การเปลี่ยนแปลงที่มีศักยภาพที่สุดของโลก’ ผมอยากให้ทุกคนได้ศึกษาการใช้ AI และการสร้างประโยชน์จากมันในด้านต่างๆ”

 

 

การควบคุมพลังปัญญาประดิษฐ์กับการใช้ประโยชน์ในด้านธุรกิจ

เคยสังเกตไหมว่าทำไมหน้านิวส์ฟีดส่วนตัวบนแพลตฟอร์ม Facebook ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้จึงแสดงผลเนื้อหาและโพสต์ต่างๆ ได้ตรงตามความสนใจของเรา ณ​ เวลานั้นๆ ได้แม่นยำจนน่าตกใจ

 

เมธิศร์ มุกดาสิริ Client Partner และหัวหน้าแผนกธุรกิจค้าปลีกของ Facebook ประเทศไทย บอกว่าโซเชียลมีเดียของพวกเขาอาศัยหลักการทำงานบนปัญญาประดิษฐ์และ Machine Learning เพื่อให้อัลกอริทึมประมวลผลต่างๆ ออกมา ไปจนถึงการคัดกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังถูกประยุกต์ไปใช้ประโยชน์ในด้านธุรกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก กลาง และใหญ่อีกด้วย โดยโฟกัสไปที่ 3 ด้านหลัก ได้แก่

 

1. Reach Audience Efficiently เข้าถึงลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

 

2. Delivery Relevant Message ส่งสารที่โดนใจผู้บริโภคไปยังกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ

 

3. Drive Sales Effectively ช่วยเพิ่มและกระตุ้นยอดขาย

 

วิธีง่ายๆ ที่เมธิศร์อธิบายคือ สมมติว่าเราเป็นผู้ประกอบการร้านคัพเค้กออนไลน์ที่อร่อย แต่มีงบการตลาดจำกัด การใช้ AI ของ Facebook ให้คนจดจำแบรนด์ได้เป็นวิธีที่ทำง่ายและได้ผลที่สุด

 

 

ตัวอย่างเช่น การใช้ฟีเจอร์ Campaign Optimization ส่งสารไปยังกลุ่มผู้ใช้ที่มีแนวโน้มจะจดจำโฆษณาของเราได้ ซึ่งระบบปัญญาประดิษฐ์ของ Facebook จะเรียนรู้โดยทดลองกับผู้ใช้แต่ละรายว่าใครมีโอกาสจำโฆษณาได้มากที่สุด หลังจากนั้นระบบก็จะส่งโฆษณาไปยังผู้ใช้กลุ่มดังกล่าว

 

ส่วนขั้นตอนการเลือกรูปโปรโมตร้านโดยใช้ Dynamic Creative คือการหาว่ารูปโฆษณาเวอร์ชันใดจะเหมาะกับผู้ใช้แต่ละกลุ่มมากที่สุด โดยศึกษาจากรสนิยมของผู้ใช้ในกลุ่มที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือใบปิดโฆษณาเวอร์ชันที่เหมาะสมที่สุดกับผู้ใช้งานในแต่ละช่วงวัย

 

และสุดท้ายคือฟีเจอร์ Dynamic Ads เพื่อดูว่าคนที่คลิกเข้าเยี่ยมชมเพจนิยมดูสินค้าชนิดใดบ่อยที่สุด ก่อนที่ Facebook จะสร้างโฆษณาสินค้านั้นๆ ออกมาอัตโนมัติผ่านเทมเพลตโฆษณาเพียงรูปแบบเดียว ผลที่ได้คือทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องสร้างโฆษณาแบบใหม่อยู่บ่อยๆ นี่คือประโยชน์ของ AI บน Facebook ที่ภาคธุรกิจระดับเล็ก กลาง และใหญ่สามารถใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจของตนเอง

 

เมธิศร์บอกว่าเป้าหมายต่อไปของ Facebook คือการสร้างประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้าน AI และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างไม่รู้จบ

 

ปัจจุบัน Facebook มีผู้ใช้งานในประเทศไทยมากกว่า 51 ล้านรายต่อเดือน โดยกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีประชากรใช้ Facebook มากที่สุดของโลก ทั้งยังเป็นต้นทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ของ Facebook มากมาย รวมถึงการขายของแบบ Social Commerce ซึ่งนำไปสู่แรงบันดาลใจของการสร้างช่องทางการขายของ Marketplace

 

“ทั้งหมดที่ผมเล่ามาเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมอีกมหาศาลที่จะเกิดขึ้น มีอะไรมากกว่านี้ให้เราทำ นี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางเท่านั้น” เมธิศร์กล่าวทิ้งท้าย

 

จนถึงทุกวันนี้ที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันแล้วว่าปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นจริงๆ ที่น่าสนใจคือต่อจากนี้เป็นต้นไปเมื่อหลายฝ่ายให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะความสามารถของมันอย่างจริงจัง ศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ก็จะก้าวกระโดดจนอาจจะทัดเทียมหรือแซงมนุษย์อย่างเราไปเลยก็ว่าได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

The post Google และ Facebook ประเทศไทยชี้ ปัญญาประดิษฐ์เป็นของทุกคน ช่วยต่อยอดความสำเร็จ appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/blognone-tomorrow-whats-next-in-tech-world/feed/ 0
สรุปข้อมูลโซเชียลมีเดียไทยปี 2017 วัยรุ่นหนีพ่อแม่มาเล่นทวิตเตอร์มากขึ้น เฟซบุ๊กแตะ 49 ล้านราย อันดับ 8 โลก https://thestandard.co/thailand-social-media-statistics-2017/ https://thestandard.co/thailand-social-media-statistics-2017/#respond Fri, 02 Mar 2018 12:32:55 +0000 https://thestandard.co/?p=74587

พุธที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โธธ โซเชียล และวันบิต แมท […]

The post สรุปข้อมูลโซเชียลมีเดียไทยปี 2017 วัยรุ่นหนีพ่อแม่มาเล่นทวิตเตอร์มากขึ้น เฟซบุ๊กแตะ 49 ล้านราย อันดับ 8 โลก appeared first on THE STANDARD.

]]>

พุธที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โธธ โซเชียล และวันบิต แมทเทอร์ ผู้ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลได้ร่วมกันจัดงาน Thailand Zocial Awards 2018 ครั้งที่ 6 ขึ้น ภายในงานมีการสรุปข้อมูลการใช้งานโซเชียลมีเดียท่ีน่าสนใจของคนไทยตลอดรอบปี 2017 ที่ผ่านมาจากข้อความเกือบๆ 3,600 ล้านข้อความบนโซเชียลมีเดียแต่ละแพลตฟอร์ม (Facebook, Instagram, Twitter, LINE, Google และ Pantip) พบประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

จากการคัดกรองข้อมูลดิบบนโลกโซเชียลมีเดียไทยปีที่ผ่านมา กล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โธธ โซเชียล จำกัด เผยว่า แต่ละแพลตฟอร์มมีการเปลี่ยนแปลงไปมากมายเช่นเดียวกับพฤติกรรมของผู้บริโภค และเมื่อจำแนกตามชาร์ตความถี่ของแต่ละวันจะพบว่า เดือนตุลาคมหรือช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จะมีข้อความปรากฏบนโซเชียลมีเดียของคนไทยมากเป็นพิเศษ

 

 

เมื่อแยกตามไตรมาสในแต่ละปีจะปรากฏเป็นคียเวิร์ดที่สำคัญดังนี้

  • ไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) ปรากฏการณ์ Facebook Live และ Youtube Live ของรายการเกมโชว์ The Mask Singer ซีซัน 1, แฮชแท็ก #Missuniverse ร่วมเชียร์ น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์ บนทวิตเตอร์
  • ไตรมาสที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน) แมว, สุนัข, หน้ากากหอยนางรม (โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ) จากรายการ The Mask Singer ซีซัน 2 และเจ้านาย-จินเจษฎ์ วรรธนะสิน (จากการออกซิงเกิล คนละชั้น)
  • ไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) โรคซึมเศร้ากับการจากไปของเชสเตอร์ เบนนิงตัน นักร้องนำวง Linkin Park, ซีเกมส์ (ซีโกง), ต่ำตมไม่หยุด (โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน), เพลงประกอบภาพยนตร์ ส่ม ภัค เสี่ยน ที่มียอดวิวกว่า 50 ล้านครั้งในเดือนที่หนังฉาย
  • ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) แฮชแท็ก #MissUniverse ร่วมเชียร์ มารีญา พูลเลิศลาภ บนทวิตเตอร์ และก้าวคนละก้าว

 

 

เมื่อแยกเป็นประเด็นย่อยต่างๆ จะพบว่าประเด็นส่วนใหญ่ที่ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลมีเดียจะอยู่ในวงการ ‘บันเทิง’ เป็นหลัก สะท้อนให้เห็นว่าวงการบันเทิงสำคัญกับสังคมไทยมากๆ มีการเปรียบเทียบกันคร่าวๆ ว่าประเด็นบันเทิงจะถูกพูดถึงมากกว่าประเด็นทางธุรกิจกว่า 10 เท่าตัว (300 ล้านข้อความ : 30 ล้านข้อความ) ในจำนวนนี้ 52.5% คือการพูดถึงศิลปินชาย, 29.7% พูดถึงรายการทีวี และอีก 5.9% พูดถึงตัวนักแสดง

 

 

Twitter คือโซเชียลมีเดียที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในไทย เด็กวัยรุ่นหนีพ่อแม่มาจากแพลตฟอร์มอื่น

พเนิน อัศววิภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วันบิต แมทเทอร์ จำกัด สรุปภาพรวมการใช้งานโซเชียลมีเดียจำแนกตามแต่ละแพลตฟอร์มหลักๆ และพบว่า Twitter คือแพลตฟอร์มที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดด้านยอดผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 33% มีจำนวนผู้ใช้รวมมากกว่า 12 ล้านราย แบ่งเป็น Active User ที่ 5.7 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 80% (ปี 2017 มี Active User 3.6 ล้านราย)

 

 

เหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้ Twitter มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดนั้น ทีมงาน Twitter ประเทศไทย บอกว่าเป็นเพราะวัยรุ่นไทยในช่วงวัย 16-24 ปี ใช้แพลตฟอร์มของตนเป็นที่ลี้ภัยจากการถูกคุกคามของผู้ปกครอง พ่อแม่ และผู้ใหญ่บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ จนทำให้กลุ่มวัยรุ่นไทยมีสัดส่วนการใช้งาน Twitter มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก

 

อย่างไรก็ดี เมื่อมองกลับไปยัง Facebook และ Instagram สองแพลตฟอร์มเจ้าสำคัญในตลาด จะพบว่าปีที่ผ่านมา Facebook ในไทยมียอดผู้ใช้รวมอยู่ที่ 49 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วแค่ 4% เท่านั้น ด้าน Instagram มียอดผู้ใช้รวม 13.6 ล้านราย คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 24% ซึ่งพเนินมองว่าเมื่อแพลตฟอร์มมีอัตราการเติบโตที่ช้าลง แต่จำนวนแบรนด์ที่ต้องการลงโฆษณากลับมีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้มีการแย่งพื้นที่สื่อกันเอง ส่งผลให้ค่าโฆษณาแพงขึ้น และทำให้แบรนด์-เอเจนซีหลายๆ เจ้าต้องเปลี่ยนกลยุทธ์การทำการตลาดในปี 2018 ใหม่กันทั้งหมด

 

 

  • ปัจจุบัน Facebook มีผู้ใช้งานทั่วโลกรวมกว่า 2.13 พันล้านราย โตขึ้นจากปีที่แล้ว 10% โดยประเทศไทยมียอดผู้ใช้รวมอยู่ในอันดับที่ 8
  • 5 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ใช้สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ชลบุรี, นครราชสีมา และสงขลา
  • จุดที่น่าสนใจคืออินเดียแซงสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยยอดผู้ใช้งานรวม 240 ล้านราย สาเหตุมาจากจำนวนประชากรและอัตราการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และยังเป็นโอกาสที่เหมาะสมกับการที่แบรนด์ต่างๆ จะใช้ Facebook เจาะตลาดผู้ใช้ในอินเดีย
  • Facebook Messenger มีอัตราการใช้งานโตขึ้นจากเดิมที่ 22% มีผู้ใช้งานรวม 886 ล้านราย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 มีจำนวนผู้ใช้เท่าเดิมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สอดคล้องกับสัดส่วนการเติบโตของแพลตฟอร์ม Facebook ที่เริ่มช้าลง

 

 

  • สัดส่วนเอ็นเกจเมนต์ยอดนิยมของคนไทยคือการคลิกไลก์ที่ 89% กดแชร์ 5% คลิกแสดงความคิดเห็นและกดรีแอ็กชันเท่ากันที่อย่างละ 3%
  • ช่วงเวลาที่คนไทยนิยมใช้ Facebook มากที่สุดคือ 6 โมงเย็นถึง 5 ทุ่ม

 

 

 

  • Instagram มีสัดส่วนผู้ใช้ทั่วโลกโตขึ้น 14% มีผู้ใช้ในปี 2018 ที่ 800 ล้านราย โดยสหรัฐอเมริกานำขาดเป็นอันดับหนึ่งด้วยยอดผู้ใช้ 117 ล้านราย ขณะที่ไทยรั้งอยู่ในอันดับ 14
  • ช่วงเวลาที่คนไทยนิยมเล่น Instagram มากที่สุดคือช่วงปลายสัปดาห์ ในระยะเวลาตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม เพราะชอบถ่ายภาพแนวไลฟ์สไตล์ ขณะที่วันธรรมดา ช่วงเวลาพีกไทม์จะอยู่ที่ 6 โมงเย็นถึง 4 ทุ่ม
  • ประเภทโพสต์ที่ได้รับความนิยมากที่สุดคือ ภาพ 71% ส่วนโพสต์แบบอัลบั้ม (Carossel) อยู่ที่ 24%, วิดีโอ 5% โดย Carossel มีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

  • ช่วงเวลาที่คนไทยนิยมใช้ Twitter มากที่สุดคือ 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืน และปีนี้เริ่มลามไปจนถึงช่วงเวลาตี 1 และการที่ผู้ใช้  Twitter ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นยังสะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะนอนดึกมากขึ้น ซึ่งแบรนด์ที่ขายสินค้า-บริการ 24 ชั่วโมงอาจจะใช้เป็นช่องทางทำประโยชน์ได้

 

***หมายเหตุ: ข้อมูลทั้งหมดนับจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2018 เท่านั้น

 

 

Facebook ปรับหน้าฟีดใหม่ ทำเอ็นเกจเมนต์ต่อโพสต์ตก 27%!

หลังการปรับนโยบายเปลี่ยนการแสดงผลหน้านิวส์ฟีดบน Facebook ของผู้ใช้งานแบบใหม่ โดยเน้นให้โชว์โพสต์จากแบรนด์น้อยลงเพื่อให้เห็นโพสต์จากเพื่อนๆ หรือผู้ใช้งานคนอื่นๆ มากขึ้นนั้น พเนินบอกว่าเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วและปีนี้ (มกราคม 2017, 2018) พบว่าแบรนด์มีอัตราการโพสต์คอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียมากขึ้น 52% มีอัตราการได้รับเอ็นเกจเมนต์รวมเพิ่มขึ้น 12%

 

ถึงแม้จำนวนโพสต์และเอ็นเกจเมนต์จะสูงขึ้น แต่เมื่อจำแนกแยกตามเอ็นเกจเมนต์ต่อโพสต์จะพบว่าสัดส่วนกลับลดลงจากเดิมที่ 27% เลยทีเดียว นั่นหมายความว่าแต่ละแบรนด์ต้องแข่งขันกันหนักมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อแย่งเอ็นเกจเมนต์กัน ต้องขยันปล่อยโพสต์ให้ถี่ขึ้นกว่าเดิมเพื่อดันตัวเองให้กลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมบนโลกออนไลน์

 

 

ส่วนประเภทของคอนเทนต์ที่ได้รับเอ็นเกจเมนต์เฉลี่ยสูงสุดบน Facebook จากการเก็บข้อมูลบนเพจ 100,000 เพจใน 27 หมวดอุตสาหกรรม มีดังนี้  

  • อันดับ 1 วิดีโอ 2,556 เอ็นเกจเมนต์
  • อันดับ 2 ภาพ 1,273 เอ็นเกจเมนต์
  • อันดับ 3 ลิงก์ 1,199 เอ็นเกจเมนต์
  • อันดับ 4  อีเวนต์ 387 เอ็นเกจเมนต์
  • อันดับ 5 โน้ต 115 เอ็นเกจเมนต์
  • อันดับ 6 สเตตัส 32 เอ็นเกจเมนต์

 

จากข้อมูลและผลลัพธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับแพลตฟอร์ม Facebook ในปัจจุบันนั้นได้นำไปสู่การตั้งคำถามว่า แบรนด์ต่างๆ ควรจะกระจายช่องทางการสื่อสารของตัวเองไปยังแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Twitter หรือไม่

 

 

พเนินตอบในข้อสงสัยนี้โดยยกจำนวนยอดผู้ใช้แบบ Active User ที่เพิ่มขึ้นระหว่างช่วงปี 2016-2017 ที่ 83%, จำนวนทวีตของแบรนด์เพิ่มขึ้น 124% และจำนวนรีทวีตโพสต์ของแต่ละแบรนด์โดยผู้ใช้ทั่วไปเพิ่มขึ้น 101% มาประกอบ โดยชี้ว่าถึงเวลาแล้วที่แบรนด์ต่างๆ อาจจะเริ่มหันมาใช้แพลตฟอร์มนี้ แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละแบรนด์ด้วย

 

ภาพรวมและนโนบายการให้ความสำคัญของ 6 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปี 2018

 

เว็บไซต์ Pantip.com – อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ตัวแทนจากเว็บไซต์พันทิป

ภาพรวมปี 2017

  • ห้องที่คนเข้าไปดูหน้าฟีดมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งคือ ห้องบางขุนพรหม (ละคร) เหตุผลเพราะเป็นเรื่องความบันเทิง คนสามารถเข้าไปคุยหรือแลกเปลี่ยนความเห็นได้ทุกวัน รองลงมาคือห้องศุภชลาศัย (กีฬา) โดยวอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่คนให้ความสนใจมากที่สุด ส่วนห้องกระทู้ที่มีคนอ่านมากที่สุดอยู่ใน 3 ห้อง ได้แก่ ห้อง Blue Planet (ท่องเที่ยว), ห้องโต๊ะเครื่องแป้ง (เครื่องสำอาง) และห้องสวนลุมพินี (ดูแลสุขภาพ)
  • ห้องที่มีเอ็นเกจเมนต์สูงสุด (เข้ามาคอมเมนต์มากที่สุด) คือห้องสาระประชาชน เป็นห้องที่พูดคุยเรื่องกฎหมาย ความเดือดร้อนผู้บริโภค กระทู้ร้องเรียนปัญหา รวบรวมเอากระทู้ร้องเรียนจากทุกห้องมารวมไว้ด้วยกัน โดยกระทู้ที่มีคนคอมเมนต์มากที่สุดอยู่ที่ประมาณหลายหมื่นคอมเมนต์
  • แบรนด์ต่างๆ เริ่มมีการมาใช้ฟีเจอร์กระทู้ Advertorial ที่เขียนโดยทีมงาน Pantip มากขึ้น

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

  • Brand Expert Account ฟีเจอร์ที่เปิดให้แบรนด์ต่างๆ เข้ามาตอบปัญหาของผู้ใช้งานที่เขามาตั้งกระทู้ร้องเรียน สามารถใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ห้ามโฆษณาขายสินค้า

 

สิ่งที่เราจะได้เห็นในปี 2018 นี้

  • ฟีเจอร์ใหม่ Pantip Branded Content ที่เปิดให้แบรนด์เข้ามาเขียนกระทู้ของตัวเอง หรือใช้สมาชิกที่เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ เขียนแล้ว ‘ซื้อ’ ในราคาหลักหมื่นบาทเพื่อบูสต์ให้ปรากฏในตำแหน่งพิเศษ 7 วัน (หลังจากจบ 7 วันกระทู้ยังอยู่) เปิดใช้ในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งแบรนด์สามารถเลือกปิดคอมเมนต์แง่ลบได้

 

Twitter – ชนะชัย ไชยปัญญา จากบริษัท มีเดียโดนัทส์ จำกัด ตัวแทนอย่างเป็นทางการของ Twitter ประเทศไทย

ภาพรวมปี 2017

  • อัตราการเติบโตของผู้ใช้งาน Twitter ในประเทศไทยสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัย 16-24 ปี ที่ใช้เป็นที่ลี้ภัยจากการถูกสอดส่องของผู้ใหญ่
  • อินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่อย่าง เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร และโอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน มีส่วนช่วยทำให้บรรยากาศใน Twitter คึกคักมากขึ้น ดึงแฟนคลับเข้ามาในแพลตฟอร์ม โดย #เป๊กผลิตโชค อยู่ในอันดับ 3 ของแฮชแท็กยอดฮิตในประเทศไทย ปี 2017
  • มีสัดส่วนการเติบโตของรายรับจากค่าโฆษณาโตขึ้นเป็นเท่าตัวในทุกๆ ไตรมาส
  • อยากให้มองเป็นสำนักข่าวของโลกที่มีหน้า Trends เป็นหน้าหนึ่ง โดยมีผู้ใช้ทุกคนเป็นบรรณาธิการในการอัพเดตข้อมูลข่าวสารและสถานการณ์สดๆ ที่เกิดขึ้น

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

  • Promote Trend แบรนด์สามารถซื้อตำแหน่งเทรนด์อันดับ 1 ของ Twitter ได้แล้วในราคา 180,000 บาทต่อวัน (ไม่รวม Vat) และจำกัดแบรนด์เดียวเท่านั้นต่อวัน โดยตอนนี้แบรนด์ต่างๆ เข้ามาลงโฆษณาได้แล้วโดยไม่ต้องผ่านเอเจนซีอีกต่อไป
  • Key Word Targeting โฆณาตามคีย์เวิร์ดแต่ละคำ เช่น เมื่อเสิร์ชคำว่า ‘หิว’ จะเจอสินค้าหมวดบริโภค

 

สิ่งที่เราจะได้เห็นในปี 2018 นี้

  • Content Partnership ที่ Twitter จะเข้ามาร่วมงานสนับสนุนกับแบรนด์ในแต่ละหมวดอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยทำการตลาด

 

LINE – นรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร ตัวแทนจาก LINE ประเทศไทย

ภาพรวมปี 2017

  • ผู้ใช้แบบ Active User ยังอยู่ที่ 41 ล้านคน โดยผู้ใช้หน้าใหม่จะเริ่มมีอายุมากขึ้น (เบบี้ บูมเมอร์, เจนเอ็กซ์) ทำให้สัดส่วนประชากรเริ่มขยายและมีแบรนด์เข้ามาทำตลาดมากขึ้น
  • แบรนด์ไม่ได้แค่ตอบคำถามหรือส่งข้อความไปหาลูกค้า แต่เริ่มมีการทำ Business Connect หรือบริการที่เชื่อมต่อกับหลังบ้านมากขึ้นเพื่อเอ็นเกจกับผู้บริโภค เช่น แอ็กเคานต์ธนาคารที่เชื่อมต่อกับการแจ้งเตือนการทำธุรกรรม

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

  • Data Management Solution เชื่อมต่อกับระบบหลังบ้านของแบรนด์เพื่อส่งแคมเปญโปรโมชันที่เฉพาะเจาะจงถึงลูกค้าแต่ละคนตามพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการ

 

สิ่งที่เราจะได้เห็นในปี 2018 นี้

  • การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค เพราะ LINE ไม่มีนโยบายเก็บข้อมูลของผู้ใช้เลย
  • เป็นช่องทางช่วยให้แบรนด์ทำตลาดแบบ Customer on Demand กับผู้บริโภค เช่น การแจ้งเตือนบริการหลังการขายผ่าน Brand Official Account
  • เข้าไปเจาะตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในชื่อ ‘LINE Idol’

 

ไมเคิล จิตติวาณิชย์ Google ประเทศไทย

ภาพรวมปี 2017

  • เทรนด์ Xylo Cast การถ่ายทอดสดพร้อมกันบนโทรทัศน์และช่อง Youtube Official Account เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือช่องเวิร์คพอยท์ ด้านผู้ใช้ต่างจังหวัดก็เริ่มเข้ามาใช้แพลตฟอร์มมากขึ้น
  • ประเภทชาแนลที่มีสัดส่วนยอดผู้ติดตามมากขึ้นสูงสุดใน 3 หมวด ได้แก่ Gaming, Family, Beauty

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

  • การศึกษาข้อมูลความสนใจของผู้บริโภคที่ดึงข้อมูลจากแพลตฟอร์มบริการทั้ง 7 อย่างของ Google ออกมาวิเคราะห์ให้กับแบรนด์ต่างๆ

 

สิ่งที่เราจะได้เห็นในปี 2018 นี้

  • ปีนี้ Youtube จะเน้นการทำโฆษณารูปแบบใหม่ผ่าน ‘True View for Action’ เพื่อดึงคนดูคลิปโฆษณาต่างๆ ให้คลิกเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของแบรนด์นั้นๆ โดยตรง

 

Facebook – ดวงพร พรหมอ่อน ตัวแทนจาก Facebook ประเทศไทย

ภาพรวมปี 2017

  • เทรนด์การนำแพลตฟอร์มไปใช้เป็นโซเชียลคอมเมิร์ซทำธุรกิจขายสินค้าเป็นจำนวนมาก รวมถึงการไลฟ์ขายของ
  • ผู้ใช้มีแนวโน้มจะเลื่อนหน้าฟีดเร็วมาก นับเป็นหลักวินาทีเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ ควรเลือกใช้ภาพประกอบ ภาพเปิดคอนเทนต์ต่างๆ ให้เหมาะกับพฤติกรรมของคนเพื่อดึงดูดความสนใจ
  • ฟีเจอร์ Instagram Story มีสัดส่วนการใช้งานสูงมากๆ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการทำตลาดผ่านฟีเจอร์นี้

 

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ

  • Instragram Story Ad และ Messenger Ad ที่มาพร้อมกับ Messenger Bot ผู้ช่วยแชตบอตในการให้บริการข้อมูลต่างๆ

 

สิ่งที่เราจะได้เห็นในปี 2018 นี้

  • ฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้แบรนด์อีคอมเมิร์ซรายเล็กๆ ทำการตลาดของตัวเองเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคได้ดีขึ้น

 

ในแต่ละปี ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มย่อมมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการของตัวเองอยู่เสมอ ระดับความเปลี่ยนแปลงในบางปีอาจจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ขณะที่บางปีอาจจะเปลี่ยนไปแบบเหนือความคาดหมาย (เหมือน Facebook กับการเปลี่ยนอัลกอริทึมหน้าฟีดในปี 2018) แต่ส่ิงที่สำคัญที่สุดซึ่งสปีกเกอร์ทุกๆ คนเน้นย้ำคือการที่แบรนด์และคนทำคอนเทนต์ก็ต้อง ‘ปรับตัว’ ด้วยเช่นกัน

 

เหตุผลที่ต้องปรับตัวไม่ใช่แค่เพื่อให้วิ่งตามแพลตฟอร์ม คู่แข่ง และผู้บริโภคให้ทันเท่านั้น แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณหยุดอยู่กับที่ นั่นเท่ากับว่าคุณจะเสียโอกาสโดยสูญเปล่า ทำให้คุณล้าหลังกว่าชาวบ้านอยู่เสมอ และหนักที่สุดคือคุณจะหลุดจากวงโคจรเดิมของตัวเองอย่างน่าเสียดาย

 

สำคัญที่สุดคือหากเกิดกระบวนการนำ ‘ข้อมูล’ ที่มีมาประมวลผลเพื่อออกแบบและวางกลยุทธ์สื่อสารให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อแบรนด์ได้เมื่อไร ก็จะช่วยผ่อนแรงการทำงานได้มหาศาลตามไปด้วย

The post สรุปข้อมูลโซเชียลมีเดียไทยปี 2017 วัยรุ่นหนีพ่อแม่มาเล่นทวิตเตอร์มากขึ้น เฟซบุ๊กแตะ 49 ล้านราย อันดับ 8 โลก appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/thailand-social-media-statistics-2017/feed/ 0