ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 04 Nov 2022 13:23:07 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ‘โคเรียทาวน์’ ลอสแอนเจลิส ในวันที่ร้างผู้คนท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 https://thestandard.co/korea-town-los-angeles-in-coronavirus-time/ Wed, 18 Mar 2020 06:55:00 +0000 https://thestandard.co/?p=342717

โคเรียทาวน์ นับได้ว่าเป็นย่านที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่ […]

The post ‘โคเรียทาวน์’ ลอสแอนเจลิส ในวันที่ร้างผู้คนท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 appeared first on THE STANDARD.

]]>

โคเรียทาวน์ นับได้ว่าเป็นย่านที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งในนครลอสแอนเจลิส ไม่ว่าจะเป็นวันธรรมดาหรือวันหยุดสุดสัปดาห์ ร้านอาหารและร้านกินดื่มในย่านนี้ก็ดึงดูดให้คนจากทั่วสารทิศในแอลเอเดินทางมาสังสรรค์อย่างไม่ขาดสาย ถึงกับขนาดเรียกได้ว่าการหาที่จอดรถในย่านนี้ได้ถือเป็นความโชคดี

 

 

แต่โคเรียทาวน์ในวันนี้แปลกไป ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ร้านรวงที่นี่ไม่สามารถรับลูกค้าตามคำสั่งของนายกเทศมนตรีนครลอสแอนเจลิสเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่ประกาศให้บาร์​ ฟิตเนส และโรงภาพยนตร์ปิดทำการ ส่วนร้านอาหารหรือบาร์ที่มีการเสิร์ฟอาหารสามารถเปิดทำการได้ แต่ให้ลูกค้ามารับเอากลับไปรับประทานที่บ้าน หรือให้เอาไปส่งตามบ้านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อลดอัตราการพบปะของคนตามคำแนะนำ Social Distancing หรือรักษาระยะห่างทางสังคม

 

 

อันที่จริงตั้งแต่ก่อนที่นายกเทศมนตรีนครลอสแอนเจลิสจะประกาศมาตรการดังกล่าว ร้านกาแฟและร้านอาหารหลายร้านก็เริ่มทยอยรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในระดับต่างๆ กันแล้ว ร้านอาหารบางร้านปิดให้บริการ เนื่องมาจากจำนวนลูกค้าที่ลดลงจากความกังวลเรื่องโควิด-19 ร้านกาแฟบางแห่งลดระยะเวลาให้บริการต่อวันลง ในขณะที่สตาร์บัคส์เก็บเก้าอี้ออกจากร้านทั้งหมด และลดการบริการเป็น Grab and Go เท่านั้น แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ส่งผลให้โคเรียทาวน์เงียบเหงาน้อยกว่าเดิมเท่าใดนัก

 

 

จนกระทั่งเมื่อที่นายกเทศมนตรีมีคำสั่งชัดเจนในวันที่ 15 มีนาคม ร้านรวงในโคเรียทาวน์ในวันที่ 16 จึงว่างเปล่าอย่างน่าประหลาด ร้านอาหารและร้านกาแฟที่นี่ยังคงให้บริการอย่างปกติ เพียงแต่มาตรการห้ามลูกค้านั่งในร้านทำให้ร้านหลายร้านยกเก้าอี้ขึ้นพาดบนโต๊ะ พร้อมติดป้ายกระดาษหน้าร้านว่าให้บริการเพื่อนำกลับไปรับประทานที่บ้านหรือนำส่งที่บ้านเท่านั้น บางร้านทิ้งให้ไฟภายในร้านมืดเพราะไม่จำเป็นต้องเปิดส่องสว่างเพื่อลูกค้าที่นั่งสังสรรค์อยู่ภายในร้านอีกต่อไป และเมื่อไม่จำเป็นต้องเดินทางมารับประทานอาหารในย่านนี้อีกแล้ว ถนนในโคเรียทาวน์จึงโล่งราวกับกรุงเทพฯ ในยามสงกรานต์อย่างผิดปกติ

 

 

นอกจากร้านอาหารซึ่งเป็นจุดดึงดูดผู้คนหลักๆ ของโคเรียทาวน์แล้ว ฟิตเนส โรงภาพยนตร์ และโรงละครก็ปิดให้การบริการตามคำสั่งดังกล่าว เพราะการออกกำลังกายและการดูมหรสพนอกจากไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิตในยามวิกฤตเช่นนี้แล้ว ยังเป็นที่ที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสได้ง่าย

 

 

สิ่งที่น่าใจหายสำหรับคนที่เดินผ่านไปผ่านมาในย่านนี้เป็นชีวิตประจำวันคือ โรงละครวิลเทิร์นซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของย่านโคเรียทาวน์ ที่บางครั้งก็รองรับการจัดคอนเสิร์ตขนาดไม่ใหญ่มากของศิลปินเกาหลี อย่างเช่นคอนเสิร์ตของแทยังแห่งวง BIGBANG เมื่อสามปีก่อน วันนี้โรงละครวิลเทิร์นปลดตัวอักษรที่ปกติจะแสดงวันและเวลาของโชว์ที่จะจัดขึ้นในโรงละครดังกล่าวออกหมด และแทนที่ด้วยข้อความว่า ‘Stay healthy. See you in April.’

 

 

ที่แห่งเดียวที่ในเวลานี้ยังมีคนพลุกพล่านคือซูเปอร์มาร์เก็ต ไม่ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะทั้งประกาศในการแถลงข่าว และทวีตในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ไม่มีความจำเป็นจะต้องกักตุนอาหาร เนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตจะยังคงเปิดบริการตลอดวิกฤตในครั้งนี้ และจะมีการเติมสินค้าเรื่อยๆ แต่ข้อความเตือนดังกล่าวก็ดูไม่เป็นผล ส่งผลให้ตู้แช่เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ และไข่ไก่ ตลอดจนชั้นวางบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่างเปล่า สภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับ H-Mart ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตเกาหลีที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ในโคเรียทาวน์นี้เป็นอย่างเดียวเท่านั้น แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตอื่นๆ รวมถึงร้านสะดวกซื้อก็เผชิญกับภาวะสินค้า โดยเฉพาะทิชชูหมดคลังสินค้าเช่นเดียวกัน 

 

 

มาตรการที่รัดกุมเช่นนี้อาจมีความจำเป็นในการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ผลที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กในระดับต่างๆ กัน ร้านอาหารและร้านกาแฟหลายร้านในย่านนี้ไม่ได้เป็นร้านอาหารแฟรนไชส์ที่มีทุนมหาศาล หลายร้านเป็นธุรกิจในครอบครัวที่เจ้าของร้านทำอาหารและเสิร์ฟอาหารด้วยตัวเอง เช่นเดียวกับสถานที่ออกกำลังกายหลายแห่งมีเจ้าของเป็นนายทุนรายเล็ก เจ้าของธุรกิจเหล่านี้ต้องเผชิญกับรายได้ที่ลดลงจนกระทั่งถึงขาดรายได้เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือน แต่ยังจำเป็นจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าในแอลเอนั้นมีราคาแพงหูฉี่

 

 

จนถึงขณะนี้นครลอสแอนเจลิสเริ่มออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นความน่าจะเป็นในการออกคำสั่งห้ามไล่ผู้เช่าพื้นที่ทางการค้า ห้ามไล่ผู้เช่าที่อยู่อาศัยเนื่องจากมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ร้านอาหารเหล่านี้ไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ รวบรวมกองทุนให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบกู้ยืม และผ่อนผันค่าปรับจอดรถในที่ห้ามจอด เป็นต้น ขณะที่ธนาคารต่างๆ ก็เริ่มผ่อนผันการเรียกเก็บค่าบัตรเครดิตให้ตรงตามงวดเดือน โดยอนุญาตให้เจ้าของบัตรสามารถจ่ายค่าบัตรเครดิตล่าช้าได้โดยไม่มีค่าปรับและดอกเบี้ย

 

อย่างไรก็ดี หากคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในเวลาที่นานกว่าหนึ่งเดือน มาตรการในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบก็อาจจะไม่เพียงพอ และโคเรียทาวน์ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วก็อาจจะเผชิญกับภาวะซบเซาอีกครั้ง

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

The post ‘โคเรียทาวน์’ ลอสแอนเจลิส ในวันที่ร้างผู้คนท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 appeared first on THE STANDARD.

]]>
นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: อนาคตของทรัมป์กับวิกฤตโควิด-19 https://thestandard.co/united-states-election-2020-count-down/ Tue, 17 Mar 2020 06:00:11 +0000 https://thestandard.co/?p=343279

จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อนาคตในการได้รับเ […]

The post นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: อนาคตของทรัมป์กับวิกฤตโควิด-19 appeared first on THE STANDARD.

]]>

จนกระทั่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อนาคตในการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงแม้จะไม่เรียกได้ว่าสดใสอย่างหมดจด แต่ก็เป็นที่พรั่นพรึงของพรรคเดโมแครตไม่น้อย ถึงกับที่สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนให้ความเห็นว่า เป้าหมายเพียงอย่างเดียวในการเลือกตัวแทนของพรรคเดโมแครตเพื่อลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี คือการโค่นล้มทรัมป์ให้ได้ 

 

นั่นเป็นที่มาว่าเหตุใดในการลงคะแนนเลือกตัวแทนพรรคเดโมแครตเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีในสมัยโอบามาจึงมีชัยชนะเหนือ เบอร์นี แซนเดอร์ส ถึงใน 10 รัฐ จาก 14 รัฐที่มีการลงเสียงในวันดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทั้ง พีต บุตติเจจ และ เอมี โคลบูชาร์ ถอนตัวออกจากการชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตแล้วหันมาให้การสนับสนุนไบเดน แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะไบเดนมีโอกาสได้รับเสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ไม่สุดโต่งมากกว่าแซนเดอร์ส ทำให้มีโอกาสในการชนะการเลือกตั้งมากกว่า

 

แต่เมื่อสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รายแรกใกล้เมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ อนาคตของทรัมป์ในการกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยอาจไม่สดใสเช่นเดิม

 

ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผลสำรวจคะแนนนิยมของทรัมป์โดยแกลลัปแสดงให้เห็นว่า อัตราการรับรองการทำงานของทรัมป์ตกลงจากช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ไปอยู่ที่ 47% ในขณะที่อัตราการไม่รับรองเพิ่มขึ้นเป็น 51% เช่นเดียวกับเว็บไซต์รับพนันผลการเลือกตั้ง ที่ปรับอัตราเงินพนันว่าทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งลงต่ำกว่า 50 เซนต์เป็นครั้งแรกในวันที่ 12 มีนาคม

 

ทั้งหมดสะท้อนความเชื่อมั่นในการจัดการกับวิกฤตโควิด-19 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปี 2020 นี้

 

จนถึงกลางเดือนมีนาคม รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศห้ามชาวต่างชาติที่เดินทางไปเยือนจีน อิหร่าน และประเทศในกลุ่มเชงเก้น อังกฤษ และไอร์แลนด์ในช่วง 14 วันก่อนเดินทางมาสหรัฐฯ เข้าประเทศ สำหรับมาตรการภายในประเทศ รัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมมือกับสภาคองเกรส ประกาศให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจโควิด-19 ได้ตามจุดตรวจต่างๆ ฟรี และให้ลูกจ้างได้รับเงินชดเชยในกรณีที่ป่วย และต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 2 อาทิตย์ รวมถึงให้การช่วยเหลือทางด้านอาหาร และการเงินอื่นๆ กับประชาชน

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศปิดโรงเรียน ห้ามการพบปะเกิน 10 คน ห้ามการนั่งกินอาหารในบาร์และร้านอาหาร โดยมาตรการทั้งหมดนี้มีขึ้นเพื่อบังคับให้คนมีระยะห่างจากกัน หรือที่เรียกว่า Social Distancing เพื่อชะลอการติดต่อของโรคโควิด-19 เพราะการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ เป็นอัมพาตได้ อาจจะดูเหมือนว่าสหรัฐฯ มีมาตรการในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ในความเป็นจริง การปฏิบัติตามมาตรการที่ว่ากลับก่อให้เกิดความสับสนในหมู่สาธารณชนพอสมควร เริ่มตั้งแต่คำถามที่ว่า ถ้ามีอาการแล้วควรจะไปตรวจที่ไหน? เราจะสามารถเดินเข้าไปตรวจได้เลยหรือไม่? คำถามเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการสื่อสารกับสาธารณชนในวงกว้าง

 

 

แม้ว่ารัฐบาลจะบอกว่า ประชาชนที่ประสงค์จะได้รับการตรวจ ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็สามารถเข้ารับการตรวจได้ แต่ในความเป็นจริงจะได้รับการตรวจหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละรัฐ บางรัฐผู้ป่วยจะต้องติดต่อแพทย์หรือโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเป็นประจำก่อน เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยจำเป็นจะต้องเข้ารับการตรวจเชื้อโควิด-19 หรือไม่ และผู้ป่วยอาจต้องรอผลตรวจจากแล็บเป็นเวลานานถึง 4 วัน แต่หากผู้ป่วยไม่มีประกันชีวิต นั่นหมายความว่าผู้ป่วยอาจไม่มีโรงพยาบาลหรือแพทย์ที่รักษาอยู่ประจำ จึงก่อความสับสนว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถเข้ารับการตรวจได้อย่างไร

 

แม้แต่ในการเข้ารับการตรวจแบบ Drive-Thru ผู้เข้ารับการตรวจก็ต้องถูกคัดกรองโดยพยาบาลก่อนว่า มีอาการป่วยเข้าข่ายเป็นโควิด-19 หรือไม่ และกว่าจะได้รับการตรวจโควิด-19 ผู้เข้ารับการตรวจจะถูกตรวจวัดไข้หวัดใหญ่ก่อน ซึ่งหากผู้เข้ารับการตรวจไม่มีประกันชีวิต ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องแบกภาระค่าตรวจไข้หวัดใหญ่เอง โดยรวมแล้วการตรวจโควิด-19 แบบ Drive-Thru ที่สหรัฐฯ ก็กินเวลาไม่น้อยกว่าสองชั่วโมง

 

นี่ยังไม่รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยโควิด-19 ไม่มีประกันสุขภาพ ที่จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเอง เพราะแม้ว่ารัฐบาลออกกฎหมายให้ทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจโควิด-19 ได้ฟรี แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึงการเข้ารับการรักษา แม้แต่การเข้าห้องฉุกเฉินก็มีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่ประชาชนที่ไม่มีประกันสุขภาพจะสามารถแบกรับได้

 

จนถึงตอนนี้ ทรัมป์ถูกวิจารณ์เป็นวงกว้างว่าไม่สามารถรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ประเทศในเอเชียเผชิญกับวิกฤตดังกล่าวไปล่วงหน้าแล้วถึง 2-3 เดือน 

 

นับตั้งแต่สหรัฐฯ พบผู้ป่วยเสียชีวิตรายแรก รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เวลา 1 วันเพื่อประกาศไม่ให้คนที่เดินทางไปอิหร่านเดินทางเข้าประเทศ และออกประกาศเตือนขั้นสูงสุดไม่ให้เดินทางไปยังเกาหลีใต้และอิตาลีในบริเวณที่มีการระบาด (ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลที่แน่ชัดว่าทำไมทรัมป์จึงเพิ่มอิหร่านเข้าไปในรายชื่อประเทศที่ห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว ทั้งๆ ที่ในเวลาดังกล่าว เกาหลีใต้มียอดผู้ติดเชื้อมากที่สุดรองจากจีนแล้ว) ใช้เวลา 3 วันเพื่อประกาศให้ทุกคนสามารถเข้ารับการตรวจโควิด-19 ได้ฟรี ทั้งๆ ที่ยังไม่มีเครื่องมือพร้อมในการให้บริการ ใช้เวลาถึง 13 วันในการประกาศสภาวะฉุกเฉิน ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลใช้งบประมาณฉุกเฉินเพื่อรับมือกับไวรัสดังกล่าว 

 

แต่กระนั้น ในสภาวะที่มลรัฐต่างๆ กำลังเผชิญกับการขาดแคลนอุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อสู้กับโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัยและเครื่องช่วยหายใจ ทรัมป์กลับออกมาบอกให้แต่ละรัฐจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวกันเอง ก่อนที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลกลางช่วย

 

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวของทรัมป์ ผลสำรวจของ CNN เมื่อต้นเดือนมีนาคมยังคงพบว่า ประชาชนถึง 57% ยังมั่นใจกับการรับมือกับโควิด-19 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะที่ 41% ไม่มั่นใจ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ในการรับมือกับอีโบลาและไข้หวัดนก ในช่วงก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก

 

อนาคตในการกลับขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยของทรัมป์ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในการรับมือกับโควิด-19 หลังจากนี้ หากปรากฏว่าสหรัฐฯ สามารถรับมือได้ดี คะแนนความนิยมของทรัมป์ก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องความสับสนในการตรวจโควิด-19 และการรักษาได้อย่างทันท่วงที คะแนนนิยมของทรัมป์ก็อาจจะลดต่ำลงอีก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทรัมป์จะไม่ได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามาเป็นสมัยที่สอง เพราะกองเชียร์ทรัมป์ที่ไม่ว่ายังไงก็ยังจะเลือกทรัมป์ก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

The post นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: อนาคตของทรัมป์กับวิกฤตโควิด-19 appeared first on THE STANDARD.

]]>
เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 ทำไมประกันสุขภาพจึงเป็นเรื่องใหญ่ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ https://thestandard.co/united-states-count-down-election/ Tue, 28 Jan 2020 12:17:37 +0000 https://thestandard.co/?p=325418

ดูเหมือนประเด็นสำคัญที่ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเด […]

The post เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 ทำไมประกันสุขภาพจึงเป็นเรื่องใหญ่ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ดูเหมือนประเด็นสำคัญที่ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2020 ใช้ในการหาเสียงจะหนีไม่พ้นเรื่องประกันสุขภาพ การศึกษา การจ้างงาน และความเท่าเทียมทางชาติพันธุ์ แม้แต่ในการดีเบตที่มลรัฐไอโอวาเมื่อคืนวันอังคารที่ 14 มกราคม 2020 ตามเวลาในสหรัฐฯ ซึ่งนักวิเคราะห์ล้วนคาดว่าจะให้พื้นที่กับนโยบายต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากเพิ่งเกิดกรณีสหรัฐฯ สั่งสังหารโซเลมานีมาหมาดๆ แต่ปรากฏว่าประเด็นเรื่องนโยบายต่างประเทศถูกกล่าวถึงเพียงสั้นๆ เท่านั้น ก่อนที่ผู้สมัครจะให้น้ำหนักกับเรื่องภายในประเทศมากกว่า

 

 

แน่นอนว่าถ้าเป็นคนอเมริกันก็คงสนใจเรื่องปากท้องของตัวเองมาก่อนนโยบายต่างประเทศอยู่แล้ว แต่การที่นโยบายประกันสุขภาพกลายเป็นประเด็นหลักที่ผู้ลงสมัครใช้เวลานำเสนอทางออกต่างๆ มากกว่านโยบายทางด้านอื่นๆ ก็อาจพานให้เราสงสัยได้ว่ามันจะอะไรกันนักกันหนากับเรื่องประกันสุขภาพ และถ้าระบบประกันสุขภาพในสหรัฐฯ มันแย่จริงๆ ทำไมจึงไม่สนับสนุนให้มีประกันสุขภาพโดยรัฐกันล่ะ

 

อันที่จริงดีเบตเรื่องประกันสุขภาพในสหรัฐฯ แทบไม่แตกต่างอะไรกับข้อถกเถียงเรื่องประกันสุขภาพ 30 บาทในไทยเลย แต่ก่อนจะไปถึงจุดที่ว่าผู้ลงสมัครแต่ละคนเขามีจุดยืนอะไรกันในเรื่องนี้ เราอาจต้องเข้าใจปัญหาของระบบการประกันสุขภาพในสหรัฐฯ​ ซึ่งมีคุณภาพต่ำสุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด และแม้ว่าจะมีความพยายามแก้ปัญหานี้บ้าง แต่ความไร้ประสิทธิภาพของระบบสุขภาพของสหรัฐฯ ก็ฝังรากลึกเกินกว่าที่จะแก้ปัญหาได้ในเวลาอันสั้น

 

ล้มละลายเพราะต้องเข้าโรงพยาบาล

งานวิจัยชิ้นหนึ่งถามถึงเหตุผลที่ส่งผลต่อการล้มละลายของบุคคลที่ถูกฟ้องล้มละลายระหว่างปี 2013-2016 ในสหรัฐฯ และพบว่า 58.5% ชี้ว่าค่ารักษาพยาบาลส่งผลต่อการล้มละลายบางส่วนจนถึงมากที่สุด ในขณะที่อีก 44.3% ชี้ว่าความเจ็บป่วยส่งผลทำให้ไม่สามารถทำงานได้จนทำให้ถูกฟ้องล้มละลาย ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ตอบว่าถูกฟ้องล้มละลายเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งในสองข้อ รวมเป็นตัวเลขกลมๆ แล้ว จำนวนคนที่ถูกฟ้องล้มละลายด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพและการรักษาพยาบาลน่าจะมีมากถึง 5.3 แสนคนต่อปี บางคนกลายเป็นคนไร้บ้านเพราะค่าใช้จ่ายทางด้านการแพทย์

 

เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วประเทศอื่นๆ ค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาพยาบาลต่อคนของสหรัฐฯ ในปี 2016 อยู่ที่ 13,348 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ​403,240 บาท) ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อยู่ที่เพียง 5,198 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน (ประมาณ 157,030 บาท)   

 

ถึงตรงนี้เราอาจจะคิดต่อไปว่าบางทีคนอเมริกันอาจจะหาหมอมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่ปรากฏว่าคนอเมริกันพบแพทย์น้อยกว่าคนในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เกือบสองเท่า เท่ากับว่าคนอเมริกันได้รับการรักษาน้อยกว่า แต่กลับต้องควักเงินแพงกว่าในการได้รับการบริการทางการแพทย์

 

เมื่อรัฐบาลไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อให้หลักประกันทางด้านสุขภาพกับคนอเมริกัน สิ่งเดียวที่อาจทุเลาค่าใช้จ่ายมหาศาลเหล่านี้ได้คือการซื้อประกันจากบริษัทเอกชน ซึ่งสำหรับคนที่รายได้ต่อเดือนน้อยหรือไม่แน่นอน การต้องจ่ายเบี้ยประกันทุกๆ เดือนนั้นถือเป็นภาระมหาศาล 

 

สำมะโนประชากรของสหรัฐฯ ในปี 2018 พบว่าชาวอเมริกัน 8.5% ไม่มีประกันสุขภาพ นี่คือการพนันกับอนาคตว่าจะไม่เจ็บป่วย เพราะถ้าต้องเข้าโรงพยาบาลเมื่อไรก็อาจจะต้องใช้เงินเก็บทั้งหมด (ถ้ามี) ไปกับการรักษาพยาบาล

 

แต่แม้ว่ามีประกันก็ไม่ได้แปลว่าคนไข้จะไม่ต้องจ่ายอะไรอีก ประกันส่วนใหญ่กำหนดว่าการรักษาพยาบาลบางรูปแบบคนไข้ต้องร่วมจ่ายด้วย และบางครั้งประกันก็กำหนดว่าจะเริ่มจ่ายต่อเมื่อคนไข้ได้จ่ายค่ารักษาทางการแพทย์จนถึงประมาณหนึ่งแล้ว เช่น คนไข้จ่ายครบ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐไปแล้วในปีนั้น ประกันจึงจะเริ่มจ่ายสมทบ และเมื่อคนไข้จ่ายค่ารักษาพยาบาลจากกระเป๋าของตัวเองไปแล้วส่วนหนึ่ง ประกันจึงจะเริ่มรับภาระค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวน ยิ่งจ่ายเบี้ยประกันสูงเท่าใด จำนวนเงินที่คนไข้จะต้องจ่ายก่อนที่บริษัทประกันจะยอมรับภาระก็ยิ่งน้อยลงไป

 

เงื่อนไขของการประกันสุขภาพในสหรัฐฯ ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะยังมีเรื่องเครือข่ายผู้ให้การรักษาที่ประกันจะยอมจ่ายให้อีก ประกันแต่ละบริษัทก็จะทำข้อตกลงกับเครือข่ายผู้ให้บริการด้านการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือคลินิกแต่ละที่ ถ้าเกิดคนไข้เข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ไม่อยู่ในเครือข่ายของประกันที่ตัวเองถือ ประกันก็อาจจะไม่ยอมจ่ายเลยสักสตางค์ หรือถ้าจ่ายก็จ่ายเป็นจำนวนเล็กน้อยเท่านั้น

 

นั่นแปลว่าเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและคนไข้จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่กลับไม่ได้อยู่ในเครือข่ายประกัน คนไข้ก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด แม้ว่าจะเสียค่าประกันรายเดือนมาโดยตลอดก็ตาม

 

รัฐบาลไม่ช่วยอะไร?

ก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ช่วยอะไรเสียทีเดียว ในปี 1965 ภายใต้ประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน สภาคองเกรสแก้ไขกฎหมายประกันสังคมของสหรัฐฯ อันเป็นจุดกำเนิดของโปรแกรมเมดิเคด (Medicaid) และเมดิแคร์ (Medicare) ที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้

 

 

ความแตกต่างของสองโปรแกรมดังกล่าวอยู่ตรงที่เมดิแคร์ให้ประกันสุขภาพกับผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และอยู่อาศัยในสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมายเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี (หมายความว่าไม่ต้องเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ ก็ได้) โดยเงินสนับสนุนเมดิเคดนั้นมาจากกองทุนที่ประกอบด้วยเงินที่หักออกจากรายรับของคนทำงาน สมทบด้วยผู้จ้างงาน พูดง่ายๆ ก็คือประกันสุขภาพที่ผู้สูงอายุได้รับก็มาจากภาษีที่พวกเขาจ่ายในขณะที่ยังทำงานอยู่นั่นเอง

 

ส่วนเมดิเคดไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องอายุ เมดิเคดมีจุดประสงค์เพื่อให้การประกันสุขภาพกับผู้มีรายได้น้อยและมีความจำเป็นอื่นๆ เช่น หญิงมีครรภ์ บิดามารดาของบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือมีความบกพร่องในด้านต่างๆ แต่ข้อกำหนดที่แน่นอนนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ นั่นเป็นเพราะเงินที่สนับสนุนเมดิเคดนั้นมาจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งและมลรัฐอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นแต่ละมลรัฐจึงมีเสรีภาพในการกำหนดข้อกำหนดของตัวเอง นั่นหมายความว่าคนคนหนึ่งอาจมีสิทธิ์เข้าร่วมเมดิเคดในรัฐหนึ่ง แต่อาจไม่เข้าข่ายคนที่เข้าร่วมโครงการได้ในอีกรัฐหนึ่ง

 

ในปี 2010 สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมาย Patient Protection and Affordable Care Act หรือที่รู้จักกันทั่วไปภายใต้ชื่อ ‘โอบามาแคร์’ อันที่จริงแล้วโอบามาแคร์ไม่ใช่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งที่โอบามาแคร์เปลี่ยนแปลงคือการขยายฐานคนที่สามารถเข้าร่วมโครงการเมดิเคดได้ โดยประเมินผู้มีสิทธิ์รับเมดิเคดจากฐานรายได้เพียงอย่างเดียว 

 

แต่เดิมคนที่จะมีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเมดิเคดไม่เพียงแต่จะต้องมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ต้องมีภาระทางด้านอื่นๆ ด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกรัฐจะตอบรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในปัจจุบันมีเพียง 36 มลรัฐที่ใช้เกณฑ์ดังกล่าว เช่น เท็กซัส เทนเนสซี และฟลอริดา ยังคงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

นอกจากนี้โอบามาแคร์ยังมีผลต่อประกันสุขภาพโดยบริษัทเอกชนด้วย โอบามาแคร์ห้ามไม่ให้บริษัทประกันเลือกปฏิบัติกับผู้ที่มีโรคมาก่อนอยู่แล้ว หรือเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเพศ ห้ามไม่ให้บริษัทประกันลดสิทธิในการประกันกับคนป่วยหรือบาดเจ็บ และกำหนดสิทธิพื้นฐานที่ผู้ประกันควรได้จากบริษัทประกันอย่างเท่าเทียมกัน เพราะจุดประสงค์ของโอบามาแคร์คือแทรกแซงตลาดเพื่อให้ทุกคนสามารถซื้อประกันสุขภาพได้ ผู้ที่มีรายได้เพียงพอแต่ไม่ยอมซื้อประกันจะต้องจ่ายค่าปรับ 

 

อย่างไรก็ดี ในกลุ่มคนที่รายได้ต่ำแต่รายได้ต่ำไม่เพียงพอที่จะเข้าร่วมเมดิเคดก็ยังมองว่าการยอมจ่ายค่าปรับอาจจะถูกและคุ้มค่ากว่าซื้อประกัน นอกจากนี้บริษัทประกันซึ่งมองว่ามาตรการของโอบามาแคร์จะทำให้ค่าใช้จ่ายของตัวเองมากขึ้นนั้นก็ทยอยการตัดลดผู้ให้บริการทางการแพทย์ในเครือข่ายลง ส่งผลต่อความสะดวกในการเข้ารับการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย

 

เหตุผลของคนไม่เอาประกันสุขภาพ

ถ้ามันชัดเจนอยู่แล้วว่าคุณภาพของระบบสุขภาพของสหรัฐฯ เทียบไม่ได้กับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ และระบบประกันสุขภาพของสหรัฐฯ​ มีปัญหา ทำไมยังมีคนต่อต้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

 

คำตอบต่อคำถามดังกล่าวอาจมีหลายส่วน…

 

ในระดับบุคคล ความเชื่อในเรื่องเสรีภาพของปัจเจกบุคคลยังมีผลอย่างมากต่อความเห็นในเรื่องประกันสุขภาพของชาวอเมริกัน งานวิจัยของ Pew Research ชี้ว่าในปี 2018 แม้ว่าคนส่วนใหญ่มองว่าการประกันสุขภาพเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่ความเห็นต่อคำถามที่ว่ารัฐบาลควรแบกรับภาระทั้งหมดหรือไม่หรือควรแบ่งภาระกับบริษัทเอกชนยังคงแบ่งออกเป็นสองฟาก Pew Research ยังพบอีกว่าผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันนั้นมักมองว่าการประกันสุขภาพไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งตอกย้ำจุดยืนของฝ่ายรีพับลิกันที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงชีวิตของประชาชนน้อยที่สุด

 

ในระดับโครงสร้าง การปฏิรูประบบประกันสุขภาพย่อมส่งผลกระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประกัน บริษัทยา หรือแม้แต่บริษัทต่างๆ ที่อาจต้องแบกภาระจ่ายค่าประกันสุขภาพให้กับพนักงานของตัวเอง ล้วนเป็นผู้สนับสนุนหลักของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ระหว่างปี 2019-2020 ธุรกิจด้านสุขภาพรั้งอันดับ 5 ของกลุ่มธุรกิจที่บริจาคเงินให้พรรคการเมืองมากที่สุด

 

 

เช่นนี้แล้วการปฏิรูประบบประกันสุขภาพจึงถูกขัดแข้งขัดขาไปหมด ไม่ว่าจากกลุ่มผลประโยชน์ที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ หรือสมาชิกคองเกรสที่ประชาชนในเขตเลือกตั้งของตัวเองไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงของรัฐบาล

 

สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ประเด็นเรื่องประกันสุขภาพถือเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ลงแข่งขันต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจน โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ซึ่งจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สองต่อต้านโอบามาแคร์และปรับลดเงินสนับสนุนเมดิเคดของรัฐบาลกลางที่ให้กับแต่ละมลรัฐ 

 

ส่วนผู้สมัครลงชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ก็มีจุดยืนต่างกัน โดยมีเพียง เบอร์นี แซนเดอร์ส และอลิซาเบธ วอร์เรน ที่เห็นว่าควรมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและลดบทบาทของประกันสุขภาพเอกชน ในขณะที่ผู้สมัครคนอื่นๆ เช่น โจ ไบเดน, พีท บุตดิเจช, เอมี โคลบูชาร์ และอื่นๆ สนับสนุนให้มีโครงการที่รัฐให้ประกันสุขภาพ แต่เปิดให้ประชาชนมีตัวเลือกหากต้องการประกันสุขภาพกับบริษัทเอกชนด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: 

The post เลือกตั้งสหรัฐฯ 2020: นับถอยหลังเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 ทำไมประกันสุขภาพจึงเป็นเรื่องใหญ่ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทำไมต้องชัตดาวน์? เผยเบื้องหลัง Government Shutdown เรื่องไม่ใหม่ของการเมืองสหรัฐฯ https://thestandard.co/us-government-shutdown/ https://thestandard.co/us-government-shutdown/#respond Thu, 27 Dec 2018 10:05:39 +0000 https://thestandard.co/?p=171877

    ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม […]

The post ทำไมต้องชัตดาวน์? เผยเบื้องหลัง Government Shutdown เรื่องไม่ใหม่ของการเมืองสหรัฐฯ appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

 

ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันเสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2018 รัฐบาลสหรัฐฯ จำต้องปิดทำการเป็นบางส่วน เมื่อสภาคองเกรสกับฝ่ายบริหาร ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สามารถตกลงกันในเรื่องการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2019 ของหน่วยงานบางส่วนได้

 

สาเหตุของความขัดแย้งระหว่างสภาคองเกรสกับฝ่ายบริหารซึ่งนำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีหลักใหญ่ใจความสำคัญอยู่ที่ความพยายามของทรัมป์ในการจัดสรรงบประมาณสำหรับการสร้างกำแพงกั้นระหว่างชายแดนสหรัฐฯ กับเม็กซิโก อันเป็นนโยบายหลักที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 2 ปีก่อน (แม้ว่าทรัมป์จะเคยกล่าวว่าเม็กซิโกจะเป็นผู้จ่ายเงินสำหรับการสร้างกำแพงดังกล่าวก็ตาม)

 

 

ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ทรัมป์เรียกร้องให้สภาคองเกรสจัดสรรงบประมาณจำนวน 5,700 ล้านเหรียญให้กับโครงการสร้างกำแพงของเขา ซึ่งถูกปฏิเสธจากสภาคองเกรส ทรัมป์ตอบโต้ว่า หากข้อเรียกร้องของเขาไม่ได้รับการตอบสนองจากสภาคองเกรส เขายินดีจะปิดทำการรัฐบาล แต่ต่อมาทรัมป์ก็กลับลำว่าเขาจะลงนามในการจัดสรรงบประมาณที่จะช่วยประคองรัฐบาลไปจนถึงช่วงต้นปี 2019

 

อย่างไรก็ดี เมื่อวุฒิสภาผ่านการจัดสรรงบประมาณชั่วคราว ซึ่งจะยืดระยะงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ทรัมป์ก็กลับลำอีกครั้ง โดยประกาศว่าจะไม่ยอมลงนามในงบประมาณใดๆ ที่ไม่จัดสรรงบประมาณให้กับโครงการการสร้างกำแพงชายแดนอย่างเด็ดขาด หลังการยืนกรานของทรัมป์ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีพรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างมาก จึงผ่านการจัดสรรงบประมาณอีกฉบับที่จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ร่างการจัดสรรงบประมาณไม่ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภา ซึ่งแม้จะมีพรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างมาก แต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับการผ่านร่างดังกล่าวที่ต้องใช้เสียงถึง 3 ใน 5

 

เมื่อความขัดแย้งยืดเยื้อจนเลยเส้นตายที่งบประมาณประจำปี 2018 หมดอายุลง หน่วยงานซึ่งยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ เช่น กระทรวงความมั่นคงภายในประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม จึงจำต้องปิดทำการอย่างไม่มีกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั้งทรัมป์และผู้นำวุฒิสมาชิกเสียงข้างน้อยพรรคเดโมแครตต่างยืนยันว่าจะไม่ประนีประนอมจุดยืนของตัวเอง

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ จำต้องปิดทำการลงเนื่องจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไม่สามารถตกลงกันในเรื่องการจัดสรรงบประมาณได้ แต่เกิดขึ้นมาแล้วร่วม 20 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (บุชผู้พ่อ) ประธานาธิบดีบิล คลินตัน หรือแม้แต่กระทั่งในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา

 

การปิดทำการชั่วคราวของรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งที่ยาวนานที่สุดเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลคลินตันในปี 1996 ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งในเรื่องนโยบายการศึกษาและสุขภาพ โดยในขณะที่คลินตันต้องการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อดำเนินนโยบายทางด้านสังคม เช่น การศึกษา เด็ก และสุขภาพ พรรครีพับลิกันกลับมองว่าการที่รัฐบาลจำเป็นต้องตัดลดการใช้งบประมาณที่ไม่จำเป็นลง ความขัดแย้งครั้งนี้ส่งผลให้รัฐบาลจำเป็นต้องหยุดทำการชั่วคราวเป็นเวลาถึง 21 วัน (5 ธ.ค. 1995 ถึง 6 ม.ค. 1996)

 

โดยจำนวนวันดังกล่าวยังไม่นับรวมความขัดแย้งในเรื่องเดียวกันที่ทำให้รัฐบาลในสมัยคลินตันต้องหยุดทำงานชั่วคราวไปแล้วครั้งหนึ่งในปี 1995 เป็นเวลา 6 วัน

 

ความขัดแย้งในเรื่องหลักประกันด้านสุขภาพยังคงเป็นชนวนสำคัญให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องปิดทำการชั่วคราวอีกครั้งในปี 2013 เมื่อฝ่ายบริหารซึ่งนำโดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา พร้อมด้วยวุฒิสภาซึ่งมีพรรคเดโมแครตเป็นเสียงข้างมาก ไม่สามารถตกลงกับสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีพรรครีพับลิกันในเรื่องโครงการประกันสุขภาพ หรือที่เรียกในชื่อเล่นว่า ‘โอบามาแคร์’ ได้ ส่งผลให้รัฐบาลต้องหยุดทำการในช่วงเดือนตุลาคมเป็นเวลาถึง 16 วัน

 

 

ภายใต้การบริหารงานของทรัมป์ การปิดทำการชั่วคราวของรัฐบาลในครั้งนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเช่นกัน โดยเกิดขึ้นไปแล้วหนึ่งครั้งในเดือนมกราคม 2018 และในช่วงไม่กี่ชั่วโมงอีกครั้งหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 โดยความขัดแย้งที่ส่งผลต่อการหยุดทำการชั่วคราวของรัฐบาลในเดือนมกราคมนั้นก็คือเรื่องคนเข้าเมืองนั่นเอง

 

สาเหตุที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับการปิดทำการชั่วคราวอยู่บ่อยครั้ง เป็นเพราะกลไกการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในระบบประธานาธิบดี

 

ในขณะที่ประธานาธิบดีสามารถยื่นข้อเสนอด้านการจัดสรรงบประมาณต่อสภาคองเกรส ซึ่งส่วนมากมักเกี่ยวข้องกับนโยบายที่ประธานาธิบดีให้ความสำคัญ ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ถืออำนาจเต็มและทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดสรรบงประมาณประจำปี

 

กระบวนการในการจัดสรรงบประมาณเริ่มต้นขึ้นเมื่อประธานาธิบดียื่นข้อเสนองบประมาณให้กับสภาคองเกรส จากนั้นคณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณทั้งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงทำการจัดสรรงบประมาณแยกกัน ซึ่งอาจจะเป็นไปตามคำร้องขอของประธานาธิบดีหรือไม่ก็ได้

 

ร่างการจัดสรรงบประมาณทั้งสองฉบับจะเข้าสู่กระบวนการการถกเถียงและลงมติในแต่ละสภา โดยหลังจากทั้งสองสภาลงมติผ่านร่างการจัดสรรงบประมาณของตัวเอง จะมีคณะกรรมาธิการทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อแตกต่างของร่างที่จัดทำจากแต่ละสภา จากนั้นร่างงบประมาณที่ได้รับการไกล่เกลี่ยข้อแตกต่างแล้วจะเข้าสู่กระบวนการลงมติในแต่ละสภาอีกครั้ง

 

หากร่างดังกล่าวผ่านการลงมติจากทั้งสองสภา ประธานาธิบดีก็จะลงนามประกาศเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ดี หากประธานาธิบดีไม่พอใจต่อร่างการจัดสรรงบประมาณของสภาคองเกรส ประธานาธิบดีก็สามารถวีโต้ร่างดังกล่าวได้ และหากสภาคองเกรสยังยืนกรานตามร่างงบประมาณของตัวเอง ก็สามารถกลับการวีโต้ของประธานาธิบดีได้ด้วยการลงมติ 2 ใน 3

 

แต่ในสภาวะที่ไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงข้างมากเกิน 2 ใน 3 อย่างทุกวันนี้ การลบล้างการวีโต้ของประธานาธิบดีจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง

 

 

การปิดการทำการของรัฐบาลอย่างไม่รู้วันสิ้นสุดเนื่องจากการยืนกรานจะสร้างกำแพงกั้นชายแดนของประธานาธิบดีในครั้งนี้ ส่งผลต่อพนักงานของรัฐหลายแสนคนซึ่งถูกบังคับให้หยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน หน่วยงานราชการต่างๆ หยุดให้บริการ เช่น หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือกับธุรกิจขนาดเล็ก หน่วยงานที่ให้หลักประกันกับการกู้เงินเพื่อที่อยู่อาศัย ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น พิพิธภัณธ์ที่ดำเนินการโดยรัฐ ซึ่งจะปิดทำการอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าสภาคองเกรสและประธานาธิบดีจะสามารถตกลงกันในเรื่องงบประมาณได้ ส่วนอุทยานแห่งชาติบางส่วนยังคงเปิดให้เข้าไปชม แต่จะไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล

 

ในส่วนของต่างประเทศและประเทศไทย พนักงานที่ทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ ตามสถานทูตและไม่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของสหรัฐฯ หรือความปลอดภัยของชีวิตโดยตรง จะต้องถูกบังคับให้หยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน แต่สถานทูตยังคงให้บริการทำวีซ่าและพาสปอร์ตตามปกติ ตราบใดที่ค่าธรรมเนียมในการทำเอกสารดังกล่าวยังเพียงพอต่อการดำเนินธุรกรรมดังกล่าว

 

ส่วนผู้ที่เตรียมเดินทางมายังสหรัฐฯ หรือกำลังอยู่ระหว่างการท่องเที่ยวในสหรัฐฯ อาจต้องตรวจสอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวใดดำเนินงานโดยรัฐบาล เนื่องจากสถานที่เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. จะปิดยาวอย่างไม่มีกำหนดจนกว่ารัฐบาลและสภาคองเกรสจะประนีประนอมกันในเรื่องงบประมาณประจำปี 2019 ได้

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

The post ทำไมต้องชัตดาวน์? เผยเบื้องหลัง Government Shutdown เรื่องไม่ใหม่ของการเมืองสหรัฐฯ appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/us-government-shutdown/feed/ 0
มองทิศทางการเมืองสหรัฐฯ หลังเลือกตั้งมิดเทอม https://thestandard.co/us-midterm-election/ https://thestandard.co/us-midterm-election/#respond Mon, 12 Nov 2018 09:18:48 +0000 https://thestandard.co/?p=146089

การเลือกตั้งกลางสมัย หรือที่เรียกว่า Midterm Election ท […]

The post มองทิศทางการเมืองสหรัฐฯ หลังเลือกตั้งมิดเทอม appeared first on THE STANDARD.

]]>

การเลือกตั้งกลางสมัย หรือที่เรียกว่า Midterm Election ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน ตามเวลาในสหรัฐฯ แม้ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยตรง แต่ก็เปรียบเสมือนเป็นการลงประชามติความไว้วางใจที่มีต่อตัวทรัมป์และนโยบายที่ผ่านๆ มาของเขา ไม่ว่าจะเป็นในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ

 

 

การเลือกตั้งกลางสมัยจะจัดขึ้นทุกๆ 4 ปี โดยจะเกิดขึ้น 2 ปีหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอยู่เสมอๆ พูดง่ายๆ ก็คือสมมติการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกิดขึ้นในปี 2016 (ซึ่งไม่ต้องสมมติก็ได้ เพราะเกิดขึ้นในปีนั้นจริงๆ) การเลือกตั้งกลางสมัยจะเกิดขึ้นในปี 2018 โดยการเลือกตั้งกลางสมัยจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2022 หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี 2020

 

บุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งกลางสมัยประกอบด้วยผู้แทนราษฎรจำนวน 435 คน (วาระ 2 ปี) วุฒิสมาชิกจำนวน 33 หรือ 34 คนจาก 100 คน (วาระ 6 ปี) และรวมถึงผู้ว่าการของ 36 มลรัฐจากทั้งหมด 50 มลรัฐ (โดยมากวาระ 4 ปี ยกเว้นบางมลรัฐวาระ 2 ปี) ส่วน 1 ใน 3 ของที่นั่งวุฒิสมาชิกที่เหลือจะได้รับการเลือกตั้งพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี และอีก 1 ใน 3 ของที่นั่งวุฒิสมาชิกจะได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งกลางสมัยครั้งต่อไป ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าการมลรัฐฯ บ้างก็จะมีขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี บ้างก็มีขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปฏิทินของแต่ละมลรัฐ

 

โดยทั่วไปการเลือกตั้งกลางสมัยเป็นเหมือนเครื่องชี้วัดความไว้วางใจที่มีต่อตัวประธานาธิบดี แต่ในกรณีสหรัฐฯ วาทกรรมทางการเมืองมักให้ค่ากับเรื่องการถ่วงดุลอำนาจเป็นสำคัญ พรรครัฐบาลจึงมักจะศูนย์เสียที่นั่งทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาอยู่เสมอ

 

อาจมีข้อยกเว้นในกรณีพิเศษอยู่บ้าง เช่น การเลือกตั้งกลางสมัยในปี 2002 ภายใต้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ซึ่งชาวอเมริกันอยู่ภายใต้ภาวะหวาดกลัวจากการก่อการร้ายหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ทำให้พรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้นได้ที่นั่งเพิ่มทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

 

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการเลือกตั้งกลางสมัยในครั้งนี้คือจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

 

 

โดยทั่วไปการเลือกตั้งกลางสมัยมักจะได้รับความสนใจน้อยกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดี และมีการวิเคราะห์ว่าผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์มักเป็นผู้ที่มีการศึกษามากกว่า และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์น้อยกว่า หรือพูดง่ายๆ คือส่วนใหญ่ที่ออกมาใช้สิทธิ์คือคนขาว* อย่างไรก็ดี ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งถึงเกือบ 50% ออกไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ และผลการเลือกตั้งก็เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของความหลากหลายทางเชื้อชาติและความหลากหลายทางเพศ

 

ส่วนหนึ่งของการตื่นตัวทางการเมืองเป็นเพราะพรรคเดโมแครตพยายามผลักดันประเด็นเรื่องการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบ โดยมองว่าการผลักดันให้สมาชิกของพรรคเข้าไปนั่งในสภาจะทำให้การตรวจสอบประธานาธิบดีทรัมป์ในกรณีต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้นกว่าการที่พรรครีพับลิกันเป็นเสียงข้างมากทั้งในสภาสูงและสภาล่าง ในขณะที่ทรัมป์ก็เข้าร่วมการหาเสียงของพรรครีพับลิกันอย่างเต็มที่ และเชิญชวนให้ผู้สนับสนุนออกไปใช้สิทธิ์ให้เหมือนกับว่าเป็นการเลือกประธานาธิบดี


ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่าพรรคเดโมแครตจะกลายเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และพรรครีพับลิกันยังคงเป็นเสียงข้างมากในวุฒิสภา นั่นหมายความว่าสภาคองเกรสในสมัยนี้จะมีลักษณะแตกเป็นสองพรรคอย่างชัดเจน ลักษณะเช่นนี้ผลักดันให้ทรัมป์ต้องพยายามเจรจากับพรรคฝ่ายตรงข้ามมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้นโยบายที่ออกมามีความประนีประนอมมากขึ้น เนื่องจากต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย

 

แต่ในอีกทางหนึ่ง ความแตกแยกก็อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจจนก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารงาน ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งตั้งแต่การเลือกตั้งกลางสมัยในการเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกก็เกิดปัญหาการครองเสียงข้างมากในสภาสูงและสภาล่างโดยคนละพรรคกันมาตลอด (ยกเว้นการเลือกตั้งกลางสมัยในการเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของโอบามาที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาสูงและสภาล่างได้ทั้งหมด) ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทำให้การทำงบประมาณประจำปีเกิดความล่าช้าจนรัฐบาลต้องปิดทำการไปถึง 17 วัน

 

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากการที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรคือการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น โดยก่อนการเลือกตั้งพรรคเดโมแครตก็ได้ออกมาประกาศแล้วว่าหากได้เสียงข้างมากในสภาล่างจะเปิดการสอบสวนทั้งเรื่องความเกี่ยวข้องของทรัมป์กับการแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 ของรัสเซีย หรือแม้แต่เรื่องการที่ทรัมป์ใช้เงินปิดปากผู้หญิงที่ตัวเองเคยมีความสัมพันธ์ด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถูกละเลยและไม่ได้รับการตรวจสอบขณะที่รีพับลิกันเป็นเสียงส่วนใหญ่ของคองเกรส

 

และนี่ก็แสดงให้เห็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย เมื่อไม่ชอบนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันก็รอจนกระทั่งถึงการเลือกตั้งเพื่อที่จะเลือกให้อีกฝ่ายเข้าไปถ่วงดุล จากนี้คงต้องรอดูว่ากลไกที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อตรวจสอบอำนาจของสหรัฐฯ จะทำงานได้ดีแค่ไหน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

The post มองทิศทางการเมืองสหรัฐฯ หลังเลือกตั้งมิดเทอม appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/us-midterm-election/feed/ 0
ศิลปิน ดารา กับมายาคติในการช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ประเทศด้อยพัฒนากว่า https://thestandard.co/visual-global-politics/ https://thestandard.co/visual-global-politics/#respond Tue, 23 Oct 2018 02:06:01 +0000 https://thestandard.co/?p=135835

ภาพดาราฮอลลีวูดผิวขาวถูกห้อมล้อมด้วยเด็กๆ ชาวแอฟริกัน ก […]

The post ศิลปิน ดารา กับมายาคติในการช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ประเทศด้อยพัฒนากว่า appeared first on THE STANDARD.

]]>

ภาพดาราฮอลลีวูดผิวขาวถูกห้อมล้อมด้วยเด็กๆ ชาวแอฟริกัน กลายเป็นรูปภาพที่ถูกผลิตซ้ำขึ้นเสมอๆ เพื่อใช้โปรโมตโครงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

 

ในทางหนึ่ง ดารามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยทำให้โครงการเหล่านี้เป็นที่รู้จัก และทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ แต่รูปภาพเช่นนี้ก็ผลิตซ้ำมายาคติบางประการ

 

ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือความเชื่อเรื่อง ‘ภาระของคนขาว’ ที่จำเป็นต้องเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า

 

 

แม้ว่าการวางกรอบของรูปภาพเหล่านี้อาจไม่ได้มาด้วยความตั้งใจของผู้ถ่าย หรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่ได้ตั้งใจให้ภาพที่ออกมาสื่อความไปถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมในเชิงโครงสร้างหรือความเหนือกว่าของคนขาวในฐานะผู้ให้

 

แต่การจัดวางองค์ประกอบของภาพย่อมสะท้อนให้เห็นมุมมองทางความคิดเบื้องลึกของผู้ถ่าย ซึ่งหลายครั้งความคิดเหล่านั้นก็เป็นผลมาจากภาพจำของผู้ถ่ายที่มีต่อสิ่งที่ถูกถ่ายนั่นเอง นั่นคือ หากผู้ถ่ายคิดว่าเด็กในแอฟริกาน่าสงสารและเป็นผู้รอรับความช่วยเหลือ ภาพที่เขาถ่ายออกมาก็จะเล่าเรื่องเช่นนั้น

 

เพราะภาพถ่ายคือภาพสะท้อนสำคัญของภาพจำและแนวความคิดที่มีต่อการให้ความช่วยเหลือและผู้รับการช่วยเหลือโดยตรง ดังนั้นหากแนวความคิดที่มีต่อภารกิจการให้ความช่วยเหลือเปลี่ยนไป ภาพถ่ายของดาราที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็ควรจะเปลี่ยนไปด้วย

 

 

Tanja R. Müller อาจารย์ด้านการพัฒนาที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้เขียนถึงพัฒนาการของภาพถ่ายดาราที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเอาไว้ในบทหนึ่งของหนังสือเรื่อง Visual Global Politics อย่างน่าสนใจ

 

Müller ชวนให้ผู้อ่านกลับไปพิจารณารายงานข่าวเรื่องสภาวะขาดแคลนอาหารในเอธิโอเปียในปี 1983-1985 ของ Michael Buerk และ Mohammed Amin ซึ่งได้รับการแพร่ภาพเป็นครั้งแรกที่ BBC เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 1984

 

 

ภาพชาวเอธิโอเปียในชุดกึ่งเหลืองกึ่งขาวนั่งรวมกันเพื่อรอรับความช่วยเหลือด้านอาหาร กลายเป็นภาพข่าวที่มีอิทธิพลต่อการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมากที่สุดภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

วิธีการนำเสนอที่ชี้ให้เห็นว่าภาวะความอดอยากเป็นผลมาจากธรรมชาติ โดยไม่ได้พูดถึงสงครามต่อต้านกลุ่มติดอาวุธในเอธิโอเปียและเอริเทรีย ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาวะอดอยากดังกล่าว ยิ่งทำให้ผู้รับชมรายงานดังกล่าวรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เพราะเข้าใจว่าสภาวะอดอยากดังกล่าวไม่ได้มาจากปัญหาทางการเมืองที่ควรใช้เครื่องมือทางการเมืองในการแก้ไข

ทันทีที่รายงานชิ้นดังกล่าวได้รับการแพร่ภาพ เหล่าดารานักร้องนำโดย Bob Geldof นักร้องนำของวงดนตรีร็อกเชื้อสายไอริชอย่าง The Boomtown Rats ก็เข้าร่วมการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดยทันที

 

 

ซึ่งในกรณีนี้ Müller เน้นย้ำว่า แทนที่ดาราเหล่านี้จะตั้งคำถามถึงเหตุผลว่าภาวะขาดแคลนอาหารเกิดขึ้นได้อย่างไร และประเทศพัฒนาแล้วมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนในประเทศเหล่านี้หรือไม่ (นั่นคือการเข้าครองอาณานิคมอาจส่งผลต่อการไม่พัฒนาของประเทศเหล่านี้) กลับสร้างความชอบธรรมต่อระเบียบโลกในปัจจุบันที่แบ่งออกเป็นประเทศพัฒนาแล้วกับด้อยพัฒนา

 

รูปภาพของ Geldof ในขณะที่เข้าเยี่ยมแคมป์ในเอธิโอเปีย แสดงให้เห็นความไม่เท่าเทียมดังกล่าวอย่างชัดเจน โดย Geldof เดินอยู่ท่ามกลางเด็กชาวเอธิโอเปียที่บ้างก็วิ่งตาม บ้างก็วิ่งนำ บ้างก็จับมือ Geldof ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ภาพดังกล่าวตัดเอาข้อเท็จจริงที่ว่า การเข้าเยี่ยมแคมป์ดังกล่าวของ Geldof ได้รับการจัดการโดยรัฐบาลเอธิโอเปีย ซึ่งได้นำเงินบริจาคเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนอาหารบางส่วนไปใช้การในภารกิจต่อต้านกลุ่มติดอาวุธภายในประเทศ

 

เมื่อเวลาผ่านไป ภาพของดาราที่เข้าไปช่วยเหลือในโครงการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็มีลักษณะแตกต่างออกไป เมื่อโซมาเลียเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในปี 2011 องค์กร ONE ได้ให้ภรรยาของ บ็อบ มาร์เลย์ เป็นผู้โปรโมตแคมเปญ พร้อมใช้เพลงของเขา I’m gonna be your friend เป็นสโลแกน

 

ที่น่าสนใจคือ แทนที่โครงการดังกล่าวจะขอความช่วยเหลือในรูปตัวเงิน กลับขอให้ผู้สนับสนุนช่วยกันคลิกผ่านเว็บไซต์เพื่อล็อบบี้นักการเมืองให้ให้ความสนใจต่อการป้องกันภาวะอดอยากและความยากจนอย่างเป็นระบบ

 

โครงการ ONE ไม่ฉายภาพภาวะขาดแคลนอาหารในโซมาเลีย แต่นำเสนอภาพดารา-นักร้องที่แสดงอารมณ์โกรธเนื่องจากพยายามชี้ให้เห็นว่าภาวะขาดแคลนอาหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้

 

อย่างไรก็ดี แม้จะให้ความสำคัญกับภาพผู้ได้รับผลกระทบน้อยลง การตีความว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อภาวะขาดแคลนอาหารคือรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพในแอฟริกาแต่เพียงอย่างเดียว ก็เท่ากับว่าโครงการทางมนุษยธรรมดังกล่าวก็ไม่ได้หลุดออกจากกรอบการมองแอฟริกาเป็นประเทศที่ด้อยกว่าประเทศตะวันตกเสียทีเดียว

 

ในปัจจุบัน บทบาทของดารานักร้องและผู้มีชื่อเสียงต่อภารกิจช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมเปลี่ยนไปจากการเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง กลายเป็นการวางตัวเป็นตัวเป็นกลางระหว่างกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบและรอความช่วยเหลือกับรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว

 

รูปจอร์จ คลูนีย์ นั่งถกปัญหาด้านมนุษยธรรมในประเทศซูดานกับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากมีส่วนร่วมด้วยการรณรงค์ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง ไปสู่การเรียกร้องให้มีการวางแผนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีระบบมากขึ้น โดยผู้มีชื่อเสียงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ทั้งรัฐบาลและคนทั่วไปสนใจมากขึ้น

 

 

นอกจากนี้ดาราที่เข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในปัจจุบันยังมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มักมีเพียงคนขาวและเป็นผู้ชาย ก็มีผู้หญิงอย่างเช่น แอนเจลินา โจลี เข้าร่วมมากขึ้น รวมทั้งยังมีศิลปินดาราจากประเทศแถบเอเชียเข้าร่วมมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากความเชื่อเรื่องภาระคนขาวเจือจางลง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีศิลปินดาราจากประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมด้วยอาจเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศใต้-ใต้ (South-South Cooperation) อันหมายถึงความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันอีกด้วย

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้การเข้าร่วมภารกิจทางมนุษยธรรมของดาราอาจไม่สามารถช่วยบรรเทาความต้องการได้อย่างฉับพลัน แต่ดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนด ‘เส้นเรื่อง’ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะความยากจนหรือภัยพิบัตินั้นๆ ดังที่ได้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจที่มีต่อสาเหตุของภัยพิบัติและลักษณะความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่มีตั้งแต่กรณีเอธิโอเปียเป็นต้นมา

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • Müller, T. R. (2018). Celebrity. In R. Bleiker (Ed.), Visual Global Politics(pp. 42-47). New York, NY: Routledge.

The post ศิลปิน ดารา กับมายาคติในการช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ประเทศด้อยพัฒนากว่า appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/visual-global-politics/feed/ 0
จากฮอลลีวูดถึงคนหน้าหมี สู่ความเข้าใจการคุกคามทางเพศ https://thestandard.co/konnamhe-and-sexual-harassment/ https://thestandard.co/konnamhe-and-sexual-harassment/#respond Mon, 29 Jan 2018 09:27:33 +0000 https://thestandard.co/?p=65904

โลกสังคมออนไลน์ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อรายการ ‘คนหน้า […]

The post จากฮอลลีวูดถึงคนหน้าหมี สู่ความเข้าใจการคุกคามทางเพศ appeared first on THE STANDARD.

]]>

โลกสังคมออนไลน์ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อรายการ ‘คนหน้าหมี’​ ซึ่งดำเนินรายการโดย โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน และ ดีเจอาร์ต-มารุต ชื่นชมบูรณ์ ตอนแรกถูกอัพโหลดขึ้นบนเว็บไซต์ยูทูบเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าคอมเมนต์ที่มีต่อรายการจะมาจากทั้งฝั่งผู้ชมที่ชอบและไม่ชอบรายการ แต่ดูเหมือนว่ากระแสวิจารณ์ที่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงเนื้อหาหรือยกเลิกรายการจะมากกว่าอีกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด


อันที่จริงถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ชมจำนวนมากออกมาวิจารณ์รายการที่มีเนื้อหาล่อแหลมและคุกคามทางเพศนี้ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยมีความตระหนักรู้เรื่องความเสมอภาคทางเพศและศักดิ์ศรีของมนุษย์มากขึ้น


ความเสมอภาคทางเพศเป็นมิติหนึ่งของสิทธิมนุษยชนว่าด้วยความเท่าเทียมกันทางสิทธิและโอกาสของเพศต่างๆ ทั้งการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและการตัดสินใจ


เมื่อการสร้างความเสมอภาคทางเพศกลายเป็นวาระสำคัญของการพัฒนา องค์กรด้านการพัฒนาหลายองค์กรจึงคิดค้นมาตรวัดสำหรับการวัดระดับความเสมอภาคทางเพศขึ้น ซึ่งมาตรวัดที่แต่ละองค์กรใช้นั้นก็แตกต่างกันออกไป เช่น ดัชนีความเหลื่อมล้ำทางเพศ (Gender Inequality Index – GII) ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP, คำนวณความเหลื่อมล้ำทางเพศจากสัดส่วนการตายของมารดา, อัตราการคลอดในวัยรุ่น, สัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภา, จำนวนผู้หญิงที่จบการศึกษาอย่างน้อยในชั้นมัธยมศึกษา และการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิง


เมื่อเลือกมาเฉพาะปัจจัยที่จับต้องได้เช่นนี้แล้ว แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีความเท่าเทียมกันที่สุด แต่ก็อยู่ในช่วงชั้นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้การที่ผู้หญิงได้รับโอกาสให้มีการศึกษาในระดับสูงและเข้าทำงานในอาชีพที่ทัดเทียมกับผู้ชาย จึงทำให้หลายคนไม่เอะใจคิดสงสัยถึงความเหลื่อมล้ำที่ซ่อนรูปอยู่ในชีวิตประจำวัน


มิติหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศคือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใด มีเชื้อชาติใด เตี้ย สูง ดำ ขาวอย่างไร ควรได้รับการเคารพเฉกเช่นเดียวกัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่ควรมีใครถูกทำให้อับอาย ถูกทำให้เป็นวัตถุ (รวมถึงการทำให้เป็นวัตถุทางเพศ) ลดทอนคุณค่า หรือลดทอนความเป็นมนุษย์


แม้ว่าแนวคิดเหล่านี้จะดูคอมมอนเซนส์จนหลายคนอาจคิดว่า แหม เรื่องพวกนี้ใครๆ ก็รู้ แต่ในความเป็นจริง การลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อาจสอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมและในชีวิตประจำวันจนยากที่จะหยั่งรู้ได้


รายการ คนหน้าหมี เป็นตัวอย่างที่ประเด็นเรื่องศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ซึ่งในแง่นี้คือศักดิ์ศรีทางเพศถูกมองข้าม ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรมที่มองว่าแซวกันเองขำๆ ไม่ได้คิดจริง ไม่มีการล่วงเกินทางกายภาพ ตามสโลแกนของรายการที่บอกว่า ‘สัญญาจะไม่โดนตัวน้องเค้าเลย’ ไม่ใช่การล่วงละเมิดทางเพศ


แต่ในความเป็นจริง เพียงคำพูดเช่น “ทำไมช่วงนี้ดูปอดบวมๆ ครับ” หรือแม้แต่การเอาโทรศัพท์มือถือขึ้นมาแอบถ่ายหน้าอกของผู้ร่วมรายการก็เข้าข่ายคุกคามทางเพศเช่นเดียวกัน ถึงตรงนี้คงมีหลายคนตั้งคำถามว่า เจ้าตัวที่ถูกแซวยังไม่รู้สึกอะไรเลย จะไปรู้สึกแทนเขาทำไม


ก็คงต้องตอบว่า แน่นอนว่าผู้หญิงมีสิทธิ์ที่จะเลือกใส่อะไรก็ได้ตามแนวคิดสิทธิเหนือเรือนร่างของตัวเอง แต่คำถามที่ตามมาคือการแต่งตัวเช่นนี้คือการยินยอมให้ถูกพูดจาลามกอนาจารใส่อย่างไรก็ได้จริงหรือ เพราะตรรกะเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับที่บอกว่า หากผู้หญิงแต่งตัวไม่เรียบร้อยก็เท่ากับเป็นการยินยอมให้ถูกข่มขืน


อันที่จริงคำถามที่น่าจะสำคัญที่สุดก็คือ รายการ คนหน้าหมี ต้องการสื่อสารอะไรกับสังคม และมองบทบาทความรับผิดชอบของตัวเองต่อผู้บริโภคอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่สังคมนานาชาติ รวมถึงภาคธุรกิจบันเทิงอย่างฮอลลีวูดกำลังรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องการคุกคามทางเพศและความเสมอภาคทางเพศอย่างกว้างขวาง


มองอีกแง่หนึ่ง อันที่จริงรายการนี้ก็มีคุณูปการ (ที่อาจไม่จำเป็น) อยู่บ้าง นั่นคือเป็นชนวนให้เกิดการถกเถียงเรื่องความเสมอภาคทางเพศ การทำให้กลายเป็นวัตถุทางเพศ และการคุกคามทางเพศอย่างกว้างขวาง โดยการถกเถียงเช่นนี้ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้มีการทำความเข้าใจกับแนวคิดเช่นนี้เพิ่มขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง


ขอเพียงอย่างเดียวคืออย่าจบการถกเถียงในประเด็นนี้ด้วยวลีคุ้นหูที่ว่า ‘ไม่ชอบก็ไม่ต้องดู’ เพราะแน่นอนว่าวัฒนธรรมการทำให้เพศหญิงกลายเป็นวัตถุทางเพศ (ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว) ย่อมไม่ใช่สิ่งที่พึงประสงค์ของสังคมเท่าใดนัก

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.w 

The post จากฮอลลีวูดถึงคนหน้าหมี สู่ความเข้าใจการคุกคามทางเพศ appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/konnamhe-and-sexual-harassment/feed/ 0
โหวตศิลปินไป MTV คือเกียรติยศของชาติ? เมื่ออาเซียนก้าวไม่พ้นชาตินิยม https://thestandard.co/votes-artists-nominated-for-mtv/ https://thestandard.co/votes-artists-nominated-for-mtv/#respond Mon, 30 Oct 2017 10:25:39 +0000 https://thestandard.co/?p=39239

     ‘ดนตรีไม่มีพรมแดน’ คือประโยคคลาสสิก […]

The post โหวตศิลปินไป MTV คือเกียรติยศของชาติ? เมื่ออาเซียนก้าวไม่พ้นชาตินิยม appeared first on THE STANDARD.

]]>

     ‘ดนตรีไม่มีพรมแดน’ คือประโยคคลาสสิกที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อธิบายลักษณะพิเศษของดนตรี ที่สามารถหลอมรวมผู้คนจากต่างชาติ ต่างภูมิหลัง ต่างวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน สุนทรียภาพทางดนตรีทำลายข้อจำกัดทางภาษา เพราะถึงแม้ผู้ฟังจะไม่เข้าใจเนื้อเพลงแม้เพียงสักนิด ความงดงามที่เกิดจากท่วงทำนองก็ทำให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมไปกับเพลงที่ฟังได้

     แต่ดนตรีก็เหมือนกับสินค้าเพื่อความบันเทิงชนิดอื่นๆ ที่เมื่อสามารถใช้เพื่อก้าวข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้ ก็สามารถใช้เพื่อก่อกำแพงทางวัฒนธรรมได้เช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเพลงชาตินิยมที่มักสร้างความฮึกเหิม ปลุกความทรงจำร่วมของคนในชาติ เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นภายในประเทศ ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่แปลกนักที่ดนตรีไม่ได้ทำหน้าที่หลอมรวมความหลากหลาย

     ที่น่าแปลกคือแม้หลายครั้งดนตรีที่ว่าจะไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเป็น ‘ชาติ’ แต่เพราะศิลปินเป็นคนใน ‘ชาติ’ ความรู้สึกว่าต้องผูกติด ‘ชาติ’ เข้ากับศิลปินผู้นั้นกลับเกิดขึ้น และที่น่าแปลกยิ่งกว่าคือแม้ความรู้สึกร่วมในความเป็นชาติอาจจะเกิดขึ้นบ้างอย่างน้อยนิดในตะวันตก แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้กลับรับรู้ได้อย่างชัดเจนในเอเชีย และโดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังโหมกระแสความร่วมมือในอาเซียนอย่างหนัก

 

Photo: PeckPalitchokeFanclub/Facebook

 

จากรางวัลศิลปินยอดเยี่ยมสู่เกียรติยศของชาติ

     มหกรรรมการโหวตหาผู้ชนะรางวัล Best Southeast Asia Act ในเวที MTV Europe Music Award (MTVEMA) เป็นเครื่องตอกย้ำความจริงข้อนี้ได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา MTV EMA เริ่มแจกรางวัลให้กับศิลปินจากภูมิภาคอื่นๆ เช่น Best Japanese Act, Best Korean Act, Best Middle East Act โดยศิลปินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกจัดรวมให้ชิงรางวัลในประเภทเดียวกันคือ Best Southeast Asia Act และเมื่อเป็นการแข่งขันที่รวมศิลปินจากหลากหลายชาติ การแปะป้ายตีตราว่าศิลปินแต่ละคนเป็นสมบัติของแต่ละชาติจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     ในปีนี้ผู้ที่เข้าชิงรางวัลดังกล่าว ได้แก่ Dam Vinh Hung (เวียดนาม), Faizal Tahir (มาเลเซีย), Isyana Sarasvati (อินโดนีเซีย), James Reid (ฟิลิปปินส์), Slot Machine (ไทย), The Sam Willows (สิงคโปร์)​ และผลิตโชค อายนบุตร (ไทย) โดยในแต่ละประเทศมีวิธีการรณรงค์การโหวตแตกต่างกันออกไป

     สำหรับประเทศเวียดนาม ซึ่งที่ผ่านมามีศิลปินได้รับรางวัลนี้ทั้งหมด 3 จาก 4 ครั้งตั้งแต่มีการมอบรางวัลนี้ขึ้น มีการลงข่าวเกี่ยวกับการเข้าชิงรางวัลนี้ในสื่อบันเทิงหลายแขนง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะศิลปินที่ได้รับการเสนอชื่อในรอบสุดท้ายนี้มาจากการโหวตแข่งกันภายในประเทศก่อน จนแฟนคลับของแต่ละคนถึงกับต้องซื้อซิมโทรศัพท์หลายซิม เพื่อผลัดเปลี่ยนกันโหวตให้ศิลปินที่ตัวเองชื่นชมเป็นตัวแทนไปแข่งต่อในระดับภูมิภาค สื่อบันเทิงบางฉบับถึงกับเสนอวิธีการโหวตในระดับภูมิภาคด้วยการอธิบายว่า หาก Dam Vinh Hung ชนะก็เท่ากับเป็นเกียรติยศของชาติ

     ในประเทศฟิลิปปินส์ การรณรงค์การโหวตเป็นไปอย่างเข้มข้นกว่า นำโดยกลุ่มแฟนคลับของ James Reid ที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นบนโลกออนไลน์ แฟนคลับกลุ่มนี้มีการสืบค้นข้อมูลการโหวตของประเทศอื่นๆ อย่างใกล้ชิด และยังจ้องจับผิดวิธีการโหวตของประเทศอื่นๆ เพื่อยื่นฟ้องกับทาง MTV ให้ตัดสิทธิ์ศิลปินคนนั้นๆ หากวิธีการโหวตดูไม่ตรงไปตรงมาตามกฎกติกา ส่วนวิธีการรวมพลังการโหวตภายในประเทศก็มีตั้งแต่การนัดโหวตพร้อมกัน จนไปถึงกับการบอกว่าชัยชนะของ James Reid เปรียบเสมือนชัยชนะของชาติ

 

Photo: PeckPalitchokeFanclub/Facebook

 

     ประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้า เพราะนอกจากจะมีการนัดแนะการโหวตแบบเป็นกลุ่มอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีการกระตุ้นการโหวตแบบ ‘ขุดมันม่วง’ เพื่อเป๊ก ผลิตโชคกันตลอดเวลา แม้โดยมากกลุ่มแฟนคลับชาวไทยจะมีการยึดโยงความเป็นชาติเข้ากับชัยชนะของศิลปินน้อยกว่า เพราะมัวแต่มุ่ง ‘ส่งสามีไปลอนดอน’ แต่ก็มีจำนวนไม่มากที่ใช้ข้อมูลการรณรงค์ของประเทศอื่นเชิงเปรียบเทียบเพื่อกระตุ้นการแข่งขัน ขณะที่บางครั้งสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ยึดโยงเรื่องชาติและสงครามเช่น ‘อีปริก’ ‘สยามประเทศ ‘ข้าศึก’ ถูกนำมาเปรียบเทียบในเชิงขบขันเพื่อเร่งการโหวตในหมู่แฟนคลับ

 

 

สังคมรวมหมู่และหล่มชาตินิยมในอาเซียน

     แน่นอน หลายคนคงมองว่าปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะไม่ว่าจะแข่งกีฬา ประกวดนางงาม การแข่งขันเพื่อแย่งชิงความเป็นที่หนึ่งของชาติก็เกิดขึ้นอยู่เสมอ แต่อย่าลืมว่ารางวัล Best Southeast Asia Act ของ MTV EMA นี้ไม่เหมือนกับการแข่งขันอื่นๆ ตรงที่ผู้เข้าแข่งขันไม่ได้เข้าแข่งขันในนามประเทศ แต่เข้าแข่งขันในนามปัจเจก แต่ก็ไม่พ้นที่จะถูกนำมาเชื่อมโยงกับศักดิ์ศรีและเกียรติยศของชาติอยู่ดี จนอาจต้องขบคิดว่าเหตุใดความสำเร็จของ ‘บุคคล’ กับความสำเร็จของ ‘ชาติ’ ถูกทำให้เป็นเรื่องเดียวกันเช่นนี้

     เป็นไปได้ว่าคติรวมหมู่ยังคงมีความสำคัญกับสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ไม่น้อย ในสังคมเช่นนี้ ความสำเร็จของปัจเจกจึงถูกเหมาว่าเป็นความสำเร็จของสังคมโดยรวมจนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ผนวกกับความรู้สึกความเป็นชาติที่ยังแรงกล้า อันเป็นมรดกตั้งแต่ยุคสร้างชาติที่ต่อเนื่องมาจนกระทั่งการก่อตั้งสมาคมอาเซียน ที่ทำให้แต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้สึกว่ายังคงต้องแข่งขันกันตลอดเวลา การวางอัตลักษณ์ของชาติด้วยการเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ทำให้การกระตุ้นแรงฮึดด้วยการแข่งขันกับชาติเพื่อนบ้านใช้ได้ผลเสมอ

 

 

     ดังนั้น หากความต้องการแข่งขันเพื่อให้ตัวเองดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านยังไม่หมดไป การแข่งขันทางวัฒนธรรมใดๆ แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีหรือเกียรติยศของชาติโดยตรง และอาจไม่เกี่ยวข้องกับ ‘ชาติ’​ ด้วยซ้ำ ก็คงถูกตีความว่าเป็นการแข่งขันในระดับชาติได้เสมอ

     หากถามว่าสำนึกเช่นนี้เปลี่ยนได้หรือไม่ คำตอบคือคงเป็นเรื่องยากและใช้เวลานานในระดับแค่การประชาสัมพันธ์ว่าจากนี้เราจะคือ ‘ประชาคมอาเซียน’​ ก็คงช่วยอะไรไม่ได้

     แต่ ‘ดนตรี’​ เครื่องมือเดียวกันกับการขีดเส้นแบ่งความเป็นชาตินี้ ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือในการสลายความเป็นชาติหรืออย่างน้อยเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับชาติอื่นๆ ได้เช่นกัน ตัวแบบเช่นนี้เห็นได้ในการแข่งขัน ‘ยูโรวิชั่น’ ของยุโรป ที่ให้ประเทศต่างๆ ส่งตัวแทนมาแข่งขันในแต่ละปี โดยผู้ชนะขึ้นอยู่กับ ‘การโหวต’ แต่ประชาชนไม่สามารถโหวตให้กับตัวแทนจากประเทศตัวเองได้ ดังนั้นนอกจากชาวยุโรปจะได้ชมการร้องเพลงจากตัวแทนของแต่ละประเทศแล้ว ความรู้สึกว่าต้องสู้เพื่อชาติก็ถูกกร่อนลงไป เหลือเพียงความสามารถของศิลปินแต่ละคนเท่านั้น

 

Photo: PeckPalitchokeFanclub/Facebook

 

     ดังนั้นจากนี้ หากจะ ‘ขุดมันม่วง’ ให้ เป๊ก ผลิตโชค กันต่อที่ www.mtvema.com/en-asia/artists/9zo3mg/palitchoke-ayanaputra จึง ไม่ใช่การโหวตเพื่อชาติ ไม่ใช่การโหวตเพื่อให้ประเทศไทยเหนือกว่าประเทศอื่นๆ แต่เป็นการโหวตให้กับ ‘ศิลปิน’ ที่เชื่อว่ามีคุณภาพจะได้รับรางวัลในระดับนานาชาติเท่านั้นเอง

 

The post โหวตศิลปินไป MTV คือเกียรติยศของชาติ? เมื่ออาเซียนก้าวไม่พ้นชาตินิยม appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/votes-artists-nominated-for-mtv/feed/ 0
LA นครแห่งดาราที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ https://thestandard.co/insight-europe-los-angeles-city-of-inequality/ https://thestandard.co/insight-europe-los-angeles-city-of-inequality/#respond Tue, 19 Sep 2017 07:16:06 +0000 https://thestandard.co/?p=28239

     เพราะที่นี่คือนครแห่งดารา เพราะที่น […]

The post LA นครแห่งดาราที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ appeared first on THE STANDARD.

]]>

     เพราะที่นี่คือนครแห่งดารา เพราะที่นี่คือเมืองแห่งการสานความฝัน นครลอสแอนเจลิสจึงดึงดูดผู้คนมากหน้าหลายตาจากทั่วทุกมุมโลกให้มาท่องเที่ยว เรียน ทำงาน หรือหาหนทางเข้าสู่วงการบันเทิง

     เมื่อหักลบสถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรมความบันเทิง และแสงสีในเมืองแห่งนี้แล้ว อันที่จริงนครลอสแอนเจลิสไม่ใช่เมืองที่น่าอยู่เท่าไรนัก ด้วยอัตราอาชญากรรมที่สูงเป็นอันดับที่ 19 ของประเทศเมื่อปี 2016 และสภาพบ้านเมืองที่สลับกันระหว่างย่านเสื่อมโทรมและย่านพัฒนา

     แต่เมื่อเทียบกับทศวรรษที่แล้ว ตัวเลขอาชญากรรมในปัจจุบันก็ถือว่าลดลงมาก ย่านเสื่อมโทรมหลายแห่งได้รับการปรับปรุง อาคารบ้านเรือนแบบเก่าได้รับการซ่อมแซมและตกแต่งใหม่ อพาร์ตเมนต์ใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดจนผู้เขียนต้องบอกกับคนอื่นๆ ที่เคยให้คำเตือนเกี่ยวกับสภาพบ้านเมืองในลอสแอนเจลิสก่อนเดินทางมาที่นี่ว่า “ก็ไม่เห็นจะแย่ขนาดนั้นเลยนี่คะ”

     แต่การพัฒนาเมืองที่ว่าก็มีต้นทุนทางสังคมมหาศาล และที่สำคัญ ต้นทุนเหล่านั้นไม่ได้ถูกกระจายให้คนแต่ละกลุ่มอย่างทั่วถึง     

 

ไม่มีเงินก็ย้ายออกไป: ต้นทุนของการปรับปรุงพื้นที่ (Gentrification)

     ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ความต้องการที่อยู่อาศัยในนครลอสแอนเจลิสที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและอพาร์ตเมนต์ขนาดใหญ่จำนวนมากหลายย่านในนครลอสแอนเจลิส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้าและมีราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่แพงมากอย่างโคเรียนทาวน์ เอโคปาร์ก และหลายย่านในดาวน์ทาวน์ ถูกผลักให้เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงพื้นที่ขนาดใหญ่ (Gentrification) เพื่อให้เหมาะกับผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ที่มักจะมีรายได้มากกว่า มีการศึกษาสูงกว่า และมีชาติพันธุ์แตกต่างจากผู้อยู่อาศัยกลุ่มเดิม

     สิ่งที่ตามมาคือราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว เพราะเมื่อราคาของอาคารหนึ่งเพิ่มสูงขึ้น ราคาของอาคารอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกเดียวกันก็พากันปรับตัวขึ้นอย่างพร้อมเพรียง

     ผู้เขียนบังเอิญขึ้นอูเบอร์คันหนึ่ง ซึ่งคนขับบอกว่าเคยเช่าห้องอยู่ในอาคารเดียวกันกับผู้เขียนไม่ถึงสิบปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเขาจ่ายค่าเช่าเพียงเดือนละ 600 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ผู้เขียนจ่ายค่าเช่าเดือนละ 1,300 เหรียญสหรัฐ สำหรับห้องในอาคารเดียวกัน!

     เช่นเดียวกับคนขับอูเบอร์อีกคนที่เกิดและโตในลอสแอนเจลิส ที่ทุกวันนี้ต้องย้ายออกไปอยู่บริเวณชานเมืองเพราะไม่มีกำลังจ่ายค่าเช่าที่พุ่งขึ้นสูง หากโชคร้าย ผู้ที่ไม่สามารถต่อสู้กับค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกปี และไม่มีเงินเก็บพอที่จะลงหลักปักฐานในย่านชานเมืองอื่นๆ ของลอสแอนเจลิสก็ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน

     ตัวเลขคนไร้บ้านของนครลอสแอนเจลิสในปี 2017 เพิ่มขึ้นถึง 20% จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่จำนวนคนไร้บ้านโดยรวมในลอสแอนเจลิสเพิ่มขึ้นถึง 23% จึงไม่แปลกที่จะสามารถพบเห็นคนไร้บ้านแทบทุกหัวถนน โดยผู้กลายเป็นคนไร้บ้านมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมาคือผู้ที่มีอายุ 24 ปีหรือต่ำกว่านั้น แต่อายุของคนไร้บ้านส่วนใหญ่ยังอยู่ที่ 25-54 ปี นั่นเป็นเพราะในขณะที่ค่าเช่าเพิ่มถึงสองเท่า รายรับของคนที่นี่กลับไม่เพิ่มขึ้นแต่เพียงนิดเดียว

     ส่วนบางคนที่เข้ามาตามหาความฝันในนครแห่งดารานี้ ไม่ว่าจะในวงการดนตรีหรือบันเทิง กลับพบว่าโอกาสที่จะก้าวสู่ความฝันมีเพียงน้อยนิด ทั้งรายรับก็มีไม่พอที่จะเช่าที่พัก ทำให้ผู้ที่เข้ามาตามหาความฝันหลายคนต้องเลือกใช้ชีวิตอย่างคนไร้บ้าน

 

อัตลักษณ์ชุมชนที่จางหาย

     พร้อมกับการผลักไสผู้อยู่อาศัยกลุ่มเดิมออกไป สิ่งที่ตามมาคือการจางหายไปของเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชุมชนต่างๆ ในลอสแอนเจลิส

     บทความหนึ่งใน LA Times กล่าวถึงการปรับปรุงพื้นที่ในเวนิส เมืองชายทะเลติดกับซานตาโมนิกา ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของลอสแอนเจลิส เวนิสเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว บริเวณใกล้ชายหาดนอกจากจะมีอาคารชั้นเดียวถึงสองชั้นตั้งเรียงรายอยู่ข้างทางเดินเลียบชายหาด ยังมีศิลปะหลายแขนงวางขายบริเวณทางเดินเลียบหาดด้วย เรียกได้ว่าเป็นเมือง ‘ฮิป’​ ก็ว่าได้

     แม้ว่าบางย่านในเวนิสจะได้รับการอนุรักษ์เป็นอย่างดี แต่การปรับปรุงพื้นที่ก็เริ่มคืบคลานเข้าไปในหลายย่านแล้ว อย่างเช่นในย่านโอ๊กวู้ด ซึ่งในอดีตที่มีการแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรง เป็นเพียงพื้นที่เดียวที่อนุญาตให้ชาวแอฟริกัน-อเมริกันสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ทุกวันนี้บ้านเดี่ยวถูกแทนที่ด้วยอพาร์ตเมนต์หรูหราขนาดใหญ่ โดยไม่สนใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของย่านดังกล่าว

     นอกจากนี้การไหลเข้ามาของผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ยังอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางเชื้อชาติ อันเป็นผลมาจากการความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น

     วิทยานิพนธ์เรื่อง ‘White Nostalgic Redevelopment: Race, Class, and Gentrification in Downtown Los Angeles’ ของนักศึกษาปริญญาเอก สาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาบาร์บารา พบว่า แม้ผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่บริเวณดาวน์ทาวน์ ลอสแอนเจลิส จะสนับสนุนความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ก็ไม่เคยให้ความสนใจและข้องเกี่ยวกับปัญหาของชนชั้นล่างในเมือง

     ยิ่งคนกลุ่มนี้เรียกร้องให้ระลึกถึงวันคืนเก่าๆ ที่เฟื่องฟูของดาวน์ทาวน์ ลอสแอนเจลิสมากเท่าใด การปรับปรุงพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวให้สวยงามและปลอดภัยยิ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากเท่านั้น ความต้องการในการเพิ่มความปลอดภัยในบริเวณที่พวกเขาย้ายเข้ามายังบังคับให้เมืองมีนโยบายตีกรอบบริเวณที่คนไร้บ้านสามารถอยู่ได้ เพื่อไม่ให้เข้ามาในบริเวณที่ได้รับการปรับปรุงแล้วด้วย

 

     แน่นอนว่าเมื่อความต้องการต่อที่พักอาศัยมากขึ้น วิธีเดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการคือการสร้างที่พักอาศัยเพิ่มขึ้น ใครๆ ก็รู้ว่านี่คือหลักการทางเศรษฐศาสตร์ แต่แทนที่การสร้างอุปทานให้เหมาะสมกับอุปสงค์จะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ถูกลง สถานการณ์กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยผู้ที่ต้องแบกรับต้นทุนที่หนักหนาที่สุดคือผู้อยู่อาศัยเดิมที่ไม่มีรายได้มากเท่ากับผู้อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ที่ไหลบ่าเข้ามา

     เราจะเลือกได้ไหมที่จะพัฒนาเมือง ทำเมืองให้สวย เพิ่มที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับความต้องการที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ไม่ผลักภาระให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง หรือสองเรื่องนี้คือทางเลือกที่ไปด้วยกันไม่ได้ ลอสแอนเจลิสไม่ได้เป็นเพียงที่เดียวที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหานี้ ประเทศอื่นๆ ก็เช่นกัน

 

ภาพประกอบ: Thiencharas.w

The post LA นครแห่งดาราที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/insight-europe-los-angeles-city-of-inequality/feed/ 0
6 ปีของคิมจองอึน กับขีปนาวุธหลายลูกของเขา https://thestandard.co/opinion-beyond-boundaries-6-years-kim-jong-un-missile/ https://thestandard.co/opinion-beyond-boundaries-6-years-kim-jong-un-missile/#respond Wed, 26 Jul 2017 09:36:48 +0000 https://thestandard.co/?p=16499

     เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา สาธา […]

The post 6 ปีของคิมจองอึน กับขีปนาวุธหลายลูกของเขา appeared first on THE STANDARD.

]]>

     เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือ ทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (Intercontinental ballistic missile: ICBM) เป็นครั้งแรก สร้างความกังวลให้กับประเทศรอบข้าง รวมถึงสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเกาหลีเหนืออ้างว่าขีปนาวุธดังกล่าวสามารถยิงถึงที่ใดก็ได้ในโลก

 

Photo: ED JONES/AFP

 

     ตั้งแต่คิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือคนปัจจุบันเข้ารับตำแหน่งแทนคิมจองอิล พ่อของเขาที่ถึงแก่อสัญกรรมไปเมื่อปี 2011 เกาหลีเหนือก็ทดลองขีปนาวุธถี่ขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ท่าทีของประเทศข้างเคียงอย่างจีน จากที่เคยเป็นมิตรแท้แนบชิดกัน ก็มีความกังขาต่อท่าทีของเกาหลีเหนือมากขึ้น

     ไม่ถึง 6 ปีดี เกาหลีเหนือภายใต้การนำของคิมจองอึนทดลองขีปนาวุธไปแล้วทั้งสิ้น 79 ครั้ง มากกว่าการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือในเวลาเกือบ 3 ทศวรรษภายใต้การนำของคิมอิลซุงและคิมจองอิล

     โดยในปี 2012 เกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธทั้งสิ้น 2 ครั้ง, ในปี 2013 ทั้งสิ้น 6 ครั้ง, ปี 2014 ทั้งสิ้น 19 ครั้ง, ปี 2015 ทั้งสิ้น 15 ครั้ง, ปี 2016 ทั้งสิ้น 24 ครั้ง และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2017 ทดลองไปแล้วทั้งสิ้น 13 ครั้ง จะเห็นว่าเพียงครึ่งแรกของปี เกาหลีเหนือก็ทดลองขีปนาวุธไปเกินครึ่งของการทดลองในปี 2016 แล้ว

 

 

     สำหรับขีปนาวุธที่ทดลองในช่วงเกือบ 6 ปีที่ผ่านมาก็มีตั้งแต่ขีปนาวุธที่ใช้งานได้แล้ว ไปจนถึงขีปนาวุธที่เพิ่งอยู่ในช่วงทดลอง นอกจากนี้ยังมีพิสัยการยิงต่างกันออกไป โดยขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือครอบครองในปัจจุบันมีตั้งแต่ขีปนาวุธพิสัยใกล้ (ต่ำกว่า 1,000 กิโลเมตร) อันได้แก่ ขีปนาวุธ KN-02, ขีปนาวุธพิสัยกลาง (1,000-3,000 กิโลเมตร) อันได้แก่ ขีปนาวุธฮวาซอง พุกกุกซอง และโนดอง, ขีปนาวุธพิสัยปานกลาง (3,000-5,500 กิโลเมตร) อันได้แก่ ขีปนาวุธมูซูดาน และฮวาซอง-12, ขีปนาวุธข้ามทวีป (มากกว่า 5,500 กิโลเมตร) อันได้แก่ ขีปนาวุธฮวาซอง-14 และอึนฮา-3 และยังรวมถึงขีปนาวุธที่ยิงจากเรือดำน้ำ อันได้แก่ โพลาริส-1 อีกด้วย

 

 

จะมีขีปนาวุธไปเพื่อ?

     สำหรับแรงจูงใจในการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือยังเป็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลีเหนือและนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ บางส่วนมองว่าเกาหลีเหนือพัฒนาขีปนาวุธเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศ

     เกาหลีเหนือรู้ดีว่าการมีขีปนาวุธ ซึ่งจำนวนหนึ่งสามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ คือเครื่องต่อรองที่สำคัญกับนานาประเทศ การที่เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองทำให้ต่างชาติไม่กล้าผลีผลามในการใช้กำลังทางทหารกับเกาหลีเหนือ หรือแม้แต่การเข้าแทรกแซงกิจการภายใน ดังนั้นชะตากรรมอย่างที่ลิเบียหรืออิรักเผชิญจะไม่เกิดขึ้นกับเกาหลีเหนืออย่างแน่นอน

     ส่วนนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า เกาหลีเหนือพัฒนาขีปนาวุธ รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ในการต่อรองกับนานาชาติเพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน การวิเคราะห์ในมุมนี้อาจมีน้ำหนักอยู่บ้าง เพราะเมื่อปี 1994 การเจรจาระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ สิ้นสุดด้วยการลงนามในกรอบข้อตกลง โดยเกาหลีเหนือตกลงระงับโครงการผลิตพลูโตเนียมเพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านน้ำมัน ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และการก่อสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องปฏิกรณ์น้ำเดือด

     อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของทั้งสองประเทศก็สิ้นสุดลงหลังเกาหลีเหนือไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ​ (IAEA) ในการเปิดเผยปริมาณพลูโตเนียมในครอบครอง และเริ่มต้นการทดสอบการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งหลายประเทศเชื่อว่าแอบแฝงการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป

     ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ ตกต่ำลงหลังจอร์จ ดับเบิลยู บุช ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนบิล คลินตัน และได้ติดป้ายให้เกาหลีเหนือเป็นหนึ่งใน ‘อักษะแห่งความชั่วร้าย’ รวมกับอิหร่านและอิรัก หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็เข้าสู่ขาลง ประกอบกับความล่าช้าในการสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องปฏิกรณ์น้ำเดือด จนสุดท้ายเกาหลีเหนือประกาศจะเปิดโรงงานนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และประกาศขับไล่ปฏิบัติการจับตาโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลี ซึ่งดำเนินงานโดย IAEA ออกไปจากประเทศ

     แม้แนวคิดที่เชื่อว่าเกาหลีเหนือต้องการมีขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเป็นเครื่องต่อรองความช่วยเหลือทางการเงินจะสามารถอธิบายแรงจูงใจของเกาหลีเหนือได้บางส่วน แต่ต้องอย่าลืมว่าปัจจัยด้านผู้นำของเกาหลีเหนือเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่คิมจองอึนขึ้นรับตำแหน่งแทนผู้เป็นบิดา

     ในฐานะผู้นำเกาหลีเหนือคนแรกที่ไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิตจากช่วงสงครามและการสร้างชาติมาก่อน คิมจองอึนผู้ซึ่งเติบโตมาในสถานะ ‘เจ้าชาย’​ แห่งเกาหลีเหนือที่มีทุกอย่างเพียบพร้อม และเคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งของชีวิตในต่างแดน อาจเพียงต้องการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์เพื่อให้เป็นที่ ‘ยอมรับ’ ของ ‘กลุ่มชาติผู้มีอาวุธนิวเคลียร์’ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกเท่านั้น

     การต่อสู้ของเกาหลีเหนือในปัจจุบันจึงอาจเป็นเพียงการต่อสู้ให้นานาชาติยอมอนุญาตให้เกาหลีเหนือเป็นชาติที่ ‘ติดอาวุธนิวเคลียร์ได้’ เหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะมองว่าการได้รับการยอมรับดังกล่าวถือเป็น ‘เกียรติยศ’ อีกประการของเกาหลีเหนือก็เป็นได้

แล้วไงใครแคร์?

     การทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือทุกครั้งล้วนเป็นที่จับตาของนานาชาติ และมักตามมาด้วยคำประณามจากหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยสองประเทศหลังนั้นเป็นประเทศที่หนาวๆ ร้อนๆ กับการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือมากที่สุด นั่นก็เพราะขีปนาวุธที่เกาหลีเหนือทดสอบหลายครั้งตกลงในบริเวณทะเลญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และรัสเซีย ขณะที่ขีปนาวุธข้ามทวีปอาจยิงได้ไกลถึงสหรัฐฯ

     ประเทศไทยอยู่ห่างจากเกาหลีเหนือประมาณ 3,700 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าประเทศไทยอยู่ในพิสัยการยิงปานกลางของขีปนาวุธเกาหลีเหนือ (มูซูดัน) ซึ่งอยู่ในระหว่างการทดสอบ แต่ความน่าหวาดวิตกยิ่งกว่าในการจัดการปัญหาเกาหลีเหนือไม่ใช่การอยู่ในพิสัยการยิง แต่คือสภาวะตึงเครียดอันมาจากการเตรียมพร้อมสู้รบของฝ่ายสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ และฝ่ายเกาหลีเหนือ ซึ่งในสภาวะเช่นนี้ ไทยอาจจะถูกบีบให้ต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ชัดเจน

     ยิ่งกว่านั้น ความไม่มั่นคงอันเกิดจากสงครามยังเกี่ยวข้องกับความไม่มั่นคงของคน และอาจนำไปสู่การอพยพของชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากไปยังจีน และเรื่อยมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางอพยพโดยปกติของชาวเกาหลีเหนืออยู่แล้ว

     ที่พูดมาตรงนี้ก็เพื่อจะบอกว่า การแก้ไขปัญหาความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีมีความละเอียดอ่อนและอาจส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่าที่คิด และคงยังไม่มีคำตอบแน่นอนให้กับการแก้ไขปัญหานี้

     เพราะแม้แต่จุดประสงค์ในการมีขีปนาวุธและโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ… ก็ยังยากแท้หยั่งถึง

The post 6 ปีของคิมจองอึน กับขีปนาวุธหลายลูกของเขา appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/opinion-beyond-boundaries-6-years-kim-jong-un-missile/feed/ 0