กัญชาเป็นพืชที่มนุษย์เรารู้จักนำมาใช้ประโยชน์มานานนับพันปีแล้ว ทั้งในพิธีกรรม รักษาโรค รวมถึงนำเส้นใยมาใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม จนกล่าวได้ว่ากัญชาเป็นสารกระตุ้นประสาทที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดโลก
แต่เรายังมีหลักฐานอยู่น้อยนิดว่ามนุษยชาติเริ่มรู้จักใช้กัญชาในลักษณะของสารกระตุ้นและหลอนประสาทตั้งแต่เมื่อใด
งานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับโบราณคดีของกัญชาจากวารสาร Science Advances จะมาช่วยตอบคำถามสำคัญนี้
ในกัญชามีสารออกฤทธิ์สำคัญ 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกคือ เตตระไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol หรือ THC) ซึ่งส่งผลต่อจิตประสาท และทำให้เกิดการเสพติดได้
อีกกลุ่มหนึ่งคือ แคนนาบิไดออล (Cannabidiol หรือ CBD) ที่กำลังเป็นกระแสเรื่องผลการรักษาและบรรเทาอาการต่างๆ
หลักฐานชิ้นแรกของการใช้เส้นใยกัญชาและเมล็ดของมันสามารถสืบย้อนไปได้ไกลถึง 4,000 ปีก่อนคริสตกาลในผู้คนแถบตะวันออกกลาง แต่กัญชาป่าเหล่านั้นมีปริมาณ THC เจือจางมากๆ
ทีมนักวิจัยนำโดย Meng Ren แห่งสถาบันบรรพชีวินของสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพมานุษยวิทยา (Institute of Vertebrate Palaeontology and Paleoanthropology), สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) และ Nicole Boivin จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ค้นพบหลักฐานสำคัญที่ช่วยบ่งชี้ว่าการใช้กัญชาเพื่อการนันทนาการเริ่มต้นที่แถบเทือกเขาปามีร์ บริเวณเอเชียกลาง
“การค้นพบนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่าการใช้กัญชาสำหรับกระตุ้นประสาทเกิดขึ้นทางตะวันออกของดินแดนเอเชียกลาง ก่อนที่จะกระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโลก” Nicole Boivin ให้ข้อมูลเพิ่ม
ทีมนักวิจัยขุดค้นหลุมฝังศพจีร์ซานคาล (Jirzankal Cemetery) ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน ซึ่งเป็นเขตชายแดนติดต่อกับประเทศทาจิกิสถาน
นอกจากจะพบโครงกระดูกที่เชื่อมโยงไปถึงกลุ่มคนทางตะวันตกของเอเชียกลางแล้ว ยังพบข้าวของเครื่องใช้ของผู้คนแถบที่ราบสูงเชิงเขาทางเอเชียใน (Inner Asia) ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันตกของจีน มองโกเลีย และทางตะวันออกของรัสเซีย แสดงว่าผู้คนที่เลือกใช้หลุมฝังศพนี้เป็นแหล่งพักพิงสุดท้ายไม่ใช่คนในพื้นที่ดั้งเดิม
ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเท่าไรนัก เพราะพื้นที่แถบนี้อยู่ใกล้กับเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าและคมนาคมหลักของมนุษย์ในยุคก่อน
ก่อนที่จะมีล้อเกวียน มนุษย์ต้องเดินเท้าผ่านเทือกเขาสูงเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันรกร้างว่างเปล่า จนทำให้ในอดีตเอเชียกลางกลายเป็นจุดศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้า ความรู้ และวัฒนธรรมของโลก
แน่นอนว่ารวมถึงการเสพกัญชาด้วย
สิ่งขุดค้นสำคัญที่จัดว่าเป็นพระเอกของงานนี้ก็คือกระถางเผาเครื่องหอมที่ทำมาจากไม้ ด้านในมีก้อนหินที่ถูกเผาจนไหม้เกรียม
เมื่อนำเศษตะกอนไปตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีด้วยเทคนิค Mass Spectrometry คณะนักวิจัยพบว่ามันมีเอกลักษณ์ทางเคมีเหมือนกับสารสกัดจากกัญชา โดยที่มีปริมาณ THC เข้มข้นสูงเกินกว่าที่จะเป็นกัญชาป่าทั่วไป
เป็นไปได้ว่ามนุษย์ยุคโบราณเผาหินให้ร้อนจัดแล้วนำไปใส่ลงในกระถางไม้ที่ทำขึ้นมาเป็นพิเศษ แล้ววางกัญชาลงไปจนเกิดการเผาไหม้เป็นควันลอยคลุ้งขึ้นมา ก่อนที่จะสูดดมเข้าไปเพื่อหวังผลกระตุ้นประสาท
แต่ในหลุมฝังศพนี้ การเสพกัญชาอาจทำไปเพื่อความเชื่อเรื่องการติดต่อกับดวงวิญญาณญาติมิตรก็ได้ พวกเขาได้สร้างเนินดินวงกลมขึ้นมา แต่งแต้มด้วยหินสีดำสลับขาวเป็นแถบและวง ตามด้วยการทำพิธีกรรมโดยอาศัยกัญชาเป็นส่วนประกอบสำคัญ
แล้วกัญชาที่มี THC ในปริมาณสูงนั้นมาจากไหน
คณะนักวิจัยยังหาคำตอบไม่ได้ เพราะยังไม่มีการพบหลักฐานการเพาะปลูก
หนึ่งในทฤษฎีที่เป็นไปได้คือ ในแถบภูเขาสูง พืชอย่างกัญชาอาจต้องปรับตัวโดยการผลิต THC ออกมามากกว่าปกติเพื่อรับมือกับรังสียูวีจากแสงอาทิตย์ มนุษย์ในแถบนี้จึงเป็นชนกลุ่มแรกๆ ที่ใช้กัญชาเพื่อการนันทนาการ ก่อนที่จะแพร่กระจายไปตามเส้นทางการค้าทั่วทั้งโลก
Nicole Boivon กล่าวปิดท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า การค้นคว้าทางโบราณคดีเพื่อทำความเข้าใจการใช้ประโยชน์จากกัญชาในยุคโบราณเช่นนี้จะทำให้เราเข้าใจจุดกำเนิดของการใช้กัญชา ซึ่งอาจนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพืชชนิดนี้อย่างเหมาะสม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: