ดาวพฤหัสบดีนั้นนอกจากจะเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะแล้ว มันยังเป็นดาวเคราะห์ที่มีบริวารมากที่สุดด้วย ล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2017 ที่เพิ่งผ่านมานี้ นักดาราศาสตร์เพิ่งประกาศการค้นพบดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีเพิ่มอีก 2 ดวง ทำให้ตอนนี้ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์ทั้งหมด 69 ดวงเลยทีเดียว
มนุษย์เรารู้จักดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีครั้งแรกเกือบ 400 ปีก่อน ในยุคสมัยของกาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน กาลิเลโอค้นพบดวงจันทร์บริวารขนาดใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี ได้แก่ ไอโอ (Io), ยูโรปา (Europa), แกนีมีด (Ganymede) และคัลลิสโต (Callisto) ทุกวันนี้นักดาราศาสตร์เรียกดวงจันทร์เหล่านี้รวมๆ ว่า ‘ดวงจันทร์ของกาลิเลโอ’ (Galilean moons) ส่วนดวงจันทร์ดวงอื่นๆ ของดาวพฤหัสบดีก็จะมีชื่อที่แตกต่างกันไป โดยชื่อส่วนใหญ่จะเป็นชื่อเทพเจ้าจากตำนานกรีก-โรมัน
ภาพถ่ายดวงจันทร์ S/2016 J1 และ S/2017 J1 (ระหว่างเส้นสีเขียว)
อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากได้ชื่อของดวงจันทร์ที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้ไปเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อสิ่งต่างๆ อาจจะต้องรอกันอีกสักหน่อย เพราะตอนนี้ยังไม่มีชื่อแบบจำง่ายๆ เลย โดยชื่อที่ใช้ในตอนนี้เป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือ S/2016 J1 และ S/2017 J1 ซึ่งอาจจะฟังดูเหมือนเป็นรหัสลับอะไรสักอย่าง แต่รหัสนี้มีความหมาย โดย S มาจากคำว่า Satellite ซึ่งหมายความว่า ดวงจันทร์บริวาร, J คือ Jupiter หรือดาวพฤหัสบดี ส่วนตัวเลข 2016, 2017 คือปีที่มีการค้นพบนั่นเอง
ดวงจันทร์ 2 ดวงนี้ถูกค้นพบโดยทีมนักดาราศาสตร์จากสถาบันวิทยาศาสตร์คาร์เนกี (Carnegie Institution for Science) โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ในชิลี พวกมันมีความสว่างปรากฏประมาณ +24 ซึ่งกล่าวได้ว่ามีความสว่างน้อยมากๆ ทีมผู้ค้นพบคาดว่าดวงจันทร์ทั้งสองดวงนี้มีขนาดประมาณ 1-2 กิโลเมตร โคจรห่างจากตัวดาวพฤหัสบดี 21 ล้าน และ 24 ล้านกิโลเมตรตามลำดับ ซึ่งทีมนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดวงจันทร์ทั้งสองดวงนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมของปี 2016 และ 2017 แล้ว หลังจากนั้นจึงได้รับการยืนยันการค้นพบโดยกล้องโทรทรรศน์ซูบารุในฮาวาย
ภาพแสดงวงโคจรของดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี
เส้นสีส้มคือดวงจันทร์ที่โคจรสวนทางกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี
ส่วนเส้นสีน้ำเงินคือ ดวงจันทร์ที่โคจรในทิศทางเดียวกับการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดี
S/2016 J1 ใช้เวลา 1.65 ปีในการโคจรรอบดาวพฤหัสบดี ส่วน S/2017 J1 ใช้เวลา 2.01 ปี ดวงจันทร์ทั้งสองดวงโคจรสวนทางกับทิศทางการหมุนรอบตัวเองของดาวพฤหัสบดีเหมือนดวงจันทร์ดวงอื่นๆ โดยส่วนมาก ซึ่งการเคลื่อนที่แบบนี้เรียกว่า การโคจรถอยหลัง (Retrograde Orbit)
ที่น่าทึ่งคือ การค้นพบนี้ดูเหมือนจะเป็นการค้นพบโดยบังเอิญ เพราะสิ่งที่ทีมวิจัยกำลังค้นหาอยู่นั้นเป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 9 แต่กลับพบดวงจันทร์ใหม่ของดาวพฤหัสบดี 2 ดวงแทน
การค้นพบดวงจันทร์ใหม่ 2 ดวงนี้นอกจากจะทำให้ดาวพฤหัสบดีครองแชมป์เจ้าดวงจันทร์ได้อีกสมัย มันยังเป็นการค้นพบดวงจันทร์ใหม่ของดาวพฤหัสบดีครั้งแรกในรอบ 6 ปีด้วย ซึ่งการค้นพบครั้งล่าสุดนั้นเกิดขึ้นในปี 2011 และทีมที่ค้นพบก็คือทีมของ สกอตต์ เชปเพิร์ด (Scott Sheppard) ซึ่งก็เป็นทีมเดียวกันกับการค้นพบดวงจันทร์ใหม่ 2 ดวงในครั้งนี้
การค้นพบครั้งนี้นอกจากจะทำให้เรารู้จักดาวบริวารของดาวพฤหัสบดีอย่างครบถ้วนแล้ว มันยังแสดงให้เราเห็นว่ามนุษย์เราได้พัฒนาเทคโนโลยีไปอย่างก้าวกระโดด จากเมื่อ 400 ปีที่แล้ว ที่กาลิเลโอใช้กล้องโทรทรรศน์เล็กๆ ของเขาส่องขึ้นไปพบดวงจันทร์บริวารทั้ง 4 ดวง แต่ปัจจุบันพวกเราใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องขึ้นไปยังท้องฟ้ายามค่ำคืนและค้นพบดวงจันทร์เล็กๆ ที่มีขนาดเพียง 1-2 กิโลเมตร ที่อยู่ห่างไปนับล้านกิโลเมตรได้อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
เห็นแบบนี้ชวนให้คิดและจินตนาการว่าในอนาคตอันใกล้นี้ มนุษย์เราจะค้นพบอะไรใหม่ๆ อีกบ้าง
Cover Photo: Vadim Sadovski/Shutterstock
อ้างอิง:
- O’Callaghan, J., Two New Moons Have Been Found Around Jupiter – And There Might Be More To Come. www.iflscience.com/space/two-new-moons-have-been-found-around-jupiter-and-there-might-be-more-to-come
- Beatty, K., Two New Satellites for Jupiter. www.skyandtelescope.com/astronomy-news/two-new-satellites-for-jupiter