ลองจินตนาการถึงชีวิตที่ไร้ความทรงจำดูสิครับ
คนที่ไร้ซึ่งความทรงจำนั้น เมื่อได้ยินเสียงนาฬิกาปลุกในตอนเช้าจะไม่รู้ว่าเป็นเสียงนาฬิกาปลุก แต่รู้แค่ว่าเจ้าอุปกรณ์นี้ส่งเสียงดังน่ารำคาญจนนอนต่อไม่ได้ เมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วก็จะไม่รู้ว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน นึกไม่ออกว่าวันนี้วันอะไร มีธุระปะปังอะไรบ้างที่ต้องไปจัดการ และนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าตนเองเป็นใคร
กล่าวได้ว่าตัวตนของเราในวันนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากความทรงจำในอดีต
หากสูญสิ้นความทรงจำไปแล้ว ทุกสิ่งที่เราสั่งสมมาทั้งชีวิตก็พร้อมจะสูญสลายลงในบัดดล ไม่ต่างอะไรกับตึกระฟ้าที่พร้อมจะพังครืนลงมาหากฐานรากหายไป
ไม่น่าแปลกใจที่บรรดานักประสาทวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักจิตวิทยาต่างให้ความสนใจศึกษากระบวนการเรียนรู้และความจำว่ามันเกิดขึ้นในสมองของเราได้อย่างไร เพราะนอกจากจะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นแล้ว มันยังเป็นหนทางไปสู่การรักษาโรคความจำเสื่อมที่ส่งผลต่อผู้คนจำนวนมากทั่วโลกอีกด้วย
งานวิจัยด้านการเรียนรู้และความจำจึงเป็นหนึ่งในสายงานวิจัยที่มาแรงที่สุดในตอนนี้เลยก็ว่าได้
เอ็นแกรม: หน่วยความจำทางชีวภาพ
แอนิเมชัน Inside Out (มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง) นั้นใช้ลูกแก้วแทนก้อนความทรงจำแต่ละก้อนที่กำกับเอาไว้ด้วยสีสันแทนอารมณ์ต่างๆ แต่ในโลกความเป็นจริง ความทรงจำมีหน้าตาอย่างไรกันแน่
ความทรงจำนั้นเป็นสิ่งนามธรรมและจับต้องได้ยาก แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่เราจดจำข้อมูลบางอย่างได้จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสมอง เหมือนเวลาเราบันทึกข้อมูลลงในฮาร์ดดิสก์ แนวคิดดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดย ริชาร์ด ซีมอน (Richard Semon) นักสัตววิทยาและชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการชาวเยอรมันที่เสนอว่า สิ่งกระตุ้นจากภายนอกที่ทำให้เกิดความทรงจำนั้นจะไปสร้างร่องรอยการเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้เกิดขึ้นภายในสมอง เขาเรียกร่องรอยนั้นว่า ‘เอ็นแกรม’ (Engram)
คาร์ล แลชลีย์ (Karl Lashley) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเริ่มต้นค้นหาหน้าตาของเอ็นแกรมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1916 เขาฝึกให้หนูวิ่งวนอยู่ในเขาวงกตจนมันเริ่มจดจำเส้นทางได้ จากนั้นเขาก็ลองทำลายสมองส่วนนั้นบ้างส่วนนี้บ้าง แล้วสังเกตว่าหนูยังคงจำเส้นทางในเขาวงกตได้หรือไม่
แม้ว่าหนูจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่เขาก็ยังไม่รู้ว่าสมองเก็บความทรงจำไว้ที่ไหน คาร์ลกล่าวถึงสิ่งที่เขาศึกษาค้นคว้ามา 30 กว่าปีว่า “เท่าที่ผมรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับตำแหน่งของความทรงจำในสมอง บางครั้งผมก็รู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้”
ถัดจากยุคของคาร์ลเป็นเวลากว่า 50 ปี ความรู้ชีววิทยาระดับเซลล์และสารพันธุกรรมทำให้นักประสาทวิทยาศาสตร์เข้าใกล้ความจริงเกี่ยวกับเอ็นแกรมมากขึ้นอีกขั้น
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความทรงจำไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่กระจายไปทั่วทั้งสมอง ซึ่งความทรงจำต่างประเภทกันก็จะถูกเก็บไว้ในสมองคนละส่วนกัน เช่น สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) จะเกี่ยวข้องกับการเรียกใช้ความทรงจำเก่าๆ นั้นอยู่ในบริเวณที่ลึกลงไปจากสมองส่วนนอก ซึ่งคาร์ลไม่ได้สำรวจมัน
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าข้อมูลต่างๆ ที่สมองได้รับจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทให้ส่งสัญญาณประสาทไปมาหาสู่กัน ส่งผลให้เซลล์ประสาทกลุ่มนั้นเปลี่ยนแปลง โดยไปสร้างเส้นใยประสาทใหม่ๆ เชื่อมต่อกัน รวมถึงทำให้วิถีประสาทเดิมที่มีอยู่แล้วประสานเชื่อมต่อกันแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดที่ว่ามานี้คือเอ็นแกรมที่เกิดขึ้นในสมอง การระลึกถึงความทรงจำเก่าๆ ก็คือปรากฏการณ์ที่เซลล์ประสาทที่เกี่ยวข้องกับเอ็นแกรมนั้นๆ ส่งกระแสประสาทพร้อมๆ กันอีกครั้งนั่นเอง
แม้ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์จะเข้าใจแล้วว่าเอ็นแกรมในสมองมีหน้าตาอย่างไร แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงต้องค้นหากันต่อไปว่ากลุ่มเซลล์ประสาทใช้กลไกอะไรกักเก็บและเรียกความทรงจำกลับคืนมายามที่ต้องการใช้งาน
เทคโนโลยีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ส่องสำรวจความทรงจำได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พวกเขากำลังขะมักเขม้นติดตามการทำงานของเซลล์ประสาทแต่ละเซลล์อย่างใกล้ชิด บ้างก็ทดลองกระตุ้นให้ทำงาน บ้างก็ยับยั้งไม่ให้ทำงานเพื่อดูว่าเซลล์ประสาทส่วนไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับความจำในเรื่องนั้นๆ ในสมอง
พวกเขาตั้งต้นจากสัญชาตญาณพื้นฐานของชีวิต นั่นก็คือความกลัว
สอดส่องกล่องดำแห่งความกลัว
อีวาน ปัฟลอฟ (Ivan Pavlov) นักสรีรวิทยาชาวรัสเซีย เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี ค.ศ. 1904 ผู้โด่งดังจากการทดลองที่ทำให้ชาวโลกรู้จักพฤติกรรมการเรียนรู้แบบมีเงื่อนไข (Classical Conditioning)
โดยอีวานสังเกตพฤติกรรมสุนัขที่น้ำลายไหลเมื่อมองเห็นอาหารพร้อมได้ยินเสียงกระดิ่ง จนสุนัขจะเรียนรู้ว่าเสียงกระดิ่งเชื่อมโยงกับอาหารที่กำลังจะมา ในเวลาต่อมามันจึงน้ำลายไหลแม้จะได้ยินเสียงกระดิ่งเพียงอย่างเดียว
นักวิทยาศาสตร์ใช้การเรียนรู้แบบมีเงื่อนไขนี้มาสร้างแบบทดสอบทางพฤติกรรมความกลัวแบบมีเงื่อนไข (Fear Conditioning) กับสัตว์ทดลอง
ความกลัวเป็นหนึ่งในความรู้สึกซึ่งเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของสัตว์ มันทำให้สัตว์จดจำและเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงภยันตรายอันถึงแก่ชีวิต การจำได้ว่าสิ่งใดควรกลัว สิ่งใดไม่จำเป็นต้องกลัว จึงกลายมาเป็นการทดสอบพื้นฐานที่นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้ศึกษาเรื่องความจำ
ชีนา โจสเซลิน (Sheena Josselyn) นักประสาทวิทยาศาสตร์แห่งโรงพยาบาลเด็กโตรอนโต ประเทศแคนาดา เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการส่องสำรวจความจำ ทีมวิจัยของชีนาจัดแจงให้หนูทดลองไปอยู่ในกรงที่ต่อกระแสไฟฟ้าเข้ากับพื้นกรง นักวิจัยสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาช็อตเท้าหนูทดลองได้ด้วยการกดปุ่ม ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะเปิดเสียงไปด้วยหรือไม่
เมื่อหนูทดลองถูกไฟฟ้าช็อตที่เท้าพร้อมกับได้ยินเสียงความถี่เดิมๆ ติดต่อกัน มันจะคิดว่าเสียงที่ได้ยินคือเงื่อนไขที่จะทำให้มันถูกไฟช็อต หลังจากนั้นแม้หนูทดลองจะได้ยินเสียงเพียงอย่างเดียว แม้ที่เท้ามันไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน มันก็จะตัวสั่นเทาและพยายามวิ่งไปหลบอยู่ตามขอบกรง ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกลัว
ทีมของชีนาสนใจสมองส่วนที่เรียกว่า อไมกดาลา (Amygdala) ซึ่งมีขนาดเท่าเม็ดอัลมอนด์และอยู่ลึกลงไปในเนื้อสมอง
หนึ่งในหน้าที่หลักของอไมกดาลาคือการสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในจิตใจ ในปี ค.ศ. 2009 ทีมนักวิจัยกระตุ้นให้เซลล์ประสาทในอไมกดาลาสร้างโปรตีน CREB ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างความจำเพิ่มมากขึ้น แล้วทีมนักวิจัยก็จัดแจงช็อตเท้าหนูพร้อมกับเปิดเสียงไปด้วยเพื่อสร้างความกลัวแบบมีเงื่อนไข
จากนั้นทีมนักวิจัยฉีดสารพิษเข้าไปเพื่อทำลายเซลล์ที่ผลิต CREB ผลคือมันทำให้หนูทดลองจำไม่ได้อีกต่อไปว่าเสียงหมายถึงการโดนไฟช็อต
การลบล้างความทรงจำทำให้เราเข้าใจการจดจำได้เพียงครึ่งเดียว เพราะถ้าเข้าใจกระบวนการสร้างความทรงจำอย่างถ่องแท้ นักวิทยาศาสตร์ย่อมเข้าใจวิธีปรับเปลี่ยนและสร้างความทรงจำใหม่ได้
แนวคิดที่เหมือนกับนิยายวิทยาศาสตร์นี้กำลังจะจับต้องได้มากขึ้น เมื่อ สึสึมุ โทเนกาวะ (Susumu Tonegawa) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือ MIT คิดค้นระบบสร้างความทรงจำใหม่สำหรับใช้กับหนูทดลองขึ้นมาได้สำเร็จในปี ค.ศ. 2012
ทีมของสึสึมุใช้เทคนิคออปโตเจเนติกส์ (Optogenetics) ซึ่งเป็นการตัดต่อพันธุกรรมให้เซลล์ประสาทกลุ่มที่สนใจสร้างโปรตีนเรืองแสง และทำให้เซลล์เหล่านั้นตอบสนองต่อแสงเลเซอร์สีต่างๆ ได้
สึสึมุเลือกกลุ่มเซลล์จากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งทำหน้าที่ในการเก็บความทรงจำระยะยาว (Long-term memory) และความจำเกี่ยวกับสถานที่ (Spatial memory) เอาไว้ เมื่อหนูทดลองโดนไฟฟ้าช็อตที่เท้า ทีมวิจัยของสึสึมุก็บันทึกไว้ว่าเซลล์ชุดใดบ้างที่ถูกกระตุ้น โดยดูจากการเรืองแสงที่เกิดขึ้น จากนั้นก็ทดลองฉายแสงเลเซอร์สีฟ้าเพื่อกระตุ้นให้เซลล์ประสาทกลุ่มนั้นทำงานอีกครั้ง ปรากฏว่าสามารถเรียกคืนความทรงจำอันเลวร้ายขึ้นมาได้ตามคาด
นอกจากนี้งานวิจัยจากทีมอื่นๆ ก็แสดงให้เห็นว่าสามารถใช้เทคนิคเดียวกันนี้ลบความทรงจำออกไปได้ด้วย
การทดลองเหล่านี้เป็นกรณีตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเซลล์ประสาทส่วนใดบ้างที่เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ แต่กลุ่มเซลล์ประสาทในอไมกดาลาและฮิปโปแคมปัสทั้งหมดที่เรารู้ในตอนนี้เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
ในเอ็นแกรมแห่งความกลัวยังมีส่วนอื่นๆ อีกมากที่เข้ามาร่วมสร้างความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวกับการรับรู้แสง เสียง กลิ่น และสัมผัสอื่นๆ
ส่องความสัมพันธ์ระหว่างเอ็นแกรม
เมื่อก่อนเทคนิคการสร้างภาพสมองขณะทำงานด้วยสนามแม่เหล็ก หรือ fMRI (Functional Magnetic Resonance Imaging) ทำได้เพียงตรวจจับว่าสมองบริเวณใดบ้างที่มีระดับการทำงานมากกว่าบริเวณอื่นๆ แต่ปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์สามารถนำข้อมูลที่ได้จาก fMRI มาป้อนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้และวิเคราะห์แบบแผนการทำงานของสมองทั้งก้อนได้ เทคนิคนี้เรียกว่า Multi-Voxel Pattern Analysis หรือ MVPA
ฌอน โพลิน (Sean Polyn) นักประสาทวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Vanderbuilt University รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยที่บุกเบิกการนำ MVPA มาใช้วิเคราะห์หน่วยความจำในมนุษย์เป็นครั้งแรก
การทดลองนี้เริ่มจากการให้อาสาสมัครจดจำรูปภาพคนดัง สถานที่และสิ่งของทั่วไป ข้อมูลที่ได้จาก fMRI จะนำไปให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ว่า การทำงานของสมองในรูปแบบนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ให้จำประเภทใด จากนั้นอาสาสมัครจะต้องทวนชื่อสิ่งต่างๆ ที่ได้จดจำไป แล้วคอมพิวเตอร์จะวิเคราะห์การทำงานของสมองอีกครั้ง
ผลปรากฏว่าเมื่ออาสาสมัครกำลังทบทวนชื่อคนดังสักคนขึ้นมา สมองจะทำงานในรูปแบบเดียวกันกับตอนที่อาสาสมัครกำลังจดจำใบหน้าคนดังคนนั้น
งานวิจัยนี้เป็นหลักฐานสำคัญชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อคนเราต้องการนึกถึงความจำเรื่องใด สมองก็จะพยายามทำงานให้อยู่ในสภาวะคล้ายคลึงกับตอนที่เรากำลังจดจำสิ่งเหล่านั้น
นับจากนั้นเป็นต้นมา นักวิจัยหลายต่อหลายกลุ่มก็นำเทคนิคนี้ไปใช้กับการทดสอบความจำด้านต่างๆ ที่ตนเองสนใจ รวมถึงเจนิซเฉิน (Janice Chen) ด้วย
เจนิซเป็นนักประสาทวิทยาศาสตร์ด้านการรู้คิด (Cognitive Neuroscience) ประจำมหาวิทยาลัย John Hopkins University สหรัฐอเมริกา ทีมวิจัยของเจนิซสนใจการจดจำฉากต่างๆ ในซีรีส์ Sherlock ที่ฉายทางช่อง BBC เธอพบว่า สมองมีแบบแผนการทำงานที่แตกต่างกันทั้งหมด เมื่ออาสาสมัครได้ดูฉากต่างๆ กว่า 50 ฉาก
เจนิซพบว่าโครงสร้างสมองส่วนที่อยู่รอบๆ ฮิปโปแคมปัส รวมถึงสมองอีกหลายส่วนที่เป็นศูนย์ประมวลผลการรับรู้ขั้นสูงล้วนเกี่ยวข้องกับความพยายามจำฉากในซีรีส์ทั้งสิ้น
สมองของอาสาสมัครแต่ละคนที่ได้ดูฉากเดียวกันก็ยังคงมีรูปแบบการทำงานเหมือนๆกัน แม้อาสาสมัครแต่ละคนจะอธิบายฉากเหล่านั้นออกมาได้แตกต่างกันก็ตาม
เท่านั้นยังไม่พอ แม้แต่ในคนที่ไม่เคยดูซีรีส์ แต่แค่ได้รับฟังเรื่องราวแบบปากเปล่าก็มีรูปแบบการทำงานภายในสมองคล้ายคลึงกับคนอื่นๆ ที่ได้ดูซีรีส์มากับตา
“มันน่าประหลาดใจเหมือนกันที่เรายังคงสังเกตเห็นรูปแบบการทำงานในสมองของแต่ละคนเกิดขึ้นเหมือนๆ กันแม้ว่าพวกเขาได้เล่าเรื่องราวออกมาไม่เหมือนกัน” เจนิซกล่าวเสริม
ประสบการณ์เป็นเบ้าหลอมความทรงจำ
เมื่อนักวิทยาศาสตร์มีเครื่องมือในการสอดส่องความทรงจำที่มีประสิทธิภาพ ก็ถึงเวลาที่จะศึกษาว่าหน่วยความจำแต่ละหน่วยสัมพันธ์กันอย่างไร รวมถึงเมื่อคนเราได้รับประสบการณ์อื่นๆ เข้ามามากขึ้น หน่วยความจำจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
นักประสาทวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ไลลา ดาวาชิ (Lila Davachi) ใช้ fMRI ร่วมกับการวิเคราะห์แบบแผนการทำงานในสมองด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อวัดการทำงานของสมอง
โดยอาสาสมัครจะต้องจดจำสิ่งของ 128 ชิ้นที่มาคู่กับฉากหลัง 4 ฉาก เช่น แก้วมักคู่กับชายหาด ร่มมักคู่กับเมืองใหญ่ โดยที่สิ่งของแต่ละสิ่งจะไปอยู่กับฉากหลังเพียงหนึ่งฉากเท่านั้น แต่ฉากหลังสามารถเจอซ้ำกับสิ่งของหลายๆ สิ่งได้
การทดสอบครั้งแรก อาสาสมัครจะต้องจับคู่ให้ถูกว่าสิ่งของนี้มาคู่กับฉากหลังแบบใด ผลการวิเคราะห์พบว่า แบบแผนการทำงานนั้นแตกต่างกันไปในสิ่งของแต่ละชิ้น หลังจากนั้นไลลาเว้นช่วงเวลาไว้อีก 1 สัปดาห์แล้วจึงเรียกอาสาสมัครให้มาทำแบบทดสอบใหม่
คราวนี้พบว่า สมองมีแบบแผนการทำงานที่เป็นระบบระเบียบมากขึ้น กล่าวคือสิ่งของที่อยู่ในฉากหลังเดียวกันจะทำให้สมองสร้างแบบแผนการทำงานเป็นรูปแบบที่คล้ายกัน แสดงให้เห็นว่าสมองกำลังเรียนรู้แก่นสารที่เชื่อมโยงชุดข้อมูลต่างๆ เข้าหากันมากกว่าจดจำชุดข้อมูลที่สะเปะสะปะ
กระบวนการนี้นับว่าสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างเช่นการเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย สมองจะพยายามเชื่อมโยงจุดสังเกตต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อสร้างเป็นแผนที่ขึ้นมาในหัว ความสามารถที่จะเชื่อมต่อชิ้นส่วนข้อมูลเข้าด้วยกันเพื่อต่อยอดเป็นไอเดียใหม่ก็ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ หรือการวางแผนรับมือสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคต
การค้นคว้าในเวลาถัดมาทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่า ท้ายที่สุดแล้วผลจากการพยายามเชื่อมโยงความทรงจำต่างๆ ที่ใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน สมองจะหลอมรวมหน่วยความจำทั้งหมดเป็นหนึ่งเดียว
การศึกษาวิจัยทั้งหมดที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าสมองไม่ได้จัดเก็บความทรงจำไว้เป็นก้อนๆ แยกออกจากกันอย่างโดดเดี่ยว
กลับกันมันพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่เหมือนกันในความทรงจำแต่ละชุดแล้วสร้างเป็นเครือข่ายที่ช่วยให้เราสร้างคอนเซปต์ไอเดียหรือมโนทัศน์ใหม่ขึ้นมาเพื่ออธิบายประสบการณ์ที่ได้รับจากโลกภายนอก เหมือนกับลูกปัดหลากสีที่มีเส้นด้ายร้อยเรียงเข้าด้วยกันเป็นชิ้นงานศิลปะขนาดใหญ่
เทคนิคการศึกษาหน่วยความจำในระดับเซลล์จะทำให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาได้ว่าเซลล์ประสาทเดี่ยวๆ ทำหน้าที่เป็นหน่วยเก็บข้อมูลได้อย่างไร
ในอนาคตอีกไม่ไกลนักวิทยาศาสตร์จะล่วงรู้ว่าเซลล์ใช้กลไกอะไรในการรับข้อมูลเข้ามาและเรียกข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้งาน รวมถึงผลพวงจากปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกร่างกายนั้นทำให้เซลล์สูญเสียข้อมูลได้อย่างไร
“ตอนนี้เหมือนเรากำลังอยู่ในยุคทองของเทคโนโลยีที่จะกลับมาถามคำถามเก่าแก่เกี่ยวกับสมองและความทรงจำที่ยังรอคำตอบอยู่” ชีนากล่าวปิดท้ายอย่างมั่นใจ
อ้างอิง: