Skooldio – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Wed, 24 May 2023 08:25:03 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 Agile in Action ยืดหยุ่นอย่างไรให้เหมาะกับธุรกิจ https://thestandard.co/podcast/the-sme-handbook-ss6-ep35/ Wed, 24 May 2023 08:25:03 +0000 https://thestandard.co/?post_type=podcast&p=794718

Agile หนึ่งในคำที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งในโลกของธุรกิจ ห […]

The post Agile in Action ยืดหยุ่นอย่างไรให้เหมาะกับธุรกิจ appeared first on THE STANDARD.

]]>

Agile หนึ่งในคำที่เราได้ยินกันบ่อยครั้งในโลกของธุรกิจ หากแปลอย่างตรงตัว Agile แปลว่า คล่องแคล่ว ว่องไว แต่หัวใจสำคัญของการทำงานแบบ Agile แท้จริงแล้วคืออะไรกันแน่ 

 

THE SME HANDBOOK by UOB เอพิโสดที่ห้าของซีซั่นนี้ เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง Skooldio และอดีต Data Scientist ที่ Facebbok มาร่วมแบ่งปันแนวทางในการทำงานแบบ Agile ให้เหมาะสมกับธุรกิจและใช้งานได้จริง รวมทั้งเล่าประสบการณ์ตรงจากการทำงานกับองค์กรที่ได้ชื่อว่า Agile ที่สุดในโลก

 


 

นิยามของคำว่า Agile คืออะไร

 

คำว่า Agile หากแปลตามดิกชันนารีหมายความว่า มีความคล่องแคล่ว ว่องไว ดังนั้นผลลัพธ์ของการเป็นองค์กรที่ Agile คือสามารถตอบโจทย์และส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าได้รวดเร็ว กุญแจสำคัญของมันคือความคล่องแคล่ว ยืดหยุ่น ฉะนั้นถ้าถอยกลับมาจะพบว่า Agile คือแนวคิดการทำงานที่ว่า ทำอย่างไรให้เรามีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองตามฟีดแบ็กที่ลูกค้าให้มาได้ตลอดเวลา ซึ่งผลลัพธ์ที่เราคาดหวังคืออยากส่งมอบคุณค่าให้ลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น

 

คำว่า Agile ถูกใช้ครั้งแรกในกลุ่มคนทำงานประเภทไอทีหรือทำซอฟต์แวร์ เพราะงานแบบนี้จะมีการปรับแก้ไปมาอยู่ตลอดเวลาตามผลลัพธ์สุดท้ายที่ลูกค้าอยากได้ ทำให้ระหว่างทางเราอาจจะไม่มีทางรู้ได้เป๊ะๆ ว่าลูกค้าต้องการหน้าตาแบบไหนตั้งแต่ครั้งแรก ฉะนั้นมายด์เซ็ตสำหรับการทำงานแบบ Agile คือเราต้องตั้งโจทย์จากลูกค้าก่อน ในเมื่อต้องการทำให้ลูกค้าแฮปปี้ที่สุด เราควรทำอย่างไรเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น ซึ่งจะมีอยู่ 2 เรื่องหลักๆ ดังนี้

 

1. เน้นรับฟีดแบ็กจากลูกค้าเยอะๆ ทำซ้ำ และปรับเปลี่ยนบ่อย (Iterative) เราพร้อมปรับเปลี่ยนการทำงานของเราตลอดเวลามากน้อยแค่ไหน เปรียบเทียบการซื้อก๋วยเตี๋ยวของคนสองคน คนหนึ่งได้ก๋วยเตี๋ยวมาแล้วไม่ชิม แต่ปรุงทันทีตามความเคยชิน แต่คนที่สองชิมก่อนแล้วค่อยๆ ปรุงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รสชาติที่ถูกใจ คำถามคือใครจะได้ก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยกว่า แน่นอนว่าต้องเป็นคนที่สอง เพราะเขาค่อยๆ ปรับจนพอใจมากที่สุด

ก๋วยเตี๋ยวทุกชามอาจไม่ได้มีรสชาติเหมือนกันเป๊ะๆ เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ วันแรกลูกค้าบอกว่าชอบอันนี้ แต่หากวันใดวันหนึ่งสถานการณ์เปลี่ยน เช่น ลูกค้าอยากเปลี่ยนจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ แต่เราปรับตัวตามไม่ได้ ก็ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในโลกยุคนี้

2. ปรับวิธีทำงานในองค์กรทั้งภายในและภายนอก (Collaboration) สำหรับองค์กรที่กำลังจะก้าวจากไซซ์ S ไปเป็น M หรือ L ส่วนใหญ่จะเจอปัญหาแนวเดียวกัน คือแต่ก่อนอยากได้อะไรก็เคลียร์ได้ทุกอย่าง เพราะผู้บริหารลงมือทำเองหมดตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เมื่อองค์กรเริ่มโตก็ต้องสั่งการไปตามระบบทีละแผนกจนกลายเป็นงานหน่วง คำถามคือเราจะทำอย่างให้ไซโลเหล่านี้หายไป แล้วขยับเขยื้อนให้ได้รวดเร็วแบบเดิม ซึ่งตรงนี้จะเป็นการปรับวิธีการทำงานภายใน

 

อีกส่วนคือการปรับภายนอก ซึ่งก็คือลูกค้า โดยโจทย์ของการที่เราจะสามารถปรับได้บ่อยๆ คือต้องอยู่ใกล้ชิดลูกค้า ต้องพยายามเข้าไปฟังฟีดแบ็กจากเขาบ่อยๆ คลุกคลีกับเขาเยอะๆ แล้วหลังจากนี้ก็จะมีเรื่องของการสื่อสารต่างๆ ตามมาว่า ควรทำอย่างไรให้คนในองค์กรเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร แล้วเดินไปในทิศทางเดียวกัน สุดท้ายก็จะออกมาเป็นรูปแบบการทำงานที่เหมาะสมมากที่สุด

 

องค์กรที่ Agile คือสามารถตอบโจทย์และส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าได้รวดเร็ว 

 

ความท้าทายสำหรับองค์กรที่จำเป็นต้อง Agile เพื่อความอยู่รอดในแง่การดำเนินธุรกิจ

 

อย่างที่กล่าวตอนต้นว่า Agile มันเป็นแค่แนวคิด เราบอกว่าอยากทำงานให้ดีและเร็ว ทุกคนอยาก Agile แต่บางทีก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งไม่ใช่แค่ SMEs แต่องค์กรใหญ่ๆ หรือแม้กระทั่งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่งก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน

 

ถ้าจะถามว่ามันเกิดจากอะไร อย่างแรกคือต้องถอยกลับมาดูก่อนว่าการทำงานแบบที่เราเรียกกันว่าไซโล แบ่งงานเป็นแผนก จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องผิด มันก็ถูกต้องในแบบของมัน เพราะการทำเฉพาะสิ่งที่คุณเก่งก็เป็นสิ่งง่ายและรวดเร็ว แต่ปัญหาคือโลกยุคนี้มีความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น บางโปรเจกต์เราทำไปครึ่งทางแล้ว แต่ลูกค้าเปลี่ยนแผนกะทันหัน ก็อาจทำให้การส่งต่องานระหว่างแผนกเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ซึ่งวิธีที่จะทำให้องค์กร Agile มันไปได้หลายแบบ

 

วิธีที่ง่ายที่สุดถ้าอยากจะตอบโจทย์ลูกค้าให้เร็ว ผมมักจะชาเลนจ์ให้ SMEs ถามตัวเองดูก่อนว่า ถ้าเราอยากแก้เกมให้ได้เร็วที่สุด คิดว่ามันมีท่าไหนได้บ้าง เพราะถ้าเมื่อไรที่เริ่มถามคำถามนี้กับตัวเองเยอะขึ้น เราจะเริ่มเข้าคอนเซปต์ตามทฤษฎี MVP (Minimum Viable Product) สิ่งที่เล็กที่สุดที่เราได้รับฟีดแบ็กจากลูกค้าคืออะไร มันจะทำให้รู้ว่า เราควรจะไปทางไหนหรือทำอะไรต่อ เพราะถ้าเรามัวแต่คิดก้อนใหญ่ ทำออกมาใหญ่โต แต่ลูกค้าไม่ชอบ เราจะเสียเงินและเวลาไปเยอะมาก

 

แต่ถ้าธุรกิจเรายังเล็กมากๆ มีพนักงาน 5-10 คน อย่างนี้ไม่น่ามีปัญหา เพราะคุณมีความ Agile อยู่แล้ว ไม่มีอะไรต้องปรับเพิ่ม แต่ก็ต้องดูว่าลูกค้าของเรามีความไม่แน่นอนสูงแค่ไหน เพราะถ้าลูกค้ามีดีมานด์ที่ชัด ใหญ่ เยอะ บางทีเราอาจจะไม่ต้องพยายามยืดหยุ่นขนาดนั้น แค่ก้มหน้าก้มตาทำให้มันมีประสิทธิภาพมากที่สุดอาจจะเป็นวิธีที่ดีกว่าก็ได้ 

 

ถ้าเราเป็นธุรกิจที่ต้องมีมาตรฐานสูง มีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง โอกาสที่เราจะทดลองท่าง่ายๆ คงจะเป็นไปได้ยาก และอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งตรงนี้ก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าความยืดหยุ่นที่เราอยากได้เพื่อหาความต้องการของลูกค้าให้เจอ ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีขึ้น บวกกับมาตรฐานที่ต้องยึดมั่นเอาไว้ เราจะบาลานซ์ตรงนี้อย่างไร ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์แผนการทำงานให้เหมาะกับทั้งตัวเอง ลูกค้า และมาตรฐานที่จะต้องทำไปพร้อมกัน

 

จริงหรือไม่ที่ Agile จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจกำลังถดถอย

 

ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมาเรามีตัวอย่างให้เห็นกันชัดๆ แล้ว นั่นก็คือโควิด-19 ซึ่งช่วงวิกฤตนี้มีทั้ง SMEs ที่เติบโตแบบผงาด เพราะเขาเจอโอกาส เจอความต้องการใหม่ของลูกค้า เจอท่าใหม่และเอาตัวรอดได้จนเติบโตดีมาก ในขณะเดียวกันก็มี SMEs หลายๆ แห่งที่เจอวิกฤตแล้วจุกเลย เพราะไม่ปรับเปลี่ยน เคยชินกับการทำแต่แบบเดิม บางทีรู้อยู่ว่าลูกค้าเปลี่ยนแต่ก็เพิกเฉย หรืออาจจะคิดไม่ออกเลยจริงๆ ว่าลูกค้าเปลี่ยนแล้วต้องทำอย่างไรต่อ

 

กรณีที่ผมได้ยินมาเยอะคือธุรกิจครอบครัว ที่รุ่นลูกมักจะบอกให้พ่อแม่เอาของไปวางขายในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช แต่ผู้ใหญ่จะไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมต้องไปแบ่งค่า GP ให้แพลตฟอร์มด้วย ทั้งที่เราก็ขายได้ดีมาตลอด นั่นเพราะผู้ใหญ่เขาไม่เคยรู้ว่าพลังของโปรอย่าง 11.11 มันมากขนาดไหน เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับว่าคุณปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแค่ไหน เพราะแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่เข้ามาล้วนแต่เป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้เราต้องเริ่มทำงานแบบ Agile มากขึ้น

 

ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วการทำ Agile ไม่มีผิดหรือถูก ผมว่ามันเป็นสเปกตรัม คือธุรกิจบางประเภท เช่น โลจิสติกส์ การที่คุณลงทุนสร้างแวร์เฮาส์ไปแล้วอาจทำให้ไม่สามารถยืดหยุ่นได้เท่าคนอื่นที่เขาไม่มีหน้าร้าน ฉะนั้น Agile ที่สุดที่คุณจะทำได้มันก็อาจจะมีข้อจำกัดประมาณหนึ่ง แต่ถ้าคุณเป็นแม่ค้าออนไลน์ที่แทบไม่มีภาระอะไรผูกติดอยู่ด้วย นั่นจะทำให้คุณพร้อมปรับได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นสูตร Agile ของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน

 

บางคนถึงขั้นไปลงเรียนคอร์ส Agile มาแล้วกลับมาทำตามขั้นตอน 1 2 3 4 5 ซึ่งผมต้องบอกว่าสิ่งนี้มันย้อนแย้งกับหลักคิดของ Agile ที่บอกว่า ถ้าอยากทำงานให้ดี วิธีการทำงานต้องดี แต่พอเราไปจับทุกอย่างด้วยกระบวนการที่กำหนด โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร อันนี้เรียกว่าอันตรายแล้ว

 

วิธีที่ถูกคือเราต้องเข้าใจว่าทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แล้วหาท่าของตัวเองให้เจอ เช่น ถ้าอยากให้พนักงานแต่ละแผนกทำงานร่วมกันได้ดี คุณก็ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้งานที่ทำมันมีความโปร่งใสมากที่สุด รู้ว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ เพื่อจะได้มองเห็นว่าปัญหาที่แท้จริงมันอยู่ตรงไหน และต้องแก้ไขอย่างไรให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

การทำ Agile เราต้องเข้าใจว่าตัวเองทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แล้วหาท่าของตัวเองให้เจอ

 

อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ทั้งองค์กรขับเคลื่อนไปในแนวทางของ Agile ได้พร้อมๆ กัน

 

ในโลกของ Agile การจะทำงานให้เร็วได้นั้น เราต้องให้สิ่งที่เรียกว่า Autonomy หรือการให้อิสระกับคนทำงาน การที่องค์กรจะขยับตัวรวดเร็วได้ มันต้องมีทีมเล็กๆ แบบนี้ เหมือนเป็นการเอาเรือเล็กออกไปก่อน เพราะเรือใหญ่มันขยับช้ากว่า ฉะนั้นแปลว่าเราต้องเชื่อในพลังของเรือเล็ก แต่ปัญหาที่ทำให้ SMEs ส่วนใหญ่ Agile ไม่สำเร็จคือทุกเรื่องต้องให้ผู้บริหารตัดสินใจเท่านั้น ทั้งที่พนักงานอาจจะมีไอเดียดีมากและทำงานได้รวดเร็ว แต่เรื่องกลับค้างอยู่บนโต๊ะผู้บริหาร 3 สัปดาห์ มันก็ไม่ไปไหน ผมคิดว่านี่ล่ะที่เป็นปัญหาว่าสุดท้ายแล้วมันติดที่ตรงไหน ทำไมเราไม่สามารถ Agile ได้สำเร็จสักที 

 

นอกจากนี้ มายด์เซ็ตของคนทำงานก็สำคัญมาก บางองค์กรมีหัวหน้าที่หัวสมัยใหม่ ให้อิสระทางความคิดกับพนักงานเยอะ แต่กลายเป็นว่าพอเราให้อำนาจเขาเยอะ แต่ไม่ได้ถือธงชัดๆ ว่าจะพาไปทางไหน สุดท้าย Agile ก็จะกลายเป็นกระจัดกระจาย คือเร็วก็จริง แต่สุดท้ายมันไม่ได้ไปในทิศทางที่เราอยากให้ไป ตรงนี้ก็จะเป็นความยากในอีกรูปแบบหนึ่ง

 

สำหรับผม การ Agile ให้ประสบความสำเร็จ คนที่จะเขามาอยู่ในกระบวนการทำงานจะต้องเข้าใจก่อนว่าเราทำอะไรไปเพื่ออะไร แล้วเปิดใจเพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองตามแบบแผนที่ควรจะเป็นมากขึ้น ซึ่งสามารถสรุปสิ่งที่ผู้บริหารควรทำออกเป็นข้อๆ ดังนี้

 

  1. เริ่มให้เล็กเข้าไว้ 
  2. โฟกัสที่ Core-Objective ของธุรกิจ เข้าใจลูกค้าเพื่อตอบโจทย์ผลลัพธ์ให้ดีขึ้น
  3. ปรับการทำงานภายในองค์กรให้คล่องตัวและง่ายขึ้น 
  4. ฟอร์มทีมเล็กๆ ที่พร้อมวิ่งไปกับเรา แล้วค่อยขยายผลไปสู่ทีมอื่นๆ

 

ในโลกของ Agile การจะทำงานให้เร็วได้ เราต้องให้อิสระกับคนทำงาน

 

กรณีศึกษาของธุรกิจที่ทำ Agile ประสบความสำเร็จ

 

ผมเองเคยทำงานกับ Facebook อยากจะเล่าถึงโปรเจกต์หนึ่งที่น่าทึ่งมากคือตอนที่เขาออกฟีเจอร์ Facebook Live โดยในช่วงเริ่มต้นทีมที่สร้างสิ่งนี้ขึ้นมามีแค่ 12 คน และเขาเปิดให้ทดลองใช้ฟีเจอร์นี้เฉพาะ Verified Account ที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนดังและอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ และเมื่อปล่อยให้ใช้งานก็เห็นว่ามันมีศักยภาพมากๆ ทำไมเราให้คนไม่กี่คนในโลกใช้ ทั้งๆ ที่ Facebook ตอนนั้นมีผู้ใช้หลักพันล้านคน ทีมนี้จึงยื่นเรื่องบอกหัวหน้าว่าอยากลองให้คนทั่วไปได้ใช้ฟีเจอร์นี้บ้าง ซึ่งในเวลานั้นยังเห็นภาพไม่ชัดเจนนักหรอกว่ามันจะเป็นไปได้จริงหรือ แต่ผู้บริหารก็กล้าที่จะให้ทดลองทำ ด้วยเหตุผลว่าถ้าลองแล้วมันไม่เวิร์กก็แค่หยุด แต่ถ้ามันเวิร์กขึ้นมา เราก็จะได้เจออะไรใหม่ๆ พอปล่อยฟีเจอร์ Facebook Live ปุ๊บก็เป็นอย่างที่พวกเราเห็นกัน คือมีการใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลก ถ่ายทอดสดรายการทางทีวีก็ทำได้ ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้มาจากการที่เรากล้าทดลองให้คนกลุ่มเล็กๆ ขับเคลื่อนอะไรบางอย่างไปด้วยตัวเอง แล้วมันก็ประสบความสำเร็จเสียด้วย 

 

และสิ่งที่น่าทึ่งกว่านั้นคือตอนจบของเรื่องราวนี้ ในช่วงที่เริ่มปล่อยฟีเจอร์สู่สาธารณะ ตอนนั้น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ลางานเพราะภรรยาคลอดลูก แต่เมื่อเขากลับมาทำงานแล้วได้ยินเรื่องราวทั้งหมดก็ขอดูข้อมูลทันที หลังจากนั้นมาร์กก็ถามทีมเชิงตำหนิว่า “ถ้ามันจะประสบความสำเร็จขนาดนี้ พวกคุณรออะไรกันอยู่” และจากทีมงาน 12 คนก็กลายเป็น 100 คนในสัปดาห์ถัดมาทันที มาร์กบอกวิศวกรทุกคนในบริษัทว่าถ้าโปรดักต์ที่คุณทำอยู่ไม่ได้มีแนวโน้มจะเติบโตได้ขนาดนี้ กรุณาลาออกจากทีมเดิมแล้วมาจอยทีมนี้เดี๋ยวนี้ นี่คือตัวอย่างที่ชวนให้ตั้งคำถามว่า “องค์กรของเรามีความยืดหยุ่นมากพอที่จะทำอะไรแบบนี้หรือเปล่า” ซึ่งผมว่ามันน่าจะเกิดขึ้นยากมาก

 

คำแนะนำสำหรับองค์กรที่กำลังประสบภาวะคอขวด และอยากจะ Agile เพื่อให้องค์กรไปต่อได้

 

แน่นอนทุกคนล้วนกลัวการเปลี่ยนแปลง เราจะมีวิธีชักจูงอย่างไรให้พนักงานยอมปรับเปลี่ยนตามเรา ผมคิดว่าส่วนนี้จะต้องให้เขาเห็นภาพชัดๆ ว่าเราทำไปเพื่อให้พวกเขาทำงานร่วมกันได้ดีขึ้น เราไม่ได้ทำเพื่อให้งานเขามันยากขึ้น และถ้าเราพยายามปรับกระบวนการใหม่ การทำงานทุกอย่างจะง่ายขึ้น

 

จริงๆ มันเคยมีคนที่พูดไปในเชิงปรัชญาเลยว่า ถ้าเรานำเอา Agile มาใช้ได้ดีจริงๆ คนทำงานต้องมีความสุข เพราะเราทำงานง่ายขึ้น ทำงานแล้วเราเห็นถึงความสำเร็จมากขึ้น และเมื่อลูกค้าแฮปปี้ อยากร่วมงานกับเรา เราก็จะทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้นเช่นกัน

 


 

Credits

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Co-Producer เจนจิรา เกิดมีเงิน

Creative สกุลชัย เก่งอนันตานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย

Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader วรรษมล สิงหโกมล

THE STANDARD Webmaster Team

THE STANDARD Archive Team

The post Agile in Action ยืดหยุ่นอย่างไรให้เหมาะกับธุรกิจ appeared first on THE STANDARD.

]]>
วิธีการใช้ Data ทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce123/ Thu, 20 Jun 2019 17:01:29 +0000 https://thestandard.co/?post_type=podcast&p=264063 thesecretsauce

“ไม่มี Data ในวันนี้คุณแพ้แน่นอน”   แจ็ค หม่า ก็เค […]

The post วิธีการใช้ Data ทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ appeared first on THE STANDARD.

]]>
thesecretsauce

“ไม่มี Data ในวันนี้คุณแพ้แน่นอน”

 

แจ็ค หม่า ก็เคยกล่าวไว้ว่า “Data is the new oil.” คือขุมทรัพย์แห่งใหม่ คือน้ำมันที่มีมูลค่ามหาศาล บางคนถึงกับพูดว่า ถ้าไม่มี Data ก็เหมือนคนตาบอด มองอะไรไม่เห็น

 

เราจะนำ Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรได้อย่างไร พร้อมช่วยลดความผิดพลาด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในโลกธุรกิจ

 

เคน นครินทร์ คุยกับ ดร.ต้า-วิโรจน์ จิรพัฒนกุล อดีต Data Scientist ของเฟซบุ๊ก และ CEO ของ Skooldio สถาบันสอนเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะเรื่องของ Data

 


 

Data Science คืออะไร

พูดง่ายๆ คือการนำข้อมูลมาสร้างคุณค่าทางธุรกิจ มันถูกพัฒนามาจากการทำสถิติ ซึ่งมาจากข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตามจำนวน Touch Point ของผู้ใช้งานในอินเทอร์เน็ตที่มีมากขึ้น ในภาคธุรกิจก็ต้องการนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ โดยมี Data Scientist ช่วยวิเคราะห์ คนที่เป็น Data Scientist จะต้องเขียนโปรแกรม สามารถดึงข้อมูล และประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้

 

ทำไมเราจึงใช้ Data มากขึ้นในปัจจุบัน

ยุคก่อนเราก็ใช้ แต่ไม่เป็นทางการ ข้อมูลมักถูกจัดเก็บอยู่เฉพาะบุคคล เช่น เจ้าของร้านรู้จักลูกค้า และรู้ว่าลูกค้าคนไหนต้องการอะไร ไม่เคยถูก Formalize เพื่อนำมาใช้อย่างจริงจังเหมือนในปัจจุบัน แทนที่จะอยู่ในหัวของเจ้าของร้าน ก็สามารถนำมาใช้อย่างอัตโนมัติ ใครก็สามารถนำไปใช้ได้ ทำให้เราบริหารจัดการลูกค้าของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ไม่นำ Data มาใช้ จะส่งผลเสียอะไรบ้าง

หลักๆ เลยคือ องค์กรนั้นเสียโอกาส เสียโอกาสในการรู้ว่าตอนนี้องค์กรตัวเองอยู่จุดไหน และจำเป็นต้องปรับปรุงส่วนไหนบ้าง องค์กรจะเดินหลงทิศทาง หากนำมาใช้ อย่างน้อยก็จะรู้ว่าควรจะเดินไปทางไหน

 

ควรเริ่มต้นอย่างไร

เริ่มต้นด้วยการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด และเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการนำไปวิเคราะห์ต่อ เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจ สามารถนำไปทำการตลาดได้ตรงกับกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และที่สำคัญ ธุรกิจควรรู้เป้าหมายให้ชัด และรู้ว่าข้อมูลจะมาช่วยได้อย่างไร

 

สำหรับคนที่ไม่รู้วิธีการใช้ Data มีข้อแนะนำอย่างไร

ทำงานกับคนที่เก่งในด้านนี้เยอะๆ โดยปัจจุบันตลาดขาด Data Scientist ที่มีความเข้าใจเชิงลึกว่าควรจะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร วิเคราะห์แบบไหนที่ทำให้ธุรกิจมีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น Data Scientist จะต้องใช้ประสบการณ์และทำความเข้าใจธุรกิจควบคู่ไปกับการเขียนโปรแกรม

 

ตัวอย่างการใช้เครื่องมือในการเก็บ Data

สำหรับธุรกิจขนาดเล็กสามารถใช้เครื่องมือบนเฟซบุ๊กได้ Facebook Pixel เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ได้ เพียงแค่นำไปวางไว้ที่หน้าเว็บไซต์ หากลูกค้าเปิดเฟซบุ๊กอยู่ด้วย เราก็จะได้ข้อมูลผู้ใช้คนนั้นในทันที ข้อมูลที่ได้เราก็สามารถนำมาวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เขาสนใจ เพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการทำการตลาดได้ กำหนดเงื่อนไขการยิง Ad ได้ตรงจุดมากขึ้น เครื่องมืออื่นๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ได้ อีกตัวคืออีเมล ซึ่งสามารถ Track ได้เหมือนกันว่ามีคนคลิกและเข้าดูคอนเทนต์เท่าไร

 

เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากบริษัทที่เป็น Data Driven

บริษัทกลุ่มค้าปลีก เช่น Walmart เป็นธุรกิจเน้นเรื่องการจัดโปรโมชัน การตั้งราคาดึงดูดลูกค้าให้กลับมา ซึ่งมักจะเก็บข้อมูลของเราและพยายาม Optimize หรืออย่าง DHL ที่ติดตามข้อมูลรถบรรทุกเพื่อวิเคราะห์เส้นทางขนส่งให้ประหยัดที่สุด แต่กว่าจะได้ผลการวิเคราะห์ที่ส่งผลกับธุรกิจได้จริงก็ต้องใช้เวลาในการเก็บข้อมูลพอสมควร

 

คุณสมบัติของคนที่จะเป็น Data Scientist มีอะไรบ้าง

เป็นคนที่ตั้งคำถามเป็น ช่างสังเกต พยายามคิดจากสิ่งที่เจอ คิดต่อยอดจากข้อมูลที่มีได้ เช่น เรื่องการขาย หากต้องการขายให้ดีขึ้นทำอย่างไร จะต้องทำอะไรกับลูกค้าบ้าง ก็ต้องไล่ถามอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อย่างเวลาผมทำเวิร์กช็อปก็จะพยายามให้คิดร่วมกัน และห้ามตั้งคำถามจากข้อมูล ให้ตั้งจากธุรกิจว่าต้องการแก้ปัญหาอะไร ค่อยมาดูว่าต้องเก็บ Data อะไร เริ่มเอาข้อมูลมาดู และลองทำเท่าที่ทำได้ ให้พอเห็นกระบวนการ แล้วค่อยหาผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มาช่วยเพิ่มก็ได้

 

เราจะสร้างองค์กรแบบ Data Driven ได้อย่างไร

เลเวลแรกคือ การเก็บข้อมูล ซึ่งต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและพร้อมใช้งาน เลเวลที่สองคือ เครื่องมือ ทุกคนในองค์กรควรมีเครื่องมือที่สามารถใช้ดึงข้อมูลมาใช้ได้ง่ายๆ อย่างน้อยให้พอใช้ Excel หรือทำ Visualize ทำกราฟได้ ก็จะช่วยให้การนำข้อมูลไปใช้ง่ายขึ้นอีก ที่ขาดไม่ได้คือการเข้าถึงข้อมูล การทำ Data Governance สำหรับการบริหารข้อมูล เพื่อให้คนในองค์กรสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้จริง  สุดท้ายคือ เรื่องความรู้ จะใช้ข้อมูลได้เยอะต้องเริ่มรู้สถิติ เริ่มเข้าใจ ต้องวิเคราะห์เป็นและถูกต้อง คีย์ของ Data Driven คือทุกคนในองค์กรจะต้องสามารถนำข้อมูลมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้ และต้องระบุได้ว่ามีโอกาสจะนำข้อมูลมาใช้ตรงไหนได้บ้าง

 

ความเข้าใจผิดในการใช้ Data

การได้รับความกดดันและความไม่พร้อมในหลายๆ เรื่อง ทำให้เริ่มต้นทำ Data ไม่ได้สักที ทุกคนชอบคิดภาพใหญ่และปลายทาง ที่จริงแล้วให้เริ่มในจุดเล็กๆ และค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น คู่กับการวิเคราะห์ในเชิงลึกมากขึ้น อยากให้เริ่มเป็นสเตปไป  

 

มองอนาคตของการใช้ Data อย่างไร

คนตามไม่ทันต้องรีบ และคนที่ไม่ใช้แพ้ชัวร์ อันนี้ฟันธง และเรื่องยากๆ หลายๆ เรื่อง เช่น Machine Learning และ AI จะถูกทำให้ง่ายขึ้น มีเครื่องมือพร้อมให้ใช้งานแค่ส่งข้อมูลให้เท่านั้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีทีมขนาดใหญ่ แต่ความยากจะอยู่ที่ความเข้าใจในข้อมูล และการรู้ว่าโอกาสของเราอยู่ที่ไหน จะเอามาใช้ในส่วนไหนของธุรกิจ และสุดท้าย เราต้องบอกให้ได้ว่าเราจะทำอย่างไรกับข้อมูล

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

The Guest วิโรจน์ จิรพัฒนกุล

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

The post วิธีการใช้ Data ทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทำการตลาดบนเฟซบุ๊ก จากอดีต Data Scientist ของเฟซบุ๊ก https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce122/ Tue, 18 Jun 2019 06:33:12 +0000 https://thestandard.co/?post_type=podcast&p=263239 thesecretsauce

เคยสงสัยไหมว่า อัลกอริทึมบนเฟซบุ๊กทำงานอย่างไร ทำไมคอนเ […]

The post ทำการตลาดบนเฟซบุ๊ก จากอดีต Data Scientist ของเฟซบุ๊ก appeared first on THE STANDARD.

]]>
thesecretsauce

เคยสงสัยไหมว่า อัลกอริทึมบนเฟซบุ๊กทำงานอย่างไร ทำไมคอนเทนต์ที่โพสต์ไปบางอันปัง บางอันเหงา เราจะรู้จักลูกค้าและยิง Ad ตรงกลุ่มตรงเป้าได้อย่างไร

 

ใครที่อยากขายของในเฟซบุ๊ก อยากทำเพจกิน ดื่ม เที่ยว อยากเป็น Publisher เป็น Influencer เป็นคนบริหารจัดการเพจ หรือต้องใช้เฟซบุ๊กในการทำธุรกิจ ห้ามพลาด!

 

เคน นครินทร์ คุยกับ ดร.ต้า-วิโรจน์ จิรพัฒนกุล แห่ง Skooldio ผู้เชี่ยวชาญด้าน Data และอดีต Data Scientist ผู้ร่วมออกแบบ News Feed ของเฟซบุ๊ก ในรายการ The Secret Sauce   

 


 

ทำอย่างไรให้เพจมียอดเอ็นเกจเมนต์เยอะๆ

ง่ายที่สุดเลยคือทำคอนเทนต์ให้ดี เฟซบุ๊กไม่มีความตั้งใจที่จะลด reach ของเพจ เฟซบุ๊กมีหน้าที่แมตช์สิ่งที่คนสนใจ โดยคอนเทนต์ที่ดีในสายตาเฟซบุ๊กหมายถึง มีคนกดไลก์ มีคนคอมเมนต์จำนวนมาก มีการแชร์ต่อ แท็กเพื่อนมาอ่าน เฟซบุ๊กจะค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ

 

เฟซบุ๊กจะพยายามดันโพสต์ที่ตรงกับความสนใจของผู้บริโภคมากที่สุด โดยแต่ละเพจควรดูผลตอบรับอย่างสม่ำเสมอ เพราะการบริหารจัดการเพจ หรือการทำการตลาด ไม่มีสูตรตายตัว เฟซบุ๊กมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมการเข้าดูเพจของผู้ติดตาม โพสต์ไหน reach เยอะ เราควรเข้าไปดูผลตรงนั้นว่ามาถูกทางแล้วหรือไม่ และระวังเรื่องการโฆษณาให้คนมากดไลก์ที่อาจจะไม่สัมพันธ์กับเพจ การได้คนที่ไม่เกี่ยวข้องมากดไลก์เพจจะทำให้การยิงโฆษณายากขึ้น ทางที่ดีควรปล่อยให้เพจโตอย่าง organic มากกว่าเน้นแต่ยอดไลก์

 

เราควรเจาะกลุ่มเป้าหมายในการทำเพจไปเลยหรือไม่

เพจหรือแบรนด์ที่จะทำการตลาดควรหาคอมมูนิตี้ของตัวเองให้เจอ โดยแต่ละเพจเราสามารถเลือกได้ว่าต้องการให้คนกลุ่มไหนเห็นเพจได้ด้วย เราควรเลือกเฉพาะกลุ่มโดยไม่จำเป็นต้องโพสต์เพื่อให้ทุกคนเห็น ซึ่งการเลือกที่จะสื่อสารนี้จะช่วยในกรณีที่เพจของเรามีจำนวนผู้ติดตามมากในระดับหนึ่งแล้ว และเราต้องการรักษากลุ่มนี้ไว้ เพราะมีหลายครั้งที่เมื่อเพจเติบโตในระดับหนึ่งแล้ว เราโพสต์มากเกินไป คนกลุ่มนี้ก็อาจจะเลิกติดตามเพจไปเลย นอกจากการเลือกสื่อสารเฉพาะกลุ่มแล้ว ก็อาจจะสร้างเพจลูกขึ้นมาด้วย การทำในลักษณะนี้เป็นการช่วย personalize ให้เขาไปในตัวด้วย

 

เราต้องเข้าใจ audience ว่าเขาต้องการอะไร เขาอยากอ่านอะไร หากเราทำคอนเทนต์ได้ตรงกับสิ่งที่เขาสนใจ แปลว่าทุกครั้งที่โพสต์ organic reach จะเยอะ เฟซบุ๊กก็จะมองว่าเพจของเรามีคุณภาพ พยายามตามหาคนที่มีพฤติกรรมหรือมีความสนใจตรงกับเรามาให้ได้ แต่หากเราซื้อไลก์และได้คนที่ไม่สัมพันธ์กับเพจ สุดท้ายเราจะไม่มีผู้ใช้ที่มีคุณภาพอยู่เลย และเฟซบุ๊กมี Facebook Pixel เพื่อตามไปอ่านค่าว่าเขามีความสนใจกับสิ่งที่เรามีจริงๆ และขายของได้จริงหรือไม่

 

Insight ของเฟซบุ๊กตัวไหนที่เราควรอ่านค่าให้ได้และนำมาใช้กับเพจมากที่สุด

ส่วนตัวคือการดูว่าโพสต์ประมาณไหนที่คนมา engage เยอะและมีคนแชร์เยอะ Insight เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้เรากำหนดต้นทุนที่จะต้องใช้ซื้อโฆษณาได้ เราสามารถดูสถิติ แนวโน้มสื่อ หรือมีเดียที่คนให้ความสนใจ รวมถึงดูตัวอย่างฟีดโฆษณาของบางเพจเพื่อนำมากำหนดแนวทางในเพจของเราได้ แต่ที่สำคัญคือจะต้องคอยมอนิเตอร์และหมั่นทดลองอยู่เสมอ เพราะการที่จะทำคอนเทนต์ให้ปังและได้รับเอ็นเกจเมนต์สูงๆ คงไม่ใช่แค่ปรับวิธีให้สอดคล้องกับอัลกอริทึมเท่านั้น การเรียนรู้ และเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาก็เป็นสิ่งที่สำคัญและช่วยให้การทำการตลาดบนเฟซบุ๊กประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเคสของ Workpoint ที่ตัดคลิปต่างๆ ออกมาสั้นๆ ซึ่งตอบโจทย์คนดู และมียอด reach เยอะมาก

 

คิดว่าในอนาคต News Feed จะมีอะไรที่น่าจับตาอีกบ้าง

เฟซบุ๊กแคร์ผู้ใช้งานมากและมีมิชชันที่ชัดเจนว่าเขาอยากจะเชื่อมคนทั้งโลก และหากเรารู้ว่าผู้ติดตามเพจต้องการอะไร อยากเห็น หรืออยากได้คอนเทนต์แนวไหน เชื่อว่าสิ่งที่ทำนั้นก็จะสอดคล้องกับสิ่งที่เฟซบุ๊กทำ เราก็จะโตไปกับเฟซบุ๊กด้วย

 

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานที่เฟซบุ๊ก

คนที่ทำงานในเฟซบุ๊กทุกคนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น ทุกคนมีอิสระในการทดลองทำ พวกเขาเป็นคนเก่งๆ ทั้งนั้น ทำให้เราอยากที่จะไปทำงานทุกวัน เพราะได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมายจากที่นั่น มีเรื่องใหม่ๆ ให้ได้ลองและได้คิด การเข้าทำงานที่นี่ยากมาก มีกระบวนการคัดเลือกที่ไม่ต่างกับ Google หรือองค์กรระดับโลก การสัมภาษณ์ทำอย่างจริงจัง ซึ่งพื้นฐานของภาษาเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเขามองว่าถึงแม้รู้เรื่องเทคนิค แต่หากอธิบายไม่ได้ก็ถือว่าไม่มีโอกาสแล้ว ซึ่งการสัมภาษณ์แบ่งเป็นแต่ละด้าน โดยจะดูว่าหากคนนี้เข้ามาในทีมแล้วองค์ประกอบของทีมจะเปลี่ยนไปอย่างไร และผลของการสัมภาษณ์อย่างน้อยต้องออกมาว่าเขาอยากที่จะทำงานกับคนนี้ สิ่งที่ได้จากการทำงานที่นี่คือมีสิ่งแวดล้อมในการทำงานดี มีเพื่อนที่ดี ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในที่ทำงานมากกว่าที่บ้าน

 

วัฒนธรรมองค์กรของเฟซบุ๊กมีอะไรที่องค์กรไทยควรเอาเป็นแบบอย่าง

การมีแนวคิดที่เห็นความสำคัญผู้ใช้งานมากที่สุด ควรเข้าใจให้ได้ว่าพฤติกรรมผู้ใช้งานคืออะไร เขาต้องการอะไร และเราควรจะต้องทำอะไร เพื่อทำให้ประสบการณ์ใช้งานของเขาดีขึ้น และเรื่องขององค์กรว่าทำอย่างไรให้คล่องตัว สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว อย่างเฟซบุ๊กจะเน้นทำงานเป็นโปรเจกต์ ทุกคนถือความรับผิดชอบร่วมกัน และสามารถตัดสินใจได้เอง และทั้งองค์กรมี alignment ที่ตรงกัน รับรู้ว่ามิชชันและวิชันคืออะไร พอมีภาพใหญ่ร่วมกันแล้วทุกคนก็สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ทุกคนให้ความสำคัญกับอิมแพ็ก และ output ที่มีให้กับองค์กร ด้วยวิธีคิดแบบนี้ทำให้ทุกคนมีความเป็นเจ้าของในงานที่ทำ รู้สึกถึงความท้าทายและอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน ทำให้ทุกอย่างออกมาค่อนข้างดี ทุกคนสนุกไปกับงาน ซึ่งทั้งหมดนี้คือวัฒนธรรมในองค์กรที่คิดว่าองค์กรในเมืองไทยยังขาดอยู่

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

The Guest วิโรจน์ จิรพัฒนกุล

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

The post ทำการตลาดบนเฟซบุ๊ก จากอดีต Data Scientist ของเฟซบุ๊ก appeared first on THE STANDARD.

]]>