Wealth – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 02 Jan 2025 13:13:48 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 เปิดอันดับ ‘สกุลเงินเอเชีย’ แข็งแกร่งและอ่อนแอที่สุดประจำปี 2024 พร้อมส่องแนวโน้ม ‘เงินบาท’ ในปี 2025 https://thestandard.co/asian-currencies-2024/ Thu, 02 Jan 2025 13:13:48 +0000 https://thestandard.co/?p=1026624

สรุปการเคลื่อนไหวของ 10 สกุลเงินเอเชียในปี 2024 พบว่า ‘ […]

The post เปิดอันดับ ‘สกุลเงินเอเชีย’ แข็งแกร่งและอ่อนแอที่สุดประจำปี 2024 พร้อมส่องแนวโน้ม ‘เงินบาท’ ในปี 2025 appeared first on THE STANDARD.

]]>

สรุปการเคลื่อนไหวของ 10 สกุลเงินเอเชียในปี 2024 พบว่า ‘วอนเกาหลีใต้’ คว้าตำแหน่งสกุลเงินที่อ่อนค่าที่สุดในเอเชีย ส่วนในอีกด้านหนึ่งพบว่า ‘ริงกิตมาเลเซีย’ คือสกุลเงินที่แข็งค่าเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย ขณะที่ ‘เงินบาท’ ในสิ้นปี 2024 เคลื่อนไหวแทบจะใกล้เคียงหรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงต้นปี ที่ระดับ 34 บาทกว่าๆ ต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะเผชิญกับความผันผวนอย่างมากก็ตาม

 

แรงกดดันทางการเมืองในประเทศที่รุนแรงขึ้นในช่วงปลายปีนับเป็นปัจจัยกดดันให้ ‘วอนเกาหลีใต้’ อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 15 ปี ในช่วงเดือนธันวาคม โดยหลุด 1,486 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ ท่ามกลางแรงเทขายหุ้นเกาหลีใต้ของนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ

 

ขณะที่ ‘ริงกิตมาเลเซีย’ กลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยน้ำหนักส่วนใหญ่อยู่ที่การคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปี 2025 ท่ามกลางความต้องการสินค้าส่งออกและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของมาเลเซีย

 

บาท ‘ขึ้นรถไฟเหาะ’ ผันผวนหนักในปี 2024

 

แม้ว่า ‘เงินบาท’ ในสิ้นปี 2024 เคลื่อนไหวแทบจะใกล้เคียงหรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงต้นปี ตามข้อมูลจาก investing.com แสดงให้เห็นว่า ในวันที่ 1 มกราคม 2024 บาทอยู่ที่ระดับราว 34.66 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดปีที่ 34.32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2024 นับว่าแข็งค่าขึ้น 0.98% ในช่วงเวลาดังกล่าว

 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้บาทปิดปีกลับมาแข็งค่าเป็นผลมาจากอานิสงส์ของราคาทองคำในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นทำนิวไฮหลายครั้งระหว่างปี 2567 ช่วยประคองให้เงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่

 

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมาเงินบาทเผชิญกับความผันผวนอย่างมาก ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยแสดงให้เห็นว่าเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในปี 2024 อยู่ที่ 32.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าสุดอยู่ที่ 37.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยความต่างห่างกันถึง 5.03 บาท สูงกว่าช่วงห่างในปี 2023 ที่ 4.67 บาท สะท้อนความผันผวนของการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่มากขึ้น

 

กราฟการเคลื่อนไหวของบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2024

 

SCB FM คาด กรอบปลายปีอยู่ที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

SCB FM มองว่าเงินบาทอาจยังอ่อนค่าต่อในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 แต่กลับมาแข็งค่าในช่วงครึ่งปีหลังจากหลายปัจจัย โดยมองกรอบปลายปีอยู่ที่ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

ปัจจัยดันบาท ‘อ่อนค่า’ ต่อในครึ่งแรกปี 2025 โดยอาจแตะ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 

  • US Exceptionalism: เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งแกร่งกว่าเศรษฐกิจหลักอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรป ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐจะยังแข็งค่า และเงินยูโรอาจยังอ่อนค่าต่อได้
  • Trade Protectionism: ความเป็นไปได้ที่การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะกดดันเงินภูมิภาคต่อเนื่อง โดยเฉพาะเงินหยวน ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ อาจใช้ Executive Orders เพื่อขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าได้เร็ว
  • Economic Fundamental: พื้นฐานเศรษฐกิจไทยและคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ยังอาจอ่อนแอ

 

ปัจจัยดันบาท ‘แข็งค่า’ ในครึ่งหลังปี 2025

 

  • การลดดอกเบี้ยของ Fed ทำให้ Treasury Yields และดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐปรับลดลงได้
  • รัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้น จากการลดภาษีและการใช้จ่ายที่มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอาจอ่อนค่าได้
  • การไหลกลับของเงินทุนเคลื่อนย้ายสู่ตลาดเกิดใหม่ (EM) รวมถึงตลาดเชียและไทย
  • ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มลดลงในปี 2025 ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยอาจสูงขึ้น
  • าคาทองคำอาจปรับสูงขึ้น สนับสนุนเงินบาทแข็ง

 

 

ภาพประกอบ: กันยกร กาญจนวิไล

The post เปิดอันดับ ‘สกุลเงินเอเชีย’ แข็งแกร่งและอ่อนแอที่สุดประจำปี 2024 พร้อมส่องแนวโน้ม ‘เงินบาท’ ในปี 2025 appeared first on THE STANDARD.

]]>
เทียบฟอร์มแอปหาคู่ชื่อดังอย่าง ‘CMB vs. Tinder’ https://thestandard.co/cmb-vs-tinder-info/ Thu, 02 Jan 2025 13:00:43 +0000 https://thestandard.co/?p=1026618

ในยุคปัจจุบันที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันในโล […]

The post เทียบฟอร์มแอปหาคู่ชื่อดังอย่าง ‘CMB vs. Tinder’ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ในยุคปัจจุบันที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันในโลกการทำงานก็เพิ่มสูงขึ้น การหาคู่หรือสร้างความสัมพันธ์ในชีวิตจริงจึงกลายเป็นเรื่องท้าทายของคนยุคนี้ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ความเหงาและความโดดเดี่ยวจึงเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลาง ทำให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกับผู้คนจากทุกที่ทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน อีกทั้งยังมาช่วยค้นหาผู้คนที่มีความสนใจหรือเป้าหมายชีวิตที่สอดคล้องกันได้ง่ายขึ้น

 

แอปพลิเคชันหาคู่อย่าง ‘Coffee Meets Bagel (CMB)’ และ ‘Tinder’ จึงได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การพบปะผู้คนใหม่ๆ เป็นเรื่องง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดย CMB โดดเด่นในด้านการหาคู่แบบจริงจัง (Serious Dating) แต่ Tinder เน้นความเป็นกันเองและความสัมพันธ์ในรูปแบบที่หลากหลายกว่า ซึ่งทั้งสองแพลตฟอร์มต่างก็มีจุดเด่นที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในยุคที่เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

 

THE STANDARD WEALTH จะพาไปเทียบฟอร์มแอปที่โดดเด่นด้านการสานความสัมพันธ์อย่าง ‘CMB vs. Tinder’ กัน

 

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

The post เทียบฟอร์มแอปหาคู่ชื่อดังอย่าง ‘CMB vs. Tinder’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ชมคลิป: เริ่มนับหนึ่งลงทุนหุ้นอเมริกา มีอะไรต้องรู้บ้าง! I NEW GEN INVESTOR (HL) https://thestandard.co/new-gen-investor-ep-35-1/ Thu, 02 Jan 2025 11:00:43 +0000 https://thestandard.co/?p=1026082 new-gen-investor-ep-35-1

ก้าวแรกสู่การลงทุนในตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก! เรียนรู […]

The post ชมคลิป: เริ่มนับหนึ่งลงทุนหุ้นอเมริกา มีอะไรต้องรู้บ้าง! I NEW GEN INVESTOR (HL) appeared first on THE STANDARD.

]]>
new-gen-investor-ep-35-1

ก้าวแรกสู่การลงทุนในตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก! เรียนรู้ทุกสิ่งที่คุณควรรู้ก่อนเริ่มลงทุนหุ้นอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์หุ้น การจัดพอร์ตการลงทุน หรือปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดหุ้น เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน กรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มาปูพื้นฐานการลงทุนหุ้นสหรัฐฯ กัน

 

รับชมคลิปเต็มๆ ได้ที่:

‘ลงทุนหุ้นอเมริกา’ สำหรับมือใหม่ เลือกยังไงให้พอร์ตโต | NEW GEN INVESTOR EP.35

 

ติดตามรายการ NEW GEN INVESTOR ได้ทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 น. ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD WEALTH

 

The post ชมคลิป: เริ่มนับหนึ่งลงทุนหุ้นอเมริกา มีอะไรต้องรู้บ้าง! I NEW GEN INVESTOR (HL) appeared first on THE STANDARD.

]]>
Geoffrey Hinton เจ้าพ่อแห่ง AI สนับสนุน Elon Musk ฟ้องร้อง OpenAI เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทแสวงหากำไร https://thestandard.co/geoffrey-hinton-supports-elon-musk-suing-openai-profit-status/ Thu, 02 Jan 2025 10:50:35 +0000 https://thestandard.co/?p=1026568 geoffrey-hinton-supports-elon-musk-suing-openai-profit-status

Geoffrey Hinton ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าพ่อแห่ง […]

The post Geoffrey Hinton เจ้าพ่อแห่ง AI สนับสนุน Elon Musk ฟ้องร้อง OpenAI เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทแสวงหากำไร appeared first on THE STANDARD.

]]>
geoffrey-hinton-supports-elon-musk-suing-openai-profit-status

Geoffrey Hinton ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าพ่อแห่งวงการ AI’ ออกมาประกาศสนับสนุน Elon Musk ฟ้องร้อง OpenAI ไม่ให้เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทแสวงหาผลกำไร

 

Hinton ออกแถลงการณ์ผ่าน Encode ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนและเฝ้าระวัง AI เพื่อเยาวชน โดยระบุว่า OpenAI ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นความปลอดภัยของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยเฉพาะ และมีธรรมนูญสัญญาระบุไว้อย่างชัดเจน และบริษัทยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ มากมายจากการมีสถานะเป็นบริษัทไม่แสวงหากำไร (Non-Profit) หากปล่อยให้ OpenAI ทำลายสิทธิประโยชน์ทั้งหมดและยอมให้ฉีกข้อกำหนดนี้ ย่อมส่งผลลบต่อภาพรวมในวงการ

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

Adam Billen รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะของ Encode กล่าวกับ Business Insider ว่า “นับตั้งแต่วันก่อตั้ง ภารกิจหลักของ OpenAI คือการควบคุมเทคโนโลยีภายใต้องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ต้องรับผิดชอบต่อสาธารณะ

 

“ดังนั้นการตัดสินใจละทิ้งภารกิจดังกล่าวเพื่อแสวงหากำไร จึงเป็นการสะท้อนว่าเหตุใดการมีส่วนร่วมของสาธารณะจึงมีความจำเป็นในการกำหนดอนาคตของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คน”

 

สำหรับ OpenAI ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 โดยผู้ร่วมก่อตั้ง Sam Altman และ Elon Musk ในฐานะองค์กรไม่แสวงหากำไร แต่ในปี 2019 OpenAI เปลี่ยนโครงสร้างเป็นการแสวงหากำไรแบบจำกัด (Capped-Profit) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการระดมทุน กระทั่งล่าสุด OpenAI อยู่ระหว่างพิจารณาเปลี่ยนโครงสร้างเป็นบริษัทแสวงหากำไร โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถระดมทุนได้มากขึ้น

 

หลังจากนั้น Elon Musk ที่แยกตัวจาก OpenAI ในปี 2018 ยื่นฟ้องเพื่อคัดค้านการเปลี่ยนโครงสร้างดังกล่าว โดยกล่าวหาว่า OpenAI ไม่ยึดมั่นในเป้าหมายความปลอดภัย และให้ความสำคัญกับผลกำไรมากเกินไป

 

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ทางกฎหมายครั้งนี้สะท้อนถึงความขัดแย้งในวงการ AI ระหว่างผลประโยชน์เชิงพาณิชย์และการรักษาความปลอดภัยเพื่อสังคม จึงต้องติดตามต่อไปว่าจะมีบทสรุปอย่างไร

 

ภาพ: Sopa images, Ramsey Cardy / Getty Images

 

อ้างอิง: 

 

The post Geoffrey Hinton เจ้าพ่อแห่ง AI สนับสนุน Elon Musk ฟ้องร้อง OpenAI เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทแสวงหากำไร appeared first on THE STANDARD.

]]>
TDRI เตือนรัฐบาลไทย หยุดเน้นมาตรการระยะสั้น ต้องเก็บกระสุนเงินงบประมาณไว้รับมือความไม่แน่นอนในปี 2568 https://thestandard.co/tdri-warns-thai-government-budget-2025/ Thu, 02 Jan 2025 10:23:12 +0000 https://thestandard.co/?p=1026542 tdri-warns-thai-government-budget-2025

นักเศรษฐศาสตร์ TDRI ชี้ เศรษฐกิจปี 2568 ‘ปีงูเล็ก’ เศรษ […]

The post TDRI เตือนรัฐบาลไทย หยุดเน้นมาตรการระยะสั้น ต้องเก็บกระสุนเงินงบประมาณไว้รับมือความไม่แน่นอนในปี 2568 appeared first on THE STANDARD.

]]>
tdri-warns-thai-government-budget-2025

นักเศรษฐศาสตร์ TDRI ชี้ เศรษฐกิจปี 2568 ‘ปีงูเล็ก’ เศรษฐกิจโลกจ่อปั่นป่วน เหตุเพราะสหรัฐฯ อาจเปิดสงครามการค้า ตั้งกำแพงภาษี ห่วงไทยโดนด้วย หวั่นสินค้าจีนทะลัก ทุบราคาหลายตลาด แนะรัฐบาลให้ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าเน้นมาตรการระยะสั้น ควรเตรียม ‘กระสุน’ เงินงบประมาณไว้รับมือความไม่แน่นอน 

 

วันนี้ (2 มกราคม) ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2568 ว่า ปีนี้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลก หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมเข้ารับตำแหน่งเป็นครั้งที่ 2 พร้อมแนะรัฐบาลไทยให้ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ อย่าเน้นมาตรการระยะสั้น พร้อมเตรียมกระสุนรับมือกับความไม่แน่นอน 

 

“เมื่อมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นในโลกมากมาย สิ่งรัฐบาลจะต้องมีคือ ‘กระสุน’ หรือเงินงบประมาณ เพราะหากมีวิกฤตอะไรเกิดขึ้น เช่น ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด จะต้องมีงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการช่วยเหลือประชาชน” ดร.กิริฎา ระบุ

 

ดร.กิริฎา อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะเพ่งเล็งไปที่ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ซึ่งในปี 2567 ไทยเป็นประเทศในอันดับที่ 12 ที่สหรัฐฯ ขาดดุลด้วย โดยวิธีการลดขาดดุลของสหรัฐฯ มี 2 วิธี คือ การขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากประเทศไทย และอาจมีการเจรจาขอให้ไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น 

 

“สหรัฐฯ ต้องการขายสินค้าเกษตรให้กับไทยมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหมู แต่ที่ผ่านมาไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เพราะมีสารเร่งเนื้อแดงเกินมาตรฐานที่ไทยกำหนด ดังนั้นไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกบีบให้เปิดการนำเข้าเนื้อหมูและสินค้าเกษตรอื่นๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลกับผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทย” ดร.กิริฎา ระบุ

 

ขณะเดียวกันสินค้าจากจีนที่ถูกกำแพงภาษีสหรัฐฯ กีดกันจะทะลักเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจในประเทศอย่าง เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี พลาสติก และสิ่งทอ แต่จะเป็นผลดีกับธุรกิจที่นำเข้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือเครื่องจักรจากจีน ที่นำไปต่อยอดผลิตสินค้าและบริการของตนเอง

 

America First อาจนำไปสู่ความตึงเครียดช่องแคบไต้หวัน

 

ดร.กิริฎา ระบุด้วยว่า แนวนโยบายอเมริกามาก่อน (America First) อาจส่งผลให้สหรัฐฯ ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ซึ่งสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันอาจเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อค่าระวางเรือขนส่งสินค้าจากญี่ปุ่นและจีนมาไทยแพงขึ้น 

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง บริษัทในไต้หวันหลายแห่งเริ่มกังวลต่อความเสี่ยง จึงโยกย้ายธุรกิจจากไต้หวันและจีนมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น 

 

โดยตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า มีบริษัทต่างชาติหลายประเทศเข้ามาขอลงทุนในไทยผ่าน BOI เนื่องจากมองว่าไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะวางตัวเป็นกลาง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด เรื่องนี้จึงถือเป็นปัจจัยบวกกับเศรษฐกิจของประเทศ 

 

แต่ก็มีความเสี่ยงว่าหากบริษัทจีนย้ายโรงงานมาไทยเพื่อส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ จำนวนมาก ก็อาจทำให้ถูกสหรัฐฯ เพ่งเล็งและกีดกันการนำเข้า เนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าของบริษัทจีนได้

 

ความเสี่ยงที่แทบจะไม่มีด้านบวกเลย

 

ดร.กิริฎา ระบุว่า แม้เหรียญจะมีสองด้าน แต่ความเสี่ยงที่แทบจะไม่มีด้านบวกเลยคือปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งท่าทีของทรัมป์สนับสนุนอิสราเอล ดังนั้นความตึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านจะอยู่ต่อไป โดยหากเกิดความไม่สงบขึ้นอาจจะส่งผลให้มีการปิดช่องแคบฮอร์มุซที่เป็นเส้นทางขนส่งน้ำมัน ก็จะกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลก 

 

“ปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะค่อนข้างผันผวน จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะว่ามีความเสี่ยงมากและมีความไม่แน่นอนหลายอย่าง ซึ่งถ้าเราตระหนักและรับทราบปัจจัยต่างๆ ทางภูมิรัฐศาสตร์ ก็จะทำให้ไทยเตรียมตัวเพื่อรับมือได้” ดร.กิริฎา ระบุ  

 

คาด กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% เงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 68

 

ดร.กิริฎา ยังมองด้วยว่า เรื่องค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลสำคัญกับระบบเศรษฐกิจโลก โดยหากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้า จะทำให้ต้นทุนการผลิตของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายเพียง 2 ครั้ง หรือ 0.5% จากเดิมที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่าตลอดทั้งปีจะลดถึง 4 ครั้ง หรือ 1%

 

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะลดลง 0.25% ในปีนี้ ส่วนค่าเงินบาทนั้นประมาณการว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ และจะผันผวนระหว่างปี ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงของไทย เนื่องจากไทยพึ่งพาการส่งออกและนำเข้ามาก 

ภาพ: J Studios / Getty Images

The post TDRI เตือนรัฐบาลไทย หยุดเน้นมาตรการระยะสั้น ต้องเก็บกระสุนเงินงบประมาณไว้รับมือความไม่แน่นอนในปี 2568 appeared first on THE STANDARD.

]]>
Starbucks ญี่ปุ่น นำร่องเลิกใช้หลอดกระดาษ เปลี่ยนมาใช้หลอดจากพืช พร้อมดีไซน์ทนทานและสัมผัสเรียบลื่น https://thestandard.co/starbucks-japan-plant-based-straws-2025/ Thu, 02 Jan 2025 10:17:30 +0000 https://thestandard.co/?p=1026538 starbucks-japan-plant-based-straws-2025

Starbucks ญี่ปุ่น นำร่องเปลี่ยนมาใช้หลอดที่ผลิตจากพืชแท […]

The post Starbucks ญี่ปุ่น นำร่องเลิกใช้หลอดกระดาษ เปลี่ยนมาใช้หลอดจากพืช พร้อมดีไซน์ทนทานและสัมผัสเรียบลื่น appeared first on THE STANDARD.

]]>
starbucks-japan-plant-based-straws-2025

Starbucks ญี่ปุ่น นำร่องเปลี่ยนมาใช้หลอดที่ผลิตจากพืชแทนหลอดกระดาษ ชูดีไซน์ทนทานและสัมผัสเรียบลื่น มาในโทนสีเขียวเข้มอันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ตอกย้ำพันธกิจมุ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

ย้อนไปในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา Starbucks ในญี่ปุ่นประกาศเลิกใช้หลอดกระดาษ เพื่อเปลี่ยนไปใช้หลอดชีวมวลจากพืช โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

สำหรับหลอดที่ผลิตจากพืชออกแบบมาให้ใช้งานทนทาน แข็งแรงกว่าหลอดกระดาษที่เคยใช้ และสามารถย่อยสลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ โดยหลอดมาในโทนสีเขียวเข้มตามเครื่องหมายการค้าของ Starbucks 

 

Takafumi Minaguchi ซีอีโอของ Starbucks Coffee Japan กล่าวว่า เรามุ่งส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืน แน่นอนว่าการใช้หลอดที่ทำจากไบโอโพลีเมอร์นั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าหลอดกระดาษที่ Starbucks ใช้ในปัจจุบัน และยังช่วยลดน้ำหนักของหลอดที่ทิ้งจากร้านกาแฟให้เหลือครึ่งหนึ่งได้อีกด้วย

 

ปัจจุบันประเดิมใช้ในสาขาทั้งหมด 32 แห่งในจังหวัดโอกินาวา หลังจากนั้นก็จะกระจายไปทั่วประเทศ ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของแบรนด์ที่มีเป้าหมายลดขยะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030

 

อย่างไรก็ตาม การใช้หลอดที่ผลิตจากพืชไม่ได้มีแค่ Starbucks เท่านั้น แต่ยังมีแบรนด์ร้านอาหารอย่าง McDonald’s และร้านอาหารในเครือ Skylark Holdings ก็เริ่มนำหลอดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้แทนหลอดพลาสติกด้วยเช่นกัน

 

ภาพ: JARIRIYAWAT / Shutterstock 

 

อ้างอิง:

 

The post Starbucks ญี่ปุ่น นำร่องเลิกใช้หลอดกระดาษ เปลี่ยนมาใช้หลอดจากพืช พร้อมดีไซน์ทนทานและสัมผัสเรียบลื่น appeared first on THE STANDARD.

]]>
หุ้นไทยเปิดเทรดวันแรกของปี 2568 ดิ่งกว่า 20 จุด หวั่น LTF ถล่มขาย 2.3 แสนล้าน ด้าน DELTA ผวา โดนเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติเพิ่ม ฉุด SET Index ร่วง 12 จุด https://thestandard.co/thai-stocks-fall-20-points-2568/ Thu, 02 Jan 2025 09:51:42 +0000 https://thestandard.co/?p=1026526

SET Index เปิดการซื้อ-ขายวันแรกของปี 2568 ในวันที่ 2 มก […]

The post หุ้นไทยเปิดเทรดวันแรกของปี 2568 ดิ่งกว่า 20 จุด หวั่น LTF ถล่มขาย 2.3 แสนล้าน ด้าน DELTA ผวา โดนเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติเพิ่ม ฉุด SET Index ร่วง 12 จุด appeared first on THE STANDARD.

]]>

SET Index เปิดการซื้อ-ขายวันแรกของปี 2568 ในวันที่ 2 มกราคม ปรับตัวดิ่งลงกว่า 20 จุด มาจากหลายปัจจัยลบที่กดดัน ทั้งประเด็นในประเทศจากความกังวลว่า GDP ในปีนี้อาจมีข้อจำกัดในการขยายตัว และการเข้าสู่ยุค Trump 2.0 จะมีผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะโดนแรงถล่มขายจากกองทุน LTF ที่ครบอายุในช่วงต้นปีนี้

 

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส ระบุว่า ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index เดือนมกราคม 2568 ไว้ที่ 1,360-1,440 จุด ส่วนปัจจัยในประเทศ แม้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตช้ากว่าเพื่อนบ้าน แต่ก็มีแนวโน้มเติบโตตามแต่ละส่วนประกอบของ GDP หลักๆ ตามความคาดหวังการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบของรัฐบาลไทย เช่น Easy e-Receipt และแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 

 

อย่างไรก็ดี ในระยะถัดไปการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจำกัดจากหนี้สาธารณะต่อ GDP เริ่มปริ่มเพดาน 70% 

 

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งทิศทางนโยบายการค้าโลกและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ 

 

อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐบาลไทยที่พยายามเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่างๆ น่าจะหนุนให้เศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.7% ในปี 2567 และ 2.9% ในปี 2568 ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ทั้งนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.4% ในปี 2567 และ 1.1% ในปี 2568

 

ด้านสำนักวิจัยและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ ออกมาประกาศและปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6% ดังนั้น GDP ในไตรมาส 4/67 ต้องเติบโตอย่างน้อย 3.5%YoY ถึงจะโตเท่าประมาณการที่ตั้งไว้ 2.6% ซึ่งถือว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ขณะที่ประมาณการ GDP ปี 2567 ที่สูงกว่านี้ในช่วงก่อนหน้ามาจากหลายสาเหตุกดดัน ทั้งการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนสูงและการเข้มงวดต่อการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน

 

ขณะที่ปีหน้าค่าเฉลี่ยของตัวเลขคาดการณ์ GDP ไทยของสำนักเศรษฐกิจต่างๆ อยู่ที่ 2.9%YoY ในปีหน้า ซึ่งยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้จากการเพิ่มขึ้นของแรงสนับสนุนจากรายจ่ายภาครัฐ การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชน การท่องเที่ยวและบริโภคที่จ่อฟื้นตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว

 

ส่วนมุมมองของฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส มองว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดดอกเบี้ยสัก 1 ครั้งราว 0.25% แต่น่าจะทิ้งช่วงไปเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 หรือกลางปี 2568 ซึ่งหากมีการลดดอกเบี้ยสัก 1 ครั้ง จะสามารถขยับดัชนีเป้าหมายขึ้นราว 70 จุด

 

จับตา LTF ถล่มขายหุ้นไทย 2.3 แสนล้านบาท

 

ส่วนในมุม Fund Flow ต้นปี 2568 ตลาดหุ้นอาจเผชิญแรงกดดันจากเม็ดเงิน LTF ที่พร้อมขายได้สูงขึ้นเป็น 2.3 แสนล้านบาท สูงกว่าต้นปีก่อนที่ 1.6 แสนล้านบาทราว 43% โดยคาดว่าจะเห็นแรงขายออกมาในเดือนมกราคม 2568 เป็น 1.5-2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเดือนมกราคมของปีอื่นๆ 

 

ขณะที่แรงซื้อกองทุน ThaiESG อาจชดเชยได้ไม่พอส่วนเม็ดเงินต่างชาติ มีโอกาสชะลอช่วงสั้นๆ เนื่องจากนักลงทุนอยู่ในช่วงรอดูนโยบาย Trump 2.0 และหากเทียบเคียงกับยุค Trump 1.0 ปี 2561 ที่มีประเด็นสงครามการค้า เป็นปีที่ต่างชาติขายหุ้นไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2.87 แสนล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากการทยอยปรับลดกำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2568 ที่ Bloomberg ประเมินไว้ที่ 98.5 บาทต่อหุ้น เทียบเท่ากำไร 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี เฉลี่ยต่อไตรมาสราว 3 แสนล้านบาท ถือว่าเกิดขึ้นได้ยาก เพราะสูงกว่ากำไรระดับปกติไตรมาสละ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะสร้างความผันผวนได้

 

อย่างไรก็ตาม SET ย่อตัวลงมาอาจมีจังหวะรีบาวด์ได้บ้างจากความคาดหวังการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนงวดไตรมาส 4/67 ที่น่าจะเติบโตทั้งเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) และช่วงเดียวกันของปีก่อน YoY จากฐานที่ต่ำ โดยงวดไตรมาส 2/66 อยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท และกำไรงวดไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท

 

สำหรับในมุม Valuation เบื้องต้นฝ่ายวิจัยฯ ประเมินเป้าหมาย SET Index ที่ 1,490-1,600 จุด บนคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ปี 2568 จาก Bloomberg Consensus ที่ 98.5 บาทต่อหุ้น ซึ่งอาจมี Downside ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ที่มักถูกปรับลงเฉลี่ย 5.8 บาทต่อหุ้น จึงทำ Sensitivity อ้างอิง P/E ที่ 16.5 เท่า จะได้เป้าหมายดัชนีฯ ในปี 2568 

 

คาด Trump 2.0 ฉุด GDP โลก 0.4-0.6% 

 

นอกจากนี้ประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงการเมืองโลก Trump 2.0 เป็นเรื่องที่นักลงทุนให้น้ำหนักมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศเสี่ยงแพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่ใช่แค่จีนประเทศเดียว โดยคาดว่าสหรัฐฯ จะเริ่มปรับขึ้นภาษีนำเข้าในช่วงไตรมาส 3/68 เป็นต้นไป กดดัน GDP โลกปี 2568 หดตัว 0.4-0.6% 

 

DELTA ดิ่งหนัก หวั่น พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม ฉุดกำไร

 

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า SET Index ภาคเช้าวันนี้ (2 มกราคม) ปรับตัวลง ปิดที่ 1,381.25 ลบไป 18.96 จุด หรือติดลบไป 1.35% โดยแรงกดดันมาจากหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มสื่อสาร กลุ่มประกัน รวมถึงหุ้น CPAXT และ PTT

 

อีกทั้งยังมีความกังวล หลังบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีการดำเนินธุรกิจข้ามชาติยังคงมีแนวโน้มเผชิญกับแรงกดดันจากความกังวลต่อกำไรสุทธิในปี 2568 ท่ามกลางอัตราภาษีที่แท้จริงของบางบริษัทที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องมาจาก พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 ที่เริ่มระยะเวลาบัญชีหลังวันที่ 1 มกราคม 2568 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับแก่กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ (MNEs) ขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในไทย ที่มีรายได้ตามงบการเงินรวมของบริษัทแม่ลำดับสูงสุดไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร หรือ 2.6 หมื่นล้านบาท

 

โดยให้เสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลกในอัตราไม่ต่ำกว่า 15% เช่น DELTA ที่เช้านี้ปรับตัวลงไป 7.87% กระทบ SET Index ทางลบ 12 จุด ซึ่งทางฝ่ายได้ปรับลดคาดการณ์กำไรปี 2568 ลง 6.2% จากประเด็นภาษีข้างต้น ประกอบกับ SET Index ยังถูกกดดันจากความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลัง PMI ภาคการผลิตเดือนธันวาคม 2567 ของจีนจากภาครัฐและ Caixin ต่างบ่งชี้ถึงตัวเลขที่แย่ลงจากเดือนก่อนหน้า และกำลังเข้าใกล้ระดับหดตัวหรือต่ำกว่า 50 ด้านปัจจัยติดตามวันนี้ ได้แก่ 

 

  1. PMI ภาคการผลิตเดือนธันวาคม 2567 ของยูโรโซนและสหรัฐฯ ตลาดคาดการณ์ที่ 45.2 และ 48.3 จากเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ 45.2 และ 49.7 ตามลำดับ

 

  1. ผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐฯ ตลาดคาดการณ์ที่ 2.22 แสนตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจาก 2.19 แสนตำแหน่งในการรายงานสัปดาห์ก่อนหน้า

The post หุ้นไทยเปิดเทรดวันแรกของปี 2568 ดิ่งกว่า 20 จุด หวั่น LTF ถล่มขาย 2.3 แสนล้าน ด้าน DELTA ผวา โดนเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติเพิ่ม ฉุด SET Index ร่วง 12 จุด appeared first on THE STANDARD.

]]>
Thailand is not enough! เมื่อซีอีโอ Wisesight ชี้ชัด ‘โซเชียลมีเดีย 2025’ ต้องทะลุกรอบความเป็นไทย https://thestandard.co/wealth-in-dept-wisesight-ceo-social-media-2025-global-vision/ Thu, 02 Jan 2025 07:37:13 +0000 https://thestandard.co/?p=1026489 wisesight-ceo-social-media-2025-global-vision

โลกโซเชียลมีเดียในปี 2025 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? คำถาม […]

The post Thailand is not enough! เมื่อซีอีโอ Wisesight ชี้ชัด ‘โซเชียลมีเดีย 2025’ ต้องทะลุกรอบความเป็นไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>
wisesight-ceo-social-media-2025-global-vision

โลกโซเชียลมีเดียในปี 2025 จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? คำถามนี้อาจดูเรียบง่าย แต่คำตอบกลับซับซ้อนและท้าทายนักการตลาดทั่วโลก ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวกระโดดและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นที่จะกำหนดอนาคตของแบรนด์และธุรกิจ

 

แล้วอะไรคือกุญแจสำคัญที่จะแยก ‘ผู้อยู่รอด’ ออกจาก ‘ผู้นำตลาด’ ในยุคที่การแข่งขันดุเดือดขึ้นทุกวัน? คำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่การมีงบประมาณมหาศาลหรือทีมงานขนาดใหญ่ แต่อยู่ที่ความเข้าใจในพลวัตของโซเชียลมีเดียที่กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการหลอมรวมระหว่างสื่อ การค้า และประสบการณ์ผู้ใช้ ที่จะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ในขณะที่หลายคนมองว่าปี 2025 จะเป็นปีแห่งความท้าทาย แต่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย นี่คือปีแห่งโอกาสครั้งสำคัญที่จะปฏิวัติวงการการตลาดดิจิทัลไปอีกขั้น แต่โอกาสเหล่านั้นคืออะไร? และใครจะเป็นผู้คว้ามันไว้ได้สำเร็จ?

 

กลายเป็นที่มาที่ THE STANDARD WEALTH พูดคุยกับ กล้า ตั้งสุวรรณ CEO และ Co-founder Wisesight (Thailand) ที่ได้ออกมาคาดการณ์ถึงเทรนด์ในโลกโซเชียลมีเดียในปี 2025 ที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน

 

‘สื่อ’ และ ‘สังคม’ ในโลกเดียวกัน

 

‘สื่อ’ และ ‘สังคม’ ในโลกเดียวกัน

 

ในมุมหนึ่งที่นักการตลาดควรต้องรู้คือพฤติกรรมการเสพสื่อของคนในสังคมจะเปลี่ยนไปมากกว่าที่เคย ความนิยมของสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ และโซเชียลมีเดียจะกลายมาเป็นสื่อกระแสหลักสำหรับพวกเขาโดยปริยาย

 

เพราะนี่คือโลกอีกใบที่กลายเป็น ‘สื่อ’ และ ‘สังคม’ ในโลกเดียวกัน แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียคือพื้นที่สำหรับเชื่อมต่อ สร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว และสังคมเสมือนในโลกออนไลน์ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่รับข่าวสารและในบางโอกาสก็อาจเป็นผู้ส่งสารด้วย เราจึงเห็นว่าใครๆ ก็เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์หรือผู้มีอิทธิพลต่อความคิดผู้อื่นได้ไม่ยาก

 

“กระแสการดังชั่ววูบของอินฟลูเอ็นเซอร์ในโซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจน จากคนธรรมดาทั่วไป ทำอะไรบางอย่างแล้วโพสต์ลงใน TikTok รู้ตัวอีกทีคนนั้นกลายเป็นเน็ตไอดอล โด่งดังชั่วข้ามคืน กลายเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ โดยที่เจ้าตัวก็ตั้งรับกับความดังนี้ไม่ถูก โซเชียลมีเดียจึงอาจเป็นเครื่องมือของคนที่อยากสร้างกระแส ถูกหรือผิดไม่มีใครบอกได้ แต่เร็วและดัง” กล้ากล่าว

 

ถึงกระนั้นผู้คนยังคงถวิลหาคอนเทนต์ที่ลึกซึ้ง น่าเชื่อถือ อัดแน่นไปด้วยความรู้ และน่าติดตาม เช่น รายการ 8 Minute History โดย ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ทางช่อง THE STANDARD PODCAST รายการพอดแคสต์ประวัติศาสตร์ เล่าให้ง่ายภายใน 8 นาที ย่อยเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่สุดแสนจะ Academic และเราอาจไม่เคยคาดคิดว่าจะสนใจ ให้เข้าใจง่าย เติมความรู้ได้ภายใน 8 นาที กลายเป็นรายการที่มีแฟนคลับติดตามมากมาย

 

อีกหนึ่งตัวอย่างคือรายการ ไกลบ้าน โดย ฟาโรส พาผู้ชมไปท่องโลกผ่านการพบปะคนไทยในต่างแดน พร้อมท่องเที่ยวในต่างแดน สอดแทรกด้วยเกร็ดความรู้และมุมมองตามสไตล์ของกลุ่มเพื่อน สร้างปรากฏการณ์ ‘ชาวช่อง’ กลุ่มแฟนคลับที่ติดตามและพร้อมสนับสนุน จนสามารถต่อยอดไปสู่รายการอื่นๆ ได้มากมาย

 

‘สื่อ’ และ ‘คอมเมิร์ซ’ ถูกหลอมรวม

 

อีกสิ่งที่ตามมาคือ ‘สื่อ’ และ ‘คอมเมิร์ซ’ ถูกหลอมรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบบปฏิเสธไม่ได้ จะเห็นได้จากแพลตฟอร์ม YouTube ประกาศเดินหน้ารุกตลาดอีคอมเมิร์ซ ผลักดันฟีเจอร์ ‘YouTube Shopping’ ให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ทำเงินได้มากขึ้นจากวิดีโอของตัวเอง

 

‘สื่อ’ และ ‘คอมเมิร์ซ’ ถูกหลอมรวม

 

โดยผู้ชมสามารถกดซื้อสินค้าได้จากคลิปสั้น ไลฟ์ และวิดีโอบน YouTube ได้เลย อำนวยความสะดวกให้กับผู้ชม ไม่ต้องเสียเวลาออกจากแพลตฟอร์มไปกดค้นหาและเลือกซื้ออีกต่อไป ปิดการขายได้อย่างง่ายดาย เปรียบเสมือนหน้าร้านในโลกออนไลน์ ให้ผู้คนได้มีประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบใหม่

 

นี่ไม่ต่างกันกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มองเห็นโอกาสนี้มาก่อนแล้ว กลายเป็นโจทย์ของครีเอเตอร์รวมถึงนักการตลาดที่ต้องตีโจทย์ให้แตกในการขยายช่องทางสื่อสารและขายของได้มากยิ่งขึ้น

 

‘สื่อ’ และ ‘ประสบการณ์’ ส่งผลต่อแบรนด์

 

สุดท้ายคือ ‘สื่อ’ และ ‘ประสบการณ์’ อาจพูดได้ว่าคือการหลอมรวมประสบการณ์ที่มีต่อแบรนด์ หรือตัวบุคคลจากโลกออนไลน์มาสู่โลกออฟไลน์ เพื่อเสริมประสบการณ์ให้ครบรส ไม่ว่าจะมาในรูปแบบคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้ง การจัดอีเวนต์ เพื่อเชื่อมโลกออนไลน์ให้มาสู่การสัมผัสประสบการณ์จริงมากยิ่งขึ้น

 

เช่น การจัดกิจกรรมแฟนมีตติ้งคู่จิ้นหรือดาราที่ได้รับความนิยมและเป็นกระแสโด่งดังอย่างมากในโลกออนไลน์ เปิดขายบัตร จัดอีเวนต์แฟนมีตติ้งเพื่อต่อยอดกระแสความนิยม และเพิ่ม Immersive Experience ให้กลุ่มแฟนคลับ

 

หรือการต่อยอดรายการ 8 Minute History สู่ ‘8 Minute History On Stage’ เป็นทอล์กโชว์ประวัติศาสตร์รูปแบบ ‘Edutainment’ ที่เป็นการผสมผสานความรู้และความบันเทิงเข้าด้วยกัน เติมเต็มความฟินให้กับเหล่าแฟนคลับทั้งหลายได้เป็นอย่างดี เชื่อว่าในอนาคตคงเห็นรูปแบบใหม่ๆ ของการเสริมประสบการณ์ให้ผู้ชมและลูกค้าในหลากหลายกระบวนท่าที่สร้างสรรค์มากขึ้น

 

‘สื่อ’ และ ‘ประสบการณ์’ ส่งผลต่อแบรนด์

 

หากพูดถึงภาพรวมของโซเชียลมีเดียในปี 2025 เชื่อว่า สื่อและสังคม, สื่อและคอมเมิร์ซ, สื่อและประสบการณ์ คือสิ่งที่เราควรจะต้องโฟกัส แต่กล้ามองว่า ‘Thailand is not enough’ หมายความว่าคอนเทนต์ที่เฉพาะเจาะจงในประเทศไทยอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ประสบการณ์ที่คำนึงถึงเฉพาะกลุ่มผู้ชม ผู้บริโภคคนไทยอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากแพลตฟอร์มเติบโตมากขึ้น ขยายเขตแดนของการรับชมและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

 

เราน่าจะได้เห็นการเปรียบเทียบกันในความต่างของวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น บ้านเราเป็นแบบนี้ บ้านเขาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในอาเซียน หรือแม้กระทั่งทั่วเอเชียเลยก็ว่าได้ สิ่งนี้อาจนำไปสู่การผสมผสาน แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมดีๆ โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นสะพานนำทาง เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าโซเชียลมีเดียคือโลกไร้พรมแดนที่แท้จริง

 

“หากลองนึกย้อนกลับไปว่าทำไมเราถึงเริ่มตระหนักรู้ว่าต้องขับรถหลีกทางให้กับรถพยาบาลที่เปิดไซเรนบนท้องถนน นั่นก็เพราะเราได้เรียนรู้พฤติกรรมนี้จากคลิปหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ที่เมื่อรถพยาบาลเปิดไซเรนขอทาง ทุกคนจะต้องหลบทางให้ เพราะนั่นคือกฎหมายที่บังคับใช้ในประเทศญี่ปุ่น แล้วกลายมาเป็นสิ่งที่คนไทยเห็นและเอามาทำตาม ผมเชื่อว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นแรงผลักดันหรือบังคับให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น แต่มันกลายเป็น Norm ที่คนส่วนใหญ่อยากจะทำ” กล้า ตั้งสุวรรณ กล่าว

 

กล้าทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่าเราน่าจะได้เห็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสัญชาติจีนและสหรัฐอเมริกาผุดขึ้นมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งอย่างแน่นอน เช่น แพลตฟอร์ม Lemon8 ของจีน ที่สอดแทรกไลฟ์สไตล์ วัฒนธรรม แฟชั่นต่างๆ หรือแพลตฟอร์มเกม Roblox จากฝั่งสหรัฐอเมริกา ที่สามารถเป็นเครื่องมือสื่อการสอนให้แก่เด็กๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสอนทักษะ Coding ด้วยการใช้ภาษา Lua สร้างเกม Roblox หรือจะเป็นการสร้างบทเรียนสำหรับการเรียนแบบออนไลน์ที่น่าสนใจในเรื่องของแอนิเมชัน

 

ดังนั้นต้องจับตาสื่อออนไลน์ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้ของมหาอำนาจสองฝั่งนี้ว่าจะปรับตัวอย่างไรในอนาคต เพราะทั้งสองก็ต่างต้องการขยายขอบเขตอำนาจทางวัฒนธรรมทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ให้ได้มากที่สุด

 

ด้วยเหตุนี้เองเมื่อมองไปข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงของโซเชียลมีเดียในปี 2025 จะไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มใหม่ๆ เท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ การศึกษา หรือวัฒนธรรม การหลอมรวมระหว่างสื่อ สังคม และการค้า จะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ที่เข้าใจและปรับตัวได้ทัน ขณะเดียวกันก็อาจเป็นความท้าทายสำหรับองค์กรที่ยังยึดติดกับรูปแบบการสื่อสารแบบเดิมๆ

 

สำหรับนักการตลาดและผู้ประกอบการไทย การมองข้ามพรมแดนและเข้าใจบริบทระดับภูมิภาคจะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ โซเชียลมีเดียจะไม่ใช่แค่เครื่องมือในการสื่อสาร แต่เป็นระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่หล่อหลอมพฤติกรรม ความคิด และวิถีชีวิตของผู้คน การเข้าใจพลวัตนี้จะช่วยให้แบรนด์สามารถสร้างความเชื่อมโยงกับผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้งและยั่งยืนมากขึ้น ท่ามกลางการแข่งขันที่จะทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

 

ภาพ: Anton Vierietin / Shutterstock

The post Thailand is not enough! เมื่อซีอีโอ Wisesight ชี้ชัด ‘โซเชียลมีเดีย 2025’ ต้องทะลุกรอบความเป็นไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>
รัสเซียและยูเครนยุติเส้นทางขนส่งก๊าซไปยังยุโรปที่ใช้มายาวนานราว 5 ทศวรรษ อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2025 https://thestandard.co/russia-ukraine-end-europe-gas-route-2025/ Thu, 02 Jan 2025 07:17:35 +0000 https://thestandard.co/?p=1026485 russia-ukraine-end-europe-gas-route-2025

การส่งออกก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรปผ่านยูเครนถูกร […]

The post รัสเซียและยูเครนยุติเส้นทางขนส่งก๊าซไปยังยุโรปที่ใช้มายาวนานราว 5 ทศวรรษ อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2025 appeared first on THE STANDARD.

]]>
russia-ukraine-end-europe-gas-route-2025

การส่งออกก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรปผ่านยูเครนถูกระงับแล้ว หลังจากที่ข้อตกลงการขนส่งก๊าซหมดอายุในวันพุธที่ 1 มกราคม 2025 โดยถือเป็นการปิดเส้นทางส่งก๊าซที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซียไปยังยุโรปที่มีมานาน 5 ทศวรรษ และสิ้นสุดการขนส่งก๊าซธรรมชาติที่ครั้งหนึ่งเคยครองตลาดยุโรป 

 

ทั้งรัสเซียและยูเครนยืนยันการสิ้นสุดสัญญาข้อตกลงการขนส่งหลักที่หมดอายุในวันที่ 1 มกราคม ซึ่งหมายความว่า ประเทศต่างๆ ในยุโรปจะต้องหาแหล่งทางเลือกอื่นสำหรับก๊าซธรรมชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว และอาจถูกบังคับให้ต้องหาก๊าซที่มีราคาแพงกว่าจากที่อื่น ทำให้เกิดแรงกดดันทางด้านอุปทาน 

 

แม้ว่าเส้นทางนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 5% ของความต้องการของยุโรป ประเทศต่างๆ ยังคงสั่นคลอนจากอาฟเตอร์ช็อกของวิกฤตพลังงานที่เกิดจากการรุกรานของรัสเซียต่อเพื่อนบ้าน ราคาก๊าซเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาจากการระงับเส้นทางขนส่งดังกล่าว

 

จากการคำนวณของ Bloomberg เผยว่า การสูญเสีย 1 ใน 2 เส้นทางส่งก๊าซที่เหลือของรัสเซียไปยังยุโรปจะส่งผลให้รายได้ลดลงประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากนี้ ยูเครนจะสูญเสียรายได้ค่าธรรมเนียมการขนส่ง หลังจากที่ครองตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่มีมายาวนานในฐานะแหล่งพลังงานที่ราคาไม่แพงสำหรับพันธมิตรตะวันตก

 

บริษัท Gazprom ของทางการรัสเซีย ยืนยันว่าเสียสิทธิทางกฎหมายและทางเทคนิคในการส่งก๊าซผ่านท่อก๊าซที่อยู่ในยูเครนไปแล้ว อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังคงสามารถส่งก๊าซไปยังตุรกีและประเทศในแถบตอนกลางของยุโรป เช่น ฮังการีและเซอร์เบีย

 

แม้ว่าจะยังไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลนก๊าซทันทีในยุโรป แต่การหยุดชะงักดังกล่าวอาจทำให้การกักตุนมีความท้าทายมากขึ้นก่อนถึงฤดูร้อน สินค้าคงคลังของภูมิภาคลดลงอย่างรวดเร็วและตอนนี้เหลือไม่ถึง 75%

 

เนื่องจากการส่งออกก๊าซของรัสเซียไปยังยุโรปลดน้อยลง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จึงมีแนวโน้มที่จะลดความพยายามในการเพิ่มการขนส่ง LNG เป็น 2 เท่าอีกด้วย

 

แม้ว่าบางประเทศในยุโรปจะเรียกร้องไม่ให้จัดหาก๊าซเหลวจากรัสเซีย แต่ภูมิภาคนี้ก็ยังซื้อก๊าซจนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การขยายการจัดขายและจัดส่ง LNG ของรัสเซียต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก แม้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจพยายามยุติสงครามก็ตาม

 

สำหรับทั่วทั้งยุโรป การสูญเสียก๊าซธรรมชาติจากท่อที่สำคัญของรัสเซียไปบางส่วนอาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสำหรับครัวเรือนและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยุโรปพยายามฟื้นตัวจากวิกฤตค่าครองชีพที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

 

ภาพ: imaginima / Getty Images 

 

อ้างอิง: 

 

The post รัสเซียและยูเครนยุติเส้นทางขนส่งก๊าซไปยังยุโรปที่ใช้มายาวนานราว 5 ทศวรรษ อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2025 appeared first on THE STANDARD.

]]>
สงครามยังไม่จบ! KFC-Starbucks ในอินโดนีเซียและมาเลเซียขาดทุนหนัก หลังถูกแบนสินค้ามากว่า 1 ปีเต็ม https://thestandard.co/kfc-starbucks-losses-indonesia-malaysia-ban/ Thu, 02 Jan 2025 07:12:45 +0000 https://thestandard.co/?p=1026482 kfc-starbucks-losses-indonesia-malaysia-ban

สงครามยังไม่จบ จะไปต่อหรือพอแค่นี้! KFC และ Starbucks ใ […]

The post สงครามยังไม่จบ! KFC-Starbucks ในอินโดนีเซียและมาเลเซียขาดทุนหนัก หลังถูกแบนสินค้ามากว่า 1 ปีเต็ม appeared first on THE STANDARD.

]]>
kfc-starbucks-losses-indonesia-malaysia-ban

สงครามยังไม่จบ จะไปต่อหรือพอแค่นี้! KFC และ Starbucks ในอินโดนีเซีย-มาเลเซียขาดทุนหนัก หลังนักเคลื่อนไหวแบนสินค้ามากว่า 1 ปีเต็ม จนต้องทยอยปิดสาขา หนุนแบรนด์ร้านอาหารท้องถิ่นโตกระฉูด

 

Nikkei Asia รายงานว่า หลังจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียรณรงค์ให้เลิกบริโภคสินค้าจาก Starbucks และ KFC เพื่อประท้วงที่สองบริษัทออกตัวสนับสนุนกองทัพอิสราเอล จนทำให้แบรนด์ร้านอาหารท้องถิ่นในอินโดนีเซียและมาเลเซียสร้างรายได้เติบโตขึ้นต่อเนื่อง

 

โดยแบรนด์ KFC และ Starbucks สูญเสียลูกค้าให้กับแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง Almaz Fried Chicken ซึ่งเป็นร้านไก่ทอด มีความคล้ายกันกับ KFC และ ZUS Coffee ก็เป็นแบรนด์ร้านกาแฟคู่แข่งกับ Starbucks ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 แบรนด์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ออกตา วิราวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร้าน Almaz Fried Chicken กล่าวว่า จากโอกาสการเติบโตดังกล่าว บริษัทจึงเร่งขยายเครือร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดไปกว่า 37 แห่งในอินโดนีเซีย และคาดว่าจะสามารถทำกำไรได้ในช่วง 7 เดือนหลังจากเปิดให้บริการ และเราเตรียมจะบริจาค 5% ของกำไรให้กับการกุศล รวมถึงการช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ด้วย

 

ด้าน วิโก โลมาร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Fore Coffee กล่าวว่า บางครั้งการบอยคอตอาจช่วยให้คนท้องถิ่นหันมารักสินค้าในประเทศมากขึ้น โดยตั้งแต่เกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส Fore Coffee ก็ได้รับใบรับรองฮาลาลเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ เพื่อรองรับลูกค้าในอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

เช่นกันกับมาเลเซีย ผู้บริโภคหันมาใช้บริการร้านกาแฟท้องถิ่น เช่น ZUS Coffee, Gigi Coffee แทนการเข้าร้าน Starbucks สอดรับกับพนักงานบาริสต้าประจำร้าน Artisan Roast Coffee ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มมีการบอยคอตมากว่า 1 ปี ทำให้ร้านกาแฟของเรามีลูกค้าเพิ่มขึ้น และมียอดขายเพิ่มขึ้น 10-22% ท่ามกลางกระแสคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาดื่มกาแฟมากขึ้น

 

เมื่อมาดูผลสำรวจผู้บริโภคที่เผยแพร่โดย GlobalData พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งทั่วโลกมีส่วนร่วมในการบอยคอตสินค้าบางแบรนด์อยู่ประมาณ 70% หนึ่งในนั้นคือ เรณี เลสตารี พนักงานบริษัทเอกชนในอินโดนีเซีย ที่เคยใช้สินค้าจากแบรนด์ Unilever ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปซื้อสินค้าของบริษัทท้องถิ่น เช่น Wings Group

 

“แม้ความพยายามของเราอาจไม่ได้ช่วยเหลือผู้คนในฉนวนกาซาโดยตรง แต่ในฐานะที่เป็นมุสลิม เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง และการบอยคอตระยะยาวหวังว่าจะสามารถกดดันสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยตรง” เรณีย้ำ

 

ด้าน โมฮัมหมัด ฮิดายาตุรเราะห์มาน อาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวีราราชา ประเทศอินโดนีเซีย แสดงความเห็นว่า จากนี้การบอยคอตสินค้าแบรนด์ข้ามชาติจะยังดำเนินต่อไป เนื่องจากปัจจุบันอิสราเอลยังคงโจมตีปาเลสไตน์ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้แบรนด์ใหม่ๆโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะเข้ามาเจาะตลาดในประเทศมุสลิม

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของแนวคิดทางสังคมและการเมืองที่มีต่อพฤติกรรมการบริโภค มีส่วนทำให้ผู้บริโภคมองว่าการเลือกซื้อสินค้าจากแบรนด์ท้องถิ่นเป็นวิธีหนึ่งในการสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศ และหลีกเลี่ยงการสนับสนุนบริษัทที่อาจเกี่ยวข้องกับบางประเทศที่มีนโยบายต่างกัน

 

แน่นอนว่าหลังจากนี้แบรนด์ต่างชาติ ทั้ง KFC, McDonald’s, Pizza Hut, Starbucks และ Unilever ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อกลับมาสร้างการเติบโตให้ได้ เพราะหลังจากถูกผู้บริโภคในอินโดนีเซียและมาเลเซียแบนสินค้านั้นยอดขายของหลายๆ แบรนด์ก็เริ่มลดลง

 

เห็นได้จาก Fast Food Indonesia ผู้ดำเนินการร้านอาหาร KFC ในอินโดนีเซีย รายงานผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้น 4 เท่า จนส่งผลให้บริษัทต้องปิดร้าน 50 สาขา และเลิกจ้างพนักงานประมาณ 2,000 คน รวมถึง MAP Boga Adiperkasa ผู้ดำเนินการร้าน Starbucks รายงานว่าบริษัทขาดทุน 7.9 หมื่นล้านรูเปียห์ ในขณะที่ Unilever Indonesia กำไรลดลงถึง 28% เหลือเพียง 3 ล้านล้านรูเปียห์

 

ไม่เว้นแม้แต่ QSR Brands ผู้ดำเนินการร้าน KFC และ Pizza Hut ในมาเลเซีย ได้ยกเลิกแผนการเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะครั้งแรก (IPO) เนื่องจากธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก

 

ทั้งนี้ การขาดทุนของบริษัทต่างๆ เกิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด ยกตัวอย่าง McDonald’s ที่แจกเบอร์เกอร์ฟรีให้กับทหารอิสราเอล ทำให้ผู้บริโภคไม่พอใจ จนทำให้หลายแบรนด์ต้องเผชิญความยากลำบากและอยู่ระหว่างหาวิธีปรับตัวรับมือกับสถานการณ์เพื่อให้กลับมาฟื้นตัวให้เร็วที่สุด

 

ภาพ: Dr.David Sing / Shutterstock, Nedikusnedi / Shutterstock

 

อ้างอิง:

The post สงครามยังไม่จบ! KFC-Starbucks ในอินโดนีเซียและมาเลเซียขาดทุนหนัก หลังถูกแบนสินค้ามากว่า 1 ปีเต็ม appeared first on THE STANDARD.

]]>