ลิบรา – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Mon, 24 Jun 2019 10:08:06 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 Libra สกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊กกำลังจะเขย่าโลกอย่างไร https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce124/ Mon, 24 Jun 2019 10:08:06 +0000 https://thestandard.co/?post_type=podcast&p=264914 The Secret Sauce Libra

ลิบรา (Libra) สกุลเงินดิทัลใหม่ล่าสุดของโลก ที่เพิ่งประ […]

The post Libra สกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊กกำลังจะเขย่าโลกอย่างไร appeared first on THE STANDARD.

]]>
The Secret Sauce Libra

ลิบรา (Libra) สกุลเงินดิทัลใหม่ล่าสุดของโลก ที่เพิ่งประกาศเปิดตัวโดยเฟซบุ๊กเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แทบทุกอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องหันมาจับตามองว่าเฟซบุ๊กตั้งใจจะทำอะไรกันแน่ มันมีไว้ทำไม ต่างกับบิตคอยน์หรือไม่ และจะเกิดผลกระทบต่อไปในอนาคตอย่างไรบ้าง

 

เคน-นครินทร์ รวมข้อมูลที่ทุกคนอยากรู้เกี่ยวกับสกุลเงินลิบรา มาเล่าให้ฟังในรายการ The Secret Sauce

 

ลิบรา (Libra) คืออะไร

เงินดิจิทัลแบบ Stable Coin ที่มีมูลค่าคงที่ ผูกติดและอิงกับสกุลเงินจริงที่ใช้งานในโลกออกไลน์ รวมถึงสินทรัพย์ค้ำประกันชนิดอื่นๆ โดยเฟซบุ๊กเป็นผู้พัฒนาแนวคิดการสร้างมันขึ้นมาทั้งหมดภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชน และหน่วยงานในแผนก ‘คาลิบรา (Calibra)’ ซึ่งจะเป็นชื่อที่ถูกเรียกแทนกระเป๋าเงินอีวอลเล็ตด้วย

 

แนวคิดของลิบราคือการตั้งตัวเป็นเหมือน ‘หน่วยเงินสากล’ ที่ใช้บนโลกดิจิทัลเหมือนค่าเงินที่เราใช้กันจริงๆ บนโลกทุกวันนี้ และที่สำคัญต้องใช้งานง่ายเหมือนส่งข้อความหากัน

 

ส่วนหัวหอกที่เป็นผู้นำโปรเจกต์คาลิบราคือ เดวิด มาร์คัส หัวหน้าแผนกที่ก่อนหน้านี้เคยมีประสบการณ์การทำงานในแวดวงเทคโนโลยีและการเงินมาโชกโชน เคยร่วมงานกับทั้งเพย์พาล (PayPal) ในตำแหน่งประธานบริษัท ตามมาด้วยเฟซบุ๊กกับรองประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์เมสเซนเจอร์ (Messenger) มาก่อน

 

จุดประสงค์ของลิบราคืออะไร

เฟซบุ๊กให้เหตุผลว่าเริ่มพัฒนาลิบราขึ้นมาเพราะต้องการแก้เพนพอยต์ของโลกใบนี้ ที่การเข้าถึงการทำธุรกรรม การมีบัญชีธนาคารไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนทุกคน โดยเฉพาะประชากรบางส่วนในประเทศกำลังพัฒนา หรือในบางวัฒนธรรมที่มีข้อกำหนดการใช้งานธนาคารของพลเมืองเพศหญิง

 

โดยปัจจุบันมีจำนวนผู้ประสบปัญหาในกลุ่มนี้มากถึง 1.7 พันล้านคนทั่วโลก เทียบเคียงเป็นสัดส่วน 31% ของประชากรโลก

 

อีกมุมหนึ่งยังถือเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้ย้ายถิ่นฐาน และครอบครัวที่ต้องเดือดร้อนจากการเสียค่าธรรมเนียมการโอนเงินกลับไปยังถิ่นฐานเดิมหรือต่างประเทศด้วยจำนวนเงินที่สูง

 

ทำไมต้องเงินดิจิทัล

ตรงตามแนวคิดบริการทางการเงินต้องเข้าถึงได้สำหรับคนทุกคน ที่เป็นเงินดิจิทัลก็เพื่อความง่ายในการทำธุรกรรมและการเข้าถึง แค่มีอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนก็ใช้บริการทางการเงินลิบราได้อย่างเสรี โอนเงินได้ทันทีแค่ปลายนิ้วสัมผัสหน้าจอ ง่ายเหมือนส่งข้อความหากัน

 

ที่สำคัญฟรีค่าธรรมเนียมด้วย ในกรณีที่เป็นการโอนเงินระหว่างบุคคล ส่วนผู้ให้บริการหรือร้านค้าจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม แต่เฟซบุ๊กยืนยันว่าเรตการคิดค่าธรรมเนียมจะถูกมากๆ

 

ใครอยู่เบื้องหลังลิบรา ถ้าไม่ใช่เฟซบุ๊ก?

เฟซบุ๊กบอกว่าแม้พวกเขาจะเป็นคนที่คิดค้นและเริ่มพัฒนาลิบราขึ้นมา แต่เพื่อความเป็นธรรม โปร่งใส การกระจายอำนาจในการควบคุมดูแล พวกเขาจึงได้ร่วมกับพาร์ตเนอร์อีกกว่า 27 รายจัดตั้งองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรขึ้นมาในชื่อ ‘Libra Association’ แต่ละรายมีสิทธิออกเสียงโหวตผ่านร่างนโยบายต่างๆ ที่หนึ่งเสียงเท่ากัน

 

หน้าที่หลักขององค์กรอิสระ Libra Association คือกำกับนโยบายบังคับใช้ ดูแลบริหารจัดการระบบ ทำงานร่วมกับผู้ออกนโยบายในแต่ละประเทศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมืองที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการเงินของโลก

 

พาร์ตเนอร์แต่ละเจ้าของ Libra Association ถือเป็นการรวมตัวท็อปในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น มาสเตอร์การ์ด (Mastercard) วีซ่า (Visa), เพย์พาล (PayPal), อูเบอร์ (Uber), ลิฟท์ (Lyft), โวดาโฟน (Vodafone) ไปจนถึงสปอติฟาย (Spotify) และอีเบย์ (eBay) เป็นต้น โดยพาร์ตเนอร์จะต้องลงขันอย่างน้อยเจ้าละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นกองทุนเริ่มต้นสำหรับค่าดำเนินการ และกองทุนสำรองของลิบรา โดยในอนาคตเฟซบุ๊กตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีพาร์ตเนอร์รวมกว่า 100 รายให้ทันช่วงเปิดตัว

 

ส่วนถามว่าเฟซบุ๊กจะดูแลอะไรถ้าไม่ใช่ลิบรา คำตอบก็คือคาลิบราหรือแพลตฟอร์มกระเป๋าเงินอีวอลเล็ตที่ชื่อเรียกคล้ายกันนั่นเอง นี่จึงเป็นสาเหตุที่ผู้บริหารของคาลิบรากล้าท้าว่าถ้าใครไม่เชื่อใจเฟซบุ๊กก็ไปใช้งานอีวอลเล็ตอื่นได้นะ (แต่เงินดิจิทัลที่ใช้ก็อาจจะเป็นลิบราอยู่ดีหรือเปล่า?)

 

เหมือนหรือต่างกับบิตคอยน์อย่างไร

ถึงจะเป็นเงินดิจิทัลเหมือนกัน แต่ลิบราและบิตคอยน์ก็แตกต่างกันสิ้นเชิง โดยเฉพาะในแง่ของฟีเจอร์การใช้งาน และแนวคิดการพัฒนา

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือลิบราเป็นสกุลเงินดิจิทัลแบบ Stable ที่ไม่มีการผันผวน ไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของมูลค่า กำเนิดขึ้นมาเพื่อใช้แทนเงินสดในโลกออนไลน์ โลกดิจิทัลเท่านั้น ขณะที่บิตคอยน์ดูจะตอบโจทย์กลุ่มนักลงทุนมากกว่า เพราะมีการผันผวนของมูลค่าราคาตามกลไกตลาดอยู่ตลอดเวลา

 

ถ้านึกภาพไม่ออก มาร์คัสเปรียบเทียบว่าเงินคริปโตประเภทอื่นๆ คือเครื่องมือในการลงทุน (Investment Vehicle) แต่ลิบราคือสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนที่ยอดเยี่ยม (Great medium of Exchange)

 

เปิดตัวเมื่อไร ใช้งานได้ที่ไหนบ้าง

เตรียมเปิดตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 นี้ โดยในฝั่งเฟซบุ๊ก เหรียญลิบราจะสามารถใช้งานได้ และอีวอลเล็ตคาลิบราจะใช้งานได้บนแพลตฟอร์มในระบบนิเวศแบบเดียวกัน ทั้ง Messenger และ WhatsApp รวมถึงแอปพลิเคชันของคาลิบราเอง

 

ในอนาคตยังมีความเป็นไปได้สูงที่ลิบราจะถูกนำไปใช้กับการชำระซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ เช่น จ่ายบิลค่าใช้งานสาธารณูปโภคต่างๆ ชำระค่ากาแฟหรือค่าเดินทางบริการขนส่งมวลชน ซึ่งในที่นี้อาจจะนับรวมบริการของกลุ่มพาร์ตเนอร์ในเครือ Libra Association

 

นอกจากนี้ในบางประเทศที่ลิบราและเฟซบุ๊กจะเข้าไปทำตลาด เราอาจจะได้เห็น ‘จุดบริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นลิบรา’ (วิธีการยังไม่มีการเปิดเผยชัดเจน)

 

ปลอดภัยแค่ไหน

สำหรับการสมัครใช้งานคาลิบราและเหรียญลิบรา เฟซบุ๊กระบุว่าจะใช้มาตรฐานการตรวจสอบ การลงทะเบียนและการป้องกันการฉ้อโกงแบบเดียวกันกับธนาคาร และผู้ให้บริการบัตรเครดิตทั่วโลก (ต้องใช้บัตรประชาชนในการยืนยันสมัครใช้งาน) มีระบบตรวจสอบเพื่อป้องกันพฤติกรรมการโกงแบบเรียลไทม์ ถ้าเงินหายจะคืนเต็มจำนวน

 

ที่สำคัญพวกเขาสัญญาว่าจะไม่มีการแชร์ข้อมูลบัญชี และข้อมูลการเงินของผู้ใช้กับเฟซบุ๊กหรือผู้พัฒนาแอปฯ เจ้าอื่นๆ เด็ดขาด (Third Party) หากไม่ได้รับการยินยอมจากผู้ใช้งานก่อน แล้วข้อมูลในคาลิบราก็จะไม่ถูกนำไปใช้ในการโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมายบนแพลตฟอร์มและบริการของเฟซบุ๊กด้วย (Ad Targeting)

 

ลิบราสร้างรายได้ด้วยวิธีไหน กลายร่างเป็นอะไรได้อีก

หลักๆ แล้วช่องทางรายได้ที่เฟซบุ๊กจะหาจากลิบราหรือคาลิบราก็หนีไม่พ้นการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้ฝั่งแบรนด์หรือผู้ประกอบการ แม้จะบอกว่าค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บต่ำ แต่เมื่อรวมจำนวนธุรกรรมทั้งหมดเข้าด้วยกัน เงินธรรมเนียมที่ว่าก็น่าจะสูงพอสมควร

 

อีกขาหนึ่งมีการเปรยไว้แล้วว่าถ้าตัวผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมขึ้นมาเมื่อไร บางทีพวกเขาอาจจะหาช่องทางทำเงินด้วยการทำบริการให้กู้ยืมลิบรา ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีบริการประเภทสินเชื่อกู้ยืมระหว่างบุคคล (P2P Lending) ด้วยหรือเปล่า แต่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้อยู่แล้วในอนาคต

 

ในด้านการต่อยอดกับผลิตภัณฑ์ในระบบนิเวศเดิมของเฟซบุ๊ก แน่นอนว่าเหรียญลิบราอาจจะถูกใช้เพื่อซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ บนระบบนิเวศเดียวกันกับเฟซบุ๊กได้ นั่นหมายความว่ามันก็อาจจะถูกใช้เป็นเงินในการซื้อ AD สื่อโฆษณาบูสต์โพสต์ได้ด้วย ส่วนพ่อค้าแม่ค้าในอนาคตก็อาจจะปิดการขายบนเฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ได้ทันทีด้วยลิบราเช่นกัน

 

ใครบ้างจะได้รับผลกระทบ ความกังวลของหน่วยงานทั่วโลก

ที่แน่ๆ คือ ‘สถาบันการเงิน ธนาคารหลายแห่งทั่วโลก’ สะเทือนแน่นอน

 

เพราะในอนาคต เมื่อการโอนเงินลิบราระหว่างบุคคลกับบุคคลผ่านคาลิบราหรือบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่เสียค่าธรรมเนียมอีกต่อไป สถาบันการเงินที่เคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางก็จะเสื่อมความนิยม และหมดประโยชน์ลงทันทีในวันใดวันหนึ่ง

 

ส่วนธนาคารและบริการทางการเงินในหลายประเทศที่อาจจะเคยเป็นข้อจำกัดในแง่โอกาสการเข้าถึงก็จะได้รับผลกระทบอ่วมพอกัน และมีความเป็นไปได้สูงว่าต้องเริ่มมองหาลู่ทางการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดตั้งแต่วันนี้แล้ว ซึ่งมาร์คัสก็เปิดโอกาสให้ธนาคารแบบ Traditional สามารถเข้ามาร่วมโปรเจกต์นี้กับพวกเขาได้

 

ล่าสุดหน่วยงานหลายแห่งทั่วโลกเริ่มแสดงความกังวลต่อจังหวะขยับในครั้งนี้โดยเฟซบุ๊กกันแล้ว ไม่ว่าจะคณะกรรมการสภาบริการทางการเงินสหรัฐอเมริกา (House Banking Committee) และคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภา (Senate Banking Committee) ที่เรียกร้องให้เฟซบุ๊กยุติการพัฒนาโครงการจนกว่าสภาคองเกรส และผู้กำหนดนโยบายจะดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยให้น้ำหนักความกังวลไปที่ความเสี่ยงจากการถือข้อมูลของผู้ใช้จำนวนมหาศาลไว้มากที่สุด

 

บรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฝรั่งเศสก็เรียกร้องให้มีการออกข้อกำหนดด้านนโยบายที่ชัดเจนในการควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายนี้ มีเพียงมาร์ก คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหราชอาณาจักรเท่านั้นที่บอกว่าเขาพร้อมเปิดใจให้เฟซบุ๊กเข้ามาทำทั้งลิบราและคาลิบราได้เต็มที่ แต่ก็ออกปากเตือนว่าคงต้องระวังนโยบาย และข้อจำกัดในประเทศเอาไว้ให้ดี (Open mind but not an open door)

 

เฟซบุ๊กตั้งใจจะทำอะไรกันแน่

สำนักข่าวหลายแห่งเทียบเคียงว่าลิบรามีความพยายามจะทำตัวเองเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐในโลกดิจิทัล เช่น Vox ที่เปรียบเปรยว่าลิบราเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐในยุคดิจิทัล (The Internet-age US dollar) ส่วน CNBC ให้นิยามความหมายที่กระชับแต่ได้ใจความ ‘ดอลลาร์ดิจิทัล (Digital Dollar)’

 

คงไม่ผิดนักถ้าเราจะบอกว่าลิบราคือ ‘ว่าที่สกุลเงินดิจิทัลสากล’ ที่คนทั้งโลกอาจจะต้องใช้ร่วมกันในอนาคต โดยเฉพาะในโลกออนไลน์

 

มองแบบไม่อ้อมค้อม ความพยายามในครั้งนี้ของเฟซบุ๊กถือเป็นก้าวที่ท้าทาย ทะเยอทะยานสุดๆ เพราะพวกเขากำลังสร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้งานบนโลกดิจิทัลโดยเฉพาะ ต่อไปในอนาคต เมื่อต้องการจะโอนเงินให้ใครสักคน ซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซหรือใช้บริการออนไลน์ สตรีมมิงแพลตฟอร์ม, ไรด์แชร์ริง ก็ไม่ต้องเข้าแอปฯ ธนาคาร สแกนคิวอาร์โค้ด กรอกรหัสบัตรเครดิตให้วุ่นวายแล้ว เพราะลิบรากำลังจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างความยากลำบากที่เกิดขึ้นทั้งหมด

 

แถมพวกเขายังเดินเกมฉลาดมาก เพราะเมื่อเห็นว่าถูกเพ่งเล็งจากความล้มเหลวในการป้องกันข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งาน เฟซบุ๊กก็เปิดการ์ดให้องค์กรอิสระ Libra Association ดูแลการบริหารจัดการของลิบราทันที เรียกว่าปิดช่องโหว่ของตัวเองทั้งหมดเรียบร้อย

 

อีกข้อได้เปรียบที่สำคัญของเฟซบุ๊กเหนือแพลตฟอร์มเงินดิจิทัลรายอื่นๆ ยังอยู่ที่การเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลที่มีผู้ใช้งานมหาศาล ที่ 2.4 พันล้านคน ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีในแง่ของฐานผู้ใช้งานที่สามารถต่อยอดมาสู่ลิบราได้

 

โลกทั้งใบกำลังจับตามองสถานการณ์เงินดิจิทัลใหม่ของเฟซบุ๊กอย่างใกล้ชิด เพราะการปฏิวัติการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใกล้จะเริ่มต้นขึ้นแล้ว…

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 



Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

The post Libra สกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊กกำลังจะเขย่าโลกอย่างไร appeared first on THE STANDARD.

]]>