อาจารี ถาวรมาศ – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 26 Jan 2018 11:43:13 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 มุมมองผู้นำยุโรปที่การประชุมดาวอส https://thestandard.co/perspective-european-leaders/ https://thestandard.co/perspective-european-leaders/#respond Fri, 26 Jan 2018 11:36:52 +0000 https://thestandard.co/?p=65382

ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 23-26 มกราคมที่ […]

The post มุมมองผู้นำยุโรปที่การประชุมดาวอส appeared first on THE STANDARD.

]]>

ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 23-26 มกราคมที่ผ่านมา ไม่ว่าหิมะจะตกหนักสักแค่ไหน แต่มีผู้นำทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก รวมถึงบุคคลสำคัญระดับโลกหลายพันคนมารวมตัวกันเพื่อหารือถกเถียงเกี่ยวกับเทรนด์ และการเดินหน้าอนาคตเศรษฐกิจโลกในการประชุมประจำปีของ World Economic Forum

 

 

หัวข้อของปีนี้คือ Creating a Shared Future in a Fractured World มีผู้นำยุโรปและผู้นำโลกมาร่วมงานหลายท่าน ซึ่งพวกเขาได้แสดงท่าทีเกี่ยวกับอนาคตเศรษฐกิจ การเมือง สังคมโลก และยุโรปไว้อย่างน่าสนใจ มีประเด็นอะไรที่พวกเขาห่วงกังวล เราหยิบยกวิสัยทัศน์ของผู้นำเหล่านี้มาเล่าให้ฟัง

 

 

ผู้นำเยอรมนีต่อต้าน ‘กำแพง’

“การเปิดกว้าง การค้าเสรี และการสร้างพันธมิตรและความร่วมมือระหว่างกัน เป็นกุญแจสำหรับอนาคตยุโรป” นายกรัฐมนตรีเยอรมนี นางอังเกลา แมร์เคิล กล่าวย้ำจุดยืนของเยอรมนีในการร่วมกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมต่างๆ ที่รุมเร้า ผ่านการสร้างความร่วมมือที่เธอเรียกว่า Spirit of Global Cooperation โดยเน้นระบบการค้าที่เปิดกว้าง

 

 

และบอกว่าเราไม่ต้องการ ‘กำแพง’ ที่ปิดกั้นอีกต่อไป เราต้องเรียนรู้จากอดีต และต้องร่วมกันสร้าง ‘ความร่วมมือ’ เรียกว่าแนวคิดนี้ขัดแย้งแนวคิดเชิง Protectionism ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างสิ้นเชิง

 

ในขณะที่ผู้นำยุโรปยึดมั่นกับการเดินหน้านโยบายการค้าเสรี รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐฯ นายวิลเบอร์ รอสส์ มองว่า “สงครามการค้าน่ะ มันต้องต่อสู้กันทุกวันอยู่แล้ว”




ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ผลักดัน Climate Change  

ด้าน เอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ประกาศว่า “France is back at the core of Europe” เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาคมโลกและยุโรปว่าฝรั่งเศสจะยืนหยัดเดินหน้าเป็นแกนนำในการสร้างอนาคตของยุโรปต่อไป และบอกอีกว่าฝรั่งเศสจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่มีความสำเร็จของยุโรป

 

 

ประเด็นที่ฝรั่งเศสผลักดันในเวทีระหว่างประเทศ ได้แก่ การต่อสู้และการสร้างความร่วมมือระดับโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) ฝรั่งเศสมีเป้าหมายจะปิดโรงงานถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2021 จะเป็นโมเดลในการต่อสู้ Climate Change และต้องการผลักดันความตกลงปารีสให้เดินหน้า ให้มีแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลภายในปี 2020

 

อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีมาครงได้พบกับประธานาธิบดีจีน นายสีจิ้นผิง และได้รับทราบเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของผู้นำจีนในความตกลงปารีสเรื่อง Climate Change ด้วย เขาคิดว่าความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรปในเส้นทาง New Silk Road นั้นจะต้องเป็นเส้นทาง ‘สีเขียว’




 

นายกรัฐมนตรีหญิง เออร์นา โซลเบิร์ก ของนอร์เวย์ ชูประเด็นสิทธิสตรี
เธอเป็นหนึ่งในวิทยากรหญิง 7 ท่านที่เข้าร่วมสัมมนาเรื่องสิทธิสตรี ซึ่งรวมถึงซีอีโอ  IBM จินนี โรเม็ตตี และผู้นำ IMF คริสติน ลาการ์ด  

 

ในเวทีดาวอส นายกรัฐมตรีหญิง เออร์นา โซลเบิร์ก ของนอร์เวย์บอกว่า “ตอนนี้เรื่องใหญ่ที่สุดที่เราควรทำความเข้าใจไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง แต่ต้องเกี่ยวกับการใช้พรสวรรค์ของสังคมในภาพรวม”

 

 

ยังไม่หมดแค่นั้น ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นเป็นเพียงวิสัยทัศน์ของผู้นำทางการเมืองจากยุโรปไม่กี่ท่าน แต่ใน Forum มีผู้นำทางเศรษฐกิจ, ซีอีโอยักษ์ใหญ่อย่างแจ็ค หม่า, ซีอีโอ Google ไปจนถึงนักเศรษฐศาสตร์โนเบล มารวมตัวกันอย่างหนาแน่น รวมทั้งประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ก็มาร่วมด้วย

 

 

การประชุมดาวอส นับเป็นเวทีสำคัญที่มีมาตั้งแต่ปี 1971 จัดโดย World Economic Forum ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ทื่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์



ภาพ: REUTERS/Jean-Paul Pelissier
อ้างอิง: World Economic Forum

The post มุมมองผู้นำยุโรปที่การประชุมดาวอส appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/perspective-european-leaders/feed/ 0
Brexit จะแยกจากกันไม่ใช่เรื่องง่าย เจรจาไป 3 รอบ แต่ยังไปไม่ถึงไหน https://thestandard.co/insighteurope-brexit-negotiation/ https://thestandard.co/insighteurope-brexit-negotiation/#respond Fri, 08 Sep 2017 03:49:39 +0000 https://thestandard.co/?p=25358

     ตั้งแต่กระบวนการเจรจา Brexit เริ่มต […]

The post Brexit จะแยกจากกันไม่ใช่เรื่องง่าย เจรจาไป 3 รอบ แต่ยังไปไม่ถึงไหน appeared first on THE STANDARD.

]]>

     ตั้งแต่กระบวนการเจรจา Brexit เริ่มต้นขึ้น อนาคตของยุโรปก็ยิ่งน่าเป็นห่วง (ทั้งฝั้งอียูและฝั่งสหราชอาณาจักร) ตั้งแต่เรื่องการทำธุรกิจ การค้า การลงทุน ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การเดินทาง การทำงาน การพำนักอาศัย ของประชาชนอียูและสหราชอาณาจักรหลายล้านคน ยังไม่มีความแน่นอนและชัดเจนว่าหลังจาก ‘Brexit’ ที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกอียูแน่ๆ ในอีกไม่ถึง 2 ปี แต่อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา

     ความสัมพันธ์ประเทศอียู-สหราชอาณาจักรจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังสามารถทำธุรกิจการค้าผ่านระบบภาษีศุลกากรเดียวกันได้ไหม กฎเกณฑ์ต่างๆ จะเปลี่ยนไปไหม การเข้าไปลงทุน หรือแม้แต่เดินทางไปมาหาสู่กันแบบเดิม หรือเข้าไปหางานทำแบบง่ายๆ เหมือนเดิมอยู่หรือไม่?

     ฝ่ายการเมืองทั้งสองฝ่ายยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะนี่นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีประเทศเลือกออกจากการเป็นสมาชิกอียู หลังจากความสัมพันธ์ที่ยาวนานถึง 44 ปี

 

 

ใครคือคณะเจรจา

     การเจรจา Brexit หรือการเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร ที่ได้เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา นำโดยหัวเรือใหญ่ ได้แก่ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอียู นายมิเชล บาร์นิเยร์ (Michel Barnier) ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส และแน่นอนว่าจะต้องปกป้องผลประโยชน์ของอียูแบบเต็มที่

     สิ่งที่เกิดขึ้นคืออียูมีท่าทีจะไม่ปล่อยให้สหราชอาณาจักรเดินเกมยุทธการณ์แบบที่ฝรั่งกันเรียกกันว่า ‘cherry picking’ คือเลือกเอาเฉพาะของดีๆ และเรื่องที่ตัวได้ประโยชน์ไป และออกจากอียูไปแบบง่ายๆ แต่ นายมิเชล บาร์นิเยร์ บอกว่า “การตัดสินใจออกจากอียูและตลาดร่วมยุโรป (ของสหราชอาณาจักร) ต้องมีผลกระทบแน่นอน”

     ส่วนหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหราชอาณาจักร นายเดวิด เดวิส (David Davis) ที่มีตำแหน่งเทียบเท่ารัฐมนตรีกระทรวงการ ‘ออกจากอียู’ (ชื่อกระทรวงแบบนี้จริงๆ คือ Department for Exiting the European Union หรือ DexEU) มองว่า ‘การออกจากอียูจะต้องมีผลดีกว่าการอยู่กับอียูแน่นอน’ ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับท่าทีของฝ่ายอียูอย่างสิ้นเชิง

     นอกจากนั้น เขายังเน้นเทคนิคการเดินหน้าการเจรจาแบบ flexible and imaginative เพื่อผลประโยชน์ของภาคธุรกิจและผู้บริโภค และวิจารณ์ว่าฝ่ายอียูต้องเพิ่มความยืดหยุ่นกว่านี้ แต่ในความจริงแล้ว นายมิเชล บาร์นิเยร์ หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอียู ยืดหยุ่นและประนีประนอมได้ไม่มากเท่าไหร่ เพราะเขาต้องได้รับอาณัติสำหรับท่าทีการเจรจามาจากประเทศสมาชิกอียู 27 ประเทศเสียก่อน

 

ซ้ายอียู คนกลาง หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายอียู นายมิเชล บาร์นิเยร์ (Michel Barnier)

ขวาสหราชอาณาจักร หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายสหราชอาณาจักร นายเดวิด เดวิส (David Davis) 

Photo: euronews/twitter

 

คืบหน้าไปถึงไหน ประชาชนลุ้นอยู่

     หลังเจรจาไปแล้ว 3 รอบ รอบล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลส์ ก็ยังไม่เห็นวี่แววความคืบหน้ามากนัก เพราะคณะเจรจาสองฝ่ายยังไม่มีท่าทีจะตกลงกันได้ในประเด็นสำคัญๆ

     เรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างข้อตกลงด้านการเงินของการหย่าร้างครั้งนี้ หรือที่เรียกกันว่า divorce bill จำนวนหลายพันล้านหรืออาจเป็นหมื่นล้านยูโร (ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน) ยังตกลงกันไม่ได้

     โดยฝ่ายอียูเรียกร้องให้สหราชอาณาจักรตกลงที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายที่สหราชอาณาจักรเคยให้คำมั่นด้านงบประมาณไว้ แม้จะออกจากการเป็นสมาชิกไปแล้วจนถึงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะเจรจาเรื่องอื่นๆ รวมทั้งเรื่องการค้า

     แต่ฝ่ายสหราชอาณาจักรมองว่าการจ่ายเช็กหลายหมื่นล้านแบบนี้ให้อียูน่าจะเป็นไพ่ใบสุดท้าย เอาไว้ใช้กดกันเรื่องการเจรจาทางการค้าซึ่งเป็นผลประโยชน์สำคัญของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเพราะเรื่องการจ่ายเงินนี่แหละ เลยยังตกลงกันไม่ได้สักที

     ยังไม่รวมเรื่องสำคัญเกี่ยวกับสิทธิ์ของประชาชนสองฝั่งที่ไปใช้ชีวิตและพำนักอาศัยอยู่ในอีกประเทศหนึ่ง กล่าวคือประชาชนของสหราชอาณาจักรหลายล้านคนที่พำนักอาศัยอยู่ในอียู และประชาชนของอียูอีกหลายล้านคนที่อยู่ในสหราชอาณาจักรซึ่งต่างก็ทั้งมีครอบครัว ประกอบอาชีพ ทำธุรกิจ และยังไม่รู้ว่าชะตาชีวิตของพวกเขาจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

     ซึ่งจริงๆ โมเดลการใช้ชีวิตและการย้านถิ่นฐานระหว่างอียูกับสหราชอาณาจักรแบบนี้เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผลพวงมาจาก free movement of people จากการเป็นสมาชิกอียูมากกว่า 44 ปี

     สำหรับประเด็นนี้ นับว่าการเจรจามีความคืบหน้าไปพอสมควรในบางเรื่อง อาทิ ชาวอังกฤษที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศอียูสามารถใช้สิทธิ์ในการใช้ประกันสุขภาพของยุโรปต่อไปได้ เมื่อเดินทางไปในประเทศอียูอื่นๆ อย่างไรก็ดี ชาวอังกฤษที่อยู่ในอังกฤษจะยังไม่ได้สิทธิ์ดังกล่าว

     ส่วนเรื่อง Travel Common Area ระหว่างไอร์แลนด์กับสหราชอาณาจักรก็คืบหน้าไปด้วยดี คือประชากรไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักรจะสามารถเดินทางระหว่างสองประเทศได้โดยไม่ต้องใช้พาสปอร์ตเหมือนเดิม แต่รายละเอียดเรื่องสำคัญอื่นๆ อาทิ การผ่านคนเข้าเมือง การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว และสิทธิ์ในการทำงานและพำนักอาศัยระหว่างประชากรสองฝั่ง ได้มีการตกลงด้านเทคนิคไปหลายประเด็น แต่ในทางปฏิบัติ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน

     การเจรจาด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองฝั่ง ซึ่งมีการค้าและการลงทุน รวมทั้งการใช้แรงงานระหว่างกันอย่างมหาศาลในธุรกิจทุกภาคส่วน ตั้งแต่ด้านการธนาคาร เกษตร อุตสาหกรรม ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและระบบห่วงโซ่อุปทานน้อยที่สุด เมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียู ความไม่แน่นอนในช่วงการเจรจานี้ ที่ไม่มีใครตอบได้ว่าในอีก 2 ปี จะเกิดอะไรขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มหาทางหนีทีไล่กันแล้ว ผลกระทบน่าจะอยู่ที่สหราชอาณาจักรมากกว่าฝั่งอียู

     ในกรอบระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปีของการเจรจา Brexit ก็เหมือนระเบิดเวลา นักวิเคราะห์มองว่าท่าทีของสองฝ่ายนั้นช่างแตกต่างกัน เรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องการค้า และเรื่องอ่อนไหวอย่างเรื่องผู้อพยพและการผ่านคนเข้าเมืองนั้น มีโอกาสที่จะตกลงกันได้ยาก

     ใครจะได้ ใครจะเสีย แต่โอกาสที่สหราชอาณาจักรอาจต้องออกจากอียูแบบ no deal ในปี 2562 นั้นมีสูง และผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ของ no deal สำหรับทั้งสหราชอาณาจักรและอียูนั้นก็มหาศาล

The post Brexit จะแยกจากกันไม่ใช่เรื่องง่าย เจรจาไป 3 รอบ แต่ยังไปไม่ถึงไหน appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/insighteurope-brexit-negotiation/feed/ 0
ยุโรปกับการค้าเสรี และ FTA https://thestandard.co/insighteurope-fta/ https://thestandard.co/insighteurope-fta/#respond Tue, 29 Aug 2017 03:42:34 +0000 https://thestandard.co/?p=22869

     สหภาพยุโรป หรืออียู เป็นกลุ่มเศรษฐก […]

The post ยุโรปกับการค้าเสรี และ FTA appeared first on THE STANDARD.

]]>

     สหภาพยุโรป หรืออียู เป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเชื่อมั่นในระบบการค้าเสรี พร้อมกับการเดินหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ทั่วโลก

     ว่าแต่ FTA ที่เกิดขึ้นมามากมายนั้น เปิดเสรีแล้ว ดีจริงหรือ? ทำไมประเทศเพื่อนบ้านของเราในเอเชีย เขาเดินหน้าการเจรจา FTA กับอียูไปกันเกือบหมด เหลือแต่ประเทศไทย

     ในขณะที่ทิศทางการค้าโลก นำโดยมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์มีแนวโน้มหันมาใช้นโยบายการค้าแบบปิดกั้นหรือ protectionism มากขึ้น ยุโรปจะต้านไหวไหม และอียูมียุทธศาสตร์การค้าต่อเอเชียเป็นอย่างไร แล้วประเทศไทยยืนอยู่ตรงจุดไหนในสายตาอียู?

 

FTA หนทางสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจยุโรป

     ในกระแสการค้าโลกทศวรรษใหม่ที่ดูจะออกไปทาง ‘ปิดกั้น’ มากกว่า ‘เปิดเสรี’ โดยมหาอำนาจทางการค้าอย่างสหรัฐฯ ออกมาแสดงนโยบาย protectionism อย่างหน้าตาเฉย ตั้งแต่เรื่องการขู่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ดึงดูด (กึ่งบังคับ) บริษัทอเมริกากลับมาลงทุนในประเทศ ฯลฯ

     แต่ฝั่งยุโรปยังคงยึดมั่นใน ‘ระบอบการค้าเสรี’ และการเดินหน้าการเจรจาเขตการค้าเสรีหรือ FTA กับประเทศคู่ค้าต่างๆ ทั่วโลก เพราะเชื่อมั่นว่า นี่จะเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจยุโรปได้ ทั้งนี้ ก็เพราะเชื่อว่าการมี FTA และเปิดเสรีกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะเป็นการผลักดันให้ธุรกิจยุโรปสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะเป็นปัจจัยเร่งยอดการส่งออกของยุโรปให้เพิ่มมากขึ้น และยังเชื่อว่าการมี FTA จะทำให้ยุโรปสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบจากประเทศทั่วโลก (และตามแผนก็คือ…ในขณะที่ตน เน้นการเป็นผู้สร้าง และควบคุมเทคโนโลยีทันสมัย)

     ว่าแต่ยุโรปเอาอะไรมาแลกเปลี่ยนกับคู่ค้าต่างๆ ทั่วโลก ทำไมประเทศต่างๆ จึงอยากเจรจา FTA กับยุโรป ในขณะที่ Model New Generation FTA ของยุโรปที่ใช้เจรจากับประเทศคู่ค้าก็ ‘หิน’ ใช่ย่อย เพราะมีข้อกำหนดเยอะไปหมด ไม่ใช่รวมแต่เรื่องการค้าและการลดภาษีระหว่างสินค้าและบริการอย่างเดียว แต่รวมไปถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน ความยั่งยืน และข้อกำหนดด้านสังคมอื่นๆ

     จุดขายของยุโรป ก็คือยุโรปเป็นภูมิภาคที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นตลาดใหญ่แบบตลาดเดียว ที่มีกำลังซื้อสูงของประชากรกว่า 500 ล้านคน และเป็นผู้นำเข้าและส่งออกสินค้าและบริการที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 16% ของการค้าโลก

     ที่สำคัญ อียูยังอ้างว่านโยบายการค้าของอียูนั้นเปิดกว้างแก่ประเทศกำลังพัฒนา โดยอียูนำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนามากกว่าที่อียูนำเข้าจากสหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น และจีน รวมกันเสียอีก และสินค้ากว่า 70% เข้าไปขายในอียูได้ด้วยภาษีศูนย์

     ในยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนฉบับใหม่ของอียูที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ Trade for All ยังคงเน้นการดำเนินการค้าเสรี แต่ยิ่งเน้นความโปร่งใส การเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการเจรจาเขตการค้าเสรีมากขึ้น และเน้นโอกาสและประโยชน์แก่กลุ่ม SMEs ในการเจรจาเขตการค้าเสรีต่างๆ

     ความคืบหน้าในการเดินหน้าการเจรจา FTA ของอียูกับประเทศต่างๆ สรุปได้ ดังนี้

 

FTA อียู-สหรัฐฯ

     Transatlantic Trade and Investment Partnership (TTIP) ซึ่งเป็นการเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี ระหว่างอียูและสหรัฐฯ ซึ่งเจรจามาแล้วกว่า 3 ปี หากเจรจาสำเร็จ จะถือเป็นความตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

     แต่เอาเข้าจริงๆ TTIP ดูจะไปไม่รอด เพราะไม่มีวี่แววความก้าวหน้า ตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แม้ฝ่ายคณะเจรจาของอียูและสหรัฐฯ เอง ยังไม่มีใครอยากออกมายอมรับอย่างเป็นทางการ เพราะดูเหมือนว่าสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการค้าเสรีของยุโรปและสนับสนุนการเจรจา TTIP มาตั้งแต่เริ่มแรก กลับมาเลือกออกจากอียูไปเสียอย่างนั้น ส่วนฝรั่งเศสก็ยังมีทีท่าคัดค้านเรื่องการเปิดเสรีภาคเกษตรของยุโรป เพราะเกรงจะรับมือการแข่งขันจากบริษัทสหรัฐฯ ไม่ไหว ฝ่ายเยอรมันยังยืนยันการเดินหน้าการเจรจา แต่ก็มีกระแสการประท้วงและคัดค้าน โดยเฉพาะประเด็นด้านมาตรฐานแรงงานและด้านสิ่งแวดล้อมในเยอรมนีอยู่เนืองๆ

 

FTA อียู-แคนาดา

     แม้ TTIP ไปไม่ได้ไกล แต่อียูยังมีข่าวดีเรื่องการเจรจา FTA กับแคนาดาที่สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยสองฝ่ายได้ปิดการเจรจา The Comprehensive Economic and Trade Agreement (CETA) ไปเมื่อกันยายน 2560 นี้ แคนาดานับเป็นพันธมิตรในค่ายการค้าเสรีกับอียูอย่างเหนียวแน่น

 

FTA กับเอเชีย

     ในขณะที่คู่ค้าใหญ่อย่างสหรัฐฯ ดูจะคิดต่างเรื่องการเปิดการค้าเสรี และ TTIP เหมือนจะไปไม่รอด จึงทำให้ยุโรปคงต้องหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น

     ล่าสุด เมื่อกรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา อียูและญี่ปุ่นได้ตกลงกันในหลักการเกี่ยวกับ EU-JAPAN Free Trade Agreement และคาดว่าจะปิดการเจรจาได้ในเร็วๆ นี้ สำหรับอียูกับจีน ก็มีการเจรจาด้านการลงทุนผ่าน Comprehensive EU-China Investment Agreement ซึ่งเริ่มเจรจาไปตั้งแต่ปี 2556

     ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่เจรจา FTA กับอียูสำเร็จไปแล้ว กล่าวคือปิดการเจรจาไปแล้วตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2560 ได้แก่เพื่อนบ้านใกล้ๆ ของเรา อย่าง เวียดนาม ส่วนสิงคโปร์ก็เริ่มการเจรจาไปตั้งแต่ปี 2557 มีความก้าวหน้าไปมาก อีกไม่นานคงสำเร็จ

     สำหรับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่ได้เริ่มต้นการเจรจากับอียูแล้ว ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า และมาเลเซีย (สำหรับมาเลเซีย เมื่อมีนาคม 2556 รัฐมนตรีฯ ได้ประกาศว่าจะมีการเปิดการเจรจาอีกครั้งในไม่ช้า) ก็มีแนวโน้มคืบหน้าไปเรื่อยๆ แต่ที่น่าสนใจคือ อียูยังสนใจการเจรจาเขตการค้าเสรีกับอาเซียนในระดับภูมิภาค ซึ่งคาดว่าอาจมีความคืบหน้าในปีหน้า 2561

 

ทบทวน FTA อียู-ไทย

     หันมามองไทย เรื่องการเจรจา FTA กับอียู ที่เคยเปิดการเจรจากันไปแล้วหลายรอบ แต่ต้องหยุดชะงักไป เพราะเหตุผลทางการเมืองของฝ่ายไทย ตั้งแต่ปี 2557 (เพราะไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) นับว่าเป็นการเสียโอกาสทางการค้าไปมาก

     ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราบอกว่าเราอยู่ในช่วงเวลาแห่งการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่วันนี้ น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะที่ไทยจะต้องพิสูจน์ว่า เราได้เดินหน้าการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การแก้ไขกรอบกฎหมายและกฎระเบียบให้เปิดกว้างมากขึ้น และที่สำคัญ การสร้างความโปร่งใส เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการลดและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ไปแล้วไม่มากก็น้อย (???)

     การรื้อฟื้นและหันมาเดินหน้าการเจรจา FTA ไทยและอียูอย่างเร่งด่วน จะเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมโอกาสการค้าและการลงทุนของไทยในตลาดยุโรป ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเราได้ก้าวแซงหน้าเราไปหมดแล้ว

     ไทยเราได้เสียโอกาสแรกในการเข้าตลาดยุโรปไปในหลายภาคธุรกิจอุตสาหกรรมแล้ว หากเรายังไม่ขยับรื้นฟื้นการเจรจา FTA กับอียู ภาคธุรกิจของเราจะเสียโอกาสและขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดสำคัญอย่างยุโรปไปอย่างฟื้นกลับไม่ทัน ผลกระทบของการไม่มี FTA กับอียู ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมี FTA กันไปหมด คงส่อแววให้เห็นในเวลาอีกไม่กี่ปี จึงถึงเวลาต้องเดินหน้าเขตการค้าเสรีกับยุโรป

The post ยุโรปกับการค้าเสรี และ FTA appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/insighteurope-fta/feed/ 0
เรื่องไข่ๆ ในยุโรป กับบทเรียนเรื่องความปลอดภัยของอาหาร https://thestandard.co/insight-europe-3-egg/ https://thestandard.co/insight-europe-3-egg/#respond Fri, 25 Aug 2017 10:42:23 +0000 https://thestandard.co/?p=22349

     เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าใน […]

The post เรื่องไข่ๆ ในยุโรป กับบทเรียนเรื่องความปลอดภัยของอาหาร appeared first on THE STANDARD.

]]>

     เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าในยุโรปมีไข่จำนวนมากถูกปนเปื้อนด้วยสารฟิโพรนิล (Fipronil) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้เลี้ยงสัตว์ในฟาร์มในยุโรป เพราะการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เห็นว่าเป็นสารอันตราย โดยเฉพาะผลกระทบที่จะมีกับเด็ก ทำให้ยุโรปต้องเร่งสั่งปิดฟาร์มเลี้ยงไก่จำนวนหลายร้อยฟาร์ม เพื่อดำเนินการตรวจสอบ และต้องระงับการขายและเรียกคืนไข่จำนวนหลายล้านฟองเพื่อนำไปทำลายทิ้ง

   ท่ามกลางความตื่นตระหนกของผู้บริโภคยุโรปว่า แล้วจะยังรับประทานไข่ได้อยู่ไหม? หากเรากินไข่ออร์แกนิกล่ะจะปลอดภัย (กว่า) ไหม? และเนื้อไก่หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนผสมของไข่ อย่างเส้นพาสต้า ฯลฯ มีการปนเปื้อนด้วยไหม? สำหรับคนไทย “คุณมั่นใจแล้วหรือว่าอาหารที่คุณรับประทานนั้นปลอดภัย?”

   ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งตัดสินใจดำเนินนโยบายป้องกันไว้ก่อน โดยการเรียกคืนสินค้าไข่จำนวนหลายล้านฟองที่ขายออกไปแล้วในตลาด ที่มาจากแหล่งผลิตที่ต้องสงสัย และนำไปทำลายทิ้ง และทางการยุโรปกำลังเริ่มทดสอบเพิ่มเติมทั้งในสินค้าเนื้อไก่ และผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ใช่ไข่ไก่ด้วย คาดว่าต้นตอเรื่องนี้ มาจากเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์

   ในเนเธอร์แลนด์ หน่วยงานด้านความปลอดภัยของอาหารในเนเธอร์แลนด์หรือ NVWA ได้สั่งปิดฟาร์มไปกว่า 180 ฟาร์ม ซึ่งมีกำลังการผลิตไข่กว่า 40 ล้านฟองต่อสัปดาห์ ทางการเบลเยียมก็เร่งทำการตรวจสอบอย่างจริงจัง

   แต่ไข่จากฟาร์มดังกล่าวถูกขายออกไปหลายประเทศในยุโรป รวมทั้ง เบลเยียม อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ผ่านเครือข่ายธุรกิจอาหาร นอกจากนั้น ยังส่งออกไปขายถึงฮ่องกงด้วย (ไม่ต้องห่วง ไม่ได้ส่งออกไปขายในไทย) ส่วนเยอรมนียิ่งเร่งตรวจสอบการปนเปื้อนหนัก โดยเฉพาะไข่ที่มาจากเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์

   โดยทางการเยอรมนีเปิดเผยว่า พบระดับการปนเปื้อนในไข่จากเพื่อนบ้านมีมากถึงระดับ 1.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และเนเธอร์แลนด์ก็พบในระดับ 0.72 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เกินไปจากกฎหมายอียูที่อนุญาตให้มีการปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.005 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ดูเรื่องราวการตรวจสอบกรณีไข่ปนเปื้อนในยุโรปได้ที่นี่ Timeline Europe’s eggs scandal

www.politico.eu/article/timeline-europes-egg-scandal-fipronil-contamination-belgian-dutch-authorities/

SOURCE: AFSCA release and POLITICO reporting

 

     เหมือนเป็นฝันร้ายของอียู เพราะปกติอียูมีชื่อเสียงในด้านการควบคุมความปลอดภัยของสินค้าอาหาร ซึ่งมีมาตรฐานที่สูงและกฎระเบียบที่ควบคุมอย่างเข้มงวด แบบที่ผู้ส่งออกไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกรู้กันว่าต้องทำงานหนักแค่ไหน กว่าจะผ่านด่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านอาหารของอียูที่มีชื่อเสียงว่าสูงที่สุดในโลก และส่งสินค้าอาหารเข้าไปขายในตลาดยุโรปได้

     แต่สถานการณ์ลักษณะนี้ ส่อให้เห็นปัญหาหลายอย่าง เรื่องหนึ่งที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎระเบียบของอียู ที่คุมเข้มความปลอดภัยจากภายนอก แต่กลับหละหลวมในประเทศของตัวเอง

     แต่ด้านดีของเรื่องไข่ครั้งนี้มีอยู่ว่า การปนเปื้อนในอาหารลักษณะนี้เป็นที่จับตา ถูกนำมาตรวจสอบและแสดงข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใสและเปิดเผยในยุโรป (อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง แม้จะช้าไปหน่อยแต่ก็ถูกเปิดเผย) อย่างน้อยทำให้อุตสาหกรรมอาหารของยุโรปยิ่งเกิดความตื่นตัวในการปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรฐานของอียู เพราะความปลอดภัยของอาหารถือเป็นเรื่องที่เขาดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง บนพื้นฐานและหลักฐานทางวิทยาศาตร์

     ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เรื่องไข่ๆ ในยุโรปทำให้เกิดความสงสัยว่า หากเราอยากรู้ว่าอาหารที่เรารับประทานกันอยู่ในบ้านเรา ซึ่งมีชื่อเสียงระดับโลกในด้านรสชาติ และความอร่อยนั้นปลอดภัยแค่ไหน? ใครจะบอกเราได้อย่างเต็มปาก

     อยากส่งเสริมให้ภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชนในวงการอาหาร ออกมาให้ข้อมูลและให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น อย่างน้อยก็สินค้าเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ หลักๆ ที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน ว่าท่านมีระบบการควบคุมความปลอดภัยอย่างไร สินค้ามาจากไหน อาจเริ่มที่ระดับยาฆ่าแมลงในผักและผลไม้ก่อนเลย เอาแบบยึดบนพื้นฐานและข้อมูลอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ และการตรวจสอบในห้องแล็ปแล้ว

     อยากเห็นองค์กรพิเศษ (จะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือไม่ใช่ภาครัฐก็ได้) ไว้คอยตรวจสอบภาครัฐและภาคธุรกิจอีกที ว่าระดับความปลอดภัยของอาหารนั้นเป็นไปตามที่กำหนดจริงหรือไม่

     อยากให้มีการสุ่มนำสินค้าเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ไม่ว่าจะออร์แกนิก ไม่ออร์แกนิก นำไปตรวจสอบในแล็ป เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล (จะยึดของอียูเป็น benchmark ก็ได้) แล้วนำมาเปิดเผยให้ประชาชนรู้ ยิ่งเดี๋ยวนี้มี โซเชียลมีเดีย ยิ่งมีประโยชน์ ยิ่งถูกจับตา จะยิ่งทำให้ผู้ผลิตต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยให้สูง

     สิ่งสุดท้ายที่อยากเห็นคือความโปร่งใส และการสร้างความมั่นใจในชีวิตและสุขภาพให้ประชาชนไทย ให้เรามั่นใจว่าเรากำลังรับประทานอาหารที่ ‘ปลอดภัย’ อยู่ คุณลองถามตัวเองวันนี้ว่า “คุณมั่นใจแล้วหรือว่าอาหารที่คุณรับประทานนั้นปลอดภัย?” อันนี้เป็นมาตรฐานแรกๆ ที่ประเทศต้องมีให้ประชาชน เมื่อพูดถึงความกินดีอยู่ดี พร้อมๆ ไปกับเรื่องสาธารณสุขและการศึกษา ไม่ใช่แค่เรื่องเงินในกระเป๋าอย่างเดียว

The post เรื่องไข่ๆ ในยุโรป กับบทเรียนเรื่องความปลอดภัยของอาหาร appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/insight-europe-3-egg/feed/ 0
‘ล็อบบี้’ ผลประโยชน์ธุรกิจผิดไหม? https://thestandard.co/opinion-insight-europe-lobbying-business-benefits/ Wed, 07 Jun 2017 09:07:03 +0000 https://thestandard.co/?post_type=opinion_post&p=4423

     พูดถึงการล็อบบี้เพื่อผลประโยชน์ทางธ […]

The post ‘ล็อบบี้’ ผลประโยชน์ธุรกิจผิดไหม? appeared first on THE STANDARD.

]]>

     พูดถึงการล็อบบี้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ หลายคนมักนึกไปในเชิงลบเสียก่อน เพราะมองว่าคงเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ หรือการติดสินบน ต้องยอมรับว่าในโลกธุรกิจ ไม่ว่าจะยุโรปหรือที่ไหน การล็อบบี้นั้นมีอยู่จริง

     แต่ในยุโรปนั้น การล็อบบี้ของกลุ่มธุรกิจ กลุ่มผลประโยชน์ และอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อสถาบันและองค์กรสหภาพยุโรป (EU) เป็นเรื่องธรรมดา เป็นไปอย่างมีแบบแผน โปร่งใส ได้รับการควบคุม เพื่อป้องกันไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางและไม่ให้มีการติดสินบนมาเกี่ยวข้อง

     กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เป็นศูนย์กลางการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และการกำหนดนโยบายสำคัญต่างๆ ของอียู ที่ประเทศสมาชิก 28 ประเทศต้องนำไปปรับใช้ ทำให้มีล็อบบี้ยิสต์อยู่หลายหมื่นคนที่มาจากหลากหลายสาขาอุตสาหกรรมและนานาประเทศ

     ทุกๆ บริษัทหรือแม้แต่ประเทศต่างๆ ต้องมีล็อบบี้ยิสต์คอยติดตามความเคลื่อนไหวกันทั้งนั้น และคอยวิ่งเข้าหาอียูเพื่อให้ข้อมูลและบอกเหตุผลสนับสนุนต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ เพื่อพยายามโน้มน้าวการกำหนดนโยบายและกฎหมายของยุโรป เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน ก่อนที่กฎหมายหรือกฎระเบียบอียูจะปรับใช้แล้วสายเกินแก้ หรือไปสนับสนุนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมอื่นๆ

     ยุโรปมองว่าการกระบวนการล็อบบี้แบบที่พูดถึงมานี้ (ไม่ใช่การติดสินบน) เป็นส่วนหนึ่งของการมีสิทธิมีเสียงของภาคธุรกิจและประชาชน ในกระบวนการกำหนดนโยบายและออกกฎหมายของยุโรปหรือที่เรียกกันว่า Public Consultation โดยทำกันอย่างโปร่งใสและมีระบบ เพื่อป้องกันและภาครัฐจะได้รับฟังความคิดเห็น และมองเห็นผลกระทบของกฎหมายและนโยบายนั้นๆ ก่อนที่จะบังคับใช้จริง ในประเทศไทยก็มีกระบวนการนี้ แต่คงต้องพัฒนาอีกสักพักในเรื่องระดับความโปร่งใส เปิดกว้าง และทำให้เป็นแบบระบบสำหรับทุกๆ กฎหมายและทุกภาคส่วน

     มองกลับมาที่อียูซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ ทำงานเสมือนเครื่องจักรใหญ่ที่มีความซับซ้อน แต่ก็มีกระบวนการกำหนดนโยบายและการออกกฎระเบียบที่เปิดกว้าง และรับความคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อนำมากำหนดทิศทางกฎหมายและนโยบายต่างๆ ได้อย่างโปร่งใสและเป็นระบบ น่ามองเป็นตัวอย่าง

     ในช่วงของการร่างกฎหมาย คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ร่างกฎหมายเพื่อส่งไปให้สภายุโรปและคณะมนตรียุโรปพิจารณาอนุมัติ จะเปิดกระบวนการปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภายในอียูเองและจากประเทศที่สาม ช่องทางนี้เองที่กลุ่มล็อบบี้ยิสต์ใช้เป็นโอกาสในการโน้มน้าวทิศทางกฎหมายและนโยบายของอียู

     เครื่องมือสำคัญในการล็อบบี้คือข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงที่ได้รับการสนับสนุนด้วยสถิติหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เพราะกฎหมายและกฎระเบียบอียูเป็นเรื่องเทคนิคเสียมาก ดังนั้นกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ จึงต้องจ้างล็อบบี้ยิสต์เพื่อเตรียมข้อมูล พร้อมสร้างพันธมิตรกับกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มประเทศอื่นๆ เพราะจะมีน้ำหนักมากขึ้นในการหารือกับอียู

     แต่แน่นอน เกมการล็อบบี้ลักษณะนี้ก็มีด้านมืด กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สามารถจ้างล็อบบี้ยิสต์ หรือมีผู้แทนที่มีความเชี่ยวชาญสูง หรือใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง รู้ข่าวความเคลื่อนไหววงใน ก็ดูเหมือนจะมีโอกาสในกระบวนการโน้มน้าวมากกว่าธุรกิจเล็กๆ อียูจึงพยายามทำให้กระบวนการนี้โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด

     สำหรับประเทศไทยเมื่อคิดจะล็อบบี้อียู แน่นอนภาครัฐมีหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในอียู มีหน้าที่หลักในการสร้างกรอบและบรรยากาศทางการค้าที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ อาทิ การเจรจาทางการค้า การเจรจาเพื่อปกป้องสิทธิพิเศษต่างๆ ของไทย แต่พอให้ลงลึกถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจและอุตสาหกรรมรายสาขา ภาคธุรกิจไทยต้องมีบทบาทนำ

     เสียดายที่ยังไม่เห็นสมาคมการค้าของไทยมีผู้แทนไปอยู่ในยุโรป โดยเฉพาะที่กรุงบรัสเซลส์ เหมือนประเทศอื่นๆ ที่มีผู้แทนของกลุ่มธุรกิจคอยเป็นหูเป็นตาและทำงานควบคู่ไปกับภาครัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, บราซิล, จีน, อินเดีย เพื่อนบ้านของเราในอาเซียนก็เริ่มเดินหน้าการล็อบบี้อียูมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

     ท่ามกลางกระแสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก แม้การเจรจาการค้ากับอียูยังไม่คืบหน้า (เพราะเหตุผลทางการเมือง) แต่ธุรกิจไทยต้องเร่งดำเนินธุรกิจแบบโปรแอ็กทีฟ อย่ารอให้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ปรับออกมาใช้ แล้วส่งผลกระทบต่อธุรกิจตนแล้วสายเกินแก้ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมการล็อบบี้อียูเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจไทยจึงมิใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำ อย่าให้ไทยตกขบวนในเวทีการค้าโลกกับยุโรป

 

ภาพประกอบ: narissara k.

The post ‘ล็อบบี้’ ผลประโยชน์ธุรกิจผิดไหม? appeared first on THE STANDARD.

]]>