ศาลเจ้าแม่ทับทิม – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Sun, 12 Jan 2025 11:51:46 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ต่อแถวยาวเหยียด แห่ขอพรศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง https://thestandard.co/pray-chao-mae-tubtim-shrine/ Sun, 12 Jan 2025 11:51:46 +0000 https://thestandard.co/?p=1029689 ศาลเจ้าแม่ทับทิม

วันนี้ (12 มกราคม) ช่างภาพทีมข่าว THE STANDARD ลงพื้นที […]

The post ต่อแถวยาวเหยียด แห่ขอพรศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศาลเจ้าแม่ทับทิม

วันนี้ (12 มกราคม) ช่างภาพทีมข่าว THE STANDARD ลงพื้นที่ ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ซึ่งตั้งอยู่ในซอยจุฬาลงกรณ์ 9 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งศาลเจ้าแม่ทับทิมเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่าร้อยปี สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนมาอย่างยาวนาน

 

ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเป็นเทพแห่งโชคลาภและความมั่งคั่ง ขอเรื่องงาน ธุรกิจ และความรัก จนทำให้ผู้คนที่มีความศรัทธาเดินทางมาสักการะและขอพรเป็นจำนวนมาก และวันนี้ทำให้เราได้เห็นภาพว่ามีผู้คนจำนวนมากมาต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอขอพรในเรื่องต่างๆ 

 

ขอบคุณผู้สนับสนุนอุปกรณ์การถ่ายภาพ @Canon Imaging Thailand พร้อมติดแฮชแท็ก #CanonImagingThailand

 

ศาลเจ้าแม่ทับทิม

The post ต่อแถวยาวเหยียด แห่ขอพรศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง appeared first on THE STANDARD.

]]>
คนรุ่นใหม่ก็ต้องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม https://thestandard.co/chao-mae-thap-thim-shrine-conservation/ Sat, 10 Aug 2024 03:43:59 +0000 https://thestandard.co/?p=969716 ศาลเจ้าแม่ทับทิม

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไม่แพ […]

The post คนรุ่นใหม่ก็ต้องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศาลเจ้าแม่ทับทิม

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไม่แพ้ชาติใดในโลก ทว่าปัจจุบันนี้ความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ในชุมชนต่างๆ กำลังปลาสนาการไป

 

แน่ละ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีส่วนสำคัญในการทำลายโบราณสถานและชุมชน แต่ใครเล่าให้สิทธิพวกเขาแต่แรก ทำไมกลายเป็นว่าคนธรรมดาอย่างเราๆ จึงต้องเป็นฝ่ายคอยอ้อนวอนขอให้นายทุนเก็บสมบัติทางวัฒนธรรมของเราอยู่เรื่อยไป

 

ปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรมคือการละเลยหน้าที่ของภาครัฐและนักการเมือง ซึ่งมองข้ามคุณค่าทางวัฒนธรรมอันรุ่มรวยของชุมชนต่างๆ และละเลยหน้าที่ในการปกป้องดูแล ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สมาชิกสภานิติบัญญัติและเจ้าพนักงานรัฐจะต้องไม่นิ่งดูดาย และต้องแก้ไขกฎหมายอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้สมสมัยอย่างเร่งด่วน

 

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี The Last Breath of Sam Yan

 

การค่อยๆ เลือนหายไปของมรดกทางวัฒนธรรมในชุมชนสามย่านเป็นหนึ่งในตัวอย่างรูปธรรมที่ชี้ชัดปัญหานี้ ย้อนกลับไปไม่ถึง 20 ปี หากมองจากแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ จะพบว่าพื้นที่บริเวณรายล้อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘ชุมชนสามย่าน’ เต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา ศาสนสถาน โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลน (Stand-Alone) อย่างลิโด้และสกาลา สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนเผยให้เห็นการปฏิสัมพันธ์และวัฒนธรรมชุมชนของผู้คนในพื้นที่ ศาสนสถานที่ตั้งอยู่กลางชุมชนจะคึกคักตลอดช่วงงานเทศกาลประจำปี ขณะที่โรงภาพยนตร์ก็เป็นสถานที่ยอดนิยมของคนหนุ่มสาวสำหรับพักผ่อนในเวลาว่าง และเป็นตัวเลือกสำคัญในการออกเดต โรงเรียนบริเวณนี้ไม่ได้มีแค่โรงเรียนชั้นนำชื่อดังของไทยอย่างเตรียมอุดมศึกษา, สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน แต่ยังมีโรงเรียนสวนหลวงและโรงเรียนอื่นๆ ที่ก่อตั้งพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ โรงเรียนเหล่านี้เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของลูกหลานคนจีนและบุคลากรจุฬาฯ มาหลายชั่วคน 

 

ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าแม่ทับทิม

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี The Last Breath of Sam Yan

 

น่าตกใจว่าภายในช่วง 10 ปี ชุมชนสามย่านภายใต้การบริหารของจุฬาฯ ถูกปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ สถานที่ที่มีชีวิตชีวาเหล่านี้ส่วนใหญ่ปลาสนาการไปสิ้น ชุมชนที่เคยรายล้อมบ้างก็ถูกรื้อถอน บ้างก็ถูกขึ้นค่าเช่าจนอยู่ต่อไม่ได้ ศาลเจ้าหลายแห่งถูกทุบทำลาย โรงเรียนของชุมชนถูกแทนที่กลายเป็นคอนโดมิเนียมสูงและห้างสรรพสินค้า ตลาดสามย่านที่ยิ่งใหญ่เด่นสง่าอยู่หน้าถนนใหญ่ก็ถูกย้ายหลบไปในหลืบซอย 

 

ในระยะ 5 ปีให้หลัง การทำลายอัตลักษณ์ของชุมชนสามย่านยิ่งปรากฏชัดขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากกรณีโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งเป็นผลงานออกแบบของ จิระ ศิลป์กนก ที่ได้รับรางวัลการอนุรักษ์ศิลปกรรมดีเด่นในเวลาต่อมา หลังจากที่จุฬาฯ มอบสัมปทานปรับปรุงพื้นที่ให้กับผู้ประมูลรายใหม่ได้ไม่ถึงครึ่งปี โรงภาพยนตร์สกาลาซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนที่สวยงามและยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ถูกทุบทำลายเพื่อเตรียมพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้าสูงหลายสิบชั้น แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีเสียงทักท้วงจากทั้งภาคประชาชนและผู้เชี่ยวชาญว่า จุฬาฯ ควรทำสัญญากับเอกชนที่จะมารับสัมปทานให้อนุรักษ์อาคารนี้ไว้ แต่ฝ่ายบริหารของจุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจในขณะนั้นแสดงความเห็นว่า มหาวิทยาลัยมองว่าโรงภาพยนตร์สกาลาเป็นสิ่งก่อสร้างธรรมดาที่ไม่ได้รับการรับรองเป็นโบราณสถาน จึงไม่มีคุณค่าคู่ควรแก่การอนุรักษ์

 

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี The Last Breath of Sam Yan

 

คุณค่าของมรดกวัฒนธรรมในสายตาคนรุ่นใหม่

 

ปัจจุบันหากมองจากภาพถ่ายทางอากาศก็จะพบเพียงศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองที่ตั้งโดดๆ อยู่ท่ามกลางไซต์ก่อสร้าง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นชุมชนเซียงกง ชุมชนชาวจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสอง ซึ่งขยายตัวออกมาจากเยาวราช ศาลเจ้าเก่าแก่แห่งนี้เป็นประจักษ์พยานของชุมชนชาวจีนโพ้นทะเล และมีประวัติที่สืบย้อนได้กว่า 150 ปี โดยเมื่อคราวงานพระบรมศพรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานกระถางธูปสังเค็ดจากรัชกาลที่ 6 ซึ่งก็เป็นอีกหลักฐานช่วยยืนยันได้ว่าศาลเจ้านี้เคยเป็นหนึ่งในศาลเจ้าสำคัญของกรุงเทพฯ นอกจากนี้ คนในชุมชนและบุคลากรรุ่นเก่าของจุฬาฯ ก็ต่างยังจำกันได้ดีว่างานเทศกาลประจำปีของที่นี่จะมีงานแสดงงิ้วประชันกันที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการเล่นประชันกันระหว่างคณะงิ้วชื่อดังสองคณะ 

 

แม้ว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองจะมีความสำคัญทั้งทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ แต่สถานที่แห่งนี้ไม่ได้รับความปรานีไม่ต่างกับบริเวณอื่นๆ ในสามย่าน จุฬาฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้ขอคืนพื้นที่ในปี 2563 เพื่อนำไปสร้างคอนโดมิเนียมและห้างสรรพสินค้า รวมถึงฟ้องร้องขับไล่ผู้ดูแลศาลเจ้าด้วยการเรียกค่าเสียหายกว่า 120 ล้านบาท

 

ขณะนี้ กรณีการต่อสู้ของศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองยังไม่จบลง เราจึงยังสรุปได้ไม่แน่ชัดว่าจะปรากฏเป็นความพ่ายแพ้หรือชัยชนะ แต่ก็นับเป็นเรื่องปาฏิหาริย์อย่างยิ่งที่ศาลเจ้าแห่งนี้ยืนหยัดต่อสู้คดีความในชั้นศาลเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากขบวนการภาคประชาชน นิสิต-นักศึกษาทั้งจากจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยอื่น และผู้สนใจในวัฒนธรรมอย่างล้นหลาม ดังที่เห็นได้จากสารคดี The Last Breath of Sam Yan และปรากฏการณ์การพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้านี้ใน X โดยในปีที่ผ่านมา ศาลเจ้าแห่งนี้ก็ติดอันดับศาลเจ้าที่คนหนุ่มสาวนิยมมาขอพรสักการะมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และเนื้อหาเกี่ยวกับศาลเจ้าก็ได้รับการรีโพสต์เป็นหมื่นครั้ง

 

ทำไมคนรุ่นใหม่อย่างมิลเลนเนียลและ Gen Z ถึงรักศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง สำหรับพวกเราจำนวนมาก ศาลเจ้านี้บอกถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมของเรา ในโลกโลกาภิวัตน์ที่ตึกสูงๆ หน้าตาเหมือนกันหมด ศาลเจ้านี้แตกต่างออกไป โดยยังคงจิตวิญญาณของเมืองเก่าที่ครั้งหนึ่งเราเคยใช้ชีวิตอยู่ และอยากให้ยังคงอยู่ต่อไป 

 

การพัฒนาสามย่านที่จุฬาฯ กำลังทำอยู่นี้อาจสร้างกำไรให้มหาวิทยาลัยได้รวดเร็วก็จริง แต่อาจไม่ใช่วิธีที่คุ้มค่าและยั่งยืนเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องแลกกับการสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมมหาศาลของสามย่าน ซึ่งประเมินคุณค่าไม่ได้ 

 

ศาลเจ้าแม่ทับทิม

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD

 

ปรากฏการณ์นี้แพร่หลายทั่วสังคม

 

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองไม่ได้เป็นสถานที่ที่มีคุณค่าเชิงวัฒนธรรมเพียงแห่งเดียวที่จะถูกทำลาย กรณีป้อมมหากาฬก็ดี กรณีโบราณสถานที่วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหารก็ดี ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการละเลยของหน่วยงานรัฐหรือเจ้าของที่ดินต่อการอนุรักษ์

 

ข้อเท็จจริงนี้สอดคล้องกับที่ ยงธนิศร์ พิมลเสถียร ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมให้ความเห็นไว้ว่า เครื่องมือการอนุรักษ์ในประเทศขณะนี้มีเพียงอย่างเดียวคือ พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ซึ่งกำกับดูแลได้เฉพาะมรดกวัฒนธรรมบางส่วน โดยเฉพาะที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่ไม่ครอบคลุมแหล่งมรดกทั้งหมด โดยเฉพาะมรดกของท้องถิ่นและชุมชน ทำให้เกิดความคลุมเครือและล้าสมัยไปแล้ว หน่วยงานที่ได้รับหน้าที่กำกับดูแลงานอนุรักษ์คือกรมศิลปากร 

 

แม้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะกำหนดนิยามโบราณสถานไว้โดยกว้าง แต่ก็ไม่แน่ชัดว่านิยามหมายถึงอะไรกันแน่ ฉะนั้น แม้ใน พ.ร.บ. จะไม่ได้กำหนดเรื่องอายุของโบราณสถาน แต่เจ้าหน้าที่ก็อาจใช้ดุลพินิจของตนอ้างว่ายังอายุไม่ถึง ยังเก่าไม่พอ เช่น กรณีศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองที่แม้จะสืบความเป็นมาได้มากกว่าศตวรรษ แต่ตัวอาคารศาลเจ้าถูกสร้างใหม่เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน เนื่องจากหน่วยงานก็มีผู้เชี่ยวชาญจำนวนจำกัด กรมศิลปากรจึงเน้นไปที่การปกป้องอนุรักษ์โบราณสถานสำคัญของชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐ ทำให้โบราณสถานหรือสถาปัตยกรรมของชุมชนถูกละเลยและลบเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD

 

ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา นอกจากกฎหมายอนุรักษ์โบราณสถานอย่างเฉพาะเจาะจง รัฐมีกฎหมายมรดกวัฒนธรรมที่กำหนดประกาศกฎเกณฑ์ในการจำแนกและปกป้องมรดกทุกประเภท และกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นต่างๆ ทำให้ภาคประชาชนรู้ว่าสถาปัตยกรรมท้องถิ่นของตนนั้นเข้าเกณฑ์หรือไม่ และสามารถยื่นเรื่องให้หน่วยงานในท้องถิ่นทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อตัดสินใจว่าสามารถขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ 

 

ประเทศไทยอาจมีกฎหมายผังเมือง แต่หน่วยงานท้องถิ่นไม่ได้มีอำนาจบังคับใช้ทางกฎหมายในการอนุรักษ์ เช่น กรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการอนุรักษ์หรือควบคุมไม่ให้สถาปัตยกรรมชุมชนถูกทำลาย มีแต่กรมศิลปากรเท่านั้นที่มีอำนาจ

 

ในแง่หนึ่ง การละเลยเรื่องการอนุรักษ์ก็เป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย รัฐบาลขณะนี้สนับสนุนการท่องเที่ยว ‘เชิงคุณภาพ’ และอยากให้มีแหล่งการท่องเที่ยวนอกจากกรุงเทพฯ ดังนั้น หากการพยายามทำให้จังหวัด เมือง และชุมชน มีส่วนร่วมในการดูแลจัดการโบราณสถานของพวกเขา ก็จะทำให้สามารถรักษามรดกเฉพาะทางวัฒนธรรมของพวกเขาไว้ได้ และมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกเอาใจใส่ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงหล่อเลี้ยงธุรกิจรายย่อย และทำให้ผู้คนยังคงผูกพันกับชุมชนของตนได้

 

มรดกทางวัฒนธรรมมีความหมายอย่างยิ่งต่อคนรุ่นใหม่อย่างพวกเรา เราและคนรุ่นต่อๆ ไปควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงความรุ่มรวยและหลากหลายนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติและหน่วยงานภาครัฐต้องไม่พรากสิทธินี้ และต้องคุ้มครองรักษามรดกทางวัฒนธรรมของเราด้วยการเริ่มปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมายมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้าสมัย ก่อนที่เราจะสูญเสียมรดกอันมีค่าไปอย่างไม่มีทางเรียกกลับคืนมาได้

 

ภาพเปิด: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / THE STANDARD

ผู้เขียน: 

  • เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล – นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน นักอนุรักษ์ และอดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ
  • เสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ – อดีตประธานฝ่ายวิชาการ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ 

 


 

บทความนี้ได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 (ต้นฉบับ: https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/2797814/sam-yan-shows-need-to-save-history)

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์
ปรับปรุงต้นฉบับ: ไบรอัน เมอร์เทนส์ และ ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร

 

Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์สำหรับเผยแพร่บทสนทนาและแนวคิด เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการจัดการมรดกวัฒนธรรมของไทยและประเทศใกล้เคียง ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

The post คนรุ่นใหม่ก็ต้องการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม appeared first on THE STANDARD.

]]>
นับถอยหลังการตั้งอยู่หรือดับไป ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง https://thestandard.co/chao-mae-tuptim-shrine-countdown/ Mon, 29 Jan 2024 12:12:19 +0000 https://thestandard.co/?p=893522

วันนี้ (29 มกราคม) ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ซอยจุ […]

The post นับถอยหลังการตั้งอยู่หรือดับไป ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (29 มกราคม) ที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ซอยจุฬาลงกรณ์ 30 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ช่างภาพข่าว THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจและเก็บภาพบรรยากาศของหนึ่งในสถานที่ยึดเหนี่ยวจิตใจกลางเมืองที่รอบข้างเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทุกวัน

 

แม้วันนี้ตัวของศาลเจ้าจะยังคงตั้งตระหง่านอยู่ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสิ่งแวดล้อมรอบข้างเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามเจตนารมณ์ตั้งต้นของเจ้าของพื้นที่

 

ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ รุ่นที่ 4 กล่าวกับช่างภาพว่า ตอนนี้สถานะการตั้งอยู่หรือย้ายออกของศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ อยู่ระหว่างการต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างผู้ดูแลศาลเจ้ากับเจ้าของพื้นที่ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นชั้นอุทธรณ์ เนื่องจากในศาลชั้นต้นทางฝั่งผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ แพ้คดีไปแล้ว 

 

“ศาลชั้นต้นท่านพิจารณาจากเรื่องสัญญาเช่าเป็นหลัก ในส่วนศาลอุทธรณ์ฝั่งผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ ได้ยื่นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และความสำคัญของศาลเจ้าแม่ทับทิมต่อพื้นที่แห่งนี้ไป ซึ่งผลลัพธ์ท้ายสุดคาดว่าต้องรออีก 2 ปีถึงจะทราบ” ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ กล่าว

 

ท่ามกลางความคลุมเครือที่กำลังเกิดขึ้น ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ เล่าว่ายังคงมีความหวังเล็กๆ เสมอ เพราะมีประชาชนเดินทางมาสักการะขอพรองค์เจ้าแม่เพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ โดยเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ที่มีคนเดินทางมาไม่ขาดสาย

 

“เป็นเหมือนสัญญาณและเครื่องยืนยันการมีอยู่ของศาลเจ้าแม่ทับทิม ณ ที่แห่งนี้” ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ กล่าว

 

ด้านผู้ที่เดินทางมาศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ กล่าวว่า อยากให้ศาลเจ้าคงอยู่เช่นเดิม และก็หวังว่าหากศาลเจ้ายังคงอยู่จะได้รับการดูแลและพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป 

 

สำหรับกรณีพิพาทปมย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองออกจากพื้นที่ เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2550 โดยสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์ฯ ต้องการเรียกคืนพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและย่านเศรษฐกิจ แต่ถึงอย่างนั้นทางผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ ยังคงยืนยันไม่ย้ายออก จนกระทั่งปี 2563 ข้อพิพาทกลายเป็นคำสั่งย้ายและคดีความฟ้องร้องในที่สุด

 

The post นับถอยหลังการตั้งอยู่หรือดับไป ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง appeared first on THE STANDARD.

]]>
นิสิตจุฬาฯ แสดงพลัง #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม อีกครั้ง ระดมพลอารักขา หลังสำนักงานจัดการทรัพย์สินเตรียมเคลื่อนย้ายไปประทับที่อื่น https://thestandard.co/save-chao-mae-thapthim-shrine-310863/ Mon, 31 Aug 2020 06:41:10 +0000 https://thestandard.co/?p=393141 #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม

วันนี้ (31 สิงหาคม) ปฏิบัติการ #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม ยั […]

The post นิสิตจุฬาฯ แสดงพลัง #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม อีกครั้ง ระดมพลอารักขา หลังสำนักงานจัดการทรัพย์สินเตรียมเคลื่อนย้ายไปประทับที่อื่น appeared first on THE STANDARD.

]]>
#SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม

วันนี้ (31 สิงหาคม) ปฏิบัติการ #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากการที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 

 

ครั้งนั้นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนทั้งที่เคยอาศัยและอาศัยอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน ตลอดจนผู้ศรัทธาในองค์เจ้าแม่ทับทิม ออกมาร่วมกันแสดงพลังคัดค้าน ทำให้การรื้อถอนหรือขนย้ายต้องสะดุดหยุดลง

 

แต่วันนี้พวกเขาออกมาแสดงพลังอีกครั้ง เมื่อมีการส่งหนังสือจากสำนักงานจัดการทรัพย์สินว่า จะเข้ามาเคลื่อนย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมไปประดิษฐานยังจุดอื่น ทำให้ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และนิสิตจุฬาฯ ได้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกันอารักขาองค์เจ้าแม่ โดยร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ก่อนที่จะเดินเท้าไปยังสำนักงานจัดการทรัพย์สิน และตะโกนที่ด้านหน้าอาคารว่า #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม 3 ครั้ง ก่อนที่นิสิตจะนำแถลงการณ์ที่มีข้อเรียกร้อง 6 ข้อไปมอบให้สำนักงาน

 

สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ระบุว่า สืบเนื่องจากวันที่ 24 สิงหาคม 2563 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์เผยแพร่ต่อสาธารณชน และจัดให้มีรถประชาสัมพันธ์วิ่งวนในบริเวณสามย่าน-สวนหลวง โดยให้ข้อมูลการย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองไปยังที่ประทับชั่วคราว บริเวณซอยจุฬาลงกรณ์ 34 และจะเปิดให้เข้าสักการะได้ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2563 นั้น

.

คณะกรรมการบริหารศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองขอชี้แจงว่า การย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมไปยังที่ประทับชั่วคราวในวันที่ 31 สิงหาคมนั้น ไม่ได้มีการเจรจาตกลงกันระหว่างสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับศาลเจ้าแม่ทับทิมมาก่อน เป็นการกระทำโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ทางศาลเจ้าฯ มิได้รับรู้หรือยินยอมให้มีการย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมในวันดังกล่าวแต่อย่างใด

 

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองขอประกาศจุดยืนว่า ทางศาลเจ้า ไม่มีความประสงค์จะย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมไปตั้งอยู่ที่ประทับอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นที่ประทับชั่วคราวหรือที่ประทับถาวรแห่งใหม่ และทางศาลไม่ยินยอม หากจะมีบุคคลใดมายกองค์เจ้าแม่ทับทิมอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชนจำนวนมากออกจากศาลไปยังที่ประทับชั่วคราว ซึ่งมิใช่สถานที่อันสมควรแก่การประทับของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือ เป็นอาคารพาณิชย์ที่ไม่มีการประดับตกแต่ง มีห้องน้ำอยู่ด้านหลังแท่นบูชาเทพเจ้า ไม่มีตู้สำหรับประดิษฐานเทวรูปเป็นสัดส่วน ทั้งยังคลุ้งไปด้วยกลิ่นสีทาผนัง ส่วนที่ประทับใหม่ถาวรที่สำนักงานจัดการทรัพย์สินฯ ได้จัดไว้นั้น ก็ตั้งอยู่ในอุทยาน 100 ปี หันหลังให้ถนน ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับจัดงานประเพณี ทั้งยังอยู่ติดร้านจำหน่ายสุรา เป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะสม และไม่เคารพองค์เจ้าแม่ทับทิมเป็นอย่างยิ่ง

 

การกระทำของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการกระทำที่ไม่ให้ความสำคัญกับชุมชนข้างเคียง ให้ได้มีโอกาสธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่ควรค่าแก่การรักษา กล่าวคือมีความประสงค์ที่จะรื้อถอนอาคารเก่าแก่เพื่อสร้างคอนโดมิเนียมขนาด 1,803 ยูนิตขึ้นแทนที่ ในระยะเวลาที่ผ่านมานี้ การปรากฏขึ้นของห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ บริเวณรอบรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รุกล้ำการดำรงอยู่ของชุมชนที่มีมาแต่ดั้งเดิม เป็นการแสวงหาผลกำไรที่มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบแม้แต่น้อย

 

ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเก่าแก่ ตั้งอยู่คู่ชุมชนสามย่านมาเป็นเวลากว่า 50 ปี เป็นสถานที่ซึ่งสำคัญยิ่ง โดยมีองค์เจ้าแม่ทับทิมที่มีอายุกว่า 150 ปี และกระถางธูปพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 ประดิษฐานเป็นสง่าอยู่ภายในศาลเจ้า อีกทั้งยังเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนแต้จิ๋วที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แสดงให้เห็นว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้เป็นสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินทอง หากแต่เกิดจากการจากสั่งสมภูมิปัญญาของชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น

 

ทางศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองมีความประสงค์ที่จะยืนหยัดอยู่คู่ชุมชน เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นแหล่งวัฒนธรรมที่มีชีวิต เป็นตัวแทนของอัตลักษณ์ชุมชนในอดีตที่กำลังจะจางหาย โดยเชื่อว่าการสร้างสิ่งใหม่สามารถดำเนินไปพร้อมกับการธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันเป็น ‘เสาหลักของแผ่นดิน’ จึงควรพิจารณาบทบาทของตนในฐานะ ‘ผู้ให้การศึกษา’ การพัฒนาพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยนั้นจึงควรเป็นไป ‘เพื่อการศึกษา’ ดังพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ในการพระราชทานที่ดินแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มิใช่การดำเนินธุรกิจที่คำถึงถึงผลกำไรเป็นหลักดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 

โดยศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ขอเรียกร้องต่อสำนักงานจัดการทรัพย์สินทั้งสิ้น 6 ข้อ ดังนี้

 

  1. ขอให้ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองได้อยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของนิสิต และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของชุมชน

 

  1. ขอให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินให้ความชัดเจนเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างของไซต์งานรอบศาลเจ้าๆ ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสาธารณชน

 

  1. ขอให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินอำนวยความสะดวกในการจัดงานประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานานให้สามารถดำเนินการได้ดังเดิม

 

  1. ขอให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินจัดให้มีการเจรจาอย่างเป็นทางการในประเด็นเกี่ยวกับศาลเจ้าฯ โดยเปิดให้คณะกรรมการศาลเจ้าฯ ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

 

  1. ขอให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินเปิดเผยข้อมูลการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวกับศาลเจ้าฯ ให้ประชาชนและผู้มีจิตศรัทธารับรู้โดยทั่วถึงกัน

 

  1. ขอให้สำนักงานจัดการทรัพย์สินพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นมิตรกับชุมชน มิใช่คำนึงถึงแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว

 

 

The post นิสิตจุฬาฯ แสดงพลัง #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม อีกครั้ง ระดมพลอารักขา หลังสำนักงานจัดการทรัพย์สินเตรียมเคลื่อนย้ายไปประทับที่อื่น appeared first on THE STANDARD.

]]>
ส.ส. กทม. พลังประชารัฐ หารือในสภาฯ ไม่เห็นด้วยจุฬาฯ รื้อศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง https://thestandard.co/disagree-with-chula-tear-down-chao-mae-thapthim-shrine/ Thu, 09 Jul 2020 05:01:41 +0000 https://thestandard.co/?p=378537

วานนี้ (8 กรกฎาคม) พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. เขต 2 กรุง […]

The post ส.ส. กทม. พลังประชารัฐ หารือในสภาฯ ไม่เห็นด้วยจุฬาฯ รื้อศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง appeared first on THE STANDARD.

]]>

วานนี้ (8 กรกฎาคม) พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. เขต 2 กรุงเทพมหานคร (กทม.) พรรคพลังประชารัฐ ขอหารือประธานสภาฯ เกี่ยวกับศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้นำหนังสือขอให้รื้อย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิม บริเวณสะพานเหลือง เขตปทุมวัน เพื่อที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ ศาลเจ้าแม่ทับทิมนับว่าเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนในพื้นที่มายาวนานกว่า 100 ปี รวมทั้งยังมีความสำคัญทางด้านสถาปัตยกรรมเปรียบเสมือนสิ่งที่บันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เอาไว้

 

ดังนั้นจึงอยากขอหารือประธานสภาฯ ผ่านไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ทบทวนและพิจารณาอีกครั้งในการที่จะรื้อย้ายศาลเจ้าแห่งนี้ และจะเป็นไปได้หรือไม่ หากว่าจะมีหลักการที่จะพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมจากศาลเจ้าแม่ทับทิมที่อยู่คู่กับประชาชนคนไทยมายาวนาน

 

นอกจากนี้ยังขอติดตามความคืบหน้ากับ กทม. ในเรื่องสัญญาณไฟคนข้ามถนนบริเวณถนนเจริญราษฎร์ ระหว่างชุมชนบ้านแบบ ชุมชนโรงน้ำแข็ง และการทาสีทางม้าลายบริเวณถนนเจริญเวียง หน้าชุมชนศรีเวียง ก่อนถึงโรงพยาบาลเลิดสิน 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

The post ส.ส. กทม. พลังประชารัฐ หารือในสภาฯ ไม่เห็นด้วยจุฬาฯ รื้อศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง appeared first on THE STANDARD.

]]>