โตมร ศุขปรีชา – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 07 Oct 2021 03:31:38 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ธงชาติมีไว้ทำไม? ต้นกำเนิดของผืนผ้าที่รวมประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ความเชื่อ ประชากร และคุณค่าของชาติ https://thestandard.co/national-flag/ Thu, 07 Oct 2021 00:00:54 +0000 https://thestandard.co/?p=545525 National Flag

หลายคนอาจรู้สึกว่าการถามว่า ทำไมเราต้องมี ‘ธงชาติ’ หรือ […]

The post ธงชาติมีไว้ทำไม? ต้นกำเนิดของผืนผ้าที่รวมประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ความเชื่อ ประชากร และคุณค่าของชาติ appeared first on THE STANDARD.

]]>
National Flag

หลายคนอาจรู้สึกว่าการถามว่า ทำไมเราต้องมี ‘ธงชาติ’ หรือ National Flag เป็นคำถามที่ประหลาด

 

เพราะมันคล้ายเป็นสามัญสำนึกไปแล้ว ว่าชาติก็ต้องมีธงชาติ

 

แต่ลองฟังเรื่องเล่าจากหนังสือ A Flag Worth Dying For หรือ ‘ธงที่ควรค่าแก่การตายเพื่อ’ ของ ทิม มาร์แชลล์ นักเขียนชาวอังกฤษที่ทำงานเขียนเกี่ยวกับภูมิศาสตร์เรื่องนี้ดู

 

ทิมเปิดหนังสือของเขาด้วยเรื่องชวนตระหนกที่เกิดขึ้นจริงในเดือนตุลาคม 2014 เมื่อมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างเซอร์เบียกับแอลเบเนีย โดยเซอร์เบียเปิดบ้านเป็นเจ้าภาพ

 

นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ทีมแอลเบเนียเดินทางไปยังเมืองหลวงของเซอร์เบีย คือเบลเกรด – เพื่อแข่งขันฟุตบอล นับตั้งแต่ปี 1967 ลำพังเหตุการณ์นี้ก็เป็นที่จับตามองของทั้งโลกอยู่แล้ว เพราะสองประเทศนี้มีความขัดแย้งกันรุนแรงในระดับที่ลงลึกไปถึงเชื้อชาติ และทำให้บรรยากาศในการแข่งขันวันนั้นหนักอึ้งมาก

 

เรื่องของเรื่องก็คือ แอลเบเนียกับเซอร์เบียเคยขัดแย้งกันมาก่อน เนื่องจากมีคนเชื้อสายแอลเบเนียอาศัยอยู่ในแถบที่เรียกว่าโคโซโว ซึ่งเป็นพื้นที่ของเซอร์เบียที่อยู่ติดกับแอลเบเนีย ความขัดแย้งนี้ทำให้โคโซโวประกาศตัวเป็นรัฐอิสระ โดยแอลเบเนียสนับสนุนโคโซโว ในขณะที่เซอร์เบียต้องการจะปราบปราม

 

แน่นอน ฟุตบอลนัดนั้นห้ามชาวโคโซโวเข้าชม เพราะถือว่าโคโซโวเป็นเหมือนเชื้อปะทุชั้นดี บรรยากาศในสนามตึงเครียดมาก แม้เกมจะดำเนินไปไม่ตื่นเต้นสักเท่าไรก็ตาม ว่ากันว่ามีเสียงตะโกนว่า Kill the Albanians หรือฆ่าพวกแอลเบเนีย – ดังออกมาเป็นระยะๆ ด้วยซ้ำ

 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อใกล้จะถึงครึ่งเกม แล้วเกิดมี ‘โดรน’ เครื่องหนึ่งบินลับๆ ล่อๆ แบบไม่ปรากฏว่าเป็นโดรนอะไรจากไหนบินเข้ามาในสนาม จากนั้นเมื่อถึงกลางสนาม โดรนนี้ก็ระเบิดตัวเองคลี่ออกมาเป็นผืนธงแอลเบเนีย พร้อมกับสัญลักษณ์อื่นๆ และใบหน้าของวีรบุรุษแอลเบเนีย รวมถึงแผนที่แอลเบเนียที่ ‘ใหญ่ขึ้น’ (คือกินพื้นที่รวมโคโซโวเข้าไปด้วย) ก็ทำให้เกิดเหตุจลาจลขึ้นมาทันที

 

National Flag

 

ชาวแอลเบเนียนั้นถือว่าตัวเองอยู่ในพื้นที่โคโซโวมาก่อนตั้งแต่ศตวรรษที่สี่แล้ว ในขณะที่ชาวสลาฟหรือเซอร์เบียนั้น เพิ่งมาถึงในศตวรรษที่หกเท่านั้นเอง ดังนั้นชาวแอลเบเนียจึงควรเป็นเจ้าของพื้นที่ ไม่ใช่เซอร์เบีย

 

เหตุวุ่นวายจึงเกิดขึ้นในสนามฟุตบอล ถึงขั้นที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนที่กรูกันลงจากสนามไปห้ำหั่นกัน จนทำให้คำกล่าวของ จอร์จ ออร์เวลล์ ที่ว่าฟุตบอลคือ ‘สงครามที่ไม่ได้ยิงกัน’ เกิดเป็นจริงขึ้นมา

 

จะเห็นว่านี่คือ ‘อำนาจ’ ของธง ธงชาติคือการรวมกันของประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ความเชื่อ ประชากร และคุณค่าต่างๆ ประทับเป็นสีลงไปบน ‘ชิ้นผ้า’ ชิ้นหนึ่ง ที่เดิมทีไม่น่ามีความหมายอะไรได้เลย แต่ก็กลับมีความหมายขึ้นมาได้อย่างน่าประหลาด

 

เราไม่รู้หรอกว่า ครั้งแรกสุดที่มีการใช้ ‘ธง’ นั้นคือเมื่อไร ใครเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นธงขึ้นมา แต่ก็เชื่อกันมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ธงนั้นเกี่ยวพันกับการทหารแน่ๆ โดยในหนังสือชื่อ Flags Through the Ages and Across the World ของ วิตนีย์ สมิธ เคยเชื่อมโยงการก่อกำเนิดของธงว่าน่าจะเป็น ‘เศษผ้าชุ่มเลือดที่ศัตรูผู้ได้ชัยชนะนำมายกชูสูงขึ้นโดยใช้กิ่งไม้’ นั่นจึงเป็นธงในความหมายดั้งเดิมที่สุด และน่าจะเกิดขึ้นก่อน ‘ธงชาติ’ นับพันๆ ปี

 

National Flag

 

ศาสตร์ในการศึกษาธง เรียกว่า Vexillology ซึ่งมาจากศัพท์ละตินว่า Vexillum หมายถึงธงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ทหารม้าโรมันใช้ในยุคโบราณ และที่จริงแล้ว ‘ธง’ นั้นถือกำเนิดมาก่อนคอนเซปต์เรื่อง ‘ชาติ’ แบบสมัยใหม่เสียด้วยซ้ำ เพราะกองทัพอย่างในอียิปต์โบราณ เปอร์เซีย และบาบิโลน ต่างก็มีการถือธง (ที่อาจเป็นธงริ้ว) กันมานานนมแล้ว โดยธงแบบนั้นอาจเป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องทำหน้าที่เหมือนธง คือเป็นเครื่องหมาย เป็นการนำทาง คล้ายๆ กับที่มัคคุเทศก์สมัยนี้ชอบถือไม้ยาวๆ ห้อยตุ๊กตาหรืออะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้ลูกทัวร์เห็น จะได้เดินตามไปได้ถูกทาง ธงก็ถือกำเนิดมาแบบนั้นเช่นเดียวกัน

 

ในยุคแรกๆ ธงไม่ได้เป็นผืนผ้าแบบที่เราเห็นกัน แต่จะเป็นไม้ที่มีรูปสัญลักษณ์อะไรบางอย่างติดอยู่ด้านบน เช่น รูปสลักของสัตว์บางอย่างที่แสดงถึงอำนาจ อย่างเช่นนักรบโรมันจะถือหอกที่มีปลายเป็นรูปนกอินทรี เป็นต้น 

 

แต่เชื่อกันว่า เมื่อเกิดเส้นทางการค้าโลกขนาดใหญ่ขึ้น คือเกิดเส้นทางสายไหม ผ้าไหมจากจีนกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยม ธงจึงลดรูปจาก ‘สามมิติ’ กลายมาเป็นผืนผ้าแบบสองมิติแทน และธงแบบสองมิตินี้ก็เดินทางผ่านเส้นทางสายไหมเข้าไปสู่โลกมุสลิม โดยในยุคที่ที่ศาสนาอิสลามเริ่มเผยแผ่ไปนั้น ศาสดามูฮัมหมัดทรงใช้แถบธง (Banner) ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่ชาวออตโตมันใช้ โดยธงที่ทำจากผ้าไหมของชาวออตโตมันที่บุกฝ่าไปรบชนะกองทัพของราชวงศ์ฮับสเบิร์กนั้น ยังคงจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ที่ออสเตรียอยู่เลย

 

อย่างไรก็ตาม ธงที่เป็นรากฐานให้เกิดธงชาติแบบยุคใหม่ และทุกชาติต้องมีธงของตัวเองนั้น คือธงที่ใช้ในทางทะเล เรียกว่า Maritime Flags คือธงที่ออกแบบไว้ใช้ติดเรือใหญ่เรือเล็ก หรือยานพาหนะทางน้ำอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเวลาเห็นเรือเราไม่รู้เลยว่าเรือลำนั้นเป็นใครมาจากไหน การติดธงที่เรือจึงเป็นการบ่งบอกอัตลักษณ์ของเรือเสียก่อนล่วงหน้า

 

แล้วจากนั้น ธงก็เริ่มกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ โดยเฉพาะกับอังกฤษที่เกิดการรวมชาติขึ้นมาระหว่างอังกฤษและสกอตแลนด์ ทำให้เกิดธงที่เรียกว่า Union Flag ขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ด โดยการรวมเอาไม้กางเขนของนักบุญจอร์จเข้ากับไม้กางเขนของนักบุญแอนดรูว์

 

National Flag

 

ในยุโรป ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ต่างๆ มีความซับซ้อน การใช้ธงหรือตราสัญลักษณ์ต่างๆ จึงมีความจำเป็น แต่ธงในยุคนั้นก็ไม่ได้ใช้เพื่อแสดงความเป็น ‘ชาติ’ มากเท่ากับแสดงความเป็นตระกูลหรือราชวงศ์​ หรือใช้เพื่อแสดงกลุ่มก้อนความเชื่อทางศาสนา ธงเหล่านี้จึงถูกมองว่าเป็นธงที่ใช้เพื่อประกาศตัวตนบางอย่าง (เป็น Heraldic System of Identification) แต่ไม่ได้เกี่ยวพันไปถึงสามัญชนทั่วไป

 

ว่ากันว่า ธงชาติแบบสมัยใหม่ (Modern National Flag) นั้น ถือกำเนิดขึ้นในราวศตวรรษที่ 19-20 นี้เอง โดยเป็นผลพวงมาจากยุคแห่งการปฏิวัติ (Age of Revolution) โดยเฉพาะการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งมีการล้มราชวงศ์ลงไป โดย อัลเฟรด สนาเมียรอฟสกี (Alfred Znamierowski) ซึ่งเป็นนักศึกษาธง (Vexillologist) และนักศึกษาตราสัญลักษณ์ (Heraldist) คนสำคัญ เคยบอกว่าการออกแบบธงรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะ ‘เรียบง่าย’ (เช่น มีสามสีหรือที่เราเรียกว่า ‘ไตรรงค์’) และเราพบเห็นกันในโลกปัจจุบันนี้ เป็นธงที่เกิดจากการปฏิเสธระบบตราสัญลักษณ์ที่มีลักษณะฟู่ฟ่าฟุ่มเฟือยของระบบราชวงศ์ มาเป็น ‘ชาติสมัยใหม่’ ที่ต้อง ‘นับรวม’ ผู้คนเข้าไปอยู่ในชาติด้วย

 

National Flag

 

ธงยุคใหม่จึงเรียบง่าย ดูง่าย เข้าใจง่าย ว่าแต่ละสีที่ปรากฏอยู่นั้น ได้ ‘แบก’ เอาอุดมการณ์ของชาติ และโอบอุ้มสารทางการเมืองแบบไหนเอาไว้บ้าง

 

ธงชาติยุคใหม่จึงเป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยม (Nationalism) และการเป็น ‘พลเมืองร่วม’ (Collective Citizenry) ไม่ใช่เป็นธงที่แสดงถึงอำนาจและสิทธิขาดของตระกูลที่เคยปกครองดินแดนนั้นๆ มาก่อนอีกต่อไปแล้ว โดยแต่ละชาติก็จะออกแบบธงของตัวเองต่างกันออกไป โดยมีเนื้อหาคือความเรียบง่าย และธงแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยม ก็คือธงสามสีที่ได้รับอิทธิพลมาจากการออกแบบธงของฝรั่งเศส ซึ่งมีนัยต่อต้านระบอบการปกครองแบบในอดีตอย่างชัดเจน เพราะเป็นธงที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส และต่อมาหลายประเทศก็รับเอาการออกแบบธงแบบนี้ไปใช้ โดยมีการตีความของตัวเองแตกต่างกันออกไป

 

ดังนั้น ถ้าถามว่าแล้วธงชาติมีไว้ทำไม คำตอบสั้นๆ ก็คือ – ก็มีไว้เพื่อแสดงความเป็นชาติแบบ ‘สมัยใหม่’ (Modern Nation) นั่นแหละ แต่แต่ละประเทศจะตีความคำว่า ‘ความเป็นชาติ’ ของตัวเอง คงขึ้นอยู่กับต้นทุนทางความคิด ประวัติศาสตร์ และการบ่มเพาะปลูกฝังของระบบอำนาจในชาติที่สืบทอดต่อๆ กันมานั่นเอง

 

อ่านเพิ่มเติม:

The post ธงชาติมีไว้ทำไม? ต้นกำเนิดของผืนผ้าที่รวมประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ความเชื่อ ประชากร และคุณค่าของชาติ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ประวัติศาสตร์กระสุนยาง: อาวุธที่ไม่ได้หมายมั่นให้ใครตาย (แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น) https://thestandard.co/rubber-bullets-history/ Mon, 27 Sep 2021 12:23:41 +0000 https://thestandard.co/?p=541219 กระสุนยาง

กระสุนยางหรือ Rubber Bullets นั้น ถือเป็นยุทโธปกรณ์ประเ […]

The post ประวัติศาสตร์กระสุนยาง: อาวุธที่ไม่ได้หมายมั่นให้ใครตาย (แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น) appeared first on THE STANDARD.

]]>
กระสุนยาง

กระสุนยางหรือ Rubber Bullets นั้น ถือเป็นยุทโธปกรณ์ประเภทที่เรียกว่า Nonlethal คือใช้แล้วไม่ได้ร้ายแรงทำให้ใครถึงตาย หรืออย่างน้อยก็มีจุดมุ่งหมายที่จะไม่ได้ ‘สังหาร’ ใคร

 

อย่างไรก็ตาม การบอกว่ากระสุนยางคือกระสุนยางนี่ ชื่อก็ผิดแล้วนะครับ เพราะในบรรดากระสุนยางที่มีการผลิตกันออกมาทั้งหมด (ประมาณว่ามีอยู่ด้วยกัน 75 แบบ) มีน้อยเจ้ามากที่ผลิตขึ้นจาก ‘ยาง’ จริงๆ 

 

บางเจ้าก็จะใช้ก้อนตะกั่ว (Lead Pellets) บางเจ้าก็ใช้ชิ้นส่วนโลหะแบบต่างๆ ซึ่งอาจจะฟังดูเหมือนอันตราย แต่ที่จริงแล้วมันถูกสร้างขึ้นมาให้เกิด ‘แรงปะทะ’ แบบที่ไม่ได้ ‘เจาะทะลุ’ เหมือนกระสุนทั่วไปที่มีอานุภาพรุนแรงกว่ามาก

 

แต่นั่นไม่ได้แปลว่ากระสุนยางจะเป็นเหมือนปุยนุ่น เพราะมันอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บหนัก ไม่ว่าจะเป็นตาบอด เกิดความพิการถาวร หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้ด้วย

 

มีข้อมูลบอกว่า อัตราการใช้กระสุนยางที่ทำให้เสียชีวิต (Fatality Rate) นั้น อยู่ที่ราว 3% ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากโควิด (เป็นสถิติแบบทั่วโลกหรือ Worldwide) ที่อยู่ที่ 2% เสียอีก

 

พูดง่ายๆ ก็คือ โดยสถิติเชิงประจักษ์ คนเราสามารถตายเพราะกระสุนยางได้ง่ายกว่าตายเพราะโควิด!

 

คำถามก็คือ แล้วกระสุนยางนี่ ใครเป็นคนประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา แล้วมันคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร เพื่อใช้ทำอะไรกันเล่า

 

กระสุนยางในรูปแบบกระสุนยางที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาโดยกระทรวงป้องกันประเทศของอังกฤษ (British Ministry of Defence) เพื่อใช้ต่อกรกับผู้ประท้วงโดยสงบในไอร์แลนด์เหนือ กับเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Troubles โดยมีการใช้ครั้งแรกในปี 1970

 

The Troubles ก็คือเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างไอร์แลนด์เหนือกับอังกฤษ ซึ่งจริงๆ กินเวลายาวนานถึงราว 30 ปี ตั้งแต่ทศวรรษ 60 มาจนถึงปี 1998 ความขัดแย้งนี้มีหลายระดับ ทั้งระดับที่ใช้ความรุนแรง มีการก่อการร้าย จนถึงระดับที่มีการประท้วงอย่างสันติ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่กระนั้น ในบางกรณีตำรวจก็ยังเห็นว่าจำเป็นต้องหาวิธี ‘ควบคุมฝูงชน’ ให้ได้ ซึ่งกระสุนยางก็เป็นวิธีการหนึ่ง มีรายงานว่าในช่วงของ The Troubles นับตั้งแต่ปี 1970-1998 (คือเกือบ 30 ปี) มีการใช้กระสุนยางไปมากกว่า 120,000 นัด

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูประวัติศาสตร์ของสิ่งที่ ‘คล้ายๆ’ กระสุนยาง คือการสร้างความพยายามจะควบคุมฝูงชนด้วยอาวุธประเภท Nonlethal คือไม่ทำให้ถึงตายแล้วล่ะก็ ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ย้อนกลับไปได้นานมากกว่าร้อยปีเลยทีเดียว เพราะแม้แต่ ‘กระบอง’ ของตำรวจในยุควิกตอเรียนของอังกฤษ ก็ถือว่าเป็นอาวุธประเภท Nonlethal เหมือนกัน แต่ถ้าจะนับอาวุธประเภทที่มีการ ‘ยิง’ หรือเป็นการปล่อยอาวุธออกมาในวิถีโค้ง (เรียกว่าเป็น Nonlethal Projectiles) หรือบางทีก็เรียกว่า Kinetic Impact Projectiles (เรียกย่อๆ ว่า KIPs) ก็อาจจะใหม่กว่านั้นขึ้นมาหน่อย

 

มีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในอังกฤษ รวมถึงในดินแดนอาณานิคมอย่างสิงคโปร์ เคยใช้ ‘กระสุนไม้’ ในการควบคุมฝูงชนมาก่อนในทศวรรษ 1880 โดยใช้ด้ามไม้กวาดนำมาตัดเป็นชิ้นๆ แล้วเอามายิง แม้วัตถุประสงค์คือจะทำให้เกิดแรงกระแทกที่ไม่เจาะทะลวง แต่ปรากฏว่ากระสุนไม้พวกนี้ร้ายกาจมาก เพราะไม้จะแตกเป็นเสี้ยนชิ้นเล็กๆ แล้วฝังเข้าไปในเนื้อมนุษย์ตามที่ต่างๆ จึงอันตรายเอามากๆ

 

แต่กระสุนยางยุคใหม่ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยไร้อันตราย คนแรกในโลกที่มีรายงานว่าตายเพราะโดนกระสุนยาง ก็คือเด็กวัยแค่ 11 ขวบ ชื่อ ฟรานซิส โรว์นทรี (Francis Rowntree) โดย The Irish Times ได้รายงานเอาไว้ในวันที่ 11 มิถุนายน 1997 ว่า ตลอดช่วง The Troubles นั้น มีคนที่ถูกกระสุนยางยิงแล้วเสียชีวิตรวมทั้งหมดถึง 17 คน และ 8 คนเป็นเด็กหรือวัยรุ่น

 

ที่จริงแล้วกระสุนยางได้รับการออกแบบให้ ‘ต้องยิง’ ลงไปในที่ต่ำ เช่น ยิงลงถนน แล้วค่อยกระดอนขึ้นไปโดนบริเวณขาในระดับหัวเข่า แต่กระนั้น การใช้กระสุนยางก็พิสูจน์แล้วว่าควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยโทสะอารมณ์ของผู้ใช้ หรือแม้แต่จากความไม่แม่นยำของตัวกระสุนเองก็ตาม เคยมีการศึกษาพบว่า ปืนที่ใช้ยิงกระสุนยางในยุคแรกนั้นมีความไม่แม่นยำในระดับที่รับไม่ได้ คืออาจพลาดเป้าไปได้ถึงราวหนึ่งฟุตที่ระยะไกลไม่ถึง 30 หลา นั่นทำให้เกิดอาการบาดเจ็บในระดับ ‘สาหัส’ ได้มาก เช่น บางคนมีอาการอัมพาต บางคนก็กะโหลกร้าว บางคนก็ตาบอด และบางคนก็ถึงตาย

 

ฟรานซิส โรว์นทรี เป็นคนแรกที่เสียชีวิต โดยเสียชีวิตในเดือนเมษายน ปี 1972 ส่วนคนสุดท้ายที่เสียชีวิต คือ ซีมุส ดัฟฟี (Seamus Duffy) ซึ่งมีอายุแค่ 15 ปี เสียชีวิตในเดือนสิงหาคม 1989

 

แม้แต่ในอเมริกา การใช้กระสุนยางก็เป็นปัญหาอย่างมาก กระทั่งในปี 2020 คือปีที่มีการประท้วงหนักในหลายเรื่อง มีหลายคนที่ถูกกระสุนยางจนบาดเจ็บร้ายแรง เช่น ช่างภาพอย่าง ลินดา ทิราโด (Linda Tirado) ก็สูญเสียการมองเห็นกับดวงตาไปหนึ่งข้างอย่างถาวร เพราะถูกกระสุนยางยิงเข้าที่บริเวณศีรษะ รวมทั้งมีรายงานว่าผู้สูงอายุคนหนึ่งในแคลิฟอร์เนียชื่อ เลสลี ต้องเข้า ICU หลังถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ศีรษะเหมือนกัน ทั้งที่เธอประท้วงอย่างสงบ และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

 

ไม่ใช่แค่นี้ แต่ในหลายประเทศ ทั้งบราซิล จีน อินเดีย ตุรกี เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศ ต่างก็มีสถานการณ์แบบเดียวกันเกิดขึ้น เคยมีรายงานว่าตำรวจแอฟริกาใต้ใช้ถ่าน (แบตเตอรี่) ยัดเข้าไปเป็นไส้ของกระสุนยาง เพื่อทำให้มันอันตรายร้ายแรงมากขึ้น หรือในเหตุการณ์อาหรับสปริง ตำรวจอียิปต์ก็สังหารผู้มาประท้วงไปหลายคนโดยใช้กระสุนยางนี่เอง

 

ในระยะหลัง กระสุนยางยิ่งได้รับการออกแบบให้ร้ายแรงขึ้น บางชนิดมีเปลือกแข็งขึ้น บางชนิดมีสเปรย์พริกไทยหรือแม้แต่แก๊สน้ำตาบรรจุอยู่ภายใน นั่นทำให้องค์กรอย่าง Human Rights Watch พยายามผลักดันให้มีการแบนการใช้กระสุนยางอย่างสิ้นเชิง ซึ่งก็ทำสำเร็จในบางประเทศ เช่น อิสราเอลได้สั่งแบนการใช้กระสุนยางเพื่อควบคุมฝูงชนมาตั้งแต่ปี 2000 แล้ว

 

จะเห็นว่าอาวุธที่ตั้งเป้าจะเป็น Nonlethal Projectiles นั้น เมื่อนำมาใช้จริงกลับมีปัญหา เพราะเฉพาะตัวอาวุธเองก็ต้องบอกว่ามันไม่ ‘Non’ Lethal จริงๆ แต่กลับทำให้คนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้

 

และนี่ยังไม่นับ ‘เจตนา’ ของผู้ใช้งานด้วยซ้ำ!

 

อ้างอิง:

The post ประวัติศาสตร์กระสุนยาง: อาวุธที่ไม่ได้หมายมั่นให้ใครตาย (แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น) appeared first on THE STANDARD.

]]>
มนุษย์เป็นสัตว์ดนตรีจริงไหม ดนตรีและเครื่องดนตรีมาจากไหน ย้อนประวัติศาสตร์หาต้นตอเสียงเพลงที่จรรโลงมนุษยชาติมาเนิ่นนาน https://thestandard.co/music-instruments-origin/ Thu, 19 Aug 2021 12:39:38 +0000 https://thestandard.co/?p=526999 ดนตรี

เวลาฟังดนตรี คุณเคยสงสัยไหมว่า – ใครเป็นคนคิดประด […]

The post มนุษย์เป็นสัตว์ดนตรีจริงไหม ดนตรีและเครื่องดนตรีมาจากไหน ย้อนประวัติศาสตร์หาต้นตอเสียงเพลงที่จรรโลงมนุษยชาติมาเนิ่นนาน appeared first on THE STANDARD.

]]>
ดนตรี

เวลาฟังดนตรี คุณเคยสงสัยไหมว่า – ใครเป็นคนคิดประดิษฐ์ ‘เครื่องดนตรี’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก

เวลาฟังเสียงร้องเพลง คุณเคยสงสัยไหมว่า – คนโบราณที่ไม่รู้จักทฤษฎีดนตรีมาก่อน เขาร้องเพลงแบบไหนกัน เสียงร้องเพลงมาจากเสียงคำรามได้ไหม หรือเป็นเสียงเกี้ยวพาน แล้วทำไมแมวหมากาไก่ถึงไม่รู้จักร้องออกมาเป็นเพลง หรือแม้กระทั่งนกกางเขนบ้านที่เปล่งเสียงออกมาเหมือนการร้องเพลงนั้น มันกำลัง ‘ร้องเพลง’ ในความหมายเดียวกับมนุษย์หรือเปล่า


มีปริศนาทางดนตรีมากมายที่ไม่มีคำตอบ หลายคำถามผุดเกิดขึ้นมาง่ายๆ ตั้งแต่เรายังเด็ก แต่เชื่อไหมว่ามันคือคำถามที่ตอบยากมากถึงมากที่สุด!


สำหรับมนุษย์ เคยเชื่อกันว่า เครื่องดนตรีเก่าแก่ที่สุดที่เคยมีการค้นพบกัน คือขลุ่ยที่ทำจากกระดูก (Bone Flute) อายุ 43,000 ปี ซึ่งค้นพบในบริเวณที่ปัจจุบันคือประเทศสโลวีเนีย แต่ดินแดนนั้นเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล เรียกว่า Divje Babe Flute แต่บางคนก็เรียกมันว่าเป็น ‘นีแอนเดอร์ทัลฟลูต’


ชื่อ Divje Babe เป็นชื่อของแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีในสโลวีเนีย มันมีลักษณะเป็นถ้ำแนวนอน ยาว 45 เมตร กว้าง 15 เมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการอยู่อาศัย เชื่อกันว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ทัลมาอยู่ในถ้ำแห่งนี้ตั้งแต่ยุค 55,000 ปีก่อน และมีการขุดค้นเจอซากของวัตถุโบราณมากมายหลายอย่าง มีเตาไฟมากถึง 20 ชิ้น และมีวัตถุอื่นๆ อีกมากกว่า 600 ชิ้น


ในบรรดาข้าวของที่ค้นพบเหล่านี้ มีกระดูกกลวงๆ อยู่ 10 ชิ้นที่มีรูเรียงรายอยู่ คือดูแล้วคล้ายกับเป็นขลุ่ย แต่อย่าคิดว่าเหมือนขลุ่ยในปัจจุบันนะครับ เพราะรูที่ว่าไม่ได้มีหลายรู บางชิ้นมีเพียงสองรูเท่านั้น ซึ่งในช่วงแรกๆ ที่มีการค้นพบ คือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 นักโบราณคดีก็ยังเดาไม่ถูกว่ามันคืออะไร


จนกระทั่งถึงปี 1995 นักโบราณคดีคนหนึ่งชื่อ อิวาน เติร์ก (Ivan Turk) ซึ่งทำงานอยู่กับสถาบันวิทยาศาสตร์และศิลปะแห่งสโลวีเนีย จึงได้ตั้งชื่อให้กับเจ้ากระดูกที่มีรูนี้ว่า ‘นีแอนเดอร์ทัลฟลูต’ ที่เขาตั้งชื่อให้แบบนี้ ไม่ได้แปลว่าเขารู้ว่ามันเป็นเครื่องดนตรีหรอกนะครับ แต่เพราะเขาเห็นว่ารูปร่างหน้าตาของมันคล้ายๆ ฟลูตเท่านั้นเอง เลยใช้ชื่อนี้โดยไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นฟลูตหรือเปล่า แต่ก็ทำให้เกิดการถกเถียงกันอย่างร้อนแรงข้ึนมาเลยว่า นี่คือเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลกจริงไหม เพราะบางคนก็คิดว่า นี่อาจเป็นกระดูกที่ถูกเขี้ยวของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่เจาะเข้าไปก็ได้ เนื่องจากมีรูอยู่แค่สองรู และไม่น่าจะใช้ในการ ‘สร้างเสียง’ ขึ้นมาได้


อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเห็นพ้องต้องกันว่า เครื่องดนตรีแรกที่มนุษย์สร้างขึ้น น่าจะเป็นฟลูตหรือขลุ่ยนี่แหละครับ เพียงแต่ไม่ใช่ขลุ่ยอายุ 43,000 ปีที่ว่า แต่น่าจะเป็นขลุ่ยที่ ‘ใหม่’ กว่านั้น คือขลุ่ยที่พบในยุโรป มีอายุราว 35,000 ปี ซึ่งค้นพบโดยทีมนักวิทยาศาสตร์และนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยทูบิเงน (Tübingen) ในเยอรมนี ในถ้ำทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ซึ่งน่าจะทำจากงาช้างแมมมอธ และมีรูอยู่ด้วยกันถึงสี่รู ไม่ใช่แค่สองรูเหมือนนีแอนเดอร์ทัลฟลูต


การระบุให้ได้ว่า อะไรเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกของโลกเป็นเรื่องยากมาก นักวิจัยเพื่อหา ‘กำเนิดดนตรี’ อย่าง ฟรานเชสโก เดอร์ริโก (Francesco d’Errico) จากมหาวิทยาลัยบอร์โดซ์ในฝรั่งเศส บอกว่า งานวิจัยเรื่องนี้ต้องใช้ความอุตสาหะและการอุทิศตัวอย่างมาก เพราะเรายืนยันไม่ได้เลยว่าสิ่งที่พบนั้นเป็นเครื่องดนตรีจริงหรือเปล่า และเครื่องดนตรีจริงๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะทำจากวัสดุที่ย่อยสลายง่าย เช่น ไม้ เหมือนอย่างบางชนเผ่าที่ยังมีวิถีชีวิตแบบโบราณ ก็มีการเสาะหาไม้ที่ปลวกกินจนเป็นโพรงข้างใน แล้วนำมาทำเป็นเครื่องเป่าหรือเครื่องสี แต่ก็อย่างที่รู้อยู่ว่าไม้เป็นวัสดุที่ผุพังได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปเป็นหมื่นๆ ปี จึงไม่เหลือหลักฐานอะไรให้พิสูจน์ได้


นักวิจัยอีกคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด คือ เอียน มอร์ลีย์ (Iain Morley) ซึ่งเคยเขียนหนังสือชื่อ The Prehistory of Music ก็เน้นย้ำแบบเดียวกันว่าเครื่องดนตรีโบราณเป็นสิ่งที่หาได้ยากมากๆ ดังนั้นหลายคนจึงหันมาดู ‘วิวัฒนาการ’ ของร่างกายมนุษย์แทน


เชื่อกันว่ามนุษย์มีวิวัฒนาการจนสามารถ ‘สร้างเสียง’ ของตัวเองให้มีหลายๆ เสียงได้ (ไม่เหมือนกับหมาแมวที่ทำเสียงได้แค่ไม่กี่เสียง) มาตั้งแต่ 530,000 ปีก่อนแล้ว ดังนั้นจึงเชื่อกันว่ามนุษย์สปีชีส์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วอย่างเช่นมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล น่าจะมีศักยภาพที่จะ ‘ร้องเพลง’ ได้


ถามว่าแล้วรู้ได้อย่างไรว่ามนุษย์เมื่อห้าแสนกว่าปีมีเสียงหลายเสียง คำตอบก็คือเพราะมีการพบซากฟอสซิลมนุษย์ยุคนั้น ซึ่งมีกระดูกรูปเกือกม้าเล็กๆ ในคอ ที่เรียกว่า ไฮออยด์ (Hyoid) โดยเจ้ากระดูกที่ว่านี้จะมีรูปร่างที่เปลี่ยนไปจากยุคก่อนหน้า เพราะกล่องเสียงมีวิวัฒนาการเคลื่อนลงต่ำ และอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้เราสามารถเปล่งเสียงพูดและร้องเพลงออกมาได้ รวมทั้งมีการพบกระดูกไฮออยด์นี้ในมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล รวมถึงมนุษย์สปีชีส์อื่น เช่น มนุษย์ไฮเดลแบร์กด้วย โดยเชื่อกันว่ากล่องเสียงอาจจะเลื่อนลงต่ำมาก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ


ทว่าแม้จะสงสัยว่ามนุษย์อาจจะส่งเสียงเป็นท่วงทำนองได้ตั้งแต่หลายแสนปีก่อน แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าเสียงเหล่านั้นเป็นอย่างไร ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก เป็นคนแรกที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ และพยายามอธิบายว่าทำไมมนุษย์ถึงเป็น ‘สัตว์ดนตรี’ (Musical Being) เขาเขียนไว้ในหนังสือที่ว่าด้วยทฤษฎีวิวัฒนาการ โดยบอกว่าการคัดเลือกโดยธรรมชาตินั้น ส่วนหนึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องเพศ เขายกตัวอย่างการร้องเพลงของนก ว่านกตัวผู้ที่ร้องเพลงเก่งช่วยดึงดูดนกตัวเมียมากกว่า ทำให้ได้ผสมพันธุ์และแพร่พันธุ์ออกไป เขาจึงคิดว่าการร้องเพลงของมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของ Sexual Selection หรือการคัดเลือกทางเพศ แต่ในตอนหลังแนวคิดนี้ก็ตกไป เพราะเรารู้อยู่ว่าไม่ได้มีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่ร้องเพลง ผู้หญิงก็ร้องเหมือนกัน ดังนั้นการนำไปเปรียบกับนกจึงเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว

การศึกษาเรื่องดนตรีนั้นมีอยู่ด้วยกันสองค่าย ซึ่งมาจากคนละทาง แต่ค่อยๆ คลำทางจนมาเจอกันได้ ค่ายแรกเป็นค่ายทางชีววิทยาที่เชื่อว่าดนตรีและการร้องเพลงเกิดมาจากการปรับตัวทางร่างกาย แล้วทำให้มนุษย์เปล่งเสียงออกมาได้หลากหลาย จนในที่สุดก็เกิดคอนเซปต์ทางดนตรีขึ้นมา ค่ายนี้จะมีนักประสาทศาสตร์ที่พยายามค้นหาบริเวณของสมองที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพื้นที่สมองที่ทำงานเรื่องดนตรีและการ ‘ด้นสด’ (Improvisation) กับนักพันธุกรรมศาสตร์ที่พยายามแยกแยะยีนที่ช่วยในการเรียนรู้เรื่องดนตรีของเราออกมาด้วย เพราะคนแต่ละคนมีความสามารถในการรับรู้ดนตรีได้แตกต่างกัน แต่อีกค่ายหนึ่งเป็นค่ายทางสังคมที่เชื่อว่าดนตรีนั้นเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง นั่นคือมนุษย์มาอยู่รวมกันแล้วต้องมีการสื่อสาร ดังนั้นดนตรีและภาษาจึงเกิดขึ้นแทบจะพร้อมกัน และมีวิวัฒนาการไปด้วยกัน


ทั้งสองค่ายอาจมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน แต่ก็เชื่อกันว่า คำอธิบายเรื่องดนตรีของมนุษย์นั้นต้องอาศัยทั้งสองค่าย เพราะในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อมนุษย์เริ่มมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ขึ้น ก็ย่อมต้องการการสื่อสารเพื่อรับรู้ถึงสภาวะอารมณ์ของกันและกัน และการส่งเสียงก็เป็นเรื่องสำคัญ


เลสลี ไอเยลโล (Leslie Aiello) และ โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เสนอว่าบรรพบุรุษของเราอาจจะเริ่มสื่อสารกันโดยใช้เสียงแสดงอารมณ์ออกมาก่อน แล้วการสร้างเสียงนี้ก็ค่อยๆ ไปเปลี่ยนแปลงอวัยวะของเราให้เปล่งเสียงได้ดีขึ้น สองอย่างนี้จึงดำเนินไปด้วยกัน และเกี่ยวพันไปถึงขนาดของสมองที่เริ่มใหญ่โตกว่าสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ เมื่อราว 1.8 ล้านปีก่อน เพราะเมื่อมนุษย์เริ่มต้องสื่อสารด้วยวิธีที่ซับซ้อนขึ้น เราก็ต้องการการประมวลผลที่ซับซ้อนขึ้น ที่สำคัญ สมองที่ซับซ้อนนั้นกินพลังงานอย่างหนัก ดังนั้นมนุษย์จึงยิ่งต้องอยู่ร่วมกันเพื่อช่วยกันหาอาหารมาหล่อเลี้ยงทั้งร่างกายและสมองด้วย การอยู่ร่วมกันนี้ก็ยิ่งไปเร่งกระบวนการสื่อสารเข้าไปใหญ่ แล้วสิ่งนี้ก็ไปเร่งกระบวนการวิวัฒนาการอีกทีหนึ่ง


จะเห็นว่า แค่เพียงเรื่องของดนตรีและเครื่องดนตรี ก็ทำเอามนุษย์เรางวยงงแล้วนะครับ ว่าเราเกิดรักชอบในเสียงดนตรีขึ้นมาได้อย่างไร และเราเป็นคนประดิษฐ์คิดค้นดนตรีขึ้นมาจริงหรือไม่

 

และนี่เป็นเพียงหนึ่งในเรื่องอีกมากมายที่มนุษย์ยังตอบคำถามไม่ได้ – เท่านั้นเอง

อ้างอิง:

The post มนุษย์เป็นสัตว์ดนตรีจริงไหม ดนตรีและเครื่องดนตรีมาจากไหน ย้อนประวัติศาสตร์หาต้นตอเสียงเพลงที่จรรโลงมนุษยชาติมาเนิ่นนาน appeared first on THE STANDARD.

]]>
ประวัติศาสตร์โคโรนาไวรัส: เรารู้จักไวรัสชนิดนี้มาตั้งแต่เมื่อไร และใครคือผู้ค้นพบ https://thestandard.co/coronavirus-history/ Fri, 30 Jul 2021 08:35:33 +0000 https://thestandard.co/?p=519388 ประวัติศาสตร์โคโรนาไวรัส

เราพิศดูรูปลักษณ์ของไวรัสชนิดใหม่อย่างใกล้ชิด และสังเกต […]

The post ประวัติศาสตร์โคโรนาไวรัส: เรารู้จักไวรัสชนิดนี้มาตั้งแต่เมื่อไร และใครคือผู้ค้นพบ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ประวัติศาสตร์โคโรนาไวรัส

เราพิศดูรูปลักษณ์ของไวรัสชนิดใหม่อย่างใกล้ชิด และสังเกตว่ามันมีลักษณะคล้ายรัศมีแผ่ออกไปรอบตัว เมื่อหันไปพึ่งพจนานุกรมเพื่อหาศัพท์ละตินที่เทียบเท่า ก็ได้คำว่า ‘โคโรนา’ และนั่นเอง ชื่อของ ‘โคโรนาไวรัส’ จึงได้บังเกิดขึ้น

 

ตอนหนึ่งจากหนังสือ Cold Wars: The Fight Against the Common Cold

โดย เดวิด ไทเรลล์ ผู้ค้นพบโคโรนาไวรัสในมนุษย์เป็นครั้งแรก

 

เราอาจคิดว่าโคโรนาไวรัสเป็นเชื้อโรคอุบัติใหม่ แต่ที่จริงแล้วเจ้าโคโรนาไวรัสที่สร้างปัญหาปั่นป่วนให้กับโลกเราในขณะนี้มีการค้นพบกันมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1920 หรือเกือบๆ หนึ่งร้อยปีเต็มมาแล้ว

 

แต่ว่าโคโรนาไวรัสที่พบตั้งแต่เกือบร้อยปีที่แล้วนั้น เราพบในสัตว์ ไม่ได้พบในมนุษย์ โดยสัตว์ที่พบก็คือไก่ กับโรคติดเชื้อเฉียบพลันที่ทางเดินหายใจของไก่เลี้ยง และพบในอเมริกาเหนือเป็นที่แรก (ซึ่งไม่ได้แปลว่าเจ้าไวรัสชนิดนี้จะไม่มีอยู่ในที่อื่นนะครับ เพียงแต่มีการ ‘พบ’ ครั้งแรกที่นี่) ทำให้ไก่มีอาการต่างๆ และตายในอัตรา 40-90% โดยในระยะแรกนักวิทยาศาสตร์เรียกไวรัสนี้ว่า IBV หรือ Infectious Bronchitis Virus คือไวรัสที่ติดเชื้อที่บริเวณหลอดลม

 

พอถึงราวๆ ทศวรรษ 1940 มีการค้นพบโคโรนาไวรัสอีกสองสายพันธุ์ คือ JHM หรือในตอนหลังเรียกว่า Murine Coronavirus ที่ติดเชื้อในหนู ทำให้เกิดโรคทางสมอง กับ MHV หรือ Mouse Hepatitis Virus ที่ทำให้เกิดโรคในหนูเช่นกัน แต่เกิดอาการที่ตับ

 

เป็นอันว่า ถ้าไล่ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์แล้ว เราจะพบว่านักวิทยาศาสตร์ค้นพบไวรัสใหม่สามชนิดด้วยกัน คือ IBV, JHM และ MHV ซึ่งทั้งสามล้วนเกี่ยวข้องกันเพราะเป็นโคโรนาไวรัสเหมือนกัน แต่ในตอนนั้นยังไม่มีใครรู้เลยว่ามันเกี่ยวข้องกัน เอาเข้าจริงก็คือ ไม่มีใคร ‘เห็น’ ด้วยซ้ำ ว่าหน้าตาของมันเป็นอย่างไร เพราะเทคโนโลยียังไม่ดีพอ ประกอบกับโลกก็วุ่นวายไปด้วยสงครามโลกและเศรษฐกิจตกต่ำ จนไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์อย่างหนูหรือไก่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนหรือเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอะไรเลย

 

มองในอีกแง่หนึ่ง มนุษย์เราเสียเวลาไปกับ ‘เรื่องไม่เป็นเรื่อง’ ยาวนานเหลือเกิน

 

จนกระทั่งโลกเริ่มสงบลงแล้ว นั่นคือในช่วงทศวรรษ 1960 ยุคที่บุปผาชนกำลังสะพรั่งบาน และผู้คนบอกให้ Make Love Not War นั่นเอง จึงมีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งหันมาสนใจเรื่องที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องขี้ปะติ๋ว (อยู่ดี)

 

เรื่องขี้ปะติ๋ว (แต่ที่จริงแล้วยิ่งใหญ่มาก) ที่ว่าก็คือการทำวิจัยเพื่อพัฒนาระบบที่จะ ‘แยกแยะ’ (Categorising) ไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดธรรมดา (Common Cold) ขึ้นมา

 

ในยุคนั้นการเป็น ‘ไข้หวัด’ ถือเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วเอามากๆ ไม่มีใครคิดหรอกว่ามนุษย์เราจะสามารถ ‘ตาย’ เพราะไข้หวัดได้ เคยมีขุนนางคนหนึ่งของอังกฤษที่ไม่เคยป่วยเป็นอะไรเลยตลอดทั้งชีวิตเพราะรักษาความสะอาดดีมาก แต่สุดท้ายเมื่อป่วยเป็นไข้หวัด (ซึ่งคนถือว่าเป็นอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ) ปรากฏว่าถึงแก่เสียชีวิตลงไป ผู้คนในแวดวงจึง ‘เมาท์’ กันว่าเป็นเพราะเขารักษาความสะอาดมากเกินไป ทำให้ร่างกายไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ไม่มีใครคิดว่าไวรัสไข้หวัดจะทำให้คนล้มตายข้างถนนได้ วิธีคิดแบบนี้จะเรียกว่าเป็นมายาคติอย่างหนึ่งที่ทำให้เราตั้งมั่นอยู่ในความประมาทก็ว่าได้

 

ด้วยเหตุนี้ งานของนักวิทยาศาสตร์คนนี้ที่พยายามจะแยกแยะไวรัสไข้หวัดออกมา จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คนไม่ค่อยสนใจมากเท่าไรนัก เป็นงานที่ฮือฮาอยู่ในแวดวงแคบๆ มีแต่นักวิชาการด้านไวรัสด้วยกันเท่านั้นที่สนใจ

 

นักวิทยาศาสตร์คนนี้มีชื่อว่า เดวิด ไทเรลล์ (David Tyrrell) เขาเป็นนักไวรัสวิทยาชาวอังกฤษที่เกิดในปี 1925 และทำงานเป็นผู้อำนวยการของหน่วยงานที่ชื่อ Common Cold Unit (หรือ CCU) ซึ่งคือหน่วยงานหนึ่งของอังกฤษที่ทำงานวิจัยเรื่องไข้หวัดธรรมดาๆ และมีการทำวิจัยต่างๆ ในช่วงปี 1946-1989

 

ไทเรลล์เริ่มต้นงานวิจัยนี้ตั้งแต่มาร่วมงานกับ CCU ใหม่ๆ ต้องบอกคุณก่อนว่า วิธีแยกแยะไวรัสในสมัยโบราณนั้น นักวิทยาศาสตร์จะแยกแยะตาม ‘น้ำเลี้ยง’ หรือ Culture ที่ใช้เลี้ยงไวรัส

 

คำว่า Culture นั้น ถ้าเราเอาไปเลี้ยงแบคทีเรีย เราอาจพอแปลว่าเป็น ‘อาหารเลี้ยงเชื้อ’ ได้ เพราะแบคทีเรียมีการ ‘กิน’ อาหารนั้น คือนำอาหารนั้นๆ ไปใช้ให้พลังงานกับเซลล์ตัวเองเพื่อจะแบ่งเซลล์หรือทำกิจกรรมอื่นๆ แต่กับไวรัสไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไวรัสไม่ต้อง ‘กิน’ อะไร เพราะในตัวมันแทบไม่มีอะไรเลยนอกจากเปลือกและสารพันธุกรรม มันไม่ได้ใช้พลังงานในตัวเอง แต่ใช้พลังงานของเซลล์โฮสต์ที่มันไปอาศัยอยู่ ดังนั้น เวลาพูดถึงคำว่า Culture ที่ใช้เลี้ยงไวรัส (หรือ Viral Culture) นักวิทยาศาสตร์ก็จะดูว่ามันเป็น Culture ที่ทำมาจากอะไร เช่น

 

Human-Embryo-Kidney Cell Culture ก็คือ Culture ที่ทำมาจากเซลล์ไตของตัวอ่อนมนุษย์ เป็นต้น โดยดูว่าพอเอาไวรัสใส่เข้าไปในน้ำเลี้ยงนั้นๆ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงใน ‘โครงสร้าง’ ของเซลล์ของ Culture หรือเปล่า เช่น ไวรัสทำให้เซลล์จากไตของตัวอ่อนมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลง (เรียกว่า Cytopathogenic Effect) ไหม ไวรัสปล่อยสารพันธุกรรมเข้าไปในเซลล์ ทำให้เซลล์สร้างโปรตีนที่แตกต่างออกมา ไวรัสแต่ละสายพันธุ์ก็จะจำเพาะเจาะจงกับ ‘น้ำเลี้ยง’ แบบหนึ่ง จึงแยกแยะได้ว่าเป็นไวรัสคนละชนิดกัน

 

งานของไทเรลล์ก็คือเรื่องแบบนี้นี่แหละครับ เขาจะดูว่ามีไวรัสกี่ชนิดกันหนอที่ทำให้มนุษย์เราเป็นไข้หวัดขึ้นมาได้ โดยในระยะแรกมีการพบไวรัสสายพันธุ์ H กับสายพันธุ์ M ที่เลี้ยงในน้ำเลี้ยงต่างกันเพียงสองชนิดเท่านั้น แต่ต่อมาในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1961 มีการค้นพบเชื้อโรคอีกชนิดหนึ่งที่ไม่อาจใช้น้ำเลี้ยงสองอย่างนี้มาเลี้ยงได้ เชื้อโรคชนิดนี้ถูกตั้งชื่อว่า B814

 

แต่ปัญหาในตอนนั้นก็คือ ไทเรลล์ไม่รู้น่ะสิครับว่า B814 เป็นอะไร มันอาจจะเป็นไวรัสก็ได้ หรืออาจเป็นแบคทีเรียก็ได้อีกเหมือนกัน นั่นทำให้เขา ‘ทิ้ง’ เจ้า B814 เอาไว้นานถึงสี่ปี

 

หลังจากนั้นไทเรลล์ได้พบกับแพทย์ชาวสวีเดนอีกคนหนึ่งชื่อ เบอร์ทิล ฮูร์น (Bertil Hoorn) ซึ่งได้พัฒนา ‘น้ำเลี้ยง’ แบบใหม่ขึ้นมา คราวนี้เป็นน้ำเลี้ยงที่ทำจากเนื้อเยื่อของหลอดลมมนุษย์ ซึ่งพบว่าเจ้า B814 เข้ากันกับน้ำเลี้ยงชนิดใหม่นี้ได้ จึง ‘คอนเฟิร์ม’ ได้ว่า B814 เป็นไวรัส

 

แต่มันไม่ใช่ไวรัสธรรมดา เพราะมีลักษณะเฉพาะหลายอย่างแตกต่างไปจากไวรัสไข้หวัดที่พบกันในยุคนั้น ไม่ว่าจะด้วยคุณสมบัติทางแอนติเจนของมันหรืออาการป่วยที่เกิดขึ้นก็ตามที แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ มันเป็นไวรัสที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจในมนุษย์

 

ไทเรลล์กับเพื่อนร่วมงานคือ มัลคอล์ม ไบโน รายงานการค้นพบนี้ในวารสาร British Medical Journal ในเดือนมิถุนายน 1965 และนั่นเองที่ถือว่าเป็นหมุดหมายในในการค้นพบ ‘โคโรนาไวรัสในมนุษย์’ เป็นครั้งแรก

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ ในตอนนั้นคำว่าโคโรนาไวรัสยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมา เพราะเอาเข้าจริงก็คือ เรารู้จักไวรัสจากน้ำเลี้ยงที่มันอยู่เท่านั้น เรายังมองไม่เห็นหน้าตารูปร่างของมันเลยเพราะมันตัวเล็กจิ๋วมาก จนกระทั่งในปี 1966 ไทเรลล์ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่ง คือ จูน อัลมีดา (June Almeida) ซึ่งเป็นนักกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Electron Microscopist) และได้พัฒนาการศึกษาไวรัสโดยใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนขึ้นมา

 

ตอนแรกอัลมีดาศึกษาไวรัสเก่าแก่อย่าง IBV และ MHV ก่อน และพบว่ามันมีรูปร่างเป็นรัศมีอย่างที่ว่า ต่อมาไทเรลล์ส่งไวรัสที่พบในมนุษย์ไปให้ศึกษา ซึ่งก็มีทั้ง B814 ที่เขาค้นพบ กับอีกตัวหนึ่งคือ 229E อันเป็นไวรัสที่นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งจากชิคาโกคนพบ

 

ปรากฏว่าเมื่ออัลมีดาส่องกล้องดู – เธอพบว่ามันคือไวรัสเดียวกัน

 

ใช่ – มันคือโคโรนาไวรัส!

 

นี่คือการค้นพบที่ในตอนนั้นไม่มีใครคิดหรอกว่าโคโรนาไวรัสอีกหลายๆ สายพันธุ์ที่จะค้นพบในอนาคต, จะส่งผลสะเทือนเลื่อนลั่นถึงขั้น ‘หยุดโลก’ ได้ขนาดนี้

 

ในปลายทศวรรษ 1960 ไทเรลล์เป็นผู้นำกลุ่มนักไวรัสวิทยาที่ศึกษาสายพันธุ์ไวรัสต่างๆ ทั้งในมนุษย์และในสัตว์ โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ ‘เล่น’ อีกหลายอย่าง เช่น Serologic Technique (หรือ Serology) ซึ่งคือเทคนิคการศึกษาจาก ‘เซรั่ม’ อันเป็นของเหลวในร่างกาย และพบอะไรต่างๆ มากมาย เช่น โคโรนาไวรัสจะติดต่อได้บ่อยกว่าในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ส่วนในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงจะติดต่อได้น้อยลง และโคโรนาไวรัสเป็นสาเหตุของอาการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจราว 35% เป็นต้น

 

ตลอดเวลาหลายสิบปีหลังการค้นพบโคโรนาไวรัส มีการศึกษาเพิ่มเติมในหลายด้าน ทั้งในแง่ระบาดวิทยาและพยาธิวิทยา เพราะนักวิทยาศาสตร์ตระหนักดีมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าไวรัสนี้ทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์หลายสปีชีส์ ตั้งแต่หนู ไก่ ไก่งวง วัว สุนัข แมว กระต่าย หรือหมู แล้วเวลาไปติดในสัตว์แต่ละอย่างก็จะก่อให้เกิดอาการได้หลากหลายที่แตกต่างกันไป อาจจะเกิดอาการตับอักเสบ ปอดอักเสบ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ฯลฯ ตามแต่ว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ไหนที่ไปติดกับสัตว์อะไร

 

ต่อมาภายหลังไทเรลล์เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Cold Wars: The Fight Against the Common Cold และบันทึกไว้ว่าเป็นเขาและอัลมีดานั่นเองที่ร่วมกันตั้งชื่อไวรัสชนิดนี้ว่า – โคโรนาไวรัส

 

โลกจึงรู้จักโคโรนาไวรัสมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แต่ได้ ‘รู้ซึ้ง’ ถึงฤทธิ์เดชของมันในอีกกว่าครึ่งศตวรรษถัดมา

 

ว่ามันร้ายกาจเพียงใด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

The post ประวัติศาสตร์โคโรนาไวรัส: เรารู้จักไวรัสชนิดนี้มาตั้งแต่เมื่อไร และใครคือผู้ค้นพบ appeared first on THE STANDARD.

]]>
รู้จัก ซาราห์ กิลเบิร์ต ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังวัคซีน AstraZeneca https://thestandard.co/sarah-catherine-gilbert-astrazeneca-vaccine/ Wed, 14 Jul 2021 12:37:15 +0000 https://thestandard.co/?p=512631 ซาราห์ กิลเบิร์ต

​เมื่อไม่นานมานี้ ในการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดันอันเป็นศึ […]

The post รู้จัก ซาราห์ กิลเบิร์ต ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังวัคซีน AstraZeneca appeared first on THE STANDARD.

]]>
ซาราห์ กิลเบิร์ต

​เมื่อไม่นานมานี้ ในการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดันอันเป็นศึกแกรนด์สแลมหนึ่งในสี่ของโลกที่กรุงลอนดอน ผู้คนทั้งสนามได้ลุกขึ้นมาปรบมือให้กับผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง ผู้หญิงที่ขี้อาย ผู้หญิงที่ไม่ชอบตกเป็นเป้าสายตา ผู้หญิงที่ไม่อยากเด่นดัง

 

​แต่ช่วยไม่ได้ – ที่งานของเธอช่วยชีวิตมนุษย์นับล้านๆ และเป็นงานของเธอนี่เองที่เรียกเสียงปรบมือรวมทั้งเสียงยกย่องชื่นชมกระหึ่มก้อง

 

 

​เธอคือ เด็ม หรือ ท่านผู้หญิงซาราห์ กิลเบิร์ต (Dame Sarah Gilbert) ผู้ทุ่มเทตัวเองให้กับวัคซีนประเภทที่เรียกว่า Viral Vector Vaccine หรือวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ

 

​เรารู้จักผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังวัคซีน mRNA ทั้ง Pfizer และ Moderna อย่าง เคทลิน คาริ​โก (Katalin Kariko) ไปแล้วใน Thiscover ตอนที่แล้ว แต่คุณอาจต้องประหลาดใจอีกครั้ง ที่ได้พบว่าผู้อยู่เบื้องหลังวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะอันเป็นวัคซีนชื่อดังก้องโลกอีกชนิดหนึ่งในนามของ AstraZeneca – ก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน

 

​ถ้ามองในแง่การสืบสายของวัคซีน อาจต้องบอกว่า วัคซีน AstraZeneca คือวัคซีนที่ใกล้ชิดกับผู้ให้กำเนิดวัคซีนอย่าง เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) มากที่สุด นั่นเพราะตัวเด็มซาราห์ กิลเบิร์ต ทำงานอยู่ที่ ‘สถาบันเจนเนอร์’ (Jenner Institute) อันเป็นสถาบันที่อยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

 

​สถาบันแห่งนี้มีอายุไม่มากนัก เพราะเพิ่งถือกำเนิดขึ้นในปี 2005 เท่านั้นเอง ไม่ได้เก่าแก่นับย้อนไปถึงยุคของเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ แต่อย่างใด ทว่าสถาบันนี้ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากมูลนิธิแห่งหนึ่งซึ่งมีตรงตัวตามสาแหรกทางประวัติศาสตร์เลย นั่นก็คือมูลนิธิวัคซีนเจนเนอร์ หรือ Jenner Vaccine Foundation ซึ่งได้ชื่อมาจากเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ นั่นเอง

 

​ซาราห์ กิลเบิร์ต รู้ตัวมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเธออยากทำงานด้านการแพทย์ เธอเรียนจบด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (East Anglia) ก่อนจะไปทำปริญญาเอกโดยศึกษาด้านพันธุกรรมศาสตร์และชีวเคมีที่มหาวิทยาลัยฮัลล์ (University of Hull) ซึ่งเธอศึกษาเรื่องยีสต์สายพันธุ์หนึ่ง นั่นทำให้เธอเริ่มงานกับมูลนิธิวิจัยด้านอุตสาหกรรมการหมักบ่มเบียร์ หรือ Brewing Industry Research Foundation ก่อนจะหันมาสนใจความสัมพันธ์ระหว่างโฮสต์กับปรสิตในโรคมาเลเรีย แล้วจากนั้นก็ได้เข้ามาร่วมงานกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ในฐานะนักไวรัสวิทยา จนสุดท้ายก็มาเป็นศาสตราจารย์ประจำสถาบันเจนเนอร์ ซึ่งเน้นหนักเรื่องวัคซีนโดยเฉพาะ

 

​งานที่เธอเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คือการพยายามพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบ ‘ครอบจักรวาล’ หรือเรียกว่าเป็น Universal Flu Vaccine ซึ่งหลายคนที่เคยฉีด ‘ฟลูช็อต’ เป็นประจำทุกปีอาจรู้สึกเบื่อหน่ายไม่น้อย ค่าที่ต้องคอยมาฉีดวัคซีนที่อัปเดตใหม่อยู่บ่อยๆ เนื่องจากไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่นั้นมีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ จึงต้องใช้วัคซีนเวอร์ชันใหม่ 

 

แต่สิ่งที่เรียกว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครอบจักรวาลหรือ Universal Flu Vaccine คือวัคซีนที่จะออกฤทธิ์กับไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสที่มี ‘ประเภทย่อย’ (Sub Type) แบบไหนก็ตามที ซึ่งปกติแล้วจะสองแบบ คือ Antigenic Drift (คือเกิดการสะสมการกลายพันธุ์เล็กๆ น้อยๆ รวมกันจนทำให้โปรตีนที่ผิวของไวรัสเกิดลักษณะใหม่ข้ึนมา) กับ Antigenic Shift (คือมีไวรัสสองสายพันธุ์หรือมากกว่ามารวมตัวกันจนเกิดเป็นประเภทย่อยใหม่) ซึ่งแบบหลังนี้เองที่ถือเป็นเรื่องใหญ่

 

​ไวรัสไข้หวัดใหญ่แบบ Antigenic Drift คือไวรัสไข้หวัดใหญ่ A, B และ C ในขณะที่ Antigenic Shift คือไวรัสไข้หวัดใหญ่ A อย่างเดียว ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะทั้ง A, B และ C ติดต่อในมนุษย์ได้ แต่มีเฉพาะ A เท่านั้นที่ติดต่อผ่านไปยังสัตว์ได้ด้วย การติดต่อผ่านไปยังสัตว์นี้จึงเปิดโอกาสให้ไวรัสที่แตกต่างกันมาฟอร์มตัวรวมกันจนกลายเป็นไวรัสชนิดใหม่ได้ ซึ่งก็คือการเกิด Antigenic Shift นั่นเอง พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าแค่ Drift ก็คือแค่ลื่นๆ ไถลๆ ไปนิดหน่อย แต่ถ้าเป็นระดับ Shift ก็คือการเปลี่ยนไปเป็นอะไรใหม่เลย ดังนั้น Antigenic Shift จึงมีโอกาสจะเป็นการจัดเรียงโปรตีนที่พื้นผิวของไวรัสใหม่หมด ทำให้เกิดไวรัสที่รับมือได้ยากขึ้นมา

 

​นั่นคือเหตุผลที่การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือ Flu Shot ต้องทำเป็นประจำทุกปี เพราะไวรัสมันมีโอกาสกลายพันธุ์ทุกครั้งที่จำลองตัวเอง ทำให้เกิดไวรัสใหม่ๆ ขึ้นได้เสมอ การคิดค้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบบครอบจักรวาลจึงเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากคิดถึง เพราะจะได้ไม่สิ้นเปลืองเวลา บุคลากร และทรัพยากรทางการแพทย์มาคอยฉีดฟลูช็อตอยู่บ่อยๆ

 

​งานที่กิลเบิร์ตทำก็คือเรื่องนี้นี่เอง โดยหลักคิดของวัคซีนครอบจักรวาลนี้ไม่ใช่การกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นมา แต่จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สร้าง ‘ทีเซลล์’ ที่จำเพาะเจาะจงกับไข้หวัดใหญ่แต่ละชนิดขึ้นมา ซึ่งถ้าทำสำเร็จ คนก็ไม่ต้องไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่กันทุกปี โดยงานวิจัยของเธอก็คือหลักการเบื้องต้นที่ทำให้เกิดวัคซีนประเภท ‘เวกเตอร์’ ขึ้นมานั่นเอง

 

​วัคซีนกลุ่มที่เรียกว่า Viral Vector Vaccine นั้น จะใช้ไวรัสตัวเต็มๆ ตัวหนึ่งท่ียังไม่ตาย ส่วนใหญ่จะเป็นไวรัสที่เรียกว่า อะดีโนไวรัส (Adenovirus) ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอันตราย อะดีโนไวรัสนั้นส่งผลให้เกิดโรคได้หลายอย่าง เช่น ไข้หวัด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ท้องเสีย หรือตาแดง แต่มักไม่ค่อยร้ายแรง โดยมีการนำเจ้าอะดีโนไวรัสมาดัดแปลงพันธุกรรม มันจึงจำลองตัวเองไม่ได้ ถ้าพูดภาษาชาวบ้านๆ ก็อาจจะต้องบอกว่าทำให้มัน ‘เป็นหมัน’ นั่นเอง แต่แค่เป็นหมันยังไม่พอ นักวิทยาศาสตร์ยังใส่สารพันธุกรรมของไวรัสชนิดอื่นเข้าไปด้วย

 

​กิลเบิร์ตสนใจไวรัสไข้หวัดใหญ่ต่างๆ มาโดยตลอด เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสเมอร์ส (MERS) หรือ Middle East Respiratory Syndrome ซึ่งก็เป็นโคโรนาไวรัสเหมือนกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด เธอสาธิตให้เห็นว่า ถ้าจับเอาอะดีโนไวรัสมาดัดแปลงพันธุกรรมแล้วใส่พันธุกรรมที่เรียกว่า ChAdOx1 เข้าไป เจ้าอะดีโนไวรัสนี้สามารถทำหน้าที่เป็นวัคซีนที่ป้องกันไข้หวัดใหญ่ MERS ได้ แถมยังมีความก้าวหน้ากับวิธีการนี้ในโรคอื่นๆ อีกหลายโรคด้วย

 

​ด้วยเหตุนี้ พอเกิดการระบาดของโควิดขึ้นมา โดยมีโคโรนาไวรัสเป็นต้นเหตุ เธอจึงเข้ามามีส่วนในการพัฒนาวัคซีนใหม่ตั้งแต่ต้นในฐานะหัวหน้าทีม เมื่อมีผู้ถอดรหัสพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือ SARS-CoV-2 สำเร็จปุ๊บ ทีมงานของกิลเบิร์ตบอกว่าทั้งทีมช่วยกันทำงานจนสามารถ ‘ออกแบบ’ วัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ภายในช่วงวีกเอนด์เดียวเลย เพราะทั้งทีมรู้ว่านี่คือเรื่องเร่งด่วนมากๆ

 

​กิลเบิร์ตบอกว่า ตั้งแต่ต้นเลยที่ทีมงานของเธอทำงานเพื่อ ‘แข่งกับไวรัส’ ไม่ได้พยายามจะแข่งกับทีมพัฒนาวัคซีนอื่นๆ เลย ด้วยความที่สถาบันเจนเนอร์อยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัย งานที่ทำจึงเป็นงานบริการวิชาการสาธารณะ ไม่ได้มีเป้าหมายจะ ‘ทำเงิน’ แต่อย่างใด

 

 

​แรกทีเดียวการวิจัยวัคซีนนี้ทำกันในระดับมหาวิทยาลัย แรกเริ่มเดิมทีทางออกซ์ฟอร์ดต้องการจะบริจาคสิทธิบัตรวัคซีนนี้ให้กับบริษัทผลิตยาที่สามารถผลิตให้กับคนทั้งโลกได้ แต่ตอนหลังก็เปลี่ยนใจ หันมาร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่เป็นพาร์ตเนอร์กันเพื่อผลิตวัคซีนนี้ออกสู่ตลาด แล้วก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้หันไปหาบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งในที่สุดก็กลายมาเป็นวัคซีนที่มีชื่อเต็มๆ ว่า Oxford-AstraZeneca COVID-19 Vaccine

 

​แล้วในวันที่ 30 ธันวาคม 2020 วัคซีนนี้ก็ได้รับการรับรองในประเทศอังกฤษ และต่อมาก็กลายเป็นวัคซีนที่คนไทยน่าจะรู้จักดีที่สุดตัวหนึ่ง โดยคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังวัคซีนนี้ก็คือ ซาราห์ กิลเบิร์ต

 

​เธอได้รับรางวัลหลายรางวัล เช่น รางวัล Albert Medal ซึ่งเป็นรางวัลที่ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งอังกฤษ หรือได้รับรางวัล Princess of Asturias Award ในด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ รวมทั้งได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีบรรดาศักดิ์เป็น ‘เด็ม’ หรือท่านผู้หญิง ซึ่งเทียบเท่ากับเซอร์ในผู้ชาย

 

​การที่มีคน ‘เพศอื่นๆ’ อยู่เบื้องหลังและคิดค้นวัคซีนในวิกฤตการณ์ใหญ่ของโลกนอกเหนือไปจากเพศชาย น่าจะเป็นสัญญาณบอกความก้าวหน้าในสังคมวิทยาศาสตร์ระดับโลกของศตวรรษที่ 21 ได้ดีไม่น้อยทีเดียว

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

The post รู้จัก ซาราห์ กิลเบิร์ต ผู้หญิงที่อยู่เบื้องหลังวัคซีน AstraZeneca appeared first on THE STANDARD.

]]>
ก่อนมี Pfizer และ Moderna ย้อนประวัติศาสตร์ของวัคซีน mRNA ความหวังของโลกในการหยุดยั้งโควิด https://thestandard.co/mrna-vaccine-history-before-pfizer-and-moderna/ Wed, 30 Jun 2021 06:00:10 +0000 https://thestandard.co/?p=506626 Moderna

หลายคนบอกว่า วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เป็นของใหม่ จึง […]

The post ก่อนมี Pfizer และ Moderna ย้อนประวัติศาสตร์ของวัคซีน mRNA ความหวังของโลกในการหยุดยั้งโควิด appeared first on THE STANDARD.

]]>
Moderna

หลายคนบอกว่า วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เป็นของใหม่ จึงอาจเกิดผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงได้ในอนาคต

 

คำถามก็คือ แล้วอะไรคือเทคโนโลยี mRNA หรือ mRNA Vaccine คืออะไร มัน ‘ใหม่’ อย่างที่ว่ากันจริงหรือเปล่า

 

รู้จัก mRNA สร้าง ‘โล่’ คุ้มกันให้ร่างกายด้วยการจดจำ ‘อาวุธ’ ของเชื้อโรค

แน่นอน เรารู้กันอยู่แล้วว่าวัคซีนชนิดต่างๆ นั้นช่วยป้องกันคนนับล้านๆ จากอาการป่วย และช่วยรักษาชีวิตมนุษย์เอาไว้ได้มากมายมหาศาลในแต่ละปี การใช้วัคซีนกันอย่างกว้างขวางคือการ ‘ป้องกัน’ และสุดท้ายก็สามารถ ‘กำจัด’ (Eradicate) โรคบางโรคที่เคยเป็นโรคระบาดร้ายแรงในมนุษย์ไปได้อย่างสิ้นเชิง อย่างเช่น โรคไข้ทรพิษ หรือ Smallpox ส่วนโรคอย่างโปลิโอและหัดที่สามารถป้องกันได้โดยใช้วัคซีน ปริมาณผู้ป่วยก็ลดลงอย่างมหาศาล

 

วัคซีนที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คือวัคซีนประเภท ‘เชื้อตาย’ หรือ ‘เชื้ออ่อนแอ’ ซึ่งถูกนำเข้าไปสู่ร่างกายของเราเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายของเราสร้าง ‘ทหาร’ ออกมาต่อกรกับมันในรูปของแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกัน ที่ส่วนใหญ่เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีกลไกการสร้างซับซ้อน

 

อย่างไรก็ตาม การที่จะเกิดทหารออกมาได้นั้น แท้จริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องรับเอา ‘เชื้อ’ นั้นๆ เข้ามาทั้งตัวก็ได้ เพราะที่จริงร่างกายเราฉลาดมาก มันไม่ได้จดจำศัตรูของร่างกายมากเท่าจดจำ ‘อาวุธ’ ที่ศัตรูใช้ ซึ่งในกรณีของเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมทั้งหลายก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘แอนติเจน’ (Antigen) อันได้แก่ โมเลกุลหรือโครงสร้างโมเลกุลที่ยื่นออกมาจากตัวเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมนั้นๆ ถ้าเปรียบไปก็คือ ร่างกายเราแค่จดจำรูปร่างลักษณะของ ‘หอกดาบ’ ที่เชื้อโรคใช้ แล้วเราก็สร้าง ‘โล่’ ที่มีรูปร่างจำเพาะเจาะจงกับหอกดาบพวกนั้นมาคอยรับมือดักจับ ก็จะทำให้หอกดาบพวกนั้นสิ้นฤทธิ์ไปได้ในที่สุด

 

ดังนั้น เอาเข้าจริงการที่จะกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมบางอย่าง เราไม่จำเป็นต้องใส่เชื้อโรคนั้นๆ เข้าไปทั้งตัวเลย เราสามารถใส่เฉพาะหอกดาบเข้าไป ก็สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นมาได้แล้ว

 

เทคโนโลยี mRNA เกิดขึ้นโดยมีแนวคิดที่ว่านี้เป็นพื้นฐาน

 

คำว่า mRNA ย่อมาจาก Messenger RNA (คือ Ribonucleic acid) ซึ่งเจ้า RNA เป็นสารพันธุกรรมอย่างหนึ่ง แต่ว่าเป็นสายเดี่ยว ไม่เหมือนกับ DNA (Deoxyribonucleic acid) ที่มีลักษณะเป็นสายคู่บันไดเกลียวอย่างที่เรารู้จักมักคุ้นกันสมัยเรียนมัธยม ซึ่งสิ่งสำคัญมากๆ ของ DNA ก็คือ ‘ลำดับเบส’ ซึ่งครูหลายคนอาจสอนเราว่าคือ ‘ขั้นบันได’ ของสายคู่บันไดเกลียวที่ว่า

 

เจ้าลำดับเบสนี่แหละที่จะถูก ‘ถอดรหัส’ ออกมาเป็นโปรตีนชนิดต่างๆ ได้ โดยวิธีถอดรหัสของมันทำได้ด้วยการที่สายคู่แยกตัวออกจากกัน แล้วก็สร้างโปรตีนต่างๆ ขึ้นตามรหัสของลำดับเบสที่ว่า โดยให้ลองนึกภาพว่า DNA ที่เป็นเกลียวคู่ถูกแยกออกจากกันในบางช่วง (ไม่จำเป็นต้องแยกออกจากกันหมดทั้งเส้น) พูดง่ายๆ ก็คือ DNA มัน ‘เผยอ’ ออกมาให้เราเห็นสมบัติที่ซ่อนอยู่ข้างใน เหมือนการเปิดกระเป๋าสตางค์ออกมาเพื่อจะหยิบเงินในกระเป๋าส่งให้คนอื่น

 

แต่ปัญหาก็คือ DNA มันไม่มีมือ ต่อให้มีสมบัติซ่อนอยู่ก็หยิบไปให้ใครไม่ได้ ดังนั้น DNA จึงต้องการ ‘แมสเซนเจอร์’ แบบเดียวกับที่เราเรียกหาบริการ Grab หรือ LINE MAN ให้ไปส่งของให้นั่นแหละ ตรงนี้เองที่เป็นหน้าที่ของ mRNA ซึ่งมีชื่อตรงเป๊ะกับหน้าที่เลย นั่นคือเป็นแมสเซนเจอร์ RNA แต่มันทำหน้าที่ละเอียดกว่ารับส่งของธรรมดา เพราะมันไม่ได้แค่ขนส่งเท่านั้น แต่ยัง ‘จำลอง’ เอาลำดับเบสเข้ามาไว้ในตัวด้วย

 

นักวิทยาศาสตร์จึงคิดว่า เอ…ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็น่าจะสามารถใช้ mRNA ในการ ‘ถ่ายทอด’ (Convey) รหัสพันธุกรรมเข้าไปในเซลล์ แล้วให้เซลล์สร้างหอกดาบ (หรือแอนติเจน) ขึ้นมาเหมือนกับการเอาเชื้อโรคใส่เข้าไปไว้ในตัวก็ได้นี่

 

วัคซีนประเภท mRNA จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยแนวคิดนี้ นั่นคือการใช้ ‘ก๊อบปี้’ หรือสำเนาของ mRNA ใส่เข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่ที่ล้ำไปกว่านั้นคือ mRNA ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะเรามีเทคโนโลยีพันธุกรรมศาสตร์ที่ก้าวหน้ามาก จนสามารถสร้าง mRNA ขึ้นมาได้ตามที่เราต้องการ คือมีลำดับเบสที่จะถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนที่มีหน้าตาเหมือนหอกดาบเป๊ะๆ เลย ร่างกายจึงเกิด ‘ระบบภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะ’ หรือ Adaptive Immune System คือภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะเจาะจงกับเชื้อโรคขึ้นมา

 

ภูมิคุ้มกันในร่างกายเรานั้นล้ำเลิศมาก สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ แบบจำเพาะเจาะจงอย่างที่ว่ามาแล้ว กับอีกแบบเรียกว่า Innate Immune Response ซึ่งถือเป็นด่านแรก คือพอเห็นข้าศึกศัตรูปุ๊บ ก็จะตอบสนองทันทีในเบื้องต้น ภูมิคุ้มกันแบบนี้ก็เหมือนทหารด่านหน้าที่เอามีดฟันดะไปหมด เช่น การทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวประเภท Macrophage ที่จะมาคอย ‘กิน’ เชื้อโรคไปเลย เป็นต้น ซึ่งภูมิคุ้มกันแบบนี้จะไม่มีความจำเพาะ ดังนั้นมันจึงไม่ต้อง ‘จำ’ อะไร

 

แต่เจ้า Adaptive Immune System นั้นอาจจะมาช้ากว่า แต่มันเหมือนทหารเสนาธิการที่มีการวางแผนรับมือมาอย่างดี คือต้อง ‘รับรู้แอนติเจน’ หรือรู้แล้วว่าหอกดาบหน้าตาเป็นอย่างไร จะรับมือแบบไหน แล้วจึงสร้างแอนติบอดีขึ้นมาเพื่อรับมือโดยตรง ซึ่งจะเกิดขึ้นในรูปของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า T Cell ซึ่งมีกลไกการทำงานที่ลึกลงไปอีกหลายแบบ

 

วัคซีนแบบ mRNA ก็คือการฉีด RNA เข้าไปในร่างกาย มันเป็นเหมือนการ ‘ฝึก’ ร่างกาย ทำให้เซลล์สร้างโปรตีนที่จำเพาะเจาะจงขึ้นมาต่อกรกับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ (อย่างเช่น เซลล์มะเร็ง) ได้ และยังทำให้ร่างกาย ‘จดจำ’ ศัตรูพวกนี้ได้ด้วย ดังนั้นคราวต่อไปเวลามีศัตรูบุกเข้ามาจริงๆ ก็จะเกิดการตอบสนองขึ้นมาโดยที่ไม่จำเป็นต้องฉีดเชื้อทั้งตัวเข้าไปในร่างกาย

 

ย้อนประวัติศาสตร์ mRNA ที่คิดมาตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้ว 

ฟังดูเป็นเทคโนโลยีใหม่เหลือเกินใช่ไหมครับ แต่แท้จริงแล้วแนวคิดเรื่องที่ว่า mRNA อาจนำมาใช้ในการรักษาทางการแพทย์ได้นี้ เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1989 โน่นแล้ว คือมากกว่า 30 ปีที่แล้ว โดยนักวิจัยจากองค์กรสตาร์ทอัพทางชีววิทยาเทคโนโลยีชื่อ Vical คิดเรื่องนี้ขึ้น แล้วถัดมาก็ทำงานร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน โดยฉีด mRNA ‘เปลือย’ คือมีแต่ตัว mRNA แต่ไม่มี ‘เปลือก’ มาหุ้ม เข้าไปในกล้ามเนื้อของหนู ซึ่งก็พบเป็นครั้งแรกว่า mRNA สามารถถ่ายทอด ‘ข้อมูลพันธุกรรม’ ให้หนู จนมันสร้างโปรตีนขึ้นมาได้

 

การทดลองนี้ทำให้เกิดแนวคิดต่อมาว่า อ้าว! ถ้าเกิดฉีด mRNA เข้าไปในกล้ามเนื้อแล้วทำให้หนูสร้างโปรตีนที่เราต้องการขึ้นมาได้ ก็น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องภูมิคุ้มกันกับวัคซีนได้ด้วยเหมือนกันนี่นา ซึ่งก็แน่นอนว่าแนวคิดนี้ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ แล้วทำให้ mRNA สามารถกระตุ้นให้เกิด T Cell ตามที่ต้องการขึ้นมาได้ เช่นการ ‘ออกแบบ’ (Engineering) ให้ลำดับเบสใน mRNA ให้มันสามารถถอดรหัสออกมาเป็นโปรตีนที่ต้องการในแบบต่างๆ ได้มากขึ้น (เรียกว่ามีคุณสมบัติที่เรียกว่า Translatability มากขึ้น) รวมทั้งมีประสิทธิภาพสูงและไม่เป็นอันตราย ทั้งยังมีการคิดค้นสร้าง ‘ตัวพา’ mRNA เข้าสู่ร่างกายในรูปแบบต่างๆ ที่มีคุณสมบัติดีขึ้น เพื่อให้วัคซีนมีการทำงานยาวนานขึ้น โดยคนที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิก mRNA วัคซีนคนแรกๆ ก็คือนักชีวเคมีหญิงชาวฮังการีชื่อ เคทลิน คาริโก โดยใช้ช่วง ‘ยุคเก้าศูนย์’ ทั้งทศวรรษในการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยแทบไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากใครเลย เพราะในยุคนั้นแนวคิดเรื่องการใช้ mRNA มาต่อสู้กับเชื้อโรค ยังเป็นเรื่องที่ไกลเกินกว่าที่ใครจะตามทัน จึงไม่มีการให้ทุนทั้งจากรัฐบาล จากบริษัทเอกชนใหญ่ๆ หรือแม้กระทั่งแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง

 

เรียกได้ว่าคาริโกนี่แหละคือนักบุกเบิกวัคซีน mRNA ตัวจริงผู้มาก่อนกาล!

 

ในปี 1990 เธอเป็นนักวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เธอพยายามจะขอทุนมาศึกษาเรื่อง mRNA ที่ใช้ในการรักษาโรค และได้ทุนก้อนเล็กๆ ก้อนแรกมา ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นงานวิจัยหลักในชีวิตของเธอ แต่ไม่ได้หมายความว่าเธอจะได้ทุนก้อนต่อๆ มาตามที่หวัง งานของเธอก้าวล้ำนำหน้าจนไม่มีใครคาดคิดว่าในอีกราว 2 ทศวรรษถัดมา มันจะกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่านับหมื่นล้านดอลลาร์

 

ในปี 1995 เธอถึงขั้นถูกลดความสำคัญในการทำงานด้วยซ้ำ ตอนนั้นเธอกำลังไต่เต้าในตำแหน่งทางวิชาการเพื่อขึ้นไปเป็นศาสตราจารย์ แต่เพราะไม่ได้รับเงินทุนมากพอท่ีจะทำงานและนำเสนองานออกมา เธอจึงไม่ได้ตำแหน่งทางวิชาการนั้น เธอบอกว่า ปกติแล้วถ้าใครเจอสถานการณ์แบบเธอ ก็คงจะ ‘เซย์กู๊ดบาย’ แล้วก็เลิกทำงานนี้แล้ว แต่เธอไม่

 

ที่จริงแล้ว ปี 1995 คือปียากลำบากของเธอ สามีของเธอยังติดอยู่ที่ฮังการี ยังไม่สามารถย้ายตามเธอมาอเมริกาได้ เพราะมีปัญหาเรื่องวีซ่า แถมเธอยังตรวจพบว่าเป็นมะเร็งด้วย แต่เธอก็ยังทุ่มเททำงานที่เธอเชื่อมั่น

 

แล้วในปี 1997 เธอก็ได้พบกับนักภูมิคุ้มกันวิทยาชาวอเมริกันอย่าง ดรูว์ ไวส์แมน ซึ่งได้ร่วมงานกันพัฒนาเรื่องภูมิคุ้มกันอย่างจริงจัง โดยใช้ความรู้ของทั้งคู่มาผสมผสานกัน ความยากในงานของเธอกับไวส์แมนก็คือ ต้องพยายามคิดค้นวิธีการที่จะทำให้ mRNA ‘แอบ’ เข้าไปในเซลล์ได้ โดยที่ร่างกายไม่แตกตื่นคิดว่านั่นเป็นศัตรูเสียก่อน แล้วเธอก็ทำสำเร็จ ในปี 2005 มีการตีพิมพ์รายงานออกมาหลายครั้ง และมีการจดสิทธิบัตรการค้นพบในการศึกษา mRNA ที่ใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหลายเรื่อง ซึ่งแม้คนส่วนใหญ่จะไม่สนใจงานของเธอเลย แต่งานของเธอก็ยังไปสร้างความสนใจให้ใครคนหนึ่ง

 

คนคนนั้นคือ เดอร์ริก รอสซี ซึ่งทำงานด้านชีววิทยาสเต็มเซลล์อยู่ที่สแตนฟอร์ด เขาได้อ่านงานของคาริโกและไวส์แมน และคิดว่างานนี้มันยิ่งใหญ่มากจนควรจะได้รางวัลโนเบล นั่นทำให้รอสซีหันมาสนใจงานด้าน mRNA แล้วความสำเร็จในงานของเขาก็นำทางไปเจอกับนักวิชาการอีก 2-3 คน เช่น ทิโมธี สปริงเกอร์ จากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด รวมถึง โรเบิร์ต แลงเกอร์ ซึ่งเป็นคนสำคัญมากในสาขาไบโอเทคโนโลยี และเป็นแลงเกอร์นี่เองที่นำทางรอสซีเข้าไปหาบริษัทชื่อ Flagship Pioneering ซึ่งเป็นบริษัท Venture Capital หรือบริษัทให้ทุนสตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง

 

ไม่กี่เดือนถัดมา ในปี 2010 รอสซี แลงเกอร์ และคนอื่นๆ อีกหลาย ก็ได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมา

 

บริษัทนั้นมีชื่อว่า Moderna

 

ที่น่าเจ็บใจอย่างยิ่งสำหรับคาริโกก็คือ Flagship Pioneering ได้ติดต่อเธอเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์การค้นพบของคาริโก เพื่อจะได้นำการค้นพบของเธอไปใช้ แต่คาริโกไม่มีจะขายให้ เพราะก่อนหน้านั้นไม่กี่สัปดาห์ มหาวิทยาลัยผู้เป็นเจ้าของทุนเพิ่งจะขายทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้นไปให้คนอื่น คาริโกจึงไม่มีอะไรจะขายให้

 

ครั้นพอถึงปี 2013 คาริโกพบว่า Moderna ได้ทำสัญญาร่วมกับ AstraZeneca เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี mRNA แบบหนึ่งขึ้นมา สัญญาที่ว่ามีมูลค่าสูงลิบถึง 240 ล้านดอลลาร์ นั่นทำให้คาริโกตระหนักถึง ‘มูลค่า’ ที่เกิดจากการทำงานของตัวเอง

 

ที่อีกฟากของมหาสมุทรแอตแลนติก ในเยอรมนีมีบริษัทใหม่อีกบริษัทหนึ่งเกิดขึ้นจากการให้กำเนิดของ อูเกอร์ ซาฮิน ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคนตุรกี ทว่า ย้ายมาอยู่ที่เยอรมนี เขากับภรรยาเป็นแพทย์ที่สนใจงานด้านการรักษาด้วยภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) ซึ่งในตอนแรกเป็นการใช้ภูมิคุ้มกันต่อต้านมะเร็งก่อน แต่ต่อมาก็เกิดความสนใจในทางธุรกิจ จึงก่อตั้งบริษัทไบโอเทคโนโลยีแห่งหนึ่งขึ้นมา โดยมีการร่วมทุนกับ โธมัส และ แอนเดรียส สตรึงแมนน์ เพื่อทำงานในการพัฒนาวัคซีนต่อต้านมะเร็งโดยใช้เทคโนโลยี mRNA

 

บริษัทนั้นต่อมามีชื่อว่า BioNTech

 

แล้วในปี 2013 BioNTech ก็ทำให้คาริโกตัดสินใจโบกมืออำลาจากการทำงานในมหาวิทยาลัย เพื่อหันมารับตำแหน่ง Senior Vice President ของ BioNTech

 

แล้วศึกระหว่าง Moderna กับ BioNTech ก็เริ่มต้นขึ้นเงียบๆ จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิดขึ้น ทันใดนั้นทั้งสองบริษัทก็กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่รู้กี่เท่า

 

ทั้ง Moderna และ BioNTech เห็นว่านี่คือโอกาสสำคัญในการพัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อต่อต้านโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทั้งสองบริษัทรู้ในทันทีว่าโรคนี้จะกลายเป็นโรคระบาดระดับโลก และเทคโนโลยีวัคซีน mRNA อาจเป็นคำตอบได้ เพราะมันผลิตได้เร็วกว่าวัคซีนเชื้อตายมาก ทั้งยังมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแบบจำเพาะเจาะจง จึงเหมาะสมกับสถานการณ์ที่โลกกำลังต้องการวัคซีนนับพันล้านโดสพอดี นั่นทำให้ BioNTech ต้องการพันธมิตรที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นมา จึงเกิดการเจรจากับ Pfizer อันเป็นบริษัทผลิตยายักษ์ใหญ่ เพื่อมาเป็น ‘ทุนใหญ่’ ให้กับ BioNTech

 

เมื่อการร่วมทุนเกิดขึ้น วัคซีน mRNA ที่เราเรียกกันจนคุ้นหูว่า ‘ไฟเซอร์’ และ ‘โมเดอร์นา’ จึงถือกำเนิดขึ้น โดยไฟเซอร์ บริษัทยายักษ์ใหญ่อายุ 171 ปี ต้องมาแข่งกับโมเดอร์นา บริษัทที่มีอายุแค่ 10 ปี ที่สำคัญโรงงานของทั้งสองบริษัทอยู่ในเคมบริดจ์ แมสซาชูเซตส์ โดยอยู่ห่างกันเพียง 23 ไมล์เท่านั้นเอง

 

ถึงวันนี้แม้ว่าจะยังไม่มี ‘คนทั่วไป’ ในประเทศไทยคนไหนได้สัมผัสกับวัคซีนเทคโนโลยีใหม่นี้ แต่เราก็คุ้นหูกับเทคโนโลยีวัคซีน mRNA จากทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นากันเป็นอย่างดีแล้ว

 

หากใครได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา ก็อย่าลืมนึกถึงนักวิทยาศาสตร์หญิงผู้บุกเบิกเทคโนโลยีนี้ในยามที่ไม่มีใครแลเธอด้วยก็แล้วกัน

 

เธอชื่อ เคทลิน คาริโก

 

อ่านเพิ่มเติม:

The post ก่อนมี Pfizer และ Moderna ย้อนประวัติศาสตร์ของวัคซีน mRNA ความหวังของโลกในการหยุดยั้งโควิด appeared first on THE STANDARD.

]]>
ประวัติศาสตร์วัคซีน – กับหนังวัวตัวสำคัญ https://thestandard.co/history-of-vaccines-with-important-cow-leather/ Thu, 17 Jun 2021 11:25:50 +0000 https://thestandard.co/?p=501752 ประวัติศาสตร์วัคซีน

1 บนผนังห้องสมุดของโรงเรียนแพทย์เซนต์จอร์จ (St. George’ […]

The post ประวัติศาสตร์วัคซีน – กับหนังวัวตัวสำคัญ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ประวัติศาสตร์วัคซีน

1

บนผนังห้องสมุดของโรงเรียนแพทย์เซนต์จอร์จ (St. George’s Medical School) ในย่านทูทติง (Tooting) ที่อยู่ทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน มีหนังของวัวตัวหนึ่งติดประดับอยู่

 

หนังวัวก็คือหนังวัว – หลายคนอาจคิดอย่างนั้น และไม่เห็นความสำคัญใดๆ ของหนังวัวตัวนี้

 

มันคือวัวกลอสเตอร์ (Gloucester Cow) ที่มีชื่อน่ารักว่า บลอสซัม (Blossom) แต่ไม่ใช่ความน่ารักของบลอสซัม หรือความสวยงามของผืนหนังของมันหรอก ที่ทำให้หนังวัวอายุมากกว่าสองร้อยปีผืนนี้ได้รับการดูแลอย่างดี

 

แต่เพราะบลอสซัมเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของวัคซีนอย่างลึกล้ำ และจะว่าไป ก็เป็นมันนี่เองที่ทำให้ผู้คนนับพันล้านต้องเป็นหนี้บุญคุณ และยังคงเป็นหนี้บุญคุณของบลอสซัมมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ – วันที่ไวรัสชนิดใหม่กำลังแพร่ระบาดหนัก เพราะเราต้องการวัคซีนอย่างเหลือเกิน

 

และบลอสซัมก็มีส่วนอย่างใหญ่หลวง ในการทำให้วัคซีนได้ก่อกำเนิดขึ้นมา

 

2

ในนิยายจีนกำลังภายใน มักจะมีจอมมารที่ใช้พิษได้เก่งกาจ และมีความทนทานต่อพิษได้มากกว่าคนทั่วไป สาเหตุที่จอมมารทนพิษได้มากกว่าคนทั่วไป นิยายมักอธิบายว่าเป็นเพราะจอมมารค่อยๆ รับพิษเข้าร่างกายทีละน้อยมาตั้งแต่เด็กๆ เมื่อโตขึ้นร่างกายเลย ‘ทน’ ต่อพิษได้มากกว่าคนปกติธรรมดา

 

คำอธิบายในนิยายฟังดูสมกับเป็นนิยาย ทว่าแม้จะเกินจริงไปบ้าง แต่โดยตัว ‘หลักการ’ ของมันแล้ว กลับมีความเป็นวิทยาศาสตร์ซ่อนอยู่

 

เราอาจรู้ว่าคนที่ได้ชื่อว่าคิดค้นวัคซีนคนแรก คือผู้ชายผิวขาวที่มีชื่อว่า เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แต่เขาไม่ใช่คนแรกหรอกที่ค้นพบ ‘หลักการ’ แบบเดียวกับที่จอมมารในนิยายใช้

 

เรื่องที่ใกล้เคียงกับเรื่องของจอมมารข้างต้นมากที่สุด ก็คือหลักฐานที่บอกว่า พระในพุทธศาสนาของอินเดียสมัยโบราณจะดื่มพิษงูปริมาณน้อยๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับการถูกงูกัด ซึ่งในสมัยโน้นไม่มีใครรู้จักคำว่า ‘ภูมิคุ้มกัน’ หรอก แต่เราคิดว่าการทำให้ร่างกาย ‘คุ้นเคย’ กับบางสิ่งมากพอ ก็จะทำให้เราทนรับมันได้

 

ถ้าย้อนกลับไปเป็นพันๆ ปี มีหลักฐานว่า ชาวจีนใช้วิธี ‘หนามยอกเอาหนามบ่ง’ กับโรคฝีดาษ ด้วยการเอาหนองที่ได้จากผู้ป่วยป้ายเข้าไปในจมูก หรือในบางกรณีก็นำมาป้ายที่แผลบนผิวหนังเพื่อให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งแม้จะทำให้ผู้ป่วยแสดงอาการของโรคออกมา แต่ถ้าอยู่รอดปลอดภัยได้ก็จะไม่ป่วยเป็นโรคนั้นอีก เรายังพบวิธีปฏิบัติเดียวกันนี้ได้ในอินเดีย แอฟริกา และตุรกีด้วย

 

วิธีที่ว่าคือ การทำให้ผิวหนังแยกออกจากกันโดยการผ่า แล้วป้ายแผลที่ผิวหนังด้วยหนอง วิธีนี้เรียกว่า Inoculation หรืออีกคำหนึ่งคือ Variolation ซึ่งในภาษาไทยเราแปลว่าการปลูกฝี เพราะเป็นวิธีที่เริ่มใช้กับโรคฝีดาษก่อน

 

คำว่า ‘ปลูกฝี’ นั้นน่าสนใจไม่น้อย เพราะหากเราคิดว่าฝีดาษเป็นโรค เราก็ควรอยู่ห่างไกลจากฝี ทำไมต้องเอามันมา ‘ปลูก’ บนร่างกายของเราด้วยเล่า

 

มีหลักฐานว่ามีการปลูกฝีกันมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่งในจีนแล้ว โดยมีบันทึกว่าขุนนางคนหนึ่งเสียลูกชายคนโตให้กับโรคฝีดาษไป เขาจึงตามนักปราชญ์ หมอยา และหมอผี มาจากทั่วทุกแว่นแคว้น เพื่อหาวิธีป้องกันโรคนี้ให้กับคนอื่นๆ ในครอบครัว แล้วก็พบว่าวิธีนี้นี่แหละที่ช่วยป้องกันได้ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่นๆ อีก เช่น บันทึกที่บอกว่าผู้หญิงคนหนึ่งเกิดอาการประจำเดือนมาขณะปลูกฝี (คือไม่ได้บันทึกเรื่องปลูกฝีโดยตรง) เป็นต้น

 

แม้แต่นักเขียนชื่อดังอย่างวอลแตร์ก็เคยบันทึกถึงเรื่องการปลูกฝีในหมู่ชาวตุรกีเอาไว้ โดยบอกว่าชาวตุรกีรับวิธีนี้มาจากชาวมุสลิมที่มาจากแถบเทือกเขาคอเคซัส คือทางตอนเหนือของอิหร่านในปัจจุบัน ซึ่งก็เชื่อว่าเป็นไปได้ที่ชาวตะวันออกกลางจะรับวิธีนี้มาจากชาวจีน ผ่านการค้าในเส้นทางสายไหมอีกทีหนึ่ง

 

วิธีปฏิบัติแบบนี้แพร่เข้ายุโรป จนในศตวรรษที่ 17-18 ถือกันว่าการปลูกฝีเป็นเรื่องที่แพร่หลาย แม้จะมีความเสี่ยงสูงเพราะอาจป่วยเป็นโรคจนถึงตายได้เหมือนกัน วอลแตร์เองเคยรายงานไว้ว่า ในตอนนั้นมีคนป่วยเป็นโรคฝีดาษราว 60% ส่วนที่เสียชีวิตมีอยู่ราว 20% นั่นทำให้วิธีรักษาแบบหนามยอกเอาหนามบ่งเป็นเรื่องอันตรายอยู่เหมือนกัน

 

แต่กระนั้นวิธีการนี้ก็ได้เกิดเป็น ‘ศาสตร์’ ที่เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาในปี 1796 เรียกศาสตร์นี้ว่า ‘วัคซีนวิทยา’ (Vaccinology) โดยศาสตร์นี้เกี่ยวพันกับบลอสซัม – เจ้าของหนังที่แขวนประดับอยู่บนผนังห้องสมุดโรงเรียนแพทย์เซนต์จอร์จอย่างแนบแน่น

 

 

3

ปัจจุบันนี้เรารู้กันดีว่า ผู้ที่ถือว่าเป็น ‘บิดาแห่งวัคซีนวิทยา’ คือเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ ย้อนกลับไปในปี 1796 เจนเนอร์เกิดสังเกตว่า ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ ซาราห์ เนลเมส (Sarah Nelmes) ซึ่งเป็นหญิงรีดนมวัว เกิดไปรีดนมเจ้าบลอสซัม – นางเอกของเรา แล้วติดโรค ‘ฝีดาษวัว’ (Cowpox) มา

 

ในยุคนั้นไม่มีใครรู้จักคำว่าไวรัส เพราะแม้กระทั่งคอนเซปต์เรื่องเชื้อโรคก็ยังไม่เกิดขึ้น แต่โรคฝีดาษวัวเกิดจากไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับไวรัสที่มีชื่อว่า วัคซีเนีย (Vaccinia) อันเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคฝีดาษในคน เจนเนอร์อาจไม่รู้เรื่องนี้ แต่สิ่งที่เขามีอยู่ในตัวก็คือ ‘พลังแห่งการสังเกต’ ที่ยิ่งใหญ่

 

เขาสังเกตเห็นว่า เมื่อติดโรคฝีดาษวัวมาแล้ว ซาราห์มีอาการคล้ายๆ ฝีดาษคนเหมือนกัน คือเป็นฝีเป็นตุ่มหนองที่มือ แต่อาการนั้นน้อยกว่ามาก เธอไม่ได้ล้มเจ็บหนักหรือมีอาการถึงตายเหมือนฝีดาษในคน อีกทั้งเมื่อซาราห์ไปรับการปลูกฝีโรคฝีดาษในคนแล้ว เธอก็ไม่แสดงอาการอะไรออกมาเลย ไม่เจ็บไม่ป่วยเหมือนคนอื่นๆ เหมือนกับมีฤทธิ์อะไรบางอย่างต้านทานโรคฝีดาษได้ เขาก็เลยทดลอง (ที่เอาเข้าจริงต้องบอกว่าเป็นการทดลองที่โหดร้ายและไม่มีทางเป็นไปได้ในปัจจุบัน) ด้วยการนำหนองจากแผลของหญิงคนนี้ไปปลูกฝีให้กับเด็กชายคนหนึ่งชื่อ เจมส์ ฟิปส์ (James Phipps) ซึ่งเป็นลูกคนสวนของเขาเอง โดยปลูกฝีลงไปที่แขนทั้งสองข้าง

 

ปรากฏว่าเมื่อฟิบส์ได้รับการปลูกฝีแล้ว เขามีไข้อ่อนๆ แต่ไม่ได้มีอาการแบบโรคฝีดาษเต็มที่ เจนเนอร์จึงเลยทดลองขั้นต่อไป (ซึ่งโหดร้ายเข้าไปอีกขั้น) ด้วยการให้เชื้อฝีดาษกับเด็กชายแบบเต็มที่ ซึ่งหากสมมุติฐานของเจนเนอร์ไม่ถูกต้อง ก็เป็นไปได้ที่เด็กชายจะป่วยและอาจมีโอกาสเสียชีวิต (ถ้าตามตัวเลขของวอลแตร์ก็คือผู้ป่วยโรคนี้จะเสียชีวิต 20%) แต่โชคดีที่สมมุติฐานของเขาถูกต้อง

 

ชื่อของเจนเนอร์นั้นได้รับการยกย่องใหญ่หลวง แต่ชื่อของฟีปส์, ซาราห์ และชื่อของบลอสซัม – มักเป็นชื่อที่ถูกลืมเลือนไป แต่ถ้าใครอยากแสดงความเคารพหรือระลึกถึงการสังเกตของเจนเนอร์ที่ทำให้เกิดวัคซีนขึ้นมา คุณอาจไปที่ห้องสมุดของโรงเรียนแพทย์เซนต์จอร์จ (St. George’s Medical School) ในทูทติง (Tooting) ซึ่งอยู่ในลอนดอนตอนใต้ ปัจจุบันอยู่ในย่าน Wandsorth เพราะที่นี่มีหนังของบลอสซัมแขวนอยู่บนผนังห้องสมุด ซึ่งพูดได้ว่าเป็นต้นธารที่ก่อให้เกิดการค้นพบ ‘วัคซีน’ ขึ้นมา โดยเจนเนอร์เรียกชื่อตามชื่อไวรัสวัคซีนนั่นเอง

 

หากเราดูการค้นพบวัคซีนของเจนเนอร์ให้ถ่องแท้ เราจะเห็น ‘กระบวนการทางวิทยาศาสตร์’ หรือ Scientific Method ครบถ้วน ตั้งแต่การสังเกต (Observation) การตั้งสมมติฐาน (Hypothesis) ไล่ไปจนถึงการทดลอง (Testing) ที่แม้จะโหดร้ายเอาการ แต่ก็ทำให้เจนเนอร์ได้ข้อสรุป (Conclusion) ออกมา และนำข้อสรุปนั้นมาใช้เป็นหลัก ที่เปิดโลกให้กับวิชาวัคซีนวิทยาได้นับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงตอนนี้

 

ทุกวันนี้ แม้การผลิตควัคซีนจะพัฒนาไปไกลมาก แต่โดยหลักการแล้วยังคงเดิม องค์ประกอบสำคัญของวัคซีนยังเป็น แอนติเจน (Antigen) หรือสิ่งที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า แอนติบอดี (Antibody) ขึ้นมาอยู่นั่นเอง เจ้าแอนติเจนนี้ ถ้าจะเปรียบไป ก็เหมือนหอกหรือดาบของข้าศึก คือถ้าข้าศึกเข้ามาโดยไม่มีหอกดาบก็ไม่ค่อยอันตรายเท่าไร ร่างกายเราเลยจดจำหอกดาบ แล้วสร้างแอนติบอดีเฉพาะมารองรับเอาไว้ การทำความเข้าใจแอนติเจนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการผลิตวัคซีน หลักการนี้ใช้มาตั้งแต่ยุคที่เรายังไม่เข้าใจมันมาจนถึงปัจจุบัน

 

โดยปกติแล้ว ขั้นตอนการทดสอบวัคซีนเป็นเรื่องยุ่งยากซับซัอน ต้องแบ่งออกเป็นเฟสต่างๆ สามเฟส เฟสแรกคือการฉีดให้กับอาสาสมัครจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อดูว่าปลอดภัยไหม สร้างภูมิคุ้มกันได้จริงหรือเปล่า และดูว่าต้องใช้ปริมาณเท่าไร โดยมักจะทำในอาสาสมัครที่อายุน้อยและแข็งแรง ส่วนเฟสที่สองจะเริ่มให้กับอาสาสมัครจำนวนมากขึ้น อาจมีจำนวนหลายร้อยคน โดยต้องทดสอบไปทีละกลุ่ม เช่น กลุ่มนี้เป็นเพศชายอายุน้อย อีกกลุ่มเป็นเพศหญิงอายุมาก ฯลฯ เพื่อทดสอบว่าวัคซีนมีผลต่อคนแต่ละกลุ่มแตกต่างกันอย่างไร จากนั้นก็จะมาถึงเฟสสาม ซึ่งมีอาสาสมัครในระดับพันคน เพื่อดูว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพประสิทธิผลอย่างไร

 

โดยทั่วไป การผลิตวัคซีนจึงต้องใช้เวลานาน แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นเหตุฉุกเฉิน จึงต้องเร่งรัดการผลิตวัคซีน และมีการใช้งานวัคซีนจริงโดยยังไม่ได้ผ่านการทดลองในแต่ละเฟสอย่างสมบูรณ์ จากกระบวนการที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป จึงถูกเร่งรัดให้เร็วขึ้น ก็เพราะวิกฤตโดยแท้

 

วัคซีนที่เราเห็นในปัจจุบันจึงมีที่มายาวไกล จากการลองผิดลองถูก การสังเกต ตั้งสมมติฐาน และทดลองจนได้ข้อสรุปออกมา

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรลืมเลือนเลย – ก็คือบลอสซัมและหนังผืนนั้นของมัน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

The post ประวัติศาสตร์วัคซีน – กับหนังวัวตัวสำคัญ appeared first on THE STANDARD.

]]>
เมื่อโลกพลิกผัน: การพลิกกลับของขั้วแม่เหล็กโลกและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ https://thestandard.co/earth-magnetic-field-reversal-mass-extinctions-environment-crisis/ Thu, 25 Feb 2021 13:41:04 +0000 https://thestandard.co/?p=459540 การพลิกกลับของขั้วแม่เหล็กโลก

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง ‘การพลิกกลับของขั้วแม่เหล็กโลก’ […]

The post เมื่อโลกพลิกผัน: การพลิกกลับของขั้วแม่เหล็กโลกและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ appeared first on THE STANDARD.

]]>
การพลิกกลับของขั้วแม่เหล็กโลก

หลายคนคงเคยได้ยินเรื่อง ‘การพลิกกลับของขั้วแม่เหล็กโลก’ ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Geomagnetic Reversal กันมาบ้างแล้ว หลายคนสงสัยว่านี่เป็นเรื่องในนิยายวิทยาศาสตร์หรือเปล่า แต่ต้องบอกคุณว่ามันเกิดขึ้นได้จริง โดยอย่าสับสนเรื่องขั้วแม่เหล็กโลกนี้กับ ‘ทิศ’ นะครับ เพราะทิศเหนือก็ยังคงเป็นทิศเหนือเหมือนที่เรารู้ โลกไม่ได้หมุนกลับข้างเหมือนเราหมุนส้ม แต่มันคือการกลับข้างของ ‘ขั้ว’ แม่เหล็ก ที่ส่งผลต่อ ‘สนามแม่เหล็กโลก’ ที่มีลักษณะแผ่กระจายโอบอุ้มโลกอยู่

 

นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้นี่เองว่า การพลิกกลับของขั้วแม่เหล็กโลกนั้น มีสหสัมพันธ์กับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่!

 

การกลับข้างของขั้วแม่เหล็กโลกเกิดขึ้นเมื่อไรนั้นทำนายได้ยากนะครับ เพราะมันมักจะเกิดขึ้นแบบสุ่ม เราเรียกขั้วที่ตรงกับทิศว่าอยู่ในสภาวะ ‘ปกติ’ หรือมี Normal Polarity กับช่วงที่ขั้วแม่เหล็กกลับข้างสวนทางกับทิศ แบบนี้เรียกว่า Reverse Polarity หรือ Polarity Chron หรือบางทีก็เรียกว่า Chron เฉยๆ

 

ในช่วงเวลา 83 ล้านปีที่ผ่านมา เกิดการกลับขั้วที่ว่านี้มาแล้ว 183 ครั้ง ซึ่งถ้านำมาหาค่าเฉลี่ย ก็จะพบว่าเกิดขึ้นทุกๆ ราว 450,000 ปี แต่อย่างที่บอกว่าส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นแบบสุ่ม คือทำนายไม่ได้ ไม่ได้มีวงจรวัฏจักรอะไร โดยครั้งที่คนรู้จักมากที่สุด น่าจะเป็นครั้งที่เกิดขึ้นเมื่อราว 781,000 ปีที่แล้ว เรียกว่า Brunhes-Matuyama Reversal ตามชื่อของ Bernard Brunhes และ Motonori Matuyama ซึ่งเป็นนักธรณีฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ที่ตั้งข้อสังเกตว่าขั้วแม่เหล็กโลกมีการกลับข้าง และค้นพบการกลับข้างครั้งที่ว่านี้

 

การกลับขั้วนั้นมีทั้งแบบเล็กและใหญ่ คือกลับแล้วอยู่นาน กับเกิดการกลับขั้วเพียงช่วงสั้นๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่า ครั้งสั้นๆ ที่เกิดขึ้นล่าสุดเมื่อราว 42,000 ถึง 41,000 ปีที่แล้วนั้น แม้จะเกิดสั้นๆ แต่มันไปลดความแรงของสนามแม่เหล็กโลกลงอย่างมาก และนั่นอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมบนโลก แล้วลุกลามไปจนเกิดการสูญพันธุ์ใหญ่ได้

 

การค้นพบนี้เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีการค้นหาอายุโดยใช้คาร์บอน (Carbon Dating) ที่ก้าวหน้าขึ้น โดยนักวิทยาศาสตร์ได้เชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของภูมิอากาศ การสูญพันธ์ุของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ และแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์ในช่วงนั้น ซึ่งเกิดสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า Laschamps Event หรือ Laschamps Excursion อันเป็นปลายยุคน้ำแข็ง

 

ในช่วงที่เกิดการกลับขั้ว สนามแม่เหล็กโลกที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองโลก คล้ายๆ กับเป็นเกราะป้องกันโลกจากอนุภาคมีประจุทั้งหลายที่พุ่งตรงมาจากดวงอาทิตย์ ก็เกิดอ่อนแอลง นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานแล้วว่า ในช่วงเวลาแบบนี้ น่าจะทำให้สิ่งมีชีวิตในโลกอยู่ในอาการเปราะบางและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ แต่ก็ยังหาหลักฐานมาพิสูจน์ไม่ได้

 

จนเมื่อไม่นานมานี้ อลัน คูเปอร์ (Alan Cooper) นักชีววิทยาวิวัฒนาการจากองค์กรชื่อ BlueSky Genetics ในเมืองแอดิเลด ได้เดินทางเข้าไปสำรวจต้นไม้ในนิวซีแลนด์ ที่มีชื่อว่าต้นเคารี (Kauri) ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ในนิวซีแลนด์นั้นมีบึงโคลนที่ต้นไม้เหล่านี้จมอยู่ โคลนจึงเป็นตัวรักษาต้นไม้เอาไว้ ที่สำคัญก็คือ ต้นไม้พวกนี้มีอายุเก่าแก่นับย้อนกลับไปได้ถึงยุค Laschamps Excursion เลย

 

การพลิกกลับของขั้วแม่เหล็กโลก

 

 

ดังนั้น คูเปอร์กับทีมงานจึงสามารถหาตัวอย่างของต้นไม้เก่าแก่จากบึงโคลนที่อยู่ทางตอนเหนือของนิวซีแลนด์ได้ แล้วนำมาวิเคราะห์คาร์บอน-14 อันเป็นคาร์บอนกัมมันตรังสีที่ใช้ในการหาอายุของสิ่งมีชีวิต แล้วพบว่าในช่วงเวลานนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ขึ้นมา ที่แสดงให้เห็นว่าปริมาณรังสีคอสมิกหรือรังสีจากอวกาศนั้นเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเกิดแบบนี้ได้ก็เมื่อสนามแม่เหล็กโลกอ่อนแอ ทำให้เกิดคาร์บอน-14 ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ต้นไม้จึงสะสมคาร์บอนเหล่านี้เอาไว้มากขึ้นตามไปด้วย

 

จากนั้นทีมงานก็ทำแบบจำลองเพื่อดูว่า การที่สนามแม่เหล็กโลกอ่อนแอลง จะส่งผลต่อรูปแบบของภูมิอากาศอย่างไร การวิเคราะห์โดยใช้คอมพิวเตอร์บ่งชี้ว่า เมื่อมีอนุภาคที่มีประจุเข้ามาในชั้นบรรยากาศมากขึ้น ธาตุต่างๆ ในอากาศก็จะถูกเร่งให้ทำปฏิกิริยากันมากขึ้น ก๊าซที่เกิดมากขึ้นก็คือก๊าซจำพวกไฮโดรเจนออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ อันเป็นโมเลกุลที่ชอบ ‘กิน’ โอโซน เมื่อโอโซนในชั้นบรรยากาศลดลง รังสีต่างๆ เช่น อุลตร้าไวโอเลต ก็จะทะลุทะลวงเข้ามาโดยตรงได้มากขึ้น ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขึ้นมา

 

ทีมงานยังสำรวจเรื่องอื่นๆ ประกอบอีก เช่น สำรวจเรื่องการตกตะกอน เรื่องละอองเกสรตกค้างที่พบ รวมไปถึงข้อมูลอื่นๆ ในช่วงก่อนและระหว่าง Laschamps Excursion ด้วย ข้อมูลทั้งหมดบ่งชี้ว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในซีกโลกใต้ ตั้งแต่ออสเตรเลียไปจนถึงเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้ จู่ๆ ก็เกิด ‘เย็น’ ลงกะทันหัน

 

ที่น่าประหลาดใจมากก็คือ ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า ผลที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดในระหว่างการกลับขั้วแม่เหล็กโลก แต่มันเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น ‘ก่อน’ ที่แม่เหล็กจะกลับขั้วนานหลายร้อยปี ในช่วงที่เกิดการกลับขั้วแล้วจริงๆ สนามแม่เหล็กโลกมีความแรงราว 28% ของปัจจุบัน แต่ช่วงที่กำลังเกิดการเปลี่ยนผ่าน สนามแม่เหล็กโลกมีความแรงเหลือเพียง 6% ท่านั้นเอง

 

นักวิทยาศาสตร์เถียงกันมานานว่า ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่อย่างช้างแมมมอธขนยาวสูญพันธุ์ไปนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเพราะมนุษย์ล่าพวกมันจนหมดโลกกันแน่ ในออสเตรเลียมีสัตว์ประเภทนี้เหมือนกัน เรียกว่า ไดโปรโทดอน (Diprotodon) ซึ่งจะเป็นคล้ายๆ กับตัววอมแบตยักษ์ กับจิงโจ้ยักษ์ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Procoptodon Goliah แล้วก็มีการค้นพบว่า การสูญพันธุ์ของสัตว์ขนาดใหญ่เหล่านี้เกิดขึ้นในช่วง 42,000 ปีที่แล้ว

 

มีการนำข้อมูลที่ได้จากการเจาะแกนน้ำแข็ง (Ice Core) เพื่อดูกิจกรรมของดวงอาทิตย์ (Solar Activity) มาประกอบ พบว่าในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ดวงอาทิตย์ก็มีกิจกรรมน้อยมากพอดี การที่ดวงอาทิตย์มีกิจกรรมน้อย ไม่ได้แปลว่ามันไม่ส่งอนุภาคมีประจุออกมา แต่หมายความว่าความร้อนจากดวงอาทิตย์ลดน้อยลง นั่นจึงอธิบายได้ว่าทำไมเกิดความหนาวเย็นขึ้นฉับพลัน นักวิทยาศาสตร์บอกว่า สององค์ประกอบนี้คือ การที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงให้ความอบอุ่นไม่เพียงพอ กับสนามแม่เหล็กโลกอ่อนแอ ทำให้อนุภาคมีประจุต่างๆ ทะลุทะลวงเข้ามาได้มาก แล้วเกิดก๊าซที่ทำลายโอโซน กลายมาเป็นสองปัจจัยหลักที่สร้างความตึงเครียดให้กับประชากรสัตว์ในโลก

 

ยังมีการค้นพบด้วยว่า ในช่วงเวลาเดียวกัน พบรอยประทับมือของมนุษย์บนผนังถ้ำเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ก็ตั้งข้อสังเกตว่า รอยประทับมือนั้นเกิดจากการใช้ดินโคลนสีแดง ซึ่งจะมีแร่เหล็กผสมอยู่ เรียกว่า Red Ochre นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เจ้าดินโคลนที่ว่านี้ มนุษย์ยุคนั้นใช้พอกตัวเพื่อเป็นสารป้องกันแสงแดด ประกอบกับการที่มนุษย์เข้ามาอยู่ในถ้ำมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น อาจบ่งชี้ว่ามนุษย์หนีทั้งรังสีและความหนาวเย็นเข้ามาอยู่ในถ้ำ

 

การค้นพบนี้เป็นการค้นพบเฉพาะสำหรับการกลับขั้วแม่เหล็กโลกเมื่อ 42,000 ปีที่แล้วเท่านั้น เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าการกลับขั้วแม่เหล็กโลกทุกครั้งจะทำให้เกิดการสูญพันธุ์ใหญ่เสมอไป แต่การที่มนุษย์รับรู้ข้อมูลนี้ก็ทำให้เราเตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ก่อนได้ว่า หากเกิดการกลับขั้วอีกครั้งในอนาคต อาจเกิดผลกระทบอะไรขึ้นได้บ้าง

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

The post เมื่อโลกพลิกผัน: การพลิกกลับของขั้วแม่เหล็กโลกและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Oumuamua ข่าวประหลาดจากต่างดาวที่ท้าทาย ‘ความบ้า’ และ ‘ความกล้า’ ในวงการวิทยาศาสตร์ https://thestandard.co/oumuamua-news-from-outter-space/ Tue, 09 Feb 2021 16:30:53 +0000 https://thestandard.co/?p=452411 Oumuamua ข่าวประหลาดจากต่างดาวที่ท้าทาย ‘ความบ้า’ และ ‘ความกล้า’ ในวงการวิทยาศาสตร์

เมื่อเร็วๆ นี้ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากฮาร์วาร์ดคนหนึ่งใ […]

The post Oumuamua ข่าวประหลาดจากต่างดาวที่ท้าทาย ‘ความบ้า’ และ ‘ความกล้า’ ในวงการวิทยาศาสตร์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Oumuamua ข่าวประหลาดจากต่างดาวที่ท้าทาย ‘ความบ้า’ และ ‘ความกล้า’ ในวงการวิทยาศาสตร์

เมื่อเร็วๆ นี้ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากฮาร์วาร์ดคนหนึ่งให้สัมภาษณ์เรื่องที่น่าสนใจมาก นั่นคือเป็นไปได้อย่างยิ่ง – ที่เมื่อไม่กี่ปีก่อน จะมี ‘ยานอวกาศ’ จากกาแล็กซีอื่นผ่านเข้ามาในระบบสุริยะของเรา

 

นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะเขาเขียนร่างบทความทางวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal Letters กันเลยทีเดียว (ดูรายละเอียดได้ที่นี่) โดยบทความนั้นตั้งชื่อว่า Could Solar Radiation Pressure Explain ‘Oumuamua’s Peculiar Acceleration? ซึ่งอาจจะฟังแล้วงงๆ อยู่สักหน่อย ว่ามันเกี่ยวอะไรกับ ‘ยานอวกาศ’ ต่างกาแล็กซีที่ว่ามาข้างต้น

 

เริ่มจากคำว่า ‘Oumuamua กันเสียก่อน

 

คำนี้เป็นภาษาฮาวาย แปลว่า Scout ซึ่งมีคำแปลได้หลายอย่าง เช่น การออกไปสังเกตการณ์ การลาดตระเวน การสอดแนม การตรวจสอบ การค้นหา โดย ‘Oumuamua ถือเป็น ‘วัตถุระหว่างดาราจักร’ หรือ Interstellar Object ชิ้นแรกที่มนุษย์เราเคยตรวจพบว่ามันพุ่งผ่านระบบสุริยะของเรามา โดยผู้ค้นพบคือ โรเบิร์ต เวิร์ก (Robert Weryk) เขาใช้กล้องโทรทรรศน์ค้นพบมาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 40 วัน หลังจากที่เจ้า ‘Oumuamua พุ่งเฉียดผ่านใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด แต่ตอนค้นพบนั้น มันอยู่ห่างจากโลกราวๆ 33 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 85 เท่า ของระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ และกำลังมุ่งหน้าหนีห่างออกไปจากดวงอาทิตย์แล้ว

 

‘Oumuamua เป็นเทหวัตถุที่มีขนาดเล็ก คือมีขนาดระหว่าง 100-1,000 เมตร รูปร่างของมันเหมือนเป็นซิการ์ยาวๆ ส่วนกว้างที่สุด ประมาณว่าน่าจะกว้างระหว่าง 35-167 เมตร 

 

แรกทีเดียว นักดาราศาสตร์คิดว่ามันคือดาวหาง แต่ถ้าเป็นดาวหาง มันก็ต้องมี ‘หาง’ ซึ่งก็คือก๊าซที่ถูกความร้อนจากดวงอาทิตย์เผาทำให้เกิดการระเหย (หรือระเหิด) ออกมา แต่เจ้า ‘Oumuamua นี่ไม่มีหาง เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่ดาวหาง

 

แล้วถ้าอย่างนั้น มันจะเป็นดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) ได้ไหม ซึ่งนักดาราศาสตร์ก็ประหลาดใจกันอีก เพราะดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นรูปกลมๆ แล้วก็จะไม่สะท้อนแสงออกมามากนัก แต่เจ้า ‘Oumuamua นั้นกลับเป็นมันวาวและมีรูปทรงยาวเรียว การสะท้อนแสงของมันนั้นมีมากกว่า ‘หิน’ ในอวกาศทั่วไปอย่างน้อย 10 เท่า ทำให้ในช่วงแรกๆ นักดาราศาสตร์สงสัยว่ามันน่าจะเป็นวัตถุผสมระหว่างดาวหางกับดาวเคราะห์น้อย ซึ่งก็เป็นเรื่องประหลาดมากพออยู่แล้ว

 

แต่ที่ประหลาดที่สุด ก็คือในปี 2020 ข้อมูลใหม่ที่รวบรวมได้จากฮับเบิลตรวจพบว่า ในปี 2017 นั้น เจ้าวัตถุที่ว่านี้ มัน ‘เร่งความเร็ว’ หนีห่างออกจากวิถีโคจรที่ควรจะเป็นจากการคำนวณ โดยอธิบายไม่ได้ด้วยปัจจัยจากภายนอกต่างๆ นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อร่างบทความที่ว่า มันคือคำถามที่ว่า – ลำพังเพียงการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์นั้น จะอธิบาย ‘ความเร่ง’ ที่แปลกประหลาดของ ‘Oumuamua ได้กระนั้นหรือ?

 

และนั่นเอง จึงเป็นที่มาของการให้สัมภาษณ์จากปากของ เอวี โลเอ็บ (Avi Loeb)

 

โลเอ็บเป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชั้นนำของฮาร์วาร์ด ตำแหน่งของเขาคือ Frank B. Baird Jr. Professor ที่เคยนั่งเก้าอี้ประธานภาควิชาดาราศาสตร์แห่งฮาร์วาร์ดยาวนานที่สุด นิตยสาร Scientific American บอกว่าเขาทำงานวิจัยบุกเบิกที่เรียกเสียงฮือฮามามาก ไม่ว่าจะเรื่องเกี่ยวกับหลุมดำ การระเบิดของรังสีแกมมา เอกภพยุคแรกเริ่ม หรืองานอื่นๆ ที่ถือว่าเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับวงการดาราศาสตร์ แต่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา โลเอ็บหันมาสนใจเรื่องที่ยิ่งเรียกเสียงฮือฮาและเป็นที่ถกเถียงมากขึ้นไปอีก นั่นคือเรื่องของสิ่งมีชีวิตต่างดาวหรือ Space Aliens และเขาก็กำลังจะมีหนังสือเล่มใหม่ ชื่อ Extraterrestrial: The First Sign of Intelligent Life Beyond Earth ซึ่งเล่าเรื่องราวของ ‘Oumuamua เอาไว้ด้วย

 

นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่คิดว่า การเคลื่อนที่ที่ผิดปกติของ ‘Oumuamua นั้น น่าจะเกิดจากการปลดปล่อยก๊าซจากพื้นผิวของมัน เพราะมันพุ่งเข้าไปเฉียดใกล้กับดวงอาทิตย์ ก็เลยอาจเกิดปฏิกิริยาอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ แล้วก๊าซนี้ก็ไป ‘ผลัก’ ให้ ‘Oumuamua เปลี่ยนวิถี พร้อมกับเร่งความเร็วมากขึ้น แต่ก็มีคนโต้แย้งว่า เจ้า ‘Oumuamua ไม่ได้เร่งความเร็วในช่วงที่มันอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ที่สุดเสียหน่อย มันมาเร่งตัวเองหลังจากนั้น ถ้าเป็นเรื่องความร้อนที่ส่งผลให้เกิดก๊าซจริงๆ ทำไมไม่เร่งความเร็วตั้งแต่ต้นเล่า แล้วบางคนก็บอกด้วยว่า ถ้าเป็นเรื่องของก๊าซจริงๆ วิถีของมันก็ไม่ควรจะเป็นอย่างที่เป็นอยู่ แต่น่าจะมีการ ‘หมุน’ (Spin) ที่เกิดจากแรงบิดจากการปลดปล่อยก๊าซ (Outgassing Torque) แต่การเคลื่อนที่ของ ‘Oumuamua ไม่ได้เป็นแบบนั้น ทั้งยังไม่มีการสังเกตพบร่องรอยของก๊าซเลยด้วย

 

สำหรับโลเอ็บ คำอธิบายการเคลื่อนที่ของ ‘Oumuamua ที่เป็นไปได้มากที่สุด ก็คือ ‘Oumuamua เป็นยานอวกาศ ซึ่งทิศทางที่ ‘Oumuamua พุ่งมานั้น มาจากบริเวณดาวเวกา (Vega) อันเป็นดาวที่สว่างที่สุดในดาราจักรลีรา (Lyra Constellation) ซึ่งถ้าดูจากความเร็วแล้ว การเดินทางจากเวกามายังระบบสุริยะต้องใช้เวลาราวหกแสนปี เขาจึงเสนอด้วยว่า เป็นไปได้ที่ ‘Oumuamua จะมาจากอารยธรรมที่ล่มสลายไปแล้ว

 

โลเอ็บไม่ได้อธิบายเรื่องนี้เพราะข้อมูลจากฮับเบิลในปี 2020 แต่เขาเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2018 แล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีข้อมูลจากฮับเบิลด้วยซ้ำ โดยเขาเขียนเรื่องนี้เป็นบทความลงในวารสาร Astrophysical Journal Letters แต่ก็แน่นอนว่าเพื่อนนักดาราศาสตร์ทั้งหลายไม่เป็นด้วยกับเขาเท่าไร เพราะแม้การเคลื่อนที่ของ ‘Oumuamua จะประหลาด แต่ก็ยังพอมีคำอธิบายที่เป็นไปได้อยู่ แม้ความเป็นไปได้จะน้อยก็ตาม ดังนั้น การรีบตีขลุมว่านี่เป็นการเคลื่อนที่แบบยานอวกาศที่ใช้เทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องอันตรายไม่น้อย

 

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีข้อมูลใหม่เกิดขึ้น ชื่อของโลเอ็บจึงโด่งดังขึ้นมาอีกครั้ง หลายสื่อไปสัมภาษณ์เขา โดยสิ่งที่โลเอ็บให้สัมภาษณ์ ไม่ได้มีเฉพาะเรื่อง ‘Oumuamua (ซึ่งกลายเป็นประเด็นเก่าไปแล้ว) เท่านั้น เขายังให้สัมภาษณ์ถึง ‘วงการวิทยาศาสตร์’ ที่เขาเองก็สังกัดอยู่ด้วย โดยตอนหนึ่ง โลเอ็บบอกกับ Scientific American ว่า นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันนี้ มีจำนวนไม่น้อยเลยที่ขับเคลื่อนตัวเองด้วยอีโก้ เพื่อให้ได้มาซึ่งเกียรติยศและรางวัล ทว่าปฏิบัติกับวิทยาศาสตร์เหมือนการ ‘พูดคนเดียว’ (Monologue) แทนที่จะเป็น ‘บทสนทนา’ (Dialogue) กับธรรมชาติ ทำให้เกิด ‘เสียงก้องในห้องแคบ’ (Echo Chamber) ขึ้นมา พูดง่ายๆ ก็คือ โลเอ็บกำลังวิพากษ์วงการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันว่า ไม่ยอมเปิดใจกว้างเพื่อรับฟังทฤษฎีที่แตกต่างออกไป แม้ว่ามันจะฟังดูพิสดารมากก็ตาม

 

ในด้านหนึ่ง โลเอ็บมองว่า ข้อถกเถียงเรื่อง ‘Oumuamua ไม่ใช่แค่การเถียงกันว่า ‘Oumuamua คืออะไรเท่านั้น แต่มันยังเป็นต้นแบบของการถกเถียงเกี่ยวกับ ‘กระบวนการทางวิทยาศาสตร์’ (Scientific Process) ด้วย เขาบอกกับ The Guardian ว่า เหตุผลหนึ่งที่เขา ‘กล้า’ ออกมาพูดเรื่องนี้ ก็เพราะมีหลายคนบอกเขาว่า วิถีของ ‘Oumuamua นั้นประหลาดจริงๆ แต่คนเหล่านั้นไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ เพราะเกรงกลัวคนจะหาว่าบ้า แต่ตัวเขาไม่กลัว

 

เรื่องของ ‘Oumuamua จึงไม่ได้เป็นเพียง ‘ข่าวประหลาดจากต่างดาว’ อันไกลโพ้นเท่านั้น แต่ยังสะท้อนกลับมาสู่ประเด็นดั้งเดิมในสังคมมนุษย์อีกด้วย นั่นคือเรื่องราวระหว่างความบ้าและความกล้าที่ไม่รู้ว่าสิ่งไหนจะได้ชัยชนะในที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

The post Oumuamua ข่าวประหลาดจากต่างดาวที่ท้าทาย ‘ความบ้า’ และ ‘ความกล้า’ ในวงการวิทยาศาสตร์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
วิทยาศาสตร์ของความหน้าตาดี: ความสวย หล่อมีจริงไหม หรือเป็นแค่ ‘เปลือกนอก’ ที่คิดกันไปเอง https://thestandard.co/science-of-good-looking-face/ Tue, 26 Nov 2019 13:13:21 +0000 https://thestandard.co/?p=307534 วิทยาศาสตร์ของความหน้าตาดี

คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนบางคนถึง ‘หน้าตาดี’ กว่าคนอื่น […]

The post วิทยาศาสตร์ของความหน้าตาดี: ความสวย หล่อมีจริงไหม หรือเป็นแค่ ‘เปลือกนอก’ ที่คิดกันไปเอง appeared first on THE STANDARD.

]]>
วิทยาศาสตร์ของความหน้าตาดี

คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนบางคนถึง ‘หน้าตาดี’ กว่าคนอื่น

 

ที่จริงแล้ว การที่ใครจะหน้าตาเป็นอย่างไรนั้นไม่น่าสงสัยเท่าไร เพราะหลักๆ เป็น ‘ความบังเอิญทางพันธุกรรม’ ทั้งนั้น ที่กำหนดให้ผิวออกมาละเอียด ตากลมโต ผมเส้นเล็กสลวย หรือจมูกโด่งคมเป็นสัน สีของนัยน์ตากระจ่างสวย ฯลฯ

 

แต่ความหน้าตาดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพของตัวเราเองเท่านั้น ความหล่อสวยเป็นเรื่องของเราครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งเป็นเรื่องของ ‘คนอื่น’ ที่จะเห็นว่าเราสวยหล่อหรือไม่ หน้าตาดีหรือไม่ อย่างที่เชกสเปียร์บอกว่า ความงามอยู่ในสายตาของผู้มองนั่นแหละ

 

ดังนั้น คำถามที่น่าสนใจก็คือ ‘ความหน้าตาดี’ มีอะไรเป็นตัวกำหนดการรับรู้หรือเปล่า หรือว่าความหน้าตาดีมีลักษณะที่เป็น ‘สากล’ อยู่ด้วยไหม และเรื่องนี้วิทยาศาสตร์พอหาคำตอบให้เราได้หรือเปล่า – ว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงมีความเห็นพ้องต้องกันได้ ว่าใครบางคนหน้าตาดีกว่าใครบางคน (และทำไมไม่เป็นเรา – หือ!)

 

เรารู้กันดีอยู่นะครับ ว่าไม่ควรไปตัดสินใครที่หน้าตา ซึ่งจะเข้าข่ายการเหยียดเพราะรูปร่างหน้าตาหรือที่เรียกว่า Lookism ได้ แต่กระนั้นคนบางคนก็มีใบหน้าที่ ‘น่ามอง’ แตกต่างไปจากคนอื่นๆ จริงๆ และก็มีงานวิจัยพบว่า คนที่ ‘หน้าตาดี’ นั้น มักมีรายได้หรือหน้าที่การงานที่ดีกว่าคนหน้าตาไม่ดีด้วย ซึ่งอาจฟังดูไม่ค่อยยุติธรรมสักเท่าไร

 

ที่จริงแล้ว ความ ‘หน้าตาดี’ นั้นเป็นแค่เรื่องระดับผิว (ซึ่งหมายถึง ‘ผิว’ จริงๆ) เพราะถ้าเอาผิวออกไปเสีย ให้เหลือแต่กะโหลกหรือตับไตไส้พุง ไม่ว่าจะเป็นใครล้วนอยู่ในสภาพของ ‘ก้อนเนื้อ’ แบบเดียวกันทั้งนั้น 

 

แต่ต่อให้เป็นแค่เรื่อง ‘ผิวๆ’ (ที่บางคนบอกว่าเป็นเรื่อง ‘เปลือก’) ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ เรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ต่างก็พยายามหาคำตอบกันนะครับ ว่าทำไมใครบางคนถึงสวยหล่อขึ้นมาได้ และแม้ความสวยหล่อจะเป็นเรื่องอัตวิสัย ความงามอยู่ในสายตาของผู้มองอย่างที่เชกสเปียร์ว่า แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความสวยหล่อก็มีบางลักษณะที่เป็นสากลได้เหมือนกัน

 

เรื่องแรกสุดเลยที่รู้กันมานานแล้ว ก็คือเรื่องของ ‘สมมาตร’ หรือ Symmetry ของใบหน้า

 

เคยมีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Comparative Psychology และวารสาร Journal of Evolution & Human Behaviour ที่แสดงให้เราเห็นว่า เมื่ออยู่ในเงื่อนไขของการทดลอง คนเราจะชอบใบหน้าที่ ‘มีสมมาตร’ มากกว่า

 

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้นนะครับ เพราะมีการศึกษาในทารกที่มองเห็นและแสดงอาการตอบสนองได้แล้ว โดยให้ทารกมองดูภาพของใบหน้าคนที่หลากหลาย พบว่าทารกจะชอบ (คือดูภาพนานกว่า) คนที่มีใบหน้าสมมาตรมากกว่า คนที่ได้รับความนิยมจากทารกมากที่สุดในการทดลองที่เกิดขึ้นในทศวรรษ 90 ก็คือ เดนเซล วอชิงตัน ที่ใบหน้ามีสมมาตรสูงมาก โดยพบว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสีผิวหรือเชื้อชาติเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นทารกเชื้อชาติอะไร ก็มีแนวโน้มจะจ้องมองใบหน้าของ เดนเซล วอชิงตัน มากกว่าคนอื่นๆ ทั้งสิ้น

 

ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดแค่กับทารกที่เป็นมนุษย์เท่านั้น เพราะเคยมีการศึกษาในลิง พบว่า ลิงจะจ้องมองใบหน้าที่มีความสมมาตรนานกว่าใบหน้าที่ไม่สมมาตรด้วยเช่นกัน พูดง่ายๆ ก็คือ ผลการทดลองในลิงกับทารกเป็นแบบเดียวกัน

 

นักวิทยาศาสตร์พยายามอธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยบอกว่าใบหน้าที่มีสมมาตรนั้น เป็นใบหน้าที่เป็นผลมาจากสุขภาพที่ดีกว่า ใบหน้าสมมาตรได้ส่วน เติบโตสองฟากเหมือนกันนั้น ต้องเป็นใบหน้าที่พัฒนามาจาก ‘ยีนที่ดี’ ทั้งยังต้องได้รับสารอาหารมากเพียงพอตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ดังนั้นการมีใบหน้าสมมาตรจึงแสดงให้เห็นทั้งเรื่องของ Nature (คือพันธุกรรม) และ Nurture (คือเรื่องของการเลี้ยงดู) ดังนั้น ลึกๆ แล้ว ความชื่นชอบใบหน้าสมมาตร จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคัดเลือกทางเพศ (Sexual Selection) นั่นเอง

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องมี ‘แต่’ ตัวใหญ่ๆ อยู่ด้วยนะครับ เพราะมีอีกการทดลองหนึ่ง (ดูรายงานของ Business Insider ได้ที่นี่) ของมหาวิทยาลัย Brunel บอกว่าไม่จริงเสมอไปที่เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับสุขภาพ

 

มีการศึกษาในวัยรุ่นราว 5,000 คน ไม่พบสหสัมพันธ์ระหว่างสมมาตรของใบหน้ากับสุขภาพที่ดีโดยรวม (แต่ไม่ได้แปลว่าคนไม่ชอบใบหน้าสมมาตรนะครับ) เพราะฉะนั้น เหตุผลที่ว่านี้จึงอาจยังใช้อธิบายไม่ได้แน่ๆ ว่าทำไมคนเราถึงชอบคนที่มีใบหน้าสมมาตร

 

ความสมมาตรคือการมีใบหน้าสองซีกเหมือนเป็นกระจกส่องสะท้อนกัน อาจไม่ถึงขั้นเป็นภาพเหมือนที่สมบูรณ์แบบ (ไม่มีมนุษย์คนไหนมีใบหน้าสมมาตรร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกนะครับ) แต่ต้องเหมือนกันมากพอจะทำให้ดวงตาของผู้มองเห็นได้ว่าสองซีกของใบหน้านั้นเหมือนกัน คนเราจะมีใบหน้าสองซีกที่แตกต่างกันเล็กๆ น้อยๆ อยู่แล้ว ดังนั้น การเห็นความสมมาตรจึงเป็นความสามารถของสมองผู้มองด้วย

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนเราเห็นว่าใครหน้าตาดี คือสิ่งที่หลายคนอาจต้องเลิกคิ้วด้วยความประหลาดใจ เพราะมันคือ ‘ความอยู่ในค่าเฉลี่ย’ หรือ Averageness

 

เรามักคิดว่า คนหน้าตาดีน่าจะเป็นคนที่หน้าตาโดดเด่น จึงมีใบหน้าดูดีสูงกว่าค่าเฉลี่ย แต่คำว่า ‘ค่าเฉลี่ย’ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงคนที่มี ‘หน้าตางั้นๆ’ หรือ ‘หน้าตากลางๆ’ นะครับ คำว่า ‘เฉลี่ย’ ที่ว่านี้ หมายถึงค่าเฉลี่ยในทางคณิตศาสตร์ของลักษณะบนใบหน้าคน (หรือเรียกว่า ‘เครื่องหน้า’) ซึ่งคือการนำเอาปัจจัยต่างๆ มาคำนวณ ตัวอย่างเช่น ระยะห่างระหว่างดวงตาบนใบหน้า ซึ่งคนทั่วไปจะมีระยะห่างที่ว่านี้แตกต่างกันออกไป บางคนก็ตาห่างมาก บางคนก็ตาห่างน้อย หรือจมูกเมื่อเทียบกับปากและตาแล้วอยู่ต่ำสูงอย่างไร เป็นต้น

 

คนที่ ‘หน้าตาดี’ จะมีระยะห่างนี้ใกล้เคียงกับ ‘ค่าเฉลี่ย’ มากที่สุด นั่นคือถ้าเราเอาระยะต่างๆ ของเครื่องหน้ามาบวกกันแล้วหารด้วยจำนวนคน เราจะได้ค่าเฉลี่ยนี้ออกมา พบว่ามนุษย์ที่มนุษย์ด้วยกันชื่นชอบ จะมีเครื่องหน้าที่มีระยะห่างต่างๆ ใกล้เคียงกับ ‘ค่าเฉลี่ย’ มากที่สุด นี่เป็นผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก และมหาวิทยาลัยโทรอนโตในแคนาดา

 

ที่จริงเรื่องนี้ไม่ใหม่นัก เคยมีรายงานมาตั้งแต่ปี 1878 ในวารสาร Nature แล้วว่า คนที่ถูกมองว่าหน้าตาดีที่สุด คือคนที่มีลักษณะต่างๆ บนใบหน้าผสมกลมกลืนมากที่สุด พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือมีทุกอย่างอยู่ในค่าเฉลี่ยนั่นเอง เช่น จมูกต้องไม่โด่งหรือแบนไป ปากไม่กว้างหรือแคบไป เป็นต้น

 

ถ้าถามว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ก็มีคำอธิบายจากการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่เสนอว่า ใบหน้าที่เป็น ‘ค่าเฉลี่ย’ นั้น แสดงให้เห็นว่าเป็นคนที่มีพันธุกรรมในตัวหลากหลายมาก คือถ้าเหวี่ยงไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป แปลว่ามีพันธุกรรมเฉพาะที่ไม่หลากหลายเท่า โดยทั่วไป คนที่มีพันธุกรรมหลากหลาย (เช่น เป็นลูกครึ่ง) มีข้อได้เปรียบทางสุขภาพมากกว่า เพราะพันธุกรรมหลากหลายย่อมต่อสู้กับเชื้อโรคและความป่วยไข้ต่างๆ ได้ดีกว่า เราก็เลยมีแนวโน้มจะมองว่าคนที่มี ‘หน้าค่าเฉลี่ย’ เป็นคนที่หน้าตาดี (อย่างเป็นสากล) มากกว่า

 

ยังมีอีกคำอธิบายหนึ่งว่า ใบหน้าของคนที่อยู่ในค่าเฉลี่ยมากๆ นั้น ทำให้คนอื่นอยากมองมากกว่า เพราะมันมีคุณสมบัติทุกอย่างที่เอื้อให้คนจำนวนมากรู้สึก ‘คุ้นเคย’ มากกว่าใบหน้าที่ไม่อยู่ในค่าเฉลี่ย เรื่องนี้มีงานวิจัยรองรับ โดยเป็นการศึกษาชาวอังกฤษกับชาวฮัดซา (Hadza) ซึ่งเป็นชนเผ่าล่าหาอาหารในแทนซาเนีย เพื่อดูว่าคนสองกลุ่มที่มีปูมหลังทางวัฒนธรรมต่างกันมากๆ จะมองความงามอย่างไร โดยให้คนทั้งสองกลุ่มได้ดูภาพสองภาพ แล้วถามว่าคนในภาพไหนสวยหล่อกว่ากัน ภาพหนึ่งเป็นใบหน้าของคนอังกฤษกับคนฮัดซา พบว่าคนทั้งสองกลุ่มจะชอบภาพใบหน้าของคนที่มีค่าเฉลี่ยมากกว่าทั้งคู่ แต่ที่ต่างไปก็คือ คนอังกฤษชอบทั้งภาพคนอังกฤษเองและภาพชาวฮัดซา ในขณะที่ชาวฮัดซามีแนวโน้มจะชอบภาพชาวฮัดซาที่มีใบหน้าค่าเฉลี่ยมากกว่า ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า เพราะชาวฮัดซายังไม่ ‘คุ้น’ กับภาพของคนขาวเท่าไร จึงยังหวนกลับไปอ้างอิงในสิ่งที่คุ้นเคยอยู่ด้วย

 

เคยมีการศึกษาของมหาวิทยาลัยเท็กซัส โดยวัดคลื่นไฟฟ้าสมองพร้อมกับให้ดูภาพใบหน้าต่างๆ คือใบหน้าที่สวยหล่อดูดีมีสมมาตร ใบหน้าที่ไม่สวยหล่อ รวมไปถึงใบหน้าที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นโดยนำเอาลักษณะเฉลี่ยๆ ต่างๆ มารวมกัน และบางภาพก็นำเอาเครื่องหน้าของลิงชิมแปนซีมาปะปนด้วย แล้วจากนั้นก็ดูรูปแบบของคลื่นไฟฟ้าสมอง พบว่า ถ้าเป็นภาพมนุษย์ สมองของผู้เข้าทดลองจะประมวลผลได้เร็วกว่าภาพที่มีใบหน้าของลิงชิมแปนซีปะปนอยู่ (โดยที่ผู้ดูภาพไม่รู้ตัวว่ากำลังดูภาพที่มีความเป็นลิงอยู่ด้วย) นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนเราจะชอบหรือประมวลผลเร็วกว่า กับสิ่งที่เรา ‘คุ้นเคย’ มากกว่า ซึ่งในกรณีนี้ก็คือลักษณะของใบหน้าแบบมนุษย์

 

ที่น่าสนใจก็คือ สมองของผู้เข้าทดลองจะประมวลผลหรือมีกิจกรรมทางไฟฟ้าตอบสนองต่อภาพของคนหน้าตาดีมากกว่าคนหน้าตาไม่ดี แต่ที่สมองตื่นตัวมากกว่าคนหน้าตาดี ก็คือตื่นตัวต่อภาพของคนที่มี ‘ลักษณะเฉลี่ย’ ต่างๆ (ที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น) มากที่สุด

 

เคยมีการทดลองต่อเนื่อง ด้วยการตั้งคำถามกับอาสาสมัครว่า – คิดว่าคนหน้าตาดีกับหน้าตาไม่ดีมีลักษณะนิสัยอย่างไร พบว่าคนส่วนใหญ่มักคิดว่าคนหน้าตาดีฉลาดกว่า เป็นมิตรกว่า ซึ่งก็สอดคล้องกับการสำรวจก่อนหน้าที่ว่าคนหน้าตาดีกว่ามักจะได้งานดีกว่า รวมถึงมีรายได้มากกว่าเพื่อนร่วมงานที่หน้าตาไม่ดีด้วย

 

ใช่ – เรื่องนี้ฟังดูไม่ยุติธรรมเลย เพราะมันคือสิ่งที่นักสังคมวิทยาเรียกว่า Beauty Bias อคติต่อรูปร่างหน้าตาของคนอื่นที่ฝังลึกอยู่ข้างในตัวเรา

 

เวลาเราพูดว่า – ความงามอยู่ในสายตาของผู้มองนั้น นัยหนึ่งก็คือเรากำลังถือดาบพิพากษารูปร่างหน้าตาของคนอื่นอยู่ โดยรู้ว่าเรามีสิทธิอำนาจนั้นเต็มตัว เพราะมันคือความชอบที่ก็เกิดจากต้นทุนหลายๆ อย่างในตัวเราอีกนั่นแหละ

 

Beauty Bias อาจเป็นเรื่องเชิงสังคมหรือวัฒนธรรมก็ได้ แต่ถ้ามองด้วยสายตาแบบวิทยาศาสตร์ มันอาจไม่ใช่อคติหรือ Bias ที่เกิดขึ้นแค่เพราะชื่นชอบความสวยหล่อเท่านั้น ทว่าเป็นเรื่องที่ ‘ฝัง’ อยู่ในกระบวนการวิวัฒนาการและการคัดเลือกทางเพศกันเลยทีเดียว

 

ดังนั้น ความชื่นชอบเรื่องสวยหล่อ จึงไม่ใช่แค่เรื่อง ‘เปลือกผิว’ เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วอยู่ในแก่นของความเป็นมนุษย์อย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเราค้นพบและ ‘รู้’ แล้วว่า – นี่เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งในตัวมนุษย์ แต่เป็นธรรมชาติที่อาจก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมขึ้นได้ในสังคมสมัยใหม่ เราก็อาจสามารถใช้สติปัญญาคอยควบคุมและระมัดระวังอคตินี้ได้

 

การศึกษา ‘วิทยาศาสตร์แห่งความหน้าตาดี’ จึงอาจมีประโยชน์อย่างนี้นี่เอง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

The post วิทยาศาสตร์ของความหน้าตาดี: ความสวย หล่อมีจริงไหม หรือเป็นแค่ ‘เปลือกนอก’ ที่คิดกันไปเอง appeared first on THE STANDARD.

]]>