แรดเทา (Gray Rhino) – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Wed, 27 Nov 2024 09:01:14 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ทำไมทรัมป์ 2.0 คือ ‘แรดเทา’ แล้วจีนจะสู้กลับอย่างไร? https://thestandard.co/trump-china-trade-tensions/ Wed, 27 Nov 2024 09:01:14 +0000 https://thestandard.co/?p=1013523 ทรัมป์

โดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ […]

The post ทำไมทรัมป์ 2.0 คือ ‘แรดเทา’ แล้วจีนจะสู้กลับอย่างไร? appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทรัมป์

โดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อีกครั้ง หรือที่เรียกกันว่า Trump 2.0 จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างไร เป็นหัวข้อที่พูดกันมากในสื่อต่างๆ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีของไทยมองการกลับมาของ Trump 2.0 ด้วยโลกสีชมพู และเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย เพราะว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่เน้นเรื่องของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และไทยมีการค้าขายกับสหรัฐฯ มากอยู่แล้ว” รัฐบาลไทยชุดนี้จึงค่อนข้างชะล่าใจและ (ยัง) ไร้แผนงานที่เป็นรูปธรรมในการเตรียมรับมือกับกระแสกีดกันการค้าที่จะหนักหน่วงขึ้นในยุค Trump 2.0

 

ในทางกลับกัน ผู้นำจีนที่มีประสบการณ์สูงอย่าง สีจิ้นผิง มองว่า การกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ สะท้อนความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามการค้าครั้งใหม่ที่เข้มข้นกว่าเดิม จึงนับว่าเป็น ‘แรดเทา’ (Gray Rhino) ในสายตาจีน เนื่องจากเป็นภัยคุกคามที่มีความเป็นไปได้สูงและจะมีผลกระทบสูง หากใครนิ่งนอนใจแล้วมองข้ามหรือประเมินต่ำไป ไม่ใส่ใจที่จะเตรียมรับมือกับปัญหาที่มองเห็นอยู่ ปล่อยปละละเลยจนปัญหาลุกลามใหญ่โต ก็ย่อมจะถูกกระทบอย่างหนักมาก

 

สำหรับจีน การกลับมาของ Trump 2.0 ไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ แท้จริงแล้วฝ่ายจีนได้ซุ่มเตรียมการรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายแข็งกร้าวของสหรัฐฯ ที่จะจัดการกับจีนมาโดยตลอด จีนพร้อมสู้กลับและเตรียมแก้เกมนี้อย่างไม่ประมาท

 

บทความนี้จะมาเรียงให้เห็นว่าจีนเตรียมที่จะรับมือกับ ‘แรดเทา’ ตัวนี้อย่างไร

 

เริ่มจากประเด็นแรก ความหมายของ ‘แรดเทา’ คืออะไร แล้วจีนมาเกี่ยวข้องอย่างไร

 

คำว่า ‘แรดเทา’ เปรียบเสมือนสถานการณ์ความเสี่ยงบางอย่างที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงมากและจะมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง แต่มักจะถูกมองข้ามหรือมองไม่เห็นสัญญาณความเสี่ยงที่จะเกิดเพราะคิดว่าไม่สำคัญ ทั้งๆ ที่เป็นความเสี่ยงที่มองเห็นได้ แต่ไม่ได้เตรียมรับมือหรือจัดการมากพออย่างที่ควรจะเป็น ผู้ที่ริเริ่มคำเปรียบเปรยว่าแรดเทา หรือ Gray Rhino คือ มิเชล วัคเกอร์ (Michele Wucker) นักวิเคราะห์ชาวอเมริกัน และเป็นผู้เขียนหนังสือ The Gray Rhino ในปี 2016 โดยกล่าวว่า การเผชิญหน้ากับแรดเทาเปรียบเสมือนการที่เราพอจะมองเห็นอันตรายจากแรดที่วิ่งพุ่งเข้ามาหาตัวเราอย่างรวดเร็ว แต่เรากลับหาข้ออ้างหรือเหตุผลที่จะไม่ทำอะไรเลยกับสิ่งนี้ กว่าเราจะรู้ตัวก็ถูกแรดเทาพุ่งเข้าชนจนเจ็บสาหัส เกิดความเสียหายอย่างหนัก

 

ในกรณีของจีน ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้หยิบยกคำว่า ‘แรดเทา’ หรือ ‘ฮุยซีหนิว’ มากล่าวหลายครั้ง (มักจะกล่าวเปรียบเปรยคู่กับคำว่า ‘หงส์ดำ’) สีจิ้นผิงมักจะเตือนถึงความเสี่ยงอย่างมากจากปัญหาแรดเทา ดังนั้นจีนจะต้องพร้อมรับมือและจัดการกับความเสี่ยงเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นปี 2018 (ช่วงที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มทำสงครามการค้ากับจีนในรอบแรก) สีจิ้นผิงเคยกล่าวกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่า “จีนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกหลายอย่างที่คาดไม่ถึง และมีปัจจัยภายนอกที่อ่อนไหวและซับซ้อน งานหนักของทุกคนคือการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนา และการปฏิรูป เราจะต้องเฝ้าระวังอย่างสุดชีวิต เพื่อคอยจับตา ‘หงส์ดำ’ ภัยมืดที่มองไม่เห็น และมุ่งสกัด ‘แรดเทา’ ภัยคุกคามที่มีความเป็นไปได้สูง

 

สำหรับจีน สงครามการค้าในยุคทรัมป์จึงเปรียบเสมือนแรดเทา สีจิ้นผิงย้ำกับทุกฝ่ายว่า “อย่าชะล่าใจและต้องเร่งควบคุมความเสี่ยงอย่างเต็มที่ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ แนวคิดหลักทฤษฎี และเทคโนโลยี” หลังจากนั้นสีจิ้นผิงก็มีการหยิบยกคำว่าแรดเทามากล่าวถึงอีกหลายครั้งในหลายวาระ เช่น ในการประชุมสภาประชาชนปี 2019 การกล่าวสุนทรพจน์วันขึ้นปีใหม่ปี 2020 และช่วงต้นปี 2021 เป็นต้น

 

ในมุมมองของจีน แรดเทาน่าจะดุดันมากขึ้นในยุค Trump 2.0 เห็นได้จากนโยบายแข็งกร้าวของทรัมป์ และการตั้งทีมงานสายเหยี่ยวมารับตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในรัฐบาล Trump 2.0 จึงคาดว่าน่าจะเกิดสงครามการค้าที่ระอุขึ้นมาอีกครั้งหากทรัมป์ทำตามที่เคยหาเสียงไว้ ทั้งการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมากถึงร้อยละ 60 เพื่อลดการขาดดุลการค้ากับจีน และเร่งการแยกขั้ว/ตัดขาดห่วงโซ่การผลิตจากจีน รวมไปถึงการเพิ่มมาตรการกีดกันอื่นๆ เพื่อจำกัดจีนในการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ล้วนส่งสัญญาณถึงภัยคุกคามของแรดเทาในสายตาจีน

 

ประเด็นที่สอง แล้วจีนจะสู้กลับหรือแก้เกม Trump 2.0 อย่างไร

 

แน่นอนว่าจีนจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉย จีนไม่ยอมเป็นผู้ถูกกระทำเพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าจีนอาจจะใช้ไม้อ่อนเริ่มจากการพูดคุยเจรจากับทรัมป์ แลกเปลี่ยนผลประโยชน์และหาทางประนีประนอม ซึ่งย่อมจะดีกว่าการต่อสู้ห้ำหั่นกัน อย่างไรก็ดี หากสหรัฐฯ ยังยืนยันที่จะมีท่าทีแข็งกร้าวและจะขึ้นภาษีกับสินค้าจีนตามคำขู่ ฝ่ายจีนก็พร้อมจะสู้กลับ จุดแข็งของจีนคือการมีพลังซื้อมหาศาลเป็นอาวุธที่ทรงพลัง

 

หากรัฐบาลทรัมป์ทำสงครามการค้ากับจีนอีกครั้ง ฝ่ายจีนก็พร้อมที่จะปล่อยหมัดสวนกลับด้วยวิธีการและรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการตอบโต้ทางการค้า หรือที่เรียกว่า Trade Retaliation ด้วยการเพิ่มกำแพงภาษีหรือจำกัดโควตาสินค้าที่จีนเคยนำเข้าจำนวนมากจากสหรัฐฯ เช่น ถั่วเหลือง สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาจีนที่เป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองมากที่สุดในโลก (สัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60-63 ของการนำเข้าถั่วเหลืองของโลก) จีนจึงเป็นตลาดส่งออกถั่วเหลืองที่สำคัญของสหรัฐฯ หากจีนประกาศตอบโต้ด้วยการไม่ซื้อหรือเพิ่มมาตรการกีดกันถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ ส่งออกไปจีนได้น้อยลง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ผลิตถั่วเหลืองจำนวนมากในสหรัฐฯ ว่ากันว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มฐานเสียงสำคัญของทรัมป์ที่อาศัยอยู่ในมลรัฐตอนกลาง (Midwest) และเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองสำคัญจนถูกเรียกกันว่า ‘Soybean Belt’

 

อีกประเด็นสำคัญคือ จีนแก้เกมเพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ด้วยกลยุทธ์กระจายความเสี่ยง (Diversification Strategy) เร่งกระจายส่งออกไปตลาดใหม่ๆ ในโลกขั้วใต้ (Global South) จนสำเร็จ

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจีนไม่ได้นิ่งนอนใจและใช้กลยุทธ์กระจายความเสี่ยงเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการกับภัยคุกคาม ‘แรดเทา’ ที่จะเกิดขึ้นกับจีน สีจิ้นผิงจึงได้รุกคืบไปสร้างความสัมพันธ์กับหลายประเทศที่มีศักยภาพในโลกขั้วใต้ มีการกระจายตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าจีนและขยายการค้าการลงทุนกับประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในทวีปต่างๆ ทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศเหล่านั้น มีการรายงานว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าจีนไปยังตลาดโลกขั้วใต้มีมูลค่าขยายเพิ่มสูงกว่าการส่งออกของจีนไปตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ดังแสดงในภาพประกอบ

 

อ้างอิง: https://asiatimes.com/2024/05/2-words-explain-china-export-surge-global-south/

 

เส้นสีฟ้าคือตลาดส่งออกของจีนในแถบโลกขั้วใต้ (Global South) ได้แก่ อาเซียน เอเชียใต้ เอเชียกลาง ลาตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง และแอฟริกาตอนเหนือ (Middle East and North Africa: MENA) รวมทั้งรัสเซีย

 

เส้นสีส้มคือตลาดส่งออกของจีนที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย

 

จีนเล็งเห็นศักยภาพของตลาดโลกขั้วใต้มานานแล้ว ยิ่งชาติตะวันตกใช้วิธีการกดดันและกีดกันสินค้าจีน ก็ยิ่งจำเป็นสำหรับจีนที่ต้องเตรียมตลาดสำรองในโลกขั้วใต้ ล่าสุดกรณีรถยนต์ EV แม้ว่าสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์ EV จากจีน แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบกับจีนมากนัก เพราะนอกจากสหรัฐฯ จะไม่ใช่ตลาดหลักของรถยนต์ EV จีนแล้ว จีนยังเน้นทำตลาดและส่งออกรถยนต์ EV ไปยังประเทศในโลกขั้วใต้จนสำเร็จ เช่น บราซิล เป็นตลาดหลักอันดับต้นๆ ของรถยนต์ EV จีน รวมทั้งอีกหลายประเทศในตะวันออกกลางก็นิยมใช้รถยนต์ EV จีนมากขึ้น

 

โดยสรุป การกลับมาของทรัมป์และทีมงานสายเหยี่ยวที่มุ่งจัดการกับจีนคือแรดเทาสำหรับจีน ความเสี่ยงนั้นชัดเจน จึงมีการเตรียมความพร้อมที่จะสู้กลับและแก้เกมเช่นกัน อย่างไรก็ดี ความพยายามของจีนในการรับมือกับนโยบายแข็งกร้าวและหนักหน่วงในยุค Trump 2.0 อาจจะต้องใช้เวลา ดังนั้นในระยะสั้นจีนอาจจะยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่อยู่บ้าง จึงจำเป็นต้องอาศัยกลยุทธ์เชิงรุกให้มากขึ้นและเร่งพัฒนาเศรษฐกิจจีนที่แข็งแกร่งจากภายในให้มากยิ่งขึ้น

 

ที่น่าสนใจคือกลยุทธ์กระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ด้วยการกระจายตลาดและรุกคืบไปสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับหลายประเทศในโลกขั้วใต้จนกลายเป็นอีกตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพสำหรับจีน แล้วประเทศไทยเรียนรู้อะไรในเรื่องนี้ ไทยจะยังคงฝากอนาคตตัวเองไว้กับตลาดเดิมๆ อีกต่อไปหรือไม่ ก็ขอฝากให้ไปลองคิดกันต่อนะคะ

The post ทำไมทรัมป์ 2.0 คือ ‘แรดเทา’ แล้วจีนจะสู้กลับอย่างไร? appeared first on THE STANDARD.

]]>