พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Mon, 15 Nov 2021 10:41:34 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 โค้งสุดท้าย COP26: เป้าหมายสูงสุดของการประชุมนี้คืออะไรกันแน่ https://thestandard.co/cop26-and-ultimate-goal/ Mon, 15 Nov 2021 10:41:34 +0000 https://thestandard.co/?p=560036 COP26

อาทิตย์แรกของเวที COP26 ที่ผ่านมา เราจะได้ยินซ้ำๆ ไม่กี […]

The post โค้งสุดท้าย COP26: เป้าหมายสูงสุดของการประชุมนี้คืออะไรกันแน่ appeared first on THE STANDARD.

]]>
COP26

อาทิตย์แรกของเวที COP26 ที่ผ่านมา เราจะได้ยินซ้ำๆ ไม่กี่เรื่อง เช่น เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของแต่ละประเทศ การลงนามในสัญญาต่างๆ อย่างการยุติการทำลายป่าภายในปี 2030, การลดการปล่อยก๊าซมีเทน 30% ภายในปี 2030 หรือการตั้งเป้ายกเลิกการใช้ถ่านหิน

 

แต่ที่จริงแล้วประเด็นเหล่านี้เป็นแค่ประเด็นเสริมที่ผู้ประชุมอยากให้เราได้ยินและพยายามปั้นกระแสในอาทิตย์แรกช่วงที่คนทั่วไปยังสนใจอยู่ แต่ไม่ใช่ที่เขาเรียกกันว่า ‘End Goal’ หรือเป้าหมายสูงสุด

 

End goal ของเวทีนี้ ปัจจุบันทำให้ผู้ประชุมจากทั่วโลกไม่ได้หลับไม่ได้นอน เป็นประเด็นที่ตกค้างมายาวนานตั้งแต่ COP21 ที่กรุงปารีส คือการสรุปรายละเอียดของ ‘ตลาดคาร์บอนระดับโลก’ โดยตั้งเป้าว่าจะมีข้อสรุปที่จะเสนอต่อสังคมโลกได้ภายในวันสุดท้ายของการประชุม

 

ดีลข้อตกลงนี้คือตัวชี้วัดความสำเร็จของ COP26 หรือหลายคงมองว่าเป็นมากถึงตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรนานาชาติในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ Climate Change หัวข้อ ‘ตลาดคาร์บอนระดับโลก’ อาจจะทำให้หลายคนเกาหัว ซึ่งผมจะเริ่มจากการอธิบายขั้นพื้นฐาน เพื่อที่ทุกคนจะได้เข้าใจไปพร้อมๆ กัน

 

Climate Change คือ ‘ปรากฏการณ์ระดับโลก’ แปลว่าอะไร

ประเด็นหลักที่เราจะต้องยึดไว้ตลอดคือ ‘Climate Change’ เป็น ‘ปรากฏการณ์ระดับโลก’ หรือ ‘Global Phenomenon’ ซึ่งแปลว่า ก๊าซคาร์บอนที่ถูกปล่อยออกมาจะขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศและจะกระจายไปทั่วโลก ไม่มีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ ไม่ได้ค้างอยู่เฉพาะในบริเวณประเทศหรือในทวีปนั้นๆ ซึ่งคาร์บอนที่ปล่อยโดยประเทศหนึ่งจะสร้างผลกระทบต่อประเทศอื่นได้ (เช่น คาร์บอนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในไทยอาจจะไปสร้างผลกระทบต่อประเทศในแอฟริกา) ทำให้มีความแตกต่างจากมลพิษท้องถิ่น เช่น ฝุ่นละออง PM2.5 ที่เป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษและที่ที่ได้รับผลกระทบคือที่เดียวกัน (ควันดำๆ จากรถเมล์ของเรากับบรรยากาศขมุกขมัวใน กทม.)

 

มองง่ายๆ ก็เหมือนควันบุหรี่มือสองที่ผู้สูบไม่ได้ทำร้ายตัวเองอย่างเดียว แต่ทำร้ายผู้อื่นด้วย ซึ่งในกรณีนี้ผู้อื่นคือทุกคนบนโลก

 

ที่ผ่านมาความเป็น ‘ปรากฏการณ์ระดับโลก’ นั้นมักถูกมองเป็นเชิงลบ โดยเฉพาะด้าน ‘ความยุติธรรม’ เช่น การที่ประเทศที่ได้รับผลกระทบ (ภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น) กับประเทศที่ปล่อยมลพิษไม่ใช่ประเทศเดียวกัน (ถามว่าประเทศเกาะเล็กๆ กลางแปซิฟิกที่ต้องเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น (และอาจต้องย้ายออก) มีบทบาทต่อการปล่อยคาร์บอนมากน้อยขนาดไหน) เหมือนกับการที่คนสูบบุหรี่ไม่เป็นอะไร แต่กลับเป็นคนอื่นที่ป่วยแทน

 

‘ไม่สำคัญว่าจะลดที่ไหน ขอแค่ลดก็พอ’

แต่ในทางกลับกัน หลายคนอาจมองว่าจากเดิมที่เป็นปัญหา อนาคตจะเป็นทางออกที่จะช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ เพราะหลักคิดคือ ถ้าปล่อยมลพิษจากที่หนึ่งจะก่อปัญหาให้ที่อื่นได้ ถ้าอย่างนั้นการลดมลพิษจากที่หนึ่งก็จะลดปัญหาที่อื่นได้เช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดแนวคิดว่า ‘ไม่สำคัญว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนที่ไหนบนโลกนี้ ขอแค่ได้ลดก็พอ’ เพราะถึงอย่างไรก็ค่าเท่ากัน เนื่องจากคาร์บอนก็กระจายไปทั่วโลกอยู่ดี

 

แปลว่า แทนที่แต่ละประเทศจะต้องหาทางลดมลพิษในประเทศตัวเอง ประเทศนั้นจะจ่ายเงินให้ประเทศอื่นลดแทน และใช้จำนวนการลดนี้สำหรับเป้าหมาย Net Zero ของตัวเองได้

 

เหมือนกับไปจ่ายให้คนอื่นเลิกสูบบุหรี่ ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อส่วนรวม เพราะถ้าคนนั้นเลิกสูบไปหนึ่งคน ก็จะมีปริมาณควันบุหรี่ลดลง แม้คนที่จ่ายเงินนั้นก็ยังสูบบุหรี่เท่าเดิมก็ตาม แถมยังได้เคลมผลงานอีก

 

ตัวอย่างระดับประเทศคือ ประเทศจีนที่ได้ตั้งเป้า Net Zero ไว้ปี 2060 ซึ่งการที่จีนยังต้องส่งเสริมอุตสาหกรรมหนักอยู่ (เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ ปิโตรเคมี) และการพึ่งพาถ่านหินในภาคพลังงานทำให้การลดการปล่ายคาร์บอนมีความท้าทายอย่างมาก ซึ่งจีนจะมี 2 ทางเลือก ระหว่างลดการปล่อยคาร์บอนของตัวเอง หรือจ่ายให้ประเทศอื่นลดแล้วนับเป็นการลดของจีน

 

แม้หลายคนมองว่าจะทำให้บางประเทศหลีกเลี่ยงการลดคาร์บอนของตนเอง แต่ถ้ากลับมาที่แนวคิดเดิมที่ไม่เน้นเรื่องสถานที่ของการลดคาร์บอน แนวทางนี้ก็ตอบโจทย์

 

ตลาดคาร์บอนระดับโลก

พอเข้าใจหลักคิดจากด้านบนแล้ว จึงไม่แปลกใจทำไมมีความพยายามที่จะทำให้กลายเป็นระบบที่เป็นรูปเป็นร่างให้ได้ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งระบบที่เป็นรูปเป็นร่างนี้คือการสร้าง ‘ตลาดคาร์บอนระดับโลก’ โดยมี 2 มิติ

 

  1. ระดับประเทศ ประเทศ ก ได้รับ ‘คาร์บอนเครดิต’ (หรือ Carbon Offset) จากการทำโครงการปลูกป่า และขายร่วมกับประเทศ ข ซึ่งประเทศ ข จะอ้างอิงโครงการนี้สำหรับเป้าลดคาร์บอนของประเทศได้ เป็นข้อตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศ ก กับ ข
  2. ระดับองค์กร องค์กรอนุรักษ์ป่าในไทยแห่งหนึ่งได้ทำโครงการปลูกป่าและได้รับคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะขายได้เช่นกัน แต่ที่แตกต่างคือจะมี ‘ตลาดคาร์บอนเครดิต’ ที่เป็นตัวกลางในการเทรด (ให้คิดเหมือนตลาดหุ้น) ซึ่งผู้ที่มาซื้ออาจจะเป็นผู้ผลิตเหล็กจากเยอรมนี หรือสายการบินราคาถูกจากสหราชอาณาจักร โดยทั้งคู่ก็คงจะมีเป้า Net Zero เช่นกัน

 

ปัจจุบันมีการเทรดคาร์บอนเครดิตแล้ว และได้รับความสนใจอย่างมาก ทาง Bloomberg BNEF ได้รายงานว่า 8 เดือนแรกของปีนี้มีการเทรดมากกว่าปีที่แล้วทั้งปี แต่ประเด็นสำคัญคือปัจจุบันยังไม่มีระบบที่รองรับระดับโลก ซึ่งทำให้มีหลายปัญหาในรายละเอียดและโจทย์หลักของ COP26 คือการเคลียร์ปัญหาทั้งหมดให้ได้

 

ปัญหาอะไรบ้าง 

การนับซ้ำ (Double Counting) คือกรณีที่ทั้งประเทศผู้ทำโครงการและประเทศผู้จ่ายค่าโครงการ อ้างอิงตัวเลขการลดคาร์บอนของโครงการปลูกป่าต่อเป้า Net Zero ของตน ทำให้เกิดการนับซ้ำหรือหนึ่งโครงการนับสองรอบ เช่น ในกรณีด้านบน (ระดับองค์กร) ที่ผู้ผลิตเหล็กจากเยอรมนีซื้อคาร์บอนเครดิตไป คำถามคือแล้วประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพของโครงการนี้จะนับได้ด้วยหรือไม่ ประเด็นนี้ทำให้ COP25 ปี 2019 ที่กรุงมาดริด ล้มเหลว เนื่องจากตกลงกันไม่ได้ โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาผลักดันให้นับได้หรือจะต้องได้รับสิทธิพิเศษ

 

คุณภาพของเครดิต คำถามคือ ใครเป็นคนออกหรือให้มูลค่าเครดิตเหล่านี้ เช่น แน่นอนว่าการหยุดทำลายป่า (Deforestation) การปลูกป่าใหม่ (Afforestation) กับการลงทุนในโครงการโซลาร์ มีมูลค่าในเชิงการลดคาร์บอนไม่เท่ากัน โจทย์คือการหาหน่วยงานที่จะรับหน้าที่ตรงนี้และต้องเป็นระดับโลก เนื่องจากถ้าเป็นระดับภูมิภาคก็จะมีมาตรฐานและความคาดหวังที่ต่างกันไป หน่วยงานนี้จะต้องมีความรอบคอบอย่างสูง โดยเฉพาะการปกป้องจาก ‘Green Washing’ หรือ ‘การฟอกเขียว’ ที่หลายบริษัททำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนา เป็นการเรียกร้องว่าภาษีหรือรายได้ที่มาจากการทำธุรกรรม (การเทรดเครดิต) ควรจะต้องให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสำหรับการลงทุนในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

 

เครดิตจากโครงการเก่า พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เมื่อปี 1997 ได้มีการริเริ่มกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) ที่มีความคล้ายตลาดคาร์บอนที่พูดถึง ประเทศบราซิลได้ทำโครงการมากมายภายใต้กลไกลนี้ ซึ่งปัญหาตกอยู่ว่า โครงการเหล่านี้จะนำไปใช้สำหรับการนับสู่เป้า Net Zero ได้หรือไม่ ทำให้บราซิลเป็นหนึ่งในคู่กรณีสำคัญในการสรุปเรื่องนี้

 

“Bad deal is worse than no deal”

แม้หลักการของเรื่องนี้ดูเหมือนเป็นไปได้ แต่ที่เราพบมา 5 ปีกว่านี้คือ ปัญหาอยู่ในรายละเอียด หรือ ‘The Devil is in the Details’ โดยจากที่พิจารณาปัญหาต่างๆ (โดยเฉพาะเรื่องการนับซ้ำกับคุณภาพของเครดิต) หลายคนมองว่าเรื่องนี้ถ้าทำไม่ถูกจะมีปัญหาอย่างยิ่ง ขนาดถึงมีการพูดว่า “Bad deal is worse than no deal” หรือ “ข้อตกลงที่ไม่ดีนั้นจะทำให้เกิดข้อเสียมากกว่าการไม่มีข้อตกลงเลย”

 

เรามาลุ้นกันว่าผู้ร่วมประชุมจะหาทางออกสำหรับ ‘ตลาดคาร์บอนระดับโลก’ ที่ทุกฝ่ายพอใจได้หรือไม่

The post โค้งสุดท้าย COP26: เป้าหมายสูงสุดของการประชุมนี้คืออะไรกันแน่ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ประเทศไทยบนเวที COP26: บทบาทและจุดยืนคืออะไร จริงจังจริงใจแค่ไหน? https://thestandard.co/thailand-cop26/ Tue, 02 Nov 2021 08:16:30 +0000 https://thestandard.co/?p=555257 COP26

ทุกวันนี้ เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงประเด็น ‘การเปลี่ […]

The post ประเทศไทยบนเวที COP26: บทบาทและจุดยืนคืออะไร จริงจังจริงใจแค่ไหน? appeared first on THE STANDARD.

]]>
COP26

ทุกวันนี้ เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงประเด็น ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ หรือ ‘โลกร้อน’ ในข่าว นับว่าเป็นความสำเร็จระดับหนึ่งในการยกระดับขึ้นมาเป็นวาระสำคัญในเวทีนานาชาติ สังเกตได้จากความสนใจต่อการประชุม COP26 ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม – 12 พฤศจิกายน ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์

 

ณ เวที COP26 แต่ละประเทศจะใช้โอกาสในการให้คำมั่นต่อบทบาทในการต่อสู้กับโลกร้อน เช่น การกำหนดเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ซึ่งเส้นตายของประเทศส่วนมากคือปี 2050 (จากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปถึงลาวและกัมพูชา) ผู้ก่อมลพิษสำคัญในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีนและอินโดนีเซีย ได้ตั้งเป้าไว้สำหรับปี 2060 ซึ่งถูกมองว่ามีความล่าช้า

 

แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือประเทศไทย โดยเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ณ การประชุมประจำปีของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก (Global Compact Network Thailand) นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศเป้าหมายให้ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ซึ่งช้ากว่าประเทศส่วนใหญ่ถึง 15 ปี และยังช้ากว่าฟินแลนด์ที่ตั้งเป้าไว้ภายในปี 2035 มากถึง 30 ปี

 

ในปัจจุบัน ประเด็นนี้มีนัยยะทางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สำคัญอย่างยิ่ง ความเพิกเฉยของไทยจะส่งผลต่อภาพพจน์ ทำให้เวที COP26 มีความสำคัญอย่างสูง โดยเราจะต้องใช้โอกาสนี้ในการแสดงถึง ‘ความจริงใจ’ ในประเด็นนี้

 

 

บทความนี้วิเคราะห์ว่า เพื่อที่จะพิสูจน์ ‘ความจริงใจ’ ต่อนานาชาติว่าเราเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ไทยจะต้องแสดงบทบาทและมีจุดยืนที่ก้าวหน้าและชัดเจน ซึ่ง ‘ความจริงใจ’ นี้มากกว่าการที่นายกฯ จะบินไปเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง (ที่จริงควรจะต้องไปอยู่แล้ว) โดยบทความนี้เสนอว่า

 

ประเทศไทยควรประกาศจุดยืน ‘การหยุดใช้ถ่านหิน’ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เป็นภัยที่สุด และเป็นชนิดพลังงานที่แต่ละประเทศในเอเชียยังต้องพึ่งพาอยู่ ไม่สามารถเลิกใช้ได้ในระยะสั้นถึงกลาง (โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม) การแถลงจุดยืนในเรื่องการนี้คือโอกาสทองของไทย ในเวทีที่นับว่าสำคัญที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก

 

ทำไมต้องถ่านหิน?

 

แม้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทุกประเภท (ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ) ในการผลิตพลังงานจะก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอน ถ่านหินมีปริมาณการปล่อยต่อหน่วยพลังงานผลิตที่สูงที่สุด (ถ่านหินปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนประมาณสองเท่าของก๊าซธรรมชาติต่อหน่วยพลังงาน)

 

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันการเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นวาระสำคัญ หลายประเทศได้ออกเป้าหมายและแนวทางการควบคุมถ่านหิน เช่น การประกาศของจีนในเดือนกันยายน ที่จะหยุดการลงทุนในโครงการถ่านหินทั่วโลก โดยคาดว่านโยบายนี้จะประหยัดได้ถึง 20 กิกะตันในระยะเวลา 30 ปี หรือเทียบเท่ากับการประหยัดจากเป้าของการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ของสหภาพยุโรป (แต่แน่นอนว่าจีนก็ยังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการลงทุนในถ่านหินภายในประเทศ โดยเฉพาะการที่ 76% ของโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทั้งหมดในปี 2020 อยู่ที่จีน)

 

ปัจจุปันมีความพยายามในการรวมตัวผลักดันการเลิกใช้ถ่านหิน เช่น ‘No New Coal’ ที่เป็นการรวมตัวของหลายประเทศสำหรับต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ และ ‘Powering Past Coal Alliance’ โดย 41 ประเทศที่นอกเหนือจากการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่แล้ว ยังผลักดันการยุติการใช้ถ่านหินทั้งหมดที่มีอยู่ภายในปี 2030 ที่น่าสนใจคือ 41 ประเทศนี้ ไม่มีตัวแทนจากทวีปเอเชียเลย นับว่าเป็นโอกาสของไทยที่จะมีบทบาทตรงนี้

 

ทำไมไทยถึงจะทำได้?

 

บทความนี้จะวิเคราะห์ว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทย มีข้อได้เปรียบเหนือประเทศอื่นในการเลิกใช้ถ่านหิน ประกอบด้วย

 

  1. ‘บทบาทจำกัดของถ่านหินในภาคพลังงาน’ ของไทยนั้น พึ่งพาก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก และถ่านหินเป็นรอง ซึ่งแตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียนที่เน้นถ่านหินเป็นหลัก ภาคพลังงานไทยใช้ถ่านหินเพียง 17% ต่างจากเวียดนามที่ใช้มากถึง 43% และอินโดนีเซีย 38% ทำให้ภารกิจการเปลี่ยนผ่านจากถ่านหินสู่พลังงานอื่นๆ โดยเฉพาะพลังงานทางเลือก เป็นเรื่องที่ซับซ้อนน้อยกว่าที่อื่น

 

  1. ‘โรงไฟฟ้าถ่านหินหลักเป็นของรัฐวิสาหกิจ’ เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะของ กฟผ. ในจังหวัดลำปาง ที่มีขนาด 2,400 เมกะวัตต์ นอกเหนือจากนั้นยังมีอีกหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในจังหวัดระยองที่อยู่ภายใต้เครือ ปตท. ซึ่งถ้าทิศทางการลดการใช้ถ่านหินมาจากรัฐบาลโดยตรงแล้ว การเจรจากับการชดเชยต่อรัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะไม่ลำบากจนเกินไป

 

  1. ‘อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานถ่านหินของไทยขนาดเล็ก’ แตกต่างจากเวียดนามและอินโดนีเซียที่อุตสาหกรรมถ่านหินเป็น ‘อุตสาหกรรมโมโน’ (Mono-Industry) ที่มีความเชื่อมโยงอันหนาแน่นระหว่างห่วงโซ่คุณค่าถ่านหินกับเศรษฐกิจและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ซึ่งสำหรับประเทศเหล่านี้ ไม่ได้พึ่งถ่านหินสำหรับการผลิตไฟฟ้าอย่างเดียว แต่รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น การทำเหมืองถ่านหิน การจ้างงานในประเทศ และอุตสาหกรรมส่งออกถ่านหิน ในทางกลับกันประเทศไทยนั้นกลับต้องพึ่งพาถ่านหินนำเข้ามากถึง 64% และมากไปกว่านั้นยังมีข้อจำกัดของการผลิตภายในประเทศ ซึ่งรายงาน No New Coal ขององค์กร E3G พบว่าแผนติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทดแทนที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีความล่าช้า เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านอุปทานถ่านหินในเหมืองแม่เมาะ

 

แล้วไทยจะทำให้ข้อได้เปรียบเหล่านี้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร?

 

ประการสำคัญ คือการส่งข้อความที่ชัดเจนว่าจริงจังกับเรื่องนี้ผ่านการกำหนดเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น การประกาศหยุดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทั้งหมด และหยุดการขยายเหมืองนับตั้งแต่วันนี้ หรือประกาศยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไม่ได้มีการกักเก็บคาร์บอน (Unabated Coal) ทั้งหมดภายในปี 2030 ต่อด้วยการยกเลิกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินทุกประเทศภายในปี 2035

 

ต่อจากตั้งเป้าหมายคือการออกมาตรการและแผนงานที่ชัดเจน เช่น

 

  1. ‘โรงงานเก่า’ ควรจะต้องมีการเกษียณอายุก่อนกำหนด โดยผ่านการหารือกับผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เป็นกรอบเวลาที่ไม่ฉับพลันจนเกินไปเพื่อที่จะให้เวลาผู้ประกอบการเตรียมตัว และมีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอสำหรับการชดเชยผู้ประกอบการ

 

  1. ‘โรงงานแห่งใหม่’ ควรจะต้องถูกบังคับให้ทำการ Retrofit หรือใส่ชุดติดตั้งเพิ่มเติม เช่น การติดตั้งเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) หรือการตั้งเกณฑ์การใช้เชื้อเพลิงมลพิษต่ำสำหรับการผสมกับถ่านหิน เช่น เชื้อเพลิงชีวมวล แอมโมเนีย หรือเชื้อเพลิงขยะ (RDF) โดยทั้งหมดนี้จะทำได้ผ่านการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน

 

  1. ‘การกำหนดราคาคาร์บอน’ ซึ่งมีความสำคัญในการทำให้ราคาพลังงานฟอสซิลสูงขึ้น โดยเฉพาะถ่านหิน การศึกษาของ IEA พบว่าเนื่องจากก๊าซธรรมชาติมีราคาสูง ทำให้มีข้อกังวลว่ามาตรการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนจะทำให้เกิดกรณีการเปลี่ยนผ่านโดยตรงจากก๊าซธรรมชาติไปสู่พลังงานหมุนเวียน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อถ่านหินและจะดำเนินการต่อไปได้ (เนื่องจากราคาต่ำ) ดังนั้นจะต้องมีกำหนดราคาคาร์บอนเพื่อที่จะเพิ่มต้นทุนถ่านหิน (อย่างน้อยให้เท่ากับก๊าซธรรมชาติ) ซึ่งจะทำให้เป็นการเปลี่ยนผ่านจากถ่านหินไปสู่พลังงานหมุนเวียนแทน

 

ถ้าโลกเรามีการรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส (โดยมี 1.5 องศาเซลเซียสเป็นเป้าสูงสุด) ได้ตามข้อตกลงปารีสในปี 2015 งานวิจัยและการคาดการณ์เกือบทุกแห่งชี้ว่าสิ่งที่จะต้องสูญพันธุ์จากโลกนี้ คือใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ประเทศไทยของเราจะมีข้อได้เปรียบมากมายในการหยุดใช้เชื้อเพลิงนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีความยากลำบากและผลกระทบที่ซับซ้อน เราต้องใช้ข้อได้เปรียบนี้ให้เป็นประโยชน์ก่อนที่จะสายไป

The post ประเทศไทยบนเวที COP26: บทบาทและจุดยืนคืออะไร จริงจังจริงใจแค่ไหน? appeared first on THE STANDARD.

]]>
วันสิ่งแวดล้อมโลก: ‘การฟื้นฟูระบบนิเวศ’ กับคำถาม ทำไมเราถึงต้องทำ ความสำคัญอยู่ตรงไหน https://thestandard.co/world-environment-day-ecosystem-restoration-importance/ Wed, 02 Jun 2021 05:13:38 +0000 https://thestandard.co/?p=495612 การฟื้นฟูระบบนิเวศ

5 มิถุนายนของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก […]

The post วันสิ่งแวดล้อมโลก: ‘การฟื้นฟูระบบนิเวศ’ กับคำถาม ทำไมเราถึงต้องทำ ความสำคัญอยู่ตรงไหน appeared first on THE STANDARD.

]]>
การฟื้นฟูระบบนิเวศ

5 มิถุนายนของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day โดยสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นการฉลองความร่วมมือจากนานาชาติทั่วโลกในด้านสิ่งแวดล้อม และยังเป็นวันก่อตั้งของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) ในวันนี้เมื่อปี 1972 อีกด้วย ในงานวันสิ่งแวดล้อมโลกของแต่ละปีจะมีประเทศเจ้าภาพและธีมหลักของงาน เช่น เมื่อปี 2018 ประเทศอินเดียจัดงานเรื่องขยะพลาสติก, เมื่อปี 2019 ประเทศจีนเน้นเรื่องมลพิษทางอากาศ และล่าสุดปี 2020 เป็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพโดยมีประเทศโคลอมเบียเป็นเจ้าภาพ

 

สำหรับปีนี้ทาง UN ได้เลือกธีมเรื่องการฟื้นฟูระบบนิเวศ หรือ ‘Ecosystem Restoration’ โดยมีประเทศปากีสถานเป็นเจ้าภาพ ความสำคัญพิเศษของงานปีนี้ คือการเปิดตัวโครงการ ‘UN Decade on Ecosystem Restoration 2021-2030’ เป็นแผน 10 ปีในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและทรัพยากรที่พอเพียงในการฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น สนับสนุนภาครัฐในการร่างกฎหมายและออกแบบนโยบาย หรือร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนากลไกทางการเงินในการช่วยเรื่องการลงทุนของโครงการต่างๆ โดยมี UNEP และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization: FAO) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และมีการตั้งเป้าที่จะช่วยผลักดันเป้าหมายการฟื้นฟูพื้นที่ที่เสื่อมเสีย ขนาด 350 ล้านเฮกตาร์ (Hectare) หรือ 2,188 ล้านไร่ภายในปี 2030

 

 

ทำไมต้องฟื้นฟูระบบนิเวศ

หลายท่านอาจจะตั้งคำถามว่า มีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ทำไมถึงต้องเลือกการฟื้นฟูระบบนิเวศ ความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน เป็นหัวข้อที่ฟังแล้วดูกว้างและไกลตัวไปหรือไม่ ไม่เหมือนกับประเด็นอื่นๆ ที่ผ่านมา เช่น การต่อสู้กับพลาสติกหรือมลพิษทางอากาศที่เป้าหมายมีความชัดเจน

 

การอธิบายเรื่องนี้ต้องเริ่มจากเข้าใจปัญหาระบบนิเวศก่อน คือเรื่องนี้เป็นเสาหลักของความเจริญและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ซึ่งเมื่อนึกถึงป่าไม้ ไร่นา ทะเล หรือแม่นำ้ ชีวิตของเราขาดสิ่งนี้ไม่ได้ แต่วันนี้กลับเป็นมนุษย์เอง ที่เป็นส่วนสำคัญของการทำลายและสร้างความสูญเสียให้กับธรรมชาติเหล่านี้ เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลของ UN ชี้ว่า มากกว่า 4.7 ล้านเฮกตาร์ (29 ล้านไร่) ของป่าไม้ถูกทำลายทุกปี เทียบเท่ากับการสูญเสียหนึ่งสนามฟุตบอลทุก 3 วินาที หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ชุ่มน้ำได้หายไปในศตวรรษที่ผ่านมา

 

ความสูญเสียของระบบนิเวศนี้ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ใน 4 ด้าน

 

อย่างแรกคือด้านสิ่งแวดล้อม การทำลายระบบนิเวศคือการลดปริมาณของพื้นที่กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ ‘Carbon Sink’ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการต่อสู่กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis) และลดความแข็งแกร่งในการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในอนาคต

 

อย่างที่สองคือด้านเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น การทำลายป่าไม้จะทำให้สถานการณ์น้ำท่วมมีความรุนแรงและสร้างความเสียหายที่มากขึ้นต่อสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ (ป่าไม้ทำหน้าที่ในการป้องกันน้ำท่วมได้อย่างดี เช่น เศษซากอินทรีย์ที่ทับถมในป่าไม้นั้นจะซับน้ำได้มากถึง 6 เท่าของน้ำหนัก) หรือการเผาป่าที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางสาธารณสุขและทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านนี้สูงขึ้น บางประเทศระบุว่ามีค่าใช้จ่ายสำหรับโรคที่เกิดจากมลพิษทางอากาศมากถึง 7% ของ GDP

 

อย่างที่สามคือด้านความมั่นคง การเสื่อมโทรมของสภาพสิ่งแวดล้อมทำให้มีการแย่งชิงทรัพยากรที่จำกัด และทำให้เกิดความขัดแย้งหรือการโยกย้ายของกลุ่มประชากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนชายขอบ และกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable Population)

 

อย่างที่สี่คือด้านสังคม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นถึงความหายนะของการทำลายระบบนิเวศ พื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ลดน้อยลง ทำให้มีการสัมผัสกับมนุษย์มากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้โรคต่างๆ เกิดการระบาดได้ง่าย

 

การฟื้นฟูระบบนิเวศ เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะแก้ปัญหาทั้ง 4 ด้าน คือ การพัฒนาและส่งเสริมทั้งความเป็นอยู่ของมนุษย์ (Human Well-Being) และความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ไปพร้อมๆ กัน

 

มากกว่าแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม

เมื่ออิงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ของ UN การฟื้นฟูระบบนิเวศไม่ได้มีความสำคัญแค่เฉพาะในมิติของสิ่งแวดล้อมเหมือนที่คนส่วนมากเข้าใจ แต่มีบทบาทในด้านสังคมและเศรษฐกิจเช่นกัน สำหรับเป้าหมายที่ 1 ‘ขจัดความยากจน’ แนวทางนี้ จะช่วยในการลดความเสี่ยงของประชากรกลุ่มเปราะบาง ต่อเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event) หรือการใช้โครงการด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น การปลูกป่าระดับใหญ่) สำหรับการสร้างรายได้และจ้างงาน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

 

เป้าหมายที่ 2 ‘ยุติความหิวโหย’ เป้าหมายนี้ เกี่ยวโยงกับภาคการเกษตรที่ดีขึ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของความมั่นคงของแหล่งอาหาร ‘Food Supply’ สำหรับประชาชนทั่วไป ส่วนเป้าหมายที่ 3 ‘การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี’ คือคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นทำให้ลดปัญหาด้านสุขภาพ หรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มากขึ้นในพื้นที่เมืองจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต โดยสร้างประโยขน์ต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต สำหรับเป้าหมายที่ 4 ‘การศึกษาที่เท่าเทียม’ คือการใช้วิชาของการฟื้นฟูนิเวศวิทยาการสำหรับการส่งเสริมความรู้และทักษะ

 

 

ตัวอย่างการฟื้นฟูระบบนิเวศของต่างประเทศ

มาตรการฟื้นฟูระบบนิเวศนั้น มีตัวอย่างมากมายทั่วโลกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ย้อนกลับไปถึงช่วงทศวรรษที่ 1930-1940 ที่สหรัฐฯ ประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (FDR) ได้ริเริ่มโครงการ Civilian Conservation Corps ซึ่งจ้างงานประชาชนที่ตกงานในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ปี1929 ไปทำงานในอุทยานต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ โดยจ้างแรงงานกว่า 250,000 คน ซึ่งร่วมกันปลูกต้นไม้กว่าพันล้านต้น และสร้างสวนสาธารณะกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ และยังมีการจ้างอาจารย์ที่ตกงานมาเป็นผู้อบรมวิชาต่างๆ ในค่าย ‘CCC’ นอกเหนือจากนั้น ช่วงทศวรรษที่ 1950 ประเทศเกาหลีใต้ ได้ใช้มาตรการสนับสนุนการฟื้นฟูระบบนิเวศในการรับปัญหาเรื่องความอดอยากและผู้ลี้ภัย โดยมีปริมาณการสร้างงานเป็นหลักแสน ส่วนในปัจจุบันก็มีหลายประเทศที่หันมาสนใจแนวทางนี้ และได้ริเริ่มโครงการโดยใช้งบที่มาจากการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus Package) จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่เฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วที่ลงมือทำด้านนี้ แต่มีประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศก็ลงมือทำด้วยเช่นกัน

 

ประเทศฝรั่งเศส เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากได้ใช้มากถึง 1 ใน 3 ของ Stimulus Package หรือเทียบเท่ากับ 1 แสนล้านยูโร (3.8 ล้านล้านบาท) สำหรับการลงทุนในเศรษฐกิจ ‘สีเขียว’ แม้การลงทุนหลักของงบนี้จะเน้นที่พลังงานสะอาด ระบบขนส่งมวลชน และภาคอุตสาหกรรม แต่อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือด้านการเกษตรยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมแนวทางนิเวศเกษตร (Agroecology) หรือการทำเกษตรที่สอดคล้องกับระบบนิเวศในพื้นที่เกษตรกรรม เกษตรในเมือง (Urban Farming) เกษตรอินทรีย์ และการปลูกแนวพุ่มไม้สำหรับการแบ่งขอบเขตของแต่ละพื้นที่เกษตร

 

ส่วนทางสหราชอาณาจักร ได้จัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว (Green Recovery Challenge Fund) พร้อมกับเงินลงทุนเริ่มต้น 40 ล้านปอนด์ (1,782 ล้านบาท) ที่เน้นสนับสนุนองค์กรส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดหางานที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟู มากไปกว่านั้น ยังมีแผนงานที่จะออกแบบระบบการประเมินผลกระทบต่อทุนธรรมชาติ (Natural Capital) โดยจะนำมาบังคับใช้สำหรับนโยบายรัฐทั้งหมด

 

สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา ตัวอย่างที่น่าสนใจคือประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นเจ้าภาพของวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ ปากีสถานได้ริเริ่มโครงการ 10 Billion Tree Tsunami ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในโครงการปลูกป่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเป้าหมายการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้มากกว่า 1 ล้านเฮกตาร์ (6.25 ล้านไร่) ภายใน 5 ปี และมีความสำคัญต่อการสร้างงานจำนวนมหาศาลสำหรับกลุ่มที่ตกงานจากโควิด-19 นอกเหนือจากนั้นยังมีประเทศเอธิโอเปีย เคนย่าในทวีปแอฟริกา และโคลัมเบียในอเมริกาใต้ ที่ได้มีมาตรการต่างๆ ด้านนี้ และได้รับการยกย่องจากองค์กรนานาชาติมากมาย

 

 

โอกาสของไทย – มากกว่าแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม

ตามที่ได้อธิบายด้านบน การฟื้นฟูระบบนิเวศนั้นเป็นมากกว่าแค่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่หลายคนอาจจะมองว่าไม่ได้มีผลประโยชน์ในมิติอื่นๆ แต่ที่จริงแล้วเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นโอกาสทองของประเทศไทยที่จะนำไปใช้และสร้างประโยชน์

 

อย่างแรกคือด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 มิติ คือ เชิงรุกและเชิงรับ

 

เชิงรุก คือการสร้างรายได้ผ่านโครงการต่างๆ และมาตรการ Nature-based Solutions เหมือนกับหลายประเทศที่เริ่มมีการดำเนินการเรื่องนี้แล้ว จากการศึกษาของ UNEP พบว่าการลงทุนในการฟื้นฟูนิเวศวิทยาทุก 1 ดอลลาร์สหรัฐเทียบเท่ากับผลประโยชน์มูลค่า 7-30 ดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนทุก 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐจะเท่ากับการสร้างงานประมาณ 10-40 งาน มากกว่าอุตสาหกรรมฟอสซิล 10 เท่า มีการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ มีการจ้างงานที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูทางตรง 126,000 งาน และทางอ้อม 95,000 งาน

 

เชิงรับนั้นเกี่ยวกับการสร้างภูมิต้านทานต่อพิบัติทางธรรมชาติและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา บริษัทประกันภัยเอออน (AON) เปิดเผยผลการศึกษาสำรวจพบภัยพิบัติทางธรรมชาติสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโลกในช่วงระหว่างปี 2010-2019 มากถึง 2.98 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 91 ล้านล้านบาท ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงที่สุด เสียหายถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 39.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 44%

 

รัฐบาลไทยจะต้องมองถึงโอกาสนี้ เป็นอีกแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจ โดยเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมที่จะต้องผลักดันให้สังคมเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

 

อย่างที่สองคือด้านการป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สำคัญทั้งในมิติของเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยต้องเผชิญกับภัยพิบัติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เจอกับวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อปลายปี 2019 ไม่นานหลังจากนั้น เมื่อต้นปีก็ได้เจอกับภัยแล้งที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนอย่างน้อย 14 จังหวัด และไม่ได้กระทบแค่เฉพาะภาคเกษตรเหมือนครั้งอื่นๆ แต่ไปถึงสังคมในเมืองด้วย ยกตัวอย่างปัญหา เช่น น้ำประปาขาดแคลน มากไปกว่านั้นฤดูฝนก็มีปริมาณฝนที่น้อยผิดปกติทำให้ ‘น้ำต้นทุน’ หรือน้ำที่กักเก็บเอาไว้มีปริมาณต่ำกว่าความต้องการใช้จริง นอกเหนือจากนั้นยังมีปัญหาอื่นๆ อย่างผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น

 

เราควรเน้นถึงทางออก คือแนวทางวิศวกรรม เช่น การสร้างกำแพงทะเล (Sea Wall) หรือเขื่อน ซึ่งมีบทบาทอันสำคัญแต่มาพร้อมงบประมาณที่สูงหรือมีผลกระทบต่อประชากรในพื้นที่บริเวณ อีกแนวทางคือ Ecosystem-based Adaptation (EbA) ที่อิงกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งคือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือความหลากหลายทางชีวภาพในการรับมือและปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการเพิ่มภูมิต้านทาน (Resiliency) ต่อภัยพิบัติ ตัวอย่างเช่น การปลูกป่าชายเลนในการช่วยป้องกันภัยจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและน้ำท่วมชายฝั่ง

 

อย่างที่สามคือเรื่องการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงนั้นได้ช่วยเรื่องการฟื้นตัวของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของปะการังและหญ้าทะเล หรือการปรากฏตัวของสัตว์หายาก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างมาก เช่นประเด็นของปริมาณนักท่องเที่ยวที่เกินความสามารถในการรับรอง (Overtourism)

 

 

โจทย์ใหญ่คือการคงไว้ของความสมบูรณ์นี้ในวันที่โลกต่อสู่กับโควิด-19 สำเร็จ และควรเปิดให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้อีกครั้ง เช่นการเพิ่มความรู้ ความตระหนักต่อการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หรือการแก้ปัญหา Overtourism ผ่านการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

 

ส่วนมิติของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) ก็เป็นโอกาสของไทยเช่นกัน วันนี้ตลาดของ Ecosystem นั้นโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2019 มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าอยู่ที่ 181,100 ดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะโตถึง 333,800 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027 เป็นโอกาสทองของไทยที่จะตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านนี้

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฟื้นฟูระบบนิเวศ และสำหรับการติดตามความคืบหน้าของโครงการ ‘UN Decade on Ecosystem Restoration 2021-2030’ เข้าไปดูเพิ่มเติมที่ https://www.decadeonrestoration.org/


พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

The post วันสิ่งแวดล้อมโลก: ‘การฟื้นฟูระบบนิเวศ’ กับคำถาม ทำไมเราถึงต้องทำ ความสำคัญอยู่ตรงไหน appeared first on THE STANDARD.

]]>