ระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Tue, 31 Jan 2023 13:14:22 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ‘อีสท์ วอเตอร์’ ยอมรับ คืน 2 โครงการให้ ‘ธนารักษ์’ กระทบรายได้ เปิดแผนทุ่ม 5.5 พันล้านบาท ลุยขยายท่อส่งน้ำ หันจับลูกค้าอุตสาหกรรมพลังงาน https://thestandard.co/eastwater-return-2-projects-thanaruk/ Tue, 31 Jan 2023 10:47:12 +0000 https://thestandard.co/?p=744319

‘อีสท์ วอเตอร์’ พร้อมส่งคืนทรัพย์สิน 2 โครงการให้ ‘ธนาร […]

The post ‘อีสท์ วอเตอร์’ ยอมรับ คืน 2 โครงการให้ ‘ธนารักษ์’ กระทบรายได้ เปิดแผนทุ่ม 5.5 พันล้านบาท ลุยขยายท่อส่งน้ำ หันจับลูกค้าอุตสาหกรรมพลังงาน appeared first on THE STANDARD.

]]>

‘อีสท์ วอเตอร์’ พร้อมส่งคืนทรัพย์สิน 2 โครงการให้ ‘ธนารักษ์’ ยอมรับกระทบธุรกิจ เหตุมีสัดส่วน 30% ของรายได้ ประกาศทุ่มงบ 5.5 พันล้านบาท ลุยลงทุน 2 โครงการใหม่ เร่งขยายเครือข่ายท่อส่งน้ำ ปรับกลยุทธ์จับลูกค้าอุตสาหกรรม หวังชดเชยรายได้ที่หายไป

 

เชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW เปิดเผยว่า กรณีที่บริษัทต้องส่งมอบคืนทรัพย์สินท่อส่งน้ำคืนให้กับกรมธนารักษ์ จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 2 โดยมีระยะทาง 135.9 กิโลเมตร เพื่อส่งมอบให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรายใหม่ ยอมรับว่ามีผลกระทบกับธุรกิจของบริษัทบ้าง แต่เชื่อว่าไม่ทำให้ถึงขั้นมีผลประกอบการขาดทุน เนื่องจากสัดส่วนสินทรัพย์ที่ส่งมอบไม่ถึงครึ่งของท่อส่งน้ำที่ EASTW บริหารทั้งสิ้นระยะทาง 512 กิโลเมตร

 

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนการลงทุนเพิ่มต่อเนื่องเพื่อขยายโครงข่ายท่อส่งน้ำ (Water Grid) ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงเพิ่มความสามารถในการส่งจ่ายน้ำให้กับกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมและลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ ในปี 2566 บริษัทตั้งงบลงทุนรวมไว้ประมาณ 5,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายโครงการท่อส่งน้ำ เนื่องจากบริษัทมีการคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้น้ำในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าจะยังมีการเติบโตต่อเนื่อง ดังนั้นจึงได้วางแผนการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อลงทุนก่อสร้างท่อส่งน้ำสายหลักที่มีความยาวรวม 136 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

 

  1. โครงการระบบท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบ ความยาว 26.70 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 1,321 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างโครงการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 และคาดว่าจะพร้อมส่งจ่ายน้ำภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 

 

  1. โครงการระบบท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง ความยาวรวม 67.14 กิโลเมตร พร้อมลงทุนก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่มแรงดัน โดยเริ่มก่อสร้างแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 และคาดว่าจะพร้อมส่งน้ำได้บางส่วนในต้นปี 2566 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมใช้งานทั้งหมดก่อนสิ้นปีนี้ สำหรับวงเงินลงทุนรวมประมาณ 4,201 ล้านบาท 

 

ขณะที่รายได้ของบริษัทในปีนี้คาดว่าเติบโตขึ้นจากปี 2565 ตามปริมาณการขายน้ำรวมเติบโตจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนในปีนี้ลดลง ส่งผลให้มีความต้องการซื้อน้ำมาใช้ทดแทนมากขึ้น และบริษัทยังเริ่มขยายตลาดเข้าไปขายน้ำให้กับลูกค้าใหม่ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

 

สำหรับความคืบหน้าโครงการเช่าบริหารระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออก ของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กรณีพื้นที่ทับซ้อน เนื่องจากยังมีการก่อสร้างโรงสูบน้ำ ซึ่งศักยภาพปริมาณส่งน้ำ 1-2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน จึงทำให้ยังไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินให้กับกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อส่งมอบต่อให้กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้รับสัมปทานรายใหม่ได้ โดยปัจจุบันบริษัทได้เสนอแผนให้กรมธนารักษ์พิจารณาแล้ว โดยกรมธนารักษ์จะเป็นผู้พิจารณาว่าจะบริหารจัดการพื้นที่กับทรัพย์สินได้อย่างไร 

 

อย่างไรก็ดี หากกรมธนารักษ์มีคำสั่งฉุกเฉินให้บริษัทส่งมอบคืนพื้นที่ทันที ก็มีความกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำได้ ดังนั้นที่ผ่านมาบริษัทจึงได้ทำรายละเอียดแผนงานร่วมกับกรมธนารักษ์ เพื่อไม่ให้มีปัญหาและผลกระทบกับผู้ใช้น้ำ 

 

สำหรับประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า บริษัทจ่ายผลตอบแทนแก่ภาครัฐในอัตราต่ำเกินไปนั้น ขอชี้แจงว่า บริษัทได้มีการส่งรายได้ให้กับภาครัฐอย่างถูกต้องตามสัญญา นอกเหนือจากการชำระค่าเช่าบริหารท่อในแต่ละปีให้แก่กรมธนารักษ์ ตั้งแต่ปี 2537-2564 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขและอัตราที่กรมธนารักษ์กำหนด รวม 588 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ บริษัทยังจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไปแล้วเฉพาะในกลุ่มผู้ถือหุ้นภาครัฐที่ถือหุ้นใน EASTW สัดส่วน 45% โดยได้รับเงินปันผลไปแล้วรวมประมาณ 5,500 ล้านบาท และบริษัทยังเป็นผู้ลงทุนโครงข่ายท่อส่งน้ำ มูลค่ามากกว่า 22,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงข่ายท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ Water Grid ในเขตภาคตะวันออกแทนภาครัฐ ความยาวรวม 512 กิโลเมตร 

 

ด้าน สมบัติ อยู่สามารถ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและบัญชี บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก กล่าวว่า ท่อส่งน้ำคืนให้กับกรมธนารักษ์ จำนวน 2 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2564 ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อบริษัท ดังนั้น แผนรับมือคือการปรับกลยุทธ์เพิ่มธุรกิจใหม่ โดยเน้นการจำหน่ายน้ำให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลงทุนในเขต EEC เพื่อชดเชยรายได้ที่จะหายไป โดยเจาะลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้น้ำในการผลิตในปริมาณที่สูง ซึ่งปัจจุบันยังมีสัดส่วนต่ำกว่า 5% โดยบริษัทยังตั้งเป้าหมายสัดส่วนการใช้น้ำของกลุ่มภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 10-15% ของรายได้รวมของบริษัทใน 3 ปีข้างหน้า

 

ส่วนปัจจุบัน บริษัทเริ่มทยอยเซ็นสัญญากับลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มธุรกิจพลังงานและโรงไฟฟ้า อีกทั้งยังมีข้อดีเพราะเป็นการเซ็นสัญญาขายน้ำระยะยาว ทำให้บริษัทมีรายได้สม่ำเสมอ

 

สำหรับในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีปริมาณขายน้ำรวมเพิ่มสูงขึ้น 3-5% จากปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 7-8 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยมาจากความต้องการใช้น้ำ รวมถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลให้มีปริมาณการใช้น้ำมากขึ้นด้วย และมีกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 คณะกรรมการ (บอร์ด) ของบริษัทจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาผลประกอบการปี 2565 และพิจารณาวาระการจ่ายเงินปันผลจากงวดผลการดำเนินงานปี 2565 ด้วย

 


บทความที่เกี่ยวข้อง


 

The post ‘อีสท์ วอเตอร์’ ยอมรับ คืน 2 โครงการให้ ‘ธนารักษ์’ กระทบรายได้ เปิดแผนทุ่ม 5.5 พันล้านบาท ลุยขยายท่อส่งน้ำ หันจับลูกค้าอุตสาหกรรมพลังงาน appeared first on THE STANDARD.

]]>
กรมอนามัย แนะใช้ EM ช่วยบำบัดน้ำเน่าเสียหลังน้ำท่วมลดลง เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค-แหล่งเพาะพันธุ์ยุง https://thestandard.co/em-water-treatment/ Sat, 22 Oct 2022 06:02:21 +0000 https://thestandard.co/?p=698640 กรมอนามัย

วันนี้ (22 ตุลาคม) ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุว […]

The post กรมอนามัย แนะใช้ EM ช่วยบำบัดน้ำเน่าเสียหลังน้ำท่วมลดลง เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค-แหล่งเพาะพันธุ์ยุง appeared first on THE STANDARD.

]]>
กรมอนามัย

วันนี้ (22 ตุลาคม) ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยยังประสบปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณอาคาร บ้านเรือน และตลาด ทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคและยุง ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะเจ็บป่วยกับประชาชน 

 

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวกรมอนามัยแนะนำให้นำ EM (Effective Microorganisms) หรือจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ มาใช้ป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ปัญหาน้ำเน่าในพื้นที่เบื้องต้นก่อน ซึ่งอาจเลือกใช้ได้ทั้ง EM Ball และ EM น้ำ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เพื่อไม่ให้น้ำที่ท่วมขังเกิดการเน่าเสีย และสามารถลดกลิ่นเหม็น รวมทั้งลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้ 

 

นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า EM เหมาะสำหรับใช้กับน้ำนิ่ง น้ำขัง ห้ามใช้กับน้ำไหล เพราะจะไม่ได้ผลตามต้องการ สำหรับ EM Ball กรณีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ให้ใช้เพียง 1 ก้อนต่อพื้นที่ 5-10 ตารางเมตร ที่ความลึกของน้ำไม่เกิน 2 เมตร โดยใส่ 2-3 ครั้งต่อเดือน แล้วปล่อยทิ้งให้จุลินทรีย์ทำปฏิกิริยาต่อไป 

 

“กรณีน้ำท่วมภายในอาคารบ้านเรือนที่พบน้ำเริ่มมีกลิ่นเหม็นและเน่าเสีย ให้ใช้ EM Ball 1 ก้อนต่อพื้นที่ 2-5 ตารางเมตร โดยใส่ 1 ครั้งต่อเดือน เพื่อเป็นการเร่งปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ให้ดียิ่งขึ้นสำหรับ EM น้ำ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน โดยกรณีน้ำท่วมขังบริเวณกว้าง พื้นที่ขนาดใหญ่ ให้เลือกวิธีการพ่นกระจายตัวจุลินทรีย์ให้ทั่วบริเวณที่ประสบปัญหา 20-80 ลิตรต่อพื้นที่น้ำท่วม 1 ไร่ ด้วยความลึกของน้ำท่วมไม่เกิน 1.5 เมตร” นพ.สุวรรณชัย

 

นพ.สุวรรณชัยด้วยกล่าวว่า สำหรับกรณีน้ำท่วมถนน ตรอกซอย เป็นเวลานานให้พิจารณาจากลักษณะน้ำท่วมขังก่อน หากน้ำท่วมขังมีกลิ่นเหม็น น้ำเริ่มเน่าเสีย ให้เลือก EM สูตร 1:1,000 และกรณีน้ำยังไม่เน่าเสีย ไม่ส่งกลิ่นเหม็น ให้เลือก EM สูตรที่เจือจางกว่า เช่น 1:3,000 ทั้งนี้ ก่อนฉีดพ่น EM ต้องคำนวณขนาดพื้นที่น้ำท่วมขังก่อน เพื่อกำหนดปริมาณที่แน่นอนและเหมาะสมกับพื้นที่

The post กรมอนามัย แนะใช้ EM ช่วยบำบัดน้ำเน่าเสียหลังน้ำท่วมลดลง เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค-แหล่งเพาะพันธุ์ยุง appeared first on THE STANDARD.

]]>
กทม. ประชุมคณะกรรมการตลาด เล็งใช้เทคโนโลยีเก็บค่าแผงค้า-บำบัดน้ำเสีย พร้อมเสนอความเห็น ปรับลด-งดค่าเช่าแผง https://thestandard.co/stalls-waste-water/ Tue, 16 Aug 2022 06:03:16 +0000 https://thestandard.co/?p=667634 ศานนท์ หวังสร้างบุญ

วันนี้ (16 สิงหาคม) ที่ห้องประชุม ที่ทำการตลาดนัดจตุจัก […]

The post กทม. ประชุมคณะกรรมการตลาด เล็งใช้เทคโนโลยีเก็บค่าแผงค้า-บำบัดน้ำเสีย พร้อมเสนอความเห็น ปรับลด-งดค่าเช่าแผง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศานนท์ หวังสร้างบุญ

วันนี้ (16 สิงหาคม) ที่ห้องประชุม ที่ทำการตลาดนัดจตุจักร ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11/2565 โดยมี ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร, อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ประธานกรรมการคณะกรรมการบริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร, ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร, ผู้บริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

 

ศานนท์กล่าวว่า ตลาดนัดจตุจักรมีวิสัยทัศน์เป็นตลาด กทม. คุณภาพระดับสากล เพื่อประชาชนทุกระดับ ชัดเจนว่าเรามีวิสัยทัศน์ที่จะไม่เป็นแค่ตลาดภายในประเทศ แต่เป็นตลาดในระดับนานาชาติ จึงมีความตั้งใจให้ตลาดของเราเป็นผู้นำด้านดิจิทัล อาจจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกสมัยใหม่ 

 

สิ่งที่ต้องทำคือต้องเทียบกับระดับนานาชาติว่าปัจจุบันตลาดไปถึงไหน มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาควบคุมดูแลการเก็บค่าแผงหรือไม่ หรือนำเทคโนโลยีช่วยเรื่องการบำบัดน้ำเสีย สิ่งนี้เป็นโจทย์ที่ต้องดำเนินการ และต้องเป็นตลาดสำหรับทุกคน มีด้านอื่นที่สามารถบูรณาการได้ เช่น สำนักพัฒนาสังคม ด้านคนพิการซึ่งส่วนใหญ่ต้องการได้รับโอกาสด้านอาชีพ โอกาสได้ทำมาค้าขาย อาจรวมถึงกลุ่มเปราะบาง

 

ศานนท์กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบริหารตลาดแบ่งเป็น 3 ส่วน 1. ตลาดนัดจตุจักร 2. ตลาดมีนบุรี ตลาดสนามหลวงสอง และ 3.ตลาดชุมชนอีก 9 แห่ง ในภาพรวมจะแบ่งงานให้ชัดเจนทั้ง 3 ส่วน เนื่องจากมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่ละส่วนมีการจัดระดับความสำคัญที่แตกต่างกัน มีรูปแบบที่ชัดเจนและมีวิสัยทัศน์เฉพาะ อาจมีแผนการดำเนินการที่แตกต่างกัน อย่างเช่น บางตลาดสัญญาเช่าอาจจะน้อยลง ต้องทำให้เป็นสัญญาชั่วคราวมากขึ้น หรือมีวิสัยทัศน์ที่ลงทุนน้อยแต่ได้มาก โดยตลาดชุมชนอาจมีการบูรณาการร่วมกับสำนักพัฒนาสังคม มีผลิตภัณฑ์ชุมชนในการส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับชุมชน 

 

นอกจากนี้ สำนักงานตลาดสามารถเป็นกำลังในการช่วยเรื่องเศรษฐกิจภาพรวมของ กทม. เช่น การจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ที่ให้ผู้ค้าแผงลอยเช่าสถานที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย อย่างเช่นพื้นที่ใต้ทางด่วน มองว่าสำนักการตลาดสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สำนักงานเขตในจุดที่มีหาบเร่แผงลอย

 

ในที่ประชุม สำนักงานตลาดกรุงเทพมหานครรายงานผลประกอบการจัดเก็บรายได้, การเบิกจ่ายเงินงบประมาณและฐานะทางการเงิน ประจำเดือนกรกฎาคม 2565, การลงพื้นที่ตรวจตลาดของคณะกรรมการบริหารสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร, การจัดทำสัญญาเช่าที่ดินย่านพหลโยธินบริเวณตลาดนัดจตุจักร ของการรถไฟแห่งประเทศไทย, การจัดการตลาดบางแคภิรมย์ รวมทั้งหารือมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้เช่าสัญญาอื่น ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดภายในตลาดนัดจตุจักร และแนวทางการช่วยเหลือและการดำเนินการกับผู้เช่าแผงค้าตลาดบางแคภิรมย์

 

พร้อมเสนอขอรับความเห็นชอบงดเว้นค่าเช่าตามสัญญาเช่าอื่น ตลาดบางแคภิรมย์, ขอรับความเห็นชอบปรับลดค่าเช่าพื้นที่ตามสัญญาเช่าอื่น ตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก, ขอรับความเห็นชอบยกเว้นค่าปรับกรณีชำระค่าเช่าล่าช้าตลาดพระเครื่องวงเวียนเล็ก และให้ผู้เช่าแผงค้าตลาดเทวราชผ่อนชำระปรับล่าช้า, ขอรับความเห็นชอบขยายระยะเวลาในการชำระเงินค่าเช่าแผงค้าและค่าเช่า ตามสัญญาอื่น ตลาดชุมชน, ขอรับความเห็นชอบเช่าตลาดเทวราชและที่ดินจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การให้สิทธิเอกชนลงทุนปรับปรุงพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่ตลาดรัชดาภิเษก, ขอความเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้เช่าอื่นภายในตลาดนัดมีนบุรี (เพิ่มเติม) และการขออนุมัติการเช่าแผงค้าว่างประเภทศูนย์อาหาร โครงการขยายตลาดนัดมีนบุรี โดยยกเว้นการประกวดราคา

The post กทม. ประชุมคณะกรรมการตลาด เล็งใช้เทคโนโลยีเก็บค่าแผงค้า-บำบัดน้ำเสีย พร้อมเสนอความเห็น ปรับลด-งดค่าเช่าแผง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ ยกคำขอพิจารณาคดีใหม่ รัฐต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้านบาท https://thestandard.co/admincourt-counter-judge-and-dismiss-request-for-a-new-trial/ Mon, 07 Mar 2022 10:45:39 +0000 https://thestandard.co/?p=602726 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ ยกคำขอพิจารณาคดีใหม่ รัฐต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้านบาท

วันนี้ (7 มีนาคม) ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสู […]

The post ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ ยกคำขอพิจารณาคดีใหม่ รัฐต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้านบาท appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ ยกคำขอพิจารณาคดีใหม่ รัฐต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้านบาท

วันนี้ (7 มีนาคม) ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ในการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่พิพากษาตามคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษ

 

โดยคดีนี้ กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 28 และ 22 กรกฎาคม 2559 ตามลำดับ เพื่อขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นที่ยุติในคดีที่เคยมีคำพิพากษาของศาลปกครองไปแล้วมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ 

 

โดยกล่าวอ้างว่าในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ และในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองในคดีศาลปกครองสูงสุด ได้มีการดำเนินคดีทางอาญาที่เกี่ยวพันกับคดีนี้หลายคดี ได้แก่ คดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งได้มีคำพิพากษา คดีของศาลแขวงดุสิต คดีของศาลอาญา 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีของศาลอาญา มีเอกสารและพยานหลักฐานที่เป็นพยานหลักฐานใหม่ ได้แก่ พยานบุคคลและพยานเอกสารตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บันทึกถ้อยคำของพยานบุคคลและพยานเอกสารที่ยื่นส่งในชั้นสืบพยาน อันปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงความเชื่อมโยงความทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้าราชการทางการเมือง ร่วมกันกับเอกชนที่เอื้อประโยชน์ให้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้ที่ดินของบริษัท คลองด่าน มารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ จำกัด ให้ใช้ในการก่อสร้างโครงการ และให้กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี  ได้รับการคัดเลือกเข้าทำสัญญาโครงการจัดการน้ำเสีย จังหวัดสมุทรปราการ จนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและประชาชน 

 

และสืบเนื่องจากผลของคำพิพากษาศาลอาญา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) จึงมีหนังสือถึงกรมควบคุมมลพิษ แจ้งคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรม ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2559 อายัดเงินจำนวน 2 รายการ พร้อมดอกผล ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่กรมควบคุมมลพิษต้องชำระให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดไว้ชั่วคราว 

 

นอกจากนั้น ยังปรากฏความไม่ชอบของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่มีสาเหตุจากการขาดคุณสมบัติในเรื่องความเป็นกลางของ เสถียร วงศ์วิเชียร ขณะเป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายเอกชน ทั้งหมดนี้เป็นพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วในคดีของศาลปกครองเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 

 

กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลังขอให้ศาลรับคำขอพิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา และให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 มกราคม 2554 

 

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เฉพาะในส่วนของกรมควบคุมมลพิษไว้พิจารณา แต่ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ในส่วนของกระทรวงการคลัง 

 

โดยศาลเห็นว่ากระทรวงการคลังไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาพิพาท และไม่ปรากฏเหตุอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าจะได้รับผลกระทบจากผลแห่งคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยโดยตรง จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียหรืออาจถูกกระทบจากผลแห่งคดี ซึ่งจะมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ได้ 

 

และวินิจฉัยว่า การที่ข้าราชการของกรมควบคุมมลพิษซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงกระทำการขัดต่อกฎหมายและระเบียบของทางราชการ ทั้งในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาโครงการ ขั้นตอนการจัดหาที่ดิน ขั้นตอนการประกวดราคา ทั้งมีการแก้ไขข้อความในร่างสัญญาที่ผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จนมีการลงนามในสัญญาโครงการออกแบบรวมก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ผลของการกระทำดังกล่าวเป็นไปในทางที่ทำให้ราชการเสียหาย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต 

 

ดังนั้น การที่กรมควบคุมมลพิษโดยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษในขณะนั้นได้เข้าทำสัญญาแทน จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำการแทนกรมควบคุมมลพิษ เมื่อสัญญาเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันกรมควบคุมมลพิษ 

 

เห็นว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้กรมควบคุมมลพิษชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย และดอกเบี้ย ให้แก่กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี จึงมีเหตุให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และไม่จำต้องวินิจฉัยข้อพิพาทในประเด็นอื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 มกราคม 2554

 

ต่อมากระทรวงการคลังยื่นคำร้องอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดว่า กระทรวงการคลังเป็นบุคคลภายนอก ซึ่งมีส่วนได้เสียและถูกกระทบจากผลแห่งคดีนี้โดยตรง จึงมีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 

 

และบริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ที่ 1 กับพวก ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดว่า พยานหลักฐานที่กรมควบคุมมลพิษอ้างไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วมีผลเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ตามมาตรา 75 (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บันทึกถ้อยคำของพยานบุคคลและพยานเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.650 ในคดีของศาลอาญาตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ อ.4197/2558 นั้นมีที่มาจากรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านทราบถึงการมีอยู่ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการและในศาลปกครองครั้งก่อน เป็นเอกสารราชการที่ผู้คัดค้านทำถึงหน่วยงานราชการอื่นๆ ตลอดจนเอกชนและรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ที่จัดทำขึ้นก่อนวันที่ 20 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาโครงการ จึงไม่อาจถือเป็นข้อเท็จจริงใหม่ได้

 

และในที่สุด ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงการคลัง และให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ลงวันที่ 12 มกราคม 2554

The post ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับ ยกคำขอพิจารณาคดีใหม่ รัฐต้องจ่ายค่าโง่คลองด่าน 9 พันล้านบาท appeared first on THE STANDARD.

]]>
อีอีซี-อีสท์ วอเตอร์ ลงนามเช่าที่ดิน 35 ไร่ ลงทุน 1,100 ล้านบาท สร้างระบบประปา-บำบัดน้ำเสีย รองรับเมืองการบินอู่ตะเภา https://thestandard.co/eec-east-water/ Fri, 04 Dec 2020 10:06:53 +0000 https://thestandard.co/?p=428715

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีก […]

The post อีอีซี-อีสท์ วอเตอร์ ลงนามเช่าที่ดิน 35 ไร่ ลงทุน 1,100 ล้านบาท สร้างระบบประปา-บำบัดน้ำเสีย รองรับเมืองการบินอู่ตะเภา appeared first on THE STANDARD.

]]>

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีกำหนดส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในสิ้นปี 2564 จากนั้นใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดใช้ในปีถัดไปคือ 2568 

 

การลงทุนกิจการงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสียสำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับศูนย์กลางการบินแห่งที่ 3 ของประเทศในอนาคต

 

 

โดยรูปแบบการลงทุนคือภาครัฐ (EEC) แบ่งพื้นที่ราชพัสดุ 35 ไร่ให้กับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ ลงทุนมูลค่ารวม 1,066 ล้านบาท สร้างโรงงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย รวมถึงระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ หรือน้ำรีไซเคิล ตลอดระยะเวลาสัญญา 29 ปี 6 เดือน ส่วนระบบการส่งน้ำประปาเป็นหน้าที่ของผู้บริหารสนามบินอู่ตะเภา

 

ขณะที่ผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับคือค่าเช่าที่ดิน 1.1 แสนบาทต่อเดือน ขึ้นค่าเช่า 9% ทุกๆ 3 ปี, แบ่งรายได้จากการขายน้ำให้รัฐ 7% ของรายได้ รวมถึงค่าจัดประโยชน์ให้กับรัฐประมาณ 18-20 ล้านบาท

 

 

โครงการนี้ผ่านการเจรจาและพิจารณาสัญญาอย่างละเอียดรัดกุมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐอย่างดีที่สุด จนที่สุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดย ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในฐานะผู้ให้เช่า ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุกับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ โดย จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในฐานะผู้เช่า เป็นผู้ลงนามในสัญญาเช่า พร้อมด้วยสักขีพยานในพิธี ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

 

 

ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นโครงการเอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP ที่ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยสัญญาร่วมลงทุนได้กำหนดไว้ให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐเป็นผู้จัดหาสาธารณูปโภคประปาและระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องใช้ในพื้นที่โครงการ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยและเป็นศูนย์กลางด้านการบินในอนาคต 

 

ทั้งนี้ กองทัพเรือและ สกพอ. เล็งเห็นความสำคัญของการใช้น้ำอย่างประหยัดภายในพื้นที่โครงการ จึงได้กำหนดให้มีขอบเขตของการนำน้ำกลับมารีไซเคิล โดยระบุในเอกสารการคัดเลือกผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการสาธารณูปโภคนอกเหนือจากงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย

 

โดย บริษัท อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริม พื้นที่ 35 ไร่ เพื่อประกอบกิจการด้านงานระบบประปา ระบบน้ำเสีย ระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือน้ำรีไซเคิลตลอดระยะเวลาสัญญา 29 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

ขณะที่ จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยว่า อีสท์ วอเตอร์ มีแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา โดยมีระบบท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล – ดอกกราย – มาบตาพุด – สัตหีบ สามารถส่งจ่ายน้ำดิบได้มากถึง 318 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 0.87 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน อีกทั้งได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการวางท่อส่งน้ำมาบตาพุด – สัตหีบ เส้นที่ 2 เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต เพิ่มศักยภาพการส่งจ่ายน้ำดิบในอีก 10 ปีถัดไปได้อย่างเพียงพอยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ อีสท์ วอเตอร์ มีการออกแบบระบบผลิตน้ำประปาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขนาดกำลังการผลิต 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเป็นการผลิตน้ำประปาที่สะอาด มีคุณภาพระดับสากล ลดการใช้พื้นที่ติดตั้ง มีกำลังการผลิตได้ตามความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียให้เหมาะกับโครงการที่เป็นการพัฒนาพื้นที่

ในระยะยาว รองรับน้ำเสีย 16,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สร้างระบบน้ำรีไซเคิลกำลังการผลิต 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในระบบทำความเย็นกลาง

 

ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าโครงการใส่ใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตั้งเป้าหมายให้การพัฒนาโครงการอยู่ควบคู่ไปด้วยกันได้กับชุมชนโดยรอบสนามบินอู่ตะเภา

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

The post อีอีซี-อีสท์ วอเตอร์ ลงนามเช่าที่ดิน 35 ไร่ ลงทุน 1,100 ล้านบาท สร้างระบบประปา-บำบัดน้ำเสีย รองรับเมืองการบินอู่ตะเภา appeared first on THE STANDARD.

]]>