ปืนตำรวจ – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 22 Dec 2017 12:37:32 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ทำไมตำรวจไทยต้องซื้ออาวุธปืนใช้เอง https://thestandard.co/thai-police-guns/ https://thestandard.co/thai-police-guns/#respond Fri, 22 Dec 2017 12:37:32 +0000 https://thestandard.co/?p=57461

ภาพรองเท้านับพันคู่ที่วางเรียงแถวจองคิวจนเต็ม บางคนนอนร […]

The post ทำไมตำรวจไทยต้องซื้ออาวุธปืนใช้เอง appeared first on THE STANDARD.

]]>

ภาพรองเท้านับพันคู่ที่วางเรียงแถวจองคิวจนเต็ม บางคนนอนรออยู่ในแถวรองเท้า บุคคลเหล่านี้คือเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวนที่เดินทางมาที่กองสรรพาวุธ สำนักงานส่งกำลังบำรุง ถนนเศรษฐศิริ เพื่อรอรับอาวุธปืนที่สั่งซื้อจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามโครงการจัดหาอาวุธพกประจำกายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นการจัดหาอาวุธปืนพกสั้น ยี่ห้อซิก ซาวเออร์ พี 320 เอสพี ขนาด 9 มม. จากประเทศสหรัฐอเมริกา จัดทำขึ้นในสมัย พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ข้าราชการตำรวจไว้ใช้ปฏิบัติงานและป้องกันชีวิต-ทรัพย์สินของตนเอง

 

“ปืนกระบอกนี้ราคา 23,890 บาท รวมค่าเดินเอกสารทุกอย่าง ถ้าซื้อราคาตลาดก็ราคารวมเกือบ 90,000 บาท” ตำรวจภูธรนายหนึ่งจากจังหวัดร้อยเอ็ดบอกกับ THE STANDARD

 

โครงการนี้ปิดรับจองเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 สั่งซื้อวันสุดท้าย 30 พฤษภาคม 2558 ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย โดยเมื่อชำระเงินแล้วต้องส่งสำเนาการโอนเงินพร้อมใบสั่งซื้อไปยังบริษัท ฟิกซ์เทค จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนโรงงานซิก ซาวเออร์ ประจำประเทศไทย เพื่อออกใบรับเงินและใบรับปืนให้ผู้สั่งซื้อเก็บไว้เป็นหลักฐาน

 

ขณะที่เมื่อตรวจสอบไปที่หน้าเว็บไซต์ของบริษัท ฟิกซ์เทค จำกัด แจ้งว่ามีการเปิดให้ชำระเงินรอบ 2 ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม ถึง 31 ธันวาคม 2560

 


นายตำรวจจากจังหวัดร้อยเอ็ดท่านเดิมบอกกับเราว่า ภาพการต่อคิวทุลักทุเลเมื่อวานคือตำรวจที่ชำระเงินรอบ 2 แล้วมารอรับปืน แต่สำหรับคนที่ชำระเงินรอบแรกไปเมื่อปี 2558 สามารถไปรับปืนเพื่อนำมาดำเนินการขึ้นทะเบียนซื้ออาวุธปืน (ป.3) ได้ทันทีที่กรมการปกครอง (วังไชยา)

 

นายตำรวจท่านเดิมเล่าให้เราฟังว่า ตนใช้สิทธิ์วันลาของตัวเองเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ดร่วมกับเพื่อนตำรวจอีก 4 คนเพื่อเป็นตัวแทนมารับอาวุธปืนที่สั่งซื้อไว้รวม 35 กระบอก

 

ส่วนตัวรับราชการตำรวจมาตั้งแต่ปี 2533 ด้วยฐานะทางบ้านที่ไม่ดี เพิ่งจะมีปืนพกประจำกายเป็นของตัวเองกระบอกแรกเมื่อปี 2546 เป็นปืนขนาด .38 กู้เงินสหกรณ์ตำรวจมาซื้อ ราคาตอนนั้นอยู่ที่ 40,000 กว่าบาท และปืนกระบอกนั้นคืออาวุธคู่กายมาถึงวันนี้ จนกระทั่งมีโครงการนี้เกิดขึ้นจึงตัดสินใจขอยืมเงินญาติมาซื้อ

 

“เรามันลูกตาสีตาสา เรียนจบติดยศก็ไม่มีเงินซื้อปืนเอง ต้องใช้ปืนหลวง แต่บางคนบ้านเขาพอมีฐานะก็ซื้อปืนใช้เองได้เลย”

 

 

ทำไมต้องซื้อปืนเอง?  เราถาม

 

นายตำรวจจากจังหวัดร้อยเอ็ดอีกท่านตอบแทรกว่า โรงพักก็มีปืนหลวง แต่สภาพเก่าและมีไม่ครบจำนวนตำรวจทั้งโรงพัก ในทางปฏิบัติไม่ค่อยมีใครอยากเบิกปืนหลวงมาใช้ เพราะหากนำของหลวงมาใช้แล้วชำรุดหรือสูญหายจะต้องถูกตั้งกรรมการสอบวินัย ต้องชดใช้ในราคาเต็ม ตำรวจทุกคนจึงอยากมีปืนไว้เป็นของตัวเองเพื่อความมั่นใจในการปฏิบัติงาน และสามารถเก็บไว้ให้ลูกให้หลานหรือนำไปขายในยามจำเป็น

 

นายตำรวจสันติบาล จังหวัดสมุทรปราการ เข้ามาแทรกวงคุยกับเราเสริมถึงเรื่องปืนสวัสดิการซิก ซาวเออร์ ล่าสุดนี้ว่า ข้อเสียของโครงการนี้คือห้ามโอนซื้อขายปืนกระบอกนี้ แต่สามารถเป็นมรดกให้ทายาทกรณีที่เราเสียชีวิตได้เท่านั้น เขาตั้งข้อสังเกตว่าในอนาคต ปืนรุ่นนี้จำนวนหนึ่งอาจกลายสภาพเป็นปืนเถื่อนได้ เนื่องจากห้ามโอนซื้อขาย แต่ในทางปฏิบัติอาจมีนายตำรวจที่ใช้งานไปแล้วไม่ถูกใจ นำไปขายต่อในตลาดมืด เปลี่ยนสภาพจากปืนหลวงไปเป็นปืนเถื่อน เพราะไม่สามารถขายในระบบปกติได้

 


ตำรวจทุกนายไม่จำเป็นต้องมีอาวุธปืน

พันตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้กำกับงานหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หรือหน่วยคอมมานโด บอกกับ THE STANDARD ว่าจริงๆ ปืนหลวงนั้นมีให้เบิกใช้ได้ตามสถานีตำรวจหรือโรงพัก จะมีทั้งปืนยาวและปืนสั้น แต่จะเป็นปืนรุ่นเก่าล้าสมัย เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะซื้อปืนมาใช้เอง

 

ถามว่าจะให้จัดสรรอาวุธปืนครบทุกนายคงไม่พอ เพราะตำรวจมีสองแสนกว่าคน และใช่ว่าตำรวจทุกนายจำเป็นต้องใช้ปืน แต่ยืนยันว่าหลวงมีอาวุธปืนให้เบิกใช้ปฏิบัติหน้าที่ เมื่อเสร็จภารกิจก็นำมาเก็บคืน เหมือนในต่างประเทศก็เบิกอาวุธปืนไปใช้ เมื่อเลิกงานก็มาเก็บคืนเข้าตู้ แต่ก็ยอมรับว่าอาวุธปืนของราชการเป็นรุ่นเก่า ในสมัยที่ตนเองรับราชการใหม่ๆ ก็ไม่เบิกปืนหลวงใช้ เพราะกลัวชำรุดสูญหาย กลัวจะถูกตั้งกรรมการสอบวินัย

 


ส่วนตัวเห็นว่าโครงการจัดหาอาวุธปืนซิก ซาวเออร์ พี 320 เอสพี เป็นโครงการที่ดี เพราะเป็นปืนที่ผ่านมาตรฐานกองทัพสหรัฐฯ ที่ผ่านมาตำรวจต้องหาเงินไปซื้อปืนเองในราคาสูง ดังนั้นตำรวจแต่ละนายก็จะใช้ปืนหลากหลาย ซึ่งผิดหลักการปฏิบัติงาน

 

การปฏิบัติงานของตำรวจจะแบ่งเป็นคู่บัดดี้ ดังนั้นการใช้ปืนยี่ห้อเดียวกัน รุ่นเดียวกัน ข้อดีคือเมื่ออีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บก็สามารถโอนแมกกาซีนให้อีกคนใช้ได้ แต่หากใช้ปืนคนละแบบก็จะยากหากเผชิญเหตุ

 

ผู้การคอมมานโดบอกกับเราว่า อาวุธปืนสำหรับตำรวจสามารถส่งเสริมความมั่นใจในการปฏิบัติงานได้ อย่างไรก็ตาม การมีอาวุธปืนที่ดีควบคู่กับการผ่านการฝึกฝนที่ดีก็สามารถช่วยให้ประชาชนปลอดภัย เวลายิงปะทะจะได้ไม่พลาดไปถูกประชาชน ช่วยรักษาชีวิตตำรวจให้กลับไปหาคนที่รักได้ และช่วยลดการวิสามัญคนร้าย สามารถยิงเพื่อหยุดยั้ง ไม่หมายเอาชีวิต

 

ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องดีไหม แต่จากการสอบถามตำรวจหลายนายก็ดูเต็มใจที่จะจ่าย แต่ก็มีบางคนสะท้อนว่าหากปืนหลวงเป็นปืนรุ่นใหม่ พวกเขาก็เต็มใจที่จะใช้ปืนหลวง “ทุกวันนี้หลายคนเกลียดอาชีพตำรวจ แต่อย่างน้อยอยากให้รู้ว่าพวกเราเสียเงินตัวเองเพื่อซื้ออาวุธไว้ปกป้องพวกท่าน”

The post ทำไมตำรวจไทยต้องซื้ออาวุธปืนใช้เอง appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/thai-police-guns/feed/ 0