การค้า – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 20 Feb 2025 12:44:58 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ปิดดีล FTA ไทย-ภูฏาน เตรียมลงนามต้นเมษายนนี้ สร้างแต้มต่อส่งออก-ขยายโอกาสการค้าไทย https://thestandard.co/thailand-bhutan-fta-this-april/ Thu, 20 Feb 2025 12:44:58 +0000 https://thestandard.co/?p=1044266

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่ากา […]

The post ปิดดีล FTA ไทย-ภูฏาน เตรียมลงนามต้นเมษายนนี้ สร้างแต้มต่อส่งออก-ขยายโอกาสการค้าไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยผลสำเร็จการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 4 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเมื่อวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ ที่กรุงเทพฯ ว่า ไทยและภูฏานสรุปผลการเจรจาได้รวดเร็วในเวลาเพียง 9 เดือน โดย FTA ไทย-ภูฏาน จะเป็น FTA ฉบับที่ 17 ของไทย และฉบับที่ 2 ของตนนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าต่างๆ เพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการส่งออกสินค้าของไทย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเตรียมจะลงนาม FTA ไทย-ภูฏาน ในช่วงการประชุมผู้นำบิมสเทค (BIMSTEC) ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 2-4 เมษายน 2568

 

สำหรับความตกลง FTA ไทย-ภูฏาน ครอบคลุมประเด็นการค้าสินค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งไทยและภูฏานตกลงให้มีการเปิดตลาดระหว่างกันในระดับสูง ครอบคลุมมูลค่าระหว่างกันเกือบทั้งหมด โดยสินค้าที่ภูฏานสนใจจะนำเข้าจากไทย เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าเกษตรและอาหาร (ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารปรุงแต่ง) สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ FTA ไทย-ภูฏาน ยังเป็นกลไกช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจและมีศักยภาพร่วมกัน เช่น การท่องเที่ยว เกษตร การศึกษาและฝึกอบรมด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา และพลังงานหมุนเวียน 

 

 

“FTA ไทย-ภูฏาน ถือเป็นอีกหนึ่งผลสำเร็จของรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ของไทยให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใหญ่หรือเล็ก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สินค้าไทย และเป็น FTA ฉบับที่ 2 ที่ไทยปิดดีลได้สำเร็จ ภายหลังที่ตนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต่อจาก FTA กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ EFTA ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ และไทยยังอยู่ระหว่างเจรจา FTA กับ UAE สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และ EU โดย FTA ไทย – EU มุ่งมั่นที่จะบรรลุข้อตกลงภายในสิ้นปีนี้ ตามแนวทางการเจรจาที่ท่านนายกฯ ให้ไว้” พิชัยกล่าว

 

พิชัยกล่าวว่า ไทยและภูฏานมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในทุกระดับ ทั้งนี้ ภูฏานสามารถเป็นตลาดส่งออกสินค้าให้กับไทยได้ในระยะยาว แม้ว่าจะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่เศรษฐกิจของภูฏานยังเติบโตได้อีกมาก ประกอบกับชาวภูฏานชื่นชอบและเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทย และต้องการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยมองว่า FTA ไทย-ภูฏาน จะช่วยให้ชาวภูฏานเข้าถึงสินค้าของไทยได้สะดวกยิ่งขึ้น

 

พิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ต่อจากนี้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะจัดประชุมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในเดือนมีนาคม ก่อนจะนำเสนอผลการเจรจาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อเตรียมพร้อมการลงนาม FTA ดังกล่าวในช่วงการประชุมผู้นำบิมสเทคในเดือนเมษายน 

 

ในปี 2567 การค้าระหว่างไทยและภูฏานมีมูลค่า 460.47 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปภูฏาน 457 ล้านบาท และนำเข้าจากภูฏาน 3.47 ล้านบาท สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เครื่องดื่ม และผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูป และสินค้านำเข้าสำคัญของไทย เช่น ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ไม้ซุง ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลม และสุรา

The post ปิดดีล FTA ไทย-ภูฏาน เตรียมลงนามต้นเมษายนนี้ สร้างแต้มต่อส่งออก-ขยายโอกาสการค้าไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>
อินเดีย-สหรัฐฯ เล็งเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2030 https://thestandard.co/india-us-trade-2030/ Sat, 15 Feb 2025 06:32:41 +0000 https://thestandard.co/?p=1042274 india-us-trade-2030

อินเดียและสหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกั […]

The post อินเดีย-สหรัฐฯ เล็งเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2030 appeared first on THE STANDARD.

]]>
india-us-trade-2030

อินเดียและสหรัฐฯ ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่าสองเท่า เป็น 5 แสนล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 17 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030 

 

นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดี (13 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา โดยโมดีกล่าวว่า “ทีมงานของเราจะทำงานเพื่อสรุปข้อตกลงทางการค้าที่เป็นประโยชน์ร่วมกันโดยเร็วที่สุด”

 

ทรัมป์รับทราบถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดของอินเดียในการลดภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภท และกล่าวว่า เขาจะเริ่มหารือเกี่ยวกับความแตกต่างทางการค้า และหวังว่าจะบรรลุข้อตกลงได้

 

คำกล่าวเหล่านี้มีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ทรัมป์ลงนามในบันทึกประธานาธิบดี ซึ่งสรุปแผนการของเขาในการกำหนด ‘ภาษีตอบโต้’ กับประเทศต่างๆ รวมทั้งอินเดีย

 

ทรัมป์กล่าวว่า สหรัฐฯ จะเรียกเก็บภาษีในอัตราเดียวกับที่อินเดียเรียกเก็บ ขณะที่การขาดดุลการค้ากับอินเดียสามารถแก้ไขได้ด้วยการขายน้ำมันและก๊าซ

 

อัตราภาษีเฉลี่ยอย่างง่ายของอินเดียสำหรับประเทศที่มีสถานะประเทศที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored-Nation – MFN) อยู่ที่ 17% เทียบกับสหรัฐฯ ที่เก็บภาษี 3.3% สหรัฐฯ มีสถานะ MFN กับประเทศเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่

 

มูลค่าการค้าระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 1.29 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2024 ตามข้อมูลจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ อินเดียเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในฐานะคู่ค้าใหญ่อันดับสองของประเทศ คิดเป็นมูลค่า 4.57 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว

 

ทรัมป์กล่าวในการแถลงข่าวว่า สหรัฐฯ จะเพิ่มยอดขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่อินเดียเริ่มตั้งแต่ปีนี้ และในที่สุดจะมอบเครื่องบินขับไล่ F-35 ให้กับพันธมิตรเอเชีย เพื่อพยายามต่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่า “ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรง” อินเดียเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์ป้องกันที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

โมดีกล่าวว่า อินเดียและสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกันในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์และเซมิคอนดักเตอร์ ในขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นไปที่การสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งสำหรับแร่ธาตุหายาก

 

“ตอนนี้เราเป็นประเทศที่ใช้หลักการต่างตอบแทน เราจะเรียกเก็บภาษีเท่ากับที่อินเดียเรียกเก็บ ไม่ว่าประเทศอื่นจะเรียกเก็บเท่าไหร่ เราก็จะเรียกเก็บเท่านั้น เรียกว่าต่างตอบแทน ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีที่ยุติธรรมมาก” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวในการแถลงข่าว

 

ประธานาธิบดีกล่าวว่า ภาษีตอบโต้จะไม่เริ่มมีผลในทันที เนื่องจากฝ่ายบริหารของเขากำลังดำเนินการเพื่อกำหนดระดับภาษีที่เหมาะสมสำหรับแต่ละประเทศที่ได้รับผลกระทบ

 

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ได้กำหนดภาษีกับจีน แคนาดา และเม็กซิโก รวมถึงภาษีทั่วโลกสำหรับการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ภาษีของทรัมป์ต่อแคนาดาและเม็กซิโกหยุดชั่วคราวหลังจากทั้งสองประเทศให้คำมั่นว่าจะปราบปรามการค้ายาเสพติดผิดกฎหมายที่ชายแดนของตนกับสหรัฐฯ

 

แดเนียล บาลาซ นักวิจัยจาก S. Rajaratnam School of International Studies กล่าวว่า แม้จะมีท่าทีให้กำลังใจจากการประชุม แต่สัญญาณของความขัดแย้งยังคงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-อินเดีย เช่น ประเด็นการเข้าเมืองผิดกฎหมายและความสัมพันธ์ใกล้ชิดของอินเดียกับรัสเซีย

 

ภาพ: Andrew Harnik / Staff / Getty Images 

 

อ้างอิง:

The post อินเดีย-สหรัฐฯ เล็งเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 5 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2030 appeared first on THE STANDARD.

]]>
ถอดกลยุทธ์ รมว.พาณิชย์ ทำอย่างไรถึงปิดดีล FTA ไทย – EFTA ฉบับแรกกับยุโรปได้สำเร็จ https://thestandard.co/thailand-efta-fta-success/ Fri, 24 Jan 2025 06:19:13 +0000 https://thestandard.co/?p=1033955 thailand-efta-fta-success

พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภ […]

The post ถอดกลยุทธ์ รมว.พาณิชย์ ทำอย่างไรถึงปิดดีล FTA ไทย – EFTA ฉบับแรกกับยุโรปได้สำเร็จ appeared first on THE STANDARD.

]]>
thailand-efta-fta-success

พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ THE STANDARD ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ โดยเปิดเผยถึงกลยุทธ์ที่ทำให้ไทยสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) กลายมาเป็นความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ฉบับแรกกับยุโรปได้สำเร็จ ได้แก่ ผู้บริหารต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีและเครือข่ายที่แข็งแกร่ง

 

“ต้องเรียนตรงๆ ว่าการเจรจา FTA เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากในการเจรจาของเจ้าหน้าที่ทุกระดับตั้งแต่ระดับบน กลาง ถึงล่าง ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตนเอง แต่การปกป้องที่เกินไปก็จะไม่สามารถทำให้ข้อตกลงจบลงได้ ดังนั้นในฐานะผู้บริหารจึงตัดสินใจว่าสิ่งใดถอยได้ สิ่งใดถอยไม่ได้”

 

ทั้งนี้ EFTA ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ โดยเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง พร้อมทั้งมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์จึงคาดว่าความตกลงดังกล่าวจะทำให้ GDP ของไทยขยายตัวเพิ่มอีก 0.179% ต่อปี

 

พิชัยเล่าอีกว่า “อีกส่วนที่ทำให้การเจรจาสำเร็จได้ส่วนหนึ่งมาจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยในช่วงเริ่มต้นของการเจรจา สถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ส่งหนังสือชวนทักษิณไปรับประทานอาหารร่วมกัน พร้อมเชิญผมไปด้วย จึงได้เริ่มพูดคุยและประสานกัน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้น

 

“การทำการค้า (Trading) ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ยกหูหากันได้ เข้าใจกัน ใจถึงใจ ความผูกพันต้องมี ยกตัวอย่างเวลาผมเจรจา ผมจะพยายามค่อยๆ ละลายน้ำแข็ง (Break the Ice) ต้องอารมณ์ดี ไม่ใช่เข้าไปก็บึ้งตึงต่อกัน”

 

การลงนาม FTA ที่งาน World Economic Forum สำคัญอย่างไร?

 

พิชัยระบุว่า “เป้าหมายการเยือนดาวอสครั้งนี้เป็นการประกาศว่าไทยพร้อมแล้ว เนื่องจากต้องยอมรับว่าช่วงใน 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนการต่างประเทศและการค้าต่างประเทศของไทยหายไป ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ เพราะฉะนั้นการจะกลับมาฟื้นเศรษฐกิจได้ ที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความไว้วางใจ (Trust) และความมั่นใจ (Confidence) ว่าไทยกำลังกลับมาแล้ว

 

“ดังนั้นการลงนามครั้งนี้ ณ เวที World Economic Forum ที่ดาวอส ถือเป็นการสร้างกระแสครั้งใหญ่ เป็นการโฆษณาให้ทั่วโลกรู้ทันทีว่าประเทศไทยกลับมาแล้ว”

 

FTA ไทย – EFTA ฉบับแรกกับยุโรปสำคัญอย่างไร?

 

พิชัยกล่าวว่า FTA ไทย – EFTA ครั้งนี้ถือเป็น FTA ที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นบันไดไปสู่การเจรจาทำ FTA กับประเทศอื่นๆ ของสหภาพยุโรปต่อไป

 

“การทำ FTA ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากก่อนที่บริษัทต่างๆ จะตัดสินใจมาลงทุนก็ย่อมต้องดู FTA ด้วย โดยหากไทยไม่มี FTA อาจเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง ดังนั้นการที่ประเทศไหนได้ลงนาม FTA เรื่อยๆ นับว่าเป็นแต้มต่อ ยกตัวอย่างเช่น หนึ่งในเหตุผลที่การส่งออกและการลงทุนของเวียดนามขยายตัวดีกว่าไทย ก็เป็นผลมาจากเวียดนามมี FTA กับ 56 ประเทศ ขณะที่ไทยมี FTA กับเพียง 19 ประเทศเท่านั้น ไทยจึงต้องไล่กวดให้ทัน”

 

รู้จัก EFTA เพิ่มเติม

 

EFTA ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ เป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูงและมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

 

EFTA เป็นคู่ค้าอันดับที่ 2 ของไทยในยุโรป โดยในปี 2024 การค้าของไทยกับ EFTA มีมูลค่า 11,788.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นนักลงทุนอันดับที่ 14 จากนักลงทุนชาวต่างชาติทั้งหมด มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 1,422 ล้านบาท (สวิตเซอร์แลนด์เป็นนักลงทุนอันดับ 1 ตามด้วยลิกเตนสไตน์และนอร์เวย์)

 

ไทยและ EFTA ประกาศเปิดการเจรจา FTA ระหว่างกันเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2022 มีการประชุม 10 รอบ ใช้เวลา 2 ปี และสามารถสรุปผลการเจรจาร่วมกันได้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2024

 

FTA ไทย – EFTA ถือเป็น FTA ฉบับที่ 16 ของไทย ทำให้ไทยมี FTA ที่ครอบคลุมคู่ค้าเพิ่มขึ้นเป็น 23 ประเทศ ครอบคลุมการค้าประมาณ 62% ของการค้าไทยกับโลก

 

FTA ฉบับนี้ถือเป็นฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป และเป็น FTA ที่มีความทันสมัย มาตรฐานสูง

 

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจาก FTA ไทย – EFTA

 

ในภาพรวมไทยจะได้รับประโยชน์รอบด้าน ทั้งการเพิ่มมูลค่าส่งออก ลดต้นทุนการนำเข้า ดึงดูดการลงทุนในสาขาที่สนับสนุนการพัฒนาประเทศของไทย ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหลายสาขา ที่จะส่งเสริมการพัฒนาระดับมาตรฐานและเพิ่มขีดความสามารถให้ไทยแข่งขันได้บนเวทีโลก

 

โดย EFTA จะยกเว้นภาษีนำเข้า (ภาษี 0%) ให้กับไทยในสินค้าประมาณ 90% ของรายการสินค้าทั้งหมด พร้อมยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมทุกรายการ รวมถึงสินค้าเกษตรบางรายการให้กับไทยทันทีในวันแรกที่ FTA มีผลบังคับใช้

 

ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่จะได้รับประโยชน์ เช่น ข้าว, ข้าวโพดหวาน, ผักและผลไม้สดและแปรรูป, ซอสปรุงรส, เครื่องดื่ม, อาหารทะเลสดและแปรรูป, อัญมณีและเครื่องประดับ, นาฬิกาและส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์, เครื่องนุ่งห่ม, เคมีภัณฑ์, ยาง, ผลิตภัณฑ์พลาสติก และยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์

 

นอกจากนี้ การเปิดตลาดของไทยให้กับ EFTA จะช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตสินค้าเพื่อใช้ในประเทศหรือเพื่อส่งออก ซึ่งสินค้าวัตถุดิบที่ไทยนำเข้าจาก EFTA เช่น ทองคำ ชิ้นส่วนนาฬิกา

 

โดย EFTA ยังเปิดให้นักลงทุนไทยเข้าไปประกอบธุรกิจ โดยถือหุ้นในกิจการได้ถึง 100% ในหลายสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ก่อสร้าง, โรงพยาบาล, บริการทางการแพทย์, ค้าปลีก, ท่องเที่ยว, โรงแรม, ร้านอาหาร, ธุรกิจความงามและเสริมสุขภาพ และการดูแลสัตว์เลี้ยง

 

นอกจากนี้ การเปิดตลาดบริการของไทยจะดึงดูดการลงทุนจาก EFTA โดยเฉพาะในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่ง EFTA มีความเชี่ยวชาญ และไทยต้องการได้รับการพัฒนา Know-How เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ เช่น การวิจัยและพัฒนา, การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม, ICT และการซ่อมบำรุงรักษาชิ้นส่วนอากาศยาน

 

เปิดประเด็นข้อกังวลของภาคประชาสังคมไทย และมาตรการรับมือของภาครัฐ

 

ในภาพรวมข้อผูกพันการเปิดเสรีของไทยภายใต้ FTA ฉบับนี้ไม่เกินไปกว่ากรอบของกฎหมายไทยในปัจจุบัน จึงไม่ต้องมีการปรับแก้กฎหมายใดๆ

 

กระนั้นไทยอาจเผชิญการแข่งขันในสินค้าประมง แต่คาดว่าจะไม่เป็นการแข่งขันโดยตรงกับสินค้าที่ผลิตในประเทศ เนื่องจากปลาส่วนใหญ่ที่นำเข้าจาก EFTA เช่น แซลมอน และเทราต์ ซึ่งเป็นสินค้าเมืองหนาว มีราคาสูง และไทยมีการยกเว้นภาษีนำเข้าอยู่แล้วบางส่วน หรือในอัตราต่ำที่ไม่เกิน 5% รวมทั้งให้มีระยะเวลาปรับตัว (7-15 ปี)

 

โดยภายใต้ FTA ฉบับนี้ยังมีความร่วมมือด้านประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ถ่ายทอดความรู้และทักษะในด้านการทำประมงระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทย

 

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างจัดตั้งกองทุน FTA ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2022 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการเสนอร่าง พ.ร.บ.กองทุน ต่อ ครม. ตามกระบวนการทางกฎหมาย และเตรียมยกร่างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการดำเนินงานตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้

 

สำหรับประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า ไม่กระทบต่อการใช้มาตรการของรัฐที่จำเป็นในด้านสาธารณสุข เช่น การบังคับใช้สิทธิบัตรยาตามหลักการสากล (Compulsory Licensing: CL) และไม่มีเรื่องที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนหนึ่งแจ้งข้อกังวล โดยเฉพาะที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา เช่น การขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร (Patent Term Extension) และการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity)

 

The post ถอดกลยุทธ์ รมว.พาณิชย์ ทำอย่างไรถึงปิดดีล FTA ไทย – EFTA ฉบับแรกกับยุโรปได้สำเร็จ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ปิดดีล FTA ไทยและ EFTA ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับยุโรป เปิดประตูการค้า ดัน GDP ไทยเพิ่ม 1.28% ส่งออกโต 2.83% https://thestandard.co/thailand-fta-efta-deal/ Mon, 02 Dec 2024 12:12:50 +0000 https://thestandard.co/?p=1015262

หอการค้าไทยชี้ ความสำเร็จไทยเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Fr […]

The post ปิดดีล FTA ไทยและ EFTA ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับยุโรป เปิดประตูการค้า ดัน GDP ไทยเพิ่ม 1.28% ส่งออกโต 2.83% appeared first on THE STANDARD.

]]>

หอการค้าไทยชี้ ความสำเร็จไทยเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ซึ่งประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ โดยความตกลงนี้ถือเป็น FTA ฉบับแรกระหว่างไทยและยุโรปที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและเปิดโอกาสทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทย

 

คาดลงนามเดือนมกราคมปีหน้า พร้อมดันไทยเดินหน้าเจรจา FTA ไทยและ EU

 

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยระบุว่า FTA ไทยและ EFTA ได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังการเจรจาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี โดยครอบคลุม 15 ประเด็นสำคัญ เช่น การค้าสินค้า, การค้าบริการ, การลงทุน, มาตรการสุขอนามัย และทรัพย์สินทางปัญญา ความตกลงนี้จะช่วยลดอุปสรรคทางการค้า เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าหลัก เช่น อัญมณี อาหารทะเล และเครื่องจักร ซึ่งมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

โดยเฉพาะในยุคที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ส่งผลให้หลายบริษัทข้ามชาติพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคที่มั่นคง FTA ฉบับนี้จึงไม่เพียงเปิดโอกาสทางการค้า แต่ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าการลงนามความตกลงจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2025

 

ปัจจุบันไทยมี FTA กับประเทศและกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ ครอบคลุม 19 ประเทศ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการขยายตลาดการค้าและสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

 

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยขอร่วมชื่นชมความสำเร็จในครั้งนี้ และเชื่อมั่นว่า FTA กับ EFTA จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทย พร้อมสร้างความแข็งแกร่งและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระดับโลก

 

เพิ่มโอกาสส่งออกอัญมณี อาหารทะเล และข้าวไทย

 

ข้อมูลล่าสุดในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2024 การค้ารวมระหว่างไทยและ EFTA คิดเป็น 2.03% ของการค้ารวมของไทยกับโลก โดยมีมูลค่าการส่งออก 3,787.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้า 6,505.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเติบโตขึ้น 23.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณี, อาหารทะเล, ข้าว และเครื่องจักร ขณะที่สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย สัตว์น้ำสด และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ

 

“หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเชื่อว่าความตกลงครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนอย่างยั่งยืน และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยในอนาคต และมั่นใจว่าจะมีส่วนช่วยในการผลักดัน FTA ไทยและ EU ให้สำเร็จภายในปี 2025-2026 อย่างแน่นอน”

 

เปิดมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศ EU

 

ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2024 ขยายตัว 3.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกไป EU ขยายตัว 9.28% และไทยนำเข้าจาก EU ลดลง 2.99%

 

“คาดการณ์ว่าหากไทยสามารถเจรจากับ EU ได้สำเร็จจะทำให้การค้าระหว่างไทยกับ EU ขยายตัวในระยะยาว โดย GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น 1.28% มูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 2.83% และการนำเข้าขยายตัว 2.81% เชื่อมั่นว่า FTA ครั้งนี้จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว”

 

ภาพ: hxdbzxy / Shutterstock

The post ปิดดีล FTA ไทยและ EFTA ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกกับยุโรป เปิดประตูการค้า ดัน GDP ไทยเพิ่ม 1.28% ส่งออกโต 2.83% appeared first on THE STANDARD.

]]>
ประชุม APEC 2024 ผู้นำโลกร่วมถกอนาคตเศรษฐกิจ ดิจิทัล-การค้า-ความยั่งยืน https://thestandard.co/apec-2024-digital-trade-sustainability/ Sat, 16 Nov 2024 09:20:55 +0000 https://thestandard.co/?p=1009436 ประชุม APEC 2024

การประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเช […]

The post ประชุม APEC 2024 ผู้นำโลกร่วมถกอนาคตเศรษฐกิจ ดิจิทัล-การค้า-ความยั่งยืน appeared first on THE STANDARD.

]]>
ประชุม APEC 2024

การประชุมสุดยอดผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ประจำปี 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พฤศจิกายน ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู นับเป็นเวทีสำคัญที่ผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจทั่วภูมิภาคมาร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมอง และกำหนดทิศทางความร่วมมือในอนาคต ภายใต้หัวข้อ ‘Empower, Include, Grow’ หรือ ‘เพิ่มพลัง สร้างความครอบคลุม และขับเคลื่อนการเติบโต’

 

โดยการประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างครอบคลุม (Inclusive Growth) ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเปรูในฐานะเจ้าภาพเน้นย้ำการสร้าง ‘สนามแข่งขันที่เท่าเทียม’ (Level Playing Field) เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสทางเศรษฐกิจ

 

ขณะที่ประเด็นสำคัญในแต่ละวงประชุม เช่น การค้าเสรีและการพัฒนาเศรษฐกิจยังคงเป็นหัวใจหลักของการหารือในปีนี้ ท่ามกลางความกังวลเรื่องแนวโน้มการกีดกันทางการค้าจากบางประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวสนับสนุนอย่างหนักแน่นว่าการค้าเสรีคือ ‘กลไกสำคัญ’ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก ซึ่งผู้นำทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็งและยั่งยืน

 

ส่วนประเด็นโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงระดับโลกที่ถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของการประชุมคือ การเปิดตัวโครงการท่าเรือ ‘Chancay Mega-Port’ มูลค่ากว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท COSCO SHIPPING Ports ของจีน โดยโครงการนี้จะเป็นศูนย์กลางการค้าที่เชื่อมเอเชียกับอเมริกาใต้ และย้ำถึงบทบาทของจีนในฐานะผู้เล่นสำคัญในภูมิภาค

 

นอกจากนี้ในวงการประชุมว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการผลักดันอย่างจริงจังจาก โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ที่เรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่จีนก็ยืนยันถึงแผนการพัฒนาพลังงานสะอาดและการลงทุนในโครงการสีเขียวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

ขณะที่ในวงการหารือระดับทวิภาคี เช่น การพบกันระหว่าง สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และไบเดน ซึ่งทั้ง 2 คนพูดคุยถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาในระดับโลก เช่น สถานการณ์ยูเครน และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก

 

ด้านประธานาธิบดีจีนยังพบปะกับ ชิเกรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกเพื่อหารือในประเด็นสำคัญที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ โดยประธานาธิบดีจีนเน้นย้ำให้ญี่ปุ่น ‘จัดการอย่างเหมาะสม’ กับประเด็นประวัติศาสตร์ที่ยังคงเป็นปัญหาอ่อนไหว เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางการเมืองที่มั่นคงระหว่างจีนและญี่ปุ่น ขณะที่ในประเด็นเกี่ยวกับไต้หวัน สีจิ้นผิงกล่าวถึงจุดยืนของจีนอย่างชัดเจน โดยเรียกร้องให้ญี่ปุ่นดำเนินการด้วยความระมัดระวัง รวมถึงเคารพในอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน

 

ทั้งนี้ ดินา โบลัวร์เต ประธานาธิบดีเปรู ซึ่งปัจจุบันต้องเผชิญกับแรงกดดันภายในประเทศ จากปัญหาความไม่พอใจของประชาชนในเรื่องอาชญากรรมและการบริหารงาน โดยโบลัวร์เตกล่าวว่า APEC ครั้งนี้คือโอกาสสำคัญที่จะพิสูจน์ศักยภาพของเปรูในเวทีโลก แม้ต้องเผชิญอุปสรรคจากสถานการณ์ภายใน

 

ภาพ: Reuters

 

อ้างอิง:

 

The post ประชุม APEC 2024 ผู้นำโลกร่วมถกอนาคตเศรษฐกิจ ดิจิทัล-การค้า-ความยั่งยืน appeared first on THE STANDARD.

]]>
TAIWAN EXPO 2024: อัปเดตเทรนด์ ชมนวัตกรรม-เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรม พร้อมมอบโอกาสทางธุรกิจให้คนไทย 21-23 พ.ย. นี้ https://thestandard.co/taiwan-expo-2024/ Fri, 01 Nov 2024 03:31:43 +0000 https://thestandard.co/?p=1002485 TAIWAN EXPO 2024

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน ( […]

The post TAIWAN EXPO 2024: อัปเดตเทรนด์ ชมนวัตกรรม-เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรม พร้อมมอบโอกาสทางธุรกิจให้คนไทย 21-23 พ.ย. นี้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
TAIWAN EXPO 2024

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน (International Trade Administration, Ministry of Economic Affairs) ร่วมกับสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน (Taiwan External Trade Development Council, TAITRA) ประกาศจัดงาน TAIWAN EXPO 2024 in Thailand อย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง ในระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายนนี้ ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยงาน TAIWAN EXPO 2024 in Thailand จะเป็นงานที่มอบโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ผ่านการจัดแสดงเทคโนโลยีและโซลูชันล้ำสมัยที่ตอบสนองความต้องการทุกอุตสาหกรรม

 

วูดดี้ หวัง รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการตลาด สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน กล่าวย้ำความสำคัญของการจัดงานในปีนี้ว่า “จากความสำเร็จของการจัดงาน TAIWAN EXPO ครั้งที่ 5 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีบริษัทไต้หวัน 919 บริษัทขยายธุรกิจเข้ามาในตลาดไทย ดึงดูดผู้เข้าชมงานได้กว่า 169,000 ราย และสร้างโอกาสทางธุรกิจได้กว่า 317 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในปีนี้เรามุ่งมั่นที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจไทยด้วยการจัดแสดงนวัตกรรมล่าสุดจากไต้หวัน”

 

 

TAIWAN EXPO 2024 in Thailand ได้รับการตอบรับเข้าร่วมงานจากบริษัทชั้นนำของไต้หวันกว่า 170 บริษัทมาร่วมออกบูธจัดแสดงสินค้ากว่า 220 บูธ เพื่อเปิดประสบการณ์พร้อมอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจากไต้หวัน ผ่านนวัตกรรมสินค้าและโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไทย 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่

 

Smart Manufacturing นำเสนอเทคโนโลยีขั้นสูงที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพอุตสาหกรรม และส่งเสริมกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

Smart Medical นำเสนอโซลูชันเพื่อการดูแลสุขภาพที่ล้ำสมัย มุ่งเน้นการปรับปรุงคุณภาพการดูแลผู้ป่วย และสร้างผลลัพธ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ

 

 

Smart Lifestyle นำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนที่ออกแบบและสร้างสรรค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ให้การใช้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายยิ่งขึ้น

 

Circular Economy นำเสนอโซลูชันที่ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ โดยเน้นที่บรรจุภัณฑ์สีเขียวและแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

และ Culture & Tourism นำเสนอมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ศิลปะ และการท่องเที่ยวของไต้หวัน พร้อมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และการเชื่อมความสัมพันธ์ทางธุรกิจ พบกับโซน TAIWAN SELECT เพลิดเพลินกับอาหารประจำชาติไต้หวันแสนอร่อยหลากหลายประเภท และสัมผัสกับไลฟ์สไตล์เพื่อสุขภาพจากไต้หวัน พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมของไต้หวันผ่านการร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น การย้อมคราม และการทำโคมไฟ

 

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมจับคู่ธุรกิจที่เปิดโอกาสให้พบปะกับบริษัทของไต้หวันได้โดยตรง และกิจกรรมสัมมนาทางธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนและแนะนำข้อมูลเชิงลึก เทคโนโลยีที่ยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งในวงการอุตสาหกรรมการผลิต วงการแพทย์ และเทคโนโลยีสีเขียว ที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจให้กับคนไทย

 

หวังยังกล่าวเสริมว่า “มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างไต้หวันและไทยในปี 2023 อยู่ที่ 16,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่เป็นอันดับ 13 ของไต้หวัน มีโครงการลงทุนจากไต้หวันเข้ามาลงทุนในประเทศไทย 74 โครงการในช่วง 3 ไตรมาส 1 ปี 2024 มีมูลค่ารวม 45.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดคือ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับไต้หวัน ในขณะเดียวกันยังเห็นโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับไต้หวันอีกมากในอนาคต ดังนั้นการกลับมาของงาน TAIWAN EXPO 2024 in Thailand ในครั้งนี้ จึงเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเติบโตไปร่วมกัน”

 

 

TAIWAN EXPO 2024 in Thailand จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และสร้างความร่วมมือทางธุรกิจในระยะยาว อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงานสัมผัสกับนวัตกรรมใหม่ล่าสุด พร้อมเพลิดเพลินไปกับการแสดงทางวัฒนธรรมจากไต้หวัน และลุ้นของรางวัลสุดตื่นตาตื่นใจมากมาย เช่น ตั๋วเครื่องบินไป-กลับไทเป และจุดหมายปลายทางอื่นๆ อีกด้วย

 

 

The post TAIWAN EXPO 2024: อัปเดตเทรนด์ ชมนวัตกรรม-เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ทุกอุตสาหกรรม พร้อมมอบโอกาสทางธุรกิจให้คนไทย 21-23 พ.ย. นี้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
มหาดไทยออกประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา พร้อมขยายเวลาเปิดด่านช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ หนุนการค้า-ท่องเที่ยว 2 ประเทศ https://thestandard.co/thai-cambodia-friendship-bridge-crossing-opens/ Thu, 31 Oct 2024 04:27:00 +0000 https://thestandard.co/?p=1002035 สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา

วันนี้ (31 ตุลาคม) ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว […]

The post มหาดไทยออกประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา พร้อมขยายเวลาเปิดด่านช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ หนุนการค้า-ท่องเที่ยว 2 ประเทศ appeared first on THE STANDARD.

]]>
สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา

วันนี้ (31 ตุลาคม) ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทย 2 ฉบับ ซึ่งจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชาให้มีความใกล้ชิด แน่นแฟ้น และสนับสนุนมูลค่าการค้าและการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น 

 

ฉบับแรกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา (หนองเอี่ยน-สตึงบท) ตำบลท่าข้าม อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ลงนามโดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567

 

มีสาระสำคัญคือ เพื่อเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับสตึงบท เมืองปอยเปต จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา เปิดทำการระหว่างเวลา 06.00-22.00 น. ของทุกวัน ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของด่านจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก หรือด่านอรัญประเทศ สนับสนุนการขนส่งสินค้า เพิ่มมูลค่าการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนระหว่างกันมากขึ้น 

 

ฉบับที่ 2 ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การขยายเวลาเปิดจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับช่องจอม อำเภออัลลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ลงนามโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และมีผลตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เช่นเดียวกัน 

 

มีสาระสำคัญคือ เป็นการขยายเวลาเปิดจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำเพิ่มอีก 2 ชั่วโมงต่อวัน จากเดิมเวลา 07.00-20.00 น. เป็น 07.00-22.00 น. ของทุกวัน ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจการค้าในจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่เติบโตมากขึ้น 

 

“การเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ รวมถึงขยายเวลาเปิดจุดผ่านแดนถาวรปัจจุบันทั้ง 2 แห่งข้างต้น สะท้อนถึงการเติบโตด้านการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ต้องขยายศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับ และยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุกมิติ ซึ่งจะยังประโยชน์ไปถึงประชาชนทั้ง 2 ประเทศในระยะยาว” ไตรศุลีกล่าว

 

ภาพ: Thailand.go.th

The post มหาดไทยออกประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา พร้อมขยายเวลาเปิดด่านช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ หนุนการค้า-ท่องเที่ยว 2 ประเทศ appeared first on THE STANDARD.

]]>
“อยากเห็นประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง” นายกฯ อ้อนขอโอกาส ให้คนอายุน้อยทำงานทุกๆ ตำแหน่ง https://thestandard.co/prime-minister-begs-for-opportunities-for-young-people-to-work/ Mon, 07 Oct 2024 11:42:31 +0000 https://thestandard.co/?p=992889

นายกฯ ขอโอกาส ให้คนอายุน้อยทำงานทุกตำแหน่งไปพร้อมกับคนร […]

The post “อยากเห็นประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง” นายกฯ อ้อนขอโอกาส ให้คนอายุน้อยทำงานทุกๆ ตำแหน่ง appeared first on THE STANDARD.

]]>

นายกฯ ขอโอกาส ให้คนอายุน้อยทำงานทุกตำแหน่งไปพร้อมกับคนรุ่นเก่าที่ช่วยสนับสนุนเป็นที่ปรึกษา เผยอยากเห็นประเทศไทยค่อยๆ เปลี่ยนแปลง พร้อมย้ำ ศักยภาพการลงทุน ‘อาเซียน’ ขึ้นแท่นตลาดขนาดใหญ่ของโลก เตรียมรับบทบาทสำคัญ นำความสงบสุขกลับคืนสู่เมียนมา ระบุจากนี้ต้องทำการบ้านหนัก ถก 10 ประเทศเพื่อนบ้าน

 

วันนี้ (7 ตุลาคม) แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ‘Thailand Economic Big Move’ ในงานสัมมนา ASEAN Economic Outlook 2025: The Rise of ASEAN, A Renewing Opportunity ว่า ขอบคุณที่ให้เกียรติมาร่วมงาน แม้วันนี้จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยเพียง 38 ปี แต่หากอยู่ในวงการอื่นๆ ที่เคยทำธุรกิจมา ไม่มีใครบอกว่าอายุน้อย เมื่อเข้าสู่แวดวงการเมืองก็จะบอกว่าอายุน้อยไป แต่ไม่ว่าจะอายุเท่าไร หากเปิดโอกาสให้ทำงานในทุกตำแหน่ง ทุกๆ วงการ คิดว่าจะมีไอเดียใหม่ๆ เข้ามา 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ขณะเดียวกันก็มีคนรุ่นก่อนช่วยสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาได้ นี่เป็นเรื่องที่อยากให้ประเทศไทยค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป เพราะขณะนี้เราเห็นได้ชัดแล้วว่าทุกวงการมีคนทุกอายุเพิ่มมากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่จะพูดถึงสิ่งที่รัฐบาลกำลังจะทำต่อไป และประเทศไทยจะเห็นอะไรในอนาคตจากมุมของอาเซียนเอง 

 

อีกทั้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้เข้าร่วมการประชุม Asia Cooperation Dialogue (ACD) ที่ประเทศกาตาร์ เป็นเวทีสำคัญครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้พูดกับประเทศตะวันออกกลางและมีความร่วมมือหลายอย่างเกิดขึ้น โดยเฉพาะในปีหน้า ซึ่งคาดว่าน่าจะมีโอกาสดีๆ ที่ส่งผลมาถึงภูมิภาคอาเซียน

 

ชูจุดแข็งอาเซียน เปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า 

 

หากย้อนไปในช่วงทศวรรษที่ 1990 อาเซียนที่นำโดยประเทศไทยได้พัฒนาตัวเองเป็นเขตการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ ขยายความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุนกับกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ อย่าง APEC ก็เกิดขึ้นในยุคนั้น 

 

ทั้งเป้าหมายและแนวทางที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี อยู่ตลอดเวลา ช่วงก่อตั้งราวทศวรรษที่ 1960 ปัญหาความขัดแย้งและสงครามยังเป็นปัญหาหลักในภูมิภาคของเรา อาเซียนจึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีความมั่นคง 

 

หลังจากนั้นอาเซียนมีนโยบายเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า จนสามารถสร้างเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานมาถึงปัจจุบัน และในช่วงทศวรรษที่ 1990 อาเซียนที่นำโดยประเทศไทยได้พัฒนาตัวเองเป็นเขตการค้าเสรีอย่างเต็มรูปแบบ ขยายความร่วมมือในด้านการค้าและการลงทุนกับกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างเช่น APEC ก็เกิดขึ้นในยุคนั้นมาถึงวันนี้ 

 

โดยนายกรัฐมนตรีขอใช้เวทีนี้เล่าถึงเป้าหมายและอุดมการณ์ของรัฐบาลไทย ในฐานะประเทศสมาชิกต้องการผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อทศวรรษต่อไปของอาเซียนทั้งหมด 4 ประเด็น

 

ประเด็นที่ 1 GDP ของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศในวันนี้ มีมูลค่ารวมกันสูงถึง 3.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 120 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มจะขยายตัวอีก 4-5% ต่อปีอย่างต่อเนื่องในอนาคต นับเป็นตลาดอันดับ 5 ของโลก และมีประชากรกว่า 670 ล้านคน อาเซียนจึงถือเป็นตลาดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลกในเวลานี้ อาเซียนจำเป็นต้องปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า โดยสมาชิกต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียวในด้านเศรษฐกิจ 

 

ส่งผลให้ตลาดอาเซียนมีกฎเกณฑ์การค้า การลงทุน และการเก็บภาษี สอดคล้องไปด้วยกันทั้งภูมิภาค เพื่อทำให้นักลงทุนรู้สึกว่าการลงทุนในประเทศสมาชิกหรือประเทศไทยจะเท่ากับการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยดึงดูดการลงทุนให้มากขึ้น การลงทุนประชากรไทย 66 ล้านคน เปลี่ยนเป็นการลงทุนกับประชากรอาเซียนที่มีถึง 670 ล้านคน ซึ่งมีโอกาสและศักยภาพมากกว่าหลายเท่า

 

ประเด็นที่ 2 อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความสงบ ไม่มีความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นจุดเด่นสำคัญที่เหมาะแก่การลงทุน จุดยืนของประเทศไทยในฐานะสมาชิกอาเซียน รัฐบาลตั้งใจส่งเสริมการลงทุนซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน โดยยึดหลัก International Law และยินดีเป็นตัวกลางเชื่อมต่อให้ทุกคนมาพูดคุยกัน อีกทั้งเป็นพื้นที่เจรจาลดความขัดแย้งของโลก 

 

โดยเฉพาะในเวลานี้ที่โลกกำลังประสบปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรง ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในขณะเดียวกันจีนได้กระจายการลงทุนในประเทศอาเซียนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือการผลิตโซลาร์เซลล์ ในประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงเข้าไปตั้งกองทุนในประเทศสิงคโปร์ 

 

นอกจากนี้นักลงทุนจากสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ต่างก็ให้ความสนใจและเพิ่มการลงทุนด้านสินค้าเทคโนโลยีทั้งในเวียดนาม, ไทย, มาเลเซีย และสิงคโปร์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และการลงทุน รวมทั้งการสร้าง Data Center ของ Google ในประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปจนถึงการผลิตโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ของ Apple

 

“อาเซียนยังมีบทบาทในการลดความตึงเครียดระหว่างประเทศมหาอำนาจหลายครั้ง ด้วยการใช้ไทยเป็นเวทีเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของจีนกับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ วันนี้อาเซียนจะต้องมีบทบาทสำคัญในการนำความสงบสุขกลับมาในประเทศเมียนมาโดยเร็วที่สุด เราจะเน้นการทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธานของอาเซียนในปีหน้า รวมถึงใช้กลไกทางการทูตเพื่อแก้ปัญหานี้ให้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด” แพทองธารย้ำ 

 

ประเด็นที่ 3 การขนส่งที่เชื่อมโยงคมนาคมประเทศต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน จะเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับศักยภาพของอาเซียน ในอนาคตอาเซียนจะต้องเชื่อมต่อระบบการขนส่งระหว่างประเทศที่อยู่บนผืนแผ่นดินเอเชีย เชื่อมต่อให้ทั้งระบบเชื่อมโยงกัน ทำให้ส่งสินค้าและติดต่อกันได้สะดวกขึ้น ต้องพัฒนาโครงสร้างคมนาคมร่วมกันทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ 

 

ทั้งรถไฟทางคู่ การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และแลนด์บริดจ์ ศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำที่เชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงภาพของท่าเรือขนาดใหญ่ที่เชื่อมสองมหาสมุทรอย่างอ่าวไทยและอันดามันเข้าด้วยกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตให้กับทุกธุรกิจ เป็นศูนย์กลางของการขนส่งอีกแห่งหนึ่งของโลกคือ การส่งออกอาหารและผลผลิตการเกษตรไปทั่วโลก การมีโครงสร้างคมนาคมที่ดี รวมถึงการที่ประเทศไทยจะเป็นพื้นที่เก็บคลังสินค้า (Food Security) โดยนำ AI มาใช้ และมีมาตรฐานระดับโลก เพิ่มรายได้ให้กับคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งจะพัฒนาในจุดนี้ และจะทำให้อาเซียนมั่นคงแข็งแรงทางเศรษฐกิจต่อไป 

 

ประเด็นที่ 4 อาเซียนต้องร่วมกันหาทางออกจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดภาวะโลกเดือดให้ได้ เพราะภัยธรรมชาติจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี เห็นได้จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย ถือเป็นโจทย์หนึ่งของรัฐบาลที่จะเตรียมพร้อมกับประชาชน เพื่อรับมือกับภาวะโลกเดือด และเยียวยาต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเวลาหลายปีในการวางแผน อีกทั้งจะเร่งรัดนโยบายให้ได้ผลในเชิงปฏิบัติมากกว่าที่เป็นอยู่ และในเรื่องคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และสนับสนุนพลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง มีนโยบายเกี่ยวกับการใช้โซลาร์เซลล์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลจะเร่งรัดดำเนินนโยบายอย่างเต็มที่

 

“ทั้งหมดนี้จะนำไปหารือกับประเทศสมาชิกอาเซียน แน่นอนว่าจะพูดในภาพรวม หา Common Strategy ร่วมกัน และจะมีประชุมแยกเพื่อร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญในแต่ละประเทศ โดยการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 44-45 ที่ สปป.ลาว จะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้”

 

ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับ Master Plan ของ ASEAN Connectivity 2025 ที่มี 3 แกนวิธีคิดหลัก คือ

 

  1. การเชื่อมโยงทางกายภาพ เน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง 

 

  1. การเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ มุ่งหวังที่จะปรับนโยบาย กฎระเบียบ และมาตรฐาน ให้สอดคล้องกันในประเทศสมาชิก เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน

 

  1. การเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เช่น การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม, การศึกษา, การท่องเที่ยว และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ให้มีความสะดวกเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างอนาคตอาเซียนร่วมกับประเทศสมาชิกอย่างยั่งยืน 

 

“อาเซียนที่อยู่ร่วมกันโดยสามัคคี ทำให้มีพลังมากกว่าต่างคนต่างทำ: ASEAN together is much more than the sum of its parts.” นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำ

The post “อยากเห็นประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลง” นายกฯ อ้อนขอโอกาส ให้คนอายุน้อยทำงานทุกๆ ตำแหน่ง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ชมคลิป: อ.วีระยุทธ ชำแหละการค้าไทย-จีน ปัญหาเชิงโครงสร้าง สู่การแข่งขันไม่เป็นธรรม | THE STANDARD NOW (HL) https://thestandard.co/thestandardnow031067-2/ Fri, 04 Oct 2024 04:50:34 +0000 https://thestandard.co/?p=991625

ชำแหละการค้าไทย-จีน ปัญหาเชิงโครงสร้าง สู่การแข่งขันไม่ […]

The post ชมคลิป: อ.วีระยุทธ ชำแหละการค้าไทย-จีน ปัญหาเชิงโครงสร้าง สู่การแข่งขันไม่เป็นธรรม | THE STANDARD NOW (HL) appeared first on THE STANDARD.

]]>

ชำแหละการค้าไทย-จีน ปัญหาเชิงโครงสร้าง สู่การแข่งขันไม่เป็นธรรม ทุนใหญ่เอาเปรียบทุนเล็ก ควรแก้ไขอย่างไร โดยวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

The post ชมคลิป: อ.วีระยุทธ ชำแหละการค้าไทย-จีน ปัญหาเชิงโครงสร้าง สู่การแข่งขันไม่เป็นธรรม | THE STANDARD NOW (HL) appeared first on THE STANDARD.

]]>
หอการค้าไทยหวังรัฐบาลใหม่เปิดประตูการค้าดูดเงินลงทุนนอก และดัน GDP ไทยโตไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี https://thestandard.co/thai-chamber-hopes-new-gov-attract-foreign-investment/ Fri, 16 Aug 2024 11:06:08 +0000 https://thestandard.co/?p=972084

หอการค้าไทยหวังรัฐบาลใหม่เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยระยะสั้นเ […]

The post หอการค้าไทยหวังรัฐบาลใหม่เปิดประตูการค้าดูดเงินลงทุนนอก และดัน GDP ไทยโตไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี appeared first on THE STANDARD.

]]>

หอการค้าไทยหวังรัฐบาลใหม่เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยระยะสั้นเร่งด่วน ต้องวางกลยุทธ์ประเทศเพื่อทำให้ GDP ของไทยเติบโตไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี เปิดประตูการค้า ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มองประเด็นนายกฯ หญิงที่อายุน้อย ขึ้นอยู่กับการแสดงความเป็นผู้นำ และการบริหารราชการแผ่นดินหลังจากนี้

 

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยต้องขอแสดงความยินดีกับแพทองธาร ชินวัตร ที่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 มุมมองของหอการค้าไทยถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี ที่สภามีมติเห็นชอบเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลังจากนี้เป็นขั้นตอนของการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ การแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี และการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งหลังจากจบกระบวนการตามกฎหมายแล้วเสร็จ จะเป็นส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาได้อย่างรวดเร็ว

 

สำหรับมุมมองเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นยังต้องการการฟื้นตัวอย่างเร่งด่วน ดังนี้

 

  • รักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่แข็งค่ามากเกินไป ซึ่งจะเอื้อต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
  • การรักษาโมเมนตัมภาคการท่องเที่ยว โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 3 ล้านคน ส่วนนี้อยากให้มีการผลักดันและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว รวมไปถึงการดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว ตลอดจนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 36-37 ล้านคนในปีนี้

 

ขณะเดียวกัน ควรรณรงค์ ‘เมืองน่าเที่ยว’ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การท่องเที่ยวโดดเด่นและเกิดการกระจายตัว กระจายรายได้จากแหล่งท่องเที่ยวเมืองหลักไปสู่เมืองน่าเที่ยว รวมถึงเดินหน้าแผนการกระจายการลงทุนไปจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ที่หอการค้าฯ ทำร่วมกันมาช่วงก่อนหน้านี้ต่อ

 

  • การเดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศ เพื่อให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือไม่ต่ำกว่า 2% ต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ไปเชิญชวนให้มีการเจรจา และเชิญหลายบริษัทมาลงทุนที่ประเทศไทย
  • การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้กระจายไปทุกภูมิภาค ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างเด่นชัด และควรเร่งจัดทำงบประมาณปี 2568 ให้เสร็จสิ้นตามกระบวนการ หรือในกรอบระยะเวลาที่กำหนดเพื่อไม่ให้ยืดเยื้อ
  • การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ทั้งมาตราการเยียวยาและการกระตุ้นเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงมาตรการปกป้องและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจากจีน
  • พรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ เพื่อให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพ สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่เป็นตัวจริงด้านการค้า และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ซึ่งเราเองก็มีหอการค้าในทุกจังหวัดที่พร้อมจะทำงานสนับสนุนร่วมกันกับภาครัฐ

 

“สิ่งที่ภาคเอกชนเห็นคือการมีนายกรัฐมนตรีได้เร็ว ทำให้ประเทศไม่เกิดสุญญากาศ ส่วนนี้ทำให้เรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้เร็ว ส่วนเรื่องที่เรามีนายกฯ หญิงที่อายุน้อยนั้น ประเด็นนี้มองว่าขึ้นอยู่กับการแสดงความเป็นผู้นำ และการบริหารราชการแผ่นดินหลังจากนี้” สนั่นกล่าว

 

สานต่อเปิดประตูการค้าดึงดูดการลงทุนต่างประเทศ

 

สำหรับความพร้อมของการบริหารงานที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็เชื่อว่า พรรคเองมีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในทุกด้านอยู่แล้ว ซึ่งภาคเอกชนอยากเห็นการทำงานเป็นทีมกับพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น ก็จะทำให้การทำงานของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มีเอกภาพและเสถียรภาพ

 

นอกจากนี้ หลายมาตรการของเศรษฐา อดีตนายกฯ โดยเฉพาะการเปิดประตูการค้า และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิ่งเหล่านี้รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องเดินหน้าสานต่อ โดยมีการกำหนดกระทรวงหรือผู้รับผิดชอบเพื่อติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

 

รวมถึงการเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้อง Soft Power ส่วนนี้หอการค้าฯ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ และสามารถที่จะต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของไทยได้อยู่แล้ว ซึ่งเอกชนเห็นด้วยว่าควรเดินหน้าขับเคลื่อนในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง

 

ขณะเดียวกัน การดึงดูดอุตสาหกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล ยังเป็นปัญหาของไทยที่ยังขาดบุคลากรที่มีความพร้อมในด้านทักษะที่เพียงพอ ตลอดจนปัญหาด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ยังสูง และกฎหมายที่ล้าสมัยไม่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้ไข ซึ่งนอกจากรัฐบาลจะเป็นเซลส์แมนแล้ว จะต้องปิดการขายให้ได้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยมี GDP เติบโตเฉลี่ย 2% ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพและไม่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้น ในระยะกลางและระยะยาว เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลต้องวางกลยุทธ์สำหรับประเทศ เพื่อทำให้ GDP ของไทยเติบโตไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี

The post หอการค้าไทยหวังรัฐบาลใหม่เปิดประตูการค้าดูดเงินลงทุนนอก และดัน GDP ไทยโตไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อปี appeared first on THE STANDARD.

]]>