วันที่ 30 พฤษภาคม 2020 กระสวยดรากอนส่งนักบินอวกาศ 2 คน ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ เรื่องนี้เป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของระบบขนส่งอวกาศที่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่ามันสำคัญอย่างไร
องค์การ NASA ที่เราได้ยินชื่อกันบ่อยๆ ก่อตั้งเมื่อปี 1958 มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกตั้งแต่ความสำเร็จในการส่งมนุษย์ไปลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ จนถึง การส่งยานอวกาศหลายลำเพื่อการสำรวจทางดาราศาสตร์ แต่การส่งยานอวกาศในแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ระบบขนส่งทางอวกาศใหม่ๆ จึงมีความจำเป็น และองค์การ NASA เริ่มกระจายงานออกสู่ภาคเอกชนมากขึ้น
หนึ่งในบริษัทที่เข้ามารับภารกิจจากองค์การ NASA คือ บริษัท SpaceX ก่อตั้งเมื่อปี 2002 โดย อีลอน มัสก์ ที่ทุกวันนี้หลายคนรู้จักเขาจากบริษัทเทสลา ไฮเปอร์ลูป ฯลฯ แต่ในช่วงเวลานั้นเขายังไม่ดังขนาดนี้
ในช่วงแรก SpaceX ล้มเหลวในการส่งจรวดหลายต่อหลายครั้ง แต่หลังจากเรียนรู้ข้อผิดพลาดต่างๆ ความสำเร็จก็เริ่มต้นขึ้นในการส่งจรวด Falcon 1 ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกได้ในปี 2008 และหลังจากนั้นอัตราความสำเร็จก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากนั้น SpaceX พยายามพัฒนาจรวดที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (บางส่วน) เพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะที่ผ่านมาจรวดทั่วไปที่ถูกใช้ในการส่งดาวเทียมหรือยานอวกาศ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วจะถูกทิ้งไปโดยไม่มีการนำมาใช้ใหม่ ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อการขนส่งแต่ละครั้งสูงมาก แต่แล้วเมื่อปลายปี 2015 จรวดขับดันของ Falcon 9 ก็สามารถถูกส่งแล้วนำกลับลงมาจอดได้สำเร็จ
การส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะต้องสร้างแรงขับดันมากพอจะสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก ส่วนการพยายามนำจรวดที่ทะยานขึ้นไปแล้วกลับลงมาอย่างปลอดภัยก็ยากขึ้นไปอีกขั้น เพราะแรงโน้มถ่วงของโลกจะเร่งวัตถุที่ตกกลับลงมาให้มีความเร็วสูงขึ้น จนยากต่อการควบคุม
แต่การส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์อาจกล่าวได้ว่าเป็นความยากแบบก้าวกระโดด
คนที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์จะรู้ดีว่า งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์นั้นจะยุ่งยากขึ้นมาก ตั้งแต่เรื่องการขออนุญาต จนถึงการออกแบบ การทดลอง เพื่อให้ทุกอย่างปลอดภัยที่สุด
เมื่อต้นปี 2019 SpaceX ส่งกระสวยดรากอน 2 ไปเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศได้สำเร็จ ซึ่งนั่นเป็นภารกิจนำร่องของการส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2020 ที่เพิ่งผ่านมานี้
จะเห็นได้ว่า SpaceX มีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก จนในภารกิจล่าสุดนี้ได้กลายเป็นบริษัทเอกชนที่ขนส่งมนุษย์ขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติได้เป็นครั้งแรก และยังเป็นการส่งขึ้นจากแผ่นดินของสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในรอบหลายปี นับตั้งแต่การส่งกระสวยอวกาศในปี 2011
ที่น่าสนใจคือ ต้นทุนในการขนส่งโดยบริษัท SpaceX นั้นนับว่าต่ำและมีแนวโน้มจะลดต้นทุนลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อภาคเอกชนมีการแข่งขันกันมากขึ้น
แม้ภารกิจในครั้งนี้จะไม่ได้ยิ่งใหญ่เทียบเท่าการส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์เมื่อครั้งภารกิจอะพอลโล แต่ในตอนนี้บริษัท SpaceX ยังได้รับเลือกในการส่งนักบินอวกาศไปเยือนดวงจันทร์ใน Artemis Program ด้วย
เท่ากับว่าถ้าในอนาคต บริษัทเอกชนร่วมมือกับ NASA ส่งนักบินอวกาศไปยังดวงจันทร์ได้จริง ประวัติศาสตร์ระบบขนส่งอวกาศน่าจะเปลี่ยนไปตลอดกาลนับจากนั้น
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล