นักข่าว – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 18 Jan 2018 07:56:48 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ กับการเรียนสื่อสารมวลชนที่อังกฤษในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสิ่งพิมพ์และออนไลน์ https://thestandard.co/podcast/nukreannok17/ Thu, 28 Dec 2017 17:01:53 +0000 https://thestandard.co/?post_type=podcast&p=58654

เอม-นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ เป็นหน้าที่หลายคนอาจจะคุ้นตาก […]

The post นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ กับการเรียนสื่อสารมวลชนที่อังกฤษในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสิ่งพิมพ์และออนไลน์ appeared first on THE STANDARD.

]]>

เอม-นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ เป็นหน้าที่หลายคนอาจจะคุ้นตากันดีในวงการสื่อโทรทัศน์บ้านเรา เอมเคยทำงานเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจไปเรียนต่อด้านการทำข่าวโดยตรงที่ประเทศอังกฤษ ณ มหาวิทยาลัย City, University of London ที่นั่นเอมได้ลงพื้นที่ทำข่าวจริงในสังคมยุโรป ได้ฝึกงานกับสำนักข่าวระดับบิ๊กทั้ง The Independent และ BBC ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์


ไปฟังประสบการณ์ที่เอมได้รับจากการฝึกงานที่นั่น ในยุคนี้ที่เขาบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่เฟื่องฟูที่สุดของวงการสื่อมวลชน

 

 

ตัดสินใจจะเป็นนักเรียนนอก

ช่วงนั้นทำงานด้านสื่อสารมวลชนมาสักระยะแล้ว เอมก็รู้สึกว่าชีวิตเริ่มดรอปๆ รู้สึกไม่ได้ทำข่าวอย่างที่ชอบทำ ถนัดทำข่าวการเมือง ข่าวสิทธิมนุษยชน ข่าวภาคสนาม ข่าวสถานการณ์ น้ำท่วม เอมเริ่มทำงานตอน 23 และตัดสินใจไปเรียนต่อตอน 31 มันก็ทำงานมา 7-8 ปีแล้ว รู้สึกว่าไปช้าไปด้วยซ้ำ รู้สึกไม่มีอะไรใหม่ๆ ทำ ไม่มีอะไรใหม่ๆ มานำเสนอแล้ว มันเหมือนหมดของ


คนเราถ้ามีของมากขึ้นแล้วเจอสถานการณ์เดิมๆ มันก็จะรีแอ็กได้สนุกขึ้น มีอะไรใหม่ๆ มากขึ้น ถ้าเจอข่าวเดียวกัน ก่อนเรียนกับหลังเรียนเอมก็มองข่าวต่างกันแล้ว


ก็เลยสอบชิงทุน Chevening ไปเรียนคณะ International Journalism (สื่อสารมวลชนนานาชาติ) ไปเรียนทำข่าวที่มหาวิทยาลัย City, University of London เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งด้านสื่อ ดังมาก หรือที่อื่นๆ ถ้าใครสนใจเรียนที่เน้นด้านปฏิบัตินอกจากที่ซิตี้ก็จะเป็น Goldsmiths, University of London ถ้าเป็นสาย Policy ก็จะมี University ot Westminster หรือว่า University of Sheffield แล้วแต่จะเลือก

 

การขอทุน Chevening

ยุคนี้ปีหนึ่งจะขอทุนได้ประมาณ 30 คน ก็เป็นจำนวนที่ได้ลุ้นอยู่ ต้องส่งพอร์ตโฟลิโอด้านการทำงาน คีย์เวิร์ดของเขาคือ Leadership และ Networking เป็นสองสิ่งสำคัญ เกรดเฉลี่ยก็ไม่ได้เป็นปัจจัยใหญ่สุด เอมเองก็เป็นคนเรียนไม่เก่ง เกรดไม่ได้ดีมาก ก็มีทุนนี้แหละที่เป็นทุนระดับท็อปแล้วได้ลุ้น


เกณฑ์ของทุนคือต้องมีคะแนน IELTS 6.5 ต้องมี unconditional offer จากมหาวิทยาลัยใดก็ได้ในอังกฤษ ซึ่งยื่นขอทุนและยื่นสมัครเข้าเรียนพร้อมๆ กันได้ แต่วันที่เดินทางไปเราต้องมีที่เรียนเรียบร้อยแล้ว แนะนำให้สอบ IELTS ก่อน เพราะใช้สมัครได้ทั้งทุนและมหาวิทยาลัย อีกอย่างที่ต้องใช้คือ Statement of Purpose เป็นเอกสารที่แสดงตนว่าทำไมเราถึงควรได้ทุนไปเรียน


Chevening เป็นทุนของรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการให้ทุนกับคนที่ทำงานภาคสังคมอยู่แล้ว คือถ้าใครทำงานกิจการส่วนตัวหรือกิจการที่บ้านมาตลอดก็ยากหน่อย เอมก็ขายตัวเองไปว่าทำงานด้านสื่อ และจะไปเรียนด้านสื่อ กลับมาก็มาทำงานด้านสื่อ เอมก็เดาว่าทางทุนคงเห็นภาพชัดว่าถ้าให้ทุนไปแล้วจะไปทำอะไรต่อ

 

เริ่มไปเรียนที่ลอนดอน

ที่นั่นเป็นเมืองที่แพงที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง ยกตัวอย่าง เรื่องการกิน ถ้าเราหิวแล้วอยู่นอกบ้านก็ต้องซื้อแซนด์วิชกินราคา 5 ปอนด์ เท่ากับราว 250 บาท นี่คือถูกสุดแล้ว เป็นโมเมนต์ที่กินกันตาย เป็นเมืองที่ต้องมีสัก 2,000 บาทต่อวัน รวมค่าที่พัก 1,000 บาท ซึ่งน่าจะได้ที่พักแบบรูหนู ต้องไปแชร์แฟลตรวมกับคนอื่น


เอมไปเรียนอยู่ 1 ปี และฝึกงานอีกครึ่งปี รวมแล้วปีครึ่ง


สิ่งที่ได้มาสูงสุดจากการไปเรียนยิ่งกว่าวิชาชีพคือการทำกับข้าว


การเรียนที่นี่ไม่ได้เรียนหนักมาก แต่เน้นภาคปฏิบัติมากกว่า มันเลยพอมีเวลาให้บริหารได้ ทำกับข้าวได้ ทำงานพาร์ตไทม์ส่งให้ที่เมืองไทยบ้าง

 

การเรียนที่ City University

ลอนดอนเป็นเมืองใหญ่ที่แบ่งออกเป็นหลายส่วน มหาวิทยาลัยนี้จะอยู่ในส่วน Borough of City เป็นเหมือนเทศบาล เป็นเขตหัวใจของลอนดอน เทียบกับเมืองไทยก็เป็นแถวสนามหลวง เป็นกรุงเก่า City University ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ประจำอยู่ตรงนั้น แถวสถานีรถใต้ดิน Angel สถานี Barbican เดินทางสะดวก อยู่แถบกลางค่อนไปทางเหนือ บรรยากาศไม่ค่อยขลัง เพราะอยู่กลางเมืองเลย เดินเข้าไปก็จะเหมือนออฟฟิศ


วิชาเรียนก็มีเรื่องกฎหมายสื่อ เรื่องการทำสื่อ เรื่องการทำสื่อสมัยใหม่ ดิจิทัลมีเดีย แต่ที่หนักคือการปฏิบัติ เข้าไปเทอมแรกอาจารย์ให้ทำข่าวสัปดาห์ละชิ้น ข่าวแรกที่ทำคือมหาวิทยาลัยซ่อมแล้วเสียงดัง คือก็บ่นกัน ก็ทำจากทำข่าวใกล้ๆ ตัวก่อน ซึ่งเพื่อนแต่ละคนที่มาจากหลากหลายประเทศก็จะสนใจต่างกันไป อย่างมีวันหนึ่งที่อาจารย์ให้ออกไปใช้ชีวิตในเมืองแล้วหาข่าวมาทำ เอมเป็นสายการเมืองก็ดิ่งไปที่เวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นรัฐสภา ก็ไปเจอผู้ชุมนุมมาประท้วงเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ถ่ายภาพมาเขียนข่าว ส่วนเพื่อนชาวอิตาลีซึ่งเป็นประเทศรุ่มรวยด้านวัฒนธรรมกว่าก็ไปอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งเป็นย่านศิลปะ เพราะช่วงนั้นมี London Fashion Week ก็ไปทำข่าวที่เซ็กซ์ช็อปว่าชอบลอนดอนแฟชั่นวีกไหม ปรากฏเจ้าของร้านบอกไม่ชอบ เพราะพอมีกิจกรรมใหญ่ นักข่าวก็มาเยอะ คนเยอะ ลูกค้าก็หาย คนไม่เข้าเซ็กซ์ช็อปอะไรอย่างนี้

 

สิ่งที่ได้จากการเรียนมหาวิทยาลัย

ได้วิธีการทำงาน การลงมือทำจริงๆ หลายอย่างเคยเห็นมาจากอินเทอร์เน็ตก็สงสัยว่าเขาทำกันยังไง อาจารย์ก็บอกให้ลองทำเลย ไม่เคยใช้โฟโต้ช็อปก็ต้องลองใช้ ตัดต่อไม่เก่งก็ต้องลองทำ ก่อนหน้าไปเรียนเอมเป็นผู้ประกาศข่าว เป็นสาย announcer ทำเป็นแต่การพูด สกิลอื่นๆ ไม่ค่อยเป็นเท่าไร ตอนเรียนก็ได้ลองทำเลย แม้ตอนนี้ไม่ได้ตัดต่อเก่งหรือทำโฟโต้ช็อปเก่งเท่าสายกราฟิก แต่ก็ทำได้แล้ว

 

บรรยากาศของวงการสื่ออังกฤษ

สื่อส่วนมากของอังกฤษจะมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน ถ้าติดตามก็จะรู้ว่าที่นี่เป็นลิเบอรัล ที่นี่คอนเซอร์เวทีฟ ที่นี่เลเบอร์ ฯลฯ ถ้าสมมติเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นมา สื่อที่เลเบอร์ก็จะเรียกร้องเรื่องสิทธิ์คนจนว่าทำไมชีวิตแย่ ถ้าเป็นสื่อเอียงขวาหน่อยก็จะไปหากล้องวงจรปิดว่าคนวางเพลิงเป็นคนดำหรือเปล่า สร้างบรรยากาศให้เกิดการถกเถียงกันในเรื่องเชื้อชาติ


เรื่องการเลือกข้างมันเป็นเรื่องธรรมดาของคนอังกฤษอยู่แล้ว เพราะนโยบายของนักการเมืองแต่ละพรรคจะส่งผลกับคนต่างชาติอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะอินกัน อย่างเอมเข้าไปทำข่าวก็ทำในมุมคนไทย อย่างเช่นช่วงนโยบายรถไฟใต้ดินวิ่ง 24 ชม. ​ก็ไปสัมภาษณ์นักศึกษาไทยที่ต้องอ่านหนังสือดึก ก็สะท้อนให้เห็นคุณภาพชีวิตคนไทยที่นั่นว่าเป็นยังไง

 

 

ได้ไปฝึกงานที่ The Independent และ BBC

ทางโรงเรียนไม่ได้บังคับให้ฝึก แค่เชียร์ให้ไปฝึก แต่เอมก็อยากไปฝึกเอง ที่แรกคือที่ The Independent เป็นช่วงเวลาที่รู้สึกว่ากลับมาเป็นโนบอดี้มากๆ อีกครั้ง เป็นเหมือนไอ้หัวดำผิวเหลืองคนหนึ่งที่เดินเข้ามาฝึกงาน รอคำสั่ง สิ่งที่ได้ทำ เช่น กองเขาทำข่าวช่วงสิ้นปี แนะนำ Travel list ก็เอาฐานข้อมูลปีที่แล้วมาดู แล้วเขาก็ให้เอมโทรเช็กแต่ละที่หน่อย อัพเดตข้อมูลหน่อย ก็รู้สึกว่างานเรามันช่างเป็นฟันเฟืองที่เล็กที่สุดในองค์กรดี ทำให้เราเข้าใจว่าคนทำงานจริงๆ มันเป็นยังไง


นอกนั้นก็คือได้เขียนข่าว แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะได้ลงในหนังสือพิมพ์ เสียดายเหมือนกัน แต่ก็รู้ตัวว่าตัวเองมาทางทีวี มาทางสื่อบรอดแคสต์มากกว่า


แล้วก็ได้เห็นการทำงานที่นั่น บางทีหนังสือพิมพ์ 40 หน้าทำกันอยู่ 8 คน บางคนเขียนไป 7 ข่าว ก็เป็นประเด็นเรื่องวิกฤตสื่อสิ่งพิมพ์ คนทำงานก็น้อยลง ต้อง downsize สุดท้ายก็ไม่รอด เขาก็ผันตัวไปเป็นออนไลน์อย่างเดียว


ต่อมาก็ไปฝึกงานที่ BBC เป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ โชคดีมากที่เอมได้เจอ พี่กิ๋ง-อิสสริยา พรายทองแย้ม ที่ให้โอกาสได้ไปทำงานด้วย ก็ต้องมีผลงานออกเลย เอมไม่ได้เป็นช่างภาพ ไม่ได้เป็นผู้ประกาศข่าว แต่ทำงานด้วยตัวเองเลย จะทำยังไงก็ได้ให้มีหน้าโผล่ หรือมีแค่เสียง หรือมีแค่ภาพก็ได้ แต่ต้องมีข่าวออกให้ได้


ตอนนั้นก็ได้ทำข่าวหลากหลาย เช่น งานลอยกระทงที่อังกฤษ หรือข่าวหนักๆ อย่างช่วงรับร่างรัฐธรรมนูญก็ไปสัมภาษณ์คนไทยที่นั่น หรือตอนวันที่ 13 ตุลาคมที่ชาวไทยพบกับข่าวร้ายเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เราก็ live คนไทยที่ออกมาจุดเทียน หรือได้นั่งอ่านข่าวในสตูดิโอก็มี ก็ได้ทำหลายอย่างครับ


สิ่งที่ได้เพิ่มจากที่นี่คือการทำคลิปข่าวออนไลน์ การนำเสนอว่าควรตัดยังไงให้เหมาะกับออนไลน์มากกว่าทีวี ช่วงนั้นที่เอมไปเรียนเป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านจากทีวีมาออนไลน์อย่างชัดเจน

 

กับทัศนคติที่คนคิดว่าสำนักข่าวต่างประเทศซื้อได้

มันไม่น่าจะซื้อได้หรอก มันไม่เมกเซนส์ แต่ต้องบอกว่ามันมีสองส่วนใหญ่ๆ คือต้องยอมรับว่าคนไทยมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ ไม่ได้กว้างมาก มันก็เป็นบทสนทนาเดิมๆ หรือสิ่งที่เราเห็นจนคุ้นชิน เลยไม่ทราบมุมมองจากภายนอก ซึ่งเป็นมุมมองที่เราต้องยอมรับว่าคนคิดกันได้ ก็ต้องเลือกเสพสื่อดีๆ เพื่อปรับทัศนวิสัย มุมมองของเรา


อีกมุมคือบางสื่อที่เสนอข่าวในทางลบ ไม่ใช่ว่าเขาถูกซื้อ แต่เป็นเรื่องตลาดของคนที่เสพเขามากกว่า มันเหมือนเป็นดราม่า เป็นพล็อตเรื่องที่เขารู้และเสพมาตลอด คือคนแต่ละเชื้อชาติจะมีการสเตอริโอไทป์ที่ต่างกันไป คนไทยก็เป็น เราก็จะรู้สึกว่าคนจีนเสียงดัง คนญี่ปุ่นมีระเบียบ ฉะนั้นถ้าเอาข่าวที่เกี่ยวกับคนญี่ปุ่นมีระเบียบมาขาย คนก็จะรับง่าย แต่ถ้าเป็นข่าวคนญี่ปุ่นไม่มีระเบียบ คนก็จะ ‘ใช่เหรอวะ?’


คือเราก็ต้องเลือกเสพสื่อ บางข่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ดีก็รับฟังไว้เพื่อพัฒนาประเทศ แต่บางข่าวมันเกินไปก็ไม่ต้องไปฟัง

 

มุมมองของนักข่าวต่างชาติต่อคนไทย

เขามองดีนะ ไม่ใช่แค่นักข่าว แต่เป็นคนส่วนมากที่ใช้ชีวิตตามท้องถนน ไปถามเขาเรื่องเมืองไทยก็จะนึกถึงอาหารไทย ทะเล การท่องเที่ยว คนไทยจิตใจดี ซึ่งก็จะมีเรื่องที่เอมมองว่าไม่ใช่เรื่องแย่นะ อย่างเช่น เรื่องโสเภณี เรื่องเลดี้บอย เอมก็ไม่ได้มองว่ามันแย่ เป็นเรื่องปกติ ในเมื่อเมืองไทยมีเสน่ห์ตรงนี้ เราก็อาจมองเป็นจุดขายก็ได้ ก็เหมือนกัน เรามองอังกฤษก็สงสัยว่าทำไมมึงระเบิดทุกวันเลยวะ เขาก็รับได้ มันเป็นเรื่องจริง ก็เป็นปัญหาของเขาที่ต้องแก้ไข ต้องพัฒนา

 

ประสบการณ์ทำข่าวที่ชอบ

ได้ไปฟินแลนด์ ทำข่าวเรื่องการศึกษา ไปเดนมาร์ก ทำข่าวเรื่องรัฐสวัสดิการ ก็ดี แต่ถ้าบอกว่าชอบที่ไหนสุดคือชอบที่ไปทำข่าวที่อัมสเตอร์ดัม ไปทำข่าวเรื่องการค้าบริการทางเพศแบบถูกกฎหมายที่นั่น เอมชอบข่าวชิ้นนี้ที่สุด มันเชื่อมโยงกับคนไทยได้ชัด อย่างเรื่องการศึกษาหรือรัฐสวัสดิการมันเป็นโครงสร้างใหญ่ กว่าจะปรับได้ก็ยาก แต่เรื่องการค้าบริการทางเพศแบบถูกกฎหมายมันใกล้กับไทยมาก ที่นั่นคือเขาทำให้ถูกกฎหมาย เม็ดเงินก็เข้ารัฐบาล แล้วก็เอาเงินมาดูแลผู้ค้าอีกด้วย แต่ที่เมืองไทยคือผิดกฎหมายนะ แต่คนก็ยังไปเที่ยวกันอยู่ เงินก็เข้ากระเป๋าตำรวจ ผู้มีอิทธิพล เราทำแล้วก็เห็นภาพว่าประเทศที่กล้ายอมรับความจริงแล้วทำให้มันเป็นระบบระเบียบ จัดการให้ถูกต้อง มันก็ที่มาที่ไป

 

“ที่ลอนดอนจะมีอีเวนต์ระดับโลกทุกวันแน่นอน ไม่ว่าจะของเอกชนหรือรัฐบาล อยู่แล้วจะรู้สึกว่าเราได้อะไรทุกวัน นั่นคือส่วนที่ชอบ”

 

 

มีคนบอกว่าทุกวันนี้มีโซเชียลมีเดียแล้วทุกคนก็เป็นนักข่าวได้

เรียกว่าทุกคนมีสื่อในมือดีกว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนเป็นนักข่าวได้ แต่ไม่ได้แปลว่านักข่าวศักดิ์สิทธิ์กว่าคนทั่วไปนะ การที่ทุกคนมีสื่อในมือข้อดีก็คือหูตาเราเยอะขึ้น ทุกคนมีกล้องถ่ายคลิปเหตุการณ์ที่ถ้าเมื่อก่อนเราคงไม่อาจเห็นได้เลย เรามีกระบอกเสียงของคนมากขึ้น ตอนเอมทำข่าวใหม่ๆ ก็จะมีแหล่งข่าวไม่กี่แหล่ง ถ้าเป็นข่าวเศรษฐกิจก็จะมีอยู่ 3-4 คน ซ้ำหน้าไปมา ทุกวันนี้เราก็จะเห็นตามโซเชียลบ้างว่าคนนี้พูดเรื่องนี้ดี ก็จะมีหน้าใหม่ๆ บ้าง

 

บางคนถึงขั้นบอกว่าสำนักข่าวก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

อืม… มันยังมีความจำเป็นอยู่นะ ถ้านักข่าวและสื่อยังทำงานได้ดี ยังทำหน้าที่ในการบันทึกเหตุการณ์เรื่องราวในสังคมได้ดี ถ้าเป็นอย่างนั้นยังจำเป็น ในวงการนี้คือถ้าสำนักข่าวยังทำฟังก์ชันเหล่านี้ได้ดี มันก็ยังจำเป็นอยู่ เรายังต้องการการ verify ข่าวในโซเชียลมีเดีย


แต่ถ้าจะถามว่าแนะนำให้ไปเรียนวารสารศาสตร์หรือเปล่า ถ้าเอมมีลูก เอมก็คงคิดหนักเหมือนกัน เพราะเอมคิดว่ามันเป็นศาสตร์ที่อาจไม่ต้องเรียนถึง 4 ปี เรียนแค่ 1-2 ปีก็อาจจะพอแล้ว


หรือถ้าลูกอยากจะเรียนวารสารจริงๆ ก็ได้แหละ แต่ระหว่างเรียนก็ต้องฝึกถ่ายภาพให้เก่ง ตัดต่อให้ได้ ต้องมีสกิลเพิ่มเติม แต่เราไม่เห็นด้วยกับคำที่ว่าวงการสื่อมันซบเซา เพราะจริงๆ วงการสื่อเฟื่องฟูที่สุดแล้วในยุคนี้ ที่คนเปลี่ยนจากมีจอทีวีบ้านละ 1 จอ ตอนนี้มีจอส่วนตัวคนละจอ บางคนมีหลายจอ ดูบอลไปด้วย เสพคอนเสิร์ตไปด้วย ช่องทางมันเยอะขึ้นมาก ถ้าคุณทำงานในวงการสื่อแล้วมีความสามารถ คุณก็ไม่ตาย

 

“จะขอปิดท้ายว่าทักษะมันสำคัญกว่าใบปริญญา”

 


 

Credits

The Host ธัชนนท์ จารุพัชนี

The Guest นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Episode Producers ภูมิชาย บุญสินสุข

นทธัญ แสงไชย

อธิษฐาน กาญจนพงศ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Music Westonemusic.com

The post นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ กับการเรียนสื่อสารมวลชนที่อังกฤษในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสิ่งพิมพ์และออนไลน์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
เทยนักข่าวสายทหาร: ตามสัมภาษณ์ทหาร ลาดตระเวน ยันซ้อมรบ https://thestandard.co/podcast/toeytey11/ Wed, 15 Nov 2017 17:01:20 +0000 https://thestandard.co/?post_type=podcast&p=45985

     ภาพของ LGBT กับการเป็นนักข่าวบันเทิ […]

The post เทยนักข่าวสายทหาร: ตามสัมภาษณ์ทหาร ลาดตระเวน ยันซ้อมรบ appeared first on THE STANDARD.

]]>

     ภาพของ LGBT กับการเป็นนักข่าวบันเทิงคงเป็นเรื่องคุ้นตาของใครหลายคน แต่ความเป็นจริงแล้ว LGBT ในวงการข่าวไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่นั้น แต่ยังอยู่ในสาขาอื่นๆ อย่างไอซ์-ปรัชญา นงนุช นักข่าวการเมืองสายทหารคนนี้

     จากความสนใจในการเมืองและอยากเป็นนายกรัฐมนตรีในวัยเด็ก ทำให้เธอพาตัวเองมาเกี่ยวข้องกับการเมืองในฐานะนักข่าวสายทหาร ที่ต้องติดตามทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ ตั้งแต่ไปรอสัมภาษณ์จนถึงไปลาดตระเวน ซ้อมรบ จนเราแทบไม่คิดว่าเทยคนหนึ่งที่ดูจะห่างไกลเรื่องเหล่านี้ จะสู้ จะบู๊ บุกป่าฝ่าดงโดยที่ไม่สนใจว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม

 

ชีวิตในวัยเด็กเป็นอย่างไรบ้าง

     เรียกว่าซนมากค่ะ คือในบรรดาพี่น้องสามคนเราเป็นคนที่ซนที่สุด เราเป็นน้องสุดท้อง โดนคุณพ่อตีบ่อยๆ เพราะทำของในบ้านพัง หนักที่สุดเคยทำตู้กระจกพลิกลงมาทั้งใบแตก ดีที่ไม่เป็นอะไรเลย เพราะเราปีนอยู่อีกฝั่งหนึ่ง เพื่อนบ้านต้องมากวาดกระจกให้ เป็นวีรกรรมที่เราจำมาจนถึงวันนี้

 

แล้วพ่อแม่มีกรอบอะไรให้หรือเปล่าเพราะซนมาก

     มีค่ะ ส่วนหนึ่งเราต้องมีระเบียบวินัย แต่พ่อแม่ไม่ถึงกับด่าหรือว่า แค่แยกเป็นเรื่องๆ ไป คือขออะไรไปก็ได้ แต่ก่อนจะได้ก็ต้องแลกมาด้วยเรื่องการเรียน ความมีวินัยและการใช้ชีวิตต่างๆ สิ่งหนึ่งที่ทำมาตั้งแต่เด็กคือการทำงานบ้าน เราจะมีตารางเลย จำได้เลยว่าเริ่มช่วยงานบ้านตั้งแต่อนุบาล พอประถมฯ เริ่มมีหน้าที่ประจำคือต้องซักถุงเท้าเอง ต้องแบ่งเบาภาระที่บ้าน พอมัธยมฯ เริ่มรีดผ้า อะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัวต้องทำเองทั้งหมด

 

ช่วงนั้นจำได้ไหมว่าเด็กชายปรัชญาอินกับเรื่องอะไรเป็นพิเศษ

     ตอนเด็กๆ มันอาจจะไม่ได้อินเฉพาะทาง เพราะว่าตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าไปทางไหน ไปอย่างไร แรงบันดาลใจเฉพาะตัวเพิ่งมาเกิดตอนมัธยมฯ เป็นช่วงที่เราเริ่มรู้ตัวเอง เริ่มมีไอดอล เริ่มรู้ว่าเราอยากจะเป็นอะไร

 

ไอดอลของเราตอนนั้นคือใคร

     ตอนเด็กไอดอลจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่นิ่งเลย มีไอดอลสูงสุดในชีวิตตอนเด็กๆ เคยฝันอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรี คิดอย่างนี้เลยนะ ตอนที่อยู่สวนกุหลาบฯ มีศิษย์เก่าที่เป็นนายกรัฐมนตรี 7-8 คน เลยคิดว่าฉันนี่แหละจะเป็นคนต่อไปของโรงเรียนให้ได้ นี่คิดขนาดนี้เลย นั่งคุยนโยบายกับเพื่อน เรียกได้ว่าสนใจเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก เป็นส่วนหนึ่งที่นำพาให้เรามาเรียนคณะรัฐศาสตร์ สมัยมหาวิทยาลัย

 

ช่วงมัธยมฯ เริ่มรู้ตัวว่าเราเป็นใคร แล้วเริ่มรู้ว่าตัวเองเป็นเพศอะไรด้วยใช่ไหม

     คือรู้ว่าเป็นประเภทไหนตอนมัธยมฯ แต่ถามถึงพฤติกรรม เราเริ่มมีลักษณะแบบนี้ตั้งแต่ประถมฯ

 

แล้วตอนนั้นเราเรียนมัธยมฯ โรงเรียนชายล้วน แล้วเป็นเทย โดนเพื่อนแซวหรือสับสนอะไรบ้างไหม

     ตอนอยู่ ม.1-2 แรกๆ เขาก็ไม่ชิน มันอาจจะเป็นเรื่องใหม่ แต่พอ ม.ปลาย ทุกคนก็เริ่มชินแล้ว และเราก็มีกลุ่มเพื่อนที่เป็นแบบเราก็อยู่ด้วยกัน พากันเรียน พากันเที่ยว โชคดีที่เราได้เพื่อนพากันเรียนหนังสือ ส่วนครอบครัวจริงๆ เขาน่าจะรู้เพราะพ่อแม่เขาอยู่กับเราทุกวัน ท่านรู้ในสิ่งที่เราเป็น แต่จริงๆ ท่านเป็นห่วงเพราะไม่อยากให้เราลำบาก อยากให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต ท่านจะคอยเตือนคอยสอนตลอดเวลา ไม่ถึงกับห้ามอะไรใดๆ ไม่มีบรรยากาศมาคุ ไม่มีการมาคุยถกกันเครียดแบบนั้นเลย นี่คือความไว้ใจกับเกียรติที่เราได้รับจากพ่อแม่ ดังนั้นเราก็ต้องให้ที่บ้านกลับไปด้วยคือการทำให้เขาไม่เป็นห่วง และทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จในชีวิตเพื่อให้เขาไม่ต้องห่วงเรา

 

คุณบอกว่าชอบการเมือง อยากเป็นนายกรัฐมนตรี แรงบันดาลใจนี้มีมาตั้งแต่สมัยมัธยมฯ เลยหรือเปล่า

     สมัยเราอยู่มัธยมฯ มหาวิทยาลัย จนเรียนจบ เรามองภาพการเมืองไม่เหมือนกัน ด้วยการเติบโต องค์ความรู้ที่เราได้เห็น ประสบการณ์ที่เราได้รับ เรามองการเมืองแต่ละยุคเปลี่ยนไป แต่โดยองค์รวม จุดเปลี่ยนที่เรามองการเมืองมาเกิดตอนที่เรียนรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ด้วยการสอนของอาจารย์ทำให้เรามองโลกกว้างขึ้น ไม่ใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางแต่จะเอาตัวเองไปใส่ในตัวละครต่างๆ ว่าถ้าเป็นเขาจะตัดสินใจอย่างไรและทำอย่างไร คือไม่ให้โลกเข้าใจแต่เราไปเข้าใจโลก ว่าโลกเป็นแบบนี้แล้วเราจะมีความสุขและเมตตากับคนอื่นมากขึ้น

     คือบางคนเรียนรัฐศาสตร์แล้ววิจารณ์ทุกอย่าง จนเราหลงลืมไปแล้วที่เขาตัดสินใจอย่างนั้นมันมีปัจจัยอะไรหนุนอยู่บ้าง

 

พอมาเรียนรัฐศาสตร์จริงๆ มันสอดคล้องกับที่เราคิดไว้ไหม

     เด็กๆ เรามีความฝันว่าอยากเป็นโน่นเป็นนี่ และความฝันมันมีการเปลี่ยนแปลงไปเพราะเรารู้ข้อจำกัดของเราว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีมันค่อนข้างจะยาก เราก็ปรับมาเป็นอย่างอื่น ส่วนหนึ่งเราเรียนรัฐศาสตร์ไม่ใช่เพราะอยากเป็นนายกฯ แล้ว แต่เราสนใจเรื่องเหล่านี้ ถ้าเรามาเรียนเรื่องที่เราชอบจะมีความสุขในการเรียน ส่วนปลายทางจะทำอาชีพไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง ไม่ได้คิดว่าจะเป็นอะไรแล้ว แค่คิดว่ามาเรียนแล้วมีความสุข และความสุขจะทำให้เราไปสู่จุดที่ดีได้

 

ตอนนั้นเลือกเรียนเอกอะไร

     เอกการเมืองการปกครองเลย ได้เรียนสมใจอยาก จริงๆ ไม่ได้เรียนแค่ประวัติศาสตร์การเมือง แต่เรียนระบบการเลือกตั้งของไทยและต่างประเทศ ระบอบการเมือง เรียนทุกอย่างเกี่ยวกับการเมืองทั้งหมด แม้กระทั่งเศรษฐศาสตร์การเมืองเราก็ต้องเรียน แล้วก็ไปต่อวิชาโทวิชาบริหารสื่อ คณะวารสารและสื่อสารมวลชน เราก็ต้องเอารัฐศาสตร์ไปเรียนด้วยอีก คือเราเรียนด้านการเมืองมาทั้งหมดจริงๆ

 

นอกจากเรียนยังมีทำกิจกรรมด้วย

     ค่ะ คือตอนสอบตรงติดก่อนประกาศผล จำได้ว่าไปที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เราตามไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาบอกว่าให้มาไหว้กันเราก็ไปไหว้ด้วยความเชื่อ แล้วเราก็ไปไหว้อนุสาวรีย์อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เราสัญญากับท่านว่าถ้าสอบตรงติดที่นี่หนูจะทำกิจกรรม เอาความรู้ที่มีมาทำเพื่อมหาวิทยาลัย บังเอิญเจอรุ่นพี่มาแนะนำว่า ‘ทำกิจกรรมมหาวิทยาลัยไหม’ เราตอบว่า ‘ได้ค่ะ ลองทำสภานักศึกษาดู’ เราเลยสมัครเป็นสมาชิกสภานักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งมีผู้สมัคร 3 คน เอาแค่ 2 คน เราก็ได้กับเพื่อนอีกคนหนึ่ง เป็นตัวแทนคณะไปนั่งในสภานักศึกษา ช่วยรุ่นพี่ตอนปี 1-2 พอปี 3 ตอนนั้นเราเริ่มเป็นรุ่นพี่แล้ว ตอนแรกเราก็คิดว่าจะทำต่อไปดีไหมหรือให้น้องทำ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจวินาทีนั้นว่า พี่ ‘เดี๋ยวหนูจะลงหัวหน้าพรรคนะ’ เราคุยทีเล่นทีจริงเลย พี่เขาก็บอกว่า ‘เอาสิ ลงเลยเดี๋ยวพี่ช่วย’ เราก็บอกว่า ‘ช่วยนะ’ เรื่องเรียนพี่เขาบอกว่า ‘เอาไว้ก่อนเดี๋ยวช่วยแน่ เดี๋ยวค่อยไปแก้ปัญหากัน คนอื่นยังเป็นกันได้เลยทำไมเธอจะเป็นไม่ได้’ เราเลยตกลง

     เริ่มจากการหาเสียง เราคิดยุทธศาสตร์ วางกลยุทธ์กันเยอะมาก ทำกันจริงจัง นั่งคิดนโยบายกัน เอาแผนของมหาวิทยาลัยมากางดูว่าจะทำอะไรในอนาคตบ้าง เพื่อเขียนนโยบายให้สอดรับกับแผนของมหาวิทยาลัย ซึ่งเราทำสภานักศึกษามาก่อน 2 ปี เราจะรู้ข้อมูลของมหาวิทยาลัยว่าจะทำอะไร หรืออะไรที่คิดว่าทำได้จริง ตอนนั้นก็ให้เพื่อนคิดปณิธานของพรรคออกมาเป็น รู้งานในพื้นที่ รู้หน้าที่ในสภา เรารู้งานในพื้นที่เพราะเรามาก่อน รู้หน้าที่ในสภาเราก็รู้เพราะสภาต้องประชุม เราได้ทีมดีด้วยเพราะเพื่อนเก่ง รุ่นน้องขยัน รุ่นพี่เป็นที่ปรึกษาที่ดีมากเลยมาลุยกัน หาเสียงกันประมาณ 1-2 เดือน เราหาเสียง 2 ศูนย์ทั้งท่าพระจันทร์และรังสิต จำได้ว่าไปหมด หาเสียงเราต้องล็อกเลยว่าวันนี้หาเสียงคณะไหน สายสุขศาสตร์ สายสังคมศาสตร์ สายวิทยาศาสตร์ หอพัก ตลาดนัด เช้า กลางวัน เย็น เราคิดไว้หมด กลางคืนก็ไม่ต้องนอนไปติดไวนิล ตื่นเช้ามาคนต้องเห็นพรึ่บ

     การลงพื้นที่มีประโยชน์อย่างหนึ่งคือเราเห็นปัญหา ระหว่างหาเสียง คนเอาปัญหามาบอกเรา ซึ่งโชคดีอย่างหนึ่งคือผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเองก็ให้พื้นที่ให้เราได้นำเสนอสิ่งต่างๆ และมีงานที่เราจัดทุกครั้งคืองานนักศึกษาพบอธิการบดี ท่านจะมานั่งกับผู้บริหารคณะเพื่อมารับฟังนักศึกษาว่าเรามีปัญหาอะไรบ้าง ปัญหาจะส่งตรงถึงผู้บริหารและนำไปแก้ปัญหาต่างๆ นี่เป็นส่วนหนึ่ง และแต่ละรุ่นจะมีงานใหญ่ของตัวเองปีละชิ้น

 

ผลงานที่เราภูมิใจตอนเราเป็นประธานนักศึกษาคืออะไร

     เป็นงานใหญ่ที่สุดที่เราทำมาเลยคือการที่ไปร่วมเสนอเรื่อง พรบ.ของมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเราจะได้ยินคำว่าออกนอกระบบ เราจะได้ยินกันมาตลอด ทุกมหาวิทยาลัยต้องออกนอกระบบอยู่แล้ว คือไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่เขาเรียกกันเป็นภาษาราชการ เราไม่สามารถคัดค้านนโยบายนี้ว่าห้ามทำ เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล เป็นนโยบายของประเทศ สิ่งที่สำคัญคือเมื่อเราต้องทำแล้วเราต้องฟังความคิดเห็นของทุกคน เราจะต้องร่วมมือกันทำเพื่อให้ผลออกมาดีที่สุดเพราะบางมหาวิทยาลัยก็ทำสำเร็จ บางมหาวิทยาลัยเปลี่ยนแล้วมีปัญหาเกิดขึ้นก็มี เราก็เห็นตัวอย่างมาแล้ว ดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยของเราต้องก้าวไปตรงนั้นก็ต้องร่วมมือ ซึ่งผู้ใหญ่ก็รับฟังความเห็นเราพอสมควร แต่มันมีกระบวนการหลายอย่างที่เราต้องพิสูจน์ในส่วนของนักศึกษาเองว่าเราสามารถที่จะทำหน้าที่ได้อย่างไรบ้าง เช่น เราต้องไปยื่นหนังสือต่อสภาตอนนั้น ขอให้สภาชะลอร่างไว้ก่อน ยื่นหนังสือผู้นำฝ่ายค้าน ผู้นำฝ่ายรัฐบาล และประธานรัฐสภา

 

ตอนนั้นที่เป็นประธานนักศึกษาภาพลักษณ์เป็นอย่างนี้เลยไหม

     ตอนนั้นผมยังสั้น แต่ตอนหาเสียงเราก็แต่งเป็นผู้หญิงอยู่แล้ว ตอนคิดนโยบายเราก็คิดกันว่าเราจะ Represent ความเป็น LGBT เลยหรือเปล่า คำตอบที่เราคุยกันในวงประชุมคือห้าม คืออย่าเอาตรงนี้มาเป็นจุดขาย ควรเอาตรงนี้มาเป็นแรงขับในการทำงานมากกว่า เราเลยแสดงออกเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่จะมาทำงาน ตอนนั้นใส่กระโปรงผมไม่ยาวมาก เขาก็คิดว่าคงเป็นผู้หญิง แต่พอเราพูดว่าสวัสดีค่ะ คำเดียวเท่านั้นแหละทุกคนก็รู้ว่าเรามาแบบไหน

 

แล้วประสบการณ์ของการเป็นประธานนักศึกษามันปูเส้นทางการเป็นนักข่าวอย่างไรบ้าง

     เริ่มปูเลยค่ะ คือเราเจอผู้ใหญ่ของบ้านเมืองมากมายหลายท่าน เริ่มได้คุย และเริ่มเห็นการทำงานของสื่อมวลชน ส่วนหนึ่งก็คือเรามีรุ่นพี่ที่เป็นสื่อมวลชน นักข่าว หรือทำงานสื่อ เขามักจะมาเล่าเรื่องการทำข่าวให้เราฟังอยู่ตลอด ว่าวันนี้เขาไปเจอใครมาบ้าง รัฐมนตรีท่านไหน เราฟังแล้วน่าสนใจดี มันท้าทาย แล้วเราก็เป็นคนชอบอ่านข่าว อ่านหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว เราก็เลยคิดว่าหรือนี่จะเป็นทางของเรา

 

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักข่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร

     มีการสมัครงานและจัดบูธที่มหาวิทยาลัย มีสำนักข่าวต่างๆ มาตั้งบูธ เราสมัครเป็นนักข่าวเลย เราทิ้งใบสมัครไว้สุดท้ายเขาก็เรียกตัวและรับเราเป็นนักข่าว

 

ตอนนั้นเลือกที่จะเป็นสายการเมืองเลยหรือเปล่า

     เลือกเลยค่ะ ตอนสมัครต้องเลือกเลยว่าต้องทำสายอะไร เราเลยว่าเป็นสายการเมืองแล้วค่อยเลือกย่อยลงมาอีกว่าเราอยากเป็นสายทหาร

 

เขาแบ่งกันอย่างไร

     แต่ละที่จะแบ่งไม่เหมือนกัน เพราะสำนักข่าวใหญ่ๆ จะมีหลายทีมเลยจะแบ่งย่อยเยอะ สำนักข่าวกลางถึงเล็กก็ตามจำนวนนักข่าวและตามหมายใหญ่ๆ มากกว่า ซึ่งเราเลือกดูสายทหารและปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองปัจจุบันเกี่ยวข้องกับทหารโดยตรง เพราะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีจากทหาร และมีเหตุการณ์รัฐประหารมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเราปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ ดังนั้นเราคิดว่าเป็นห้วงเวลาที่เป็นโอกาสที่จะได้มาทำข่าวในห้วงเวลาสำคัญของประเทศหลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร

 

ครั้งแรกที่ลงพื้นที่ทำข่าวจริงๆ บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง

     ครั้งแรกยังตามรุ่นพี่ไปอยู่ จำได้ว่าเป็นแถลงของพรรคเพื่อไทยแต่จำรายละเอียดไม่ได้ว่าแถลงเรื่องอะไร เราลนมาก ไม่รู้ว่าจะทำอะไรก่อนหลังดี เพราะนักข่าวสมัยนี้ต้องเขียนข่าว สรุปประเด็น ทวิตเตอร์ ส่งประเด็น คือต้องทำหลายอย่างมากเพราะโซเชียลมีเดียมาแรง เราลนมากตอนนั้นสุดท้ายก็ใช้เวลาปรับตัว 1-2 เดือน แล้วเราจะเร่ิมเข้าใจธรรมชาติของการทำงานมากขึ้น พอครั้งที่ 2-3 ไปที่ ปปช. บรรณาธิการข่าวให้ลุยเองไม่มีพี่เลี้ยง มีแค่ช่างภาพและผู้ช่วยช่างภาพ เราต้องจดประเด็นแต่สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่เราได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนที่มาทำงานก่อนเรา จากรุ่นพี่ในสนามที่อาวุโส เราไม่รู้อะไรเราก็ถาม พี่คะ ประเด็นนี้เป็นอย่างไรเราไม่ทราบ จนพี่ๆ เขาช่วยบอกเราจนเราส่งข่าวได้ทันเวลา เวลาบีบมาก เช่น ข่าวเที่ยง ข่าวค่ำ เราต้องเอาประเด็นสำคัญที่สุดมา จริงๆ นักข่าวเขาช่วยกันจำประเด็น จด ซักถามกันอยู่แล้ว เป็นการทำงานร่วมกัน

 

เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมคะว่านักข่าวมีกระบวนการการทำข่าวอย่างไรบ้าง

     แต่ก่อนเราจะมีช่องใหญ่ๆ หนังสือพิมพ์ แต่สมัยนี้มีช่องดิจิทัล ทีวี เว็บไซต์ สื่อเยอะมาก ทุกคนก็จะมีกลุ่มเพื่อนเอาไว้คุยข่าวกัน ตอนเช้าสิ่งที่นักข่าวถูกปลูกฝังมาตลอดคือต้องตามข่าว อ่านหนังสือพิมพ์บ้าง ฟังวิทยุบ้าง อ่านออนไลน์ตั้งแต่เมื่อคืนบ้าง ส่วนตัวจะอ่านออนไลน์ตั้งแต่เมื่อคืน ตอนเช้าหนังสือพิมพ์อ่านแต่หน้าข่าวว่ามีประเด็นอะไรที่โดดออกมา อันไหนสนใจเราก็ลิสต์เอาไว้ไปอ่านเนื้อใน เก็บข้อมูลไปถามผู้ที่เกี่ยวข้องที่เราต้องเจอวันนั้น แต่ละวันเราจะไม่ได้เจอผู้ใหญ่ทั้งหมด เจอแค่บางท่าน เรื่องนี้ต้องท่านนี้เราก็เก็บประเด็นไปถาม เขาถึงบอกว่านักข่าวทำงาน 24 ชั่วโมงไม่มีวันพัก แม้แต่วันพักร้อนก็ยังตามข่าว ยกเว้นบางคนปิดสวิตช์จริงๆ ก็มี แต่กลับมาก็ต้องมาตามอ่านข่าวเก่าว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างไม่อย่างนั้นจะตามไม่ทัน แต่ละวันจะมีประเด็นหลากหลาย แล้วข่าวการเมืองเป็นข่าวที่ผ่านไปวันเดียวก็เก่าแล้วในบางประเด็น เช่น วันนี้เรื่องนี้ปุ๊บ พรุ่งนี้เป็นเรื่องใหม่แล้ว นี่เป็นธรรมชาติของข่าวการเมืองคือมาเร็วและไปเร็ว

 

ทหารมี 3 เหล่าทัพเราต้องตามทั้งหมดเลยหรือเปล่า

     ทัพบก ทัพเรือ ทัพอากาศ และกองทัพไทยเราต้องไปหมดเลย แต่เราต้องดูขอบเขตว่าวันไหนมีหมายข่าวชนกันเราก็ต้องเลือกว่าจะไปไหน แต่กองทัพที่นักข่าวสนใจและให้ความสำคัญมากที่สุดคือกองทัพบก แต่แล้วแต่กรณีด้วย บางช่วงก็เป็นเวลาของกองทัพเรืออย่างที่เราทราบว่าก่อนหน้านี้มีเรื่องเรือดำน้ำ กองทัพเรือก็จะเนื้อหอมมากเพราะเราต้องตามไปทำข่าว กองทัพอากาศก็จะมีเรื่อยๆ เรื่องประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อการอัพเกรดเครื่องบิน เราไม่ได้ตามทหารที่เป็นระดับผู้บังคับบัญชาระดับสูงเท่านั้น ทหารระดับ ผบ.หน่วย ผู้พัน ผู้การ กรม เราก็ต้องตาม เพราะแต่ละหน่วยจะมีการทำงานที่แตกต่างกันไปตาม 4 ภูมิภาค

     เราตามการทำงานในหลายมิติ การซ้อมรบเราก็ต้องไป

 

ทหารซ้อมรบกันบ่อยไหม

     มีซ้อมตลอดทั้งปีค่ะ แต่จะถี่หน่อยช่วงปลายฤดูร้อนต้นฤดูฝน เพราะไม่มีมรสุม แต่ช่วงมรสุมก็ซ้อมนะคะ ดูเป็นเคสๆ ไป ดูประเด็นที่เราสนใจจะตาม

     เวลาซ้อมรบจะมีหลายแบบ ขออนุญาตแยกเป็นรายกองทัพ ถ้ากองทัพบกเขาจะมีเนินไม่สูงมาก ไว้สำหรับเป็นที่ดู ซึ่งการยิงกระสุน การยิงระเบิดก็ไม่ได้อยู่ไกลมาก อยู่ในระดับที่เราได้รับไอความร้อนกับกลิ่น เราได้เห็นการทำงานของอาวุธต่างๆ ทั้งรถถัง ยานเกราะ การยิงกระสุนปืน บางทีกระสุนปืนระยะใกล้ๆ ตัว เห็นเครื่องบิน

 

มีหลุดกรี๊ดหรือตกใจบ้างไหม

     แรกๆ เป็นค่ะ อุ๊ย อ๊าย แต่หลังๆ เรารู้จังหวะ ตู้มแล้วก็เกร็งไว้ เรารู้จังหวะแม้กระทั่งลำนี้จะยิง เครื่องบินจะโผล่มาอย่างนี้ คืออาจจะด้วยเซนส์และมีพิธีกรพากย์บอกก่อนเราเลยจับทางได้ พิธีกรจะบอกว่า 10 นาฬิกา 13 นาฬิกา อันนี้อยู่ตรงนี้ โผล่มาตรงนี้เขาจะพากย์ตลอด เราจะเกร็งได้ แต่บางจังหวะมาแบบไม่รู้ตัวเลยก็มี เราก็อุ๊ย บางทีผู้ชายร้องดังกว่าเราอีก เราก็หันไปดูผู้ชายว่าเป็นอะไรคะ นั่นก็เป็นสีสัน

 

กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ฝึกพร้อมรบเป็นหน่วยกองพัน ประจำปี 2560 ที่บ้านดีลัง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

 

แล้วกองทัพเรือละคะ

     เราไปล่องเรือจักรีฯ นะ ออกไปกลางทะเลเลย บางทีไปกลางสายฝนเลยก็มี ไปหมด เราเคยขึ้นเรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือตรวจการณ์ก็ได้ขึ้นหลายลำ แต่ละลำก็จะแตกต่างกัน แต่ยังไม่มีประสบการณ์ตอนยิงกระสุนเท่าไร แต่เห็นตอนที่เขาซ้อมรบร่วมกันหลายเหล่าทัพ บก เรือ อากาศ ตำรวจ มาร่วมกัน มีเครื่องบิน F-16 เครื่องบินกริพเพนเราก็ได้เห็น มีเรือลาดตระเวนของตำรวจ เรือยางก็จะได้เห็น

 

ได้ขึ้นเรือดำน้ำหรือยัง

     อุ๊ย รออีก 6 ปีนะคะอันนี้ แต่ว่าคงไม่ได้เข้า อย่างมากก็คงได้เห็นพิธีเปิด คุยกันนะคะว่าจะพยายามอยู่ให้ถึง เราอยู่ในวันที่เขาอนุมัติแล้วเราต้องอยู่ให้ถึงให้เห็นของ

 

แล้วที่สั่งมาคือยังไม่ได้ของ

     อีกประมาณ 6-7 ปี ถึงจะต่อเสร็จค่ะต้องรอ อยากจะเสริมนิดนึง คือเรือมีหลายอย่าง เรือตรวจการณ์ล่องน้ำโขงดูแลชายแดนไทย-ลาวก็มี แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่จำจนตายคือล่องกลางแม่น้ำเจ้าพระยาค่ะ เป็นเรือตรวจการณ์ลำเล็กๆ แล้ววิ่งเร็วมาก เกือบ 100  กิโลเมตรต่อชั่วโมง หมุนทีเราก็กลิ้งอยู่ในเรือเป็นลูกขนุน ขาแพลงเดินกะเผลกๆ ก็เป็นประสบการณ์คือทหารไปไหนเราก็ไปด้วย

 

กองทัพเรือฝึกภาคทะเล ประจำปี 2560 ร่วมกับ 4 เหล่าทัพ นำโดยเรือหลวงจักรีนฤเบศร ในอ่าวไทย

ฝึกผสม Blue Strike 2016 โดยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินไทย-จีน ที่บ้านจันทเขลม อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันบุรี

พิธีบรรจุเครื่องบิน Sukhoi Superjet 100LR จากประเทศรัสเซีย 2 ลำ ที่ฐานทัพอากาศดอนเมือง กรุงเทพมหานคร

 

กองทัพอากาศเป็นอย่างไรบ้างคะ

     กองทัพอากาศยังไม่มีโอกาสได้ไปเท่าไร ที่ได้ไป เช่น การฝึกบินของไทย-จีน มีเครื่องกริพเพน ได้คุยกับนักบินจีนโดยผ่านล่าม ได้ไปดูการทำฝนหลวง การโปรยเมฆ

 

เห็นว่ากองทัพบกมีไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยใช่ไหมคะ

     ช่วงที่เรามาทำข่าวมันไม่เท่ากับช่วงที่มีเหตุการณ์เกิดใหม่ๆ เพราะจะมีนักข่าวภูมิภาคดูแลอยู่ เราจะเห็นช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ ครั้งหนึ่งก่อนไปจำได้ว่ามีระเบิด 10 กว่าจุด ได้ไปเห็นร่องรอยมากกว่า คือถ้าไม่ได้คิดว่าเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ปกติ แต่อาจจะมีสิ่งที่ไม่เหมือนจังหวัดอื่นคือจะมีด่านตรวจเยอะ มีแท่งแบริเออร์หรือแท่งปูนหน้าบ้านคนเอาไว้กันระเบิด และจังหวัดชายแดนภาคใต้เขาจะจอดรถชิดเกาะกลางถนนเพื่อกันคาร์บอมบ์ เขาจะไม่ชิดบ้านคน แต่ว่าในพื้นที่ทุกคนก็ปรับตัว เราได้คุยกับประชาชนซึ่งเขากล้าเล่าบางอย่างให้เราฟัง เขาคุยกับเราแล้วเขาสบายใจ บางทีเราได้ข้อมูลมาเราสามารถสะท้อนให้สังคมเห็นว่าประชาชนในพื้นที่คิดแบบนี้ ซึ่งข้อมูลบางอย่างประชาชนไม่กล้าเล่าให้ฝ่ายรัฐฟัง แต่เขาสบายใจจะเล่าให้สื่อฟัง เราอาจจะมีศิลปะในการพูดคุย เป็นบทบาทของสื่ออีกบทบาทหนึ่ง

 

ปฏิบัติภารกิจพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ฝึกดำรงชีวิตในป่า ฝึกผสม Panther Gold 2017 กองทัพบกไทย-อังกฤษ เรียนรู้จับงูจงอางที่กองพลทหารราบที่ 9 จ.กาญจนบุรี

 

มีวันที่สถานการณ์ตึงเครียดบ้างไหม

     เราไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรตึงเครียดที่สุด แต่ถ้าทำมา 3-4 ปี บรรยากาศความตึงเครียดทางการเมืองก็มีอยู่เรื่อยๆ แต่ตึงเครียดที่สุดเราถือเรื่องชีวิตคน ตอนนั้นเราเพิ่งทำข่าวได้แค่เดือนเดียวก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร มีการชุมนุมกันที่แยกปทุมวัน และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ตอนนั้นคนออกมาด้วยความไม่พอใจและไม่เห็นด้วย ตรงนี้คิดว่าจะมีการเผชิญหน้ากันหรือเปล่า ในห้วงเวลาแหลมคมแบบนี้จะประคองสถานการณ์กันไปอย่างไร และมือที่ 3 เราคิดไปเยอะ สิ่งที่เราเห็นและเรารู้สึกว่าพีกเลยคือภาพทหารกับประชาชนเผชิญหน้ากัน มีการต่อว่ากัน คือระยะห่างไม่มากในฐานะสื่อจะทำอย่างไรดี มันไม่ควรมีคนตายกับเรื่องแบบนี้ เราไม่อยากให้มีอะไรเกิดขึ้น แต่สุดท้ายการชุมนุมก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ที่อนุสาวรีย์ชัยก็เหมือนกัน วันนั้นมีชุมนุมกันช่วงเย็น ฟ้าเริ่มมืด เป็นที่โล่ง มีตึกสูงเยอะ เราก็กลัวว่าจะไม่ปลอดภัย นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันตึงเครียดมาก พูดตรงๆ คือเรายังไม่ผ่านเท่ากับนักข่าวคนอื่น เพราะบางคนผ่านช่วงการสลายการชุมนุม เขาเจอแก๊สน้ำตาเพราะนักข่าวอยู่ทั้งฝั่งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

     นักข่าวบางคนเคยเล่าเรื่องในอดีตให้ฟัง หลายคนอยู่ในเหตุการณ์เมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีไฟ และยังมีใจที่อยากจะมีประสบการณ์ในวงการนี้ คิดว่าเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้เป็นข่าว ข่าวที่ไม่เป็นข่าวมันเป็นอะไรที่คลาสสิกมาก มันเป็นเรื่องเล่าปากต่อปาก บางเรื่องอาจเป็นความประทับใจ ความทรงจำ หรืออาจเป็นเรื่องที่บางคนไม่อยากจำแต่เขาก็ถ่ายทอดให้เราฟัง บางเรื่องถ้าบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ คนรุ่นหลังก็จะได้รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองของเรา

     เหตุการณ์ที่เราบันทึกเอาไว้เลยคือเมื่อ 13 ตุลาคมเมื่อปีที่แล้ว เรามีข่าวเศร้าของคนไทยทั้งประเทศ วันนั้นอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล เรารอประกาศอย่างเป็นทางการทางโทรทัศน์ ได้เห็นบรรยากาศในทำเนียบรัฐบาลวันนั้น รอนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ เรารับรู้ข่าวพร้อมกัน บรรยากาศวันนั้นผู้สื่อข่าวร้องไห้ คิดว่าเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นความทรงจำในการทำข่าวของเรา เพราะทำเนียบรัฐบาลเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าไปได้ แต่เราได้เห็นบรรยากาศวันนั้น ถ้าเรามีลูกหลานเราก็อยากถ่ายทอดบรรยากาศวันนั้นให้เขาฟังว่าเป็นอย่างไรบ้าง

 

ช่วงเวลาที่คุณเข้ามาทำงานมันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนไม่ค่อยเห็นด้วยกับทางทหาร ในฐานะที่เราเป็นนักข่าวสายทหารคุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง

     มันเป็นธรรมดา ไม่มีใครสามารถเห็นด้วยกับทุกเรื่อง คนรักกองทัพก็ต้องมีคนไม่ชอบกองทัพ คนรักก็ไม่ได้เห็นด้วยกับทหารทุกเรื่อง คนไม่รักก็ใช่ว่าจะไม่เห็นด้วยไปทุกเรื่อง มันเป็นพื้นที่สีเทาสลับกันไปกันมา แต่สิ่งที่เราต้องทำก็คืออะไรที่ประชาชนตั้งคำถามมากๆ หรือมีกระแสในโซเชียลมีเดียเราต้องเอาไปถามผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในยุคนี้คือเรื่องความจำเป็นในการจัดซื้ออาวุธ เป็นคำถามที่เราถามมาตลอดว่าซื้อมาแล้วจะใช้ในงานแบบไหน งบประมาณอย่างไร ผูกพันแบบไหน ใช้งบส่วนไหน ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้เราทำมาตลอด และข้อมูลที่มีการเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ก็มาจากนักข่าวสายทหารที่ได้ข้อมูลมาตีแผ่ ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ว่าคุ้มค่าหรือไม่ก็อยู่ที่สังคมด้วยว่าจะตีความแบบไหน ถ้าสังคมมองว่าไม่คุ้มค่าทางกองทัพและรัฐบาลต้องเอากลับไปตีโจทย์มองว่าจะทำอย่างไร ชี้แจงอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจหรือปรับแบบไหนให้ประชาชนรับได้ เขาถึงบอกว่าสื่อคือสื่อกลาง แต่สื่อก็มีสิทธิ์วิจารณ์นะคะ ถ้าเรามองว่าโครงการนี้ไม่คุ้มค่า เราก็เอาข้อเท็จจริงตรงนี้ไปถามผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่เกี่ยวข้อง คือเรามีโอกาสเจอผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ผู้นำกองทัพ เราก็จะเอาตรงนี้ไปถาม เพราะเราถือว่าเรามีโอกาสได้ถาม ไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสทำหน้าที่นั้น ตรงนี้คิดว่าเป็นสิทธิพิเศษของสื่อแต่สื่อก็มีกรอบที่ต้องยึดมากกว่าคนอื่นคือเรื่องจรรยาบรรณ เรื่องวิชาชีพของสื่อ เรื่องการเสนอข้อเท็จจริง บางอย่างเราวิจารณ์มากแต่สุดท้ายมันก็ต้องอาศัยข้อมูล ข้อเท็จจริง ใช้อารมณ์ไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะไม่น่าเชื่อถือ

 

ในฐานะสื่อที่เป็นคนต้องคอยซักถามกดดันบ้างไหม เพราะข่าวจากทหารคนน่าจะจับตามองและอยากจะรู้มากที่สุด

     ส่วนตัวเราโดนนะคะ คนบางคนเขาเชื่อแบบไหนเขาจะมองว่าเราตรงข้ามตลอด บางคนที่รักทหารก็จะมองว่าเราแอนตี้กองทัพ แต่บางคนไม่รักทหารก็จะมองว่าทำไมนักข่าวคนนี้ต้องไปซักไปถาม ซัพพอร์ตจังเลย แล้วแต่คนอ่านคนดู ซึ่งเราก็น้อมรับคำวิจารณ์อยู่แล้วเพราะเราเองก็เขียนงานวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ไว้เยอะอยู่ ในเมื่อเราเขียนวิเคราะห์วิจารณ์คนอื่นไว้ เราก็ต้องยอมรับการวิจารณ์กลับเหมือนกัน บางทีข่าวที่เราทำไปขึ้นเพจหรือมีคนแชร์ไป เราก็ไปตามอ่านว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง อันไหนที่ดีเราก็เก็บเอาไว้ อันไหนที่ทำให้เรารู้สึกเศร้าใจเราก็อ่านไว้เพื่อสะกิดตัวเอง อะไรที่อ่านไว้แล้วมีกำลังใจเราก็เก็บเอาไว้สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง เราต้องทำใจให้สตรองเอาไว้ คือแรกๆ ก็งงว่าทำไมต้องมาว่าเราแรงขนาดนี้ ตัดพ้อกับตัวเองเลยนะคะ แต่มันโดนบ่อยๆ เราก็รู้สึกว่าอีกแล้วเหรอ ไม่เป็นไร ชินแล้ว

 

ติดตามสถานการณ์ทำข่าว-สัมภาษณ์นายทหาร-คสช.

ทำข่าวนายกรัฐมนตรีก่อนเข้าประชุม

 

คิดว่าความเป็นเทยของเราพอเข้าไปทำงานกับทหาร เขาปฏิบัติกับเราอย่างไรบ้าง ให้ความอ่อนโยนไหม

     แล้วแต่คนนะคะอันนี้ บางคนมองเราเป็นผู้หญิงไปเลย บางทีเขายังแอบไปถามพี่ๆ นักข่าวอยู่เลยว่าน้องคนนี้เป็นผู้หญิงจริงหรือเปล่า บางคนมองไม่ออกก็มี เราที่เป็น LGBT อยู่ด้วยกันก็จะเปิดเผยกันอยู่แล้ว แต่บางทีเวลาทำงานก็จะเป็นอีกบุคลิกหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องของความสบายใจหรือภาพลักษณ์ของเขาแต่อยู่ด้วยกันเราก็คุยกันปกติ ทหารบางคนก็เอ็นดู เราเป็นจุดเด่น สามารถหาแหล่งข่าวหรือคุยกับแหล่งข่าวได้ง่ายขึ้นด้วย เราแต่งเป็นผู้หญิงที่อยากคุยกับเราก็มี บางทีก็แกล้งเราแซวเราแบบน่ารักๆ คือเขาให้เกียรติเราในฐานะที่เราเป็นนักข่าว ถึงเวลาทำงานเขาไม่ได้มองเราในฐานะที่เราเป็น LGBT โดยตรงเขาจะมองเราเป็นนักข่าว เขาก็จะปฏิบัติกับเราเหมือนปฏิบัติกับนักข่าวผู้หญิง แต่บางทีเราก็มีแซวทหารเหมือนกัน แซวมาก็แซวกลับคุยกันแบบขำๆ คุยในฐานะที่บางคนเจอหน้ากันทุกวัน แต่สิ่งที่เราต้องทำคือหน้าที่ เมื่อมีปัญหาเราก็ต้องไปถามเขา แม้จะรู้จักกันแบบไหน พอถึงเวลาจริงเราก็ต้องถามเพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการรู้ และเขาก็ต้องชี้แจง มันเป็นส่วนของเขาแล้วว่าเขาจะชี้แจงอย่างไร ให้สังคมวิเคราะห์อย่างไร แต่เราก็มีหน้าที่ถามเหมือนเดิม

 

เป็นนักข่าวมาสักระยะแล้วความฝันที่อยากเป็นนายกรัฐมนตรียังอยู่ไหม

     ไม่อยู่แล้วค่ะ เพราะวันนี้เราไปสัมภาษณ์นายก เรารู้สึกว่าไม่เป็นดีกว่า เราก็จะเป็นนักข่าวต่อไปอยู่ ตอนนี้ไม่ได้คิดทำอะไรอย่างอื่นเลย เพราะไม่รู้จะทำอะไร ถ้าเราไปทำอย่างอื่นก็ยังไม่รู้ว่าจะใช่เราหรือเปล่า และเรายังสนุกกับตรงนี้อยู่เพราะเรายังไม่ได้ทำข่าวรัฐบาลพลเรือนอย่างเต็มรูปแบบ เรายังไม่ได้เจอสภาที่มีนักการเมืองจากพรรคต่างๆ ยังมีเรื่องที่เรายังอยากทำ อยากเรียนรู้ คือตื่นมานี่เราคิดแล้วว่าเราจะทำอะไร สัมภาษณ์ใคร อยากคุยกับใครเรื่องไหนเราคิดไว้แล้ว คือเรายังมีไฟอยู่ อยากจะทำตรงนี้ให้ดีที่สุด

 


 

Credits

The Host นันท์ณภัส ธิปธรารัตนศิริ

The Guest ปรัชญา นงนุช

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Music Westonemusic.com

The post เทยนักข่าวสายทหาร: ตามสัมภาษณ์ทหาร ลาดตระเวน ยันซ้อมรบ appeared first on THE STANDARD.

]]>