บมจ.ทิปโก้ฟูดส์ (TIPCO) – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Sat, 28 Sep 2024 08:42:51 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 วิธีบริหารความเสี่ยงรับมือภัยธรรมชาติจาก ‘3 ซีอีโอ’ ที่มีห่วงโซ่ธุรกิจการเกษตร https://thestandard.co/ceo-insights-managing-agricultural-disaster-risks/ Sat, 28 Sep 2024 08:42:51 +0000 https://thestandard.co/?p=989136 น้ำท่วม

ปีนี้ ภัยธรรมชาติ เหมือนจะหนักหน่วงกับโลกนี้ เพราะเจอเอ […]

The post วิธีบริหารความเสี่ยงรับมือภัยธรรมชาติจาก ‘3 ซีอีโอ’ ที่มีห่วงโซ่ธุรกิจการเกษตร appeared first on THE STANDARD.

]]>
น้ำท่วม

ปีนี้ ภัยธรรมชาติ เหมือนจะหนักหน่วงกับโลกนี้ เพราะเจอเอลนีโญลากยาวตั้งแต่ปลายปีจนเกิดภาวะแล้งหนักในหลายพื้นที่ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรออกมาน้อยลง พอเข้าช่วงกลางปีเจอลานีญาที่ทำให้ฝนตกชุก มาผนวกกับฤดูมรสุมและพายุตามฤดูกาลที่จำนวนไม่เพิ่มขึ้นจากแต่ก่อน ทว่าการเคลื่อนไหวของพายุกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา จนหลายพื้นที่ทั่วโลกเกิดน้ำท่วมฉับพลันชนิดที่ผสมกับดินโคลน ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พื้นที่ทางการเกษตรและมูลค่าทางเศรษฐกิจเสียหายอย่างต่อเนื่อง

 

วิจัยกรุงศรีเชื่อ น้ำท่วมปีนี้ไม่เสียหายเท่าปี 2554 ที่ 1.44 ล้านล้านบาท

 

ชัยวัช โซวเจริญสุข นักวิเคราะห์อาวุโส วิจัยกรุงศรี ระบุว่า ปกติระดับความเสียหายจากอุทกภัยต่อเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับ 3 กรณี คือ

 

  1. ปริมาณน้ำฝนและการบริหารจัดการน้ำ
  2. พื้นที่ที่เกิดอุทกภัย และ
  3. ตำแหน่งที่ตั้งหน่วยเศรษฐกิจ (ครัวเรือน โรงงาน พื้นที่เกษตร)

 

ดังนั้นหากพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยอยู่ในบริเวณที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูง เช่น เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม แหล่งพื้นที่เกษตรที่สำคัญ หรือเส้นทางคมนาคมสำคัญที่ได้รับความเสียหาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อเนื่องไปยังห่วงโซ่อุปทานการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งทำให้ความเสียหายต่อเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น

 

โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะไม่รุนแรงและไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากเท่ากับมหาอุทกภัยในปี 2554 ที่ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายไว้สูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท เนื่องจากคาดว่าปี 2567 จะมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า และมีพื้นที่รองรับน้ำมากกว่า ทั้งเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลาง นอกจากนี้ ความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐที่ก้าวหน้าขึ้น เช่น ระบบเตือนภัย, การซ่อมบำรุง, งบประมาณสนับสนุน ประกอบกับการพัฒนาระบบป้องกันของภาคเอกชนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรม ยังช่วยลดทอนผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

3 ซีอีโอที่มีห่วงโซ่ธุรกิจสินค้าเกษตรยัน รับมือความเสี่ยงภัยพิบัติได้

 

ชวนดูแนวคิดและวิธีการวางแผนเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจาก ภัยธรรมชาติ ของ 3 บริษัทมหาชนที่มีห่วงโซ่ธุรกิจเกี่ยวข้องกับการเกษตรโดยตรง เพราะเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ว่าได้รับผลกระทบจาก ภัยธรรมชาติ ในปีนี้หรือไม่ มีวิธีการตั้งรับกับความเสี่ยงของสภาพภูมิอากาศที่มีความผันผวนมากขึ้นอย่างไร หรือเคยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติแล้วนำมาปรับแก้ไขในการดำเนินธุรกิจอย่างไรกันบ้าง

 

XO เผย น้ำท่วมยังไม่กระทบ เพราะตั้งรับภัยธรรมชาติล่วงหน้า

 

วาสนา จันทรัช กรรมการผู้จัดการ (ร่วม) บมจ.เอ็กโซติค ฟู้ด (XO) ผู้ผลิตและส่งออกซอสปรุงรส น้ำจิ้ม และเครื่องประกอบอาหาร มากกว่า 60 ประเทศ โดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศครั้งล่าสุดที่เกิดในประเทศไทยปี 2567 ยังไม่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับบริษัท ซึ่งปกติวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งน้ำตาลและพริก บริษัทจะใช้ภายในประเทศทั้งหมด โดยเฉพาะแหล่งที่ปลูกจากภาคเหนือ ไม่ใช่แค่จังหวัดสุโขทัยหรือพิษณุโลกเท่านั้น แต่บริษัทได้กระจายความเสี่ยงซื้อพริกหลายแห่งในโซนภาคเหนือ เนื่องจากมีสภาพอากาศและภูมิประเทศเหมาะสมกับการปลูกพริก ที่สำคัญสถานการณ์น้ำท่วมส่วนใหญ่เกิดในฤดูฝน ซึ่งยังไม่ถึงเวลาที่ชาวไร่เริ่มเพาะปลูกพริก ที่ปกติจะเริ่มปลูกในฤดูหนาวเป็นหลัก แม้ตอนนี้จะมีชาวสวนที่ปลูกพริกให้บริษัทบางส่วนเจอน้ำท่วมแต่ไม่มีผลกับบริษัทแต่อย่างใด และมีทีมลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ส่งข้าวสาร อาหารแห้ง และเครื่องมือทำความสะอาดหลังน้ำลด

 

“บริษัทเคยได้รับผลกระทบในช่วงโควิด ที่ทำให้การผลิตและการขนส่งระหว่างประเทศหยุดชะงักชั่วคราว ซึ่งส่งผลกระทบต่อแพ็กเกจจิ้ง แต่ก็สามารถหาซัพพลายเออร์สำรองในประเทศได้ ทำให้มีการเตรียมเรื่องนี้เพิ่มอย่างครอบคลุม พร้อมกับมีการประเมินและคาดการณ์สต็อกวัตถุดิบอย่างพริกไว้เพียงพอต่อการผลิต ซึ่งจากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันยังไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด”

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทนำเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมาเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่บริษัทคำนึงถึงในการทำ ERM (Enterprise Risk Management) และมีมาตรการกระจายความเสี่ยงไม่ใช่แค่ในวัตถุดิบหลัก แต่ครอบคลุมไปถึงเรื่องแพ็กเกจจิ้ง ทำเลที่ตั้งโรงงานที่ต้องคำนึงถึงภัยธรรมชาติ และอื่นๆ ซึ่งจะมีการอัปเดตความคืบหน้าทุกไตรมาสเพื่อลดโอกาสเกิดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

“ที่ผ่านมาบริษัทได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ของโรงงานและการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะมีการย้ายโรงงานพร้อมขยายไลน์การผลิตพริกดองจากจังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีพื้นที่ผังเมืองเป็นสีเขียว ไม่เหมาะสมในการสร้างโรงงานที่มีกำลังการผลิตมาก มาตั้งโรงงานใหม่ที่จังหวัดพิษณุโลก พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการผลิตมากขึ้น จนสามารถผลิตและเก็บเป็นสต็อกพริกได้ในปริมาณมากเกินกว่าที่บริษัทต้องใช้งาน โดยในการเลือกที่ตั้งโรงงานของบริษัททุกแห่งจะคำนึงถึงเรื่องภัยธรรมชาติ เลือกทำเลที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเสมอ ซึ่งโรงงานที่จังหวัดพิษณุโลกนั้นมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 50 เมตร และตั้งอยู่บนทางเชื่อมถนนหลวงสายหลักที่น้ำไม่ท่วมในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554”

 

‘โอ้กะจู๋’ กรณีแย่สุดหากน้ำท่วมพร้อมขนส่งทางเครื่องบินเพื่อไม่ให้ธุรกิจสะดุด

 

ชลากร เอกชัยพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปลูกผักเพราะรักแม่ (OKJ) ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการและจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ร้านโอ้กะจู๋ เปิดเผยว่า กรณีน้ำท่วมและมีโคลนไหลหลากที่เกิดขึ้นในจังหวัดภาคเหนือตอนนี้ยังไม่กระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด แม้ครัวกลางและฟาร์มเพาะปลูกผักทั้งหมด 5 แห่ง จำนวน 380 ไร่ จะตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากในพื้นที่ตั้งของฟาร์มมีการวางระบบเพื่อบริหารจัดการพื้นที่และบริหารจัดการน้ำ โดยมีพื้นที่รับน้ำไว้ในระดับหนึ่ง ซึ่งลักษณะการมาของน้ำรอบนี้จะมาไวไปไว น่าจะเพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ ประกอบกับบริษัทได้นำนวัตกรรมมาใช้ในการเพาะปลูกผักที่สามารถควบคุมความชื้นให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะต่อการเติบโตของผัก ซึ่งสามารถปรับวิธีการนี้กับแปลงผักโดยรวมได้ประมาณ 30% และคาดว่าจะสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 70% ได้ภายในปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าความแปรปรวนของอากาศที่เกิดขึ้นเป็นความเสี่ยงในระยะยาว เพราะทำให้ฤดูกาลมีความผันผวนไปจากเดิม แต่ก็พยายามควบคุมและจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และวิธีการเพาะปลูกผักในแปลงมากขึ้น หรือในกรณีที่ผักบางชนิดไม่สามารถเพาะปลูกได้ ไม่ว่าจะด้วยสภาพอากาศหรือโรคต่างๆ จากที่มีระบบติดตามการเติบโตของผักอย่างใกล้ชิดที่ฟาร์มจะสามารถปลูกผักอื่นทดแทนชนิดที่ขาดได้ภายใน 7-10 วัน โดยไม่ทำให้รสสัมผัสในรสชาติเมนูอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไป

 

“เมื่อปี 2554 ที่มีกรณีน้ำท่วมใหญ่กินพื้นที่หลายจังหวัด ตอนนั้นโอ้กะจู๋ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการขนส่งแต่อย่างใด เนื่องจากยังปลูกผักและทำธุรกิจแต่โซนจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น แต่ก็ยังเชื่อว่าสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในตอนนี้บริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ตราบใดที่รถขนส่งขนาดใหญ่ยังสามารถวิ่งขนส่งสินค้าจากครัวกลางเชียงใหม่สามารถกระจายสู่ลูกค้าร้านโอ้กะจู๋มาพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้อยู่ แต่ก็มองแผนสำหรับกรณีเลวร้ายที่สุดว่า ถ้าน้ำท่วมจนมีผลต่อระบบการขนส่งจริง ก็ต้องเลือกบริการขนส่งทางเครื่องบินแทนเพื่อไม่ให้การดำเนินธุรกิจต้องสะดุดหรือชะงัก เพราะพืชผักแบบอินทรีย์รสชาติดีต้องปลูกที่เชียงใหม่จริงๆ ส่วนครัวกลางที่ตั้งใหม่จากเงินที่เสนอขายหุ้นไอพีโอเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะทำเพื่อมารองรับกับ 2 ธุรกิจที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ คือธุรกิจอาหารจานด่วน Ohkajhu Wrap & Roll และธุรกิจร้านน้ำผักผลไม้เพื่อสุขภาพ Oh! Juice”

 

‘โรแยล พลัส’ ชี้ อากาศยิ่งรวน เกษตรกรมีแต่ปลูกมะพร้าวเพิ่ม

 

พลแสง แซ่เบ๊ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการ บมจ.โรแยล พลัส (PLUS) ผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำมะพร้าว น้ำนมมะพร้าว และน้ำผลไม้ผสมอื่นๆ ส่งออกต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นตลาดสหรัฐฯ และจีนอย่างละเกือบ 40% ของรายได้ เปิดเผยว่า ปกติบริษัทจะใช้วัตถุดิบประเภทมะพร้าวแกงเป็นหลักมากกว่า 90% ที่เหลือเป็นมะพร้าวน้ำหอม โดยรับมาจากหลายจังหวัด ตั้งแต่สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, นครปฐม และจังหวัดทางภาคใต้

 

แม้ปีนี้สภาพอากาศจะมีความแปรปรวนสูง ทั้งการเกิดเอลนีโญที่ถือเป็นช่วงเวลาปกติของฤดูแล้งในเดือนเมษายนและพฤษภาคม มะพร้าวจะมีปริมาณที่น้อยลงเหมือนทุกปี แต่ยังไม่ถึงกับขาดแคลนวัตถุดิบ โดยราคาเฉลี่ยของมะพร้าวแห้งแบบคละปีนี้อยู่ที่ 6.7 บาทต่อลูก, ปี 2566 อยู่ที่ 6.92 บาทต่อลูก และปี 2565 อยู่ที่ 8.05 บาทต่อลูก แต่ตอนนี้ปริมาณมะพร้าวมีออกมาเป็นจำนวนมาก

 

“ตั้งแต่ทำธุรกิจมะพร้าวมา ปี 2554 เจอรับน้องจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ต้องหยุดผลิต 1 เดือน แต่หลังจากนั้น 13 ปีที่ผ่านมายังไม่เคยมีปีไหนที่ขาดแคลนมะพร้าวแม้จะเกิดภาวะแล้งหรือฝนตกหนัก อาจเป็นเพราะบริษัทมีพันธมิตรที่ดีจากคู่ค้าที่จำหน่ายมะพร้าวให้ เพราะสามารถรับผลผลิตทุกส่วนที่เขาจำหน่าย ทั้งน้ำ, เนื้อ และเปลือก โดยไม่ต้องแยกขายไปตามที่ต่างๆ ทำให้ผู้จำหน่ายผลมะพร้าวมีต้นทุนการดำเนินงานไม่สูงในการกระจายส่งหลายแห่ง จึงทำให้ซัพพลายเออร์มากกว่า 10 ราย พร้อมส่งและเลือกเป็นคู่ค้าขายกับเรา”

 

นอกจากนั้นบริษัทจะมีการประเมินและประชุมกับลูกค้าเพื่อประมาณการณ์ความต้องการมะพร้าวแบบรายปี พร้อมมีการประเมินและอัปเดตคำสั่งซื้อกับผู้จำหน่ายวัตถุดิบทั้งรอบรายเดือนและรายสัปดาห์ก่อนที่จะนำส่งให้บริษัทอยู่เสมอ เพื่อให้ปริมาณคำสั่งซื้อมะพร้าวสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับความต้องการตามปริมาณของลูกค้าที่ต้องการผลิต

 

สำหรับสถานที่ตั้งของโรงงานและสำนักงานใหญ่แม้จะตั้งอยู่ในแถวถนนพระราม 2 หรืออัมพวา แต่บริษัทอยู่ฝั่งที่ติดกับทางออกสู่ทะเล ดังนั้นถ้าเกิดกรณีเลวร้ายสุดเหมือนน้ำท่วมเมื่อปี 2554 เชื่อว่าหากปริมาณน้ำมามากก็จะไม่มีการท่วมขัง แต่อาจเป็นทางผ่านน้ำที่จะระบายสู่ทะเลได้เร็ว

 

อย่างไรก็ดี กลับมองว่าความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่มีความเข้มข้นขึ้นอาจจะส่งผลดีต่อธุรกิจ PLUS เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณจากเกษตรกรในหลายจังหวัดหันมาปลูกมะพร้าวเพิ่มมากขึ้น เพราะถือเป็นพืชที่ทนแล้งและน้ำฝน ไม่ล้มหายตายจากไปได้ง่ายเหมือนพืชล้มลุกทั่วไป จึงมองว่าน่าจะเป็นปัจจัยบวกที่เข้ามาสนับสนุนให้บริษัทมีความมั่นคงในวัตถุดิบเรื่องมะพร้าวที่สามารถจะรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มบริโภคมะพร้าวต่อเนื่อง

 

‘ทิปโก้’ เลิกธุรกิจสับปะรดกระป๋อง

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกบริษัทที่อยู่กลุ่มเกษตรจะรับมือกับวิกฤตนี้ได้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา บมจ.ทิปโก้ฟูดส์ (TIPCO) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บอร์ดมีมติให้หยุดการดำเนินงานในธุรกิจการผลิตและจำหน่ายสับปะรดกระป๋องของบริษัท ทิปโก้ ไพน์แอปเปิ้ล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย นับตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 โดยมีสาเหตุหลักเนื่องจากผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง รวมทั้งสภาวะความผันผวนของปริมาณและราคาของวัตถุดิบสำคัญอย่างผลสับปะรดสดตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยธุรกิจนี้คิดเป็นประมาณ 22% ของรายได้รวม

 

จะเห็นได้ว่าแม้ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ใครหรือธุรกิจใดก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่การรู้จักประเมินและมีวิธีบริหารจัดการความเสี่ยงไว้ก่อนก็น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ธุรกิจไม่สะดุดหกล้มระหว่างทางการเติบโตที่ยั่งยืนได้

 

อ้างอิง:

The post วิธีบริหารความเสี่ยงรับมือภัยธรรมชาติจาก ‘3 ซีอีโอ’ ที่มีห่วงโซ่ธุรกิจการเกษตร appeared first on THE STANDARD.

]]>