ล้านนา – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Mon, 16 Dec 2024 02:57:52 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ฟื้นฟูพุทธตำนานล้านนา ช่วยอนุรักษ์มรดกที่สำคัญ https://thestandard.co/opinion-reviving-lanna-buddhist/ Fri, 06 Dec 2024 12:07:14 +0000 https://thestandard.co/?p=1016776

ขณะที่ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียนยกย่องเส้นทางซานติอาโกคอ […]

The post ฟื้นฟูพุทธตำนานล้านนา ช่วยอนุรักษ์มรดกที่สำคัญ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ขณะที่ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียนยกย่องเส้นทางซานติอาโกคอมโพสเตลา (Routes of Santiago de Compostela) ของสเปน ซึ่งมีความเป็นมาราวศตวรรษที่ 9 ให้เป็นมรดกโลกมาตั้งแต่ ค.ศ. 1985 เพราะเป็นเส้นทางแสวงบุญสำคัญของยุโรปและที่มีจุดหมายปลายทางเป็นที่ฝังร่างของนักบุญ James the Greater 1 ใน 12 อัครสาวกของพระเยซูผู้เผยแผ่ศาสนาคริสต์ ปัจจุบันเส้นทางนี้ก็ยังคงดึงดูดนักเดินทางในรูปผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนนับล้านคน

 

แต่ในกรณีของเอเชียนั้น เส้นทางศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงกับ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ทั้งในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของ ‘พุทธอาณาจักร’ คืออาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมขององค์พระศาสดา และเป็นทั้ง ‘พุทธกายา’ ด้วยเป็นพื้นที่ของปูชนียสถานและปูชนียวัตถุอันเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธองค์ เช่น รอยพระบาท เส้นพระเกศา และพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งถือว่าเป็นทั้งเส้นทางและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของเอเชียที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์สุ่มเสี่ยงกับการเลือนหายไป

 

ใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวว่า ‘เขารังรุ้ง’ 
เป็นเสมือนเขตแดนระหว่างเมืองแพรหลวง (จีน) เมืองแสนหวี และหริภุญชัย
โดยในแผนที่ของพระวิภาคภูวดล (James McCarthy) 
ซึ่งเข้ามาจัดทำแผนที่ฉบับแรกของไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 
นั้นได้ระบุตำแหน่งของดอยจักต่อ (รังรุ้ง) ไว้ในแผนที่ด้วย 
ปัจจุบันดอยรังรุ้งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองโต๋น รัฐคะยา สหภาพเมียนมา

 

ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เป็นวรรณกรรมสำคัญทางพุทธศาสนาของล้านนาที่คัดลอกสืบต่อกันมากว่า 500 ปี แพร่หลายในพื้นที่ซึ่งได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาแบบล้านนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และเมืองเชียงตุง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วยการเสด็จฯ เดินทาง ‘เลียบโลก’ ของพระพุทธเจ้ามายังตอนบนของอุษาคเนย์ ครอบคลุมรัฐจารีต 6 แห่ง คือ มาว, น่านเจ้า, เชียงตุง, สิบสองปันนา, ล้านนา และมอญ

 

ตำนานได้กล่าวถึงการสถาปนาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ระหว่างเส้นทางเสด็จ เนื่องจากพระพุทธองค์ได้ประทับพระบาท ประทานพระเกศาธาตุ และทรงกำหนดว่าหลังการเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พื้นที่ใดจะเป็นพื้นที่ประดิษฐานพระสารีริกธาตุส่วนใด และทรงทำนายถึงความรุ่งเรืองและความเสื่อมทรามของชุมชน หมู่บ้าน หรือเมืองต่างๆ ตลอดถึงวิถีชีวิตของผู้คนบนเส้นทางเสด็จผ่านทั้งมนุษย์และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ฮ่อ, ลัวะ, ลื้อ, ไทยวน, ยาง, ข่า และอมนุษย์ เช่น ยักษ์ นาค และสิงห์

 

 

ตำนานพระเจ้าเลียบโลกระบุไว้ว่า พระสารีริกธาตุส่วนต่างๆ ที่สำคัญของพระพุทธองค์นั้นจะประดิษฐานอยู่ในเขตพื้นที่ล้านนาเป็นส่วนใหญ่ กล่าวได้ว่าล้านนาจึงเป็นดินแดนแห่ง ‘พุทธกายา’

 

ตำนานพระเจ้าเลียบโลก จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสำคัญของภูมิภาคที่แสดงเรื่องราว ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมข้ามพรมแดนรัฐชาติและวัฒนธรรม เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชุมชน การก่อตัวเป็นบ้าน-เมือง และความสัมพันธ์ในทางการค้า เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของผู้คน ที่หลากหลาย 

 

ผ่านเรื่องเล่าการเสด็จมาเผยแผ่พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าที่ครอบคลุม 4 ประเทศ ในปัจจุบันคือดินแดนภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เขตพะโค-หงสาวดี และดินแดนตอนเหนือฟากทิศตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำสาละวินในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เขตลุ่มแม่น้ำโขง สิบสองปันนาในมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และภูมิภาคตอนบนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

แผนที่แสดงตำแหน่งต่างๆ ของรอยพระพุทธบาท พระเกศาธาตุ และพระธาตุ 
ตามที่กล่าวไว้ใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก 
เทียบกับการกำหนดตำแหน่งด้วยระบบ GPS 
แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดในทางวัฒนธรรมของผู้คนในเขตตอนบน
ของเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ภายใต้กรอบโครงความเชื่อทางพุทธศาสนา

 

เรื่องราวที่กล่าวถึงใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก นั้นเป็นทั้งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในทางพุทธศาสนาและเส้นทางแสวงบุญของพุทธศาสนิกชนมานานนับศตวรรษ เส้นทางดังกล่าวนี้ได้ซ้อนทับกับเส้นทางสัญจรของผู้คน พระสงฆ์ และเส้นทางของขบวนสินค้าที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในภูมิภาค

 

พุทธบัลลังก์ สถานที่ที่เชื่อว่าเป็นที่พำนักแห่งหนึ่งของพระพุทธเจ้าขณะเดินทางเลียบโลก
ปัจจุบันถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นแหล่งแสวงบุญของคนไทลื้อ
ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองลวง เขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

 

พระบาทเมืองอูใต้ เดิมทีถือว่าตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อของเมืองอูเหนือและอูใต้ 
ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองอูใต้ เขตพงสาลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

ปัจจุบันพื้นที่และเส้นทางที่กล่าวถึงใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ต้องเผชิญกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมาก หลังพัฒนาการทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในอัตราเร่ง ทั้งในมณฑลยูนนานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ลาว และไทย การสร้างเส้นทางเชื่อมต่อใหม่ๆ เช่น เส้นทางรถไฟความเร็วสูง และถนนหลายช่องทางจราจร ที่ทำให้การไหลเวียนของผู้คนข้ามพรมแดนเป็นไปได้โดยสะดวก นำไปสู่การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของชุมชนและหมู่บ้าน

 

ในขณะเดียวกันเส้นทางเชื่อมต่อใหม่ๆ นี้ได้ ‘ตัดพาด ข้ามผ่าน’ เส้นทาง ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ดั้งเดิม ทำให้เรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของพระสงฆ์และพ่อค้าในอดีต เช่น เส้นทางค้าข้าว เกลือ หมาก พลู และชา หรือเส้นทางออกสู่ทะเล ซึ่งเคยเชื่อมโยงผู้คนและชุมชนหลายวัฒนธรรมต้องเปลี่ยนแปลงไป ความทรงจำเกี่ยวกับเส้นทางในตำนานก็เริ่มลบเลือนไป

 

พระบาทรังรุ้งคือพระพุทธบาท 4 รอย ประดิษฐานอยู่เหนือยอดดอย
เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนมาตั้งแต่อดีต
และยังคงเป็นพื้นที่แสวงบุญสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน

 

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังทำให้ร่องรอยของมรดกทางวัฒนธรรมทั้งในเชิงกายภาพ (Tangible Cultural Heritage) ได้รับผลกระทบด้วย เช่น สภาพทางธรรมชาติ อย่างเช่น ภูเขา ถ้ำ แม่น้ำ รอยพระพุทธบาท หรือสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนา เช่น วิหาร ศาลาที่พักระหว่างทาง หรือพระธาตุเจดีย์ที่เชื่อว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุถูกทำลาย โยกย้าย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม สร้างผลกระทบต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) ที่เชื่อมโยงกับ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ด้วยเช่นกัน

 

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม หรือระบบในการจัดการดูแลพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละชุมชนให้เสื่อมคลายไป อันเป็นผลจากการสร้างหรือขยายเส้นทางสัญจรใหม่ๆ ในภูมิภาค

 

นี่คือข้อท้าทายใหม่ว่ามรดกเส้นทางศักดิ์สิทธิ์อันเก่าแก่ของเอเชียนี้จะมีตำแหน่งแห่งที่ในอนาคตข้างหน้าอย่างไร

 

ในปีที่ผ่านมา ตำนานพระเจ้าเลียบโลก มีอายุครบ 5 ศตวรรษ น่าจะถือเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มประเทศในพุทธอาณาบริเวณ (Buddhism Space) ของ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก เช่น ไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน เมียนมา และลาว จะได้ร่วมกันสำรวจสถานภาพของพื้นที่ ชุมชน หรือเมืองต่างๆ ตามที่ได้อ้างถึงใน ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ร่วมกัน

 

จากงานวิจัยของผู้เขียนใน พ.ศ. 2564 ที่ศึกษาเส้นทางของตำนานผ่านระบบสารสนเทศ ภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ร่วมกับการสำรวจพื้นที่จริงของเมืองต่างๆ พบว่ามีเมืองที่กล่าวไว้ในตำนานสามารถระบุพิกัดได้จริงมากกว่าครึ่งหนึ่ง (71 เมืองจาก 141 เมือง) ซึ่งผู้คนในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย ก็ยังคงมีความทรงจำเรื่องเล่าเกี่ยวกับตำนานที่เชื่อมโยงกับสภาพภูมิศาสตร์ในพื้นที่ได้

 

เมื่อมองจากวัดพระธาตุดอยเกิ้ง ตำบลท่าเดื่อ อำเภอดอยเต่า จะมองเห็นแม่น้ำปิง 
ซึ่งเป็นบริเวณตามที่กล่าวอ้างไว้ในตำนานว่า ตำนานพระเจ้าเลียบโลก 
ถูกคัดลอกขึ้นเป็นครั้งแรกที่วัดเชิงดอยเกิ้งใน พ.ศ. 2066

 

การรวบรวมความทรงจำของชุมชนนี้จะช่วยฟื้นคืนเส้นทางศักดิ์สิทธิ์ที่กำลังจะสูญหายไปให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่งได้ด้วยความร่วมมืออย่างแข็งขันระหว่างรัฐ นักวิชาการ พระสงฆ์ และชุมชน เช่น การสำรวจและรวบรวมเอกสาร ตำนาน ประเพณี และพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ในแต่ละท้องที่ เพื่อการศึกษาและเปรียบเทียบ เช่น การเทศน์ ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ในงานบุญประจำปีของท้องถิ่น, การจัดงานเทศกาล, งานประเพณีบูชาพระบาทพระธาตุของแต่ละชุมชน, การศึกษาเครือข่าย และเส้นทางการจาริกแสวงบุญในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตาม ตำนานพระเจ้าเลียบโลก

 

จะได้สร้าง ‘บทสนทนา’ ข้ามพื้นที่ ข้ามวัฒนธรรม และข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับการรักษาเส้นทางวัฒนธรรมอันศักดิ์สิทธิ์เส้นนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไปเช่นในหลายศตวรรษที่ผ่านมา

 


 

คำอธิบายภาพเปิด: ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ฉบับวัดพระเกิด อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน คัมภีร์ใบลาน จารด้วยอักษรธรรมล้านนา ภาษาบาลี และภาษาล้านนา อายุ 117 ปี คือหนึ่งในคัมภีร์ที่สืบเนื่องมาจากการคัดลอกครั้งแรกในล้านนาเมื่อ 500 ปีก่อน

 

เรื่องและภาพโดย: สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

ปรับปรุงต้นฉบับ: คุณศุทธดา อชิรกัมพู

 

Heritage Matters โดย สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์บทความแสดงความคิดเห็นเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และธรรมชาติ ของไทยและประเทศใกล้เคียง แต่ละฉบับมีผู้เขียนที่แตกต่างกัน ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

 

ท่านสามารถสนับสนุน Heritage Matters ได้ผ่านช่องทางนี้: https://thesiamsociety.org/th/make-a-donation/ 

 

อ้างอิง:

  • สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และ วัลลภ ทองอ่อน ‘พุทธภูมิกายาและล้านนาประเทศ’ อ่านตำนานพระเจ้าเลียบโลกผ่านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2564

The post ฟื้นฟูพุทธตำนานล้านนา ช่วยอนุรักษ์มรดกที่สำคัญ appeared first on THE STANDARD.

]]>