ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Wed, 08 Feb 2023 15:10:38 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ทำไม HealthTech Start-up ไทย จึงยากจะไปถึง Unicorn https://thestandard.co/healthtech-thai-start-up/ Mon, 13 Jun 2022 03:00:32 +0000 https://thestandard.co/?p=641052 HealthTech

สำหรับวงการ Start-up ไทย ปี 2564 ที่ผ่านมาจัดเป็นปีที่จ […]

The post ทำไม HealthTech Start-up ไทย จึงยากจะไปถึง Unicorn appeared first on THE STANDARD.

]]>
HealthTech

สำหรับวงการ Start-up ไทย ปี 2564 ที่ผ่านมาจัดเป็นปีที่จุดประกายความหวังให้กับคนในวงการ เพราะเป็นปีที่เราได้มีโอกาสเห็น Start-up สัญชาติไทยกลายเป็น Unicorn ถึง 2 ตัว!

 

Unicorn หรือ Start-up ที่มีมูลค่าบริษัทเกินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต้องยอมรับว่าของไทยเรานั้น กว่าจะเกิดขึ้นมาเป็นตัวแรกคือ Flash Express ก็นับว่าช้ากว่าประเทศเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันอยู่เป็นปี แต่ในที่สุดตัวที่ 2 คือ Bitkub ก็ตามมาในเวลาไม่นานนัก การเกิดขึ้นของ Unicorn ทั้งสองตัวส่งผลให้วงการโลจิสติกส์และฟินเทคในไทยคึกคักขึ้นมาก

 

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ จัดได้ว่าเป็นปีทองของ HealthTech เพราะหลายบริษัทระดมทุนได้และเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นผลจากการระบาดของโควิด โดยในปี 2021 มี HealthTech Start-up ที่กลายเป็น Unicorn ถึง 32 ตัว โดยสัดส่วนเติบโตสูงสุดจาก Start-up กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีมาทำให้เกิดทางเลือกใหม่ในการรักษาแบบที่ไม่ต้องไปโรงพยาบาล หรือ Alternative Care

 

ส่วน HealthTech Start-up ของไทยเรานั้นแม้จะคึกคักขึ้นตามกระแสโลก แต่ก็ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะเกิด Unicorn แห่งวงการสุขภาพขึ้นมาได้

 

สำหรับหมอเองนั้น เข้าใจศัพท์คำว่า Unicorn ของ Start-up ครั้งแรกน่าจะเมื่อปี 2561 ในช่วงปีแรกๆ ที่ก้าวจากวงการแพทย์สู่วงการ HealthTech ด้วยการได้ศึกษาและทดลองร่วมทำโปรเจ็กต์กับ Start-up สายสุขภาพจากต่างประเทศ (จากการสนับสนุนของรัฐบาลประเทศนั้นๆ เช่น อิสราเอล สิงคโปร์) มาจนถึง Start-up สายสุขภาพสัญชาติไทย ทั้งการตัดสินใจเลือกที่จะให้ทุน ไปจนถึงการร่วมงานต่อยอด จนออกไปทดลองกับผู้ใช้งานจริง และในที่สุดก็ถลำตัวลึกจนกลายมาเป็น CEO ของ HealthTech Start-up สัญชาติไทยแท้ที่ชื่อว่า SkinX ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันหาหมอผิวหนัง (Teledermatology)

 

HealthTech

 

แม้จะทำงานในวงการนี้และเชื่อมั่นใน HealthTech แต่ถ้าใครมาถามความเห็นว่าจะมี HealthTech ไทยที่ไปถึงฝั่งฝันไหม ส่วนตัวคิดว่าเป็นไปได้ยากมาก ด้วยบริบทของธุรกิจเองซึ่งเป็นเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วย การที่ผู้ใช้งานจะ Adopt หรือตอบรับรูปแบบใหม่ๆ ของการให้บริการ เป็นไปได้ยากกว่าอุตสาหกรรมที่มีความจริงจังน้อยกว่า และยังมีสาเหตุหลักๆ มาจากสามเรื่องด้วยกัน

 

หนึ่งคือ ขนาดตลาด อัตราการเติบโตของ Start-up ขึ้นกับขนาดตลาด เนื่องจากประเทศไทยเราจัดเป็นประเทศขนาดไม่ใหญ่ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เราไม่ได้มี Unicorn เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างประเทศที่มีประชากรมาก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย หรืออินโดนีเซีย

 

และยิ่งเป็นการบริการทางการแพทย์ ซึ่งขยายโมเดลไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ยากเพราะระบบสาธารณสุขที่ต่างกัน การให้บริการข้ามประเทศไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยกฎระเบียบข้อจำกัด การ Scale ข้ามประเทศจึงมีอุปสรรคมาก

 

สอง ข้อมูลสุขภาพจำนวนมากยังไม่ถูก Digitized สถานพยาบาล คลินิก และโรงพยาบาลหลายแห่งยังคงจดประวัติการรักษา การสั่งยา รวมถึงผลตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ ในรูปแบบกระดาษ ส่วนโรงพยาบาลที่ใช้ Electronic Medical Record นั้นก็ใช้ซอฟต์แวร์ต่างระบบกันไป ทำให้ข้อมูลทางสุขภาพของไทยนั้นยากต่อการรวบรวมเพื่อนำมาพัฒนา วิเคราะห์ และต่อยอดไปยังนวัตกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนา Machine Learning

 

และสาม ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดคือ ขาดการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่องจากภาครัฐและหน่วยงานที่เป็นผู้คุมกฎต่างๆ แม้ว่าภาครัฐจะมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ที่ทำงานสนับสนุน Start-up อยู่ แต่ในภาพรวมโดยเฉพาะตัวบทกฎหมาย ต้องยอมรับว่ารัฐไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก Start-up กฎข้อบังคับด้าน Telepharmacy และ Telemedicine ตามไม่ทันเทคโนโลยีและบริบทที่เปลี่ยนไป จึงไม่ได้เอื้อต่อการเติบโตของ Start-up และกฎหมายด้านภาษีก็ไม่เอื้อต่อการเกิด Employee Stock Options

 

HealthTech Start-up ในหลายประเทศได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นวัตกรรมต่างๆ ช่วยให้ Healthcare นั้น ‘เข้าถึง’ (Accessible) และ ‘เอื้อมถึง’ (Affordable) ได้มากขึ้นสำหรับคนทั่วไป คงจะดีกว่ามากหากผู้คุมกฎของรัฐและผู้ถือไม้เรียวจากหน่วยงานต่างๆ จะเปลี่ยนจากการออกกฎที่ชะลอการเติบโตของ Start-up หันมาสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

The post ทำไม HealthTech Start-up ไทย จึงยากจะไปถึง Unicorn appeared first on THE STANDARD.

]]>
Metaverse วงการแพทย์ในโลกเสมือนจริง https://thestandard.co/metaverse-and-medical-community-in-virtual-world/ Tue, 02 Nov 2021 11:00:01 +0000 https://thestandard.co/?p=554774 Metaverse

การประกาศเปลี่ยนชื่อและทิศทางธุรกิจจาก Facebook เป็น Me […]

The post Metaverse วงการแพทย์ในโลกเสมือนจริง appeared first on THE STANDARD.

]]>
Metaverse

การประกาศเปลี่ยนชื่อและทิศทางธุรกิจจาก Facebook เป็น Meta ของมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ส่งผลให้คำว่า Metaverse กลายเป็นคำที่ถูกค้นหาสูงสุดควบคู่ไปกับ Roblox, Cryptocurrency และ Non-Fungible Token หลังจากได้ยินข่าว เชื่อว่าหลายคนจินตนาการไปถึงอวตารของตัวเอง เงินสกุลดิจิทัลที่จะต้องใช้ ความสวยงามของออฟฟิศเสมือนจริง ของสะสมดิจิทัล รูปแบบใหม่ของคอนเสิร์ต รวมไปถึงเสื้อผ้าแบรนด์เนมที่จะได้ช้อปในโลกเสมือนจริง

 

Metaverse

ภาพจาก Facebook 

 

ในทางการแพทย์นั้น คอนเซปต์โลกเสมือนจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ Digital Twin หรือตัวตนแฝดของคนไข้ในโลกดิจิทัล เป็นแนวคิดที่ถูกพูดถึงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว 

 

ลองจินตนาการตัวคุณในโลกดิจิทัลที่เกิดขึ้นมาจาก ข้อมูลรหัสพันธุกรรมของคุณแบบ Whole Genome Sequencing ชุดข้อมูลทางชีวภาพจากผลตรวจเลือด ข้อมูลสัญญาณชีพและไลฟ์สไตล์แบบเรียลไทม์จาก IoT ตั้งแต่ Smart Watch และ Smart Clothing ที่คุณใส่ ไปจนถึง Smart Home ที่คุณอยู่ เมื่อผนวกเข้ากับอัลกอริทึมปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการตรวจพบและทำนาย จะส่งผลให้แพทย์สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ของคุณได้อย่างแม่นยำ มีสัญญาณเตือนเหตุร้าย เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน ก่อนที่จะเกิดขึ้นจริง รวมไปถึงสามารถทดลองการรักษาคุณในโลกดิจิทัลเพื่อดูการตอบสนอง ประเมินประสิทธิภาพและผลข้างเคียง ก่อนที่จะนำไปรักษากับตัวคุณเองในโลกแห่งความจริง – โลกใบนั้นจะดีเพียงใด?

 

แม้ในปัจจุบันคนไข้ในโลกดิจิทัลที่สมบูรณ์แบบอย่างที่หมอเล่าจะยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่โมเดลจำลองเฉพาะบางส่วนเพื่อดูการตอบสนองต่อการรักษาได้มีการนำมาใช้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น การรักษาข้ออักเสบ โดยใช้โมเดลจำลองที่คำนวณตัวแปรจากคนไข้ เช่น พันธุกรรม ประเภทเซลล์ มาทดสอบกับยาสูตรต่างๆ เพื่อหายาที่ดีที่สุดสำหรับคนไข้แต่ละคนซึ่งมีความแตกต่างกันไป หรือหัวใจดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาจากอัลตราซาวด์ เพื่อประเมินความสามารถในการปั๊มเลือดของหัวใจและความเสี่ยงต่อหัวใจวาย

 

Metaverse

ภาพจาก Facebook 

 

นอกจากคนไข้แฝดในโลกดิจิทัลแล้ว Digital Twin ยังถูกนำมาใช้จำลองระบบปฏิบัติการต่างๆ ในโรงพยาบาล เพื่อทดลองหาโมเดลที่จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากร การบริหารจัดการเตียง รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

นอกจาก Digital Twin แล้ว เทคโนโลยีเสมือนจริงยังถูกนำมาใช้ทางการแพทย์หลากหลาย เช่น การใช้ Augmented Reality มาช่วยในการผ่าตัดกระดูกสันหลังเพื่อให้แพทย์ผ่าตัดได้แม่นยำขึ้น หรือการซ้อมผ่าตัดเสมือนจริง (Surgery Simulation) ในการผ่าตัดที่ซับซ้อน ยาก และมีความเสี่ยงสูง เช่น การผ่าตัดเส้นเลือดแดงโป่งพองในสมอง เพื่อให้ศัลยแพทย์ได้ซ้อมและประเมินความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ก่อนผ่าตัดจริง

 

ในทางการเรียนการสอน เทคโนโลยีเสมือนจริงถูกนำมาใช้ทั้งในการเรียนกายวิภาค สรีรวิทยา รวมถึงฝึกการทำหัตถการต่างๆ จากในอดีตที่นักศึกษาแพทย์ต้องเรียนกับร่างของอาจารย์ใหญ่ หรือฝึกทำคลอดกับหญิงตั้งครรภ์จริง ในอนาคตอันใกล้นักศึกษาแพทย์จะสามารถเข้าใจกายวิภาคหรือฝึกทำคลอดใน Metaverse ได้โดยไม่ต้องก้าวเท้าออกจากบ้าน

 

Metaverse

 

จากข้อมูลในปี ค.ศ. 2013 ขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา 38-75% ของยาที่ถูกสั่งจ่ายให้กับคนไข้นั้นไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา เพราะการแพทย์ในแบบเดิมยังคงอาศัยความรู้จากในตำราที่มาจากข้อมูลในงานวิจัยจากกลุ่มตัวอย่าง ในขณะที่ความเป็นจริงนอกตำรานั้น คนไข้แต่ละคนมีความเฉพาะเจาะจงที่แตกต่างกันออกไป แต่ด้วยเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลที่ก้าวหน้าขึ้น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเสมือนจริง รวมไปถึง Digital Twin หมอเชื่อว่าการแพทย์ใน Metaverse จะเป็นโลกแห่งการแพทย์ที่แม่นยำ เฉพาะเจาะจง มุ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษา และฉีกตำราแพทย์ที่เคยเรียนกันมาเกินกว่าจะจินตนาการ

The post Metaverse วงการแพทย์ในโลกเสมือนจริง appeared first on THE STANDARD.

]]>
โลกร้อน สุขภาพรวน นับถอยหลังวันอวสานโลก https://thestandard.co/global-warming-and-health/ Tue, 26 Oct 2021 10:50:58 +0000 https://thestandard.co/?p=552491 global warming

หนังและซีรีส์เกี่ยวกับโลกอนาคตมากมายที่จินตนาการถึงโลกท […]

The post โลกร้อน สุขภาพรวน นับถอยหลังวันอวสานโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>
global warming

หนังและซีรีส์เกี่ยวกับโลกอนาคตมากมายที่จินตนาการถึงโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โลกที่มนุษย์ต้องอพยพมาอาศัยรวมกันในที่หลบภัย หรือหนีไปตั้งรกรากใหม่ยังดาวดวงอื่น โลกที่แห้งแล้งจนมนุษย์ไม่สามารถเพาะปลูกผลิตอาหารเพื่อประทังชีวิตได้ ต้องอาศัยอาหารสังเคราะห์จากห้องทดลอง โลกที่สีเขียวและความชุ่มชื้นเหือดหายไป เหลือแต่ผืนดินแห้งๆ อากาศแปรปรวน และการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ที่ยังหลงเหลือ

 

มีนักวิจัยหลายสาขาทั่วโลกพยายามใช้มาตรต่างๆในการวัด ว่าโลกที่เราอาศัยอยู่ในวันนี้กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าใกล้โลกในจินตนาการเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน หนึ่งในนั้นคือการรวมตัวกันของนักวิทยาศาสตร์และแพทย์สาขาต่างๆ ภายใต้ชื่อ Lancet Countdown ที่เน้นไปที่การวัดสัญญาณชีพโลกและสัญญาณจากโรค เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมกับปัญหาสุขภาพส่งผลต่อกันในหลายแง่มุม

 

รายงานจาก Lancet Countdown ปีล่าสุด (2021) พบว่า โลกที่ร้อนขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และร้อนหนักที่สุดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานั้น ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์โลกทั้งทางตรงและทางอ้อมมากมาย

 

ผลกระทบทางตรงคืออุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยในบางพื้นที่มีอุณหภูมิที่สูงเกินกว่า 40 องศาเซลเซียสร่วมกับมี Heat Wave หรือคลื่นความร้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ที่มีโอกาสเกิดภาวะลมแดดหรือ Heat Stroke 

 

อุณหภูมิที่สูงเกินไปยังกระทบกับกิจกรรมกลางแจ้งทั้งการออกกำลัง กิจกรรมสันทนาการ และการประกอบอาชีพ เกษตรกรและผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งจำเป็นต้องลดเวลาการทำงานลง เพราะอุณหภูมิที่สูงเกินกว่าจะออกไปทำงานได้ ส่งผลให้โอกาสในการสร้างรายได้ลดลง

 

global warming

 

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางตรงนี้พบมากในผู้มีรายได้น้อยในประเทศที่ยังไม่พัฒนา ในขณะที่ผู้มีฐานะดี มีทางเลือกในการหลบลมร้อนอยู่ในบ้าน และใช้เครื่องปรับอากาศแก้ปัญหา แต่การใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นปริมาณมากในเมืองใหญ่ ก็ก่อให้เกิด Urban Heat Island เป็นผลให้เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ต่างๆ มักมีอุณหภูมิสูงกว่าชนบท 

 

global warming

 

นอกจากอุณหภูมิแล้ว มลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้โลกป่วนคนป่วย ในปี 2019 มีผู้เสียชีวิตกว่า 3.3 ล้านคนจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ทั้งโรคในกลุ่มมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ ไปจนถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

โลกที่ร้อนขึ้นนอกจากส่งผลกับคนแล้ว ยังส่งผลต่อเชื้อก่อโรค เชื้อแบคทีเรียและไวรัสบางตัวแบ่งตัวและแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้นเมื่อโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เช่น ไวรัสนำโรคไข้เลือดออก ไข้ชิคุนกุนยา ไข้ซิกา รวมไปถึงเชื้อก่อโรคอุจจาระร่วงบางประเภท

 

สำหรับการผลิตอาหาร พบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นและอุทกภัยที่มาเยือนบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นแหล่งอาหารของประชากรโลก ทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด ถั่วเหลือง และอื่นๆ โดยแนวโน้มการผลิตที่ลดลงในทุกๆ ปี สวนทางกับความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นของประชากรโลก ความเสี่ยงที่อาหารจะไม่เพียงพอจึงมีเพิ่มขึ้น (Food Insecurity)

 

จากการวิเคราะห์ข้อมูลยังพบว่า ในแต่ละปีประชากรโลกราวสิบล้านต้องเสียชีวิตจากความไม่สมดุลในการกินอาหาร ทั้งไม่สมดุลในปริมาณ เช่น กินมากไปจนก่อโรค หรือมีให้กินน้อยไปจนเป็นโรค และไม่สมดุลในประเภทของอาหาร ทั้งจากการขาดความตระหนักและความรู้ทางโภชนาการ โดยปัญหาหลักที่พบคือ การกินเนื้อแดง (เนื้อวัว เนื้อหมู) ที่มากเกินไป การกินผัก ผลไม้ และถั่วต่างๆ ที่น้อยเกินไป โดยปัญหาการกินที่ไม่สมดุลนี้ พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบในประเทศที่ร่ำรวยมากกว่าประเทศยากจนที่น่าสนใจคือ ในประเทศที่มีรายได้สูง ยิ่งมีอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อแดงมากขึ้น และมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้ด้วยการปรับไลฟ์สไตล์มากขึ้น

 

การกินเนื้อแดงที่มากจนเกินไป ส่งผลให้สุขภาพรวน เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ และยังส่งผลให้โลกร้อนขึ้น เพราะราว 21-37% ของก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้โลกร้อน เป็นผลจากกระบวนการเกษตรกรรมและปศุสัตว์ โดยครึ่งหนึ่งในนั้นมาจากกระบวนการเลี้ยงวัวเพื่อบริโภคเป็นเนื้อและนม

 

global warming

 

โลกที่ร้อนขึ้นจนมีผู้คนต้องล้มตายจากคลื่นความร้อน ไฟป่าที่ทวีความรุนแรงจนคร่าชีวิตสัตว์ป่าไปจำนวนมาก น้ำท่วมที่พัดพาบ้านเรือน รถยนต์ และชีวิตผู้คน ฝุ่นพิษที่ปกคลุมจนกลายเป็นเมืองในม่านฝุ่นซึ่งประชาชนต้องใส่หน้ากากป้องกันมลพิษก่อนออกจากบ้าน และภาพหมีขาวขั้วโลกที่ยืนโดดเดี่ยวบนก้อนน้ำแข็งที่กำลังละลาย ทั้งหมดไม่ใช่ซีนจากหนังฮอลลีวูด แต่เป็นปรากฏการณ์จริงที่มีข้อมูลชี้วัดต่างๆ สนับสนุนว่าโลกเรากำลังเดินทางเข้าสู่วันอวสาน

 

global warming

 

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัท เจ้าของกิจการ นักข่าว นักเขียน หมอ พยาบาล ทหาร ตำรวจ นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออยู่ในบทบาทใด หมอเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิและหน้าที่ในฐานะพลเมืองโลกที่จะสำรวจตัวเองว่า มีอะไรที่จะทำได้บ้าง เพื่อช่วยกันลดวิกฤติการณ์โลกร้อนนี้ 

 

ปัญหาโลกร้อนนั้น ไม่ต่างกันกับปัญหาโควิด ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนบนโลกนี้จะปลอดภัยไปด้วยกันค่ะ

 

อ้างอิง:

  • Romanello M, et al “The 2021 report of the Lancet Countdown on health and climate change: code red for a healthy future” Lancet 2021; DOI:10.1016/S0140-6736(21)01787-6.

The post โลกร้อน สุขภาพรวน นับถอยหลังวันอวสานโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>
Health Wake-up call อย่ารอให้พังก่อนตื่น https://thestandard.co/health-wake-up-call/ Mon, 06 Sep 2021 07:17:05 +0000 https://thestandard.co/?p=533587 Health Wake-up call

หมอมีความสุขกับการให้คำปรึกษาคนไข้ว่าจะปรับไลฟ์สไตล์ให้ […]

The post Health Wake-up call อย่ารอให้พังก่อนตื่น appeared first on THE STANDARD.

]]>
Health Wake-up call

หมอมีความสุขกับการให้คำปรึกษาคนไข้ว่าจะปรับไลฟ์สไตล์ให้ดีต่อสุขภาพอย่างไร หากถามว่า ตลอดสิบกว่าปีที่ทำงานด้านนี้มา เหตุผลอะไรที่จุดประกายให้คนคนหนึ่งอยากหันมาดูแลสุขภาพ ตอบได้เลยค่ะว่า คนส่วนใหญ่คิดจะลุกมาปรับวิถีการกินอยู่ของตัวเองก็ต่อเมื่อมี Wake-up call

 

Wake-up call ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงโดนโทรปลุกนะคะ แต่หมายถึงเหตุการณ์บางอย่างในชีวิตที่ปลุกให้คิดว่ากำลังทำอะไรอยู่ ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือยัง โดยเหตุการณ์ที่ปลุกให้ลุกมาดูแลสุขภาพนั้น จะแบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่

 

หนึ่งคือเมื่อตรวจสุขภาพเจอความผิดปกติ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ตรวจมานาน เจอความผิดปกติที่เพิ่มความเสี่ยงโรคร้ายแรง และมีปัจจัยกระตุ้นทางครอบครัว เช่น มีลูกยังเล็กที่ต้องเลี้ยงดู ก็จะเป็น Wake-up call ที่ปลุกได้เสียงดังไม่น้อย

 

กรณีที่สองคือเมื่อครอบครัวใกล้ชิด หรือเพื่อนสนิทป่วยด้วยโรคร้ายหรือเสียชีวิตกะทันหัน Wake-up call ประเภทนี้เปรียบเสมือนนาฬิกาปลุกยุคโบราณที่เสียงดังแสบแก้วหูจนต้องสะดุ้งตื่น และหันมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเรากำลังละเลยการดูแลสุขภาพเกินไป จนอาจเดินตามรอยเพื่อนหรือไม่

 

Health Wake-up call

 

 

Wake-up call ในแบบสุดท้าย เป็นเสียงนาฬิกาที่ไม่ดังนัก แต่กวนใจจนไม่สามารถทำให้หลับต่อไปได้ เป็นกลุ่มคนที่อยากเริ่มต้นดูแลสุขภาพหลังจากผ่านการเจ็บป่วยรุนแรงมาแล้ว เช่น หลังฟื้นตัวจากมะเร็ง หลังการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ

 

แล้วทำไมคนเราจึงมักรอให้มี Wake-up call บางอย่าง จึงจะลุกมาดูแลสุขภาพ ทั้งที่ร่างกายเรามีเพียงหนึ่ง ซ่อมก็ยาก อะไหล่ก็ไม่ได้หาเปลี่ยนกันง่ายๆ เหตุใดจึงไม่ตื่นก่อนที่จะถูกปลุก

 

ส่วนตัวหมอคิดว่า เหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ โรคที่คร่าชีวิตคนในปัจจุบันคือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs นั้น เป็นกลุ่มโรคที่พฤติกรรมเหมือนระเบิดเวลา คือเริ่มต้นแบบซุ่มเงียบ ไม่มีอาการ แต่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์เกิดขึ้นในร่างกายแบบสะสมเป็นเวลานาน โดยมีกลไกการอักเสบในระดับโมเลกุลเป็นกลไกหลัก และมีไลฟ์สไตล์อย่าง การกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ออกกำลัง นอนไม่พอเรื้อรัง ความเครียด บุหรี่ สุรา เป็นตัวขับเคลื่อน

 

โรคอย่างความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ รวมถึงมะเร็งต่างๆ นั้น ล้วนไม่มีอาการในระยะแรกของโรค กว่าจะมีอาการก็คือระยะที่ระเบิดเวลาได้พร้อมจะระเบิดตูมออกมาเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร่างกายแล้ว

 

อีกหนึ่ง Wake-up call ที่จัดได้ว่าเป็นการปลุกใหญ่ทั่วโลกคือ วิกฤตการณ์โควิด แม้ข้อมูลสถิติต่างๆ จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศทั่วโลก แต่ข้อมูลหนึ่งซึ่งเหมือนกันทุกที่ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่กระจ่างชัดคือ โรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตเมื่อติดเชื้อ โดยเฉพาะในคนอายุน้อย ที่จริงๆ แล้วอัตราการเสียชีวิตไม่สูงนัก แต่หากมีโรคอ้วนลงพุงร่วมด้วย ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจะทะยานขึ้นทันที

 

Health Wake-up call

 

ในสหรัฐอเมริกา ซึ่ง 70% ของประชากรจัดว่าน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ และหนึ่งในสามของประชากรเป็นโรคอ้วน พบว่าปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งต่อการติดโควิดแล้วเสียชีวิตคือ อายุมาก ตามมาด้วยโรคอ้วน จึงมีการตื่นตัวมากขึ้นถึงระเบิดเวลาทางสุขภาพระดับประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข ในไทยเรายังไม่เห็นการตื่นตัวออกนโยบายในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมนักจากรัฐบาล แต่สำหรับคนที่อยากตื่นด้วยตัวเอง ก่อนจะถูกปลุกด้วยเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ข้อแนะนำที่หมอขอฝากให้ ได้แก่ 

 

  • ประเมินตัวเองเบื้องต้นด้วยการชั่งน้ำหนัก คำนวณดัชนีมวลกาย วัดรอบเอว หากดัชนีมวลกายเกินกว่า 25 หรือเส้นรอบเอวเกินกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย หรือเกินกว่า 80 เซนติเมตรในผู้หญิง คุณควรจะลุกมาเปลี่ยนแปลงตัวเองจริงจังเพื่อลดน้ำหนัก หยุดการทำงานของระเบิดเวลาที่ติ๊กต็อกอยู่ในร่างกาย

 

  • หาเวลาไปตรวจสุขภาพ แบบได้พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และตรวจเพิ่มเติมตามวัย อย่าอายถ้าจะต้องตรวจภายใน อย่ากลัวเจ็บถ้าจะต้องถูกบีบหน้าอกเพื่อตรวจแมมโมแกรม และอย่าคิดว่าการส่องกล้องตรวจลำไส้ยุ่งยากเกินจำเป็น แต่ให้คิดว่าการตรวจเหล่านี้เปรียบเสมือนเครื่องตรวจจับระเบิด ที่จะเข้าไปจัดการกับระเบิดเวลาในตัวเราก่อนจะสายเกินแก้

 

  • นอกจากการพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพแล้ว อีกหนึ่งข้อที่ควรปรึกษาด้วยคือ จำเป็นต้องฉีดวัคซีนอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ตามเกณฑ์อายุ 

 

  • หากในครอบครัวมีประวัติโรคมะเร็ง โรคหัวใจวายเฉียบพลันตั้งแต่อายุน้อย หรือโรคอื่นๆ ที่อาจส่งต่อกันทางพันธุกรรมได้ อาจทำการบ้านเขียนแผนผัง Family Tree เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้แพทย์ได้พิจารณาการตรวจเพิ่มเติมตามเหมาะสม

 

  • ศึกษาหาข้อมูลการดูแลสุขภาพที่ถูกวิธี การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การเริ่มต้นออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การดูแลสุขภาพไม่มีทางลัด และไม่มีวิตามินหรืออาหารเสริมใดๆ ที่ทดแทนการกินอาหารจริงที่ดีต่อสุขภาพได้


การเริ่มต้นดูแลสุขภาพไม่มีคำว่าสายเกินไปค่ะ ไม่ว่าคุณจะเคยถูกปลุกด้วย Wake-up call มาแล้ว ยังไม่เคยถูกปลุก หรือเคยตื่นแล้วและหลับต่ออีกรอบแล้ว ก็ตื่นขึ้นมาใหม่อีกครั้งพร้อมกันได้

 

ขอให้บทความนี้เป็นอีกหนึ่ง Wake-up call ที่ส่งเสียงปลุกให้คุณอยากหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น เป็นเสียงปลุกที่อ่อนโยนไม่ดังแสบแก้วหู แต่ดังพอที่จะทำให้ตื่น และอย่าเผลอกด Snooze นอนต่ออีกรอบนะคะ 🙂

The post Health Wake-up call อย่ารอให้พังก่อนตื่น appeared first on THE STANDARD.

]]>
ถังข้อมูล อาวุธสำคัญของอิสราเอลในการรับมือโควิด-19 https://thestandard.co/israel-covid-19-vital-weapons/ Mon, 10 May 2021 10:54:38 +0000 https://thestandard.co/?p=487054 อิสราเอล รับมือ โควิด-19

วิกฤตโควิด-19 นั้น เปรียบเสมือนการจับระบบสาธารณสุขของแต […]

The post ถังข้อมูล อาวุธสำคัญของอิสราเอลในการรับมือโควิด-19 appeared first on THE STANDARD.

]]>
อิสราเอล รับมือ โควิด-19

วิกฤตโควิด-19 นั้น เปรียบเสมือนการจับระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศมาทำ Exercise Stress Test หรือ วิ่งสายพาน ทดสอบความฟิตว่าระบบการบริหารจัดการ และทรัพยากรที่มีอยู่นั้นจะรับมือกับปัญหาได้ดีมากน้อยแค่ไหน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

หนึ่งในประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ารับมือกับปัญหาโควิด-19 ได้ดี คือ อิสราเอล จากข้อมูลในขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ ได้มีการฉีดวัคซีนครบสองโดสไปแล้ว 56% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งจัดว่าสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก

 

หมอเองได้มีโอกาสฟังเบื้องหลังความสำเร็จของการจัดการกับปัญหาโควิด-19 ในอิสราเอล ผ่านการประชุม Med in Israel ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นทุกปี โดยรัฐบาลอิสราเอล เพื่อผลักดันสตาร์ทอัพในสาขาการแพทย์ ให้มีโอกาสระดมทุนและขยายธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก หมอเคยมีโอกาสบินไปร่วมประชุมที่เทลอาวีฟในปีก่อนๆ ต้องยอมรับว่าบรรยากาศงานคึกคักมาก ปีนี้ Med in Israel เปลี่ยนมาจัดทางออนไลน์ซึ่งอาจคึกคักน้อยลง แต่ก็มีความรู้อัดแน่นจากหลายฝ่าย ที่เกี่ยวข้องกับการรับมือวิกฤตโควิด-19 นี้ 

 

เมืองเยลูซาเลม ประเทศอิสราเอล 

เมืองเยลูซาเลม ประเทศอิสราเอล 

 

ความสำเร็จของวัคซีนแคมเปญในอิสราเอลนั้นมาจากหลายปัจจัย ปัจจัยที่เห็นได้ชัด และคนส่วนใหญ่พูดถึงคือ ความเก่งในการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่ปิดดีลกับทั้ง Pfizer และ Moderna ได้เร็ว อีกทั้งยังป๋าและรวยพอที่จะยอมจ่ายค่าวัคซีนในราคาแพง เพื่อให้ได้ยามาก่อนเป็นล็อตแรกๆ แต่การได้ยามาเร็วนั้น หากไม่มีระบบวางแผนบริหารจัดการยาที่ดีก็อาจไม่มีประโยชน์นัก

 

ปัจจัยสำคัญต่อมาจึงอยู่ที่พื้นฐานโครงสร้างระบบสาธารณสุข อิสราเอลเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกนี้ ที่วางระบบเชื่อมต่อข้อมูลของโรงพยาบาลและสถานพยาบาลภายในประเทศทั้งหมดไว้เป็นระบบเดียวกัน เป็น Health Information Exchange Platform ที่มีข้อมูลการวินิจฉัย การรักษา การผ่าตัด ประวัติการแพ้ยา รวมถึงการฉีดวัคซีนต่างๆ จากทุกโรงพยาบาล ถูกจัดเก็บไว้ในระบบเดียวกัน และ 98% ของประชากรมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด

 

การมีระบบจัดการข้อมูลที่ดี ส่งผลให้อิสราเอลจัดการกับคลื่นลูกที่หนึ่งและสองของโควิด-19 ด้วยการติดตามและค้นหาเคสที่มีความเสี่ยง และเข้าตรวจเชิงรุกเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อได้เร็ว 

 

Meuhedet Health Service Center ในเยลูซาเลม ประเทศอิสราเอล

Meuhedet Health Service Center ในเยลูซาเลม ประเทศอิสราเอล

 

ในส่วนของการบริหารวัคซีน อิสราเอลใช้ข้อมูลในถังเพื่อการจัดกลุ่มเสี่ยง เรียงลำดับการฉีดวัคซีนได้เหมาะสม และง่ายต่อการวางแผนกระจายวัคซีน เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงในชุมชนต่างๆ และแน่นอนว่าคิดแบบอิสราเอลต้องไม่คิดเพียงต่อเดียว แต่พวกเขายังคิดต่อยอดไปอีกว่า หากฉีดวัคซีนแล้วสามารถทำงานวิจัยเพื่อหาประสิทธิภาพของวัคซีนไปด้วยพร้อมกันเลย น่าจะเป็นประโยชน์สองต่อ จึงนำมาสู่งานวิจัยร่วมกับ Pfizer เพื่อหาประสิทธิภาพของวัคซีนจากการฉีดจริงนอกห้องทดลอง (Real-World Effectiveness) โดยใช้ฐานข้อมูลดิจิทัล จับคู่หา Digital Twin ที่มีอายุ เพศ โรคประจำตัว และปัจจัยทางสุขภาพเหมือนๆ กัน เปรียบเทียบระหว่างคนที่ได้รับการฉีดแล้ว กับคนที่ยังไม่ได้รับการฉีด พบว่าการฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการตายจากโควิดได้ถึง 96.7% 

 

ประเทศอิสราเอล

ประเทศอิสราเอล

 

การมีคลังข้อมูลสุขภาพของคนทั้งประเทศอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกันนี้ ไม่ได้มีประโยชน์แค่การดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ยังมีประโยชน์มากในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอด ซึ่งทางอิสราเอลได้ทำมาหลายปีแล้ว โดยมีการนำข้อมูลในแพลตฟอร์มมาทำการ Deidentify ข้อมูล คือล้างข้อมูลให้ไม่สามารถระบุตัวตนได้ แล้วนำมาใช้ในงานวิจัยโดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับการรักษาแบบ Precision Medicine และพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) นำมาซึ่งระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในหลายสาขาการแพทย์ เช่น AI ที่ค้นหาความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่จากผลการตรวจเม็ดเลือดในการตรวจร่างกายประจำปี

 

ความสำเร็จของอิสราเอลในเรื่องการจัดการกับโควิด-19 จึงเป็นความสำเร็จที่มาจากการวางแผนบริหารข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จากข้อมูลสุขภาพของแต่ละโรงพยาบาลที่อยู่กันคนละถัง อิสราเอลสามารถทำลาย Data Silos และนำข้อมูลแต่ละถังมาเชื่อมต่อกันได้ จนกลายมาเป็นถังข้อมูลใบใหญ่ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในยุคที่ ‘ข้อมูลคือขุมสมบัติ’ 

 

ประเทศอิสราเอล

 

สำหรับไทยเราเองนั้น ข้อมูลสุขภาพยังอยู่ในลักษณะ Data Silos ต่างโรงพยาบาล ต่างถังข้อมูล ขาดการเชื่อมต่อไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน แม้จะมีความพยายามของหลายหน่วยงานในการทำระบบ HIE ของประเทศ แต่ก็ยังอยู่ในระยะเตาะแตะที่ยังคงต้องฟูมฟักและฟันฝ่ากันต่อไป

 

ปกติแล้วเมื่อคนไข้ได้รับการตรวจ Exercise Stress Test เสร็จสิ้น จะมีการวางแผนการรักษาจากหมอ ว่าจะต้องดูแลตัวเองอย่างไรต่อไป หวังว่าเมื่อประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเปรียบดั่ง Stress Test นี้ไปแล้ว ผู้บริหารระดับสูงของสาธารณสุขไทย จะนำผลการทดสอบนี้มาพัฒนาระบบ วางแผนการรักษาประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเรากลับมาแข็งแรง และพร้อมต่อสู้กับวิกฤตโควิด19 ระลอก 4, 5 หรือ 6 รวมถึงโรคใหม่ๆ ที่ไม่อาจคาดเดาได้ต่อไปในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง: 

The post ถังข้อมูล อาวุธสำคัญของอิสราเอลในการรับมือโควิด-19 appeared first on THE STANDARD.

]]>
ค้นหาตัวแปรสำคัญในความรัก ด้วย Data Driven Relationship เมื่อ AI สอนเราให้รัก https://thestandard.co/data-driven-relationship/ Sat, 20 Mar 2021 11:27:47 +0000 https://thestandard.co/?p=467132 ค้นหาตัวแปรสำคัญในความรัก ด้วย Data Driven Relationship เมื่อ AI สอนเราให้รัก

ทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลหรื […]

The post ค้นหาตัวแปรสำคัญในความรัก ด้วย Data Driven Relationship เมื่อ AI สอนเราให้รัก appeared first on THE STANDARD.

]]>
ค้นหาตัวแปรสำคัญในความรัก ด้วย Data Driven Relationship เมื่อ AI สอนเราให้รัก

ทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลหรือ Data ในการตัดสินใจต่างๆ ล้วนต้องอาศัยข้อมูลมาคิดวิเคราะห์ อย่างในสายงานที่หมอทำอยู่นั้น สายแรกคือการเป็นแพทย์ การตัดสินใจเลือกการรักษาล้วนอาศัยข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคแต่ละประเภท มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ต่างกันไป ต้องคิดวิเคราะห์ประกอบเข้ากับข้อมูลเฉพาะตัวของคนไข้ว่าเหมาะกับการรักษาด้วยวิธีนั้นๆ หรือไม่ จึงนำมาสู่การตัดสินใจด้วยข้อมูล

อีกสายงานหนึ่งที่หมอทำคือ งานบริหารโรงพยาบาล แน่นอนว่าต้องอาศัยข้อมูลต่างๆ ในการตัดสินใจไม่แพ้กัน ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลทั้งจากประวัติการรักษา งานวิจัย อุปกรณ์ Internet of Medical Things (IoMT) โซเชียลมีเดีย เสิร์ชเอนจิน และอีกหลายเส้นทางของข้อมูลที่หลั่งไหลมารวมกัน นำไปสู่การตัดสินใจทางธุรกิจ

หมอเชื่อว่าพวกเราหลายคนถนัดกับการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ในเรื่องงาน แต่ในด้านเรื่องส่วนตัวนั้น เรากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ Data Driven เท่าใดนัก โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญกับชีวิตของเราอย่าง ‘ความรัก’ ที่เรามักปล่อย ให้สมองส่วนอารมณ์อยู่เหนือสมองส่วนเหตุผล

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การมีความรักที่ดี มีความสัมพันธ์ที่มั่นคง ส่งผลดีต่อสุขภาพใจ สุขภาพกาย ประสิทธิภาพการทำงาน รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ในทางตรงข้าม ความรักที่เปราะบางในความสัมพันธ์ที่มีปัญหาเรื้อรัง ส่งผลลบต่อชีวิตในหลายด้าน เมื่อความรักมีความสำคัญไม่น้อย จึงมีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งพยายามหาคำตอบถึง Secret Sauce (เคล็ดลับ) ของความรักที่ประสบความสำเร็จ โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ เป็นชุดข้อมูล 43 ชุดจากการสัมภาษณ์คู่รัก 11,196 คู่ ซึ่งถูกนำมาวิเคราะห์ด้วย Machine Learning โดยใช้เทคนิค Random Forest Algorithm เพื่อหาว่าตัวแปรใดจะทำนายความสัมพันธ์ได้อย่างแม่นยำ

 

 

ผลการวิเคราะห์จาก AI พบว่า ตัวแปรที่สำคัญสุดในความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักคือ Perceived Partner Commitment หรือความเชื่อว่าคู่รักของเรามีความจริงจังทุ่มเทให้กับความสัมพันธ์ ความรู้สึกว่าอีกฝ่ายพร้อมจะลงเรือลำเดียวกันและฟันฝ่าไปด้วยกันไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

ตัวแปรที่มีความสำคัญรองลงมาคือ Appreciation การเห็นคุณค่าของอีกฝ่าย ดีใจที่มีคนคนนี้อยู่ในชีวิตของเรา ตัวแปรลำดับต่อมาคือ Sexual Satisfaction หรือความพึงพอใจในความสัมพันธ์บนเตียงระหว่างกัน และ Perceived Partner Satisfaction การรับรู้ว่าคู่ของเรามีความพึงพอใจในความสัมพันธ์นี้

ส่วนตัวแปรที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บุคลิกภาพ ความพึงพอใจในชีวิต รายได้ อายุกลับไม่ได้มีผลมากเท่ากับตัวแปรที่เป็นความเชื่อมั่นหรือการเห็นคุณค่าระหว่างกัน นั่นหมายความว่าลักษณะภายนอก บุคลิกภาพ หรือคุณสมบัติภายนอกต่างๆ อาจเป็นตัวแปรที่นำไปสู่การเริ่มต้นความสัมพันธ์ แต่การยั่งยืนและประสบความสำเร็จในความสัมพันธ์ระยะยาวนั้นขึ้นกับความรู้สึกที่มีระหว่างกัน และการแสดงออกให้อีกฝ่ายได้รับรู้มากกว่า

เมื่ออ่านงานวิจัยชิ้นนี้จบลง หมอนึกไปถึงครั้งหนึ่งที่เคยมีปัญหาเรื่องความรัก และได้ปรึกษาเพื่อนสนิทที่แต่งงานและมีความสัมพันธ์ที่ดีมากมายาวนานเกินสิบปี เพื่อนแชร์ว่า สำหรับเขานั้น Mindset ที่สำคัญมากในเรื่องชีวิตคู่คือ “ความเชื่อระหว่างกันว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงก็จะไม่ทิ้งกันไป” ซึ่งตรงกับตัวแปร Perceived Partner Commitment จากงานวิจัยเป๊ะ!

สรุปแล้วงานวิจัยที่พยายามใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วย AI เพื่อหาตัวแปรสำคัญในเรื่องความรักกลับได้คำตอบว่า เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะรักใครสักคนและสร้างความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน ตัวเราเป็นใคร มีนิสัยอย่างไร ไม่สำคัญเท่าเรารู้สึกกับอีกฝ่ายอย่างไร เชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในกันและกันมากแค่ไหน Commitment และ Appreciation คือตัวแปรสำคัญของความสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จ

 

ภาพ: shutterstock

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • Joel, Samantha et al. “Machine learning uncovers the most robust self-report predictors of relationship quality across 43 longitudinal couples studies.” 
  • Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America vol. 117,32 (2020): 19061-19071. doi:10.1073/pnas.1917036117

The post ค้นหาตัวแปรสำคัญในความรัก ด้วย Data Driven Relationship เมื่อ AI สอนเราให้รัก appeared first on THE STANDARD.

]]>
4 New Normal ของวงการแพทย์ https://thestandard.co/4-new-normal-of-medical-profession/ Mon, 04 Jan 2021 09:07:30 +0000 https://thestandard.co/?p=439029 4 New Normal ของวงการแพทย์

2020 เป็นปีที่ Oxford ถึงกับประกาศว่าไม่สามารถใช้คำเพีย […]

The post 4 New Normal ของวงการแพทย์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
4 New Normal ของวงการแพทย์

2020 เป็นปีที่ Oxford ถึงกับประกาศว่าไม่สามารถใช้คำเพียงคำเดียวมาอธิบายเป็น Word of the Year เฉกเช่นทุกปีได้ เพราะมีเรื่องราวมากมายที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง Pandemic, Lockdown, Coronavirus, Zoom Fatigue, Resilience, Staycation, Anthropause เป็นเพียงบางส่วนของคำศัพท์ที่ถูกหยิบยกมาพูดถึง รวมถึงอีกคำที่เชื่อว่ากระทบกับการใช้ชีวิตของทุกคน นั่นคือคำว่า ‘New Normal’

 

New Normal หรือความปกติใหม่นั้น เกิดขึ้นเมื่อโลกอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ ความปกติใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตหลายด้าน เกิดในหลายวงการสาขาอาชีพ รวมถึงวงการแพทย์ที่มี New Normal เกิดขึ้นยิบย่อยมากมาย แต่มีอยู่ 4 เทรนด์ที่มีผลกระทบค่อนข้างมาก และน่าจะส่งแรงกระเพื่อมไปอีกนานแม้โควิด-19 จะอ่อนกำลังไปในอนาคต New Normal เหล่านี้ก็น่าจะยังคงอยู่ 

 

Speed 

โดยปกติแล้ววงการแพทย์จะเป็นวงการที่ค่อนข้างเคลื่อนตัวช้าแต่มั่นคง ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยทางการแพทย์หนึ่งชิ้น หลังจากผู้เขียนพร้อมส่งต้นฉบับแล้ว ต้องใช้เวลาในการเดินทางผ่านมือผู้เชี่ยวชาญหลายท่านตรวจทานเป็นเวลาเฉลี่ย 8-9 เดือน กว่าจะได้เผยแพร่ แต่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้นักวิจัยและแพทย์ต้องทำงานแข่งกับเวลา งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ถูกผลิตและเผยแพร่มากมายในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการพิจารณาเพื่อเผยแพร่ถูกย่นลงไปเหลือแค่ 20 วัน และเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการระบาดเริ่มต้น นักวิจัยจากจีนก็เผยแพร่งานวิจัยที่รวบรวมข้อมูลจากคนไข้ 73,000 คนเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเสียชีวิต

 

ส่วนการพัฒนาและผลิตวัคซีนนั้น โดยปกติใช้เวลา 10-15 ปีกว่าจะออกสู่ท้องตลาด แต่ด้วยความหนักหนาของวิกฤติการณ์ ส่งผลให้วัคซีนโควิด-19 ถูกพัฒนาและใช้งานจริงในระยะเวลาเฉลี่ยเพียง 11 เดือน

 

Hygiene

Hand Hygiene หรือการรักษาความสะอาดของมือ ล้างมือก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วย เป็นสิ่งที่แพทย์ควรปฏิบัติเสมอ แต่จากหลายงานวิจัยพบว่าอัตราการปฏิบัติได้จริงอยู่ที่ราว 40-60% แต่วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลให้แพทย์ขยันล้างมือกันมากขึ้น โดยวิจัยพบว่าอัตราการล้างมือเพิ่มเป็นเกือบ 100% ในบางโรงพยาบาล

 

นอกจากการล้างมือแล้ว การปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย อย่างโดยส่วนตัวหมอเอง ในยุคก่อนโควิด-19 สำหรับหัตถการง่ายๆ อย่างการกดสิว จะใส่แค่ถุงมือและหน้ากากอนามัยเป็นอุปกรณ์ปกป้อง แต่ในปัจจุบันจะมีทั้งหมวกและเฟซชีลด์เป็นอุปกรณ์เพิ่มเติมทุกครั้ง 

4 New Normal ของวงการแพทย์

 

Virtual Care

โทรเวช หรือ Telemedicine คือการที่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ในการสื่อสารเพื่อให้คำแนะนำทางการแพทย์กับผู้ป่วยหรือผู้รับคำแนะนำที่อยู่ไกลออกไป Telemedicine ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่เคยมีกรอบหรือกฎที่แน่ชัด และไม่เคยได้รับความนิยม จนกระทั่งวิกฤตโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ Telemedicine ถูกยอมรับและใช้งานอย่างกว้างขวางทั่วทั้งโลก ส่งผลให้มีการขยายตัวของตลาดทั่วโลกราว 30-60% แพทย์ที่เคยปฏิเสธ Telemedicine ต่างหันมาทดลองใช้และยอมรับมากขึ้น ในขณะที่ผู้ป่วยซึ่งไม่เคยรู้จัก Telemedicine ก็มีโอกาสได้รู้จักและเปิดใจรับ

 

Virtual Care หรือการดูแลรักษาผ่านทางออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้กับแพทย์หลากสาขา ทั้งในรูปแบบของออนไลน์อย่างเดียว หรือผสมผสานออนไลน์เข้ากับออฟไลน์ เช่น โรงพยาบาลสมิติเวช ที่มีการให้คำปรึกษาทางออนไลน์ผนวกเข้ากับบริการเจาะเลือดถึงบ้านในรูปแบบออฟไลน์ แล้วฟังผลผ่านทางออนไลน์ และรับยาที่ถูกจัดส่งถึงบ้าน เป็นตัวอย่างของ Virtual Care ในแบบผสมผสาน 

 

How We Learn

แพทย์เองไม่ต่างจากสาขาวิชาชีพอื่นที่ต้องมีการเรียนรู้เพิ่มเติม เสริมความรู้ใหม่ๆ ไปตลอด โดยส่วนใหญ่จะผ่านทางการประชุมวิชาการหรือสัมมนาต่างๆ ซึ่งวิกฤตโควิด-19 นี้ได้ส่งผลให้งานประชุมถูกยกเลิก หรือปรับมาเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด ส่งผลให้แพทย์ได้ฝึกเรียนผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ส่วนตัวหมอเองยอมรับว่าชอบการเรียนรูปแบบออนไลน์มากกว่า เพราะช่วยประหยัดเวลาได้มาก โดยเฉพาะประชุมวิชาการที่จัดในต่างประเทศ ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบปกติต้องเสียเวลาบินไปกลับเป็นวัน และเจ็ตแล็กต่ออีกสักพักหลังจากบินกลับมา แม้จะมี Zoom Fatigue บ้าง แต่ก็ไม่เหนื่อยเท่ากับเจ็ตแล็ก เชื่อว่าการเรียนรูปแบบออนไลน์จะเป็นอีกเทรนด์ที่คงอยู่และขยายตัวต่อไป  

 

แม้วิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2020 ที่ผ่านมานี้จะสอนให้เราได้เรียนรู้ ปรับตัว และพัฒนา จนเกิด ‘New Normal’ ในหลายด้าน แต่คงจะดีกว่ามากหากพวกเราได้กลับสู่ภาวะปกติ Normal ที่ไม่มีการห่างไกลและสูญเสียมากมายขนาดนี้

 

ภาพของโรงพยาบาลสนามที่มีผู้ป่วยนอนเรียงกัน ภาพศพที่ถูกห่อด้วยพลาสติกป้องกันการแพร่เชื้อ ภาพสนามบินที่มีแต่เครื่องบินจอดนิ่งสงบ ภาพไทม์สแควร์ที่ร้างผู้คน วิกฤตโควิด-19 ทำให้ภาพที่ควรจะอยู่แต่ในซีรีส์กลับเกิดขึ้นจริง 

 

ถ้าเดือนธันวาคมเป็นเอพิโสดสุดท้ายของซีซันแรก ขอให้ซีซันถัดไปโทนความหม่นของซีรีส์เรื่องนี้ลดลง แอ็กชันไม่ต้องมาก ดราม่าไม่ต้องหนัก มีโรแมนติกคอเมดี้แทรกบ้าง 2021 คงจะเป็นซีรีส์ที่สนุกน่าดูขึ้น 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

อ้างอิง:

  • Berwick DM. Choices for the “New Normal”. JAMA. 2020;323(21):2125–2126.
  • U.S Department of Health and Human Services. Vaccine product approval process. U.S. Food and Drug Administration. Updated 01/09/2018. Accessed 01/17/2018.
  • Barakat, Amr F., et al. “Timeline from receipt to online publication of COVID-19 original research articles.” medRxiv (2020).
  • Jaklevic MC. Pandemic Spotlights In-home Colon Cancer Screening Tests. JAMA. Published online December 23, 2020.
  • Roshan R, Feroz AS, Rafique Z, Virani N. Rigorous Hand Hygiene Practices Among Health Care Workers Reduce Hospital-Associated Infections During the COVID-19 Pandemic. J Prim Care Community Health. 2020;11:2150132720943331. doi:10.1177/2150132720943331

The post 4 New Normal ของวงการแพทย์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
พร้อมกันไหม? กับการถูก ‘ปลูกถ่ายอุจจาระ’ https://thestandard.co/stool-transplantation/ Mon, 19 Oct 2020 06:43:48 +0000 https://thestandard.co/?p=409568

ปลูกถ่ายอวัยวะเป็นหนี่งในทางเลือกการรักษาที่เราส่วนใหญ่ […]

The post พร้อมกันไหม? กับการถูก ‘ปลูกถ่ายอุจจาระ’ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ปลูกถ่ายอวัยวะเป็นหนี่งในทางเลือกการรักษาที่เราส่วนใหญ่คุ้นหู ด้วยคอนเซปต์ที่ตรงไปตรงมา เมื่ออวัยวะใดล้มเหลวจนเกินกว่าจะทำงานต่อไปได้ ก็ปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ที่ยังใช้งานได้จากผู้บริจาค หากเป็นอวัยวะที่มีสำรอง เช่น ไต มีสองข้าง ก็สามารถรับบริจาคจากญาติพี่น้องเพื่อแบ่งกันใช้คนละข้างได้ แต่หากเป็นอวัยวะที่มีเพียงหนึ่ง เช่น ตับ ก็ต้องรอการส่งต่ออวัยวะจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว แต่อวัยวะบางอย่างยังใช้การได้ดีอยู่ สามารถส่งต่อไปให้ผู้อื่นใช้งานต่อได้



แต่ ‘ปลูกถ่ายอุจจาระ’ น่าจะเป็นคำที่คนส่วนใหญ่ไม่คุ้น และอาจถึงขั้นร้องอี๋เมื่อนึกถึงกระบวนการรับสัมปทานอุจจาระของคนอื่นเข้ามาใส่ในลำไส้ของตัวเอง แต่การปลูกถ่ายอุจจาระเป็นหนึ่งในแนวทางการรักษาที่กำลังมาแรงและมีงานวิจัยในหลายด้าน ถึงความเป็นไปได้ในการนำมาใช้


ปัจจุบันการปลูกถ่ายอุจจาระมีการใช้จริงแล้วในต่างประเทศ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile ในลำไส้ หลักการรักษานั้นเปรียบเทียบง่ายๆ โดยสมมติว่า C. difficile เป็นผู้ก่อการร้ายที่มายึดครองลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้การทำงานผิดปกติ ถ่ายเหลว การปลูกถ่ายอุจจาระคือการนำกองทัพประชาชนที่แข็งแรงดีจำนวนมหาศาลเข้าไปยึดครองพื้นที่กลับมาจากผู้ก่อการร้าย จึงช่วยรักษาให้ลำไส้กลับมาทำงานเป็นปกติได้



ส่วนโรคอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการรักษาด้วยการปลูกถ่ายอุจจาระนั้นมีหลากหลาย เช่น โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (IBD) ออทิสซึ่ม พาร์กินสัน ซึมเศร้า รวมถึงโรคอ้วนลงพุงและเบาหวาน โดยผู้บริจาคอุจจาระนั้นจะต้องเป็นคนที่มีสุขภาพดี มีประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่หลากหลาย หนาแน่น และสมดุล ส่วนอุจจาระที่ได้รับบริจาคมานั้นจะถูกนำมาสกรีนโรคร้ายต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริจาค ก่อนถูกนำมาปลูกถ่าย โดยฉีดสวนกลับเข้าไปในลำไส้ใหญ่ผ่านทางทวารหนัก



ล่าสุดมีงานวิจัยเชิง Proof of Concept Study ได้ทดลองให้เด็กที่เกิดโดยผ่าท้องคลอด 7 คนได้รับการป้อนอุจจาระจากแม่ของตัวเอง (แน่นอนว่ามีการตรวจอุจจาระของคุณแม่ก่อนว่าไม่มีเชื้อก่อโรคที่เป็นอันตราย) และตรวจหาประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ในเวลา 3 เดือนต่อมา พบว่าประชากรแบคทีเรียในลำไส้มีลักษณะเหมือนเด็กที่คลอดผ่านทางช่องคลอด และแตกต่างกับเด็กที่คลอดโดยผ่าท้องคลอดทั่วไป จึงมีความเป็นไปได้ว่าการปลูกถ่ายอุจจาระจากแม่อาจเป็นวิธีที่ช่วยฟื้นคืนประชากรแบคทีเรียในลำไส้ให้กับเด็กที่เกิดโดยการผ่าท้องคลอดได้ แต่ยังคงต้องรองานวิจัยขนาดใหญ่เพื่อยืนยันแนวคิดนี้ต่อไป



เทรนด์ปลูกถ่ายอุจจาระตั้งต้นมาจากกระแสความรู้เรื่องประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งจากเทคโนโลยีการตรวจ RNA gene sequencing และ DNA fingerprinting ที่ก้าวไกลขึ้น ส่งผลให้มนุษย์เรารู้จักเพื่อนตัวน้อยในลำไส้ใหญ่มากขึ้น เราพบว่าถ้านับกันตามจำนวนเซลล์แล้ว ร่างกายเราประกอบด้วยเซลล์แบคทีเรียมากกว่าเซลล์มนุษย์ถึง 10 เท่า เฉพาะแค่ในลำไส้ พวกเราแต่ละคนก็มีเพื่อนตัวน้อยเหล่านี้อาศัยอยู่ไม่ต่ำกว่า 1014 ตัว!



ประชากรแบคทีเรียเหล่านี้ไม่ได้อยู่อาศัยเฉยๆ แต่อยู่แบบมีปฏิสัมพันธ์กับร่างกายของเราในลักษณะที่เรียกว่า Symbiosis คือมีการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันและกัน โดยเพื่อนสนิทของแบคทีเรียเหล่านี้คือเม็ดเลือดขาว ซึ่งเปรียบเสมือนทหารของกองทัพภูมิคุ้มกัน ประชากรแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่ดีและหลากหลาย จะส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี ไม่อ่อนแอจนติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย ไม่รวนจนเป็นภูมิแพ้ ระบบย่อยอาหารก็ทำงานคล่อง ดูดซึมสารอาหารที่สำคัญได้ดี


อีกเพื่อนสนิทหนึ่งของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่คือ เซลล์ประสาทที่แฝงตัวอยู่ที่ผนังลำไส้มากมาย เซลล์เหล่านี้ทำหน้าที่ผลิตสารสื่อประสาทซึ่งส่งผลกับอารมณ์และการทำงานของสมอง (อวัยวะที่มีเซลล์ประสาทมากเป็นอันดับหนึ่งคือสมอง อันดับสองคือลำไส้) ประเภทและปริมาณของประชากรแบคทีเรียเหล่านี้จึงส่งผลถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและอารมณ์



พวกเราแต่ละคนมีประชากรแบคทีเรียที่ต่างกันไปทั้งสายพันธุ์และความหนาแน่น โดยปัจจัยสำคัญที่กำหนด เริ่มตั้งแต่วิธีการที่เราถูกส่งตัวออกมาดูโลก เด็กที่เกิดโดยผ่าท้องคลอดจะมีประเภทของประชากรแบคทีเรียที่ต่างกับเด็กที่เกิดทางช่องคลอด เพราะการเดินทางผ่านช่องคลอดส่งผลให้เด็กได้รับสารคัดหลั่งทั้งจากช่องคลอดและทวารหนักของแม่ ผ่านเข้าทางปากตามธรรมชาติ ส่งผลให้เด็กที่เกิดผ่านช่องคลอด มีประชากรแบคทีเรียที่จัดว่าดีต่อสุขภาพมากกว่าเด็กที่เกิดโดยผ่าท้อง



ในวันนี้ที่การปลูกถ่ายอุจจาระยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงในเมืองไทย และอาจเป็นแนวทางการรักษาที่บางคนฟังแล้วยังรู้สึกไม่พร้อม แต่สิ่งที่เราเริ่มต้นได้หากพร้อม คือการปรับเปลี่ยนประชากรแบคทีเรียในลำไส้ทีละน้อยเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ด้วยการปรับอาหารและไลฟ์สไตล์ตามแนวทางในหนังสือ Microbiota อวัยวะที่ถูกลืม ซึ่งหมอได้เขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน โดยมีหลักเบื้องต้นดังนี้

 

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูงสม่ำเสมอ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ที่ทานได้ทั้งเปลือก และผัก 
  • เน้นอาหารที่มีพรีไบโอติกซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ เช่น กระเทียม หัวหอม ต้นหอม ถั่วต่างๆ ข้าวโอ๊ต กล้วย
  • พยายามรับประทานอาหารให้หลากหลาย อย่าทานแต่อาหารแบบเดิมซ้ำๆ ไม่กี่อย่าง
  • เลี่ยงการรับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่มีข้อบ่งชี้
  • เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป

 

ปลูกถ่ายอวัยวะและปลูกถ่ายอุจจาระ เป็นทางเลือกในการรักษาเมื่อการทำงานในร่างกายเสียสมดุลจนเกิดโรคขึ้นแล้ว ส่วนการดูแลสุขภาพให้ดีก่อนที่จะเกิดโรคขึ้นมานั้น เป็นทางเลือกในการใช้ชีวิตที่คุณเริ่มต้นได้ทันทีเมื่อใจพร้อมค่ะ 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

อ้างอิง:

  • Katri Korpela, Otto Helve, Kaija-Leena Kolho, Terhi Saisto, Kirsi Skogberg, Evgenia Dikareva, Vedran Stefanovic, Anne Salonen, Sture Andersson, Willem M. de Vos. Maternal Fecal Microbiota Transplantation in Cesarean-Born Infants Rapidly Restores Normal Gut Microbial Development: A Proof-of-Concept Study. Cell, 2020; DOI: 10.1016/j.cell.2020.08.047
  • Lee, Woo Jung, et al. “Fecal microbiota transplantation: a review of emerging indications beyond relapsing Clostridium difficile toxin colitis.” Gastroenterology & Hepatology 11.1 (2015): 24.
  • Galland, Leo. “The gut microbiome and the brain.” Journal of medicinal food 17.12 (2014): 1261-1272.

The post พร้อมกันไหม? กับการถูก ‘ปลูกถ่ายอุจจาระ’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
เพราะสมองนั้นยืดหยุ่น อ่อนไหว และมหัศจรรย์ https://thestandard.co/brain-is-flexible-and-amazing/ Tue, 15 Sep 2020 01:32:50 +0000 https://thestandard.co/?p=396782

“สมองส่วนควบคุมเท้าของคนทั่วไปจะขนาดประมาณเม็ดถั่ว แต่ข […]

The post เพราะสมองนั้นยืดหยุ่น อ่อนไหว และมหัศจรรย์ appeared first on THE STANDARD.

]]>

“สมองส่วนควบคุมเท้าของคนทั่วไปจะขนาดประมาณเม็ดถั่ว แต่ของผม…ใหญ่เกือบเท่าลูกปิงปอง”

แมตต์ สตัทซ์แมน นักกีฬายิงธนูพาราลิมปิก ซึ่งไม่มีแขนสองข้าง แต่สามารถใช้เท้าและคอในการเหนี่ยวคันธนูยิงได้อย่างแม่นยำ เล่าถึงผลสแกนสมองของเขา

หลังจากดูหนัง Rising Phoenix ซึ่งเป็นสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องราวการต่อสู้ของนักกีฬาพาราลิมปิกจบลง ความรู้สึกและความคิดหลากหลายลอยฟุ้งในสมอง เหมือนสารแขวนลอยที่รอเวลาหรือปฏิกิริยาบางอย่างมาทำให้ตกตะกอน หนึ่งในนั้นคือประโยคข้างต้นของแมตต์ที่ชวนให้นึกถึงคำว่า ‘Neuroplasticity’

สมองเป็นอวัยวะที่มักถูกนำมาเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ แต่ส่วนตัวมองว่าสมองนั้นมีความ ’คูล’ ยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์อยู่หลายแง่มุม หนึ่งในนั้นคือความสามารถในการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ด้วยตัวเอง ถ้าความรู้เปรียบเสมือนซอฟต์แวร์ ตัวสมองเองเปรียบเสมือนฮาร์ดแวร์ ในขณะที่คอมพิวเตอร์ไม่สามารถอัปเกรดฮาร์ดแวร์โดยอัตโนมัติได้ แต่สมองกลับมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อให้การทำงานตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้นได้โดยอัตโนมัติ และนั่นคือ ‘Neuroplasticity’ หรือการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง การทำงาน หรือเคมีของสมอง ซึ่งเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมที่มากระตุ้น เป็นกระบวนการที่เกิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในมดลูกของแม่ จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

Neuroplasticity อธิบายเป็นภาษาไทยได้ง่ายๆ ว่า สมองมีความยืดหยุ่น ตัวอย่างคลาสสิกที่มักถูกหยิบยกมาอธิบายในเรื่องนี้คือ งานวิจัยที่เปรียบเทียบสมองของคนขับแท็กซี่ในลอนดอนกับสมองของคนขับรถบัส พบว่าสมองส่วนความจำ หรือ ฮิปโปแคมปัส ของคนขับแท็กซี่มีขนาดใหญ่กว่าคนขับรถบัส เป็นผลจากการที่คนขับแท็กซี่ต้องจดจำเส้นทางลัดต่างๆ ที่ซับซ้อนมากกว่าคนขับรถบัส อีกตัวอย่างที่ชัดเจนคือในผู้พิการทางสายตา ซึ่งต้องใช้มือในการอ่านอักษรเบรลล์ จะมีสมองส่วนประสาทสัมผัสบริเวณมือที่ใหญ่กว่าคนทั่วไป

สมองของพวกเราจึงต่างมีความยืดหยุ่นและอ่อนไหวไปตามสิ่งแวดล้อมและการเลือกใช้ชีวิตที่ต่างกันไป แต่มีการเปลี่ยนแปลงสองรูปแบบที่เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นกับสมองของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน หนึ่งคือ เมื่อเทียบกับมนุษย์ยุคก่อนอินเทอร์เน็ต สมองของเรามีแนวโน้มจะทำงานได้ตื้นเขินขึ้น เป็นทฤษฎีที่ นิโคลัส คาร์ ได้เขียนไว้ในหนังสือดัง The Shallows: What the Internet Is Doing to Our Brains เนื่องจากสมองของเราถูกฝึกให้คุ้นชินกับการรับข้อมูลใหม่จำนวนมาก หลากหลาย เปลี่ยนหัวข้อไปมาในช่วงเวลาสั้นๆ เป็นข้อมูลเชิงกว้างมากกว่าเชิงลึก ซึ่งเป็นลักษณะของการรับรู้ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ในขณะที่การรับรู้ข้อมูลรูปแบบเดิมผ่านการอ่านหนังสือเป็นการเรียนรู้เชิงลึกที่ใช้เวลา และอาศัยความต่อเนื่องทางการคิด สมองของคนยุคปัจจุบันจึงยืดหยุ่นปรับตัวให้เข้ากับลักษณะการใช้งานในปัจจุบัน และลักษณะงานที่ไม่ได้ฝึกใช้เป็นประจำก็จะด้อยประสิทธิภาพลง

อีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้นคือการถดถอยทางประสิทธิภาพของสมอง ทั้งในด้านความจำ การคิดวิเคราะห์ ความเร็ว รวมไปถึงความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัวเรียนรู้หรือ Neuroplasticity อาจสรุปง่ายๆ ว่า สมองเองก็แก่ไปพร้อมๆ กับเรา แต่การตื้นเขินและแก่ลงของสมองที่เกิดขึ้นกับพวกเราแต่ละคนนั้นมีระดับของการเปลี่ยนแปลงและอัตราเร็วที่ไม่เท่ากัน ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงพฤติกรรมที่เราเลือกที่จะ ‘ทำ’ หรือ ‘ไม่ทำ’

สิ่งแวดล้อม – สมองจะฝึกความยืดหยุ่นได้ดีเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีความแปลกใหม่ มีสิ่งท้าทายให้คิด การได้พาตัวเองออกไปเที่ยวในสถานที่ใหม่ๆ หรือไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยบ้างจะช่วยให้สมองได้ฝึกฝนการปรับตัว

โฟกัส – เพื่อป้องกันสมองคุ้นชินกับความตื้นเขิน ควรให้สมองได้มีเวลาฝึกการโฟกัสต่อเนื่อง ด้วยกิจกรรมง่ายๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนบล็อก โดยระหว่างทำกิจกรรมฝึกโฟกัสเหล่านี้ ควรปิดมือถือหรือสิ่งเร้าอื่นๆ ที่จะทำให้ไม่โฟกัส

นิวโรบิก – ออกกำลังสมองด้วยการใช้งานในด้านที่ไม่คุ้นชินบ้าง เช่น ฝึกใช้มือข้างที่ไม่ถนัดแปรงฟัน หลับตาคลำหาของในกระเป๋าเพื่อฝึกประสาทสัมผัสมือ

เรียนรู้ – ทุกครั้งที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ สมองจะปรับเปลี่ยนตามไปด้วยเสมอ โดยเฉพาะการเรียนภาษา ดนตรี เต้นรำ ศิลปะ หรือแม้แต่การเล่นเกม 3D ออนไลน์

เลี่ยงความเครียด – อวัยวะที่อาจจะอ่อนไหวต่อความเครียดมากกว่าหัวใจคือสมอง ฮอร์โมนเครียดเพิ่มสารสื่อประสาทกลูตาเมตซึ่งส่งผลเสียต่อเซลล์สมอง ความเครียดเรื้อรังส่งผลให้สมองส่วนความจำและการตัดสินใจทำงานแย่ลง

ออกกำลัง – การออกกำลังกายคือการออกกำลังสมองไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะการออกกำลังแบบแอโรบิกที่ทำให้เหนื่อยปานกลางแบบต่อเนื่อง เช่น การวิ่งเร็วต่อเนื่อง 30 นาที พบว่าการออกกำลังแบบแอโรบิกส่งผลดีต่อสมองมากกว่าการออกกำลังรูปแบบอื่น

นอน – เวลาที่สมาร์ทโฟนของเราเริ่มอืดๆ ทำงานรวนๆ สิ่งแรกที่เรามักทำคือกด Reboot สมองก็เช่นกัน การนอนคือการ Reboot สมองที่ดีที่สุด เป็นเวลาที่สมองจะได้จัดการกับข้อมูลต่างๆให้เป็นระเบียบ และเก็บกวาดสิ่งรกร้างในสมองออกไปจากระบบ

พฤติกรรมเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความยืดหยุ่นและการชะลอความเสื่อมไปตามวัยของสมอง เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบ ข้อมูลใหม่ที่ได้รับได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสมองของคุณแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดต่อเนื่องและขยายผลได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการเลือกที่จะ ‘ทำ’ หรือไม่หลังจากนี้

ในวันที่ แมตต์ สตัทซ์แมน อยากฝึกยิงธนู เขากูเกิลหาวิธียิงธนูสำหรับคนไม่มีแขน แต่ไม่พบข้อมูลใดๆ ในอินเทอร์เน็ต นั่นคือความท้าทายที่กระตุ้นให้สมองของเขาสร้างสรรค์วิธีการยิง ปรับการทำงาน เรียนรู้ ฝึกฝน จนเขากลายเป็นนักยิงธนูไร้แขนคนแรกของโลก ได้เป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งพาราลิมปิก และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนอีกมากมาย

…เพราะสมองนั้นยืดหยุ่น อ่อนไหว และมหัศจรรย์! 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • Smith, Gwenn S. “Aging and neuroplasticity.” Dialogues in clinical neuroscience 15.1 (2013): 3.
  • Pauwels, Lisa, Sima Chalavi, and Stephan P. Swinnen. “Aging and brain plasticity.” Aging (Albany NY) 10.8 (2018): 1789.
  • “‘The Shallows’: This Is Your Brain Online”. NPR.org. 2 June 2010.
  • Lara Boyd. (2015, December). After watching this, your brain will not be the same [Video file]. Retrieved from https://www.youtube.com/watch?v=LNHBMFCzznE

The post เพราะสมองนั้นยืดหยุ่น อ่อนไหว และมหัศจรรย์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
บุฟเฟต์ กินอย่างไรให้คุ้ม? https://thestandard.co/all-you-can-eat-buffet/ Fri, 31 Jul 2020 11:10:30 +0000 https://thestandard.co/?p=384888

สำหรับคนเล่นทวิตเตอร์ จะเข้าใจดีว่าเราแต่ละคนต่างมีแฮชแ […]

The post บุฟเฟต์ กินอย่างไรให้คุ้ม? appeared first on THE STANDARD.

]]>

สำหรับคนเล่นทวิตเตอร์ จะเข้าใจดีว่าเราแต่ละคนต่างมีแฮชแท็กที่ชอบแอบเข้าไปส่องตามแต่ความสนใจส่วนตัว สำหรับหมอเองก็มีหนึ่งแฮชแท็กที่ว่างๆ ก็จะเผลอไปส่องและไถฟีดดู นั่นคือแฮชแท็กฮิต #อร่อยไปแดก ซึ่งในฟีดจะเต็มไปด้วยโพสรีวิวร้านอาหารและเมนูอาหารอร่อยหลากหลาย และแน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเน้นที่รสชาติมากกว่าเรื่องสุขภาพ แต่หมอซึ่งเป็นสายแข็งสุขภาพ ก็ชอบเข้าไปส่องเพื่อให้ทราบว่าคนกำลังฮิตกินอะไรกันอยู่บ้าง ซึ่งหมอสังเกตว่าหนึ่งในประเภทร้านอาหารที่ได้รับความนิยมมาตลอดสำหรับสาย #อร่อยไปแดกคือ บุฟเฟต์ โดยเฉพาะบุฟเฟต์เกาหลีและบุฟเฟต์ชาบูที่กำลังมาแรงในช่วงนี้

ร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์หรือ All You Can Eat นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ หมอเองถูกพาไปลิ้มลองร้านประเภทนี้ตั้งแต่วัยเด็ก ต้องยอมรับว่าในตอนนั้นรู้สึกว่าร้านอาหารที่กินได้ไม่อั้นนั้นว้าวสุดๆ ชอบความรู้สึกที่จะกินอะไรแค่ไหนก็ได้ และแอบงงว่าร้านจะคุ้มได้อย่างไร จนกระทั่งโตขึ้นหน่อย ได้มีโอกาสอ่านหนังสือต่างๆ จึงเข้าใจเศรษฐศาสตร์ของบุฟเฟต์ว่า ความคุ้มหรือไม่นั้นเป็นการรับรู้ของแต่ละคน แม้คนส่วนใหญ่จะรับรู้ว่าตัวเองกินได้คุ้มกับเงินที่จ่ายไป ส่วนสิ่งที่ร้านอาหารรับรู้คือกำไรที่ได้จากส่วนต่างของเงินที่ได้รับจากลูกค้าทั้งหมดกับต้นทุนอาหารที่จ่ายไปในแต่ละวัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะกำไรมากกว่าขาดทุน เพราะในความเป็นจริงแล้ว ลูกค้าที่กินจัดเต็มจนมูลค่าอาหารที่กินมากกว่ามูลค่าเงินที่จ่ายไปนั้นมีไม่มาก และส่วนใหญ่มากับลูกค้าที่กินน้อยกว่า เช่น ภรรยา แม่ หรือลูก ร้านอาหารแบบบุฟเฟต์จึงมีแนวโน้มที่จะทำตัวให้เป็นร้านอาหารของครอบครัว ซึ่งจะนำมาสู่ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในภาพรวม และยิ่งลูกค้ามากขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิด Economies of Scale ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่างๆ ลดลง และขยายตัวเลขกำไรให้เพิ่มขึ้นตาม

 

 

สำหรับลูกค้า หากเรามองในแง่กินให้คุ้มทางเศรษฐศาสตร์ ย่อมหมายถึงกินให้มากกว่าเงินที่จ่ายไป ซึ่งหลายครั้งหมายถึงกินเกินขีดของความอิ่ม งานวิจัยพบว่า การเลือกที่จะกินร้านอาหารประเภทบุฟเฟต์บ่อยสัมพันธ์กับโรคอ้วนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งโรคอ้วนนั้นนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก และอื่นๆ อีกมากมายหลายโรค นั่นแสดงว่าในการกินบุฟเฟต์นั้น นอกจากการเสียเงินแล้ว ยังมีการเสียสุขภาพเป็นต้นทุนแฝงที่เราลืมนำมาคำนวณด้วย

หมอจึงอยากเสนออีกทางเลือกหนึ่งในการวัดความคุ้มจากการกินบุฟเฟต์ คือเปลี่ยนมาประเมินความคุ้มในมุมความสุข เริ่มจาก สุขกาย คือกินให้ร่างกายไม่ลำบาก กางเกงไม่ปริ เครื่องชั่งน้ำหนักไม่โวยวาย โดยทิปส์ง่ายๆ ข้อหนึ่งที่สามารถทำได้คือ รอบแรกเริ่มจากอาหารที่ดีต่อสุขภาพก่อน 

 

 

วิจัยพบว่า คนที่เริ่มจานแรกของบุฟเฟต์ด้วยอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีแนวโน้มจะกินน้อยกว่าคนที่เริ่มจานแรกด้วยอาหารชวนอ้วน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ครั้งหน้าที่ไปกินชาบูบุฟเฟต์ รอบแรกให้ยับยั้งชั่งใจ เริ่มจากเนื้อปลาสดและชุดเห็ดผักรวมก่อน แล้วค่อยต่อไปยังเนื้อหมูหรือเนื้อวากิวในรอบถัดไป จะช่วยให้ภาพรวมในมื้อนั้นของคุณดีต่อสุขภาพขึ้น อีกทิปส์ที่สำคัญแต่คนมักมองข้ามคือ เครื่องดื่ม เพราะบุฟเฟต์มักมาพร้อมเครื่องดื่มรสหวาน เช่น น้ำอัดลม การเปลี่ยนเป็นน้ำเปล่า (แม้จะต้องจ่ายค่าน้ำเพิ่ม) จะช่วยลดปริมาณน้ำตาลส่วนเกินในมื้อนั้นได้มาก

 

 

อีกหนึ่งความคุ้มที่ควรนำมาประเมินการกินบุฟเฟต์คือ สุขใจ ซึ่งจะเพิ่มความคุ้มได้เมื่อเราเปลี่ยนโฟกัสจากอาหารมาเป็นเพื่อนร่วมโต๊ะอาหาร เพราะบทสนทนาดีๆ บนโต๊ะอาหารส่งผลให้เรากินช้าลง อิ่มง่ายขึ้น และช่วยให้เอนดอร์ฟินกับเซโรโทนินหลั่งออกมาให้รู้สึกดีได้ ไม่แพ้การกินอาหารชวนอ้วนเป็นปริมาณมากเลยทีเดียว

ท้ายสุดแต่ไม่สุดท้ายคือ ความสุขใจหลังจบมื้ออาหาร ที่เกิดขึ้นเมื่อเราสามารถกินจนอิ่มพอดี ไม่อิ่มเกินพอดี ไม่ผิดแผนที่ตั้งใจไว้ ไม่จุกจนอยากจะไปล้วงคอ และไม่เสียต้นทุนทางสุขภาพมากจนเกินควร ส่วนตัวหมอคิดว่าความคุ้มจากความสุขกายและสุขใจจากการกินบุฟเฟต์แบบทางสายกลางนี้ เป็นความคุ้มที่คู่ควรกับความอร่อยแบบยั่งยืนมากกว่าความคุ้มทางการเงิน

ครั้งหน้าที่ไปกินบุฟเฟต์ ลองนำทิปส์ที่หมอหยิบยกมาเล่าไปใช้ดูนะคะ จะได้ทราบว่าประสบการณ์ #อร่อยไปแดก แบบ #ผอมได้ไม่ต้องอด นั้นคุ้มอย่างไร

 

ภาพ: Shutterstock
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

The post บุฟเฟต์ กินอย่างไรให้คุ้ม? appeared first on THE STANDARD.

]]>