อาหารท้องถิ่น – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 17 Dec 2021 10:03:17 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ทศวรรษแห่งการกลับสู่ความ ‘บ้าน’ และ 10 เทรนด์กินดื่มมาแรงที่เกิดขึ้นในปี 2019 ปูสู่ 2020 https://thestandard.co/now-next-2020-food-beverage-trends/ Thu, 26 Dec 2019 08:12:34 +0000 https://thestandard.co/?p=315789 Food Beverage Trends

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2010 พวกเราเรียนรู้ที่จ […]

The post ทศวรรษแห่งการกลับสู่ความ ‘บ้าน’ และ 10 เทรนด์กินดื่มมาแรงที่เกิดขึ้นในปี 2019 ปูสู่ 2020 appeared first on THE STANDARD.

]]>
Food Beverage Trends

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2010 พวกเราเรียนรู้ที่จะปรับตัวล้อตามกระแสโลกที่แท้จริงแล้วใหญ่กว่าเทรนด์ นั่นคือความวิตกกังวลถึงโลกที่เราอาศัยอยู่ ก่อเกิดเป็นความเคลื่อนไหวที่เอนไปหาความยั่งยืน ที่ส่งผลต่อการกิน ดื่ม และหลังจากแหงนหน้ามุ่งสู่ต่างถิ่นไปยันนอกโลก เราเรียนรู้ที่จะหันกลับมารักความเป็นพื้นบ้าน เห็นค่าในสมบัติที่บรรพบุรุษสร้างเอาไว้บนผืนดินที่อาศัย ต่อยอดเป็นกระแสชูอาหารท้องถิ่น แต่ 365 วันที่ผ่านมายังมีเทรนด์อะไรอีกบ้างที่เราจับมาไว้ในมือคุณ และใครหลงรักเทรนด์ไหน หรืออยากให้ไปเสียที คอมเมนต์บอกเราด้านล่างได้เลย

 

Food Beverage Trends

 

10 เทรนด์การกินดื่มมาแรงที่เกิดขึ้นในปี 2019 ปูสู่ 2020

  • มังสวิรัติบุกตลาด กระแส plant-based มาแรงอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
  • อิซากายะและโอมากาเสะมาแรง ยังครองตลาด ต่อยอดไปค็อกเทลและกาแฟโอมากาเสะ!
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ำ แบรนด์ขยันออกเบียร์ 0% ไวน์ดื่มไม่กึ่ม ฯลฯ
  • ครัว ‘ผี’ (Ghost Kitchen) ร้านอาหารไม่มีหน้าร้าน จัดส่งอย่างเดียว ใช้ครัวร่วมแบรนด์อื่นประหยัดต้นทุน
  • ครัวรักษ์โลก เชฟใส่ใจในอาหารเหลือทิ้ง (Zero Waste) คำนึงถึงโลกสีเขียวขึ้นมาก
  • ลาหลอด บาร์ คาเฟ่ ร้านอาหาร และโรงแรมหันมาใช้หลอดทางเลือกอย่างเห็นได้ชัดที่สุดในรอบทศวรรษ
  • วัตถุดิบบ้านๆ กู่ก้อง คนครัวไทยหันมาชูอาหารพื้นถิ่นอย่างไม่มีเขินจนคว้าดาวมิชลินเพียบ
  • Delivery ไม่จบแค่พิซซ่า พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไปมหาศาลจากแอปพลิเคชันสั่งอาหารที่ไม่หยุดนิ่ง
  • Chef’s Table กินในบ้าน อาหารแบบ ‘ตามใจเชฟ’ ไม่จบแค่ที่ร้าน ต่อยอดไปถึงในบ้านที่ผุดเพียบ แต่ถูกกฎหมายไหมนั่นอีกเรื่อง…
  • ไข่เค็มโกอินเตอร์ หลังจากปรากฏอยู่ในแทบทุกสิ่งจนแทบแทนที่ชาเขียว ในที่สุดเทรนด์นี้ก็เริ่มซาลงแล้ว

 

 

 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

The post ทศวรรษแห่งการกลับสู่ความ ‘บ้าน’ และ 10 เทรนด์กินดื่มมาแรงที่เกิดขึ้นในปี 2019 ปูสู่ 2020 appeared first on THE STANDARD.

]]>
เผ็ดเผ็ด ร้านอาหารอีสานรสเด็ด เตรียมเปิดบ้านใหม่ PhedPhed Ground ที่คลองลัดมะยม https://thestandard.co/phedphed-ground/ Fri, 15 Nov 2019 11:45:32 +0000 https://thestandard.co/?p=304411 PhedPhed Ground

เป็นร้านอาหารไม่กี่ร้านที่เรารู้สึกน้ำลายสอทุกครั้งเวลา […]

The post เผ็ดเผ็ด ร้านอาหารอีสานรสเด็ด เตรียมเปิดบ้านใหม่ PhedPhed Ground ที่คลองลัดมะยม appeared first on THE STANDARD.

]]>
PhedPhed Ground

เป็นร้านอาหารไม่กี่ร้านที่เรารู้สึกน้ำลายสอทุกครั้งเวลาพูดชื่อร้าน หรือแค่นึกถึงอาหารของ ‘เผ็ดเผ็ด’ ที่โด่งดังมาจากการเป็นร้านอาหารอีสานบ้านๆ ที่รสเลิศถึงใจในย่านอารีย์ ก่อนที่จะขยายสาขาและเมนูที่หลากหลายขึ้นในเผ็ดเผ็ด บิสโทร ย่านราชพฤกษ์ และที่เราตื่นเต้นที่สุดคือการเปิดตัวร้านใหม่ ‘เผ็ดเผ็ด กราวด์’ (PhedPhed Ground) ย่านตลาดน้ำคลองลัดมะยม

 

เผ็ดเผ็ด คือร้านอาหารของ ต้อม-ณัฐพงศ์ แซ่หู ผู้เติบโตมากับวัฒนธรรมการกินแบบอีสานแท้ๆ จากจังหวัดนครพนม และด้วยความรักในการลิ้มรสรสชาติอาหารใหม่ๆ เขาจึงสรรหาวัตถุดิบและวิธีการทำอาหารที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตของเขามารังสรรค์ให้กลายเป็นรสชาติที่น่าจดจำ และหลังจากที่เพิ่งเปิดตัวเผ็ดเผ็ด บิสโทร ที่ The Circle ราชพฤกษ์ ไปเมื่อปีก่อนก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก ขนาดที่คนรอคิวยาวเป็นชั่วโมงๆ และมาปีนี้เขาได้เปิดตัวบ้านใหม่อีกหลังของเผ็ดเผ็ดในชื่อ เผ็ดเผ็ด กราวด์ ที่น่าจะได้รับผลตอบรับที่ยอดเยี่ยมเช่นกันแน่นอน

 

เผ็ดเผ็ด กราวด์ คือร้านอาหารใหม่ในเครือเผ็ดเผ็ดที่จะตั้งอยู่ในตลาดน้ำคลองลัดมะยม และเมนูที่เราจะเห็นกันที่สาขานี้ ทางเพจทางการของเผ็ดเผ็ดได้เปิดเผยไว้ก็ช่างน่าตื่นเต้น อย่างที่เรารู้ๆ กันว่าแต่ละสาขาของเผ็ดเผ็ดเองก็จะมีเมนูที่ไม่ซ้ำกันเพื่อความหลากหลายทางรสชาติ และในสาขาใหม่นี้มีเมนูน่ากินตั้งแต่ ขนมจีนน้ำยาป่นปลาที่ใส่ตีนไก่ เลือดไก่, นึ่งพุงปลา, นึ่งเห็ด, จ้ำแจ่วแมงดา, เมี่ยงปลาเผา หรือปลาร้าปิ้งกับแจ่วพริกดิบ ฯลฯ ที่ค่อนข้างจะทำให้เห็นความแตกต่างของสาขานี้อย่างชัดเจน เน้นไปที่อาหารพื้นๆ เรียบง่ายที่อาจใช้แค่สองนิ้วจกข้าวเหนียวสักคำกินคู่กับทุกอย่างได้ง่ายๆ แต่ยังแฝงไปด้วยรสชาติจัดจ้านที่เป็นเอกลักษณ์

 

เผ็ดเผ็ด กราวด์ จะตั้งอยู่ในตลาดน้ำคลองลัดมะยม โครงการ 3 ย่านถนนพุทธมณฑล สาย 1 ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในวันพุธที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ตามที่ทางร้านได้แจ้งไว้

 

อยากลิ้มลองรสชาติที่เข้มข้นถึงใจ คลิกไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/PhedPhedFood

 

ภาพ: PhedPhed

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

The post เผ็ดเผ็ด ร้านอาหารอีสานรสเด็ด เตรียมเปิดบ้านใหม่ PhedPhed Ground ที่คลองลัดมะยม appeared first on THE STANDARD.

]]>
ชิมอาหารลาวรสสนุกแบบไม่ต้องไปไกลถึงสะหวันนะเขตที่ Lao Dtom Lao (ลาวต้มลาว) https://thestandard.co/lao-dtom-lao/ Thu, 14 Nov 2019 11:41:55 +0000 https://thestandard.co/?p=304005 Lao Dtom Lao

จากที่ครั้งก่อนเราได้พาทุกคนไปสัมผัสรสชาติลุ่มน้ำโขงที่ […]

The post ชิมอาหารลาวรสสนุกแบบไม่ต้องไปไกลถึงสะหวันนะเขตที่ Lao Dtom Lao (ลาวต้มลาว) appeared first on THE STANDARD.

]]>
Lao Dtom Lao

จากที่ครั้งก่อนเราได้พาทุกคนไปสัมผัสรสชาติลุ่มน้ำโขงที่ Funky Lam ที่ซอยทองหล่อ 11 กันแล้ว ครั้งนี้เราพาเดินไปซอยถัดไปอย่างทองหล่อ 13 เพื่อชิมอาหารลาวรสสนุกอีกร้านหนึ่งของ เชฟโจ๊ก-สมเกียรติ ไพโรจน์มหกิจ แห่ง Seven Spoons และ Sheepshank พร้อมแท็กทีมครัวชาวลาวร่วมนำเสนออาหารเพื่อนบ้านที่อาจไม่คุ้นตาให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น

 

Lao Dtom Lao

 

Lao Dtom Lao (ลาวต้มลาว) ร้านน้องใหม่สัญชาติลาวแห่งย่านทองหล่อ แท้จริงแล้วไม่ใช่ร้านเปิดใหม่ หากแต่ย้ายจากทำเลเดิมที่ถนนจักรพรรดิพงษ์มาอยู่ที่ชั้น 2 ของโครงการ Seenspace ในซอยทองหล่อ 13 หากมองผิวเผินจากด้านหน้าโครงการก็คงไม่ค่อยเห็นกันว่าชั้นบนนี้มีร้านอาหารลาวอยู่ด้วย

 

Lao Dtom Lao

Lao Dtom Lao

บรรยากาศภายในร้านที่ดูโปร่งโล่งสบาย

 

The Vibe

ตัวร้านค่อนข้างมืดทึม ได้แสงไฟมาจากโคม และมีมู่ลี่ไม้กั้นแบ่งความเป็นส่วนตัวของร้านให้ตัดขาดจากด้านนอก ซ้ายมือมีโต๊ะไม้ยาวตั้งเด่นกลางร้าน ดูเหมือนจะเป็นคอมมอนไดน์นิ่งสำหรับใครที่ไม่อยากนั่งกินข้าวคนเดียวหรือสองคน ส่วนโต๊ะกลมและโซฟาไว้รับแขกกลุ่ม 3-6 คนกำลังดี ส่วนฟากขวาของร้านเป็นครัวเปิด เผยให้เห็นทุกกระบวนขั้นความอร่อยจากมือเชฟสู่จาน

 

Lao Dtom Lao

ครัวเปิดเผยให้เห็นความเคลื่อนไหวในครัว

 

ในส่วนของชื่อร้าน ‘ลาวต้มลาว’ มาจาก ‘ต้ม’ ที่เป็นภาษาลาว แปลว่าต้มตุ๋นหรือโกหก พ้องเสียงกับ ‘ต้ม’ ภาษาไทย ด้วยเหตุนี้การที่คนลาวมาทำอาหารลาวจึงไม่ต่างอะไรกับคำว่า ‘ลาวต้มลาว’

 

Lao Dtom Lao

เทาย่างจิ้มแจ่ว

 

The Dishes

อาหารลาวที่ร้านเป็นสไตล์ภาคกลางแถบสะหวันนะเขต รสชาติค่อนมาทางอีสาน แม้จะไม่คุ้นหู แต่รสชาติคุ้นลิ้น เราสั่ง เทาย่างจิ้มแจ่ว (140 บาท) ได้ยินชื่อแล้วคงเอ๊ะว่ามันคืออะไร แต่เมื่อยกมาเสิร์ฟมันคือสาหร่ายน้ำจืดย่างจนแห้ง รสสัมผัสหนึบหนับกำลังดี รับประทานสไตล์เมี่ยงคู่กับแจ่วเห็ดหรือแจ่วปลาร้า พร้อมผักดองที่ร้านทำเอง

 

Lao Dtom Lao

Lao Dtom Lao

เปาะเปี๊ยะและเกี๊ยวซ่า

 

ต่อด้วยของกินเล่นอีกสักอย่างสองอย่าง เปาะเปี๊ยะผัก ตัวแป้งแม้จะผ่านการทอด แต่ไม่กรอบกร้วมเหมือนเปาะเปี๊ยะจีน กลับมีความนุ่มเหนียวเพลินลิ้น ส่วน เกี๊ยวซ่าไส้หมกหน่อไม้ ดูหน้าตาไม่ต่างอะไรกับเกี๊ยวซ่าทั่วไป แต่ไส้ด้านในขอบอกว่ารสเผ็ดร้อนจัดจ้านอย่างลาว ไม่ต่างอะไรกับการกินหมกหน่อไม้เอาเสียเลย

 

หลังจากที่น้ำย่อยเริ่มทำงานก็พร้อมลุยต่อไปที่สารพัดยำและตำ เชฟแนะนำ ยำสับปะรดดองหมึกกรอบ (180 บาท) จานนี้มีกลิ่นอายเวียดนามนิดหน่อยตรงที่นำสับปะรดไปดองในน้ำตาลและน้ำส้มสายชูประมาณ 2-3 วัน จากนั้นตักเอาแต่เนื้อสับปะรดมายำกับหมึกกรอบ ผสมน้ำปลาร้าต้มสุกที่ทางร้านทำขึ้นเองเพื่อความนัว คำแรกที่ชิมก็สัมผัสได้ถึงความสดชื่นแบบยำผลไม้ แต่ไม่หวานเกินไป ส่วนหมึกกรอบก็ช่วยให้ยำสับปะรดดองมีรสชาติดีขึ้นอีกเป็นกอง

 

Lao Dtom Lao

Lao Dtom Lao

มะละกอกรอบกุ้งดอง

 

หากยังนัวไม่พอคงต้องสั่ง มะละกอกรอบกุ้งดอง (180 บาท) รสชาติคงไม่ต้องพูดถึง เพราะรับประกันความแซ่บระดับลาวแท้ๆ ส่วนไฮไลต์คือกุ้งดองที่ผ่านการดองกับผักพื้นบ้านสารพัดชนิดจนได้กลิ่นและรสชาติที่หอมชวนรับประทาน

 

Lao Dtom Lao

Lao Dtom Lao

ตำแบบลาวๆ และซี่โครงลาว

 

ตำสุวรรณเขต (125 บาท) ส้มตำจานนี้หน้าตาคล้ายคลึงตำหลวงพระบางตรงที่ใช้มะละกอเส้นฝานบาง แต่เพิ่มปูนานึ่งสมุนไพรพื้นบ้านจนกระดองเปลี่ยนเป็นสีแดงสด ตัดความเผ็ดร้อนจากจานยำๆ ตำๆ ด้วย ลิปลาว (280 บาท) ซี่โครงหมักสมุนไพรหอม จากนั้นผ่านการซูวีด์จนเนื้อล่อน เพิ่มรสชาติด้วยน้ำจิ้มถั่วและแจ่วปลาร้า

 

Lao Dtom Lao

Lao Dtom Lao

ไก่อบหอมๆ และสำลีห่อกาบ

 

ไก่อบโอ่ง (240 บาท) บอกไว้ก่อนว่าไก่ที่นี่อบโอ่งจริงๆ โดยคัดเฉพาะไก่ชั้นดีและเนื้อเยอะ หมักสมุนไพรทิ้งไว้ แล้วอบในโอ่งอีกประมาณ 3 ชั่วโมงจนหนังแห้ง เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มเปรี้ยวหวานเพิ่มความอร่อย

 

ปิดท้ายหลังกินคาวด้วยของหวานพื้นบ้าน สำลีห่อกาบ (95 บาท) ที่ใช้ข้าวโพดฝานผสมข้าวเหนียวที่แช่น้ำทิ้งไว้ ปรุงรสด้วยน้ำตาลและเกลือนิดหน่อยแล้วห่อในกาบเปลือก เมื่อสุกแล้วเชฟจะตักไอศกรีมเชอร์เบตมะขามมาเสิร์ฟกินคู่กัน รสหวานตัดเปรี้ยวช่วยล้างรสชาติที่ยังคงค้างอยู่ในปาก และทำให้มื้อนี้เสร็จสิ้นโดยบริบูรณ์

 

Lao Dtom Lao

 

Lao Dtom Lao (ลาวต้มลาว)

Open: เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 12.00-23.00 น.

Address: ชั้น 2 Seenspace ซอยทองหล่อ 13 สุขุมวิท 55 กรุงเทพฯ

Budget: 300-500 บาท

Contact: 09 1728 0013

Website: www.facebook.com/laodtomlao

Map: 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

The post ชิมอาหารลาวรสสนุกแบบไม่ต้องไปไกลถึงสะหวันนะเขตที่ Lao Dtom Lao (ลาวต้มลาว) appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘แกงเวฬา’ ร้านข้าวแกงที่เปลี่ยนเมนูไปทุกวัน และเชื่อว่าหนึ่งมื้ออาหารคือช่วงเวลาสำคัญ https://thestandard.co/kang-vela/ Thu, 14 Nov 2019 11:23:32 +0000 https://thestandard.co/?p=303976 แกงเวฬา

เดินทางไปเชียงใหม่คราวนี้ หนึ่งร้านอาหารที่ฉันหมายมั่นไ […]

The post ‘แกงเวฬา’ ร้านข้าวแกงที่เปลี่ยนเมนูไปทุกวัน และเชื่อว่าหนึ่งมื้ออาหารคือช่วงเวลาสำคัญ appeared first on THE STANDARD.

]]>
แกงเวฬา

เดินทางไปเชียงใหม่คราวนี้ หนึ่งร้านอาหารที่ฉันหมายมั่นไปถึงคือ ‘ร้านข้าวแกง’ ในคำจำกัดความที่ฟังดูธรรมดาและมีทั่วไปนั้น ข้าวแกงร้านนี้กลับมีความพิเศษอยู่ในรายละเอียด

 

‘แกงเวฬา’ เป็นร้านข้าวแกงที่ตั้งอยู่ในโกดัง แกงเวฬาปรับเปลี่ยนเมนูทุกวันแทบไม่เคยซำ้ แกงเวฬามีกับข้าวที่เราคุ้นตาไปจนถึงตำรับโบราณหากินยาก แกงเวฬาไม่ได้ตีกรอบตนเองเพียงอาหารสัญชาติไทย แต่จับเอาหลายวัฒนธรรมการกินมาผสมผสาน แกงเวฬาใช้วัตถุดิบท้องถิ่นในฤดูกาลเป็นหลัก และเลือกสรรคุณภาพเทียบชั้นไฟน์ไดนิ่ง

 

ร้านเปิดแต่เช้า เพราะมื้อเช้าสำหรับพวกเขาเป็นเรื่องจริงจัง เมื่อร้านเปิด ข้าวปลาอาหารจะพร้อมบนโต๊ะยาว เบื้องหลังอาหารเหล่านั้นคือสามบุคคลที่เชื่อในการกินอยู่ที่ดี อันโยงใยไปถึงการใช้เวลาอย่างคุ้มค่า เชฟนีฟ-ฮะนีฟ พิทยาสาร และ พี่โจ้-รัชดาพล หมื่นหนู เป็นสองผู้รับหน้าที่หลักในการปรุงอาหารแต่ละวัน ขณะที่ ป้านุช-ชิดชนก หมื่นหนู ยืนประจำไลน์กับข้าว คอยตักอาหาร คอยดูแลมื้อเช้าและมื้อเที่ยงของลูกค้า

 

แกงเวฬา

แกงเวฬา

 

ทั้งสามรู้จักกันมานานและผูกพันราวพี่น้อง เชฟนีฟคลุกคลีอยู่ในแวดวงอาหารในเชียงใหม่อยู่เดิมที เคยผ่านการทำงานในร้านอาหารชื่อดัง และทำโปรเจกต์ของตนเอง เช่น Greensmoked สโมกบาร์บีคิวในรูปแบบฟู้ดทรัก หรือจัดงาน Farm Dinner ในเชียงใหม่เป็นประจำทุกปี ฝั่งของพี่โจ้และป้านุช คู่สามีภรรยาที่ทำธุรกิจกรอบรูปแฮนด์เมดมาก่อนหน้า กระทั่งจังหวะที่ต้องโยกย้ายเวิร์กสเปซไปสู่ที่ทางใหม่ พี่โจ้และป้านุชมาเจอเข้ากับโกดังให้เช่าแห่งนี้ ซึ่งมีพื้นที่เพียงพอให้ Greensmoked ของเชฟนีฟได้ปักหลักเป็นเรื่องเป็นราวได้ 

 

“ระหว่างอยู่ที่นี่ เราทำกับข้าวกินกันทุกวัน” ป้านุชย้อนเล่าถึงชีวิตประจำวันของพวกเขา “กลางวันทำงานช่าง ปรึกษากันเรื่องการเปิด Greensmoked ระหว่างวันเราก็ถามกัน วันนี้จะกินอะไรดี พอบอกว่าอยากกินปลานึ่ง นีฟเขาก็เอาปลามาแล่ ทำเหมือนสมัยที่เขาทำตอนเป็นเชฟในร้านอาหารเลย ถ่ายรูปแต่ละที คนก็ถาม นี่ร้านไหนเหรอ” 

 

“นิสัยของพวกเราคือขอให้กินข้าวอร่อยทุกมื้อ กลายเป็นว่าแต่ละมื้อเป็นเรื่องใหญ่ทุกวัน” เชฟนีฟเอ่ยพร้อมเสียงหัวเราะ 

 

“ถ้าคุณคิดว่าการกินอาหารเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ต้องคิดเรื่องนี้ใหม่นะ” ป้านุชกล่าวในมุมของตน “คุณอาจไม่ต้องกินหลายมื้อต่อวันก็ได้ อาจกินหนึ่งมื้อ ให้เป็นหนึ่งมื้อที่ดีที่สุด เราอยากให้เห็นคุณค่าของเวลา มันสำคัญที่สุดแล้ว” และแนวคิดนี้ก็ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของร้านแกงเวฬา  

 

แกงเวฬา

 

เชฟนีฟเล่าต่อว่า “พอผ่านไปร่วม 7-8 เดือน เลยคุยกันว่าไหนๆ เราก็ทำกับข้าวเองอยู่แล้ว เราทำเพิ่มอีกหน่อย ขายอาหารหน้าโกดังมั้ย วันแรก เราเอาโต๊ะไปตั้งหน้าบ้าน มีอาหารอยู่ 4 อย่าง ผมก็ไปยืนกับป้านุช เพื่อนๆ เรามา คนที่อยู่รอบๆ มา คนที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่เชื่อถือได้มากิน แล้วก็ปากต่อปาก วันที่สอง โชคชะตาเล่นตลก ฝนตก เลยต้องย้ายเข้ามาข้างใน เรายืนผ่านไปหนึ่งวัน มองซ้ายมองขวา เฮ้ย! มันอยู่ได้ แล้วจะรออะไรล่ะ”

 

แกงเวฬาที่เห็นเช่นปัจจุบันจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ครบหมวดต้ม ผัด แกง ทอด ตุ๋น ทำกินเองแบบไหน ทำให้ลูกค้ากินแบบนั้น “เราทำแบบที่เรากิน เพราะอาหารทุกอย่างที่ทำคือฉันกินด้วย อาหารเหล่านี้หล่อเลี้ยงฉันด้วย” เชฟนีฟกล่าวชัดเจน

 

“บ้านผมเป็นคนจีน มองการกินเป็นเรื่องใหญ่ ครอบครัวใหญ่มาก ฉะนั้นต้องวางแผนกันทุกมื้อ ผมจับมีดตั้งแต่ 5-6 ขวบ ได้พื้นฐานอาหารจีนจากที่บ้าน พอจบ ม.3 ก็ลาออก ไปอยู่ร้านอาหารของป้าที่มาเลเซีย 5 ปี ได้วิธีทำอาหารมาเลกลับมาอีก และโดยแพสชัน ผมชอบอาหารยุโรป เลยศึกษา เวลาล่วงเลยไปก็ตกตะกอนมาเป็นแบบนี้ คุณโจ้ก็เหมือนกัน” เชฟนีฟเอ่ยถึงคู่หูที่กำลังขลุกอยู่ในครัว “เขาเป็นลูกครึ่ง พ่อเป็นคนใต้ แม่เป็นคนเชียงใหม่ เขาถนัดเรื่องแกง เรื่องการใช้กะทิ” 

 

“พ่อของคุณโจ้เป็นคนพัทลุงค่ะ” ป้านุชเสริม “เขาก็ได้อาหารใต้จากการที่ตามพ่อไปทำงานหลายที่ แม่เป็นคนเหนือเคยไปอยู่เบอร์ลิน ได้อาหารเมืองจากแม่ อาหารฝรั่งก็ได้อีก”

 

แกงเวฬา

 

นอกจากรสมือที่หลายคนถูกปาก ความสนุกของข้าวแกงร้านนี้อยู่ตรงที่ออกเมนูใหม่ๆ ให้ได้ลุ้นกันทุกวัน เชฟนีฟให้เหตุผล “พวกเราชอบกินข้าวแกง แต่หลายครั้งก็เบื่อเพราะเขาไม่ได้เปลี่ยนเมนู เราชอบรสมือเขาไง เราอยากกลับไปกินอีก แต่เขาก็ทำกับข้าวเดิมๆ เราจึงเปลี่ยนเมนูไปทุกวัน จะทำซ้ำก็ต่อเมื่อคิดถึงเมนูนั้น แต่จะไม่มีอะไรที่เป็นเค้าเดิมให้คนนึกถึงก็ไม่ได้ งั้นขอสักอย่างที่มีทุกวัน เป็นเมนูที่คัดแล้วว่าส่วนใหญ่น่าจะชอบ อยากกลับมากินใหม่” เมนูนั้นก็คือ ‘แกงเวฬา’ กับข้าวยืนพื้นอย่างเดียวและเป็นชื่อเดียวกับชื่อของร้าน

 

The Dishes

แกงเวฬา (100 บาท) คือแกงมัสมั่น เชพนีฟบอกว่าเป็นแกงที่แทบไม่เห็นในเชียงใหม่ “เราบัญญัติของเราเองว่าแกงเวฬา เพราะมัสมั่นเป็นแกงต้องใช้เวลาในการทำ โปรเซสเกือบๆ 10 ชั่วโมง ตั้งแต่ทำวัตถุดิบจนมาจบในชาม และมัสมั่นของเราต้องเป็นเนื้อเท่านั้น เนื้อวัวยิ่งบ่ม ยิ่งให้เวลา ยิ่งอร่อย ทีนี้เลยเข้ากับชื่อร้าน เราพูดเรื่องเวลา เลยเป็นแกงเวฬาซะเลย เราต้มยำทำแกง เราสนุกกับมัน แล้ว ฬ ก็เป็นอักษรที่หายไป เราไม่ค่อยได้ใช้ เลยเอากลับมา ตีคอนเซปต์ได้อีกว่าเมนูของเราจะเลือกอะไรที่หายไปแล้วบ้าง บางคนจำไม่ได้แล้ว หรือบางคนไม่เคยเจอมาก่อน เราก็ไปค้นดู เมื่อก่อนเขาทำอะไรกินกันบ้าง”

 

แม้มีแกงเวฬาให้ลูกค้าได้กินทุกวัน แต่ใช่ว่าทุกวันจะเป็นเนื้อวัวส่วนซ้ำเดิม บางวันเป็นเนื้อส่วนแก้ม บางวันเป็นเนื้อใบพาย บางวันก็เนื้อส่วนชายโครง แกงเวฬาที่ฉันได้ชิมในวันนี้ใช้ลิ้นวัวมาทำ ตุ๋นเอาเสียจนเปื่อยยุ่ย แต่ยังคงเท็กซ์เจอร์ไว้ให้เคี้ยว สัมผัสรสเครื่องแกงมัสมั่นเข้มข้นที่คลุกเคล้าและซึมซาบทั่วเนื้อทุกชิ้น

 

แกงเวฬา

แกงเวฬา 

 

กับข้าวหลายอย่างของร้านนี้เป็นอาหารบ้านๆ ที่เคยคุ้น หากจะวัดก็วัดกันที่รสชาตินี่ล่ะ และ ต้มหมูสามชั้นมะระปลาเค็ม (80 บาท) ก็เป็นกับข้าวบ้านๆ ที่ฉันตักจนเนื้อเกลี้ยง ซดน้ำแกงถึงก้นถ้วย สามชั้นหั่นพอดีคำ ตุ๋นจนนวลนุ่ม มะระไม่ขมแม้แต่น้อย แต่เคี้ยวแล้วก็ยังรู้ว่าเป็นมะระ น้ำแกงเจือรสและกลิ่นปลาเค็มอ่อนๆ ป้านุชเป็นผู้ร้องขอแกงหม้อนี้

 

“เราเคยดูรายการทีวีเหมือนรายการแม่บ้าน เจอเมนูนี้เข้า ก็คุยกับคุณโจ้ว่าน่าสนใจนะ เขาก็ลองทำ เออ อร่อยจริง เราไม่กินหมูสามชั้น แต่หมูสามชั้นในสูตรนี้ทำออกมาแล้วอร่อย เป็นการถนอมอาหารสำหรับเลี้ยงคนจำนวนมาก ทำเก็บไว้ รสชาติก็ไม่เปลี่ยน มีแค่ข้าวสวยร้อนๆ พอ”

 

แกงเวฬา

ต้มหมูสามชั้นมะระปลาเค็ม

 

อย่างที่เกริ่น กับข้าวร้านนี้ไร้ข้อจำกัด อย่าง แกงเนื้อก้อนมะพร้าวคั่ว (100 บาท) ก็เป็นเมนูที่เอาอาหารที่ต่างชาติกันมาผนวก เชฟนีฟเป็นฝ่ายเล่า “เมนูนี้เพิ่งเกิดขึ้น เพราะเราอยากกินมีตบอล ก่อนหน้านั้นวันหนึ่ง เราทำแชริตี้กับพี่ก้อย (กนิษฐกา ลิมังกูร) ครัวอันจะกิน พี่ก้อยขอให้เราทำอาหารสตาฟฟ์และเลี้ยงแขกที่มา เราเลยทำมีตบอลหม้อใหญ่ แต่เราไม่ได้กินเลย ผมก็เลยบอกว่าเรามาทำมีตบอลกินกันเถอะ ทีนี้ก่อนหน้านั้นอีกวัน เราทำแกงเผ็ดเป็ดย่าง ก็น่าจะเวิร์กถ้าจะเอามะเขือเทศกับพริกหนุ่มมาใส่กับมีตบอล เอาแกงแดงมาใส่ มะพร้าวคั่วก็เหลือจากที่เราทำเรนดังในวัน Malay Day เป็นแกงอินโดฯ ที่ใส่มะพร้าวคั่วในแกง เราคั่วไว้เยอะมาก จับใส่แกงแดงดีกว่า เพราะเรนดังก็เป็นแกงกะทิเหมือนกัน กลายเป็นอาหารสามชาติ ไทย อินโดฯ ยุโรป”

 

ป้านุชเอ่ยต่อ “มันคืออาหารในบ้านที่คนในบ้านหลังหนึ่งทำกิน เป็นธรรมชาติที่สุด เราทำอะไรกิน วัตถุดิบอะไรเหลือ แล้วเรารู้ว่ามันเข้ากันได้” 

 

“มันคือล้างตู้เย็นนั่นแหละ แต่มีระบบระเบียบในการคิด ไม่ใช่ว่าจับๆ โยนๆ แต่ถ้าเหมาะ เราหยิบเลย เราสนุกเลย และต้องทำออกมาให้อร่อยจริงๆ” เชฟนีฟไม่ได้พูดเกินจริง เพราะเมนูสามชาติจานนี้อร่อยจริง

 

แกงเวฬา

แกงเนื้อก้อนมะพร้าวคั่ว

 

คนนอกมองเข้าไป อาจคิดว่าการทำร้านข้าวแกงง่ายตรงที่ทำอาหารออกมารวดเดียวแล้วก็จบแค่นั้น แต่แกงเวฬาไม่เล่นท่าง่าย บางเมนูต้องทำออกจากครัวสดๆ ร้อนๆ อย่าง เต้าหู้แคะเวฬา (100 บาท) เป็นต้น 

 

“เป็นเมนูที่บ้านผมทำกินตั้งแต่เด็ก แต่เบสเป็นไก่กับกุ้ง แต่วันนี้ใช้ปลาอินทรีผสมไก่ ทำเป็นชิ้นใหญ่ ราดน้ำนึ่งซีอิ๊วเหมือนปลานึ่งซีอิ๊ว ประเด็นคืออาหารจานนั้นอร่อยที่สุดตอนไหนก็เสิร์ฟตอนนั้น อย่างปลานึ่ง จะมานึ่งไว้แล้วตากลมจนแห้ง ให้ตายเถอะ มันไม่อร่อย หรือของทอด บางอย่างทอดทิ้งไว้ได้ แต่บางอย่างไม่ได้ เช่น ฮ่อยจ๊อ ต้องกรอบนอก ข้างในนุ่ม ถ้าเราทอดไว้ข้างในจะฝ่อ” 

 

แกงเวฬา

เต้าหู้แคะเวฬา

 

ทั้งสามคนจ่ายตลาดเองทุกวัน หลายเมนูเพียงคิดภาพไว้คร่าวๆ แล้วไปสรรหาของดีเอาจากตลาด เชฟนีฟยกตัวอย่างผัดผักเดินกาดหรือผัดผักรวมนั่นเอง “เราจะมีไกด์ว่าเราอยากทำอะไร แต่จะจบว่าเป็นผักอะไรก็ต่อเมื่อเราไปเดินตลาด ตี 4 ตี 5 ผมไปเดินตลาดหางดงทุกวัน ตอนบ่ายไปตลาดอีกที่ เจอผักอะไรในจังหวะนั้นที่น่าใช้ เราก็หยิบมา” วันนี้มี กะหล่ำดอกผัดเห็ดรวม (50 บาท) ให้ลูกค้าได้กิน กับข้าวง่ายๆ อีกแล้ว แต่ทำให้อร่อยได้อย่างนี้ ฉันว่าไม่ง่าย 

 

แกงเวฬา

ผัดผักเดินกาด

 

หรืออย่างฉู่ฉี่ปลา ในวันเดียวกันนี้ก็ต้องออกปลามาถึงสองชนิด เมื่อ ฉู่ฉี่ปลากุเรา (80 บาท) หมด ก็ตามมาด้วย ฉู่ฉี่ปลาทรายแดง (80 บาท) ตามจำนวนปลาสดที่หามาได้ “ผมเดินตลาด ตอนแรกอยากได้ปลากุเราสัก 20-30 ตัว วันหนึ่งขายประมาณนี้ แต่ปลาสดแค่ 12 ตัว และมีปลาทรายแดงที่สดอีก 3 ตัว เราก็เอาแค่นั้น สรุปวันนี้ได้แค่ 15 พอร์ชัน หมดคือหมด ปลาไม่สด ไม่ดีพอที่จะกิน ไม่ต้องซื้อซะดีกว่า”

 

แกงเวฬา

ฉู่ฉี่ปลากุเรา

 

ซื้อเฉพาะของสด จับจ่ายวัตถุดิบเท่าที่เอามาใช้ ทำในปริมาณที่กำลังไหวไปวันต่อวัน ด้วยตั้งใจทำให้ครัวนี้ Zero Waste หรือไม่ก็ทิ้งให้น้อยที่สุด เมื่อกับข้าวบางอย่างทำออกมาไม่มาก ลูกค้าบางรายมาไม่ทันกิน จึงนำมาสู่การจองอาหารข้ามวันอันเป็นธรรมเนียมที่เกิดจากลูกค้าเอง สักสองทุ่ม ป้านุชจะโพสต์ขึ้นเพจไล่เรียงเมนูที่จะมีในวันรุ่งขึ้น ปิดรับการจองตอน 7 โมงเช้าของอีกวัน

 

The Vibe

ฉันอยู่ที่ร้านตั้งแต่เช้าถึงช่วงสาย เห็นลูกค้าแวะเวียนเข้ามาไม่ขาดช่วง พื้นที่โกดังแห่งนี้กว้างพอให้ตั้งได้หลายโต๊ะ นั่งกินที่ร้านจึงไม่รู้สึกแน่นขนัดหรืออึดอัดแต่อย่างใด โต๊ะและเก้าอี้แต่ละตัวหน้าตาแตกต่าง บ้างประกอบขึ้นเองเพราะทั้งพี่โจ้และป้านุชถนัดงานช่าง บ้างก็เป็นของเก่าที่ยังใช้งานได้ดี แม้ผนังโกดัง ประตูบานใหญ่ หลังคาเจาะช่องแสงธรรมชาติ พวกเขาช่วยกันก่อร่างสร้างขึ้นมากับมือ

 

ทางเข้าร้านตั้งน้ำดื่มและผลไม้ให้ลูกค้าได้ดูแลตนเองเหมือนมาบ้านเพื่อน หากเป็น น้ำเก๊กฮวยใส่เก๋ากี้ หรือ น้ำจับเลี้ยง แช่เย็นเจี๊ยบ ก็เพียงแก้วละ 20 บาท 

 

แกงเวฬา

แกงเวฬา

น้ำเก๊กฮวยเก๋ากี้และน้ำจับเลี้ยง

 

มองลูกค้าที่เดินเข้าร้าน หลายรายถือกล่องอาหารหรือหิ้วปิ่นโตติดมือมาด้วย ร้านนี้ไม่ใช้ถุงแกงมาแต่ไหนแต่ไร ลูกค้ารู้กันดีว่าหากจะซื้อกับข้าวกลับบ้าน ต้องนำภาชนะของตนมาใส่ หรือหากใครลืม สามารถซื้อปิ่นโตจากที่ร้านได้ ป้านุชบอกว่าเป็นปิ่นโตฝากขาย ทางร้านไม่ได้อะไรจากตรงนี้แม้แต่น้อย แต่เพราะต้องการเลี่ยงการใช้พลาสติกเป็นสำคัญ

 

อีกอย่างที่ร้านนี้ปราศจากคือกระดาษเช็ดปาก แต่แทนด้วยผืนผ้า ป้านุชอธิบายว่า “เราใช้ผ้าฝ้ายทอมือของกลุ่มจอมทอง เชียงใหม่ เราว่าดีตรงที่ไม่สร้างขยะ เอาเข้าจริง ผ้าประหยัดกว่าทิชชู่และสะอาดกว่านะ ทิชชู่ราคาถูกคือเนื้อไม่ดี ต้องใช้หลายแผ่น ทิชชู่เนื้อดี บางทีแผ่นหนึ่งสองสามบาท และการที่คุณเก็บโต๊ะแล้วต้องมาเก็บทิชชู่ ฟีลลิ่งก็ไม่ดี คุณใช้ผ้าที่ลงทุนครั้งเดียว แล้วซักเอาดีกว่า” ส่วนผ้าผืนที่ใหญ่กว่าใช้ห่อกล่องอาหารให้ลูกค้าหิ้วกลับ อย่างที่ญี่ปุ่นเรียกว่าฟุโรชิกิ ส่วนป้านุชเรียกว่าการโพกผ้า ผูกไม่ยาก ใช้งานซ้ำได้ เก๋กว่าหิ้วถุงพลาสติกเป็นไหนๆ  

 

แกงเวฬา

แกงเวฬา

 

ก่อนจบบทสนทนา ฉันถามถึงเสียงตอบรับของลูกค้า ป้านุชเล่าถึงเรื่องที่ทำให้พวกเขารู้สึกชื่นใจ “เราเคยทำแกงขี้เหล็กปลาย่าง มีลูกค้ากินเข้าไปแล้วเขาก็เงียบ น้ำตาซึม เราก็ถามว่ามีอะไรหรือเปล่าคะ เขาบอกว่าเขาคิดถึงพ่อ ตอนเด็ก พ่อพาไปเก็บขี้เหล็ก แล้วมาทำขี้เหล็กปลาย่าง รสชาติอย่างนี้เลย อีกคนกินมัสมั่นของเราแล้วคิดถึงลูก บอกว่าลูกฉันชอบกินมัสมั่นมาก เขาก็โทรหาลูกที่อยู่กรุงเทพฯ เดี๋ยวนั้นเลย เป็นเหตุให้แม่ลูกนัดกัน แล้วพากันมากินเมนูนี้ เรารู้สึกว่ามันน่ารัก” สำหรับบางคน อาหารจึงไม่ใช่เพียงความอิ่มท้อง แต่ยังหมายถึงความอิ่มใจ

 

แกงเวฬา

 

ป้านุชทิ้งท้าย “ลูกค้ามักถามถึงเมนูที่มีเมื่อวาน เมื่อวานไม่ได้มาหรือมาไม่ทัน แต่อยากกินมาก นี่ไง ร้านถึงชื่อแกงเวฬา เพราะเวลามันผ่านไปแล้วไงคุณ แต่อย่าเสียดายสิ่งที่มันผ่านไปแล้ว ขอให้ตั้งใจมีความสุขกับคนที่อยู่ข้างๆ พร้อมกับใช้เวลาในปัจจุบันอย่างคุ้มค่านะคะ”

 

แกงเวฬา

Address: ถนนรอบเมืองเชียงใหม่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่

Open: วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.15-13.30 น.

Contact: 06 2449 9425

Facebook: www.facebook.com/kangvela

Map:

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

The post ‘แกงเวฬา’ ร้านข้าวแกงที่เปลี่ยนเมนูไปทุกวัน และเชื่อว่าหนึ่งมื้ออาหารคือช่วงเวลาสำคัญ appeared first on THE STANDARD.

]]>
กระโดดขึ้นรถไฟแห่งความอร่อย กับเส้นทางอาหารบูรพทิศที่ Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar https://thestandard.co/burapa-eastern-thai-cuisine-bar/ Fri, 18 Oct 2019 01:49:04 +0000 https://thestandard.co/?p=296459 Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

  รถไฟคลาสสิกที่ไม่ต้องมีกระเป๋าเดินทางก็ขึ้นได้ & […]

The post กระโดดขึ้นรถไฟแห่งความอร่อย กับเส้นทางอาหารบูรพทิศที่ Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar appeared first on THE STANDARD.

]]>
Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

รถไฟคลาสสิกที่ไม่ต้องมีกระเป๋าเดินทางก็ขึ้นได้

 

ยุคสมัยเปลี่ยน การเดินทางไปยังพื้นที่ไกลๆ ก็ถูกย่นระยะเวลาด้วยเครื่องบินและทางหลวง จากที่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งเกือบครึ่งค่อนวัน กลายเป็นไม่กี่ชั่วโมงก็ถึง หรือข้ามวันข้ามคืน บินลัดฟ้าแค่ไม่กี่อึดใจ เท้าก็แตะปลายทางเสียแล้ว แม้การเดินทางโดยรถไฟจะถูกแทนที่ด้วยเครื่องบิน ด้วยระยะเวลาที่ใช้เดินทางนั้นสั้นลง ความสะดวกสบายของที่นั่งและบริการ และราคาที่ย่อมเยาลงกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก แต่เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ในความฉึกฉักของรถไฟนั้นมีเสน่ห์ซ่อนอยู่ เป็นการเดินทางที่อนุญาตให้เราดื่มด่ำไปกับบรรยากาศระหว่างทางที่เคลื่อนผ่านอย่างช้าๆ สลับกับความทรงจำ บทสนทนา และความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่สถานีหนึ่งและออกจากสถานีหนึ่ง

 

คืนนี้เราขอพาทุกคนไปขึ้นรถไฟสายตะวันออกแบบไม่ต้องเตรียมตัวให้มากความ ทิ้งกระเป๋าเดินทางไว้ที่บ้าน แล้วมุ่งสู่เส้นทางอาหารแห่งบูรพทิศที่ร้านอาหารไทยตะวันออกและอีสาน ผ่านมุมมองและรสมือคนตะวันออก ณ Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar (บูรพา อีสเทิร์น คิวซีน แอนด์ บาร์) ที่ซอยสุขุมวิท 11 

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

เรื่องราวของหญิงสาวผู้ออกเดินทางโดยรถไฟสายบูรพา

 

บูรพา คือ เรื่องราวของหญิงสาวที่เดินทางโดยรถไฟสายบูรพา และจดบันทึกสิ่งที่พบเจอระหว่างการเดินทางไปทั่วภูมิภาคตะวันออก และถ่ายทอดเรื่องราวผ่านจานอาหารให้คนภูมิภาคอื่นได้รับรู้เพิ่มขึ้น จากที่ศรีตราดได้นำเสนอรสชาติอาหารภาคตะวันออกผ่านวัตถุดิบจาก 7 จังหวัด มาครั้งนี้ บูรพาได้ขยายพรมแดนและวัตถุดิบอาหารให้ก้าวไกลยิ่งกว่าเดิม จาก 7 เป็น 27 จังหวัด พร้อมด้วยเมนูอาหารน่าสนใจที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันแล้ว แต่ที่นี่จะนำเสนอผ่านมุมมองคนภาคตะวันออกที่มีต่ออาหารภูมิภาคตะวันออกทั้งหมด ซึ่งรวมอาหารภาคอีสานเข้าไปด้วย

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

ย่อส่วนรถไฟมาไว้ที่ซอยสุขุมวิท 11

 

The Vibe

จากตึกแถวพาณิชย์คูหาเล็กๆ ในซอยสุขุมวิท 11 ที่พลุกพล่านไปด้วยนักท่องราตรีทั้งไทยและต่างชาติ บูรพาได้เลือกที่จะลงหลักปักฐานและมีเป้าหมายเป็นจุดหมายปลายทางของอาหารไทยตะวันออกบนถนนแห่งนี้ เพื่อเปิดประสบการณ์อาหารไทยให้ทั้งคนไทยเองและชาวต่างชาติได้เข้าใจว่า อาหารไทยมีมากกว่าที่คิด และภูมิภาคของอาหารที่ถูกหลงลืมก็มีความน่าสนใจและรสเด็ดไม่แพ้ส้มตำ ต้มยำ แกงเขียวหวาน มัสมั่น หรือผัดไทย

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

ผสมผสานความคลาสสิกย้อนยุคและโมเดิร์นเข้าด้วยกันที่บริเวณบาร์

 

บูรพาตกแต่งด้วยธีมรถไฟย้อนยุค ให้บรรยากาศของตู้รถไฟหรูหราที่ชนชั้นสูงยุโรปใช้เดินทางในช่วงปี 1930-1960 ผสมผสานความอาร์ตเดโคและสีแพนโทนนกยูงอันประกอบด้วย น้ำเงิน-ทอง ม่วง-แดง และเขียว-ทอง เป็นสีหลักในแต่ละชั้น บูรพาชั้นล่างสุดออกแบบให้คล้ายเลานจ์และบาร์คลาสสิกไร้กาลเวลา ที่รองรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจและชั้นหนึ่งระหว่างที่รอขึ้นขบวนรถ แนะนำให้แวะจิบค็อกเทลสักแก้ว แล้วค่อยขึ้นไปชั้นบนเพื่อรับประทานมื้อเย็น หรือจะดินเนอร์ให้เสร็จ แล้วลงมาดื่มสักแก้วปิดท้ายก่อนลงจากขบวนรถไฟสายบูรพาก็เข้าที

 

เดินขึ้นบันไดไปยังชั้นสอง นี่คือตู้รถไฟชั้นธุรกิจที่ตกแต่งได้ดีงามจนแทบไม่น่าเชื่อว่า นี่เราอยู่ในสุขุมวิทหรือกำลังเดินทางบน Orient Express กันแน่ โต๊ะที่นั่งถูกจัดสรรตามแบบตู้รถไฟเป๊ะ ทั้งเบาะหนังมันวาวหรูหรา พร้อมด้วยหน้าต่าง โคมไฟ ข้าวของเครื่องใช้ และบรรยากาศที่ขาดแค่เสียงเอี๊ยดอ๊าดของล้อเหล็กกระทบกับรางและไม้หมอนเพียงเท่านั้น นอกจากนี้ชั้นสามยังมีพื้นที่รองรับเหล่านักเดินทางผู้พกท้องมาฝากครัวที่นี่เช่นกัน เรียกได้ว่า มาบูรพาแล้วได้ทั้งความอร่อยและได้ประสบการณ์แปลกใหม่

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

บรรยากาศลึกลับราวกับหลุดไปอยู่ในหนังสือของ อกาธา คริสตี้!

 

The Concept

ถึงจุดนี้อาจเกิดความสงสัยว่า อาหารของบูรพาต่างกับร้านศรีตราดที่ประสบความเร็จไปก่อนหน้าอย่างไร คำตอบคือ ที่ศรีตราดมุ่งเน้นการนำเสนออาหารตะวันออกผ่านวัตถุดิบหลักจาก 7 จังหวัดในภูมิภาค ในขณะที่บูรพาได้ขยายพรมแดนอาหารตะวันออกให้กว้างไกลกว่าเดิมเป็นทั้งหมด 27 จังหวัด ทำให้มีวัตถุดิบ รสชาติ และลูกเล่นที่แปลกใหม่กว่าร้านผู้พี่อย่างศรีตราด อีกทั้งยังมีเมนูคุ้นลิ้นจากแถบอีสานที่บูรพาจะมาปัดฝุ่นและตีความรสชาติกันใหม่ตามความเข้าใจและมุมมองที่คนตะวันออกมีต่ออาหารอีสาน ส่วนเครื่องจิ้ม พริกแกง และซอส ทางร้านทำขึ้นเอง และตั้งใจที่จะใช้วัตถุดิบทุกอย่างให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

อาหารทั้ง 27 จังหวัด ย่อส่วนมาสู่ขบวนรถไฟแห่งความอร่อย

 

หากสังเกตรสชาติอาหารไทยแต่ละภูมิภาค เราอาจจำแนกคร่าวๆ ได้ว่า อาหารเหนือส่วนใหญ่มีความแห้ง เค็ม และมัน ส่วนอาหารอีสานนั้นครบเครื่องความเค็ม เปรี้ยว และเผ็ด และตั้งข้อสังเกตได้ว่า แทบจะไม่ค่อยมีการใช้น้ำตาลในอาหารมากสักเท่าไร สำหรับภาคกลางมักจะมีรสกลม มีทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด และขม ไม่มากไม่น้อยเกินไป ส่วนอาหารใต้ แน่นอนว่า เน้นเค็มและเผ็ดเป็นซิกเนเจอร์ แล้วอาหารตะวันออกล่ะ มีโปรไฟล์รสชาติไปทางไหน ก็คงตอบได้ว่า อาหารตะวันออกมีโปรไฟล์รสชาติระหว่างภาคกลางกับใต้ มีความติดหวาน และจำแนกอาหารตะวันออกเป็นอีก 3 ประเภทย่อยๆ ได้แก่ 1. ใช้อาหารทะเล 2. ใช้สมุนไพร และ 3. ใช้ผลไม้

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

หมกหม้อไก่ไข่อ่อน

 

The Dishes

ระหว่างที่รอขบวนรถไฟเคลื่อนตัวออกจากสถานี ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างด้วยการนั่งเฉยๆ สั่ง สำรับทานเล่น (350 บาท) มากินกรุบกริบกันเสียก่อน ในถาดมีข้าวเหนียว ไส้กรอกอีสานที่เน้นข้าวเยอะและมันหมูรสเปรี้ยว เนื้อแดดเดียวส่วนหางตะเข้ติดมัน จิ้มกับซอสพริก 3 ชนิด ที่ร้านทำเอง และมีน้ำพริกหมูชะมวง ต่อยอดไอเดียมาจากแกงหมูชะมวง ลดทอนให้มาอยู่ในรูปแบบน้ำพริกถ้วยเล็ก กินตัดรสชาติของทานเล่นอย่างอื่น

 

แพกุ้งฝอยทอดกรอบและอาจาด (150 บาท) เราแทบจะไม่เห็นของขบเคี้ยวอย่างแพกุ้งในชีวิตประจำวันแล้ว จำได้ลางๆ เมื่อวัยเด็กที่ได้กินเป็นประจำทุกคร้ังเมื่อได้ไปทะเล กุ้งฝอยผสมพริกแกงรสเข้มชุบแป้งทอด ราดอาจาดโฮมเมดที่ได้จากการกรองน้ำพริกที่ไว้ทำซอสพริกอีกทีหนึ่ง

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

ยำแหนมข้าวทอดแมงกะพรุน สำรับทานเล่น และแพกุ้งฝอยทอดกรอบและอาจาด

 

ยำแหนม หนึ่งในอาหารข้างทางที่บูรพาหยิบยกมาอัปเกรดให้ดียิ่งขึ้น ยำแหนมข้าวทอดแมงกะพรุน (220 บาท) น้ำพริกกุ้งมะพร้าวคลุกข้าวเก่าเย็นๆ แล้วทอด เมื่อได้ท่ีแล้วจึงมายำกับแหนม และไม่ใส่หนังหมู แต่ใช้แมงกะพรุนน้ำมันงามาเพิ่มความกรุบแทน และแน่นอนว่า ยำแหนมจานนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในเมนูโปรดของเราไปแล้ว

 

ในที่สุดก็ถึงเวลาสั่งกับข้าวกับปลามากินกันสักที เราเลือก ปลาหมึกผัดวุ้นเส้นกะปิ (200 บาท) หมึกกล้วยผัดวุ้นเส้น เพิ่มความเข้มข้นจัดจ้านของรสชาติด้วยกะปิเกาะช้างที่ทำจากเคยอ่อน รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ได้รสกลมกล่อมกำลังดี แถมมีกลิ่นทะเลติดปลายจมูกนิดๆ ด้วยนะ

 

ต้มแซ่บเนื้อใบชะมวง (สอบถามราคาจากทางร้าน) อีกหนึ่งเมนูที่ผสมผสานระหว่างต้มแซ่บกับต้มชะมวงได้อย่างลงตัว เนื้อเอ็นแก้วคัดอย่างดีใส่เครื่องเคราตั้งไฟต้มตามแบบฉบับต้มแซ่บ แต่เพิ่มใบชะมวงเข้ามา และตัดมะนาวออกไป เมนูนี้ตั้งใจนำเสนอมิติใหม่ของรสเปรี้ยวในอาหารไทยที่ไม่ได้มีแค่มะนาวหรือมะขามเพียงเท่านั้น ตักซุปซดคล่องคอ แก้เลี่ยน ล้างรสชาติที่คงค้างในปาก และดีต่อสุขภาพในถ้วยเดียว

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

ปลาหมึกผัดวุ้นเส้นกะปิ และหมกหม้อไก่ไข่อ่อน

 

หมกหม้อไก่ไข่อ่อน (250 บาท) อาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยพืชผักสมุนไพรทั้ง ผักชีลาว ใบมะกรูด ตะไคร้ ใบกระวาน โดยนำเครื่องเคราสมุนไพรนึ่งพร้อมไก่และไข่อ่อนที่ไม่ได้หากินได้บ่อย ตั้งน้ำไว้ด้านบน เพื่อให้ความร้อนของไอน้ำมาทำให้หมกไก่สุก และน้ำไก่กับน้ำสมุนไพรซึมออกมาและซึมกลับจนเข้าเนื้อ

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

ข้าวหยำกะปิ อาหารของชาวประมง

 

อาหารจานเดียวก็มีเช่นกัน ลองสั่ง ข้าวหยำปิ (250 บาท) ไอเดียมาจากอาหารชาวประมงที่นิยมรับประทานเวลาออกเรือ ข้าวผัดกะปิเกาะช้าง มาพร้อมเครื่องเคียงซีฟู้ดแห้ง ประกอบด้วยปลาอินทรีหวาน หอยแมลงภู่ตากแห้ง และกุ้งหวาน และสามเกลอต้มกะทิถ้วยเล็กไว้กินตัดรสเผ็ด

 

หลังจากกินข้าวกันเสร็จ แก้เผ็ดด้วยของหวานจากผลไม้ เรื่องกล้วยๆ (250 บาท) ในตะกร้าหาบเร่ประกอบด้วย กล้วยปิ้งราดน้ำตาลอ้อยเคี่ยว กล้วยไข่เชื่อมน้ำตาลอ้อยผสมน้ำตาลทรายแดง ราดกะทิสด และหนุมานคลุกฝุ่น หรือกล้วยน้ำว้าต้ม คลุกเคล้าด้วยมะพร้าวขูด เกลือ น้ำตาลทรายแดง และน้ำตาลอ้อย หรือจะเป็น จาวตาลเชื่อมในน้ำกะทิ (100 บาท) กินกับข้าวเหนียวมูนและมะพร้าวขูด เหมาะกับคนที่ไม่กินหวานจัด

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

ขบวนขนมหวานภาคตะวันออกของทางร้าน

 

แต่ครั้นจะเป็นร้านอาหารไทยตะวันออกก็ต้องมีผลไม้ตะวันออกมาทำของหวานด้วย และเราก็ไม่อยากให้คุณพลาด ไอศกรีมกะทิสดดอกเกลือทะเลน้ำตาลมะพร้าวและทุเรียนเชื่อม (150 บาท) ไอศกรีมกะทิสดผสมเกลือทะเล โรยถั่วลิสง ครบรสหวาน มัน และเค็ม แล้วโปะด้วยทุเรียนเชื่อม แต่อย่าเพิ่งตกใจล่ะ เพราะทุเรียนเชื่อมเขาใช้ทุเรียนดิบเชื่อมน้ำตาลทรายแดงกับน้ำตาลอ้อย กินพร้อมไอศกรีมเข้าคู่กันที่สุด

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar

 

What You Should Know:

 

Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar by Sri Trat

Open: วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 18.00-01.00 น.

Address: ซอยสุขุมวิท 11 กรุงเทพฯ

Budget: 500-1,000 บาท

Contact: โทร. 0 2012 1423

Website: www.facebook.com/BurapaEasternThai

Map: 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

The post กระโดดขึ้นรถไฟแห่งความอร่อย กับเส้นทางอาหารบูรพทิศที่ Burapa Eastern Thai Cuisine & Bar appeared first on THE STANDARD.

]]>
นักเดินทางกับการลิ้มลองอาหารท้องถิ่น https://thestandard.co/traveler-local-food/ https://thestandard.co/traveler-local-food/#respond Tue, 12 Jun 2018 23:21:34 +0000 https://thestandard.co/?p=97243

มีนักเดินทางจำนวนไม่น้อยเลือกสถานที่ท่องเที่ยวโดยดูจากข […]

The post นักเดินทางกับการลิ้มลองอาหารท้องถิ่น appeared first on THE STANDARD.

]]>

มีนักเดินทางจำนวนไม่น้อยเลือกสถานที่ท่องเที่ยวโดยดูจากของกินเป็นอันดับแรก ขณะเดียวกันก็มีนักชิมตัวยงตีตั๋วบินไกลเพื่อไปกินเพียงอย่างเดียว การลิ้มรสอาหารไม่ใช่แค่เพียงเสริมสร้างความสุขทางกายและใจ แต่ยังสะท้อนถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และช่วยให้เราเข้าถึงสถานที่นั้นๆ ได้ง่ายขึ้น THE STANDARD นำผลสำรวจของพฤติกรรมของนักเดินทางว่าพวกเขามุ่งหมายปักหมุดทริปอย่างไรเพื่อลิ้มลองอาหารท้องถิ่นในอีก 1 ปีข้างหน้า

 

 

ภาพประกอบ: Tanya S. / Pantitra H.

The post นักเดินทางกับการลิ้มลองอาหารท้องถิ่น appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/traveler-local-food/feed/ 0