ประวิทย์ แต่งอักษร – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Tue, 05 Nov 2024 11:22:44 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 Anora (2024) ชีวิตที่ช่างไม่เย้ายวนเซ็กซี่ของนางระบำเปลื้องผ้า https://thestandard.co/anora-2024-sean-baker/ Tue, 05 Nov 2024 11:22:44 +0000 https://thestandard.co/?p=1004774 Anora

หนังเรื่อง Anora ผลงานล่าสุดของ Sean Baker ซึ่งชนะรางวั […]

The post Anora (2024) ชีวิตที่ช่างไม่เย้ายวนเซ็กซี่ของนางระบำเปลื้องผ้า appeared first on THE STANDARD.

]]>
Anora

หนังเรื่อง Anora ผลงานล่าสุดของ Sean Baker ซึ่งชนะรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์ครั้งล่าสุด และเข้าฉายบ้านเราในฐานะหนังเรต ฉ 20- หรือหนังที่ไม่อนุญาตให้คนดูอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชม บอกเล่าในสิ่งที่คนทำหนังสนใจและให้ความสำคัญมาตั้งแต่เริ่มต้น นั่นคือชีวิตของคนชายขอบ ชนชั้นรากหญ้า และโดยเฉพาะตัวละครที่เป็น Sex Worker ซึ่งว่าไปแล้ว เป็นคาแรกเตอร์จำพวกที่ไม่ค่อยถูกนำเสนอในหนังกระแสหลักในแบบสำรวจตรวจสอบอย่างจริงจัง และรวมๆ แล้วนี่คือลายเซ็นหรือลักษณะประพันธกรของผู้สร้าง

 

 

สมมติว่าจะลองสอดส่องเหล่าบรรดาประชากรที่โลดแล่นอยู่ในหนังของ Sean Baker อย่างคร่าวๆ เผื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับผู้ชมที่ไม่เคยผ่านตาผลงานเรื่องก่อนหน้า ตัวละครหลักของหนังเรื่อง Starlet (2012) ได้แก่ นักแสดงหนังโป๊วัย 20 ต้นๆ ผู้ซึ่งจับพลัดจับผลูพัฒนาความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดกับหญิงชราวัย 85 ปี ผู้ซึ่งชีวิตของเธอแทบไม่หลงเหลือคุณค่าอะไรอีกแล้วนอกจากการเล่นบิงโก ในหนังเรื่อง Tangerine (2015) ตัวละครหลักของเรื่อง ได้แก่ กะเทยขายบริการทางเพศที่เพิ่งออกจากคุก และพบว่าแฟนหนุ่มของเธอมีคนใหม่ซะแล้ว ใน The Florida Project (2017) แม่ของเด็กหญิงอายุ 6 ขวบเป็นนักเต้นระบำเปลื้องผ้าตกงาน และหาลำไพ่ด้วยการเป็นโสเภณีพาร์ตไทม์ ความฝืดเคืองขัดสนทางเศรษฐกิจกำลังทำให้โลกที่ผุดผ่องสดใสของลูกสาวตัวน้อยล่มสลายต่อหน้าต่อตาคนดู ขณะที่ในหนังเรื่อง Red Rocket (2022) อดีตพระเอกหนังโป๊ต้องซมซานกลับมาขออาศัยบ้านเมียเก่าเป็นที่ซุกหัวนอน กระนั้นก็ตาม ความมุ่งหวังของเขาก็คือการปลุกปั้นเด็กสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในฐานะดาวโป๊ดวงใหม่ของวงการ

 

 

แต่ว่าไปแล้ว เรื่องของคนให้บริการทางเพศก็ไม่ใช่หัวข้อแปลกใหม่ และสร้างกันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ความท้าทายจริงๆ คือมุมมองและท่าทีในการบอกเล่า ทำนองว่าคนทำหนังวางตำแหน่งของตัวเองไว้ตรงไหนและบรรทัดฐานในทางศีลธรรมเป็นอย่างไร และวิธีของ Baker ก็คือการชักชวนคนดูเข้าไปคลุกคลีตีโมงกับบุคลิกเหล่านั้น ด้วยสไตล์การนำเสนอที่ดูเหมือนจริงแบบ Docudrama ซึ่งปราศจากการขัดเกลา (การถ่าย Hand-Held, การตัดภาพ Jump Cut) บางครั้งมันก้ำกึ่ง คาบลูกคาบดอกระหว่างความเห็นอกเห็นใจ การสอดรู้สอดเห็นและฉวยโอกาสของคนทำ ขณะที่ตัวละครในหนังของเขาก็เหมือนกับเดินเข้าฉากมาจากโลกความเป็นจริง หรือพูดง่ายๆ รูปลักษณ์ภายนอกของตัวละครเหล่านี้ไม่เหมือนกับที่เราเห็นในหนังฮอลลีวูด และอะไรบางอย่างบอกให้รู้ว่าพวกเขาแสดงอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นตัวเอง

 

ข้อน่าสังเกตอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ สายตาของคนทำหนังไม่ได้วางตัวเองอยู่เหนือกว่าตัวละคร หรือแสดงออกว่ากำลังพิพากษาหรือตัดสินผิดชอบชั่วดีไม่ว่าจะด้วยกรอบกฎหมายหรือศีลธรรม และพร้อมๆ กับที่หนังของ Baker เป็นเหมือนกระบอกเสียงและถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของคนชายชอบ มันก็ตีแผ่ให้คนดูได้เห็นความมีชีวิต เลือดเนื้อ ตลอดจนความเป็นมนุษย์ปุถุชน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนดูเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงได้ไม่ยากเย็น

 

 

กล่าวสำหรับ Anora ชื่อของหนังก็คือชื่อของนักเต้นระบำเปลื้องผ้า (Mikey Madison) ในบทบาทการแสดงที่สมควรถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล) ผู้ซึ่งเป็นเหมือนดาวดวงเด่นของสถานบันเทิงชั้นสูงของเมืองนิวยอร์ก และด้วยความที่เธอเป็นคนเดียวที่พูดรัสเซียได้ หญิงสาวได้รับมอบหมายให้ต้อนรับขับสู้ Vanya ลูกชายของคนใหญ่คนโตในรัสเซียที่เกิดมาแบบคาบช้อนเงินช้อนทองและใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเขาเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทีละน้อย สถานะของแดนเซอร์โชว์เนื้อหนังมังสาของ Anora หรือ Ani (ชื่อที่เธออยากให้ใครๆ เรียก) ก็แปรเปลี่ยนไปเป็นคู่ขาทางเพศ หรือจริงๆ แล้วต้องเรียกว่าของเล่นชิ้นใหม่ของหนุ่มใจแตก เมื่อฝ่ายหลังว่าจ้างให้หญิงสาวรับบทแฟนสาวร่านสวาทเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ และไม่ว่าจะด้วยความไม่มีสติสัมปชัญญะของ Vanya ซึ่งอยู่ในสภาพเมามายเกือบตลอดเวลา หรือความเก็บกดอัดอั้นจากการตกอยู่ใต้อาณัติของแม่ซึ่งบัญชาการโน่นนี่นั่นจากประเทศบ้านเกิดผ่านลูกน้องชาวอาร์เมเนียที่ชื่อ Toros (Karren Karagulian) ที่ทำหน้าที่เสมือนผู้ปกครอง หนุ่มน้อยที่อายุเพิ่ง 21 ปีและกำลังเมามันกับการทำทุกสิ่งอย่างสนองตัณหาตัวเองก็ขอ Ani แต่งงาน และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายยุ่งเหยิงจนไม่อาจควบคุม

 

 

อย่างที่หลายคนร้องทักตรงกันว่า ปมเรื่องของ Anora ชวนให้นึกถึง Pretty Woman ของ Garry Marshall ซึ่งเล่าเรื่องนักธุรกิจหนุ่มรูปหล่อตกหลุมรักโสเภณีชั้นสูงผู้ซึ่งมีหัวใจงดงามดั่งทองคำ และหนังลงเอยด้วยบทสรุปแบบแฮปปี้เอนดิ้ง นั่นคือหญิงสาวหลุดพ้นจากวังวนของการเป็นหญิงขายบริการทางเพศ ส่วนชายหนุ่มก็กลายเป็นตัวละครที่คุณธรรมสูงส่งในพริบตา แต่ก็นั่นแหละ วันเวลาที่ผ่านพ้นไม่ได้ให้ความเมตตาหนังของ Marshall เท่าไรนัก และ Julia Roberts ดารานำ ถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า มันเป็นหนังที่สร้างตอนนี้ไม่ได้อีกแล้ว เนื่องจากความเพ้อฝันและหลงละเมอเพ้อพก นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงทัศนคติของคนทำที่มอง Sex Work ทำนองว่ามันคือสภาวะจมปลักหรือสิ้นไร้ไม้ตอกของคนที่ไม่มีทางเลือก และไม่ใช่งานอาชีพซึ่งต้องใช้ทักษะหรือสกิล และมีเส้นทางก้าวหน้าหรือ Career Path ของมัน

 

อย่างหนึ่งที่คนดูหนังเรื่อง Anora น่าจะมองเห็นด้วยคล้ายคลึง นั่นก็คือ Ani เป็นนักเต้นที่ลวดลายพลิ้วไหวและจัดจ้าน ในแง่ของงานอาชีพ เธอก็เก่งกาจสามารถและแพรวพราวไปด้วยลูกล่อลูกชน นั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงบุคลิกออเซาะฉอเลาะลูกค้าให้ใช้บริการห้องส่วนตัวกับเธอแบบสองต่อสอง

 

และถึงแม้ว่า Ani จะขีดเส้นแบ่งทำนองว่า อาชีพของเธอคือแดนเซอร์ และไม่ได้ค้าประเวณี แต่สำหรับลูกค้ากระเป๋าตุงอย่าง Vanya นี่ก็เป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นและอะลุ่มอล่วยได้ ข้อสำคัญคือเธอต่อรองผลประโยชน์ได้อย่างไม่มีท่าทีเคอะเขินเหนียมอาย หรือจริงๆ คล่องแคล่วลื่นไหล ทั้งในตอนที่เธอแจ้งสนนราคาค่าตัวของการเป็นสาวเอสคอร์ตหรือคู่ขาทางเพศหนึ่งสัปดาห์ หรือตอนที่หญิงสาวเรียกร้องสินสอดแต่งงานเป็นแหวนเพชรเม็ดโต 

 

 

แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่คนดูรับรู้เกี่ยวกับตัวละครนี้ ช่วงสั้นๆ ของหนังที่พวกเราได้เห็นชีวิตหลังเลิกงานของเจ้าตัว ก็ชวนให้สรุปได้ไม่ยากว่าเธอเป็นอีกคนหนึ่งอย่างสิ้นเชิง ทั้งใบหน้าสดๆ ปราศจากเมกอัพ สีหน้าสีตาเรียบเฉย ไม่มีริ้วรอยของอารมณ์ความรู้สึกใดๆ ซึ่งว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะสำหรับคนที่งานอาชีพของเธอต้องแต่งตัวสวย ยิ้มหวาน พูดจาออดอ้อน และแสดงออกอย่างร่าเริงแจ่มใสตลอดเวลา ซึ่งสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น ‘ของซื้อของขาย’ และมีมูลค่าในตัวมันเองทั้งสิ้น

 

ขณะที่บ้านช่องห้องหับและชีวิตความเป็นอยู่ของเธอกับพี่สาวซึ่งน่าเชื่อว่าวันๆ พูดจากันแบบนับคำได้ ก็ชวนให้สรุปได้ไม่ยากถึงวิถีที่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนทางเศรษฐกิจของตัวละคร ไหนยังจะมีเรื่องความเป็นปฏิปักษ์ระหว่าง Ani กับเพื่อนร่วมงานที่เขม่นกันมาตั้งแต่ต้น ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าคงเป็นเรื่องแย่งลูกค้า แถมความขัดแย้งนี้ก็บานปลายถึงขั้นลงไม้ลงมือ หรือพูดรวมๆ แล้วหนังของ Sean Baker วาดให้คนดูได้เห็นโลก ชีวิต และงานอาชีพ ที่ไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบของตัวละครนี้ได้อย่างกะทัดรัดทว่าครอบคลุม และกลายเป็นเรื่องช่วยไม่ได้เมื่อมันถูกนำไปเทียบเคียงกับความเป็นอยู่ที่หรูหราฟุ้งเฟ้อของ Vanya ซึ่งต้องบอกว่าหมอนี่ร่ำรวยอย่างน่าอัปลักษณ์ พฤติการณ์ใช้จ่ายอย่างล้างผลาญและมองเห็นเงินเป็นแค่เศษกระดาษของเขาก็เหยียบย่ำความรู้สึกของคนที่ต้องปากกัดตีนถีบอย่างน่าขุ่นเคือง

 

แต่ก็นั่นแหละ Anora ไม่ใช่หนังดราม่าบีบคั้นอารมณ์ อย่างน้อยองก์สองของหนังก็ทั้งตลกขบขัน เรียงร้อยไว้ด้วยสถานการณ์ที่ดูประสาทเสีย และความบ้าบอคอแตกของโน่นนี่นั่นก็สร้างบรรยากาศที่หรรษาครื้นเครง ทั้งหมดทั้งมวลเริ่มจาก Galina (Darya Ekamasova) ผู้เป็นแม่ซึ่งรู้ข่าวแต่งงานก็สั่งการจากแดนไกลให้ลูกชายยกเลิกการสมรักสมรสทันควัน จนเขาสติแตกและหนีออกจากคฤหาสน์ เดือดร้อนบรรดาลูกน้องของผู้เป็นแม่ รวมถึง Ani ต้องออกตามหาหนุ่มน้อยที่เตลิดเปิดเปิงในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก และรูปการณ์ก็ไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร 

 

ส่วนที่ควรหมายเหตุก็คือ ในความเป็นหนังตลกเถิดเทิง หรืออีกนัยหนึ่ง เล่นมุกจากความวายป่วงของเหตุการณ์ไปเรื่อยๆ แบบไม่จบไม่สิ้น บรรดาตัวละครปลีกย่อยกลับไม่เคยเป็นเพียงแค่อุปกรณ์ประกอบฉากหรือเครื่องมือที่ใช้เดินเรื่อง และทีละน้อย วิบากกรรมของลูกสมุนทั้งสองคน (Yura Borisov และ Vache Tovmasyan) ของ Toros หรือจริงๆ จะรวมตัวพ่ออุปถัมภ์ด้วย (ซึ่งก็มีชีวิตและเรื่องส่วนตัวที่ต้องสาละวน) ก็ไม่ได้มีเอาไว้เพื่อเรียกเสียงหัวเราะจากคนดูเพียงลำพัง และรายละเอียดปลีกย่อยที่คนทำหนังสอดแทรกก็ทำให้คนดูตระหนักได้ว่า พวกเขาก็เป็นปุถุชนที่รู้สึกรู้สม รู้ร้อนรู้หนาว และความเหมือนกันของตัวละครทั้งหมดภายใต้สถานการณ์อลเวงก็คือ พวกเขาไม่ได้มีหนทางให้เลือกมากนักนอกจากทำตามคำสั่งหรือตกกระไดพลอยโจน มองแง่มุมนี้แล้วไม่ต้องสงสัยว่าตัวละครที่โหดเหี้ยมและเลือดเย็นก็คือคนอย่าง Vanya และ Galina ผู้เป็นแม่ที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่เหยียบย่ำและบดขยี้คนตัวเล็กตัวน้อยอย่างชนิดไม่ต้องดูดำดูดี และนั่นทำให้ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นเป็นเรื่องทิ่มแทงความรู้สึกของคนดูอย่างหนักหน่วงรุนแรง

 

 

แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ไม้ตายหรือจะเรียกว่าหมัดน็อกของคนทำหนังได้แก่ฉากสุดท้ายขององก์สามซึ่งคนดูคงต้องไปค้นหาเอาเอง กระนั้นก็ตาม ตอนจบแบบปลายเปิดในหนังแทบทุกเรื่องของ Sean Baker ทิ้งรสชาติหวานอมขมกลืนที่ติดแน่นทนนาน และในกรณีของ Anora มันก็เป็นบทสรุปที่ระคนและคละเคล้าไปด้วยอารมณ์หลากหลายที่ประดังเข้ามา ในความเศร้าสร้อยมันแอบแฝงความอ่อนหวาน ในความห่อเหี่ยวสิ้นหวังคลับคล้ายว่าเราจะได้เห็นแสงสว่างรำไร และในความหมกมุ่นลุ่มหลงมันก็ดูเหมือนตัวละครสร่างเมาและหลุดพ้นจากภาพลวงตา

 

แต่ในขณะที่หนังเรื่อง Anora ไม่ได้หยิบยื่นความหมายเพียงหนึ่งเดียว หรือจริงๆ แล้วเปิดกว้างสำหรับการตีความ ทว่าอย่างหนึ่งที่เป็นเสมือนคุณค่าที่สอดแทรกในหนังทุกเรื่องของ Sean Baker ก็เป็นดังที่ได้กล่าวก่อนหน้า นั่นคือการกะเทาะให้คนดูได้เห็นความเป็นมนุษย์มนาของตัวละครที่มักจะตกสำรวจทางชนชั้น และพร้อมๆ กัน เลนส์ที่คนทำหนังเลือกใช้ถ่ายทอดตัวละครเหล่านั้นก็เจือปนไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความอ่อนไหว และการปลอบโยน

 

Anora (2024)

ผู้กำกับ: Sean Baker

นักแสดง: Mikey Madison, Mark Eydelshteyn, Yura Borisov, Karren Karagulian ฯลฯ

The post Anora (2024) ชีวิตที่ช่างไม่เย้ายวนเซ็กซี่ของนางระบำเปลื้องผ้า appeared first on THE STANDARD.

]]>
วิมานหนาม (พ.ศ. 2567) ดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพ…ที่ขัดสนฝืดเคือง https://thestandard.co/the-paradise-of-thorns-movie/ Fri, 23 Aug 2024 11:33:00 +0000 https://thestandard.co/?p=974591

  สำนวนหรือคำพังเพยหนึ่งที่เรามักได้ยินอยู่เรื่อยๆ […]

The post วิมานหนาม (พ.ศ. 2567) ดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพ…ที่ขัดสนฝืดเคือง appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

สำนวนหรือคำพังเพยหนึ่งที่เรามักได้ยินอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะเวลานักการเมืองอภิปรายนโยบายที่ผิดพลาดของฝ่ายตรงข้าม สามารถนำมาใช้อธิบายต้นสายปลายเหตุของสิ่งที่บอกเล่าในหนังดราม่าเขย่าขวัญเรื่อง วิมานหนาม ผลงานกำกับที่เข้มข้น เผ็ดร้อน และจัดจ้านของ นฤเบศ กูโน (ซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ) ได้เหมือนกัน หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ความฉิบหายวายป่วงที่ใหญ่โตและบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นผลพวงมาจากการ ‘กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด’ นั่นเอง และการเริ่มต้นที่ผิดพลาดก็ไม่มีวันนำพาไปสู่จุดหมายปลายทางที่เหมาะควรหรือถูกต้อง

 

ข้อที่น่าครุ่นคิดต่อเนื่องก็คือ ความผิดพลาดหรือจะเรียกว่าบิดเบี้ยวก็ได้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโลกของหนังเพียงลำพัง แต่มันกลับส่องสะท้อนให้คนดูได้เห็นความเป็นจริงของโลกหรือสภาพแวดล้อมที่พวกเราอาศัยอยู่ด้วยเช่นกัน และไม่ว่าผู้สร้างตั้งใจจะให้หนังไปไกลถึงขนาดนั้นหรือไม่อย่างไร บทบาทสำคัญของหนังเรื่องนี้ก็นับเป็นทั้งการวิพากษ์วิจารณ์และอุทาหรณ์ที่แยบยล

 

 

ปมเรื่องของ วิมานหนาม ก็เป็นอย่างที่หนังตัวอย่างสาธยายไว้อย่างดึงดูดและเรียกน้ำย่อยของคนดูทีเดียว คู่รักชายรักชาย อันได้แก่ ทองคำ (เจฟ ซาเตอร์) และ เสกสรร (พงศกร เมตตาริกานนท์) ทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายประคบประหงมและฟูมฟักสวนทุเรียนขนาดใหญ่ กระทั่งถึงเวลาที่พวกเขาจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตและสร้างเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำสักที ซึ่งนั่นหมายถึงการได้ลงหลักปักฐานในแง่ของความสัมพันธ์อย่างจริงจัง และในช่วงเวลาที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่เกิดขึ้นตามท้องเรื่อง การที่ทองคำใช้ทุนรอนส่วนตัวทั้งหมดไปช่วยไถ่โฉนดที่ดินซึ่งเสกสรรในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ไปจำนองเอาไว้ ให้กลับมาเป็นของฝ่ายหลังอย่างเต็มภาคภูมิ ก็เปรียบได้กับทะเบียนสมรสของทั้งสองคน คนดูถึงกับได้เห็นว่ามันถูกใส่กรอบแขวนไว้ในฐานะวัตถุพยานของความรัก

 

แต่เรื่องที่เริ่มต้นด้วยบรรยากาศที่อ่อนหวานและชวนฝันเหมือนเทพนิยายก็แปรเปลี่ยนไปเป็นดราม่าแย่งชิงกรรมสิทธิ์ของบ้านและที่ดิน หลังจากที่เสกสรรประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกะทันหัน เพราะก็อย่างที่ข้อมูลในเทรลเลอร์บอกไว้ตรงๆ กฎหมายไม่รองรับความสัมพันธ์ของเสกสรรและทองคำ อันส่งผลให้มรดกทั้งหมดของผู้วายชนม์ตกทอดเป็นของ แสง (สีดา พัวพิมล) แม่ของเสกสรร ผู้ซึ่งในตอนที่เราพบตัวละครนี้ เธอเป็นหญิงสูงวัยที่ถูกจองจำไว้กับรถเข็น (จากอุบัติเหตุระหว่างที่เธอตรากตรำงานหนัก) ไปไหนมาไหนไม่ได้ด้วยตัวเอง และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจาก โหม๋ (อิงฟ้า วราหะ) ลูกสาวที่ไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขที่แท้จริง

 

 

ว่าไปแล้ว ‘ดราม่า’ อาจเป็นคำที่เบาไปสักหน่อย และไม่สะท้อนสถานการณ์ตามที่มันเกิดขึ้นจริง พูดไม่อ้อมค้อม เนื้อแท้ก็คือสงครามสามฝ่ายที่ไม่เพียงแค่ทวีความเข้มข้น แต่ยังนำไปสู่การเผชิญหน้าแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน และเหนืออื่นใด ไม่มีใครยอมลดราวาศอกให้แก่กัน ประโยคหนึ่งที่อาจใช้สรุปสถานการณ์ที่ชี้ชวนให้คนดูมองเห็นเงื้อมเงาของหายนะที่เฝ้าคอยอยู่เบื้องหน้าก็คือตอนที่ทองคำตะโกนสุดเสียง “ถ้ากูไม่ได้ มึงก็ต้องไม่ได้อะไรทั้งนั้น”

 

ไหนๆ ก็ไหนๆ ช่วงเวลาที่เอร็ดอร่อยของหนังและต้องปรบมือให้คนเขียนบท ได้แก่ตอนที่ต่างฝ่ายต่างเล่นสงครามประสาทแย่งชิงผลประโยชน์ด้วยไหวพริบและสติปัญญา ตลอดจนการเล่นเล่ห์เพทุบายของแต่ละคนเท่าที่มันเอื้ออำนวย ด้วยแต้มต่อและความได้เปรียบ และด้วยการคุ้ยเขี่ยจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม (ซึ่งก็มองเห็นโต้งๆ) ให้กลายเป็นบาดแผลพุพอง และภาวนาว่าข้อด้อยของตัวเองจะไม่ถูกนำมาลำเลิกเบิกประจาน ซึ่งในกรณีของทองคำก็ได้แก่โดยนิตินัย เขากลายเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยในบ้านที่เขาสร้างขึ้นมากับมือ ในกรณีของโหม๋ก็คล้ายคลึงกัน คนนอกครอบครัวผู้ซึ่งลงทุนเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ ‘แม่บุญธรรม’ ด้วยหวังว่าลึกๆ แล้ว มันจะเป็นใบเบิกทางนำพาให้เธอมีศักดิ์และสิทธิ์ในฐานะทายาทคนถัดไป (มองในแง่นี้ เธอก็เวอร์ชันบ้านๆ ของตัวละคร มุ่ย จาก หลานม่า นั่นเอง)

 

ขณะที่แม่แสงผู้ซึ่งพาตัวเองมาประดิษฐานเป็นการถาวร ณ บ้านของลูกชายที่ไม่อยู่แล้ว วาระซ่อนเร้นของเธอในฐานะหญิงชราทุพพลภาพก็ไม่ได้ซับซ้อน แค่มีคนช่วยทำสวนทุเรียน ซึ่งจะทำให้เกิดดอกผลและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับตัวเธอ และมีคนที่คอยปรนนิบัติพัดวี รวมถึงพาไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล เท่านี้ก็แฮปปี้แล้ว

 

 

ส่วนที่ยิ่งทำให้สถานการณ์คุกรุ่นเดือดพล่านก็ตรงที่ต่างฝ่ายก็อ่านหน้าไพ่ของกันและกันออก และเกทับบลัฟฟ์แหลกไปเรื่อยๆ และมันเป็นเรื่องของเวลาว่าช้าหรือเร็วเท่านั้นที่ใครสักคนจะทนแรงเสียดทานไม่ไหวและ ‘ทิ้งโง่’ ลงมา

 

แต่ก็นั่นแหละ พลังดราม่าของหนังก็ยังปะทุมาจากสองส่วน หนึ่งก็คือกลไกทางด้านหนังที่ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดนตรีประกอบของหนังทำงานกับจิตใต้สำนึกของคนดูอย่างเจ้าเล่ห์แสนกล ขณะที่ลูกเล่นทางด้านภาพในหลายช่วงก็บอกในสิ่งที่ผู้สร้างไม่ต้องบอกให้ตัวละครพูดออกมาตรงๆ ถ้าจำไม่ผิด ฉากหนึ่งที่น่าทึ่งมากๆ ก็คือเหตุการณ์ช่วงท้ายเรื่องที่คู่แม่เลี้ยง-ลูกเลี้ยงไม่หลงเหลือวาระซ่อนเร้นให้ต้องกระมิดกระเมี้ยนอีกต่อไป และอีกนิดเดียวทั้งสองก็น่าจะพากันไปถึงจุดที่แก้ไขไถ่ถอนอะไรไม่ได้ ทว่าการเลือกใช้ภาพ (แทนสายตาตัวละคร) จากระยะไกลในจังหวะหนึ่งก็เหมือนกับให้เงื่อนงำกับคนดูทำนองว่า ท่ามกลางการต่อสู้ขับเคี่ยวแบบเลือดเข้าตาและสุดขีดคลั่ง ทั้งสองก็ยังพอจะหลงเหลือความเป็นมนุษย์มนาให้มองเห็นได้อยู่บ้าง

 

 

อีกส่วนหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือการแสดง ฉากระเบิดอารมณ์ใส่กันของทั้ง เจฟ ซาเตอร์ และโดยเฉพาะ อิงฟ้า วราหะ ตอกย้ำสภาวะจนตรอกของตัวละครอย่างน่าสมเพชเวทนาจริงๆ และทั้งสองถ่ายทอดบทบาทได้คล่องแคล่วช่ำชองราวกับพวกเขาเล่นหนังกันมาคนละหลายเรื่อง ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงก็คือนี่เป็นผลงานปฐมฤกษ์ (ถ้าไม่นับละครโทรทัศน์ของอิงฟ้าและซีรีส์ของเจฟ) แต่ก็นั่นแหละ กลายเป็นว่าแอ็กติ้งเนิบนาบและแฝงไว้ด้วยเลศนัยของ สีดา พัวพิมล กลับช่วงชิงแสงจากสปอตไลต์ไปครอง ข้อน่าสังเกตก็คือ แม่แสงเป็นตัวละครที่คนดูแทบไม่ได้คลุกคลีตีโมง และยิ่งเวลาผ่านพ้นไป เราได้แต่สงสัยว่าตรงไหนคือตัวตนที่แท้จริง และตรงไหนคือมารยาสาไถยของตัวละคร โดยเฉพาะฉากที่เราได้เห็นเธอร้องไห้คร่ำครวญถึงลูกชายปิ่มว่าจะขาดใจ (ซึ่งก็คงจะเป็นความรู้สึกจริงๆ นั่นแหละ) แต่อีกไม่กี่อึดใจถัดมา เธอก็เปิดฉากเจรจาเรื่องทรัพย์สมบัติกับทองคำด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่เรียบเฉย และร่องรอยความโศกเศร้าที่เห็นก่อนหน้าก็มลายหายไปในพริบตา

 

หรือจริงๆ แล้ว อีกคนหนึ่งที่ควรพูดถึงก็คือ หฤษฎ์ บัวย้อย ในบท จิ่งนะ น้องชายของโหม๋ ผู้แทบจะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในเกมแย่งชิงผลประโยชน์ และการแสดงในแบบเก็บงำความรู้สึกของเขาก็อาจเล็ดลอดเรดาร์ของคนดูในเบื้องต้น แต่สุดท้าย มันกลับกลายเป็นหมัดฮุกทรงพลัง โดยเฉพาะห้วงเวลาที่คนดูพบว่าตัวละครนี้ลงเอยในสภาพของเหยื่อเคราะห์ร้ายในสมรภูมิ

 

 

สมมติว่าถ้าจะย้อนกลับไปตอบคำถามที่จั่วไว้ข้างต้นเรื่องการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดพลาด จริงๆ มันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เกิดช้าไปหน่อยเท่านั้น แต่สมุฏฐานของโรคร้ายทั้งหมดจากที่หนังบอกเล่าเป็นผลพวงมาจากสังคมที่เหลื่อมล้ำและไม่ยุติธรรม และการได้เห็นตัวละครที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนทุกวิถีทางแย่งชิงผลประโยชน์ ซึ่งว่าไปแล้วไม่ได้เป็นทรัพย์สมบัติที่มากมายมหาศาลแต่อย่างใด ก็ยิ่งทำให้มองเห็นว่าสภาวะสิ้นไร้ไม้ตอกของตัวละครเป็นเรื่องน่าห่อเหี่ยวสิ้นหวังทีเดียว (คำถามต่อเนื่องก็คือ แล้วเค้กผลประโยชน์ก้อนมหึมาของประเทศนี้ไปตกอยู่ในมือใคร) ฉากเล็กๆ ที่แม่ของทองคำโทรศัพท์ทางไกลจากไต้หวัน เกลี้ยกล่อมให้ลูกชายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ณ ที่แห่งนั้น ก็น่าจะบอกอะไรๆ เกี่ยวกับสภาวะที่ขาดแคลนทั้งโอกาสและความเป็นไปได้ในดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของตัวละครได้เป็นอย่างดี หรือกล่าวโดยไม่เปิดเผยเนื้อหาจนเกินไป ภาวะอับจนหนทางของโหม๋ก็เป็นเรื่องคล้ายๆ กัน 

 

แต่ครั้นจะบอกว่าทุกคนในเรื่องล้วนทุกข์ทรมานกับชีวิตที่ไม่มีทางเลือก หนังก็ดันใส่ตัวละครหนึ่งที่คนดูแทบจะจำชื่อไม่ได้เข้ามา สถานะของเขาเป็นข้าราชการท้องถิ่นที่โหม๋ได้พบเจอและชอบพอในงานเซิ้งบุญบั้งไฟ ทั้งสองลงเอยด้วยการตกล่องปล่องชิ้น เหตุผลของการสมรักสมรสก็ไม่ได้สลับซับซ้อนมากไปกว่าการที่โหม๋ต้องการซื้อความมั่นคง เพราะก็อย่างที่รู้กันและถือเป็นค่านิยมของสังคมไทยว่า ข้าราชการเป็นอาชีพที่หลวงเลี้ยงจนตาย ทั้งเรื่องสวัสดิการ บำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาล จริงๆ แล้ว คนดูถึงกับได้ยินใครคนหนึ่งพูดประโยคดังกล่าวนี้ออกมาตรงๆ ทั้งหลายทั้งปวงยังไม่ต้องเอ่ยถึงพฤติการณ์ฉกฉวยและเอารัดเอาเปรียบโดยอาศัยสถานะที่อยู่สูงกว่าของตัวละครนี้

 

 

หรือพูดให้สะเด็ดน้ำ รูปโฉมของความเหลื่อมล้ำและไม่เสมอภาคและเท่าเทียมก็มีหน้าตาเป็นเช่นนี้นี่เอง คนที่ได้เปรียบและมีสิทธิพิเศษก็เอ็นจอยความมั่งคั่งฟุ่มเฟือย และเวลาล้มลงก็มักจะมีฟูกนุ่มๆ รองรับ ขณะที่ผู้คนอีกนับไม่ถ้วนที่แทบจะไม่มีหลักประกันและความมั่นคงใดๆ ก็ใช้ชีวิตในสภาพที่เหมือนกับถูกหนามแหลมของทุเรียนทิ่มแทงตลอดเวลา 

 

โดยอัตโนมัติ ชื่อหนัง วิมานหนาม ก็ไม่ได้หมายถึงสวนทุเรียนทางภาคเหนือของตัวละครอีกต่อไป แต่มันคือวิบากกรรมของคนด้อยโอกาสทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งต้องใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ กินน้ำใต้ศอก และด้วยความยากแค้นลำเค็ญอยู่ทั่วทั้งแผ่นดิน

 


 

วิมานหนาม (พ.ศ. 2567)

กำกับ: นฤเบศ กูโน

ผู้แสดง: เจฟ ซาเตอร์, อิงฟ้า วราหะ, สีดา พัวพิมล, หฤษฎ์ บัวย้อย

The post วิมานหนาม (พ.ศ. 2567) ดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพ…ที่ขัดสนฝืดเคือง appeared first on THE STANDARD.

]]>
Late Night with the Devil (2023) เชื่อมจิตโชว์ ภาพยนตร์สยองขวัญรุ่นไลต์เวตที่ต่อยสวย ฟุตเวิร์กแพรวพราว https://thestandard.co/opinion-late-night-with-the-devil/ Wed, 12 Jun 2024 11:45:38 +0000 https://thestandard.co/?p=944466

  มองในภาพกว้าง ภาพยนตร์สยองขวัญสัญชาติออสเตรเลียเ […]

The post Late Night with the Devil (2023) เชื่อมจิตโชว์ ภาพยนตร์สยองขวัญรุ่นไลต์เวตที่ต่อยสวย ฟุตเวิร์กแพรวพราว appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

มองในภาพกว้าง ภาพยนตร์สยองขวัญสัญชาติออสเตรเลียเรื่อง Late Night with the Devil (2023) ก็เป็นเหมือนลูกหลานพันธุ์ทางของภาพยนตร์สยองขวัญคลาสสิกเรื่อง The Exorcist (1973) ซึ่งถูกสร้างออกมานับไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านพ้นไป อันส่งผลให้โดยรูปการณ์แล้ว มันก็ไม่น่าจะหลงเหลือแง่มุมผิดแผกแตกต่างให้สำรวจหรือขุดคุ้ยได้อีกแล้ว นั่นรวมถึงรสชาติสดใหม่และหอมหวานที่จะสามารถดึงดูดหรือหว่านล้อมความสงสัยใคร่รู้ของผู้ชม

 

เซอร์ไพรส์ก็คือ ภาพยนตร์ของสองผู้กำกับและคนเขียนบท Colin Cairnes และ Cameron Cairnes สามารถหลบเลี่ยงกับดักความซ้ำซากจำเจได้อย่างคล่องแคล่วและช่ำชอง จะเรียกว่าภาพยนตร์ของทั้งสองคนโชว์ให้เห็นทักษะของการเล่นแร่แปรธาตุที่ทั้งเจ้าเล่ห์และเปี่ยมด้วยพรสวรรค์ก็คงได้ ที่แน่ๆ ก็คือ มันสร้างความรู้สึกน่าฉงนสนเท่ห์ผ่านชั้นเชิงในการบอกเล่าที่คนดูไม่อาจรู้ล่วงหน้าว่าเรื่องทั้งหมดจะหันเหไปทิศทางใด ผนวกกับความละเอียดและประณีตในส่วนของงานสร้างที่จำลองรายการสดทางโทรทัศน์ยุควินเทจได้แนบเนียนและชวนเชื่อมากๆ (อัตราส่วนจอภาพแบบ 4:3, ภาพและสีที่เหลื่อมซ้อน, ฉากของห้องส่งที่สร้างขึ้นแบบลวกๆ, การที่ภาพยนตร์ต้องแทรก ‘สิ่งที่น่าสนใจจากผู้มีอุปการคุณ’ อยู่เนืองๆ ไปจนถึงช่วงเวลาขัดข้องทางเทคนิค และสถานีต้องขึ้นสไลด์ภาพนิ่งให้คนดูจ้องมองเป็นเวลานาน เป็นต้น) 

 

ผลลัพธ์โดยรวมก็คือ Late Night with the Devil กลายเป็นภาพยนตร์ที่โดดเด้งจากกรุภาพยนตร์สยองขวัญเทือกเดียวกันที่ผลิตออกมาอย่างซ้ำๆ ซากๆ และระยะเวลาราวๆ ชั่วโมงครึ่งของภาพยนตร์ผ่านการรับรู้ไปอย่างไม่ทันตั้งตัว กระทั่งรู้สึกว่ามันสั้นเกินไป

 

 

ว่าไปแล้ว สารตั้งต้นของ Late Night with the Devil ไม่ได้คลี่คลายมาจากภาพยนตร์สยองขวัญขึ้นหิ้งเพียงอย่างเดียว หากยังหยิบยืมสไตล์การนำเสนอแบบ Found Footage ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่า มันเป็นตระกูลย่อยของภาพยนตร์สยองขวัญที่ตกยุคตกสมัยไปแล้วเพราะถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อ แต่ก็นั่นแหละ อานิสงส์ของความเป็นภาพยนตร์ Found Footage ซึ่งในกรณีของ Late Night. มันคือเทปบันทึกรายการสดแนวทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์ที่เพิ่งจะถูกค้นพบ ก็สร้างเงื่อนไขหรือข้อแก้ตัวชั้นดีในการพาคนดูย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่ปั่นป่วนยุ่งเหยิงที่สุดครั้งหนึ่ง ซึ่งก็คือทศวรรษ 1970 และอารัมภบทช่วงราวๆ สิบนาทีแรกของภาพยนตร์ก็สรุปอารมณ์และบรรยากาศของยุคสมัยได้อย่างรัดกุม 

 

มันคือช่วงเวลาของสงครามเวียดนาม คดีวอเตอร์เกต วิกฤตพลังงาน การเหยียดผิว ความรุนแรงบนท้องถนน ฆาตกรโรคจิต ลัทธิบูชาซาตานและความเชื่อบ้าบอคอแตก รวมทั้งผู้คนในสังคมดำดิ่งอยู่ในความตื่นตระหนกและหวาดระแวงด้วยเรื่องสารพัดสารพัน อันส่งผลให้โทรทัศน์กลายเป็นหนึ่งในสันทนาการเพียงไม่กี่ช่องทางที่นำพาพวกเขาหลบลี้หนีไปจากโลกความเป็นจริง 

 

 

แต่ขณะที่ภาพเบื้องหน้าของบรรดารายการโทรทัศน์ต่างหยิบยื่นความบันเทิงราคาถูกให้กับผู้คนหน้าจอ ผู้ซึ่งไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก สงครามเรตติ้งเบื้องหลังเพื่อแย่งชิงคนดูระหว่างช่องก็ดำเนินไปอย่างดุเดือดเลือดพล่าน ในตอนที่ภาพยนตร์เรื่อง Late Night. เริ่มต้น 

 

ข้อมูลที่คนดูรับรู้เกี่ยวกับ Jack Delroy (David Dastmalchian) พิธีกรรายการทอล์กโชว์ที่ใช้ชื่อว่า Night Owls ก็คือชีวิตที่เรียกได้ว่าขึ้นสุดลงสุดเหมือนรถไฟเหาะตีลังกา เขาเริ่มต้นในฐานะคนหนุ่มไฟแรง ผู้ซึ่งกำลังจะมาทาบรัศมี Johnny Carson ที่เปรียบเสมือนก็อดฟาเธอร์ของรายการทอล์กโชว์ และโอกาสที่เขาจะก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งก็อยู่เพียงแค่เอื้อม แต่จนแล้วจนรอดยอดเขาเอเวอเรสต์ก็สูงเกินไป แย่ไปกว่านั้นก็ตรงที่เขาต้องเผชิญกับมรสุมชีวิตส่วนตัว อันได้แก่ การจากไปด้วยโรคร้ายของภรรยาสุดที่รัก และหลังจากนั้นเส้นกราฟของทั้งชีวิตและหน้าที่การงานของเขาก็ดำดิ่งสู่ก้นเหว 

 

และถ้าหากจะสรุปอย่างรวบรัด เทปบันทึกรายการสดในค่ำคืนฮาโลวีนที่เพิ่งถูกค้นพบและกำลังเผยแพร่ให้พวกเราได้ดูตอนนี้ เปรียบได้กับการเดิมพันครั้งสุดท้ายของ Jack Delroy ในความพยายามจะกลับมาต่อลมหายใจของรายการอีกครั้ง ทำนองว่าถ้าไม่ปังก็พัง ไม่เปรี้ยงปร้างก็รูดม่านปิดฉากได้เลย และเสียงบรรยายของบุคคลที่สามตอนต้นเรื่องก็ให้เงื่อนงำทำนองว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ‘ช็อก’ คนทั้งประเทศ

 

 

ส่วนที่ต้องปรบมือดังๆ ให้กับผู้สร้างก็คือ บทภาพยนตร์ที่เลือกเล่าผ่านรายการโทรทัศน์ที่กำลังจนตรอกสุดๆ และต้องทำทุกอย่างเพื่อเรียกเรตติ้ง นั่นทำให้พวกเขาไม่ต้องเหนียมอายเรื่องรสนิยมและการเล่นมุกตลกแบบตึงโป๊ะเพื่อสร้างเสียงหัวเราะเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายขายหน้าอะไร 

 

ในแง่หนึ่ง การกำหนดเงื่อนไขให้เป็นรายการสด ก็สร้างความรู้สึกปัจจุบันทันด่วนได้อย่างน่าสนใจ ทำนองว่าความผิดพลาดหรือเรื่องหน้าแตกใดๆ ก็ถือเป็นความเสี่ยงตามปกติและเกิดขึ้นได้ (ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงๆ) แต่ปมขัดแย้งหลักของเรื่องเบ่งบานมาจากแขกรับเชิญของรายการที่ถูกออกแบบมาให้ ‘หาเรื่อง’ กันโดยตรง และนั่นคือตอนที่ดีกรีความเข้มข้นของภาพยนตร์พลุ่งพล่าน

 

สั้นๆ ง่ายๆ คอนเซปต์ของรายการก็คือ การพิสูจน์ว่าภูตผีปีศาจหรือชีวิตหลังความตายมีจริงหรือไม่ สามารถอัญเชิญมาประทับให้คนในห้องส่งได้รู้เห็นเป็นพยานได้หรือไม่ และก็อย่างที่ใครๆ ก็คงนึกออกและบ้านเราก็มีรายการทำนองนี้ดาษดื่น ปมขัดแย้งคลาสสิกก็คือ ฝ่ายหนึ่งทั้งเชื่ออย่างไม่มีข้อกังขาและเผยแพร่ความเชื่อและศรัทธานี้อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ขณะที่อีกฝ่าย อันได้แก่ ตัวละครที่ชื่อ Carmichael Haig (Ian Bliss) ผู้ซึ่งถูกนำเสนอในบุคลิกที่เย่อหยิ่ง หลงตัวเอง ชอบพูดจาเหน็บแนมถากถางคนอื่น และไม่แปลกที่ใครจะรู้สึกหมั่นไส้ ก็มองเห็นว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นปาหี่และการจัดฉากทั้งเพ และเขาพยายามจับผิดและเปิดโปงความกำมะลอ

 

 

ความฉลาดของบทภาพยนตร์ ได้แก่ การให้คนดูได้รู้เห็นเป็นพยานการปะทะกันของสองขั้วความเชื่อที่สวนทางและขัดแย้งอย่างไม่ลดราวาศอก จนกระทั่งราวๆ 15 นาทีหลังสุดนั่นแหละที่แต่ละคนคงต้องไปทบทวนเอาเองว่าสิ่งที่เพิ่งผ่านการรับรู้ของพวกเราคืออะไร 

 

แน่นอน ประเด็นผีหรืออำนาจเหนือธรรมชาติมีจริงหรือไม่ ไม่ใช่แก่นสารที่คนทำภาพยนตร์บอกเล่า ขณะที่การอวดอ้างความเป็นภาพยนตร์แนว Found Footage ก็เป็นแง่มุมที่ถือสาหาความจริงจังไม่ได้ เพราะว่าไปแล้วคนทำภาพยนตร์ก็ ‘ถือวิสาสะ’ ใส่สีตีไข่ด้วยแท็กติกและกลวิธีต่างๆ นานา ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อความเข้มข้นและสนุกสนานเป็นสำคัญ

 

สุดท้ายแล้วมี 2-3 อย่างที่น่าพูดถึง อย่างแรกสุดก็คือ ชั้นเชิงในการบอกเล่า หนึ่งในฉากตื่นเต้นระทึกขวัญที่ล้ำค่ามากๆ คือตอนที่ Jack ขอให้ทีมงานในห้องส่งเล่นเทปย้อนหลังแบบเลื่อนภาพทีละเฟรม เพราะเขาคิดว่าแอบเห็นอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ และจังหวะในการยั่วล้อกับความคาดหวังและความอยากรู้อยากเห็นของคนดู ก็สร้างสภาวะการรอคอยที่สุดแสนจะทานทน หรือการสอดแทรกอารมณ์ขันในช่วงไคลแม็กซ์ท้ายเรื่องก็นับเป็นความกล้าหาญชาญชัย เมื่อตัวละครคนหนึ่งซึ่งไม่รู้จะต่อกรกับปีศาจร้ายอย่างไร เอ่ยประโยคไล่ผีของหลวงพ่อ Merrin จากภาพยนตร์เรื่อง The Exorcist ซึ่งไม่ได้ผลด้วยประการทั้งปวง กระนั้นก็ตาม วิธีการนำเสนอฉากดังกล่าวที่ดูสติแตกมากๆ ก็เป็นไปได้ว่าคนดูอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองควรจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร ระหว่างตื่นตระหนกหวาดผวากับหัวเราะเสียงดังสนั่นหวั่นไหว

 

 

การแสดงก็นับเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สร้างบรรยากาศที่ขึงขังจริงจัง ดังที่กล่าว นักแสดงสมทบที่ชื่อ Ian Bliss ประสบความสำเร็จในการทำให้คนดูขัดหูขัดตากับคาแรกเตอร์นักจ้องจับผิดของเขาได้อย่างพร้อมเพรียง กระทั่งรู้สึกสมน้ำหน้าในตอนที่เจ้าตัวประสบเคราะห์กรรม 

 

ขณะที่ใครอีกคนหนึ่งที่เรารู้สึกได้ถึงความพิลึกกึกกือตั้งแต่แรกพบก็คือตัวละครที่ชื่อ Lilly (Ingrid Torelli) ผู้ซึ่งได้รับการแนะนำว่าเธอมีปีศาจร้ายสิงสู่อยู่ในเรือนร่าง และทั้งสายตาที่จ้องเขม็งมาที่กล้องในห้องส่ง (และคนดู) รวมถึงรอยยิ้มที่ซ่อนเลศนัยของตัวละคร ก็กลายเป็นภาพติดตาและสร้างความรู้สึกหลอกหลอนทีเดียว 

 

แต่คนสำคัญที่สุดของภาพยนตร์ทั้งเรื่องและการแสดงของเขาก็ช่างน่าทึ่งก็คือ David Dastmalchian ในบทพิธีกรที่ดูเป็นคนอ่อนไหว อ่อนโยน และที่แน่ๆ ไม่ได้มีบุคลิกแบบพิธีกรทอล์กโชว์ที่มักจะมองโลกด้วยสายตาเย้ยหยัน แดกดัน กระนั้นก็ตาม อีกด้านหนึ่งที่ภาพยนตร์ค่อยๆ เผยให้เห็น ทั้งเรื่องความยุ่งเกี่ยวกับลัทธิประหลาด และบางทีเขาอาจจะเป็นพวกขายวิญญาณหรือความสัมพันธ์พิเศษกับใครบางคน ก็ทำให้คนดูไว้เนื้อเชื่อใจตัวละครนี้ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

 

พูดอย่างแฟร์ๆ ในความเป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่มุ่งขายความอกสั่นขวัญแขวนและหลายช่วงก็กระตุกขวัญคนดูอย่างได้ผล ภาพยนตร์เรื่อง Late Night with the Devil ก็ยังนับว่าห่างชั้นจากภาพยนตร์ชั้นครูทั้งหลาย กระนั้นก็ตาม ส่วนผสมของความเป็นภาพยนตร์ตลกร้ายและล้อเลียนเสียดสีก็ทำให้ภาพยนตร์ไม่ต้องแข่งขันในสนามใหญ่ที่เต็มไปด้วยเสือ สิงห์ กระทิง แรด เต็มตัว 

 

ขณะที่เนื้อหาที่ว่าด้วยคนทำงานสื่อต้องงัดทุกกลเม็ดเพื่อดึงดูดความสนใจของคนดู ซึ่งใครที่เป็นแฟนภาพยนตร์ยุค 1970 ก็คงจะนึกโยงไปถึงภาพยนตร์ปี 1976 เรื่อง Network ที่พิธีกรรายการโทรทัศน์ในภาพยนตร์เรื่องนั้นประกาศฆ่าตัวตายเพื่อเรียกเรตติ้ง ก็เป็นหัวข้อที่ไม่เคยตกยุคตกสมัยจริงๆ เพราะถึงแม้ว่าเรตติ้งจะไม่ใช่คำที่ร้อนแรงหรือศักดิ์สิทธิ์เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว และในยุคสื่อสังคมออนไลน์มันทดแทนด้วยการ ‘กดไลก์ กดแชร์ กดซับสไครบ์’ แต่ก็นั่นแหละ แนวรบไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

 

มองในแง่มุมนี้ คนผลิตสื่อ (รวมถึงคนเขียนด้วย) ที่ดูเหมือนความอยู่รอดของพวกเราผูกติดอยู่กับตัวเลข ก็น่าจะตกเป็นจำเลยกันถ้วนหน้า

 


Late Night with the Devil (2023)

ผู้กำกับ: Colin Cairnes และ Cameron Cairnes

นักแสดง: David Dastmalchian, Laura Gordon, Ian Bliss และ Ingrid Torelli ฯลฯ

The post Late Night with the Devil (2023) เชื่อมจิตโชว์ ภาพยนตร์สยองขวัญรุ่นไลต์เวตที่ต่อยสวย ฟุตเวิร์กแพรวพราว appeared first on THE STANDARD.

]]>
Furiosa: A Mad Max Saga (2024) แก่น เซี้ยว เปรี้ยว ซ่า ตำนานอีแตน เลือดนักสู้ https://thestandard.co/furiosa-a-mad-max-saga-2024/ Mon, 27 May 2024 10:12:34 +0000 https://thestandard.co/?p=938080

Mad Max: Fury Road (2015)   หนึ่งในความน่าสนุกและช […]

The post Furiosa: A Mad Max Saga (2024) แก่น เซี้ยว เปรี้ยว ซ่า ตำนานอีแตน เลือดนักสู้ appeared first on THE STANDARD.

]]>

Mad Max: Fury Road (2015)

 

หนึ่งในความน่าสนุกและชวนติดตามของหนังแอ็กชันขึ้นหิ้งเรื่อง Mad Max: Fury Road (2015) ของ George Miller นอกเหนือไปจากการออกแบบฉากไล่ล่าที่กระตุ้นให้อะดรีนาลีนพลุ่งพล่านและคนดูหายใจหายคอแทบไม่ทัน ก็คือการออกแบบตัวละคร ซึ่งว่าไปแล้วเกือบทุกคาแรกเตอร์ไม่เพียงแค่ดูเสียสติหรือบ้าบอคอแตกในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ทว่าบุคลิกเหล่านั้นยังช่วยวาดให้คนดูได้เห็นสภาวการณ์ที่อารยธรรมล่มสลายได้อย่างเป็นรูปธรรม สมจริงสมจัง ข้อสำคัญเปี่ยมด้วยจินตนาการ

 

เรียงลำดับได้ตั้งแต่แก๊ง War Boys ที่รูปโฉมโนมพรรณเหมือนชนเผ่าผีตองเหลือง ขณะที่พฤติการณ์ลอบกัดและซุ่มโจมตีคล้ายคลึงกับฝูงลิงหัวโจกเมืองลพบุรี หรือหัวหน้าวายร้ายตัวฉกาจที่ชื่อ Immortan Joe แห่งอาณาจักร Citadel ที่รูปลักษณ์ภายนอกดูเหมือนนักดนตรีวงเฮฟวีเมทัลตกยุค ที่ต้องสวมหน้ากากช่วยหายใจซึ่งถูกดีไซน์ได้อย่างอุจาดบาดตา และไหนยังมี ‘มือลีดกีตาร์เพลิง’ ผู้ซึ่งมองผิวเผินดูเหมือนไม่มีธุระอะไรในกองทัพปีศาจกลางทะเลทราย ส่วนกลุ่มนางในเพื่อการสืบพันธุ์ของจอมวายร้ายก็ดูเปราะบางอ่อนไหว ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รวมถึงผิดที่ผิดทางมากๆ ในโลกที่สุดแสนหยาบกระด้างและรายล้อมด้วยอันตรายรอบด้าน

 

Charlize Theron – Mad Max: Fury Road (2015)

 

Anya Taylor-Joy – Furiosa: A Mad Max Saga (2024)

 

แต่ทั้งหมดทั้งมวลตัวละครที่โดดเด่นสะดุดตาทั้งในเชิงกายภาพ (สภาวะทุพพลภาพของตัวละครชวนคนดูจินตนาการถึงเหตุการณ์แสนสาหัสก่อนหน้านี้ที่เจ้าตัวต้องเผชิญ) ขณะที่บุคลิก หรืออีกนัยหนึ่งตื้นลึกหนาบางของตัวละคร ก็ทั้งชวนให้ฉงนสนเท่ห์และช่างน่าทึ่ง ก็คงหนีไม่พ้น Furiosa (Charlize Theron) ผู้ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นตัวละครสำคัญของ Mad Max: Fury Road แต่พูดได้ว่าเธอเป็นเจ้าของเรื่องที่บอกเล่าโดยตรง

 

ตั้งแต่ปมขัดแย้งที่ปะทุมาจากเหตุการณ์ที่เธอนำขบวนรถบรรทุกสินค้าแลกน้ำมันและกระสุนปืนเบี่ยงเบนออกนอกเส้นทาง และคนดูได้รับรู้ภายหลังว่าวาระแอบแฝงของตัวละครก็คือการหวนกลับไปดินแดนแห่งความเขียวชอุ่ม หรือที่เรียกว่า The Green Place ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าของเธอและเจ้าตัวต้องพลัดพรากจากมาในช่วงเยาว์วัย จนถึงการที่เธอค้นพบความจริงที่น่าสลดหดหู่ว่าดินแดนยูโทเปียดังกล่าวล่มสลายไปเรียบร้อยแล้ว และโคตรเหง้าศักราชของเธอก็ล้มหายตายจากไปเกือบหมด ขณะที่ตอนจบของ Mad Max: Fury Road ก็ยังลงเอยทำนองว่าเธอและสาวงามคงจะช่วยกันฟื้นฟู Citadel ให้กลายเป็น The Green Place สาขาสอง

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของการสร้างคาแรกเตอร์ที่น่าจดจำนี้ ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการแสดงอย่างเข้าถึงบทบาทของ Charlize Theron และคนดูทั้งเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยในความมีเลือดมีเนื้อและพร้อมจะล่มหัวจมท้ายไปกับตัวละคร หนึ่งในคุณสมบัติที่โดดเด่นมากๆ นอกจากความคล่องแคล่ว ทะมัดทะแมง คือความเฉลียวฉลาด แต่ขณะเดียวกันก็เก็บงำความรู้สึก เธอแสดงออกเพียงเล็กน้อย ทว่าข้างในดูเหมือนวางแผนและประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา

 

 

โดยปริยายความพิเศษและเป็นเอกเทศของคาแรกเตอร์นี้นำพาให้ใครก็ตามที่มารับช่วงต่อต้องพบกับความยากลำบากในแง่ของการยอมรับแน่ๆ แต่ก็นั่นแหละ การแคสต์ Anya Taylor-Joy ถือเป็นการเลือกที่สะท้อนวิสัยทัศน์แหลมคม แม้ว่าในแง่ของรูปลักษณ์ภายนอกอาจไม่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว แต่ Anya Taylor-Joy ก็สอบผ่านฉลุยในการสร้างตัวละคร Furiosa ในแบบฉบับของเธอ โดยเฉพาะบุคลิกที่เงียบขรึม แต่ลึกๆ สั่งสมไว้ด้วยความโกรธแค้นเดือดดาล อีกทั้งแววตาที่แข็งกร้าวดุดันของตัวละครก็ยิ่งเพิ่มความน่าเกรงขาม และมันแทบจะหลอมละลายใครก็ตามที่ถูกจ้องมอง

 

อย่างที่แฟนๆ หนังชุด Mad Max คงรับรู้รับทราบ หนังเรื่อง Furiosa: A Mad Max Saga ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ ‘Max ผู้บ้าคลั่ง’ อีกต่อไป และมันย้อนกลับไปเล่าสิ่งที่เรียกว่าเป็น Backstory ของ Furiosa หรือมองในอีกแง่หนึ่ง มันคือ The Making of Furiosa ก่อนที่เธอจะกลายมาเป็นตัวละครที่ทนแดดทนฝน และดูเหมือนไม่มีอะไรทำให้เธอหวั่นไหวสะทกสะท้านได้อีกต่อไป ซึ่งนั่นทำให้ไม่มากไม่น้อย นอกเหนือจากความเป็นหนังแอ็กชันระห่ำเดือดแล้ว Furiosa: A Mad Max Saga ก็เป็นหนังแนวศึกษาบุคลิกตัวละครได้เหมือนกัน และว่าไปแล้วเป้าประสงค์ของการแบ่งเรื่องเล่าออกเป็นห้าบท ซึ่งนับเป็นแท็กติกที่ผิดแผกแตกต่างจาก Mad Max: Fury Road ที่เดินเรื่องเป็นเส้นตรงมากๆ ก็คือการแจกแจงให้คนดูได้มองเห็นและร่วมอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ เติบโต เปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่ง ‘เกิดใหม่’ ของตัวละคร

 

 

ไหนๆ ก็ไหนๆ สองบทแรกของหนังบอกเล่าสิ่งที่เรียกว่าเป็นต้นสายปลายเหตุ รวมทั้งยังกำหนดเงื่อนไขเริ่มต้นสำคัญ อันได้แก่ การที่เด็กหญิงถูกแก๊งมอเตอร์ไซค์วายร้ายลักพาตัวจาก ‘ดินแดนแห่งความเขียวชอุ่ม’ และคนที่บุกตะลุยออกไปช่วยเหลือแบบฉายเดี่ยวก็คือแม่ของเธอ (Charlee Fraser) ซึ่งโชว์ให้เห็นทักษะและฝีไม้ลายมือในการกำราบเหล่าลูกสมุนของหัวโจกตัวฉกาจที่ชื่อ Dementus (Chris Hemsworth) จนเกือบจะหมอบราบคาบแก้ว และทีละน้อยคนดูก็สันนิษฐานได้ไม่ยากว่าในท้ายที่สุดแล้ว Furiosa รับมอบพันธุกรรมนักรบที่กร้าวแกร่งห้าวหาญมาจากใคร กระนั้นก็ตามปมเรื่องหลักอาจสรุปได้เป็นสองส่วนด้วยกัน

 

หนึ่งก็คือการที่ Furiosa ตกปากรับคำแม่ของเธอว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เธอต้องหาทางกลับบ้านให้ได้ และปกปักรักษาดินแดนแห่งความเขียวชอุ่ม (นั่นเป็นที่มาของการสักลายแทง The Green Place ซึ่งถือเป็นสถานที่ลี้ลับ ลงบนท้องแขนข้างซ้ายของตัวละคร และเมื่อมันถูกตัดทิ้ง (ดังที่คนดูรู้อยู่แล้ว) ความมุ่งมาดปรารถนาของตัวละครก็พลอยหลุดลอย และสอง การแก้แค้น Dementus ผู้ซึ่งพูดได้ว่าเป็นต้นตอของเรื่องยุ่งยากทั้งมวล และสร้างปมแห่งความเจ็บปวดคับแค้นอย่างแสนสาหัสให้กับตัวละคร

 

 

ข้อสังเกตส่วนตัวที่ผุดขึ้นในระหว่างสำรวจเส้นเรื่องนี้ก็คือ สมมติเล่นๆ ว่าถ้าเราลองเอาเงื่อนไขของความเป็นดิสโทเปียออกไปจากสมการสักพัก ชีวิตอันแสนระหกระเหินเหมือนรถไฟเหาะตีลังกาของ Furiosa ก็เป็นส่วนผสมของนางเอกหนังและนิยายน้ำเน่าที่เราคุ้นเคยนั่นเอง ตั้งแต่ชีวิตที่เหมือนตกจากสรวงสวรรค์ของตัวละครด้วยเหตุไม่คาดฝัน และต้องเผชิญความอำมหิตจากพ่อเลี้ยงใจร้าย ซึ่งพยายามฟูมฟักให้เด็กหญิงเป็นทายาทอสูรโดยชอบธรรม แต่จนแล้วจนรอดเธอก็ถูกขายไปเป็นนางบำเรอของเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลอีกราย ก่อนที่หญิงสาวจะเอาตัวรอดด้วยการปลอมเป็นผู้ชาย จากนั้นเธอดูเหมือนจะพบรักกับชายหนุ่มในฝัน ทว่าชะตาชีวิตก็เล่นตลกให้ตัวละครต้องกลับพบเจอกับพ่อเลี้ยงใจร้ายอีกครั้ง ซึ่งจดจำลูกเลี้ยงตัวเองไม่ได้แล้ว และเนื้อหาหลังจากนั้นก็ขมวดไปสู่บทสรุปที่ไม่ได้อยู่เหนือการคาดเดา แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังอุตส่าห์ปกคลุมไว้ด้วยความขมุกขมัว หม่นมืด และวิปริตพิสดาร

 

ไม่ว่าโครงเรื่องของ Furiosa: A Mad Max Saga จะถูกเล่าซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน แง่มุมที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือบท​ Dementus ของ Chris Hemsworth ที่ฉีกตัวเองจากกับดักของบุคลิกเหล่าร้ายที่แสนจำเจ ที่แน่ๆ เขาไม่ดูแข็งกระด้าง บ้าอำนาจ และดูเป็นภูตผีปีศาจเหมือนกับ Immortan Joe และบุคลิกที่โดดเด่นของตัวละครก็สมชื่อ นั่นคือความเสียสติ วิปลาส อันส่งผลให้อารมณ์ขันและความกระหายเลือดแทบจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ข้อที่น่าครุ่นคิดก็คือบุคลิกจอมวางแผนและแท็กติกในการต่อสู้ที่สะท้อนไหวพริบปฏิภาณของ Dementus ก็น่าจะเป็นแง่มุมที่ Furiosa เรียนรู้และซึมซับด้วยเหมือนกัน ขณะที่อีกส่วนที่ลืมไม่ลงก็คือการออกแบบราชรถแบบโรมันของตัวละคร ซึ่งแทนที่จะเทียมไว้ด้วยม้าจริงๆ กลับเป็นมอเตอร์ไซค์ช็อปเปอร์ 3 คัน ซึ่งมันทั้งดูตลก ประหลาด และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับความบิดเบี้ยวและผิดเพี้ยนของตัวละคร

 

 

แต่ถ้าพูดอย่างไม่อ้อมค้อม Furiosa: A Mad Max Saga ก็ยังเทียบชั้นไม่ได้กับ Mad Max: Fury Road ซึ่งต้องถือเป็นหนังแอ็กชันที่ทั้งเข้มข้นและจัดจ้านที่สุดของศตวรรษที่ 21 แต่ว่ากันตามจริงหนังแอ็กชันเรื่องไหนก็เอาไปเปรียบกับ Mad Max: Fury Road ไม่ได้ และไหนๆ ก็ออกตัวไปแล้วก็คงต้องบอกว่าบรรดาฉากไล่ล่า ฉากต่อสู้ขับเคี่ยว และฉากเสี่ยงตายของ Furiosa: A Mad Max Saga ก็ยังคงเล่นงานคนดูอยู่หมัดเหมือนเดิม ทั้งในแง่ของการออกแบบและจัดวางการเคลื่อนไหวของทั้งกล้องและตัวละคร การถ่ายทำที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์และดึงดูดการรับรู้ของคนดู การลำดับภาพที่ร้อยเรียงให้เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องลื่นไหล และยังสอดแทรกไว้ด้วยลูกล่อลูกชน

 

ฉากหนึ่งที่ George Miller เล่าเรื่องได้เก่งกาจ แต่ขณะเดียวกันประหยัดถ้อยคำมากๆ อยู่ราวๆ ครึ่งค่อนชั่วโมงแรกที่ Dementus จัดการให้ลูกน้องไฮแจ็กรถขนส่งน้ำมันจากเมืองแก๊สทาวน์ ซึ่งแทนที่หนังจะจับภาพในระยะใกล้และตัดสลับไปมาเพื่อแสดงแอ็กชันและรีแอ็กชันระหว่างคนปล้นกับคนถูกปล้น กลับนำเสนอด้วยภาพไกลสุดขอบฟ้าในลักษณะที่เป็นมุมมองของ Dementus และเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นและสิ้นสุดอย่างรวดเร็ว คนดูอาจไม่ตื่นเต้นกับการซุ่มโจมตีครั้งนี้ แต่นี่เป็นฉากที่บ่งบอกถึงสติปัญญาอันเฉียบแหลมและความเจ้าเล่ห์แสนกลของตัวละคร

 

 

อีกหนึ่งอย่างซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของ Furiosa: A Mad Max Saga ก็คือฉากรถบรรทุกสัมภาระของตัวละครที่ชื่อ Praetorian Jack (ซึ่ง Furiosa แอบซ่อนอยู่ใต้ท้องรถ) ถูกจู่โจม และในขณะที่สถานการณ์ดูสับสนอลหม่านทีเดียวเพราะผู้ร้ายมาจากทุกทิศทาง ทว่าความแม่นยำและแยบยลในการบอกเล่าด้วยกลวิธีนานัปการของ George Miller ก็ดลบันดาลให้แอ็กชันที่ดูเหลือเชื่อ กระทั่งเป็นไปไม่ได้ กลับดูขึงขังจริงจังและโน้มน้าวชักจูง และสิ่งที่ต้องหมายเหตุ ณ ที่นี้ก็คือหนังของ George Miller ไม่เคยละเมิดกฎแรงโน้มถ่วงของ Isaac Newton อันส่งผลให้บรรดาฉากสตันท์และฉากผาดโผนทั้งหลายไม่เคยดูเหลวไหลไร้สาระเหมือนกับหนังแข่งรถตระกูล Fast ที่นับวันยิ่งดูโง่เขลาเบาปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ

 

ข้อมูลที่ต้องระบุทิ้งท้ายก็คือ ปีนี้ George Miller อายุ 79 ปี แต่ประมวลจากความดุเดือดเลือดพล่านของสิ่งที่บอกเล่าทั้งใน Mad Max: Fury Road และ Furiosa: A Mad Max Saga ไม่มีตรงไหนที่บอกถึงวัยที่ร่วงโรย และอายุเป็นเพียงตัวเลขจริงๆ หรือว่าไปแล้วนี่เป็นหนังที่สร้างด้วยสปิริตเดียวกันกับของคนหนุ่มที่สร้างหนังเรื่อง Mad Max เมื่อ 45 ปีก่อนหน้านั้น และนับเนื่องจนถึงปัจจุบัน ‘คนหนุ่ม’ วัยเกือบ 80 ปีผู้นี้ก็ยังคงเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่ฝีไม้ลายมือแข็งแกร่งที่สุดในปฐพี

 


 

Furiosa: A Mad Max Saga

กำกับ: George Miller

ผู้แสดง: Anya Taylor-Joy, Chris Hemsworth, Tom Burke, Alyla Browne

 


 

The post Furiosa: A Mad Max Saga (2024) แก่น เซี้ยว เปรี้ยว ซ่า ตำนานอีแตน เลือดนักสู้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
The Zone of Interest (2023) สุขาวดีของปีศาจร้าย https://thestandard.co/the-zone-of-interest/ Mon, 04 Mar 2024 10:41:34 +0000 https://thestandard.co/?p=907002 The Zone of Interest

The Zone of Interest ผลงานกำกับของ Jonathan Glazer เป็น […]

The post The Zone of Interest (2023) สุขาวดีของปีศาจร้าย appeared first on THE STANDARD.

]]>
The Zone of Interest

The Zone of Interest ผลงานกำกับของ Jonathan Glazer เป็นหนังเรื่องที่ ‘นับไม่ถ้วน’ ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ที่ทั้งน่าทึ่งและเหลือเชื่อก็คือ มันกลับเป็นหนังที่ ‘Original’ มากๆ หรืออีกนัยหนึ่ง มันสดใหม่ เป็นตัวเอง ไม่มีใครเหมือน ไม่เหมือนใครทั้งในแง่เนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอ ข้อสำคัญคือ ทั้งสองส่วนนี้ยังหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างชนิดแบ่งแยกจากกันไม่ได้

 

หมายความว่า ด้วยเนื้อหาแบบนี้ ถ้าหากไม่ได้นำเสนอ ‘แบบนี้’ ก็น่าสงสัยว่าคนดูจะสัมผัสได้ถึงความเมินเฉยและเยียบเย็นอย่างที่คนทำหนังเจตนาจะสื่อสารได้หรือไม่ อย่างไร กลับกัน ลำพังการนำเสนอแบบนี้ อันได้แก่ การเว้นระยะห่างแบบหลายช่วงแขนระหว่างคนดูกับตัวละคร ก็คงจะใช้การไม่ได้กับ ‘เนื้อหาอะไรก็ได้’ และในแง่หนึ่ง วิธีการดังกล่าวก็เชื้อชวนคนดูมุ่งศึกษาตัวละครในมิติมานุษยวิทยา ทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์กับสภาพแวดล้อม และเหนือสิ่งอื่นใด มนุษย์กับระบบที่ครอบงำหรือปิดกั้นสัมปชัญญะและสามัญสำนึก

 

กระนั้นก็ตาม สมมติเราจะมองข้ามเนื้อหาในส่วนที่พูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวไปสักพัก เส้นเรื่องจริงๆ ของ The Zone of Interest ก็นับว่าผอมบาง และปมขัดแย้งก็ไม่ได้โดดเด่นหรือจะเรียกว่าจืดชืดก็ได้ อันได้แก่ เรื่องครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และลูกๆ 5 คนที่อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวสองชั้นหลายห้องนอนซึ่งองค์กรที่ตัวสามีสังกัดอยู่เป็นฝ่ายจัดหาให้ และพื้นที่ข้างๆ ของบ้านเป็นสวนดอกไม้นานาชนิด รวมไปถึงแปลงพืชผักสวนครัวที่ได้รับการดูแลประคบประหงมอย่างเอาใจใส่ ตรงกลางเป็นสระน้ำเล็กๆ พร้อมสไลเดอร์ และเห็นได้ชัดว่าฝ่ายภรรยาปิดบังความภูมิอกภูมิใจในผลงานชิ้นโบแดงของเธอได้มิดชิด อีกทั้งความใฝ่ฝันสูงสุดของเธอก็คือ การได้ลงหลักปักฐาน ณ บ้านหลังนี้ และใช้ชีวิตหลังหน้าที่การงานของสามีสิ้นสุดลงในฐานะชาวไร่ชาวสวนอย่างมีความสุขตลอดไป

 

ขณะที่ฝ่ายสามีก็เป็นคนอุทิศทุ่มเทให้กับหน้าที่การงานแบบหามรุ่งหามค่ำ และภารกิจที่ได้รับมอบหมายก็ยิ่งบีบรัดมากขึ้นจนแทบไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ฉากเล็กๆ ช่วงท้ายเรื่องบอกให้รู้ว่า เขาไม่ได้เป็นมดงานที่ขยันขันแข็งเพียงหนึ่งเดียวในสนามแข่งขันที่น่าจะดุเดือดเข้มข้นขององค์กร และบางทีนั่นทำให้เขาต้องพยายามให้หนักมากขึ้น เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และสานฝันของภรรยาที่จะได้ใช้ชีวิต ณ ‘สวนเอเดนขนาดย่อม’ ของเธอไปแสนนาน 

 

ข้อน่าสังเกตบางประการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาคู่นี้ก็คือ ทั้งสองนอนกันคนละเตียง และในขณะที่คนดูไม่ได้รู้สึกถึงความระหองระแหง แต่ก็น่าสงสัยว่าชีวิตเซ็กซ์ของคนทั้งสองคงจะไม่ค่อย ‘แอ็กทีฟ’ แล้ว และหนังให้เห็นว่าฝ่ายชายมีวิธีการปลดเปลื้องความใคร่กับคนที่อยู่ใต้อาณัติ ซึ่งว่าไปแล้วมันก็ไม่ได้กระทบความสัมพันธ์หรือส่งผลในเชิงดราม่าแต่อย่างใด

 

ถึงที่สุดแล้วปมขัดแย้งหลักของเรื่องจึงเหลือเพียงแค่เหตุการณ์ที่สามีถูกเบื้องบนสั่งย้ายจากหน่วยงานที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมาตั้งแต่ต้น ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็คือ การประเคนความสำเร็จที่อุตส่าห์ปลุกปั้นด้วยความเหนื่อยยากให้กับคนที่มาใหม่นั่นเอง และเป็นสิ่งที่เจ้าตัวไม่เห็นด้วย ความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเมื่อฝ่ายภรรยาบอกว่าเธอไม่ยอมย้าย และกดดันสามีให้วิ่งเต้นให้เธอและลูกๆ ยังคงได้อาศัย ณ บ้านพักขององค์กรแห่งนี้ต่อไป ซึ่งถ้าหากไม่เป็นการเปิดเผยเนื้อหามากนัก เรื่องยุ่งยากนี้คลี่คลายในหนทางที่ตัวละครสมปรารถนา

 

แต่ก็นั่นแหละ พล็อตที่แสนธรรมดาและดูเหมือนไม่มีพิษมีภัยก็กลับเขย่าขวัญสั่นประสาทคนดูอย่างสุดขีดคลั่ง เมื่อถูกนำไปผนึกเข้ากับฉากหลัง อันได้แก่ ค่ายแห่งความตายที่เมืองเอาช์วิทซ์ ซึ่งเป็นสถานที่ฆ่าคนยิวมากกว่าหนึ่งล้านคน

 

พูดง่ายๆ บ้านเดี่ยวสองชั้นหลายห้องนอนที่เอ่ยถึงข้างต้นตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของกำแพงค่ายกักกันชาวยิว และคนดูรับรู้ความสยดสยองของการฆ่าแกงผ่านเสียงกรีดร้องสลับกับกระสุนปืนที่ลอยตามลมมาให้ได้ยินเป็นระยะ และผ่านกลุ่มควันดำที่พวยพุ่งจากปล่องไฟของเตาเผาศพที่ดูเหมือนทำงานทั้งวันทั้งคืน

 

ขณะที่ตัวละครที่เป็นสามีที่ได้อ้างข้างต้น อันได้แก่ Rudolf Höss (Christian Friedel) ผู้บังคับการค่ายที่แสนโหดเหี้ยมและมีตัวตนอยู่จริง ตลกร้ายที่หัวเราะไม่ออกก็คือ ความเป็นคน ‘Workaholic’ หรือโหมงานหนักของ Rudolf ซึ่งน่าจะเป็นคุณสมบัติที่น่าชื่นชมยกย่อง กลับหมายถึงการอุทิศทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจให้กับการสังหารหมู่เหล่านักโทษในค่ายกักกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ขณะที่ภรรยาที่ชื่อ Hedwig (Sandra Hüller) ก็เป็นตัวละครที่น่าขยะแขยงและสะอิดสะเอียนพอกัน ทั้งพฤติกรรมเพิกเฉยและทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อเรื่องสยดสยอง ณ อีกฟากหนึ่งของกำแพงบ้าน หรือจะว่าไปแล้วเธอก็เสวยสุขอยู่บนกองซากศพของคนยิวนั่นเอง ทว่าในทางตรงข้าม เจ้าตัวกลับโวยวายและตีโพยตีพายราวกับจะเป็นจะตายเมื่อรู้ว่าเธอและลูกๆ อาจจะต้องระเห็จไปจากคฤหาสน์เปี่ยมสุขแห่งนี้

 

 

ขณะที่ฉากเงียบๆ ที่เธอลองสวมใส่เสื้อขนสัตว์ ซึ่งแรงงานในค่ายกักกันนำมามอบให้ ทำนองว่ามันพอดีตัวหรือว่าต้องส่งแก้ บ่งบอกถึงความเหี้ยมเกรียมและเลือดเย็นของตัวละครโดยไม่ต้องพึ่งพาบทพูดแต่อย่างใด (เพราะเรารู้โดยอ้อมว่าเจ้าของเสื้อตัวจริงคงจะกลายเป็นเถ้าธุลีในกระแสลมไปเรียบร้อยแล้ว) ส่วนฉากที่ Hedwig แสดงออกอย่างปลาบปลื้มกับฉายาที่สามีตั้งให้ว่าเธอคือ ‘ราชินีแห่งเอาช์วิทซ์’ ก็กลายเป็นความขันขื่นที่บาดลึกในความรู้สึกคนดูอย่างสาหัสสากรรจ์

 

และอย่างที่เกริ่นตอนแรก วิธีการบอกเล่าของ Jonathan Glazer ทำให้หนังเรื่อง The Zone of Interest กลายเป็น ‘เขตแดนที่น่าสนใจและชวนให้ครุ่นคิด’ ตรงตัวตามชื่อหนังขึ้นมาจริงๆ พูดง่ายๆ ว่านี่ไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องตามแบบแผนที่คุ้นเคยผ่านการใช้ภาพไกล-ภาพใกล้ แอ็กชัน-รีแอ็กชัน หรือการลำดับภาพที่ต่อเนื่อง ลื่นไหล ด้วยจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวชักจูงผู้ชม 

 

แต่วิธีที่ Jonathan Glazer ใช้คือ การนำกล้องราวสิบตัวซ่อนไว้ ณ จุดต่างๆ ภายในและภายนอกตัวบ้านในลักษณะเดียวกับรายการโทรทัศน์แนวเรียลิตี้ (เขาเรียกว่ามันคือ Big Brother ของบ้านนาซี) และปล่อยให้นักแสดงสวมบทบาทของตัวเองในแต่ละซีนอย่างต่อเนื่อง ก็เปลี่ยนสถานะของคนดูจากกองเชียร์หรือกองแช่ง กลายเป็นผู้สังเกตการณ์วงนอก และวิธีการของ Jonathan Glazer ที่เฝ้ามองโน่นนี่แบบไม่ชวนคนดูถลำลึกไปผูกพันหรือเกี่ยวข้อง ก็เปิดโอกาสให้พวกเราได้สำรวจ ศึกษา และจับจ้อง ตัวละครอย่างครุ่นคิดพินิจนึกมากขึ้น

 

2-3 อย่างที่สรุปได้ก็คือ Rudolf เป็นคนแห้งแล้ง เย็นชา และตลอดทั้งเรื่องเราแทบจะไม่เคยเห็นเขาแสดงความรู้สึกใดๆ ยกเว้นฉากที่เขาร่ำลาม้าตัวโปรดที่เขาผูกพัน แต่ก็นั่นแหละ ความไร้อารมณ์ของทั้งตัวละครและวิธีการที่หนังใช้บอกเล่ากลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม 

 

ฉากที่ Rudolf นั่งฟังนักธุรกิจสองคนที่มานำเสนอระบบเตาเผาแบบใหม่ ซึ่งนอกจากจะสามารถ ‘โหลด’ สิ่งที่ต้องการเผาได้คราวละมากๆ ยังคลายความร้อนได้รวดเร็ว แถมยังทำงานแบบสับเปลี่ยนกับอีกเตาที่ตั้งอยู่อีกฟาก อันส่งผลให้เผาได้เรื่อยๆ แบบไม่ต้องหยุดพัก เป็นช่วงเวลาที่เหมือนกับจะน่าเบื่อ เพราะบรรยากาศการพูดคุยดูเป็นงานเป็นการ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ มันกลับเป็นฉากที่หนักหน่วงและรุนแรงในทางความรู้สึกมากๆ เพราะทั้งคนดูและตัวละครรู้แก่ใจดีว่า นี่ไม่ใช่เรื่องขั้นตอนการทำงานของระบบเครื่องจักรที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษนี้ ทว่ามันคือชั่วโมงที่หม่นมืดที่สุดของมนุษยชาติ

 

ว่าไปแล้ว ถ้อยคำของ Hannah Arendt นักปรัชญาชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เรื่อง Banality of Evil หรือ ความเฉยชาต่อระบบอันชั่วร้าย สามารถใช้อธิบายสถานการณ์ข้างต้น รวมไปถึงปรากฏการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวได้อย่างดิบดี เพราะในขณะที่คนระดับปฏิบัติการอ้างได้ว่าพวกเขาเพียงแค่รับคำสั่งจากเบื้องบน และถ้าหากจะต้องรับผิดชอบ น้ำหนักความผิดบาปก็น่าจะบางเบา แต่ก็นั่นแหละ ฮิตเลอร์และพวกฆ่าคน 6 ล้านคนด้วยสองมือสองเท้าของตัวเองไม่ได้ถ้าหากระดับล่างๆ ไม่ตอบสนองนโยบายและความเฉยชาต่อระบบอันชั่วร้าย (อย่างเช่น เซลส์แมนขายเตาเผาศพสองคนนั้น) เป็นเครื่องมืออันวิเศษที่ทำให้ฝันเปียกของฮิตเลอร์เป็นจริง

 

แต่ข้อน่าสงสัยก็คือ เราใช้วลี Banality of Evil อธิบายตัวละครอย่าง Rudolf (หรือรวม Hedwig ด้วย) ได้มากน้อยแค่ไหน เพียงใด เพราะจนแล้วจนรอดเขาและภรรยาก็ไม่ได้อยู่ในภาวะจำนนหรือจำยอมเสียทีเดียว และมีช่วงเวลาที่เราได้เห็น Free Will หรือ ‘การเลือก’ ของตัวละคร อันได้แก่ ฉากที่ Rudolf พาลูกๆ ไปเล่นน้ำในลำคลองสายเล็กๆ ข้างค่ายกักกัน ก่อนจะพบว่ามันปนเปื้อนด้วยเถ้าธุลีจากเตาเผาศพ และนั่นคือตอนท่ีเขารีบพาลูกกลับบ้านอย่างเร่งด่วนและจัดการให้ขัดเนื้อตัวเด็กๆ เพื่อกำจัด ‘เสนียดจัญไร’ ออกจากร่างกาย ความสกปรกทางกายภาพก็เรื่องหนึ่ง แต่นี่เป็นฉากที่ตอกย้ำทัศนคติของตัวละครทำนองว่า เขามองเห็นยิวเป็นเหมือนกับเชื้อโรค

 

หรืออีกฉากที่น่าจะสื่อความหมายคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ตอนที่หนังให้เห็นว่า Rudolf ในชุด ‘สีขาว’ ชำระล้างอวัยวะเพศของตัวเองอย่างระมัดระวังหลังจากมีเซ็กซ์กับหญิงชาวยิว (?) ประมวลจากการ ‘เลือก’ เนื้อหาปลีกย่อยนี้มาบอกเล่า ก็ชวนให้อดสงสัยไม่ได้ว่า นี่อาจไม่ได้เป็นแค่การรักษาความสะอาดในทางเนื้อหนังเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวโยงกับการพยายามรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่องของเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ตัวเองด้วยหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่สรุปได้แน่ๆ ก็คือ Rudolf ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฟันเฟืองของระบบ แต่เขามีจุดยืนและมีอุดมการณ์ทางความคิดเป็นของตัวเอง

 

ไหนๆ ก็ไหนๆ ความท้าทายในแง่ของ Form หรือรูปแบบการนำเสนอของ Jonathan Glazer ยังไปไกลเกินกว่าวิธีการแบบเรียลิตี้ทีวี ลักษณะเด่นอีกอย่างก็คือ แท็กติกแบบหนังทดลอง ทั้งการแทรกฉากที่ดูผิวเผินแล้วแทบไม่ปะติดปะต่อกับสิ่งที่หนังบอกเล่า อีกทั้งแปลกตาในแง่ของภาพ (เช่น ฉาก Night Vision ของเด็กสาวที่ลักลอบนำผลไม้ไปวางไว้ตามทางเพื่อให้นักโทษเก็บกิน) หรือบางครั้งก็เป็นช็อตที่ทำงานกับ ‘ผัสสะ’ ของคนดูโดยตรง (ภาพโคสสอัพดอกไม้ที่จู่ๆ ก็เปลี่ยนเป็นสีแดงแสบตา) หรือเสียงดนตรีของ Mica Levi ที่คุกคามโสตประสาทคนดูอย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งหมดทั้งมวลนำพาให้ต้องย้อนกลับไปยืนยันความเห็นข้างต้นว่า มันสร้างรสชาติแปลกใหม่ให้กับเรื่องที่ถูกผลิตซ้ำได้อย่างน่าทึ่ง 

 

เหนือสิ่งอื่นใด กลวิธีดังกล่าวเหมือนกับกระทุ้งคนดูให้ต้องย้อนกลับมาทบทวนตัวเองว่า พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของความเฉยชาต่อระบบอันชั่วร้ายหรือไม่ อย่างไร เราได้ยินเสียงกรีดร้องของคนที่ถูกกดขี่ เหยียบย่ำ จากอีกฟากหนึ่งของกำแพง หรือเสียงของคนที่ถูกคุมขัง เพราะถูกยัดเยียดข้อหาที่คับแคบและไม่เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร 

 

ลองเทียบบัญญัติไตรยางศ์ดูแล้ว สิ่งที่บอกเล่าในหนังเรื่อง The Zone of Interest ก็ไปไกลแสนไกลเกินกว่าเรื่องของนาซี ยิว และค่ายกักกัน

 

The Zone of Interest (2023)

กำกับ: Jonathan Glazer

นำแสดง: Christian Friedel, Sandra Hüller

 

The post The Zone of Interest (2023) สุขาวดีของปีศาจร้าย appeared first on THE STANDARD.

]]>
Perfect Days (2023) สุนทรียศาสตร์ของคนขัดส้วม https://thestandard.co/opinion-perfect-days/ Thu, 01 Feb 2024 09:01:52 +0000 https://thestandard.co/?p=894808

เผื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ชมขาจร หนังเรื่อง Perfect Days […]

The post Perfect Days (2023) สุนทรียศาสตร์ของคนขัดส้วม appeared first on THE STANDARD.

]]>

เผื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ชมขาจร หนังเรื่อง Perfect Days ของผู้กำกับเยอรมันชั้นครู Wim Wenders ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่นเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาหนังนานาชาติ และในบรรดาหนังที่ถูกส่งเข้าประกวดจาก 92 ประเทศ (รวมถึง เพื่อน(ไม่)สนิท จากเมืองไทย) ผลปรากฏว่าหนังเรื่อง Perfect Days ได้รับโหวตให้เข้ารอบ 1 ใน 5 เรื่องสุดท้าย ซึ่งไม่ว่าชื่อของหนังจะถูกประกาศบนเวทีหรือไม่ มันก็เป็นชัยชนะที่สมควรปรบมือให้ในหลายมิติด้วยกัน นั่นรวมถึงการที่สมาคมผู้อำนวยการสร้างของญี่ปุ่นคัดเลือกหนังเรื่องนี้ในฐานะตัวแทนประเทศตั้งแต่ต้น

 

เพราะถ้าหากจะโยนเรื่องชาตินิยมทิ้งไปก่อน นี่เป็นปีที่หนังญี่ปุ่นแข็งแกร่งจริงๆ ด้วยผลงานของคนทำหนังสำคัญหลายเรื่อง เรียงตั้งแต่ The Boy and the Heron ของ Hayao Miyazaki, Monster ของ Hirokazu Koreeda, Evil Does Not Exist ของ Ryusuke Hamaguchi (ซึ่งอาจไม่เข้าเกณฑ์ในแง่ของวันฉาย) ขณะที่ Godzilla Minus One ของ Takashi Yamazaki (ผู้กำกับ Always: Sunset on Third Street) ก็ประสบความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงวิจารณ์อย่างล้นหลามทีเดียว 

 

หรือพูดอย่างย่นย่อ ถึงแม้ Perfect Days จะชนะรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งล่าสุด นั่นก็ไม่ได้ทำให้หนังเรื่องนี้ดูมีภาษีหรือแต้มต่อเหนือกว่าหนังที่อ้างถึงข้างต้น (ซึ่งก็ล้วนไปได้สวยในเทศกาลหนังและเสียงวิจารณ์เช่นกัน) เป็นไปได้ว่าสมมติว่า Perfect Days ไม่ถูกเลือกก็คงจะไม่มีใครว่าอะไร

 

 

แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ความห่วงกังวลเรื่องผู้กำกับเป็นคนต่างชาติ (ซึ่งจะมาเข้าใจความเป็นญี่ปุ่นได้อย่างไร) ก็ไม่ใช่ประเด็นที่ใครทึกทักไปเอง และเป็นตัว Wenders นั่นเองที่ตั้งคำถามในเชิงท้าทายคนดูรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังแห่งกรุงโตเกียวว่า หลังจากที่ทั้งหมดดูหนังจบแล้ว พวกเขายังจะคิดว่านี่เป็นหนังที่ชาวเยอรมันเป็นคนสร้างหรือไม่ เพราะเจ้าตัวบอกด้วยความเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาค้นพบระหว่างการทำหนังเรื่องนี้ก็คือจิตวิญญาณของความเป็นญี่ปุ่น 

 

ฟังผิวเผินก็ดูเหมือนยาหอมที่ Wenders พูดเอาใจเจ้าภาพและไม่ต้องถือสาหาความ แต่ใครที่ติดตามดูหนังของ Wenders มาอย่างต่อเนื่องก็จะพบอย่างไม่มีวันผิดพลาดว่า คนทำหนังที่มีอิทธิพลทั้งในแง่ของความคิดและสไตล์การนำเสนออย่างเหลือล้นก็คือ Yasujiro Ozu และหนังสารคดีเรื่อง Tokyo-Ga (1985) ของ Wenders ซึ่งเจ้าตัวเป็นคนให้เสียงบรรยาย ก็ไม่เพียงพาคนดูไปสำรวจสถานที่ต่างๆ ในกรุงโตเกียวที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฉากหลังในหนังของ Ozu หลายเรื่อง ทว่าเสียงรำพึงรำพันของเขาเกี่ยวกับดินแดนแห่งนี้ก็ฟังดูเหมือนคนที่กำลังเสาะแสวงหาสิ่งที่เรียกว่า ‘Japanese Soul’  

 

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ความเป็นญี่ปุ่น หรือเยอรมัน หรือสัญชาติอะไรก็แล้วแต่ ก็อาจจะไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะเอาเข้าจริงๆ ในมุมมองของ Wenders ภาพยนตร์สำหรับเขาไม่เคยมีสัญชาติ (“For me, cinema has never been a national story”) และหนังเรื่องแล้วเรื่องเล่าพูดถึงความเป็นมนุษย์ที่เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศไม่มีความหมายจริงๆ จังๆ 

 

 

โดยปริยาย ฉากหลังของ Perfect Days อาจจะได้กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทว่าเนื้อแท้ของหนังก็คลับคล้ายจะเป็นการชวนคนดูสนทนาธรรมเกี่ยวกับชีวิต ความสุข ความทุกข์ คุณค่า และแก่นแท้ของมัน ซึ่งเกี่ยวโยงกับผู้คนไม่ว่าพวกเราจะซุกตัวอยู่มุมไหนของโลก และทั้งหมดของแง่มุมที่น่าครุ่นคิดก็ค่อยๆ ซึมซับเข้ามาในการรับรู้ของเราทีละเล็กละน้อยด้วยท่าทีการนำเสนอที่อ่อนไหวและอ่อนโยน สำรวมและถ่อมตน

 

หรือเปรียบไปแล้ว Wenders ก็เป็นเหมือนกับ ‘เซนมาสเตอร์’ ผู้ซึ่งสอดแทรกปรัชญาชีวิตที่ล้ำลึกผ่านปริศนาธรรมที่สุดแสนเรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ อันได้แก่ ชีวิตทุกเมื่อเชื่อวันของพนักงานทำความสะอาดห้องน้ำสาธารณะในกรุงโตเกียวที่ชื่อ Hirayama (Koji Yakusho) ผู้ซึ่งน่าสังเกตว่าเกือบครึ่งค่อนเรื่องของหนังก็ว่าได้ที่คนดูแทบจะไม่ได้ยินสุ้มเสียงของตัวละคร 

 

และตลอดช่วงเวลาทั้งหมดของหนังซึ่งกินเวลาฉาย 2 ชั่วโมง คนดูถูกกำหนดให้จดจ่ออยู่กับกิจวัตรที่คล้ายกันแทบทุกวันของชายวัยกลางคน ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า รดน้ำต้นไม้ในกระถางเล็กๆ นอกหน้าต่าง เปิดประตูบ้านด้วยสีหน้ายิ้มแย้มรับวันใหม่ ขับรถตู้ขนาดกะทัดรัดตระเวนไปตามห้องน้ำซึ่งอยู่ ณ ที่ต่างๆ ในกรุงโตเกียวท่ามกลางเสียงเพลงยุค 60-70 จากเทปคาสเซตต์ ซึ่งในมุมของนักสะสม คอลเล็กชันเพลงเก่าของเขาล้วนมีสถานะเป็น ‘แรร์ไอเทม’ มากๆ (House of the Rising Sun, Perfect Days, Feeling Good) หรืองานอดิเรกอีกอย่างของ Hirayama ก็คือการถ่ายภาพต้นไม้ใบหญ้าและแสงสว่างของแต่ละช่วงเวลาด้วยกล้องฟิล์มปัญญาอ่อนตามประสาของคนยุคอนาล็อก ขณะที่ตอนท้ายของวันก็สิ้นสุดด้วยการชำระล้างร่างกาย ณ โรงอาบน้ำสาธารณะ ดื่มกินในบาร์เจ้าประจำเป็นครั้งคราว อ่านนิยายของนักเขียนรุ่นคลาสสิก (William Faulkner, Aya Koda, Patricia Highsmith) ก่อนนอน และฝันเป็นภาพแอ็บสแตรกต์ที่หลายครั้งมีบุคคลที่เขาพบเจอในวันนั้นๆ เข้าไปปะปน

 

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ ความเหมือนกันแทบทุกวันของ Hirayama (ผู้ซึ่งชื่อของเขาพ้องพานกับชื่อตัวละครในหนังเรื่องสุดท้ายของ Ozu เรื่อง An Autumn Afternoon ซึ่งพูดถึงชีวิตตามลำพังในช่วงบั้นปลาย) ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งจะต้องย้ำรอยเดิม เพราะข้อเท็จจริงก็คือ รายละเอียดปลีกย่อยที่เกิดขึ้นก็ทำให้แต่ละวันแตกต่าง มีรสชาติ และลักษณะเฉพาะในแบบฉบับของมัน และนั่นตอกย้ำว่าชีวิตมีแต่ ‘ดำเนินไปข้างหน้า’ และไม่เคยมีวันไหนที่วนเวียนซ้ำซากอย่างแท้จริง

 

ความน่าทึ่งของ Perfect Days ก็อย่างที่ได้เกริ่นไว้ก่อนหน้า นี่เป็นหนังที่จะว่าไปแล้วเกือบไม่มีเส้นเรื่อง นั่นรวมถึงเหตุการณ์ดรามาติกช่วงครึ่งหลัง ซึ่งอาจจะทำให้คลื่นลมที่เคยสงบนิ่งในจิตใจของเขาเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมาบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของหนุ่มใหญ่พลิกผันหรือเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ตรงกันข้าม ทั้งหมดนั้นกลับเน้นย้ำสิ่งที่เรียกว่า จุดยืน อุดมการณ์ และความเชื่อของตัวละครให้ยิ่งแน่นหนามากขึ้น

 

 

หรือถ้าหากจะพูดอย่างรวบยอด Perfect Days เป็นหนังที่พูดถึงความงาม และในขณะที่ประโยคต่อไปนี้อาจจะฟังดูน้ำเน่า สำเร็จรูป หรือแม้กระทั่งหลงละเมอ แต่หนังของ Wenders ถ่ายทอดได้อย่างโน้มน้าวชักจูงให้เห็นว่า คุณค่าที่จรรโลงและปลอบประโลมความรู้สึกนี้ได้แก่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่อยู่รอบตัวเรา และ Hirayama เป็นคนที่โชคดีเพราะดวงตาของเขามองเห็นธรรม บางทีประเด็นอาจจะไม่ได้อยู่ที่การตั้งคำถามว่าตัวละครอย่าง Hirayama มีอยู่จริงหรือไม่ในโลกใบนี้ แต่ใช่หรือไม่ว่าความสามารถในการเพ่งพินิจหรือมองหา ‘สุนทรียะ’ ที่แอบซ่อนอยู่ในสิ่งละอันพันละน้อย เป็นวัตรปฏิบัติที่ใครก็สามารถฝึกฝนขัดเกลา และความละเอียดและอ่อนไหวนี่แหละที่นำมาซึ่งความเห็นอกเห็นใจและความเข้าอกเข้าใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

เพราะเหตุนี้เองที่เกือบตลอดทั้งเรื่องเรามักจะได้เห็นใบหน้าที่ยิ้มแย้มและเปี่ยมไปด้วยความสุขของตัวละคร และพื้นที่สำหรับความทุกข์ ความโศกเศร้า ตลอดจนเรื่องแย่ๆ ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และอยู่คู่กับด้านที่สว่างไสวของชีวิตเหมือนกลางวัน-กลางคืน ก็ถูกจำกัดให้อยู่ในขอบเขตที่เจ้าตัวรับมือได้

 

และแน่นอนว่าหนึ่งในความงดงามที่ตราตรึงความรู้สึกมากๆ ของหนังเรื่อง Perfect Days ได้แก่บรรดาห้องน้ำสาธารณะแต่ละแห่ง ซึ่งในแง่ของสถาปัตยกรรรมมันถูกออกแบบได้อย่างวิจิตรบรรจงและดึงดูดสายตาราวกับเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (ซึ่งเอาจริงๆ มันก็ควรจะมีบรรยากาศแบบนั้นเพื่อการทำธุระอย่างมีสมาธิ) อีกทั้งยังเปี่ยมไปด้วยรสนิยมและกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลบอกโดยอ้อมถึงคุณภาพชีวิตของผู้คน และคนนอกอย่างเราๆ ท่านๆ ได้แต่เฝ้ามองด้วยความอิจฉา และคงไม่ต้องเอ่ยถึงความสะอาดสะอ้าน ซึ่งใครที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นก็คงประสบพบเห็นด้วยตัวเองว่าสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่การสร้างภาพหรือโฆษณาชวนเชื่อ และมันเชื่อมโยงกับความเป็นประเทศ ที่หนึ่งในหลากหลายซอฟต์พาวเวอร์ก็คือห้องน้ำที่เป็นมิตรและน่าใช้มากที่สุดในโลก

 

 

อีกส่วนหนึ่งที่ถูกใช้ประโยชน์ได้อย่างแนบเนียนและแยบยลก็คืออัตราส่วนจอภาพแบบ 4:3 ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นฟอร์แมตหนังโบราณที่ใช้โอ้อวดความอลังการงานสร้างไม่ได้ (หนังของ Ozu ทุกเรื่องก็ใช้ภาพสัดส่วนนี้) แต่ในทางกลับกันกรอบภาพที่เกือบจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสนี้ก็เหมาะสมมากๆ เวลาถ่ายสิ่งปลูกสร้างขนาดย่อม เช่น ห้องน้ำ หรือห้องหับขนาดกะทัดรัดของหนุ่มใหญ่ หรือสร้างความสัมพันธ์ระยะประชิดระหว่างคนดูกับตัวละคร และแน่นอนว่าโมเมนต์ทรงพลังช่วงท้ายเรื่อง อันได้แก่ การจับภาพโคลสอัพใบหน้าตัวละคร ผู้ซึ่งความรู้สึกอันหลากหลายของเขาหลั่งไหลออกมาอย่างท่วมท้นและพรั่งพรู ได้รับอานิสงส์จากกรอบภาพแบบนี้โดยตรง และเชื่อมั่นได้อย่างหนึ่งว่า ภาพจอกว้างซึ่งมาพร้อมกับพื้นที่ว่างซ้าย-ขวา จะไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกควบแน่น หรือแม้กระทั่งลดทอนความเข้มข้นทางอารมณ์

 

และองค์ประกอบที่ถือเป็นชีพจรของหนังทั้งเรื่องก็คือการแสดงของ Koji Yakusho ผู้ซึ่งน่าเชื่อว่าบทบาทคนทำความสะอาดห้องน้ำที่ตกผลึกกับชีวิตจะถูกจดจำไปแสนนาน ดังที่กล่าวข้างต้น ความที่ตัวละครแทบจะไม่พูดจาช่วงครึ่งเรื่องแรก ก็เหมือนกับจะทำให้ช่องทางสื่อสารของเขาลดลง แต่ก็นั่นแหละ แก่นแกนของตัวละครอยู่ตรงนี้เอง อันได้แก่ ความเป็นคนช่างสังเกตสังกา ตลอดจนใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อยของชีวิต นั่นรวมถึงหลายๆ โมเมนต์ที่เขาแอบมองคนจรจัดที่ป้วนเปี้ยนอยู่แถวนั้น และพวกเราได้แต่สงสัยว่าหนุ่มใหญ่นึกคิดอะไร หรือฉากที่เขาฉีกยิ้มอย่างรู้สึกสนุกในตอนที่เล่นเกม ‘โอเอ็กซ์’ กับคู่ต่อสู้นิรนาม ซึ่งทีละน้อยมิตรภาพก็งอกงามเหมือนต้นไม้ในกระถางเล็กๆ ที่เขาฉีดน้ำให้ความชุ่มชื้นตอนเช้า หรือฉากที่เขากับใครอีกคนเล่น ‘เหยียบเงา’ ซึ่งน่าจะชวนให้หลายๆ คนนึกย้อนกลับไปว่าครั้งสุดท้ายที่พวกเราเล่นอะไรที่ดูเหลวไหลและน่าขันคือเมื่อใด

 

 

Perfect Days เป็นหนังที่มองสรรพสิ่งรอบข้างด้วยสายตาอ่อนหวาน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่เคยหันหลังให้กับโลกอันแสนโหดร้ายของความเป็นจริง และอย่างหนึ่งที่แน่ๆ ก็คือโลกทัศน์และชีวทัศน์ของ Wim Wenders ที่บอกเล่าผ่านหนังของเขาก็เป็นอย่างเดียวกับของ Yasujiro Ozu นั่นเอง ที่มองเห็นชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องน่าผิดหวัง และพวกเราล้วนลงเอยด้วยความอ้างว้างเดียวดาย แต่อย่างน้อยแสงเงาระยิบระยับซึ่งลอดผ่านแมกไม้ที่ขยับเขยื้อนเป็นจังหวะตามสายลมในแต่ละช่วงวันก็ช่างงดงามและให้ความรู้สึกปลอบโยน และสำหรับคุณ Hirayama วันที่ย่ำแย่ของเขาก็ไม่ได้ถึงกับเลวร้ายเกินไป

 


 

Perfect Days (2023)

กำกับ: Wim Wenders

ผู้แสดง: Koji Yakusho, Tokio Emoto, Arisa Nakano, Aoi Yamada

 


 

ภาพ: MONGKOL CINEMA

The post Perfect Days (2023) สุนทรียศาสตร์ของคนขัดส้วม appeared first on THE STANDARD.

]]>
Anatomy of a Fall (2023) หนังปาล์มทองสุดเข้มที่พูดถึงความตายปริศนาและการชำแหละซากชีวิตคู่ที่ล่มสลาย https://thestandard.co/anatomy-of-a-fall-movie/ Tue, 19 Dec 2023 09:56:31 +0000 https://thestandard.co/?p=878540 Anatomy of a Fall

เหตุการณ์เล็กๆ ช่วงครึ่งแรกของภาพยนตร์ฝรั่งเศสแนว Court […]

The post Anatomy of a Fall (2023) หนังปาล์มทองสุดเข้มที่พูดถึงความตายปริศนาและการชำแหละซากชีวิตคู่ที่ล่มสลาย appeared first on THE STANDARD.

]]>
Anatomy of a Fall

เหตุการณ์เล็กๆ ช่วงครึ่งแรกของภาพยนตร์ฝรั่งเศสแนว Courtroom Drama เรื่อง Anatomy of a Fall ที่ชนะรางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุดและประสบความสำเร็จด้านรายได้ครึกโครมในประเทศบ้านเกิด อาจจะใช้อธิบาย ‘สถานะที่แท้จริง’ ของภาพยนตร์ได้อย่างแยบยล

 

มันคือฉากที่พยานคนหนึ่งถูกอัยการซักไซ้ไล่เลียงถึงเหตุการณ์ตึงเครียดบางอย่างที่เธอรู้สึกและสัมผัสได้ แต่ไม่ได้เกิดแบบซึ่งๆ หน้า ขยายความสั้นๆ ระหว่างที่เธอสัมภาษณ์นักเขียนหญิง ณ บ้านพักตากอากาศแบบชาเลต์บนภูเขา จู่ๆ เธอก็ได้ยินเพลงจังหวะเร่งเร้าและครึกโครมแผดเสียงดังสนั่นหวั่นไหว จนทั้งสองสื่อสารกันแทบไม่รู้เรื่อง และสิ่งที่ทั้งเธอและคนดูรับรู้พร้อมกันก็คือ นั่นเป็นฝีมือของคนที่เป็นสามีของนักเขียน และความรู้สึกทันท่วงทีของพยานคนดังกล่าวก็คือ บางทีสามีของนักเขียนคงต้องการขัดขวางหรือก่อกวนการพูดคุย แต่เธอก็ออกตัวว่า การพยายามอ่านเจตนารมณ์ของใครบางคนผู้ซึ่งถึงแม้เธอจะรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของเขา แต่ไม่ได้พบเจอตัวเป็นๆ เป็นสิ่งที่ฟันธงไม่ได้ง่ายๆ

 

ตรงไหนสักแห่งแถวนี้ที่อัยการเล่นมุกที่เรียกเสียงหัวเราะเบาๆ ในห้องพิจารณาคดีทำนองว่า ในฐานะตัวแทนฝ่ายฟ้องร้อง ตัวเขาถูกจ้างให้ทำหน้าที่อ่านเจตนารมณ์ของคนที่เขา (ทั้งไม่รู้จักและ) ไม่ได้พบเจอตัวเป็นๆ

 

 

มองในแง่มุมหนึ่ง คนดูก็อยู่ในสถานะเดียวกับอัยการคนนี้ด้วยเหมือนกัน เราอาจได้เปรียบมากกว่าหน่อยหนึ่งตรงที่คนทำภาพยนตร์พาเราไปรู้จักและพบเจอตัวละครที่สำคัญตามสมควร แต่จนแล้วจนรอดคนดูก็ยังคงถูกทดสอบทักษะในการอ่านเจตนารมณ์ที่แท้จริงอย่างหนักหน่วงและเข้มข้นอยู่นั่นเอง ส่วนหนึ่งเพราะคนทำภาพยนตร์เว้นระยะห่างระหว่างตัวละครกับคนดู 

 

ขณะที่อีกส่วนที่น่าจะสำคัญมากกว่าก็คือ สิ่งละอันพันละน้อยที่ถูกบอกเล่าเป็นเพียงแค่ปลายเหตุ และการอ่านเจตนารมณ์ของโน่นนี่นั่น ที่คนทำภาพยนตร์ถ่ายทอดเพื่อทำความเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นในระดับ ‘กายวิภาค’ ก็น่าจะช่วยให้เรามองเห็นว่า สุดท้ายแล้วความยุ่งยากทั้งหลายทั้งปวงไม่ได้ปะทุจากปมขัดแย้งส่วนบุคคลเพียงลำพัง แต่มีประเด็นเรื่องจิตวิทยาสังคม เพศสภาพ ความเป็นผู้หญิงและผู้ชาย หรือแม้กระทั่งเรื่องเชื้อชาติมาเกี่ยวข้อง

 

 

อย่างที่คนดูสันนิษฐานได้ไม่ยาก ชื่อภาพยนตร์ Anatomy of a Fall ซึ่งแปลตรงตัวจากชื่อภาษาฝรั่งเศส Anatomie d’une Chute ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษรเพียงอย่างเดียวแน่ๆ แต่ในเบื้องต้น ‘การร่วงหล่น’ ณ ที่นี้หมายถึงเหตุการณ์ที่ Samuel (Samuel Theis) สามีของนักเขียนหญิง Sandra (Sandra Hüller) ‘พลัดตก’ ลงมาจากห้องใต้หลังคา ซึ่งอยู่ชั้นสามของชาเลต์และเสียชีวิตอย่างน่าอเนจอนาถ ตัวนักเขียนหญิงถูกตั้งข้อสงสัยว่า บางทีเธออาจจะเกี่ยวข้องกับการตายครั้งนี้ และเนื้อหาส่วนใหญ่ก็ดำเนินไปตามกรอบของภาพยนตร์ที่พูดถึงการต่อสู้คดีความในชั้นศาล ซึ่งอัดแน่นไปด้วยบทสนทนาเชือดเฉือน และต่างฝ่ายต่างหักล้างและเอาชนะคะคานด้วยสารพัดตรรกะและเหตุผล

 

ข้อน่าสังเกตก็คือ ภายใต้กระบวนการไต่สวนของฝรั่งเศสที่ใช้ระบบลูกขุน Anatomy of a Fall ของ Justine Triet แทบไม่เคยให้คนดูได้เห็นว่ามีใครนั่งอยู่ในคอกลูกขุนบ้าง (และมีเพียงแค่ภาพระยะไกล) ทีละน้อย กลายเป็นคนดูนั่นแหละที่ต้องวินิจฉัยข้อมูลและหลักฐานเบื้องหน้า ซึ่งยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยของพวกเราคนดูต่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของตัวละครก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะไม่ต่างจากภาพยนตร์ของ Alfred Hitchcock (Suspicion และ Shadow of a Doubt)

 

 

ขณะที่ในทางกลับกัน Sandra ก็ไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะพูดอีกครั้ง ระหว่างคนดูกับตัวละครนี้มีระยะห่างพอสมควร หลายๆ ครั้งเราหยั่งไม่ได้ถึงตื้นลึกหนาบางที่ซุกซ่อนในห้วงคิดคำนึง บางทีมันอาจเป็นเพราะบุคลิกที่แข็งกระด้างและดูไม่สะทกสะท้านของเธอ หรืออย่างน้อยเธอก็เก็บอาการได้แน่นหนามิดชิด โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ถ้าหากเป็นคนอื่น ทำนบอารมณ์ความรู้สึกคงพังพินาศไปแล้ว ไม่มีข้อสงสัยว่านี่เป็นการแสดงที่เลอเลิศของ Sandra Hüller ผู้ซึ่งมีส่วนอย่างยิ่งยวดในการทำให้ปมปริศนาความตายของผู้เป็นสามีเพิ่มรสชาติของความเอร็ดอร่อยและเข้มข้นมากขึ้น

 

อีกส่วนที่เกี่ยวข้องกับคาแรกเตอร์นี้และควรระบุเป็นลายลักษณ์อักษรก็คือ แง่มุมด้านศีลธรรมและจริยธรรมของตัวละคร พูดง่ายๆ เธอไม่เพียงถูกเปิดโปงว่าเป็นไบเซ็กชวลและมีความสัมพันธ์นอกชีวิตสมรสกับหญิงอื่น ในฐานะนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ เธอยังถูกกล่าวหาว่าขโมยทั้งไอเดียของสามีมาใช้ในงานเขียนตัวเองและลักลอบเอาชีวิตของคนรอบข้างมาเป็นวัตถุดิบในการทำมาหากิน ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงมันน่าจะลดทอนคะแนนนิยมของเจ้าตัวให้ยิ่งตกต่ำมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คำถามที่ค้างคาก็คือ มาตรฐานด้านศีลธรรมและจริยธรรมที่สังคมไม่ปลื้มเกี่ยวข้องกับการชี้มูลความผิดตัวละครมากน้อยแค่ไหน เพราะเอาจริงๆ นี่ไม่ใช่การประกวดประขันเรื่องความเป็นคนดิบดี(ย์) หรืออุปนิสัยใจคอ

 

 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร Anatomy of a Fall ก็ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่เดินตามขนบของภาพยนตร์แนว Whodunit หรือ Courtroom Drama อย่างหน้ามืดตามัว และหยิบยืมมาเพียงแค่เค้าโครง เพราะเหตุนี้เองเป้าประสงค์ของภาพยนตร์จึงไม่ได้เป็นเรื่องใครฆ่า หรือ ‘จำเลยมีความผิดตามคำฟ้องหรือไม่’ และยิ่งเวลาผ่านพ้นไป น้ำหนักของปมปัญหาดังกล่าวก็บางเบาและเจือจาง 

 

และไหนๆ ก็ไหนๆ ประเด็นวินิจฉัยจริงๆ ได้แก่ การตั้งคำถามว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกันแน่’ และต้นสายปลายเหตุของมันคืออะไร ซึ่งนั่นคือตอนที่ความหมายนัยประหวัดของคำว่า ‘Fall’ ออกฤทธิ์ และมันไม่ใช่เรื่องของการร่วงหล่นอีกต่อไป แต่ได้แก่การล่มสลายของความสัมพันธ์ของทั้งสองคนที่จุดเริ่มต้นย้อนกลับไปถึงไหนๆ และคนดูมีเบาะแสให้สืบเสาะหลายช่วงด้วยกัน 

 

หนึ่งก็คือตอนที่ Daniel (Milo Machado Graner) ลูกชายวัยสิบเอ็ดขวบประสบอุบัติเหตุขณะที่อายุยังน้อย จนส่งผลให้เขาตาบอดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เป็นเหตุการณ์ที่ Samuel โทษตัวเองไม่เลิกรา (ลึกๆ แล้ว Sandra ก็โยนความผิดบาปนี้ให้เขาด้วยเช่นกัน) อีกหนึ่งสิ่งที่ยิ่งทำให้เจ้าตัวยิ่งรู้สึกต่ำต้อยด้อยค่า โยงใยอยู่กับสถานะนักเขียนที่ไปได้ไม่สวย และยิ่ง Sandra ประสบความสำเร็จในงานอาชีพของเธอมากเท่าไร มันก็ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวของเขามากเท่านั้น 

 

 

แน่นอนว่าฉากที่สั่นสะเทือนความรู้สึกสุดๆ หนีไม่พ้นห้วงเวลาที่ทุกคนในห้องพิจารณาคดีย้อนฟังเสียงทะเลาะเบาะแว้งของทั้งสองคนอย่างหนักหน่วงและรุนแรงในวันก่อนเกิดเหตุ ซึ่ง Samuel แอบใช้โทรศัพท์บันทึกเอาไว้ และหัวข้อโต้เถียงก็มีทั้งเรื่องหยุมหยิมปลีกย่อย (เช่น เรื่องที่ Samuel กล่าวหา Sandra ซึ่งเป็นคนเยอรมัน ว่าเธอบงการทุกอย่าง รวมถึงภาษาอังกฤษที่ใช้พูดในบ้าน) หรือการลำเลิกเบิกประจานในเรื่องที่เวลาที่มันถูกเปิดเผยในที่แจ้ง มันทั้งอัปลักษณ์และชวนให้สลดหดหู่สำหรับคนที่ได้ยิน (เช่น วิธีการร่วมเพศที่ Samuel บอกว่าเขาต้องโอนอ่อนผ่อนตามตลอดเวลา)

 

และเหตุการณ์ช่วงท้ายของคลิปเสียง ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าคงมีการลงไม้ลงมือ ก็เปิดกว้างสำหรับการตีความของทุกคน และนับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความคลุมเครือของสิ่งที่เกิดขึ้นเล่นบทบาทสำคัญ หรืออีกนัยหนึ่ง ภาพยนตร์หยิบยื่นแง่มุมหรือบทเรียนที่ชวนครุ่นคิดว่าด้วยเรื่องความเป็นจริงกับจินตนาการ เพราะในขณะที่ฝ่ายโจทก์เชื่อว่าการมีปากเสียงรุนแรงครั้งนี้เปรียบเสมือน ‘การซ้อมใหญ่’ ของ Sandra ก่อนที่เธอจะลงมือ ‘ขั้นเด็ดขาด’ ในวันต่อไป คำชี้แจงของ Sandra ถึงความหมายของแต่ละสุ้มเสียงที่พวกเราได้ยิน (เสียงแก้วแตก เสียงตะโกนโหวกเหวก การทุบตี และข้าวของพังทลาย ฯลฯ) กลับพลิกผันให้เรื่องเล่าหันเหไปอีกทาง

 

 

ส่วนที่ยิ่งทำให้สถานการณ์ทวีความยุ่งยากขึ้นไปอีกก็คือ ขณะที่คนดูไม่อาจปักใจเชื่อฝ่ายไหนร้อยเปอร์เซ็นต์ กลวิธีในการบอกเล่าของ Justine Triet ก็ดูมีเลศนัย สไตล์การถ่ายภาพและตัดต่อแบบภาพยนตร์สารคดีอาจจะสร้างบรรยากาศที่ดูกระฉับกระเฉงและตรงไปตรงมา 

 

แต่จนแล้วจนรอด คนทำภาพยนตร์ก็ไม่ได้วางตัวเป็นกลาง หรือจริงๆ แล้วการใช้เทคนิคย้อนอดีต หรือแฟลชแบ็ก โดยเฉพาะช่วงท้ายที่ Daniel เอ่ยถึงประโยคแปลกๆ ที่ฟังเหมือนคำพูดสั่งเสียของพ่อ ก็น่าสังเกตว่ามี ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของคนทำภาพยนตร์เข้ามาเจ้ากี้เจ้าการ (มันคือฉากที่พ่อพูดคุยกับลูกชายระหว่างขับรถ แต่เสียงของเขากลับเป็น ‘เสียงพากย์’ ของ Daniel ที่มาจากห้องพิจารณาคดี) และมันส่งผลถึงความน่าเชื่อถือของหนุ่มน้อยด้วย เพราะถ้าลองนึกทบทวนดีๆ เขาเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องที่เกิดขึ้นมากกว่าเพื่อน (พ่อตายไปแล้ว และอะไรจะเกิดขึ้นถ้าแม่ติดคุก) เป็นไปได้หรือไม่ว่า การพูดความจริงอาจไม่สำคัญเท่ากับการจำกัดความเสียหายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง

 

 

กล่าวในที่สุดแล้ว การตายอย่างน่าฉงนสนเท่ห์ช่วงต้นเรื่องเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ และการพยายามไขปริศนาก็เปิดโลกทัศน์และการรับรู้ของคนดูอย่างกว้างไกล ข้อที่ควรหมายเหตุทิ้งท้ายก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง Anatomy of a Fall ไม่ได้สร้างจากเรื่องจริง แต่สมมติเล่นๆ ว่าคนทำภาพยนตร์จะใส่ประโยคในทำนองแอบอ้าง มันก็สอบผ่านความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากคนดูอย่างลอยนวล เพราะรายละเอียดน้อยใหญ่ที่ผู้สร้างสอดแทรกดูหนักแน่น สมเหตุผล รอบด้าน และเชื่อมโยงได้กับโลกความเป็นจริง ทั้งการตีแผ่ชีวิตสมรสในช่วงที่กำลังหายใจพะงาบๆ จนถึงการขุดคุ้ยธาตุแท้และด้านที่หม่นมืดของตัวละคร และพร้อมๆ กันนั้นเราก็ได้เห็นสัญชาตญาณของการอยู่รอด ความเปราะบางอ่อนไหวที่น่าสมเพช และบางทีห้วงเวลาที่อับแสงที่สุดของตัวละคร (มากยิ่งไปกว่านั้นก็ยังมีเรื่องระบบยุติธรรมที่ไม่ว่าจะแน่นหนารัดกุมแค่ไหน ก็อาจเข้าไม่ถึงความจริง และวิธีการที่ศิลปินแอบซ่อนความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงผ่านงานศิลปะของตัวเอง)

 

หรือรวมๆ แล้วมันคือการชำแหละให้คนดูได้เห็นว่าในเชิงกายวิภาค ความสัมพันธ์ที่ล่มสลายมันห่อหุ้มไว้ด้วยความบิดเบี้ยวและหักงอนานัปการ ทั้งการปิดบังอำพราง โกหกหลอกลวง ทรยศหักหลัง การตั้งข้อกล่าวหา หรือการฉกฉวย จนไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งคนสองคนที่เกลียดกันเข้ากระดูกดำขนาดนี้จะเคยผูกพันและยึดเหนี่ยวด้วยสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า ‘ความรัก’

 

Anatomy of a Fall (2023)

ผู้กำกับ:  Justine Triet

นักแสดง: Sandra Hüller, Swann Arlaud, Milo Machado-Graner, Antoine Reinartz และ Samuel Theis

 

ภาพ: Mongkol Major

The post Anatomy of a Fall (2023) หนังปาล์มทองสุดเข้มที่พูดถึงความตายปริศนาและการชำแหละซากชีวิตคู่ที่ล่มสลาย appeared first on THE STANDARD.

]]>
มนต์รักนักพากย์ (2566) ลอง ลิฟ ไทย ซีเนมา-มิตร ชัยบัญชา ฟอร์เอฟเวอร์ https://thestandard.co/opinion-once-upon-a-star/ Thu, 12 Oct 2023 08:00:51 +0000 https://thestandard.co/?p=853929

ขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงช้างตัวเบ้อเริ่มที่อยู่ในห้องก่อ […]

The post มนต์รักนักพากย์ (2566) ลอง ลิฟ ไทย ซีเนมา-มิตร ชัยบัญชา ฟอร์เอฟเวอร์ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงช้างตัวเบ้อเริ่มที่อยู่ในห้องก่อน 

 

น่าสังเกตว่าทันทีที่เทรลเลอร์และโปสเตอร์สไตล์วินเทจของหนังเรื่อง มนต์รักนักพากย์ งานกำกับของ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร และเป็นผลงานที่ Netflix ออกทุนสร้างร้อยเปอร์เซ็นต์ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘ทีไทย ทีมันส์’ ที่ออกข่าวปีก่อน) ได้รับการเผยแพร่สู่การรับรู้ของสาธารณชน เสียงเรียกร้องหนาหูจากทั่วสารทิศก็คือโอกาสที่จะได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ (อย่างน้อย ‘สักหนึ่งสัปดาห์ก็ยังดี’) ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้สลับซับซ้อน

 

นี่เป็นหนังที่นอกจากส่วนหนึ่งของเนื้อหาพูดถึงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารของอุตสาหกรรมหนังไทย ยังเป็นหนังที่เฉลิมฉลอง ‘ภาพยนตร์’ ในฐานะมหรสพ หรืออีกนัยหนึ่ง หนังที่อรรถรสในการชมสัมพันธ์กับการได้ดูเป็นหมู่คณะอย่างแยกจากกันไม่ได้ (หลายๆ ฉากในหนังก็ถ่ายทอดห้วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็น Magic Moment ของมันโดยตรง) และนั่นทำให้โดยอัตโนมัติ แพลตฟอร์มหรือช่องทางเดียวที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์แบบรวมหมู่ หรือที่เรียกว่า Collective Experience ก็คือในโรงภาพยนตร์

 

 

แต่บังเอิญว่าเจ้าของหนังเรื่อง มนต์รักนักพากย์ เป็นเจ้าของเดียวกับบริการสตรีมมิง ซึ่งมีระบบการเผยแพร่คอนเทนต์หรือภาพเคลื่อนไหวในแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาโรงหนังอีกต่อไป โรงหนังก็เลยไม่ใช่อุโบสถอันศักดิ์สิทธิ์ หรือพื้นที่จารึกแสวงบุญสำหรับคนดู หรือเอาเข้าจริงๆ กลายเป็นส่วนเกินของสมการนี้ด้วยซ้ำ

 

นั่นทำให้เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ ที่ใครจะรู้สึกถึงความลักลั่นและย้อนแย้งของการที่หนังที่สร้างเพื่อหวนรำลึกถึงภาพยนตร์ในฐานะสันทนาการที่ผู้คนได้หัวเราะ ร้องไห้ และซาบซึ้งไปพร้อมๆ กัน กลับถูกเผยแพร่ผ่าน ‘จอหนัง’ ของใครของมัน และพวกเราในฐานะคนดูไม่มีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์ต่อกัน หนังเรื่องอื่นยังพอทำเนา แต่สำหรับเรื่องนี้ มันชวนให้รู้สึกรุนแรงกว่าเพื่อน 

 

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ แง่มุมหนึ่งที่อาจยกมาชดเชยส่วนที่ขาดตกบกพร่องก็คือ แพลตฟอร์มสตรีมมิงช่วยลดทอนความเหลื่อมล้ำเชิงภูมิศาสตร์ หมายความว่า ตราบเท่าที่ใครคนนั้นอยู่ในที่ๆ มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตและเป็นสมาชิกของบริการสตรีมมิงยี่ห้อนั้นๆ การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (ซึ่งนับเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของอุตสาหกรรมหนังไทย จนเกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงของการรับรู้และรสนิยม) ก็ไม่ใช่ประเด็นปัญหาอีกต่อไป และในขณะที่หนังเรื่อง มนต์รักนักพากย์ ต้องแลกกับการไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์อย่างที่ใครๆ ลงความเห็นว่านี่คือที่ทางที่เหมาะสมของมัน การที่คนทั่วโลกสามารถดูหนังเรื่องนี้ผ่านจอภาพส่วนตัวในช่วงเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่คงต้องชั่งตวงวัดกันไปว่ามันคุ้มค่ากับอรรถรสและสุนทรียะที่ตกหล่นสูญหายหรือไม่อย่างไร

 

และเป็นไปได้หรือไม่ว่าในเมื่อ ‘ตลาด’ มีขนาดใหญ่และความหลากหลายมากขึ้น คนทำหนังก็ไม่ต้องติดอยู่ในเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเดิมๆ ของการต้องทำหนัง (ฉายโรง) เพื่อตอบสนองกลุ่มคนดูที่เป็นวัยรุ่นเพียงลำพัง และ มนต์รักนักพากย์ ก็เล่าเรื่องที่ฉีกตัวเองไปจากกรอบเนื้อหาที่คุ้นเคยและมีเนื้อหาที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น อย่างที่ผู้กำกับเล่าแจ้งแถลงไขไว้ก่อนหน้านี้ว่า นี่คือจดหมายรักของเขาต่อหนังไทย และหนังไทยในที่นี้ก็ย้อนกลับไป 50 กว่าปี หรือช่วงปลายของยุค ‘หนังไทย 16 มม.’ (ซึ่งถ่ายทำแบบไม่บันทึกเสียงและใช้การพากย์สด) และจากที่หนังของนนทรีย์นำเสนอซึ่งรองรับด้วยข้อเท็จจริง นักพากย์เป็นผู้เล่นสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายความสำเร็จหรือล้มเหลวของหนังเรื่องหนึ่งอย่างชนิดวันต่อวันทีเดียว

 

 

โฟกัสสำคัญของ มนต์รักนักพากย์ ได้แก่หน่วยหนังเร่ขายยาของ มานิตย์ (เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ) ซึ่งจะว่าไปแล้วสถานะของหน่วยเผยแพร่ความบันเทิงแบบจรยุทธ์ของเขาอยู่ในลำดับชนชั้นที่ต่ำสุดของระบบการฉายหนัง ซึ่งเริ่มจากโรงชั้นหนึ่งในเมืองหลวง โรงชั้นสอง โรงหัวเมืองต่างจังหวัด หนังล้อมผ้า (ซึ่งเก็บค่าดู) จนกระทั่งถึงหนังเร่ขายยาที่ตะลอนไปตามจังหวัดต่างๆ และดูฟรี และจากที่คนดูได้เห็น สภาพของตัวหนังที่ตกทอดมาถึงพวกเขาก็เต็มไปด้วยรอยขีดข่วน ภาพกระตุก สีสันเลอะเลือน หรือที่เรียกกันว่ากากฟิล์มนั่นเอง

 

แต่ทั้งๆ ที่เผชิญกับข้อจำกัดนานัปการ ทั้งกฎเกณฑ์ของบริษัทขายยาที่คร่ำครึโบราณ เทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนไป (การมาถึงของหนัง 35 มม. เสียงในฟิล์ม และโทรทัศน์) ตลอดจนคู่แข่งตัวฉกาจอันได้แก่หน่วยฉายหนังล้อมผ้าซึ่งมีทุกอย่างเหนือกว่า ทั้งเครื่องฉาย สภาพฟิล์มหนัง และนักพากย์

 

สิ่งที่หนังเรื่อง มนต์รักนักพากย์ บอกเล่าก็คือการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของทีมไก่รองบ่อนของมานิตย์ ซึ่งประกอบด้วย เรืองแข (หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ) นักพากย์หญิงคนเดียว, เก่า (เก้า-จิรายุ ละอองมณี) คนคุมจอและเครื่องฉาย, ลุงหมาน (สามารถ พยัคฆ์อรุณ) คนขับรถ และกล่าวได้ว่าความพยายามกระเสือกกระสนเพื่อไปต่อและอยู่รอด (และโดยไม่ต้องยึดติดอยู่กับข้อบังคับล้าหลัง) ก็ไม่เพียงก่อให้เกิดทั้งความกระตือรือร้นและแรงบันดาลใจใหม่ๆ กับทุกคนในทีม อาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังล้ออยู่กับภาวะลูกผีลูกคนของหนังไทยช่วงนั้น (พ.ศ. 2513) ที่ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องรับมือกับความพลิกผันที่รุมเร้านานัปการ และนั่นรวมถึงเหตุไม่คาดฝันที่จู่โจมแบบไม่มีใครตั้งตัว

 

 

อย่างที่ใครๆ รับรู้รับทราบ หนึ่งในตัวละครที่เล่นบทบาทสำคัญ ทั้งๆ ที่เขาล่วงลับไปแสนนานก็คือ มิตร ชัยบัญชา และความแยบยลของบทหนังส่วนนี้ก็ได้แก่การใช้ประโยชน์จากคาแรกเตอร์นี้ ทั้งในฐานะบุคลิกที่มีเลือดเนื้อ และความหมายเชิงสัญลักษณ์ซึ่งโยงไปถึงแก่นเรื่อง หรือพูดอย่างเจาะจง หนังใช้การเสียชีวิตกะทันหันของมิตรเป็นเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้เหล่าตัวละครในเรื่องค้นพบความปรารถนาและความมุ่งหวังของตัวเองที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหละ วิธีการที่ผู้สร้าง ‘เลือก’ ให้เราได้ ‘พบเจอ’ กับมิตร ชัยบัญชา ในหนังเรื่องนี้ ก็นับว่า ‘เสี่ยง’ และท้าทายการยอมรับของคนดูพอสมควร

 

อย่างไรก็ตาม 2-3 ส่วนที่โดดเด่นมากๆ อย่างแรกสุดก็คืองานสร้าง (เอก เอี่ยมชื่น ผู้ซึ่งร่วมงานกับนนทรีย์มาตั้งแต่หนังเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง) ที่จำลองช่วงเวลาตามท้องเรื่องได้สมจริงสมจังและประณีต ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมของตัวละคร อุปกรณ์ประกอบฉาก รถบุโรทั่งที่ใช้เร่ฉายหนัง ฉากตลาดยามเช้าในต่างจังหวัด โรงเรียนสอนพิมพ์ดีด ไปจนถึงโรงแรมซอมซ่อที่หน่วยเร่ฉายหนังใช้ซุกหัวนอน ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เพียงแค่ทำให้ยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปแล้วเนิ่นนานกลับมาโลดเต้นและดูมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทว่ามันยังช่วยสนับสนุนให้เรื่องที่บอกเล่าดูขึงขังจริงๆ มากขึ้น

 

 

อีกหนึ่งก็คือการสร้างบุคลิกของมานิตย์ ผู้ซึ่งว่าไปแล้วบทหนังแทบจะไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวละคร นอกจากเขาเป็นหัวหน้าหน่วยเร่ฉายหนังที่ดูอบอุ่นและเปี่ยมด้วยเมตตา และนั่นยิ่งทำให้เราอยากรู้ภูมิหลังของใครคนนี้มากขึ้น แต่บางทีเรื่องแต่หนหลังของเขาก็คงไม่มีอะไรสลักสำคัญที่คนดูควรรู้ เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตและความรักของเขาก็มีเพียงแค่สิ่งที่เราได้เห็นเบื้องหน้า นั่นคือการพากย์หนังขายยาที่เจ้าตัวบอกว่าพากย์แต่ละเรื่องมาเป็นร้อยๆ รอบ 

 

และแน่นอน คนที่ทำให้ตัวละครซึ่งดูเหมือนไม่มีมิตินี้กลับเต็มล้นไปด้วยความเป็นมนุษย์ก็คือ เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ หรือว่ากันตามจริง ตัวตนของเขากลืนหายไปกับคาแรกเตอร์นี้อย่างไร้รอยต่อจริงๆ และคนดูเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยในความเป็นนักพากย์ห้าเสียงที่คล่องแคล่วช่ำชอง แม้ว่าจนแล้วจนรอดเสียงผู้หญิงของเขาก็สมควรถูกนักเลงหัวไม้ด่าทอว่าเหมือน ‘สุนัขเยี่ยวรดกะละมัง’ จริงๆ แต่ใครที่โตทันหนังกลางแปลงพากย์สด ซึ่งใช้นักพากย์ผู้ชายคนเดียว เสียงผู้หญิงก็ระคายหูแบบนี้ทั้งนั้น

 

ไม่ว่าจะอย่างไร หนึ่งในฉากที่ผู้สร้างถ่ายทอดคาแรกเตอร์นี้ได้จับใจมากๆ อยู่ในตอนท้าย ที่เจ้าตัวบอกเจตนารมณ์ของตัวเองกับทุกคนด้วยน้ำเสียงและสีหน้าสีตาที่เด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น แต่ก็แฝงไว้ด้วยความอ่อนโยน ทำนองว่าเขาจำเป็นต้องสู้เพื่อความฝันของตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะกลายเป็นปมค้างคาหรือบาดแผลทางจิตใจ แต่พูดอย่างถี่ถ้วน นี่เป็นฉากที่ส่วนประกอบต่างๆ ลงตัวจริงๆ ทั้งงานด้านภาพ การตัดต่อ การแสดงของนักแสดงทุกคนที่พอดิบพอดี และการกำกับที่ทุกอย่างดูไหลลื่นเป็นธรรมชาติมากๆ

 

 

ประเด็นสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดที่น่าพูดถึงเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็คือบทบาทของมันในฐานะผลงานบันทึกประวัติศาสตร์หนังไทย น่าสังเกตว่าหนังไทยไม่เหมือนหนังฮอลลีวูดตรงที่เราไม่ค่อยสร้างหนังที่พูดถึงความเป็นไปในระบบอุตสาหกรรมสักเท่าไร (ส่วนหนึ่งคงเพราะมันไม่ใช่หัวข้อที่ขายได้และมักจะมีราคาแพง) เพราะอย่างนี้ความพยายามของ มนต์รักนักพากย์ ในการบอกเล่าเรื่องแต่หนหลังที่เกือบตกสำรวจนี้ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชม 

 

แต่ก็นั่นแหละ เงื่อนไขของการเป็นหนัง ‘บันเทิงคดี’ ก็ทำให้ผู้สร้างต้องใส่สีตีไข่และหยิบโน่นผสมนี่ หรือพูดตรงๆ หนังมีความคลาดเคลื่อนในแง่ข้อเท็จจริงตามสมควร ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัว นี่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เพราะจนแล้วจนรอดคนทำหนังก็บอกตั้งแต่ต้นว่านี่คือจดหมายรักที่เขาสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาที่ ‘หอมหวานที่สุดของวงการหนังไทย’ หรืออีกนัยหนึ่ง เขาไม่ได้มองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตานักประวัติศาสตร์ แต่ในฐานะคนที่รักและผูกพันกับหนังไทยซึ่งเต็มไปด้วยฉันทาคติ จะเรียกว่าด้อมหรือนายแบกก็คงจะได้ อันส่งผลให้สิ่งละอันพันละน้อย ทั้งเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ความทรงจำ (ที่เอาแน่นอนไม่ได้) และจินตนาการของผู้สร้าง ควบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน 

 

 

โดยปริยาย มนต์รักนักพากย์ เป็นหนังที่ชวนให้เปิดบทสนทนาต่อเนื่องหลังดูจบจริงๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเพื่อชำระสะสางสิ่งที่คนทำหนังถือวิสาสะดัดแปลง แต่ส่วนที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็เพื่อให้ผู้ชมรุ่นหลังจะได้รับรู้ว่า ทันทีที่จิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ นี้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์หนังไทย เบื้องหน้าที่ดูหอมหวานและชวนให้ถวิลหากลับแอบซ่อนไว้ด้วยเส้นทางที่ทั้งทุลักทุเล ระหกระเหิน และไม่เคยโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบด้วยประการทั้งปวง

 

มนต์รักนักพากย์ (พ.ศ. 2566)

กำกับ: นนทรีย์ นิมิบุตร
ผู้แสดง: ศุกลวัฒน์ คณารศ, หนึ่งธิดา โสภณ, จิรายุ ละอองมณี, สามารถ พยัคฆ์อรุณ 

 

ภาพ: Netflix

The post มนต์รักนักพากย์ (2566) ลอง ลิฟ ไทย ซีเนมา-มิตร ชัยบัญชา ฟอร์เอฟเวอร์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ (พ.ศ. 2566) เมืองป่วน คนป่วย ชีวิตห่วยแตก และฝันเปียกถึงบอลโลก https://thestandard.co/6ixtynin9-the-series-opinion/ Mon, 11 Sep 2023 09:26:56 +0000 https://thestandard.co/?p=840227 เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์

อย่างที่น่าจะรู้กันว่า เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ เป็นผลงา […]

The post เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ (พ.ศ. 2566) เมืองป่วน คนป่วย ชีวิตห่วยแตก และฝันเปียกถึงบอลโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>
เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์

อย่างที่น่าจะรู้กันว่า เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ เป็นผลงานรีเมกหนังตัวเองของ เป็นเอก รัตนเรือง ซึ่งออกฉายครั้งแรกช่วงปลาย พ.ศ. 2542 และความแตกต่างเบื้องต้นในเชิงโครงสร้างก็มองเห็นได้ชัดแจ้ง เรื่องหนึ่งเป็นหนังฉายโรงความยาว 2 ชั่วโมง อีกเรื่องเป็นซีรีส์ 6 ตอน (ตอนละ 40 กว่านาทีโดยประมาณ ยกเว้นตอนสุดท้ายที่ยาว 1 ชั่วโมงเศษ) และสตรีมทาง Netflix 

 

เรื่องตลก 69 (2542)

ภาพ: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) 

 

ข้อที่น่าพูดถึงจริงๆ จังๆ เกี่ยวกับ เรื่องตลก 69 เวอร์ชันหนังก็คือ มันถูกสร้างในช่วงที่วิกฤตต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540) ยังอาละวาดไม่เลิก และดูเหมือนว่าเป็นเอกใช้พล็อตที่ผูกขึ้นอย่างพิลึกพิลั่นเป็นเสมือนข้ออ้างในการกะเทาะความบิดเบี้ยวของสังคมช่วงเวลานั้นได้เจ็บปวดแสบสันต์ ทั้งวิธีการที่นายจ้างเลย์ออฟคนทำงานซึ่งดูบ้าบอคอแตกมากๆ ความห่อเหี่ยวสิ้นหวังของผู้คนที่ถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงานอย่างน่าเวทนา ข้อสำคัญ ใครจะสามารถลืมวรรคทองของเพื่อนนางเอกที่พูดว่า “เศรษฐกิจยิ่งเหี้- คนมันยิ่งแรด” ซึ่งแฝงฝังข้อเท็จจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้

 

ประเด็นก็คือ ความผันผวนทางเศรษฐกิจครั้งกระนั้นอาจจะผ่านไปแล้วแสนนาน แต่ถ้าประมวลจากสิ่งที่บอกเล่าในฉบับสตรีมมิง ซึ่งสอดแทรกสิ่งละอันพันละน้อยที่ย้ำเตือนคนดูเป็นระยะๆ ถึงโลกความเป็นจริง ณ ช่วงเวลาปัจจุบัน สามสิ่งที่สรุปได้ก็คือ สังคมไทยก็ยังคงบิดเบี้ยว (ด้วยการทุจริตและคอร์รัปชัน) เศรษฐกิจก็ยังคงเหี้- (ผลพวงจากโรคระบาดและอีกหลายปัจจัย) ข้อสำคัญ ระดับความ ‘แรด’ (หรือจะใช้คำว่า ‘พล่าน’ ก็น่าจะได้) ของผู้คนก็หนักข้อยิ่งกว่าเดิม

 

6ixtynin9: The Series. Mai Davika Hoorne (ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่) as Tum(ตุ้ม)

ภาพ: Netflix

 

โดยปริยาย เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การเอาหนังเก่ามาเล่าใหม่ภายใต้ยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไปเท่านั้น ทว่าดูประหนึ่งคนทำหนังใช้โอกาสที่เปิดกว้างเป็นช่องทางในการพูดเรื่องสารพัดสารพันที่เขาอยากพูดเกี่ยวกับความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือแม้กระทั่งวิกลจริตของสังคม ด้วยน้ำเสียงเยาะเย้ย ถากถาง และแดกดัน และสำหรับใครที่ติดตามหนังของเป็นเอกมาตั้งแต่ต้น ความยียวนกวนประสาทของเป็นเอกก็ยังคงเป็นทั้งลายเซ็นและเครื่องหมายการค้าเสมอต้นเสมอปลาย และวัยที่เพิ่มมากขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เขาดูอ่อนโยนลงแต่อย่างใด 

 

และไหนๆ ก็ไหนๆ ข้อได้เปรียบของการเป็นซีรีส์หลายตอนจบ ได้แก่ การที่มันเอื้ออำนวยให้คนทำหนังได้จินตนาการถึงหลายๆ สถานการณ์ ที่สมมติเป็นหนังฉายโรง 2 ชั่วโมง คงถูกตัดทิ้งไปแน่ๆ และผู้กำกับสามารถขยี้มุกโน่นนี่นั่นได้ละเอียดและถี่ถ้วน (เช่น การให้ความสำคัญกับบรรดาลิ่วล้อของทั้งครรชิตและเสี่ยโต้ง หรือบทคุณป้าชุดขาวที่รับลงทะเบียนแรกเข้าสำหรับคนที่เพิ่งเดินทางมาถึงปรโลก ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป) แต่กลับกัน บางครั้งหรือหลายครั้ง ส่วนที่เพิ่มเข้ามาก็ค่อนข้างย้วยหรือเหมือนจะเป็นเพียงไขมันส่วนเกิน เช่น ฉากที่หนังพรรณนาถึงวัยเด็กของนางเอก ซึ่งไม่ทำงานในเชิงดรามาติกเท่าที่ควร หรือบางเหตุการณ์ก็ค่อนข้างงุ่มง่าม

 

6ixtynin9: The Series. Mai Davika Hoorne (ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่) as Tum(ตุ้ม)

ภาพ: Netflix

 

ข้อสังเกตส่วนตัวอีกอย่างหนึ่งที่สรุปได้จาก​สิ่งที่บอกเล่าใน เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ (ซึ่งอาจจะผิดก็ได้) ก็คือ แพลตฟอร์มสตรีมมิงดูเหมือนจะเป็นสนามที่ให้เสรีภาพในการแสดงออกทั้งภาพ เสียง และเนื้อหาอย่างถึงลูกถึงคนมากกว่าหนังฉายโรง และ เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ ก็เป็นซีรีส์ที่เป็นเอก ‘เล่นเกือบเต็มพื้นที่’ จริงๆ ทั้งฉากเซ็กซ์ที่ค่อนข้างดุเดือดเลือดพล่าน การฆ่าแกงและนำเสนอความรุนแรงทางเพศ หรือฉากที่ตัวละครเล่นยากันอย่างโจ่งครึ่ม ไปจนถึงการถ่ายทอดภาพของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่อาจไม่ได้จาบจ้วง แต่ก็ดูเป็นตัวตลกที่น่าสมเพช (แต่จริงๆ ตัวละครทุกคนก็น่าสมเพชทั้งหมดนั่นแหละ) ขณะที่เนื้อหาที่ว่าด้วยการประท้วงของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและคณะราษฎรอาจจะไม่ได้สุ่มเสี่ยงหรือล่อแหลมเท่าไรนัก แต่ยังไม่พบเห็นว่ามีหนังฉายโรงแตะต้องเรื่องอ่อนไหวนี้

 

น่าสงสัยว่าถ้าหาก ‘ของแสลง’ พวกนี้ไปอยู่ในหนังฉายโรง มันจะมีปัญหากับกรรมการจัดเรตติ้งบ้านเรามากน้อยเพียงใด เพราะจนแล้วจนรอด Netflix ซึ่งมีระบบจัดการเรื่องอายุคนดูเป็นของตัวเองก็ยังให้ เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ ได้เพียงแค่เรต 16+ ซึ่งไม่ใช่อัตราเร่งสูงสุดด้วยซ้ำ

 

6ixtynin9: The Series. Pen-Ek Ratanaruang (เป็นเอก รัตนเรือง)

เป็นเอก รัตนเรือง

ภาพ: Netflix

 

พูดถึงในส่วนเนื้อหา เค้าโครงหรือจุดปะทุของ เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ ก็คล้ายคลึงกับฉบับฉายโรงนั่นเอง ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจนำพาให้สาวออฟฟิศชื่อ ตุ้ม (ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่) ที่สุดแสนอับโชค ถูกบริษัทบอกเลิกจ้าง และขณะที่เจ้าตัวยังไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไรต่อกับชีวิตวันนี้วันพรุ่ง ซึ่งดูวี่แววแล้วมองไม่เห็นความเป็นไปได้ จู่ๆ หญิงสาวก็พบว่ามีใครก็ไม่รู้นำกล่องพัสดุใส่เงินสดเป็นล้านมาวางหน้าห้องพักเบอร์ 6 ของเธอ และภายหลังต่อสู้กับความว้าวุ่นสับสนในห้วงคิดคำนึง ตุ้มก็ตัดสินใจเก็บลาภลอยนี้ไว้กับตัวเอง และแทบจะทันทีที่ได้ข้อสรุปแบบนั้น ความฉิบหายวายป่วงแทบทุกรูปแบบก็ถาโถมใส่ตัวละครแบบไม่ทันให้ตั้งตัวและอย่างสะบักสะบอม

 

ว่าไปแล้วความน่าสนุกของการติดตามดูหนังของเป็นเอก รวมถึงซีรีส์เรื่องนี้ด้วย อีกทั้งน่าจะเป็นสไตล์เฉพาะตัวที่ใครก็ลอกเลียนได้ยาก ก็ตรงที่เขาเป็นนักเล่าเรื่องที่ชั้นเชิงในการถ่ายทอดแพรวพราวจริงๆ หลายครั้งเขาสามารถทำให้สถานการณ์ที่สุดแสนราบเรียบกลับดูพิเศษหรือสะดุดความรู้สึกของคนดูอย่างเฉียบพลัน (เชื่อว่านี่คงเป็นทักษะจากการเป็นคนทำหนังโฆษณาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม) และตัวอย่างมีให้ยกมาสนับสนุนนับไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นได้แก่ตอนที่ตุ้มไปหาซื้อลังหวายจักสานขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ในอีพี 3 และวิธีการที่เป็นเอกใช้ในการบอกเล่าก็ทั้งตลกขบขัน เหนือความคาดหมาย และประสาทเสีย อีกทั้งคนดูยังล่วงรู้โดยอัตโนมัติถึงหนทางแก้ ‘ปัญหาเฉพาะหน้า’ ของนางเอกอย่างทันท่วงที 

 

หรือพล็อตย่อยที่ตัวละครเสี่ยโต้งตระเวนหาลูกน้อง 3-4 คนซึ่งถูกเลย์ออฟไปแล้ว เพื่อซ้ำเติมคนเหล่านั้นด้วยข้อเสนอที่ดูผิวเผินแล้วเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ก็เป็นฉากที่เน้นย้ำความบัดซบของระบอบทุนนิยมที่เหยียบย่ำความเป็นมนุษย์อย่างเลือดเย็น

 

6ixtynin9: The Series. Mai Davika Hoorne (ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่) as Tum(ตุ้ม)

ภาพ: Netflix

 

อีกอย่างหนึ่งที่เป็นเหมือนไม้ตายของเป็นเอกมาโดยตลอด ได้แก่ บรรดาตัวละครที่ถูกนำเสนอในมิติที่ดูเป็นผู้เป็นคนมากๆ หรืออย่างน้อยหลบเลี่ยงบุคลิกแบบเหมารวม อันส่งผลให้ชีวิตน้อยใหญ่ในซีรีส์เรื่องนี้ล้วนแล้วมีวงโคจรเป็นของตัวเอง มีด้านมืดและสว่าง รัก โลภ โกรธ หลงแบบมนุษย์มนา ที่แน่ๆ หัวหน้าค่ายมวยที่ชื่อ ครรชิต (อมรเอก มิเกลลี่) รู้ว่าตัวเขายืนฟากไหนในความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างม็อบเด็กกับรัฐบาลเผด็จการ หรือรสนิยมทางเพศของ เสี่ยโต้ง (อภิวิชญ์ รินทพล) ก็ไม่ได้ถูกคนทำหนังหยิบยกขึ้นมาพิพากษา ส่วนลูกน้องครรชิตคนที่เป็นใบ้ ก็ยังอุตส่าห์มี ‘บทพูด’ ที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนดู และฉากที่ ซอนนี่ (ธ เทพ ไชยชาญบุตร) นักค้ายารายใหญ่ เลกเชอร์เรื่องอิทธิพลของหนังต่อพฤติกรรมรุนแรงของเด็กๆ ก็มีเหตุผลที่พอรับฟังได้

 

กลายเป็นว่าตัวละครที่หยั่งไม่ได้ง่ายๆ เพราะใครคนนี้เก็บงำความรู้สึกตัวเองค่อนข้างมิดชิดก็คือตุ้มนั่นเอง เป็นไปได้หรือไม่ว่าชีวิตตามลำพังในเมืองหลวงทำให้เธอเป็นคนเฉยเมยและเย็นชา และหญิงสาวแทบจะไม่แสดงออกว่ายินดีหรือยินร้ายกับเรื่องต่างๆ นานาที่เข้ามาปะทะ ตั้งแต่ฉากเริ่มต้นที่รถยนต์บุโรทั่งของเธอถูกล็อกล้อ หรือฉากที่เจ้าตัวต้องรับมือกับโทรศัพท์ลามกซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่หนังให้เห็น เธอคุ้นชินกับมันเสียแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลยังไม่ต้องเอ่ยถึงรูปร่างที่ผ่ายผอมของตัวละคร และไม่ว่าใครๆ จะพูดถึงความสะสวยของตุ้มอย่างไร ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป สีหน้าสีตาตลอดจนการแสดงออกของตัวละครก็ดูใกล้เคียงกับผีดิบมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

แต่บางทีอะไรๆ ที่หนังบอกเล่าเกี่ยวกับตุ้มก็ไม่บั่นทอนความรู้สึกคนดูเท่ากับการที่พวกเราถูกกำหนดให้ติดตามตัวละครที่แทบไม่มีแต้มต่อหรือความได้เปรียบใดๆ ในชีวิต พบเจอกับบททดสอบทางศีลธรรมอย่างแสนสาหัสทีเดียว และเทียบกับฉบับฉายโรง ชะตากรรมของตุ้มเวอร์ชันนี้ก็เหมือนกับไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ยิ่งเมื่อคำนึงว่าฉบับซีรีส์มีการ ‘เช็กชื่อ’ อย่างถี่ถ้วนว่าใครอยู่ใครตาย สถานการณ์ของตุ้มในท้ายที่สุดซึ่งอาจเรียกว่า ‘กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง อยู่ต่อไม่ไหว’ ก็น่าจะนำพาให้เธอกลายสภาพไม่ต่างจากภูตผีที่หาหลักแหล่งให้กับตัวเองไม่เจอ

 

ภาพ: Netflix

 

ไหนๆ พูดถึงฉากเช็กชื่อก็ขอขยายความต่ออีกนิด ฉากหลังความตายที่มีคุณป้าชุดขาว (วีรพร นิติประภา) คอยตรวจสอบชื่อและนามสกุลของคนที่ชีวิตถึงฆาตด้วยน้ำเสียงดุๆ และทัศนคติเบื่อหน่ายกับงานที่สุดแสนจำเจซ้ำซาก ก็นับเป็นทั้งตลกร้ายและจินตนาการที่แห้งผากของผู้กำกับ เพราะประมวลจากสิ่งที่ซีรีส์บอกเล่า นี่คือการบริหารจัดการที่ตกยุคตกสมัยมากๆ ตั้งแต่ระบบโลจิสติกส์ของปรโลกที่ใช้รถตู้ซอมซ่อขนส่งผู้วายชนม์ อีกทั้งสีหน้าสีตาของทั้งเจ้าหน้าที่ในรถตู้รวมถึงพลขับก็ล้วนแล้วบอกบุญไม่รับ พวกเขาไม่แม้กระทั่งห้ามปรามไม่ให้คนตายมีปากเสียงกัน (ทำนองว่าไม่ใช่หน้าที่) หรือเครื่องคอมพิวเตอร์ตกรุ่นที่คุณป้าใช้ก็น่าจะอัปเดตระบบปฏิบัติการไม่ได้แล้ว ขณะที่ตัวคุณป้าเองก็คงถูกระบบกลืนกินจนแทบไม่เหลือสามัญสำนึกหรือความสามารถในการริเริ่มส่วนบุคคล และฉากที่เธอแสดงออกอย่างเงอะๆ เงิ่นๆ ในตอนที่เธอถูกใครบางคน ‘ไฮแจ็ก’ โต๊ะทำงาน ก็น่าจะเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างครื้นเครง

 

ไม่รู้คนอื่นว่าอย่างไร ตอนที่ดูฉากเหล่านี้กลับไม่ได้นึกว่านี่คือโลกหลังความตาย แต่รู้สึกว่ามันคือระบบราชการ 0.4 ที่พวกเราไม่ต้องสิ้นลมไปก่อนก็สามารถเข้ารับบริการที่น่าประทับใจนี่ได้ไม่ยากเย็น

 

เรื่อง: เรื่อง ตลก 69 เดอะซีรีส์ (พ.ศ. 2566)

กำกับ: เป็นเอก รัตนเรือง

ผู้แสดง: ดาวิกา โฮร์เน่, อมรเอก มิเกลลี่, อภิวิชญ์ รินทพล, ภัทร เอกแสงกุล ฯลฯ

The post เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์ (พ.ศ. 2566) เมืองป่วน คนป่วย ชีวิตห่วยแตก และฝันเปียกถึงบอลโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>
Oppenheimer (2023) ชายผู้เด็ดแอปเปิ้ลต้องห้ามจากสวนเอเดนของพระผู้เป็นเจ้า https://thestandard.co/oppenheimer-2023-movie/ Mon, 24 Jul 2023 03:33:29 +0000 https://thestandard.co/?p=821236 Oppenheimer

คำถามประจำสัปดาห์…   สมมติเล่นๆ ว่า ถ้าหากพี […]

The post Oppenheimer (2023) ชายผู้เด็ดแอปเปิ้ลต้องห้ามจากสวนเอเดนของพระผู้เป็นเจ้า appeared first on THE STANDARD.

]]>
Oppenheimer

คำถามประจำสัปดาห์…

 

สมมติเล่นๆ ว่า ถ้าหากพี่น้อง Lumiere ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปและเครื่องฉายภาพเคลื่อนไหวขึ้นจอเป็นเจ้าแรก ซึ่งก็อย่างที่รู้กันว่ามันกลายเป็นรูปแบบความบันเทิงที่ทรงพลังและครองใจคนทั้งโลกจวบจนปัจจุบัน บังเอิญล้มเลิกความตั้งใจกลางคัน ภาพยนตร์จะยังคงถือกำเนิดอยู่นั่นเองหรือไม่

 

คำตอบก็คือแน่นอน เพียงแค่หน้าประวัติศาสตร์ก็จะหันไปจดจำชื่อนักประดิษฐ์และนักบุกเบิกคนอื่น เช่น Max Skladanowsky, Robert W. Paul หรือแม้กระทั่ง William Friese-Greene เพราะเงื่อนไขและองค์ประกอบของการถือกำเนิดในตอนนั้นสุกงอม และมันเป็นเรื่องของระยะเวลาว่าช้าหรือเร็วเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่ง ใครเป็นคนที่ลากเส้นตามรอยประได้คมชัดและมีประสิทธิภาพมากกว่ากันและก่อนเพื่อน

 

J.Robert Oppenheimer

ภาพ: wikipedia

 

ฉันใดฉันนั้น ฉายา ‘บิดาของระเบิดปรมาณู’ ของ J.Robert Oppenheimer นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันเชื้อสายยิวผู้ปราดเปรื่องล้ำเลิศ ก็เป็นผลพวงจากการที่เขา (ในฐานะหัวหน้าโครงการลับสุดยอดของรัฐบาลอเมริกันที่ชื่อ Manhattan Project ในช่วงสงครามโลกครั้งสอง) ชนะเกมการแข่งขันประดิษฐ์อาวุธมหาประลัย (เหนือคู่แข่งตอนนั้น อันได้แก่นาซีเยอรมันของฮิตเลอร์ซึ่งแพ้สงครามไปซะก่อน และในช่วงหลังจากนั้น คู่แข่งก็เปลี่ยนหน้าไปเป็นสหภาพโซเวียตซึ่งประดิษฐ์ระเบิดปรมาณูไล่หลังอเมริกาเพียงสี่ปี)

 

และผลงานชิ้นโบว์แดง (หรือโบว์ดำ) ของ Oppenheimer ก็คือระเบิดนิวเคลียร์สองลูกที่ถูกทิ้ง ณ เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ซึ่งไม่เพียงสาธิตให้ชาวโลกได้ประจักษ์แจ้งกับอานุภาพทำลายล้างที่น่าสะพรึงกลัว จากการที่ผู้คนบาดเจ็บล้มตายทันทีนับแสนๆ คน ทว่าประเด็นที่น่าห่วงกังวลมากไปกว่านั้นก็คือ มันนำพาให้มวลมนุษยชาติเขยิบเข้าไปใกล้ฉากทัศน์ใหม่ของ ‘วันสิ้นโลก’ มากขึ้นเรื่อยๆ

 

ข้อที่ชวนให้ครุ่นคิดก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ว่าในจักรวาลคู่ขนานและด้วยเงื่อนไขที่ไม่เหมือนเดิม (เช่น เขาไม่ได้เป็นหัวหน้าโครงการ Manhattan) หน้าประวัติศาสตร์อาจจะบันทึกชื่อ Oppenheimer ในฐานะหนึ่งในนักฟิสิกส์ที่ค้นพบพลังงานอันมหาศาลของหลุมดำที่กลืนกินทุกอย่างในห้วงจักรวาล (ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาค้นพบจริงๆ) และไม่ต้องแบกรับสถานะ ‘คุณพ่อนิวเคลียร์’ หรือกลายเป็นบุคคลต้องคำสาปในลักษณะไม่แตกต่างจากเทพแห่งกรีก Prometheus ที่ต้องทุกข์ทรมานจากการถูก Zeus ลงโทษให้นกอินทรีจิกกินตับไตไส้พุงเนื่องเพราะเขา ‘ขโมยไฟไปให้มนุษย์ใช้ประหัตประหารกัน’

 

ภาพ: Universal Pictures

 

ตามเนื้อผ้า หนังเรื่อง Oppenheimer ของ Christopher Nolan ซึ่งดัดแปลงจากงานเขียนที่ชื่อ American Prometheus:The Triumph and Tragedy of J.Robert Oppenheimer มุ่งสำรวจชีวิตของนักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกในแง่มุมดังกล่าวนั่นเอง ทั้งชัยชนะและความสำเร็จของการประดิษฐ์อาวุธปรมาณู วิบากกรรมที่ถาโถมเข้ามา ความเคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่ตัวเองทำ จุดอ่อนและข้อบกพร่องในฐานะปุถุชน และเหนืออื่นใด การแสดงออกถึงมโนสำนึกและความรับผิดชอบในฐานะดอกเตอร์ Frankenstein ผู้ซึ่งควบคุมอสุรกายที่เขาชุบชีวิตขึ้นมาไม่ได้

 

และในขณะที่หนังกินเวลาฉายยาวเหยียดถึงสามชั่วโมงเต็ม ความท้าทายที่แท้จริง แม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นเรื่องเกินความคาดหมายสำหรับแฟนๆ ของ Nolan ก็คือหนังเรื่อง Oppenheimer ไม่ได้เล่าเรื่องเป็นเส้นตรง และมันบอกเล่าผ่านสองเหตุการณ์หลักเป็นอย่างน้อยที่ตัดสลับไปมา หนึ่งก็คือเหตุการณ์ปี 1954 ที่ Oppenheimer ถูกคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูของสหรัฐฯ ซึ่งตัวเขาเป็นที่ปรึกษา ไต่สวนข้อกล่าวหาพัวพันกับพรรคคอมมิวนิสต์และมีพฤติการณ์ ‘ไม่เป็นอเมริกัน’ อีกหนึ่งสิ่งที่ถูกบอกเล่าด้วยภาพขาวดำ เกิดขึ้นในปี 1959 ได้แก่เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับตัวละครชื่อ Lewis Strauss (ซึ่งคนดูอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไม่ล่วงรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังก็คงจะงงว่าหมอนี่เป็นใคร) ที่กำลังถูกวุฒิสมาชิกซักถามในประเด็นความสัมพันธ์ของเขากับ Oppenheimer ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรับรองตำแหน่งรัฐมนตรี

 

ภาพ: Universal Pictures

 

และทั้งสองเหตุการณ์นี้ไม่เพียงขับเคลื่อนด้วยบทสนทนาที่โยงไปถึงตัวละครมากหน้าหลายตา ยังสอดแทรกไว้ด้วยฉากย้อนอดีตที่พาคนดูไปรับรู้เหตุการณ์น้อยใหญ่ซึ่งพูดไม่อ้อมค้อม มันปะติดปะต่อให้เข้ากันไม่ได้อย่างง่ายดาย และนั่นยังไม่นับรวมช็อตสั้นๆ ที่คนทำหนังแทรกเข้ามาเพื่อผลลัพธ์ทางอารมณ์ หรือการย้ำเตือนถึงหายนะที่เฝ้าคอย หรือแสดงห้วงคำนึงอันอลหม่านสับสนของตัวละคร

 

หรือเปรียบไปแล้ว หนังเรื่อง Oppenheimer ก็เหมือนกับจิ๊กซอว์ขนาดมหึมาที่เต็มไปด้วยชิ้นส่วนน้อยใหญ่มากมาย หากทว่าเมื่อทุกรายละเอียดถูกจัดวางอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของมัน ผลลัพธ์โดยรวมก็เกื้อหนุนให้คนดูมองเห็น ‘ภาพใหญ่’ ที่ทั้งกว้างและลึก ของ 1. ตัวบุคคลผู้ซึ่งชีวิตของเขาพบเจอกับสิ่งที่เรียกว่า Rise and Fall หรือความรุ่งโรจน์และร่วงหล่นในลักษณะแตกต่างจากรถไฟเหาะตีลังกา ของ 2. บริบททางการเมืองและนักการเมืองที่ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน (และประเทศไหน) ก็สกปรก โสโครก อัปลักษณ์ และคิดเล็กคิดน้อยเหมือนกัน และเหนืออื่นใด ของ 3. ความจริงและการเตือนสติผู้คนในสังคมในแง่ที่ว่า ‘พลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง’ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วโลกใบนี้ก็คงจะไม่หลงเหลือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่ามนุษย์อีกต่อไป

 

ภาพ: Universal Pictures

 

แต่ก็นั่นแหละ ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารที่ถาโถมใส่คนดู เสน่ห์ดึงดูดและเป็นแง่มุมที่ชวนให้สนเท่ห์ที่สุดของหนังได้แก่เนื้อหาที่มุ่งสำรวจและศึกษาตื้นลึกหนาบางของตัวละคร และอย่างหนึ่งที่สรุปได้ก็คือ Oppenheimer เป็นตัวละครที่ไม่ค่อยแสดงออกหรือมักจะเก็บซ่อนความคิดเห็นต่างๆ นานาเอาไว้ภายใต้ใบหน้าที่ดูเคร่งขรึมจริงจัง และไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะหยั่งรู้ได้ว่าเขานึกคิดอะไร และวิธีการที่คนทำหนังจับภาพ Oppenheimer ในระยะใกล้มากหลายครั้ง นั่นรวมถึงช็อตเปิดและปิดเรื่อง (ยิ่งใครได้ดูในระบบ IMAX ด้วยแล้ว ก็คงสัมผัสได้ถึงความน่าพิศวงและเป็นปริศนาของใบหน้าที่ชวนหลอกหลอนนี้มากยิ่งขึ้น) มีส่วนช่วยขยับขยายให้พวกเราได้มองเห็นร่องรอยของอารมณ์และความรู้สึกที่ ‘น้อยนิดแต่มหาศาล’ ของตัวละคร ทั้งความหมกมุ่นลุ่มหลง ความดื้อดึง ความผิดหวัง ความล้มเหลว ความเจ็บปวดขื่นขมที่โดนหักหลัง ไปจนถึงความโศกสลดที่เจ้าตัวกลายเป็นคนที่จุดไฟแห่งความวิบัติฉิบหายของมนุษยชาติให้มันลุกโชน

 

ไม่ต้องสงสัยว่านี่เป็นการแสดงที่ลึกซึ้งสุดแสนวิเศษและละเอียดลออของ Cillian Murphy และสมควรยืนปรบมือให้อย่างกึกก้องยาวนาน

 

ภาพ: Universal Pictures

 

แต่อารมณ์ของตัวละครก็ส่วนหนึ่ง และบุคลิกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ยิ่งทำให้ Oppenheimer เป็น Subject ที่ยิ่งน่าทึ่งมากขึ้นไปอีก และอย่างหนึ่งที่สามารถพูดได้ก็คือ เขาเป็นตัวละครที่สภาวะข้างในของเขาดูเหมือนเป็นสนามรบตลอดเวลา  ระหว่างการทำในสิ่งที่ตัวเองมุ่งมาดปรารถนาและมีความสามารถทำได้กับสำนึก ผิดชอบชั่วดี ระหว่างความฉลาดปราดเปรื่องกับความโง่เขลาเบาปัญญา หนึ่งในฉากเล็กๆ ตอนต้นเรื่องที่อาจใช้อธิบายสมมติฐานนี้ได้แก่เหตุการณ์ที่เขาแก้เผ็ดอาจารย์ผู้ซึ่งเล่นงานเขาเรื่องความซุ่มซ่ามในห้องแล็บ ด้วยการฉีดยาพิษเข้าไปในผลแอปเปิ้ลที่วางบนโต๊ะของอาจารย์คนนั้น และจากที่หนังนำเสนอ กว่าที่เขาจะตระหนักได้ว่านั่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และดิ้นรนแก้ไขเรื่องคอขาดบาดตาย (โง่ๆ) ที่อาจจะเกิดขึ้น มันก็หวุดหวิดเฉียดฉิวเหลือเกิน มิหนำซ้ำ คนที่กำลังรับเคราะห์กลับกลายเป็นบุคคลที่สาม

 

น่าสังเกตว่าเหตุการณ์นี้เป็นเสมือนลางบอกเหตุถึงเรื่องยุ่งยากที่กำลังจะเกิดขึ้น เขา (และทีมนักวิทยาศาสตร์) สร้างปรมาณูขึ้นมาด้วยความเชื่ออันไร้เดียงสาว่า อานุภาพร้ายแรงของมันจะค้ำประกันสันติภาพของโลกใบนี้ให้ยั่งยืน ทว่าจนแล้วจนรอด ทุกอย่างหันเหไปตรงกันข้าม และจิตสำนึกของความพยายามยับยั้งหายนะที่มาจ่อคอหอย บานปลายกลายเป็นการที่เขาถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน และถูกตั้งคำถามถึงความจงรักภักดีต่อชาติ ฉากที่เหล่านักการเมืองรุมทึ้ง Oppenheimer ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวในห้องไต่สวน ก็หยอกล้ออยู่กับเรื่องของเทพแห่งกรีกองค์นั้นอย่างขมขื่นทีเดียว อีกทั้งผลลัพธ์สุดท้ายก็ยังลงเอยในสภาพที่ตัวเขาไม่แตกต่างจาก Adam ที่ถูกพระเจ้าอัปเปหิจากสวนเอเดนโทษฐานเด็ดผลไม้ต้องห้าม

 

ภาพ: Universal Pictures

 

กล่าวในแง่ของเทคนิค Oppenheimer เป็นหนังที่ถ่ายด้วยกล้อง IMAX และฟิล์มเซลลูลอยด์ขนาด 65 มม. ซึ่งพูดได้ว่าไม่มีใครใช้ประโยชน์จากจอภาพมหึมาและระบบเสียงที่กระหึ่มเร้าได้เก่งกาจและเหนือชั้นเหมือน Nolan อีกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากที่เขาสำแดงถึงพิษสงของระเบิดปรมาณูที่ทั้งงดงามอย่างน่าตื่นตะลึง ขณะเดียวกัน ก็เรียกสิ่งที่มองเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก ‘ไฟนรกขุมโลกันตร์’ ข้อมูลที่ยิ่งชวนให้ตื้นตันมากขึ้นก็ตรงที่ทั้งหมดทั้งมวลที่ปรากฏเบื้องหน้า ไม่ได้เป็นผลพวงจากมายากลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทว่ามันคือเปลวไฟอนาล็อกที่รุ่มร้อน เดือดดาล และกราดเกรี้ยวจริงๆ และนั่นทำให้ไม่มากไม่น้อย ความอุทิศทุ่มเทอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งผสมผสานกับทักษะการทำหนังอันล้ำเลิศของ Nolan ก็ส่งผลให้เขากลายเป็นคนทำหนังสายพันธุ์ที่หาได้ยากจริงๆ

 

ภาพ: Universal Pictures

 

มีแง่มุมหนึ่งคนมักจะพูดถึง Oppenheimer และถูกเอ่ยถึงในหนังด้วย ก็คือการที่เขาไม่เคยได้รางวัลโนเบล ทั้งๆ ที่ด้วยคุณสมบัติและผลงานมันก็เกินความคู่ควรและเหมาะสมไปโขทีเดียว แต่ก็นั่นแหละ หลังจากเวลาผ่านพ้นไป รางวัลอันยิ่งใหญ่อย่างโนเบลก็ดูเล็กกระจ้อยร่อยไปแล้วสำหรับบทบาทและสถานะทางประวัติศาสตร์ของ Oppenheimer

 

ฉันใดก็ฉันนั้น Chiristopher Nolan ก็ (ยังคง) ไม่เคยชนะรางวัลออสการ์ ทั้งๆ ที่ใครลองไล่เรียงชื่อหนังทั้งหมดก็คงนึกสงสัยว่าสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ตกสำรวจผลงานของ Nolan ไปได้อย่างไร แต่ไม่ว่าเกียรติยศดังกล่าวจะเดินทางมาถึงหรือไม่และเมื่อใด มันก็ไม่มีวันเปลี่ยนข้อเท็จจริงที่ว่า Nolan เป็นคนทำหนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 21 และไม่มีข้อกังขาว่าหนังเรื่อง Oppenheimer จะเป็นอีกหนึ่งผลงานควบคู่ไปกับ Memento, The Dark Knight, Inception, Dunkirk ที่จะทำให้คนรุ่นหลังนึกถึงและจดจำ Christopher Nolan อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย

 

Oppenheimer (2023)

กำกับ: Christopher Nolan

ผู้แสดง: Cillian Murphy, Emily Blunt, Robert Downey Jr., Matt Damon ฯลฯ

The post Oppenheimer (2023) ชายผู้เด็ดแอปเปิ้ลต้องห้ามจากสวนเอเดนของพระผู้เป็นเจ้า appeared first on THE STANDARD.

]]>