ในงานประชุมวิชาการว่าด้วยการรักษาเอชไอวีและมะเร็ง (HIV Cure and Cancer Forum) ณ สถาบันกูว์รี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 22-23 กรกฎาคมที่เพิ่งผ่านมานี้ เหล่านักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลกต่างมารวมตัวกันอัพเดตข้อมูลและนำเสนอความก้าวหน้าในการค้นคว้าหาวิธีการรักษาโรคร้ายทั้งสองที่ยังคงคร่าชีวิตมนุษย์ไปมากมายในแต่ละปี
เอชไอวี เป็นไวรัสที่เข้าไปจัดการเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภทเซลล์ทีผู้ช่วย (Helper T Cell) ซึ่งในภาวะที่ร่างกายเป็นปกติ เซลล์ทีผู้ช่วยจะเป็นตัวกระตุ้นการทำงานของเซลล์อื่นๆในระบบภูมิคุ้มกัน หากเซลล์นี้ติดไวรัส มันจะทำงานไม่ได้และตายไปในที่สุด ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อเอชไอวีเกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายอ่อนแอ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย และหากไม่ได้รับการรักษารวมถึงดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ท้ายที่สุดจะเกิดภาวะเอดส์ (AIDS) ซึ่งเป็นช่วงปลายของการติดเชื้อที่ระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลายลงอย่างราบคาบ ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากการโจมตีของเชื้อโรคต่างๆ ได้ในที่สุด
ในขณะที่โรคมะเร็งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกายของผู้ป่วยเอง กลุ่มเซลล์ดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตของตัวเองได้ จึงกลายเป็นกลุ่มก้อนเซลล์ขนาดใหญ่ผิดปกติจนไปเบียดบังการทำงานของอวัยวะข้างเคียง ในระยะสุดท้าย เซลล์มะเร็งจะหลุดจากตำแหน่งตั้งต้น แพร่กระจายไปตามกระแสเลือดและลุกลามไปเติบโตในที่แห่งใหม่ เมื่ออวัยวะภายในเสียหายมากเข้า กระบวนการต่างๆในร่างกายจะถึงคราววิกฤตจนเสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุและกระบวนการเกิดโรคของการติดเชื้อเอชไอวีและมะเร็งนั้นมีความแตกต่างกันเสียขนาดนี้ ทำไมถึงมาจัดประชุมวิชาการร่วมกันได้ คำตอบที่เป็นจุดเชื่อมสำคัญอยู่ที่การรักษาแนวใหม่ที่กำลังมาแรงในวงการวิจัยยาต้านมะเร็ง นั่นคือภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)
หนทางในการรักษามะเร็งในปัจจุบันนับว่ายังมีช่องโหว่อยู่มาก เพราะการผ่าตัดและการฉายรังสีไม่สามารถกำจัดเซลล์ที่เล็กจนตาเปล่ามองไม่เห็นได้ทั้งหมด ส่วนการให้ยาเคมีบำบัดที่มุ่งหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งก็ยังออกฤทธิ์ได้ไม่จำเพาะเจาะจงเท่าที่ควร ทำให้เซลล์ปกติของผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงไปด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้น ไม่ใช่ว่าการให้ยาเคมีบำบัดจะได้ผลเสมอไป เพราะเซลล์มะเร็งอาจจะหลบเลี่ยงและต่อต้านตัวยาได้
นอกจากนี้ แต่ละเซลล์ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นก้อนเนื้อร้ายเองก็มีพันธุกรรมที่แตกต่างกัน จนบางครั้งแม้ก้อนมะเร็งจะลดขนาดลงไปเล็กมากจากยาเคมีบำบัด แต่เซลล์มะเร็งบางส่วนยังอยู่รอดและรอเวลากลับมาก่อโรคได้ใหม่อีกครั้ง
ในทางทฤษฎี ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีกลไกที่สามารถตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็งอยู่แล้ว เพียงแต่เซลล์มะเร็งนั้นยับยั้งไม่ให้เซลล์ภูมิคุ้มกันเข้ามาทำร้ายตนเอง โดยเซลล์มะเร็งสามารถผลิตโมเลกุล PD-L1 ขึ้นมาเป็นจำนวนมากเพื่อลดการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดทีได้
นี่เป็นจุดที่การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เข้ามามีบทบาท เพราะภูมิคุ้มกันบำบัดคือการฟื้นฟูและเสริมกำลังระบบภูมิคุ้มกันให้กลับมาจัดการเซลล์มะเร็งได้อีกครั้ง
ตัวยาที่ตอนนี้กำลังได้รับความสนใจมากคือ ยาต้านโมเลกุล PD-L1 ที่จะทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถปิดสวิตช์เม็ดเลือดขาวได้
ย้อนกลับมาที่เชื้อเอชไอวี แม้ปัจจุบันผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่ในร่างกายจะมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวขึ้นโดยที่ต้องได้รับยาต้านเชื้อทุกวัน แต่ก็ไม่สามารถกำจัดเชื้อนี้ออกไปจากร่างกายอย่างถาวรได้ เนื่องจากไวรัสชนิดนี้จะซ่อนตัวอยู่ข้างในเซลล์อื่นแบบเนียนๆ แล้วยังไปกระตุ้นให้เซลล์ที่มันอาศัยอยู่สร้างโมเลกุล PD-L1 ขึ้นมาเพื่อกดการทำงานของเม็ดเลือดขาวได้อีกด้วย
โมเลกุล PD-L1 นี่เองที่เป็นจุดเชื่อมของโรคทั้งสอง
ฟรองซัว บาร์-ซีนูสซี (Françoise Barré-Sinoussi) นักวิทยาศาสตร์หญิงเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาแพทยศาสตร์ ประจำปี 2008 จากผลงานการค้นพบเชื้อเอชไอวี ให้ความเห็นในงานประชุมว่า “กลไกการหลบหลีกนี้ทำให้ไวรัสเอชไอวีแฝงตัวอยู่ในเซลล์ที่ติดเชื้อได้เป็นเวลานาน และเซลล์ที่ติดเชื้อเหล่านี้ก็มีโมเลกุลต่างๆ เหมือนกับมะเร็ง คำถามคือเป็นไปได้ไหมที่จะพัฒนาวิธีการรักษาเอชไอวีเหมือนที่ในวงการมะเร็งสมัยใหม่เขาทำกัน”
นอกจากนี้ งานวิจัยจากทีมอื่นๆ ได้พบหลักฐานว่ายาต้าน PD-L1 ยังไปกระตุ้นให้ไวรัสเอชไอวี ‘ตื่น’ ขึ้นมาจากการหลับใหลได้อีกด้วย ชารอน เลวิน (Sharon Lewin) ผู้อำนวยการสถาบันโดเฮอร์ตี ออสเตรเลีย กล่าวว่า “เราต้องการให้ไวรัสตื่นขึ้นมา เพราะไวรัสที่ไม่ได้อยู่ในภาวะหลบซ่อนตัวจะถูกจัดการโดยยาต้านไวรัสได้” ชารอนกล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม เราอาจยังไม่ได้ใช้ยาต้าน PD-L1 มารักษาการติดเชื้อเอชไอวีในเร็วๆ นี้ เพราะในรายละเอียดของโรคทั้งสองนี้ยังมีความแตกต่างกันอยู่
ในกรณีของมะเร็ง เซลล์เม็ดเลือดขาวที่อ่อนกำลังลงยังสามารถตรวจพบเซลล์มะเร็งได้อยู่ ผิดกับกรณีของการติดเชื้อเอชไอวีที่เซลล์เม็ดเลือดขาวไม่รู้เลยว่าเชื้อไวรัสแฝงอยู่ตรงไหน
ดร. แอนโทนี เฟาซี (Anthony Fauci) หัวหน้าสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) เตือนว่า “ต้องระวังอย่าทึกทักว่าการรักษาที่ได้ผลกับมะเร็งจะใช้ได้ผลกับเอชไอวีด้วย เชื้อเอชไอวีนั้นแตกต่างไปจากมะเร็งมาก แม้มันคุ้มค่าที่จะสำรวจความเป็นไปได้นี้ดู แต่ผมก็ไม่อยากให้ผู้คนคิดไปว่ามันจะประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับที่ศึกษาในเอชไอวี”
อ้างอิง: