รามาวตาร – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 08 Aug 2019 08:50:48 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 รามาวตาร: จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิต ที่ยิ่งทวีความวิจิตรถ้าได้ชมในโรงภาพยนตร์ [Advertorial] https://thestandard.co/ramavatar/ Thu, 08 Aug 2019 17:01:57 +0000 https://thestandard.co/?p=276407

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศ […]

The post รามาวตาร: จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิต ที่ยิ่งทวีความวิจิตรถ้าได้ชมในโรงภาพยนตร์ [Advertorial] appeared first on THE STANDARD.

]]>

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องรามเกียรติ์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่แทบทุกคนน่าจะเคยผ่านประสบการณ์ทัศนศึกษาเดินชมผลงานกับอาจารย์และเพื่อนๆ ที่โรงเรียนสักครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อยในชีวิต 

 

ล่าสุดภาพที่เคยหยุดนิ่งให้เราค่อยๆ เดินชมและกวาดสายตาจนครบทุกห้องภาพ ได้กลับมาในรูปแบบ ‘จิตรกรรมฝาผนัง’ มีชีวิต ในภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง รามาวตาร ที่เก็บรายละเอียดความงดงามสมจริงทั้งหมด มาผสานเข้ากับการเล่าเรื่องด้วยศาสตร์ภาพยนตร์ 

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับผู้กำกับ อธิปัตย์ กมลเพ็ชร, นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อำนวยการสร้าง และทีมงานภาพยนตร์ รามาวตาร ถึงเบื้องลึกเบื้องหลัง งานสร้างภาพจิตรกรรมฝาผนังให้มีชีวิต ที่ทีมงานมากกว่า 200 ชีวิต ทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ช่วยให้เราเข้าถึงความสวยงามของภาพ, ความสนุกของเนื้อเรื่อง, อารมณ์ของตัวละคร ไปจนถึงบรรยากาศการสู้รบราวกับได้เข้าไปอยู่ในสมรภูมิกรุงลงกา ณ เวลานั้นจริงๆ 

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ รามาวตาร

 

 

1. จุดเริ่มความฝันทำให้จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิตที่กินเวลายาวนาน 12 ปี 

 

 

ย้อนกลับไป พ.ศ. 2550 รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา อธิปัตย์ กมลเพ็ชร แห่งอะมีบ้าฟิล์ม (ทีมผู้สร้างวิดีโอเคลย์ แอนิเมชันไตเติลเปิดเพลง Grammy Karaoke ตั้งแต่ Vol. 8 ใน พ.ศ. 2534) มีโครงการอยากเล่าเรื่องรามเกียรติ์จากภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว โดยเทคนิคที่เรียกว่า DVD Interactive 

 

แต่เมื่อศึกษาข้อมูลพบว่า งานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้วมีเอกลักษณ์ที่ใกล้เคียงกับคีย์วิชวลในงานภาพยนตร์ที่น่าจะพัฒนาวิธีการเล่าเรื่องในแบบแอนิเมชัน เหมาะสมกับการทำให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ เข้าใจในเรื่องรามเกียรติ์ที่สนุกสนานไปพร้อมๆ กับการได้เห็นภาพที่วิจิตรงดงาม และพัฒนาโปรเจกต์พร้อมกับหาทุนสร้างภาพยนตร์ด้วยตัวเองนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา 

 

ตัวอย่างไตเติลเปิดเพลง Grammy Karaoke

 

 

2. รามาวตาร ไม่ใช่แค่หนัง แต่หมายถึงการสืบสานมรดกของชาติให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ 

 

 

อธิปัตย์เข้ามาคุยกับ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร นักทำหนังมืออาชีพ ที่ตกลงร่วมพัฒนาโปรเจกต์ เพราะมองเห็นถึงคุณค่าที่มากกว่าการทำหนังขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง สำหรับพวกเขา โปรเจกต์ รามาวตาร เป็นมากกว่านั้น เพราะ รามาวตาร คือการสืบสานมรดกอันดีงามของชาติให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้

 

“อย่างน้อยที่สุด เราอยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้รู้จักรามเกียรติ์ในแบบที่เขาควรรู้จักจริงๆ เพราะเวลาพูดคำว่ารามเกียรติ์ พูดเรื่องโขนกับเด็กรุ่นใหม่ เขาจะรู้สึกไปก่อนว่า จะรู้เรื่องไหม ยาวเกินไป ดูแล้วจะหลับหรือเปล่า ต้องยอมรับว่ามีความห่างไกลกับคนรุ่นเราที่การดูโขนให้ความรู้สึกอิ่มเอมกับการดูโขนมากๆ แต่นี่คือสิ่งดีงามที่เรารู้ค่ามีคุณค่ากันดีอยู่แล้ว

 

“เมื่อเขาไม่เข้ามาหา เราก็พยายามเอาสิ่งนี้เข้าไปใกล้ตัวเขา ย่อยให้ง่ายขึ้นในรูปแบบหรือวิธีการที่เขาชอบ เพราะฉะนั้น รามาวตาร ไม่ใช่การทำหนังเรื่องหนึ่ง เรามองไปลึกกว่านั้นว่ามันเป็นการส่งต่อวัฒนธรรม เมื่อเขาเริ่มเข้าใจและมองเห็นคุณค่าจากเรื่องนี้ เขาจะอยากศึกษา ค้นคว้า และบอกต่อให้กับคนที่เขารู้จัก แล้วสิ่งเหล่านี้จะยังอยู่คู่สังคมไทยต่อไปไม่หายไปไหน 

 

“เชื่อเถอะครับว่าก่อนหน้านี้อยู่ดีๆ ไม่มีทางที่เด็กรุ่นใหม่จะลุกมาบอกว่า แม่ครับ อยากดูจิตรกรรมฝาผนัง พาไปวัดพระแก้วหน่อย สิ่งที่เราทำก็คือ พาจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ทั้งหมดยกให้เขาไปดูได้ง่ายๆ เลย จนตอนนี้มีคนได้ดู แล้วเขาสนใจ มีความรู้สึกอยากไปดูจิตรกรรมฝาผนังของจริงขึ้นมาแล้ว”

 

3. รับชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้น เพื่อเสพอรรถรสทุกห้วงอารมณ์ใน รามาวตาร ให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด 

 

 

หนึ่งคำถามที่เกิดขึ้นมากที่สุด จากการที่ รามาวตาร เป็นภาพยนตร์ที่เปิดให้คนทั่วไปชมฟรีคือ ทำไมถึงไม่เผยแพร่ลงในโซเชียลมีเดียต่างๆ จะได้เข้าถึงคนดูง่าย แต่ผู้อำนวยการสร้างอย่างอุ๋ยที่เข้าใจถึงมนต์เสน่ห์ของโรงภาพยนตร์มากที่สุด ยืนยันอีกครั้งว่า รามาวตาร ต้องรับชมในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ถึงจะได้รับชมความสวยงามและอรรถรสทุกอย่างครบถ้วนที่สุด

 

“เราอยากให้คนดูได้เห็นรายละเอียดที่ทีมงานของพวกเราพยายามทำกันมาเป็นปีในที่มืด บนจอใหญ่ๆ ดวงตาอยู่กับภาพที่เห็นตรงหน้า หูโฟกัสอยู่กับเสียงของเรา มันถึงจะอิมแพ็กกับทุกอย่างที่เราวางเอาไว้ เพราะฉะนั้นตอนนี้เราพยายามผลักดันให้เกิดการฉายในโรงภาพยนตร์ให้มากที่สุด ก่อนที่มันจะหลุดจากมือเราไปอยู่ในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งแน่นอนว่า การดูในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือมันไม่ผิดหรอก แต่รายละเอียดกุ๊กๆ กิ๊กๆ ที่วางไว้มันจะหายไปหมด เพราะนี่คืองานเขียนระดับปรมาจารย์ที่เดียวในโลกเลยนะ” 

 

เช่นเดียวกับที่ผู้กำกับอย่างอธิปัตย์ตั้งใจถ่ายทอดทั้งความวิจิตรงดงาม ความอลังการ ไปจนถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในงานรามเกียรติ์ชิ้นอื่นๆ  

 

 

“โจทย์มันคือโลกจิตรกรรมฝาผนังเคลื่อนที่ได้ ที่เมื่อก่อนเวลาดูจิตรกรรมของจริงที่วัดพระแก้ว เราต้องกวาดตา เดินดูไปเรื่อยๆ แต่นี่เรานำภาพเหล่านั้นมาทำเป็นเลเยอร์ ใช้หลัก Cinematic บีบให้คนดูรู้สึกอึด เปิดโล่ง เห็นความอลังการของฉาก มีโฟร์กราวด์ แบ็กกราวด์ เห็นอิริยาบถการต่อสู้เหมือนมีคนแบกกล้องเข้าไปอยู่ในฉากนั้นมาจริงๆ 

 

“เห็นไปถึงอารมณ์ ความเกรี้ยวกราดของตัวละครที่มากขึ้น ด้วยการใช้ศาสตร์ภาพยนตร์ เสียง ดนตรี วิชวลเอฟเฟกต์ การเคลื่อนกล้อง การถ่ายโคลสอัพใบหน้า หรือดวงตาที่ลุกเป็นไฟ ไปจนถึงลักษณะนิสัยของตัวละครที่ถ้าเราอ่าน หรือชมงานแสดงโขนตามปกติ อาจจะมองเห็นได้ไม่ชัดขนาดนี้”

 

4. รายละเอียดที่สมบูรณ์แบบต้องเกิดจากการฝึกฝนและความเข้าใจที่แท้จริง 

 

 

มีทีมงานทั้งฝ่ายแอนิเมชัน (ฝ่ายเดียว 70 คน) ทีมเสียง ทีมเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ฯลฯ มากกว่า 200 ชีวิต ที่มารวมตัวกัน เพื่อสร้างให้ รามาวตาร เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันที่สวยงามและสมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งทีมงานทุกคนจะต้องผ่านการ ‘เวิร์กช็อป’ เพื่อเสริมความรู้ ความเข้าใจในด้านต่างๆ รวมทั้งศาสตร์ที่ตัวเองไม่ถนัด 

 

โดยเฉพาะทีมแอนิเมเตอร์ที่ต้องเข้า 3 เวิร์กช็อป ได้แก่ พื้นฐานความงามของจิตรกรรมไทย, ที่มา บุคลิก และเป้าหมายของตัวละครในรามเกียรติ์ ไปจนถึงต้องเรียนและแสดงท่าทางการแสดงโขนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนในชีวิต เพราะในมุมมองอธิปัตย์ หน้าที่ของพวกเขาไม่ใช่แค่นำตัวละครมาขยับเคลื่อนไหว แต่ต้องใส่วิญญาณเข้าไปในตัวละครเหล่านั้นด้วย

 

“เริ่มตั้งแต่ความงามของภาพจิตรกรรม ที่จะบอกให้รู้ถึงความแตกต่างของรายละเอียดต่างๆ ของสถานที่ อาวุธ ไปจนถึงเสื้อผ้า เครื่องประดับ ที่แค่เป็นผ้าหรือโลหะ รายละเอียดการเคลื่อนไหวก็แตกต่างกันแล้ว รวมทั้งต้องเข้าใจไปถึงเรื่องราวที่มาของตัวละคร เพราะการเคลื่อนไหวและกิริยาท่าทางของแต่ละเผ่าพันธุ์ แต่ละฝ่าย ก็ไม่เหมือนกัน รู้ไปถึงที่มา ความกดดัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น 

 

 

“ไปจนถึงเวิร์กช็อปที่ 3 ที่สนุกมาก คือท่าทางการแสดง ที่แอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ที่จับแต่คอมพิวเตอร์ต้องมาเรียนรู้และแสดงท่าทางแบบโขนด้วยจริงๆ ต้องรู้ว่ายักษ์โกรธแบบไหน ถ้าเป็นลิงต้องขึ้น ห้ามเกาลง เพราะเกาลงคือหมา (หัวเราะ) มันมีรายละเอียดมากมายที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อทำทุกอย่างออกมาให้ดีที่สุด”

 

5. ไม่ใช่แค่ความงดงามของภาพที่ปรากฏ รามาวตาร ให้ความสำคัญไปถึงการให้เสียง เพื่อสร้างอารมณ์

วิธีการให้เสียงตัวละครของ รามาวตาร ไม่ใช่การพากย์ตามความเคลื่อนไหวของตัวละคร แต่เป็นการเอานักแสดงมืออาชีพมาให้เสียงพร้อมกับทำการแสดงแอ็กชันต่างๆ ของตัวละครเหล่านั้นไปพร้อมกันจริงๆ เพื่อดูสีหน้า ท่าทาง ของนักแสดง แล้วส่งต่อให้แอนิเมเตอร์ถ่ายทอดอารมณ์เหล่านั้นไปที่ตัวละครอีกทีหนึ่ง ซึ่งอุ๋ยและอธิปัตย์บอกว่า เขาให้ความสำคัญกับการกำกับเสียงไม่น้อยไปกว่ากำกับการแสดงตามปกติ

 

โดยมีนักแสดงอย่าง บิ๊ก-ศรุต วิจิตรานนท์ มาแสดงเสียงเป็นพระราม เดวิด อัศวนนท์ มาแสดงเสียงเป็นทศกัณฑ์ และมี อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้อำนวยการสร้าง มาร่วมให้เสียงเป็นผู้บรรยายเรื่องโดยรวมเพิ่มด้วย

 

“เป็นอีกขั้นตอนการทำงานที่สนุกมาก ตอนบรีฟพี่เดวิดว่าอยากได้การหัวเราะของทศกัณฑ์ 10 แบบ เพราะมี 10 หัว แล้วเขาหัวเราะมาประมาณ 20 อย่างที่ไม่เหมือนกันเลย โห เห็นแค่นี้ก็สนุกแล้ว เราเอาสิ่งที่ได้ไปพัฒนาต่อได้เยอะมาก อย่างบิ๊ก ศรุต เราก็เห็นเขาในบทพระเพทราชา จาก บุพเพสันนิวาส แล้วเชื่อว่าคนนี้มีความสุขุม เป็นผู้ใหญ่ ดูมีคุณธรรม น่าจะเป็นพระรามได้ ซึ่งเขาก็เป็นได้จริงๆ แต่ตัวจริงเป็นอย่างไรนั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ (หัวเราะ)

 

6. ขั้นตอนสุดท้าย การเปลี่ยนภาพถ่ายมากกว่า 40,000 ให้มีชีวิต 

 

 

เริ่มตั้งแต่การส่งทีมงานไปถ่ายภาพทีละห้องภาพจากทั้งหมด 178 ห้องภาพ ที่มีความยาวรวมกันเกือบ 2 กิโลเมตร (ใช้เวลา 2 เดือนเต็ม เพื่อถ่าย 40 ห้องภาพ ที่นำมาใช้ในภาคแรก) เพื่อเก็บรายละเอียดภาพแบบความละเอียดสูงที่ต้องถ่ายทั้งหมด 120 ครั้ง และแยกเก็บรายละเอียดขนาดเต็มตัว ครึ่งตัว และโคลสอัพใบหน้า มากกว่า 1,000 ตัวละคร รวมไปถึงฉากหลัง ต้นไม้ ก้อนหิน รวมกันมากกว่า 40,000 ภาพ 

 

โดยทีมงานจะคงความจริงที่ปรากฏอยู่บนจิตรกรรมฝาผนัง โดยใช้เทคนิคพิเศษปรับแต่งภาพน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นตลอดระยะเวลาที่ชมภาพยนตร์ นอกจากจะได้เห็นความสวยงามของจิตรกรรมฝาผนัง แล้วเราจะได้เห็นการตัดเส้นที่ไม่เท่ากัน รอยปริแตกของสีบนผนัง ฯลฯ ที่เกิดจากร่องรอยแห่งกาลเวลาที่เกิดขึ้น เสมือนได้ยืนอยู่ตรงหน้าจิตรกรรมฝาผนังจริงๆ 

 

 

ก่อนนำภาพที่ได้ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนแอนิเมตสร้างความเคลื่อนไหวและเพิ่มมิติให้กับตัวละครและเรื่องเล่าในแบบที่แทบไม่เคยมีใครทำมาก่อน เริ่มจากแยกส่วนภาพตัวละครที่มีการเคลื่อนไหวออกจากฉากหลัง, นำภาพตัวละครที่ได้มาแยกส่วนอวัยวะแต่ละชิ้น, นำชิ้นส่วนมาต่อกัน โดยกำหนดจุดข้อต่อสร้างการเคลื่อนไหว, สร้างการเคลื่อนไหวด้วยซอฟต์แวร์สำเร็จรูป (Blender) ที่ยึดหลักความเป็นไทย โดยอ้างอิงจากท่าทางการแสดงโขนต้นตำรับ, นำมาประกอบกับฉากหลังที่แตกออกมาจากตอนแรกอีกครั้ง และเพิ่มบรรยากาศ เช่น ทิศทางแสง หมอก ควัน ฝุ่น เพื่อให้เสริมอารมณ์และความรู้สึกของคนดูให้สมจริงยิ่งขึ้น

 

7. สิ่งที่ทีมงานได้รับไม่ใช่เงิน แต่เป็นการเปิดโลกทัศน์และองค์ความรู้ที่นำไปต่อยอดสร้างผลงานต่อไปในอนาคต

ด้วยงบประมาณสนับสนุนจำนวนจำกัด ทำให้ปัจจัยเรื่องรายได้กลายเป็นสิ่งที่ทีมงานพูดถึงเป็นลำดับท้ายๆ เพราะผู้อำนวยการสร้างเชื่อว่า ประสบการณ์ที่ทีมงานทุกคนได้รับนั้นมีคุณค่าเหนือกว่าตัวเงิน โดยเฉพาะประสบการณ์การเรียนรู้ที่แอนิเมเตอร์รุ่นใหม่ได้มาสัมผัสกับความงดงามของภาพวาดและวรรณคดีไทย พร้อมกับทำงานร่วมกับครูโขนและผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้รู้ว่า แท้จริงแล้วผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายล้วนมีความคิดอยากเห็นโขนและวรรณคดีถูกพัฒนาในรูปแบบที่เข้ากับยุคสมัย เพื่อรักษาไว้ไม่ให้หายไปตามกาลเวลาเช่นเดียวกัน 

 

รวมทั้งองค์ความรู้ เทคนิค เคล็ดลับ ที่ 6 สตูแอนิเมชันจะมาแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองถนัด เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปใช้สร้างสรรค์ผลงานต่อไปในอนาคต โดยทั้งหมดมารวมตัวกันเพื่อเป้าหมายหนึ่งเดียวคือ สืบสานและส่งต่อวัฒนธรรมอันดีงามนี้ต่อไปให้ได้ไกลที่สุด

 

“โปรเจกต์นี้ไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องเงิน ทอง หรือธุรกิจใดๆ เลย เพียงแต่ทุกคนมารวมตัวด้วยความตั้งใจเดียวกัน เราสนุกกับเนื้อหางานที่ได้ทำ จะพัฒนาโปรเจกต์อย่างไร โดยมีเรื่องเงินเป็นประเด็นท้ายๆ ที่แทบไม่ได้พูดกัน บอกไปแค่ว่า เอ๊ะ ทีมงานของสตูดิโอกินไข่พะโล้ตลอดช่วงทำงานด้วยกันได้ไหม เดี๋ยวเราทำไปส่ง (หัวเราะ) เพราะคุณค่าทางใจ ทางประสบการณ์ที่ได้รับ มันอยู่เหนือไปกว่านั้นแล้ว” 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

The post รามาวตาร: จิตรกรรมฝาผนังมีชีวิต ที่ยิ่งทวีความวิจิตรถ้าได้ชมในโรงภาพยนตร์ [Advertorial] appeared first on THE STANDARD.

]]>