บางกอกคณิกา – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 02 Aug 2024 10:11:00 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ‘ละครไทยกำลังจะตาย’ แล้วทำไมสืบสันดานขึ้นอันดับหนึ่งทั่วโลก? https://thestandard.co/thai-dramas-are-dying/ Fri, 02 Aug 2024 10:10:15 +0000 https://thestandard.co/?p=966591 ละครไทยกำลังจะตาย

ข่าวดีใหม่ล่าสุดสำหรับวงการบันเทิงไทยคงหนีไม่พ้นการก้าว […]

The post ‘ละครไทยกำลังจะตาย’ แล้วทำไมสืบสันดานขึ้นอันดับหนึ่งทั่วโลก? appeared first on THE STANDARD.

]]>
ละครไทยกำลังจะตาย

ข่าวดีใหม่ล่าสุดสำหรับวงการบันเทิงไทยคงหนีไม่พ้นการก้าวขึ้นอันดับหนึ่งบนชาร์ต Netflix Global Top 10 หมวดซีรีส์ภาษาต่างประเทศของซีรีส์กลิ่นอายละครไทยเรื่อง สืบสันดาน ในขณะที่ก่อนหน้านั้นเพิ่งเกิดกระแสละครไทยกำลังจะตายเพราะหลายช่องทีวีลดจำนวนการผลิตลง ปรากฏการณ์สวนทางกันของสองประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามมากมายว่าละครไทยใกล้สูญพันธุ์แล้วจริงหรือ? แต่ทำไมซีรีส์และละครไทยหลายๆ เรื่องกลับประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาคแม้กระทั่งระดับโลก? หรือเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านเพื่อหาสูตรลับฉบับคอนเทนต์ไทยๆ กันแน่?

 

สืบสันดาน (Netflix)

 

คนดูละครและซีรีส์ไทยน้อยลงจริงหรือ?

 

ช่วงครึ่งปีแรกมีข่าวร้ายวงการละครไทยออกมาเป็นระลอก ทั้งข่าวช่อง 3 คืนคิวผู้จัด ชะลอการถ่ายทำละครในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ทั้งหมด แถมละครเรื่อง นางนาคพระโขนง ที่โปรโมตไปแล้วก็มีอันต้องเลื่อนออกอากาศ ทางฝั่งช่อง 8 ก็มีข่าวเลิกผลิตละครเพราะรายการประเภทอื่นในช่องมีเรตติ้งดีกว่า ขณะที่ช่อง 7 และช่อง one31 ก็ออกอากาศละครรีรันสลับกับละครใหม่

 

คงต้องยอมรับว่าในระยะหลังละครทีวีไทยเรตติ้งน้อยลง อย่างละครหลังข่าวในช่วงครึ่งปีแรกมีเพียงละคร สงครามสมรส ทำเรตติ้งสูงสุดที่ 7.7 ส่วน ลมเล่นไฟ ที่ครองอันดับหนึ่งละครหลังข่าวเรตติ้งดีที่สุดของช่อง 3 ก็อยู่ที่ 4.4 ฝั่งช่อง 7 ละครฟอร์มใหญ่อย่าง รอยรักรอยบาป เรตติ้งสูงสุดอยู่ที่เลข 3 ซึ่งธุรกิจโทรทัศน์รายได้หลักมาจากการโฆษณา ตัวเลขเท่านี้ก็คงไม่ดึงดูดใจสปอนเซอร์สักเท่าไร ยิ่งผนวกกับมีสื่อใหม่ๆ เข้ามาแชร์ตลาดด้วยก็ยิ่งไปกันใหญ่ ที่สำคัญ ต้นทุนการผลิตละครสูงกว่ารายการทีวีประเภทอื่นๆ เมื่อลงทุนสูงแต่รายได้ต่ำ ก็ทำให้หลายช่องขอถอยมาดูสถานการณ์ดีกว่า

 

คนดูทีวีน้อยลงจริงไหม? น่าจะจริง แต่คนดูละครหรือคอนเทนต์ไทยน้อยลงไหม ก็คงไม่ใช่ เพราะหากรวมตัวเลขคนดูออนไลน์และสตรีมมิงต่างๆ จะพบว่าคนดูอาจจะลดลงจริง แต่ไม่ใช่ไม่ดูเลย อย่างยอด 10 อันดับคอนเทนต์ที่คนดูสูงสุดในไทยของทั้ง Netflix และ Viu ก็มีละครและซีรีส์ไทยอยู่ 5-7 เรื่อง ก็ถือว่าไม่น้อยเลย

 

สงครามสมรส (ช่อง one31) 

 

รอยรักรอยบาป (ช่อง 7HD) 

 

หรือเพราะคนยุคใหม่เสพคอนเทนต์แบบไม่สนใจสัญชาติ?

 

ความบันเทิงก็เหมือนสินค้า เราอยู่ในยุคที่มีสินค้าในตลาดมากมาย ในขณะที่มีเวลา 24 ชั่วโมงเท่าเดิม ก็ย่อมเลือกสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดแบบไม่สนใจว่ามาจากประเทศไหนและดูผ่านสื่ออะไร หลายคนอาจคิดว่าซีรีส์เกาหลีคือความบันเทิงกระแสหลัก แต่เรื่องไหนบทไม่รอดเราก็ไม่ดู ในขณะเดียวกันก็มีคอนเทนต์จากประเทศใหม่มาสร้างปรากฏการณ์ในเมืองไทย เช่น Erkenci Kus ซีรีส์จากตุรกี, Gangubai Kathiawadi และ Maharaj หนังจากอินเดีย, Color of Evil: Red ซีรีส์จากโปแลนด์ และซีรีส์จีนมากมายมหาศาลที่กำลังตีตื้นซีรีส์เกาหลีขึ้นมาติดๆ นั่นหมายความว่าคอนเทนต์ไทยไม่ได้แข่งขันกันเองแต่แข่งขันกับนานาชาติ ดังนั้นเรื่องคุณภาพ ทั้งบท โปรดักชัน และพลังดารา ต้องมาก่อน ส่วนละครใกล้จะสูญพันธุ์คือละครสูตรสำเร็จที่ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ ต่างหาก อย่างไรก็ตาม ละครโทรทัศน์ก็ต้องเจอกับปัญหาคลาสสิกจากข้อจำกัดต่างๆ ของทาง กสทช. ที่ว่าสื่อโทรทัศน์เข้าถึงคนทุกกลุ่มเนื้อหาก็ไม่ควรแรงเกินไป

 

สงครามสมรส (ช่อง one31) 

 

ลมเล่นไฟ (ช่อง 3HD)

 

ละครและซีรีส์ไทยไม่มีอะไรใหม่จริงหรือ?

 

ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ หรือ ปราณประมูล มือเขียนบทละครโทรทัศน์ชื่อดังให้สัมภาษณ์ผ่านสกู๊ปข่าวของไทยพีบีเอสไว้น่าสนใจว่า “ทีวีไทยสู้ประเทศอื่นๆ ไม่ได้ เพราะเราเป็นประเทศด้อยพัฒนา อันนี้พูดจริงๆ นะ อะไรที่วิจารณ์สังคมเยอะก็ทำไม่ได้ เราแตะการเมืองไม่ได้ แตะตำรวจไม่ได้ แตะทหารไม่ได้ ฯลฯ แล้วมันเหลืออะไรให้ทำ ก็ต้องเหลือเรื่องผัวเมียกับแย่งมรดก คนทำทีวีก็พยายามแข่งอยู่แต่ว่าทีวีมันมีกรอบเยอะมาก”

 

เป็นเรื่องจริงที่คนทำทีวีพยายามแข่งขันแบบสุดความสามารถ อย่างที่เราได้เห็นผลงานคุณภาพอย่างละครของไทยพีบีเอสเช่น จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี หรือ บุษบาลุยไฟ ที่เน้นความละเมียดละไม หรือการนำเสนอประเด็นใหม่ๆ อย่างซีรีส์จากช่อง GMM25 เช่น คาธ, Home School และ ด้วยรักและหักหลัง

 

บุษบาลุยไฟ (Thai PBS)

 

บางกอกคณิกา (ช่อง one31) 

 

ด้วยรักและหักหลัง คือตัวอย่างของการผสมแบบละครไทยคือความอิจฉา ริษยา แย่งผู้ชาย มาใส่ความดาร์กและประเด็นสมัยใหม่เข้าไปจนได้อรรถรส ใหม่ เผ็ด แซ่บ แต่ไม่เชย และประสบความสำเร็จในวงกว้างมากกว่าผลงานเรื่องอื่นๆ (ที่ไม่ใช่ซีรีส์วาย) ของช่อง นั่นอาจจะพอบอกได้ว่าแม้คนดูต้องการประเด็นใหม่ๆ แต่ก็ยังติดใจกับกลิ่นอายเก่าๆ ของละครไทยอยู่ดี

 

หรืออย่าง สงครามสมรส ที่ว่าด้วยประเด็นคลาสสิกคือเรื่องผัวเมีย แต่เพราะบทประพันธ์ทำการบ้านมาอย่างดี ผนวกกับการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง ละครเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน อีกตัวอย่างคือผลงานของผู้จัด แอน ทองประสม กับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นการเปลี่ยนชื่อเรื่องและปรับบทให้ทันสมัยทั้งที่เป็นบทประพันธ์เก่าอย่าง แค้น เปลี่ยนจาก พรหมจารีสีดำ หรือ เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ เปลี่ยนจาก สามีเงินผ่อน ก็ทำให้ Mood & Tone ของละครเปลี่ยนได้เหมือนกัน

 

สืบสันดาน (Netflix)

 

ส่วน สืบสันดาน ก็คือการประยุกต์เอาละครไทยด้วยประเด็นแย่งสมบัติแล้วมาใส่ความพรีเมียมเข้าไป ก็ยังคงรสชาติแบบไทยๆ จนไปโดนใจคนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถ้าจากรายชื่อประเทศที่ซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นอันดับ 1 ส่วนใหญ่อยู่ในฝั่งอเมริกาใต้และยุโรปตะวันออกที่ชอบความบันเทิงแนวนี้อยู่แล้ว เมื่อรวมกับประเด็นสากลเรื่องความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งทำให้ไปได้ไกล ซึ่งหากเทียบกับ สาธุ ที่ภาษีดีกว่าเรื่องบท แต่มีบริบทความเป็นไทยมากกว่า ก็เชื่อมโยงกับคนดูในต่างประเทศได้น้อยกว่า

 

เรียนรู้และปรับตัว

 

หลายปีที่ผ่านมาหลายช่องทีวีพยายามปรับตัว อย่างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ช่อง one31 มีโปรเจกต์ oneD ORIGINAL ทำซีรีส์ดึงประเด็นสังคมมาใส่แล้วฉายในเวอร์ชันโทรทัศน์ และ Uncut ผ่านแอปพลิเคชัน ก็ช่วยลดข้อจำกัดหยุมหยิมลงไปได้ ส่วนช่อง 7 เริ่มขยับตัวขายละคร รอยรักรอยบาป ให้ Netflix ถึงมาช้าแต่ก็มานะ

 

พรชีวัน (ช่อง 3HD)

 

ด้านช่อง 3 ก็เริ่มมองหาแหล่งรายได้อื่นๆ โดยอาศัยจุดแข็งคือพลังดาราของช่องจัดงานอีเวนต์ต่างๆ อย่างเร็วๆ นี้ก็จะได้เห็น DHEVAPROM FAN CON AFTER PARTY จากความสำเร็จของละครชุดดวงใจเทวพรหม และทำ Merchandise มาขายแฟนๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขายคอนเทนต์ให้กับบริการสตรีมมิงทั้งแบบขายพร้อมออกอากาศ หรือทำคอนเทนต์ออริจินัลให้แพลตฟอร์มไปเลย เช่น ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ ที่สตรีมผ่าน Prime Video ก่อนออกอากาศในช่อง ซึ่งช่องเล็กๆ อย่าง GMM25 และ MONO29 เริ่มทำมาก่อนแล้ว หากประเมินจากความเคลื่อนไหวของหลายๆ ช่อง ในอนาคตอันใกล้ คอนเทนต์ละครไทยไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่อยู่ในทีวี แต่จะแลนดิ้งครั้งแรกผ่านสื่อไหนก็ได้ และเนื้อหาอาจทันสมัยและโดนใจกว่าปัจจุบัน กลายเป็นทางรอดไม่ให้สูญพันธุ์ไปได้

 

อ้างอิง:

The post ‘ละครไทยกำลังจะตาย’ แล้วทำไมสืบสันดานขึ้นอันดับหนึ่งทั่วโลก? appeared first on THE STANDARD.

]]>
บางกอกคณิกา โลกแฟนซีของโสเภณียุค ร.5 https://thestandard.co/bangkok-blossom/ Thu, 16 May 2024 10:53:54 +0000 https://thestandard.co/?p=934302 บางกอกคณิกา

ยิ่งใหญ่และสวยงามสมการรอคอยสำหรับ บางกอกคณิกา ซีรีส์เปิ […]

The post บางกอกคณิกา โลกแฟนซีของโสเภณียุค ร.5 appeared first on THE STANDARD.

]]>
บางกอกคณิกา

ยิ่งใหญ่และสวยงามสมการรอคอยสำหรับ บางกอกคณิกา ซีรีส์เปิดตัวโปรเจกต์ oneD ORIGINAL ซึ่งกำลังจะมีซีรีส์อีก 4 เรื่องที่หยิบยกประเด็นแปลกใหม่ที่ไม่ค่อยเห็นผ่านหน้าจอทีวีขึ้นมาเล่าอย่างน่าสนใจ และหลังจากออกอากาศมา 4 ตอนก็ไม่แปลกใจว่าทำไม บางกอกคณิกา จึงทำหน้าที่คิกออฟโปรเจกต์นี้ เพราะนี่คือซีรีส์ที่รวบรวมความเป็นช่อง one31 เอาไว้เกือบทั้งหมด

 

 

ความน่าสนใจของ บางกอกคณิกา คือการย้อนไปเล่าเรื่องของโสเภณีหรือที่เรียกกันติดปากว่ากะหรี่ ในยุคที่การขายบริการทางเพศยังถูกกฎหมายและต้องเสียภาษีเหมือนอาชีพอื่นๆ แต่แทบไม่ได้รับสิทธิ์ใดๆ แม้แต่การเป็นพยานในคดีต่างๆ โดยเล่าเรื่องราวใน ‘หอบุปผชาติ’ ซ่องโสเภณีชื่อดังในย่านสำเพ็งของ ราตรี (อ้อม-พิยดา จุฑารัตนกุล) ที่มี กุหลาบ (อิงฟ้า วราหะ) กะหรี่ค่าตัวแพงที่มีความฝันอยากเดินทางรอบโลกสังกัดอยู่ ที่นี่ยังมี โบตั๋น (ก้อย-อรัชพร โภคินภากร) กะหรี่ที่ฝันอยากมีความรักเหมือนผู้หญิงทั่วไป และ เทียนหยด (ชาร์เลท-วาศิตา แฮเมเนา) กะหรี่ฝึกหัดที่ฝันอยากเป็นหมอ

 

ทั้งสามคนวางแผนที่จะเก็บเงินไถ่ตัวเพื่อเดินตามความฝันของตัวเอง โดยมีเส้นตายคือการประมูลพรหมจรรย์ของเทียนหยด ด้วยการจัดแสดงโชว์แบบโสเภณีฝรั่ง แต่ก็ต้องผ่านอุปสรรคมากมายที่ถือว่าเป็นฝีมือของราตรี หากแต่ผู้ที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดคือ พระยาจรัล (นก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช) ซึ่งกุมความลับของราตรีเอาไว้ และใช้ให้เธอเป็นหุ่นเชิดหาผลประโยชน์จากเหล่าโสเภณีในซ่อง เรื่องราวดำเนินไปผ่านการต่อสู้ในแบบเพื่อนหญิงพลังหญิงพร้อมๆ กับความลับของราตรีที่กำลังจะถูกเปิดเผย

 

บางกอกคณิกา

 

การเลือกหยิบยกประเด็นโสเภณีขึ้นมาพูดถึงเรียกได้ว่าเหมาะเจาะในยุคที่มีการถกเถียงกันถึงสิทธิ์ของ Sex Worker และเริ่มมีการเคลื่อนไหวให้ธุรกิจนี้กลับมาถูกกฎหมายเสียที เพราะเอาเข้าจริงๆ การค้าบริการทางเพศเพิ่งผิดกฎหมายในยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ. 2502-2506) นี่เอง ซึ่งก่อนหน้านั้นกิจการนี้เฟื่องฟูถึงขนาดมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานนี้ด้วย สานต่อจินตนาการจนกลายเป็นภาพสุดอลังการ

 

เปิดฉากด้วยการปูพื้นชีวิตของตัวละครทั้งตัวกุหลาบที่ดูจะมีระดับกว่าคนอื่นๆ จนเหมือนได้แรงบันดาลใจจากโออิรัน (โสเภณีชั้นสูงของญี่ปุ่นที่ขายทั้งศิลปะความบันเทิงและขายบริการ ต่างจากเกอิชาที่ขายศิลปะอย่างเดียว) โบตั๋น กะหรี่ตัวท็อปแต่ก็ต้องกลายเป็นสนามอารมณ์ให้กับคนวิปริตอย่าง ขุนณรงค์ (ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และเทียนหยด เด็กสาวใฝ่รู้ที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ทั้งหมดสะท้อนภาพปัญหาของโสเภณีในยุคนั้นที่ต้องการการยอมรับ ความรัก และโอกาสแตกต่างกันออกไป แต่ดูเหมือนว่าผู้สร้างก็ไม่ได้อยากให้เนื้อหามีแต่ความรันทดหดหู่ด้วยการใส่ความฝันของเด็กสาวเข้าไปในตัวละคร และโยนความเจ็บปวดทั้งหมดไปที่บทของราตรี

 

บางกอกคณิกา

 

ชื่อของราตรีมีนัยสำคัญทั้งในแง่ของการเป็นดอกไม้ที่เบ่งบานและส่งกลิ่นหอมในเวลากลางคืน ขณะเดียวกันก็สะท้อนชีวิตหม่นเศร้า สิ้นหวังเหมือนจะไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวันของตัวละคร ด้วยถูกกดขี่ข่มเหงจากพระยาจรัล ขุนนางชั้นสูงที่ไม่สามารถเป็นเจ้าภาษีนายอากรธุรกิจโสเภณีได้อีกต่อไป เพราะภาษีโสเภณีถูกส่งตรงเข้าไปที่รัฐเท่านั้น สะท้อนช่องโหว่ทางกฎหมายและชะตากรรมของโสเภณีที่แม้จะเริ่มมีสิทธิ์มีเสียงอยู่บ้างแต่ก็ต้องเจอความฉ้อฉลของคนโดยหยิบจุดอ่อนที่อาชีพโสเภณีแม้จะถูกกฎหมายแต่ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมอยู่ดี

 

นอกจากเนื้อหาแนวดราม่า จุดเด่นอีกอย่างที่ต้องชื่นชมคืองานด้านโปรดักชันทั้งฉาก แสง หรือการกำกับศิลป์ ซึ่งแตกต่างจากโปรดักชันละครที่ผ่านๆ มา ส่วนความยาวที่มีเพียงแค่ 8 ตอนก็ทำให้เนื้อหากระชับขึ้นโดยที่ไม่ได้รู้สึกว่ามีรายละเอียดเรื่องใดตกหล่นไป อย่างไรก็ดี ซีรีส์เรื่องนี้ได้รวบรวมงานถนัดของ One Enterprise เอาไว้เกือบทั้งหมด ทั้งเนื้อหาดราม่า การเล่าเรื่องในรูปแบบกึ่งมิวสิคัลและฉากต่างๆ จนบางตอนเหมือนได้ดูละครเวทีของ Scenario ที่เมืองไทยรัชดาลัย

 

 

ทางด้านการแสดงก็ต้องบอกว่าเซอร์ไพรส์กับฝีมือของ อิงฟ้า วราหะ ที่แม้จะแสดงแบบจริงจังเป็นเรื่องแรกก็ทำออกมาได้ดีมาก รวมทั้งในพาร์ตการเต้นและการร้องเพลงจนเหมือนพยุงส่วนนี้เอาไว้คนเดียวทั้งเรื่อง จนเรียกได้ว่าเธอเป็นมากกว่านักแสดง แต่เป็นเอ็นเตอร์เทนเนอร์คนใหม่ของวงการเลยทีเดียว ส่วนอีกบทที่เด่นไม่แพ้กันคือบทราตรีของ อ้อม พิยดา ก็ทำออกมาได้ดีทั้งการสวมบุคลิกปากร้ายใจดีแบบแม่เล้า ส่วนในพาร์ตดราม่าก็ถือว่าทำถึง

 

แต่จุดอ่อนก็คืองานด้านเสียงที่บางครั้งเสียงดนตรีประกอบดังกว่าเสียงพูดของตัวละคร และดนตรีประกอบบางจังหวะก็ใช้เสียงลีดกีตาร์เข้าไปซึ่งไม่เข้ากับเนื้อเรื่องเอาเสียเลย ในส่วนของเพลงสมัยใหม่ที่ใช้ในเรื่องนั้นพอเข้าใจได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ใส่ความแฟนตาซีเพื่อเพิ่มอรรถรส นอกจากนี้การใช้เสียงของนักแสดงในซีนอารมณ์หลายๆ ฉากก็ยังควบคุมไม่ได้จนฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง

 

บางกอกคณิกา

 

และอีกหนึ่งจุดบอดใหญ่ๆ คือการเซ็นเซอร์คำว่ากะหรี่ ทั้งๆ ที่เนื้อหาว่าด้วยการเรียกร้องสิทธิ์ของกะหรี่ ซึ่งในยุคนี้ทางผู้จัดค่อนข้างอิสระโดยมีหน่วยงานรัฐควบคุมแบบหลวมๆ แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับการกำหนดเรตของละครที่ต้องการให้อยู่ในช่วง ‘น 13’ คือรายการที่เหมาะกับผู้ชมที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป เพื่อให้ได้ออกอากาศช่วง 20.30 น. แม้จะมีเวอร์ชัน Uncut ให้ได้ดูกันผ่านแอปพลิเคชัน oneD แต่ก็รู้สึกขัดใจอยู่ดี เพราะเหมือนกะหรี่ก็ยังคงไร้ตัวตนแม้จะห่างจากเนื้อหาในเรื่องมา 100 กว่าปีแล้วก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม หากตัดจุดขัดใจเล็กๆ น้อยๆ ออกไป บางกอกคณิกา ก็ถือว่าเปิดตัวได้สมศักดิ์ศรีโปรเจกต์ oneD ORIGINAL จนอยากดูซีรีส์เรื่องต่อๆ ไปในโปรเจกต์นี้เร็วๆ

 

อ้างอิง: 

The post บางกอกคณิกา โลกแฟนซีของโสเภณียุค ร.5 appeared first on THE STANDARD.

]]>