ดร.พงศ์ศิริ วรพงศ์ – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Sat, 16 Dec 2023 07:03:18 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ข้อเสนอจัดตั้งแนวร่วม ‘Thailand Net Zero Coalition’ ประสานพลังภาครัฐ-ธุรกิจ-การเงิน พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย สร้างการเติบโตสีเขียว https://thestandard.co/thailand-net-zero-coalition/ Sat, 16 Dec 2023 07:03:18 +0000 https://thestandard.co/?p=877433

ในบทความนี้ ผมเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งแนวร่วมความร่วมมือที่ […]

The post ข้อเสนอจัดตั้งแนวร่วม ‘Thailand Net Zero Coalition’ ประสานพลังภาครัฐ-ธุรกิจ-การเงิน พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย สร้างการเติบโตสีเขียว appeared first on THE STANDARD.

]]>

ในบทความนี้ ผมเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งแนวร่วมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก และนำพาเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ผมเรียกแนวร่วมนี้ว่า ‘Thailand Net Zero Coalition’ โดยต้องอาศัยการประสานพลังของ 3 ภาคส่วนสำคัญ คือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน

 

ผมขอใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายถึงเหตุผลความจำเป็นของการจัดตั้งแนวร่วมดังกล่าว

 

Carbon is a measure of competitiveness.

 

ผมเคยเขียนไว้ในบทความเรื่อง Transition Finance ว่า การลดก๊าซเรือนกระจก คือ การรักษาความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาว ทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศ

 

ในโลกที่คาร์บอนกลายเป็น ‘ต้นทุน’ ทางธุรกิจ และ ‘ราคา’ ของคาร์บอนจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ธุรกิจและเศรษฐกิจที่ยังปล่อยคาร์บอนสูง จะเสียเปรียบและพ่ายแพ้ต่อธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศอื่นที่ลดคาร์บอนได้เร็วกว่า 

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การใช้มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป เพื่อปรับราคาคาร์บอนของสินค้านำเข้าให้เท่าเทียมกับสินค้าที่ผลิตในยุโรป 

 

บนเวที COP28 ที่เพิ่งปิดฉากลง ผู้บริหารสูงสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เรียกร้องให้โลกเพิ่มการจัดเก็บภาษีคาร์บอน เพราะเป็นแรงกระตุ้นที่ดีที่สุดที่จะทำให้ภาคธุรกิจเร่งลดคาร์บอน โดย IMF ประเมินว่า ‘ราคา’ ที่เหมาะสมของคาร์บอนจะอยู่ที่ 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนภายในปี 2030

 

เวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ก็ได้ตอกย้ำถึงเรื่องนี้เช่นกัน 

 

อธิบดีกรมสรรพสามิตเน้นว่า กรมกำลังศึกษาเตรียมความพร้อมในการเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนในอนาคต โดยในช่วงแรกน่าจะเก็บในอัตราที่ไม่มาก แต่เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากภาครัฐว่า คาร์บอนจะมีราคาที่ทยอยปรับสูงขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับทิศทางของโลก และเป็นการต่อยอดมาตรการทางภาษีของกรมสรรพสามิต ซึ่งที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมการเติบโตแบบก้าวกระโดดของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า และการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 

 

ซีอีโอของเอสซีจีกล่าวถึงกรณีที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เขาจะตั้งคำถามว่า ไทยมีกระแสไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวอื่นๆ พร้อมหรือไม่ หรือมีแผนพัฒนาในเรื่องนี้ที่เป็นรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน 

 

เพราะคาร์บอนคือต้นทุนทางธุรกิจที่บริษัทระดับโลกต้องนำมาประกอบการพิจารณา ทุกบริษัทต่างมีเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนสู่ Net Zero ที่เขาต้องบรรลุ เขาต้องมองหาชัยภูมิที่ดีที่จะเอื้อต่อการสร้าง Low-Carbon Supply Chain 

 

การลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ปัญหาโลกเดือดจึงไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ นโยบายการลดคาร์บอนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จึงไม่ใช่นโยบายสิ่งแวดล้อม แต่เป็นนโยบายทางเศรษฐกิจ หากองคาพยพทุกภาคส่วนของไทยไม่จริงจังกับการลดก๊าซเรือนกระจกมากพอ หรือดำเนินงานช้าเกินไป ไทยจะกลายเป็นเศรษฐกิจคาร์บอนสูงในโลกคาร์บอนต่ำ (High-Carbon Economy in a Low-Carbon World) ศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะถูกลดทอนลงอย่างแน่นอน

 

แต่มองในมุมกลับ หากพวกเราร่วมมือกันผลักดันการลดคาร์บอนอย่างจริงจัง นี่คือโอกาสทองของประเทศในการลงทุนเพื่อพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ การลดคาร์บอนสามารถเป็นเครื่องยนต์ที่จะช่วยติดเครื่องเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากทศวรรษที่สาบสูญ (Lost Decade) และปลดล็อกการเติบโตสีเขียว (Green Growth) อย่างแท้จริง

 

พัฒนาการสำคัญจาก COP28 โลกรุกหนักเพื่อระดมเงินไปลงทุนในการลดคาร์บอน

 

ในการประชุม COP28 ที่ดูไบ เห็นได้ชัดว่าทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญของการระดมทุนเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อน หรือที่เรียกว่า Climate Finance

 

หากโลกจะเดินไปสู่ Net Zero ได้ เราจะต้องจัดสรรเงินทุนไปใช้ในการลดคาร์บอนในตลาดเกิดใหม่ และเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นทุกปี จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและความต้องการการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นกลุ่มประเทศที่ยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นแหล่งพลังงานหลัก

 

โลกมีเงินทุนมากเพียงพอที่จะแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ปัญหาคือ เงินทุนของโลกยังไม่ค่อยไหลไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ ซีอีโอ KBank พูดเรื่องนี้ไว้ในเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM เช่นกัน โดยชี้ให้เห็นว่าเม็ดเงินลงทุน Climate Finance กว่า 73% ไหลไปที่ 3 ภูมิภาคเท่านั้น คือ ยุโรป อเมริกาเหนือ และจีน 

 

ความไม่ชัดเจนของนโยบายด้าน Climate ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ความเสี่ยงจากการดำเนินโครงการ และปัจจัยเชิงโครงสร้างอื่นๆ ทำให้ต้นทุนเงินทุน (Cost of Capital) ในประเทศกำลังพัฒนาสูงกว่าในประเทศพัฒนาแล้วหลายเท่าตัว 

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาจึงต้องอาศัยเงินทุนจากภาครัฐและธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อมาช่วยลดความเสี่ยง ลดต้นทุนของเงินทุนในการแก้ปัญหาโลกร้อน

 

ใน COP28 เราเห็นความตื่นตัวและพัฒนาการที่สำคัญจากหลายประเทศและหลายองค์กรในเรื่อง Climate Finance โดยมีการเปิดตัวข้อริเริ่มและพันธมิตรใหม่เพื่อระดมเงินทุนมาใช้ในการลดคาร์บอนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา 

 

ธนาคารโลก (World Bank) ประกาศปรับเพิ่มเป้าหมายสัดส่วนเงินกู้สำหรับแก้ปัญหาโลกร้อนหรือ Climate Lending จากเดิม 35% เป็น 45% ของเงินกู้ทั้งหมดภายในปี 2025 หรือประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี 

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เจ้าภาพการประชุม COP28 ประกาศจัดตั้งกองทุนใหม่เพื่อนำไปลงทุนในโครงการแก้ปัญหาโลกร้อนในประเทศกำลังพัฒนา แพลตฟอร์มการลงทุนนี้มีชื่อว่า ‘ALTÉRRA’ โดยตั้งเป้าจะระดมเม็ดเงินกว่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 จากพันธมิตรทั้งภาครัฐและนักลงทุนเอกชนยักษ์ใหญ่ เช่น รัฐบาลยูเออี BlackRock Brookfield และ TPG ถือเป็นกองทุน Blended Finance เพื่อการลดโลกร้อนที่น่าจับตามอง

 

สิงคโปร์ประกาศจัดตั้งแพลตฟอร์มระดมเงินทุนในลักษณะคล้ายกัน ชื่อว่า FAST-P หรือ Financing Asia’s Transition Partnership เพื่อระดมเงินจากภาครัฐ ภาคเอกชน และ Philanthropy เพื่อลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน (Green and Transition Infrastructure) และเทคโนโลยีพลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชีย โดยตั้งเป้าระดมเงินทุน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

เมื่อเรามองปัญหาความท้าทายของไทยที่สะท้อนผ่านเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM ควบคู่ไปกับความเคลื่อนไหวด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนในเวที COP28 เราจะเห็นความเชื่อมโยงและโอกาสในการขับเคลื่อนวาระ Net Zero ของไทย

 

ความท้าทายด้าน Climate ของไทย

 

ผมคิดว่าแนวร่วม Thailand Net Zero Coalition สามารถช่วยจัดการกับอุปสรรคและความท้าทายของไทยในเรื่อง Climate 5 ข้อสำคัญ ดังนี้

 

1. Policy Gap นโยบายที่ไม่ชัดเจน ขาดความเป็นองค์รวม และขาดแผนงานที่เป็นรูปธรรม

 

แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศชัดเจนในเวทีระหว่างประเทศว่าไทยจะให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน และแม้ว่าไทยจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน BCG แผนพลังงานชาติ และนโยบายอื่นๆ ในภาพรวม แต่ไทยยังขาดการกำหนดนโยบายที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างเป็นองค์รวมทั้งระบบ ขณะที่นโยบายที่มีอยู่ก็ขาดโฟกัสในเรื่องกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละภาคเศรษฐกิจ และขาดแผนงานที่จับต้องได้

 

2. Action Gap การขับเคลื่อนวาระ Net Zero ในภาคธุรกิจยังจำกัดในวงแคบและไม่เป็นเอกภาพ

 

เมื่อนโยบายและแผนงานยังไม่ชัด ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าเดินหน้าเต็มที่ ผู้บริโภคก็ปรับพฤติกรรมช้า ทำให้ ‘ตลาดสินค้าสีเขียว’ เกิดยากและเติบโตช้า สถาบันการเงินและนักลงทุนก็ไม่กล้าเอาเม็ดเงินมาลงทุน 

 

แม้ว่าธุรกิจชั้นนำรายใหญ่ของไทยเริ่มตื่นตัวเรื่องนี้มาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีความร่วมมือผ่านเครือข่ายภาคเอกชนในการลดก๊าซคาร์บอน แต่ถือว่าความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมยังจำกัดอยู่ในวงแคบ 

 

ปัจจุบันมีบริษัทไทยเพียง 11 บริษัทที่ได้จัดทำเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองโดยองค์กร Science-Based Target Initiative (SBTi) แล้วเสร็จ และมีอีก 22 บริษัทที่ประกาศ (Commit) ว่าจะตั้งเป้าหมาย SBTi 

 

ตัวเลขนี้ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET ที่มีเกือบ 700 บริษัท ยังไม่นับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการลดคาร์บอนด้วย

 

เรายังจำเป็นต้องผลักดันให้ภาคธุรกิจในวงกว้าง หันมาใส่ใจกับ Net Zero ตั้งเป้าหมายการลดคาร์บอนที่ชัดเจน นำเรื่อง Climate ไปปรับเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างจริงจัง และจัดทำ Transition Strategy ขององค์กร เพื่อบริหารความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสใหม่จาก Net Zero Transition

 

3. Data Gap การขาดข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้

 

ทุกธุรกิจที่พยายามลดก๊าซเรือนกระจกต่างประสบปัญหาการเข้าถึงหรือเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กใน Supply Chain เมื่อไม่มีข้อมูลดิบที่เชื่อถือได้ ทำให้ต้องอาศัยการประมาณการข้อมูลหรือใช้ Proxy แทน ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

 

มาตรฐานการนำเสนอข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังไม่สอดคล้องกันทั้งอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งครอบคลุมอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม อาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า และโรงแรม ส่วนใหญ่ยังขาดการจัดเก็บและรายงานข้อมูลก๊าซคาร์บอน ยังไม่นับถึงการขาดข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ 

 

เมื่อข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือไม่น่าเชื่อถือ จะเป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจของนักลงทุนและสถาบันการเงินในการไฟแนนซ์โปรเจกต์การลดก๊าซเรือนกระจก และเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนผ่านสินเชื่อหรือหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน

 

เป็นที่น่ายินดีที่ ก.ล.ต. เล็งเห็นความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามมาตรฐานสากลอย่าง TCFD และในอนาคตคงมีแผนที่จะนำกติกาสากลใหม่อย่าง ISSB มาใช้กับบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพข้อมูลก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย 

 

แต่นี่ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ธุรกิจจึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลก๊าซคาร์บอน ทั้งของตัวเองและของคู่ค้าใน Value Chain รวมทั้งมองหาพันธมิตรที่จะนำเทคโนโลยีและโซลูชันที่จะเข้ามาช่วยในเรื่อง Climate Data

 

4. Financing Gap คือความท้าทายในการระดมเงินทุนสำหรับการลดคาร์บอน 

 

การลดคาร์บอนต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น สายส่งไฟฟ้าที่รองรับไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และการลงทุนของภาคธุรกิจในการนำเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ 

 

McKinsey ประเมินว่าเอเชีย-แปซิฟิกต้องใช้เงินลงทุนกว่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero ภายในปี 2050 โดยขณะนี้ขาดเม็ดเงินลงทุน (Funding Gap) ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

 

แนวร่วม Thailand Net Zero Coalition จึงต้องมีภาคการเงินเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยไทยจำเป็นต้องมองหาเงินทุนจากภาคเอกชนมาสนับสนุนการดำเนินการลดคาร์บอน เพราะงบประมาณของภาครัฐไม่เพียงพอ ทั้งนี้ ไทยควรระดมเงินทุนจากทั้งสถาบันการเงินและนักลงทุนในประเทศ และเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งควรรวมถึงกองทุนด้าน Climate Finance ที่กล่าวถึงข้างต้น

 

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวบนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM ถึงการสนับสนุนการเงินเพื่อการลดคาร์บอนหรือ Transition Finance ซึ่งมีความคืบหน้าที่สำคัญ เช่น การจัดทำ Taxonomy แต่ผู้ว่ารับว่ายังมีงานที่ต้องขับเคลื่อนในเรื่องนี้อีกมาก

 

ภาคสถาบันการเงินของไทยต้องเร่งยกระดับการทำงานด้าน Climate ต้องตั้งเป้าหมาย Net Zero จัดทำ Net Zero Transition Plan สนับสนุนบริษัทลูกค้าในการลดคาร์บอน และพัฒนาคนมาขับเคลื่อนงานด้านนี้ โดยธนาคารจะมีบทบาทสำคัญมากในเรื่องนี้ (โปรดดูบทความเรื่อง Banking for Net Zero

 

5. Coordination Gap คือปัญหาในการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน

 

การขับเคลื่อนวาระ Net Zero ต้องอาศัยการทำงานที่ใกล้ชิด และสอดรับกันระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน 

 

ภาครัฐต้องปักธงนโยบาย แผนงาน และกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลดคาร์บอน พร้อมจัดสรรงบประมาณให้ถูกจุด เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นทิศทางที่ชัดเจน และมีแรงจูงใจในการเร่งดำเนินงานลดคาร์บอน ขณะที่ภาคการเงินต้องเข้ามาเติมเต็ม จัดสรรเงินทุนสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ในการลดคาร์บอน

 

พันธมิตร 3 ภาคส่วนนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญในการเปลี่ยนเป้าหมายและนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกให้เกิดขึ้นจริง และเห็นผลเป็นรูปธรรม แต่ปัจจุบันไทยยังขาดกลไกระดับชาติที่จะบูรณาการการทำงานระหว่าง 3 ภาคส่วนหลักดังกล่าว เพื่อหาโซลูชันในการขับเคลื่อน Net Zero Transition ในแต่ละภาคเศรษฐกิจ

 

แนวร่วม ‘Thailand Net Zero Coalition’ พันธมิตร 3 ภาคส่วน พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยสู่ Net Zero

 

แนวร่วม Thailand Net Zero Coalition โดยควรยึดหลักการทำงาน 3 ข้อ

 

1. Sectoral Transition Focus คือวางกลยุทธ์การลดคาร์บอนและจัดการกับความท้าทายแบบเจาะลึกราย Sector

 

นอกจากยุทธศาสตร์และนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ Net Zero ในภาพใหญ่ของประเทศแล้ว ไทยยังจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ Net Zero สำหรับแต่ละ Sector ทั้งในระยะสั้น (2030) และระยะยาว โดยต้องมีแผนงานหรือ Action Plan ที่เป็นรูปธรรม ที่จะทำให้ทุกภาคเศรษฐกิจบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065 

 

แนวร่วม Thailand Net Zero Coalition จึงจะต้องประกอบด้วยคณะทำงานหลายชุด โดยแบ่งตาม Sector ของภาคเศรษฐกิจจริง เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การผลิตไฟฟ้า การขนส่ง (ทางบก ทางเรือ ทางอากาศ) อสังหาริมทรัพย์ เกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมการผลิต (เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก เคมีภัณฑ์) โดยแต่ละภาคเศรษฐกิจจะมีเส้นทางสู่ Net Zero ที่ไม่เหมือนกัน มีความท้าทายที่มีความเฉพาะเจาะจง และต้องการโซลูชันในการลดคาร์บอนที่แตกต่างกัน

 

เราจึงต้องจัดทำ Net Zero Roadmap เพื่อกำหนด ‘เส้นทาง’ การลดคาร์บอนสำหรับทุกภาคเศรษฐกิจ ที่จะชี้ว่าในแต่ละอุตสาหกรรมเราต้องดำเนินการอะไรบ้าง ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำอะไรบ้าง ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนปริมาณเท่าใด และมาจากแหล่งเงินทุนใด รัฐควรมีกฎระเบียบและมาตรฐานอะไรมารองรับบ้าง และธุรกิจต้องพัฒนาทักษะความสามารถของแรงงานด้านใดบ้าง เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสู่ Net Zero

 

2. Ecosystem and Value Chain Approach คือขับเคลื่อนการลดคาร์บอนด้วยการมองภาพทั้งระบบ จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ 

 

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ความร่วมมือระหว่างธนาคาร DBS ของสิงคโปร์ กับบริษัทแฟชั่นชั้นนำของโลกอย่าง H&M โดยธนาคารจะให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำกับบริษัทคู่ค้า (Suppliers) ในเอเชียของ H&M เพื่อดำเนินมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนในโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าส่งให้กับ H&M อีกทั้งยังมีการนำบริษัทที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนคือ Guidehouse เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ช่วยวางโซลูชันในการลดคาร์บอนของแต่ละโรงงานอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการดำเนินความร่วมมือการเงินสีเขียวเพื่อลดโลกร้อนแบบครบวงจร

 

การทำงานของแนวร่วม Thailand Net Zero Coalition ต้องใช้ความร่วมมือจาก ‘ผู้เล่น’ สำคัญจากทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงภาคส่วนที่สามารถพัฒนาโซลูชันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาคน เพื่อตอบโจทย์การลดคาร์บอนของเศรษฐกิจ

 

ยกตัวอย่างเช่น หากเราจะขับเคลื่อนงานด้านเกษตร Net Zero จะต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากภาครัฐ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องทำงานร่วมกับเกษตรกร ผู้ผลิตปุ๋ย ผู้ผลิตรถไถ และเครื่องจักรกลอื่นๆ ที่ใช้ในการทำนา รวมถึงธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร 

 

นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากภาควิชาการและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ที่จะช่วยยกระดับองค์ความรู้และพัฒนานวัตกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคการเกษตร เช่น อุปกรณ์ที่จะตรวจวัดการปล่อยก๊าซที่หน้างาน เครื่องจักรกลที่ใช้พลังงานทางเลือก เป็นต้น กระทรวงและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานด้าน Net Zero ด้วย

 

ในส่วนของภาคการเงิน ผู้กำกับและกำหนดกติกาอย่าง ธปท. และ ก.ล.ต. จะมีบทบาทสำคัญในแนวร่วมการลดคาร์บอน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมและกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการระดมทุนเพื่อลดคาร์บอน (Transition Finance) ขณะที่สมาคมธนาคารไทยก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในแนวร่วมลดคาร์บอน ภายใต้เจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Declaration) ที่สมาคมได้ประกาศไว้

 

และอีกหนึ่งปัจจัยที่ขาดไม่ได้คือ การพัฒนาคน ทั้งแรงงานใหม่และแรงงานเดิม ให้มีทักษะในการทำงานด้านความยั่งยืน ทั้งในภาคธุรกิจและความการเงิน ทั้งนี้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยประสานการทำงานกับภาคเอกชนและภาควิชาการ

 

3. Global Green Partnership แสวงหาพันธมิตรสีเขียวในเวทีโลก 

 

เมื่อโลกตื่นตัวและรุกหนักในการลดคาร์บอนและระดมเงินทุน Climate Finance ไทยควรใช้โอกาสนี้แสวงหาความร่วมมือและพันธมิตรในเวทีระหว่างประเทศ 

 

เมื่อเรามีเป้าหมาย นโยบาย และแผนงานที่ชัดเจน และมีแนวร่วมความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน ไทยจะมีความน่าเชื่อถือ (Credibility) ในสายตาโลก และจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำจากต่างประเทศ เพื่อมาขับเคลื่อนการเติบโตสีเขียว และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในโลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero 

 

การดึงดูดให้บริษัทต่างชาติมาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ถือเป็นโมเดลตัวอย่างที่ดีที่ควรนำไปใช้กับการเปลี่ยนผ่านภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ให้เป็นสีเขียว

 

‘การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก’ ของรัฐบาลจะมีประโยชน์อย่างมากในการเสริมสร้างความร่วมมือในด้าน Climate ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ทำงานร่วมกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรเอกชน เพื่อนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาสนับสนุนวาระการลดคาร์บอนและการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวของไทย

 

ไทยอาจออกตัวช้ากว่าหลายประเทศ แต่ยังไม่สายเกินไปที่เราจะเร่งเครื่องดำเนินงานผ่านแนวร่วมที่เชื่อมโยงภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน สร้างพันธมิตรในเวทีโลก เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาโลกร้อนให้เป็นเครื่องยนต์สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย

The post ข้อเสนอจัดตั้งแนวร่วม ‘Thailand Net Zero Coalition’ ประสานพลังภาครัฐ-ธุรกิจ-การเงิน พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย สร้างการเติบโตสีเขียว appeared first on THE STANDARD.

]]>
กรอบวิธีประเมินผลงานของบริษัทด้านความยั่งยืน (ESG) ฉบับนักลงทุน https://thestandard.co/framework-for-evaluating-the-esg-company/ Sat, 24 Jun 2023 17:55:08 +0000 https://thestandard.co/?p=807281 ประเมิน บริษัท esg

นักลงทุนสมัยใหม่ทั้งรายย่อยและสถาบันต้องใส่ใจและสนใจต่อ […]

The post กรอบวิธีประเมินผลงานของบริษัทด้านความยั่งยืน (ESG) ฉบับนักลงทุน appeared first on THE STANDARD.

]]>
ประเมิน บริษัท esg

นักลงทุนสมัยใหม่ทั้งรายย่อยและสถาบันต้องใส่ใจและสนใจต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน หรือ ESG ของธุรกิจ เพราะประเด็น ESG กระทบต่อความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

 

แต่คำถามสำคัญคือ นักลงทุนจะมีกรอบวิธีประเมินผลงานของบริษัทในด้าน ESG อย่างไร ถึงจะเป็นประโยชน์สูงสุดในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน

 

ในบทความนี้ผมขอนำเสนอกรอบวิธีคิดที่นักลงทุนทุกคนสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ผลงานด้าน ESG ของธุรกิจได้อย่างไม่ยากนัก เป็นกรอบที่พิจารณาถึงทั้งปัจจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ แต่ไม่ต้องอาศัยทฤษฎีหรือสูตรคำนวณที่ซับซ้อน

 

ในกรอบวิธีคิดนี้ นักลงทุนควรวิเคราะห์ผลงานด้านความยั่งยืนของบริษัทครอบคลุม 5 มิติ 

 

มิติแรกคือ ‘เกรด’ หรือคะแนนการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท (ESG Scores and Ratings) ซึ่งประเมินโดยผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ

 

คะแนน ESG ของแต่ละธุรกิจสะท้อนภาพรวมของผลงานของบริษัททั้งในด้านสิ่งแวดล้อม (E – Environment), สังคม (S – Social) และบรรษัทภิบาล (G – Governance) 

 

ปัจจุบันมีผู้ให้บริการประเมินคะแนนด้าน ESG ของบริษัทหลายสำนัก เช่น MSCI และ S&P Global ซึ่งนักลงทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนนี้ได้ไม่ยาก โดยสามารถตรวจสอบคะแนน ESG ในภาพรวมของบริษัทต่างๆ ได้ผ่านเว็บไซต์ของผู้ให้บริการเหล่านี้ 

 

ตัวอย่างเช่น MSCI ESG Ratings จะให้เกรดการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของแต่ละบริษัท (AAA, AA, A, BBB, BB, B และ CCC) คล้ายกับการจัดลำดับความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ หรือ Credit Ratings 

 

อีกตัวอย่างคือ S&P Global ESG Scores ซึ่งจะให้คะแนนผลงานด้านความยั่งยืนของแต่ละบริษัท โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยคะแนน ESG ของ S&P เป็นพื้นฐานในการจัดอันดับบริษัทให้เข้าไปอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices: DJSI ซึ่งบริษัทไทยหลายบริษัทได้รับการประเมินให้อยู่ในดัชนี DJSI ด้วย

 

เกรดหรือคะแนนรวม ESG ข้างต้นคิดคำนวณมาจากคะแนนดิบในประเด็นย่อยต่างๆ ภายใต้กรอบ ESG ซึ่งประเมินจากข้อมูลตัวชี้วัดหลายร้อยตัว

 

ในด้านสิ่งแวดล้อม ต้องพิจารณาข้อมูลผลการดำเนินงาน รวมถึงทิศทางนโยบายและเป้าหมายของบริษัทที่เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการขยะและของเสีย การบริหารจัดการน้ำ การจัดซื้อวัตถุดิบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากล และการลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ 

 

ในด้านสังคม ต้องพิจารณาข้อมูลและนโยบายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยในการทำงาน การดูแลชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการสรรหาและพัฒนาบุคลากรของบริษัท การส่งเสริมความแตกต่างหลากหลายและการยอมรับของพนักงาน (Diversity & Inclusion) และความเท่าเทียมระหว่างเพศในสถานที่ทำงาน รวมทั้งการเปิดช่องทางให้แรงงานร้องทุกข์ได้อย่างอิสระโดยไม่ถูกคุกคาม มีกลไกตรวจสอบข้อร้องเรียนของแรงงานและการแก้ไขเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ

 

ในด้านบรรษัทภิบาล ประเมินจากตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับคณะกรรมการบริหารบริษัท ความเป็นอิสระของกรรมการบริหาร ความโปร่งใสในด้านการจ่ายภาษี จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งกลไกการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัท 

 

จะเห็นได้ว่าคะแนน ESG มันสะท้อนมิติการดำเนินงานของธุรกิจที่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ในวงกว้าง เป็นการตีความความยั่งยืนที่กว้าง ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

 

นักลงทุนควรศึกษา ‘ไส้ใน’ ของคะแนน ESG ของธุรกิจในแต่ละด้านอย่างลงลึก เพื่อดูว่าคะแนนของบริษัทในประเด็นปลีกย่อยต่างๆ มันสะท้อนว่า จุดแข็งและจุดอ่อนหรือจุดที่ควรปรับปรุงของบริษัทอยู่ตรงไหน 

 

เช่น บางบริษัทอาจได้คะแนนด้านสิ่งแวดล้อมดีมาก แต่คะแนนด้านสังคมไม่ค่อยดีนัก นักลงทุนที่ถือหุ้นของบริษัทอยู่ก็สามารถส่งเสียงและเสนอแนะให้บริษัทปรับปรุงการทำงานในด้านสังคมให้ดียิ่งขึ้น 

 

แต่นักลงทุนไม่ควรใช้คะแนน ESG เป็นเครื่องชี้วัดเดียวในการประเมินผลงานด้านความยั่งยืนของแต่ละธุรกิจ 

 

หลายครั้งเราจะพบว่าคะแนน ESG ของธุรกิจเดียวกันที่ประเมินโดยผู้ให้บริการต่างสำนัก อาจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 

 

เช่น บริษัท Microsoft ได้เกรด MSCI ESG Rating ระดับ AAA (เกรดดีที่สุด) แต่กลับได้คะแนน S&P ESG Score เพียงแค่ 56 เต็ม 100 ขณะที่บริษัทไทยชื่อดังหลายบริษัทได้คะแนน S&P ESG Score สูงเป็นลำดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม แต่กลับได้เกรด MSCI กลางๆ ไม่สูงนัก ทั้งนี้ เพราะระเบียบวิธีการประเมินคะแนน ESG ของผู้ให้บริการแต่ละสำนักแตกต่างกัน ให้น้ำหนักกับแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการประเมิน และบอกไม่ได้ว่าสำนักไหนดีกว่ากัน

 

นักลงทุนจึงควรศึกษารายละเอียดของคะแนน ESG ในแต่ละประเด็นย่อย และควรตระหนักว่าคะแนน ESG ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าบริษัทมีผลงานที่ดีเลิศหรือย่ำแย่ในเรื่อง ESG เสมอไป แต่จำเป็นต้องพิจารณามิติเชิงคุณภาพอื่นๆ ประกอบด้วย 

 

มิติที่ 2 คือ Tone from the Top จากผู้นำบริษัท รวมถึงเป้าหมายและกลยุทธ์ความยั่งยืน

 

นักลงทุนควรศึกษาและประเมินว่า กลยุทธ์และเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทมีความชัดเจน ตอบโจทย์ความเสี่ยงและโอกาสในด้าน ESG รวมทั้งวัดผลได้ในระดับใด และบริษัทได้บูรณาการเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในกลยุทธ์ธุรกิจในภาพรวมหรือไม่ 

 

เช่น หากบริษัทสื่อสารว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก 30% ภายในปี 2030 บริษัทก็ต้องชี้แจงด้วยว่า เป้าหมายดังกล่าวตั้งอยู่บนหลักการหรือพื้นฐานอะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และบริษัทมีแผนการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวอย่างไร

 

ที่สำคัญต้องพิจารณาว่า ผู้นำบริษัทอย่างซีอีโอมีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด คำพูดและการสื่อสารจากซีอีโอในฐานะหัวเรือใหญ่ของบริษัทเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าขาด Tone from the Top และวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนจากซีอีโอก็คงยากที่ฝ่ายต่างๆ ในบริษัทจะตื่นตัวและเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ 

 

นักลงทุนจึงควรติดตามการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนของซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ควรศึกษากลยุทธ์ความยั่งยืนจากรายงานประจำปี / รายงานความยั่งยืนของบริษัท รวมทั้งควรตั้งคำถามในเรื่องความยั่งยืนกับผู้บริหารระดับสูง ทั้งในการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น (AGM) การประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาสของบริษัท และในโอกาสอื่นๆ

 

มิติที่ 3 คือ ความตระหนักรู้และกลไกการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนภายในบริษัท

 

เบื้องต้นนักลงทุนควรตรวจสอบว่าบริษัทมีทีมงานด้านความยั่งยืนที่แข็งแกร่งแค่ไหน มีการตั้งบุคคลขึ้นมาเป็น Chief Sustainability Officer (CSO) เพื่อเป็น ‘เจ้าภาพหลัก’ ในการขับเคลื่อนงานด้านนี้โดยตรงหรือไม่ บุคคลนั้นมีความรู้และประสบการณ์ด้านความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด 

 

แต่แค่นั้นยังไม่พอ งานด้านความยั่งยืนจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการผลักดันจากทุกฝ่ายของบริษัท การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนภายในบริษัทต้องอาศัยองคาพยพจากฝ่ายต่างๆ ทั่วทั้งองค์กร 

 

นักลงทุนจึงควรศึกษาว่า บริษัทมีการสร้างกลไกการทำงานด้านความยั่งยืนภายในบริษัทหรือไม่ เช่น คณะกรรมการด้านความยั่งยืน (ในระดับกรรมการบริหาร) และคณะทำงานด้านความยั่งยืนที่มีผู้บริหารระดับสูงจากฝ่ายต่างๆ นั่งอยู่ด้วย เพื่อเป็นกลไกในการตัดสินใจกำหนดและดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท และตรวจสอบว่ามีกลไกที่จะนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริงๆ 

 

นอกจากนี้นักลงทุนควรประเมินว่า ผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายการเงิน (CFO) ฝ่ายขายและการตลาด ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดซื้อวัตถุดิบ ฝ่ายบริหารจัดการความเสี่ยง ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ฯลฯ มีความตระหนักและเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายงานของตนในระดับใด

 

เรียกว่าต้องให้ทุกฝ่ายงานเป็นเจ้าของ หรือมี Ownership ร่วมกันในเรื่องความยั่งยืน เพื่อประสานพลังขับเคลื่อนงานไปพร้อมกัน ไม่ใช่ว่าทีมความยั่งยืนผลักดันงานอยู่ฝ่ายเดียว 

 

มิติที่ 4 คือ ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG

 

ความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากบริษัทใดพยายามปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลด้าน ESG จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อนักลงทุน และอาจเข้าข่ายการสร้างภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือที่เรียกว่า ‘การฟอกเขียว’ หรือ Greenwashing 

 

ความโปร่งใสจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ในมิติสำคัญต่างๆ อย่างครบถ้วน รอบด้าน และตรงกับข้อเท็จจริง โดยสามารถเปิดเผยได้ผ่าน One Report, รายงานประจำปี / รายงานความยั่งยืน, เว็บไซต์ของบริษัท และช่องทางอื่นๆ ซึ่งนักลงทุนต้องศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านี้ให้ถ่องแท้ และเปรียบเทียบกับข้อมูลของบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

 

นอกจากนี้นักลงทุนควรตรวจสอบว่าข้อมูลด้าน ESG ที่บริษัทเปิดเผยมีความน่าเชื่อถือเพียงใด เช่น ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ได้รับการสอบทาน หรือ Audit จากผู้สอบทานที่น่าเชื่อถือหรือไม่ 

 

และควรดูว่าการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทนั้น นอกจากจะนำเสนอผลงานและความสำเร็จแล้ว มีการสื่อสารถึงประเด็นท้าทายและจุดที่ควรปรับปรุงด้วยหรือไม่ เพราะไม่มีธุรกิจไหนในโลกที่สมบูรณ์แบบในเรื่อง ESG 

 

ธุรกิจที่ดีจึงควรสื่อสารกับนักลงทุนด้วยความจริงใจ ยอมรับว่ามีประเด็น ESG ใดบ้างที่บริษัทยังทำงานได้ไม่เต็มที่หรือยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

 

มิติที่ 5 คือ การหารือและร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัท

 

การจัดการกับประเด็นท้าทายด้านความยั่งยืนของธุรกิจต้องอาศัยการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนอกบริษัทด้วย การหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะทำให้บริษัทเข้าใจบริบทและสาเหตุของปัญหาได้ดียิ่งขึ้น และร่วมกันหาทางแก้ไขที่เหมาะสมได้ 

 

นักลงทุนจึงควรประเมินว่าบริษัทมีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จริงใจมากน้อยเพียงใด เปิดรับฟังข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแค่ไหน และบริษัทได้นำเอาข้อเสนอแนะไปปรับเป็นนโยบายเพื่อแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนหรือไม่ 

 

นักลงทุนยังควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับข้อคิดเห็นจากองค์กรภายนอก เช่น องค์กรภาคประชาสังคม ทั้งด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม และสังคม ที่มีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ พิจารณาว่าองค์กรเหล่านี้มีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อการทำงานด้าน ESG ของบริษัทอย่างไรบ้าง และบริษัทมีการชี้แจงหรือทำงานร่วมกับองค์กรเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน

 

นอกจากนี้ธุรกิจอาจมีความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยั่งยืนทั้งระบบ เพราะประเด็นท้าทายด้าน ESG หลายเรื่องต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งอุตสาหกรรม ไม่สามารถทำได้โดยอาศัยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง นักลงทุนจึงควรศึกษาว่าธุรกิจมีการดำเนินความร่วมมือกับธุรกิจอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนงานความยั่งยืนหรือไม่

 

สรุปแล้วการวิเคราะห์และประเมินผลงานด้าน ESG ของธุรกิจต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการพิจารณา ต้องดูทั้งปัจจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ ต้องประเมินความมุ่งมั่นและจริงใจของผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ต้องพิจารณากลไกการขับเคลื่อนงานทั้งภายในและภายนอกของบริษัท และต้องดูทั้งผลงานในอดีต การทำงานในปัจจุบัน และแผนงานในอนาคต 

 

หากนักลงทุนเอาจริงเอาจังกับการประเมินผลงานด้านความยั่งยืนของบริษัท นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG และการตัดสินใจของนักลงทุนแล้ว ยังจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ธุรกิจยกระดับการทำงานด้านความยั่งยืนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

The post กรอบวิธีประเมินผลงานของบริษัทด้านความยั่งยืน (ESG) ฉบับนักลงทุน appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘Finance for Net Zero’ เจาะลึกแผนการเงินสีเขียวใหม่ของสิงคโปร์ https://thestandard.co/finance-for-net-zero/ Sun, 23 Apr 2023 04:33:04 +0000 https://thestandard.co/?p=780051 Finance for Net Zero

ใครจะคิดว่าวิกฤตโลกร้อนคือ ‘โอกาสทอง’ สำหรับประเทศที่เป […]

The post ‘Finance for Net Zero’ เจาะลึกแผนการเงินสีเขียวใหม่ของสิงคโปร์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Finance for Net Zero

ใครจะคิดว่าวิกฤตโลกร้อนคือ ‘โอกาสทอง’ สำหรับประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลก

 

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้ประกาศแผน Green Finance Strategy ฉบับอัปเดตใหม่เพื่อระดมเงินทุนสีเขียว และสนับสนุนให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่มุ่งสู่ Net Zero ที่แรกของโลก (The World’s First Net Zero-aligned Financial Centre) 

 

ต่อมาไม่นาน เมื่อวันที่ 20 เมษายน ก็มีพัฒนาการสำคัญด้านการเงินสีเขียวเกิดขึ้นที่สิงคโปร์ 

 

Lawrence Wong รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสิงคโปร์ ได้ประกาศแผนการเงินสีเขียวฉบับอัปเดตใหม่ล่าสุด ชื่อว่า Finance for Net Zero Action Plan’ หรือแผน FiNZ 

 

สิงคโปร์หมายมั่นปั้นมือที่จะระดมเงินทุนเพื่อช่วยภูมิภาคเอเชียเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ซึ่งนอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังจะช่วยให้สิงคโปร์พัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการเงินสีเขียวที่สำคัญของภูมิภาค กระตุ้นการสร้างงานและการเติบโตให้ภาคการเงินของสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง 

 

โฟกัสของแผน FiNZ ไม่ใช่แค่ Green Finance แต่คือ Transition Finance หรือการจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจ ‘สีน้ำตาลเข้ม’ (ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนสูง เช่น ปิโตรเลียม โรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมเหล็กและปูนซีเมนต์ ขนส่ง) เปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจ ‘สีเขียว’ หรือ ‘สีน้ำตาลอ่อน’ ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งผมได้เคยอธิบายเรื่อง Transition Finance ไว้แล้วในบทความแรก

 

แผน FiNZ ประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 4 เป้า

 

เป้าหมายแรก คือ Data, Definitions, Disclosures หรือ 3Ds 

 

ธุรกิจจะต้องปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูลด้าน ESG และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่แค่ใน Operation ของตัวเอง (Scope 1 และ 2) แต่รวมถึงในห่วงโซ่อุปทาน จากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ (Scope 3) ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับธุรกิจ

 

การเปิดเผยข้อมูลเรื่อง ESG เป็นเรื่องสำคัญ เพราะนักลงทุนและสถาบันการเงินใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจในการจัดสรรเงินทุนให้ภาคธุรกิจ พูดง่ายๆ หากนักลงทุนไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่าธุรกิจไหนมีแผนการจัดการความเสี่ยงจากโลกร้อนและแผนการเปลี่ยนผ่านสู่โลกไร้คาร์บอนที่ดี นักลงทุนก็อาจขาดความมั่นใจต่ออนาคตของธุรกิจนั้น 

 

ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) จึงกำลังพัฒนา Code of Conduct สำหรับผู้ให้บริการ ESG Ratings และ ESG Data Products (ตัวอย่างเช่น MSCI, Moody’s และ S&P Global) เพื่อสร้างความโปร่งใส และเสริมสร้างความมั่นใจของตลาดที่มีต่อข้อมูลและการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทในด้าน ESG

 

และสิงคโปร์มีแผนที่จะกำหนดโรดแมป เพื่อให้สถาบันการเงินและธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลด้านก๊าซเรือนกระจกและความยั่งยืน ตามมาตรฐานสากลของ International Sustainability Standards Board (ISSB) ในอนาคต

 

แต่การจัดเก็บและเปิดเผยข้อมูลถือเป็นภาระงานที่ไม่ง่ายของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ภาครัฐของสิงคโปร์จึงจะช่วยเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในการรายงานข้อมูลด้าน ESG ไปพร้อมกัน โดยนำ Green FinTech หรือเทคโนโลยีทางการเงินสีเขียวเข้ามาช่วย

 

ปีที่แล้ว MAS และ SGX ได้ริเริ่มโปรเจกต์ใหม่ชื่อว่า ESGenome ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งสามารถจัดทำรายงานข้อมูลความยั่งยืนตามมาตรฐานสากลต่างๆ (เช่น TCFD, GRI, UN SDGs) โดยอัตโนมัติผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว นอกจากนี้ ESGenome ยังช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนได้อย่างง่ายและสะดวก ในอนาคตสิงคโปร์มีแผนจะลองทำโครงการนำร่องเพื่อให้ธุรกิจ SMEs รายงานข้อมูล ESG ผ่าน ESGenome 


เป้าหมายที่สองของแผน FiNZ คือ Climate Resilient Financial Sector 

 

วิกฤตโลกร้อนก่อให้เกิด ‘ความเสี่ยงทางการเงิน’ ใหม่ๆ ที่ภาคการเงินจะต้องเตรียมรับมือและจัดการ หากไม่ทำจะกระทบต่อสถานะทางการเงินของธนาคารและเสถียรภาพของระบบการเงินทั้งประเทศได้



ยกตัวอย่างเช่น หากธนาคารปล่อยกู้ให้บริษัท ‘สีน้ำตาล’ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงมากและไม่มีแผนในการลดคาร์บอน หากในอนาคตภาครัฐมีแนวโน้มเพิ่มอัตราการเก็บ ‘ภาษีคาร์บอน’ ที่สูงขึ้นมาก เท่ากับว่าต้นทุนทางธุรกิจจะสูงขึ้นอย่างมีนัย เป็นความเสี่ยงทางการเงินต่อธุรกิจดังกล่าวและต่อธนาคารผู้ให้สินเชื่อได้ 

 

สิงคโปร์จึงเน้นการส่งเสริมให้สถาบันการเงินบริหารจัดการความเสี่ยงจากโลกร้อน โดยทางธนาคารกลางสิงคโปร์ได้จัดทำและส่งเสริมแนวทางการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับสถาบันการเงิน 

 

รวมทั้งเร่งสร้างศักยภาพของธนาคารพาณิชย์ในการประเมินความเสี่ยงจากโลกร้อนผ่านแบบจำลอง ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า Climate Scenario Analysis and Stress Testing 

 

โดยสรุป สถาบันการเงินจะต้องเข้าใจความเสี่ยงทางการเงินจากโลกร้อนที่มีต่อพอร์ตโฟลิโอของตัวเอง และจัดการรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวให้อยู่ในวิสัยที่รับได้ ไม่สูงเกินไป

 

เป้าหมายที่สามของแผน FiNZ คือ Credible Transition Plans

 

สิงคโปร์สนับสนุนให้สถาบันการเงินจัดทำ Transition Plans หรือแผนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero 

 

กล่าวสั้นๆ Transition Plans คือแผนของธนาคารที่ระบุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากสารพัดธุรกิจที่ธนาคารให้เงินกู้ (Scope 3 Financed Emissions) และระบุถึงกลยุทธ์หรือวิธีการที่ธนาคารจะช่วยสนับสนุนลูกค้าธุรกิจของตัวเองในเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ 

 

เป้าหมายนี้มุ่งที่จะให้สถาบันการเงินเป็น Agent of Change ช่วยสนับสนุนธุรกิจในภาคเศรษฐกิจจริงในการลดการปล่อยคาร์บอน

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความตอนที่แล้ว ชื่อว่า Banking for Net Zero

 

เป้าหมายที่สี่ของแผน FiNZ คือ Green & Transition Solutions & Markets

 

เน้นการสร้างนวัตกรรมและโซลูชันทางการเงิน รวมทั้งพัฒนาตลาด เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน 

 

โดยนอกจากธนาคารสิงคโปร์จะได้เพิ่มเงินสนับสนุน (Grants) ให้สถาบันการเงินและธุรกิจที่ออกหุ้นกู้หรือปล่อยสินเชื่อสีเขียว หุ้นกู้หรือสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Green and Sustainability-linked Bonds and Loans) แล้ว ยังจะขยายขอบเขตของ Grants ให้ครอบคลุมถึงหุ้นกู้หรือสินเชื่อที่จะสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Transition Bonds and Loans ด้วย

 

รวมทั้งยังเน้นการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่เรียกว่า Blended Finance ซึ่งเป็นการนำเงินทุนจากภาครัฐกับภาคเอกชนมาผสม (Blend) กัน โดยใช้เงินทุนจากแหล่งเงินของรัฐบาลหรือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Multilateral Development Banks) มาช่วยลดความเสี่ยงของโครงการหรือเทคโนโลยีด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งปกติแล้วนักลงทุนหรือสถาบันการเงินจะมองว่าผลตอบแทนมีความไม่แน่นอน จึงไม่กล้าแบกรับความเสี่ยง เลยต้องอาศัยเงินทุนจากภาครัฐเข้ามาเป็นตัวกระตุ้น ช่วยลดความเสี่ยงให้เหลือในระดับที่เอกชนรับได้

 

ตัวอย่างเช่นในกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินในเอเชีย ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงมาก และส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าที่มีอายุยังน้อย ซึ่งถ้าเราปล่อยไว้เฉยๆ โรงไฟฟ้าเหล่านี้ก็จะดำเนินการผลิตและปล่อยคาร์บอนออกมาสู่ชั้นบรรยากาศไปอีก 20-30 ปี เป็นอุปสรรคสำคัญของการเดินทางไปสู่เป้าหมาย Net Zero ของประเทศในภูมิภาคนี้ 

 

เพราะถ่านหินยังคงเป็นเชื้อเพลิงหลักของเอเชียในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของการผลิตไฟฟ้าในภูมิภาค

 

โจทย์ที่ยากคือจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ได้สร้างไว้แล้ว สามารถยุติการผลิตหรือเกษียณอายุได้เร็วกว่าปกติ (Early Retirement) โดยผู้ลงทุนที่ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าไปแล้วจะไม่ขาดทุน นี่คือโจทย์ที่ Blended Finance จะเข้ามาช่วยได้ ซึ่งถ้าทำสำเร็จ นอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังมีโอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางการเงินให้กับสถาบันการเงินและนักลงทุนได้อีกมหาศาล ผมจะเขียนบทความเพื่ออธิบายเรื่อง Managed Phase-out of Coal Power Plants ในโอกาสต่อไป

 

ทั้งหมดนี้คือ 4 เป้าหมายหลักของแผน Finance for Net Zero (FiNZ) ของสิงคโปร์

 

แต่ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายได้คือ การพัฒนาคนและองค์ความรู้

 

ถ้าเราลองค้นหางานด้านการเงินสีเขียวหรือ ESG ในตลาดงานสิงคโปร์ เราจะพบว่ามีตำแหน่งงานมากมายเปิดรับสมัครอยู่ คือมีดีมานด์สูง แต่ซัพพลายหรือจำนวนคนที่มีทักษะในด้านนี้ยังมีไม่เพียงพอ

 

สิงคโปร์จึงพยายามสร้างคนและพัฒนา Talent เพื่อมาตอบสนองดีมานด์ของงานด้านความยั่งยืนและการเงินสีเขียว โดยได้สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาชั้นนำจัดตั้ง Centre of Excellence ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรการเรียนการสอนและงานวิจัยในด้านนี้ 

 

ตัวอย่างเช่นมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้เปิดหลักสูตรปริญญาโทใหม่ในด้าน Green and Sustainable Finance โดยนักศึกษารุ่นแรกกำลังจะจบหลักสูตรในช่วงกลางปีนี้ นอกจากนี้ NUS ได้จัดตั้งสถาบัน Sustainable and Green Finance Institute (SGFIN) ขึ้นมาเดินหน้างานด้านการวิจัยและฝึกอบรมต่างๆ อย่างครบวงจร 

 

แถม NUS เองยังได้ออกหุ้นกู้สีเขียวหรือ Green Bonds ระดมเงินได้กว่า 600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อนำมาลงทุนในโครงการสีเขียวในมหาวิทยาลัย เช่น สร้างอาคารที่ใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) พัฒนาระบบทำความเย็น สร้างห้องสมุดประหยัดพลังงาน และเพิ่มการติดตั้งแผงโซลาร์ในแคมปัส

 

แต่การพัฒนาบัณฑิตเจเนอเรชันใหม่อย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะความต้องการคนของภาคการเงินสีเขียวเติบโตอย่างรวดเร็วมาก สิงคโปร์จึงต้องเน้นการ Upskill และ Reskill บุคลากรที่ทำงานอยู่ในภาคการเงินอยู่แล้วให้มีทักษะความรู้ที่จำเป็น 

 

สิงคโปร์จึงกำลังจัดทำ Jobs Transformation Map for Sustainable Finance เพื่อประเมินเทรนด์ของงานด้านการเงินสีเขียว คาดคะเนว่าภาคการเงินจะต้องการคนที่มีทักษะเรื่องใดบ้างในอนาคต และในจำนวนเท่าใด ซึ่งแผนงานนี้จะช่วยให้สิงคโปร์วางกลยุทธ์การพัฒนาคนในด้านการเงินสีเขียวได้ตรงกับความต้องการของตลาดยิ่งขึ้น

 

โดยสรุป กลยุทธ์ Finance for Net Zero (FiNZ) ของสิงคโปร์ สะท้อนความพยายามของสิงคโปร์ที่จะคว้า ‘โอกาสทอง’ ในการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเครื่องยนต์การเติบโตใหม่ๆ ให้กับภาคการเงินของตัวเอง โดยในขณะเดียวกันก็ช่วยตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจในประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของสถาบันการเงินของสิงคโปร์เช่นกัน 

 

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ความท้าทายมีอยู่มาก ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย โดยถ้าทำสำเร็จ ไม่ใช่แค่สิงคโปร์เท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ แต่ประเทศต่างๆ ในเอเชียก็จะได้รับประโยชน์เช่นกัน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

The post ‘Finance for Net Zero’ เจาะลึกแผนการเงินสีเขียวใหม่ของสิงคโปร์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Banking for Net Zero: ธนาคารกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจไร้คาร์บอน https://thestandard.co/banking-for-net-zero/ Sat, 18 Feb 2023 07:31:46 +0000 https://thestandard.co/?p=752166

เมื่อการปล่อยคาร์บอนมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ภาคธนาคารควรมี […]

The post Banking for Net Zero: ธนาคารกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจไร้คาร์บอน appeared first on THE STANDARD.

]]>

เมื่อการปล่อยคาร์บอนมีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ภาคธนาคารควรมีบทบาทอย่างไรในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจสู่ Net Zero 

 

ภาคธนาคารจะสนับสนุนและผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจจริงลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไร จะช่วยจัดสรรเงินทุนไปสู่การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและงานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อ ‘ปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ไปสู่โลกไร้คาร์บอนได้อย่างไร


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ประชาคมโลกและธนาคารชั้นนำได้ตระหนักถึงบทบาทของภาคธนาคารในการขับเคลื่อนวาระ Net Zero มากขึ้น และได้เริ่มเคลื่อนไหวในทิศทางนี้อย่างชัดเจน

 

ในปี 2021 องค์กร The United Nations Environmental Programme Finance Initiative (UNEP-FI) ได้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่ม Net Zero Banking Alliance (NZBA) ขึ้น โดยเชิญชวนให้ธนาคารเข้ามาเป็นสมาชิก และแสดงเจตนารมณ์ในการลดก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารสู่ Net Zero ภายในปี 2050 

 

ปัจจุบัน NZBA มีสมาชิกเป็นธนาคารชั้นนำกว่า 126 ธนาคาร จาก 41 ประเทศ ยกตัวอย่างเช่น Bank of America Citi JPMorgan Chase Goldman Sachs ของสหรัฐอเมริกา Barclays และ Standard Chartered ของสหราชอาณาจักร UBS และ Credit Suisse ของสวิตเซอร์แลนด์ MUFG, SMBC, Mizuho และ Nomura ของญี่ปุ่น DBS, UOB และ OCBC ของสิงคโปร์ HSBC ของฮ่องกง แต่ปัจจุบันยังไม่มีธนาคารของไทยเข้าเป็นสมาชิก

 

ธนาคารที่เป็นสมาชิก NZBA มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 73 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นประมาณ 41% ของสินทรัพย์ทั้งหมดในระบบธนาคารโลก 

 

ธนาคารที่เป็นสมาชิก NZBA ต้องให้คำมั่นว่าจะตั้งเป้าหมายระยะสั้น (2030) และระยะยาว (2050) ในการลดก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการให้สินเชื่อของตัวเอง หรือที่เราเรียกว่า Financed Emissions 

 

โดยเป้าหมายการลดก๊าซคาร์บอนจะต้องครอบคลุมภาคธุรกิจ (Sectors) ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารที่เป็นต้นตอสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) การผลิตไฟฟ้า เหล็กกล้า และซีเมนต์ เป็นต้น 

 

ธนาคารไม่ใช่แค่จะลดก๊าซเรือนกระจกในสำนักงานของตัวเอง (Scope 1 และ 2) แต่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ (Scope 3)

 

พูดง่ายๆ คือ ธนาคารจะต้องเป็นคนไปพูดคุยกับลูกค้าธุรกิจของตัวเอง เพื่อผลักดันให้ลูกค้าปรับตัวและเปลี่ยนแปลงเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ให้ลูกค้าเริ่มจัดทำและดำเนินแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero (Net Zero Transition Plan) เราเรียกกระบวนการที่ธนาคารมีบทบาทในการชี้นำลูกค้านี้ว่า Client Engagement หรือ Client Stewardship

 

ขณะนี้ธนาคารสมาชิก NZBA หลายแห่งได้เริ่มประกาศเป้าหมายในการลด Financed Emissions ของตัวเองแล้ว ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายหลักจะเกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากภาคธุรกิจพลังงาน เพราะเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอน 

 

ตัวอย่างเช่น HSBC ซึ่งมีฐานลูกค้าหลักอยู่ในเอเชียและตะวันออกกลาง เพิ่งอัปเดตนโยบาย Energy Policy ของตัวเองเมื่อช่วงสิ้นปีที่แล้ว มีจุดมุ่งหมายที่จะจัดสรรเงินทุนเพื่อขับเคลื่อนภาคพลังงานให้เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ภายในปี 2050 โดยประกาศเลิกปล่อยสินเชื่อให้โครงการที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแหล่งใหม่ (New Oil & Gas Fields) นอกจากนี้ UOB ก็ประกาศคำมั่นสัญญาในลักษณะเดียวกัน 

 

ขณะที่ DBS ได้ประกาศ Net Zero Strategy ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสำคัญคือ การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมในฐานลูกค้าของธนาคารลงให้ได้ 28% ภายในปี 2030 (เทียบกับปีฐาน 2020) และ 92% ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นไปตามเส้นอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ขององค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA

 

บทบาทที่แข็งขันขึ้นของธนาคารในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของภาคพลังงานเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่า ทุกวันนี้โลกยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ในระดับสูง โดยถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของพลังงานทั้งหมด ดังนั้น การจะเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจโลกสู่ Net Zero จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากภาคพลังงานไม่เปลี่ยนผ่านจากพลังงานสกปรกที่ปล่อยคาร์บอนสูงไปสู่พลังงานสะอาดที่ไร้คาร์บอน

 

ธนาคารต่างมีลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจพลังงานปิโตรเลียมจำนวนมาก มูลค่าธุรกิจมหาศาล หากปล่อยไว้เฉยๆ ธนาคารจะต้องแบกรับความเสี่ยงจากกลุ่มธุรกิจพลังงานมากยิ่งขึ้น (Transition Risk) ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลทั่วโลกกำลังทยอยขึ้น ‘ราคาคาร์บอน’ เช่น การเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือ Carbon Tax ซึ่งจะมีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เป็นต้นทุนที่ธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงจะต้องแบกรับ 

 

นอกจากนี้ ธนาคารทั่วโลกยังถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากองค์กรภาคประชาสังคมและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ที่ได้เรียกร้องให้ธนาคารหยุดการให้สินเชื่อกับธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยคาร์บอนสูง 

 

อย่างไรก็ดี ทางออกของธนาคารไม่ใช่การตัดความสัมพันธ์และยกเลิกการให้สินเชื่อกับลูกค้าในกลุ่มปิโตรเลียมโดยทันที แต่ธนาคารจะต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการหารือและสนับสนุนให้ลูกค้าของตัวเองสามารถเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและ Net Zero ได้ในอนาคต 

 

เพราะโจทย์สำคัญของสังคมคือการทำให้ธุรกิจภาคพลังงานเดิมเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดได้จริงในระยะยาว โดยต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่คำนึงถึงความต้องการการใช้พลังงานของเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงาน โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียที่ยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่สูง การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจึงต้องค่อยเป็นค่อยไป โดยลดพลังงานจากถ่านหินและน้ำมันลง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะ Scale up พลังงานหมุนเวียนให้ได้เต็มที่ 

 

ธนาคารต่างๆ จึงเริ่มกำหนดให้ลูกค้าในกลุ่มพลังงานจะต้องจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านหรือ Transition Plan โดยธนาคารจะหารือกับลูกค้าและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการเปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด หากลูกค้ารายใดไม่ทำตามแผนอย่างจริงจัง ไม่ดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่โลกไร้คาร์บอน ธนาคารก็อาจจะเตือนและกระตุ้นให้ทำตามแผน และหากถึงที่สุดธนาคารก็อาจจะพิจารณายุติการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายนั้นได้ ถือเป็นทางออกสุดท้ายที่ไม่มีใครอยากเห็น

 

บทบาทของธนาคารในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจริงสู่ Net Zero ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ในภาคพลังงานเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการให้สินเชื่อเพื่อช่วยในภาคธุรกิจอื่นๆ เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ด้วย โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเข้มข้นสูง (Carbon-Intensive Sectors) เช่น ซีเมนต์ เหล็กกล้า การขนส่งทั้งทางรถ ทางเรือ ทางอากาศ การผลิตอาหารและเกษตร อสังหาริมทรัพย์ เคมีภัณฑ์ ฯลฯ 

 

กลยุทธ์สู่ Net Zero ของธนาคาร DBS และ UOB ได้กำหนดเป้าหมายการลดคาร์บอนของ Sector ต่างๆ ที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคารไว้อย่างชัดเจน โดยมีทั้งเป้าหมายระยะกลางสำหรับปี 2030 และเป้าหมายระยะไกลในปี 2050 ซึ่งเป็นเป้าการลดก๊าซที่อิงกับหลักวิทยาศาสตร์ และสอดคล้องกับเส้นอ้างอิง (Transition Pathways) ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดย Transition Pathways จะชี้ว่าธุรกิจในแต่ละ Sector จะต้องลดก๊าซคาร์บอนลงแค่ไหนในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้เดินไปสู่จุดหมายสูงสุดคือ Net Zero ในปี 2050 

 

ธนาคารจะกำหนดกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อที่จะช่วยให้ลูกค้าธุรกิจในแต่ละ Sector ลงทุนขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจแบบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือ Decarbonization Technology  

 

ธนาคารอาจปล่อยกู้ให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สร้างหรือปรับปรุงอาคารสำนักงานให้เป็นอาคารแบบ Zero Energy หรือ Positive Energy คือใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์หรือเป็นบวกตามมาตรฐานสากล หรือธนาคารอาจปล่อยกู้ให้อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ติดตั้งแผงโซลาร์บนอาคารโรงงานและเปลี่ยนเครื่องจักรในกระบวนการผลิตจากเครื่องที่ใช้พลังงานถ่านหินมาเป็นพลังงานก๊าซธรรมชาติที่สะอาดขึ้น หรือธนาคารอาจปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้อุตสาหกรรมเหล็กกล้า เปลี่ยนวิธีการผลิตจากแบบดั้งเดิมที่ใช้ Blast Furnace มาเป็นแบบ Green Steel โดยใช้ไฮโดรเจน หรือปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV และปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจติดตั้งแท่นชาร์จ EV เพิ่มเติม หรือปล่อยสินเชื่อให้บริษัทเดินเรือขนส่งสินค้าให้ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์บนเรือให้สามารถใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าน้ำมันดีเซล อาทิ แอมโมเนีย และ Biofuels เป็นต้น

 

ธนาคารบางแห่งเริ่มจัดตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมาเพื่อช่วยลูกค้าในการขับเคลื่อนสู่ Net Zero อาทิ Standard Chartered ตั้งทีม Transition Acceleration Team เพื่อช่วยแนะนำลูกค้าธุรกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงเป็นการเฉพาะ 

 

ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารชั้นนำแห่งหนึ่งเคยพูดไว้ว่า การขับเคลื่อน Net Zero เป็นโจทย์ที่ทั้งใหม่และทั้งยากสำหรับธนาคาร เพราะโดยเนื้อแท้มันคือการปฏิรูปทิศทางและแนวนโยบายการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าธุรกิจของธนาคารครั้งสำคัญ โดยนำเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกของลูกค้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณา 

 

แน่นอนว่าเรื่องนี้มีอุปสรรคความท้าทายมากมายที่ธนาคารจะต้องฝ่าฟัน ซึ่งผมมองว่าธนาคารจะดำเนินกลยุทธ์ Net Zero ให้สำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัย ‘บันได 5 ขั้น’ 

 

บันไดขั้นแรก คือ Commitment การส่งสัญญาณที่ชัดเจนจากซีอีโอของธนาคารหรือ Tone from the Top ทุกวันนี้เราเห็นซีอีโอ รวมถึงกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของธนาคารชั้นนำของโลกและภูมิภาคออกมาพูดเรื่อง Net Zero ในเวทีต่างๆ จนเป็นเรื่องธรรมดา เพื่อแสดงภาวะผู้นำ สื่อสารให้โลกรู้ว่าธนาคารจะทำเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero นี้อย่างจริงจังและทันที การเข้าร่วมเป็นสมาชิก NZBA เป็นหนึ่งในการส่งสัญญาณที่เป็นรูปธรรมที่ผู้นำธนาคารต่างๆ ควรทำ

 

บันไดขั้นที่สอง คือ Capacity Building การศึกษาหาความรู้และพัฒนาคน เพื่อยกระดับขีดความสามารถของธนาคารในด้าน Net Zero ตั้งแต่ระดับบอร์ดบริหาร ผู้บริหารระดับสูง ไปจนถึงทีมความเสี่ยง ทีม Relationship Managers และ Sector Experts ที่ดูแลลูกค้าธุรกิจในแต่ละกลุ่ม

 

เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ธนาคารจำเป็นต้องลงทุนในการสร้างและเพิ่มศักยภาพของทีมงานด้านความยั่งยืนของธนาคาร ธนาคารหลายแห่งได้แต่งตั้ง Chief Sustainability Officer (CSO) หรือขึ้นมาลุยเรื่องนี้ รวมทั้งตั้งทีมงานด้าน Climate Transition ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ธนาคารจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ทั้งเรื่องการจัดทำ Net Zero Transition Plan ต้องทำความเข้าใจถึงเทคโนโลยีการลดก๊าซคาร์บอน และ Decarbonisation Pathways ของภาคธุรกิจต่างๆ ต้องศึกษาแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศใน พ.ศ. 2564-2573 ให้ถ่องแท้

 

เพราะถ้าธนาคารไม่มีความรู้เรื่องเหล่านี้ ก็จะไม่สามารถช่วยลูกค้าในแต่ละ Sector เปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ได้ ทั้งนี้ แน่นอนว่าธนาคารสามารถใช้บริการบริษัทที่ปรึกษาหรือ Consultants เข้ามาช่วยในเรื่องนี้โดยเฉพาะในช่วงแรก แต่ในระยะยาวธนาคารหลีกเลี่ยงการลงทุนในทีมงาน In House ของตัวเองไม่ได้

 

สำนักงานภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ GFANZ (Glasgow Financial Alliance for Net Zero) กำลังทำงานเรื่อง Outreach และ Capacity Building กับสถาบันการเงินในภูมิภาค ซึ่งธนาคารในอาเซียนควรพูดคุยกับ GFANZ และใช้ประโยชน์จากโครงการในด้านนี้

 

บันไดขั้นที่สาม คือ Client Engagement & Stewardship หรือการคุยกับลูกค้า ลูกค้าธนาคารมีหลายกลุ่มหลายก้อน บางกลุ่มลูกค้าอาจตระหนักดีถึงเรื่อง Net Zero และได้ดำเนินการตั้งเป้าหมายการลดคาร์บอนมานานแล้ว บางกลุ่มลูกค้าอาจจะเพิ่งเริ่ม หรือบางกลุ่มอาจจะยังไม่มีความตระหนักสนใจในเรื่องนี้เลย หรือแม้แต่อาจมองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ

 

ธนาคารต้องคุยกับลูกค้ากลุ่มต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้รู้ว่าลูกค้ามีเป้าหมายและกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านสู่โลกไร้คาร์บอนหรือยัง ถ้ามีแล้ว เป็นแผนที่มีคุณภาพและทำได้จริงแค่ไหน ถ้ายังไม่มี ธนาคารต้องกระตุ้นให้ลูกค้าเริ่มทำ ชี้ให้ลูกค้าเห็นถึงความเสี่ยงต่อความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจที่ปรับตัวช้า รวมทั้งต้องพยายามเข้าใจถึงปัญหาอุปสรรคที่ลูกค้าต้องเจอในการลดก๊าซเรือนกระจก และโอกาสที่ธนาคารจะสามารถช่วยปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนลูกค้าในเรื่องนี้

 

ตัวอย่างหนึ่งคือธนาคาร Mizuho ซึ่งได้จัดทำกรอบการประเมินความน่าเชื่อถือ (Credibility) ของแผนการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ของลูกค้าธุรกิจ โดยกำหนดเกณฑ์และขั้นตอนการประเมินไว้ชัดเจน

 

บันไดขั้นที่สี่ คือ Data ธนาคารต้องลงทุนในการพัฒนาฐานข้อมูลด้าน Climate ทิศทางของโลกมีความชัดเจนว่าการเปิดเผยข้อมูลเรื่อง Financed Emission จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา (Norm) ที่สถาบันการเงินจะต้องรายงาน เหมือนกับที่รายงานตัวเลขทางการเงินใน Financial Statements ธนาคารจึงจำเป็นต้องพัฒนาฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก และต้องกระตุ้นให้ลูกค้าภาคธุรกิจของตัวเองลงทุนในเรื่องนี้เช่นกัน

 

ที่สำคัญ ธนาคารจำเป็นต้องมีข้อมูลชุดนี้เพื่อ Monitor ว่าลูกค้าธุรกิจแต่ละรายมีพัฒนาการในการลดก๊าซเรือนกระจกที่น่าพอใจแค่ไหน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อธนาคารทั้งในการประเมินความเสี่ยง (Transition Risk) และการตัดสินใจให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ

 

บันไดขั้นที่ห้า คือ Action ลงมือริเริ่มทำแผน Net Zero Transition Plan พร้อมกำหนดเป้าหมายการลด Financed Emissions ครอบคลุมภาคธุรกิจที่เป็นลูกค้าสำคัญของธนาคารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เหมือนกับที่ธนาคารชั้นนำได้เริ่มประกาศแผน Transition Plan หลายแห่ง 

 

ธนาคารไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจึงค่อยจัดทำแผน แต่สามารถริเริ่มทำได้เลยในภาคธุรกิจที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง อาจเริ่มจากการตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจพลังงานก่อนก็ได้ เพราะเป็น Sector ที่สำคัญที่สุดในเรื่องการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

 

อ่านมาถึงตรงนี้ นายแบงก์หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมธนาคารจะต้องมาแบกรับบทบาทหน้าที่ในการขับเคลื่อนการลดคาร์บอนในภาคธุรกิจด้วย ธนาคารน่าจะแค่ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความเสี่ยงและผลตอบแทนแบบที่เคยทำมาก็น่าจะเพียงพอแล้ว

 

ผมคิดว่านอกจากที่การกู้วิกฤตโลกร้อนมันถือเป็นวาระแห่งมวลมนุษยชาติที่ทุกองค์กรทุกภาคส่วนมีความรับผิดชอบร่วมกันแล้ว ยังมีปัจจัยหลายเรื่องที่กำลังผลักดันให้ธนาคารและภาคการเงินโดยรวมต้องทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีแรงกดดันจากกระแสโลก จากภาคประชาสังคม จากมาตรฐานและกฎเกณฑ์สากลที่กำลังทวีความเข้มข้นขึ้น ธนาคารในบ้านเราแม้จะมีฐานลูกค้าในประเทศเป็นหลัก แต่ก็จะได้สัมผัสถึงแรงผลักดันเหล่านี้ รวมทั้งมีแนวโน้มสูงที่ภาครัฐและผู้กำกับดูแลอย่าง ธปท. และ กลต. จะเพิ่มกฎระเบียบในเรื่องนี้ในอนาคต หากธนาคารใดปรับตัวช้าก็อาจจะ ‘ตกขบวน’ หรืออาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของธนาคารในสายตาของสาธารณชน 

 

แต่ที่สำคัญที่สุด การเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสู่โลกไร้คาร์บอน คือโอกาสในการลงทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของสถาบันการเงิน มันคือ Growth Area ใหม่ที่ธนาคารไม่ควรพลาดในการเข้ามาแสวงหากำไรจากการเปลี่ยนโลก

 

แน่นอนว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวในเรื่อง Net Zero ไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาคธนาคารเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัย Action จากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเศรษฐกิจจริงที่จะต้องตระหนักและทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งนโยบายและกฎระเบียบจากภาครัฐและผู้กำกับดูแล ที่จะต้องสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม สร้างภูมิทัศน์หรือระบบนิเวศทางการเงินแบบยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศ (เช่น การจัดทำ Taxonomy ที่ไทยกำลังดำเนินการ) และต้องเร่งพัฒนาแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนสำหรับภาคธุรกิจและภาคการเงิน ซึ่งผมจะเขียนถึงบทบาทของภาครัฐในโอกาสต่อไป

The post Banking for Net Zero: ธนาคารกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจไร้คาร์บอน appeared first on THE STANDARD.

]]>
Transition Finance for Net Zero: การเงินกู้วิกฤตโลกร้อน (ตอนที่ 1) https://thestandard.co/transition-finance-for-net-zero-ep1/ Tue, 15 Nov 2022 07:11:47 +0000 https://thestandard.co/?p=709238

ก่อนที่ผมจะเขียนถึงบทบาทที่สำคัญของภาคการเงินในการกู้วิ […]

The post Transition Finance for Net Zero: การเงินกู้วิกฤตโลกร้อน (ตอนที่ 1) appeared first on THE STANDARD.

]]>

ก่อนที่ผมจะเขียนถึงบทบาทที่สำคัญของภาคการเงินในการกู้วิกฤตโลกร้อน ผมอยากชวนให้ทุกคนลองจินตนาการถึงโลกในยุค Net Zero ซึ่งเราต้องการให้เกิดขึ้นจริงภายในอีก 30 กว่าปีข้างหน้า 

 

เราขับรถยนต์ EV ออกจากคอนโด หรือนั่งรถเมล์หรือวินมอเตอร์ไซด์ที่วิ่งด้วยแบตเตอร์รี่ไฟฟ้า ไปห้างสรรพสินค้าแถวบ้าน ตัวอาคารของห้างสร้างด้วยคอนกรีตและเหล็กกล้าที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบคาร์บอนต่ำ เหมือนกับตัวอาคารของคอนโดที่เราอาศัยอยู่ เราเดินเพลิดเพลินตากแอร์ในห้างที่ใช้ระบบปรับอากาศที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นห้างที่ติดตั้งแผงโซลาร์พลังงานแสงอาทิตย์บนดาดฟ้าเต็มพื้นที่ มีระบบเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารที่ทันสมัย และกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ห้างใช้มีต้นตอมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ไม่ได้มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ต หยิบปลากระป๋องทุกแบรนด์ขึ้นมาดูบนฉลากจะมีตรา Net Zero รับรองว่ากระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานของสินค้าปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ปลาทุกตัวจับมาโดยเรือประมงที่ใช้พลังงานสะอาด ไม่ใช่เครื่องยนต์ดีเซลแบบทุกวันนี้ และโรงงานแปรรูปปลาก็ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ปล่อยคาร์บอน แถมกระป๋องยังผลิตจากอลูมิเนียมรีไซเคิล 100% จากนั้นไปซื้อน้ำมันพืชก็มีตรารับรองมาตรฐานว่ามาจากการเพาะปลูกถั่วเหลืองหรือปาล์มน้ำมันแบบยั่งยืน ไร้การตัดไม้ทำลายป่า ก่อนไปซื้อข้าวสารที่มาจากการทำนาแบบไร้ก๊าซมีเทน  

 

ก่อนกลับเดินไปดูสินค้าเนื้อวัวปรากฏว่ามีตัวเลือกน้อยมากและมีราคาแพง เพราะการเลี้ยงวัวปล่อยก๊าซมีเทนสูงจากการผายลมของวัว รัฐเลยเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราที่สูง เลยเปลี่ยนใจเดินไปซื้อสินค้าโปรตีนจากพืช (plant based protein) ที่อร่อยและมีให้เลือกหลากหลายแทน 

 

ตอนชำระเงินด้วยแอพลิเคชั่นมือถือ ใบเสร็จบนหน้าจอนอกจากจะบอกยอดเงินที่ต้องจ่ายแล้ว ยังมีตัวเลข carbon footprint ของสินค้าทั้งหมดที่เราซื้อไปด้วย ซึ่งน่าจะเป็นศูนย์หรือเกือบจะศูนย์ 

 

หลังจากกลับบ้านมาพักสักหน่อย ตอนเย็นๆ เราออกเดินทางด้วยแท็กซี่ EV ไปสนามบิน ขึ้นเครื่องบินไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัว แต่ที่พิเศษคือเครื่องบินโดยสารของเราเป็น zero-carbon flight ไม่ได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลเหมือนทุกวันนี้ แต่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน 

 

เมื่อเราเริ่ม “เห็นภาพ” ของโลกยุค Net Zero เราจะเข้าใจว่าการเปลี่ยนผ่านจากโลกในวันนี้ไปสู่โลกในอนาคตที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ “ทั้งระบบ” ครั้งยิ่งใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีขอบเขตและ scale ที่มากกว่าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนหรือการเปลี่ยนมาใช้รถ EV เป็นการเปลี่ยนผ่านที่ทุกภาคส่วนต้อง “ปฏิวัติ” กระบวนการและเทคโนโลยีการผลิตสินค้าและบริการแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งภาคพลังงาน ภาคการขนส่ง ภาคเกษตรและประมง ภาคอุตสาหกรรม 

 

ผู้ประกอบการธุรกิจ เกษตรกร ผู้บริโภค และหน่วยงานรัฐ ไม่สามารถทำอะไรแบบเดิมๆ หรือ business as usual ได้อีกต่อไป 

 

ถ้าผู้ประกอบการรายใดยังรีรอชักช้า ไม่เร่งลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ธุรกิจจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนที่สูงจากมาตรการของรัฐทั้งในไทยและต่างประเทศ ลูกค้าจะไม่ยอมรับในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใส่ใจความยั่งยืน หันไปซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทอื่นที่เป็น low carbon แทน นักลงทุนและเจ้าหนี้อาจถอนทุนออกหรือคิดดอกเบี้ยแพง กลายเป็นต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นสำหรับธุรกิจ แถมยังสุ่มเสี่ยงที่จะเสี่ยมเสียชื่อเสียงของบริษัทอีกด้วย (reputational risk) 

 

ธุรกิจจึงต้องระลึกว่า การดำเนินงานด้าน climate นอกจากจะช่วยปกป้องโลกและอนาคตของลูกหลานแล้ว ยังเป็นการสร้าง competitiveness และลดความเสี่ยงของธุรกิจเองด้วย

 

การเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ที่ไร้คาร์บอน หรือ Net Zero transition เป็นโจทย์ที่สำคัญและ “หิน” ที่สุดของมนุษยชาติ 

 

มันยากเพราะเราต้องแสวงหา solutions โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกของทุกภาคส่วน โดยโลกยังต้องการเม็ดเงินลงทุนอีกมากในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมต่างๆ และเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน ซึ่งเทคโนโลยีจำนวนมากยังอยู่ในระยะเริ่มแรก (early-stage technology) ยังมีต้นทุนและความไม่แน่นอนสูงในเชิงผลตอบแทนการลงทุน ยังไม่สามารถ scale up เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ได้

 

มันยากเพราะว่าเราต้องทำงานแข่งกับเวลาที่มีจำกัด โดยโลกต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากประมาณ 50,000 ล้านตันต่อปีในปัจจุบันให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (Net Zero by 2050) หรืออาจจะช้ากว่านั้นบ้างสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น จีนและอินโดนีเซียตั้งเป้าให้บรรลุ Net Zero ในปี 2060 ไทยในปี 2065 อินเดียในปี 2070

 

เมื่อพูดถึงปี 2050 ฟังดูอาจทำให้เราชะล่าใจว่า ยังมีเวลาอีกตั้งนาน ร่วม 3 ทศวรรษ แต่ข้อเท็จจริงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ชัดว่า ถ้าเราจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 ได้ โลกจะต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 45% ภายในปี 2030 หรืออีกแค่ 8 ปีข้างหน้า (ประเทศไทยตั้งเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกไว้ที่ 40% ภายในปี 2030) 

 

ปี 2030 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในเส้นทางสู่ Net Zero by 2050 หากเราหวังจะวิ่งให้ถึงเส้นชัย Net Zero ได้ทันเวลาในอีก 30 กว่าปีข้างหน้า เราต้องเร่งฝีเท้าเพื่อ sprint ในช่วง 8 ปีข้างหน้า หากพลาดเป้าหมายระยะสั้นในปี 2030 เราจะล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ในช่วงกลางศตวรรษ 

 

การกู้วิกฤตโลกร้อนจึงต้องอาศัยม้าตีนต้นที่ต้องออกตัวแรงและเร็วตั้งแต่ตอนนี้ ไม่ใช่รอเป็นม้าตีนปลาย จะสายเกินแก้

 

สิ่งที่น่ากังวลคือ ปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกยังคงเพิ่มขึ้น ไม่ได้ลดลง และ “สัญญา” ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ไว้ในการลดการปล่อยก๊าซ มันยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายตามความตกลงปารีสที่ทั่วโลกยอมรับ

 

เกริ่นถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าภาคการเงินจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero หรือ Net Zero transition ได้อย่างไร

 

ผมต้องเน้นย้ำว่า Net Zero transition จะไม่มีทางสำเร็จได้ หากภาคการเงินไม่ร่วมเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการระดมจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเศรษฐกิจจริงทั้งระบบ

 

ที่ผ่านมา สถาบันการเงินอาจจะคิดถึงเรื่อง climate ในมิติความเสี่ยงเป็นหลัก กล่าวคือ สถาบันการเงินจะประเมินว่าลูกค้าธุรกิจในพอร์ตสินเชื่อหรือพอร์ตการลงทุนของตน ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะโลกร้อนในระดับไหน ทั้งความเสี่ยงต่อธุรกิจที่เกิดจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้น (physical risks) และความเสี่ยงที่เกิดจากนโยบายของรัฐ จากพฤติกรรมของตลาดและผู้บริโภค จากเทคโนโลยีที่จะมารองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero (transition risks) 

 

ที่ผ่านมา สถาบันการเงินอาจจะทำเรื่องการเงินสีเขียว (green finance) หรือ ESG ในลักษณะที่เป็น “อาหารว่าง” หรือ “น้ำจิ้ม” เช่น มีการปล่อยสินเชื่อในโครงการพลังงานสะอาดหรือรถยนต์ EV แต่การดำเนินงานด้านนี้ แม้จะเป็นเรื่องดี แต่มันไม่เพียงพอในการกู้วิกฤตโลกร้อน เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียวเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ มูลค่าไม่ถึง 10% ของระบบเศรษฐกิจโลกเท่านั้น

 

ภาคการเงินต้องมองบทบาทในเรื่อง climate ให้กว้างกว่าเดิม ไม่จำกัดแค่ green finance หรือ ESG สถาบันการเงินต้องหันมาให้ความสำคัญกับการลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ “สีน้ำตาล” ที่เป็นต้นตอหลักในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และภาคธุรกิจที่การลดก๊าซเรือนกระจกยังทำได้ยากและมีต้นทุนสูง เพราะเทคโนโลยียังไม่ได้รับการพัฒนาและขยายผลเชิงพาณิชย์ได้ในวงกว้าง (hard-to-abate sectors)

 

เราต้องพิจารณาดูว่าเราจะใช้ “พลัง” ของภาคการเงินในการผลักดันขับเคลื่อน Net Zero transition ในภาคเศรษฐกิจได้อย่างไร เพื่อเร่งส่งเสริมการเงินเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่โลกไร้คาร์บอนหรือ transition finance เร่งระดมและจัดสรรเงินทุนให้ภาคธุรกิจ ผ่านสินเชื่อ การลงทุน และ solutions ทางการเงินใหม่ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปขับเคลื่อนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

 

Transition finance for net zero จะต้องกลายเป็น “อาหารจานหลัก” ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์และการดำเนินงานของสถาบันการเงิน 

 

การเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุค Net Zero จะต้องใช้เงินทุนมหาศาล McKinsey ประเมินว่าโลกต้องใช้เม็ดเงินปีละ 9.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero แต่ปัจจุบันยังขาดเม็ดเงินตรงส่วนนี้อยู่ปีละกว่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 35%

 

Transition finance จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ ภาคการเงิน ทั้งระบบธนาคาร ตลาดเงินตลาดทุน จะต้องเร่งสร้างกลไกและระบบนิเวศน์ใหม่ในด้าน transition finance เพื่อกระตุ้นการจัดสรรเงินทุนไปช่วยให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ ไปลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงหรือเป็นศูนย์ ลงทุนในระบบการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงานและอาคารสำนักงาน ลงทุนในการเปลี่ยนผ่านจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไปสู่โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด

 

ข่าวดีคือ กระแสโลกกำลังผลักดันและกดดันให้ภาคการเงินเร่งขับเคลื่อน transition finance อย่างเข้มข้น องค์กรและเครือข่ายระหว่างประเทศ อาทิ G20 OECD และ Network for Greening the Financial System (NGFS) กำลังทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

 

GFANZ หรือ Glasgow Financial Alliance for Net Zero เป็นองค์กรเครือข่ายสถาบันการเงินระดับโลกที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในเรื่อง Net Zero โดยสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก GFANZ มากกว่า 550 องค์กรได้ร่วมกัน commit ต่อเป้าหมาย Net Zero by 2050 และในช่วงกลางปีที่ผ่าน GFANZ ได้จัดตั้งสำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียขึ้นที่สิงคโปร์ เพื่อที่จะขยายฐานสมาชิกและขับเคลื่อนการทำงานด้าน transition finance ในภูมิภาค 

 

GFANZ กำลังเร่งทำงานเพื่อให้สถาบันการเงินสามารถขับเคลื่อน transition finance ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดึงศักยภาพของภาคการเงินมาช่วยผลักดันให้เกิด impact ในภาคเศรษฐกิจจริง

 

ผมจะเขียนถึงเรื่องนี้ในตอนต่อไป แต่ขอเกริ่นไว้สั้นๆ ว่า ธนาคารจำเป็นต้องขับเคลื่อนงานอย่างน้อย 3 ด้าน 

 

หนึ่ง ตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับ Net Zero โดยอิงกับหลักวิทยาศาสตร์ สอง ธนาคารต้องจัดทำแผนการเปลี่ยนผ่านหรือ “Net Zero transition plan” ของตัวเอง ให้สอดคล้องกับ roadmap การลดก๊าซเรือนกระจกของโลกและประเทศไทย สาม ธนาคารต้องดำเนินกลยุทธ์ client stewardship ทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจแต่ละรายตั้งเป้าหมายการลดก๊าซ จัดทำและขับเคลื่อนแผน Net Zero transition plan ของธุรกิจเอง 

 

บทบาทของภาคการเงินในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจจริงสู่ Net Zero เป็นภารกิจที่ใหญ่หลวง เร่งด่วน และท้าทาย อย่าลืมว่า deadline ของการกู้วิกฤตโลกร้อนไม่ใช่ 2050 แต่คือ 2030 หรืออีกเพียง 8 ปีเท่านั้น โลกร้อนไม่ใช่ปัญหาระยะยาวอีกต่อไป เราไม่มีเวลาที่จะรีรอหรือทำงานแบบ “ค่อยเป็นค่อยไป” ได้ แต่เราต้องคิดว่าวิกฤตโลกร้อนคือปัญหาเร่งด่วน ต้องใช้ mindset เดียวกับตอนที่เราเคยต้องเร่งระดมพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อรับมือกับโควิดในเวลาเพียงปีสองปี

 

สิ่งที่โลกต้องการตอนนี้คือ climate leadership จากทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคการเงิน เราต้องการผู้นำที่พร้อมทุ่มสุดตัวหรือ “go all in” ผู้นำที่จะคิดที่จะทำอะไรใหม่ๆ และทำอะไรยากๆ ที่อาจจะดูเกินขอบเขตความรับผิดชอบและเกินขีดความสามารถของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการทำเพื่อโลกแล้ว ยังเป็นผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว 

 

ในตอนหน้า เราจะมาดูกันว่า ภาคการเงินจะต้องทำอย่างไร เพื่อปลดปล่อยพลังของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นตัวกระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจจริงเดินหน้าสู่ Net Zero อย่างเต็มรูปแบบ และควรจัดการกับอุปสรรคต่างๆ ในการขับเคลื่อน transition finance ได้อย่างไร

 

*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล

 

References:

  • GFANZ publications: 

The post Transition Finance for Net Zero: การเงินกู้วิกฤตโลกร้อน (ตอนที่ 1) appeared first on THE STANDARD.

]]>