Guest – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 22 Nov 2024 03:29:53 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 เรารู้อะไรเกี่ยวกับ Oreshnik อาวุธใหม่ที่รัสเซียใช้โจมตียูเครน กับฉากทัศน์ใหม่ของสงคราม https://thestandard.co/oreshnik-weapon-war/ Fri, 22 Nov 2024 03:29:53 +0000 https://thestandard.co/?p=1011433 Oreshnik

หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกคำสั่งกึ่งๆ ทิ้งทวนด้ […]

The post เรารู้อะไรเกี่ยวกับ Oreshnik อาวุธใหม่ที่รัสเซียใช้โจมตียูเครน กับฉากทัศน์ใหม่ของสงคราม appeared first on THE STANDARD.

]]>
Oreshnik

หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกคำสั่งกึ่งๆ ทิ้งทวนด้วยการอนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธปล่อยและอาวุธนำวิถีในการโจมตีดินแดนรัสเซียได้เต็มที่ ยูเครนก็ประเดิมใช้ ATACMS ยิงเข้าใส่เป้าหมายในรัสเซีย และรัสเซียก็ยิงตอบโต้ใส่ยูเครน คราวนี้ด้วยขีปนาวุธพิสัยปานกลางด้วยเช่นกัน (ไม่ใช่ขีปนาวุธข้ามทวีป หรือ ICBM ตามที่ยูเครนกล่าวอ้างแต่แรก)

 

แน่นอนว่าตั้งแต่เริ่มสงครามมาสหรัฐอเมริกาไม่อนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธที่ส่งมอบให้ยิงเข้าใส่ดินแดนรัสเซียเพราะเกรงว่าจะเป็นการส่งสัญญาณเพิ่มความตึงเครียดกับรัสเซีย แม้ยูเครนจะส่งคำขอมาเรื่อยๆ ก็ตาม เนื่องจากเป้าหมายหลักที่เป็นคลังอาวุธ ที่รวมพล หรือศูนย์ส่งกำลังบำรุงของกองทัพรัสเซียนั้นอยู่ในดินแดนของรัสเซียทั้งสิ้น

 

แต่คาดว่ามีสองสิ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีไบเดนเปลี่ยนใจ อย่างแรกก็คือการที่รัสเซียนำเข้าทหารเกาหลีเหนือมารบในยูเครนกว่า 1 หมื่นนาย ซึ่งในมุมมองของสหรัฐอเมริกานั้นถือว่ารัสเซียเพิ่มความตึงเครียดให้กับสถานการณ์ก่อน อีกอย่างหนึ่งก็คือชัยชนะเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีท่าทีต้องการยุติสงคราม และมีความเป็นไปได้สูงที่อาจมีข้อเสนอที่ทำให้ยูเครนเสียเปรียบ หรือแม้แต่อาจงดส่งความช่วยเหลือให้กับยูเครน การตัดสินใจครั้งนี้จึงเป็นการอนุญาตแบบสุดซอยไปก่อน เพื่อที่ว่าในช่วงสองเดือนนี้ยูเครนจะได้มีโอกาสใช้งานอาวุธได้โดยมีข้อจำกัดน้อยลง ลดความเสียเปรียบของตนเอง และอาจทำให้ทรัมป์เห็นข้อดีของการสนับสนุนยูเครนต่อไป

 

ทั้งนี้ ขีปนาวุธที่ยูเครนยิงเข้าใส่รัสเซียก็คือมิสไซล์ MGM-140 Army Tactical Missile System หรือเรียกย่อๆ ว่า ATACMS ซึ่งมีข้อดีคือสามารถใช้งานกับรถยิงจรวดหลายลำกล้อง M142 HIMARS ที่ยูเครนมีใช้งานอยู่แล้ว โดยทำการเปลี่ยนแค่กระเปาะด้านหลังก็สามารถยิง ATACMS ได้

 

ATACMS ผลิตโดยบริษัท Lockheed Martin มีราคาราวลูกละ 60 ล้านบาท มีพิสัยยิงไกลสุด 300 กิโลเมตร จรวดจะบินขึ้นไปสูงสุดที่ 50 กิโลเมตรก่อนที่จะตกลงมาด้วยความเร็วสูงสุดที่มัค 3 มีหัวรบที่หลากหลายและมีน้ำหนักมากกว่า 200 กิโลกรัม หรืออาจใช้หัวรบที่บรรจุลูกระเบิดย่อยเล็กๆ ตั้งแต่ 300-900 ลูก ซึ่งทำให้มีน้ำหนักหัวรบสูงสุดที่มากกว่า 500 กิโลกรัมได้ และนำวิถีด้วยแรงเฉื่อยและ GPS

 

แม้จะฟังดูว่า ATACMS เป็นจรวดที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ถือว่าเป็นจรวดที่มีอายุการใช้งานมานาน และสหรัฐอเมริกาวางแผนที่จะพัฒนาจรวดแบบใหม่เข้าประจำการแทน เพียงแต่สำหรับยูเครนแล้ว การมีจรวด ATACMS ใช้สามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของข้าศึก เพื่อลดขีดความสามารถและการส่งกำลังบำรุงให้กับหน่วยทหารแนวหน้าได้ รวมถึงข้อดีคือราคาไม่แพงนักเมื่อเทียบกับจรวดแบบอื่น และใช้รถฐานยิง M142 HIMARS ซึ่งสามารถใช้งานจรวดได้หลากหลายและมีความทันสมัย

 

ทั้งนี้ ยูเครนใช้ ATACMS รุ่นที่มีหัวรบเป็นลูกระเบิดย่อยและหัวรบระเบิดลูกเดียวมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยใช้กับเป้าหมายที่เป็นที่รวมพล คลังเก็บกระสุน หรือกองบัญชาการส่วนหน้า และผลลัพธ์การใช้งานในยูเครนก็ค่อนข้างน่าประทับใจ จนทำให้มีอีกหลายประเทศสั่งซื้อจรวดแบบนี้เข้าประจำการ เช่น ออสเตรเลีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโมร็อกโก ทำให้ผู้ผลิตอย่าง Lockheed Martin สามารถเริ่มสายการผลิตจรวดได้อีกครั้ง

 

ส่วนการตอบโต้ของรัสเซียด้วยการยิงขีปนาวุธเข้าใส่ยูเครนนั้น แม้ว่ายูเครนจะออกมายืนยันว่าเป็นขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปหรือ ICBM (Intercontinental Ballistic Missile) แต่สหรัฐอเมริกาออกมายืนยันว่ารัสเซียน่าจะใช้ขีปนาวุธพิสัยกลางหรือ IRBM (Intermediate-Range Ballistic Missile) ที่มีพิสัยระหว่าง 3,000-5,500 กิโลเมตรมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ออกมาแถลงว่ารัสเซียได้ยิงขีปนาวุธพิสัยกลางรุ่นใหม่ล่าสุดเข้าใส่ยูเครน โดยกล่าวว่ายูเครนไม่มีขีดความสามารถในการป้องกันได้ ซึ่งปูตินเปิดเผยชื่อว่าเป็นรุ่น Oreshnik

 

คาดว่าขีปนาวุธ Oreshnik นั้นยังอยู่ในระหว่างการทดสอบอยู่ โดยรัสเซียใช้การโจมตียูเครนในครั้งนี้เป็นการทดสอบอาวุธแบบใหม่ไปในตัว ซึ่งทำให้เราไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่ลักษณะเด่นของขีปนาวุธ IRBM แบบนี้คือเป็นขีปนาวุธที่ออกแบบมาสำหรับติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้หลายหัวรบ แม้ว่าการโจมตีในครั้งนี้จะเป็นการใช้หัวรบธรรมดาก็ตาม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัสเซียใช้ขีปนาวุธที่มีขีดความสามารถในระดับนี้เข้าโจมตียูเครน

 

สิ่งที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างของ Oreshnik ซึ่งเป็นขีปนาวุธแบบ IRBM ก็คือความเร็วที่สูง โดย Oreshnik มีความเร็วในช่วงสุดท้ายมากกว่ามัค 8 ซึ่งทำให้มีระบบป้องกันภัยทางอากาศจำนวนน้อยที่สามารถยิงสกัดได้ หนึ่งในนั้นก็คือ MIM-104 Patriot ที่ยูเครนมีใช้งานแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมนัก

 

ดังนั้นแม้เราจะเชื่อว่าการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนนั้นเกิดขึ้นได้ยาก รวมถึงการใช้จรวดของทั้งสองฝ่ายในลักษณะนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลสงครามโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสร้างผลกระทบให้อีกฝ่ายพอสมควร ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งเพิ่มความร้อนแรงของสถานการณ์ยูเครน-รัสเซียมากเข้าไปอีก

 

ซึ่งนั่นก็เป็นโจทย์ของทั้งยูเครน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ว่าจะหาทางยุติสงครามนี้อย่างไร จะสร้างข้อตกลงที่ทั้งสามฝ่ายยอมรับร่วมกันได้อย่างไร รวมถึงถ้าสหรัฐอเมริกาลดการสนับสนุนยูเครนลงจริงๆ ประเทศยุโรปที่ประกาศว่าพร้อมสนับสนุนยูเครนต่อเนื่องไม่ว่าสหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนท่าทีไปแบบใดนั้น จะสามารถสนับสนุนได้อย่างที่พูดจริงๆ หรือไม่ หรือรัสเซียเองที่สงครามลากยาวไปก็ไม่เป็นผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจและสภาพสังคมของรัสเซียเลยนั้น จะหาทางลงอย่างไรที่ทำให้ประธานาธิบดีปูตินรู้สึกว่าได้รับชัยชนะในการบุกยูเครนครั้งนี้โดยที่ยูเครนก็ยอมรับได้ด้วย

 

แต่ไม่ว่าสถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร สิ่งที่มั่นใจได้ก็คือสงครามการรุกรานยูเครนของรัสเซียนั้นไม่น่าจะจบลงง่ายๆ แน่นอน

ภาพ: Brendan SMIALOWSKI and Mikhail METZEL / various sources / AFP

The post เรารู้อะไรเกี่ยวกับ Oreshnik อาวุธใหม่ที่รัสเซียใช้โจมตียูเครน กับฉากทัศน์ใหม่ของสงคราม appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทำไมไทยอาจเจ็บหนักกว่าจีนจาก Trade War 2.0? https://thestandard.co/thailands-risks-under-trade-war-2-0/ Thu, 14 Nov 2024 01:01:56 +0000 https://thestandard.co/?p=1008329 Trade War 2.0

หลายคนมองว่าสงครามการค้ารอบใหม่ของ โดนัลด์ ทรัมป์ จีนจะ […]

The post ทำไมไทยอาจเจ็บหนักกว่าจีนจาก Trade War 2.0? appeared first on THE STANDARD.

]]>
Trade War 2.0

หลายคนมองว่าสงครามการค้ารอบใหม่ของ โดนัลด์ ทรัมป์ จีนจะเจ็บหนัก ส่วนไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย และจากที่ไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาแทนสินค้าจีน แต่ผมเกรงว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นเลยครับ

 

จีนเจ็บแน่ แต่เกรงว่าที่จะเจ็บหนักยิ่งกว่าจีนคือประเทศกลุ่ม Middle Power ต่างๆ รวมทั้งไทยด้วย

 

เพราะ Trade War 2.0 จะไม่เหมือนกับสงครามการค้ารอบก่อนที่ประเทศกลุ่ม Middle Power เช่น เวียดนาม เม็กซิโก อินเดีย รวมถึงไทย ได้ประโยชน์ ส้มหล่นจากการย้ายฐานการลงทุนออกจากจีน และสหรัฐฯ เองซื้อสินค้าราคาถูกจากประเทศเหล่านี้แทนสินค้าจีน

 

แต่นโยบายการค้ารอบนี้ของทรัมป์ชัดมากว่าไม่เหมือนเดิม เพราะเขาประกาศ 3 ข้อ

 

ข้อแรก จะขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจีนที่อัตราร้อยละ 60 เท่ากับ 4 เท่าจากรอบที่แล้ว


ข้อ 2 จะขึ้นกำแพงภาษีสินค้าทั่วโลกที่อัตราร้อยละ 10

 

ข้อ 3 จะขึ้นกำแพงภาษีสินค้ากับคู่ค้าแต่ละประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ (อัตราร้อยละ 10 นั้นแค่เริ่มต้น) จนกว่าจะถึงจุดสมดุลการค้ากับประเทศนั้นๆ

 

ความเข้าใจผิดของเราคือ เราไปโฟกัสความสนใจกันที่ข้อ 1 เพราะถ้ามีแค่ข้อ 1 ผลก็จะคล้ายๆ สงครามการค้ารอบที่แล้วที่บริษัทจะย้ายออกจากจีนไปที่อื่น เพื่อขายไปยังตลาดสหรัฐฯ

 

แต่เป้าหมายของทรัมป์รอบนี้ชัดเจนว่ารอบก่อนยังแรงไม่พอ เพราะรอบก่อนทำให้สหรัฐฯ เพียงเปลี่ยนจากซื้อจากจีนเป็นซื้อจากเวียดนาม เม็กซิโก ไทย และประเทศอื่นๆ แทน แต่รอบนี้เขาต้องการให้เกิดผลให้โรงงานย้ายกลับไปผลิตที่สหรัฐฯ เพื่อให้เกิดมหกรรมการลงทุนครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ และฟื้นอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ ให้เกิดการจ้างงานชนชั้นกลางคนขาวชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นฐานเสียงของเขา

 

ถ้าเพิ่มจากข้อแรกซัดจีน บวกแค่ข้อ 2 คือขึ้นภาษีทั่วโลกอัตราร้อยละ 10 ก็ยังพอเป็นไปได้ว่าจะย้ายฐานการผลิตจากจีนไปที่อื่นและปรับตัวกันไป ยอมเสียภาษีร้อยละ 10 (แต่ดีกว่าผลิตที่จีนเสียร้อยละ 60) แต่นี่เขายังมีข้อ 3 ด้วย คือจะค่อยๆ ขึ้นภาษีสูงขึ้นเรื่อยๆ หากสหรัฐฯ ยังขาดดุลการค้ากับประเทศนั้นๆ อยู่ จนกว่าจะถึงจุดสมดุลทางการค้า

 

ถ้าเราเป็นบริษัทในจีนที่ผลิตสินค้าส่งไปสหรัฐฯ สัญญาณจากทรัมป์กำลังบอกว่า ถ้าอยากขายให้ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในโลก ทางเดียวคือต้องมาผลิตที่สหรัฐฯ เท่านั้น หากย้ายไปเวียดนาม เม็กซิโก ไทย หรือที่อื่น ต่อไปก็จะโดนภาษีอยู่ดี และจะค่อยๆ เก็บสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

 

ผมจึงมีข้อสรุปที่อาจแปลกกว่าที่พวกเราเคยได้ยินกันคือ คนที่จะเจ็บหนักที่สุดจาก Trade War 2.0 อาจไม่ใช่จีน แต่กลายเป็นประเทศกลุ่ม Middle Power เดิมที่เคยได้ประโยชน์จากสงครามการค้ารอบแรก รอบนี้จะไม่ได้ประโยชน์และจะเจ็บตัวหนัก

 

เพราะประเทศกลุ่ม Middle Power (รวมทั้งไทยด้วย) กำลังจะถูกแรงบีบทั้ง 3 ทางพร้อมกัน ตลาดใหญ่ที่สุดอันดับ 1 อย่างสหรัฐฯ ก็ส่งไปไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ จะปิดตลาด เพื่อบีบให้บริษัทย้ายฐานกลับมาผลิตที่สหรัฐฯ

 

ตลาดอันดับ 2 อย่างจีนก็จะปิดตัวมากขึ้นเองโดยธรรมชาติ (ถึงแม้จีนคงจะประชาสัมพันธ์ว่าจะเปิดตลาด) เพราะสินค้าจีนส่งไปสหรัฐฯ ไม่ได้ ก็ต้องเน้นขายในตลาดจีน สินค้าต่างชาติยากจะเข้าไปแย่งส่วนแบ่ง แถมเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาภายในก่อนหน้านี้อยู่แล้ว และถูกซัดซ้ำจากสงครามการค้าของทรัมป์ ก็จะมีกำลังซื้อลดลงจากเดิมมาก

 

ส่วนตลาดที่เหลือทั่วโลกก็จะแย่ลง เพราะ 1. คลื่นสินค้าราคาถูกจากจีนเมื่อไปสหรัฐฯ ไม่ได้ และเมื่อกำลังซื้อภายในจีนเองก็ลด ก็ย่อมจะออกมาบุกตลาดเหล่านี้มากขึ้น 2. ทุกคนย่อมจะอ่อนแอลงหมด เพราะภาคส่งออกของแต่ละที่ไม่สามารถส่งสินค้าไป 2 ตลาดใหญ่ที่สุดของโลกได้อย่างเมื่อก่อน กำลังซื้อโลกก็จะหดตัวลงมาก ก้อนการค้าโลก ก้อนโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ยังเหลืออยู่จะเล็กลงจากเดิมมาก

 

จีนนั้นเจ็บหนัก เจ็บแน่ ประเมินว่าการเติบโตของ GDP จีนอาจติดลบจากเดิมถึงร้อยละ 2 แต่จีนก็ยังพอมีความแข็งแกร่งภายในที่ยังอดทนฝ่ามรสุมไปได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดภายในที่ใหญ่ ความได้เปรียบเรื่องราคาสินค้าจีนที่จะส่งออกไปยังตลาดอื่นแทน คนจีนยังมีเงินเก็บมากและไม่มีหนี้ครัวเรือน ทำให้อดทนต่อความยากลำบากได้ และจีนยังมีภาคเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมา รวมทั้งภาคพลังงานสะอาดที่จีนจะสวมบทผู้นำแทนสหรัฐฯ ที่จะถอยจากวงการนี้

 

ส่วนสหรัฐฯ เองก็คงแย่ลง คนสหรัฐฯ จะต้องซื้อของราคาแพงขึ้น แต่ทีมมันสมองด้านเศรษฐกิจของทรัมป์อย่าง โรเบิร์ต ไลต์ไทเซอร์ ประกาศแล้วว่า ถ้าให้เลือกระหว่างคนสหรัฐฯ ตกงาน แต่ได้ซื้อของราคาถูกจากจีน เวียดนาม และเม็กซิโก กับให้คนสหรัฐฯ มีงานดีๆ ในโรงงานทำ แต่ซื้อของราคาแพงขึ้นหน่อย เขาเลือกแบบที่ 2 เขาต้องการให้อุตสาหกรรมการผลิตกลับมาเป็นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (ไม่ต้องพึ่งสินค้าจากข้างนอก โดยเฉพาะจากศัตรูคู่แข่งอย่างจีน รวมทั้งจากที่อื่นที่ก็อาจเป็นจีนแปลงตัวไปผลิตที่นั่นหรือเชื่อมกับซัพพลายเชนจีนอยู่ดี) 

 

แต่ประเทศ Middle Power นี่สิครับจะแย่กันหมด ไม่ว่าจะเป็นยุโรปที่น่าจะเกิดภาวะ Recession ต่อเนื่องแน่ โดยเฉพาะเยอรมนีที่พึ่งพาทั้งตลาดสหรัฐฯ และจีน และแน่นอน เวียดนาม เม็กซิโก อินเดีย รวมทั้งไทย ก็จะเจ็บตัวกันหมด อย่าหวังว่าจะเป็นตาอยู่ได้คว้าพุงปลามากินเหมือนครั้งก่อน

 

ยิ่งหากเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสูง และพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และตลาดจีนสูงอย่างไทย และกำลังซื้อภายในเปราะบางด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือน ย่อมจะเผชิญความท้าทายจากโครงสร้างเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษจากสงครามการค้ารอบใหม่ของทรัมป์ 

 

ส่วนหากใครยังแอบหวังลึกๆ ว่านโยบายการค้าของทรัมป์เป็นเพียงคำขู่เอาไว้ใช้เจรจาต่อรอง หรือคงไม่ทำถึงในระดับที่หาเสียงไว้ ผมคิดว่าท่านน่าจะผิด เพราะทรัมป์และทีมของทรัมป์ชัดเจนในทุกการสัมภาษณ์ว่าแผนการใหญ่ของเขาเป็นแผนในระดับ ‘ปฏิวัติ’ โครงสร้างเศรษฐกิจโลก เลิกโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และมีทีมของเขาออกมาเตือนนักลงทุนแล้วว่าทำจริง และที่สำคัญจะทำเร็ว (เริ่มทันที) และทำแรงด้วย

 

ใครจึงอย่าคิดว่าสงครามการค้ารอบใหม่จะคล้ายรอบเก่า เรากำลังพูดถึง Trade War คนละสเกลและคนละเป้าหมาย ครั้งที่แล้วแค่เพียงว่าจะไม่ซื้อจากจีน ไปซื้อจากที่อื่นแทน แต่ครั้งนี้ต้องการถึงขั้นบีบให้บริษัทมาผลิตที่สหรัฐฯ หากยังต้องการเข้าถึงตลาดใหญ่ที่สุดในโลกต่อไป

 

ภาพ: Allison ROBBERT / POOL / AFP

The post ทำไมไทยอาจเจ็บหนักกว่าจีนจาก Trade War 2.0? appeared first on THE STANDARD.

]]>
Oasis ไขความกระจ่างของเดชเลือดข้นคนผยอง สองพี่น้อง Gallagher https://thestandard.co/oasis-the-gallagher-brothers/ Fri, 25 Oct 2024 09:31:31 +0000 https://thestandard.co/?p=1000095

ตอนที่ 1: การทะเลาะกันที่เป็นส่วนสำคัญในการเดินทาง การก […]

The post Oasis ไขความกระจ่างของเดชเลือดข้นคนผยอง สองพี่น้อง Gallagher appeared first on THE STANDARD.

]]>

ตอนที่ 1: การทะเลาะกันที่เป็นส่วนสำคัญในการเดินทาง การกำหนดทิศทาง และชะตากรรมของวง

 

สิ่งเดียวที่สามารถทำลายล้างความแข็งแกร่งของตระกูลทาร์แกเรียนลงได้ นั่นก็คือ ‘ความแตกแยกจากภายในตัวของมันเอง’ นี่คือคำโปรยเนื้อหาสำคัญในฉากเปิดมหากาพย์ซีรีส์ House of the Dragon (ใช่แล้ว คุณไม่ได้อ่านบทความผิดเรื่องแต่อย่างใด)

 

ตระกูล Gallagher แห่ง(อราช)วง Oasis ก็เช่นกัน ถึงแม้ว่ากรณีของสองพี่น้อง Noel และ Liam จะเรียกว่าแข็งกร้าวมากกว่าแข็งแกร่ง บริบทชีวิตที่เติบโตจากครอบครัวชนชั้นกรรมาชีพอันห่างไกลจากความเป็นราชนิกุลนัก พวกเขาไม่ได้มีมังกรพ่นไฟ แต่พร้อมจะพ่นสุนัขออกจากปากได้ทุกเมื่อ และเป็นสุนัขบ้าล่าเนื้อพันธุ์แทร่เสียด้วยสิ สังเกตจากถ้อยคำที่สองพี่น้องสรรหามาแต่ละคำช่างเจ็บแสบสไตล์คน IQ สูงลิ่ว แต่ EQ ต่ำเรี่ย ทว่าปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอดก็เป็นเพราะทั้งคู่เลือกที่จะพ่นสุนัขใส่กันเองมากกว่าที่จะพ่นออกไปหาอริราชศัตรูนอกบ้านนี่แหละ จนนำมาสู่การจบสิ้นของวง Oasis ในปี 2009 ในที่สุด

 

ภาพ: Oasis / Facebook

 

ว่าแต่การตบตีกันของ Noel และ Liam นั้นสำคัญไฉน เหตุใดจึงเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและแฟนเพลงทั่วโลกมาตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของวง จนมาถึงยุคหลังจากที่วงล่มสลายไปแล้วก็ยังจิกกัดกันผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมาโดยตลอด โดยเฉพาะ Liam ที่มักเป็นฝ่ายยั่วแหย่ Noel ผ่านทาง X เป็นกิจวัตร

 

ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นน่าขบคิดให้มาถกและถลกกัน ณ ที่นี้นั่นเอง เพราะการทะเลาะกันของสองพี่น้อง Gallagher มีนัยสำคัญต่ออัตลักษณ์ความเป็นวงและการขับเคลื่อนทิศทางของวงตลอดมา จนกระทั่งมาถึงการล่มสลายของวง และส่งผลให้การประกาศการกลับมาเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ร่วมกันอีกครั้งอย่างเป็นทางการในนาม Oasis ใน 15 ปีให้หลัง เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ยิ่งเป็นประเด็นเซอร์ไพรส์ที่เป็นที่จับตามองของแฟนเพลงทั่วโลกยิ่งขึ้นไปอีก แย่งพื้นที่สื่อจากทุกเหตุการณ์ในโลกไปเสียอย่างนั้น ชนิดที่ว่าการดีเบตที่เผ็ดร้อนระหว่าง Donald Trump กับ Kamala Harris ยังไม่ร้อนแรงเท่าการขุดคุ้ยเหตุการณ์แสบหมาล่าคลุกพริกกะเหรี่ยงในอดีตระหว่าง Noel กับ Liam

 

The world keep spinning round, I don’t know why, why, why, why? เมื่อเกิดผล ย่อมต้องมีเหตุ

 

ภายใต้ความแข็งกร้าวและออกไปทางหยาบกระด้างของพี่น้อง Gallagher มีความเปราะบางของอดีตอันขื่นขมซ่อนอยู่ การย้อนรอยไปส่องดูสภาพครอบครัวที่เติบโตมามักจะได้คำตอบบางอย่างที่สะท้อนถึงตัวตน ณ ปัจจุบันของปัจเจกบุคคลทุกคนเสมอ กรณีของพี่น้องผยองเดชคู่นี้ก็เช่นกัน ความรุนแรงภายในครอบครัวเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วสำหรับบ้าน Gallagher ตั้งแต่ลูกๆ ลืมตาดูโลกขึ้นมา ทั้ง Paul (พี่ชายคนโต), Noel และ Liam ต้องเป็นประจักษ์พยานตลอดมาในหลายครั้งหลายคราที่ Peggie ผู้เป็นแม่ต้องรับบทกระสอบทรายให้กับ Tommy ผู้เป็นพ่อ จนเลือดตกยางออกเป็นประจำ และอีกหลายครั้งที่ความซวยพลัดตกมายังลูกๆ โดยเฉพาะ Noel ลูกคนกลางที่โดนหนักสุด เคยถึงขั้นถูกพ่อซ้อมหนักจนปางตายมาแล้ว

 

จริงอยู่ที่การกระทบกระทั่งมีปากเสียงกันภายในครอบครัวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกครอบครัว แต่สำหรับครอบครัว Gallagher นั้นระดับความรุนแรงไปไกลกว่าครอบครัวทั่วไปมากมายหลายร้อยขุม จนสร้างภาพจำและจิตสำนึกที่ว่าการฟาดฟันถึงขั้นเสียเลือดเนื้อ ข้าวของพังระเนระนาด เป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว ถึงแม้ว่าท้ายที่สุด Peggie จะรวบรวมความกล้าพาลูกๆ ทั้ง 3 หนีออกมาตั้งตัวใหม่ด้วยลำแข้งตัวเองในบทบาทแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่วิชาศิลปะการต่อสู้แบบจอมยุทธ์พังโรงน้ำชาก็ฝังลึกในสามัญสำนึกบิดๆ เบี้ยวๆ ของพี่น้อง Gallagher อย่างเกินแก้ไข ด้วยประการฉะนี้เองประวัติศาสตร์ความมันระดับโลกจึงเริ่มต้นขึ้น

 

 

เมื่อคนแมวๆ กับคนสุนัขๆ ต้องมาดวลกัน

 

จากปากคำของ Noel เอง เขาเล่าว่าตัวเองมีนิสัยเหมือนแมว คือ รักสันโดษและความอิสระ ไม่ชอบให้ใครมายุ่มย่ามถ้าไม่อยู่ในภาวะที่เต็มใจ ถ้าอยากเข้าสังคมเมื่อไรเดี๋ยวออกไปหาเอง ส่วน Liam นิสัยเหมือนสุนัขที่ชอบเรียกร้องความสนใจตลอดเวลา อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องหาใครมาเล่นด้วย และเป็นสุนัขที่ไฮเปอร์กวนส้นทีนเสียด้วยสิ เมื่อมาเจอคนแมวๆ อย่าง Noel เขาจึงชอบใช้วิธียั่วแหย่ให้ Noel ทนไม่ไหว ต้องลุกขึ้นมาต่อกรด้วย ก็เข้าทาง Liam วนเป็นวงจรท็อกซิกแบบนี้มานานนม เพราะสองพี่น้องต้องแชร์ห้องนอนกันตั้งแต่เด็ก

 

ในช่วงวัยรุ่น Liam เคยเมามายปวดฉี่กลางดึก แต่ด้วยความมืดมนปนมักง่ายที่หาสวิตช์ไฟไม่เจอและขี้เกียจออกไปเข้าห้องน้ำ จึงปล่อยฉี่รดเครื่องเสียงสเตอริโอของรักของหวงของ Noel แบบพรมน้ำมนต์แบบทั่วๆ เสียเลย ไหนๆ ก็ถูกเปรียบเทียบว่านิสัยเหมือนสุนัขแล้ว ซึ่งทำให้ Noel โกรธมากจนไม่รู้จะชำระแค้นอย่างไร จริงๆ แล้วถ้าครอบครัว Gallagher มีโอกาสไปเที่ยวทะเลบางแสน ให้ Liam ก่อปราสาททรายขึ้นมาสักหลัง Noel อาจมีโอกาสใช้นิสัยแมวๆ แก้แค้นโดยการฉี่รดปราสาททรายเลยก็ได้ เหมือนที่แมวชอบขับถ่ายลงในกระบะทรายแล้วไถกลบจนราบเรียบ

 

จากปากคำของ Christine Mary Biller อดีตผู้จัดการวง Oasis ให้ความเห็นว่า “Noel เป็นคนที่มีปุ่มกดชนวนระเบิดอยู่เต็มไปหมด และ Liam ก็เป็นคนที่มีนิ้วมือซนๆ เยอะแยะที่พร้อมจะกดปุ่มเหล่านั้นตลอดเวลา” นั่นแหละคือที่มาของพฤติกรรมสุด Rock ‘n’ Roll ของคณะ Oasis

 

 

ดราม่าของจริงไม่อิงบท การมาก่อนกาลของการเล่นจริงเจ็บจริงก่อนยุคโซเชียลมีเดีย

 

ต้องยอมรับว่าเรื่องดราม่าตบตีกันของพี่น้อง Gallagher ในยุค 90 นั้นเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนพอๆ กับงานเพลงของพวกเขาเลยก็ว่าได้ ในยุคที่โทรทัศน์มีให้ดูไม่กี่ช่อง อินเทอร์เน็ตยังไม่เป็นสาธารณูปโภคในครัวเรือน สิ่งที่มันกว่าซีรีส์หรือซิตคอมก็คือเรื่องดราม่าคนดังที่มาก่อนกาล ซึ่งเรื่องตบตีระหว่าง Noel กับ Liam ช่างจริงยิ่งกว่า และเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าการระดมสมองของทีมเขียนบทละครชั้นครู จึงไม่แปลกที่เมื่อมาถึงยุคนี้ที่มีการสื่อสารรวดเร็วคมชัดเพียบพร้อม ละครหลังข่าวจึงโดนดิสรัปต์ ถูกขโมยเรตติ้งโดยรายการประเภทเกาะติดสถานการณ์ดราม่าคนดัง ซึ่งมีความบู๊ระดับเล่นจริงใส่สด เร้าใจคนดูกว่าเป็นไหนๆ

 

ลองนึกดูเล่นๆ สิ ถ้าสมมติว่า Oasis เกิดช้า ขยับไทม์ไลน์ลงมาเป็นศิลปิน Gen Z ในช่วงนี้ เรื่องวุ่นๆ คงจะบ้าบอหนักข้อกว่ายิ่งกว่า เช่นว่าแทนที่จะตั้งตนเป็นศัตรูกับวง Blur สองพี่น้องอาจเบนเป้าหมายไปแว้งกัด Billie Eilish กับ Finneas O’Connell คู่พี่น้องที่สมานฉันท์ สร้างสรรค์ผลงานเพลงด้วยกันอย่างกุ๊กกิ๊กเป็นปี่เป็นขลุ่ยแทนก็ได้

 

เรื่องราววีรกรรมของพี่น้อง Gallagher มีออกมาให้เห็นแทบจะรายสัปดาห์ เป็นอาหารอันโอชะของสื่อมวลชนในยุคนั้น และยังขยี้เป็นมุกขำขัน เมื่อเกิดเหตุการณ์ทะเลาะกันระหว่างการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร NME ในช่วงที่วงกำลังเริ่มดัง และเทปบันทึกเสียงวันนั้นก็ถูกเอาไปทำเป็น Bootleg CD วางขายเป็นกิจจะลักษณะ โดยใช้ชื่อซิงเกิลว่า Wibbling Rivalry โดยศิลปิน Oas*s ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีเนื้อหาสลักสำคัญอะไรเมื่อเทียบกับสังเวียนแมตช์อื่นๆ ของพี่น้องคู่นี้ นอกจากฉากแอ็กชันลีลาการขว้างปาโทรทัศน์ที่เกือบจะกระเด็นออกนอกหน้าต่างไปเฉียดฉิว

 

ว่าแต่ใครจะบ้าซื้อ CD มาฟังพี่น้องทะเลาะกันยาว 14 นาที? ไม่รู้สิ แต่ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น พร้อมหลักฐานตามนี้…อวดปนอายนะนี่

 

(What’s the story) Sibling Rivalry? – 5 เรื่องมันๆ ที่พี่น้องตีกันจนเกิดประวัติศาสตร์

 

เอาละ เรามาสำรวจพงศาวดารกันดูว่ามีศึกสายเลือดครั้งใดบ้างที่เข้มข้นดุจละครจากช่องหลายสี และเป็นหมุดหมายสำคัญให้เป็นตำนานเล่าขานสืบไป ไหนๆ พวกเราก็ชอบเรื่องดราม่าตบตีกันมากกว่าเรื่องปรองดองจืดๆ เป็นของแน่นอนอยู่แล้ว

 

1. ศึกทัวร์สหรัฐอเมริกาพาเพลินจนเกินเหตุ (1994)

 

เป็นเรื่องที่รู้กันดีในหมู่วงดนตรีและต้นสังกัดในอังกฤษว่าการนำพาผลงานไปแสวงหาความสำเร็จในสหรัฐฯ นั้นเป็นเรื่องลำบากยากเข็ญไม่เบา แม้กระทั่งวงคู่ปรับหมายเลขหนึ่งของสองพี่น้องอย่างวง Blur ก็เคยแป้ก คอตกกลับบ้านมาแล้ว หลังจากความพยายามบุกตลาดสหรัฐฯ ในวันที่กระแสเพลงกรันจ์ยังเชี่ยวกราก

 

Oasis เองในช่วงเวลานั้นก็เหมือนจะมีคลื่นใต้น้ำเรื่องการเมืองภายในวง Noel และ Liam คอยเขม่นกันเป็นระยะๆ เรื่องการแย่งชิงความเป็นผู้นำในวง และการทัวร์สหรัฐฯ อันแสนกดดันในปี 1994 ก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในชั้นบรรยากาศมาคุเป็นอย่างดี

 

จนกระทั่งมาถึงลอสแอนเจลิส วงและทีมงานก็พบกับยามหัศจรรย์ที่ใครสักคนเอามาให้ เพราะหวังบรรเทาความตึงเครียด (เด็กๆ ไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่างนะจ๊ะ) ทุกคนเข้าใจว่ามันคือ ‘โคเคน’ จึงพร้อมใจกันซี้ดซ้าดกันอย่างหนัก เพื่อหวังจะนำพาความสนุกสนานดั่งดอกไม้บาน Feeling Supersonic คลายเครียด แต่ปรากฏจริงๆ แล้วมันคือ Crystal Meth หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า ‘ยาไอซ์’ ซึ่งให้เอฟเฟกต์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ อาการพารานอยด์ คันยุบยิบ หัวใจเต้นถี่ และที่สำคัญคือ ‘นอนไม่หลับ’ ไหนๆ ก็ไม่หลับไม่นอนกันแล้ว ทั้งทีมจึงนั่งปาดไอซ์กันต่อเนื่องไม่หลับไม่นอน 2 วัน 2 คืน

 

 

จนกระทั่งถึงเวลาขึ้นแสดง ซึ่งคืนนั้นเป็นคิวของ Whisky a Go Go ไนต์คลับชื่อดังแห่งลอสแอนเจลิส สมาชิกทุกคนต่างอยู่ในสภาพซอมบี้ และทีมงานที่ก่งก๊งไปด้วยกันเขียนลิสต์เพลงแบบมั่วซั่ว คือ Noel ได้ลิสต์ที่เรียงเพลงไม่เหมือนกับสมาชิกคนอื่นๆ จากปากคำของ Mark Coyle ซาวด์เอ็นจิเนียร์ของวงกล่าวว่า “พวกเขาไม่เคยเละเทะขนาดนั้นมาก่อน เหมือนทั้งวงจะเล่นคนละเพลงในเวลาเดียวกัน โชว์จึงล่มไม่เป็นท่า”

 

ความตึงเครียดระหว่าง Noel และ Liam แสดงออกมาอย่างชัดเจนบนเวที Liam เดินไปเสพไอซ์หลังตู้แอมป์กีตาร์ตลอดทั้งโชว์ และด่าทอผู้เข้าชมอย่างไม่สนใจอะไรใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งยังขว้างแทมบูรินแห่งความรักไปโดนไหล่ Noel (ไม่ได้โดนศีรษะเหมือนที่สื่อเขาประโคมข่าวกันนะ จากปากคำของ Noel เอง) หลังจากโชว์หายนะครั้งนั้นทำให้ Noel ดำดิ่งเป็นอย่างมากกับความเจ็บปวดที่แบกไว้คนเดียว โดยที่ Liam และวงยังคงเมามายและไม่สำนึกกับโชว์หายนะครั้งนั้น

 

เช้าวันรุ่งขึ้นก่อนที่ Noel จะหายตัวไป เขาทิ้งจดหมายสอดเข้าไปใต้ประตูห้องพักของ Liam ว่า “เราจะยังเป็นพี่น้องกันอยู่ได้อย่างไรวะ?”

 

การหายตัวไปของ Noel ในครั้งนั้นเอง ทำให้สมาชิกวงเริ่มตระหนักถึงความฉิบหายขึ้นมาแล้วว่าชะตากรรมของวงจะเป็นอย่างไรต่อ เมื่อสมาชิกคนสำคัญที่เป็นผู้แต่งเพลงทุกเพลงของวงหายไป โดยที่ไม่รู้ว่าเขาจะกลับมาร่วมวงอีกหรือไม่

 

ภายหลังอีกไม่กี่วันทีมงานก็ตามหา Noel จนพบว่าเขาหนีไปเลียแผลใจที่ซานฟราสซิกโก ที่บ้านของกิ๊กสาวที่เจอกันตอนไปแสดงที่นั่น และเป็นที่มาของเพลงอะคูสติกอารมณ์เปลี่ยวอย่าง Talk Tonight ซึ่งภายหลังได้รับการบรรจุเป็น B-Side ของซิงเกิล Some Might Say

 

 

แล้วศึกนี้ใครชนะ? เมื่อ Noel กลับมาร่วมวงอีกครั้ง วงก็เกรงใจและคุมความประพฤติกันอย่างเห็นได้ชัด ยกเว้น Liam ที่ยังทำฟอร์มกร่างและให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “ช่างมันสิ จดหมายจากคนอ่อนแอฉบับนั้น ข้าได้เอามันมามวนซี้ดไอซ์เข้าไป แล้วเมาต่อไปเรียบร้อยแล้ว” อย่างไรก็ตาม รูปการณ์นี้ต้องยกให้ Noel เป็นผู้ชนะในยกนี้ เพราะพลวัตของอำนาจในวงได้มาอยู่ข้าง Noel อย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่นั้นมา

 

เรื่องมันๆ กับวีรกรรมสุดแสบของสองพี่น้องยังคงมีอีกเยอะ นี่เป็นแค่เพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังตามมาด้วยจุดพลิกผันและจุดเปลี่ยนผ่านอีกหลายตลบ เพราะฉะนั้นรออ่านตอนต่อไปได้เลย แล้วคุณจะค้นพบประสบการณ์การฟังเพลงของ Oasis ในอีกมิติแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนจากที่เคยฟังหลายๆ ครั้ง

 

อ้างอิง:

The post Oasis ไขความกระจ่างของเดชเลือดข้นคนผยอง สองพี่น้อง Gallagher appeared first on THE STANDARD.

]]>
ตากใบ 2567: รัฐลอยนวลพ้นผิด https://thestandard.co/tak-bai-2567/ Mon, 21 Oct 2024 07:34:09 +0000 https://thestandard.co/?p=998435 ตากใบ

ก้าวที่พลาดของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลแพทองธาร ความล่าช้าแ […]

The post ตากใบ 2567: รัฐลอยนวลพ้นผิด appeared first on THE STANDARD.

]]>
ตากใบ

ก้าวที่พลาดของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลแพทองธาร

ความล่าช้าและลักลั่นของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลในการตัดสินใจรับผิดชอบต่อกรณีผู้ต้องหาคดี ตากใบ โดยเฉพาะกรณี พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ที่เป็น สส. ของพรรคเพื่อไทย และบทบาทของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งแน่นอนก็ย่อมถูกตั้งคำถามจากประชาชนว่าฐานคิดเรื่องนี้ไม่ได้วางหลักอยู่ที่ประเด็นสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรมและความรับผิดรับชอบทางการเมือง แต่กลับเป็นว่าความล่าช้าและไม่จริงจังของหัวหน้าฝ่ายบริหารถูกทำให้เหลือแต่เพียงมิติทางการเมือง น้ำหนักแห่งความรับผิดรับชอบทางการเมืองที่แสดงออกต่อกรณี ตากใบ เหลือแต่เพียงเป็นการกระทำของบุคคล วิธีลัดและง่ายที่สุดคือการให้ผู้ต้องหาลาออกจากสมาชิกพรรคการเมือง และพรรคก็บอกว่าไม่เกี่ยวข้องอีกต่อไป

 

ระบบแห่งความไม่รับผิดชอบทางการเมืองของพรรคการเมืองด้วยวิธีผ่านกฎ กติกา กฎหมาย ต่อความตายของพี่น้องพลเมืองร่วมสังคมไทยเรา เป็นการกระทำที่ตอกย้ำให้เห็นถึงหลักคิด หลักปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 20 ปีผ่านมา รวมทั้งเลือกจะหลีกเลี่ยงเผชิญหน้ากับความจริงผ่านกระบวนยุติธรรม อันเป็นวิธีการเดิมๆ ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ของรัฐไทยที่กระทำความรุนแรงต่อประชาชนแล้วลอยนวลพ้นผิด

 

ผีการก่อการร้ายสากลกับแนวคิดความมั่นคง

ความผิดพลาดของการวิเคราะห์สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยมิติความมั่นคงแบบรัฐ โดยเชื่อมต่อกับการก่อการร้ายสากล นับตั้งแต่ขวบปีแรกจนถึงปัจจุบันของบรรดาอดีตแม่ทัพ นักวิชาการฝ่ายความมั่นคง นักสื่อสารมวลชน กรอบคิดเช่นนี้นำพาพวกเขาให้เชื่อว่าขบวนการติดอาวุธในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการก่อการร้ายสากล และอาจจะมีกลุ่มสนับสนุนจากต่างชาติ มีนักรบต่างชาติเข้ามาร่วมขบวนการต่อสู้ที่ชายแดนใต้/ปาตานี หากทว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมาก็ไม่พบหลักฐานใดๆ ในการเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายสากล ไม่ว่าขบวนการเจมาห์ อิสลามิยาห์, อัลกออิดะห์, ไอซิส ฯลฯ

 

การมองปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ผูกโยงกับการก่อการร้ายสากล ทำให้การแก้ปัญหาติดกับมิติศาสนาหรือการก่อตั้งรัฐอิสลาม ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมาก่อนเรื่องการก่อการร้ายสากล หรือการเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 (9/11) การสมาทานความคิดสงครามต่อต้านการก่อการร้ายทำให้ข้ามมิติประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม ฯลฯ ของผู้คนในพื้นที่ (ความเป็นมลายู) กับลักษณะเฉพาะของรัฐไทย (ความเป็นไทย) ที่มีปัญหามาอย่างยาวนาน ทำให้การแก้ปัญหาไม่ไปสู่ใจกลางความต้องการของพื้นที่และมองเหลือแต่เพียงมิติทางด้านศาสนาเท่านั้น ทำให้เกิดการขยายความคิดเป็นการปะทะกันระหว่างผู้นับถือศาสนาอิสลามกับศาสนาอื่นๆ มองไม่เห็นความหลากหลายในตัวคนมุสลิม/มลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม

 

ซ้ำร้ายวิธีคิดแบบความมั่นคงยังไม่สามารถแยกมิตรแยกศัตรู สับสนปนเป อย่างเช่นหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบางหน่วยงานที่เชื่อมโยงนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์แนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อการ และตีตราว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัย โดยได้เพียงแค่ข้อมูลที่เปิดเผยในที่สาธารณะจากสำนักข่าวและสื่อออนไลน์ในอินเทอร์เน็ต ฯลฯ

 

วิธีการที่มักง่ายและการทำงานแบบตื้นเขินอย่างยาวนานส่งผลให้ทางเลือกการแก้ปัญหาเป็นไปในลักษณะการกดปราบ ทั้งลดทอนการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทางการเมืองที่ต้องมุ่งเน้นในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ผู้คนในพื้นที่ใช้กลไกรัฐสภาเป็นทางออก ไม่ใช่มองเห็นว่ากลไกรัฐสภากลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ BRN ซึ่งเป็นความผิดพลาดมหาศาลของเหล่านักคิด นักวิชาการฝ่ายความมั่นคง ที่ใช้กรอบคิดความมั่นคงแบบสงครามเย็นมาอธิบายความรุนแรงที่มีพลวัตสูงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสมือนหนึ่งท่านหลับไปตลอดเวลา 20 ปี แล้วเพิ่งฟื้นตื่นมาในปีที่ 20 จึงหยิบฉวยความฝันค้าง เอากรอบคิดในอดีตมาอธิบายปัจจุบันอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้คนในพื้นที่โดยไร้หลักฐานใดๆ ที่เชื่อมโยงกับการก่อการร้ายสากล เป็นการปลุกผีที่มาหลอกคนในตอนกลางวันแสกๆ

 

หน้าตาของผู้ต่อสู้คดีตากใบกับรัฐ

ญาติมิตรและครอบครัวของผู้สูญเสียชีวิต โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (ภรรยา/แม่) และลูกของพวกเขา ด้วยสภาพความเป็นจริงพวกเขาแทบไม่คล่องแคล่วในการใช้ภาษาไทย และมิต้องพูดถึงความรู้ทางด้านกฎหมายก็ยิ่งห่างไกลนัก การนำพาตัวเองไปที่ศาลและตามหน่วยงานของรัฐต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ศาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทำตามกรอบภาระหน้าที่ของตัวเอง ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่พวกเขาไม่คิดมาก่อน ไม่นับรวมที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและสูญเสียเวลาหลายปีไปกับเรื่องทั้งหมดนี้

 

ทั้งหมดคือความพยายามของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่เคยมีอำนาจเท่าเทียมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการเรียกร้องความยุติธรรม นี่คือสภาพความเป็นจริงของผู้คนที่ต้องสู้เพื่อให้ได้ความยุติธรรม

 

ความยุติธรรมในชั้นศาลถือว่าเป็นพื้นที่สุดท้ายของครอบครัวและญาติของผู้สูญเสียชีวิตในเหตุการณ์ ตากใบ การลุกขึ้นมาทวงถามหาความยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมาสะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรม ทั้งยังสื่อความหมายว่าเขาเหล่านั้นยังคงเลือกใช้การแก้ปัญหาด้วยสิทธิพลเมืองของประเทศไทยตามกฎหมาย มิได้เลือกใช้ความรุนแรงที่ผิดกฎหมายในการเรียกคืนความยุติธรรมแต่อย่างใด

 

ความหวังและความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยคือหนทางเดียวที่จะปกป้องไม่ให้คนที่ถูกกระทำเลือกใช้ความรุนแรงเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างไม่รู้จบ แต่หากฟากฝั่งรัฐด้อยค่าหนทางที่เขาเลือกโดยการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่ควรทำตามกฎหมายแล้วนั้น ความสงบในพื้นที่ก็ยังคงเป็นความหวังอีกยาวไกลอย่างแน่นอน คำถามคือเราจะเริ่มนับหนึ่งเพื่อความยุติธรรม หรือเราจะนับต่อปีที่ 21 เพื่อตามหาคนผิดที่ลอยนวล

 

การชุมนุมของชาวบ้านที่ตากใบคือสันติวิธี

การอธิบายที่เรียวแคบและลดทอนข้อเท็จจริงของผู้เข้าชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบให้เหลือแต่มิติความมั่นคง โดยมองว่าเป็นการจัดตั้ง มีการระดมคน (Organize) และเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้ติดอาวุธ หากทว่าข้อเท็จจริงของผู้เข้าชุมนุมมีหลายเหตุผลด้วยกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม โศกนาฏกรรมตากใบถือว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่รัฐและต้องมีคนรับผิดชอบที่มีชาวบ้านเสียชีวิต การไม่แยกแยะ จำแนกวิธีการเรียกร้องสิทธิ ใช้สิทธิต่อสู้เรียกร้องอย่างสันติ กับการเคลื่อนไหวติดอาวุธ เป็นเนื้อเดียวกัน และมองแบบเหมารวมทั้งหมดว่าต้องเป็นขบวนการเดียวกัน วิธีการคิดและมองเช่นนี้ของหน่วยงานความมั่นคง บวกกับกระแสการก่อการร้ายสากล ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติกับผู้ชุมนุมอย่างไร้มนุษยธรรมราวกับเป็นอริศัตรูของชาติ ทั้งที่ข้อเท็จจริงผู้ชุมนุมพันกว่าคนไม่ได้มีอาวุธหนักและทำให้เจ้าหน้าที่ต้องได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

 

‘มุมมองใหม่’ ที่นักวิชาการเสนอต่อเหตุการณ์ตากใบนั้น นอกจากจะไม่มีอะไรใหม่ด้วยกรอบคิดความมั่นคงเดิมแล้ว ยังตอกลิ่มการด้อยค่าชีวิตพลเมืองภายใต้รัฐไทยในเหตุการณ์ประท้วงอย่างสันติเมื่อ 20 ปีก่อนด้วยการอธิบายว่าเหตุการณ์ตากใบต่างกับเหตุการณ์ประท้วงอื่นๆ ด้วย เพราะ ‘ไม่มีการกราดยิง’ การตายของคน 75 ชีวิตนั้นเป็น ‘ความผิดพลาด’ จากการขนย้าย (เท่านั้น?) คำอธิบายเช่นนี้เองที่ส่งเสริมรักษาให้ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ยังคงอยู่ในสังคมไทยต่อเนื่องจนไม่เห็นหนทางสิ้นสุด

 

ความยุติธรรมคือหนทางสู่ความสมานฉันท์

การเปิดเผยความจริงและความยุติธรรมกรณีตากใบคือโอกาสสำคัญในการฟื้นฟูความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อรัฐ ย่อมส่งผลต่อแผนการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่จะเริ่มต้นขึ้นใหม่ อีกทั้งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมที่ประเทศไทยภายใต้รัฐบาลของ แพทองธาร ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) วาระปี 2568-2570

 

แต่ทั้งหมดจะไม่มีประโยชน์ใดๆ หากรัฐบาลยังเลือกที่จะก้าวในกรอบความคิดความมั่นคงแบบเดิม ซึ่งเป็นรากฐานของรัฐลอยนวลพ้นผิด (Impunity State) ที่อนุญาตให้รัฐผลิตซ้ำด้วยการกระทำความรุนแรงต่อประชาชนอย่างโจ่งแจ้ง นำไปสู่การพ้นผิดลอยนวลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

คำถามจึงมีอยู่ว่า การเปิดเผยความจริงและให้ความยุติธรรมในเหตุการณ์ตากใบ เราจะมองเป็นเรื่องการเมืองหรือความเป็นมนุษย์?

The post ตากใบ 2567: รัฐลอยนวลพ้นผิด appeared first on THE STANDARD.

]]>
วัฒนธรรมชาติพันธุ์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย https://thestandard.co/preserving-thailands-diverse-ethnic-cultures/ Fri, 11 Oct 2024 14:07:01 +0000 https://thestandard.co/?p=995053 วัฒนธรรมชาติพันธุ์

ปัญหาสำคัญที่สุดแต่ถูกละเลยมากที่สุดของประเทศเรา คือ กา […]

The post วัฒนธรรมชาติพันธุ์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย appeared first on THE STANDARD.

]]>
วัฒนธรรมชาติพันธุ์

ปัญหาสำคัญที่สุดแต่ถูกละเลยมากที่สุดของประเทศเรา คือ การปกป้องมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และเจ้าของวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย

 

กลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 60 กลุ่มในประเทศไทยเป็นผู้สร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรมอันมั่งคั่งให้กับสังคมไทย คือ ‘ทุนทางวัฒนธรรม’ ของชาติที่สามารถนำมาพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์เองที่สั่งสมและสืบทอดประสบการณ์ทางวัฒนธรรมมาหลายศตวรรษ จนก่อตัวเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่เชื่อมโยงสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับธรรมชาติ

 

แต่ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์กำลังเผชิญกับสถานการณ์ท้าทาย สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอัตลักษณ์และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เพราะขาดการคุ้มครองทางกฎหมายที่รับรองสิทธิทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

 

แม้ว่าในวันนี้สังคมไทยกำลังจะมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นกลไกเชิงนโยบายในการปกป้องและคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ก้าวที่สำคัญนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างแท้จริง

 

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นต้นทุนวัฒนธรรม เพราะนอกจากจะนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็น ‘ทุนความรู้’ ที่ใช้จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลและยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ความรู้เรื่องป่าของชาวปกาเกอะญอที่เกิดจากการสังเกตคุณลักษณะและรูปแบบของสภาพทางธรรมชาติของสิ่งแวดล้อมรอบตัว

 

ในสายตาของชาวปกาเกอะญอ ป่าไม่ได้มีเพียงต้นไม้และสัตว์ป่า แต่คือพื้นที่แห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทำให้สามารถจำแนกป่าของชาวปกาเกอะญอที่เรียกว่า ‘เกอะเนอ’ (ป่าดงดิบ) ได้เป็น เกอะเนอหมื่อ คือ ป่าดิบชื้นหรือป่าผู้หญิง และเกอะเนอพา คือ ป่าดิบเขาหรือป่าผู้ชาย

 

หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง ชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยอีค่าง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้นำความรู้เรื่องป่าของชาวปกาเกอะญอมาใช้จัดการป่าในชุมชน

ภาพ: Lakpa Nuri Sherpa / AIPP (The Asia Indigenous Peoples Pact)

 

ความรู้เรื่องป่าอย่างลึกซึ้งนี้ทำให้ หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง สตรีชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยอีค่าง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ สามารถจัดสรรพื้นที่ป่าขนาด 60 ไร่ให้เป็นป่าเพื่อผู้หญิง เพื่อสืบทอดองค์ความรู้สตรีชาวปกาเกอะญอ

 

แม้จะเป็นป่าเพื่อผู้หญิง แต่จริงๆ แล้วคือป่าของทุกคน เพราะมีอาหารและสมุนไพรให้กับทุกเพศทุกวัยในชุมชน ถือเป็นรูปธรรมของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งชาติ

 

กรณีของชาวมานิ กลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆ ปัจจุบันเหลือประชากรอยู่ไม่ถึง 600 คน วิถีชีวิตในป่าแถบเทือกเขาบรรทัดทำให้ชาวมานิผูกพันและเรียนรู้ธรรมชาติ จนมีความรู้เรื่องสมุนไพรที่สามารถนำมาทำเป็นอาวุธและยารักษาโรคต่างๆ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์จึงเป็นคลังความรู้ที่ใช้เป็นภูมิคุ้มกัน รับมือ และต่อรอง กับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบกับชุมชน ถือเป็นศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ที่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี

 

ภูมิปัญญาการทำลูกดอกอาบยางไม้ที่มีฤทธิ์เป็นยาชาใช้สำหรับการล่าสัตว์ของชาวมานิแถบเทือกเขาบรรทัด ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่าไม้และความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรต่างๆ ในป่า

ภาพ: ภัทราพันธ์ อุดมศรี

 

วิถีชีวิตของชาวมานิแถบเทือกเขาบรรทัดที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ

ภาพ: ภัทราพันธ์ อุดมศรี

 

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ยังสำคัญต่อประเทศในฐานะหลักประกันการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะยิ่งมีมรดกภูมิปัญญาที่หลากหลายก็ยิ่งมีทุนความรู้ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มรดกภูมิปัญญาไม่เพียงแต่มีคุณค่า แต่สามารถสร้างมูลค่า เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนและประเทศ หลายชุมชนชาติพันธุ์นำเอาภูมิปัญญามาต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งจากฐานราก เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน

 

ขณะเดียวกันในระดับโลกได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ โดยหันมาให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม จนเกิดเป็นกระแสกระบวนทัศน์ใหม่ของการพัฒนาที่ยอมรับบทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชนชาติพันธุ์ ในการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) โดย UNESCO ได้เห็นถึงความสำคัญดังกล่าวและระบุว่า

 

“ชุมชนชาติพันธุ์มีบทบาทพิเศษและเฉพาะเจาะจงในการจัดการมรดกอย่างยั่งยืน โดยเป็นผู้สร้าง, ส่งเสริม, รักษา และสร้างมรดกเหล่านี้ขึ้นใหม่ ดังนั้นจึงเป็นผู้ที่ช่วยทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ของมนุษย์นั้นรุ่มรวยยิ่งขึ้น”

 

พิธีบวชป่าของชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ด้วยแนวคิด ‘อยู่ร่วม อยู่รอด’ สะท้อนวิธีคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนด้วยวิถีภูมิปัญญา

ภาพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

แต่น่าเสียดายที่สังคมไทยยังไม่เข้าใจและยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยมองความเป็นชาติพันธุ์เป็นความแตกต่าง ความรู้เกี่ยวกับชาติพันธุ์จึงถูกลดทอนคุณค่า ขณะที่นโยบายและกฎหมายก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางวัฒนธรรม กลายเป็นการจำกัดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ จนสูญเสียความรู้และทักษะแบบดั้งเดิม ทำให้ชุมชนชาติพันธุ์ถูกละเลย สูญเสียโอกาสใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

หลายกรณีเกิดเป็นความขัดแย้งรุนแรง เช่น กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ที่ถูกอพยพจากพื้นที่ดั้งเดิมที่เคยสามารถดำรงวิถีชีวิตและพึ่งตนเองได้ แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นชุมชนที่ต้องปรับวิถีชีวิตและสูญเสียศักยภาพในการพึ่งตนเอง

 

พิธีบวชป่าของชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ด้วยแนวคิด ‘อยู่ร่วม อยู่รอด’ สะท้อนวิธีคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนด้วยวิถีภูมิปัญญา

ภาพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

ตลอด 30 ปีหลังอพยพย้ายชุมชน แม้รัฐจะมีความพยายามแก้ไขปัญหา แต่ความขัดแย้งกลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะแนวคิดและกระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ กลับทำให้ปัญหามีความซับซ้อน กลายเป็นความเปราะบางที่สร้างความอ่อนไหวทางวัฒนธรรมให้กับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มากยิ่งขึ้น

 

ในขณะที่ความท้าทายที่กลุ่มชาติพันธุ์เผชิญอยู่ทวีความรุนแรงขึ้น กระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ให้ความสำคัญกับความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นในฐานะทุนวัฒนธรรม ทำให้หลายภาคส่วนในสังคมไทยหันมายอมรับและเห็นคุณค่าความเป็นชาติพันธุ์ ทั้งภาครัฐโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ภาคการเมืองโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) รวมทั้งภาคประชาชนโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) ได้ร่วมกันผลักดันกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมชีวิตชาติพันธุ์ เพื่อโอบรับความหลากหลายของทุกกลุ่มวัฒนธรรม

 

โดยคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม และปรับกระบวนทัศน์จากการให้ความช่วยเหลือแบบประชาสงเคราะห์ที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์สูญเสียความสามารถพึ่งพาตนเอง มาเป็นการเสริมศักยภาพที่เชื่อมั่นในศักดิ์ศรีของความเป็นชาติพันธุ์ ทำให้มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการยอมรับและนำมาเป็นทุนในการพัฒนาประเทศ สร้างความเสมอภาคบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ

 

ถือเป็นก้าวสำคัญของสังคมไทยที่กำลังจะมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม เพื่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของกลุ่มชาติพันธุ์ และรักษาไว้ซึ่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่หลอมรวมมาจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์

 

ชาวไทโส้ บ้านโพนจาน อำเภอโพนสวรรค์ จังหวัดนครพนม กับการสืบทอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าให้กับเยาวชน

ภาพ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

กฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของสังคมไทย ที่จะสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ยอมรับ และเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม กฎหมายนี้จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้รับการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิในฐานะพลเมืองไทยอย่างเสมอภาค สร้างความมั่นคงในชีวิต และเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้แสดงตัวตนทางวัฒนธรรม โดยสนับสนุนและส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะทุนวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

 

นับตั้งแต่ปี 2562 ที่มีการผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง ปี 2567 ถือเป็นปีที่มีความก้าวหน้าและมีความหมายอย่างยิ่งกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย เพราะเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. และได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณารายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จนแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ล่าสุดร่างกฎหมายฉบับนี้ได้บรรจุเป็นวาระการพิจารณาตามกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อลงมติเห็นชอบ โดยคาดว่าภายในต้นปี 2568 ประเทศไทยจะมีกฎหมายชาติพันธุ์ฉบับแรก

 

ห้วงเวลานี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่คนไทยทุกคนจะได้เปิดใจเรียนรู้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์มิใช่ใครอื่น แต่คือพลังสร้างสรรค์ของประเทศ ที่ควรโอบนับรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย จึงอยากเชิญชวนทุกคนในสังคมไทยร่วมกันผลักดันกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะกฎหมายนี้ไม่ได้มีความสำคัญเพียงเพื่อคุ้มครองความหลากหลายของชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่มีความสำคัญกับคนไทยทุกคน เพราะการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์คือการรักษามรดกทางภูมิปัญญาของชาติ ที่จะใช้เพื่อพัฒนาประเทศให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

 


คำอธิบายภาพแรก: ชาวมานิแถบเทือกเขาบรรทัด กับ ‘บอเลา’ อาวุธประจำกายชายชาวมานิ

ภาพ: ภัทราพันธ์ อุดมศรี

 

ผู้เขียน: อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

 

Heritage Matters โดยสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคอลัมน์สำหรับเผยแพร่บทสนทนาและแนวคิดเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมทางสถาปัตยกรรม วัฒนธรรม และธรรมชาติ ของไทยและประเทศใกล้เคียง แต่ละฉบับมีผู้เขียนที่แตกต่างกัน ทัศนะและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นของผู้เขียนบทความนั้น

The post วัฒนธรรมชาติพันธุ์ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่ควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย appeared first on THE STANDARD.

]]>
แจกเงินแบบจีน: ไม่ใช่โปรยเงินเฮลิคอปเตอร์มันนี่ https://thestandard.co/chinese-style-money-giveaway/ Fri, 11 Oct 2024 11:21:10 +0000 https://thestandard.co/?p=994994

กระแสข่าวการแจกเงินของรัฐบาลจีนในช่วงก่อนวันชาติจีนที่ผ […]

The post แจกเงินแบบจีน: ไม่ใช่โปรยเงินเฮลิคอปเตอร์มันนี่ appeared first on THE STANDARD.

]]>

กระแสข่าวการแจกเงินของรัฐบาลจีนในช่วงก่อนวันชาติจีนที่ผ่านมาได้รับการพูดถึงอย่างมากบนหน้าสื่อหลายสำนักของไทย และมีการใช้คำศัพท์ที่ฟังดูน่าตื่นเต้น เช่น จีนแจกเงินสุดฉ่ำ หรือจีนแจกเงิน 7 แสนล้านรับวันชาติจีน รวมทั้งบางสื่อพยายามที่จะเปรียบเทียบกับมาตรการแจกเงินของรัฐบาลไทย เช่น จีนเอาบ้าง! แจกเงินประชาชน หรือจีนเอาด้วย! ไทย-จีน แจกเงินเหมือนกัน เป็นต้น

 

ในความเป็นจริงการแจกเงินแบบจีนในยุคสีจิ้นผิงไม่ใช่การแจกเงินในลักษณะ ‘เฮลิคอปเตอร์มันนี่’ บทความนี้จึงจะมาวิเคราะห์การแจกเงินแบบจีนในประเด็นต่างๆ เช่น จีนแจกเงินอย่างไร, แจกให้ใคร, หน่วยงานไหนรับผิดชอบ เป็นต้น โดยสรุปในแต่ละประเด็นดังนี้

 

ก่อนอื่นขอเริ่มจากประเด็นแรก เพื่อทำความเข้าใจว่าเฮลิคอปเตอร์มันนี่คืออะไร

 

โดยทั่วไปการแจกเงินในลักษณะเฮลิคอปเตอร์มันนี่จะเปรียบเสมือนการโปรยเงินจากเฮลิคอปเตอร์ เพื่อแจกจ่ายเงินที่หล่นลงมาสู่พื้นดินให้กับประชาชน เป็นการอัดฉีดแจกเงินจำนวนมากให้ถึงมือประชาชนโดยเร็ว เพื่อนำไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

สำหรับนโยบายดั้งเดิมในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่จะแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 50 ล้านคน โดยจะใช้งบประมาณราว 5.6 แสนล้านบาท จึงถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงินแจกให้เปล่าในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นเฮลิคอปเตอร์มันนี่

 

แต่การแจกเงินแบบจีนไม่ใช่เฮลิคอปเตอร์มันนี่ และที่สำคัญจีนในยุคสีจิ้นผิงจะไม่สนับสนุนการแจกเงินแบบถ้วนหน้า (Universal and Unconditional) เพราะการแจกเงินหรือแจกสิ่งของให้ประชาชน จนไม่ยอมทำงาน จะทำให้คนขี้เกียจ งอมืองอเท้า เฝ้ารอคอยการช่วยเหลือจากรัฐ สีจิ้นผิงมองว่าจะกลายเป็นปัญหาติดกับดักสวัสดิการ ดังนั้นจีนจะเน้นแจกเงินแบบมุ่งเป้า จะให้เงินช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มชาวจีนที่ยังคงยากจนข้นแค้น

 

ทั้งนี้ในเชิงวิชาการเฮลิคอปเตอร์มันนี่เป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ คือ Milton Friedman โดยมีลักษณะสำคัญ คือ ธนาคารกลางพิมพ์เงินแจกให้ถึงมือประชาชนโดยตรง (ไม่ต้องผ่านกลไกดอกเบี้ยหรือใช้นโยบายการเงิน) และจำนวนเงินที่จะให้ประชาชนต้องมีสเกลขนาดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ ที่สำคัญการใช้นโยบายเฮลิคอปเตอร์มันนี่ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในกรณีที่การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอื่นๆ ล้มเหลว

 

ประเด็นที่สอง แจกเงินแบบจีนเป็นอย่างไร, แจกให้ใคร, หน่วยงานไหนรับผิดชอบ

 

ในช่วงก่อนวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางการจีนได้แจกเงินให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง เช่น ชาวจีนที่ยากจนข้นแค้น, เด็กกำพร้า และผู้ที่ไร้บ้าน โดยหน่วยงานจีนที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงการคลัง และกระทรวงกิจการพลเรือนของจีน ได้ออกคำสั่งให้เร่งแจก ‘เงินอุดหนุนการดำรงชีพให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส’ ให้ครบภายในวันที่ 1 ตุลาคม และเป็นการแจกเงินแบบครั้งเดียวแบบมุ่งเป้า เพื่อบรรเทาความยากลำบากให้กับผู้ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง และในแง่วงเงินงบประมาณที่ใช้ในปีนี้ รัฐบาลจีนประกาศจัดสรรงบประมาณวงเงิน 1.54 แสนล้านหยวน เพื่ออุดหนุนและช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มผู้เปราะบาง

 

ทั้งนี้ตามข้อมูลของกระทรวงกิจการพลเรือน ประชากรจีนที่ยากจนข้นแค้น คือ มีรายได้น้อยกว่า 2.3 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.74 ล้านคน และกลุ่มเปราะบางในจีนที่จะได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนจากรัฐมีอยู่ประมาณ 40.4 ล้านคน

 

ที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลจีนในระดับมณฑลและท้องถิ่นยังได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้กับชาวจีนในท้องที่ของตน โดยใช้เงินงบประมาณของท้องถิ่นตนเอง เช่น รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ประกาศแจกคูปอง e-Coupon มูลค่าราว 500 ล้านหยวน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในเซี่ยงไฮ้ ผ่าน WeChat Pay โดยแบ่งเป็นการแจกคูปองสำหรับการรับประทานอาหารในร้านอาหาร รวม 360 ล้านหยวน, การอุดหนุนค่าที่พักในโรงแรม 90 ล้านหยวน, การให้ส่วนลดการชมภาพยนตร์ 30 ล้านหยวน และส่วนลดสำหรับกิจกรรมกีฬา เช่น การใช้บริการสระว่ายน้ำสาธารณะ อีก 20 ล้านหยวน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนในปีนี้ ได้แก่ บัณฑิตจบใหม่แต่ยังหางานทำไม่ได้ในช่วง 2 ปีหลังเรียนจบแล้ว โดยรัฐบาลจีนมีนโยบายสวัสดิการประกันสังคมให้แก่บัณฑิตจบใหม่กลุ่มนี้ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานต่อไป

 

ประเด็นที่สาม จีนเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสม (Right Timing) ในการแจกเงินให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อซื้อใจประชาชนในวาระสำคัญ นั่นคือ วันชาติจีน

 

รัฐบาลจีนรอจังหวะเวลาในการส่งเงินช่วยเหลือให้ถึงมือชาวจีนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปใช้จ่ายในวาระวันชาติจีน คือ วันที่ 1 ตุลาคม และในปีนี้เป็นวาระพิเศษครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแสดงให้เห็นถึง ‘ความรักและความห่วงใยของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนที่มีต่อชาวจีนที่กำลังเดือดร้อน เผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิต’

 

ดังนั้นทางการจีนตั้งใจเลือกจังหวะเวลาในการมอบเงินอุดหนุนค่าครองชีพในวาระสำคัญเช่นนี้ เพื่อให้ชาวจีนได้มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดยาว 1-7 ตุลาคม หรือ Golden Week เพื่อหวังกระตุ้นกำลังซื้อ เร่งการบริโภค และบรรเทาความกังวล เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของชาวจีนให้กล้าใช้เงินมากขึ้น ไม่เน้นประหยัดอดออมมากเกินไป จนทำให้การบริโภคในจีนไม่คึกคัก ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนยังคงอึมครึมซึมเซาในปีนี้

 

มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลจีนมักจะเลือกจังหวะเวลาในการมอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้หรือผู้เดือดร้อนในช่วงวาระสำคัญของชาติ ตัวอย่างเช่น ในปี 2015 ในวาระครบรอบวันสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจีนแจกเงินอุดหนุนให้แก่ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 คนละ 5,000 หยวน เป็นต้น

 

ประเด็นสุดท้าย การแจกเงินของจีนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการอัดฉีดบาซูก้าทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ให้เติบโตร้อยละ 5 ตามเป้าหมาย

 

สำหรับการแจกเงินให้กลุ่มผู้เปราะบางในครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการอัดฉีดบาซูก้าทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และเพื่อให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้สามารถขยายตัวเติบโตได้ตามเป้าหมายร้อยละ 5

 

ก่อนหน้าจะมีการประกาศแจกเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ รัฐบาลจีนก็ได้เร่งใช้ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวจีน และหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เช่น ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของจีนประกาศลดอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) และลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Reverse Repurchase Rate) ระยะ 7 วัน รวมทั้งนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน และลดเงินวางดาวน์เพื่อซื้อบ้านหลังที่ 2

 

นอกจากนี้ทางการจีนยังใช้นโยบายตลาดทุน เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้น เช่น การตั้งกองทุนพยุงตลาดหุ้น, การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์และประกันสามารถเข้าถึงเงินทุนของธนาคารกลาง เพื่อนำไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ และธนาคารกลางจีนยังมีโครงการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ (Swap Facility) วงเงินเบื้องต้น 5 แสนล้านหยวน เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ กองทุน และบริษัทประกัน ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อสนับสนุนตลาดหุ้น เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในตลาดทุนของจีน

 

โดยสรุปรัฐบาลจีนต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก เพื่อที่จะประคับประคองเศรษฐกิจจีนในปี 2024 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ร้อยละ 5 รวมทั้งการแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ดี การแจกเงินแบบจีนไม่ใช่การเหวี่ยงแหโปรยเงินเฮลิคอปเตอร์มันนี่แบบสะเปะสะปะ แต่รัฐบาลจีนยังคงมีความระมัดระวัง ไม่ละเลงงบแก้ปัญหาแบบไร้ทิศทาง แต่จะยังคงเน้นดำเนินนโยบายแบบมุ่งเป้าที่ยึดโยงกับเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาประเทศ และเน้นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อไปนั่นเอง

 

ภาพ: Nicolas Asfouri / AFP

The post แจกเงินแบบจีน: ไม่ใช่โปรยเงินเฮลิคอปเตอร์มันนี่ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Bad Genius การศึกษาภาคทุนนิยมฉบับตะวันตก https://thestandard.co/bad-genius-a-western-study-of-capitalism/ Tue, 17 Sep 2024 05:28:58 +0000 https://thestandard.co/?p=984432

ภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius) ของผู้กำกับ บา […]

The post Bad Genius การศึกษาภาคทุนนิยมฉบับตะวันตก appeared first on THE STANDARD.

]]>

ภาพยนตร์เรื่อง ฉลาดเกมส์โกง (Bad Genius) ของผู้กำกับ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ออกฉายครั้งแรกในปี 2017 ถือเป็นภาพยนตร์ไทยที่ประสบความสำเร็จในระดับสากลมากที่สุดเรื่องหนึ่งทั้งในแง่ของรายได้และคำวิจารณ์ โดยทำเงินจากการฉายภายในประเทศไปได้ถึง 182 ล้านบาท พร้อมกับสร้างสถิติกลายเป็นภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลสุพรรณหงส์ได้มากที่สุดถึง 12 สาขา จาก 16 สาขาที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิง และเมื่อถูกซื้อไปฉายในต่างประเทศก็ทำให้ ฉลาดเกมส์โกง กลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงินสูงสุดตลอดกาลด้วยตัวเลขรวมกันถึง 1.84 พันล้านบาท ก่อนที่สถิตินี้จะถูกโค่นลงโดย หลานม่า (2024) ของ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้กำกับที่เคยเอาเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้มาดัดแปลงเป็นซีรีส์ความยาว 12 ตอนในชื่อ ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์ (2020)

 

 

ทั้งนี้ ด้วยความที่องค์ประกอบส่วนใหญ่มีกลิ่นอายของภาพยนตร์ทริลเลอร์ทำให้ฮอลลีวูดขอซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่องนี้ไปรีเมกโดยใช้ชื่อว่า ‘Bad Genius’ ตามเดิม ซึ่งได้โปรดิวเซอร์และมือเขียนบทอย่าง J.C. Lee จากซีรีส์เรื่อง How to Get Away with Murder (2015-2017) และ Looking (2014-2015) มาช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ร่วมกับ Julius Onah ผู้กำกับ The Cloverfield Paradox (2018) โดยทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การควบคุมของทีมสร้างที่นำโดย Patrick Wachsberger ผู้เคยทำให้ CODA (2021) สามารถคว้ารางวัลออสการ์มาได้เมื่อปี 2022

 

 

โครงเรื่องของ Bad Genius ในเวอร์ชันนี้ไม่ต่างอะไรกับต้นฉบับนัก มันว่าด้วยชีวิตของ ลินน์ คัง (Callina Liang) เด็กสาวนักเรียนทุนที่มีพรสวรรค์และอยากจะสานฝันทางด้านดนตรีด้วยการเข้าเรียนที่ The Juilliard School โรงเรียนสอนศิลปะชื่อดังของนิวยอร์ก แต่ เม้ง คัง (Benedict Wong) ผู้เป็นพ่อกลับต้องการให้ลูกสาวเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง MIT เพื่ออนาคตที่ดีกว่า และการได้พบกับ เกรซ (Taylor Hickson) เพื่อนสาวฐานะดีก็ทำให้เธอค้นพบว่าตัวเองสามารถหาเงินได้ด้วยการใช้ความฉลาดในการโกงข้อสอบ 

 

พัฒน์ (Samuel Braun) ที่เป็นแฟนหนุ่มของเกรซ จึงแนะนำว่าเขามีเพื่อนอีกมากที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อแลกกับคะแนนดีๆ และลินน์ที่มีปัญหาเรื่องการเงินก็จะได้รับค่าตอบแทนนั้นอย่างสมน้ำสมเนื้อ เด็กสาวที่ดูจะถลำลึกลงไปกับการหาเงินได้เป็นจำนวนมากโดยที่ใช้แค่สมองเลยตอบตกลงเข้าร่วมกับพวกเขา พร้อมกับชักชวน แบงค์ (Jabari Banks) นักเรียนทุนอีกคนให้มาทำงานใหญ่อย่างการโกงข้อสอบวัดผล SAT ที่ต้องใช้ในการยื่นมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ด้วยการบินไปสอบก่อนและส่งคำตอบกลับมา ทว่าทุกอย่างอาจไม่ได้ง่ายแบบที่พวกเขาวาดหวังเอาไว้

 

 

ซึ่งก็ตามเนื้อผ้า Bad Genius ฉบับตะวันตกนี้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดปลีกย่อยอยู่หลายจุด แต่แกนหลักของเรื่องยังคงเหมือนเดิม นั่นคือการพูดถึงทุนนิยมที่อยู่ในระบบการศึกษาผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ของตัวละคร ที่ในทางหนึ่งไม่เพียงแค่เผยให้เห็นถึงเนื้อในของคนร่ำคนรวยที่ทำนาบนหลังคน แต่ยังเผยให้เห็นว่าคนจนๆ เองก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนั้น แน่นอนว่าประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นยังคงเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องราวอยู่เสมอ และวิธีการเล่านั้นก็ถือว่าเคารพต้นฉบับมากทีเดียว เพราะแม้แต่องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามวัฒนธรรมอย่างชื่อยังถูกตั้งออกมาแบบเดียวกับต้นฉบับทุกตัวละคร 

 

 

แต่ท่ามกลางรายละเอียดนั้นการเล่าเรื่องด้วยภาพดูจะมีอะไรที่ขาดตกบกพร่องอยู่พอสมควร โดยเฉพาะภาพมุมกว้างที่มักจะสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ของตัวละคร ที่ในเวอร์ชันนี้ดูเหมือนจะมีน้อยและไม่ได้มีความสลักสำคัญเท่าไร ภาพในภาพยนตร์ส่วนใหญ่เลยเป็นการจับจ้องด้วยภาพขนาดกลางและขนาดใกล้ ซึ่งช่วยขับเน้นอารมณ์ของตัวละคร แต่ไม่ได้ช่วยทำให้รู้สึกว่าพื้นที่เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของพวกเขาทั้งในแง่ของกรอบชีวิตและเครื่องมือทำมาหากิน 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ผู้สร้างเลือกที่จะตัดทอนรายละเอียดเหล่านี้ออกไปก็อาจเป็นเพราะงบประมาณที่จำกัดของตัวเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบต่างๆ นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่มีทุนสร้างสูงอย่างแน่นอน แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นภาพยนตร์ที่พยายามจะเก็บองค์ประกอบสำคัญๆ เอาไว้ให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ซาวด์ดีไซน์เพื่อควบคุมจังหวะการเล่าเรื่อง การใช้กราฟิกเพื่อบ่งบอกช่วงเวลาของตัวละคร รวมไปถึงการใช้ความเร็วในการตัดต่อเพื่อบีบหัวใจของผู้ชมตลอดเวลา และเมื่อนำทั้งหมดมารวมเข้ากับแบ็กกราวด์ตัวละครที่ทาบทับอยู่กับบริบทสังคมตะวันตกก็ถือว่าเป็นมิติที่น่าสนใจเลยทีเดียว

 

 

คนหนึ่งที่เด่นชัดมากคือแบงค์ ความจนตรอกของเขาในเวอร์ชันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการหาเงินมาจุนเจือครอบครัวหรือถูกซ้อมจนหมดสิทธิ์สอบ หากแต่เพราะการเป็นผู้อพยพด้วยที่ทำให้เขาต้องเลือกเดินเข้าสู่เส้นทางนี้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือว่ากว้างไกลและร่วมสมัยกว่ามาก เพราะเด็กหนุ่มเป็นเหมือนภาพสะท้อนของปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซ้อนทับกันอยู่ในสังคมตะวันตก และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตอนจบของภาพยนตร์มีความแตกต่างออกไปจากเดิม แต่ก็น่าเสียดายที่กว่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างจริงจังก็ปาเข้าไปช่วงท้ายของเรื่องแล้ว 

 

 

นอกจากนี้ความสัมพันธ์ของตัวละครก็เหมือนจะเป็นปัญหาที่รบกวนจิตใจไม่ใช่น้อย เนื่องจากปูมหลังของพวกเขาถูกบอกเล่าผ่านคำพูดเป็นส่วนใหญ่ น้ำหนักของตัวละครเลยดูขาดพลังทั้งในแง่ของเคมีและความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะลินน์กับแบงค์ที่ความสิ้นไร้ไม้ตอกในชีวิตของพวกเขาดูไม่ได้สร้างอารมณ์ร่วมได้มากอย่างที่ควรจะเป็น เพราะเมื่อฉากสุดท้ายมาถึงผู้ชมก็แทบจะคาดเดาได้ทันทีว่า นี่ไม่ใช่จุดจบของตัวละครจริงๆ แตกต่างจากต้นฉบับที่เราสามารถสัมผัสได้ถึงความรู้สึกผิดบาปและไม่อาจหันหลังกลับของพวกเขา

 

 

โดยรวม Bad Genius เลยเป็นภาพยนตร์ที่เคารพในแนวทางของต้นฉบับมาก แต่ด้วยเหตุนี้เองทำให้มันเป็นภาพยนตร์ที่ดูไม่ได้มีอะไรใหม่นัก เพราะไม่ว่าการตัดสินใจของพวกเขาจะทำเพื่อสนองตัณหาหรือความทะเยอทะยานอยาก สุดท้ายแล้วสิ่งหนึ่งที่ทุนนิยมชนะเสมอก็คือการทำลายคนดีๆ ไปตลอดกาล

 

Bad Genius เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่าง Bad Genius ได้ที่:

 

The post Bad Genius การศึกษาภาคทุนนิยมฉบับตะวันตก appeared first on THE STANDARD.

]]>
Taklee Genesis หนังไซไฟจำแลงกายภายใต้ประวัติศาสตร์การเมืองไทย https://thestandard.co/taklee-genesis-movie-opinion/ Fri, 13 Sep 2024 11:41:54 +0000 https://thestandard.co/?p=983298

  ทันทีที่ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ให้สัม […]

The post Taklee Genesis หนังไซไฟจำแลงกายภายใต้ประวัติศาสตร์การเมืองไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

ทันทีที่ มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ให้สัมภาษณ์ว่า เขามีแผนจะสร้างภาคต่อของ Taklee Genesis ภาพยนตร์ยาวเรื่องล่าสุดที่ยังไม่ได้ออกฉาย ทันใดนั้นคณะทัวร์ก็ออกมารุมสับภาพยนตร์กันอย่างมากมาย ซึ่งก็ดูจะไม่ค่อยแฟร์กับคนทำภาพยนตร์สักเท่าไร เพราะยังไม่มีใครได้ดูภาพยนตร์เต็มเลยด้วยซ้ำ 

 

ในกรณีของ Taklee Genesis การถูกปรามาสทั้งหมดก็อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์โดยตรงเสียทีเดียว หากแต่โดนหางเลขในฐานะภาพยนตร์ที่เปิดตัวด้วยคำว่า ‘ไซไฟ’ ซึ่งหลายคนก็รู้ดีว่านี่เป็นหนึ่งในคำแสลงของวงการภาพยนตร์ไทยเหมือนกับคำว่า ‘ภาพยนตร์ชายรักชาย’ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การโปรโมตแบบนี้เลยย่อมเข้าใจได้ว่า ทำไมภาพยนตร์ถึงกลายเป็นประเด็นร้อนให้พูดถึงตั้งแต่ก่อนฉาย 

 

แง่หนึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เลยเป็นเหมือนตัวชี้วัดที่สำคัญสำหรับคนทำและนายทุน ว่าพวกเขาควรจะลงแรง ลงเงิน เพื่อปั้นภาพยนตร์ไซไฟต่อไปในอนาคตหรือไม่ ซึ่งถ้าประสบความสำเร็จ เราจะได้เห็นภาพยนตร์ในทำนองนี้เพิ่มขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และการตัดสินจากแค่ตัวอย่างก็ดูจะด่วนสรุปเกินไป เพราะภาพยนตร์เกือบทุกเรื่องของมะเดี่ยวมีความยอกย้อนอยู่เสมอ และที่สำคัญมันมักจะชอบล่อลวงคนดูด้วยความเรียบง่าย ก่อนที่จะพาผู้ชมเข้าไปยังอีกโสตหนึ่งของเนื้อหาที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

 

 

Taklee Genesis ว่าด้วยเรื่องของ สเตลล่า (พอลล่า เทเลอร์) แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ชีวิตกำลังตกที่นั่งลำบากเนื่องจากความระหองระแหงของครอบครัว ทำให้เธอต้องดูแลลูกสาวอย่าง วาเลน (นีน่า-ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน) ตามลำพัง ก่อนที่จะได้รับโทรศัพท์จาก อิษฐ์ (ปีเตอร์-คอร์ป ไดเรนดัล) เพื่อนสมัยเด็กของเธอ เรื่องอาการป่วยไข้ของ ดวงพร (เจนจิรา พงพัศ) ผู้เป็นแม่ ที่ยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านดอนหาย ซึ่งเป็นสถานที่ที่หญิงสาวในวัยเด็กได้พบเจอกับเรื่องลึกลับภายในป่าพร้อมกับการหายตัวไปของพ่อ 

 

การมายังบ้านเกิดครั้งนี้ของเธอเลยไม่ได้เป็นแค่การกลับมาเยี่ยมแม่ หากแต่เป็นการกลับมาเพื่อค้นหาความจริงในอดีตที่ จำนูญ (ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล) ผู้เป็นหัวหน้าชุมชน ได้บอกกล่าวว่า พ่อของเธอแค่หนีไป และสิ่งที่เห็นก็เป็นเพียงความฝันที่เธอจินตนาการขึ้นมา แต่ในเวลาเดียวกันการได้พบกับ ก้อง (วอร์-วนรัตน์ รัศมีรัตน์) ลูกชายของจำนูญ ก็ยิ่งทำให้เธอรู้สึกประหลาดใจ เพราะก้องดูไม่แก่ลงเลยจากภาพจำของสเตลล่าในวัยเด็ก ส่วนในเวลานี้กลับเป็นเธอที่ดูเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับก้อง

 

ไม่เพียงแค่นั้น การได้ยินเสียงพ่อผ่านวิทยุสื่อสารยุคสงครามเวียดนามที่เคยมอบเอาไว้ให้กับเธอเมื่อ 30 ปีก่อน ก็ยิ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่เห็นในตอนนั้นเป็นความจริง สเตลล่ากับอิษฐ์เลยมาโน้มน้าวให้ก้องเข้าไปขโมยกำไลข้อมือของพ่อ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำทางพวกเขาเพื่อเข้าไปเก็บแหวนวิเศษและเปิดเครื่องตาคลีเจเนซิส เพื่อพาพ่อของเธอที่หายตัวไปกลับมายังช่วงเวลาปัจจุบันอีกครั้ง

 

 

เป้าหมายของสเตลล่าเลยเป็นแก่นหลักที่คอยขับเคลื่อนเรื่องราวทั้งหมดภายในเรื่อง ซึ่งก็เหมือนกับภาพยนตร์ผจญภัยข้ามเวลาเรื่องอื่นๆ ที่ตัวเอกจะต้องพบเจอกับอุปสรรคบางอย่างที่ขวางกั้นระหว่างพวกเขากับความสำเร็จ และสถานการณ์นี้ก็ได้บีบบังคับให้ทั้ง 3 คนต้องก้าวเท้าเข้าไปยังช่วงเวลาต่างๆ เพื่อนำวงแหวนกลับมา 

 

ซึ่งในระหว่างทางที่ภาพยนตร์มุ่งหน้าไปในทิศทางของไซไฟอย่างเต็มตัว เนื้อแท้ของมันก็ค่อยๆ เผยโฉมออกมานั่นคือ บรรดานัยทางการเมืองที่ซุกซ่อนเอาไว้ผ่านการเดินทางของตัวละคร ที่ในมุมหนึ่งมันทั้งโจ่งแจ้งและปราศจากความกลัว ซึ่งเป็นประเด็นที่มะเดี่ยวให้ความสนใจมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะนอกจากหน้าโปสเตอร์และแคมเปญโปรโมตภาพยนตร์ การที่ชื่อของเขาปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อบ่อยครั้งก็มาจากความเห็นทางการเมืองด้วยเช่นกัน

 

 

หน้าภาพยนตร์อีกแบบหนึ่งที่ซ้อนทับอยู่ในความเป็นไซไฟเลยเป็นสิ่งที่ประดังเข้ามาพร้อมๆ กับเส้นเรื่องของการเดินทางข้ามเวลา ทั้งการทดลองในช่วงสงครามเวียดนาม ภูมิหลังของสัตว์ประหลาดในป่า การต่อสู้ โลกที่พังทลาย แนวคิดที่แตกต่างกัน การหาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเอง ความหวังในการมีชีวิตที่ดีขึ้น และเหตุการณ์ 6 ตุลา ซึ่งเป็นบาดแผลครั้งสำคัญของการเมืองไทย ที่ในทางหนึ่งยังคงคาบเกี่ยวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

ภาพการสังหารหมู่นักศึกษาที่โลดแล่นอยู่บนจอเลย เป็นการนำประวัติศาสตร์กลับมาฉายวนซ้ำอีกครั้ง แง่หนึ่งก็เพื่อย้ำเตือนให้เห็นถึงความอำมหิตของมัน ส่วนอีกแง่ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการไปตามยุคสมัย และในทำนองเดียวกัน เสียงหัวเราะของคนที่ยินดีปรีดากับเรื่องที่เกิดขึ้นก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความไร้หัวใจ เมื่อความตายของผู้อื่นยังคงมีคนบางกลุ่มมองเป็นเรื่องตลกได้อย่างไม่ไยดี แต่ครั้นจะบอกว่าเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงแค่อดีตที่เราควรเรียนรู้และจดจำ ภาพก็ตัดกลับไปที่การเมืองไทยในปัจจุบัน ที่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าอะไรน่าเศร้ามากกว่ากันระหว่างภาพยนตร์กับชีวิตจริง

 

แต่ก็นั่นแหละ ด้วยความที่รายละเอียดส่วนใหญ่มีความเป็นการเมืองซุกซ่อนอยู่ ข้อแลกเปลี่ยนของมันก็คือ การที่ภาพยนตร์ตกสำรวจความสัมพันธ์ของตัวละคร ซึ่งส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของไดเรกชันบางอย่างดูลดน้อยถอยลง เพราะคนดูอาจไม่ได้รู้สึกคล้อยตามในสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าเสียทีเดียว โดยเฉพาะการแต่งองค์ทรงเครื่องของพวกเขาในโลกอนาคตที่ดูโดดเด่นกว่าบริบททางสังคม คอนเซปต์ของภาพยนตร์เลยมีความแข็งแรงกว่าแบ็กกราวด์ ตัวละคร อีกทั้งสัตว์ประหลาดที่ปรากฏตัวออกมาในเรื่องก็เหมือนจะมีหน้าที่เพียงแค่รับใช้คอนเซปต์นั้น

 

 

ถึงแม้นัยของภาพยนตร์จะต่อติดเชื่อมโยงง่าย แต่ความเป็นไซไฟที่ผลักดันประเด็นการเมืองให้ออกมาอยู่หน้าฉาก ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เงื่อนไขนั้นเกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา และในเวลาเดียวกันก็เป็นจุดที่คนทำสอดแทรกแนวคิดเรื่องการส่งต่อโลกที่ดีขึ้นผ่านการตัดสินใจของตัวละครอย่างอิษฐ์และก้อง ที่เปรียบเสมือนภาพแทนของคนที่มีหน้าที่คอยสั่งสอนและเป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นหลัง แต่ด้วยน้ำหนักของเรื่องราวที่ปูมาตลอดทางยังเบาบาง ตัวตนของพวกเขาเลยไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับเรื่องราวเท่าที่ควรจะเป็น 

 

อย่างไรก็ดี ความหวังนี้ดูจะไม่ได้ครอบคลุมอยู่แค่ในงานเท่านั้น หากแต่เป็นเหมือนประตูบานสำคัญที่พิสูจน์แล้วว่า การเมืองนั้นสามารถอยู่ในภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ได้จริงโดยที่ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป 

 

 

แต่ท่ามกลางงานโปรดักชันที่เด่นสะดุดตาด้าน CG การถ่ายทอดอารมณ์ในฐานะตัวละครหลักของ พอลล่า เทเลอร์ ก็ดูจะเป็นสะเก็ดแผลที่กวนใจอยู่ไม่น้อย เมื่อพิจารณาจากตัวละครรอบข้างอย่าง วอร์-วนรัตน์ รัศมีรัตน์, นีน่า-ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน หรือ ปีเตอร์-คอร์ป ไดเรนดัล ที่ถึงแม้ตัวละครของเขาจะดูติดตลกจนทำให้ภาพยนตร์เสียความกลมกล่อมไปหน่อย แต่ก็ยังถือว่าสร้างอารมณ์ร่วมได้ดีกว่า ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็อาจจะมาจากบทภาพยนตร์ที่ไม่เอื้อให้กับเธอด้วย

 

ถึงกระนั้นทุกคนที่กล่าวมาก็อาจจะต้องหลีกทางให้กับตัวละครที่ ‘น้อยแต่มาก’ ของ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ ที่ตลอดทั้งเรื่องเธอรับบทเป็นคนบ้านเชียงที่สื่อสารได้เพียงไม่กี่คำ และทุกครั้งที่ปรากฏตัวก็มักจะมีมวลอารมณ์บางอย่างที่ห้อมล้อมอยู่รอบตัวเธอเสมอ การแสดงของทรายเลยโดดเด่นมากกว่านักแสดงคนอื่นๆ ด้วยเงื่อนไขที่ว่า อารมณ์ของเธอจะต้องถูกสื่อสารออกมาผ่านสีหน้า แววตา และภาษากาย ซึ่งข้อจำกัดนี้ทำให้ตัวละครของเธอกลายเป็นคนที่น่าจดจำมากที่สุดในเรื่องไปโดยปริยาย

 

 

อีกคนที่น่าหยิบยกขึ้นมาพูดถึงก็คือ เจนจิรา พงพัศ นักแสดงคู่บุญของ เจ้ย-อภิชาติ​พงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ถึงจะโผล่มาแค่ไม่กี่ฉาก แต่การแสดงที่จริงใจของเธอก็ทิ้งความรู้สึกบางอย่างเอาไว้ในหัวใจของผู้ชม และดีไม่ดีก็อาจเป็นตัวละครที่ทำให้เสียน้ำตาได้เหมือนกัน

 

จริงอยู่ที่กรอบส่วนใหญ่ของภาพยนตร์เป็นไซไฟที่สอดไส้ด้วยนัยทางการเมือง แต่เมื่อตีความจากความสัมพันธ์ของตัวละครก็อาจบอกได้ว่า แนวทางของภาพยนตร์ที่ต้องการหยิบยกเอาเรื่องครอบครัวและคนรอบข้างมาใช้ ยังดูเป็นตัวเลือกที่ยังไม่ค่อยรัดกุมนัก และนั่นอาจเป็นช่องโหว่ของภาพยนตร์ที่ทำให้เราสงสัยในความสัมพันธ์ของตัวละครอยู่ตลอดเวลาว่า เหตุใดพวกเขาถึงดูไร้ชีวิตกว่าที่ควรจะเป็น และในที่สุดเมื่อภาพยนตร์ขมวดรวบยอดปิดท้ายด้วยเหตุการณ์นองเลือดในอดีต ความสัมพันธ์ของพวกเขาก็ดูจะหยุดลงที่ตรงนั้น กลายเป็นว่าพัฒนาการของตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเท่าที่ควร

 

 

แต่ถึงอย่างนั้นเราก็อาจจะบอกได้ว่า Taklee Genesis เป็นภาพยนตร์ที่มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ยังไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางนัก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะปมเรื่องที่ถูกใส่เข้ามามากมายในเวลาที่จำกัด ทำให้ต้องเลือกตัดบางส่วนออกเพื่อให้ความสำคัญกับอีกส่วน และตัวภาพยนตร์ที่เป็นไซไฟก็เป็นเหมือนเปลือกนอกที่คอยห่อหุ้มความจริงอันแสนเจ็บปวดเอาไว้ ภาพยนตร์เรื่องนี้เลยเป็นทั้งงานคราฟต์และความบันเทิงแฟนตาซีที่หัวใจหลักยังคงยึดโยงอยู่กับความจริงในสังคม ที่ถึงแม้จะยังไม่สมบูรณ์ดีแต่ก็น่าสนใจ ไม่ว่าความทะเยอทะยานของมันจะให้น้ำหนักไปที่การเมืองหรือไซไฟมากกว่าก็ตาม

 

Taklee Genesis เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่าง Taklee Genesis ได้ที่:

 

The post Taklee Genesis หนังไซไฟจำแลงกายภายใต้ประวัติศาสตร์การเมืองไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>
เศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐอเมริกากี่โมง? https://thestandard.co/when-will-chinas-economy-overtake-us/ Sun, 01 Sep 2024 06:36:59 +0000 https://thestandard.co/?p=978197

ในชั่วโมงนี้ เศรษฐกิจจีนจะเติบโตต่อไปอย่างไร เป็นประเด็ […]

The post เศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐอเมริกากี่โมง? appeared first on THE STANDARD.

]]>

ในชั่วโมงนี้ เศรษฐกิจจีนจะเติบโตต่อไปอย่างไร เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมาก จากเดิมที่เศรษฐกิจจีนเคยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในยุคที่จีนเคยรุ่งเรือง มีสำนักวิเคราะห์หลายแห่ง เช่น Goldman Sachs, EIU, OECD และ The Economist เคยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ได้ในที่สุด แม้ว่าจะแตกต่างกันบ้างในเรื่องกรอบเวลา ขึ้นอยู่กับตัวแปรในการวิเคราะห์และการตั้งสมมติฐานในการพยากรณ์ตัวเลขการเติบโต อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น (โดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อย่อมมีผลต่อการพยากรณ์ขนาดเศรษฐกิจ GDP จีน) เช่น บางสำนักเคยวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนจะมีขนาด GDP ที่ใหญ่กว่าสหรัฐฯ ได้ภายในปี 2030 

 

มาถึงขณะนี้เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว จีนต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายต่างๆ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ทำให้เริ่มมีการตั้งคำถามถึงอนาคตเศรษฐกิจจีนว่าจะไปต่ออย่างไร และดูเสมือนว่า ไม่ง่ายที่เศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐฯ ได้ตามที่เคยคาดการณ์กันไว้ บางสำนักวิเคราะห์ เช่น CEBR ปรับการพยากรณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะไม่สามารถแซงสหรัฐฯ ได้จนกว่าจะถึงปี 2036 

 

นอกจากนี้มีนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยที่มีข้อกังวลและมีทัศนะต่ออนาคตเศรษฐกิจจีนที่เต็มไปด้วยปัญหา โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่จะกระทบการเติบโตของจีน เช่น ความท้าทายด้านประชากร และความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจของจีนที่ฝังรากมานาน  

 

ตัวอย่างเช่น นีลล์ เฟอร์กูสัน นักประวัติศาสตร์และนักเขียนที่มีชื่อเสียง เคยวิเคราะห์ว่า แม้ว่าที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะน่าทึ่งมาก หากแต่สหรัฐฯ ก็ยังคงมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่กว่าจีนมาก และ นีลล์ เฟอร์กูสัน ชี้ให้เห็นว่า “มีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของจีนในระยะยาว เช่น โครงสร้างประชากรและจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำในจีน ระดับหนี้ของจีนที่สูงมาก และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์” และวิเคราะห์ว่า “จีนจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองและสังคมเพื่อความมั่นคงและความรุ่งเรืองในระยะยาว”

 

อย่างไรก็ดี ยังคงมีผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งที่มีทัศนะในเชิงบวกต่ออนาคตเศรษฐกิจจีน เช่น ศ. ดร.หลินอี้ฟู นักเศรษฐศาสตร์จีนที่มีชื่อเสียงระดับโลก และเคยคาดการณ์ว่า “เศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ภายในปี 2030” 

 

ล่าสุดในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ศ. ดร.หลินอี้ฟู ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย และดิฉันได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมหารือกับ ศ. ดร.หลินอี้ฟู ในหลายประเด็น รวมทั้งมุมมองต่ออนาคตเศรษฐกิจจีน ในระหว่างการประชุมด้วยกันที่ประเทศไทยในครั้งนี้ ศ. ดร.หลินอี้ฟู ก็ได้ยืนยันว่า “เศรษฐกิจจีนจะ (ยังคง) แซงหน้าสหรัฐฯ ได้ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะเผชิญกับความยากลำบากในช่วงนี้ก็ตาม”  

 

สำหรับคำอธิบายและเหตุผลหลักของ ศ. ดร.หลินอี้ฟู ในการวิเคราะห์อนาคตเศรษฐกิจจีน จากการประเมินตัวแปรสำคัญและปัจจัยเชิงโครงสร้างของจีน สรุปได้ดังนี้

 

ประการแรก นโยบายและบทบาทของภาครัฐ ศ. ดร.หลินอี้ฟู มั่นใจว่ารัฐบาลจีนจะสามารถใช้นโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือและจัดการปัญหาต่างๆ พร้อมไปกับการรักษาโมเมนตัมในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเงิน และการลงทุนภาครัฐเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริม Green Transition ทั้งด้านการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง พร้อมๆ ไปกับการปฏิรูปเชิงลึก เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของตลาดในระยะยาว

 

ประการต่อมา การปรับโมเดลเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง ศ. ดร.หลินอี้ฟู ย้ำว่า จีนกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งเน้น ‘พลังการผลิตที่มีคุณภาพใหม่’ (New Quality Productive Forces) โดยมีอุตสาหกรรม ‘สามใหม่’ (New Three Industries) เป็นเป้าหมายหลัก ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Photovoltaic) ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องยกระดับอุตสาหกรรมดั้งเดิมให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างขนานใหญ่นี้ย่อมจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตที่แผ่วลงในระยะสั้น แต่ก็เป็นความจำเป็นที่ต้องทนเจ็บเพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว

 

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนเคยมีตัวเลขอัตราการเติบโต GDP ที่สูงกว่าสหรัฐฯ อย่างมาก ซึ่ง ศ. ดร.หลินอี้ฟู ยอมรับว่า ไม่ง่ายที่จีนจะรักษาอัตราเติบโตที่สูงเช่นนี้ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจจีนมีฐานขนาดใหญ่ขึ้น และมีอัตราการเติบโตอย่างเต็มที่แล้ว ดังนั้นเพื่อให้เศรษฐกิจก้าวแซงหน้าสหรัฐฯ รัฐบาลจีนจำเป็นจะต้องพยายามอย่างหนัก เพื่อรักษาระดับอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ศ. ดร.หลินอี้ฟู จึงวิเคราะห์ว่า ในช่วงปี 2020-2035 ตัวเลข GDP จีนต้องขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4.7 ต่อปี เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

 

ประการสุดท้ายที่สำคัญคือ ปัจจัยพื้นฐานและศักยภาพของจีนในระยะยาว ศ. ดร.หลินอี้ฟู เชื่อว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของจีนยังคงแข็งแกร่ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในขณะนี้เป็นเพียงระยะชั่วคราว โดยชี้ให้เห็นถึงตัวแปรและปัจจัยพื้นฐานของจีนที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงศักยภาพของจีนในระยะยาว และจะช่วยเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนให้แซงหน้าสหรัฐฯ ในที่สุด สรุปได้ดังนี้

 

1. ปัจจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จีนมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะเทคโนโลยีแห่งอนาคต ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด (Green Technology) รวมทั้งมีการอัปเกรดยกระดับภาคการผลิตของจีนอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต ศ. ดร.หลินอี้ฟู มองว่า นี่คือจุดแข็งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในระยะยาว   

 

รัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมของจีนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศ จูงใจให้ภาคเอกชนจีนแข่งขันกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการ เน้นสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ และการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของจีน 

 

2. ปัจจัยด้านการบริโภค ตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ของจีนมีกำลังซื้อมากขึ้น จีนมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นกว่า 400 ล้านคน และมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per Capita) เพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงเป็นข้อได้เปรียบของจีน รวมทั้งทิศทางเชิงนโยบายของรัฐบาลจีนที่เน้นภาคการบริโภคภายในประเทศอย่างจริงจัง เน้นสร้างความมั่นใจและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ผู้บริโภคจีนมีกำลังซื้ออย่างต่อเนื่อง 

 

3. ปัจจัยในภาคบริการ จีนกำลังเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นภาคบริการมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม รวมทั้งภาคการเงิน การดูแลสุขภาพ การศึกษา และการท่องเที่ยว ซึ่งเน้นทั้งการส่งเสริมให้คนจีนเที่ยวจีน และดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวจีน เช่น นโยบายฟรีวีซ่า โดยคาดหวังให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้เงินภายในประเทศจีนมากขึ้น เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนภาคการบริโภคของจีนต่อไป (ทั้งนี้ ผลของนโยบายฟรีวีซ่าของรัฐบาลจีน ทำให้สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 129.9 ในรอบ 7 เดือนของปีนี้)

 

4. ปัจจัยด้านนโยบายรัฐเน้นการกระจายความเจริญสู่ชนบท รัฐบาลจีนเน้นพัฒนาความเป็นเมืองให้กับชนบท ภายใต้นโยบาย ‘ฟื้นฟูชนบท’ (Rural Revitalization) เพื่อกระจายความเจริญ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชาวจีนในชนบท ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นพลังผู้บริโภคระลอกใหม่ของเศรษฐกิจจีนต่อไป นอกจากนี้รัฐบาลจีนทุ่มงบลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างโครงข่ายการขนส่งที่ทันสมัยและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ เพื่อให้ชาวจีนในชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

 

ปัจจัยทั้ง 4 ด้านที่กล่าวมานั้นล้วนมีความเชื่อมโยงและส่งเสริมกันและกัน เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในขณะที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัย และเพิ่มช่องทางในรูปแบบใหม่ๆ ในการเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น เป็นต้น ทั้งหมดนี้จึงเป็นตัวแปรสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ศ. ดร.หลินอี้ฟู ยอมรับว่า เศรษฐกิจของจีนต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ อย่างหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมา เช่น ความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และความท้าทายด้านโครงสร้างประชากรสูงอายุ แต่ก็ยังคงมั่นใจในศักยภาพของจีนที่จะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจในระยะยาว

 

อย่างไรก็ตาม คำทำนายในเชิงบวกและเต็มไปด้วยความหวังของ ศ. ดร.หลินอี้ฟู ย่อมจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ มีนักวิชาการบางคนโต้แย้งว่า การชะลอตัวของจีนอาจยืดเยื้อเกินกว่าที่ ศ. ดร.หลินอี้ฟู เคยคาดการณ์ไว้ และจีนยังคงมีปัญหาเศรษฐกิจที่ฝังรากลึก เช่น ช่องว่างทางรายได้ของจีนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งปัจจัยจากภายนอกที่รุมเร้าเข้ามากระทบ โดยเฉพาะความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ล้วนเป็นอุปสรรคและความท้าทายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน

 

โดยสรุป การพยากรณ์ของ ศ. ดร.หลินอี้ฟู มาจากสมมติฐานต่างๆ ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจ เหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่อเส้นทางการเติบโตของจีน  

 

ท้ายที่สุดแล้ว เศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐฯ ได้เมื่อไร จำเป็นต้องพิจารณาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ควบคู่ไปด้วย ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในอนาคตที่มีความไม่แน่นอนสูงมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม รวมทั้งปัจจัยจากภายนอก และที่สำคัญ เศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐฯ ได้จริงหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับฝีมือและความสามารถของรัฐบาลจีนในการรับมือและจัดการกับโจทย์ยากต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคและความท้าทายได้สำเร็จอย่างแท้จริงหรือไม่ จึงต้องติดตามกันต่อไป  

 

ภาพ: REUTERS / Zoey Zhang / File Photo

The post เศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐอเมริกากี่โมง? appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทำไม 7 รัฐสีม่วงชี้ชะตาผลแพ้-ชนะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป https://thestandard.co/us-election-purple-states-impact/ Tue, 27 Aug 2024 01:23:30 +0000 https://thestandard.co/?p=975751 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นไม่ได้ตัดสิน […]

The post ทำไม 7 รัฐสีม่วงชี้ชะตาผลแพ้-ชนะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป appeared first on THE STANDARD.

]]>
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานั้นไม่ได้ตัดสินกันที่คะแนนดิบจากการโหวตของประชาชนอเมริกัน หรือ Popular Vote โดยตรง แต่เป็นการเลือกผ่านระบบที่เรียกว่า Electoral College (EC) หรือคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งคะแนนเสียง EC จะถูกตัดสินกันด้วยคะแนนดิบในแต่ละรัฐ โดยใช้ระบบ Winner Takes All กล่าวคือ ผู้สมัครคนใดได้คะแนนดิบจากการโหวตจากประชาชนในรัฐนั้นๆ มากกว่า ก็จะได้คะแนน EC จากรัฐนั้นไปทั้งหมด (ยกเว้นที่รัฐเมนและเนแบรสกาที่ให้คะแนน EC แก่ผู้ที่ชนะในแต่ละเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย)

 

ทั้ง 50 รัฐและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. รวมกันนั้นมีคะแนน EC หรือ Electoral Vote ทั้งหมด 538 เสียง ซึ่งนั่นก็แปลว่าผู้สมัครคนใดได้คะแนน EC ถึง 270 เสียง ก็จะได้รับชัยชนะและได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไป

 

ซึ่งระบบการตัดสินหาผู้แพ้-ชนะโดยใช้ระบบ Winner-Take-All นี้ ทำให้ผู้สมัครจากทั้งสองพรรคต่างให้ความสำคัญกับรัฐที่อาจโหวตให้ทั้งพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครต หรือที่เรียกกันว่า Swing State ซึ่งสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ก็มีอยู่ 7 รัฐด้วยกัน

 

รัฐสีแดง-สีน้ำเงิน

 

ผู้สมัครของพรรครีพับลิกันอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นมีแนวโน้มจะชนะแน่ๆ ใน 21 รัฐ อันได้แก่ อะแลสกา (3), ไอดาโฮ (4), ยูทาห์ (6), มอนแทนา (4), ไวโอมิง (3), นอร์ทดาโคตา (3), เซาท์ดาโคตา (3), เนแบรสกา เขต 1, 3 และคะแนนรวมรัฐ (4), แคนซัส (6), โอคลาโฮมา (7), ไอโอวา (6), มิสซูรี (10), อาร์คันซอ (6), ลุยเซียนา (8), อินดีแอนา (11), เคนทักกี (8), เทนเนสซี (11), มิสซิสซิปปี (6), แอละแบมา (9) โอไฮโอ (17), เวสต์เวอร์จิเนีย (4) และเซาท์แคโรไลนา (9)

 

ในขณะเดียวกันทรัมป์ก็น่าจะชนะที่เท็กซัส (40), เมน เขต 2 (1) และฟลอริดา (30) ทำให้เขามีคะแนนเสียงอยู่ในมือแล้ว 219 เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง (EC)

 

สำหรับตัวแทนของพรรคเดโมแครตอย่าง คามาลา แฮร์ริส นั้นจะชนะแน่ๆ ใน 15 รัฐ และเมืองหลวง อันได้แก่ วอชิงตัน (12), ออริกอน (8), แคลิฟอร์เนีย (54), โคโลราโด (10), นิวเม็กซิโก (5), อิลลินอยส์ (19), นิวยอร์ก (28), เวอร์มอนต์ (3), แมสซาชูเซตส์ (11), โรดไอแลนด์ (4), คอนเนตทิคัต (7), นิวเจอร์ซีย์ (14), เดลาแวร์ (3), แมริแลนด์ (10), เมน เขต 1 และคะแนนรวมรัฐ (3), ฮาวาย (4) และกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (3)

 

ในขณะเดียวกันแฮร์ริสก็น่าจะชนะที่มินนิโซตา (10), เนแบรสกา เขต 2 (1), เวอร์จิเนีย (13) และนิวแฮมป์เชอร์ (4) ทำให้เธอมีคะแนนเสียงอยู่ในมือแล้ว 226 เสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง

 

ทรัมป์และแฮร์ริสจะต้องแข่งกันในอีก 7 รัฐที่เหลืออันได้แก่ เนวาดา (6), แอริโซนา (11), วิสคอนซิน (10), มิชิแกน (15), เพนซิลเวเนีย (19), นอร์ทแคโรไลนา (16) และจอร์เจีย (16) เพื่อรวบรวมคะแนนให้ได้ถึง 270 เสียง

 

ซึ่ง THE STANDARD มองว่าคะแนนเสียงของทั้งสองคนยังสูสีกันมาก และผลการเลือกตั้งใน 7 รัฐยังออกมาได้ทั้งสองหน้า หรือ Toss Up และทำให้ผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนยังคงคู่คี่กันมากและยังบอกไม่ได้ว่าใครได้เปรียบใคร

 

มีความเป็นไปได้ในระดับต่ำว่าทรัมป์อาจพลิกล็อกแพ้ที่เท็กซัสและฟลอริดา หรือแฮร์ริสพลิกล็อกแพ้ที่มินนิโซตา, เวอร์จิเนีย และนิวแฮมป์เชอร์ แต่ในสถานการณ์เช่นนั้นทรัมป์หรือแฮร์ริสอาจแพ้ที่ 7 Swing States แบบแลนด์สไลด์ไปเรียบร้อยแล้ว (จนไม่มีทางเก็บคะแนน EC ได้ถึง 270 เสียงไปก่อนหน้านั้นแล้ว)

 

เขตอุตสาหกรรมหนักที่มิดเวสต์

 

วิสคอนซิน, มิชิแกน และเพนซิลเวเนีย นั้นถือเป็น Swing State ขนานแท้ที่พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันแข่งกันมาตลอดตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 และก็เป็น 3 รัฐในภูมิภาคมิดเวสต์ที่ทรัมป์ชนะ ฮิลลารี คลินตัน อย่างฉิวเฉียดจนมีคะแนน EC รวมเกิน 270 จนได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45

 

แต่เดิมนั้น 3 รัฐนี้ค่อนข้างเอนเอียงไปทางเดโมแครต เพราะทั้ง 3 รัฐมีชาวอเมริกันผิวขาวที่เป็นชนชั้นแรงงานและเกษตรกรอยู่เป็นจำนวนมาก และพรรคเดโมแครตเคยมีภาพของความเป็นพรรคของผู้ใช้แรงงาน ในขณะที่พรรครีพับลิกันเคยมีภาพของการเป็นพรรคนายทุน

 

อย่างไรก็ดี ภาพของการเป็นพรรคของผู้ใช้แรงงานของเดโมแครตนั้นกร่อนลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุคของ บารัก โอบามา และในปี 2016 ผู้ใช้แรงงานผิวขาวเหล่านี้ก็กลับมาโหวตให้รีพับลิกันอย่างถล่มทลาย เพราะพวกเขานิยมชมชอบทรัมป์ที่นำเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่ต่อต้านการค้าเสรีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมหนักภายในประเทศ อันเป็นแหล่งงานของคนผิวขาว รวมถึงนโยบายต่อต้านผู้อพยพที่พวกเขามองว่าจะมาแย่งงานและก่อปัญหาอาชญากรรม

 

อย่างไรก็ตาม โจ ไบเดน สามารถพลิกกลับมาเอาชนะได้ทั้ง 3 รัฐในปี 2020 ด้วยความที่เขามีภาพลักษณ์ของการเป็นชนชั้นกลางที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นแรงงาน (ไม่เหมือนกับคลินตัน) รวมทั้งเขาสามารถเอาชนะใจคนผิวขาวที่มีการศึกษาในเขตชานเมืองที่เบื่อหน่ายต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของทรัมป์ และความโกลาหลในการบริหารประเทศแบบใช้อารมณ์ของเขา

 

การเอาชนะที่ 3 รัฐนี้อาจเป็นงานยากสำหรับแฮร์ริส เพราะเธอไม่ได้มีภาพลักษณ์ของการเป็นชนชั้นแรงงานแบบไบเดน นอกจากนี้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะเรื่องเงินเฟ้อในช่วง 4 ปีของรัฐบาลไบเดนก็ยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้โหยหาทรัมป์มากขึ้นไปอีก แต่แฮร์ริสก็อาจได้เปรียบในฐานะที่เป็นคนผิวดำ ซึ่งก็อาจทำให้คนผิวสีในเมืองใหญ่ของแต่ละรัฐ (มิลวอกีในรัฐวิสคอนซิน, ดีทรอยต์ในมิชิแกน และฟิลาเดลเฟียในเพนซิลเวเนีย) ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนมากกว่ายุคไบเดน

 

ใต้ใหม่

 

นอร์ทแคโรไลนาและจอร์เจียนั้นเดิมถือว่าเป็นรัฐสีแดงจัดแบบรัฐทางภาคใต้อื่นๆ ที่มีความอนุรักษนิยมแบบเคร่งศาสนาและโหวตให้พรรครีพับลิกันมาตลอด

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา มหานครของทั้ง 2 รัฐนี้ได้ขยายตัวขึ้นอย่างมาก ในกรณีของจอร์เจียคือการเติบโตของเมืองแอตแลนตา ทั้งด้วยประชากรคนผิวสีที่เพิ่มขึ้น และคนขาวเสรีนิยมที่อพยพจากเมืองใหญ่อื่นๆ มาหางานทำ (เพราะแอตแลนตาเป็นเมืองเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่ภาคการเงิน เทคโนโลยี การศึกษา และการแพทย์ เติบโตอย่างมากในฐานะศูนย์กลางของภาคใต้) จึงทำให้ Landscape การเลือกตั้งแปรเปลี่ยนไป

 

ในส่วนของนอร์ทแคโรไลนานั้นเกิดจาก 3 เมืองที่อยู่ใกล้กัน ได้แก่ ราลี เดอแรม และแชเปิล ฮิลล์ เป็นเมืองที่มีสถานศึกษา สถานวิจัย และโรงพยาบาล ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ อย่างเช่น Duke University และ University of North Carolina เป็นตัวดึงดูดคนขาวที่มีแนวคิดเสรีนิยมให้มาทำงาน นอกจากนี้เมืองชาร์ลอตต์ก็มีประชากรคนผิวสีขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย

 

นอร์ทแคโรไลนาโหวตให้พรรคเดโมแครต 1 ครั้งในปี 2008 ส่วนจอร์เจียเพิ่งเคยโหวตให้พรรคเดโมแครตเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว

 

ในช่วงต้นปีตอนที่ไบเดนยังเป็นผู้แทนพรรคอยู่นั้น ดูเหมือนว่าทรัมป์มีแนวโน้มที่จะชนะทั้งที่นอร์ทแคโรไลนาและจอร์เจียอย่างสบายๆ เพราะคะแนนของไบเดนในหมู่ชาวผิวสีตกต่ำลงอย่างมาก แต่เมื่อพรรคเดโมแครตเลือกแฮร์ริสมาเป็นผู้แทนพรรคคนใหม่ คะแนนนิยมของเธอในทั้ง 2 รัฐก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะเธอเป็นคนผิวสีนั่นเอง

 

เสียงของฮิสแปนิก

 

เนวาดาและแอริโซนาถือเป็น 2 รัฐที่มีประชากรชาวฮิสแปนิกจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ไบเดนสามารถชนะที่ 2 รัฐได้ในปี 2020 ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกจำนวนมากไม่พอใจทรัมป์อย่างมากที่ออกมาพูดดูถูกตนตลอดเวลา รวมทั้งนโยบายกีดกันการอพยพของเขา อย่างไรก็ตาม คะแนนนิยมของไบเดนในหมู่ชาวฮิสแปนิกตกต่ำลงอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่ดูเหมือนจะกระทบกับชาวอเมริกันกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ (ชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกมักเป็นชนชั้นแรงงาน ทำให้อ่อนไหวกับปัญหาสินค้าราคาแพงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ) และปัญหาการข้ามพรมแดนอย่างผิดกฎหมายที่คนใน 2 รัฐนี้ได้รับผลกระทบโดยตรง (ด้วยความเป็นรัฐใกล้ประเทศเม็กซิโก)

 

คล้ายกับกรณีของนอร์ทแคโรไลนาและจอร์เจีย ในช่วงต้นปีตอนที่ไบเดนยังเป็นผู้แทนพรรคอยู่นั้น ดูเหมือนว่าทรัมป์น่าจะชนะทั้งที่เนวาดาและแอริโซนาอย่างสบายๆ แต่เมื่อพรรคเดโมแครตเลือกแฮร์ริสมาเป็นผู้แทนพรรคคนใหม่ ดูเหมือนว่าชาวฮิสแปนิกจะไม่ได้โทษว่าเธอเป็นตัวก่อปัญหาแบบไบเดน และคะแนนของพรรคก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

ณ ตอนนี้ THE STANDARD ยังให้ทั้ง 7 รัฐเป็น Toss Up อยู่ ซึ่งอาจออกได้ทั้งหัวหรือก้อย อย่างไรก็ตาม หากผลโพลเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะมาวิเคราะห์กันอีกครั้ง และจะอัปเดตข้อมูลให้ผู้อ่านทราบต่อไป

The post ทำไม 7 รัฐสีม่วงชี้ชะตาผลแพ้-ชนะประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป appeared first on THE STANDARD.

]]>