นิยายออนไลน์ – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 21 Jun 2018 07:51:52 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 เบื้องหลังเว็บนกฮูก อ่านเอา www.anowl.co เกาะกลางมหาสมุทรคอนเทนต์ที่ไม่ได้มีให้อ่านแค่เพียงนิยายออนไลน์ https://thestandard.co/anowl/ https://thestandard.co/anowl/#respond Thu, 05 Apr 2018 13:56:13 +0000 https://thestandard.co/?p=82615

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์อ่านนิยายออนไล […]

The post เบื้องหลังเว็บนกฮูก อ่านเอา www.anowl.co เกาะกลางมหาสมุทรคอนเทนต์ที่ไม่ได้มีให้อ่านแค่เพียงนิยายออนไลน์ appeared first on THE STANDARD.

]]>

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เว็บไซต์อ่านนิยายออนไลน์แห่งใหม่ล่าสุดเพิ่งถือกำเนิดขึ้น โดยได้รับการตอบรับจากบรรดานักอ่านอย่างล้นหลาม ชนิดที่ว่าทันทีที่เปิดให้เข้าไปอ่านนิยายกันได้เพียงแค่ 15 นาทีแรกก็มีผู้แวะเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์หลายพันคนจนโฮสต์ของเว็บรองรับไม่ไหว ทำให้ระบบล่ม เว็บไซต์ดังกล่าวมีชื่อว่า ‘อ่านเอา’ หรือ www.anowl.co ซึ่งมีมาสคอตโลโก้เป็นตัวนกฮูก

 

ก่อนจะเริ่มเล่าต่อ ขออนุญาตออกตัวก่อนว่า ตัวผู้เขียนเองนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บดังกล่าวอยู่ จึงค่อนข้างที่จะลังเลใจในการที่จะเป็นผู้นำเสนอเรื่องราวนี้ด้วยตัวเอง หากด้วยความกรุณาของบรรณาธิการบริหารของ THE STANDARD ที่มองเห็นถึงความน่าสนใจของเว็บไซต์อ่านเอา และเปิดไฟเขียวให้ จึงได้มีโอกาสมาเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องราวเบื้องหลังของเว็บนิยายออนไลน์แห่งนี้

 

จุดเริ่มต้นของ ‘อ่านเอา’ เกาะกลางทะเลท่ามกลางมหาสมุทรแห่งคอนเทนต์  

เช้าวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน ช่วงปลายปีที่แล้ว ผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะกับนักเขียนนวนิยายกลุ่มหนึ่งโดยบังเอิญ นักเขียนทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ปิยะพร ศักดิ์เกษม, กิ่งฉัตร และพงศกร ซึ่งใครที่เป็นคอนวนิยายไทยต่างก็ทราบดีว่านักเขียนทั้ง 3 นั้นเป็น ‘รุ่นใหญ่’ ในวงการที่มีผลงานต่อเนื่องมาหลายสิบปี และผลงานของทุกท่านก็ได้รับการต่อยอดนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  

 

กิ่งฉัตร, ปิยะพร ศักดิ์เกษม และพงศกร

 

เนื้อหาในการสนทนาอย่างย่นย่อที่สุดในวันนั้นอยู่ที่ว่า เมื่อนิตยสารเริ่มปิดตัวลงไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้นักเขียนนวนิยายไทยมืออาชีพที่เคยมีผลงาน อย่างต่อเนื่องนั้นมีพื้นที่ในการแสดงผลงานน้อยลง และแม้ว่าจะมีแพลตฟอร์มการอ่านใหม่ๆ เกิดขึ้นให้นักเขียนได้นำผลงานไปลงกันได้โดยอิสระ และมีความหลากหลาย ซึ่งนั่นก็ถือเป็นข้อดีไม่น้อยประการหนึ่งที่โลกยุคปัจจุบันมอบให้ แต่เนื่องจากแพลตฟอร์มการอ่านนิยายออนไลน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีนิยายอยู่เป็นจำนวนมาก และปริมาณคอนเทนต์ที่มหาศาล นั่นก็เป็นเรื่องลำบากสำหรับนักเขียนนิยายในแนวนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่ง พี่เอียด-ปิยะพร ศักดิ์เกษม ได้กล่าวอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า

 

“เมื่อการอ่านเปลี่ยนแพลตฟอร์มย้ายเข้าสู่ดิจิทัล มันเหมือนกับเราตกลงไปในทะเล ซึ่งมีคอนเทนต์อยู่มากมายมหาศาล จนกระทั่งถ้าเราเอางานเราใส่ลงไปในมหาสมุทรอินเทอร์เน็ต ก็อาจจะจมและหายไป โดยที่ไม่มีใครมองเห็น ดังนั้น หากไม่มีที่ทางที่เป็นหลักเป็นแหล่งให้กับมัน นักอ่านที่เขาเคยติดตามผลงานของเราก็จะหาเราไม่เจอ อย่างสมัยก่อนถ้าคนอยากอ่านงานของพวกเราก็ไปอ่านที่ สกุลไทย, ขวัญเรือน, ดิฉัน ฯลฯ ก็จะต้องเจอแน่ๆ แต่สมัยนี้กลายเป็นว่าหากันไม่เจอ มันเหมือนสายสัมพันธ์ของเราสะบั้นลงทีละเส้น ทีละสาย”

 

อย่างไม่ทันตั้งตัว รู้ตัวอีกทีผู้เขียนก็ได้กลายเป็นหนึ่งในทีมทำงานของเว็บไซต์นวนิยายออนไลน์แห่งใหม่ที่ ‘พวกเรา’ ตกลงใจว่าจะร่วมกันทำให้เกิดขึ้นมาเป็น ‘เกาะ’ กลางมหาสมุทรแห่งคอนเทนต์ อันจะเป็นที่นัดพบกันระหว่างนักเขียนและนักอ่านที่มีรสนิยมคล้ายๆ กัน ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน เว็บไซต์อ่านนิยายออนไลน์อ่านเอาก็เปิดตัวขึ้นในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา โดยได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า วันแรกที่เปิดให้ผู้อ่านได้เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์นั้น มีผู้เข้ามาใช้บริการอย่างหนาแน่นจนทำให้เว็บล่มเลยทีเดียว นับเป็นการตอบรับอย่างอบอุ่นที่ทางทีมงานก็คาดไม่ถึง  

 

การที่ได้มีโอกาสได้มาทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในทีมงานผู้ก่อร่างสร้างเว็บฯ นั้น ผู้เขียนได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างมากจนถึงขั้นที่เรียกว่า ‘เปิดโลก’ เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ได้อยู่ในแวดวงนวนิยายมาก่อนตั้งแต่ต้น จึงอยากจะนำสิ่งที่ค้นพบนี้มาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้  

 

กลุ่มผู้รับสื่อที่มีอยู่จริงที่ถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง

 

นิตยสารไทยที่ทยอยปิดตัวกันในช่วงปีที่ผ่านมา

กลุ่มผู้อ่านหนังสือเหล่านี้มีสื่อออนไลน์อะไรให้เสพ?

 

ท่ามกลางการปรับภูมิทัศน์สื่อครั้งใหญ่ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องนั้นมีทั้งสื่อเก่าที่ล้มหายตายจากไปและสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นมา หากสังเกตกันให้ดี จะพบว่าสื่อใหม่ที่เกิดขึ้นในออนไลน์นั้นส่วนใหญ่แล้วมีเนื้อหาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ปรับตัว เปิดรับ หรือเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับสื่อดิจิทัลที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่กับกลุ่มผู้สูงอายุที่การก้าวตามเทคโนโลยีนั้นอาจจะเป็นเรื่องลำบาก (ในช่วงแรกๆ) นั้นได้มีการผลิตคอนเทนต์ออนไลน์สำหรับพวกเขามากน้อยแค่ไหน

 

ตั้งแต่ก่อนที่เว็บไซต์อ่านเอาจะเปิดตัว เราได้มีการเปิดเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งเพียงระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ก็มีแฟนเพจนับหมื่น จำนวนอาจจะไม่ได้มากมายจนน่าตกใจ แต่ก็ถือว่าเป็นที่น่าพอใจและเกินความคาดหมาย

 

อย่างหนึ่งที่แฟนเพจซึ่งจำนวนไม่น้อยนั้นเป็นคนวัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงวัย มาแชร์ความคิดเห็น ความรู้สึก ให้ฟังทั้งในหน้าเพจและหลังไมค์ก็คือว่า ตั้งแต่นิตยสารแนวนวนิยายในสมัยก่อนอย่าง สกุลไทย และ พลอยแกมเพชร ปิดตัวลงไป ก็เหมือนกับว่าชีวิตของพวกเขาเงียบเหงาลง ไม่มีนิตยสาร ไม่มีนิยายให้อ่าน ไม่มีคอลัมน์ของนักเขียนที่คิดถึง ความรู้สึกโหยหาที่มีให้รออ่านอยู่ทุกสัปดาห์ เนื้อหาที่พวกเขาชอบอยู่ๆ ก็หายไป

 

ทุกคนจึงต่างมาแสดงความยินดีและขอบคุณทีมงานที่ทำเว็บนี้ขึ้นมา นับเป็นพลังบวกที่พวกเราได้รับจากบรรดาผู้อ่าน ทำให้เรามองย้อนกลับมาดูเนื้อหาที่มีอยู่ในออนไลน์ และตั้งคำถามว่า ‘หรือกลุ่มผู้อ่านกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ถูกทิ้ง’ ไว้จากความก้าวหน้าของโลกยุคออนไลน์และการตลาดดิจิทัล ที่เน้นผลิตเนื้อหาสำหรับคนยุคใหม่ที่เข้าถึงออนไลน์ได้ง่ายและเร็วกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงคำถามและข้อสังเกตส่วนตัวของผู้เขียนและทีมงานอ่านเอาบางส่วนเท่านั้น

 

มีอะไรมากกว่าให้อ่านที่ ‘อ่านเอา’

อย่างไรก็ตาม เพื่อก้าวให้ทันตามยุคสมัยและธรรมชาติของสื่อยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ www.anowl.co จะตั้งใจยกโมเดลของนิตยสารในวันวานให้ขึ้นมาอยู่ในแพลตฟอร์มใหม่บนออนไลน์ แต่ก็พยายามที่จะปรับตัวไม่ให้ตัวเองเชย ทีมงานผู้ก่อตั้งเว็บมีทั้งคนรุ่นใหญ่และคนรุ่นค่อนข้าง (ยัง) ใหม่ (อยู่) เราได้มีการจัดทำรูปลักษณ์ของเว็บให้เป็นมิตรและพยายามให้ถูกใจทั้งนักอ่านรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

 

โดยนอกจากเนื้อหาที่เพิ่งปล่อยออกมาคือนวนิยายเรื่องใหม่ ซึ่งมีทั้งนักเขียนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ผู้บุกเบิกที่เข้าร่วมกับอ่านเอาทั้ง 10 ท่าน อาทิ มาลา คำจันทร์, ปิยะพร ศักดิ์เกษม, กิ่งฉัตร, พงศกร, ปราปต์, ภัสรสา, ทอม สิริ, ปองวุฒิ รุจิระชาคร, กานต์ และ นาคเหรา ขน 10 นวนิยายเรื่องใหม่ล่าสุดซึ่งไม่เคยได้รับการเผยแพร่ที่ใดมาก่อนให้ผู้อ่านได้อ่านกันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด โดยจะอัปโหลดตอนใหม่กันแทบทุกวัน นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 เมษายนนี้เป็นต้นไป

 

ในเฟสที่ 2 ที่จะตามมานี้เราจะยังมีคอลัมน์ปกิณกะให้อ่าน ซึ่งนักเขียนส่วนหนึ่งที่มาเข้าร่วมก็เคยเป็นเจ้าของคอลัมน์ยอดนิยมในนิตยสารมาก่อน เช่น คอลัมน์ ‘เรื่องผีที่ฉัน (อยาก) เล่า’ โดย จินต์ชญา นั้นอวตารมาจากคอลัมน์ ‘เรื่องผีที่แม่เล่า’ ในนิตยสาร พลอยแกมเพชร อันลือลั่น จากผู้เขียนหนังสือขายดีอันดับหนึ่ง ‘ชาววังช่างเล่าเรื่อง (ผี)’ และ ‘ชาววังช่างเล่าเรื่อง (ผีนอกวัง)’ คอลัมน์ดูดวงประจำสัปดาห์ ฯลฯ​  และอื่นๆ อีกหลายคอลัมน์ที่จะตามมาอีกในอนาคต

 

นอกจากนี้เมื่อแพลตฟอร์มเปลี่ยนไปเป็นออนไลน์ก็เอื้อให้เรายังสามารถทำอะไรหลายอย่างที่แตกต่างได้อีก เพื่อเป็นการต่อยอดจากนิตยสารแนวนวนิยายในสมัยก่อนอย่างเช่น รายการออนไลน์ที่กำลังจะออกมาให้เห็นกันในเร็วๆ นี้ก็คือรายการ ‘อ่านอร่อย’ ซึ่งเป็นรายการทำอาหารที่นำเมนูเด่นจากนวนิยายชื่อดังเรื่องต่างๆ มาปรุงกันให้ได้ชม ได้ลองทำตาม และชิมรสกันดูจริงๆ

 

การจัด Podcast หรือรายการวิทยุสตรีมมิงที่เริ่มได้รับความนิยมในหมู่ผู้ฟังยุคใหม่ เพราะสามารถฟังกันตอนไหนก็ได้ เราก็จะมีรายการพูดคุยให้ความรู้ สาระ ความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนิยายและการเขียน การจัดกิจกรรมชักชวนผู้อ่านไปท่องเที่ยวตามรอยนวนิยายเรื่องดัง หรือจัดมื้ออาหารจากเมนูในนวนิยาย จัดฝึกอบรมการเขียนโดยนักเขียนของอ่านเอา ฯลฯ​ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราหวังจะทำให้เกิดขึ้นในเร็ววัน และคิดว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงด้วยข้อดีของสื่อสมัยใหม่ในการสร้างชุมชนนักเขียนกับนักอ่านอันอบอุ่น  

 

แม้จะยังมีคำถามว่า แล้วเว็บไซต์จะอยู่ได้อย่างไร จะหารายได้จากช่องทางไหน ในช่วงแรกนั้นขอสารภาพว่าเรายังไม่คิดถึงเรื่องนี้กันสักเท่าไร แต่คิดง่ายๆ กันเพียงว่า  “ตราบใดที่ผลิตเนื้อหาที่ดีๆ ออกมาก็คงจะพอมีหนทางไป” โดยเบื้องต้นเราตั้งใจกันว่าจะทำให้เว็บไซต์นี้เป็นเว็บฟรีคอนเทนต์ที่ใครๆ ก็เข้าไปอ่านได้ เพื่อที่จะรบกวนนักอ่านให้น้อยที่สุด และจากการตอบรับที่อบอุ่น เราก็เชื่อกันว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะหาผู้สนับสนุน ที่ทำให้อ่านเอาสามารถยืนหยัดก้าวเดินต่อไปได้อย่างแข็งแรงขึ้น

 

คุณผู้อ่านสามารถอ่านนิยายได้ผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และติดตามโซเชียลมีเดียของ ‘อ่านเอา’ ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ: อ่านเอา anowl.co , ทวิตเตอร์: @anowldotco, อินสตาแกรม: Anowl.co

The post เบื้องหลังเว็บนกฮูก อ่านเอา www.anowl.co เกาะกลางมหาสมุทรคอนเทนต์ที่ไม่ได้มีให้อ่านแค่เพียงนิยายออนไลน์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/anowl/feed/ 0