วรพจน์ พันธุ์พงศ์ – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 26 Jan 2018 08:03:22 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอยู่น่านหนึ่งปี https://thestandard.co/worapoj-panpong-at-nan-one-year/ https://thestandard.co/worapoj-panpong-at-nan-one-year/#respond Mon, 18 Dec 2017 08:23:02 +0000 https://thestandard.co/?p=56005

ออกจากกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ รู้สึกโล่งอก การตัดสินใจไปทำงา […]

The post สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอยู่น่านหนึ่งปี appeared first on THE STANDARD.

]]>

ออกจากกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ รู้สึกโล่งอก


การตัดสินใจไปทำงานที่ปัตตานีเป็นเรื่องยาก แต่การทิ้งกรุงเทพฯ ยากกว่า


เคยพูดอยู่เรื่อยว่าผมเข้ามาทำงาน ทำมา 25 ปี และงานตอนนี้ทำที่ไหนก็ได้ คิดฝันอยากทิ้งกรุงเทพฯ มาพักใหญ่ กว่าจะตัดใจทิ้งได้ ยอมรับว่าหนัก เพราะกรุงเทพฯ คือคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่าง เราสร้างบ้านสร้างเมืองกันมาแบบนั้น อีกนาน นานมากทีเดียวที่กรุงเทพฯ จะยังเป็นแรงดึงดูดที่มีอิทธิพลสูงสุด ความเป็นเมืองหลวงนั้นหนึ่ง และสอง, ความคิดเรื่องการกระจายอำนาจ (อำนาจในทุกๆ ทาง ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา) ผู้หลักผู้ใหญ่ของเราคิดอ่านเรื่องพวกนี้น้อยและไม่เอาจริงเอาจัง ตราบใดที่เป็นอยู่เช่นนี้ รถติดในกรุงไม่มีทางแก้ได้ ความตายในช่วงเทศกาลไม่มีทางแก้ได้ เพราะคนหนุ่มสาวทั่วประเทศหลั่งไหลกันมากระจุกตัวกันอยู่ในกรุง


คำว่ารถติดแปลว่าโลกนี้ไม่มีไฟเขียวหรืออย่างไร นั่นชีวิตคนกรุง


รถติดของคนน่าน ที่น่านอาจแปลว่ามีรถขวางอยู่ข้างหน้าสี่คัน


รถเยอะขึ้นจริงๆ ปีสองปีมานี้น่านมาแรง รถเยอะ คนเยอะ บ้านช่อง โรงแรม ร้านกาแฟ ผลิบานนับจำนวนไม่ทัน กล่าวด้วยสายตาในฐานะอดีตนักข่าวการตลาด ขณะที่ไทยทั้งประเทศเศรษฐกิจทรุด และจะทรุดลงไปอีกเป็นทศวรรษ แต่ที่น่าน นี่คือวันเวลาของดอกไม้ นี่คือวันเวลาของสายรุ้ง


ถนนหนทางเยี่ยมยอด ยิ่งหน้าบ้านเศรษฐีใหญ่ของเมืองยิ่งยอดเยี่ยม


พ้นจากฤดูฝน พ้นจากช่วงน้ำป่าไหลหลาก แม่น้ำลำธารโดยมากสวยใส น่านั่งเอาเท้าแช่


ผักพื้นเมืองและผลไม้สดๆ มีให้กินตลอดทั้งปี


ตลาดเชียงแข็ง (ไปตอนบ่ายๆ หน่อยนะ) น่าเดิน สินค้าราคาเป็นมิตร เป็นธรรม แม่ค้าตาคมใบหน้าไม่เหนื่อยหน่ายกับชีวิตเหมือนแคชเชียร์สาวในโลตัสเอ็กซ์เพรส


น่านแปลว่าปัว ไม่จริงหรอก แต่คนมาเที่ยวน่านตอนนี้ร้อยทั้งร้อยมุ่งสู่ปัว ปัว และปัว และร้านลำดวนผ้าทอนั้นเปรียบประหนึ่งเมกกะ ถ้าไม่ไปเช็กอิน มันผิดกฎหมาย


ลางเนื้อชอบลางยา รสนิยมไม่ใช่เรื่องที่เราต้องมาถกเถียงกัน ถามคนใช้ชีวิตอยู่จริงๆ มาปีหนึ่ง ผมชอบแม่จริมมากกว่า สันติสุขก็ไม่เลว ทุ่งช้างก็ไม่เลว เอ่อ หรูเลยล่ะ โดยเฉพาะบ้านริมแม่น้ำ พฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์คือวันเวลาในสวนสวรรค์


น่านอยู่ไกล จะไปไหนมาไหน โดยเฉพาะตอนมีเรื่องเข้ากรุง ต้องวางแผนให้รัดกุม


ค่ารถทัวร์และรถไฟ (สถานีเด่นชัย) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เที่ยวละห้าร้อย เครื่องบินตกอยู่ในราวแปดร้อย ช่วงไฮซีซันและบินฉับพลัน ราคาก็พุ่งขึ้นไปตามกลไกทุนนิยม


หากเงินในบัญชีมีน้อย หลักการทำบ้านให้เล็กที่สุด ประหยัดที่สุด เป็นความคิดที่ถูกต้อง


ปัญหาของบ้านเล็กมีดังนี้ หนึ่ง, ไม่มีที่เก็บของ สอง, ไม่มีที่พักให้เพื่อน สาม, ตื่นมาแล้วหาที่วางเท้ายาก ต้องตั้งสติดีๆ เพราะกล่องเสื้อผ้า กระเป๋า โต๊ะ เก้าอี้ มันระเกะระกะไปหมด


ลำพังเพียงหนังสือก็ไม่รู้จะเก็บที่ไหน


สิ่งที่เราควรรับรู้ร่วมกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับรู้ว่าเมืองไทยเป็นประเทศเขตร้อนชื้น เนื้อร้องท่อนหนึ่งในเพลงโรงเรียนของหนูที่ว่า ‘ยามร้อนแสนร้อน ยามหนาวก็หนาวถึงใจ’ นั้นวรรคแรกเป็นความจริง วรรคหลังไม่แน่ แต่ยามชื้นนั้นยิ่งกว่าแน่ ชื้นมาก ชื้นทะลุเข้ามาถึงในบ้าน ยิ่งบ้านปูนซึ่งคนเมืองมักคิดไปเองว่ารอดพ้น เอาอยู่ไหม ที่อื่นอาจจะอยู่ แต่ที่น่านความชื้นสูงมาก หากพื้นผนังทำด้วยปูน แต่ชายคาไม่กว้างพอ ฝนหรือหมอกมาเมื่อไร เตรียมใจได้เลยว่าหนังสือแฉะ บวม ขึ้นรา


เริ่มต้นด้วยบ้านเล็กแล้วค่อยขยับขยาย บทเรียนจากบ้านหลังแรก บทเรียนจากการใช้ชีวิตอยู่ช่วงปีแรกจะทำให้เราพอวิเคราะห์ได้ว่าหลังต่อไป โรงเรือนหรือสิ่งก่อสร้างถัดไปจะเอากับมันยังไง หากเริ่มต้นใหญ่ ผิดพลาด โอกาสแก้ตัวลำบาก บ้านไม่ใช่ถุงเท้าที่ไม่พอใจก็ขว้างทิ้ง เปลี่ยนใหม่ได้ตามอำเภอใจ


ทำเลใกล้ต้นไม้นั้นนับว่าเป็นมงคล สงบร่มเย็น แต่ใบไม้ในหน้าแล้งร่วงหนัก ไหนจะเมล็ด ไหนจะลมแรงช่วงเปลี่ยนฤดู ใจไม่ด้านพอ ห่างไว้นิดนึงก็ดี


ห่างมากไปมันร้อน ร้อนมากๆ


เทียบข้อดีข้อเสียโดยละเอียดแล้ว อยู่ใกล้ต้นไม้มีคุณมากกว่าโทษ


แท็งก์น้ำขนาดใหญ่ที่คิดไว้ว่าสักสองก็คงพอ อยู่ๆ ไปต้องเพิ่มเป็นสี่ และอยู่ๆ ไป สี่ก็ไม่น่าจะพอ


น้ำประปาไม่มีก็ไม่เป็นไร ชีวิตที่ขึ้นอยู่กับฟ้าฝนก็ไม่น่ากลัว พ.ศ. นี้ ยังไงเราพอมั่นใจได้ว่าถึงเวลาฝนมาแน่ๆ เพียงพอแน่ ประเด็นเป็นเรื่องการทำที่กักเก็บ ทำแบบไหน ทำเท่าไร นิสัยและปริมาณการใช้น้ำของแต่ละคนต่างกัน


ความคิดว่าพอ เรื่องอื่นอาจจะใช่ แต่เรื่องน้ำควรเผื่อไว้ให้มาก เพราะแท็งก์ซีเมนต์แข็งแรงนั้นรั่วซึมได้ ก๊อกน้ำ ท่อน้ำ และชักโครกในห้องน้ำนั้นไม่เคยเสถียร ถ้าไม่หมั่นเฝ้ามอง ตรวจตราให้ดี น้ำล้นปรี่ในแท็งก์อาจสูญสลายไปในชั่วข้ามคืน


‘เสร็จกิจ ปิดวาล์ว’ คือคำที่ท่องไว้ในใจ ทุกครั้งที่ใช้ชักโครก รั่วไม่รั่วไม่รู้ แต่กันไว้ก่อน เพราะเจอมาแล้ว สะอื้นมาแล้ว


อย่าท่องคนเดียว มีเพื่อนมาให้บอกเพื่อนด้วย สอนวิธีใช้ให้เพื่อนด้วย (เพื่อนใช้เสร็จ ว่างๆ ก็แวะไปตรวจทานอีกที คนเรามันลืมกันได้ เขาและเธอมาจากบางกอก ที่นั่นน่ะเปิดก๊อกน้ำก็ไหล เขาไม่เข้าใจหรอกว่าเวลาน้ำหมดจากแท็งก์และต้องโทรไปสั่งซื้อน้ำจากหมู่บ้านอื่นให้มาส่งถึงสวนนั้นลำบากอย่างไร)


น้ำในสระเต็มเสมอในหน้าฝน เต็มล้นตลิ่ง แลดูเจริญตาเจริญใจ น่าแหวกว่าย น่านั่งมอง แต่เพียงเดือนเดียว ระดับน้ำในสระที่ลึกสี่เมตรก็ลดฮวบ ลอยกระทงผ่านไป ปีใหม่ยังไม่ทันมา อ้าว น้ำหายไปไหน


สระขุดใหม่ยังไม่อุ้มน้ำ ว่ากันว่าต้องรอสามปี สี่ปี


ว่ากันว่าหรอกนะ อย่าไปเชื่อ อาจสิบปีก็ได้ อาจไม่มีวันนั้นเลยก็ได้


ดิน น้ำ ลม ไฟ ใครมีคาถาอาคมดี สามารถกำหนดมันได้ ก็รบกวนบอกกันบ้าง


เวลาจะตัดหญ้าหรือปลูกต้นไม้ พึงจำไว้ให้มั่นว่าท่อน้ำฝังดินอยู่ตรงไหน ยิ่งซ่อมเองไม่เป็น ยิ่งต้องระมัดระวัง โดนแล้วมันเจ็บใจ


มือที่ไม่คุ้นเคยกับด้ามมีดด้ามจอบนั้นแสนเปราะบาง ฟันหญ้าไม่กี่ทีก็เจ็บ ก็พอง วิธีแก้คือทำบ่อยๆ มือบอบบางจะเริ่มด้าน


แต่ทิ้งระยะนาน ความด้านก็กลับกลาย คืนสู่ความบอบบาง จับจอบอีกก็เจ็บอีก สามวันจากนารีเป็นอื่น สามวันจากด้ามจอบเป็นแผล


ตุ๊กแกยักษ์แค่ไหนก็ไม่น่ากลัวหรอก เพื่อนบ้านที่เป็นตำรวจให้ข้อมูลว่ายังไม่ปรากฏ ยังไม่มีคดีความว่าตุ๊กแกไล่ล่าฆ่าคน ข่มขู่อาจมีบ้าง แต่กัด ขอยืนยันว่าไม่มี


ได้ฟังเรื่องนี้ เพื่อนเราซึ่งเป็นนักสังเกตชีวิตขั้นเทพแย้งตำรวจน่านด้วยท่าทีสุภาพอ่อนโยนว่า อาจเป็นความจริงว่าตุ๊กแกไม่เคยกัดใคร แต่เราเคยสำรวจกันถี่ถ้วนแล้วจริงๆ หรือว่าไม่มีใครเคยช็อกตายเพราะตุ๊กแก


เวลาเข้าห้องน้ำ ถ้ามี… ตุ๊กแกจะอยู่มุมเก่า เข้ากี่ครั้งกี่ครั้งก็อยู่มุมเก่า ถ้าไม่ชอบหน้ามัน เพียงเราส่งเสียงหรือเคาะฝาเบาๆ เจ้าตัวดีก็จะถอยร่นไปหลบในซอกหลืบ อย่ากังวลไปเกินกว่าเหตุ


ปลวก หนู งู และมดนั้นเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือมันมาก็แก้ไปตามอาการ จะใช้ยา ใช้ไม้ ใช้มีด ก็สุดแท้แต่วิจารณญาณและสิ่งที่คว้าฉวยได้


ปลวกเก่งมาก ปลวกพยายามมาก ปลวกขยันมาก เรื่องพวกนี้เราต้องรู้ไว้ หากไม่คิดจะมีชีวิตอยู่ร่วมกับมันต้องหมั่นสำรวจจ้องมอง เจอจะได้จัดการ ฆ่าได้ฆ่า ปลวกไม่ใช่หมีแพนด้า ไม่ต้องเมตตามันมากก็ได้


หนู เท่าที่รู้ มันแพร่พันธุ์ มีลูกหลานในหน้าฝน บ้านที่คนไม่อยู่คือเป้าหมายของมัน ไม่อยู่สองวันมันก็มา มุ้งลวดมันก็กัดขาด


งู เจอทุกฤดูกาล ไม่ข้างบ้านก็ในบ้าน มันไปได้ทุกที่ แม้ว่าไม่มีขา


ส่วนมดนั้นน่าเวียนหัวที่สุด พวกมันมาก จมูกมันไว เพียงข้าวสุกตกดินเมล็ดเดียว นาทีเดียว มดก็เดินทางมาถึง ถ้าเป็นเนื้อสัตว์อาจไม่ถึงนาที ในเขตบ้านป่าบ้านสวนซึ่งไร้สารเคมีและยังเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ มดคล้ายมีชีวิตอยู่ทุกตารางนิ้วใต้ผืนแผ่นดิน มีมดชนิดหนึ่งร้ายกาจอย่างยิ่ง น่าสยดสยองอย่างยิ่ง มันชอบมาตอนพลบค่ำ วิ่งเร็วคล้ายลม ปรากฏกายคล้ายผี เรานั่งอยู่บนเตียง ปัดปูเรียบร้อยแล้ว สะอาดสะอ้านพร้อมนอนแล้ว ถ้ามันจะมา มันมาเลย พุ่งพรวดจากไหนไม่ทราบ ไร้ที่มา ส่วนที่ไปก็คือที่นอนของเรา ไล่ตี ตาย อีกสองนาทีเพื่อนมันก็มาอีก มาจากไหนไม่ทราบ ไร้ที่มา ส่วนที่ไปก็คือที่นอนของเรา ไล่ตี ตาย อีกสองนาทีเพื่อนมันก็มาอีก ตัวมันโต วิ่งเหมือนบิน มีบุคลิกชัดเจนคือไม่กัด แต่นึกออกใช่ไหมว่าคนจะนอน จะปิดไฟก็ไม่กล้า กลัวมันมาอีก จะไม่ปิด ถึงเวลานอนแล้วจะมานั่งรอมดก็คงโรคจิตเกินไป


มดชนิดนี้ไม่ได้มาหาอาหาร บ้านนี้ ห้องนี้ไม่เคยมีอาหาร กฎเหล็กระดับรัฐธรรมนูญคือไม่นำอาหารเข้าบ้าน แข็งขันมั่นคงขนาดนี้ มันนึกอยากมามันก็มา คืนที่อากาศดีมาก เย็นน่าอยู่ หนาวน่านอนซุกผ้าห่ม เงียบสงบ ข้างนอกแสงดาวพราว ลมโบกอ่อนๆ แมลงกลางคืนส่งเสียงเบาบาง โอ… ช่างเป็นวันเวลาที่งดงาม ช่างเป็นบ้านสวนที่งดงาม แต่ปีศาจมดที่จู่ๆ ก็ทะลึ่งพรวดไต่ขาเราขึ้นมาถึงท้องก็คล้ายจะร่ำร้องบ่งบอกว่า –อย่าๆ อย่าสุขสบายเกินไป ไม่มีหรอก ชีวิตที่สมบูรณ์น่ะ ไม่มีหรอก ความสุขอันเป็นนิรันดร์น่ะ


คิดได้ดังนี้แล้วก็จับมดมาบี้ ถ้าจับทัน และยิ้มในความมืด


รุ่งเช้า มดปีศาจหายไป เพื่อว่าจะกลับมาใหม่ในยามพลบ เอายังไงก็ได้ จะเอายังไงก็เอา เอาที่พวกพี่สบายใจ


แมงมุมชักใยเร็วมาก จุดไหนเว้นว่าง ไม่ได้เดินเล่น ไม่นานจะเป็นบ้านแมงมุม ธันวาคมเป็นเดือนที่มีแมงมุมชุมที่สุด


นกหน้าหนาวร่าเริง


ในความมืด ในความโดดเดี่ยว ในคืนเปลี่ยวที่กำลังเดินหาสัญญาณโทรศัพท์ข้างต้นกล้วย ถ้ามีมือที่มองไม่เห็นพุ่งพรวดมาตะปบเกี่ยวคอ อย่าคิดว่าเป็นผีสางนางพรายที่ไหน มันคือนังอ้อน แมวสาวนิสัยไม่ดี (เวร–จะมาจะไปก็บอกกันบ้าง ยิ่งกลัวๆ อยู่)


ถ้ามีใครถามว่าน่านหนาวไหม ให้บอกว่าไม่รู้ คำว่าน่านมันตั้งกว้างใหญ่ ในเมืองกับบนดอยก็เป็นคนละโลก ตอนเที่ยงกับตอนค่ำก็คนละเรื่อง และหนาวคุณกับหนาวใครมันก็ไม่เหมือนกัน


เอาแน่เอานอนกับความหนาวไม่ได้เลย ร้อนๆ อยู่ โคตรร้อนในตอนเที่ยง แต่ตกเย็นก็เกิดหนาวขึ้นมาดื้อๆ รุ่งเช้าอีกวันสั่นสะท้าน ขี่มอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านต้องสวมเสื้อสี่ตัว พร้อมหมวก ผ้าพันคอ


กองไฟคืออาหารมื้อที่สี่


ลืมอะไรก็ลืมได้ แต่ตกเย็น ไม่ควรละลืมนั่งเล่นข้างกองไฟ


ปิ้งย่างเผือกมันและเนื้อสัตว์บางชนิด ถ้านึกสนุก


หยิบกีตาร์มากอด ถ้าคิดถึงคนรัก ควันไฟหอม ดวงดาวในคืนหนาวมีรสหวาน


ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่ายี่สิบ ไวน์แดงหรือเหล้าป่าดูเหมือนว่าจะดีกว่าเบียร์


ไม่เหงาเหรอ–คำถามนี้ได้ยินอยู่เรื่อย


ไม่รู้จริงๆ …โง่ขนาดนั้น–ผมมักจะตอบทีเล่นไปทำนองนี้


ตอบเล่นเพราะรู้ว่าคนถามไม่ได้หวังสาระอะไรจริงจัง


ถ้าต้องตอบจริง… คนนะครับ ไม่ใช่ยุง มันก็คงหิว คงง่วง คงร้อน คงหนาว คงเบื่อ คงอยาก คงรัก คงใคร่ เหมือนใครๆ เหมือนกับทุกๆ คน เหงาไหม มันก็คงต้องเหงาบ้าง อยู่คนเดียวกลางป่าเขาดงดอย แต่เหงาแล้วไง มีใครเขาบังคับให้มาอยู่ อีกอย่างหนึ่ง ผมไม่คิดว่าสถานที่มีผลขนาดนั้น (มีสิ ไม่ใช่ไม่มี) แต่นึกออกใช่ไหมว่าถ้าจะเหงา เดินอยู่ใจกลางสยามสแควร์มันก็เหงา อยู่คนเดียวในคอนโดฯ กลางกรุง หรือเอนหลังละเลียดแจ๊ซหวานฉ่ำ จิบสุรารสเลิศข้างสระน้ำบนเพนต์เฮาส์ ยามจะเหงา คนเรามันหักห้ามอารมณ์ความรู้สึกได้ซะที่ไหน


ฆ่าตัวตายไปเลย–จะเอาแบบนั้นเหรอ


หรือหาวิธีมีชีวิตอยู่


หางานทำ ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่มีคุณค่าเพื่อทำให้ชีวิตมีคุณค่า


ว่ากันไปตามรสนิยม เรื่องแบบนี้เราไม่ก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพกันหรอก


ใครอยากมีชีวิตแบบไหนก็ทำเอา ใครอยากอยู่ป่า/อยู่เมือง ก็เลือกเอา


บ้านน่ารักดีนะ–เวลาได้ยินใครพูดคำนี้ ให้ยิ้มรับและสำนึกเสมอว่าเขาพูดเล่น จะนอนยังแทบไม่พอ มันจะน่ารักไปได้ยังไง


โดยทั่วไป เมือง ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นป่า และป่า วันหนึ่งย่อมจะกลายเป็นเมือง โลกมันเป็นเช่นนี้เอง สวนไผ่รำเพยก็เป็นเช่นนี้เอง


อย่ารอ ถ้ามีเพื่อนบอกว่าจะมาๆ อยากมาเที่ยว มาหา เขาและเธอไม่ได้โกหก แต่บ้านเรามันไกล.

The post สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอยู่น่านหนึ่งปี appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/worapoj-panpong-at-nan-one-year/feed/ 0
อินเดียร์ (บางวันก็มีแขกมาเยือน) https://thestandard.co/worapoj-panpong-at-nan-india/ https://thestandard.co/worapoj-panpong-at-nan-india/#respond Mon, 13 Nov 2017 01:55:54 +0000 https://thestandard.co/?p=44608

  ​ไม่ใช่ที่น่าน เราพบกันที่ปัตตานี     […]

The post อินเดียร์ (บางวันก็มีแขกมาเยือน) appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

​ไม่ใช่ที่น่าน เราพบกันที่ปัตตานี

     ​ผมลงไปทำงาน ศึกษาประวัติศาสตร์และบาดแผล ณ ที่เกิดเหตุ เดียร์มาหาเพื่อนสนิทที่ศูนย์ข่าวอิศรา รับผิดชอบติดตามสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ เข้าใจว่าเราน่าจะไม่ได้พูดคุยกัน สิบเอ็ดปีมาแล้ว–ความทรงจำอาจพร่าเลือน ต่อให้คุย ก็คงแค่เพียงทัก พยักหน้า ไม่มากกว่านั้น วันเวลาที่พบเจอสั้นมาก เดียร์อยู่กับเพื่อนของเขา บัณฑิตใหม่คู่นี้พกหนังสือติดมือเหมือนอวัยวะที่ 33 รักวรรณกรรม ฝักใฝ่การคิดการเขียน เท่าที่จำได้ บางค่ำคืนดึกดื่นไอ้หนุ่มหน้าตาดีออกไปเริงราตรีราวกับอยู่พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ ใช้ชีวิตปกติ

     ​อย่าเรียกว่าท้าทายเลย คนหนุ่มแข็งแรงก็ต้องหาเรื่องใช้แรง

     ​หลายปีผ่าน ผู้ชายที่ผมเจอที่ปัตตานียังคงเลือกปักหลักในวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ ด้วยเหตุบ้านการเมืองที่ทวีความเข้มข้นแหลมคม เราเจอกันบ่อยครั้งขึ้น แลกเปลี่ยนบางทัศนะที่สังคมไทยจงใจแช่แข็งไว้ในความมืด ถกเถียงจุดยืนเสรีนิยม อีกบางทีเป็นแหล่งข่าว ทำหน้าที่ผู้ให้สัมภาษณ์ และรู้ตัวต่อมาเดียร์ก็กลายเป็นเพื่อนในวงเหล้า เพื่อนหนุ่มที่เจอกันแล้วยืดย้วยเลิกยาก เขาเคยพาผมไปนั่งผับเพื่อชีวิตแถวซอยรางน้ำ หุ่นเขาไม่ให้เลย ไม่น่ามีรสนิยมสายนี้ ไม่รู้ไปสมาทานหรือน้อมนำสปิริตหัวควายและฆ้อนเคียวเข้ามาตอนไหน

     ​เดียร์ชอบขับรถ ชอบชีวิตต่างจังหวัด ปีก่อนเขาเคยตามผมมาเที่ยวน่านหนหนึ่ง ยังเป็นตำนานที่น่าอับอาย คืนแรก เพียงแตะน่านสัมผัสแรก เราพากันเข้าร้านเหล้าริมแม่น้ำ กำลังจะเลี้ยวลงหาที่จอด ปรากฏว่ารถติดหล่ม ต้องฉุดลากขุดเข็นกันอยู่กว่าครึ่งค่อนชั่วโมง สุดท้ายรอดจากบ่อโคลนมาได้ด้วยการช่วยเหลือของรุ่นใหญ่เจ้าถิ่น โต๊ะที่นั่งอยู่ก่อน

     ​ลมเย็น ต่อมาฝนกระหน่ำหนัก คืนนั้นเราดื่มกันเหมือนคนทะเลทรายกระหายน้ำ รุ่งขึ้นโรคกระเพาะเดียร์กำเริบรุนแรง เขาทำได้เพียงนอนมองเพดาน แพลนเลียบเลาะพฤกษ์ไพรภูดอยของเราล่ม

     ​ไม่เอาอีกแล้ว–เขาบอกผมว่าจะพยายามข่มใจ ไม่ดื่มหนักแบบปล่อยตัวปล่อยใจอีก มันทรมานและทำร้ายตัวเองเกินไป

     ​ปีนี้เดียร์ขับรถมาน่านอีกครั้ง หลังรู้ข่าวว่าจะได้กลับไปอินเดีย พอมีวันว่างเล็กน้อยก่อนเดินทางเลยอยากหาข้อมูลไว้ เพราะชัดเจนกับตัวเองแล้วว่าเอาแน่ วันหนึ่งต้องออกจากเมืองหลวงแน่ๆ

     ​บางความหมาย สวนไผ่รำเพยจึงมีอารมณ์คล้ายๆ โครงการนำร่อง เป็นช่องทางหนึ่ง เป็นวิธีคิดแบบหนึ่ง ของการทิ้งกรุงเทพฯ ทิ้งกรอบกรงและความเคยชินเดิมๆ มาเริ่มต้นชีวิตใหม่


.


     ​ไม่ใช่โรงเรียน โรงแรมหรือสวนสาธารณะ ปกติสวนไผ่รำเพยไม่ได้เปิดรับแขก

     ​บ้านควรเป็นโลกมุมส่วนตัวนั้นเหตุผลหนึ่ง และสอง, กระท่อมกลางหุบเขาในร่องรอยรูปเงากุฏิพระป่าไม่มีอะไรน่าสนใจ กระทั่งค่อนไปทางน่าสมเพช อาจอุจาดตาแก่ผู้พบเห็น ฉะนั้น ถ้าไม่ใช่เพื่อนซึ่งรับความดิบเถื่อนกันดารของกันและกันได้ ก็จำต้องปฏิเสธ สงวนสิทธิ์ไว้

     ​ในฐานะคนใกล้ มีใจ เหนืออื่นใด ผมเห็นว่าเดียร์ปรารถนาจะเรียนรู้ตัวอย่างที่ผิด จึงเปิดเปลือย ฉายไฟ บอกเล่ารากเหง้าความคิด เงื่อนไข อุปสรรคปัญหา ความสุขความทุกข์

     ​รู้แล้วจะได้วางแผน เตรียมตัวแก้ไข จัดวาง ตัดสินใจให้ถูก หรืออย่างน้อยก็ถูกมากกว่าผิด–ผิดบ่อยๆ มันน่าเบื่อ ยิ่งผิดซ้ำๆ ย่ำรอยหลงทางเหมือนคนมาก่อน

     ​ในหลายจุดเด่น ผมชอบเดียร์เรื่องความมุ่งมั่นในการพัฒนาตัวเอง พูดก็พูดเถอะ เจอหน้ากันใหม่ๆ ผมมองเขาผ่านๆ เป็นคนทำงานสื่อสารมวลชนที่ไม่น่าสนใจเลย ซ้ำสังกัดอยู่ค่ายใหญ่ที่เราเห็นอยู่หลายครั้งว่าหมอบกราบ สยบยอมอำนาจปืน กระทั่งเป็นปฏิปักษ์ต่อฝ่ายประชาธิปไตย

     ​ผมมองผ่านและอ่านเกมผิด

     ​ผ่านเดือนผ่านปี เดียร์แสดงให้เห็นว่าเขาเป็นตัวของตัวเอง กล้าหาญในการแสดงความคิดความเชื่อ เหนืออื่นใด เขาเปิดหูเปิดตา ขยันติดตามความเปลี่ยนแปลงเป็นไป ใครจะกักขังแช่แข็งตัวเองไว้กับโครงสร้างอำนาจโบราณอย่างไรก็ช่าง เดียร์เคลื่อนเดินไปตามเข็มนาฬิกา ยึดกติกาโลกอารยะเรื่องคนเท่ากัน และยืนยันในหลักการสิทธิเสรีภาพ

     ​ที่ค่อนข้างช็อกความรู้สึก นึกไม่ถึง ทว่าทำให้หัวใจผมเต้นแรง เดียร์ลาออกจากงานที่กำลังก้าวหน้า ลาออกไปอินเดีย

     ​ให้มันได้อย่างนี้สิ ไอ้หนุ่ม–ผมยิ้มอยู่คนเดียว

     ​ใครจะเข้าจะออกไม่ใช่ประเด็น สิ่งที่ผมชื่นชมคือความกล้าหาญในการใช้ชีวิต คิดและเลือก คิดละเอียดรัดกุมแล้วกล้าเลือก แม้ใครหลายคนอาจตำหนิว่าโง่ ออกไปทำไม งานโคตรมั่นคง และทุกสิ่งทุกอย่างกำลังโรยด้วยกลีบกุหลาบ

     ​ในวงเหล้าคืนหนึ่งแถวซอยรามบุตรี เดียร์บอกผมว่าประสบการณ์สิบปีเต็มๆ ในองค์กรใหญ่โตนี้ เขาเห็นว่าพอแล้ว บวกกับความสนใจโลก อยากอ่านพูดภาษาอังกฤษให้คล่องๆ การเว้นวรรคไปเรียนหนังสือต่างแดนปีสองปีน่าจะสวย

     ​ใช่, ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่างดงาม กลับมาก็เดินหน้าต่อ ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย มีแต่ได้ มีแต่ลึกซึ้งขึ้น กว้างขวางขึ้น

     ​“ยื่นใบลาออกแล้วนะพี่ ติดต่อที่เรียนเรียบร้อย เดือนหน้าเดินทาง” เดียร์ยกแก้วเบียร์ ใบหน้ายิ้มปลอดโปร่ง

     ​ภาพคร่าวๆ เมื่อกลับมา เขาคิดว่ายังไงคงไม่ทิ้งวงการสื่อ ทางถนัดที่ทำมาตลอด และจะเพิ่มอีกปีกหนึ่งเข้าไปคือการเขียน อยากทำงานเขียนให้จริงจัง ผมนึกถึงนวนิยายที่เขาเขียนเสร็จแล้วเรื่องหนึ่ง แม้ไม่น่าพอใจนัก และยังอยู่ในขั้นตอนขัดเกลา นึกถึงไอเดียนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่เขาเล่าให้ฟังในห้องโดยสารรถกระบะ ระหว่างทางแพร่–น่าน เสียงเพลงพงษ์เทพในรถรับประโลม–ทั้งๆ ที่รู้ว่าไกล จะไปแม้ไกลกว่านั้น..

     ​เดียร์เป็นนักหนังสือพิมพ์ ตราบใดที่งานเขียนยังไม่ออกมาให้จับต้องได้เป็นเล่ม เราไม่รู้หรอกว่าปรารถนาและวาจาที่ว่าเพ้อเจ้อหรือเอาจริงเอาจัง กระทั่งทำสำเร็จ พิมพ์ออกมาแล้วมันมีเรื่องมีรสหวานขมขื่นคาวอย่างไร

     ​ผมเห็นแค่แววตาและพัฒนาการของเขา เห็นและนับถือหัวใจว่าไอ้หมอนี่มีของ

     ​ใกล้รุ่ง ทว่าเสียงเพลงดัง แสงไฟยังพราว เราแยกกันด้วยคำพูดย้ำคิดย้ำทำของผม–จดบันทึกทุกอย่างในอินเดียมานะโว้ย ทำไม่ได้ กระจอก


.


     ​ผ่านเฟซบุ๊กและหน้าเพจ ‘อย่าด่าอินเดีย’ ผมพอรับรู้ชีวิตเดียร์ในอินเดียเป็นระยะ ว่าเขากิน อยู่ พบปะสิ่งใด ยุแหย่ โอ้อวดและเสวนากันสั้นๆ บ้าง (เชื่อมั้ยว่าเขาเคยถามผมเรื่องวิธีทำอาหาร เฮ้ย วรพจน์นี่นะ) เขาชวนไปเที่ยวปูเน่ ผมรับคำทันที พ้นจากโอกาสนี้ผมกับอินเดียไม่น่ามีวาสนาต่อกัน แต่สองเดือนผ่านไป เดียร์ก็สร้างเซอร์ไพรส์อีก เขาขายข้าวของทิ้ง ปล่อยห้องเช่าแสนรัก บอกลาชีวิตนักศึกษา บินกลับเมืองไทย

     ​ผมพอรู้มาบ้างว่าพ่อเขาป่วย แต่ไม่นึกว่าจะเป็นมะเร็ง เป็นในระยะสุดท้าย ก่อนเดินทางไปต่างแดน เดียร์เองก็เคยพูดเล่นๆ กับพ่อว่าอย่าเพิ่งเป็นอะไรนะ รอให้ลูกชายกลับมาก่อน

     ​คำของลูกรั้งโรคภัยพ่อไม่ได้ และนั่นทำให้เขาทิ้งความฝันกลับมาเฝ้าดูแลบุพการี

     ​เดียร์ใช้เวลาอยู่กับพ่ออย่างใกล้ชิดราวเดือนเศษ จากที่บ้าน สู่โรงพยาบาล และในที่สุดพ่อก็จากไป ผมอ่านข้อความในเฟซบุ๊กตอนสายของวันที่จะฌาปนกิจ ตกใจ เสียใจกับเขา และเขียนตอบว่าคงไปร่วมงานไม่ทัน ในฐานะเสาหลักของครอบครัว ขอให้แข็งแรงเสมอๆ จัดการดูแลความรู้สึกแม่และน้องได้เมื่อไร มีเวลาก็ขึ้นมาพักผ่อน สวนไผ่รำเพยยินดีต้อนรับ

     ​เขากล่าวขอบคุณ และบอกว่าเหนื่อยมาทั้งเดือน คงไม่มีแรงไปไหน อยากเตรียมตัวหางานทำด้วย

     ​ไม่ถึงเดือน เดียร์ส่งข้อความมาใหม่ บอกว่าทางมหาวิทยาลัยเพิ่งแจ้งข่าว ว่าสามารถกลับเข้าไปเรียนต่อได้ โดยให้ทุกอย่างรันไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

     ​เดียร์ดีใจมากเพราะอยากเรียนภาษาอังกฤษให้เก่ง หลังจัดแจงจองตั๋วกลับปูเน่ พอมีวันว่าง เขาคิดว่ามานอนเล่นที่น่านสักสามสี่คืนน่าจะเหมาะ อยากเห็นที่ทางบ้านช่อง เพราะปีก่อนที่มาผมยังไม่ได้ปลูกบ้าน

     ​โทรศัพท์ดังตอนสิบโมง… เดียร์มาตรงเวลาเป๊ะ เขามารับที่คอนโดฯ และอาสาช่วยขนของ เราออกจากกรุงเทพฯ ช่วงใกล้เที่ยง กดยาวม้วนเดียวแบบกินลมชมวิว และราวสักสามทุ่มก็ถึงน่าน

     ​ทุกคนที่มาน่านต้องไปเที่ยวปัว กล่าวกันอย่างฮาๆ ว่าใครไม่ไปแจ้งตำรวจจับได้เลย คือไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันฮิตฮอตอะไรนักหนา ทำไมถึงแรงปานนั้น เดียร์ไม่ไปปัว เขาแทบไม่ชวนไปไหนเลย วันๆ นอนอ่านหนังสือ เดินดูแลนด์สเคป ศึกษาแบบบ้าน มองน้ำมองฟ้า มองต้นไม้ น่าจะมีวันเดียวที่แวบออกไปเดินเล่นริมลำธารไร้ชื่อ เขตอำเภอแม่จริม แค่นั้นจริงๆ และดูเขาชื่นชอบจริงๆ เพราะเป็นนักว่ายน้ำ เป็นคนหลงใหลแม่น้ำลำธาร ชอบขอบฟ้ากว้างๆ ของต่างจังหวัด

     ​เรียนจบ กลับมาจากอินเดียเมื่อไร เดียร์จะเร่งหาที่แลนดิ้ง (มาเยือนสวนไผ่รำเพยสองรอบ ที่ราบๆ เรียบๆ ก็ชักเริ่มไม่ชอบ) ทำบ้าน ปลูกต้นไม้ เขียนหนังสือ

     ​เสียงของเขายังแว่วกังวาน ทั้งที่เจ้าตัวลาจากน่านไปแล้วเมื่อช่วงสาย บ้านขนาดสองจุดห้าคูณสามเมตรดูโล่งๆ โหวงๆ เพราะคืนนี้นอนคนเดียว คล้ายโลกมันเงียบพิกล แต่พลอยยินดีที่อีกไม่กี่วันเพื่อนหนุ่มจะบินกลับอินเดีย บินไปบ่มเพาะเพื่อกลับมาสร้างชีวิต

     ​นอกจากเป็นคนแฟร์ หัวจิตหัวใจดี อย่างที่บอก ผมชอบเดียร์เรื่องความมุ่งมั่นพัฒนาการ ชอบความกล้าหาญแบบคนหนุ่มที่ทำตัวสมกับที่เป็นคนหนุ่ม

     ​เห็นเขา ฟังความคิดฝันของเขา และอยู่ใกล้ๆ เขาแล้วมันทำให้เราเบิกบาน.

The post อินเดียร์ (บางวันก็มีแขกมาเยือน) appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/worapoj-panpong-at-nan-india/feed/ 0
งู ตุ๊กแก ปลวก มด แมลงเม่า บุ้ง หนู และอ้อน อาย https://thestandard.co/worapoj-panpong-local-animal-planet/ https://thestandard.co/worapoj-panpong-local-animal-planet/#respond Wed, 23 Aug 2017 07:01:22 +0000 https://thestandard.co/?p=21947

     ชอบหนังสือ ‘สวนสัตว์’ ของ สุวรรณี ส […]

The post งู ตุ๊กแก ปลวก มด แมลงเม่า บุ้ง หนู และอ้อน อาย appeared first on THE STANDARD.

]]>

     ชอบหนังสือ ‘สวนสัตว์’ ของ สุวรรณี สุคนธา ไม่นึกว่าวันหนึ่งจะต้องมาอยู่สวนสัตว์

     อุตส่าห์ตั้งชื่อเอาฤกษ์เอาชัยว่า ‘สวนไผ่รำเพย’ อยู่ๆ ไปสวนไผ่เริ่มแสดงตัวตนความเป็นป่าเป็นเขา เรามาทีหลัง มาด้วยการถือสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมาย แต่กฎธรรมชาติที่มีอยู่เก่าก่อนก็ยังดำรงอยู่

     นี่คือบ้านเรา–ถูกต้อง แต่ก็เป็นบ้านของสรรพสัตว์เช่นเดียวกัน

     ไม่ได้ไร้เดียงสาขนาดว่าจ่ายเงินจบแล้วเราก็เป็นเจ้าข้าวเจ้าของทุกสิ่ง พอรู้ รู้สิว่าโลกมีผู้คน โลกมีสิงสาราสัตว์ บนแผ่นดินเดียวกัน เราต่างใช้ชีวิตบนพื้นที่ทับซ้อน แบ่งกันบ้าง แย่งกันบ้างตามสถานการณ์

     รู้ เข้าใจ และหลายอย่างก็ออกแบบเพื่อป้องกันปัญหาไว้ตั้งแต่ต้น เช่น ครัวต้องอยู่แยกจากตัวบ้าน เพราะรำคาญมด จะมากจะน้อย เมื่อมีอาหาร มดมาแน่ๆ มาเป็นกองทัพ สกุลยาสู้กับมดน่ะพอมี แต่ไม่ทันมันหรอก ฉะนั้นกันได้ก็กันมันออกไปก่อน เคลียร์เรื่องอาหารไปเลย สร้างกฎเหล็กว่าจะไม่นำของกินเข้าบ้านเด็ดขาด

     ได้ผล เอาอยู่

     แต่ของแบบนี้ตายใจเมื่อไรก็เจ็บใจทุกที

     วันดีคืนดีนอนๆ อยู่ก็สะดุ้ง ตัวอะไรยุบยับไต่ขา เปิดไฟหาสาเหตุ อ้าว มดรุมทึ้งซากจิ้งจก อีกที ซากเขียด ซากแมลง

     บางทีเปิดเป้ออกมา เจอมดเป็นกอง ไม่รู้เข้าไปกินอะไร ขนมนมเนยก็ไม่ลืมทิ้งไว้ หรือมันหนีฝน หาที่อบอุ่นสร้างรวงรัง วางไข่ หรือระหว่างการเดินทาง เราวางกระเป๋าทิ้งไว้แล้วมีคนทำน้ำหวานหกใส่ ฯลฯ เอาว่ายามมันจะมา ยามมันจะบุกถึงที่นอน มันก็มาสร้างความเดือดร้อนได้โดยไม่สนใจว่านี่ดึกดื่นเที่ยงคืนแล้วนะจ๊ะ

     .

     เรื่องมด ต่อให้เป็นพ่อมด แม่มด เทียบกับปลวกแล้วต้องถือว่าเป็นมวยคนละชั้น ปลวกเป็นปัญหาคลาสสิกของคนมีบ้าน ปัญหาระดับอมตะนิรันดร์กาล

     อยู่ประเทศเขตร้อนชื้น ยิ่งกับบ้านป่า จะนิยมหรือไม่นิยมเสาปูนก็ทำใจใช้ไปเถอะ หรือไม่ก็เสาเหล็กไปเลย ก่อนวางเสาต้องเทยากันปลวกโรยก้นหลุม ฝาผนัง พื้นบ้านส่วนไหนเป็นไม้ พลาดไม่ได้เด็ดขาดที่ต้องทาน้ำยาเคลือบทุกจุด

     ปลวกเป็นนักทำลายล้างที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง พยายามอย่างยิ่ง เหนือความคาดหมายอย่างยิ่ง

     คิดจะสู้กับปลวกต้องปล่อยวาง ป้องกัน และถ้าเห็นมันมาเมื่อไรก็หาวิธีฆ่า

     เรื่องจะหนีรอดหลุดพ้นแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั้นไม่มี

     มีแค่วันที่มันยังไม่มา แต่ไม่ต้องกังวล แค่วางไม้ไว้กับดินวันเดียว ไม้แข็งๆ เลยล่ะ รุ่งขึ้นหยิบพลิกดู มันมาแล้ว มันกินไม้ราวกับชีวิตมีอุดมการณ์เดียวคือกิน จุดยืนชัดเจนคือทำลายและทำลาย

     โกรธมันหรือ? โกรธจนตัวสั่นที่บ้านช่องเสียหาย โกรธเกลียดไปก็เปล่าประโยชน์

     อยู่ร่วมกันหรือ? คำตอบคือไม่ คนกับปลวกอยู่ร่วมกันไม่ได้ เจอแล้วต้องฆ่าสถานเดียว

     อยู่บ้านป่า หน้าที่หนึ่งในยามว่างคือเดินสำรวจโคนเสา พื้นผนัง โต๊ะ เก้าอี้ ห้องน้ำ สำรวจให้ทั่วว่ามีมันอยู่หรือเปล่า ถ้าไม่มี วันหลังหาโอกาสสำรวจตรวจตราดูใหม่ สำหรับปลวกแล้ว การนิ่งนอนใจคือหายนะ

     เพียงเผลอไผล ลางร้ายก็เริ่มมาเยือน

     ปลวกดุและดิบเถื่อนจนบางครั้งน่าขำว่า เออเนอะ พวกมันช่างตั้งอกตั้งใจทำงาน ไม่คิดพักผ่อน on vacation กันบ้างเลย

โชคร้ายว่าเราอยู่ร่วมกันไม่ได้

     งูก็จัดอยู่ในหมวดหมู่ความหมายนี้

     .

     “พี่ระวังนะ” เพื่อนหนุ่มชาวกรุงเตือนผมตั้งแต่แรกที่ก้าวเท้าลงรถเหยียบพื้นดินสวนไผ่รำเพย เมื่อครั้งที่ยังไม่ปลูกบ้าน

     เหมือนพีอาร์ เหมือนประชาสัมพันธ์ เข้ามาถึงก็เจองูเลย

     แรกทีเดียวผมไม่เชื่อด้วยซ้ำ ตาฝาดหรือหวาดระแวงเกินไปหรือเปล่า จิ้งเหลนมั้ง กิ้งก่ามั้ง

     อยู่นานวันเริ่มเข้าใจว่าของจริง อยู่นานวันเริ่มทำใจว่าคงต้องอยู่กันไปแบบนี้ เพราะเจองูเป็นปกติ เรียกว่าถ้าผ่านไปสักสัปดาห์แล้วยังหากันไม่เจอนี่มีคิดถึง

     ศึกษารูปพรรณสัณฐานและถามเพื่อนบ้านแล้วได้ความว่าเป็นงูไม่มีพิษ เท่าที่เจอเป็นเช่นนั้น ที่ไม่เจอยังไม่รู้ แต่มีพิษหรือไม่มี ตัวใหญ่หรือตัวเล็ก ขึ้นชื่อว่างูย่อมไม่น่าพิสมัย

     ตกใจจนล้มก็เคย พื้นมันเอียงและลื่น เจ้าตัวดีนึกจะโผล่ก็พรวดออกมาจากพงหญ้าระยะประชิดตัว

     นอนเปลสบายอารมณ์อยู่ มองไปเจอซีนงูกระโดดงับกิ้งก่าบนต้นไม้ก็เคย

     ฟังเสียงก็เชี่ยวชาญขึ้นตามลำดับ เสียงโอดโอยแบบนี้นี่มันเขียดโดนงูกินนี่นา …เดินไปดูก็เห็นเป็นจริง

     ชีวิตคนภูเขา ก่อนจะย่างแต่ละก้าวต้องมองให้ละเอียด ค่ำลง ไฟฉายอย่าให้ห่างกาย จะเดินไปทางไหน ส่องให้ดีก่อนเดิน

     มองล่างแล้วอย่าลืมมองบน ต้นไม้มันก็ชอบอยู่ ยิ่งฤดูฝนชื้นๆ งูคงไม่ชอบเปียกแฉะเหมือนกัน สังเกตว่าถ้าฝนตกติดต่อกันนานๆ พอหยุดหรือมีแสงแดด มันมักจะปรากฏกาย

     หลักการของผมคือถ้ามาระยะใกล้ ตีได้ ตี ถ้าถึงขั้นเข้าบ้าน เข้าครัว เข้าห้องน้ำ ยังไงก็ต้องตี ปล่อยไว้ไม่ได้ ส่วนถ้าเห็นไกลๆ หรือในจังหวะไม่มีพิษมีภัย ปล่อยได้ก็ปล่อย โดยพื้นฐานคือไม่อยากยุ่งอยู่แล้ว อยากสร้างกติกาแห่งสันติอหิงสาว่าต่างคนต่างอยู่ แต่งูคงไม่รู้เรื่อง ไม่สนใจ บ้านของเราก็คือบ้านของมันเหมือนกัน ฉะนั้นก็อยู่ๆ กันไป

     ในกรณีมีเหตุบุกรุกคุกคามหนักข้อ สงครามย่อมปะทุ

     อโหสิกรรมนะ อโหสิกรรมด้วย–บางบทเพลงล่องลอยมาในจังหวะด้ามจอบฟาดแรงๆ ลงร่างเรียวยาว

     ตกกลางคืนบางครั้งเก็บไปฝัน และกลางวันแสกๆ บ่อยหนมองเห็นกิ่งไม้เป็นงู

     กายเราทำร้ายต่อกัน ในใจย่อมหวั่นไหว

     ทางแก้นอกจากการฆ่าคือทำความสะอาดรอบบริเวณบ้าน หมั่นคอยตัดหญ้า และหาจังหวะก่อไฟจุดนั้นจุดนี้ แสดงอาณาเขตคน

     คิดเอาเองว่า ถ้ามันรู้ว่ามีคน มีเจ้าของ มันก็คงไม่อยากปะทะเท่าไร

     ใช่, ใครจะอยากเสียเลือดเสียเนื้อ ช่างภาพสัตว์ป่าคนปากช่องเคยเล่าว่า แม้เป็นแผลเพียงเล็กน้อย เสือก็ใช้ชีวิตลำบาก เป็นไปได้ มันจะเลี่ยงการปะทะอย่างถึงที่สุด ยกเว้นในวิถีของสัตว์ผู้ล่า เมื่อหิวก็ต้องหาอาหาร

     ผมค้อมหัวให้–เสืออย่างเขาย่อมเข้าใจเสือ

     .

     เดาว่างูไม่ได้อยากเข้าบ้าน ที่เข้าคงเข้าใจผิด หรือตัดสินใจผิด ตุ๊กแกต่างหากที่ไม่รู้ว่าทำไมตอนไม่มีบ้านคนก็อยู่บนต้นไม้ พอบ้านเสร็จ มันมาทันที

     มีตัวที่หนึ่ง ก็มีตัวที่สอง สาม สี่… ราวกับว่าถ้าใครเจออะไรดีๆ ก็โทรเรียกกัน

     หน้าตาเป็นปัญหาของตุ๊กแก จิตใจเบื้องลึกหรือเนื้อแท้ตัวตนเป็นแบบไหนไม่รู้แหละ แต่แม้ไม่ต้องทำโพลก็ฟันธงได้ว่าใครเห็น ใครก็กลัว ก็เกลียด

     ทั้งที่มันไม่ได้มาทำอะไรให้เลย

     โอเค เรื่องขี้ก็ไม่ใช่ขี้ๆ มีปัญหานี้อยู่จริง (แปลกซะด้วยว่าขี้ที่เก่าทุกที อยากตะโกนบอกมันว่าบ้านคนนะเว้ย ไม่ใช่ส้วม) เพื่อนคนหนึ่งเคยบอกว่าหน้าตาก็งั้นๆ ถามว่าชอบไหม ก็ไม่ชอบ แต่ไม่กลัว ไม่เกลียด ที่รังเกียจและทนไม่ได้เลยคือขี้ ทิ้งบ้านไปนานๆ นี่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนมาก ทั้งจากจิ้งจกและตุ๊กแก

     ต้นฤดูฝน ตุ๊กแกจะร่าเริงมาก เพราะแมลงเม่าเยอะ เรียกว่าบินมาป้อนถึงปาก

     ผ่านฝนผ่านหนาวมาไม่น้อย ผมพบว่าฝนแรกที่น่านคือแรงดึงดูดที่มีแสนยานุภาพสูงมาก แมลงเม่านับล้านๆ หลายร้อยหลายพันล้านตัวบินเต็มฟ้า ตรงไหนมีไฟ ยิ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ถนนไฮเวย์เต็มไปด้วยแมลงเม่า ฝนพรำๆ แมลงเม่าบินว่อนเป็นเม็ดฝน ที่บ้าน เพียงจะเปิดไฟกินข้าวมื้อค่ำ โดนกองทัพแมลงเม่าโจมตี กินไม่ได้ ต้องปิดและจิ้มจุ่มกันในความมืด

     หนีเข้าห้องนอน เพียงกดโทรศัพท์มือถือดูเวลา ฝูงแมลงเม่าพุ่งเข้ามาหน้าจอเรืองแสงทันที

     ยังดีว่ามันมาแค่สองสามวัน จากนั้นก็คล้ายหายสาบสูญไปจากโลก

     หากเป็นความรัก วิถีแมลงเม่าคล้ายคนหลอกให้รัก พอเริ่มหลงใหลแล้วเขาก็จากลา

     คล้ายบุ้ง บุ้งขนดำขลิบขาวขยับยืดๆ หดๆ ยั้วเยี้ยตามต้นไม้ เดินไปไหนก็เจอ ไม่ระวังพอก็ปลิวมาติดเสื้อ คันและน่าขยะแขยง แต่เพียงสองสามวันหลังฝนแรก บุ้งก็หายไปเหมือนแมลงเม่า หายไปคล้ายไม่เคยมีอยู่ ไม่มี มองหายังไงก็ไม่มี จนกว่าฤดูฝนหน้าจะกลับมา

     .

     บุ้งและแมลงเม่าเลือกเดือนฤดู แต่หนูไม่เลือก

     หนูมาตอนผมไม่อยู่บ้านหลายวัน กลับมา เปิดประตูแล้วผงะ ข้าวของกระจุยกระจาย เหม็นซากสัตว์ กองทัพมด ขี้หนู ไหนจะขี้จิ้งจก ตุ๊กแก

     บ้านช่องมิดชิด มันเข้ามาได้ยังไง? มองมุ้งลวดที่เป็นรูโหว่ใต้หลังคาก็พลันตาสว่าง

     ค่อยๆ รื้อเก็บฟูกหมอน เสื้อผ้า และในที่สุดก็ได้สบตากับมัน

     ตัวแม่พยายามประคับประคองลูก บ้างหล่นกลิ้ง และวิ่งล้มลุกคลุกคลาน พยายามหนี

     สายตาแม่หนูตระหนก ขณะที่ผมโกรธตัวสั่น คว้าไม้จะตี มันกึ่งวิ่งกึ่งหอบลูกพุ่งตะกุยสวนออกประตู

     ‘อ้อน’ แมวเพศเมียวัยสี่เดือนรออยู่แล้ว มันวิ่งไล่และงับลูกหนูเต็มปาก วางเขี้ยวให้มั่นแล้วเดินอาดๆ คาบไปฝากเพื่อน ‘อาย’ แมวเพศผู้วัยเดียวกัน

     ไม่มีหนูแม่ลูกในห้อง แต่คนเป็นเจ้าของต้องใช้เวลาอีกนานในการปัดกวาด ชำระซากสิ่งโสโครก ใจสั่นด้วยโกรธเกลียดเย็นลง และบางขณะเห็นใจหัวอกแม่ สงสารลูกสัตว์บอบบางยังไม่หย่านม แต่คนกับหนู เราอยู่ร่วมบ้านกันไม่ได้

     อาจจะได้ช่วงหนึ่ง ถ้าคนไม่อยู่ ถ้าอ้อนกับอายไม่เห็น

     คนมา แมวมา บรรดาหนูๆ ก็ต้องไป

     ไปไหนไม่รู้ เอาชีวิตรอดไหมก็ไม่รู้ แต่เราอยู่ร่วมกันไม่ได้

     .

     หนูร้ายกาจที่สุด ตอนเราเจอ ตอนมันเข้ามาใกล้ๆ เข้ามาอยู่ร่วมห้อง ร่วมบ้าน เหมือนบุ้ง แมลงเม่า มด ปลวก งู ตุ๊กแก พอจัดการให้ผ่านไป สวนไผ่รำเพยค่อยกลับมาร่มเย็นสุขสงบ

     สุขสงบในนาทีนี้ วันนี้ และแน่นอนว่าวันต่อๆ ไปก็จะเผชิญกับสรรพสัตว์อีก บางทีเป็นปัญหาเล็กๆ และบางทีก็สร้างเรื่องน่าปวดหัว ใช้เวลาแก้ไขหลายวัน เสียเงิน เสียอารมณ์ คำว่าจบไม่มี คำว่าสุขสมบูรณ์ไม่มี มันวนๆ เวียนๆ เข้าๆ ออกๆ คล้ายลมหายใจ

     เตรียมตัวและทำใจไว้เลยว่าถ้ามีปัญหาก็แก้ ไม่ต้องตื่นเต้นตกใจ ตั้งสติและแก้ไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีหรอกความสุขอันเป็นนิรันดร์

     ตุ๊กแก งู ปลวก มด แมลงเม่า บุ้ง หนู บอกผมว่าเราไม่อยู่ เขาก็อยู่ เราไม่ใช้ เขาก็ใช้

     โต๊ะเก้าอี้ไม้ ถ้าเฝ้าไว้ตลอด ปลวกมากินไม่ได้หรอก งูไม่มา หนูไม่มี บ้าน–ถ้าหลังใหญ่เกินกว่าร่างกายกว้างคืบยาววา เราดูแลรักษาไม่ทั่ว ในความหมายหนึ่งคือเราไม่ได้เฝ้าระวัง ไม่ได้อยู่ตลอดเวลา อย่างที่กล่าวแล้ว เมื่อเราไม่ใช้ สัตว์ก็ใช้ เราไม่อยู่ สัตว์ก็อยู่

     ว่าไปมันก็แฟร์ดี ก็ในเมื่อเราไม่แคร์ ไม่ดูแลรักษา คนอื่นก็อาจฉวยคว้าเอาไป

     เราไม่อยู่ เขาก็เข้ามาอยู่ เราไม่เอา เขาก็เอา เราไม่โอบกอด เขาก็บั่นเซาะ ช่วงชิง ครอบครอง

     แม้แต่อ้อนกับอาย (on ’n eye) ที่เป็นสัตว์เลี้ยง เราก็ควบคุมกำหนดไม่ได้ทุกเรื่อง

     กำหนดได้น้อยมากเลยด้วยซ้ำ

     หรือนี่คือความท้าทาย หรือนี่คือกลไกที่เคลื่อนขับให้เราหลับและตื่นด้วยความหวัง ด้วยแรงพลังที่พร้อมจะเดินไปข้างหน้า.

The post งู ตุ๊กแก ปลวก มด แมลงเม่า บุ้ง หนู และอ้อน อาย appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/worapoj-panpong-local-animal-planet/feed/ 0
สวนไผ่รำเพย https://thestandard.co/opinion-worapoj-panpong-at-nan-suan-pai-rum-peay/ https://thestandard.co/opinion-worapoj-panpong-at-nan-suan-pai-rum-peay/#respond Tue, 11 Jul 2017 11:17:46 +0000 https://thestandard.co/?p=12844

     อยู่กรุงเทพฯ อยากได้น้ำก็เดินไปเปิด […]

The post สวนไผ่รำเพย appeared first on THE STANDARD.

]]>

     อยู่กรุงเทพฯ อยากได้น้ำก็เดินไปเปิดก๊อก

     จะซักจะล้าง จะอาบ หรืออยากอาบน้ำอุ่น ทุกอย่างมันช่างง่ายดายราวมีเวทมนตร์เสกเป่าได้

     ที่น่าน อยากได้น้ำใช่ไหม จ้างรถแบ็กโฮมาขุดสระ สนนราคาว่ากันตามความกว้าง ความยาว ความลึก รวมทั้งพิกัดทำเล ไกลและไปมายากย่อมต้องบวกเพิ่ม ตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ประมาณเอาอย่างหยาบๆ น้อยที่สุดก็ต้องควักเงินหมื่น

     และหมื่นเดียวน่ะอย่าไปหวัง

     .

     ชีวิตคนเริ่มต้นด้วยน้ำ

     หลังจากทำรังวัด ทำใจยอมตัดต้นไม้บางส่วนออก เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมที่ดินทำงานสะดวก สิ่งแรกของการย้ายฐานที่มั่นจากกรุงเทพฯ มาน่านคือการขุดสระ

     ที่ของผมอยู่ติดกับเพื่อน เราคุยกันว่าไหนๆ ต่างคนต่างต้องขุดสระอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ก็ขุดเชื่อมกันทีเดียว เป็นสระเดียวกันเสียเลย

     ราคาหารกันตามสัดส่วนการถือครองที่ดิน

     ใช้เวลาเพียงวันเดียวสระก็แล้วเสร็จ

     มีสระก็เหมือนมีภาชนะอยู่ในมือ มนุษย์ควบคุมเทคโนโลยีได้ มีรถ มีแรงงาน การขุดสระเป็นเรื่องเล็ก แต่น้ำเป็นเรื่องของฟ้า

     และต้องลุ้นว่าเมื่อมีฝน สระของเราจะอุ้มน้ำหรือเปล่า

     โดยทั่วไป ผ่านสักสามสี่ฤดูฝนนั่นแหละ กว่าสระจะทำหน้าที่ภาชนะโดยสมบูรณ์ กลไกของกาลเวลาไม่มีทางลัด

     ถ้าจะฝ่าฝืนก็ต้องจ่ายแพง

     ถามว่าเราๆ ท่านๆ มีกำลังสู้ไหวหรือ ลำพังเพียงค่าขุดสระก็ต้องเก็บออม กระเบียดกระเสียร คิดแล้วคิดอีก จะเอาปัญญาที่ไหนไปเทซีเมนต์รองพื้น ทำขอบ วางท่อ นั่นปล่อยให้เป็นเส้นทางของพวกเศรษฐีหรือผู้ดีมีเงินเขาเถอะ

     เขียมได้ต้องเขียม รอได้ต้องรอ กว่าบ้านจะเป็นบ้าน ยังมีเรื่องให้ใช้เงินอีกเยอะ

     .

     สระมีไว้เก็บน้ำฝน จะหุงข้าว ล้างจาน เราเดินลงไปซักล้างที่สระตลอดเวลาไม่ได้

     ปัจจัยยังชีพอันหมายถึงรายจ่ายก้อนต่อมาคือแท็งค์หรือถังเก็บน้ำ

     หมายถึงทั้งน้ำที่จะสูบขึ้นมาจากสระ และน้ำฝน ซึ่งนั่นจำเป็นต้องสร้างเพิงพักที่มีพื้นผิวหลังคากว้างยาวเพียงพอ ที่จะรองรับน้ำฝน ก่อนไหลรวมลงแท็งค์

     เสาต้นแรกจึงไม่ใช่บ้าน แต่เป็นฐานหรือศาลามุงสังกะสีรองน้ำฝน สร้างด้วยเสาปูนหกต้น ไม้เครื่องด้านบนใช้ไผ่กับไม้ยูคาฯ ซึ่งประหยัดสตางค์ที่สุด ที่นี่ไผ่ไม่ต้องซื้อ ไผ่งอกงามรอบบ้าน แต่เมื่อต้องควักค่าแท็งค์ซีเมนต์สองแท็งค์ เงินหมื่นที่สอง ที่สาม ก็ทยอยไหลออกไปจากกระเป๋า

     น้ำยังไม่มีเลย แต่คนเป็นเจ้าของยืนยิ้ม ชื่นชมผลงานจากหยาดเหงื่อ ความฝันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ ก่อนรอยยิ้มจะค่อยๆ จืดจาง เมื่อพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีปัญหาผูกพ่วงมาด้วยเสมอ

     เดี๋ยวแท็งค์ที่สร้างใหม่เอี่ยมนั้นรั่วซึม น้ำนองพื้น เดี๋ยวปั๊มที่ซื้อมาด้วยความคิดเซฟที่สุดนั้นใช้ไปได้แค่สัปดาห์เดียวก็พัง ประกงประกันก็ไม่มี เดี๋ยวรางน้ำอุดตัน ฝนตกเท่าไรก็ไม่ได้น้ำ เดี๋ยวชักโครกพัง ใช้แล้วน้ำไม่หยุดไหล น้ำที่สู้สะสมไว้ในแท็งค์วูบหายโดยเวลาผ่านไปๆ เจ้าของก็ยังไม่เท่าทันว่าสาเหตุมันมาจากอะไร และเดี๋ยวนะ อ้าว นั่นหนูลงไปตายในแท็งค์น้ำบ้านข้าพเจ้าทำไม

     ..

     ผมใช้เวลาสองปีเศษๆ เทียวไปเทียวมาระหว่างกรุงเทพฯ กับน่าน เฝ้ามองดูความเป็นไปได้ ดูว่าตัวเองต้องการอะไร อยากมีชีวิตแบบไหน ตรวจสอบความฝันกับปัญหาที่จูงมือมาด้วยกัน

     ใช่–ฝันดีมีอยู่แต่ในฝัน

     ความจริงตรงหน้า ความรัก ความปรารถนา ความสามารถ ความสนใจ งานเขียน และการทิ้งกรุงเทพฯ ถ้อยคำเหล่านี้วนเวียนอยู่ในใจซ้ำไปซ้ำมา

     ปี 2549 ผมไปทำงานปัตตานี ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดทั้งปี ถามว่ายากไหมกับการตัดสินใจครั้งนั้น ยากนะ หนักนะ ผมเพิ่งพบว่าการตัดสินใจทิ้งกรุงเทพฯ เป็นภาวะที่ยากกว่า หนักกว่า ใช้สติสมาธิมากกว่า

     ใจหาย คิดขึ้นมาเมื่อไรก็ใจหาย

     ไม่แปลกหรอกที่เรามักได้ยินคนหนุ่มสาวพูดว่าเบื่อแล้ว พอแล้ว อยากออกไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด อยากกลับภูมินำเลา กลับไปคารวะภูมิปัญญาบรรพบุรุษ อยากกลับไปมีชีวิตช้าๆ สงบ เรียบง่าย อยู่กับดิน กับฟ้า กับอากาศโปร่งๆ

     พูดเป็นร้อยๆ ครั้ง พูดเป็นวรรคเป็นเวร เชื่อไหมว่าคนทำได้จริงมีไม่เกินจำนวนนิ้วมือข้างเดียว

     ถามว่าทำไม คำตอบง่ายๆ ก็เพราะมันไม่ง่ายเหมือนกับที่นั่งมโนด้วยใจโรมานซ์

     เอาแค่น้ำเรื่องเดียว–ถ้าท้องที่นั้นไม่มีระบบประปา ถ้าต้องเริ่มต้นใหม่หมด ดูเอาเถอะว่าต้องใช้พละกำลังเท่าไร

     แต่เดิม สองแท็งค์ซีเมนต์ที่เก็บน้ำที่คิดว่าพอ อยู่ไปๆ ก็ไม่พอ ต้องสร้างเพิ่มอีกสอง สระน้ำที่ว่ากว้างใหญ่ อยู่ไปๆ น้ำที่เต็มปริ่มในหน้าฝน พอพ้นธันวาคมก็แห้งเหือดเหลือแต่โคลน

     ก๊อกที่กรุงเทพฯ มันน่าคิดถึงน้อยอยู่ไหมล่ะ

     ไม่เด็ดเดี่ยว ไม่เด็ดขาดจริงๆ ฝันก็เป็นเพียงฝัน ไม่มีวันก้าวเท้าออกจากกรุงเทพฯ ได้เกินเจ็ดวัน

     ผมคิดว่าผมเห็นเรื่องราวเหล่านี้มาพอสมควร เห็นใจ เข้าใจ และมันไม่ใช่ความผิดเลยที่คนต่างจังหวัดจะผูกพันผูกติดอยู่กับกรุงเทพฯ ในสารพัดความน่าชัง กรุงเทพฯ มีข้อบวกมากมายที่ตัดใจทิ้งยาก เผอิญว่าผมอยากออกไปข้างนอกแล้ว ความรู้สึกนี้ชัดเจน และด้วยความที่ฟังมามาก เห็นตัวอย่างมาเยอะ ก่อนคืนกุญแจคอนโดฯ สู่มือเจ้าของห้องเช่าจึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้รัดกุม

     ความล้มเหลวบางชนิดมันน่าเบื่อ

     ถ้าจะพ่ายแพ้ ถ้าจะล้มเหลว มันควรได้ลงสนามสู้กันให้เต็มที่ก่อน ผมคิดเช่นนี้ ผมนั่งรถไปมาอยู่หลายรอบ ผมเดินวนไปทั่วพื้นที่แผ่นดินของตัวเอง จะทำสระน้ำตรงไหน ขนาดเท่าไร วางแท็งค์น้ำตรงไหน ใช้วัสดุอะไร เดินดู เดินคิด เดินดู เดินคิด เดินดู เดินคิด

     ซ้ำๆ วนๆ เหมือนคนบ้า

     กว่าจะสรุปว่าเอาเรื่องน้ำก่อน แล้วทำห้องน้ำ เพื่อนทำห้างหรือศาลามุงหญ้า ลองมาใช้ชีวิตดูซิ ลองกางเต็นท์นอนดูก่อนซิ ลองมาดูน้ำดูดินว่าเราจะอยู่กินอย่างไร ไหว /ไม่ไหว

     สองปี พูดตรงๆ นะ ผมยังจินตนาการไม่ออก สองปีผ่านไปแล้วและสรุปแน่นอนแล้วว่าพอกันทีกับชีวิตในเมืองหลวง ผมยังมองไม่เห็นภาพใหม่ ชีวิตในพื้นที่แปลกใหม่ ยังไม่นับปัญหาที่รอให้แก้ไขอีกนับไม่ถ้วน

     มืดๆ งงๆ เหงาๆ ผมบอกตัวเองว่าเอาเลย เดินหน้า ผ่านหน้าฝนนี้แล้วสร้างบ้านเลย

     ตอนนั้นเพียงจะพูดคำว่าบ้านยังออกเสียงไม่ค่อยถูก มันไกลสำหรับคนเงินน้อยที่ปฏิเสธการสร้างหนี้ ไกลสำหรับคนที่ถูกสอนมาว่าผู้ชาย ถ้าอายุสามสิบแล้วยังไม่มีบ้าน ก็จะไม่มีตลอดไป

     แต่เอา.. เป็นยังไงก็เป็นกัน เพราะเบื่อแล้วกับเรื่องเล่าของนักฝันเพ้อเจ้อ ฝันแล้วไม่ยอมลงแรง ฝันแล้วกลัวเจ็บกลัวหนาว

     .

     นับจากวันขึ้นปีใหม่ที่เข้านอนในบ้านน้อยหลังนี้ครั้งแรก ถึงวันนี้ก็ผ่านไปครึ่งปี ไม่เลวนะ ไม่เลว เพื่อนบางคนพูดแบบนั้น เมื่อได้เห็นภาพถ่าย ผมก็คิดว่าไม่เลว แม้จะยังไม่มีบันได และห้องน้ำในตัวก็ยังอิดๆ ออดๆ ว่าจะต่อเติมทำเพิ่มตรงไหนดี คงต้องทำ มันจำเป็นยามฝนตกฟ้าร้อง แต่ทำแล้วจะออกมากลมกลืนกับตัวบ้านไหม ทำแล้วจะไม่เป็นการออกแบบและใช้พื้นที่ผิดๆ เหล่านี้ยังเป็นเรื่องต้องคิด

     ระเบียงคงปล่อยเปลือยไปแบบนี้ โดยความตั้งใจอยากใช้นอนดูดาว และยามสายๆ ก็เป็นมุมหลบแดด นั่งเล่นนอนเล่นได้ถึงเที่ยง เสียดายเนื้อไม้ เสียดายที่คงสู้แดดสู้ฝนได้ไม่นาน แต่ช่างมัน ถ้าขยันก็ใช้พลาสติกคลุมไว้บ้าง หรือปล่อยเลยตามเลย ถึงเวลาหมดอายุก็ต้องยอมรับว่าหมดอายุ แต่ระหว่างที่อยู่ด้วยกัน เราจะใช้เวลาอยู่กับมันให้สาแก่ใจ

     ครัวคงต้องปรับอีก ที่นั่งกินข้าว ห้องเก็บของ เก็บหนังสือ ห้องรับรองเพื่อนพ้อง หลายส่วนถูกร่างไว้เป็นโปรเจ็กต์แห่งอนาคต ค่อยคิด ค่อยทำ รู้สึกดีมากๆ ที่ได้ทำบ้านเอง ทำด้วยมือของสามพี่น้อง ทำโดยไม่ต้องจ้างช่างสักคน /สักบาท

     ฟังดูไม่น่าเชื่อใช่ไหม

     ใช่– ไม่น่าเชื่อ เราคงทำความเชื่อมั่นและศักยภาพด้านนี้หล่นหายกันไปนานแล้ว

     ระหว่างการก่อสร้าง ‘สวนทูนอิน’ ฟังว่า ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เทียวไปเทียวมาระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่อยู่นานปี ช่วงแรกกางเต็นท์พักค้าง กินเหล้ากับช่าง เขาเป็นชายไทยที่รู้เรื่องบ้านดีมากๆ และงานที่ออกมาก็งดงามไร้ตำหนิ ผมไม่มีข้อมูลว่าเขาเพียงออกแบบ กำกับคุมงาน หรือลงมือขุดตอกด้วยตัวเองบ้างในบางส่วน สิ่งที่บอกได้ สำหรับ ‘สวนไผ่รำเพย’ เราทำกันเองกับมือ แม้จะมีเสียงแซวว่าทำไมมันออกมาไม่ค่อยจะเป็นบ้านเท่าไร บ้างก็ว่าเหมือนกุฏิพระป่าหรือศาลพระภูมิไปโน่น

     เอาน่า และใครว่าอะไรก็ยิ้ม ยอมรับฟังทุกอย่าง แต่ไม่เชื่อหรอก

     บางคนเกิดมาเพื่อบริโภคและผลิตซ้ำ บางเราเกิดมาเพื่อทำหน้าที่สร้างความหลากหลายให้โลก

     ชื่อสวนทูนอินตัดทอนมาจากวรรคทองของบุปผาชนคือ turn on, tune in, drop out

     ‘สวนไผ่รำเพย’ ตั้งจากชื่อของคนสองคน

     หนึ่งคือเพื่อน กวีราษฎร และอีกหนึ่งคือผู้หญิง

     ทั้งคู่ เป็นรูปธรรมและนามธรรมของคำว่า ‘รัก’

The post สวนไผ่รำเพย appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/opinion-worapoj-panpong-at-nan-suan-pai-rum-peay/feed/ 0
เลือก https://thestandard.co/opinion-worapoj-panpong-at-nan-select/ https://thestandard.co/opinion-worapoj-panpong-at-nan-select/#respond Mon, 12 Jun 2017 12:23:34 +0000 http://thestandard.co:8000/?p=2178

     ฟังดูโง่เขลาใช่ไหม หากใครสักคนบอกว่ […]

The post เลือก appeared first on THE STANDARD.

]]>

     ฟังดูโง่เขลาใช่ไหม หากใครสักคนบอกว่าเลือกลาจากกรุงเทพฯ เพราะอยากหายใจโล่งๆ

     โง่ช่างมัน

     ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ ถ้าเลือกได้ ผมอยากหายใจสบายๆ อยากได้อากาศดีๆ ที่ไม่ต้องระแวงระวัง ไม่ต้องยั้ง ไม่ต้องกลั้น การหายใจควรเป็นเรื่องของความอุ่นใจ มั่นใจ ชื่นใจ

     ถามว่ากรุงเทพฯ มันแย่ถึงขั้นหายใจไม่ออกหรือเปล่า

     เปล่าเลย แต่ที่น่านสบายกว่า

     การหายใจสบายอาจจะคล้ายๆ ความรู้สึกตอนกินของอร่อย เหมือนเวลาอาบน้ำ เหมือนเวลาเจอคนรัก นึกออกใช่ไหมว่ามันเบา สบาย

 

1

     รถเรือมีมากมาย ถนนมีหลายสาย แต่การจะหาทางออกจากกรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย

     ออกที่แปลว่าพอ เลิก ย้ายภูมิลำเนา เปลี่ยนฐานที่มั่น

     จะทิ้งไปได้ยังไง ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะโอกาส งาน เงิน การขนส่งสื่อสาร องค์กร /เวทีความรู้ ศิลปะ และแน่นอน, ทรัพยากรบุคคลในทุกวงการ

     ไม่ว่าจะอึดอัดกับคุณภาพชีวิตในกรุงเทพฯ แค่ไหน ก็ตัดใจ /ทำใจจากลายาก

     เอาแค่เรื่องง่ายๆ อย่างโรงหนังโรงละคร ต่างจังหวัดมีทางเลือกให้เราชื่นชมชีวิตหรือ

     ผมเข้าใจคนที่อยากจะเลือก อยากจะเลิก แต่มันเลือกไม่ได้ เลิกไม่ได้ หาทางออกไม่ได้ พูดกันอย่างถึงที่สุด มันพอมีหนทาง แต่เมื่อประสบการณ์และต้นทุนแทบทั้งชีวิตฝังรากลึกในเมืองหลวงเสียแล้ว การละทิ้งก็เท่ากับทำลายเส้นเลือดและท่อน้ำเลี้ยงของตัวเอง

     ชีวิตคนมันไม่ได้ง่ายเหมือนต้นไม้ในกระถาง นึกจะย้าย จะยก ไปวางที่ไหนก็ได้

     เจ็บปวดเกินไปที่จะจากลา จึงต้องยอมรับ ยอมจำนน ยอมทนเจ็บปวดกับการอยู่

     ใครจะยอมก็ยอมไป ผมไม่ยอม

 

2

     ชะตากรรมประเทศชาติใต้อำนาจและกลไกรัฐประหาร เท่าที่ผมเห็น มีแต่ความฉิบหาย

     สามปีผ่านไป และไม่รู้เลยว่าจะอีกยาวนานเท่าไร เฝ้ามอง ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ แม้ด้วยทัศนะของคนมองโลกแง่ดี ยิ่งมองก็ยิ่งเห็นความฉิบหายอันหาที่สุดมิได้

     โดยเฉพาะประเด็นทางเศรษฐกิจ ส่วนสิทธิเสรีภาพนั้นคงไม่ต้องให้สาธยาย

     ถือปืนมายืนอยู่เหนือกฎหมาย แล้วบังคับให้คนทั้งประเทศอยู่ใต้กฎหมาย เอาเท่านี้ มุมนี้ ถ้าใครยังมองไม่เห็นความวิปริตก็เปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่น ทัศนะต่อระบบการเมืองการปกครองระหว่างเราแตกต่างห่างไกลกันเกินไป

     ใต้รัฐประหาร ใต้อำนาจกระบอกปืน หลายเรื่องเราเลือกไม่ได้

     วันเวลาแห่งความป่าเถื่อนเลวทรามเช่นนี้ ผมเห็นว่าสิ่งที่จำเป็นมากคือความรู้ ปกติความรู้สำคัญและจำเป็นแน่ๆ แต่ห้วงยามวิกฤติ ความรู้ยิ่งสำคัญและจำเป็น

     ยามวิกฤติ ความรู้มีค่าราคาไม่น้อยกว่าอากาศ

     ไม่มีความรู้ ไม่ขวนขวายแสวงหาความรู้ เรามีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย

     ลำพังเพียงจะรับมือกับความหงุดหงิด ความสะอิดสะเอียน ความน่าสมเพชรายวัน ก็ไม่รู้จะพลิกตำราหน้าไหนมาใช้ เพราะมันหลั่งไหลมาให้ด่าให้บ้าคลั่งได้ทั้งวัน

 

3

     กล่าวอย่างหยาบๆ ความรู้มีสองระดับคือความรู้ในทางทำมาหากิน และความรู้ที่จะเลือกใช้ชีวิต

     ทั้งสองต้องจับมือก้าวเดินไปด้วยกัน ผิดพลาดหรืออ่อนแอในอย่างแรก อย่างหลังย่อมถูกบังคับให้เล่นท่ายาก กระทั่งปิดตายในทุกประตู ไม่เหลือหนทางให้เลือก

     กับตัวเอง การทิ้งกรุงเทพฯ เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการบริหารรายรับรายจ่าย หายใจไม่สบายแล้วยังต้องจ่ายแพงมันไม่ใช่วิสัยของวิญญูชน

     ค่าครองชีพบ้านนอกถูกกว่า ถ้าไม่มือบางเกินไป ชั่วๆ ดีๆ ก็พอปลูกผักหญ้าไว้กินเองได้ ของบางอย่างไม่ควรซื้อ อะไรประหยัดได้ก็ต้องเคร่งครัด ต้องหัดเดินออกจากเซเว่นฯ

     อากาศแย่ๆ และความน่าอึดอัดของบรรยากาศการเมืองเป็นแรงส่งสูงต่อคำตอบว่า พอแล้ว ทนอยู่ต่อไปไม่ไหวแล้ว กรุงเทพฯ เพาะสร้างเรามา แต่ถ้าอยู่นานเกินไป กรุงเทพฯ จะกัดกร่อน กลืนกินความฝันของเรา ทีละน้อย ทีละน้อย ผมคิดถึงคำว่า perspective คิดถึงคำว่า space สนใจคำว่า silence

     ผมมีทัศนะว่าเงินน้อยก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เอ่อ เข้าใจให้ตรงกันก่อนนะครับว่าผมชอบเงิน และไม่ได้อยากมีน้อยๆ แต่ถ้าศักยภาพทางการเงินมีจำกัดจำเขี่ยเท่านี้ ธรรมชาติและสันดานเกิดมาเป็นคนไม่ชอบหาเงินเช่นนี้ ก็ต้องยอมรับความจริง และย้ำ /ยืนยันเหมือนเดิมว่า เงินน้อยก็ไม่ได้แปลว่าชีวิตจะต้องแตกหักพังทลาย เงินน้อยก็สร้างสวนสวรรค์ส่วนตัวได้ –อย่างทระนง

     การอำลากรุงเทพฯ การแสวงหาขอบฟ้าและอากาศใหม่ๆ ของผมยืนอยู่บนพื้นฐานความเชื่ออีกอย่างหนึ่งคือสลับ

     บริโภคเนื้ออย่างเดียวแบบเดียวไม่ดี ต้องมีผักปลาแทรกสลับบ้าง หายใจอยู่แต่ในเมืองหลวงนานเกินไปก็ไม่ดี ต้องหาเวลาออกไปข้างนอกบ้าง

     ไม่เปลี่ยน perspective เลย ย่อมไม่เกิดความหลากหลายในทางข้อมูลและภูมิปัญญา ไม่มีเวลาให้กับความเงียบเลย ย่อมไม่ได้ยินเสียงหัวใจตัวเอง ไม่เท่าทันอารมณ์ความรู้สึก และหากไม่มีที่ว่าง ไหนเลยความคิดสร้างสรรค์จะโลดแล่น พัฒนา

     โลกหมุน สรรพสิ่งเคลื่อน ผู้คนควรสลับ ปรับ ย้าย

     นั่งนานๆ เมื่อยก็ลุกขึ้นเดิน

     มีหลักการ มีจุดยืน แต่ยืดหยุ่นในบางมิติ ผ่อนพัก รู้จังหวะหนักเบา

     งานของผมไม่จำเป็นต้องอยู่เมืองหลวง เทคโนโลยีก้าวหน้าขนาดนี้ อยู่ส่วนไหนของโลกก็ทำงาน ส่งงาน สื่อสารกับบรรณาธิการและผู้อ่านได้

     หนำซ้ำบางมิติ กลับจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะ perspective เคลื่อนขยาย มีที่ว่าง มีเวลามากขึ้น

     แน่ละ อาจต้องห่างไกลศูนย์กลางแหล่งข่าวสารข้อมูล แต่นอกศูนย์กลาง หรือพื้นที่ชายขอบก็ใช่ว่าจะไม่มีแสงสว่าง หรือไร้เรื่องราวน่าสนใจ

     มีผู้คนที่ไหนย่อมมีเรื่องเล่า มีผู้คนที่ไหนย่อมมีแง่มุมให้ค้นคว้าเรียนรู้

     ดีเสียอีก ศูนย์กลางจะได้กระจายอำนาจออกไปบ้าง ดีเสียอีก ต่างจังหวัด ต่างปรัชญา ต่างศรัทธาความเชื่อ จะได้มีพื้นที่ มีตัวตน ว่าเขาและเธอก็มีศักดิ์และสิทธิ์ในความเป็นคนที่เท่าเทียมกัน

ที่ต้องพบปะทะตรงๆ แรงๆ ผมมองไปที่ประเด็นความสัมพันธ์ คนที่เรารัก มิตรสหายและเพื่อนพี่น้องส่วนใหญ่ล้วนสังกัดอยู่ในกรุง การทิ้งกรุง มองผิวเผินอาจเหมือนจงใจทิ้งผู้คนและลดระดับความสัมพันธ์

     หามิได้

     ตรงกันข้ามเลย ผมคิดว่าการเว้นที่ว่างไว้บ้าง ห่างๆ จากกันและกันบ้าง อาจเป็นปัจจัยบวก ทำให้เรากระจ่างในสัมพันธภาพมากยิ่งขึ้น บางทีอยู่ใกล้ก็รุงรัง เรื่องมาก กระทบกระทั่งกันง่าย

     ระหว่างกรุงเทพฯ กับน่าน นั่งรถแปดเก้าชั่วโมงก็ถึง หรือถ้าใจร้อนเกินจะอดจะทน ลงทุนควักเงินพันเเศษๆ ซื้อตั๋วเครื่องบิน เพียงชั่วโมงเดียวก็ได้กอดกันแล้ว

     มันไม่ยากหรอกน่า ถ้าเราคิดถึงกัน

 

4

     แผ่นดินออกกว้างใหญ่ ถามว่าทำไมเลือกน่าน

     และตัวเมืองน่านก็ออกจะทันสมัย สะดวกสบาย ดันไปเลือกหุบเขาป่าเปลี่ยว น้ำ ไฟ เดินทางไปไม่ถึง

     คำตอบคือเจอที่ และมีเพื่อน ในวงเล็บว่าราคาก็ต้องอยู่ในอำนาจที่จ่ายไหว

     นกน้อยทำรังเกินตัวจะต่างอะไรกับการเอาหัวพุ่งชนกำแพง คนสติดีๆ เขาไม่ทำกัน

     ต้นไม้และภูเขาอยู่ตรงหน้า ไม่ต้องห่วงว่าจะหายใจไม่สบาย ไหนจะความเงียบสงบ เป็นส่วนตัว ทางลูกรังช่วงแยกจากถนนราดยางเข้าบ้านราวสักสองกิโลเมตรนั้นเป็นปัญหาอยู่บ้าง ในหน้าฝน แต่ฝนที่ไหนจะตกตลอดเวลา และจะเละจะลื่นยังไง ก็พอดิ้นรนหาวิธีเดินทางได้ ส่วนน้ำไฟ ผมไม่ค่อยกังวล วัยเยาว์ที่โคราชลำบากกว่านี้เยอะ

     มีปัญหาก็แก้ปัญหา ทุกๆ ที่ล้วนมีข้อดีแบบหนึ่ง ข้อด้อยแบบหนึ่ง เราเลือกแล้วก็อยู่กับมันไป ดีแค่ไหนแล้วที่ได้เลือก และเลือกได้

     ถามอีกว่า สิ่งที่เลือกนั้นถูกต้องเสมอไปหรือเปล่า คำตอบที่ใครก็รู้คือไม่แน่

     ต่อให้ไตร่ตรองด้วยสติ พินิจพิจารณาเป็นร้อยๆ รอบ เราอาจเลือกผิดก็ได้ ผิดไปหมดเลยทั้งการทิ้งกรุงเทพฯ และเลือกมาใช้ชีวิตที่น่าน

     “สัส มึงมาเหี้ยอะไรที่นี่” ตอนยุงเยอะๆ ฝนตกไม่หยุด หิว ออกไปหาของกินไม่ได้ หรือตอนเจองูเป็นครั้งที่สี่ในรอบหนึ่งวัน หรือตอนที่อยากคุยกับใครสักคนเพราะไม่ได้อ้าปากพูด ไม่ได้เจอผู้คนมาสองสามวันติดๆ แล้ว ด้วยความจริงใจ ผมเคยก่นด่าตัวเอง

     ด่าด้วยรอยยิ้ม

     “ใครบังคับมึงมา” ใช่–เลือกแล้ว จะอิ่มจะหิว จะอุ่นจะหนาว ก็ต้องรับผิดชอบ

     ไม่ได้เลือกตอนเมา หรือมีกุมารทองมาเข้าฝัน ผมเลือกด้วยการสะสมข้อมูล จากการเดินทางทั่วประเทศ กว่าจะลงเอยที่น่านก็ผ่านการคิดการดูอยู่นาน แต่ก็นั่นแหละ ข้อมูลดีและเตรียมตัวนาน ไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปว่าเลือกถูก

     คนเรามันผิดพลาดกันได้

     เบื้องต้นคือเลือกแล้วต้องลุยดูก่อน ล้มก็ลุก ล้มอีกก็ลุกใหม่ ล้มอีก ก็ลุกขึ้นยืนใหม่ พยายามให้ถึงที่สุด ทุ่มเทเอาให้จบเกมก่อน ถ้าพบว่าไม่ไหว ไปไม่รอด ก็เลิก

     ทำไมต้องกักขังตัวเองไว้ที่กรุงเทพฯ หรือที่น่าน สนใจปารีส หรืออยากไปเปรู ศึกษาหาทางไปอยู่สักปี มันจะเป็นไรไป

 

5

     โดยรวม ผมรู้สึกดีกับชีวิตใหม่ที่น่าน ดีที่ว่าคือที่ผ่านมาจนถึงนาทีนี้นะครับ ส่วนพรุ่งนี้ –ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาเขาดีกว่า เราไม่อาจหยั่งรู้

     รู้แค่คืนนี้ เราก็คงนั่งดูดาวอยู่ข้างกองไฟ

     ประสาคนชอบเล่นกับไฟ.

The post เลือก appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/opinion-worapoj-panpong-at-nan-select/feed/ 0
ลา https://thestandard.co/opinion-worapoj-panpong-at-nan-goodbye/ https://thestandard.co/opinion-worapoj-panpong-at-nan-goodbye/#respond Sat, 03 Jun 2017 11:20:46 +0000 http://thestandard.co:8000/?p=2131

    ถ้าเธอมองมา เธอจะเห็นผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู […]

The post ลา appeared first on THE STANDARD.

]]>

    ถ้าเธอมองมา เธอจะเห็นผู้ชายคนหนึ่งนั่งอยู่ข้างกองไฟ แสงตะวันเพิ่งลับทิวไผ่ ความมืดเดินทางมากับความเงียบ ที่จริงก็เงียบทั้งวัน แต่พอมืด มันเหมือนยิ่งเงียบมากขึ้นๆ ดาวดวงแรกทอแสงจางๆ เขาวางไฟฉายไว้ข้างกาย มีดอีโต้ กีตาร์ที่จับมากอดบ้างปล่อยบ้าง ร้องเพลงเบาๆ เพลงเก่าแก่ที่วนเวียนร้องเล่นอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่านั่นแหละ

    เมื่อวานก็ฉากนี้ ท่านี้ คืนก่อนก็แบบนี้ และลองว่าตกเย็นวันนี้เริ่มต้นด้วยการนั่งข้างกองฟืนกองไฟ ปล่อยใจลอยเร่ ทอดสายตามองตามแสงหิ่งห้อย อีกบางทีเพ่งมองเปลวเพลิง.. พรุ่งนี้ชีวิตก็คงซ้ำๆ วนๆ

    เพียงลำพัง

    บ้านเราไม่มีอะไรเลย มีแต่ภูเขา ต้นไม้ และดวงดาว –เวลาใครถามว่าเป็นยังไง ชีวิตใหม่ที่น่าน บ้านช่องเรียบร้อยหรือยัง เขาจะตอบทีเล่นทีจริงให้น่าหมั่นไส้ทำนองนี้

    ชอบๆ อยากไปๆ –ถ้าพูดว่าชอบ คนกรุงเทพฯ ไม่ได้โกหก คำว่าภูเขา ต้นไม้ ดวงดาว มันฟังสบายหู น่าอยู่ น่าสัมผัส น่าไปนอนตากลมห่มฟ้า เขาและเธอแค่ไม่เข้าใจคำว่า ‘ไม่มีอะไร’ แปลว่าไม่มีอะไรจริงๆ หนักกว่านั้นอีกคือไม่มีใครเลย ไม่มีใครสักคน แดดและฝนคือเพื่อน ความหนาวซุ่มซ่อนรอจังหวะ คล้ายเขาพาชีวิตหมุนย้อนยุคกลับไปสักสี่สิบห้าสิบปี อยู่คนเดียวกลางป่า แมลงมีพิษ นก หนู งูเงี้ยวเขี้ยวขอเริงระบำอยู่รอบกาย

    อันตราย ถ้าไม่ระมัดระวัง คลุ้มคลั่งเอาง่ายๆ ถ้าจิตใจหวาดหวั่น ขวัญอ่อนกับสุ้มเสียงแปลกประหลาด กับสีแสงแปลกประหลาด

    ไม่ง่ายหรอกที่จะมีชีวิตอยู่

    แล้วเขามาอยู่ทำไม

    นั่นสิ แล้วผมแส่หาเรื่องมาอยู่ทำไมที่นี่ –ที่น่าน

 

    จะบอกว่าไม่อาลัยอาวรณ์เอาซะเลยมันก็เกินไป

    ยี่สิบห้าปีในเมืองหลวง ถ้าเป็นคนก็ลุล่วงเคลื่อนเข้าเบญจเพส ระยะเวลาอันยาวนานบวกกับเรื่องราวในระหว่าง มากบ้างน้อยบ้าง เมื่อตัดใจจากมาย่อมมีห้วงยามคิดถึง คิดถึงทั้งผู้คน การงาน สถานที่ และความเคยชิน แน่ล่ะ เราต่างเสพติดความเคยชิน อย่างน้อยที่สุด จะกินจะนอนอย่างไรก็ไม่ต้องเสียเวลาคิด มือมันไปเอง ใจมันไปเอง

    ไม่ใช่บ้านเกิดแท้ๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ ก็คือบ้าน

    ประสาคนจร ชีวิตมันก็รอนแรมไปทั่ว

    หนองแขม ตกงาน /บากหน้ามาขออาศัยห้องเช่าของพี่สาวอยู่หลายเดือน หลายคืนนุ่งผ้าขาวม้าหลับรอจนเที่ยงคืน น้ำประปาสุดที่รักก็ยังไม่ไหล

    ถนนพระอาทิตย์เมื่อครั้งที่ยังปลอดผับบาร์ นั่นก็เคยเป็นบ้าน อีริค แคลปตัน ชุด Unplugged กำลังแรง มีคาสเซตต์เทปแล้ว ลงทุนซื้อลำโพงขนาดจิ๋วมาเสียบเข้าซาวด์อะเบาต์ ห้องต่อเติมบนชั้นลอย ห้องน้ำรวม (เน่าๆ) ก็พอกล้อมแกล้มน่านอนขึ้น

    ปิ่นเกล้า ปิ่นทิพย์อพาร์ทเมนท์ ในซอยตรงข้ามพาต้าปิ่นเกล้า เช่าอยู่กับเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ บางคืนนั่งดูละคร ‘เรือนแพ’ ด้วยกัน นุสบาเป็นนางเอก เล่นคู่กับใครนะ ใช่ศรัณยูหรือเปล่า พงษ์พัฒน์ รู้สึกจะมีจอนนี่ด้วย เพลงประกอบเวอร์ชันคัฟเวอร์ขับร้องโดย วสันต์ โชติกุล

    ประชาชื่น ห้องเช่าเท่ารูหนูในหมู่บ้านปูนซิเมนต์ไทย ขออาศัยพี่สาวอยู่รอบสอง คราวนี้อุ้มลูกจูงเมียไปด้วย เช้าๆ เย็นๆ ที่ว่างเว้นการงาน กระเตงกันไปป้อนข้าวป้อนน้ำในสนามฟุตบอล บางทีหน้ามึนอุ้มขึ้นรถเมล์สาย 70 ไปปั่นเรือเล่นที่เขาดิน

    คลองขวาง หลังนี้รัก ผูกพัน และอยู่หลายปี เพื่อนใจดีบางคนหิ้วต้นกล้ามะฮอกกานีจากย่านศรีนครินทร์ไปมอบให้ ป่านนี้เติบใหญ่อายุไล่เลี่ยลูกสาว อีกบางคนอุ้มลูกหมาจากรังสิตไปฝากอุปการะ (เติบใหญ่ นิสัยดี แต่ตายไปหลายปีแล้ว –ยังคิดถึงเสมอ) ปี 2549 ช่วงที่ลงไปทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปรษณียบัตรลายมือโย้เย้จำนวนหนึ่งของเด็กหญิงคนหนึ่งเดินทางจากบ้านหลังนี้ไปถึงมือคนเป็นพ่อ ท่ามกลางสายฝน เสียงอาซาน ป่ายาง และความไม่สงบรายวัน เขานั่งอ่านมันด้วยน้ำตา

    ตรอกไก่แจ้ คืนสู่วิถีห้องเช่า คราวนี้ขออาศัยอยู่กับเพื่อนหนุ่มคนทำหนังสือ ห้องโทรมๆ เล็กๆ แต่เขาเรียกมันอย่างร่าเริงว่าคอนโดฯ หรู คืนไหนคนรักมาหา เพื่อนหลบเลี่ยงเฉไฉไปนอนออฟฟิศ เย็นไหนปีศาจสันหลังยาวสิงสถิต พากันหอบเสื่อถือหมอนขึ้นไปนั่งๆ นอนๆ กินเบียร์บนดาดฟ้า อา.. ดูเหมือนปีศาจตนนี้มีฤทธิ์ร้ายแรงนัก ถึงกระทืบเท้าขับไล่มันก็เทียวไล้เทียวขื่อ ดื้อดัน ดิ้นรนกลับมาหาเราอยู่เรื่อย

    คอนโดฯ หรูย่านจรัญสนิทวงศ์ แรกทีเดียวเพื่อนหนุ่มชวนไปดื่มชมสวนหลายครั้งหลายหน ไม่ไป ไม่ชอบ รถติด อยากอยู่โซนพระอาทิตย์มากกว่า (ผับบาร์ผลิบานแล้วสินะ เวลานั้น) พอพลาดพลั้งลองไป ปรากฏว่าติดใจอยู่ยาวจนเจ้าของเดิมย้ายออกไปมีครอบมีครัวกันหมดแล้ว ไอ้คนที่ท่ามาก ชวนแล้วไม่มาก็ยังไม่ยอมย้ายไปไหน

    มันยึดห้องเช่านั้นทำเป็นบ้าน –สภาพสลัมอย่างนั้นเรียกว่าบ้านได้ไหม ไม่รู้ มันเรียกของมัน มันรักของมัน

    จากงานแรกซึ่งล้มเหลวที่พัทยา กระเซอะกระเซิงเข้ามาแสวงโชคในเมืองหลวงปี 2535 ถึงวันนี้ ครบรอบขวบปีที่ยี่สิบห้าพอดี

    พอดี และพอกันที

   

    ไม่ได้ป่วย หรือเป็นโรคภูมิแพ้เหมือนพี่ป้าง

    กรุงเทพฯ น่ารัก มีเสน่ห์ น่าหลงใหลในแบบของมัน ขณะเดียวกันก็น่าชิงชังเฉพาะตัว

    แหล่งหนังสือเก่า ข้าวของมือสอง ย่านท่าช้าง ท่าพระจันทร์ น่าเดินอย่างยิ่ง เย้ายวนใจอย่างยิ่ง นิสัย สายตา และเวลาที่มีพอจะจับจ่ายอย่างฟุ่มเฟือยทำให้ผมได้หนังสือดีๆ หลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็นงานของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, สุวรรณี สุคนธา อ้อ เชิ้ตตัดอ้อยและกางเกงลูกฟูกเนื้อนุ่มราคาหย่อนร้อยก็พบได้ที่นี่ เดี๋ยวนี้หาไม่มีแล้ว ฟังว่าหาบเร่แผงลอยมันเกะกะ เป็นทัศนอุจาด ชาวกรุงเขาโปรดปรานห้างสรรพสินค้า

    ธรรมศาสตร์นี่ก็แหล่งหนังสือเก่า รอบสนามฟุตบอล หน้าหอเล็ก หอใหญ่ มีงานออกร้านแทบทั้งปี ไหนจะฟรีคอนเสิร์ต ขยันแวะมาอ่านโปรแกรมซะหน่อย (เน็ตยังไม่มีเนอะ ตอนนั้น) แต่ละวีกเอนด์ก็มีงานศิลปะบันเทิงให้เสพ ให้ชม ให้ครุ่นคิดไม่ขาด

    มันเหมือนฝนเบาบางที่ทำให้เมืองไม่แห้งแล้ง

    ศิลปากร วังท่าพระ อู่ข้าวอู่น้ำเรื่องงานศิลปะ แต่ดนตรีก็มีให้โยกให้คลึงตลอด

    ข้าวสาร ‘ถนนสายสั้นที่มีความฝันยาวที่สุดในโลก’ เกือบยี่สิบปีก่อนเคยใช้คำเวอร์ๆ แบบนี้เพื่อบอกเล่าว่ามันบันเทิงตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง มันคือจุดพักของนักเดินทางทุกเผ่าพันธุ์ เบื่อๆ บางวันหลบไปนั่งกินเบียร์ คุยกับคนแปลกหน้าบ้าง หาหนังสือเก่าดูบ้าง นับเป็นเวลาที่ดี เสียดายเดี๋ยวนี้มุมเงียบๆ หายากไปนิด เสียงเพลงดังๆ ไม่ใช่ความน่ารังเกียจ เพียงแต่ว่ามันเป็นแบบนั้นกันหมด ไม่มีที่ว่าง ห่างไกลจากความหมายเก่าที่มีจุดแข็งในเรื่องความหลากหลายและคาดหมายไม่ได้

    ย่านพิชัย ศรีย่าน ราชวัตร เอ่ยชื่อก็ได้กลิ่น รู้รส สีสัน บรรยากาศ เพราะใช้ชีวิตอยู่ยาวนาน ทั้งการงานและบ้านพักเพื่อนฝูง วนๆ เวียนๆ ราวต้องคำสาป เอาแค่เวลา เรื่องราว ความผูกพัน เฉพาะกับช่วงที่ทำงานอยู่กับนิตยสาร GM และ open ก็เล่าได้เป็นวัน และเป็นรากฐานทางความคิดที่สำคัญ รากที่แทงลึกลงไปในเนื้อนาดินศิลปะ กวี

    รากที่หยัดยืนขึ้นสู่แก่นและกิ่งในวิถีสัตว์โทน

    บางรัก, รามคำแหง, สวนเงินมีมา, ประชาอุทิศ, สะพานพุทธ, สวนจตุจักร, สะพานเฉลิมวันชาติ, ถนนพระสุเมรุ, แยกแคราย และหลังโรงพักนางเลิ้ง แต่ละคืนในแต่ละวัน ความปรารถนา/ทะเยอทะยาน ความดิบเถื่อน/ท้าทาย เปลวไฟแห่งวัยหนุ่ม เรื่องราวและร่องรอยอันลบลืมไม่ได้เหล่านั้นเสมือนข้าวปลาอาหารที่หล่อเลี้ยงวิญญาณเปลี่ยวราวถนนไร้ชื่อหรือหุบเหวไร้ก้น หิวกระหายตลอดเวลา โหยหาทั้งความรู้และความรัก

    หัวใจกระจัดกระจาย กระโจนไปในความมืด อีกบางทีเหนื่อยหน่าย สมเพชตัวเอง ความรู้สึกสลับไปมา เอา/ไม่เอา ใช่/ไม่ใช่ เลิก/ไม่เลิก แลก/ไม่แลก..

    ถนนราชดำเนิน, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, แยกราชประสงค์ ทุกรอยเลือดและความตายปลุกให้ตาสว่าง กระดูกสันหลังตั้งตรง และไม่มีวันศิโรราบ

    เรื่องนี้ชัดเจนในใจ

    เมืองใหญ่เมืองนี้มีพลัง มีอำนาจ มีอิทธิพลกับผู้คนหลายสิบล้านชีวิต บางคนเข้ามาแล้วไม่อยากออก บางคนหาทางออกไม่เจอ

   

    ผมเห็นว่าท้องฟ้ากรุงเทพฯ ยังคงงดงาม

    ยามเช้า ยามเย็น และค่ำคืน หากขยันเงยหน้ามองหาก็พอจะพบเห็น เป็นที่พักใจได้ไม่เลว แก้รถติดและล้างมลพิษคงไม่ได้ แค่พอช่วยผ่อนคลาย ทุเลา

    ยี่สิบห้าปี –ดังที่กล่าวซ้ำๆ ผมรักกรุงเทพฯ แต่โลกยังอีกกว้าง เมื่อมีชีวิต ผมอยากใช้ชีวิต เมื่อยังมีเวลา ผมอยากใช้เวลา และถึงเวลาไปก็ต้องปล่อยมือ ชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง ชีวิตคือเรื่องชั่วคราว และแม้ชีวิตจะแปลว่าอิสรภาพ แต่หลายเรื่อง เราเลือกไม่ได้หรอก

    อยากเก็บ อยากกอด ก็เก็บกอดเอาไว้ตลอดเวลาไม่ได้ เผลอไผลผัดผ่อนไม่เลือกสักที สุดท้ายก็จะถูกบังคับ ฉะนั้น สำหรับผม, อะไรเลือกได้ เราต้องเลือก

    ผมเลือกโบกมือลา

    ผมปรารถนาขอบฟ้าและอากาศใหม่ๆ

The post ลา appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/opinion-worapoj-panpong-at-nan-goodbye/feed/ 0