การซ้อมทรมาน-อุ้มหาย – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Sun, 04 Aug 2024 08:04:14 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 สุทินเรียก ผบ.ทบ. เข้าพบพรุ่งนี้ สางปมทหารเกณฑ์ถูกซ้อมทรมาน https://thestandard.co/suthin-summons-army-commander-to-meet/ Sun, 04 Aug 2024 08:04:14 +0000 https://thestandard.co/?p=967121

วันนี้ (4 สิงหาคม) สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงก […]

The post สุทินเรียก ผบ.ทบ. เข้าพบพรุ่งนี้ สางปมทหารเกณฑ์ถูกซ้อมทรมาน appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (4 สิงหาคม) สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยภาพพลทหารกลุ่มหนึ่งประมาณ 10 นาย ยืนเปลือยกาย พร้อมระบุว่าถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างการฝึกที่ค่ายทหาร จังหวัดเชียงใหม่ 

 

สุทินเผยว่า พรุ่งนี้ (5 สิงหาคม) จะเรียกผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เข้าพบ เพื่อกำชับเรื่องดังกล่าว เพราะเรื่องลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของตัวครูฝึกที่ใช้การลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และการที่ทหารมีกลุ่มมีก๊วน 

 

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้หากพบว่ามีบุคคลที่กระทำความผิดจะต้องดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงระเบียบของกองทัพที่บังคับอยู่ ซึ่งเราจะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหายเต็มที่ และขอให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพกำชับผู้ใต้บังคับบัญชาในเรื่องนี้อย่างเข้มงวดด้วย

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เพจ ‘Survive – สายไหมต้องรอด’ โพสต์รูปภาพพลทหาร 10 นาย ยืนเรียงแถวในสภาพเปลือยกาย พร้อมข้อความระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจากลูกเพจคนหนึ่ง ขอให้ช่วยเหลือพี่ชายที่เป็นทหารเกณฑ์อยู่ที่ค่ายทหารในจังหวัดสระบุรี แต่ถูกย้ายไปอยู่ฐานปฏิบัติการในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 

 

พลทหารถูกซ้อมทรมานโดยนายสิบกับจ่ากองร้อยที่ดื่มเหล้าจนมีอาการเมา สั่งเรียกรวมกลางดึก สั่งให้ถอดเสื้อผ้าแล้วให้ยืนตากฝนประมาณ 6 ชั่วโมง ทั้งที่อากาศหนาวเย็น และทั้งถูกตบ เตะ กระทืบ แต่ละคนโดนจนอาการปางตาย พร้อมเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและ ผบ.ทบ. ที่บอกกองทัพมีนโยบายห้ามทำร้ายพลทหาร แล้วเหตุการณ์นี้คืออะไร

The post สุทินเรียก ผบ.ทบ. เข้าพบพรุ่งนี้ สางปมทหารเกณฑ์ถูกซ้อมทรมาน appeared first on THE STANDARD.

]]>
9 ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ซ้อมทรมานลุงเปี๊ยกคดีป้าบัวผัน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-พ.ร.บ.อุ้มหายฯ https://thestandard.co/watcharin-panurat-10042024/ Thu, 11 Apr 2024 01:29:13 +0000 https://thestandard.co/?p=921678

วานนี้ (10 เมษายน) ที่สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการส […]

The post 9 ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ซ้อมทรมานลุงเปี๊ยกคดีป้าบัวผัน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-พ.ร.บ.อุ้มหายฯ appeared first on THE STANDARD.

]]>

วานนี้ (10 เมษายน) ที่สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด วัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบหรือกำกับการสอบสวน ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.อุ้มหายฯ) ร่วมประชุมกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 

 

ในคดีที่ดีเอสไอรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษกรณี ปัญญา คงแสนคำ หรือ ลุงเปี๊ยก ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

 

วัชรินทร์กล่าวว่า อัยการสูงสุดตั้งทีมคณะทำงานชุดนี้พร้อมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ วันนี้เป็นการประชุมเพื่อลงมติสรุปว่าจะแจ้งข้อกล่าวหากับตำรวจคนใดบ้าง 

 

ที่ประชุมมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแบ่งเป็น ระดับผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร (สภ.) อรัญประเทศ รองผู้กำกับสืบสวน สารวัตรสืบสวนและรองสารวัตรสืบสวน ส่วนนี้คือกลุ่มผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้อง และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่กระทำความผิดโดยตรงในห้องสอบสวนมีตำรวจชั้นประทวน 3 นาย รวมทั้งหมด 9 นาย หลังจากนี้จะเป็นหน้าที่ดีเอสไอในการออกหมายเรียก แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้งหมดโดยกำหนดวันให้มารับทราบข้อกล่าวหาคือวันที่ 7-9 พฤษภาคมนี้

 

วัชรินทร์กล่าวว่า การแจ้งข้อกล่าวหาวันนี้เป็นเพียงการพิจารณาจากหลักฐานตัวผู้เสียหายคือลุงเปี๊ยกและพยานในที่เกิดเหตุ ซึ่งมีทั้งนักข่าวและตำรวจ พยานหลักฐานดังกล่าวคณะทำงานเห็นว่าเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งภายหลังแจ้งข้อกล่าวหา ผู้ต้องหายังมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานใดๆ ก็ตามมาชี้แจงได้ เพราะคณะทำงานทำการสอบสวนด้วยความบริสุทธิ์ตรงไปตรงมา ไม่เอาพยานหลักฐานแค่ส่วนเดียว แต่จะเปิดโอกาสให้ผู้กล่าวหาชี้แจง

 

น้ำแท้ มีบุญสล้าง เลขานุการรองอัยการสูงสุด ระบุว่า ฐานความผิดที่เริ่มพิจารณาคือตั้งแต่มีการจับตัวลุงเปี๊ยกไปทำให้สูญเสียอิสรภาพ และเมื่อควบคุมตัวแล้วก็ไม่มีการแจ้งให้กับอัยการหรือฝ่ายปกครองทราบ ตรงนี้คือการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และภายหลังมีการควบคุมตัวแล้วไม่นำลุงเปี๊ยกไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนทันทีแต่กลับนำไปทรมานก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

 

คณะทำงานแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาคือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ มาตรา 157, ข้อหาตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ และความผิดต่อเสรีภาพกรณีหน่วงเหนี่ยวกักขัง

 

ทั้งนี้มีรายงานว่าสำหรับมูลเหตุของการแจ้งข้อกล่าวหามาจาก ปัญญา หรือลุงเปี๊ยก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ดำเนินคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในคดีการเสียชีวิตของ บัวผัน ตันสุ หรือ ป้ากบ และเจ้าหน้าที่ สภ.อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ได้ดำเนินคดีกับปัญญาในข้อหาฆาตกรรม โดยระบุว่าปัญญาให้การรับสารภาพว่าเป็นคนลงมือฆ่าและกระทำด้วยความมึนเมา 

 

ต่อมามีภาพปรากฏจากกล้องวงจรปิดที่สื่อมวลชนหามาได้จากจุดเกิดเหตุเปิดเผยความจริงว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมป้าบัวผันเป็นกลุ่มเยาวชน 5 คน ซึ่งในจำนวนนี้มี 2 คนที่เป็นลูกตำรวจในจังหวัดสระแก้ว

The post 9 ตำรวจ สภ.อรัญประเทศ ซ้อมทรมานลุงเปี๊ยกคดีป้าบัวผัน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-พ.ร.บ.อุ้มหายฯ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ดีเอสไอเตรียมนัด 4 หน่วยงานหารือข้อหา พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ปมลุงเปี๊ยกถูกตำรวจขู่ให้รับสารภาพฆ่าป้าบัวผัน https://thestandard.co/dsi-25012024/ Thu, 25 Jan 2024 07:41:40 +0000 https://thestandard.co/?p=892030

วันนี้ (25 มกราคม) ความคืบหน้าหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเ […]

The post ดีเอสไอเตรียมนัด 4 หน่วยงานหารือข้อหา พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ปมลุงเปี๊ยกถูกตำรวจขู่ให้รับสารภาพฆ่าป้าบัวผัน appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (25 มกราคม) ความคืบหน้าหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีที่พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธร (สภ.) อรัญประเทศ กระทำการบังคับข่มขู่ ปัญญา คงแสนคำ หรือ ลุงเปี๊ยก ให้รับสารภาพความผิดในคดีฆาตกรรม บัวผัน ตันสุ หรือ ป้ากบ เป็นคดีพิเศษ

 

พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับกรณีของลุงเปี๊ยกเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ในมาตรา 31 ระบุไว้ว่า หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนได้มีอยู่ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), กรมการปกครอง และสำนักงานอัยการสูงสุด

 

หลังจากนี้ดีเอสไอจะต้องแจ้งการรับคดีพิเศษนี้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรับทราบและมอบหมายให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมในการตรวจสอบกับดีเอสไอ รวมถึงเราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายครั้งแรก จึงมีความเห็นว่าควรเชิญหน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงานเข้ามาร่วมประชุมและเป็นพนักงานสอบสวนร่วมกัน โดยดีเอสไอจะเสนอเรื่องผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

 

พ.ต.ต. วรณัน กล่าวต่อว่า การที่ดีเอสไอส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบปากคำเบื้องต้นกับลุงเปี๊ยกถึงพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานพอสมควร มีเหตุที่จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนได้ แต่เร็วไปที่จะปักธงว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกระทำความผิด เพราะต้องดูรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน

 

สำหรับการดำเนินคดีหรืออัตราโทษ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีทั้งโทษทางปกครองและอาญา เบื้องต้นมีโทษจำคุกที่ 5-15 ปี

The post ดีเอสไอเตรียมนัด 4 หน่วยงานหารือข้อหา พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ปมลุงเปี๊ยกถูกตำรวจขู่ให้รับสารภาพฆ่าป้าบัวผัน appeared first on THE STANDARD.

]]>
ผบ.ตร. ย้ำ ตำรวจทุกนายต้องรู้และเข้าใจ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อย่าอ้างไม่รู้ ทำประชาชนเดือดร้อน https://thestandard.co/torsak-sukwimon-22012024/ Mon, 22 Jan 2024 08:55:21 +0000 https://thestandard.co/?p=890602

วันนี้ (22 มกราคม) ที่การประชุมบริหาร สำนักงานตำรวจแห่ง […]

The post ผบ.ตร. ย้ำ ตำรวจทุกนายต้องรู้และเข้าใจ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อย่าอ้างไม่รู้ ทำประชาชนเดือดร้อน appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (22 มกราคม) ที่การประชุมบริหาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ครั้งที่ 1/2567 (สัญจร) พล.ต.อ. ต่อศักดิ์  สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวก่อนเริ่มประชุมว่า วันนี้ประเด็นหลักในที่ประชุมจะเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ พ.ศ. 2565 และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2566 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

 

เพื่อสร้างความเข้าใจไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาทุกนายว่า จากนี้การทำงานของตำรวจต้องทำงานภายใต้กฎหมาย มีแนวทางปฏิบัติต้องทำให้ถูกต้อง จะมาใช้ความรู้สึกเดิมไม่ได้หรืออ้างว่าไม่รู้ข้อกฎหมายไม่ได้ เพราะจะทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

 

ซึ่งการประชุมวันนี้ก็จะเป็นการประชุมรวมทั่วประเทศ เพื่อเน้นย้ำว่าการใช้ดุลพินิจเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการสืบสวนสอบสวน แต่ยุคใหม่การสืบสวนต้องมาด้วยพยานหลักฐานที่ถูกต้องและรอบคอบ หากรวดเร็วเกินไปจะเกิดข้อผิดพลาด

 

ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 จะมีการเน้นย้ำเรื่อง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ โดย พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ ระบุว่า กรณีนี้ต้องเอาพนักงานสอบสวนมาอบรมใหม่ ไม่ปล่อยให้เขาไปทำหน้าที่ตามยถากรรม ต้องให้ความรู้กับข้าราชการตำรวจเรื่องนี้ และไม่ใช่เฉพาะแค่ภาค 2 เท่านั้น แต่ต้องให้ทั้งประเทศปฏิบัติตามได้ 

 

และในกรณีของ ปัญญา คงแสนคำ หรือลุงเปี๊ยก ที่ถูกบังคับให้รับสารภาพในคดีฆาตกรรม บัวผัน ตันสุ หรือป้ากบ ผบ.ตร. ระบุว่า กรณีนี้มีจเรตำรวจแห่งชาติเข้ามาทำหน้าที่สืบสวนข้อเท็จจริงด้วย ไม่ได้สอบสวนแค่เฉพาะในภาค 2 เท่านั้น มีคำสั่งให้กระบวนการแล้วเสร็จภายใน 15 วัน หากมีมูลความผิด ลำดับขั้นต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบวินัยร้ายแรง

 

มีรายงานว่า หากเข้าสู่ระเบียบการตรวจสอบวินัยฯ จะมีบทลงโทษคือ ปลดออกหรือไล่ออกจากราชการทันที

 

ในกรณีที่ตัวแทนจากสำนักงานอัยการพิจารณาว่าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้แล้วอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ แต่ตำรวจพิจารณาเบื้องต้นว่ายังไม่เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. ดังกล่าว พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนนี้ต้องรอให้มีผู้เสียหายเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ ทางลุงเปี๊ยกยังรักษาตัวอยู่ หากรวบรวมพยานหลักฐานแล้วก็เข้าสู่การดำเนินคดีต่อไปได้

The post ผบ.ตร. ย้ำ ตำรวจทุกนายต้องรู้และเข้าใจ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ อย่าอ้างไม่รู้ ทำประชาชนเดือดร้อน appeared first on THE STANDARD.

]]>
เคสลุงเปี๊ยกถูกบังคับสารภาพยังไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ชุดตรวจสอบพบตำรวจ 2 นายเข้าข่ายผิดวินัยตำรวจ-ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ https://thestandard.co/uncle-piek-forced-confession-20012567/ Sat, 20 Jan 2024 08:37:37 +0000 https://thestandard.co/?p=890090

วันนี้ (20 มกราคม) ที่จังหวัดสระแก้ว พล.ต.ท. สมประสงค์ […]

The post เคสลุงเปี๊ยกถูกบังคับสารภาพยังไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ชุดตรวจสอบพบตำรวจ 2 นายเข้าข่ายผิดวินัยตำรวจ-ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (20 มกราคม) ที่จังหวัดสระแก้ว พล.ต.ท. สมประสงค์ เย็นท้วม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีปรากฏคลิปเสียงเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน สถานีตำรวจภูธร (สภ.) อรัญประเทศ ได้บังคับขู่เข็ญให้ ปัญญา คงแสนคำ หรือ ลุงเปี๊ยก รับสารภาพในคดีฆาตกรรม บัวผัน ปันสุข หรือ ป้าบัวผัน หลังมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม

 

พล.ต.ท. สมประสงค์ กล่าวว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า มีข้าราชการตำรวจ สภ.อรัญประเทศ 2 นาย เข้าข่ายกระทำความผิดวินัยตำรวจตาม พ.ร.บ.ตำรวจฯ และใน 2 นายนี้ มีเพียง 1 นาย ผิดมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ 

 

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ.อุ้มหายฯ) นั้น พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งหลังจากนี้ตำรวจภูธรภาค 2 จะส่งสำนวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้พนักงานสอบสวนของตำรวจภูธรจังหวัดสระแก้ว สืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม หากพบว่ามีการกระทำผิด พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือกฎหมายอื่นใด จะได้กล่าวโทษดำเนินคดีกับตำรวจผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด

 

พล.ต.ท. สมประสงค์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร หนึ่งในผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธ แต่จากการรวบรวมพยานหลักฐานของคณะกรรมการทำให้น่าเชื่อได้ว่ากระทำความผิดจริง โดยหลังจากนี้จะให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายสอบสวนไปดำเนินการสอบสวนต่อ เพื่อนำมาประกอบสำนวนคดีอาญา

 

เมื่อถามว่า มีการใช้ถุงดำคลุมหัวลุงเปี๊ยกหรือไม่ พล.ต.ท. สมประสงค์ กล่าวว่า เป็นรายละเอียดของเอกสารในสำนวนที่จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องให้พนักงานสอบสวนไปสอบปากคำลุงเปี๊ยก เพราะคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ข้อมูลจากลุงเปี๊ยกมาในเบื้องต้นเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แพทย์ยังไม่ให้สอบปากคำลุงเปี๊ยกเพิ่มเติม เพราะอยู่ระหว่างการรักษาโรคพิษสุราเรื้อรังอยู่ คณะกรรมการสอบสวนจึงใช้หลักฐานอื่นพิจารณาก่อน

 

พล.ต.ท. สมประสงค์ กล่าวต่อว่า การจะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตัวของลุงเปี๊ยกต้องเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีเอง ฉะนั้นในชั้นนี้เป็นแค่การสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการเท่านั้น ซึ่งคาดว่าไม่เกิน 7 วันจะมีความชัดเจนเรื่องความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

 

“เรื่อง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ยังไม่จบ เพราะต้องไปสอบลุงเปี๊ยกว่าถูกตำรวจกระทำการอย่างไร จะกล่าวหาใครบ้างที่กระทำผิดต่อตนเองใน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ถ้ายืนยันดำเนินคดี ตำรวจก็จะมาดำเนินการให้ พร้อมมีอัยการเข้ามาควบคุมดูแลและกำกับการสอบสวน” พล.ต.ท. สมประสงค์ กล่าว

 

พล.ต.ท. สมประสงค์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ตำรวจ และ 5 สหวิชาชีพ ได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในการพิจารณาเอาผิดผู้ปกครองเยาวชนทั้ง 5 ราย ที่ก่อเหตุฆาตกรรมป้าบัวผัน นอกจากนี้มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบและสอบถามประชาชนว่า ได้รับความเดือดร้อนอย่างไรบ้างจากกลุ่ม ‘ตังค์ไม่ออก’ ที่ 5 ผู้ก่อเหตุนี้อยู่ด้วย

 

พร้อมได้ตักเตือนผู้ปกครองของเยาวชนทุกคนในกลุ่ม ให้ช่วยกันดูแลบุตรหลานของตัวเองไม่ให้ก่อเหตุสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะหลังเวลา 22.00 น. หากหลังจากนี้พบว่ามีเยาวชนยังละเมิด สร้างความเสียหาย ก็จะเรียกผู้ปกครองมารับทราบข้อกล่าวหาฐานปล่อยปละละเลย

 

ในส่วนคดีการเสียชีวิตของป้าบัวผัน พล.ต.ท. สมประสงค์ กล่าวว่า พนักงานสอบสวนสามารถทราบกลุ่มผู้ก่อเหตุแยกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มลูกตำรวจ 5 คน มีคดีค้างเก่า 4 คดี ได้แก่ คดีทำร้ายร่างกาย, ล่วงละเมิดทางเพศ (โก๊ะ 4 คดี, เชน 2 คดี) และกลุ่มที่สองคือกลุ่มตังค์ไม่ออก 12 คน มีคดีค้างเก่า 2 คดี คือ คดีทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต, คดีทำร้ายร่างกายและทำลายทรัพย์สิน (เผารถ)

 

พล.ต.ท. สมประสงค์ กล่าวต่อว่า ชุดสืบสวนได้ลงพื้นที่ติดตามตัวแก๊งตังค์ไม่ออกมาดำเนินการเอาผิดคดีค้างเก่า แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีผู้เข้ามาแจ้งความหรือร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถึงจะสามารถตรวจสอบและแจ้งข้อกล่าวหากลุ่มเยาวชนดังกล่าวได้

 

“ขอให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 2 ว่า สามารถจะดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่กระทำความผิดได้ทุกราย” พล.ต.ท. สมประสงค์ กล่าว

The post เคสลุงเปี๊ยกถูกบังคับสารภาพยังไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ชุดตรวจสอบพบตำรวจ 2 นายเข้าข่ายผิดวินัยตำรวจ-ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ appeared first on THE STANDARD.

]]>
กรรมการป้องกันการซ้อมทรมานฯ ชี้กรณีสามีป้าบัวผันเป็นผู้ต้องหา ตำรวจไม่มีสิทธิคลุมถุงดำขณะสอบปากคำ และต้องอัดวิดีโอทุกครั้ง https://thestandard.co/buaphan-case-husband-is-suspect-for-interrogation/ Thu, 18 Jan 2024 10:17:02 +0000 https://thestandard.co/?p=889358 ป้าบัวผัน

วันนี้ (18 มกราคม) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไท […]

The post กรรมการป้องกันการซ้อมทรมานฯ ชี้กรณีสามีป้าบัวผันเป็นผู้ต้องหา ตำรวจไม่มีสิทธิคลุมถุงดำขณะสอบปากคำ และต้องอัดวิดีโอทุกครั้ง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ป้าบัวผัน

วันนี้ (18 มกราคม) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หนึ่งในองค์กรที่ขับเคลื่อนเพื่อยุติการทรมานและอุ้มหาย ที่ร่วมผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation-CrCF) มีโอกาสพูดคุยกับ สมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการคลุมถุงปัญญา หรือ เปี๊ยก ผู้ต้องสงสัยคดีการเสียชีวิตของป้าบัวผัน หรือ ป้ากบ ตามที่เป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้

 

โดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ชี้ว่าตำรวจไม่มีอำนาจคลุมถุงดำขณะสอบปากคำปัญญา หรือ เปี๊ยก ผู้ต้องสงสัยคดีการเสียชีวิตของป้าบัวผัน หรือป้ากบ เพราะผิดกฎหมายทรมาน อุ้มหาย มาตรา 6 อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดมาตรา 157 และขณะควบคุมตัวต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวเป็นหลักฐานยืนยันความโปร่งใสขณะจับกุม ย้ำตำรวจไทยต้องไม่ลืมปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

  

จากคดีการเสียชีวิตของป้าบัวผัน หรือ ป้ากบ ที่พบเยาวชนในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ตกเป็นผู้ต้องหาเพราะร่วมกันก่อเหตุ ยังเป็นคดีฆาตกรรมที่สังคมให้ความสนใจ เพราะก่อนหน้านี้มีผู้ต้องสงสัยคือ ปัญญา หรือเปี๊ยก สามีของ บัวผัน ผู้เสียชีวิต ออกมาให้ปากคำกับตำรวจ และทำแผนประกอบคำรับสารภาพตามพื้นที่ต่างๆ จนล่าสุดมีการตั้งข้อสงสัยถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจที่ดูแลคดีความว่าโปร่งใส และผิดกฎหมายมาตราใดบ้างในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

 

ภายหลังจากที่มีการออกมาอ้างว่าขณะควบคุมตัวเปี๊ยก สามีของบัวผัน ผู้เสียชีวิต ตำรวจไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างการจับกุมด้วยกล้อง Body Camera ตามมาตรา 22 ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ ‘พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย’ โดยอ้างว่าเป็นการเชิญตัว และผู้ต้องสงสัยยินดีที่จะมอบตัว รวมถึงมีคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นเสียงของตำรวจที่เกี่ยวข้องกับคดีความคุยกันว่า มีการนำถุงดำคลุมหัวเปี๊ยกในห้องสอบปากคำ โดยคุยกันในลักษณะที่ว่าเป็นการทำเล่นๆ ไม่ได้มัดหรือทำให้หายใจไม่สะดวก

 

ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีต่างๆ ตำรวจต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว Body Camera ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย

 

สมชาย หอมลออ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เผยว่า การเชิญตัวหรือให้มอบตัวใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ในคดีการเสียชีวิตของบัวผัน หากตำรวจไม่บันทึกภาพและเสียงด้วยภาพเคลื่อนไหวผ่านกล้อง Body Camera ตามมาตรา 22 ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานอุ้มหาย ขณะควบคุมตัว โดยอ้างว่าไม่ได้บังคับเพราะผู้ต้องสงสัยคือเปี๊ยกเต็มใจมอบตัวกับตำรวจนั้น

 

ในกรณีนี้ต้องดูพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ มานำตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาไปสอบปากคำ แม้ตำรวจอ้างว่าเชิญตัว แต่หากผู้ถูกเชิญตัวแล้วไม่ไป หรือไม่ให้ความร่วมมือ ตำรวจจะใช้กำลังก็ถือว่าเป็นการควบคุมตัวแล้ว หรือถ้าผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาเข้าใจว่า ถ้าตำรวจบอกให้ไป ตัวเองต้องไป มิเช่นนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้กำลังบังคับ ก็หมายถึงเป็นการจับกุมหรือควบคุมตัวเช่นกัน จึงต้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวตลอดเวลาจนกว่าจะส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน และระหว่างการสอบปากคำต้องมีการบันทึกภาพและเสียงด้วยจนสิ้นสุดตามกฎหมาย 

 

“ถ้าตำรวจอ้างว่าเป็นการเชิญตัวลุงเปี๊ยกมาสอบปากคำ และเป็นการมามอบตัวเอง จึงไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวผ่านกล้อง Body Camera สำหรับเรื่องนี้แม้ตำรวจจะอ้าง แต่ว่าผู้บังคับบัญชาต้องสอบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสอบสวนผู้ที่เห็นเหตุการณ์ โดยเฉพาะลุงเปี๊ยก ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของบัวผัน ว่าเขารู้สึกอย่างไรหรือเข้าใจอย่างไรตอนนั้น ตำรวจมีพฤติกรรมอย่างไร ถ้าเขาเข้าใจว่าตำรวจเข้ามาควบคุมตัว ถ้าตัวเองไม่ไปก็ไม่ได้ น่าจะถือว่าเป็นการจับกุม เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาต้องสอบสวนให้ชัด มันเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะว่าเป็นการคุกคามต่อสวัสดิภาพหรือเสรีภาพของประชาชน ถ้าปล่อยให้ตำรวจอ้างตลอดเวลาว่าเชิญตัว พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะไม่มีผลบังคับใช้” 

 

ตำรวจไทย ไม่มีสิทธิคลุมถุงดำสอบปากคำผู้ต้องสงสัย-ผู้ต้องหา เข้าข่ายโหดร้าย ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

ส่วนกรณีที่มีคลิปเสียงอ้างว่าเป็นการคุยกันระหว่างตำรวจที่เกี่ยวข้องในคดีการเสียชีวิตของบัวผัน ที่พูดถึงการใช้ถุงดำคลุมหัวเปี๊ยก ผู้ต้องสงสัยในขณะนั้น สมชายระบุว่า หากเป็นเรื่องจริงการที่ตำรวจใช้ถุงดำคลุมศีรษะผู้ต้องสงสัยคดีนี้ ถือเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐโดยมิชอบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 6 ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

 

“อยากจะถามว่าเปี๊ยกเป็นเพื่อนเล่นของตำรวจหรืออย่างไร ถึงเล่นกันโดยการนำถุงดำมาคลุมหัวเล่นกับเขา ซึ่งถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ โดยพฤติกรรมถ้าฝ่ายหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย อีกฝ่ายหนึ่งตกอยู่ในสภาพผู้ต้องสงสัยว่าจะกระทำความผิด แล้วตำรวจกำลังสอบปากคำ เอาถุงดำมาคลุม ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 

 

ประเด็นที่สองน่าจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดที่มีลักษณะโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะว่าคนที่ถูกถุงดำคลุมขณะอยู่ในภาวะเช่นนั้น ต้องมีความรู้สึกตกใจอย่างมากจนแทบสิ้นสติ น่าจะมีความรู้สึก หวาดกลัวอย่างสุดขีด”

 

ส่วนกรณีที่มีประเด็นอ้างว่าตำรวจถอดเสื้อเปี๊ยก ผู้ต้องสงสัยระหว่างอยู่ในห้องสอบปากคำให้อยู่ในที่แอร์เย็น ถือเป็นการทรมานหรือไม่ สมชายบอกว่าในส่วนนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีเช่นกัน โดยอาจไม่ถึงขั้นทรมาน

 

วอน ผบ.ตร. ลงโทษหนักตำรวจละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาทุกคน 

 

สมชายกล่าวทิ้งท้ายถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในคดีการเสียชีวิตของบัวผัน ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว รวมถึงคดีอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการทรมานและอุ้มหายว่า ตำรวจคือเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย เป็นผู้ที่รักษากฎหมายและมีอำนาจตามกฎหมาย มีหน้าที่ในการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน หากตำรวจมีพฤติกรรมแบบที่ปรากฏเป็นข่าวจริง คือการทำความผิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและระดับสากล รวมถึงเป็นการกระทำที่ชี้ชัดว่าผิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานอุ้มหาย เรื่องนี้ผู้บังคับบัญชาต้องดำเนินการอย่างจริงจังทั้งในทางวินัยและในทางอาญา

 

“เรื่องนี้น่าจะได้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกับผู้เสียหาย ในทางกฎหมายแนะนำว่าน่าจะต้องมีการแจ้งไปที่พนักงานอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) หรือฝ่ายปกครอง เพื่อให้ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ในส่วนนี้ หากทางผู้เสียหายไม่ดำเนินการ ใครก็สามารถแจ้งไปที่พนักงานอัยการ DSI หรือแจ้งไปที่นายอำเภอ และปลัดอำเภอได้ด้วยเช่นกัน ถ้าเป็นคดีที่เข้าข่ายในลักษณะความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่ใครๆ ก็สามารถแจ้งได้”

            

ส่วนที่มีการสั่งย้ายตำรวจชุดสืบสวนสอบสวนเดิมในคดีการเสียชีวิตของบัวผัน เรื่องนี้สมชายฝากถึง พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) การย้ายตำรวจที่อาจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ยังไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นเพียงการย้ายเพื่อที่จะทำการสืบสวนสอบสวนต่อเพื่อไม่ให้ไปยุ่งเหยิงกับพยานในพื้นที่ ตามหลักสิทธิมนุษยชน หรือทำให้เห็นความโปร่งใสในการทำงานของตำรวจ เสนอให้พักราชการจนกว่าจะสืบสวนสอบสวนสิ้นสุด

 

“พฤติกรรมอย่างนี้น่าจะสั่งพักราชการไปเลย ขั้นตอนต่อไปควรต้องดำเนินคดีทางวินัยและอาญากับตำรวจกลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้ตำรวจคนอื่นๆ ทำเป็นเยี่ยงอย่างต่อไป อันนี้ฝากท่านรอง ผบ.ตร. ด้วย เพราะท่านเป็นคนเอาจริงเอาจังและเคร่งครัด อยากจะให้เอาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ถูกใช้อย่างจริงจังในสังคมไทย ไม่ควรมีใครถูกกระทำอย่างย่ำยีศักดิ์ศรี โหดร้าย และไร้มนุษยธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ”

 

การทรมานคือการที่เจ้าหน้าที่รัฐสร้างความเจ็บปวดต่อผู้เสียหายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ให้ยอมรับสารภาพ หรือเพื่อข่มขู่ให้กลัว การทรมานอาจก่อให้เกิดบาดแผลทางร่างกายจากการถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย เช่น ทุบ ตี ทำร้ายร่างกาย บีบหรือรัดคอให้หายใจไม่ออก หรือในทางจิตใจ เช่น การบังคับให้อดนอน อดอาหารและน้ำ หรือสร้างความอับอายให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ การทรมานด้วยรูปแบบใหม่ๆ อาจทำให้ไม่เกิดรอยแผลบนผู้เสียหาย แต่สร้างความเจ็บปวดอันสาหัส เช่น การทุบด้วยวัสดุพิเศษ หรือขังไว้ในห้องเย็น ทำให้การตรวจสอบร่องรอยการทรมานทำได้ยากขึ้น

 

การทรมานเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดประเภทหนึ่ง และเป็นสิ่งที่ถูกห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเด็ดขาด เนื่องจากการทรมานเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนและย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ บ่อนทำลายขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม ทั้งไม่มีเหตุผลหรือกรณีใดๆ ที่สามารถรับรองความชอบธรรมของการทรมานได้

 

The post กรรมการป้องกันการซ้อมทรมานฯ ชี้กรณีสามีป้าบัวผันเป็นผู้ต้องหา ตำรวจไม่มีสิทธิคลุมถุงดำขณะสอบปากคำ และต้องอัดวิดีโอทุกครั้ง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศาลชั้นต้นเปิดทำการวันหยุด-นอกเวลาทำการ เอื้อผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องใน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ https://thestandard.co/the-court-of-first-instance-is-open-for-holidays/ Tue, 23 May 2023 06:38:07 +0000 https://thestandard.co/?p=794089 ศาลอาญา

วันนี้ (23 พฤษภาคม) ภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสำนักงานศา […]

The post ศาลชั้นต้นเปิดทำการวันหยุด-นอกเวลาทำการ เอื้อผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องใน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศาลอาญา

วันนี้ (23 พฤษภาคม) ภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ออกหนังสือเวียนด่วนที่สุด เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเปิดทำการศาลในวันหยุดราชการ เพื่อพิจารณาคำร้องตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 (พ.ร.บ. อุ้มหายฯ)

 

ถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม ความว่า ตามที่ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการเปิดทำการศาลและพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันหยุดราชการ พ.ศ. 2562 

 

ข้อ 5 กำหนดให้ศาลชั้นต้นเปิดทำการในวันหยุดราชการทุกวัน เพื่อพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และข้อ 4 กำหนดให้การเปิดทำการศาลในวันหยุดราชการนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในข้อ 4-7 หรือเปิดทำการศาลนอกเวลาทำการปกติ 

 

เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความยุติธรรม ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์, ประธานศาลอุทธรณ์ภาค, ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ, อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี อาจพิจารณากำหนดให้เปิดทำการตามความเหมาะสมนั้น 

 

สำนักงานศาลยุติธรรมขอเรียนว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2563 หมวด 3 การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรา 24 กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่ตนเอง มีภูมิลำเนา ศาลอาญา หรือศาลจังหวัดแห่งท้องที่

 

ที่เชื่อว่ามีการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือพบเห็นผู้ถูกกระทำให้สูญหายครั้งสุดท้าย เพื่อให้ศาลสั่งเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวได้ และมาตรา 26 กำหนดให้บุคคลตาม (1)-(6) มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา เพื่อให้มีคำสั่งยุติการกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย 

 

ดังนั้นเพื่อรองรับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และเพื่อเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน จึงขอแจ้งแนวปฏิบัติสำหรับศาลชั้นต้นที่มีอำนาจรับและพิจารณาคำร้องตามพระราชบัญญัติฯ เกี่ยวกับการเปิดทำการศาลในวันหยุดราชการ ตามระเบียบฯ ข้อ 5 และข้อ 8 ให้รวมถึงการรับและพิจารณาคำร้องตามมาตรา 24 และมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ด้วย 

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการตามแนวปฏิบัติดังกล่าวต่อไป

The post ศาลชั้นต้นเปิดทำการวันหยุด-นอกเวลาทำการ เอื้อผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องใน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ผบ.ตร. ยืนยัน ตำรวจพร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ไม่ใส่เกียร์ว่าง แม้อุปกรณ์ไม่พร้อม https://thestandard.co/disappearance-act-190566/ Fri, 19 May 2023 08:39:23 +0000 https://thestandard.co/?p=792794

วันนี้ (19 พฤษภาคม) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต […]

The post ผบ.ตร. ยืนยัน ตำรวจพร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ไม่ใส่เกียร์ว่าง แม้อุปกรณ์ไม่พร้อม appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (19 พฤษภาคม) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงประเด็นที่เมื่อวานนี้ (18 พฤษภาคม) ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้กลับมาใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 หรือ ‘พ.ร.บ.อุ้มหายฯ’ 

 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวว่า ตร. ได้ดำเนินการตั้งแต่เมื่อวานนี้โดยได้มีการประชุม และวันนี้ได้กำชับกันอีกรอบหนึ่ง แม้อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้อาจมีไม่พอเพียงก็พยายามให้หมุนเวียนใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 

 

วันนี้ทราบว่ากระทรวงยุติธรรมจะเชิญตำรวจไปประชุมเรื่องการเตรียมการออกระเบียบกลาง โดยทางตำรวจจะวางแนวทางของตำรวจเองไปพลางก่อนเพื่อให้ปฏิบัติได้ไม่ผิดกฎหมาย ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ทำงานให้ดีที่สุดภายใต้ปัจจัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงหลักของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ คืออะไร พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวว่า ไม่อยากให้ตำรวจไปทำอะไรต่างๆ ที่ไม่ดี เวลาการจับกุม การควบคุมตัว ไม่ให้มีการซ้อมทรมานหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ขั้นตอนที่เป็นปัญหาการปฏิบัติของตำรวจ โดยเฉพาะผู้จับกุม คือการบันทึกภาพและเสียงในขณะที่จับกุมตัวและควบคุมตัว 

 

ซึ่งตำรวจมี 2 แสนกว่านาย อุปกรณ์ที่จัดซื้อไว้หลายปีที่ผ่านมามีประมาณ 1.2 แสนชุด ชำรุดไปพอสมควร แต่เมื่อมี พ.ร.บ.นี้ออกมา ก็อยู่ระหว่างจัดหาอุปกรณ์เพิ่มเติม ขณะนี้เป็นไปในลักษณะการเวียนใช้ไปก่อน

 

พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากนี้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ นี้จะมีขั้นตอนออกมาจำนวนมาก กรณีการจับกุมต้องให้มีการบันทึกภาพและเสียงการควบคุมตัว การแจ้งต่อฝ่ายปกครอง อัยการ วิธีการแจ้งและการทำบันทึกการแจ้ง การเก็บข้อมูลต่างๆ ก็จะมีขั้นตอน 

 

ส่วนการเก็บข้อมูลในการบันทึกภาพและเสียงไว้ต้องถึงคดีสิ้นสุดหรือขาดอายุความ ก็ต้องมีหน่วยจัดเก็บจำนวนมาก เป็นขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งตำรวจจะพยายามทำงานให้เป็นไปตามกฎหมายไม่ให้เกิดข้อบกพร่อง

 

“ผมได้เน้นย้ำไปแล้วให้ตำรวจต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อย่าใส่เกียร์ว่าง ส่วนระเบียบกลางยังไม่ได้มีการซักซ้อมกันให้ครบ แต่ก็จะต้องแจ้งกันผ่านศูนย์ประสาน โทรศัพท์ อีเมล” พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าว

The post ผบ.ตร. ยืนยัน ตำรวจพร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ไม่ใส่เกียร์ว่าง แม้อุปกรณ์ไม่พร้อม appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศาล รธน. ชี้รัฐบาลประยุทธ์ ออก พ.ร.ก.ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานอุ้มหาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ https://thestandard.co/act-prevention-abuse-and-disappearance-180566/ Thu, 18 May 2023 07:40:54 +0000 https://thestandard.co/?p=792290 ศาลรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (18 พฤษภาคม ) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต […]

The post ศาล รธน. ชี้รัฐบาลประยุทธ์ ออก พ.ร.ก.ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานอุ้มหาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศาลรัฐธรรมนูญ

วันนี้ (18 พฤษภาคม ) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ไม่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 วรรคสาม

 

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 99 คนซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 22-25 จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อครบกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แก้ไขเป็นให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา 172 วรรคหนึ่ง จึงส่งความเห็นดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 วรรคหนึ่ง

The post ศาล รธน. ชี้รัฐบาลประยุทธ์ ออก พ.ร.ก.ขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานอุ้มหาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศาล รธน. รับคำร้องตีความ พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายป้องกันอุ้มหาย สั่ง ครม.-ผบ.ตร. ส่งความเห็นและหลักฐานภายใน 15 วัน https://thestandard.co/postpone-enforcement-of-anti-lost-prevention-law/ Thu, 23 Mar 2023 06:54:56 +0000 https://thestandard.co/?p=767291

วันนี้ (23 มีนาคม) ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ประชุมปรึกษาคดี […]

The post ศาล รธน. รับคำร้องตีความ พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายป้องกันอุ้มหาย สั่ง ครม.-ผบ.ตร. ส่งความเห็นและหลักฐานภายใน 15 วัน appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (23 มีนาคม) ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ประชุมปรึกษาคดีสำคัญ เรื่อง พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง หรือไม่ 

 

จากกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 99 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่าพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มาตรา 22, 23, 24 และ 25 จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 แก้ไขเป็น ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

 

โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงส่งความเห็นดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคหนึ่ง

 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม และเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (1) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย แจ้งให้ผู้ร้องทราบ และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 วรรคสาม ให้คณะรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จัดทำความเห็นตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดโดยจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

The post ศาล รธน. รับคำร้องตีความ พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายป้องกันอุ้มหาย สั่ง ครม.-ผบ.ตร. ส่งความเห็นและหลักฐานภายใน 15 วัน appeared first on THE STANDARD.

]]>