×

478 วันที่ไร้การเหลียวแล วอนรัฐบาลขอ Soft Loan 5,000 ล้าน รักษาการจ้างงาน ต่อ ‘ลมหายใจเฮือกสุดท้าย’ ของธุรกิจสายการบินประเทศไทย

21.07.2021
  • LOADING...
airline-business

‘วิกฤตโควิด’ ที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว กลายเป็นวิกฤตที่หนักหนาที่สุดในรอบ 10 ปีของ ‘ธุรกิจสายการบิน’ ในประเทศไทย ซึ่งถูกจำกัดความว่า ‘รวดเร็ว รุนแรง และยือเยื้อ’ และยังไม่มีทีท่าที่จะจบลงในเร็ววันนี้

 

โดยปี 2563 ที่ผ่านมาภาพรวมของผู้โดยสารลดลง 67.7% เมื่อมองลึกลงไปพบว่า ผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลง 81.7% ผู้โดยสารภายในประเทศลดลง 44.9% และจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศลดลง 33.8%

 

สมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, สายการบินไทยสไมล์, สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท ระบุว่า ที่ผ่านมาทั้ง 7 สายการบินให้ความร่วมมือกับภาครัฐโดยตลอด พร้อมกับปรับตัวในหลายมิติ ทั้งการลดค่าใช้จ่าย การเพิ่มช่องทางหารายได้ การบริหารฝูงบินและเส้นทางบินให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

 

แต่การระบาดระลอกใหม่ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ทำให้ในวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามบินรับส่งผู้โดยสารในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้มตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด 

 

คำสั่งดังกล่าวกลายเป็นภาระที่ธุรกิจต้องแบกรับ ในขณะที่รายได้เป็น ‘0’ แต่รายจ่ายเท่าเดิม แถมยังแบกภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน ทำให้หลายสายการบินเริ่มขาดสภาพคล่อง และอาจไปต่อไม่ไหว

 

แถมประกาศยังเป็นแบบปลายเปิด เพราะคำว่า ‘จนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด’ กลายเป็นความท้าทายอย่างมากต่อธุรกิจสายการบิน ซึ่งสมาคมสายการบินประเทศไทยได้สอบถามไปทาง กพท. ว่าจะมีระยะเวลากี่วัน เบื้องต้นคือ 14 วัน เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หากไม่ดีขึ้นก็อาจจะบินต่อ กลายเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก

 

“วันนี้เครื่องบินของทั้ง 7 สายการบินกว่า 170 ลำ มีพนักงาน 2 หมื่นกว่าคน ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายกว่า 900 ล้านบาทต่อเดือน แต่มีรายได้เป็นศูนย์ จึงเป็นที่มาที่เราต้องออกมาขอความช่วยเหลือ” พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ นายกสมาคมสายการบินประเทศไทยกล่าว

 

“นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรก เราได้ยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือผ่านการขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แต่ ณ ปัจจุบนก็ยังคงไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล รวมเป็นระยะเวลากว่า 478 วัน ตั้งแต่วันแรกที่ทางสมาคมยื่นหนังสือ”

 

ครั้งแรกสมาคมสายการบินประเทศไทยยื่นขอ Soft Loan มูลค่ารวม 2.4 หมื่นล้านบาท ต่อมาช่วงต้นปี 2564 ได้ปรับลดลงเหลือ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาการจ้างงานไปอีก 1 ปี 

 

และล่าสุดได้ตัดสินใจปรับลดวงเงินเหลือ 5 พันล้านบาท โดยมีเป้าหมายเดิมคือ รักษาการจ้างงานโดยไม่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขณะเดียวกันทางสมาคมไม่ได้แจงว่า แต่ละสายการบินต้องการ Soft Loan เท่าไร รวมไปถึงตัวเลขผลกระทบสำหรับแต่ละสายการบินในช่วงปีที่ผ่านมา

 

สมาคมสายการบินประเทศไทยย้ำว่า Soft Loan ควรได้ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากภายใน 2-3 เดือนต่อจากนี้ยังไม่ได้ กรณีที่แย่ที่สุดจะไม่มีสายการบินไหนอยู่ได้อย่างแน่นอน แม้ที่ผ่านมาทางสมาคมได้ไปขอความช่วยเหลือจากประกันสังคมแต่หลักๆ ทางประกันสังคมจะช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก และให้เงินช่วยเหลือแค่ 15 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับธุรกิจสายการบิน

 

ในแง่ของเงื่อนไขดอกเบี้ยหรือระยะเวลาการใช้หนี้นั้น สมาคมสายการบินระบุว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลหรือผู้ให้กู้จะกำหนด แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เป็นการกู้แบบไร้หลักประกัน หรือหากต้องการหลักประกัน ขอใช้ใบอนุญาตทำการบินค้ำแทน เหมือนอย่างธุรกิจก่อสร้างที่สามารถนำสัญญาก่อสร้างที่ทำกับภาครัฐไปค้ำประกันได้ 

 

นอกจากนี้สมาคมสายการบินได้ยื่นขอความช่วยเหลือจากภาครัฐให้มีมติงดเก็บค่าบริหารจัดการทางอากาศรวมไปถึงงดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น จากเดิมที่ได้ปรับลดจากอัตรา 4.726 บาทต่อลิตร เป็น 0.20 บาทต่อลิตร และได้ขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 แล้วก็ตาม

 

“เรายังมีความหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเร่งดำเนินการอนุมัติ Soft Loanโดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือลมหายใจเฮือกสุดท้ายของสายการบินแล้ว” พุฒิพงศ์กล่าว นอกจากนี้สมาคมยังหวังว่ารัฐจะช่วยเหลือสายการบินอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสมาคมด้วย

 

ทั้งนี้มีการประเมินว่าไตรมาสแรกของปี 2565 ธุรกิจสายการบินน่าจะเริ่มกลับมาสดใส แต่หากจะให้ฟื้นจริงๆ น่าจะเป็นช่วงกลางปีที่การเดินการระหว่างประเทศจะกลับมาให้เห็น 40-50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนระบาด อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดด้วย 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising