พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Tue, 05 Mar 2019 06:51:10 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ชำแหละ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล คู่แฝด พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ ใครได้ ใครเสีย และภาระอยู่ที่ใคร https://thestandard.co/personal-information-act/ https://thestandard.co/personal-information-act/#respond Tue, 05 Mar 2019 06:51:10 +0000 https://thestandard.co/?p=215025

กฎหมายคู่แฝดที่ผ่าน สนช. ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ที […]

The post ชำแหละ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล คู่แฝด พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ ใครได้ ใครเสีย และภาระอยู่ที่ใคร appeared first on THE STANDARD.

]]>

กฎหมายคู่แฝดที่ผ่าน สนช. ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกัน เพราะถูกกลบด้วยกระแสความกังวลจากประเด็นการสอดแนมตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ (คลิกอ่าน: ตอบทุกข้อสงสัย พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ นิยามความมั่นคงคืออะไร คุกคามเสรีภาพจริงหรือไม่ แล้วทำไมคนมากมายถึงต้องกังวล) ก็คือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

 

ในระยะต่อไปความกังวลต่อ ‘การสอดแนม’ ตาม พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ น่าจะลดลง เพราะการดำเนินการส่วนมากเป็นการ ‘ช่วย’ ตรวจสอบ สอดส่อง หามัลแวร์ หรือการโจมตีระบบอยู่เบื้องหลัง เราอาจไม่รู้ว่ามีการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ จนกว่าจะถูกคำสั่งศาลให้ทำอะไรบางอย่าง แต่ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะส่งผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดทั่วไปโดยเฉพาะกับผู้ประกอบธุรกิจ

 

Q: หลักสำคัญของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คืออะไร

กฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับ ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ ซึ่งหมายความว่า ‘ข้อมูลใดก็ตามที่ระบุตัวบุคคลได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม’ เช่น ภาพถ่าย เลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด ลายนิ้วมือ ม่านตา ฯลฯ โดยมีหลักการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

 

 

1. กำหนดหน้าที่แก่ผู้ที่ เก็บ ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น ที่จะต้องขอความยินยอมก่อน ซึ่งกฎหมายเรียกว่า ผู้ควบคุมข้อมูล นอกจากนี้ยังกำหนดหน้าที่อื่นๆ ของผู้ควบคุมข้อมูล เช่น แจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบว่าจะเก็บไปใช้ทำอะไร เพื่ออะไร (โดยเขียนเป็นรายละเอียดที่เรียกว่า นโยบายความเป็นส่วนตัว หรือ Privacy Policy) หน้าที่ต้องเก็บรักษาให้ปลอดภัย ห้ามเปิดเผยหรือส่งต่อให้ผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

2. ให้สิทธิ์ ‘เจ้าของข้อมูล’ เช่น ขอตรวจดูว่าเก็บข้อมูลอะไรของเราไปบ้าง ขอให้ลบหรือทำลาย ขอให้ระงับการใช้ ขอให้แก้ไขให้ถูกต้อง ฯลฯ

 

หลักการและชื่อของกฎหมายที่มีคำว่า ‘คุ้มครอง’ ฟังดูเป็นมิตรกว่า ‘ความมั่นคง’ ตาม พ.ร.บ. ไซเบอร์ อีกทั้งยังอ้างอิงหรือเกือบคัดลอกหลักการสำคัญต่างๆ มาจากกฎหมายต่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายยุโรป (GDPR) ทำให้ดูเหมือนไม่น่ากังวลหรือส่งผลกระทบอะไรมากนัก

 

เทียบกฎหมายคู่แฝดที่แตกต่างและย้อนแย้ง

  • พ.ร.บ. ไซเบอร์ ให้อำนาจเกี่ยวกับการ ‘ตรวจสอบ เข้าถึง ทำสำเนา’ ซึ่งก็คือการ ‘เก็บข้อมูล’ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์ จึงรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในระบบได้
  • พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ห้ามเก็บ เว้นแต่ขอความยินยอมก่อน

 

กฎหมายทั้งสองฉบับดูจะย้อนแย้งกันในเชิงหลักการหรือไม่

 

คำตอบคือ ใช่ แต่ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บอกว่า ถ้ามี ‘กฎหมายอื่น’ ให้อำนาจ ก็สามารถเก็บ ใช้ เปิดเผย โดยไม่ต้องขอความยินยอมได้ (มาตรา 19)

 

ส่วนมาตรา 41/5 ก็บอกว่า หลักการคุ้มครองข้อมูลและสิทธิเจ้าของข้อมูลสามารถถูกจำกัดได้หลายกรณี ซึ่งรวมถึง ‘การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์’ และยังมีข้อยกเว้นยิบย่อยในส่วนการเก็บและเปิดเผยอีก ดังนั้น กฎหมายที่แตกต่างและย้อนแย้งในเชิงหลักการจึงถือกำเนิดเป็นฝาแฝดคู่กันได้ด้วยวิธีกำหนด ‘ข้อยกเว้น’ ให้กันและกันในลักษณะนี้เอง

 

Q: พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล ช่วยแก้ข้อกังวล จาก พ.ร.บ. ไซเบอร์ ได้หรือไม่

พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์มีข้อกังวลที่ผู้เขียนตั้งไว้อย่างน้อย 9 ข้อ บทความนี้ชี้ให้เห็น 2 ข้อที่เชื่อมโยงกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

 

1. ข้อกังวลเกี่ยวกับอำนาจในการ สอดส่อง สอดแนม เข้าถึงข้อมูล ฯลฯ

การกระทำเหล่านี้ก็คือการ เก็บข้อมูล ซึ่งรวมถึง ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ ในระบบคอมพิวเตอร์ เช่น เข้าถึงเพื่อระงับการทำงานของมัลแวร์ในระบบของผู้ให้บริการรายหนึ่ง แต่ ‘บังเอิญ’ เจอข้อมูลระบุตัวลูกค้า เช่น บัญชี ภาพส่วนตัว ประวัติธุรกรรมซื้อขาย ฯลฯ คำถามจึงตามมาว่า ถ้าอย่างนั้นคณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์ก็ต้องขอความยินยอมเราก่อนตามหลักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลหรือไม่

 

กฎหมายที่มีหลักต่างกัน แต่ออกมาพร้อมกันเหมือนฝาแฝดได้ จึงต้องไม่ขัดแย้งกัน ดังนั้น พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล แม้บอกว่าจะ ‘เก็บ’ ต้องขอความยินยอมก่อนก็จริง (มาตรา 19) แต่มีข้อยกเว้น กรณีที่ ‘กฎหมายอื่น’ ให้กระทำได้ และกรณีการเก็บข้อมูลเป็นการ ‘ปฏิบัติตามกฎหมาย’ (มาตรา 24) คณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์ไม่ต้องขอความยินยอมตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลฯ

 

2. ข้อกังวล เกี่ยวกับ การโพสต์ แชร์เนื้อหา

ทำไมยังกังวลอีก ก็ในเมื่อ พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ จำกัดเฉพาะการโจมตีทางเทคนิค เช่น DDOS (ทำให้ระบบปฏิเสธบริการหรือล่ม) มัลแวร์ชนิดต่างๆ ฯลฯ ไม่ได้ลงโทษคนโพสต์ คนแชร์ คนไลก์ ข้อมูลเนื้อหา จึงฟันธงไปแล้วว่า โพสต์ แชร์ แม้ว่าเท็จ บิดเบือน ฯลฯ ไม่ผิด พ.ร.บ. ไซเบอร์แน่นอน (แต่จะผิด พ.ร.บ. คอมฯ หรือไม่เป็นอีกเรื่อง)

 

แต่ก็ยังมีคนกังวลว่า การใช้อำนาจ เข้าถึง ตรวจสอบข้อมูล เพื่อระงับภัยไซเบอร์ อาจ ‘บังเอิญ’ เจอข้อมูลหลักฐานความผิด ‘กฎหมายอื่น’ แล้วจะเอาไปส่งต่อเพื่อดำเนินคดี เช่น เจอข้อมูลหลักฐานการโพสต์ข้อมูลที่ผิด พ.ร.บ. คอมฯ มาตรา 14 ฯลฯ

 

ซึ่งตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การนำข้อมูลหลักฐานความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลระบุตัวคนไปใช้ดำเนินคดี ก็คือการ ‘เปิดเผย’ ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งต้องขอความยินยอมก่อน แต่มาตรา 69 พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ ไม่ได้ห้ามเจ้าหน้าที่ที่พบข้อมูลหลักฐานความผิดอื่นแล้วนำไปเปิดเผยเพื่อดำเนินคดี ประกอบกับ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคลยกเว้นสำหรับการเปิดเผยที่ ‘กฎหมายอื่น’ ให้อำนาจ (มาตรา 19) และ ‘เปิดเผยข้อมูลเพื่อการปฏิบัติตามกฎหมาย’ (มาตรา 27) รวมกันแล้วสรุปว่า คณะกรรมการมั่นคงไซเบอร์ ไม่ต้องขอความยินยอมในการเปิดเผยหรือส่งต่อข้อมูลระบุตัวคนที่ได้มา หากจะนำไปใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีอื่น

 

จากบทความชิ้นที่แล้ว น้องผักกาดมีข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอันสุ่มเสี่ยงต่อความผิด พ.ร.บ. คอมฯ อยู่ในอุปกรณ์ของตน ต่อมา ‘บังเอิญ’ มีมัลแวร์ระบาด เจ้าหน้าที่กฎหมายมั่นคงไซเบอร์จึงตรวจสอบหามัลแวร์ แต่ ‘บังเอิญ’ เจอข้อมูลเหล่านี้ น้องผักกาดไม่สามารถจะอ้าง พ.ร.บ. ข้อมูล เพื่อห้ามเจ้าหน้าที่ เปิดเผยหรือส่งต่อข้อมูลหลักฐานนั้นไปดำเนินคดีตาม พ.ร.บ. คอมฯ

 

สรุป พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลไม่ได้ช่วยให้คลายข้อกังวลอันเกิดจาก พ.ร.บ. ไซเบอร์ เหล่านี้ แต่อย่างน้อยก็ไม่ได้ทำให้อะไรแย่ลง ถ้าท่องคาถาตามที่ภาครัฐมักจะบอกเราว่า ‘ถ้าไม่ทำผิด (ตามกฎหมายใดๆ ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะกว้างดังเช่น พ.ร.บ.คอมฯ) ก็ไม่ต้องกลัวอะไร’

 

ผลกระทบของ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ต่อฝ่ายต่างๆ

พ.ร.บ. นี้มีความซับซ้อน ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบต่อหลายฝ่าย ซึ่งวิเคราะห์แยกแยะได้ดังนี้

 

ฝ่ายโจร

ประเด็นปัญหาของข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ ข้อมูลรั่วไหล (Data leak) ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นก็คือ แฮกเกอร์ ซึ่งอาจเจาะเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์หรือเพียงแค่แสดงฝีมือว่าเจาะเข้าระบบได้แล้ว เอาข้อมูลมาแปะประจานเป็นหลักฐาน แต่ทั้งนี้ก็ส่งผลให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในระบบตกอยู่ในความเสี่ยงทั้งสิ้น

 

พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล ส่งผลกระทบต่อโจรหรือแฮกเกอร์อย่างไรบ้าง

 

หลักกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลของหลายประเทศสะท้อนแนวคิดว่า เมื่อข้อมูลรั่วไหล แม้ว่าจะเกิดจากการเจาะจากแฮกเกอร์ที่มีเจตนาร้าย ผู้ที่ควรต้องรับผิดคือคนที่เอาข้อมูลคนอื่นมาเก็บไว้ ซึ่งก็คือ ‘ผู้ควบคุมข้อมูล’

 

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้: ผู้ใช้บริการมือถือต้องให้เลขบัตรประชาชนพร้อมข้อมูลอื่นกับผู้ให้บริการเมื่อขอเปิดใช้งาน ซึ่งผู้ให้บริการนำไปเก็บไว้ในระบบของตน หรือไม่ก็ไปฝากไว้ในระบบคลาวด์ของผู้ให้บริการรับฝากข้อมูลอีกรายหนึ่ง จะเป็นกรณีใดก็ตาม สุดท้ายถูกแฮกเกอร์เข้าถึงและนำมาเผยแพร่แสดงฝีมือ แบบนี้ ถือว่าเกิดข้อมูลรั่วไหลแล้ว ตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลไม่ได้ลงโทษแฮกเกอร์ (และโดยทั่วไป กรณีแบบนี้ก็มักจะจบลงด้วยการจับแฮกเกอร์ไม่ได้ หรือไม่รู้ว่าเป็นใคร)

 

ในทางตรงข้าม กฎหมายนี้ได้กำหนดความผิดสำหรับ ‘ผู้ควบคุมข้อมูล’ ซึ่งก็คือ ผู้ประกอบการที่อาจถูกปรับ ซึ่งต้องมาพิสูจน์ว่าปฏิบัติตามมาตรฐานรักษาข้อมูลอย่างเพียงพอแล้วหรือไม่

 

ยิ่งไปกว่านั้น แฮกเกอร์บางคน บางกลุ่ม ชอบกฎหมายนี้ เช่นพวกที่ใช้ ‘แรนซอมแวร์’ หรือการเข้ารหัสข้อมูลเพื่อประกอบธุรกิจเรียกค่าไถ่ เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรียกค่าไถ่เพิ่มขึ้นได้ ด้วยเหตุที่มี ‘ราคาอ้างอิง’ ให้เปรียบเทียบ ซึ่งก็คือ ค่าปรับ ตามกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายหากเกิดข้อมูลรั่วไหล เช่น กฎหมายยุโรปกำหนดสูงสุดถึง 20 ล้านยูโร ตามกฎหมายไทย ถ้าผู้ควบคุมข้อมูลไม่จัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม อาจถูกปรับสูงสุดถึง 3 ล้าน (มาตรา 81) ดังนั้น ‘ค่าไถ่’ ที่โจรจะขู่เรียกเงินเพื่อแลกกับการไม่โจมตี หรือแลกกับการ ‘ถอดรหัส’ ก็อาจแปรผันสูงขึ้น โดยมีค่าปรับเป็นอัตราอ้างอิง

 

แล้วจะทำอย่างไรกับโจรพวกนี้

 

ไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูล อาจต้องไปดูว่าผิด พ.ร.บ. คอมฯ หรือไม่

 

 

ฝ่ายผู้ควบคุมข้อมูล

เป็น ‘จำเลย’ หรือเป้าหมายหลักของกฎหมายนี้ ต้องรับภาระหลายด้าน เช่น

จัดทำนโยบายความเป็นส่วนตัว (Privacy Policy) ที่เราเห็นกันตามเว็บต่างๆ อยู่แล้ว เป็นรายละเอียดเพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะเก็บข้อมูลไปทำอะไร แค่ไหน ฯลฯ นอกจากนี้ยังต้องตรวจประเมิน ส่งรายงาน ฯลฯ

 

หน้าที่จัดทำระบบให้ปลอดภัย ไม่ให้ข้อมูลรั่วไหล หน้าที่นี้ดูคุ้นๆ ถ้าอ่านควบคู่กับ พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ จะพบว่าเป็นหน้าที่คล้ายคลึงกัน แต่ต้องทำตามกฎหมาย 2 ฉบับ ที่มีรายละเอียดมาตรฐานต่างกัน ส่งรายงานต่อหน่วยงานรัฐถึง 2 หน่วย โดยเฉพาะหากผู้ ‘ควบคุมข้อมูล’ อยู่ในธุรกิจที่เป็น ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ตามกฎหมายมั่นคงไซเบอร์ด้วย เช่น ผู้ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ขนส่ง โลจิสติกส์ ฯลฯ เหล่านี้ เป็นทั้งผู้ควบคุมข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐาน

 

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีหลักการเชิง ‘อนาคต’ เช่นเดียวกับ กฎหมายมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งให้อำนาจ ‘สอดส่อง’ ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่เกิดภัยคุกคาม กล่าวคือ แม้ว่ายังไม่มีโจรมาเจาะข้อมูล แต่ผู้ควบคุมข้อมูลก็ต้องมีหน้าที่ป้องกันไว้ก่อน ถ้าไม่จัดทำตามหน้าที่ที่กฎหมายนี้กำหนด ก็อาจถูกปรับได้เลย โดยไม่ต้องรอให้โจรมาเจาะ

 

ผู้ควบคุมข้อมูล สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายก็เตรียมพร้อมจะรับภาระพวกนี้ ส่วนใหญ่ก็ทำอยู่แล้ว เพราะต้องติดต่อค้าขายกับต่างประเทศเช่นกลุ่มยุโรป ที่มีหลักการแบบนี้เหมือนกัน จึงลงทุนทั้งระบบและที่ปรึกษาเทคนิคพร้อม ถึงจะมีต้นทุนสูงขึ้น พ.ร.บ. นี้ก็ไม่ได้ห้ามขึ้นราคาสินค้าหรือบริการเพราะเหตุที่ต้องทำตามมาตรฐานต่างๆ

 

กลุ่มที่น่ากังวลคือ ‘ผู้ควบคุมข้อมูล’ รายยิบย่อย อย่าง SME พ่อค้า-แม่ค้า โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่ ‘ผู้ประกอบธุรกิจ’ กับ ‘ผู้บริโภค’ มีความทับซ้อนกันเสมอ

 

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้: น้องปุ๊กกี้ พนักงานบริษัทคนหนึ่ง ที่สวมหมวกอีกใบเป็นเจ้าแม่ขายเครื่องสำอางออนไลน์ จากรายย่อยเป็นตัวแทนรายใหญ่ วิตกกับกฎหมายภาษีออนไลน์ที่ออกมาแล้วว่าจะต้องถูกตรวจสอบธุรกรรมรายงานการโอนเงิน ตอนนี้มากังวลกับตำแหน่งใหม่คือ ‘ผู้ควบคุมข้อมูล’ เพราะเธอจัดเก็บชื่อ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ส่งของของลูกค้าต่างๆ ไว้ในโทรศัพท์ของเธอจำนวนมาก ตามกฎหมายนี้ เธอต้องปฏิบัติหน้าที่ ทั้งขอความยินยอมลูกค้า นั่งร่าง ‘นโยบายความเป็นส่วนตัว’ บรรยายว่าฉันจะเก็บข้อมูลเอาไปใช้เพื่อขายครีมนี้เท่านั้น ไม่นำไปส่งต่อให้ร้านขายยาฆ่าแมลงหรอกนะ ฯลฯ ไหนจะต้องขอความยินยอมลูกค้าที่เอาหน้ามารีวิวครีมเธออีก ภาระของเธอดูเยอะเหลือเกิน จะผลักภาระออกไปโดยขึ้นราคาสินค้าก็ไม่ได้ การแข่งขันก็สูง ถูกกว่ากัน 2 บาทลูกค้าก็ไปซื้อรายอื่นแล้ว อย่างน้อยก็ยังดีที่เธอไม่เข้าข่ายผู้ประกอบธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องจ้างนักไอทีมาตรวจสอบประเมินตามกฎหมายไซเบอร์อีกฉบับหนึ่ง

 

ทำอย่างไรให้การค้าขายออนไลน์ไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูล

 

ถ้าจะบอกให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไม่ต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลลูกค้าจะทำได้หรือไม่

 

ย้อนไปก่อนยุคโซเชียลมีเดียหรือแอปฯ สนทนาต่างๆ เราซื้อสินค้าบริการโดยไม่ต้อง ‘รู้จักกัน’ แต่ปัจจุบันคงจะทำได้ยาก เพราะต้องเอาลูกค้ามาเป็น ‘เพื่อน’ ในไลน์ ในเฟซบุ๊ก และขอข้อมูลกัน จริงๆ แล้วแค่เอาชื่อและที่อยู่ลูกค้ามาจัดส่งพัสดุให้ก็เป็น ‘ผู้ควบคุมข้อมูล’ แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบธุรกิจบางประเภท แม้ว่าไม่อยากจะเก็บข้อมูลคนอื่น แต่ก็ถูกกฎหมายสั่งให้เก็บ ดังจะกล่าวต่อไป

 

 

ฝ่ายธุรกิจ ‘สตาร์ทอัพ’ / ที่ปรึกษาไอที (Computer Security)

ตามกฎหมายนี้ แบ่งพวก ‘สตาร์ทอัพ’ เป็น 2 กลุ่มคือ 1. ผู้พัฒนา ขายระบบ โปรแกรม แอปฯ ให้คนอื่นใช้ กลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ควบคุมข้อมูล 2. ผู้ที่นำระบบ โปรแกรม แอปฯ ไปใช้ทำธุรกิจออนไลน์โดยเก็บข้อมูลลูกค้าจะเป็นผู้ควบคุมข้อมูล

 

สำหรับที่ปรึกษาไอที ความปลอดภัยระบบ ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากกฎหมายนี้ เพราะผู้ประกอบธุรกิจที่เก็บข้อมูลลูกค้าต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัย จัดให้มีนโยบายความเป็นส่วนตัว ตรวจประเมิน ฯลฯ ถ้าทำเองไม่ได้ก็ต้องจ้าง จริงๆ แล้ว กลุ่มนี้ยังมีโอกาสในการเป็นผู้ตรวจประเมิน จัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็น ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ตามกฎหมายมั่นคงไซเบอร์ด้วย เรียกว่ารับโชคถึงสองชั้นจากกฎหมายฝาแฝดนี้

 

ฝ่ายเจ้าของข้อมูล

ภาพที่จะเกิดขึ้นหลังกฎหมายนี้มีผลบังคับ ผลกระทบต่อผู้เป็นเจ้าของข้อมูลก็คือประชาชนทั่วไป เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องคาดหมายเพราะพบเห็นในปัจจุบันอยู่แล้ว เช่น โหลดแอปฯ อะไรสักอย่างมาใช้ จะมีเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆ ให้อ่าน ถ้าได้อ่านจะพบรายละเอียดว่า เข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์อะไรของเราบ้าง จะเอาไปทำอะไร ส่งให้ใครต่อบ้าง ฯลฯ สุดท้ายเราก็กดปุ่ม ‘ยอมรับ’ เพื่อให้ใช้ต่อไปได้ หรือเข้าเว็บไซต์แล้วมีให้กดยอมรับ ‘คุกกี้’ (ซึ่งก็จัดเป็นโปรแกรมสอดแนมติดตามพฤติกรรมออนไลน์อย่างหนึ่ง)

 

พิธีกรรมเหล่านี้ทำไมถึงเกิดขึ้นอยู่แล้ว

 

คำตอบคือ ผู้ให้บริการ โดยเฉพาะต่างประเทศ ต้องทำตามกฎหมายลักษณะนี้ของประเทศอื่นอยู่แล้ว ดังนั้น ‘เจ้าของข้อมูล’ ที่หลักการของกฎหมายนี้มุ่ง ‘คุ้มครอง’ อาจมีคำถามหรือความ ‘คาดหมาย’ ที่มากกว่าเดิม

 

Q: โทรขายประกัน สินเชื่อ บริการน่ารำคาญที่ไม่อยากได้จะหายไปหรือไม่

สมมติว่าน้องผักชีซื้อรถกับบริษัท A ทำเรื่องกู้กับธนาคาร B ทำประกันกับบริษัท C ต่อมามีบริษัทชื่อแปลกๆ อีก 5 แห่งโทรมาขายประกันรถ ทั้งที่เพิ่งซื้อผ่านไป 3 เดือน

กรณีมีผู้แปลกหน้าติดต่อนำเสนอสิ่งดีๆ ให้โดยเราไม่รู้จักเขามาก่อน อาจเกิดจากการซื้อ-ขายหรือส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคลจากผู้ให้บริการรายหนึ่งไปยังอีกรายหนึ่ง หรือหลายๆ ราย

 

ซึ่งกฎหมายนี้ห้ามขายข้อมูลไปให้ผู้อื่น เพราะเป็นการนำไปใช้หรือเปิดเผย แต่ยกเว้น ถ้าเจ้าของข้อมูลยินยอม โดยต้องแจ้งวัตถุประสงค์ด้วย

 

และนี่ก็เป็นเหตุผลที่คาดการณ์ว่า เมื่อกฎหมายนี้ใช้บังคับ หากน้องผักชีซื้อรถใหม่ก็ยังจะได้รับการติดต่ออยู่เหมือนเดิม เว้นแต่ตอนทำสัญญากับผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ระบุ ‘ไม่ยินยอม’ ในทุกๆ ข้อตกลงที่เกี่ยวข้อง คำถามคือ แล้วน้องผักชีจะทำเช่นนั้นหรือไม่

 

ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งไม่ได้แคร์กับการที่ใครจะเอาข้อมูลไปใช้ พวกเขายินดีถ่ายรูปหน้าตัวเองคู่กับจานอาหารหรือขนมในร้านนั้นแล้วแชร์ต่อไปโดยตั้งค่า ‘สาธารณะ’ เพื่อ ‘ช่วย’ ผู้ขายสินค้าหรือบริการ ‘โฆษณา’ โดยได้ค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ เช่น ส่วนลดหรือกาแฟฟรีสักแก้ว กลุ่มนี้อาจจะ ‘รำคาญ’ ที่ต้องมา ‘ตกลงยินยอม’ แต่ก็ต้องยอมรับสภาพ เพราะกฎหมายมีความปรารถนาจะ ‘คุ้มครอง’

 

 

Q: มีหลักห้ามเก็บข้อมูล ‘อ่อนไหว’ ใครจะมาเก็บ หน้า นิ้ว ม่านตาเราไม่ได้จริงหรือไม่

คนเรามีความอ่อนไหวต่อเรื่องข้อมูลต่างๆ ไม่เหมือนกัน บางคนอ่อนไหวกับเค้าโครงหน้า รูปร่าง บางคนอ่อนไหวกับความคิดความเชื่อ แต่กฎหมายนี้กำหนดว่า ข้อมูลบางอย่างเป็นข้อมูลที่ต้องได้รับการคุ้มครองพิเศษ เช่น ลายนิ้วมือ ม่านตา ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อลัทธิ พฤติกรรมทางเพศ ฯลฯ เหล่านี้อยู่ภายใต้หลัก ‘ห้ามจัดเก็บ’

 

แต่กฎหมายยกเว้นในกรณีที่เจ้าของข้อมูล ‘ยินยอมอย่างชัดแจ้ง’ ซึ่งอาจจะเป็นกดปุ่ม ตกลงยอมรับ เซ็นชื่อ ฯลฯ

 

ถามว่าลูกจ้างจะยอมให้นายจ้างจัดเก็บลายนิ้วมือหรือสแกนหน้าเพื่อเข้างานหรือไม่ ผู้ใช้โทรศัพท์จะยอมให้ใช้ใบหน้าสแกนเพื่อเข้าใช้เครื่องหรือไม่ ถ้าเมาแล้วขับถูกตำรวจจับดำเนินคดีและให้เก็บลายนิ้วมือ จะอ้างหลักไม่ยินยอม เพราะเป็นข้อมูลพิเศษได้หรือไม่ ลองดูในฝ่ายภาครัฐที่จะกล่าวต่อไป

 

ฝ่ายรัฐ / หน่วยงานรัฐ

ภาครัฐทำอะไรกับข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนบ้าง ผู้เขียนแบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

 

1. หน่วยงานรัฐเป็นผู้เก็บหรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน

ในร่างกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลฉบับก่อนๆ มีการกำหนดยกเว้นไม่ใช้กับหน่วยงานรัฐ แต่สุดท้าย พ.ร.บ. นี้ก็ไม่ยกเว้น โดยหลักจึงพูดได้ว่า หน่วยงานรัฐที่เก็บข้อมูลส่วนบุคคล ก็เป็น ‘ผู้ควบคุมข้อมูล’ ที่ต้องทำหน้าที่ต่างๆ ตามกฎหมายนี้ด้วย เช่น ขอความยินยอมก่อนจะเก็บหรือนำไปใช้ ต้องให้สิทธิ์เราขอลบ ฯลฯ

 

คำถามจึงตามมาว่า เราสามารถปฏิเสธสรรพากรที่จะเก็บข้อมูลเสียภาษี ปฏิเสธฝ่ายปกครองในการเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎร์ หรือแม้แต่ปฏิเสธตำรวจที่จะให้พิมพ์ลายนิ้วมือเมื่อเมาแล้วขับโดยอ้างว่า ‘ไม่ยินยอม’ ตามกฎหมายนี้ได้หรือไม่

 

แม้ พ.ร.บ. นี้ไม่ยกเว้นหน่วยงานรัฐออกไปจากกฎหมายโดยสิ้นเชิง แต่มีหมวด 3 เกี่ยวกับ ‘ข้อจำกัดการคุ้มครองข้อมูลและข้อจำกัดสิทธิเจ้าของข้อมูล’ สำหรับ ‘หน่วยงานที่มีอำนาจ’ ซึ่งหมายถึงหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายอื่นๆ เช่น ภาษี ตำรวจ ฯลฯ ดังนั้น หลักการคุ้มครอง เช่น ห้ามจัดเก็บ เปิดเผย ฯลฯ ก็มีข้อจำกัดได้ ในขอบเขตอำนาจหน่วยงานนั้น (มาตรา 41/4)

 

สำหรับ สิทธิ์ของเจ้าของข้อมูล เช่น สิทธิ์คัดค้านการเก็บ การประมวลผลข้อมูล ก็ไม่สามารถอ้างกับหน่วยงานเหล่านี้เช่นกัน (มาตรา 41/3) แม้แต่จะเป็นข้อมูลพิเศษ เช่น ลายนิ้วมือ ม่านตา ฯลฯ ก็มีข้อยกเว้น เช่น การเก็บประวัติอาชญากรรม สามารถทำได้ภายใต้ ‘หน่วยงานที่มีอำนาจ’

 

สรุป สรรพากรสามารถจัดเก็บข้อมูลแม่ค้าออนไลน์เพื่อประมวลผลที่เกี่ยวกับภาษีได้ต่อไป ตำรวจสามารถเก็บข้อมูลภาพถ่ายทะเบียนรถหรือใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์เพื่อตัดแต้มได้ต่อไป หรือจัดเก็บลายนิ้วมือคนเมาแล้วขับได้ ฯลฯ โดยเจ้าของข้อมูลไม่สามารถใช้กฎหมายนี้มาปฏิเสธหรือคัดค้านได้

 

2. หน่วยงานรัฐใช้กฎหมายสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้เก็บข้อมูลส่วนบุคคล

กรณีนี้มักเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ ‘นำมาใช้ระบุตัวตน’ บนสมมติฐานว่า คนสามารถทำผิดกฎหมายได้ทุกเมื่อ จึงต้องทำให้เกิดความพร้อมไว้ เพื่อสามารถติดตามจับกุมได้ตลอดเวลาหากมีการกระทำอะไรที่ผิดกฎหมายขึ้น

 

เราจะพบแนวคิดนี้ในกฎหมายต่างๆ เช่น การกำหนดให้ต้องใช้เลขหมายประชาชนเพื่อลงทะเบียนซิมมือถือ ซึ่งสะท้อนแนวคิดว่าเมื่อมีใครโพสต์อะไรผิด พ.ร.บ. คอมฯ จะได้ระบุตัวได้ หรือการกำหนดให้ผู้ส่งพัสดุสิ่งของต้องใช้เลขบัตรประชาชนแสดงตัวตน ฯลฯ ซึ่งสะท้อนเหตุผลว่า ถ้าส่งของผิดกฎหมายจะได้ตามตัวได้

 

การดำเนินการลักษณะนี้ อาจส่งผลย้อนกลับไปกระทบเจ้าของข้อมูล เพราะโจรอาชีพสักกี่รายที่จะเอาบัตรตัวเองไปส่งระเบิดทางไปรษณีย์ ไหนยังจะมีโจรที่เอาข้อมูลระบุตัวผู้อื่นไปสมัครทำธุรกรรมต่างๆ พอมีข่าวแบบนี้ก็นำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ยกระดับการระบุตัว เช่น ให้นำข้อมูลชีวภาพ พวกลายนิ้วมือหรือใบหน้าไปลงทะเบียน เช่น ข้อเสนอเชิงนโยบายบางฉบับ ที่ให้นำข้อมูลลายนิ้วมือหรือใบหน้าไประบุตัวเพื่อเปิดใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ในทางกลับกัน ปรากฏข้อเท็จจริงทั่วไปว่าแฮกเกอร์สามารถ ‘โจรกรรม’ ข้อมูลชีวภาพได้เช่นกัน นำไปสู่ความเสี่ยงที่เจ้าของข้อมูลไม่สามารถ ‘รีเซต’ ได้เลย

 

นอกจากวัตถุประสงค์ในการระบุหาตัวโจรแล้ว การระบุตัวยังนำมาใช้ประโยชน์ในการ ‘หารายได้เข้ารัฐ’ ลองพิจารณาประกอบกับสภาพ ‘ไร้เงินสด’ การจ่ายเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถติดตามได้ว่าใครได้เงินจากไหน จ่ายไปทางไหน และแล้ว กฎหมายภาษีก็ออกมากำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกรรมโอนเงินเข้าออกออนไลน์ต้องรายงานส่งข้อมูลให้ภาครัฐ

 

ในแง่ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูล ผู้เก็บข้อมูลคือ ผู้ประกอบการ ถึงไม่อยากจะเก็บ ก็ถูกกฎหมายฉบับต่างๆ สั่งให้มีหน้าที่เก็บ พอเก็บไปแล้วก็กลายเป็น ‘ผู้ควบคุมข้อมูล’ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลอีก ในแง่ผู้บริโภคก็จะมีคำถามว่า สามารถปฏิเสธไม่ยินยอมให้เก็บข้อมูลได้หรือไม่ เพราะพวกนี้เป็นผู้ประกอบการเอกชน คำตอบก็คือ ไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการเหล่านั้นปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย (มาตรา 24 (7))

 

บททิ้งท้าย

การออกกฎหมายนี้ อ้างอิง หรือ ‘อิมพอร์ต’ หลักกฎหมายยุโรป (GDPR) เข้ามา โดยให้เหตุผลว่า ต้องทำให้สอดคล้องกับมาตรฐานยุโรป เพื่อให้สามารถโอนข้อมูลระหว่างไทยกับยุโรปได้

 

จริงอยู่ว่ากฎหมายยุโรปห้ามโอนข้อมูลของพลเมืองยุโรปไปยังประเทศที่มีมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลที่ต่ำกว่า แต่ว่าไม่ใช่แค่ ‘มี’ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลแล้วจะถือว่าได้มาตรฐาน

 

ลองย้อนดูตัวอย่าง สหรัฐฯ ตกลงกับยุโรปในโครงการชื่อ ‘Safe Harbor’ ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนี้ยอมปฏิบัติตามหลักที่คล้ายคลึงกับกฎหมายยุโรป แต่ต่อมามีการฟ้องศาลยุโรปอ้างข้อมูลว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีพฤติกรรมไม่น่าวางใจในการสอดส่องข้อมูลผู้ใช้โทรคมนาคมอย่างกว้าง (ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากการแฉของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน) ศาลยุโรปจึงตัดสินในปี ค.ศ. 2015 ว่า ความตกลงโอนข้อมูลระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะหน่วยงานรัฐของสหรัฐฯ ไม่น่าวางใจ อาจมา ‘สอดแนม’ ข้อมูลได้ (Case C-362/14)

 

เปรียบเทียบกับสถานการณ์ของไทยตอนนี้ เรียกได้ว่า ‘ล้ำหน้า’ กว่าสหรัฐฯ หนึ่งขั้น เพราะไม่ได้มีการทำโครงการลับ ‘สอดแนม’ จนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่เคยทำงานให้ภาครัฐออกมาแฉต่อสื่อมวลชน แต่ออกกฎหมายให้อำนาจ ‘สอดแนม’ อย่างถูกต้อง ในกรณีที่มี ‘ภัยคุกคามไซเบอร์’ แถมยังออกควบคู่มากับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเสียด้วย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

The post ชำแหละ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล คู่แฝด พ.ร.บ. มั่นคงไซเบอร์ ใครได้ ใครเสีย และภาระอยู่ที่ใคร appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/personal-information-act/feed/ 0
ที่ประชุม สนช. มีมติ 133 ต่อ 0 งดออกเสียง 16 เสียง เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แล้ว https://thestandard.co/cyber-act/ https://thestandard.co/cyber-act/#respond Thu, 28 Feb 2019 08:37:32 +0000 https://thestandard.co/?p=211036

โดยสาระสำคัญ กำหนดมาตรการป้องกันรับมือและลดความเสี่ยงจา […]

The post ที่ประชุม สนช. มีมติ 133 ต่อ 0 งดออกเสียง 16 เสียง เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แล้ว appeared first on THE STANDARD.

]]>

โดยสาระสำคัญ กำหนดมาตรการป้องกันรับมือและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่อาจจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ โดยได้กำหนดภารกิจและบริการเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศของหน่วยงานรัฐและเอกชนที่ต้องมีการป้องกันรับมือ

ให้มีหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการประสานปฏิบัติการ รวมถึงแผนมาตรการการป้องกันและรับมือ ทั้งนี้ในร่างกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่งประกอบไปด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พร้อมกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 7 คน ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี

The post ที่ประชุม สนช. มีมติ 133 ต่อ 0 งดออกเสียง 16 เสียง เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แล้ว appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/cyber-act/feed/ 0
การเมืองไทยปี 2017 คือปีแห่ง ‘ความบิดเบี้ยว’? https://thestandard.co/thai-politics-2017-year-of-contortions/ https://thestandard.co/thai-politics-2017-year-of-contortions/#respond Fri, 08 Dec 2017 15:01:58 +0000 https://thestandard.co/?p=54150

THE STANDARD ขอพาย้อนกลับไปทบทวนหาบทเรียนและแง่มุมจากเห […]

The post การเมืองไทยปี 2017 คือปีแห่ง ‘ความบิดเบี้ยว’? appeared first on THE STANDARD.

]]>

THE STANDARD ขอพาย้อนกลับไปทบทวนหาบทเรียนและแง่มุมจากเหตุการณ์การเมืองในรอบปี 2017 ซึ่งเรามองว่าคือปีแห่ง ‘ความบิดเบี้ยว’ ของการเมืองไทย

 

 

ยัง ‘เบี้ยว’ ไม่คืนประชาธิปไตย

3 ปีกว่าแล้วที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัจจุบันสวมหมวกนายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ยังคงใช้อำนาจการปกครองประเทศผ่านกลไกที่ตนเองและคณะบุคคลเข้าควบคุมอำนาจฝ่ายบริหาร ที่เคยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยเป็นผู้นำ พร้อมๆ กับ ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’ ที่จะทำตามสัญญา สำหรับข้ออ้างเพื่อเข้ามาแก้วิกฤตความขัดแย้งของคนในประเทศ

 

ตลอดปี 2017 พล.อ. ประยุทธ์ ยังคงให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนด้วยท่าทีขึงขัง หลายครั้งเมื่อถูกสื่อยืนไมค์ถามในประเด็นต่างๆ แน่นอนว่าในบรรดาคำถามทั้งหมดที่ดูจะหงุดหงิดใจมากที่สุดก็คือเมื่อถูกถามว่า ประชาชนคนไทยจะได้เลือกตั้งและคืนอำนาจการกำหนดตัวแทนของพวกเขามาสู่มือของอำนาจอธิปไตยอันเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคนในเวลาใดกันแน่?

 

คสช. เคยประกาศโรดแมปตั้งแต่ห้วงเวลาเริ่มต้นเข้ามาใหม่ๆ ว่า มีแผนระยะที่ 3 คือ ให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ที่ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกพวก พอใจ หลังจัดทำรัฐธรรมนูฐฉบับถาวรแล้วเสร็จ แต่โรดแมปดังกล่าวก็ยังเป็นโรคเลื่อนมาโดยตลอด

 

หลังก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 พล.อ. ประยุทธ์ เคยเปิดเผยระหว่างเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการว่า มีแผนให้มีการจัดเลือกตั้งปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

 

ถัดมาไม่กี่เดือนในปีเดียวกัน เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2558 ในการหารือทวิภาคีกับสหประชาชาติ (UN) ที่ UN เป็นกังวลว่าพื้นที่ประชาธิปไตยไทยแคบลงนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ก็ประกาศออกมาว่า คาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปภายในกลางปี 2560 โดยบอกว่าจะจัดเลือกตั้งให้ได้ในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2560

 

ข้ามมาที่ปี 2560 เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ ได้เข้าพบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาที่ทำเนียบขาว ก็ได้ลั่นวาจาว่า ปีหน้าจะมีการประกาศวันเลือกตั้ง แต่ไม่ทันข้ามวัน พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับไหลลื่นไปว่าจะประกาศปี 2561 ไม่ได้แปลว่าจะมีการจัดเลือกตั้งภายในปี 2561

 

เหตุการณ์ที่กลายเป็นข้ออ้างสำคัญที่นำมาสู่การเลื่อน ‘โรดแมป’ ครั้งใหญ่ของคณะ คสช. ก็คือ รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยคณะกรรมการชุดของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกคว่ำในสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558 ซึ่งแต่เดิมบอกว่าจะเลือกตั้งในปี 2560 ทำให้ระยะแห่งการครองอำนาจของรัฐบาล คสช. ในระยะเปลี่ยนผ่านขั้นที่ 2 ตามโรดแมป ก็ยืดยาวจากปี 2557 มาจนถึงปี 2560 หรือเปลี่ยนจาก 1 ปี กลายเป็น 3 ปี และยังไม่มีวี่แววจะ ‘ปลดล็อก’ ทางการเมือง หรือส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะเข้าสู่การเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แต่อย่างใด

 

 

คดีพลิก! ยิ่งลักษณ์ ‘เบี้ยว’ ไม่ไปฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าว

49 วัน คือ จำนวนตัวเลขที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้หาเสียงนำพาตนเองเข้าสู่การเมือง และได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดที่ ‘นักการเมือง’ หลายคนหมายปอง

 

2 ปี 275 วัน คือช่วงเวลาที่เธอนั่งเก้าอี้นายกฯ และบริหารราชการแผ่นดินภายใต้แรงเสียดทานทางการเมืองที่ถาโถมอยู่ตลอดเวลาจากมรสุมการเมืองลูกใหญ่ที่ซัดให้เธอต้องตกเก้าอี้ เมื่อถูกถอนจากตำแหน่งในข้อหาย้ายข้าราชการโดยไม่ชอบ ตามมาด้วยการรัฐประหารโดย คสช. เพื่อควบคุมอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาลของเธอในขณะนั้น

 

2 ปี 4 เดือน คือจำนวนเวลาในการต่อสู้คดีโครงการรับจำนำข้าวที่เธอตกเป็นจำเลยฐานปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ซึ่งสิ้นสุดกระบวนการทั้งหมด และศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม

 

แต่แล้วคดีก็พลิก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม เธอไม่ปรากฏกายให้เห็นที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังเคยประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะเดินทางมาในวันดังกล่าว ความประหลาดใจของสื่อมวลชนระคนกับความรู้สึกของมวลชนที่มาจำนวนมากในวันนั้นไม่ต่างกัน

 

เมื่อเข้าสู่ห้องพิจารณาคดี ผู้พิพากษาซึ่งอยู่บนบัลลังก์อ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีให้ออกหมายจับเธอ โดยไม่เชื่อว่าป่วยเป็น ‘น้ำในหู’ จริง มีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับและเลื่อนไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายน ซึ่งคำพิพากษาให้ผิดตามฟ้อง และจำคุกเธอเป็นเวลา 5 ปี

 

นับแต่การไม่ปรากฏตัวครั้งนั้น ก็ไม่มีข่าวความเคลื่อนไหวจากคนใกล้ชิดหรือทนายความ มีแต่ความสงสัยว่า เธอไปอยู่ที่ไหน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร หลายคนบอกว่าเธอจะไม่เบี้ยว เพราะเธอยืนยันที่จะต่อสู้อย่างเต็มที่ หรือเธออาจมองว่าชะตากรรมที่เธอได้รับมาจากความบิดเบี้ยวของกระบวนการ แม้วันนี้เธอจะมีชะตากรรมคล้ายคลึงพี่ชาย และย่างเข้าเดือนที่ 4 แล้ว ที่ทุกคนยังหาคำตอบว่า ‘ยิ่งลักษณ์ Where are you?’

 

การเดินบนสนามการเมืองของยิ่งลักษณ์ตลอดเวลาที่ผ่านมา สิ่งที่ได้รับน่าจะมีทั้งดอกไม้ช่อใหญ่และก้อนหินสารพัดที่หยิบยื่นให้อยู่ตลอดมา

 

 

ยังไม่ ‘ปลดล็อก’ กฎหมาย เปิดพื้นที่การเมืองให้ประชาชน

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พรรคการเมืองยังไม่สามารถเดินหน้ารวมตัวทำกิจกรรมทางการเมืองได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และคำสั่ง คสช. ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และกำหนดให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้

 

ในแง่ของพรรคการเมืองก็ยังเป็นปัญหาเฉพาะ เพราะขีดวงจำกัดอยู่ที่การประชุมพรรค และห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งจนถึงวันนี้ สัญญาณ ‘ปลดล็อก’ ยังคงถูกล็อกคาอยู่แบบเดิม

 

แต่ปัญหาของคำสั่ง คสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน มีผลกระทบที่ขีดเส้นใหญ่ไว้ที่ ‘ประชาชน’ กว่า 3 ปีแล้ว (นับรวมประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557) ที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในแง่ของการรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ ยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แม้ในหลายครั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จะออกมาพูดว่า ก็เห็นทำกันได้ และ คสช. ก็ไม่เคยไปยุ่ง แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะไม่ถูกตีความว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะสภาพบังคับของคำสั่งยังคงมีอยู่

 

ยกตัวอย่าง กรณีที่ 5 นักวิชาการเชียงใหม่เข้ารับทราบข้อหาชุมนุมทางการเมืองคดี ‘เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร’ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560

 

ไม่นับรวมกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแกล้งฟ้องชาวบ้าน ที่ลุกขึ้นมารวมตัวต่อสู้ในการพิทักษ์สิทธิต่างๆ ของชุมชน การแกล้งฟ้องชาวบ้านเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต และทำให้กฎหมายกลับด้าน กลายเป็นคนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิต้องตกเป็นจำเลย

 

รวมทั้งยังมีการใช้เครื่องมือกฎหมายอื่นๆ เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน เช่น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และยิ่งไม่ต้องเอ่ยถึง พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ กับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ฝ่ายรัฐพยายามผลักดันมาโดยตลอด

 

 

ขณะที่การรวมตัวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ส่วนที่หดแคบลงไปพร้อมๆ กันก็คือพื้นที่ทางความคิด การวิพากษ์วิจารณ์ ผู้ปกครองหรือการบริหารบ้านเมือง กลายเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย และในหลายกรณีก็ถูกควบคุมตัวด้วยคำสั่งดังกล่าว ซึ่งเปิดช่องให้สามารถควบคุมได้ไม่เกิน 7 วัน เพื่อทำการ ‘ปรับทัศนคติ’ และตลอด 3 ปีก็มี หลายต่อหลายคนที่ต้องเผชิญเหตุการณ์นี้ อย่างกรณีล่าสุดก็คือ ‘มาร์ค พิทบูล’ หรือนายณัชพล สุพัฒนะ ที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ขอความร่วมมือและเชิญตัวไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) เนื่องจากการวิจารณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก

 

จากข้อมูลที่ไอลอว์รวบรวมไว้จนถึงปัจจุบัน (10 กรกฎาคม 2560) พบว่า มีไม่น้อยกว่า 157 ครั้ง ที่เจ้าหน้าที่เข้ามาปิดกั้นหรือแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะต่างๆ โดยแต่ละครั้งเจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการในระดับต่างๆ กันไป ตั้งแต่การสั่งไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมด้วยช่องทางโทรศัพท์ การเข้ามาที่สถานที่จัดงานเพื่อกดดันให้เจ้าของสถานที่งดจัดกิจกรรม หรืออนุญาตให้จัด แต่ตั้งเงื่อนไขต่างๆ โดยอ้างข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

คำสั่งหรือประกาศเหล่านี้ได้ถูกรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 รับรองไว้ โดยวางหลักการให้คําสั่งและการกระทําของ คสช. ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคําสั่ง ให้มีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิก การแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคําสั่งดังกล่าว ให้กระทําเป็นพระราชบัญญัติ

 

ดังนั้น ประกาศและคำสั่ง คสช. อย่างน้อย 500 ฉบับ จะยังมีผลบังคับใช้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญต่อไป โดยไม่ต้องพิจารณาว่า คสช. จะยังอยู่ในอำนาจหรือไม่ เว้นเสียแต่ว่ามีการออกพระราชบัญญัติมาแก้ไขหรือยกเลิกเสียก่อน

 

 

ความยุติธรรมยังถูกตั้งคำถาม

กรณีการเสียชีวิตของ นายภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม โดยครอบครัวได้นำศพไปชันสูตรก่อนทำพิธีกรรมทางศาสนา แต่พบว่าอวัยวะภายในและสมองสูญหาย

 

ประเด็นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพราะมีหลายเรื่องที่สร้างความคาใจให้กับทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิตและสังคม กลายเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ทำให้สังคมวงกว้างหันมาตั้งคำถามและอยากรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีนี้

 

 

ระบบธรรมเนียมทหาร หรือสิ่งที่เรียกว่าการธำรงวินัยของกองทัพ ได้เดินมาสู่จุดที่ถูกท้าทายทางความคิดและตั้งคำถามจากสังคมอีกครั้งว่า ‘ความยุติธรรม’ ในการใช้ชีวิตและร่างกายเหล่านี้ สุดท้ายแล้วคุณค่าที่แท้จริงของการฝึกความอดทนลักษณะนี้เป็นไปเพื่อสิ่งใดกันแน่ หากว่านัยหนึ่งคือการสละชีพเพื่อชาติ ตามปณิธาน แล้วนัยหนึ่งของเหตุการณ์การเสียชีวิตของบุคคลที่อยู่ในระบบนี้ที่ปรากฏเป็นข่าวในหลายครั้ง เช่น เสียชีวิตจากการฝึก จากการถูกลงโทษอย่างหนัก หรือวิธีการแปลกพิสดารในสายตาคนทั่วไป สิ่งนี้เรียกว่ายุติธรรมต่อชีวิตพวกเขาจริงหรือไม่?

 

กระบวนการแสวงหาความจริงที่ถูกตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการของกองทัพ กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนคาใจถึงการทำหน้าที่ เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นในแวดวงลายพรางเอง และทหารก็เป็นผู้แสวงหาคำตอบเอง ขณะที่ผู้นำอย่าง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว. กลาโหม ได้ตอบคำถามสื่ออย่างดุดันว่า “กรณีนี้เด็กเสียชีวิต เพราะไม่สบาย ถ้าให้ตนเลือกตายได้ก็ขอตายในสนามรบ”

 

 

อีกเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยในปีนี้ก็คือ กรณีทายาทตระกูลดัง นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทเจ้าของเครื่องดื่มกระทิงแดง ที่ขับรถพุ่งชน ด.ต. วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจสายตรวจ สน.ทองหล่อ จนเสียชีวิต

 

ปมสำคัญคือความล่าช้าในการติดตามตัว ‘บอส’ มาดำเนินคดี กระทั่งล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 5 ในปีนี้ เป็นเหตุให้บางคดีหมดอายุความ แต่ยังเหลือข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งคดีนี้จะสิ้นสุดอายุความในปี 2570 สุดท้ายบอสก็ไม่มารายงานตัวเพื่อส่งฟ้อง จนนำไปสู่การออกหมายจับและตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดว่า เหตุใดผลลัพธ์จึงเป็นเช่นนี้ ถึงขนาดสื่อระดับโลกให้ความสนใจเกาะติดรายงานข่าว

 

ส่งผลต่อคำถามที่ตามมาในการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่รวย จน ในกระบวนการยุติธรรม สังคมออนไลน์วิจารณ์เรื่องนี้อย่างมากว่า ‘ความบิดเบี้ยว’ มาจากเหตุผลที่สังคมไทยต้องเผชิญต่อวาทกรรมคนรวยรอด คนจนติดคุก และเคสของบอสกลายเป็นข้อเปรียบเทียบชั้นต้น ซึ่งนำไปสู่คำถามคาใจที่ไม่เคยสลัดภาพเหล่านี้ให้หลุดหายไปจากความบิดเบี้ยวที่ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริงในสังคมไทย

 

 

กรณี ไผ่ ดาวดิน หรือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งถูกอัยการจังหวัดขอนแก่นยื่นฟ้อง ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์บทความจากบีบีซีไทยไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว และทหารเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

 

ปรากฏการณ์นี้ถูกตั้งคำถามอย่างยิ่งยวดแบบพื้นฐานว่า ทำไมคนแชร์อีก 3,000 และเจ้าของบทความไม่โดนฟ้อง (ซึ่งไม่เกี่ยวว่าบทความนั้นจะผิดหรือถูกกฎหมายอย่างใดในแง่นี้)

 

ขณะที่เหตุผลที่ทำให้ไผ่ถูกถอนประกันมีการยกขึ้นอ้างว่า การโพสต์เฟซบุ๊กหลังได้รับการปล่อยชั่วคราวเข้าข่ายการเยาะเย้ยอำนาจรัฐ จึงกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ว่า หากมีผู้ใดรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ภายใต้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่?

 

ขณะที่ประเด็นที่ไผ่ไม่ได้รับการประกันตัวตามสิทธิของกฎหมาย แม้จะได้พยายามยื่นประกันหลายครั้ง และเหตุผลก็คือคดีนี้มีอัตราโทษสูง เป็นคดีที่ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับความมั่นคง กระทบกระเทือนความรู้สึกของประชาชน

 

แม้วันนี้ไผ่จะยอมรับสารภาพและถูกตัดสินจำคุกแล้ว แต่ระหว่างทางของคดีก็มีคำถามต่อกระบวนการยุติธรรมและถูกจับตาจากหลายองค์กรระหว่างประเทศด้วย

 

 

กรณีของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวชื่อดังที่ต้องต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม จากกรณีถูกกล่าวหายักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลาในรายการ ‘คุยคุ้ยข่าว’ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท. เป็นเงินกว่า 138 ล้านบาท

พร้อมๆ กับคำถามที่กระตุกหาต่อม ‘จริยธรรม’ ของคนทำงานในวงการนี้ ได้ถูกหยิบยกมาสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การกดดัน และเรียกร้องให้สรยุทธทบทวนบทบาทหน้าจอของตนเอง และในเวลาต่อมาเขาก็ประกาศยุติการทำหน้าที่

 

สรยุทธเดินหน้าต่อสู้ในกระบวนการ ไปพร้อมๆ กับต้องต่อสู้กับฝ่ายที่เรียกว่าตนเองเป็น ‘สื่อน้ำดี’ ที่เรียกร้องหาความรับผิดชอบจากเขา แต่ทว่าในทางกลับกัน ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงความบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นในเคสอื่นๆ ต่อวงการนี้อยู่ไม่น้อย ตั้งแต่กรณีสื่อออนไลน์ขยันลอกข่าวสำนักอื่น ผู้บริหารสื่อมีข่าวฉาวเรื่องความสัมพันธ์

ในที่สุด เดือนสิงหาคมของปีนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ตัดสินจำคุกสรยุทธเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา กว่าจะได้ไปประกันก็ต้องไปใช้ชีวิตในเรือนจำอยู่หลายวันทีเดียว

 

 

อีกกรณีที่ร้อนแรงส่งท้ายปีก็คือ ภาพยกมือบังแดดของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว. กลาโหม ในวันถ่ายภาพหมู่ของ ครม. ประยุทธ์ 5 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา แต่ทว่าโฟกัสของภาพวันนั้นกลับให้ความสนใจอยู่ที่นาฬิกาข้อมือหรู ราคาหลายสิบล้าน และแหวนเพชรวงโตส่องประกายแวววับ ซึ่งเป็นเครื่องประดับติดตัวในวันดังกล่าว

นำมาสู่การตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.อ. ประวิตร ที่สื่อมวลชนทุกสำนักรายงานว่า นาฬิกาหรูและแหวนเพชร ไม่ปรากฏในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. และ ต่อมาในการให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประวิตร ก็ยืนยันหนักแน่นว่าจะชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ได้ และไม่หนักใจ เพราะไม่เคยมีเรื่องทุจริต

ปฏิกิริยาต่อมาจึงจับจ้องไปที่ฝ่ายตรวจสอบ ซึ่งก็คือ ป.ป.ช. เมื่อสื่อได้เผยความสัมพันธ์ระหว่าง พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. กับ พล.อ. ประวิตร ในฐานะนายและลูกน้องเก่า เมื่อครั้งเป็นรองเลขาธิการนายกฯ ซึ่งประธาน ป.ป.ช. ได้ให้คำมั่นว่าไม่หนักใจ และหากมีส่วนได้เสียก็ต้องถอนตัว

2 นัยยะ ที่ถูกจับจ้องและเกรงว่าจะบิดเบี้ยวก็คือ รัฐบาลนี้ประกาศให้ความโปร่งใสเป็นวาระสำคัญ และมักตอกย้ำว่าการกำจัดคอร์รัปชันคือเป้าหมายที่ต้องจัดการเด็ดขาด แต่เมื่อคนในรัฐบาลตกเป็นข้อสงสัยเอง จึงต้องเร่งทำความจริงให้กระจ่าง ขณะเดียวกัน กระบวนการตรวจสอบที่หลายฝ่ายกังวลว่าเป็นคนกันเอง จึงเป็นเรื่องที่ต้องคลายปมคาใจนี้ให้ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมายด้วย มิเช่นนั้นอาจถูกมองว่า ‘บิดเบี้ยว’ ได้

 

 

กระบวนการปรองดองที่ยังไม่รู้คำตอบ

THE STANDARD เมื่อครั้งเริ่มต้นเปิดตัวสำนักข่าว รายงานชิ้นแรกต่อบริบทการเมืองไทยในปี 2560 ก็คือกระบวนการสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง ที่ฝ่ายรัฐเป็นผู้ริเริ่ม พร้อมๆ กับคำถามที่ว่า เหตุใด ‘ทหาร’ ที่เป็นส่วนหนึ่งของคู่ขัดแย้งจึงอาสาเป็นคนกลางในการเดินหน้าทำเรื่องนี้ ฝ่ายที่รู้สึกเช่นนั้นจะไม่ปล่อยมือตั้งแต่ยังไม่เริ่มเลยหรือเปล่า ดูไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย?

 

เมื่อสังเคราะห์ความเห็นหลายฝ่ายในเวลานั้น ทุกฝ่ายมองว่าความเป็นกลางไม่มีอยู่จริงและไม่มีใครเป็นกลาง 100% พล.ท. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ตัวแทนจากรัฐบาลให้เหตุผลว่า ทหารต้องทำหน้าที่เป็นหลักประกันให้กับสังคม จตุพร พรหมพันธุ์ มองว่า ที่ผ่านมาถกเถียงเรื่องกลาง-ไม่กลางมาเยอะแล้ว หน้าที่คือให้ความร่วมมือ ด้าน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชี้ว่า เลยจุดที่จะเถียงกันเรื่องคนกลางแล้ว ต้องมองที่สาระเป็นหลัก แต่แม่น้องเกด ‘พะเยาว์ อัคฮาด’ กลับคิดว่า “กองทัพไม่ควรเข้ามาเป็นคนกลาง”

 

ทำให้ความแตกต่างสำคัญของการปรองดองครั้งนี้เมื่อเทียบกับครั้งที่ผ่านๆ มาก็คือรัฐได้เข้ามาเป็น ‘คนกลาง’ ด้วยตัวเอง ซึ่งต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่พยายามหาคนจากภายนอกมาทำหน้าที่

 

 

ระหว่างทางของกระบวนการ คำถามที่ดูเหมือนบางฝ่ายจะมองว่าดูบิดเบี้ยวเหล่านั้น ก็เดินหน้ามาสู่ครึ่งทางแล้ว ขณะที่หนึ่งในผู้ร่วมในกระบวนการอย่าง จตุพร ประธาน นปช. กำลังรับโทษอยู่ในเรือนจำจากคดีหมิ่นประมาทอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์

 

แต่สิ่งที่ทุกฝ่ายแสดงความเห็นตรงกันคือ ‘ปรองดอง’ ควรจะเกิดขึ้นเพื่อหาคำตอบและทางออกในการลดความขัดแย้ง ไม่หวนคืนสู่วิกฤตดังที่ผ่านมา แม้ในรายละเอียดของกระบวนการยังไม่เป็นที่ยอมรับต่อบางฝ่าย

 

ฉะนั้นความพยายามในการจะสร้างความสามัคคีกลมเกลียวที่กำลังเกิดขึ้นอาจเป็นเพียงเรื่องหลักการหรือไม่ เพราะในนิยามความหมายและเงื่อนไขของหลายกลุ่มยังคงตั้งเอาไว้ในฐานที่มั่นของตัวเอง แล้วจะหาตรงกลางของทางออกอย่างไร ที่จะเป็นที่ยอมรับ

 

 

แล้วในที่สุดสิ่งที่ถูกเรียกว่า สัญญาประชาคม ก็ถูกเข็นออกมามีจำนวน 10 ข้อ ซึ่ง พล.ท. คงชีพ อธิบายว่า มาจากการเปิดกว้างรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน และกำหนดเป็นความตกลงของการอยู่ร่วมกัน เพื่อมิให้เกิดเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งที่ขยายไปสู่ความรุนแรงในอนาคต

 

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงแค่พิธีกรรมที่ไม่ได้หวังรับฟังความคิดเห็นที่แท้จริง หรือไม่ก็ฝ่ายการเมืองที่ไม่มีทางเลือกอื่น หากต้องการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง และตนเองไม่ต้องตกเป็นฝ่ายขัดขวางกระบวนการนี้ก็จำเป็นต้องเลือกและยอมรับ

 

รูปธรรมในวันนี้คือการเดินหน้านำสัญญาประชาคมไปสู่การรับรู้ของประชาชน ซึ่งมีมาสคอตอย่าง ‘น้องเกี่ยวก้อย’ เป็นตัวชูโรง แต่ไม่ใช่รูปธรรมที่เป็นคำตอบชัดเจนนักว่าท้ายที่สุดจะสามารถปรองดองได้แบบไหน

 

หรือว่าสิ่งที่เรียกว่าปรองดองคือความพยายามจะจับคนจากทุกกลุ่มมาร่วมแบบมัดมือชก เหมือนที่แม่น้องเกดรู้สึกว่า “นี่ไม่ใช่การปรองดอง แต่เป็นการบังคับให้ปรองดอง”

 

 

ปีแห่งคนรุ่นใหม่ หัวใจว้าวุ่น

‘คนรุ่นใหม่’ เป็นกลุ่มคนที่พูดถึงกันอยู่ตลอดเวลา ปี 2017 ดูจะหนักหน่วงมากที่สุด ตั้งแต่การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิต นักศึกษา ปัญญาชนคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่ออกมายืนสู้กับอุดมการณ์ของพวกเขา และพบกับชะตากรรมที่ดูไม่แตกต่างกัน เพราะหลายคนมีคดีความติดตัวและยังต้องเผชิญต่อสภาพการถูกสอดส่องที่ดูไม่ใช่วิธีการปกติในยามมีสิทธิเสรีภาพแบบประชาธิปไตย

 

อนาคตของประเทศมักถูกผู้ใหญ่พูดถึงว่า ต้องฝากไว้ที่คนรุ่นใหม่ วาทกรรมฮิตตลอดกาล คือ เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า แต่วิธีปฏิบัติหรือโอกาสของเด็กวันนี้ที่ผู้ใหญ่ปฏิบัติต่อพวกเขา ต้องพิจารณาอย่าถี่ถ้วนว่าได้ส่งต่ออนาคตแบบไหนให้

 

ฉับพลันที่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จากผู้ใหญ่ถูกประกาศเป็นวาระสำคัญของชาติ ซึ่งวางกรอบครอบคลุมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560-2579 ภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีเป้าหมายให้อีก 20 ปีข้างหน้า ไทยต้องหลุดพ้นจากประเทศติดกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ”

 

เสียงวิจารณ์ต่อ ‘ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี’ ก็ดังอื้ออึงไปทั่วทั้งจากนักวิชาการและภาคประชาชน ซึ่งสรุปโดยรวมทุกคนเห็นไปในทางเดียวกันว่า การกำหนดยุทธศาสตร์โดยคนรุ่นนี้ให้กับคนรุ่นหลังไปกว่า 20 ปี จะถูกต้องเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงในปัจจุบันหรือไม่

 

และเสียงไถ่ถามก็เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นความหวังดีอย่างบริสุทธิ์ใจจากผู้ใหญ่ เป็นความฝันของคนแก่ที่อยากเห็นประเทศไทยในอนาคต หรือเป็นเพียงเครื่องมือสืบทอดอำนาจคอยควบคุมจำกัดบทบาทของรัฐบาลในอนาคต

 

 

คนการเมืองที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงนี้มาหลายสิบปีอย่าง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็มองว่า “ไม่ใช่ยุคสมัยที่จะไปคิดให้กับคนในอนาคต เราคือคนของความสำเร็จในอดีต แต่ความสำเร็จในอนาคตมันคือคนรุ่นใหม่ เราไม่ใช่คนของอนาคต แต่เรากำลังเอาคนในอดีตมาคิดให้กับคนในอนาคต แค่เทคโนโลยีเราก็ไม่รู้จักแล้ว และนี่จะเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศเจริญยาก เป็นห่วงจริงๆ ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีอคติเลย”

 

แม้ พล.อ. ประยุทธ์ จะเคยพูดว่า การปฏิรูปประเทศจำเป็นที่จะต้องฟังคนรุ่นใหม่ “เราต้องฟังคนรุ่นใหม่ด้วย โดยช่องทางการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นนั้น จะต้องเปิดกว้างและทั่วถึงทั้งกลไกปกติของภาครัฐ ช่องทางการสื่อสารต่างๆ” แล้วรูปธรรมสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่?

 

พล.ท. คงชีพ เคยให้สัมภาษณ์และมองว่า คนรุ่นใหม่เป็นเหมือนผ้าขาว วันนี้เขาจะต้องไม่ถูกครอบงำทางความคิด เขาต้องมีความคิดเป็นของตัวเอง

 

อนาคตที่วางไว้ 20 ปี เพื่อส่งมอบให้คนรุ่นใหม่ ได้สร้างความว้าวุ่นให้กับพวกเขาแล้ว แต่ถึงอย่างไร ‘อนาคต’ ก็หนีไม่พ้นคนกลุ่มนี้อยู่ดี จึงเป็นเรื่องของ ‘อนาคต’ อีกเหมือนกันว่ามันจะเดินไปได้ไกลหรือหยุดสะดุดที่ระหว่างทางหรือไม่

 

สุดท้ายแล้ว แม้จะดูเหมือน ‘การเมือง’ มีแต่ความบิดเบี้ยวในปีที่ผ่านมา แต่เราทุกคนจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ด้วยตัวเองอีกครั้งว่า เรามองสภาพสังคมในปี 2560 ที่ตัวเองใช้ชีวิตในมิติการเมืองอย่างไร

 

หากยังมีความหวังหรืออยากลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อแก้ไขและทำให้ดีขึ้น ‘ความหวัง’ จะยังมีอยู่ในสังคมนี้เสมอ

 

มันไม่เคยถูกทำให้หายไปสำหรับคนที่มีความเชื่อมั่นและศรัทธา

 

อ้างอิง:

The post การเมืองไทยปี 2017 คือปีแห่ง ‘ความบิดเบี้ยว’? appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/thai-politics-2017-year-of-contortions/feed/ 0