คนไทย – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 21 Nov 2024 10:22:23 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 เครดิตบูโรเผย หนี้เสีย (NPL) คนไทยพุ่ง 14% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน 3Q67 https://thestandard.co/thai-npl-rise-record-q367/ Thu, 21 Nov 2024 10:15:57 +0000 https://thestandard.co/?p=1011214

เครดิตบูโรเผย ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทยประจำไตรมาสที่ 3 ขอ […]

The post เครดิตบูโรเผย หนี้เสีย (NPL) คนไทยพุ่ง 14% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน 3Q67 appeared first on THE STANDARD.

]]>

เครดิตบูโรเผย ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทยประจำไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 พบหนี้เสีย (NPL) แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่สินเชื่อคงค้างในระบบทั้งหมดแทบไม่ขยายตัว พร้อมประเมินว่า ‘มาตรการลดค่างวด-พักดอกเบี้ย 3 ปี’ จะทำให้หนี้เสียในระบบลดลงและสถานการณ์หนี้ในประเทศดีขึ้นได้

 

วันนี้ (21 พฤศจิกายน) สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยว่า ระดับหนี้เสีย (NPL) หรือหนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วันในฐานข้อมูลของเครดิตบูโร ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 เพิ่มขึ้น 14.1%YoY จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ประมาณ​ 1.2 ล้านล้านบาท​ นับเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นสัดส่วน​ 8.8% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจ SMEs

 

“หนี้​ NPL​s ประมาณ​ 1.2 ล้านล้านบาทโดยประมาณ ใจชื้นตรงที่​ NPLs สินเชื่อบ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล นิ่งๆ​ หรือโตไม่มากจากไตรมาสก่อน​ แต่ที่กังวลมากคือสินเชื่อธุรกิจคนตัวเล็กหรือ​ SMEs ที่เติบโต​ 20%YoY​ และ 5.2%QoQ อันนี้คือประเด็นสำคัญ​มากๆ” สุรพลกล่าว

 

ทั้งนี้ ฐานข้อมูล​สถิติที่ไม่มีตัวตนของเครดิตบูโรมาจากสถาบันการเงิน​ 157 แห่งที่เป็นสมาชิก ครอบคลุมประชาชนคนไทยและผู้มีถิ่นฐานในประเทศไทยกว่า​ 30 ล้านคน

 

 

การขยายตัวของสินเชื่อใน Q3 แทบไม่มี

 

ส่วนหนี้ครัวเรือนหรือสินเชื่อคงค้างทั้งหมด (Total Consumer Loan) ขยายตัวเพียง 0.5%YoY หรือแทบไม่ขยายตัว จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราการเติบโตแบบไตรมาสต่อไตรมาสลดลง 0.2%QoQ สะท้อนว่าสินเชื่อไม่โต

 

สุรพลกล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่าสินเชื่อที่แทบไม่ขยายตัวส่วนหนึ่งมาจากการหดตัวของสินเชื่อรถยนต์ที่ลดลง 5.8%YoY และสินเชื่อธุรกิจที่เริ่มอาการออก เพราะผู้คนขายของไม่ได้ คนไปซื้อของจากจีนที่กำลังเกิดภาวะ Oversupply ทำให้ต้องดัมป์สินค้ามาที่ไทย ขณะที่สินเชื่อที่คนกู้มากินมาใช้อย่างสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลก็ถูกบล็อกด้วยปัญหาคุณภาพสินเชื่อ (Asset Quality) อยู่แล้ว

 

 

SM หดตัว หลังเจ้าหนี้เร่งช่วยลูกหนี้ปรับโครงสร้าง

 

ขณะที่หนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention: SM) หรือหนี้ที่ค้างชำระ 31-90 วัน ลดลง 2.6%YoY และ 3.8%QoQ มาหยุดที่​ 4.8 แสนล้านบาทโดยประมาณ​

 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ SM ลดลง สุรพลกล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกฎเกณฑ์ที่ให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างลูกหนี้เชิงป้องกันหรือก่อนลูกหนี้เป็น NPL เห็นได้จากยอดปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันก่อนเป็นหนี้เสีย (Pre-emptive Debt Restructuring) ที่เพิ่มขึ้น 121.6%QoQ อยู่ที่ 6.45 แสนล้านบาท​ในไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้หลังเป็นหนี้เสีย (TDR) สะสมก็เพิ่มขึ้น 3.8%YoY มาอยู่ที่​ 1.03 ล้านล้านบาท​ คิดเป็น​สัดส่วน​ 7.6% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด

 

ทั้งนี้ ตามมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending: RL) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 กำหนดว่าเจ้าหนี้ต้องเสนอการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่ไม่เคยปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็น NPL อย่างน้อย 1 ครั้ง

 

 

เครดิตบูโรประเมินมาตรการลดค่างวด-พักดอกเบี้ย 3 ปี

 

สุรพลยังประเมินมาตรการลดภาระชำระหนี้-พักดอกเบี้ย 3 ปีที่สมาคมธนาคารไทยกำลังหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธปท. โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะทำให้หนี้เสียในระบบลดลงได้ เนื่องจากหนี้ NPL ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะถูกโอนไปเป็นสินเชื่อ TDR ทันที และถ้าผู้ร่วมโครงการเริ่มจ่ายหนี้งวดที่ 1-3 ได้ดีก็จะกลายเป็นหนี้ปกติ

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า คาดว่าจะมีประชาชนอยู่ในกลุ่มเป้าหมายมาตรการดังกล่าวประมาณ 2.3 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 1.31 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น

  • สินเชื่อบ้าน ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี
  • สินเชื่อรถยนต์ ราคาไม่เกินคันละ 8 แสนบาท เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี
  • สินเชื่อ SMEs ยอดสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็น NPL ไม่เกิน 1 ปี

 

โดยสุรพลคาดว่า จากกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวน่าจะมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 80% เนื่องจากมองว่าคนที่เพิ่งเป็น NPL หรือเป็นไม่เกิน 1 ปี มักมีความต้องการที่อยากจะแก้หนี้อยู่แล้ว และสินเชื่อที่เข้าร่วมก็เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับชีวิตโดยตรง ดังนั้นถ้าไม่เข้าร่วมบ้านหรือรถจะถูกยึด ไม่มีเครื่องมือทำมาหากิน แตกต่างจากสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต

 

นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวก็จะยกดอกเบี้ยให้ 3 ปีหากชำระค่างวดได้ดี “เป็นการสร้างกำลังใจให้คนว่าจ่ายเท่าไรก็จะตัดต้น นอกจากนี้ดอกเบี้ยที่แขวนไว้ 3 ปีก็จะได้รับการยกให้หากทำตามเกณฑ์สำเร็จ” สุรพลกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สุรพลมองว่ามาตรการนี้มีเงื่อนไขที่ลูกหนี้อาจไม่ชอบ คือระหว่างเข้าร่วมลูกหนี้จะไม่สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้อย่างน้อย 1 ปี อย่างมาก 3 ปี ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ ธปท. ระบุว่า หนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 (ข้อมูลล่าสุด) อยู่ที่ 16.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.6% ต่อ GDP นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบราว 4 ปี เหตุจากการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอตัวหนักของสถาบันการเงิน และความสามารถในการกู้ยืมเงินของคนไทยต่ำลง

The post เครดิตบูโรเผย หนี้เสีย (NPL) คนไทยพุ่ง 14% แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใน 3Q67 appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘ทำงาน 4 วัน’ สมดุลชีวิตที่คนไทย 95% พร้อมลุย ผลสำรวจชี้ องค์กรเห็นด้วย 77% แต่พร้อมทำจริงแค่ 26% https://thestandard.co/4-day-workweek-thai-survey/ Fri, 15 Nov 2024 08:01:22 +0000 https://thestandard.co/?p=1009062 ทำงาน 4 วัน

การปฏิวัติวัฒนธรรมการทำงานครั้งใหญ่ที่ต้องอาศัยความกล้า […]

The post ‘ทำงาน 4 วัน’ สมดุลชีวิตที่คนไทย 95% พร้อมลุย ผลสำรวจชี้ องค์กรเห็นด้วย 77% แต่พร้อมทำจริงแค่ 26% appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทำงาน 4 วัน

การปฏิวัติวัฒนธรรมการทำงานครั้งใหญ่ที่ต้องอาศัยความกล้าจากทั้งองค์กรและพนักงานในการก้าวข้ามกรอบความคิดแบบเดิมที่ว่า ‘ยิ่งทำงานมาก ยิ่งได้ผลงานมาก’ ไปสู่แนวคิดใหม่ที่ว่า ‘ทำงานน้อยลง แต่ทำให้ดีขึ้น’ อาจเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในโลกการทำงานยุคใหม่

 

กระแส Work-Life Balance กำลังเปลี่ยนโฉมวงการแรงงานครั้งใหญ่ เมื่อผลสำรวจล่าสุดจากบริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ชี้ชัดว่า คนทำงานในไทยถึง 95% พร้อมก้าวสู่การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวัฒนธรรมการทำงานในยุคที่ ‘ความสุข’ และ ‘ประสิทธิภาพ’ ต้องไปด้วยกัน

 

ผลการศึกษาจากรายงาน ‘ทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ : พร้อมเปลี่ยนหรือไม่ในเอเชีย’ ที่สำรวจบุคลากรและองค์กรกว่า 5,000 แห่งใน 11 ประเทศทั่วเอเชีย แสดงให้เห็นภาพที่น่าสนใจ แม้องค์กรในไทยถึง 77% จะมองว่าแนวคิดนี้เป็นไปได้ แต่กลับมีเพียง 26% เท่านั้นที่วางแผนจะนำไปใช้จริงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างความต้องการของพนักงานและความพร้อมขององค์กร

 

ที่น่าสนใจคือ คนไทยถึง 59% พร้อมที่จะอัดแน่นชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นวันละ 2 ชั่วโมง เพื่อแลกกับการได้หยุด 3 วัน โดยที่ยังได้รับค่าจ้างเท่าเดิม และ 45% ยินดีที่จะสละการทำงานแบบไฮบริดหรือกิจกรรมทางสังคมต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเวลาส่วนตัวมากกว่าความยืดหยุ่นในการทำงาน

 

ในขณะที่ 58% ของพนักงานเชื่อว่านโยบายนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากอีกด้านที่น่าสนใจ โดย 36% กังวลเรื่องความเครียดที่อาจเพิ่มขึ้นจากการบีบอัดงานให้เสร็จในเวลาที่น้อยลง และ 27% กลัวว่าจะโดนลดค่าจ้าง ที่น่าแปลกใจคือมี 18% ที่กังวลว่าการมีเวลาว่างมากเกินไปจะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

 

ฝั่งองค์กรเองก็มีความกังวลที่หลากหลาย โดย 67% กลัวว่าจะกระทบต่อการให้บริการลูกค้าเพราะพนักงานไม่เพียงพอ, 50% กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้นจากโครงการที่ล่าช้า และ 42% เป็นห่วงว่าการปรับใช้ทั่วทั้งองค์กรอาจนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่พนักงาน สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องการการวางแผนและการจัดการที่รอบคอบ

 

ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา ผู้จัดการประจำประเทศไทยของโรเบิร์ต วอลเทอร์ส มองว่า “ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญคือการพิจารณาทางเลือกที่หลากหลายที่จะได้รับประโยชน์ทั้งในมุมองค์กรและในมุมพนักงาน” สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องคำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน

 

เมื่อมองไปยังประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าแต่ละประเทศมีมุมมองที่แตกต่างกัน ในมาเลเซีย 74% ของผู้สนับสนุนเชื่อว่านโยบายนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ขณะที่ฮ่องกง 94% ขององค์กรมั่นใจว่าจะช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานได้ดีขึ้น

 

 ส่วนอินโดนีเซียและเกาหลีกลับเลือกที่จะมุ่งเน้นไปที่โครงการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตและการพัฒนาทักษะมากกว่า แสดงให้เห็นว่าแต่ละประเทศมีวิธีการจัดการกับความท้าทายด้านแรงงานที่แตกต่างกันตามบริบทของตน

 

ในมุมของการวิเคราะห์ การที่องค์กรไทยถึง 90% เชื่อว่านโยบายนี้จะช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาคที่ 66% แสดงให้เห็นว่าองค์กรไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของสมดุลชีวิตมากขึ้น แต่การที่มีเพียง 26% ที่พร้อมจะนำไปใช้จริง อาจสะท้อนให้เห็นถึงความกล้าๆ กลัวๆ ในการเป็นผู้บุกเบิกการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้

The post ‘ทำงาน 4 วัน’ สมดุลชีวิตที่คนไทย 95% พร้อมลุย ผลสำรวจชี้ องค์กรเห็นด้วย 77% แต่พร้อมทำจริงแค่ 26% appeared first on THE STANDARD.

]]>
อีก 16 ปีจะมีคนไทยกี่คน โจทย์ใหญ่ที่ใครควรคิด? https://thestandard.co/thailand-population-future-projection/ Wed, 13 Nov 2024 02:14:17 +0000 https://thestandard.co/?p=1007986 คนไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันจำนวนประชากรคนไทยในประเทศไ […]

The post อีก 16 ปีจะมีคนไทยกี่คน โจทย์ใหญ่ที่ใครควรคิด? appeared first on THE STANDARD.

]]>
คนไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่าในปัจจุบันจำนวนประชากรคนไทยในประเทศไทยเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง (จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ในปี 2562 เป็นปีที่มีจำนวนประชากรไทยสูงที่สุดอยู่ที่ 66.56 ล้านคน และหลังจากปีนั้นจำนวนประชากรก็ลดลงมาเรื่อยๆ โดยในปี 2566 ลดลงเหลือ 66.05 ล้านคน) จำนวนประชากรที่ลดลงเป็นโจทย์เชิงโครงสร้างที่กำลังและจะส่งผลกระทบในอนาคตโดยตรงต่อโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นผลต่อกำลังแรงงาน (Labor Force) ที่ลดลง ซึ่งหากค่าจ้างของคนไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็วตามเงินเฟ้อแล้วจะส่งผลให้กำลังซื้อที่แท้จริงโดยรวมของคนไทยลดลง นอกจากนั้นกำลังแรงงานที่ลดลงยังหมายถึงจำนวนคนที่จะเสียภาษีที่ลดลง ซึ่งถ้ารัฐหารายได้จากทางอื่นไม่ทันหรือลดรายจ่ายไม่ทันก็จะมีผลต่อฐานะทางการคลังได้ และยังหมายถึงจำนวนคนที่จะส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะของกองทุนประกันสังคมโดยตรงดังที่ปรากฏเป็นข่าวค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา 

 

โดยสาเหตุที่ประชากรลดลงเป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดจากจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาจำนวนเด็กเกิดใหม่มีน้อยกว่าจำนวนคนเสียชีวิตทุกปี โดยแนวโน้มจำนวนคนเสียชีวิตเริ่มลดลงหลังวิกฤตโควิด แต่แนวโน้มจำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงเร็วกว่า และตั้งแต่ปี 2565 จำนวนเด็กเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงเหลือเพียงประมาณ 500,000 คนต่อปี และยังมีจำนวนต่ำกว่าคนตายต่อเนื่อง โดยหากแนวโน้มนี้ดำเนินต่อไปจะทำให้จำนวนประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนเด็กที่น้อยลงเป็นโจทย์ให้คิดต่อว่าจำนวนนักเรียนในโรงเรียนและจำนวนกำลังพลสำหรับกองทัพในอนาคตจะเป็นอย่างไร รัฐควรเตรียมงบประมาณอย่างไรเพื่อจัดการประเด็นเหล่านี้ 

 

 

โจทย์เหล่านี้ทำให้การคาดการณ์จำนวนประชากรในอนาคตมีผลอย่างมากต่อการวางแผนด้านเศรษฐกิจ สังคม และนโยบาย 

 

คำถามต่อไปคือ แล้วถ้าจะคาดการณ์จำนวนประชากรต้องใช้ปัจจัยอะไรบ้าง

 

ในการประมาณการจำนวนประชากร นักประชากรศาสตร์มักจะต้องมี 3 สมมติฐานสำคัญคือ 

 

  1. อัตราการเจริญพันธุ์รวมยอด (Total Fertility Rate: TFR) ซึ่งหมายถึงโดยเฉลี่ยผู้หญิง 1 คนจะมีลูกกี่คน 

 

  1. อัตราการตาย (Mortality Rate) ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy การคาดประมาณจำนวนปีโดยเฉลี่ยของการมีชีวิตอยู่ของประชากร)

 

  1. อัตราการย้ายถิ่นฐานสุทธิ (คนไทยย้ายออกไปต่างประเทศหักลบกับคนไทยในต่างประเทศย้ายกลับมาไทย) 

 

นอกจาก 3 สมมติฐานนี้อาจต้องพิจารณาถึงสัดส่วนชายหญิงในอนาคต เพื่อประมาณการจำนวนประชากรชายและหญิง โดยในบทความนี้ผมอยากจะชวนคิดว่าเพื่อให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีความรู้ความเข้าใจในประเด็นจำนวนประชากรในอนาคต จะได้เตรียมตัวรับมือได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา เราควรจัดการอย่างไรเกี่ยวกับประมาณการประชากรและตัวเลขสมมติฐานสำคัญ โดยจะขอใช้ตัวเลขอัตราการเจริญพันธุ์รวมเป็นตัวอย่าง

 

ในช่วงหลังโควิดข้อมูลสมมติฐานสำคัญ (Key Assumptions) ในการคาดการณ์จำนวนประชากรเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก การคาดการณ์ประชากรก็เหมือนกับการคาดการณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ มีโอกาสที่จะคลาดเคลื่อนได้ ขึ้นอยู่กับว่าสมมติฐานสำคัญที่ใส่ไว้ในแบบจำลองประมาณการ (Projection Model) เป็นไปตามที่คาดไว้หรือไม่ เพื่อให้การประมาณการมีความแม่นยำ เมื่อพบว่าตัวเลขสมมติฐานสำคัญมีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากที่เคยคาดไว้ก็ควรอัปเดตตัวเลขใหม่เข้าไป เพื่อจะได้ผลการประมาณการที่มีความแม่นยำมากขึ้น ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น หรือในกรณีที่มีความไม่แน่นอนสูง หลายปัจจัยยังไม่นิ่ง ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ อาจเลือกใช้การวิเคราะห์เชิงฉากทัศน์ (Scenario Analysis) เข้ามาช่วยฉายภาพให้เห็นว่ามีโอกาสเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในกรณีที่สมมติฐานแตกต่างกันออกไปอย่างไรบ้าง  

 

โดยผมจะขอใช้ตัวเลขอัตราการเจริญพันธุ์ยอดรวมมาเป็นตัวอย่าง (Total Fertility Rate: TFR หมายถึงผู้หญิงหนึ่งคนในช่วงอายุของเขาจะสามารถมีลูกได้กี่คน โดยในทางทฤษฎีหากสมมติฐานอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อผู้หญิงในประเทศเราโดยเฉลี่ยมีลูกสองคน ซึ่งหมายถึงอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมเท่ากับ 2 จำนวนประชากรก็จะค่อนข้างคงที่ เพราะเมื่อคนที่มีลูกจึงหมายถึงพ่อแม่เสียชีวิตไปก็จะมีลูกสองคนเข้ามาแทน) 

 

แต่ในภาวะปัจจุบันนอกจากคนจะแต่งงานน้อยลง หรือแม้แต่แต่งงานแล้วไม่ได้มีลูก หรือมีลูกไม่ถึงสองคน จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาในตัวเลข​ TFR ของไทยที่ต่ำกว่า 2 มาระยะหนึ่ง (จากข้อมูลธนาคารโลก TFR ของไทยเริ่มต่ำกว่า 2 ตั้งแต่ปี 2536 แต่ที่ประชากรไทยยังเพิ่ม เพราะเรามีอัตราการตายที่ลดลง คนไทยมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นจาก 71.1 ในปี 2536 มาเป็น 79.7 ในปี 2565) กลับมาที่ตัวเลข TFR ในช่วงปี 2558-2561 ลดลงมาอยู่ที่ 1.3-1.4 

 

แต่ที่น่าตกใจคือตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา TFR ของบ้านเราลดลงไปอีก และตัวเลขล่าสุดที่ออกมาในปี 2565 อยู่แค่เพียง 1.08 ตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกันแล้วซึ่งก็เป็นทวีปที่ถือว่ามีลูกกันค่อนข้างน้อย ไทยเราต่ำที่สุดเป็นอันดับ 3 รองจากแค่สิงคโปร์ (1.04) และเกาหลีใต้ (0.87)

 

 

ประมาณการจำนวนประชากรล่าสุดของไทย จัดทำในปี 2562 ใช้ TFR ในช่วง 1.2-1.5 เทียบกับตัวเลขล่าสุดที่ 1.08

 

คำถามต่อไปคือ แล้วตัวเลขคาดการณ์จำนวนประชากรของไทยล่าสุดกำลังใช้สมมติฐาน TFR อยู่ที่เท่าไร แตกต่างมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับตัวเลขล่าสุด ทีมงาน Athentic Consulting พบว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คือหน่วยงานล่าสุดที่ออกประมาณการจำนวนประชากรในปี 2562 (โดยปกติสภาพัฒน์จะออกคาดการณ์ประชากรทุก 5-6 ปี) โดยสมมติฐาน TFR ที่ใช้ในประมาณการฉากทัศน์ (Scenario) ต่างๆ จะอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.5 ซึ่งสูงกว่าตัวเลข TFR ล่าสุดที่ 1.08 (แม้จะต่างแค่หลักทศนิยม แต่เดี๋ยวเรามาดูกันว่าจะส่งผลมากน้อยแค่ไหนกับจำนวนประชากรในอนาคต)

 

 

ถ้า TFR ยังอยู่ที่ 1.08 ไปเรื่อยๆ จำนวนประชากรไทยจะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2565 และอาจหายไป 2.5 ล้านคนในอีก 16 ปีข้างหน้า (เกือบเท่าประชากรของนครราชสีมาทั้งจังหวัด) เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิม การเปลี่ยนแปลงของสมมติฐานสำคัญ (Key Assumptions) แม้เพียงเล็กน้อยแต่ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรในอนาคตสูงมาก จากการศึกษาของ Athentic Consulting ในการประมาณการจำนวนประชากรในช่วง 2567-2583 เมื่อใช้สมมติฐาน TFR คงที่ที่ 1.08 (เส้นสีส้มในรูปที่ 4) เมื่อเทียบกับกรณีที่ใช้ TFR ที่อยู่ในช่วง 1.3-1.5 (เส้นสีฟ้าในรูปที่ 4) พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ 3 ประเด็น 

 

  1. จำนวนประชากรไทยในกรณี TFR 1.3-1.5 จะเริ่มลดลงหลังช่วงปี 2572 ในขณะที่ในกรณี TFR คงที่ 1.08 ประชากรไทยจะลดลงตั้งแต่ปี 2565  

 

  1. ในปี 2583 หรืออีกประมาณ 16 ปีข้างหน้า ในกรณี TFR 1.3-1.5 จะมีประชากรไทยประมาณ 65.4 ล้านคน เทียบกับ 62.9 ล้านคนในกรณีที่ TFR 1.08 นั่นหมายความว่ามีส่วนต่างของจำนวนประชากรถึงประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งตัวเลข 2.5 ล้านคนนี้เกือบเท่ากับจำนวนประชากรของจังหวัดนครราชสีมา (2.6 ล้านคนในปี 2565 ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรองแค่กรุงเทพมหานคร) 

 

  1. ในช่วง 16 ปีข้างหน้า กลุ่มช่วงอายุที่จะลดลงมากที่สุดคือกลุ่มประชากรที่อายุน้อยกว่า 15 ปี โดยจากในปี 2565 ที่มีจำนวนประมาณ 11 ล้านคน หาก TFR คงที่ที่ 1.08 จะเหลือแค่ 6.5 ล้านคน เมื่อเทียบกับ 8.4 ล้านคน ในกรณี TFR 1.3-1.5 กับตัวเลขที่ห่างกันถึง 1.9 ล้านคน เป็นโจทย์ใหญ่ต่อเรื่องของจำนวนนักเรียน นักศึกษา สถานศึกษา รวมถึงกำลังแรงงานและกำลังพลในอนาคต

 

ในกรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario เส้นสีเทาในรูปที่ 4) หาก TFR ของไทยลดลงไปเหลือเท่ากับของ TFR ล่าสุดของเกาหลีใต้คือ 0.87 ซึ่งเป็นกรณีที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่เพื่อให้เห็นภาพหลากหลายฉากทัศน์มากขึ้น เราเลยขออนุญาตใส่กรณีนี้เข้ามาด้วย ซึ่งเราจะเห็นจำนวนประชากรในปี 2583 ลดลงเหลือ 61.9 ล้านคน และจำนวนประชากรที่อายุไม่เกิน 15 ปีลดลงเหลือ 5.7 ล้านคน

 

 

เรื่องใหญ่ในอนาคต มีหลายปัจจัยไม่แน่นอน แต่ถ้าช่วยกันส่องไฟจะเห็นได้ไกลและหลากหลายมุมมากขึ้น มีเวลาเตรียมตัวปรับตัวมากขึ้น อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนในตอนแรกว่า การประมาณการตัวเลขประชากรขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และยิ่งเป็นการมองไกลออกไปอีก 15-20 ปี เมื่อเวลาผ่านไปข้อมูลสมมติฐานสำคัญเปลี่ยนแปลงไปก็จะมีโอกาสทำให้ประมาณการชุดเดิมเกิดความคลาดเคลื่อนสูง แต่หากเรายังใช้ตัวเลขประมาณการเดิมในการวางแผนต่างๆ จะทำให้แผนที่วางไว้มีโอกาสที่จะผิดพลาดสูงตามไปด้วย 

 

การเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสมมติฐานสำคัญและอัปเดตประมาณการให้สะท้อนความเป็นจริงอย่างทันสถานการณ์และต่อเนื่อง จะช่วยให้เรามีเวลาเตรียมตัว ปรับตัว และรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที เมื่อเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอจะมีส่วนช่วยให้นักวิจัยจากหลากหลายสถาบันเข้ามาช่วยพัฒนาแบบจำลองประมาณการจำนวนประชากรได้สะดวกขึ้น เพื่อที่จะช่วยกันคัดเลือกสมมติฐานและพัฒนาให้มีแบบจำลองที่มีความแม่นยำสูงขึ้นได้อีกด้วย

The post อีก 16 ปีจะมีคนไทยกี่คน โจทย์ใหญ่ที่ใครควรคิด? appeared first on THE STANDARD.

]]>
ผลสำรวจพบ 84% ของคนไทยยอมรับว่า ‘ใช้ชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ เพราะอนาคตไม่แน่นอน’ สะท้อนการเปลี่ยนทัศนคติต่อการใช้ชีวิตและการจับจ่ายใช้สอย https://thestandard.co/thais-prefer-present-over-future/ Fri, 25 Oct 2024 10:28:00 +0000 https://thestandard.co/?p=1000139

‘เงินทองเป็นของนอกกาย ความสุขวันนี้สำคัญกว่า’ สุภาษิตโบ […]

The post ผลสำรวจพบ 84% ของคนไทยยอมรับว่า ‘ใช้ชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ เพราะอนาคตไม่แน่นอน’ สะท้อนการเปลี่ยนทัศนคติต่อการใช้ชีวิตและการจับจ่ายใช้สอย appeared first on THE STANDARD.

]]>

‘เงินทองเป็นของนอกกาย ความสุขวันนี้สำคัญกว่า’ สุภาษิตโบราณที่กำลังกลายเป็นวิถีชีวิตของผู้บริโภคไทยยุคใหม่ หลังผลสำรวจล่าสุดจากอิปซอสส์ชี้ชัด คนไทยพร้อมทิ้งการวางแผนระยะยาว หันมาใช้ชีวิตเพื่อความสุขในปัจจุบันขณะมากขึ้น 

 

โดยสูงถึง 84% ของคนไทยยอมรับว่า ชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ เพราะอนาคตไม่แน่นอน ซึ่งนับเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดา 50 ประเทศที่สำรวจ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทัศนคติที่มีต่อการใช้ชีวิตและการจับจ่ายใช้สอย

 

จากการเปิดเผยผลวิจัยชุดใหญ่ ‘Ipsos Global Trends 2024’ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นผู้คนกว่า 50,000 คนทั่วโลก ครอบคลุมถึง 74% ของประชากรโลก และ 90% ของ GDP โลก เผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของผู้บริโภคไทย ที่ไม่เพียงแค่หันมาให้ความสำคัญกับความสุขในปัจจุบัน แต่ยังพร้อมจะจ่ายเงินเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีทั้งในโลกความจริงและโลกเสมือน 

 

โดย 65% ของคนไทยยอมรับว่า ชอบซื้อสินค้าหรือประสบการณ์ที่จะทำให้พวกเขาดูดีในภาพที่โพสต์ออนไลน์ สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างตัวตนในโลกดิจิทัล

 

ปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองคือ พฤติกรรมการเสพติดอินฟลูเอ็นเซอร์ของคนไทยที่สูงถึง 58% มักซื้อสินค้าหรือบริการตามคำแนะนำของอินฟลูเอ็นเซอร์ที่ติดตาม สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ 44% อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงพลังของผู้ทรงอิทธิพลในโซเชียลมีเดียที่กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การตลาดแบบเดิมๆ และบ่งชี้ว่า การตลาดผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์กำลังกลายเป็นช่องทางสำคัญที่แบรนด์ไม่อาจมองข้ามได้

 

ในด้านเทคโนโลยี คนไทยแสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการรับนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะ AI ที่ติดอันดับ 3 ของโลกรองจากจีนและอินโดนีเซีย โดย 73% ของคนไทยยอมรับว่า AI เปลี่ยนแปลงชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างมากในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา 

 

และมีความคาดหวังเชิงบวกว่า AI จะช่วยพัฒนาด้านความบันเทิงและการประหยัดเวลาให้ดีขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะด้านตัวเลือกความบันเทิง (67%) และการประหยัดเวลาในการทำงาน (65%)

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้จะรับเทคโนโลยีเร็ว แต่คนไทยกลับไม่ได้ต้องการแค่ความสะดวกและรวดเร็วเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดย 73% รู้สึกว่าการบริการลูกค้าถูกทำให้เป็นระบบอัตโนมัติมากเกินไป โดยเฉพาะกลุ่ม Baby Boomer ที่ 81% ต้องการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์มากกว่าแชตบอต 

 

ตามมาด้วย Gen X (75%), Millennials (74%) และ Gen Z (66%) สะท้อนให้เห็นว่า การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและการบริการแบบมนุษย์สัมผัสมนุษย์ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น

 

ที่น่าตกใจไม่แพ้กันคือ 55% ของคนไทยรู้สึกว่าบริษัทต่างๆ ไม่สามารถส่งมอบประสบการณ์ได้ตามที่สัญญา และ 74% พร้อมที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อแลกกับประสบการณ์ที่ดีกว่า นี่คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าผู้บริโภคไทยกำลังเรียกร้องมาตรฐานการบริการที่สูงขึ้นและพร้อมจะจ่ายเพื่อสิ่งนั้น เปิดโอกาสให้แบรนด์ที่สามารถส่งมอบประสบการณ์เหนือความคาดหมายสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

 

ในประเด็นด้านความยั่งยืน คนไทยกลับมองไกลกว่าแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการยุติความยากจน, ลดความเหลื่อมล้ำ, การศึกษาที่มีคุณภาพ และการจ้างงานที่มีคุณค่า มากกว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมและธรรมาภิบาลมากกว่าสิ่งแวดล้อม 

 

แต่ที่น่าสนใจคือ 89% ของคนไทยเชื่อว่า พวกเขาได้ทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ในขณะที่ 79% มองว่า บริษัทต่างๆ ยังทำไม่มากพอ

 

ความท้าทายที่น่าสนใจสำหรับแบรนด์คือ การรับมือกับผู้บริโภคที่มีความต้องการซับซ้อนและขัดแย้งในตัวเองมากขึ้น ในขณะที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วจากเทคโนโลยี แต่ก็ยังคงต้องการความเป็นมนุษย์ในการบริการ ต้องการความปลอดภัยของข้อมูล แต่ก็อยากได้ประสบการณ์ที่ไร้รอยต่อ อีกทั้งยังพร้อมจ่ายแพงขึ้นเพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่า แต่ก็มีความคาดหวังสูงต่อการทำเพื่อสังคมของแบรนด์

 

ในท้ายที่สุดสิ่งที่ชัดเจนคือ ยุคของการทำการตลาดแบบ One-Size-Fits-All กำลังจะหมดไป แบรนด์ที่จะอยู่รอดต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายและซับซ้อนของผู้บริโภคได้อย่างลงตัว ผสานเทคโนโลยีเข้ากับความเป็นมนุษย์ได้อย่างกลมกลืน 

 

และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องสามารถสร้างผลกำไรไปพร้อมๆ กับการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เพราะนี่คือสมการใหม่ของความสำเร็จในโลกที่ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการแค่สินค้าและบริการ แต่ต้องการประสบการณ์ที่มีความหมายและคุณค่ามากกว่าที่เคย

The post ผลสำรวจพบ 84% ของคนไทยยอมรับว่า ‘ใช้ชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ เพราะอนาคตไม่แน่นอน’ สะท้อนการเปลี่ยนทัศนคติต่อการใช้ชีวิตและการจับจ่ายใช้สอย appeared first on THE STANDARD.

]]>
เกิดอะไรขึ้น ดัชนีชี้วัด ‘ความสุข’ คนไทยทรุดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน https://thestandard.co/thai-peoples-happiness-index-drops-to-16-month-low/ Thu, 12 Sep 2024 11:59:14 +0000 https://thestandard.co/?p=982872

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยดัชนีความเชื่ […]

The post เกิดอะไรขึ้น ดัชนีชี้วัด ‘ความสุข’ คนไทยทรุดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน appeared first on THE STANDARD.

]]>

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 56.6 ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ในขณะที่ดัชนีชี้วัด ‘ความสุข’ คนไทย ทรุดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน จากความกังวลค่าครองชีพ การหางาน เศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้าเพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่

 

วันนี้ (12 กันยายน) ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ 56.6 “ปรับตัวลดลงทุกรายการ ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และต่ำสุดในรอบ 13 เดือน”

 

 

เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางและสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ดัชนีวัดความสุข เศรษฐกิจ โอกาสหางานทำลดลงต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 50.2, 53.9 และ 65.6 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกรกฎาคม

 

รวมไปถึงผลการสำรวจสภาวการณ์ทางสังคม พบว่า ดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ16 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นมา อยู่ที่ระดับ 61.3 และดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ในปัจจุบันก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 และดัชนีภาวะค่าครองชีพ ความกังวลปัญหายาเสพติด ก็ลดลงเช่นกัน

 

ทั้งนี้ หากรัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในปลายไตรมาสที่ 3 ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้อาจจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.6-2.8% แต่หากไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้เพียง 2.4-2.6%

 

“กรณีที่รัฐบาลจะแจกเป็นเงินสดให้กับกลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคน จะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายปีได้ ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน หากสามารถนำเงินออกมากระตุ้นก่อนสัก 20-30% อาจจะมีเงินสะพัดในระบบราว 3-5 หมื่นล้านบาท”

 

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ยังมีจุดเปราะบางจากปัจจัย เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ, การจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นในรูปของเงินสดหรือเงินดิจิทัล รวมสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและภาคเหนือ

 

ขอให้รัฐบาลบริหารจัดการน้ำระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยว การส่งออก และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในช่วงปลายปีนี้

 

“GDP ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8% หากจะทำให้แตะถึง 3% จะต้องทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังโตได้ถึง 4% โดยปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังได้เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะจะต้องทำให้การส่งออกขยายตัวอย่างมาก มีการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่านี้ ท่ามกลางปัจจัยท้าทายที่อาจกระทบนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท” ธนวรรธน์กล่าว

The post เกิดอะไรขึ้น ดัชนีชี้วัด ‘ความสุข’ คนไทยทรุดต่ำสุดในรอบ 16 เดือน appeared first on THE STANDARD.

]]>
คนไทยพร้อมเปย์! แต่ความสุขยังไม่มา เพราะเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ยังน่าห่วง งานวิจัยพบ ผู้บริโภคโหยหาประสบการณ์ใหม่ แบรนด์ต้องปรับตัวให้ทัน https://thestandard.co/consumers-crave-new-experiences/ Wed, 10 Jul 2024 02:04:42 +0000 https://thestandard.co/?p=955792

ผลสำรวจฉบับพิเศษจากสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซ […]

The post คนไทยพร้อมเปย์! แต่ความสุขยังไม่มา เพราะเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ยังน่าห่วง งานวิจัยพบ ผู้บริโภคโหยหาประสบการณ์ใหม่ แบรนด์ต้องปรับตัวให้ทัน appeared first on THE STANDARD.

]]>

ผลสำรวจฉบับพิเศษจากสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เผยให้เห็นถึงพลังใจเกินร้อยของผู้บริโภคชาวไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ที่พร้อมจะควักกระเป๋าเพื่อเติมเต็มความสุขให้กับชีวิต โดยมีค่าเฉลี่ยความต้องการในการใช้จ่ายพุ่งสูงถึง 66 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 64 คะแนนในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจและความต้องการในการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ของคนไทย

 

เทศกาลต่างๆ กลายเป็นเวทีสำคัญที่กระตุ้นการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นตรุษจีน สงกรานต์ หรือแม้แต่ Pride Month ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ ก็ล้วนสร้างสีสันและโอกาสให้คนไทยได้เฉลิมฉลองและช้อปปิ้งอย่างเต็มที่ โดย 29% เน้นใช้จ่ายเพื่อปรนเปรอตัวเอง (Self-Love) 

 

และอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้จ่ายเพื่อครอบครัว (Family-Love) โดยเฉพาะในกลุ่มวัย 40-49 ปีที่เน้นใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตามธรรมเนียมประเพณีและเพื่อครอบครัว ในขณะที่วัย 20-29 ปีมีแนวโน้มที่จะรอจังหวะที่มีโปรโมชันหรือส่วนลดที่น่าสนใจ

 

อย่างไรก็ตาม แม้บรรยากาศการจับจ่ายจะคึกคัก แต่ดัชนีความสุขของคนไทยกลับยังไม่ขยับไปไหนมากนัก โดยยังคงทรงตัวจากปีที่แล้ว เนื่องจากยังมีปัจจัยกวนใจ ทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมถึงปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน และสภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทย

 

แต่อย่าเพิ่งถอดใจ! เพราะคนไทยยังคงมีความหวังและพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นกระแสกางเกงช้างสุดฮิตที่รัฐบาลโปรโมต หรือความคลั่งไคล้ใน Art Toy ที่กำลังมาแรง รวมถึงคอนเสิร์ตจากศิลปินไทย เกาหลี และตะวันตก ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาสร้างความบันเทิงตลอดทั้งปี ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและสร้างความสุขให้กับคนไทย

 

สำหรับแบรนด์ที่อยากคว้าโอกาสทองนี้ ธีรเมศร์ นิติจรรยาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ แนะนำ 3 กลยุทธ์เด็ด ดังนี้

 

  1. BrandFest: สร้างเทศกาลประจำแบรนด์เพื่อสะท้อนค่านิยมและสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า เช่น Equality Festival มหกรรมลดราคาสินค้าทั้งร้าน เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียม

 

  1. Emphasize Thainess: เชื่อมโยงแบรนด์กับความเป็นไทย ผ่านการสื่อสารที่เป็นกันเอง สนุกสนาน และเปิดกว้างรับสิ่งใหม่ๆ หรือใช้ Real-Time Marketing สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยภาษาและเทรนด์ที่กำลังฮิต

 

  1. New Wave of Mutelu: นำเรื่องมูเตลูมาเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์อย่างจริงจัง เช่น จัดทริปไหว้พระเสริมดวงประจำปี หรือออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและโชคลาง

 

ด้าน กรรณ ทองศรี ผู้จัดการส่วนวางแผนกลยุทธ์ ยังเสริมว่า คนไทยกำลังมองหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว สินค้าแฟชั่น หรือแม้แต่กิจกรรมทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์ในการสร้างสรรค์แคมเปญที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค

 

อย่างไรก็ตาม แม้คนไทยจะพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ แต่ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ในสังคม เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ข่าวสารด้านลบ และความรุนแรง ซึ่งแบรนด์ควรตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ และหาทางสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เช่น การสื่อสารถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือการสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

 

ท้ายที่สุดตลาดผู้บริโภคในประเทศไทยยังคงมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่ด้วยการปรับตัวและนำเสนอกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ก็จะสามารถคว้าโอกาสและสร้างความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

 

ภาพ: Twinsterphoto / Shutterstock

The post คนไทยพร้อมเปย์! แต่ความสุขยังไม่มา เพราะเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ยังน่าห่วง งานวิจัยพบ ผู้บริโภคโหยหาประสบการณ์ใหม่ แบรนด์ต้องปรับตัวให้ทัน appeared first on THE STANDARD.

]]>
ชมคลิป: คนไทยทำงานเกินค่าเฉลี่ยโลก เสี่ยงเครียด เจอสารพัดโรค | THE STANDARD WEALTH https://thestandard.co/morning-wealth-21062024-2/ Fri, 21 Jun 2024 05:33:48 +0000 https://thestandard.co/?p=947971

ข้อมูลของสถาบันวิจัยจีเอฟเคพบว่า คนไทย มีชั่วโมงการ ทำง […]

The post ชมคลิป: คนไทยทำงานเกินค่าเฉลี่ยโลก เสี่ยงเครียด เจอสารพัดโรค | THE STANDARD WEALTH appeared first on THE STANDARD.

]]>

ข้อมูลของสถาบันวิจัยจีเอฟเคพบว่า คนไทย มีชั่วโมงการ ทำงาน สูงถึงสัปดาห์ละ 50.9 ชั่วโมง สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก นอกจากนี้ผลการสำรวจแนวโน้มการทำงานในยุค AI ของไทยพบว่า ผู้บริหารกว่า 90% พร้อมจ้างเด็กจบใหม่เก่ง AI มากกว่าคนประสบการณ์สูงแต่ไร้ทักษะ ติดตามรายละเอียดได้ในไฮไลต์นี้

 

ติดตาม รายการ Morning Wealth ทุกวัน จันทร์ – ศุกร์ เวลา 7.00-8.00 ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD WEALTH

 

อัปเดตข่าวสารจากสำนักข่าวเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการลงทุน โดยทีมข่าว THE STANDARD ได้ที่ https://thestandard.co/wealth/

The post ชมคลิป: คนไทยทำงานเกินค่าเฉลี่ยโลก เสี่ยงเครียด เจอสารพัดโรค | THE STANDARD WEALTH appeared first on THE STANDARD.

]]>
ชมคลิป: คนไทยยังสิ้นหวังกับประเทศนี้อยู่ไหม? | KEY MESSAGES #133 https://thestandard.co/key-messages-133/ Sat, 27 Apr 2024 07:00:56 +0000 https://thestandard.co/?p=927399

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคสมัยมีส่วนหล่อหลอมให้คนแต่ละรุ่นมีมุม […]

The post ชมคลิป: คนไทยยังสิ้นหวังกับประเทศนี้อยู่ไหม? | KEY MESSAGES #133 appeared first on THE STANDARD.

]]>

ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคสมัยมีส่วนหล่อหลอมให้คนแต่ละรุ่นมีมุมมองความคิดไม่เหมือนกัน ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ จึงเป็นเหมือนปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  

 

แต่จริงหรือไม่ที่คนรุ่นเก่ายึดติดอยู่แต่อะไรเดิมๆ คนรุ่นใหม่ก็ดื้อรั้นอยากแต่จะเปลี่ยนแปลง หรือคนรุ่นตรงกลางที่ไม่แยแสอะไรเลย? 

 

THE STANDARD ชวนดูข้อมูลชุดหนึ่งที่จะช่วยสะท้อนว่า สิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับคนแต่ละรุ่นอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป 

 

เรื่อง: สุธามาส ทวินันท์ 

ตัดต่อ: ชินดนัย มะลิซ้อน

The post ชมคลิป: คนไทยยังสิ้นหวังกับประเทศนี้อยู่ไหม? | KEY MESSAGES #133 appeared first on THE STANDARD.

]]>
ชมคลิป: รู้จัก Sputnik V วัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ 4 ที่เตรียมฉีดให้กับคนไทย https://thestandard.co/video-knowing-sputnik-v-vaccines/ Thu, 13 May 2021 01:05:11 +0000 https://thestandard.co/?p=487716 Sputnik V วัคซีนโควิด-19

รู้จัก Sputnik V วัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ 4 ที่เตรียมฉีดใ […]

The post ชมคลิป: รู้จัก Sputnik V วัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ 4 ที่เตรียมฉีดให้กับคนไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>
Sputnik V วัคซีนโควิด-19

รู้จัก Sputnik V วัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ 4 ที่เตรียมฉีดให้กับคนไทย

 

ตัดต่อ: อัศวพล ตุลานนท์

The post ชมคลิป: รู้จัก Sputnik V วัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ 4 ที่เตรียมฉีดให้กับคนไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>
สถานทูตไทยในอินเดียแนะให้คนไทยเดินทางกลับประเทศ หากไม่มีเหตุจำเป็นให้พำนักต่อ ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด https://thestandard.co/thai-embassy-in-india-advise-thai-people-to-return-to-thailand/ Tue, 04 May 2021 07:20:18 +0000 https://thestandard.co/?p=483740 สถานทูตไทยในอินเดียแนะให้คนไทยเดินทางกลับประเทศ หากไม่มีเหตุจำเป็นให้พำนักต่อ ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

วานนี้ (3 พฤษภาคม) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ขอให […]

The post สถานทูตไทยในอินเดียแนะให้คนไทยเดินทางกลับประเทศ หากไม่มีเหตุจำเป็นให้พำนักต่อ ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด appeared first on THE STANDARD.

]]>
สถานทูตไทยในอินเดียแนะให้คนไทยเดินทางกลับประเทศ หากไม่มีเหตุจำเป็นให้พำนักต่อ ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

วานนี้ (3 พฤษภาคม) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ขอให้คนไทยในอินเดียติดตามข่าวสารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิด และหากไม่มีความจำเป็นต้องพำนักอยู่ในอินเดียในช่วงเวลานี้ อาจพิจารณาเดินทางกลับประเทศไทยโดยเที่ยวบินเคลื่อนย้ายคนไทยที่ยังเปิดสำรองและให้บริการอยู่ ได้แก่

 

1. วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 สายการบินไทยสมายล์ เที่ยวบินที่ WE8074 เส้นทางเมืองเจนไน-กรุงเทพฯ โดยให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 กับสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน ที่หมายเลขโทรศัพท์ +91 97908 31391 หรือลงทะเบียนที่เว็บไซต์ https://forms.gle/ZXA42TsC5U4wLLJs9

 

2. วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 สายการบินแอร์อินเดีย เที่ยวบินพิเศษที่ AI332 เส้นทางกรุงนิวเดลี-กรุงเทพฯ โดยลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ที่เว็บไซต์ https://bit.ly/337gCwX


พร้อมขอให้ทุกคนตรวจสอบหนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งานอยู่ รวมถึงตรวจสอบศึกษาขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางออกนอกประเทศของทางการอินเดีย (หากจำเป็น) อาทิ การขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศ (Exit Permit) โดยติดต่อไปยัง Foreigners Regional Registration Office (FRRO) ในพื้นที่ ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตฯ/สถานกงสุลใหญ่ฯ จะจัดทำรายชื่อผู้โดยสารโดยอาศัยหลักการลงทะเบียนข้อมูล ผู้โดยสารที่ลงทะเบียนก่อนมีสิทธิก่อน และจะประกาศรายชื่อทางเพจเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูตฯ/สถานกงสุลใหญ่ฯ ต่อไป

 

3. หากมีความจำเป็น/เร่งด่วน วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 จะมีเที่ยวบินภารกิจพิเศษเพื่อมอบความช่วยเหลือให้แก่อินเดีย โดยสามารถโดยสายเส้นทางกรุงนิวเดลี-กรุงเทพฯ ได้ สามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 เวลา 14.00 น. ลงทะเบียนคนไทยได้ที่ https://bit.ly/3aXxbzu

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพ: Royal Thai Embassy, New Delhi, Republic of India

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง: 

The post สถานทูตไทยในอินเดียแนะให้คนไทยเดินทางกลับประเทศ หากไม่มีเหตุจำเป็นให้พำนักต่อ ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด appeared first on THE STANDARD.

]]>