เกตุวดี Marumura – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Mon, 22 Feb 2021 03:48:27 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ยูซากุ มาเอซาวา: วิธีคิดแบบคนที่จะได้ไปเที่ยวดวงจันทร์กับ SpaceX เป็นคนแรก https://thestandard.co/yusaku-maezawa/ https://thestandard.co/yusaku-maezawa/#respond Mon, 08 Oct 2018 08:10:23 +0000 https://thestandard.co/?p=129835

เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ได้ประกาศว่ […]

The post ยูซากุ มาเอซาวา: วิธีคิดแบบคนที่จะได้ไปเที่ยวดวงจันทร์กับ SpaceX เป็นคนแรก appeared first on THE STANDARD.

]]>

เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ได้ประกาศว่า นักท่องเที่ยวคนแรกที่จะได้ขึ้นจรวดของ SpaceX ไปเที่ยวดวงจันทร์นั้นคือ ‘ยูซากุ มาเอซาวา’

 

อีลอน มัสก์ไม่ได้บอกราคาทริปชมจันทร์นี้ไว้ แต่สื่อญี่ปุ่นประเมินคร่าวๆ แล้วน่าจะตก 7 แสนล้านเยนเลยทีเดียว

 

แถมไปคนเดียวไม่พอ เพราะมาเอซาวาคนนี้ยังเหมาที่นั่งของ SpaceX อีก 8 ที่ พร้อมเปรยว่า จะพาศิลปิน จิตรกร นักดนตรี ผู้กำกับ และสถาปนิก เดินทางไปเที่ยวพระจันทร์กับเขา และเขากำลังคิดอยู่ว่าจะชวนใครไปดี

 

มาเอซาวาคือใคร

 

อดีตนักดนตรีสู่นักธุรกิจเสื้อผ้าออนไลน์

ยูซากุ มาเอซาวา เคยเป็นนักดนตรี และมีวงดนตรีอินดี้เล็กๆ ของตัวเอง เขาเคยออกผลงานกับค่ายเพลงในญี่ปุ่น ระหว่างนั้นเขาเห็นว่าในญี่ปุ่นยังไม่มีซีดีหรือแผ่นเสียงดนตรีที่เขาชอบจากต่างประเทศ จึงตัดสินใจลองนำเข้าและจำหน่ายซีดีดู

 

เริ่มแรกมาเอซาวาขายซีดีนำเข้าเหล่านี้กับแฟนเพลงของตนก่อน จากนั้นลูกค้าก็เริ่มบอกปากต่อปากมากขึ้น ทำให้ธุรกิจของเขาเริ่มเติบโต

 

เมื่อธุรกิจจำหน่ายซีดีเริ่มไปได้ดีแล้ว มาเอซาวาจึงตัดสินใจเริ่มหาสิ่งใหม่ๆ ทำ

 

ตัวมาเอซาวาเองนั้นชื่นชอบการแต่งตัวและชอบด้านแฟชั่นอยู่แล้ว เขาจึงคัดเลือกแบรนด์เสื้อผ้าที่เขาชอบมาลองขายบนอินเทอร์เน็ตดูในปี 2004 และเว็บนี้ก็กลายมาเป็น ZOZOTOWN ในปัจจุบัน

 

ขณะที่ทั้งงานเพลงและธุรกิจกำลังไปได้ดี ในที่สุดมาเอซาวาตัดสินใจหยุดงานด้านศิลปิน และหันมาสร้างบริษัทของตัวเองด้วยเหตุผลว่า งานเพลงที่เขาทำอยู่นั้น ‘ไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์’ อีกต่อไป

 

“ผมเปลี่ยนงานเพราะรู้สึกว่างานบริหารสนุกกว่างานดนตรีแล้ว ตอนเดบิวต์วง ผมรู้สึกว่ามันเป็นงาน Routine มาก เราทำเพลง เพลงละ 3-5 นาที แล้วก็รวม 15 เพลงใส่อัลบั้ม ออกปีละครั้ง ราคา 3,000 เยน หลังจากนั้นก็ไปออกคอนเสิร์ต ขาย CD ขายเสื้อ ปีถัดไปก็ทำแบบเดียวกัน มันเหมือนชีวิตมนุษย์เงินเดือน”

 

เอาเงินจากไหนไปดวงจันทร์

ในช่วงปี 2000 นั้น เว็บขายเสื้อผ้าออนไลน์ปกติจะเน้นสินค้าราคาถูก คุณภาพกลางๆ แต่ ZOZOTOWN กลับมีภาพลักษณ์ของความ ‘เก๋’ ทั้งตัวเว็บและแบรนด์สินค้าที่วางขาย

 

ZOZOTOWN มาจากคำว่า ‘Zozo’ ซึ่งมีทั้งความหมายว่า ‘สร้าง’ และ ‘จินตนาการ’ ZOZOTOWN จึงเปรียบเสมือนเมืองที่ผู้คนมาใช้จินตนาการสรรสร้างรูปแบบของตนเอง เว็บ ZOZOTOWN เริ่มกลายมาเป็นเว็บที่จำหน่ายสินค้าแฟชั่นเก๋ๆ ในหมู่วัยรุ่นญี่ปุ่น

 

ภาพลักษณ์ สี โทนของเว็บไปในทางเดียวกัน ทำให้ดูง่าย สบายตา

 

ลูกค้าผู้หญิงท่านหนึ่งกล่าวว่า “เหตุผลที่เวลามีอะไรก็ไปที่เว็บ ZOZOTOWN เพราะที่นั่นมีทุกอย่างเลย” หรือลูกค้าบางคนก็กล่าวว่า “หากซื้อเว็บอื่น เวลาซื้อสินค้าต่างแบรนด์ก็ต้องใส่สินค้าในตะกร้าทีละครั้ง ต้องจ่ายเงินแยก แต่หากเป็น ZOZOTOWN สามารถจ่ายรวมกันและได้รับเสื้อผ้าต่างแบรนด์ในกล่องเดียว มันสะดวกมาก”

 

ด้วยข้อจำกัดทางเว็บ ทำให้ลูกค้าไม่สามารถลองเสื้อผ้าก่อนได้ ทาง ZOZOTOWN จึงพยายามให้ข้อมูลกับลูกค้าเกี่ยวกับไซส์ให้มากที่สุด เช่น บนเว็บ นอกจากบอกข้อมูลไซส์แล้ว ยังบอกความยาวของลำตัว ความยาวไหล่ ความยาวแขนเสื้อ น้ำหนักเสื้อ (กรัม) ตลอดจนมีข้อมูลเปรียบเทียบกับเสื้อผ้าชิ้นก่อนที่ลูกค้าเคยซื้อ ทำให้ลูกค้ายิ่งเห็นภาพง่ายขึ้นว่าเสื้อที่ตนเองสนใจจะมีขนาดและความยาวประมาณเท่าใด

 

บรรทัดล่างสุดคือขนาดและความยาวของเสื้อผ้าชิ้นล่าสุดที่เคยซื้อ

 

ในมุมมองของลูกค้าแล้ว ยิ่งซื้อของใน ZOZOTOWN ก็จะยิ่งคุ้นเคย และสามารถอ้างอิงข้อมูลที่ซื้อครั้งก่อนๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

บริษัท ZOZO ยังสร้างธุรกิจสนุกๆ เพื่อทำให้คนสนุกกับการซื้อเสื้อผ้าออนไลน์อีก เช่น ZOZOUSED บริการรับซื้อสินค้ามือสองและนำมาจำหน่ายในเว็บต่อ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับลูกค้าที่อยากซื้อเสื้อผ้าใหม่ แต่เกรงว่าเสื้อผ้าจะเต็มตู้แล้ว เพียงธุรกิจ ZOZOUSED อย่างเดียวก็ทำรายได้ไป 180 ร้อยล้านเยนต่อปี

 

หรือ WEAR แอปพลิเคชันที่คล้ายกับอินสตาแกรม ซึ่งยูสเซอร์สามารถถ่ายภาพแฟชั่นสไตล์ตนเองอัพขึ้นเว็บ พร้อมแท็กสินค้านั้นไปยังเว็บ ZOZOTOWN ได้

 

 

ใครมาดูก็ได้ไอเดียว่าจะเอาเสื้อผ้าชิ้นไหนไปมิกซ์แอนด์แมตช์อย่างไรได้บ้าง

 

ในปี 2017 นี้มียอดดาวน์โหลดแอปฯ กว่า 10 ล้านครั้งแล้ว ว่ากันว่ายอดขายที่มาจาก WEAR นั้นสูงถึง 1 พันล้านเยน (ประมาณ 330 ล้านบาท) เลยทีเดียว

 

ZOZO ยังลิงก์ข้อมูลจาก WEAR กลับไปที่เว็บ ZOZO เวลาลูกค้ากดคลิกดูเสื้อผ้า จะไม่เห็นเพียงนางแบบในภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังเห็นวิธีมิกซ์แอนด์แมตช์ของยูสเซอร์คนอื่นในเว็บด้วย

 

สมมติคลิกดูกระโปรงลายสกอตตัวนี้

เมื่อเลื่อนจอลงมาก็จะเห็นภาพที่มาจากผู้ชมทางบ้าน แถมยังแสดงข้อมูลส่วนสูงและไซส์กระโปรงของยูสเซอร์แต่ละคนด้วย

 

ยูสเซอร์ของ ZOZO ส่วนใหญ่จึงดูสไตล์การแต่งตัวจาก WEAR เมื่อเจอชิ้นที่ชอบก็กดซื้อในเว็บ ZOZOTOWN หากไม่แน่ใจไซส์ก็หยิบเสื้อผ้าที่เคยซื้อจากเว็บแล้วมาเทียบ ขณะเดียวกันก็อาจนำเสื้อผ้าที่มีอยู่เต็มตู้ใส่กล่องแล้วส่งไปขายใน ZOZOUSED แล้วเอาเงินไปช้อปต่อใน ZOZO ได้ ส่วนใครอยากอวดสไตล์ตัวเอง ก็ไปโพสต์รูปโชว์ต่อใน WEAR

 

กลายเป็นว่ายิ่งช้อปใน ZOZO ก็จะยิ่งคุ้น ยิ่งสนุก… และยิ่งติด

 

ปีหนึ่งมีคนซื้อของใน ZOZOTOWN กว่า 7.4 ล้านคน และใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1.5 หมื่นบาทเลยทีเดียว

 

มาเอซาวาสร้างเว็บสนุกๆ แบบนี้ได้อย่างไร

 

คิดแบบคนที่จะไปเที่ยวดวงจันทร์

“ผมไม่ได้อยากทำกำไรนะ ผมอยากทำให้แบรนด์แฟชั่นที่ผมรักคึกคักไปด้วยกันมากกว่า” มาเอซาวากล่าว

 

แต่หากดูผลประกอบการในปี 2017 บริษัท ZOZO มีอัตรากำไรอยู่ที่ร้อยละ 36 ในขณะที่ Uniqlo ยักษ์ใหญ่ด้านแฟชั่นนั้นมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานเพียงร้อยละ 9

 

สมัยเรียนมัธยมนั้น มาเอซาวาต้องนั่งรถไฟไปโรงเรียนทุกวัน เขาเห็นมนุษย์เงินเดือนหน้าตาเหนื่อยล้าเบียดกันยืนบนรถไฟทุกเช้า เขาจึงบอกกับตัวเองตั้งแต่สมัยนั้นว่า “เราจะไม่เป็นแบบนี้เด็ดขาด”

 

สิ่งที่มาเอซาวาตั้งใจสร้างคือ การใช้ชีวิตสนุกสนานและได้ทำงานที่ตนเองรัก เพราะฉะนั้นเขาเองไม่เคยคิดว่าจะทำอย่างไรให้ยอดขายเสื้อผ้าออนไลน์พุ่งสูงขึ้น หรือทำให้กำไรมากขึ้นกว่าเดิม เขาเพียงแต่ถามตัวเองกับลูกน้องบ่อยๆ ว่า “ทำอย่างไรให้คนสนุกสนานกับแฟชั่นได้ยิ่งขึ้น

 

“คนส่วนใหญ่สมัครงานบริษัทเพื่อทำงานเก็บเงิน แล้วก็คิดว่าตัวเองกำลังทำงานอยู่ ผมคิดว่านั่นเป็นวิธีคิดที่ผิดครับ

 

“การทำงานน่าจะเป็นกิจกรรมยามว่างชนิดหนึ่งมากกว่า จริงๆ แล้ว เราควรสมัครเข้าทำงานที่บริษัทหนึ่ง เพราะอยากทำในสิ่งที่เรารักไม่ใช่เหรอครับ ลูกค้าเองก็อยากซื้อของจากพนักงานที่ดูสนุกสนานกับงานมากกว่าใช่ไหมละครับ”

 

พนักงานเกือบพันคนของ ZOZO ที่มาเอซาวารับเข้ามานั้นจึงล้วนแล้วแต่เป็นคนที่หลงใหลในแฟชั่นทั้งนั้น พวกเขาดีใจที่เห็นเสื้อผ้าที่ตัวเองโปรดปรานขายออกหรือขายได้ดีขึ้น

 

สงสัยในเรื่องที่คนทั่วไปไม่สงสัย

มาเอซาวามักจะตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ เสมอๆ

 

เขาเคยสงสัยว่าทำไมบริษัทถึงต้องมีคอมพิวเตอร์ ตอนที่เขาเห็นพนักงานเริ่มสื่อสารกันผ่านอีเมลเพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่นั่งโต๊ะติดกัน

 

มาเอซาวาเคยยกเลิกการทำ PowerPoint และเอกสารประกอบการประชุม เพราะเขาเห็นว่าทุกคนมัวแต่วุ่นวายกับการทำสไลด์ให้สวย ทำเอกสารให้ดูดี มาเอซาวาจะให้ลูกน้องทุกคนอธิบายงานให้เขาฟังด้วยปากเปล่า นั่นกลับทำให้ลูกน้องต้องระวังวิธีการสื่อสารมากขึ้น และกลับลดระยะเวลาการประชุมจาก 1 ชั่วโมง เหลือเพียง 30-45 นาทีเท่านั้น

 

ตอนฝ่าย HR เสนอการอบรมพนักงานใหม่เรื่องมารยาทพื้นฐาน หรือการทำ PDCA (Plan > Do > Check > Act) ซึ่งเป็นหัวข้อหลักที่บริษัทญี่ปุ่นทุกบริษัทต้องอบรมพนักงานตนเอง มาเอซาวาก็ถามฝ่าย HR ว่า “การอบรมแบบนี้มันมีประโยชน์จริงเหรอ ถ้าเป็นพวกเรา เราอยากจะมานั่งเรียนแบบนี้ไหม”

 

…แน่นอนว่าหัวข้ออบรมดังกล่าวก็ถูกยกเลิกไป

 

องค์กรที่ไม่ตำหนิพนักงานที่มาสาย

มาเอซาวายังสงสัยในสิ่งที่ประธานบริษัททั่วไปไม่ควรจะสงสัย เช่น

 

ทำไมพนักงานต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง

 

ตัวเขาเองจะมีสมาธิสูงสุดเพียง 6 ชั่วโมงเท่านั้น เขาจึงให้พนักงานทุกคนลองทำงานเพียงแค่ 6 ชั่วโมง (โดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิม)

 

นอกจากนี้มาเอซาวายังเปลี่ยนวิธีการประเมินพนักงานด้วย

 

ในอดีตบริษัทประเมินพนักงานจากผลงานที่พนักงานแต่ละคนทำ รายได้ของแต่ละคนจึงลดหลั่นแตกต่างกันไป

 

แต่มาเอซาวาเห็นว่า การประเมินเช่นนี้ทำให้เกิดความแตกร้าว พนักงานเริ่มไม่สนใจคนอื่น มุ่งแต่ทำผลงานให้ตัวเองดูดีที่สุด เวลานำเสนองานก็พยายามคิดว่า จะทำอะไรที่แตกต่างจากพนักงานคนอื่นๆ หรือไม่ก็เสนอไอเดียอะไรที่ทำให้เจ้านายตนเองถูกใจมากที่สุด

 

มาเอซาวาจึงพยายามสร้างวัฒนธรรมของการทำงานเป็นทีม และช่วยเหลือกันให้ได้มากที่สุด

 

เวลาแจกโบนัส พนักงานในทีมเดียวกันจะได้รับแบ่งโบนัสเท่ากัน โดยไม่เกี่ยวกับอายุงานหรือผลงานที่พนักงานแต่ละคนสร้าง เพราะโบนัสคือผลตอบรับจากความพยายามของทุกคน เพราะทุกคนช่วยเหลือกัน บริษัทจึงเติบโตได้

 

หากมีคนอู้งานหรือโดดงาน จะถือว่าเป็นความรับผิดชอบของทีม และไม่กล่าวโทษคนที่ไม่มาทำงาน

 

เพื่อให้พนักงานได้ทำงานอย่างมีความสุขนั้น บริษัทได้เริ่มกิจกรรมต่างๆ เช่น ให้พนักงานเลือกทำงานจากที่ใดก็ได้ เพียงแค่ขออนุญาตเจ้านาย การจัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์กับพนักงานคนอื่นๆ การตั้งชมรมหลากหลายในบริษัท การเซอร์ไพรส์วันเกิดเพื่อนพนักงานเนืองๆ

 

ไอเดียหนึ่งที่น่ารักมากคือ การติดตั้งกล่องรับฟังความฝัน พนักงานสามารถเขียนว่าตนเองมีความฝันอะไร และอยากให้พนักงานคนอื่นช่วยอย่างไร แล้วมาหย่อนใส่กล่อง เคยมีผู้เขียนขอเรื่องความรัก ทางฝ่ายบุคคลก็จัดปาร์ตี้นัดเดตกับพนักงานสาวคนอื่นๆ ในบริษัทให้

 

การทำงานของชาว ZOZO จึงไม่ใช่การแข่งกันสร้างผลงานหรือแย่งชิงลูกค้า แต่พนักงานทุกคนทำงานด้วยความสุขและร่วมมือร่วมใจกัน

 

“จริงๆ แล้วบริษัทควรเติบโตมาจากการทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คนมีความสุข สร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น แล้วค่อยๆ กลายมาเป็นองค์กร การจะมานั่งแข่งขันกับเพื่อนคนอื่น หรือการมัวแต่คิดว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เจ้านายโมโหนั้นเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ และทำให้งานน่าเบื่อด้วย หากพนักงานมัวแต่คิดอย่างนี้ พนักงานเหล่านั้นก็คงไม่สามารถสร้างผลประกอบการที่ดีใช่ไหมครับ” มาเอซาวาเคยให้สัมภาษณ์

 

สร้างองค์กรแบบผู้ชายที่ฝันจะไปดวงจันทร์

มาเอซาวาไม่เสียเวลาไปกับการคิดว่าจะเอาชนะคู่แข่งได้อย่างไร หรือจะทำกำไรให้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างไร

 

เขาเริ่มจากการมีความฝันดีๆ ที่จะทำให้คนสนุกไปกับเขา

 

เขารวมคนที่มีความฝันเดียวกันมาอยู่ด้วยกัน และให้อิสระลูกทีมทุกคนทำงานได้อย่างเต็มที่ ชาว ZOZO จึงมีความสุขในการทำงานกับเพื่อนพนักงานที่รักแฟชั่นเหมือนกัน และไม่ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน

 

เว็บของ ZOZO จึงกลายเป็นเว็บที่ลูกค้าเองสัมผัสแพสชันและความสนุกของผู้สร้างได้ และมีฟีเจอร์ที่แตกต่างจากเว็บแฟชั่นออนไลน์

 

ส่วนรายได้และกำไรก็เป็นผลลัพธ์ที่ตามมา

 

“แทนที่จะเหยียบคนอื่นขึ้นมาชนะ สิ่งสำคัญน่าจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น และทำให้ทุกคนมีความสุขหรือเปล่า” มาเอซาวากล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

The post ยูซากุ มาเอซาวา: วิธีคิดแบบคนที่จะได้ไปเที่ยวดวงจันทร์กับ SpaceX เป็นคนแรก appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/yusaku-maezawa/feed/ 0
บทเรียนการตลาดจาก AKB48 ต้นแบบความสำเร็จของ BNK48 https://thestandard.co/marketing-lessons-from-akb48-master-the-success-of-bnk48/ https://thestandard.co/marketing-lessons-from-akb48-master-the-success-of-bnk48/#respond Fri, 02 Feb 2018 04:28:29 +0000 https://thestandard.co/?p=66954

ดิฉันได้อยู่ญี่ปุ่นตอนสมัยที่ AKB48 กำลังรุ่งโรจน์ รุ่ง […]

The post บทเรียนการตลาดจาก AKB48 ต้นแบบความสำเร็จของ BNK48 appeared first on THE STANDARD.

]]>

ดิฉันได้อยู่ญี่ปุ่นตอนสมัยที่ AKB48 กำลังรุ่งโรจน์ รุ่งถึงขั้นเห็นคนเป็นพันคนเบียดกันขึ้นรถไฟเพื่อไปงานจับมือของน้องๆ ทุกคนพูดถึง AKB48 แม้แต่หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจเครียดๆ ก็ยังนำเรื่อง AKB48 ไปศึกษา

 

และขณะนี้ ดิฉันกำลังสัมผัสปรากฏการณ์คล้ายกันที่ประเทศไทย จากน้องๆ วง BNK48 ที่ลูกศิษย์ดิฉันเต้นให้ดูในคลาส เพื่อนผู้ชายพูดถึง และทุกวันไทม์ไลน์ในเฟซบุ๊กต้องมีคนแชร์อะไรสักอย่างเกี่ยวกับวง BNK48 นี้

 

สารภาพว่าดิฉันเคยคิดว่าโมเดล AKB48 คงจะไปได้ดีแค่กับคนเฉพาะกลุ่ม หรือแค่ในญี่ปุ่นหรือเปล่า แต่วันนี้น้องๆ BNK48 ทำให้พวกเราเห็นว่า คอนเซปต์นี้ก็สามารถทำให้คนไทยส่วนใหญ่อมยิ้มและสนุกสนานไปกับเพลงของพวกเธอได้เช่นเดียวกับญี่ปุ่นจริงๆ

 

เหตุใดทั้ง 2 วงตลอดจนวงตระกูล 48 ในประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย ถึงประสบความสำเร็จเช่นนี้?

 

 

ต้นแบบ AKB48 & BNK48

ผู้ก่อตั้งและผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวง AKB48 คือ อากิโมโตะ ยาสุชิ (Akimoto Yasushi) นักแต่งเพลงชื่อดังของญี่ปุ่น

 

จริงๆ แล้ว AKB48 ไม่ใช่วงแรกที่มีจำนวนสมาชิกในวงมากขนาดนี้

 

ในปี ค.ศ. 1985 อากิโมโตะก่อตั้งวง Onyanko Club ซึ่งมีสมาชิกในวงถึง 52 คน แถมยังสามารถผลักดันให้สมาชิกของวงหลายคนสามารถออกผลงานร้องเดี่ยว และกลายเป็นดาราชื่อดังได้ ในปี ค.ศ. 1986 นั้น ซิงเกิลต่างๆ ของวง Onyanko Club ติดอันดับ 1 ของ Oricon Chart ในประเทศญี่ปุ่นรวมแล้ว 36 สัปดาห์เลยทีเดียว

 

แม้อากิโมโตะจะสามารถปลุกปั้นศิลปิน ตลอดจนแต่งเพลงฮิตออกมาหลายเพลง เขายังมีความ ‘อิจฉา’ คณะละครเวทีเล็กๆ กับศิลปินวงร็อกอยู่นิดๆ เพราะศิลปิน 2 กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่แฟนๆ ติดตามอย่างเหนียวแน่นด้วยการไปชม ไปเชียร์ ถึงสถานที่อย่างใกล้ชิด นี่เป็นสิ่งที่วง Onyanko Club ไม่มี แฟนๆ ส่วนใหญ่ติดตามผ่านวิทยุและโทรทัศน์มากกว่า

 

นั่นคือจุดเริ่มต้นของความรู้สึก ‘อยากสร้างไอดอลที่ใครๆ ก็ไปเจอเมื่อไรก็ได้’ ในใจของอากิโมโตะ

 

 

ไอดอล ‘ที่ใครๆ ก็ไปพบได้’

วันหนึ่งอากิโมโตะสังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจในสายตาเขา คือ คนที่ไปอากิฮาบาระ

 

อากิฮาบาระเป็นย่านจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า การ์ตูน เกม ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุด คนที่ไปเดินซื้อของในย่านนี้จึงมักเป็นผู้ชาย ซึ่งชื่นชอบสินค้าไอที เกม และแอนิเมชันเป็นอย่างยิ่ง

 

อากิโมโตะเห็นว่าคนกลุ่มนี้มี ‘พลัง’​ อะไรบางอย่าง เมื่อพวกเขาชอบใคร พวกเขาจะทุ่มให้กับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่ เช่น ถ้าติดการ์ตูนเรื่องใด คนกลุ่มนี้ก็จะซื้อดีวีดี ซื้อของสะสม ตลอดจนตุ๊กตาเวอร์ชันต่างๆ พวกเขาชอบศึกษา ให้เวลากับสิ่งที่ตัวเองสนใจเต็มที่

 

เมื่อคอนเซปต์ที่อยู่ในใจมาเจอกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสม อากิโมโตะก็เริ่มลงมือทันที

 

เขาเริ่มสร้างเวทีบนชั้น 8 ของตึก Don Quijote ใกล้สถานีอากิฮาบาระ ซึ่งเป็นสถานที่ที่แฟนๆ สามารถไปพบปะสาวๆ ได้ทุกวัน

 

ว่ากันว่าคอนเสิร์ตครั้งแรกของวง AKB48 นั้นมีผู้ชมเพียง 7 คนเท่านั้น แต่ปัจจุบัน อัตราการแข่งขันจองตั๋วในแต่ละรอบนั้นสูงถึง 100-300 เท่า ยิ่งวันสำคัญๆ ที่สมาชิกหลักของวงออกมาประกาศจบการศึกษา (ลาออก) มีคนแย่งกันจองตั๋วกว่า 900 เท่าของจำนวนตั๋วที่ขายเลยทีเดียว

 

อะไรคือเสน่ห์ของ AKB48? ทำไมพวกเธอถึงสามารถชนะใจแฟนคลับได้ล้นหลามขนาดนี้

 

 

คัดคนที่เพอร์เฟกต์ออก

วิธีการคัดเลือกสมาชิกของอากิโมโตะและกรรมการนั้นก็ไม่ธรรมดา ในเมื่อคอนเซปต์ของวงคือ กลุ่มไอดอลที่แฟนๆ สามารถไปพบได้ (บ่อย ๆ) ไอดอลแต่ละคนจึงต้องมีเสน่ห์อะไรบางอย่างที่อยากให้แฟนๆ ไปหา

 

กฎเหล็กข้อแรกของอากิโมโตะในการคัดเลือกสมาชิก คือ ‘คัดคนที่เพอร์เฟกต์ออก’

 

เด็กสาวคนไหนหน้าตาสวย เต้นเก่ง ร้องเพลงดี… เด็กเหล่านี้จะไม่มีโอกาสได้เป็นสมาชิก AKB48 เลย

 

สิ่งที่คณะกรรมการพิจารณาเป็นหลักคือ เสน่ห์เฉพาะตัวและความมุ่งมั่น

 

กรณีของ มาเอดะ อัตสึโกะ สมาชิกที่เคยเป็นเซนเตอร์และเป็นหนึ่งในสมาชิกวงที่ได้รับความนิยมสูงสุดนั้น ตอนออดิชันเธอไม่สามารถเต้นเข้าจังหวะกับเพลงได้เลย หน้าตาก็ดูเคร่งเครียด กังวล แต่ตอนตอบคำถามในช่วงท้ายๆ เธอยิ้มเขินๆ ออกมา กรรมการทุกคนรู้สึกประทับใจในรอยยิ้มอันมีเสน่ห์นั้นมาก จึงให้เธอผ่าน และมาเอดะก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวังจริงๆ เธอตั้งอกตั้งใจซ้อมจนสามารถเต้นและร้องเพลงได้อย่างคล่องแคล่วในที่สุด

 

สมาชิก AKB48 ส่วนใหญ่ไม่มีใครเต้นหรือร้องเพลงเก่งเลย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สาวๆ ค่อยๆ เติบโต พัฒนาทักษะการร้องการเต้นขึ้นเรื่อยๆ

 

และด้วยจำนวนสมาชิกที่มากถึงร้อยกว่าคน (ขึ้นเวทีจริงประมาณ 20 กว่าคน) ก็จะมีสมาชิกวงอย่างน้อย 1 คน ที่ถูกใจแฟนๆ

 

‘ความไม่เพอร์เฟกต์’ และ ‘เสน่ห์เฉพาะตัว’ นี้เอง ที่กลายเป็นเสน่ห์ของวง AKB48

 

จากวันแรกที่พวกเธอขึ้นเวที ตั้งใจร้อง ตั้งใจเต้น ทั้งๆ ที่มีคนดูแค่ 7 คน สาวๆ ยังเต้นไม่พร้อมเพรียงกัน เสียงร้องก็ยังไม่มีพลังนัก แต่ผู้ชมทั้ง 7 คนนั้นก็เห็นความตั้งใจของพวกเธอ และอยากที่จะกลับมาให้กำลังใจพวกเธออีก

 

คนดูบางคนมาดูทุกสัปดาห์ จึงเห็นพัฒนาการของสาวๆ ยิ่งเห็นเด็กๆ ตั้งอกตั้งใจซ้อมและเต้น แฟนๆ จึงยิ่งต้องการที่จะให้กำลังใจ สมาชิกวงจึงมีกำลังใจมากขึ้น และหมั่นซ้อมมากขึ้น

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก AKB48 กับแฟนๆ จึงเริ่มเกิดขึ้นเช่นนี้นี่เอง

 

ไอดอลที่เราใกล้ชิดได้

เมื่อวง AKB48 เริ่มมีแฟนคลับมากขึ้นเรื่อยๆ อากิโมโตะก็เริ่มจัดงานต่างๆ เพื่อให้แฟนคลับสามารถใกล้ชิดไอดอลในใจตัวเองได้

 

กิจกรรมหนึ่งในนั้น คือ งานจับมือ

 

สาวๆ จะยืนประจำโต๊ะ และแฟนคลับก็จะมาเข้าแถวจับมือ ทั้งสองฝ่ายมีเวลาเพียงไม่ถึง 10 วินาที แฟนคลับอาจมีโอกาสบอกไอดอลแค่ว่า ‘ดูอยู่นะ’ หรือ ‘เป็นกำลังใจให้นะ’ แต่นั่นก็มีความหมายสำหรับพวกเขาแล้ว

 

นอกจากนี้ ยังมีงานถ่ายภาพ งานแจกลายเซ็นให้แก่แฟนๆ อีกด้วย

 

ส่วนอีเวนต์ที่หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นทุกหัวพาดหัวข่าวถึง และเป็นที่พูดถึงกันมากนั้น คงหนีไม่พ้นเซมบัตสึ หรืองานเลือกตั้งนั่นเอง

 

อากิโมโตะ ตลอดจนผู้จัด จะไม่ได้เป็นผู้กำหนดตำแหน่งเซนเตอร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เด่นที่สุด ตรงกลางวง หรือไอดอลที่จะมาออกซิงเกิลเพลงใหม่ แต่จะเปิดโอกาสให้แฟนๆ โหวต

 

วิธีโหวตคือ แฟนๆ ต้องซื้อซีดี ในซีดีจะมีบัตรลงคะแนนเสียงอยู่ อยากเชียร์คนไหนก็สามารถโหวตและเชียร์ได้ แฟนคลับบางคนถึงกับซื้อซีดีเป็นร้อยแผ่น เพื่อจะเชียร์ไอดอลที่ตนเองชื่นชอบให้เป็นที่ 1 ให้ได้ แฟนคลับจึงช่วยเหลือกัน รวมตัวกัน และพยายามแสดงความรักและกำลังใจให้กับไอดอลของตนเอง อีเวนต์นี้จึงเป็นอีเวนต์ที่เต็มไปด้วยหยาดน้ำตา ทั้งจากตัวไอดอลเอง และแฟนๆ

 

 

ไอดอลธรรมดาๆ ที่ไม่ธรรมดา…สาเหตุที่เป็นที่รัก

ด้วยคอนเซปท์ที่ว่า ‘ไอดอลที่ใครๆ ก็ไปพบได้’ AKB48 ได้กลายเป็นโมเดลใหม่ในวงการไอดอล ความแปลกใหม่นี้เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไอดอลหรือศิลปินดาราที่มีชื่อเสียง

 

ไอดอลทั่วไปนั้นต้องดูเพอร์เฟกต์ ต้องร้องเพลงเป๊ะ เต้นเนี้ยบ ไม่ผิดจังหวะ

 

แต่ AKB48 นั้นเปรียบเสมือนก้อนเพชร ก่อนจะค่อยๆ ถูกเจียระไน พวกเธอไม่ได้เพอร์เฟกต์ตั้งแต่แรก แต่ค่อยๆ พัฒนาฝีมือขึ้นไปเรื่อยๆ

 

การคัดเลือกไอดอลทั่วไปนั้นต้องเลือกคนที่ ‘ดีที่สุด’ หรือ ‘เป๊ะที่สุด’ ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา ความสามารถในการแต่งเพลง หรือเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์

 

ส่วน AKB48 นั้น เป็นการคัดคนที่ ‘ไม่เป๊ะ’ แต่มุ่งมั่นและมีเสน่ห์ในแบบของตัวเอง

 

นักร้องชื่อดังทั่วไปนั้นมีกลุ่มแฟนๆ เป็นคนทั่วไป เช่น จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) ก็มี Belieber ซึ่งเป็นสาววัยรุ่นทั่วโลก หรือ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ก็มีสาวๆ Swifties ทั่วโลกที่ชื่นชมเสียงร้อง หน้าตา ท่าเต้นของเธอ

 

แต่ AKB48 มีกลุ่มแฟนๆ ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะกว่า นั่นคือกลุ่มคนที่ชื่นชอบไปอากิฮาบาระ (ในสายตาคนญี่ปุ่นนั้น แฟนคลับ AKB48 ก็คือกลุ่มโอตาคุนี่เอง) จำนวนอาจจะน้อยกว่าศิลปินชื่อดังทั่วไปมาก แต่คนกลุ่มนี้มีความจงรักภักดี รักใคร รักสุดหัวใจ

 

สำหรับแฟนๆ ของศิลปินทั่วไป พวกเขาหรือเธอชื่นชอบศิลปินคนนั้น เพราะอยากเป็นเช่นนั้นบ้าง หรือศิลปินมีอะไรบางอย่างที่แฟนๆ ไม่มีแต่อยากมี เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ หน้าตาสวย ร้องเพลง แต่งเพลงเก่ง หากเป็นศิลปินเพศตรงข้าม แฟนๆ อาจปลื้ม อยากได้เป็นแฟน หลงรักในเสน่ห์ของศิลปินคนนั้นๆ

 

แต่สำหรับแฟนๆ AKB48 นั้น ความรู้สึกของพวกเขาอาจไม่ได้เริ่มจากความประทับใจในหน้าตาหรือฝีมือของน้องๆ นักร้อง แต่พวกเขา ‘เอ็นดู’ ต้องการให้กำลังใจ ต้องการเห็นการเติบโตของสมาชิกในวงมากกว่า กล่าวคือ แฟนคลับศิลปินทั่วไปนั้น อาจรู้สึกเชิดชู มองว่าศิลปินเหนือกว่าตน เป็นดาวอยู่บนฟ้า แต่สำหรับแฟนคลับ AKB48 (ส่วนใหญ่) นั้นจะรู้สึกว่าศิลปินอยู่ใกล้ชิดกับตน เท่าเทียมกัน หรือตนเองกำลังยื่นมือไปช่วยเหลือศิลปินมากกว่า

 

ศิลปินชื่อดังทั่วไป มักจะเข้าถึงยาก นานๆ จัดคอนเสิร์ตที แต่ AKB48 นั้น แฟนๆ สามารถเข้าถึงได้ ทั้งจากคอนเสิร์ตที่มีทุกวัน ตลอดจนเข้าถึงตัวได้ในงานจับมือ หรืองานถ่ายภาพ AKB48 แถมยังให้แฟนๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญๆ อย่างการเลือกเซนเตอร์ของวงด้วย

 

แฟนๆ วง AKB48 จึงรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของวง รู้สึกผูกพันกับไอดอลตนเอง คลั่งไคล้จนเพื่อนรอบตัวเห็น เกิดความสงสัย ศึกษา จนกลายมาเป็นแฟนคลับไปด้วย

 

สรุปโมเดลธุรกิจไอดอลทั่วไปกับ AKB48

 

 

บทเรียนการตลาดจาก AKB48 สำหรับทุกธุรกิจ

  1. I’m not perfect but I have a belief.

ผู้ประกอบการหลายท่านพยายามทำสินค้าที่ดีที่สุด เพอร์เฟกต์ที่สุด แต่พอออกสู่ตลาด กลายเป็นว่าผู้บริโภคอาจไม่ถูกใจบ้าง หรือเสียเวลาพัฒนานาน เมื่อสินค้าติดตลาด ก็โดนแบรนด์อื่นลอกเลียนแบบไป

 

สิ่งที่เรียนรู้ได้จากวง AKB48 คือ เราอาจไม่จำเป็นต้องเพอร์เฟกต์ตั้งแต่แรก (คล้ายหลัก Lean Startup) แต่เราต้องมีความเชื่อ ความฝันอะไรบางอย่างที่มุ่งมั่นต้องการทำให้สำเร็จ เหมือนน้องๆ AKB48 หรือ BNK48 ที่มุ่งมั่นฝึกซ้อม พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

 

หากเรามีความฝันหรือความเชื่อที่ชัดเจน แม้จะยังทำสินค้าได้ไม่ดี แต่จะมีลูกค้าบางกลุ่มที่มีความเชื่อเดียวกับเรา และอยากเห็นการเติบโตของแบรนด์เรา ความไม่เพอร์เฟกต์ ตลอดจนความมุ่งมั่นนั้น ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และทำให้ลูกค้าอยากช่วยเหลือก็เป็นได้ (แต่ถ้าไม่เพอร์เฟกต์ แล้วแถมไม่มีความเชื่อความฝันอะไรอีก อย่างนี้ลูกค้าจะมีแต่เดินหนีค่ะ)

 

  1. Customer Engagement to Brand Loyalty

ศิลปินนักร้องที่ประสบความสำเร็จนั้น ยิ่งโด่งดังก็จะยิ่งวางตัวไกลจากแฟนๆ อาจเผยความเป็นตัวตนของตนเองยาก เพราะต้องเพอร์เฟกต์ ต้องรักษาภาพลักษณ์

 

แต่สิ่งที่ AKB48 (และ BNK48) ทำได้ดียิ่ง คือ การใกล้ชิดกับลูกค้า หาโอกาสพูดคุย ฟังฟีดแบ็กแฟนๆ หมั่นพัฒนาตัวเองตลอดเวลา (เพราะถ้าหยุดนิ่งอยู่กับที่อาจเจอเมมเบอร์คนอื่นแซงได้) กลายเป็นว่า ยิ่ง AKB48 และ BNK48 โด่งดัง ก็ยิ่งเพิ่มจำนวนอีเวนต์ต่างๆ และยิ่งใกล้ชิดแฟนๆ มากขึ้น

 

ยิ่งใกล้ชิดก็ยิ่งกลายเป็นความผูกพัน และนำไปสู่ความจงรักภักดีจากลูกค้า

 

ในตอนนี้ หากมีวงอื่นตั้งกลุ่มเลียนแบบ เช่น BNK38 หรือ BKN48 เชื่อว่า แฟนๆ คงไม่หนีไปหากลุ่มใหม่ง่ายๆ

 

เช่นเดียวกับแบรนด์สินค้า หากแบรนด์ของคุณประสบความสำเร็จจนติดตลาดแล้ว คุณเขยิบตัวเองห่างจากลูกค้าแล้วหรือเปล่า ยังฟังเสียงบ่นหรือคำชมของลูกค้าอยู่หรือไม่ จัดกิจกรรมพบปะลูกค้า อาจจะเป็นทางออนไลน์หรือออฟไลน์บ้างหรือเปล่า

 

ยิ่งสามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าได้เท่าไร ก็จะนำไปสู่ความจงรักภักดีในแบรนด์ของท่านเช่นนั้น สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่คู่แข่งไม่สามารถเลียนแบบแบรนด์คุณได้ง่ายๆ เลย

 

 

  1. Very Clear Target & Clear Concept

สิ่งหนึ่งที่ดิฉันพบบ่อยๆ จากการให้คำปรึกษาธุรกิจ SMEs คือ ผู้ประกอบการต้องการจะนำเสนอสินค้าตนเองให้กับทุกคน เช่น หากทำสบู่ เมื่อถามว่าต้องการขายใคร คำตอบที่ดิฉันได้รับบ่อยๆ คือ ‘ใครก็ได้’

 

เราเชื่อกันว่า ยิ่งขายมาก ยิ่งตลาดใหญ่ ยิ่งดี

 

แต่ในยุคที่ใครๆ ก็ผลิตสินค้าได้ แถมมีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต ทำให้ใครๆ ก็กลายมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าได้ การเจาะตลาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับบริษัทเล็กๆ หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มกิจการ สุดท้าย สินค้าที่เกิดจากการพยายามทำให้ทุกคนชอบ ก็จะกลายเป็นสินค้ากลางๆ ไม่โดดเด่น และไม่ได้โดนใจใครสักคนเลย

 

กรณี AKB48 นั้น อากิโมโตะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดมากๆ คือ กลุ่มคนที่ชอบไปอากิฮาบาระ คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมคล้ายกัน บุคลิกลักษณะนิสัย การแต่งกายคล้ายกัน แม้จะเป็นกลุ่มเล็ก แต่เมื่อทำแบรนด์ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว คนกลุ่มนี้ก็ทำให้เกิดกระแสในสังคมได้เช่นกัน

 

ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างคือ แบรนด์ Supreme แบรนด์แฟชั่นชื่อดังก้องโลก Supreme มีกลุ่มเป้าหมายที่เล็ก แต่ชัดมากคือ กลุ่มนักสเกตบอร์ด คนกลุ่มนี้ต้องการทำสิ่งที่แตกต่างจากผู้อื่น ชอบความท้าทาย ความนอกกระแส แม้เป็นกลุ่มเล็กมากๆ ก็ตาม แต่ในที่สุด ก็สามารถจุดแบรนด์นี้ให้กลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกได้

 

เมื่อกลุ่มเป้าหมายชัดเจนแล้ว ก็ต้องมีคอนเซปต์ที่ชัดเจน

 

คอนเซปต์นี้ควรเป็นคอนเซปต์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และเป็นสิ่งที่แตกต่างจากคู่แข่ง

 

กรณีของ AKB48 นั้น ในขณะที่ไอดอลกลุ่มอื่นเน้นขายหน้าตาหรือเสียงร้อง แต่ AKB48 กลับมีคอนเซปต์ว่า ไอดอลที่ใครๆ ก็ไปพบได้

 

กลุ่มเป้าหมายและคอนเซปต์ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของธุรกิจ ไอเดียงานจับมือ งานเลือกตั้งเซนเตอร์ของวง AKB48 นั้น ก็มีที่มาจากคอนเซปต์ที่ชัดเจนมากนั่นเอง

 

เมื่อ AKB48 โด่งดัง สมาชิกก็ไปเป็นนางแบบบ้าง ถ่ายภาพลักษณะต่างๆ บ้าง หรือทางบริษัทก็ให้สาวๆ ในวงถ่ายภาพชุดว่ายน้ำบ้าง คนทั่วไปอาจมองว่าพวกเธอเป็นแค่สินค้าหรือเปล่า เป็นการหาโอกาสกับเด็กผู้หญิงไหม

 

บทความนี้ เขียนมาเพื่อถ่ายทอดความเชื่อของผู้สร้างวง ตลอดจนจุดเริ่มต้นของพวกเธอ

 

เมื่อใดที่บริษัทมุ่งทำแต่ยอดขาย จนลืมความเชื่อของตัวเอง ลืมสิ่งที่ตัวเองต้องการสร้าง เมื่อนั้นลูกค้าอาจรู้สึกว่าเสน่ห์ของแบรนด์ลดลง ไม่น่าสนใจอีกต่อไป แล้วก็เริ่มไปหาแบรนด์อื่นๆ แทน

 

วง BNK48 เป็นวงที่เดินตามรอย AKB48 ในด้านโมเดล และเพิ่งเริ่มมาได้ปีกว่าเท่านั้น ดิฉันหวังว่า ทางผู้จัดจะต่อยอดโมเดลเดิมให้ดีขึ้น และหวังว่าแฟนๆ จะให้กำลังใจน้องๆ ให้พวกเธอได้ฉายแสงและพลังที่พวกเธอมี คอยเฝ้าดูความพยายาม และการเติบโตของพวกเธอ

The post บทเรียนการตลาดจาก AKB48 ต้นแบบความสำเร็จของ BNK48 appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/marketing-lessons-from-akb48-master-the-success-of-bnk48/feed/ 0
โคตานิ… โฮมเลสที่แต่งงานได้ อ้วนได้ มีความสุขได้ และมีโลกทั้งใบเป็นบ้าน https://thestandard.co/kotanimakoto/ https://thestandard.co/kotanimakoto/#respond Sun, 10 Sep 2017 17:33:01 +0000 https://thestandard.co/?p=25915

     โคตานิ เป็นโฮมเลส     &nb […]

The post โคตานิ… โฮมเลสที่แต่งงานได้ อ้วนได้ มีความสุขได้ และมีโลกทั้งใบเป็นบ้าน appeared first on THE STANDARD.

]]>

     โคตานิ เป็นโฮมเลส

     โฮมเลสผู้ไร้ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง…

     ที่หน้าตาสดใส และตัวพลุ้ยกว่าโฮมเลสคนอื่นๆ มาก

     ตั้งแต่เปลี่ยนมาเลือกอาชีพนี้ โคตานิ น้ำหนักขึ้น 20 กว่ากิโลกรัมแล้ว

 

โฉมหน้าโฮมเลสโคตานิ (Photo: manuke.jp)

 

     เดิมที โคตานิมุ่งมั่นเป็นนักแสดงตลกอยู่ที่โอซาก้ากว่าสิบปี แต่ยังไปไม่ค่อยดีเท่าไร เขาเลยตัดสินใจมาแสวงโชคที่โตเกียวแทน

     โคตานิ มาขอรุ่นพี่ตลกชื่อดังอาศัยอยู่ด้วย แต่ดันค้างค่าเช่าบ้านรุ่นพี่ติดกันสองเดือน รุ่นพี่เลยไล่แกมหยอกให้โคตานิลองไปเป็นโฮมเลสดู คนซื่อๆ อย่างโคตานิก็ลองลงมือทำ

     โฮมเลสทั่วไปมักทำงานใช้แรงงาน หรือนั่งหน้าสถานีรถไฟ คอยแบมือหาเงิน แต่โฮมเลสโคตานิเลือกใช้วิธีที่แตกต่าง เขาตั้งมูลค่าตนเองไว้ที่ ‘วันละ 50 เยน’ (ประมาณ 20 กว่าบาท)

     ใครๆ สามารถขอให้โคตานิช่วยทำอะไรก็ได้ โดยจ่ายเพียงแค่วันละ 50 เยนเท่านั้น (รวมค่าเดินทาง)

 

     มีคนเรียกโคตานิให้ไปช่วยตัดหญ้าในสนามบ้าง ช่วยย้ายบ้านบ้าง ช่วยทาสีบ้าน เล่นซ่อนแอบ ไปคุยกับคนซึมเศร้า หรือเป็นนายแบบนู้ดสำหรับวาดภาพ โคตานิก็รับปากทำหมด และทำด้วยความขยันขันแข็ง

     หากต้องจ้างคนทำงานจริงๆ ผู้ว่าจ้างคงต้องจ่ายเงินหลายพันหรือเป็นหมื่นเยนแน่ๆ แต่โคตานิคิดค่าแรงเพียง 50 เยนเท่านั้น เสมือนเขาช่วยเหลือผู้จ้าง ‘ฟรีๆ’ เลย (ลองนึกภาพเราจ้างโคตานิให้ไปช่วยเข้าแถวต่อคิวซื้อตั๋วคอนเสิร์ตตั้งแต่ตี 4 โคตานิก็จะเก็บเงินแค่ 20 กว่าบาท)

     ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่จึงพาเขาไปเลี้ยงข้าว และด้วยความที่โคตานิเป็นคนสนุกสนาน ผู้ว่าจ้างหลายคนก็พาเขาไปดื่มต่อด้วย เมื่อถึงเวลาค่ำ ผู้ว่าจ้างเริ่มสนิทกับโคตานิแล้ว ก็อาจให้เขาค้างคืนที่บ้าน

     หากเป็นระบบทุนนิยมแบบปกติ ผู้ว่าจ้างก็แค่ให้เงินค่าจ้าง ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็จบลง และคงไม่ดูแลลูกจ้างดีขนาดนี้ แต่เพราะโคตานิแทบจะทำงานให้ฟรี ทุกคนจึงพูดขอบคุณแล้วขอบคุณอีก แถมซาบซึ้งด้วย

     เนื่องจากโคตานิเป็นโฮมเลส เขาไม่ได้ทำงานหาเงิน แต่ใช้วิธีระดมทุนขอความช่วยเหลือจากคนอื่นแทน ที่น่าแปลก คือจนบัดนี้ โคตานิระดมทุนผ่านทางเว็บไซต์สิบกว่าครั้ง

     ไม่ว่าจะเป็น ‘ระดมทุนเพื่อแต่งงาน’ ที่เขาสามารถหาเงินได้ 5 แสนบาท (แถมยังสามารถบริจาคเงินเกือบ 3 แสนบาทให้ผู้ประสบภัยในฟิลิปปินส์ เนื่องจากเหลือเงินจากงานแต่ง)

 

Photo: crls1031.com

 

     โคตานิจะออกหนังสือ เขาก็ ‘ระดมทุนเพื่อพิมพ์หนังสือโคตานิ’ โดยตั้งงบไว้ 1.5 แสนบาท ภายในสองอาทิตย์มีคนบริจาคเข้ามา 2 แสนกว่าบาท เกินเป้าที่ตั้งไว้ได้มาก โฮมเลสอย่างโคตานิก็เลยมีทุนถ่ายรูป และพิมพ์หนังสือตามที่ใจฝัน

 

หนังสือ ‘โฮมเลสหัวเราะได้: อ้วนได้ ภรรยาก็มีได้’ (crls1031.com)

 

     นอกจากนี้ โคตานิยังระดมทุน ‘ค่ารถไฟไปหาเมีย’ ‘ค่าจัดงานคอนเสิร์ตอัจฉริยะการดนตรี’ ฯลฯ และทุกครั้ง ก็สามารถระดมทุนได้ตามเป้าเสมอ

     โคตานิ เป็นคนดังหรือเปล่า? หากใครดู Account Twitter ของโคตานิ จะเห็นว่ามีคนฟอลโลว์แค่เก้าพันกว่าคนเท่านั้น

     หากเทียบกับดาราตลกชื่อดังอีกคน… ‘ทามุระ อัตสึชิ’ พิธีกรชื่อดังแห่งรายการ London Hearts ทามุระ มีผู้ติดตามในทวิตเตอร์ถึง 2.5 ล้านคน ต่างกับโคตานิเกือบสามร้อยเท่า

     เขาต้องการสร้างบริการอัดคลิปวิดีโอสำหรับคนที่อยากฝากข้อความไว้ ให้คนที่เรารักในวันที่เราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว ทามุระพยายามระดมทุน 3 ล้านบาท บนเว็บเดียวกันกับโคตานิ แต่ผ่านไปเดือนกว่าแล้ว เขายังรวบรวมเงินได้เพียง 6 แสนบาทเท่านั้น เรียกได้ว่ายังห่างไกลจากเป้าหมายอีกเยอะ

     ทามุระมีแฟนคลับมากกว่าโคตานิ หน้าตาก็ดีกว่า โปรเจกต์ที่ระดมทุน ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริจาคมากกว่าโปรเจกต์เรื่องส่วนตัวอย่างการจัดงานแต่งแบบโคตานิ

     ทำไมโคตานิถึงประสบความสำเร็จมากกว่า?

     สิ่งที่โคตานิสร้างไว้กับ ‘นายจ้าง’ ของเขาทุกวันๆ คือ ความสัมพันธ์ และความไว้เนื้อเชื่อใจ ด้วยบุคลิกเป็นกันเอง ซื่อๆ คุยสบาย ทุกคนที่ได้สัมผัสเขาล้วนมีความสุข ขณะเดียวกัน ก็ประทับใจที่โคตานิตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่

     เมื่อโคตานิคนดีต้องการความช่วยเหลือ เหล่านายจ้างและเพื่อนๆ ของพวกเขาที่เคยได้ยินเรื่องราว จึงพร้อมช่วยเหลือโคตานิอย่างถึงที่สุด

     หากเปรียบเทียบกับสินค้า ทามุระอาจเป็นสินค้าแบบแมส ขายปริมาณมากๆ เข้าถึงคนหมู่มาก แต่ก็มิได้มีแฟนๆ ที่รักแบรนด์จนถึงขั้นทำเพื่อแบรนด์นั้น ลูกค้าเอง ก็เข้าถึงแบรนด์ได้ยาก

     ในทางกลับกัน โคตานิ เป็นแบรนด์เล็กๆ แต่อบอุ่น เป็นกันเอง เขาพูดคุยและจับมือกับลูกค้าทุกๆ คนที่เจอ ถ่ายทอดเรื่องราวของเขาให้ลูกค้าฟังทีละคนอย่างตั้งใจ และไม่เคยเหน็ดเหนื่อย ลูกค้าทุกคนจึงรักและพร้อมทำเพื่อแบรนด์โคตานิ

     ชีวิตคนเรามีหลายทางเดิน ไม่มีทางใดผิด ถูก หรือดีกว่าทางใด แต่อย่างน้อยที่สุด เรื่องราวของคุณโคตานิสอนบทเรียนดิฉันสองประการ

     หนึ่ง… ​กล้าทำอะไรที่แตกต่าง กล้าเป็นโฮมเลส กล้า (+บ้าบิ่น) ขายหนึ่งวันของตัวเองในราคา 50 เยน

     สอง…​ ช่วยเหลือผู้คน ยิ่งช่วยและทุ่มเททำเพื่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนเท่าไร สุดท้าย สิ่งดีๆ ก็จะเกิดขึ้นกับชีวิตเรา

     (มีงานวิจัยพิสูจน์เรื่องนี้แล้ว อ่านได้ในหนังสือ Give & Take โดย Adam Grant สำนักพิมพ์ We Learn นำมาแปลในชื่อ ‘แค่รู้วิธีให้ คนรับได้เท่าไหร่ คนให้ได้มากกว่า : Give And Take’ ค่ะ)

     สุดท้ายนี้ ขอจบบทความด้วยคำพูดจากคุณโคตานิค่ะ

     “ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผมเป็นโฮมเลสนี้ ผมได้ทำสิ่งที่ตนเองไม่เคยคิดว่าจะได้ทำในช่วง 10 ปีที่พยายามเป็นตลกเลย เอาจริงๆ นะครับ การเป็นโฮมเลสแบบนี้ ทำให้ชีวิตผมมีความสุข และสนุกขึ้นมากเลยครับ”

     ปัจจุบัน คุณโคตานิเป็นโฮมเลสเปี่ยมสุขเช่นนี้มาสามปีกว่าแล้ว และยังคงเดินทางสร้างเสียงหัวเราะและความประทับใจให้ผู้คนต่อไปค่ะ

     “ผมไม่มีบ้านเป็นหลักเป็นแหล่ง แต่โลก คือ บ้านของผมครับ”

     ดูเรื่องราวและภาพต่างๆ ของคุณโคตานิได้ที่: twitter.com/kotanimakoto

 

The post โคตานิ… โฮมเลสที่แต่งงานได้ อ้วนได้ มีความสุขได้ และมีโลกทั้งใบเป็นบ้าน appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/kotanimakoto/feed/ 0
‘ครูด้านตรงข้าม’ เซนเซที่สอนใจเราได้ดีที่สุด https://thestandard.co/opinion-wakuwaku-teacher/ https://thestandard.co/opinion-wakuwaku-teacher/#respond Sat, 22 Jul 2017 01:22:03 +0000 https://thestandard.co/?p=15282

     วันก่อน เพื่อนดิฉันที่เป็นโค้ชบ่นถึ […]

The post ‘ครูด้านตรงข้าม’ เซนเซที่สอนใจเราได้ดีที่สุด appeared first on THE STANDARD.

]]>

     วันก่อน เพื่อนดิฉันที่เป็นโค้ชบ่นถึงคนในวงการเดียวกันท่านหนึ่งว่า “โค้ช A ทำแบบนี้ไม่น่ารักเลย เอาเปรียบลูกศิษย์เกินไปหน่อยแล้วมั้ง เดี๋ยวจะทำให้ภาพลักษณ์ของคนอื่นๆ ในวงการนี้เสียหายหมด” เขาสาธยายพฤติกรรมไม่น่ารักอีกหลายอย่างของคุณ A ให้ดิฉันฟัง

     ระหว่างฟังเรื่องราวของเพื่อนตัวเองไป ในหัวก็แวบภาษาญี่ปุ่นคำหนึ่งขึ้นมา

     ฮันเมนเคียวฉิ (反面教師)

     ฮันเมน แปลว่า ด้านตรงข้าม

     เคียวฉิ แปลว่า ครู

     รวมกันหมายถึง ครูด้านตรงข้าม

     ปกติ ครู​ (เซนเซ) จะได้รับการยกย่องว่าควรยึดถือเป็นแบบอย่าง น่าชื่นชม

     แต่คำว่า ‘ครูด้านตรงข้าม’ นี้ คนญี่ปุ่นจะใช้เมื่อต้องการพูดถึงตัวอย่างไม่ดีที่เราไม่ควรเอาอย่าง ขณะเดียวกันก็นับถือว่าคนคนนั้นเป็นครูเช่นกัน เพราะสอนตนเองว่า อย่าทำพฤติกรรมเยี่ยงนั้น ในภาษาไทยอาจแปลง่ายๆ ว่า ‘ถือเสียว่าเขาเป็นครู (แล้วอย่าทำตามแบบเขา)​’

     ดิฉันได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรกจากเพื่อนสนิทคนญี่ปุ่นสมัยเรียนปริญญาโท ตอนนั้นนักศึกษาชายชาวจีนคนหนึ่งเอาบะหมี่กึ่งสำเร็จเข้าไปนั่งซู้ดๆ กินในออฟฟิศของพวกเรา กลิ่นโชยยั่วยวนได้ใจมาก เสียงซู้ดก็ดังรบกวนคนอื่นๆ ที่นั่งทำงานในห้องเดียวกัน ดิฉันสะกิดเพื่อนญี่ปุ่น บอกให้ดูตานั่นทำสิ เพื่อนสาวหรี่ตาเล็กน้อย ทำหน้าเพลียๆ แล้วบอกดิฉันว่า “ให้เขาเป็นฮันเมนเคียวฉิของเรากันเถอะ” จากนั้นก็ก้มหน้าก้มตาทำงานวิจัยของเธอต่อไป

     ดิฉันก็ได้แต่อึ้ง…

     ตามปกติ เวลาดิฉันบ่นอะไรให้เพื่อนๆ คนไทยฟัง เพื่อนมักจะร่วมเมาท์เข้าข้างเรา ถ้าบ่นถึงใครที่นิสัยแย่มากๆ เพื่อนก็จะร่วม… เอ่อ… ด่าบุคคลนั้นไปกับเรา นี่แหละ มิตรภาพที่แท้จริง ยิ่งบ่น ยิ่งเมาท์ ก็ยิ่งมัน แต่ถามว่าบ่นให้เพื่อนฟังแล้วได้อะไรไหม ก็ต้องเรียนท่านผู้อ่านตามตรงว่าได้แต่ความโล่งใจกับความสะใจ

     พอมาเจอเพื่อนญี่ปุ่น นางเบรกวิญญาณการเมาท์ของดิฉัน แถมชักจูงให้ดิฉันเรียนรู้จากเรื่องร้ายๆ ด้วยคำพูดเพียงคำเดียวเท่านั้น…​ให้เขาเป็นครู

     ในภาษาไทย เรามีคำคล้ายๆ แบบนี้บ้างไหมนะ

     ‘ผิดเป็นครู’ …เหมือนจะคล้าย แต่คำนี้ใช้เมื่อเราทำอะไรผิดพลาด แล้วเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น

     ‘ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง’​ …คำนี้ก็สอนใจว่าอย่ามัวแต่ไปว่าคนอื่น เดี๋ยวเราจะเป็นเอง

     อาจไม่ได้มีคำตรงตัวเท่าไร เรามักจะพูดกันตรงๆ ไปเลยว่า ‘ดูไว้เป็นตัวอย่าง อย่าทำ’

     ดิฉันจึงชอบคำว่า ‘ฮันเมนเคียวฉิ’ มาก ๆ

     หากเราเจอคนที่ทำพฤติกรรมที่เราไม่ชอบ เช่น ขับรถปาดหน้า แซงคิวตอนซื้อของ ปกติเราอาจหงุดหงิด นึกตำหนิเขาในใจ แต่เมื่อดิฉันหันมาบอกตัวเองว่า “มองเขาเป็นครู ในอนาคตก็อย่าเผลอทำแบบเขา” น่าแปลกที่ความรู้สึกหงุดหงิดโกรธเคืองมันหายไปอย่างรวดเร็ว

     เพราะฉะนั้นในวันที่คุณเพื่อนบ่นเรื่องโค้ช ดิฉันก็เลยบอกเขาไปว่า “ฮันเมนเคียวฉิ… คิดเสียว่าเขาเป็นครูด้านตรงข้ามนะ” คุณเพื่อนหยุดบ่นไปทันที

     ดิฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าหยุดเพราะซึ้งกับแนวคิดแบบญี่ปุ่น หรือหยุดเพราะงงกับความหมายของคำนี้เหมือนกันนะคะ…

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.w

The post ‘ครูด้านตรงข้าม’ เซนเซที่สอนใจเราได้ดีที่สุด appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/opinion-wakuwaku-teacher/feed/ 0
คิวเบ ร้านซูชิที่ขายความใส่ใจจนต้องกลับไปเยือนอีกครั้ง https://thestandard.co/opinion-wakuwaku-ginza-kyubey/ https://thestandard.co/opinion-wakuwaku-ginza-kyubey/#respond Sun, 04 Jun 2017 09:12:25 +0000 http://thestandard.co:8000/?p=1914

    ครั้งหนึ่งดิฉันต้องไปทำงานที่โตเกียวกะทัน […]

The post คิวเบ ร้านซูชิที่ขายความใส่ใจจนต้องกลับไปเยือนอีกครั้ง appeared first on THE STANDARD.

]]>

    ครั้งหนึ่งดิฉันต้องไปทำงานที่โตเกียวกะทันหัน เมื่อเครื่องแตะพื้นสนามบินฮาเนดะก็เกิดอารมณ์ลงแดงซูชิ… ดิฉันลองเสี่ยงหาเบอร์ร้านจิโร่ซูชิ แต่ร้านปิดรับคิวจองไปตั้งแต่เดือนก่อน โทรหาร้านลูกชายของลุงจิโร่ทั้งสองสาขาก็ไม่ว่าง… จึงตัดสินใจเมสเสจไปถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นผู้เป็นบอร์ดของบริษัทญี่ปุ่นชื่อดัง ขู่คาดคั้นให้เขาแนะนำร้านซูชิดีๆ ให้หน่อย

    คุณเพื่อนแนะนำร้าน คิวเบ (久兵衛) ตั้งอยู่ที่กินซ่า ย่านหรูของญี่ปุ่น เป็นร้านเก่าแก่และมีร้อยกว่าที่นั่ง เขามั่นใจว่าน่าจะยังมีที่สำหรับสาวไทยหนึ่งคนแน่นอน

    และก็มีที่จริงๆ! แต่อีก 3 วันข้างหน้า ดิฉันจะได้ไปกินที่ร้านคิวเบ

    เมื่อถึงวันนัด ดิฉันไปถึงร้านก่อนเวลาประมาณ 5 นาที พนักงานสาวในชุดกิโมโนเดินมารับ และแจ้งว่าให้ลูกค้าไปพักผ่อนบริเวณห้องรอที่ชั้น 4 ก่อน ที่ชั้นนี้มีตู้จัดแสดงถ้วยชามโบราณ ภาพสีน้ำ ภาพอักษรเขียนพู่กัน ประวัติร้าน พร้อมเก้าอี้เล็กๆ อยู่รอบห้องให้เรานั่งรอได้

 

 

    คนหิวๆ อย่างดิฉันตัดสินใจเดินดูป้ายและอ่านประวัติร้านเพื่อให้ลืมความหิว ร้านที่เพื่อนญี่ปุ่นแนะนำร้านนี้ไม่กระจอกเลย มีนายกรัฐมนตรีและคนดังหลายคนเคยมาที่นี่แล้ว อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ คิวเบเป็นร้านแรกในญี่ปุ่นที่สามารถทำซูชิหน้าหอยเม่นและอิคุระ

    เดิมทีการทำซูชิแบบนำปลาดิบมาวางแปะบนข้าวนั้นเกิดขึ้นในสมัยเอโดะ (ช่วงปี ค.ศ. 1800) ผ่านมาหลายร้อยปี คนญี่ปุ่นก็ยังปั้นข้าวแปะปลาอยู่เรื่อยมา จนวันหนึ่งในปี ค.ศ. 1941 แขกประจำร้านคิวเบเพิ่งกลับมาจากฮอกไกโด เขานำกล่องอุนิ (ไข่หอยเม่น) อย่างดีกลับมาด้วย เขาบอกเชฟว่า อยากกินซูชิหน้าใหม่ๆ แบบหน้าอุนิดูบ้าง เพราะกินแต่หน้าปลาเดิมๆ

    ในตอนแรกเชฟก็ลังเล เพราะไม่เคยมีร้านไหนนำอุนิมาทำซูชิ เนื่องจากไข่หอยเม่นลื่น ไม่สามารถวางบนข้าวได้ เชฟกลับไปคิดอยู่สักพักใหญ่ จนปิ๊งไอเดียนำสาหร่ายที่มีมาห่อ ซึ่งทำให้ลูกค้าชอบอกชอบใจมาก

    การนำสาหร่ายมาห่อซูชิเช่นนี้ ยังทำให้ทางร้านคิวเบสามารถนำเสนอเมนูได้อีกหลากหลายเมนู เช่น ซูชิหน้าอิคุระ (ไข่ปลาแซลมอน) หน้ามิโซะปู เรียกได้ว่าอะไรก็ตามที่เป็นอาหารทะเลที่เหลวๆ หน่อย ก็ใช้วิธีนี้ปั้นซูชิได้เลย

    ปัจจุบันคนญี่ปุ่นเรียกซูชิชนิดห่อสาหร่ายนี้ว่า กุนคัง ที่แปลว่า เรือรบ เพราะทรงของซูชิเหมือนเรือรบประจัญบานนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอบคุณพี่เชฟคิวเบที่ไม่ได้ปฏิเสธคำขอของลูกค้า แต่กลับตั้งอกตั้งใจพยายามหาวิธีทำซูชิอุนิมาตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ในที่สุด

 

 

    หลังจากอ่านประวัติซูชิเรือรบอุนิจนหิวได้ที่แล้ว น้องพนักงานสาวในชุดกิโมโนหน้าตาจิ้มลิ้มอีกคนหนึ่งก็มาเชิญดิฉันลงไปที่ชั้นสอง ที่นั่งเป็นเคาน์เตอร์คล้ายบาร์ มีประมาณ 10 ที่นั่ง เชฟปั้นซูชิจะยืนทำอยู่อีกฝั่ง เราสามารถเห็นทุกขั้นตอนการเตรียมและปั้นซูชิของพี่เชฟได้ตลอด

    ดิฉันสั่งเซตแล้วแต่เชฟ (โอมากาเสะ) พี่เชฟก็ปั้นทีละคำๆ ให้ลูกค้า ดูไปกินไปก็เพลินดี พี่แกแล่ปลาที เช็ดเขียงเช็ดมีดที พอดิฉันหยิบซูชิบนจานมากิน เชฟก็เอาผ้ามาเช็ดจานดิฉัน เช็ดกันบ่อยมาก รักษาความสะอาดดีเหลือเกิน

    ด้วยระดับร้านซูชิย่านกินซ่าแล้ว รสชาติและระดับการบริการประทับใจดิฉันมากๆ แต่สิ่งที่ทำให้ดิฉันประทับใจถึงที่สุดจนกลับไปที่ร้านนี้อีกก็คือ ตอนที่คุณลุงร่างเล็กคนหนึ่งเข้ามาปรากฏกายในห้องของเรา

    คุณลุงตัวเล็ก ผอม แต่สีหน้าสดใส เดินเข้ามาที่ห้องของเรา พร้อมแนะนำตัวว่า ชื่อคุณอิมาดะ เป็นเจ้าของร้านที่นี่ ลูกค้าญี่ปุ่นที่นั่งเงียบๆ เรียบร้อยก็ฮือฮากัน ใครจะไปนึกว่าเจ้าของร้านซูชิเก่าแก่สุดหรูจะเดินมาทักทายเองขนาดนี้

    คุณลุงเดินตรงมาที่ดิฉันและถามว่า ดิฉันมาจากประเทศไหน พอตอบว่าประเทศไทย แกก็ยิ้มกว้างพร้อมพูดว่า “สวัสดีครับ” หลังจากนั้น คุณลุงก็ยื่นกระดาษหนังสือพิมพ์หนึ่งแผ่นให้ดิฉัน เป็นบทความภาษาอังกฤษจากหนังสือพิมพ์ The New York Times ให้ คุณลุงบอกว่า ลองอ่านเรื่องราวของร้านเราจากที่นี่ได้ ดิฉันประหลาดใจที่แกรู้ว่าดิฉันซึ่งเป็นคนต่างชาตินั่งที่นั่งตรงไหน พร้อมเตรียมบทความภาษาอังกฤษมาให้เรียบร้อย แถมกล่าวคำสวัสดีเป็นภาษาไทยได้อีก

    เมื่อดิฉันจะขอคุณลุงถ่ายรูป แกบอกยินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อแกเห็นดิฉันเปิดโหมดเซลฟี คุณลุงอิมาดะยื่นมือมาขอรับโทรศัพท์มือถือไป เดินอ้อมไปด้านหลังเคาน์เตอร์ และเรียกลูกมือเชฟมาให้ช่วยถ่ายรูปให้ เมื่อถ่ายรูปเสร็จ คุณลุงก็เดินไปทักทายลูกค้าญี่ปุ่นท่านอื่นๆ ในห้องเราด้วยเสียงสดใส และก่อนที่จะออกจากห้อง แกโค้งกล่าวขอบคุณลูกค้าทุกคนอย่างนอบน้อม และเดินออกไปทักลูกค้าห้องอื่นๆ ต่อไป

    ดิฉันไม่รู้ว่าแกจะสามารถทักลูกค้าทุกห้องจำนวนเกือบร้อยคนได้หมดในคืนนั้นหรือเปล่า แต่อย่างน้อยดิฉันก็รู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่คุณลุงเข้ามาในห้องเราพอดี ความน่ารักและใส่ใจของคุณลุงอิมาดะ ทำให้ดิฉันหวนนึกถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเชฟที่มุ่งมั่นหาวิธีปั้นซูชิหน้าอุนิให้ลูกค้ากินให้ได้

    แม้เวลาผ่านไป 60 กว่าปี แต่ร้านคิวเบก็ยังคงรักษาจิตวิญญาณการทุ่มเทและบริการเพื่อลูกค้ามาจนถึงปัจจุบัน ทั้งคุณอิมาดะ (ผู้สืบทอดกิจการ) เชฟซูชิในค่ำคืนนั้น ตลอดจนพนักงานบริการทุกคน

    ความแตกต่างระหว่างร้านอาหารที่ดีกับร้านอาหารที่ดีมากจนอยากกลับไปอีก อยู่ตรงไหน?

    ไม่ใช่รสชาติอาหาร บรรยากาศ หรือการตกแต่งร้าน แต่คือความใส่ใจและการตั้งใจทำให้ดีที่สุดเพื่อลูกค้านั่นเอง

    ครั้งหน้าถ้ามีโอกาสได้ไปโตเกียว (และเก็บเงินพอ) จะแวะไปกินอีกแน่นอนค่ะ คุณลุงอิมาดะและคิวเบที่รัก

 

Photo: Mouthwatering, Shutterstock/Profile

The post คิวเบ ร้านซูชิที่ขายความใส่ใจจนต้องกลับไปเยือนอีกครั้ง appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/opinion-wakuwaku-ginza-kyubey/feed/ 0