Q: พี่ในกรุ๊ปไลน์ที่ทำงานชอบฟอร์เวิร์ดข่าวการเมือง Fake […]
The post คนในกรุ๊ปไลน์ที่ทำงานชอบส่งข่าวการเมือง Fake News เข้ามาในกรุ๊ป รำคาญมากครับ เราควรจะบอกเขาไหมครับ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: พี่ในกรุ๊ปไลน์ที่ทำงานชอบฟอร์เวิร์ดข่าวการเมือง Fake News มาในกรุ๊ปบ้าง รำคาญมากเลยครับ ส่งมาอยู่ได้ทุกวัน อ่านก็รู้ว่า Fake News บ้าง ตรรกะเสียบ้าง แต่เขาก็ขยันส่งมาตลอด เราควรจะบอกเขาไหมครับ และบอกเขาอย่างไรให้เขาไม่รู้สึกไม่ดี ไม่ให้เสียความสัมพันธ์ครับ
A: อย่าว่าแต่เรื่องการเมืองเลยครับ ทุกวันนี้ผมยังเจอกรุ๊ปไลน์บางกรุ๊ปที่ผมอยู่ยังฟอร์เวิร์ดเรื่องมะนาวช่วยทำให้หายจากโรคมะเร็งได้อยู่เลย!
กรุ๊ปไลน์ที่เราใช้กันสำหรับรวมตัวคนที่อยู่ในที่ทำงานจะมีสองแบบคือ กรุ๊ปไลน์แบบทางการ คือเอาไว้คุยเรื่องงานจริงจัง ซึ่งบางทีก็จะเป็นกรุ๊ปที่มีหัวหน้าอยู่ด้วยนั่นแหละครับ บางทีก็อยู่กันคนละแผนก คนละหน้าที่ แล้วแอดไลน์กรุ๊ปเอาไว้คุยเรื่องงานกัน กับอีกแบบคือกรุ๊ปไลน์แบบไม่เป็นทางการ คือเอาไว้คุยเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องงาน กรุ๊ปเมาท์นั่นแหละครับ กรุ๊ปใหญ่บ้าง กรุ๊ปเล็กบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่การแชร์คอนเทนต์ต่างๆ ที่ฟอร์เวิร์ดต่อๆ กันมา หรือไปแชร์มาจากที่อื่น กรุ๊ปไลน์อื่นอีกต่อ ก็มักจะเกิดขึ้นกับกรุ๊ปนี้แหละครับ เพราะถ้าแชร์ข่าวในกรุ๊ปทางการก็ดูจะยังไงๆ อยู่ เพราะมันไม่เกี่ยวกับเรื่องงาน
เท่าที่ผมสังเกต คนที่ขยันแชร์ก็จะขยันแชร์จริงๆ ครับ คือคอนเทนต์เดียวแต่แชร์ต่อมันทุกกรุ๊ป เหมือนได้รับบทนักแชร์ในตำนานมาอย่างแท้จริง ซึ่งคอนเทนต์พวกนี้เอาจริงๆ คนเขียน คนทำก็เก่งตรงที่สามารถเขียนให้คนต้องหยุดอ่าน พาดหัวแรง หยุดความสนใจของคนได้ อันนี้ไม่เถียงว่าเขาเก่ง ปัญหาคือความถูกต้องของข้อมูลมากกว่า ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่เขาสนใจด้วยอยู่แล้ว อย่างคอนเทนต์การเมืองในฝั่งที่เขาชอบ อันนี้ยิ่งไว เพราะเขาพร้อมจะเปิดรับสารพวกนี้อยู่แล้ว บางทียังไม่ทันอ่าน ไม่ทันตรวจสอบหรอก แต่มันตรงกับความเชื่อบางอย่างก็พร้อมจะแชร์ต่อ
ปัญหามันอยู่ที่สิ่งที่เราเรียกว่า Social Media Literacy หรือการรู้เท่าทันโซเชียล ซึ่งรวมไปถึงการเปิดรับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย การตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องก่อนแชร์ การใช้โซเชียลมีเดียในทางที่เกิดประโยชน์ การไม่ตกเป็นเหยื่อของ Fake News หรือเป็นผู้ส่งต่อ Fake News กับ Hate Speech ต่างๆ ถ้าเราไม่มี Social Media Literacy ก็เป็นไปได้ครับที่เราจะเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อข้อมูลที่เป็นเท็จหรือเป็นพิษเป็นภัยให้คนอื่นได้ ซึ่งทำให้เกิดความรำคาญ ความเข้าใจผิด ไปจนถึงเกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง เป็นอันตรายต่อคนอื่นไปด้วย
คำแนะนำของผมก็คือ อย่างแรก ปล่อยผ่านครับ ถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าเขามักจะส่ง Fake News แต่ครั้นจะไปบอกเขาก็กลัวจะเสียเวลาหรือเสียความรู้สึก เราไม่ต้องสนใจคนนี้ไปเลย ส่งอะไรมาก็ผ่านไป ความรำคาญมันเกิดขึ้นเพราะเราไปอ่าน แล้วไปอ่านเจอสิ่งที่ตรรกะวิบัติ ไม่เป็นความจริงอีก เราก็จะหงุดหงิด
ยิ่งเป็นเรื่องการเมืองแล้ว โดยส่วนตัวนะครับ ผมจะเลือกคนที่ผมจะโต้แย้งด้วยเฉพาะคนที่เราสามารถคุยด้วยกันได้อย่างมีเหตุผล คือคุยกันอยู่บนหลักเหตุผลเหมือนกัน ไม่ได้คิดว่าเราต้องถูกทุกอย่าง แต่อยากฟังเหตุผลของคนอื่นที่คิดต่างด้วยว่าเป็นอย่างไร แต่ฟังแล้วจะคล้อยตามหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง และถ้าจะคุยก็จะคุยกับคนประเภทที่ไม่แปะป้ายคนที่มีความคิดทางการเมืองที่ต่างไปจากตัวเองว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ คุยแล้วเหนื่อย ถ้าไม่ได้คุยแล้วต่อยอดทางปัญญาได้ ไม่มีความจำเป็นต้องคุย ปล่อยผ่านเลย
ถ้าแชร์อะไรมาแล้วไม่มีคนสนใจ ไม่มีปฏิกิริยาตอบกลับใดๆ ทุกคนคุยกันเรื่องอื่น หรือพอแชร์อะไรมาไม่มีคนสนใจ เงียบกริบ อ่านหมดแต่ไม่มีคนตอบโต้ แต่พอคุยเรื่องอื่นแล้วทุกคนมีส่วนร่วมกันหมด แอ็กทีฟกันหมด เจ้าตัวก็คงรู้สึกได้ว่าที่แชร์ไปไม่มีคนสนใจ มีเขาคนเดียวที่สนใจ ก็อาจจะค่อยๆ เพลาการแชร์บ้างเอง
ในกรณีบางเรื่องที่เขาแชร์มันเป็นเรื่องที่ผิดและจะเป็นอันตรายต่อชีวิตเขาหรือคนอื่นได้ถ้าเขาแชร์ต่อ เหมือนที่ผมยกตัวอย่างว่า เอามะนาวมาล้างฆ่าพิษมะเร็งนั่นแหละครับ ผมก็จะไปบอกเขาเป็นการส่วนตัวว่ามันเป็น Fake News ครับ โดยที่มีข้อมูลสนับสนุนว่าที่เขาส่งมาเป็นข้อมูลที่ผิด ไม่บอกเขาต่อหน้าคนทั้งกรุ๊ปไลน์ เพราะไม่ว่าใครก็คงไม่อยากเสียหน้า
แต่ถ้าเขาจะยืนยันหนักแน่นว่ามันไม่ใช่ Fake News อันนี้ก็ปล่อยผ่านเลยครับ เราบอกเขาแล้ว เอาที่สบายใจเลย
วิธีการสุดท้ายที่เราจะใช้คือ ถ้าดูทรงแล้ว บอกไปก็ไม่ได้ประโยชน์ และพี่แกก็ขยันแชร์มาตลอดจนเรารำคาญ มันก็มีกรุ๊ปอื่นที่เราสามารถคุยได้โดยไม่ต้องมีคนคนนี้ ทั้งกรุ๊ปที่มีอยู่แล้ว หรือจะตั้งขึ้นมาใหม่โดยคัดสมาชิกมาเฉพาะคนที่เราอยู่ด้วยแล้วเราสบายใจ แล้วไปปิด Notification กรุ๊ปที่ขยันแชร์ Fake News ซะ แชร์อะไรมาเราก็ไม่อ่าน พอไม่อ่านเราก็ไม่รำคาญใจไปด้วย เราไปแอ็กทีฟคุยกันในกรุ๊ปที่เราสบายใจดีกว่า ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่อ่าน ก็สบายใจอีกแบบนะครับ คนอยากแชร์ก็แชร์ไป ไม่มีผลกับเราแน่นอน
Fake News ก็เหมือนขยะครับ มีคนมาโยนขยะใส่เราทุกวัน การอ่านขยะก็เหมือนการบริโภคขยะไปด้วย ถ้าบอกเขาไม่ได้ว่าอย่าโยนขยะเข้ามา อย่างน้อยที่สุด เราเลือกที่จะไม่บริโภคขยะได้ แต่ถ้าใครอยากบริโภคขยะด้วยความเต็มใจ อันนั้นเขาก็เลือกแล้วเหมือนกันว่าเขาเชื่อว่าขยะมันดี ถ้าดูแล้วเราพอจะบอกเขาได้ว่า อย่าโยนขยะเข้ามาเลย หรือบอกได้ว่าอะไรคือขยะ ก็บอกครับ แต่ถ้าดูทรงแล้วบอกไปก็เท่านั้น อยากโยนขยะก็ตามสบาย แต่เราไม่จะไม่สนใจขยะ ไม่กินขยะแน่นอน แล้วเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่ที่ดีต่อชีวิตเราดีกว่า ก็ถ้าเขาคิดว่า Fake News ดีต่อชีวิตของเขาก็ตามสบาย เขาเลือกแล้ว ปล่อยให้เขา ‘หนักขวา’ อยู่คนเดียวดีกว่า
ผมเชื่ออย่างหนึ่งนะครับว่า คอนเทนต์ที่เราเสพมีผลต่อการสร้างตัวตนของเรา เสพคอนเทนต์ที่ดี มีประโยชน์ เราก็สร้างตัวเราเองให้ดีตามแบบนั้น แต่ถ้าเสพคอนเทนต์ที่สร้างความเกลียดชัง คอนเทนต์ที่ข้อมูลเท็จ ตัวเราก็จะเป็นแบบนั้นไปด้วย ซึ่งทุกคนมีสิทธิ์ในการเลือกเสพคอนเทนต์ได้
เรื่องการเมือง ถ้าเราเชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เราก็ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดเหมือนเรา และถ้าเขาจะคิดแบบนั้นก็เป็นสิทธิ์ของเขา สิทธิ์ของเราคือการจัดการกับชีวิตของเราเอง เหมือนถ้าเขาจะแชร์ข่าวการเมืองผิดๆ มา นั่นเป็นสิทธิ์ของเขาที่เขาจะเชื่อว่ามันจริง ส่วนสิทธิ์ของเราคือจะอ่านหรือไม่อ่าน เชื่อหรือไม่เชื่อ เอามาใส่ใจหรือไม่ใส่ใจ โต้เถียงหรือไม่โต้เถียง แลกเปลี่ยนความคิดหรือไม่แลกเปลี่ยน เลือกจะคุยด้วยหรือไม่คุยด้วย
มาจัดการชีวิตของเราเองดีกว่าครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
ภาพ: Nisakorn Rittapai
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
The post คนในกรุ๊ปไลน์ที่ทำงานชอบส่งข่าวการเมือง Fake News เข้ามาในกรุ๊ป รำคาญมากครับ เราควรจะบอกเขาไหมครับ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานแต่ไม่รู้จะขอโทษอย่างไรดี พูด […]
The post จะขอโทษแต่พูดไม่เป็น / ต้องขอโทษทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด จะทำอย่างไรดีครับ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานแต่ไม่รู้จะขอโทษอย่างไรดี พูดก็ไม่เป็น ซึ่งเอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าผมทำผิด ผมมีเหตุผลของผม แต่ผมไม่สบายใจเท่าไรที่ทำให้เพื่อนรู้สึกไม่ดีไปด้วย ถ้าเราไม่ผิดเราควรจะต้องขอโทษไหมครับ เพราะถ้าขอโทษแปลว่าผมยอมรับว่าทำผิด ซึ่งจริงๆ ผมคิดว่าผมไม่ได้ทำผิดนะ ผมควรขอโทษหรือไม่ขอโทษดีครับ
A: ไม่รู้เป็นเพราะภาษาหรือเปล่าที่ทำให้เราคิดมากกับคำว่าขอโทษ เพราะโทษนั้นแปลว่าความผิด การอ้างเอาความผิด นั้นถ้าให้แปลตามตรงมันเหมือนขอรับโทษ พอมีคำว่า ‘โทษ’ ขึ้นมา มันก็ชวนให้คิดได้ว่า คนที่ขอโทษนั้นต้องทำผิดแน่ๆ และเมื่อทำผิด เพราะฉะนั้น ขอให้ลงโทษฉันเถอะ โบยฉันที!
ซึ่งมันก็เลยทำให้เกิดการโต้เถียงในใจว่า ถ้าฉันขอโทษแปลว่าฉันยอมรับสิว่าฉันผิด แต่ฉันผิดหรือไม่ผิดหรือใครผิด ผมคิดว่าทุกคนมีเหตุผลของตัวเองหมด ต่อให้คนที่ทำผิดก็มีเหตุผลของการทำผิด เพราะฉะนั้น เรื่องใครผิดใครถูก พอมันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุผลมันต้องมาว่ากันยาวๆ
แต่ถ้าให้ผมแปลแบบสบายใจของผมเอง และอาจจะทำให้ไม่ต้องคิดว่าใครผิดใครถูก ไม่งั้นเถียงกันอีกยาว ผมจะแปล ‘โทษ’ ในคำว่าขอโทษให้ไปเป็นคำที่ออกเสียงคล้ายกัน นั่นคือคำว่า ‘โทสะ’ ที่แปลว่าความฉุนเฉียว ความโกรธ
ขอโทษ จะได้แปลว่า ‘ขอความโกรธ ขอความฉุนเฉียวที่เธอรู้สึกอยู่มาให้ฉันเถอะนะ เธอแบกไว้มันก็ร้อนอยู่ เอามาให้ฉันแล้วเธอจะได้สบายใจ ฉันรู้ว่าเธอไม่สบายใจ’ แล้วเดี๋ยวเราเอาความโกรธออกจากตัวเขาไปไว้ทำให้มันหายไป แต่ขอมาก่อน
พอแปลแบบนี้ ผมคิดว่ามันตัดบริบทเรื่องใครผิดใครถูก ลงโทษฉันเถอะ ออกไป ให้เป็นเรื่องของความห่วงใย ห่วงว่าเธอโกรธแล้วเธอจะร้อนรนอยู่ในใจ ฉันขอ เอามาให้ฉันเถอะ เดี๋ยวฉันไปมีกระบวนการย่อยสลายมันเอง
พักเรื่องผิดถูกไว้ แล้วโฟกัสที่ความห่วงใยก่อน ทีนี้การขอโทษมันง่ายขึ้นไหมครับ ว่าไหม
พอเป็นเรื่องเหตุผลมันมีคนถูกผิด แต่พอเป็นเรื่องความรู้สึก ต่อให้เราไม่ใช่คนทำผิด แต่เรารู้สึกไม่ดีที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี เราก็ขอโทษได้
หรือถ้าคำว่าขอโทษจะทำให้คิดมาก ใช้คำว่า ‘ขออภัย’ น่าจะทำให้ทุกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น เราไม่ได้ขอการลงโทษ แต่เราขอการให้อภัย ให้อภัยมันดีกว่าการให้โทษอีกนะครับ
พอขอโทษ ให้อภัยกันแล้ว ทุกคนมองหน้ากันด้วยดีแล้ว ทีนี้จะคุยกันด้วยเหตุผลได้ครับ ถ้ามันจะต้องมีการเคลียร์กันเพื่อปรับปรุงแก้ไขกันต่อไปก็จะคุยกันได้ง่ายหน่อย แต่ถ้าไม่ปรับอารมณ์ทั้งคู่ด้วยการขอโทษ จะให้มาคุยกันด้วยเหตุผลคงยาก
ว่าด้วยเรื่องการขอโทษแล้ว มีสามคำที่ผมอยากเขียนถึงก็คือ ขอโทษ ขอโทษแล้วกัน ขอโทษแล้วไง
สามคำนี้มีคำว่าขอโทษเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกันสิ้นเชิง และผมคิดว่าเรื่องนี้เราน่าจะมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเป็นประโยชน์ในการทำงานและการใช้ชีวิตของเราครับ เพราะแน่นอนว่าคนเราย่อมมีความผิดพลาดเกิดขึ้น บางครั้งเราก็ทำร้ายความรู้สึกคนอื่นโดยไม่รู้ตัว (หรือบางทีก็รู้ตัวและหวังผลด้วยนะครับ) เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรารู้สึกอยากจะขอโทษคนอื่น เราควรทำอย่างไร
‘ขอโทษ’ เป็นคำที่เราใช้เมื่อทำผิดพลาด คำนี้พูดลอยๆ ไม่มีความหมายครับ (ไม่พูดเลยยิ่งแย่กว่าเดิมอีก) คำนี้จะมีความหมายอย่างที่มันควรจะเป็นได้ก็ต่อเมื่อผู้พูดรู้สึกผิด ตระหนักได้ว่าเราทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่นหรือ ‘มีส่วน’ ทำให้เกิดความผิดพลาดเสียหาย และต้องการแสดงความรับผิด (ชอบ)
ผมใช้คำว่า ‘มีส่วน’ ทำให้เกิดความผิดพลาดนะครับ เพราะบางความผิดพลาดอาจจะไม่ได้มาจากเราคนเดียวโดยตรง บางครั้งก็ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนั้นแต่มันเป็นไปแล้ว แต่เมื่อเรามีส่วนแม้จะเพียงเล็กน้อยที่ทำให้เกิดความเสียหาย แล้วความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของเราบอกว่าเราควรต้องแสดงความรับผิด (ชอบ) ออกมา ก็เป็นเรื่องดีครับที่เราจะเอ่ยปากขอโทษ
เยอะไปนะครับที่เวลา ‘รับชอบ’ นี่ถลากันมารับเครดิตเชียว แต่เวลา ‘รับผิด’ นี่กริบเลย แกล้งตาย หงายการ์ดไม่รู้ไม่ชี้ไม่เห็นไม่ผิดกันไป ตัวอย่างก็มีให้เห็นเยอะเชียว ตัวอย่างที่ไม่ดีนะครับ ไม่ต้องทำตาม
อย่างกรณีของคุณเหมือนกันครับ เรื่องใครทำผิดทำถูกก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าคุณรู้สึกว่ามีส่วนทำให้เพื่อนไม่สบายใจ ดีเสียอีกนะครับที่คุณจะทำให้เขารู้ว่าคุณเป็นห่วงความรู้สึกของเขา
คุณอาจจะไม่ได้ทำผิด แต่คุณรู้สึกผิดหรือรู้สึกไม่ดีที่มีส่วนทำให้เพื่อนไม่สบายใจ นั่นแหละครับหัวใจสำคัญที่สามารถแสดงออกผ่านการขอโทษ การขออภัยได้ แต่ไม่ต้องเอ่ยปากนะครับว่า “เราไม่ได้ขอโทษเพราะเราทำผิด แต่เราขอโทษที่ทำให้เธอรู้สึกไม่ดี” พูดแบบนี้วงแตกเพราะต้องมาเถียงกันอีกครับว่าใครทำผิดหรือไม่ผิด ใช้คำพูดว่า “เราเสียใจที่ทำให้เธอรู้สึกไม่ดี เราขอโทษ” แค่นี้ก็สื่อความหมายได้ดีแล้วครับ
อย่างที่บอกครับว่าคำนี้จะไม่มีความหมายเลยถ้าคนพูดไม่ได้รู้สึกผิด สักแต่ว่าพูดขอโทษออกมา หรือรู้สึกผิดนั่นแหละแต่ไม่สามารถสื่อออกมาให้ผู้ฟังสัมผัสได้ว่ารู้สึกผิดจริงๆ เสียใจจริงๆ ขอโทษจริงๆ คำว่าขอโทษก็จะไม่มีความหมาย
ทีนี้อยากสื่อออกมาให้คนรู้ได้อย่างไรว่ารู้สึกผิดจริงๆ? ต้องเล่นใหญ่บีบน้ำตาไหม อันนี้ผมว่าความรู้สึกมันปลอมกันไม่ได้ แสดงออกแบบปลอมๆ ไม่จริงใจ คนเขาก็ดูออก ถ้ารู้สึกผิดจริงๆ มันสื่อออกมาได้เองเป็นธรรมชาติทั้งน้ำเสียง แววตา การกระทำ คนฟังสัมผัสความจริงใจได้เอง เรื่องแบบนี้ไม่ต้องเค้น หัวใจเรารู้สึกอย่างไร สื่อสารมันออกมาแบบนั้นอย่างจริงใจ
วิธีการขอโทษก็สำคัญครับ ส่งไลน์ไปขอโทษ ฝากคนอื่นไปบอก เจอกันหน้าลิฟต์โดยบังเอิญเลยพูดขึ้นมา นัดหมายเพื่อไปขอโทษถึงที่ ประกาศขอโทษอย่างเป็นทางการ ฯลฯ แต่ละวิธีมีความหมายที่บ่งบอกถึงความจริงใจและความตั้งใจอยากจะขอโทษที่ต่างกันหมด เลือกวิธีที่เรารู้สึกว่า เหมาะสมกับกาลเทศะและความจริงใจของเราที่สุด ที่สำคัญ ต้องเป็นวิธีที่อีกฝ่ายอยากได้ยินคำขอโทษจากเราด้วยวิธีนั้น
Timing ในการขอโทษก็เป็นเรื่องสำคัญครับ ขอโทษให้ไว ขอโทษทันทีที่รู้สึกผิดและพร้อมจะสื่อสารออกมา ยิ่งปล่อยเวลาผ่านไปยิ่งสร้างความเสียหาย ขอโทษช้า ปัญหาก็จะยิ่งลุกลาม มาขอโทษทีหลังแทนที่จะรู้สึกดีจะกลายเป็นว่า ทำไมรู้สึกตัวว่าผิดช้าจัง หรือความรู้สึกผิดมันอยู่ห่างหลายล้านปีแสงกว่าจะเดินทางมาถึง หรือกำลังหวังอยู่ว่าให้มีดราม่าใหม่ๆ มากลบกระแส
ขอโทษช้าก็เหมือนไม่รู้สึกผิด เหมือนมาขอโทษเพราะจำเป็น สถานการณ์บีบคั้นให้ต้องขอโทษ ทั้งที่มีโอกาสให้ขอโทษอยู่ก่อนหน้านี้ตั้งนาน แต่ความรู้สึกผิดเดินทางมาไม่ถึง เห็นอยู่ว่าไฟกำลังไหม้แต่ปล่อยไว้ก่อนไฟมันก็ยิ่งลุกลาม เวลาในการขอโทษจึงมีความหมายมากครับ
‘ขอโทษแล้วกัน’ เพียงแค่เพิ่มคำว่า ‘แล้วกัน’ เข้ามา ความหมายจะเปลี่ยนไปทันที เพราะมันให้ความรู้สึกว่าไม่ได้ ‘เต็มใจ’ จะขอโทษ แต่ ‘จำใจ’ จะขอโทษ แปลความหมายได้ว่า ‘ไม่ได้รู้สึกผิดหรอกนะ แต่เอางี้ ขอโทษแล้วกัน จะได้จบ โอเคเนอะ เจ๊าๆ กันไป’ เห็นภาพไหมครับ
เจอใครขอโทษด้วยคำว่า ‘ขอโทษแล้วกัน’ นี่แทนที่จะรู้สึกดี กลับรู้สึกว่า…แล้วกัน! ตายตอนจบ!
‘ขอโทษแล้วไง’ นี่ยิ่งแล้วใหญ่เลยครับ เพราะแปลความหมายได้ว่า ‘ก็ขอโทษแล้วไง จะเอาอะไรอีก!’ มีความอาละวาดฟาดงวงฟาดงาอยู่เหมือนกันนะครับ นอกจากจะสื่อว่าไม่ได้รู้สึกผิดอะไรเลยแล้ว ไม่ได้อยากจะขอโทษด้วย แต่ในเมื่ออยากได้ยินคำว่าขอโทษนักก็พูดให้ฟังแล้วไง ยังไม่หายโกรธอีก จะเอาอะไรกันนักกันหนา กลายเป็นการสื่อสารออกไปว่า ฝ่ายที่ตอนแรกเข้าซีนมารับคำขอโทษเป็นฝ่ายผิดที่ไม่ยอมหายโกรธ ไม่ยอมให้อภัย — ผิดขึ้นมาซะงั้น — แล้วเรื่องมันจะจบไหมล่ะนั่น
คำพูดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากนะครับ จะช่วยแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหาใหม่ก็เพราะคำพูดนี่แหละ
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ หัวใจของมันมีเรื่องเดียวเลยครับว่าเรา ‘ใส่ใจ’ แค่ไหน
ถ้าเราไม่ใส่ใจ ทุกอย่างจะเป็นเรื่องยากหมดครับ เราจะไม่รู้สึกผิด เราจะไม่สนใจว่าความผิดพลาดมันสร้างปัญหาแค่ไหน จะขอโทษก็ยากเย็นเหลือเกิน ต่อให้เราขอโทษ เราก็จะเลือกใช้คำพูดที่ไม่ได้กลั่นกรองว่าจะทำร้ายความรู้สึกคนอื่นต่อหรือเปล่า (คือจริงใจว่าไม่ได้รู้สึกผิด) เราจะเลือกแสดงออกว่าไม่จริงใจ เราจะพูดแต่สิ่งที่เราอยากพูดและคนอื่นจงฟัง ไม่ใช่พูดในสิ่งที่คนฟังอยากฟัง เราจะโทษคนอื่นโดยมองไม่เห็นว่าตัวเองมีส่วนต่อความผิดพลาดอย่างไร ความกระตือรือร้นอยากจะแก้ปัญหาก็อย่าหวังว่าจะมี ปล่อยผ่านไปเลยจ้า!
แต่ถ้าเราใส่ใจ อยากจะดูแลความรู้สึกของคนอื่น อยากทำให้คนอื่นมีความสุข เราจะ ‘เซนส์’ ได้ไวมากว่าเราสร้างความเสียหายให้คนอื่นอยู่หรือเปล่า เพราะถ้าเซนส์ได้ก็จะไม่ปล่อยผ่านให้เวลาล่วงเลย เราจะไม่รู้สึกตัวช้า เพราะเรารู้ว่าทุกนาทีที่ผ่านไปโดยไม่ขอโทษกันกำลังทำร้ายความรู้สึกของคนอื่นอยู่
ถ้าเราใส่ใจ เราจะสัมผัสได้ถึงความทุกข์ของคนอื่น เพราะฉะนั้น คำว่า ‘ขอโทษ’ จะออกจากปากของเราอย่างจริงใจที่สุด ง่ายที่สุด เพราะมันคือสิ่งที่เรารู้สึกเต็มหัวใจ และการขอโทษของเราจะมีความหมาย
ถ้าเราใส่ใจ เราจะรู้ว่าความรู้สึกของคนนั้นละเอียดอ่อน ทุกคำพูดที่ออกไปมีผลต่อหัวใจคนฟังหมด เราจะคิดก่อนพูดทุกครั้ง เราจะไม่พูดว่า ‘ขอโทษแล้วกัน’ หรือ ‘ขอโทษแล้วไง’
ถ้าเราใส่ใจ เราจะรู้ว่าอะไรเป็นปัญหา และตั้งใจแก้ปัญหา มีทางออกมาบอกอีกฝ่ายว่าเราจะปรับปรุงอย่างไร เราจะไม่อยู่นิ่งเฉย เราจะไม่มองว่าปัญหาเป็นเรื่องเล็ก แต่เมื่อไรที่กระทบต่อชีวิตใครสักคนที่เราแคร์ มันเป็นเรื่องใหญ่หมด และเราจะทำทุกวิถีทางให้เขามีความสุข
ถ้าสิ่งไหนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่มีความหมาย ถ้าคนไหนเป็นคนที่มีคุณค่า เราจะใส่ใจ และเราจะแสดงออกเองว่าใส่ใจ
แต่ถ้ามันไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้ามันไม่มีความหมาย ถ้าคนคนนั้นไม่ได้มีคุณค่าในสายตาของเรา เราก็ทำอะไรก็ได้ ไม่เห็นจะต้องแคร์ การแสดงออกของเรามันก็จะบอกแบบนั้น
แค่เพียงแต่ว่าเราใส่ใจหรือไม่ใส่ใจแค่ไหนก็เท่านั้น
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
The post จะขอโทษแต่พูดไม่เป็น / ต้องขอโทษทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นฝ่ายผิด จะทำอย่างไรดีครับ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: ถ้าผมมีเหตุผลของผมที่เรียนจบแล้วจะไม่เข้ารับปริญญา ก […]
The post ถ้าไม่เข้ารับปริญญาจะมีผลอะไรกับชีวิตไหมครับ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: ถ้าผมมีเหตุผลของผมที่เรียนจบแล้วจะไม่เข้ารับปริญญา การไม่มีใบปริญญาจะมีผลอะไรกับชีวิตไหมครับ เวลาสมัครงานต้องใช้ใบปริญญาบัตรไหม และถ้าพ่อแม่ผมไม่เข้าใจ ผมควรทำอย่างไรดี
A: ยินดีด้วยครับที่กำลังจะจบการศึกษา คงเป็น 4 ปีที่น้องได้ผ่านอะไรมาเยอะ และหลังจากนี้คงมีอะไรอีกมากมายที่น้องจะได้เจอ ได้เรียนรู้ ได้แก้ไขพัฒนา
เรื่องที่เราจะคุยกันนี้คือเรื่อง ‘การรับปริญญา’ ไม่ใช่ ‘การเรียนให้จบปริญญา’ เพราะพี่คิดว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน เรียนให้จบก็เรื่องหนึ่ง เป็นกระบวนการการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งซึ่งอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ส่วนการรับปริญญาเป็นพิธีกรรม เป็นสัญลักษณ์หนึ่ง เป็นประสบการณ์หนึ่ง ซึ่งพี่คิดว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราสามารถเลือกได้ว่าต้องการจะมีประสบการณ์นี้หรือไม่
จะว่าไปแล้วในชีวิตของเราก็มีทางเลือกเยอะแยะมากมายนั่นแหละครับ เลือกที่จะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยหรือไม่ เลือกที่จะเรียนจนจบหรือไม่ เลือกที่จะเข้ารับปริญญาหรือไม่ ฯลฯ และจากนี้ชีวิตคงมีสิ่งให้น้องตัดสินใจอีกมาก
พี่ขอแชร์ประสบการณ์การรับปริญญาสองครั้งให้น้อง ซึ่งผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ณ ตอนนั้นพี่ตัดสินใจเข้ารับปริญญา มีวันซ้อมใหญ่และวันพิธีจริง ตื่นมาตั้งแต่เช้ามืด พี่เป็นผู้ชายยังง่ายหน่อยไม่ได้แต่งหน้าทำผมอะไรมากมาย เพื่อนๆ ผู้หญิงสิบางคนตื่นมาแต่งหน้าทำผมกันตั้งแต่ตีสองตีสาม เจอกันที่มหาวิทยาลัยยังจำไม่ได้ เพราะสวยจนจำไม่ได้ แต่ระหว่างวันแต่ละคนก็ดูสติจะไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวนะ เพราะตื่นมาแต่งหน้าเช้าเกิน
และเพราะต้องมากันแต่เช้า พี่ก็เห็นบางคนถึงขั้นต้องเปิดโรงแรมแถวมหาวิทยาลัยเพื่อสะดวกแก่การเดินทางเลยทีเดียว ไหนจะไกล ไหนจะรถติด ไหนจะหารถยาก ที่จอดรถไม่มี บางคนก็นอนใกล้มหาวิทยาลัยเลยนี่แหละ สะดวกดี บางครอบครัวมาจากต่างจังหวัดก็ต้องหาที่พักกัน
พี่จ้างช่างภาพมาถ่ายรูปทั้งสองวัน แรกๆ พี่ก็ขยันถ่ายรูปอยู่หรอกเพราะตื่นเต้น แต่พอไปเรื่อยๆ เริ่มเหนื่อย ร้อน และก็เริ่มมีคำถามกับตัวเองว่าเราจะถ่ายรูปอะไรกันมากมายขนาดนี้นะ ถ่ายเดี่ยวก็แล้ว ถ่ายกับครอบครัวก็แล้ว ถ่ายกับเพื่อนก็หมดแล้ว ยังคิดเลยว่านายแบบนางแบบนี่เก่งจริงๆ ที่สามารถโพสท่าถ่ายรูปได้ตลอดทั้งวัน วันนั้นมีทั้งแดดเปรี้ยงและฝนเทลงมา มีเปียกทั้งเหงื่อทั้งฝน หน้าที่แต่งกันไว้ก็ละลายเหลวไปกับน้ำ พี่กับเพื่อนแอบมานอนสลบกันอยู่ในห้องทำงานที่คณะ สู้ต่อไม่ไหว ส่วนพ่อกับแม่นั้น พอถ่ายรูปด้วยกันเสร็จก็กลับบ้าน ไม่อยากให้ต้องลำบาก คนก็เยอะ
เพื่อนบางคนมีทีมช่างภาพ ขอใช้คำว่า ‘ทีม’ เพราะมีทั้งช่างภาพกล้องหนึ่ง กล้องสอง กล้องวิดีโอ คนยกรีเฟลกต์ ช่างแต่งหน้า คนยกของ ฯลฯ มาเป็นขบวน เห็นแล้วพี่ยังขนลุกในความจริงจังเบอร์นั้น
เพื่อนๆ ที่มาแสดงความยินดีกับพี่ทุกคนต่างก็มีของติดไม้ติดมือมาให้ ทั้งช่อดอกไม้ ตุ๊กตา ป้าย ฯลฯ จบงานพี่กลับบ้านคนเดียว ไม่มีรถ ต้องหอบของพะรุงพะรังกลับบ้าน นึกสภาพคนสวมชุดครุยตัวเปียกเหงื่อตั้งแต่หัวจรดเท้าต้องอุ้มกองทัพตุ๊กตาหมีกับช่อดอกไม้ที่ใหญ่จนบังหน้าเดินหารถแท็กซี่กลับบ้าน
ออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด กว่าจะเสร็จพิธีและได้ออกจากหอประชุมจริงๆ ก็มืดอีกรอบ แล้วต้องมาแย่งรถแท็กซี่กลับบ้านกันอีก เท่าที่จำได้ ทั้งวันซ้อมรับปริญญาและวันรับปริญญาจริง กลับมาถึงบ้านพี่น็อกสลบไปข้ามวัน ใช้พลังงานไปหมดแบบไม่เหลือ พี่ว่าตั้งแต่เรียนมาสี่ปี วันที่พี่ใช้พลังเยอะสุดคงเป็นวันรับปริญญานี่แหละ
พอรับปริญญาครั้งที่สองตอนที่จบปริญญาโท พี่ได้บทเรียนมาเยอะแล้วจากครั้งแรก เพราะฉะนั้น พี่จะพยายามทำทุกอย่างให้เรียบง่ายที่สุด ผ่านงานตอนปริญญาตรีมาแล้วเลยเข้าใจ พี่ก็ใช้วิธีถ่ายรูปแค่วันซ้อมใหญ่วันเดียวพอ และก็ไม่ได้ต้องถ่ายรูปเยอะแยะมากมาย เอาแค่พอเป็นที่ระลึก มีรูปครอบครัวกับเพื่อนเก็บไว้พอแล้ว ของดช่อดอกไม้และของขวัญเพราะสุดท้ายพี่ต้องเป็นคนแบกทุกอย่างกลับบ้านคนเดียว และพี่รู้สึกว่าไม่อยากให้คนอื่นต้องมาสิ้นเปลืองกับพี่ ยอมเหนื่อยวันซ้อมใหญ่วันเดียวในการถ่ายรูป พอวันรับจริงพี่ก็นอนให้เต็มที่แล้วออกจากบ้านสบายๆ มาตอนที่จะต้องเข้าหอประชุมแค่นั้นพอ ลำบากตัวเราให้น้อยที่สุด และให้คนอื่นมาลำบากกับเราน้อยที่สุด
ตามประสบการณ์ของพี่ การรับปริญญาก็มีค่าใช้จ่ายเยอะอยู่พอสมควร ตั้งแต่งานรับปริญญาตอนปริญญาตรีพี่ก็ออกค่าใช้จ่ายเองเพราะทำงานหาเงินได้แล้ว ไม่ได้รบกวนพ่อแม่อีก กระนั้นก็เถอะ เพราะทำงานหาเงินได้แล้วถึงรู้สึกว่าค่าใช้จ่ายมันเยอะ หลายอย่างสามารถลดทอนมาได้ แต่ ณ เวลานั้นก็คิดว่า มันคือครั้งหนึ่งในชีวิต มันคือโมเมนต์ที่สำคัญ เพราะฉะนั้นเลยยอมลงทุน มันคงเป็นความรู้สึกเดียวกับที่หลายคนคิดกับงานแต่งงานนั่นแหละว่ามันคือครั้งหนึ่งในชีวิต แต่มาคิดอีกทีพี่ก็รู้สึกว่า จะดีมากเลยถ้าเราไม่ได้ฟุ่มเฟือยกับมันมาก ตรงไหนประหยัดได้ให้ประหยัด เอาแค่พอเหมาะกับชีวิตเราก็พอ
เมื่อมองย้อนกลับไป พี่พบว่าวันรับปริญญาเป็นวันสุดท้ายที่พี่ได้พบเพื่อนๆ หลายคน เพราะหลังจากนั้นพวกเราก็แยกย้ายกันไปมีชีวิตของตัวเอง บางคนไม่เจอกันอีกเลยหลังจากวันรับปริญญา บางคนไม่เคยได้ข่าว บางคนเสียชีวิต สำหรับพี่แล้ว วันรับปริญญาเลยอาจเป็นวันสุดท้ายที่เราได้เห็นใครบางคนที่เคยอยู่ในชีวิตของเราก็ได้ มันก็มีส่วนดีๆ อยู่ในความทรงจำ
กับสิ่งที่พี่คิดว่าพี่ได้ทำแล้วรู้สึกดีมากๆ ในวันรับปริญญาก็คือ การไปขอบคุณทุกคนที่มีส่วนสนับสนุนให้เราเรียนหนังสือจนจบ ทั้งครอบครัว อาจารย์ แต่ที่พี่อยากให้ไม่ลืมคือบรรดาคนตัวเล็กๆ ที่มีส่วนช่วยให้เรามีชีวิตได้จนมาถึงวันที่เรียนจบ ตั้งแต่คนขายอาหารในโรงอาหาร เจ้าหน้าที่ในคณะที่คอยเดินเรื่องต่างๆ ให้เรา พี่แม่บ้านที่ทำความสะอาดห้องเรียน พี่ รปภ. ที่อยู่ดูแลตึกระหว่างที่เราทำงานกันจนดึกดื่นที่คณะ กระเป๋ารถเมล์สายที่เราขึ้นมาเรียนเป็นประจำ ฯลฯ พี่พบว่าที่เราเรียนจบได้ไม่ใช่แค่เพราะวินัย และความสามารถของตัวเราเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมือของคนตัวเล็กๆ เหล่านี้ที่คอยผลักดันสนับสนุนให้เราเรียนจบได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ โดยที่คนเหล่านี้บางทีก็ไม่ได้มีโอกาสเรียนหนังสืออย่างที่เรามี แต่สิ่งที่เขาทำมีส่วนทำให้เรามีชีวิตการเรียนที่ดีได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม และควรระลึกถึงคุณค่าที่พวกเขามี
วิธีคิดแบบนี้ยังคงติดตัวมาใช้ได้ในชีวิตนอกมหาวิทยาลัยอีกนะครับ มีมืออีกหลายมือมากมายที่อุ้มชูสนับสนุนเราอยู่ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยที่พวกเขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสที่ดีในชีวิตเหมือนเรา แต่เขาก็ส่งให้เรามีชีวิตที่ดีไปด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีวันนี้ได้เพราะมือของคนเหล่านี้ เราต้องไม่ลืมที่จะขอบคุณหรือหาโอกาสเป็นมือที่สนับสนุนพวกเขาไปด้วย และต้องไม่เหยียบย่ำพวกเขา
พี่ยังจำได้ว่าวันที่เรียนจบ พี่ได้ไปขอบคุณคนตัวเล็กๆ ที่มีส่วนสนับสนุนชีวิตพี่โดยที่พวกเขาไม่มีโอกาสได้เรียนจบปริญญาตรีแบบพี่ด้วยซ้ำ พี่พบว่าพวกเขาดีใจมากที่มีคนเห็นคุณค่า มีคนนึกถึง บางคนไม่นึกด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เขาทำมีส่วนช่วยให้เด็กคนหนึ่งเรียนจบปริญญาตรีได้ แต่เมื่อพี่ได้บอกเขาว่าพวกเขามีส่วนช่วยชีวิตพี่อย่างไรบ้างจนเรียนจบ พี่พบว่ามันทำให้พวกเขาได้ระลึกไปด้วยว่าพวกเขามีความหมาย งานที่พวกเขาทำอยู่ทุกวันมีผลช่วยให้ชีวิตของคนอื่นดีขึ้นไปด้วย และวิธีการทำงานของพวกเขาเป็นผลให้พี่รู้สึกว่าเราทุกคนมีส่วนต่อชีวิตของคนอื่นหมด เราทุกคนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันหมด
ส่วนเรื่องใบปริญญากับการทำงานนั้น การสมัครงาน สัมภาษณ์งาน จนถึงรับเข้าทำงานทั้งหมดที่พี่เคยมีมาในชีวิต ไม่เคยมีใครทวงถามหา ‘ใบปริญญาบัตร’ จากพี่เลย อย่างมากสุดก็คือทรานสคริปต์แสดงผลการเรียนเป็นเอกสารประกอบ ซึ่งในนั้นก็ไม่ได้ระบุด้วยซ้ำว่าเราได้เข้าพิธีรับปริญญาหรือเปล่า หลายคนที่พี่รู้จักก็ไม่ได้เข้าพิธีรับปริญญา ทุกวันนี้ก็มีงานทำเป็นปกติ ก็เป็นไปได้ว่าใบปริญญาบัตรไม่ได้มีผลต่อการสัมภาษณ์ ส่วนพี่ซึ่งเข้าพิธีรับปริญญา ก็ไม่มีใครเคยถามหาใบปริญญาบัตร ไม่มีใครขอดูรูปเพื่อเป็นหลักฐานประกอบ ทุกวันนี้พี่ก็มีงานโดยไม่เคยต้องแสดงใบปริญญาบัตร
ระหว่างพี่ซึ่งเข้าพิธีกับเพื่อนที่ไม่เข้าพิธีมีอะไรต่างกันบ้าง พี่ว่าก็อาจจะต่างกันตรงพี่มีรูป เพื่อนไม่มีรูป พี่มีประสบการณ์บางอย่างในหอประชุม ส่วนเพื่อนไม่มี มีผลกระทบต่อชีวิตไหมที่แตกต่างกันแบบนั้น ก็อาจจะไม่ได้มีผลกระทบมากมาย
ของต่างประเทศในหลายๆ ที่พี่ก็เคยเห็นว่าพอมีโควิด-19 เขาก็ใช้วิธีมีพิธีรับปริญญากันเป็น Virtual Commencement ดูกันอยู่ที่บ้าน ใบปริญญาส่งมาให้ที่บ้านเป็นที่ระลึก ซึ่งผู้ที่ได้รับเชิญมากล่าวสุนทรพจน์ทุกคนก็บอกว่า มันอาจจะไม่ใช่งานสำเร็จการศึกษาแบบที่ทุกคนคาดฝันไว้ แต่หัวใจยังเหมือนเดิมคือการแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการศึกษา และฝากแง่คิด ฝากบทเรียนชีวิตผ่านสุนทรพจน์ให้ไปเป็นแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตต่อ ซึ่งพี่อยากแนะนำให้ไปเสิร์ชใน YouTube ได้เลยคำว่า Commencement Speech 2020 น้องจะได้แรงบันดาลใจดีๆ ไปเพียบ
การจะเข้าพิธีรับปริญญาหรือไม่เป็นสิทธิส่วนบุคคล ยิ่งเรียนจบแล้วพี่คิดว่าเราเป็นผู้ใหญ่พอที่จะคิด ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง และทุกคนควรเคารพการตัดสินใจในการเลือกทางเดินชีวิตของเรา ถ้าจะมีหลักในการตัดสินใจอะไรสักอย่าง พี่จะชอบถามกลับไปว่า ‘ทำไม’ เพื่อหาแก่นหรือสาระของสิ่งที่เราจะทำ แยกให้ออกว่าอันไหนคือสาระ อันไหนคือเปลือก แล้วมาดูว่าสาระนั้นสำคัญกับเราจริงหรือไม่ มีผลกระทบอย่างไรกับชีวิตของเรา ถ้าสาระสำคัญของสิ่งที่เราจะทำตรงกับสาระสำคัญของชีวิตก็ลงมือทำ เพราะทำแล้วมันตรงกับสาระสำคัญของชีวิตเรา แต่ถ้าไม่ตรงก็อาจจะไม่ทำ ซึ่งแต่ละคนคงตีความสาระสำคัญในชีวิตต่างกันออกไป
กลับมาที่คำถามของน้อง สาระสำคัญของการรับปริญญาตรงกับสาระสำคัญของชีวิตน้องหรือเปล่า น้องก็จะได้คำตอบ
แต่ก่อนอื่นอาจจะต้องนิยามให้ถูกก่อนว่าสาระสำคัญของชีวิตคืออะไร เพราะถ้าเรานิยามได้ พี่คิดว่าเราจะมีหลักในการใช้ชีวิต และไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ให้เราเคารพในการตัดสินใจของเรา แล้วคนอื่นจะเคารพในการตัดสินใจของเรา ถ้าการตัดสินใจของเรามันไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นตัวเราหรือคนอื่น พี่คิดว่าเราก็คิดมาดีแล้ว และต้องเชื่อมั่นในการตัดสินใจของเรา ซึ่งเวลานี้เป็นผู้ใหญ่ที่มีวิจารณญาณแล้ว
ส่วนพ่อแม่จะว่าอะไรไหม ก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องของพ่อแม่ ถ้าเอาเหตุผลมาคุยกัน พ่อแม่บางคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ ก็มีเหตุผลของเขาที่เราต้องเปิดใจรับฟัง เราก็มีเหตุผลของเรา อยู่ที่ว่าสาระสำคัญในชีวิตเราตรงกับพ่อแม่ไหม พ่อแม่โตแล้ว เราก็โตแล้ว คุยกันแบบผู้ใหญ่ใช้เหตุผลกันดีกว่า เรียนจบมาได้ก็น่าภูมิใจแล้ว
ยินดีกับบัณฑิตคนใหม่ด้วยครับ ขอให้เจอคำตอบว่าสาระสำคัญในชีวิตคืออะไร แล้วใช้ชีวิตไปตอบสาระสำคัญนั้นครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
The post ถ้าไม่เข้ารับปริญญาจะมีผลอะไรกับชีวิตไหมครับ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: มีปัญหาอยู่บ่อยๆ ว่าคิดงานไม่ออกเสียที เดดไลน์จี้มาแ […]
The post คิดงานไม่ออก ทำงานไฟลนก้นตลอด จะทำอย่างไรดีครับ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: มีปัญหาอยู่บ่อยๆ ว่าคิดงานไม่ออกเสียที เดดไลน์จี้มาแล้ว แต่ก็ไม่มีไอเดีย รู้สึกอายว่าบางทีก็ต้องส่งงานที่ยังไม่ดีที่สุดไปเพื่อให้ทันกำหนด จะทำอย่างไรให้คิดงานออกโดยที่ยังอยู่ในไทม์ไลน์ได้ครับ
A: น่าดีใจอย่างหนึ่งว่าคุณรู้ตัวว่าปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยและอยากจะแก้ไข ที่บอกว่าน่าดีใจเพราะคุณรู้สึกว่าน่าจะทำงานได้ดีกว่านี้ คุณไม่สบายใจที่ตัวเองส่งงานที่ไม่มีคุณภาพออกไปเพียงเพื่อให้ทันเดดไลน์ ซึ่งมันไม่ดีทั้งต่อตัวองค์กรที่ได้รับผลงานที่น่าจะมีคุณภาพดีกว่านี้ และไม่ดีต่อตัวคุณเองด้วยที่ไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ แต่ทั้งหมดทั้งมวล เรื่องดีคือคุณรู้ตัวและอยากแก้ไข ไม่ใช่ทุกคนนะครับที่จะรู้สึกละอายที่ตัวเองยังทำงานได้ไม่ดีพอและรู้สึกว่ากำลังเอาเปรียบบริษัทอยู่ ผมจึงคิดว่านี่เป็นก้าวที่ดีมากในการแก้ไขปัญหาตรงที่ตัวคุณเองนี่ล่ะที่อยากลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเอง
ธนา เธียรอัจฉริยะ หัวหน้าของผม ใช้คำว่า “ทำงานให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่ทำงานเสร็จ” สองอย่างนี้มีความแตกต่างกันอยู่นะครับ ทำงานเสร็จแปลว่าทันเดดไลน์ หรือได้รับมอบหมายอะไรมาก็ทำงานนั้นให้เสร็จ แต่ทำงานให้สำเร็จนั้นครอบคลุมไปถึงคุณภาพของงานนั้นด้วย ไม่ใช่แค่ว่าทำเสร็จอย่างเดียว แต่ผลงานก็ออกมาดีตรงตามวัตถุประสงค์ด้วย ถ้าเป็นกรณีของคุณก็คือไม่ใช่แค่คิดงานออกให้ทันเวลา แต่คิดงานที่มีคุณภาพออกมาให้ทันเวลา
คนชอบบอกว่าเดดไลน์นี่ล่ะทำให้เกิดไอเดีย เพราะเวลาไฟลนก้นแล้วตัวเราจะดึงพลังที่ซ่อนอยู่ออกมา ไอเดียจะกระฉูดขึ้นมาทันที เพราะมีความกดดันเป็นตัวผลักดัน ในเรื่องนี้ผมก็เห็นด้วยนะครับ แต่ไม่ทั้งหมด ที่แน่ๆ คือมีเดดไลน์แล้วงานเสร็จแน่ล่ะ เพราะเดดไลน์เป็นจุดตัดว่าต้องส่งงานแล้ว ไม่อย่างนั้นเราก็อาจจะคิดงานไปเรื่อยเปื่อยไม่มีที่สิ้นสุดเสียที แต่พอมีกรอบด้านเวลาเข้ามาปุ๊บ มันมีจุดตัดว่าต้องพอแค่นี้แล้ว บางคนก็มีธรรมชาติในการทำงานแบบนี้นะครับ คือทุกอย่างมาเรียบร้อยเอาตอนใกล้จะส่ง บางคนทำงานได้ดีเลยล่ะ แม้จะเฉียดเดดไลน์ให้ใจหายใจคว่ำ แต่ผมก็คิดว่าเราหงายการ์ดส่งงานคุณภาพเอาแบบเฉียดฉิวทุกครั้ง ทีมงานรอบข้างตัวเราก็กดดันไปด้วย ไม่ใช่แค่ตัวเรากดดันคนเดียว และการที่งานมาเสร็จเอานาทีสุดท้ายนั้น เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าไม่มีอะไรต้องแก้ไข ไม่มีอะไรผิดพลาด เมื่อไม่มีเวลาให้เผื่อตรวจทานหรือปรับปรุง งานที่ออกไปก็อาจจะไม่มีคุณภาพอย่างที่เราตั้งเป้าไว้ก็ได้ งานเสร็จแน่ล่ะ แต่สำเร็จไหมต้องลุ้นอีกที
เท่าที่ฟังปัญหา ผมคิดว่าเราต้องแบ่งปัญหาเป็นสองส่วนคือ หนึ่ง เรื่องการบริหารจัดการเวลา สอง เรื่องการมีความคิดสร้างสรรค์หรือไอเดีย สองอย่างนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่นะครับ ถ้าเราบริหารจัดการเวลาได้ดี เราจะมีเวลาให้ความคิดสร้างสรรค์ตกผลึก ขณะเดียวกันถ้าเราอยู่ในสภาพที่ความคิดสร้างสรรค์พร้อมจะเบ่งบานได้ เราก็จะไม่เสียเวลามาก เราจะบริหารจัดการเวลาได้ดี
ถ้ารู้สึกว่าไฟลนก้นทุกครั้งเวลาทำงาน แสดงว่าเราบริหารจัดการเวลาได้ไม่ดีเท่าไร อาจจะต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ งานไหนต้องใช้เวลามาก งานไหนต้องใช้เวลาน้อย งานไหนมีเวลาทำมาก งานไหนมีเวลาทำน้อย ปัญหาส่วนใหญ่ของการบริหารจัดการเวลาเกิดจากการที่เราให้งานทุกอย่างสำคัญไปหมด ทั้งๆ ที่แต่ละงานไม่ได้สำคัญเท่ากันหมด เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าแต่ละงานต้องทำงานแบบไหน
ที่สำคัญคือต้องกำหนดเวลาหรือมีเดดไลน์ย่อยๆ ในแต่ละกระบวนการตั้งแต่ต้นจนงานเสร็จสิ้น และต้องเคารพในเดดไลน์นั้น ปัญหาที่คนทำงานมักเจอคือการทำงานที่ช้ากันเป็นโดมิโน พอคนหนึ่งเลต ส่วนอื่นๆ ที่ตามมาก็จะเลตตามกันหมด สุดท้ายได้งานที่ไม่ทันกำหนดเวลา ตรงนี้ผมคิดว่าทางทีมต้องคุยกันว่าจะทำงานอย่างไรให้นึกถึงใจกันและกันให้ได้มากที่สุด ไม่มีใครอยากจะทำงานแบบต้องมาตะบี้ตะบันทำในนาทีสุดท้าย ทุกคนอยากทำงานออกมาให้ดี อยากรับผิดชอบงานของตัวเอง เพราะสุดท้ายมันคือผลงานของพวกเราทุกคน เพราะฉะนั้นอาจจะต้องมีการตกลงกันในทีม ช่วยเหลือกันและกัน เพื่อให้แต่ละส่วนสามารถส่งงานที่มีคุณภาพได้ทันเวลา
ผมแนะนำว่าให้สร้างตารางที่บอกสเตตัสของงานตั้งแต่ต้นจนจบ พร้อมกำหนดเดดไลน์แต่ละส่วนไว้ ระบุว่าใครรับผิดชอบ ถ้าช้าตรงไหน ติดขัดตรงไหน ทุกคนจะได้รู้ รู้อย่างเดียวไม่พอ ทุกคนต้องช่วยเหลือกันได้ เพราะการช่วยเหลือคนอื่น สุดท้ายก็คือการช่วยตัวเราให้ได้งานที่ทันและมีคุณภาพไปด้วยในตัว ถ้าทุกคนรู้ว่าสถานการณ์การทำงานตอนนี้เป็นอย่างไร ผมคิดว่าทุกคนน่าจะพอเห็นว่าต้องแก้ไขตรงไหน ต้องช่วยกันอย่างไร เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่ตัวเราคนเดียวที่ต้องแก้ไข มันต้องแก้ไขทั้งทีม
เมื่อมีเวลาพอ ไฟไม่ลนก้นมาก เราก็จะมีเวลาในการให้สมองตกผลึกความคิดดีๆ เราจะไม่เครียดมาก ที่สำคัญคือมีเวลาในการตบไอเดียให้ดีขึ้น ไม่ใช่คิดอะไรก็เอาแบบนั้นเลย อย่างน้อยเรามีเวลาในการสำรวจว่าไอเดียนั้นดีพอหรือยัง พัฒนาไปทางไหนได้ต่อ หรือมีรูรั่วตรงไหนที่เราต้องอุด ไปจนถึงการเผื่อเวลาให้ลองได้โยนไอเดียนั้นกับคนอื่นหรือได้ไปทดลองเบื้องต้น เอาไอเดียเราไปทดลองสักหน่อยว่ามันเวิร์กจริงไหม ไม่ใช่คิดว่าทุกอย่างมันจะเวิร์กจากสัญชาตญาณหรือการคาดเดาของเราอย่างเดียว ส่วนหนึ่งผมคิดว่าการมีเวลาเผื่อให้ได้ทดลองความคิดสร้างสรรค์ที่เรามีเป็นเรื่องสำคัญมากครับ เพราะฉะนั้นการบริหารเวลาจึงเชื่อมโยงกับความคิดสร้างสรรค์ และส่งให้ทั้งสองอย่างมีประสิทธิภาพเอื้อกันและกัน
สังเกตไหมครับว่าไอเดียดีๆ มักจะมาเมื่อเราไม่ได้ตั้งใจ คือมาเมื่อเรามีความสุข ผ่อนคลาย สบายใจ สมองเราทำงานได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ในภาวะผ่อนคลายครับ อาจจะต้องหาให้เจอว่าเวลาแบบไหนที่สมองเราผ่อนคลายจังเลย ตอนนั้นล่ะที่ไอเดียจะมา บางคนคือตอนอาบน้ำ ของผมเป็นตอนออกกำลังกาย บางคนเป็นตอนนอน บางคนเป็นหลังตื่นนอน บางคนเป็นตอนอยู่เงียบๆ บางคนเป็นตอนฟังเพลง บางคนเป็นระหว่างขับรถ สร้างบรรยากาศให้สมองผ่อนคลายที่สุด มันจะทำงานได้ดีที่สุดตอนนั้นครับ
ถ้าสมองเราเครียดหรือเพิ่งผ่านสมรภูมิการใช้งานมาอย่างหนักหน่วง ผมแนะนำว่าต้องพัก หยุดคิดเรื่องงานก่อน วางเรื่องงานไปเลย (แต่ให้รู้ว่าเดี๋ยวต้องกลับมาทำใหม่นะ) นอนพักสักครู่ให้สมองได้พักผ่อนก่อน พอสมองได้พัก เดี๋ยวไอเดียจะมาเอง
ถ้าคิดคนเดียวไม่ออก ผมชอบใช้วิธีการคุยกับคนอื่นหรือ Brainstorm ต้องบอกแบบนี้ว่าบางครั้งการ Brainstorm อาจจะไม่ได้ให้คำตอบสุดท้ายกับเราหรอกนะครับ แต่เราจะเริ่มเห็นเค้าลางไอเดียดีๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ และเช่นเดียวกัน ถ้าในวง Brainstorm คิดกันจนหัวจะระเบิดแล้วก็ยังไม่ได้ไอเดีย ผมแนะนำว่าให้แยกวง หยุดให้สมองพัก แล้วเดี๋ยวกลับมาใหม่ ผมได้พบว่าเราต้องไม่ไปเค้นหรือบีบบังคับให้สมองทำงานมาก แต่หน้าที่ของเราคือสร้างสภาวะให้สมองทำงานได้ดีที่สุด แล้วที่เหลือสมองจะทำงานได้เอง
อีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้คือเวลาไปเจออะไรดีๆ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ผมจะเก็บไว้ในคลังของตัวเอง อาจจะเป็นการถ่ายรูปเก็บไว้เป็นอัลบั้มในมือถือ สร้างโฟลเดอร์เก็บเรเฟอเรนซ์ต่างๆ เอาไว้ เชื่อไหมครับว่าพวกนี้สุดท้ายได้ใช้จริงๆ แม้กระทั่งไอเดียที่เคยถูกปัดตกไป ผมก็เก็บไว้ก่อน เพราะไอเดียที่เคยถูกปัดตกไม่ได้แปลว่าเป็นไอเดียที่แย่ มันแค่เป็นไอเดียที่ต้องพัฒนาต่อและใช้ให้ถูกเวลา หลายครั้งเลยนะครับที่ไอเดียดีๆ เกิดจากสิ่งที่เคยถูกปัดตกแล้วนำมาเขย่าใหม่ให้ถูกที่ถูกทาง
เวลาไปเจออะไรดีๆ ให้เก็บใส่สมองไว้ครับ ยิ่งเก็บไว้เยอะยิ่งดี เวลาต้องใช้สมอง เราจะมีคลังข้อมูล คลังเรเฟอเรนซ์มาต่อยอดได้เพียบ บางทีไอเดียดีๆ มันมาจากการเชื่อมโยงสิ่งที่เราเคยเห็น เคยอ่าน เคยดู เคยฟัง เคยสัมผัส แล้วเก็บใส่สมองไว้ คลังยิ่งเยอะ สมองยิ่งมีอะไรมาเชื่อมโยง ไอเดียดีๆ ก็จะเกิด และเชื่อผมเถอะว่ามันได้ใช้แน่ๆ เวลาจวนตัว ผมคนหนึ่งล่ะที่ต้องสะสมคลังข้อมูลไว้ในสมองตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะไม่รู้เลยว่าต้องหยิบมาใช้เมื่อไร แต่รู้แน่ๆ ว่าต้องได้ใช้
ที่สุดแล้วการทำงานที่ได้ทั้งคุณภาพและรักษาเวลาเป็นการให้เกียรติบริษัท ให้เกียรติลูกค้า ให้เกียรติผู้ร่วมงาน และให้เกียรติตัวเราเองครับ เพราะเราได้แสดงความรับผิดชอบอย่างดีที่สุดด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น นี่ล่ะครับมืออาชีพ
เปลี่ยนจากไฟที่ลนก้นให้กลายเป็นไฟในการทำงานให้มีประสิทธิภาพน่าจะดีกว่านะครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
ภาพ: Nisakorn Rittapai
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
The post คิดงานไม่ออก ทำงานไฟลนก้นตลอด จะทำอย่างไรดีครับ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: ผมเป็นนักศึกษาที่อยากให้บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงในท […]
The post ถ้าออกไปประท้วงแล้วเวลาสมัครงานจะถูกบริษัทหมายหัวไหมครับ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: ผมเป็นนักศึกษาที่อยากให้บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น และก็คิดว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราออกไปประท้วงเคลื่อนไหวทางการเมืองตอนนี้ เราจะถูกบริษัทต่างๆ หมายหัวไหมครับเวลาสมัครงาน เพราะรู้มาว่าเวลาสมัครงาน บริษัทจะดูประวัติของเรา บางทีก็แอบเข้าไปดูโซเชียลมีเดียของเรา พ่อแม่ผมก็เป็นห่วง ทะเลาะกันบ่อยเรื่องความเห็นทางการเมือง เขาเห็นผมจะออกไปประท้วงก็ว่าทุกทีว่าไม่คิดถึงอนาคตตัวเองหรือ ต่อไปจะหางานทำได้หรือ ในคอมเมนต์โซเชียลมีเดียทั้งหลายก็ชอบบอกว่าจะไม่รับพวกนักศึกษาเข้าไปทำงานหรอก พี่คิดว่าจริงไหมครับที่บริษัทต่างๆ จะหมายหัวนักศึกษาที่ออกไปประท้วง พวกผมจะมีงานไหมครับ
A: คำถามที่น้องถามมานั้นเป็นหนึ่งในคำถามที่คนส่งมาหาผมเยอะมากที่สุดในช่วงนี้ ปัญหาบ้านเมืองต่างๆ มากมาย (หรือจะบอกว่าบ้านเมืองเราไม่มีปัญหาล่ะครับ) ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ออกมาส่งเสียงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่… นานแล้วที่ไม่ได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ในระดับนี้ และอย่างที่น้องบอกครับ มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวด้วยเหตุผลต่างกันไป และส่วนหนึ่งก็ออกมาคอมเมนต์อย่างที่น้องบอกเลยนั่นแหละครับว่า ออกมาประท้วงแบบนี้ระวังจะไม่มีงาน บริษัทจะไม่รับ
ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าที่มาออกตัวคอมเมนต์กันแบบนั้น จริงๆ มีอำนาจในการตัดสินใจรับพนักงานจริงหรือเปล่า หรือก็เป็นลูกจ้างเหมือนกันนี่แหละ แล้วนั่นคือการแสดงออกในนามบริษัทไหม หรือเฉพาะบุคคล ในโซเชียลเราก็เปรี้ยวกันได้ทุกคนแหละครับ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปใส่ใจทุกคอมเมนต์ในโซเชียลมีเดียครับ ให้เรามีวิจารณญาณของเราเองว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกที่ควร
ผมเคยได้คุยกับคนรุ่นใหม่หลายคนเลยว่าเขามองหางานแบบไหน มองหาองค์กรแบบไหน เท่าที่พี่ได้สัมผัส พวกเขาไม่ได้แค่มองหางานแบบไหนก็ได้ แต่เขามองหางานที่มี Purpose หรือมีเป้าหมายที่มากไปกว่าการทำงานหาเงินแล้วก็จบกันไป เขามองหาองค์กรที่มีความเชื่อแบบเดียวกับเขา มีวิสัยทัศน์แบบเดียวกับเขา เขาจะมองดูว่าองค์กรมีความคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นสังคมที่เกิดขึ้น ขับเคลื่อนสังคมไปในทิศทางไหน เพราะองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของสังคม องค์กรที่เอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาหาเงินทำกำไรแต่ไม่สนใจความเป็นไปในสังคม ไม่ขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดี องค์กรแบบนั้นก็ไม่ได้น่าดึงดูดสำหรับคนรุ่นใหม่เท่าไร
ขนาดผมทำงานอยู่บริษัทใหญ่โต เชื่อไหมครับว่าพอได้คุยกับคนรุ่นใหม่ที่ทำงานอยู่ที่เดียวกัน พวกอายุของบริษัทที่ยาวนาน ผลกำไรที่ได้เป็นอันดับหนึ่ง ฯลฯ มันไม่ได้มีผลต่อความอยากทำงานของคนรุ่นใหม่เท่าไร พวกเขาบอกผมว่า แทนที่จะมาบอกว่าบริษัทได้ผลกำไรเท่าไร ทำไมไม่บอกว่าบริษัทเราเปลี่ยนแปลงสังคมไปอย่างไรบ้าง น่าคิดนะครับ และเวลาที่ทีมหรือองค์กรวางเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ไว้มากไปกว่าการตั้งผลกำไร แต่เป็นไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผมสังเกตว่าคนรุ่นใหม่จะมีพลังในการทำงานมากกว่าเดิม
ถ้าดูในต่างประเทศ เวลาเกิดประเด็นทางสังคมอะไรขึ้นมา แบรนด์ต่างๆ เขาพร้อมจะส่งเสียงออกมาเลยว่าแบรนด์คิดอย่างไรกับประเด็นสังคมเหล่านั้น ดูอย่าง Black Lives Matter เราจะได้เห็น Nike, Facebook, Google ฯลฯ ออกมาประกาศจุดยืนทันที และเมื่อจุดยืนของบริษัทเป็นจุดยืนร่วมกับที่เรามี เราก็รู้สึกภูมิใจ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบริษัทไปด้วย แต่บริษัทที่ไม่หือไม่อือใดๆ ต่อประเด็นทางสังคม บริษัทแบบนี้ก็จะถูกมองว่าไม่สนใจสังคม ไม่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดี เอาแต่หากำไร
ถ้าคุณค่าที่เรายึดถือเป็นคุณค่าเดียวกับบริษัท เราก็จะดึงดูดซึ่งกันและกัน บริษัทก็อยากได้คนที่เชื่อในคุณค่าแบบนั้น คนที่เชื่อในคุณค่าแบบนั้นก็มองหาบริษัทที่เชื่อแบบเดียวกัน
ทีนี้ลองมามองดูว่า แล้วคุณค่าที่คนรุ่นใหม่ยึดถือคืออะไรบ้าง เท่าที่ผมเห็น แน่นอนคือเสรีภาพในการแสดงออก ความเชื่อว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกันและต้องเคารพคุณค่าของกันและกัน เมื่อพวกเขาเห็นปัญหาหรือรู้สึกว่าอะไรเป็นปัญหา เขาก็ตั้งคำถาม เขากล้าถาม และกล้าฝันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ และพวกเขารังเกียจการบูลลี่ เพราะพวกเขาเชื่อว่าคนทุกคนมีค่า เมื่อเขาทำงาน เขาก็ต้องมองหาบริษัทที่เชื่อแบบเดียวกัน เชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกในที่ทำงานได้ กล้าพูดถึงปัญหาที่มีในที่ทำงานได้ ไม่ยอมรับการเหยียดหรือการมีลำดับขั้นศักดินาในที่ทำงาน บริษัทแบบนี้แหละครับคือบริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วย
ที่เล่ามาก็เลยจะบอกว่า คนในบริษัทที่ออกมาบอกว่า เด็กพวกนี้สร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง ถ้าเด็กพวกนี้มาสมัครงานจะไม่รับเลย ผมก็เลยอยากบอกว่า อย่าเพิ่งออกตัวแรงนะพี่นะ เพราะพี่อาจจะไม่ใช่องค์กรที่คนรุ่นใหม่เขาอยากทำงานด้วยตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว มาฟึดฟัดฮึดฮัด แต่จริงๆ น้องเขาไม่ได้จะแคร์บริษัทพี่อยู่แล้ว น้องจะบอกได้ว่า แล้วไงใครแคร์ พี่จะหน้าแตกเอา
แล้วเอาจริงๆ นะครับ บริษัทที่คนรุ่นใหม่ไม่ชายตามอง ไม่มีแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้าไป บริษัทก็จะไม่มีอะไรใหม่ๆ ด้วย โลกยิ่งเปลี่ยนแปลงไปเร็วขึ้น ถ้ามีแต่คนเดิมๆ ความคิดเดิมๆ ทำงานแบบเดิมๆ ไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามา คนเดิมๆ ก็ร่วงโรยไป บริษัทก็จะไม่ทันโลกเอาได้ เป็นผลเสียกับองค์กรไปด้วย ทำอย่างไรล่ะทีนี้
เรื่องนี้อยู่ที่มุมมองว่า เรามองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่เท่ากับความวุ่นวาย หรือมองว่าคือการแสดงออกว่ามีปัญหาที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เวลาเขาพูดแล้วเราฟังแล้วคิดตามหรือเราห้ามเขาพูด ประณามที่เขาพูดในสิ่งที่เราไม่อยากฟัง เวลาเขาบอกว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้วเราอยากแก้ปัญหาหรือโกรธที่เขาบอกว่าเขามีปัญหา
เวลาที่มีคนเอาปัญหาที่เคยซุกอยู่ใต้พรมมาวางไว้บนพรมให้เห็นและบอกว่ามันต้องแก้ไข เรามองว่าปัญหาคือสิ่งที่ต้องแก้ หรือคนที่เอาปัญหาขึ้นมาคือสิ่งที่ต้องแก้ ผมใช้คำนี้บ่อยๆ “เราห่วงคนหรือเราห่วงพรม”
ทีนี้ตอบคำถามที่น้องๆ ส่งมา ถ้าถามพี่ว่าจะโดนบริษัทหมายหัวไหมที่ออกไปประท้วง พี่คิดว่าก็มีทั้งจริงและไม่จริง คือแน่นอนว่าตอนสัมภาษณ์เขาไปดูโซเชียลมีเดียของน้องก่อนอยู่แล้วอย่างที่น้องบอก แต่ประเด็นที่พี่คิดว่าสำคัญไม่ใช่ว่าประท้วงหรือไม่ประท้วง แต่เป็นการนำเสนอของน้องมากกว่า คือถ้าการประท้วงของน้องหยาบคาย ใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ พี่คิดว่าอันนี้น่าห่วง เพราะต่อให้เชื่อแบบเดียวกับน้องว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ข้อความของน้องที่ได้เห็นมันหยาบ ถ้าพี่ต้องรับคนที่สามารถพ่นคำหยาบในพื้นที่สาธารณะได้โดยที่เขาไม่ตะขิดตะขวงใจเลย พี่ก็อาจจะรู้สึกว่าน้องไม่มีวุฒิภาวะในการแสดงออกที่เพียงพอที่จะรับมาทำงาน ตรงนี้มากกว่าที่พี่คิดว่าจะมีผล
เรื่องนี้น่าจะเป็นผลดีกับการเคลื่อนไหวของน้องด้วย เพราะต่อให้ ‘แก่น’ ของการเคลื่อนไหวเป็นแก่นที่ดี มีสาระ แต่มันถูกเคลือบด้วยความหยาบคาย คนก็อาจจะไม่ตีประเด็นเรื่องความหยาบคาย ความไม่เหมาะสมในการใช้ถ้อยคำ เขาก็จะไม่มามองที่ ‘แก่น’ ของน้องจะกลายเป็นจุดอ่อนไปได้
มันก็คงมีบางบริษัทที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่น้องประท้วง แต่อย่างที่พี่บอก พี่คิดว่าบริษัทเหล่านั้นก็อาจจะไม่ใช่บริษัทที่น้องจะอยากทำงานด้วยอยู่แล้ว เพราะความเชื่อคนละแบบ หรือถ้าจะมาตัดสินน้องเพียงเพราะน้องเคลื่อนไหวทางการเมือง พี่ก็คิดว่ามันตื้นเขินไป แต่ก็มันก็บอกได้เหมือนกันว่าเขาเป็นองค์กรแบบไหน มันมีที่อื่นๆ อีกมากที่เขาน่าจะเชื่อวิถีทางเดียวกับน้อง มีเป้าหมายเดียวกับน้อง แบบนั้นน่าจะอยู่ด้วยกันได้ดีกว่า
สิ่งที่น่าคิดก็คือ ต่อให้เราได้งานที่ดี แต่สังคมไม่ดี สังคมเป็นไปในทางอยุติธรรม มีการใช้อำนาจในทางมิชอบ มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เราจะเติบโตต่อไปได้อย่างไร นี่เป็นสังคมแบบที่เราอยากใช้ชีวิตอยู่จริงๆ หรือ
แล้วถ้าไปทำงานแล้วเห็นว่าองค์กรมีปัญหาอะไรที่ควรแก้ พี่เป็นกำลังใจให้น้องลงมือแก้ปัญหานั้นด้วย เอาปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมมานานขึ้นมาแก้ไข เป็นเสียงให้กับคนที่ไม่มีเสียง พร้อมกับขับเคลื่อนองค์กรให้เปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น องค์กรของน้องจะได้เติบโต สังคมของเราจะได้พัฒนา
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
The post ถ้าออกไปประท้วงแล้วเวลาสมัครงานจะถูกบริษัทหมายหัวไหมครับ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: อยากฝึกให้ตัวเองมีความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น จะต้องทำอ […]
The post อยากมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) เพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรคะ appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: อยากฝึกให้ตัวเองมีความฉลาดทางอารมณ์มากขึ้น จะต้องทำอย่างไรคะ มันฝึกกันได้ไหม หรือว่าต้องมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด
A: คำถามนี้ดีครับ คำถามส่วนใหญ่ที่ส่งมาให้ผมทั้งทางเพจ ‘ท้อฟฟี่ แบรดชอว์’ ไปจนถึงคนที่มาปรึกษากับผมในฐานะมนุษย์ออฟฟิศด้วยกัน ส่วนใหญ่แล้วต้นตอของปัญหาก็มาจากการไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ทั้งนั้น ทุกครั้งหน้าที่ของผมคือรับฟังปัญหาที่เขามี ให้เขาระบายออกมาว่ารู้สึกอย่างไร จับความรู้สึกของเขาให้ได้ เสนอมุมมองที่อาจจะเป็นไปได้ในหลายทาง ไม่ยัดเยียดทางออก ให้กำลังใจเขาว่าปัญหามีทางแก้ไขอยู่ แล้วสุดท้ายเมื่อเขารู้สึกดีขึ้นแล้ว รู้สึกว่ามีคนฟัง รู้สึกว่ามีคนเข้าใจ มองเห็นว่าชีวิตมีความหวังอยู่ เขาจะเลือกทางออกให้กับชีวิตด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทางออกที่ผมชี้บอก
ผมคิดว่าความฉลาดทางอารมณ์ก็เป็นเรื่องแบบนี้เหมือนกัน ความฉลาดทางอารมณ์คือความสามารถในการตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไรอยู่ เมื่อรู้แล้วว่ารู้สึกอะไรก็สามารถจัดการควบคุมความรู้สึกนั้นได้ สามารถแสดงออกจากอารมณ์นั้นได้อย่างเหมาะสม ไปจนถึงการสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนอื่นๆ และตอบสนองแสดงออกได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในทางที่สร้างสรรค์
ทุกอารมณ์ที่เรามีเป็นกลไกธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติ และมีหน้าที่ของมันอยู่ และเมื่อมันถูกใช้อย่างเหมาะสม มันมีประโยชน์หมด อารมณ์โกรธที่เหมาะสม ถ้าถูกใช้เมื่อเราเห็นความอยุติธรรมในสังคม ก็เป็นแรงผลักดันให้เราอยากแก้ไขปัญหานั้น อารมณ์เศร้าที่เหมาะสม ถ้าถูกใช้เมื่อเราพบความสูญเสีย ก็เป็นแรงผลักดันให้เราตระหนักถึงการมีคุณค่าของสิ่งต่างๆ ที่เรามีอยู่ได้
ประเด็นสำคัญคือ เมื่อเกิดอารมณ์ใดๆ ขึ้นแล้ว เรารู้ตัวหรือเปล่าว่ากำลังรู้สึกอะไร เมื่อรู้สึกแล้วควบคุมมันได้ไหม หรือปล่อยให้อารมณ์พาเราไปทั่ว แล้วเรามีการแสดงออกที่มาจากอารมณ์นั้นออกมาอย่างไร มันจึงเป็นการทำงานที่ประสานกันระหว่างเหตุผลและอารมณ์ มีอารมณ์อย่างเดียวแต่ไม่มีเหตุผลมาทำงานด้วยก็จะปล่อยให้อารมณ์กระเจิดกระเจิง สติไปหมด แสดงออกอย่างก้าวร้าวรุนแรง หรือรับมือกับอารมณ์นั้นไม่ได้ ขณะเดียวกันมีเหตุผลอย่างเดียวแต่ไม่มีอารมณ์ ก็ทำให้เราไม่สามารถมีความเป็นมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ด้วยกันได้ แสดงออกมาแบบทื่อๆ แข็งๆ ไม่มีความอ่อนโยน ทั้งอารมณ์และเหตุผลจึงต้องทำงานด้วยกัน เป็นทีมเดียวกัน
ความฉลาดทางอารมณ์ยังรวมไปถึงการที่รู้ว่าเมื่อไรควรมีอารมณ์แบบไหน เมื่อทำผิดควรรู้สึกผิด ควรรู้สึกเสียใจ เมื่อสัมผัสได้ว่าคนอื่นเศร้า ควรรู้สึกเศร้า รู้สึกเห็นใจ ไม่ใช่รู้สึกสะใจหรือรู้สึกดีใจ ฯลฯ ปัญหาหลายๆ อย่างที่เราเห็นก็มาจากการที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรมีความรู้สึกแบบไหน เช่น ไม่รู้สึกผิดในเรื่องที่ควรรู้สึกผิด รู้สึกดีใจในเรื่องที่ควรเสียใจ ฯลฯ พอไม่มีความรู้สึกก็เลยแสดงออกไปอย่างไม่เหมาะสม พอแสดงออกไปอย่างไม่เหมาะสมก็ทำให้เกิดปัญหาตามมา และทำให้รู้สึกว่า ทำไมถึงช่างไม่รู้สึกรู้สาอะไรบ้างเลย
ลองนึกถึงคนทำงานที่โมโหแล้วขว้างปาข้าวของ สามารถสรรหาคำพูดมากรีดหัวใจคนฟังได้โดยไม่รู้สึกอะไร คนที่ไม่รู้สึกว่าการกระทำของตัวเองจะส่งผลกระทบต่อคนอื่น คนที่คิดถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว ฯลฯ นี่แหละครับคนที่มีปัญหาเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ เก่งแค่ไหนแต่ไม่มีความฉลาดทางอารมณ์ก็อยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ไม่มีใครรัก ไม่มีใครอยากทำงานด้วย อยู่ที่ไหนก็วงแตกหมด อย่าว่าแต่อยู่กับคนอื่นเลย อยู่กับตัวเองยังยากเลยครับถ้าจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้
ขณะเดียวกันคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์เขาจะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เห็นอกเห็นใจคนอื่นเป็น แสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม มีคนรัก มีคนอยากช่วยเหลือ มีทัศนคติที่ดีเมื่อเผชิญปัญหา อยากพัฒนาตัวเองต่อไป สุดท้ายความก้าวหน้าก็จะตามมา เพราะทั้งตัวเขาและทีมส่งให้เขาก้าวหน้าไปด้วย มีงานวิจัยหลายชิ้นลองเปรียบเทียบคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์กับคนที่ไม่มีความฉลาดทางอารมณ์แล้วพบว่า คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะมีความสุขในที่ทำงานมากกว่า มีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมมากกว่า มีส่วนร่วมในการทำงานมากกว่า ส่งผลให้เขาพัฒนาตัวเองได้มากกว่า มีความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานมากกว่า เงินเดือนมากกว่า
นักจิตวิทยาบางคนก็บอกว่าความฉลาดทางอารมณ์เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ขณะเดียวกันก็มีอีกฝั่งหนึ่งบอกว่าเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ โดยส่วนตัวผมคิดว่ามันมีทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและการบ่มเพาะฝึกฝนนี่แหละครับ แต่เลือกจะเชื่อว่ามันฝึกกันได้ เพราะถ้าเชื่อว่าทุกอย่างหยุดที่พันธุกรรม เราก็ไม่ต้องทำอะไรกันต่อ ได้มาทางดีเอ็นเอแบบไหนก็ได้เท่านั้น แต่พอเชื่อว่ามันฝึกฝนกันได้ เราก็จะเชื่อว่าเราพัฒนาตัวเองได้ ในมุมขององค์กรเหมือนกันครับ ถ้าเชื่อว่าฝึกฝนกันได้ องค์กรก็จะให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งแวดล้อม การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการบ่มเพาะให้ความฉลาดทางอารมณ์เติบโตงอกงามได้ด้วย ทุกวันนี้องค์กรเลยต้องให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้คนมีความฉลาดทางอารมณ์กันมากขึ้น ไม่ใช่มีเท่าไหนก็มีเท่านั้น
ความฉลาดทางอารมณ์สามารถฝึกกันได้อย่างไรบ้าง ผมมีวิธีแนะนำให้เอาไปฝึกใช้ได้ครับ
ฝึก ‘จับ’ ความรู้สึกของตัวเองให้ได้ เวลาที่มีความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นในใจ หายใจลึกๆ ช้าๆ จับให้ได้ว่าตอนนี้กำลังเรากำลังรู้สึกอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่โกรธ ลองเปลี่ยนจากการมีความคิดที่จะโจมตีคนตรงข้าม ทำไมเธอทำแบบนั้น ทำไมเธอแย่แบบนี้ เธอทำให้ฉันรู้สึกแย่ รัวเป็นชุด เปลี่ยนเป็นการสำรวจความรู้สึกของตัวเราเองคือ ตอนนี้ฉันรู้สึกโกรธ เวลาที่เรารู้สึกโกรธเราเป็นแบบนี้นี่เอง เราจะพลุ่งพล่านแบบนี้นะ เรียนรู้ธรรมชาติของตัวเราที่มีต่อความรู้สึกต่างๆ ที่มากระทบใจเรา การฝึกจับความรู้สึกตัวเองให้ได้เป็นพื้นฐานสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ครับ เพราะถ้าไม่รู้เลยว่าตัวเองรู้สึกอะไรอยู่ ไม่รู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง การควบคุมจัดการความรู้สึกก็จะยาก การหายใจเข้าช้าๆ เบรกตัวเองให้ช้าลง จะทำให้เราพอได้สำรวจความรู้สึกของตัวเองและควบคุมตัวเองได้ครับ
ฝึก ‘จัดการ’ ความรู้สึกของตัวเอง พอรู้เท่าทันอารมณ์ รู้ธรรมชาติของอารมณ์แล้ว ให้เข้าใจอย่างหนึ่งว่าอารมณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่อยู่กับเราตลอดไป มันมีอายุของมัน แต่ระหว่างที่มันยังอยู่ ถ้าเราสามารถจัดการและแสดงออกได้อย่างเหมาะสม อันนี้แหละครับทำให้เราพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าเราควบคุมอารมณ์ของคนอื่นไม่ได้ ควบคุมการแสดงออกของคนอื่นไม่ได้ แต่เราสามารถจัดการควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ มีการแสดงออกอย่างที่เหมาะที่ควรได้จากตัวเรา วิธีการคือมองให้เห็นผลของการกระทำของเราที่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าเราแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เช่น ถ้าตอบโต้แรงๆ ไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง แล้วดูว่าผลลัพธ์แบบไหนที่สร้างสรรค์ที่สุด ทำร้ายตัวเองและทำร้ายคนอื่นน้อยที่สุด ให้ฝึกที่จะเลือกแสดงออกแบบนั้น
ฝึก ‘ฟัง’ ให้ได้ยินความรู้สึก สัมผัสความรู้สึกของคนอื่นผ่านการเป็นผู้ฟัง ฟังแล้วจับให้ได้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร โดยที่ไม่เป็นฝ่ายให้ความคิดเห็นหรือตัดสินเขาก่อน ให้เขาพรั่งพรูความรู้สึกออกมา การเป็นผู้ฟังที่ดีทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น เป็นการเรียนรู้ความรู้สึกของอีกฝ่ายไปด้วย พร้อมกับฝึก ‘หยุด’ ความคิดเห็นของเรา บางทีการแสดงออกว่ามีคนพร้อมจะรับฟังเขาอยู่เสมอก็อาจจะเพียงพอแล้ว เว้นแต่ว่าอีกฝ่ายอยากได้คำแนะนำค่อยเสนอมุมมองของเรา ถ้าทริกส่วนตัวของผม ถ้าต้องเสนอแนะ ผมมักจะใช้คำว่า ‘ลอง…’ หรือ ‘เป็นไปได้ไหมว่า…’ เพราะมันคือการเสนอทางเลือก เสนอมุมมอง ทำหรือไม่ทำเป็นเรื่องของเขา เป็นสิทธิ์ของเขา เป็นชีวิตของเขา ไม่ใช่การสั่ง ไม่เหมือนกับการบอกว่า ‘ทำไมไม่ทำแบบนั้นล่ะ…’ ที่ยิ่งทำให้คนฟังรู้สึกว่า ‘เออ…ทำไมไม่ทำแบบนั้นล่ะ ทำไมฉันโง่จัง’ ซึ่งยิ่งทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่กว่าเดิม หรือเวลาที่เราอ่านสเตตัสในเฟซบุ๊ก ทวีตของเพื่อนในทวิตเตอร์ เราต้องจับความรู้สึกของเขาที่อยู่ในตัวหนังสือ หรือบางทีอยู่ระหว่างบรรทัดให้ได้ บางคนอาจจะไม่สื่อสารออกมาตรงๆ แต่มีวิธีระบายออกในแบบตัวเองที่เราต้องเข้าใจธรรมชาติของคนอื่นให้ได้
ฝึก ‘สวมรองเท้าของคนอื่น’ เราจะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้นเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกับเขา แต่ละคนมีเหตุผล มีเงื่อนไขในชีวิต มีการตัดสินใจที่ต่างกัน การรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้เรามองเห็นโลกในมุมมองของเขา และเห็นว่าเขากำลังเผชิญปัญหาอะไรอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่เรามองไม่เห็นก็ได้จากมุมมองของเราเอง การฝึกตั้งคำถามว่า ‘ถ้าเราเป็นเขา อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร’ ทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ไปจนถึงมองเห็นว่าเราควรแสดงออกต่อสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร
ฝึก ‘วาง’ มือถือ หลักการง่ายๆ คือ เวลาเราก้มหน้าดูมือถืออยู่ เราจะมองไม่เห็นแววตาของคนอื่นที่กำลังคุยกับเรา คนที่กำลังคุยกับเราก็จะรู้สึกว่าไม่ได้รับความสำคัญ ไม่ได้รับการสนใจ แต่ลองถ้าเราได้มองตาเขา ทำให้เขารู้สึกว่าเวลานี้คนที่สำคัญที่สุดคือคนที่อยู่ตรงหน้า เราจะได้สัมผัสความรู้สึกอีกเยอะจากอีกคน มีงานวิจัยชื่อ Computers in Human Behavior น่าสนใจมากครับ เขาพบว่าวัยรุ่นที่ไม่อยู่กับโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าสู่โลกดิจิทัล 5 วัน สามารถสัมผัสอารมณ์ของคนอื่นๆ ทั้งการแสดงออกโดยตรงด้วยคำพูดและภาษากายได้ดีขึ้น หลักๆ แล้วผมคิดว่ามันคือเรื่องของการที่เราให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ตรงหน้า มองตาเขา ให้เวลาเขา ให้คุณค่าเขา อยู่ด้วยกันอย่างมนุษย์ แล้วเราจะสัมผัสความรู้สึกของมนุษย์ด้วยกันได้ดีขึ้น
ความฉลาดทางอารมณ์เป็นเรื่องสำคัญที่เอามาใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตนะครับ ไม่ใช่แค่เรื่องงานอย่างเดียว ใช้กับครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งแวดล้อม ได้หมดเลย และควรต้องใช้ด้วย และอย่างที่บอกครับว่าเป็นเรื่องที่ฝึกกันได้ พัฒนากันได้ เพราะฉะนั้นให้ทุกวันที่เราไปทำงาน เป็นทุกวันที่เราฝึกให้ตัวเองมีความฉลาดทางอารมณ์กันนะครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
The post อยากมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional intelligence) เพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรคะ appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: งานที่ทำอยู่ต้องประสานงานกับหลายฝ่าย เหนื่อยกับการต้ […]
The post เหนื่อยกับการต้องกราบกรานอ้อนวอนให้ทีมงานทำงานเหลือเกินค่ะ appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: งานที่ทำอยู่ต้องประสานงานกับหลายฝ่าย เหนื่อยกับการต้องกราบกรานอ้อนวอนให้แต่ละคนทำงานเหลือเกินค่ะ อารมณ์ศิลปินสูงกันเหลือเกิน ทำไมไม่รู้จักหน้าที่ก็ไม่รู้ เราอยากจะให้ทำอะไรแต่ละอย่างนี่แทบต้องกราบให้ทำเถอะค่ะ หนูไหว้ล่ะ กว่าจะจบงานรู้สึกว่าต้องใช้พลังในการดีลกับคนให้ทำงานเยอะเหลือเกินค่ะ มีวิธีอย่างไรให้เขาทำงานให้เราได้แต่โดยดีบ้างคะ
A: บ่นว่ายากเย็นแสนเข็ญขนาดนี้ แต่ก็ยังสามารถเข็นงานจนเสร็จได้ ต้องปรบมือดังๆ ให้เลยครับ แสดงว่าคุณมีส่วนสำคัญในการผลักดันในงานที่ต้องดีลกับคนเยอะแยะ และแต่ละคนก็มีวินัยบ้างไม่มีบ้าง ยากบ้าง เยอะบ้าง ทำจนออกมาได้ขนาดนี้ก็เก่งมากแล้วครับ ขอชื่นชมเลย แต่เข้าใจครับว่าถ้าแต่ละคนรู้จักหน้าที่ของตัวเอง คุณน่าจะเหนื่อยน้อยลงกว่านี้ และอาจจะมีเวลาหรือพลังไปโฟกัสการพัฒนางานให้ดีขึ้น ถ้าต้องหมดเวลาไปกับการเคี่ยวเข็ญกราบกรานให้คนทำงาน แทนที่จะเอาเวลาหรือพลังของเราไปทำอย่างอื่นได้ก็หมดแล้ว
แต่ไม่เป็นไรนะครับ อย่างน้อยผมคิดว่าคุณชัดเจนของคุณว่าต้องการทำงานให้เรียบร้อย อยากทำงานให้สำเร็จ เป้าหมายชัดเจนแล้ว ทีนี้วิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายนี่แหละที่เราต้องมาทบทวนกันนิดหนึ่ง
ความท้าทายของการทำงานกับมนุษย์ก็คือ มนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรที่ป้อนคำสั่งไปแล้วจะทำงานให้โดยอัตโนมัติ ไม่หือไม่อือ ไม่บ่น ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน แต่ข้อดีมากๆ ของการทำงานกับมนุษย์คือ เมื่อไรที่เขารักเรา เขาอยากทำงานให้เรา เขาทำงานแบบทุ่มหมดหัวใจเลยนะครับ หุ่นยนต์นี่ป้อนไปเท่าไรทำออกมาเท่านั้น ไม่ขาด ไม่เกิน ซึ่งที่สุดแล้วเราคงต้องทำงานกับทั้งแมชชีน หุ่นยนต์ AI ควบคู่กับมนุษย์นี่แหละครับ
ในเมื่อเราไม่สามารถทำงานเพียงลำพังได้ ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน งานแต่ละส่วนมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอยู่ อย่างแรกผมคิดว่าทุกคนควรรู้ว่างานที่เราทำอยู่นั้นเชื่อมโยงสัมพันธ์กับใครอยู่บ้างตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ แต่ละส่วนมีความสำคัญอย่างไร และต้องการอะไรบ้างเพื่อให้สามารถทำงานในส่วนของตัวเองให้ได้ดี เพื่อที่จะส่งต่อผลงานของตัวเองไปยังส่วนต่อไป
นั่นแปลว่าถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งทำงานได้ไม่ดี ย่อมส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ตามไปด้วย เช่น ถ้างานจากทีม A ส่งมาให้ทีม B ช้า แปลว่าทีม B มีเวลาน้อยลงในการทำงานเพื่อให้ทันเดดไลน์ พอทีม B มีเวลาน้อยลง ก็จะตามมาด้วยความเครียด หรืออาจต้องไปบี้กันในทีมให้เสร็จทันเวลา ถ้าไม่ทันจะส่งต่องานที่ช้าไปด้วย หรือพอเวลาน้อยลง ก็อาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้ พอทีม B ส่งต่องานที่ช้าและมีข้อผิดพลาดให้ทีม C ปัญหาก็จะมากองต่อที่ทีม C เป็นโดมิโนเอฟเฟกต์กันไปหมด
ถ้าทุกคนได้เห็น ‘ภาพใหญ่’ ของการทำงานว่าเราเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร ไม่ได้มองแคบอยู่แต่งานส่วนของตัวเองอย่างเดียว ความรู้สึกเกรงใจกัน เห็นใจกัน อยากช่วยเหลือกัน ก็น่าจะมีมากขึ้นตามไปด้วย
ความเห็นอกเห็นใจ เข้าอกเข้าใจกันในทีมด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญมากครับ ลองถ้าได้มีโอกาสไปดูงานของส่วนอื่นๆ นอกจากของตัวเองบ้าง ไปขลุกอยู่กับส่วนอื่น เราอาจจะเข้าใจคนอื่นมากขึ้นว่าเขากำลังเผชิญอะไรอยู่ และมองเห็นไปด้วยว่างานของเรานั้นส่งผลกระทบต่อคนอื่นอย่างไร
ขอแชร์ประสบการณ์ของผมนะครับ ผมทำงานอยู่ในทีมการตลาดของธนาคารแห่งหนึ่ง เวลาจะออกแคมเปญอะไรมา เมื่อก่อนทำงานอยู่แต่ในสำนักงานใหญ่ ก็มองโลกแบบหนึ่ง ตอนหลังถูกส่งไปให้ร่วมงานกับพนักงานสาขาที่อยู่ตามสำนักงานสาขาต่างๆ พอได้เข้าไปดูชีวิตของพนักงานสาขา ผมก็ค่อยๆ เห็นชีวิตของพนักงานสาขา เห็นความเหนื่อย ความยากลำบาก เห็นปัญหาต่างๆ ในมุมของเขา เห็นจุดแข็งของเขา พอได้ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น ก็เริ่มเข้าใจว่าเขาเจออะไรอยู่บ้าง อะไรเป็นความต้องการของเขา พอเป็นแบบนี้ปุ๊บ วิธีคิดของเราเปลี่ยนเลยครับ เวลาจะทำอะไรเราจะมีหน้าของพนักงานสาขาอยู่ ที่ทำให้เราคิดอยู่เสมอว่างานที่เราทำอยู่นี้จะส่งผลกระทบกับพนักงานสาขาอย่างไร และทำอะไรก็ตามก็ต้องไม่ลืมคิดถึงหัวอกของพนักงานสาขาด้วยว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร เขาจะย่อยเรื่องต่างๆ ให้พนักงานสาขาเข้าใจได้มากขึ้นอย่างไร เพราะสุดท้ายเขาเป็นคนที่ต้องไปสื่อสารกับลูกค้า เราขาดตกบกพร่องตรงไหนหรือเปล่าที่จะทำให้พนักงานสาขารู้สึกว่าถูกหลงลืมไป
ที่เล่ามาก็จะบอกว่า ผมคิดว่านอกจากการมองเห็น ‘ภาพใหญ่’ ของเรามีผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ อย่างไร จำเป็นมากๆ ครับที่ต้องมองเห็น ‘ภาพเล็ก’ ของส่วนอื่นๆ นอกจากตัวเราว่าเขาเป็นใคร เขาใช้ชีวิตอย่างไร เขาเผชิญอะไรอยู่ วิธีการที่ดีคือการไปขลุกอยู่กับเขา ได้เห็นภาพการทำงานของเขา เห็นความยากลำบากที่เขาเจอ ทีนี้แหละครับ ความรู้สึกผูกพัน ความเห็นอกเห็นใจ ความเอาใจใส่ก็จะเกิดขึ้น
บางออฟฟิศใช้วิธีการส่งพนักงานไปทำงานข้ามแผนกเป็นเวลาสั้นๆ เหมือนโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนข้ามแผนกนี่แหละครับ โดยเฉพาะแผนกที่ต้องทำงานด้วยกัน หรือบางที่ใช้วิธีการให้แผนกต่างๆ มาแชร์ว่าพวกเขาทำงานอะไรกัน ติดขัดอะไรกันอยู่ อยากได้อะไรเพิ่มเติมบ้างเพื่อให้ได้งานที่ดีขึ้นพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นเซสชันเปิดใจแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันไป จุดประสงค์เดียวกันครับคือ ให้แต่ละฝ่ายได้เห็นมุมมองของกันและกัน จะได้เข้าใจกันมากขึ้น
คนที่ไม่ยอมรับผิดชอบงานของตัวเองที่คุณต้องไปคอยกราบไหว้อ้อนวอนนั้น เป็นไปได้ไหมครับว่าเขาอาจจะไม่เคยได้รู้ว่าคนอื่นๆ ได้รับผลกระทบอย่างไรจากความไม่รับผิดชอบของเขา เขาโฟกัสแต่ตัวเอง ไม่มองเห็นภาพใหญ่ของระบบ และไม่เห็นภาพเล็กของชีวิตอื่นๆ ที่ต้องมาทำงานขาขวิดจากความไม่รับผิดชอบของเขา เขาช้าหนึ่งคน งานส่วนอื่นๆ ก็ต้องช้าตาม คนกลับบ้านดึก เครียดกันเพราะเดดไลน์คอยจี้อยู่ตลอด ลูกค้ามาต่อว่า ฯลฯ ถ้าเขารู้ ทุกอย่างก็อาจจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นก็ได้
การทำงานกับมนุษย์เราต้องสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
ระดับแรกคือทำให้เขา ‘ยอม’ ทำงานให้เรา แปลว่าเขาทำงานให้เราตามหน้าที่ ทำเพราะมันต้องทำ ทำเพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำเพราะถูกบังคับ ทำเพราะสงสาร ทำเพราะรำคาญ ทำเพราะเราถือไพ่ในมือที่เหนือกว่า สุดท้ายเขาทำงานให้เรา แต่อาจจะไม่ได้ใส่หัวใจลงไปในงาน ทำงานให้เสร็จๆ ไป แต่สำเร็จไหมอีกเรื่อง
ระดับนี้เราจะรู้สึกว่าไม่ได้มีความผูกพันระหว่างคนทำงานเท่าไร ไม่ได้ให้ความเห็นอกเห็นใจกันเท่าไร ให้ความรู้สึกเหมือนหุ่นยนต์เหมือนกันนะครับ คำสั่งมาแบบนี้ก็ทำตามไป ทำเสร็จก็จบ
ระดับที่สองคือ ทำให้เขา ‘อยาก’ ทำงานให้เรา เป็นความรู้สึกที่พิเศษขึ้นมา เขาอยากทำเพราะมีเป้าหมายร่วมกัน อยากทำเพราะงานมันสนุก มันท้าทาย งานมันน่าทำจังเลย อยากทำเพราะทีมดี เข้าขากันด้วยดี อยากทำเพราะเขารักเรา เราอยากให้เขาทำอะไรเขาจะยินดีทำ
ระดับนี้เริ่มเห็นไหมครับว่ามันมีเรื่องความสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะขึ้นมาก มีความผูกพันกันในคนทำงาน มีเป้าหมายร่วมกัน มีคนที่เขารัก คนที่เข้าใจเขา อยู่ร่วมในทีมอยู่ เป็นสิ่งต่างๆ ที่เราต้องสร้างและต้องใช้เวลาร่วมกัน ซื้อใจกัน ลำบากด้วยกัน หัวเราะด้วยกัน ล้มเหลวร่วมกัน สำเร็จร่วมกัน ความผูกพันจะเกิด
ถ้าอยากทำให้คน ‘อยาก’ ทำงานให้เรา เราต้องลงทุนเรื่องความสัมพันธ์ให้มาก อยากให้ต้นไม้ออกดอกผลอย่างที่เราตั้งใจ เราต้องเป็นฝ่ายดูแลต้นไม้ให้ดีก่อน ไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะไปหวังดอกผลโดยไม่เคยลงแรงลงใจ การลงทุนเรื่องความสัมพันธ์เราต้องเป็นฝ่าย ‘ให้’ ก่อนครับ ให้สิ่งที่เขาต้องการ สิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขา แล้วสุดท้ายเขาจะเป็นฝ่ายให้เราคืนกลับมาได้
แน่นอนครับว่าแบบหลังเป็นเป้าหมายที่ถ้าทำได้ก็สุดยอดเลย แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะทำกับทุกคนได้นะครับ คนบางคน เราทำให้เขา ‘ยอม’ ทำงานให้เราก็เก่งแล้ว แล้วค่อยๆ พัฒนาไป แบบแรกที่ทำให้คน ‘ยอม’ ทำงานให้เรามันง่าย สั่งทีเดียวจบ แต่อาจจะไม่ได้ใจคนทำงานตลอดไป ดีลกันด้วยหน้าที่ แฟร์ๆ เสร็จงานก็แยกย้าย ความผูกพันไม่ได้มี แบบหลังที่ทำให้คน ‘อยาก’ ทำงานให้เรามันยาก มันใช้เวลา แต่ในระยะยาวมันดีมาก และมันไม่ใช่แค่ดีกับงานของเรานะครับ มันดีไปถึงการได้มิตรภาพที่ดีในที่ทำงานไปด้วย มันเกินกว่าเรื่องงาน งาน งาน และงานที่เราโฟกัสกันอีกนะครับ
ถ้าเป็นวิธีส่วนตัว เวลาต้องเจอคนที่ทำงานด้วยยากๆ ผมจะไม่แค่โฟกัสเรื่องงานอย่างเดียว แต่ไปใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ให้ดีด้วย ไปทำดีกับเขานอกเรื่องงาน มีของกินอร่อยๆ ติดมือมาฝาก ถามไถ่ทุกข์สุขกัน ชวนคุยเรื่องอื่นบ้าง แทนที่ว่าเห็นหน้ากันจะมีแต่เรื่องงาน ชมเขาบ้างในเรื่องที่เป็นเรื่องดีของเขา ทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น ให้เขาค่อยๆ เห็นว่าเราไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร ไม่ได้เป็นอันตรายกับเขา ค่อยๆ กะเทาะกำแพงของเขาทีละน้อยไปเรื่อยๆ พอรู้จักกันมากขึ้น ความยากจะเริ่มน้อยลง ไม่ได้บอกว่าจะไม่ยากแล้วนะครับ แต่ผมสัมผัสได้อย่างหนึ่งว่าพอรู้จักกันมากขึ้น ความเห็นอกเห็นใจ ความเกรงใจกันมันเริ่มมา ทำงานด้วยกันง่ายขึ้น ความรับผิดชอบในหน้าที่ก็ตามมา
สุดท้ายผมอยากจะบอกว่า ทักษะการจัดการกับมนุษย์เป็นทักษะที่จำเป็นมาก สิ่งที่คุณกำลังเจออยู่เป็นโอกาสให้คุณได้พัฒนาทักษะ ถ้ามองว่าคนยากๆ ดื้อๆ แบบนี้เราสามารถเอาอยู่ได้ ต่อไปเจอคนยากกว่านี้อีกก็จะได้พอมีประสบการณ์ไว้รับมือได้
คิดว่าฝึกทำให้คน ‘อยาก’ ทำงานให้เรา แทนที่จะฝึกทำให้คน ‘ยอม’ ทำงานให้เรานะครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
The post เหนื่อยกับการต้องกราบกรานอ้อนวอนให้ทีมงานทำงานเหลือเกินค่ะ appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: เครียดมากเลยค่ะที่ต้องมาเรียนจบเอาตอนที่มีโควิด-19 แ […]
The post เศรษฐกิจเจอโควิด-19 แบบนี้ เด็กจบใหม่จะไปหางานได้อย่างไรคะ appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: เครียดมากเลยค่ะที่ต้องมาเรียนจบเอาตอนที่มีโควิด-19 แบบนี้ เศรษฐกิจคงแย่ไปอีกนาน แล้วหนูจะไปหางานได้อย่างไรคะ เขาก็คงไม่เปิดรับคนเพิ่ม หรือถึงรับเพิ่มก็คงเอาคนที่มีประสบการณ์มากกว่าเด็กจบใหม่อยู่ดี
A: ยินดีกับน้องด้วยครับที่กำลังจะเรียนจบ น่าชื่นชมนะครับที่เทอมสุดท้ายของน้องซึ่งต้องเจอทั้งการเรียนและการสอบแบบออนไลน์อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ไหนจะต้องเจอความเครียดจากโรคระบาด การออกไปไหนไม่ได้ มีข้อจำกัดในชีวิตมากขึ้น และอีกหลายคนที่เรียนไปด้วยและทำงานหาเงินมาจ่ายค่าเทอมก็คงได้รับผลกระทบไม่น้อย ต้องจัดการทั้งเรื่องรายได้และเรื่องเรียนให้รอด แต่ไม่ว่าที่ผ่านมาจะเจออะไรกันมา พวกน้องๆ ก็ยังประคับประคองตัวเองให้เรียนจบได้
นั่นก็เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ว่า เมื่อน้องเจอโจทย์ชีวิตที่ไม่เคยเจอมาก่อน (ซึ่งบัณฑิตรุ่นก่อนๆ เขาก็ไม่เคยต้องเจอแบบนี้นะ) น้องก็ยังสามารถเอาตัวรอดมาจนได้ พี่คิดว่า จากนี้ไปน้องก็น่าจะทำได้เหมือนกัน
ทีนี้จากที่น้องส่งคำถามมาว่า เศรษฐกิจมันเป็นแบบนี้หนูจะไปหางานได้อย่างไร เขาต้องไม่รับเด็กจบใหม่แน่เลย อันนี้จริงๆ พี่เข้าใจว่าทุกคนก็มีความกังวลหมดแหละ ลำพังแค่ตอนสถานการณ์ปกติ คนที่เรียนจบมาก็ยังกังวลเลยว่าจะหางานได้ไหม แต่บัณฑิตรุ่นโควิด-19 น่าจะกังวลเป็นพิเศษเพราะเห็นอยู่ว่าเศรษฐกิจไม่ดีแน่ๆ
แต่สิ่งที่พี่จะบอกก็คือ ถ้าเราจะเอาเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีมาเป็นข้ออ้างว่าที่เราหางานไม่ได้ก็เพราะเศรษฐกิจไม่ดี มันก็จะไม่พาเราไปไหนต่อได้ เพราะลำพังตัวเราควบคุมเศรษฐกิจไม่ได้ มันเป็นปัญหาที่เราคนเดียวแก้ไม่ได้ ทีนี้พอเราไปโฟกัสที่ปัญหาที่มันแก้ไม่ได้ เราก็จะไม่เจอทางออก เช่น เศรษฐกิจไม่ดีเราเลยหางานไม่ได้ งั้นแปลว่าเราต้องรอให้เศรษฐกิจดีก่อนเราถึงค่อยหางานสิ ซึ่งประเมินแล้วแบบเอาความจริงมาพูด เราก็คงต้องอยู่ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้อีกยาว
ถ้าจะบอกน้องก็คือ ตอนนี้เราโฟกัสที่โควิด-19 อย่างเดียว แต่เอาจริงๆ โควิด-19 มันเป็นแค่หนึ่งในปัญหาที่เราเจอ มันมีอีกหลายปัญหาที่รอเราอยู่ สหรัฐฯ นี่ก็เอาแน่เอานอนไม่ได้กับพี่ทรัมป์ ขั้วอำนาจโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ไม่รู้ สงครามการค้าอีก แล้วตีๆ กันอยู่นี่อย่าลืมว่าโลกร้อนไม่รอใครนะครับ พอสมดุลของสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน โรคภัยอื่นๆ ก็จะตามมาอีก แล้วฝุ่น PM2.5 ที่เราเห่อๆ กันก่อนหน้านี้ก็ยังอยู่นะครับ ไม่ได้หายไปไหน โอ๊ย! อีกหลายปัญหา
เอาจริงๆ ถ้าบอกว่า “เศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้แล้วหนูจะหางานได้อย่างไร” มันคงเป็นคำถามที่ถามกันไปอีกนานแหละครับ ไม่ใช่แค่โควิด-19 แน่นอน (ตอนยังไม่มีโควิด-19 มันก็ไม่ใช่ว่าจะดีนะ ฮ่าๆ) เพราะฉะนั้นคำว่าเศรษฐกิจไม่ดีมันอยู่กับเราอีกนาน และการจะอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดีไง เราเลยหางานไม่ได้ มันก็จะทำให้เราไปไหนต่อไม่ได้
พอมองเห็นปัญหาแล้วโฟกัสแต่สิ่งที่แก้ไม่ได้ด้วยตัวเอง มันจะท้อครับ มันจะไม่เกิดการหาทางออก มันจะวนอยู่ที่เดิม แบบเดียวกับที่มองเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดีเราเลยหางานไม่ได้ อย่างไรเราก็แก้ให้เศรษฐกิจดีไม่ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แต่คำถามคือ แล้วปัญหาอะไรล่ะที่เราแก้ได้ด้วยตัวเอง
สิ่งที่เราทำได้คือ ‘เปลี่ยนคำถาม’ ครับ
เวลาเราเจอปัญหาเราจะมีคำว่า What if? อยู่ในหัว เช่น ก็เศรษฐกิจมันไม่ดีไง เราถึงหางานไม่ได้ ถ้าเศรษฐกิจดีเราก็หางานได้ไปแล้ว ซึ่งพอเป็นแบบนี้แล้วมันก็ไม่ได้คำตอบสักที คิดแล้วปวดหัวครับ
แต่ถ้าเราเปลี่ยนจาก What if? มาเป็นคำถามว่า What’s next? เป็นแบบนี้แล้วอย่างไรต่อ สถานการณ์มันเป็นแบบนี้ แล้วอะไรล่ะคือสิ่งที่เราทำได้ What’s next? มันทำให้เราไปต่อได้ เพราะมันทำให้เราเข้าใจปัญหา ยอมรับปัญหา ตั้งหลักแล้วกลับมาดูว่าจากเงื่อนไขที่มี เราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร มากไปกว่าการวนอยู่กับปัญหาแล้วไปต่อไม่ได้
ถ้าจัดการกับเศรษฐกิจไม่ได้ มาจัดการกับตัวเราเองดีกว่า ต่อให้เศรษฐกิจไม่ดี แต่ความต้องการคนที่มีคุณภาพต่อองค์กรอย่างไรก็ต้องมีอยู่ครับ แต่แค่แปลว่าการเลือกเฟ้นยิ่งเข้มข้นกว่าเดิม เขาต้องเลือกแล้วว่าเจ๋งจริงถึงจะรับ งั้นแปลว่าเราต้องไปเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองมากๆ จนบริษัทรู้สึกว่าอยากรับเราเข้าทำงาน เจ๋งจนต้องรีบคว้าไว้ ว่างั้นเถอะ!
พอเปลี่ยนโฟกัสจากคำว่าเศรษฐกิจไม่ดีมาโฟกัสที่การเพิ่มคุณค่าในตัวเอง รู้สึกว่ามีทางออกไหมครับ และที่สำคัญ เห็นไหมครับว่ามันมีสิ่งที่เราทำได้ไม่สิ้นสุด แต่โฟกัสที่เศรษฐกิจไม่ดีนี่ไม่รู้ทำไงต่อเลยนะ ตัน! แน่นิ่ง!
ทีนี้พอจะเห็นทางออกไหมครับว่า เราต้องไปเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองมากขึ้น ซึ่งพอบอกแบบนี้แล้ว น้องต้องทำอีกหลายอย่างและทำตลอดชีวิตเลยล่ะครับ มีให้ทำเยอะจนไม่เหลือให้ต้องมาโฟกัสแล้วว่าเศรษฐกิจมันจะดีหรือไม่ดี
พี่อยากแนะนำว่า ถ้าอยากได้งานอย่าเป็นมนุษย์เบสิกที่หาที่ไหนก็ได้ อย่ารู้แค่ในสิ่งที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัย (ซึ่งพอทำงานแล้วอาจจะเอาไปใช้ได้จริงไม่ทั้งหมดหรอก) ต้องรู้มากกว่านั้น ต้องเป็นมากกว่านั้น
ความเก่งของคนในตอนนี้ควรต้อง ‘รู้ลึก’ และ ‘รู้กว้าง’ (อย่าตกไม้โทเป็นอันขาด) คือมันต้องมีเรื่องที่น้องเจ๋งจริง รู้จริง เชี่ยวชาญจริง ขณะเดียวกันน้องต้องรู้เรื่องอื่นๆ เพื่อให้มาเชื่อมโยงกับสิ่งที่น้องเชี่ยวชาญได้ ยิ่งมีความรู้ที่หลากหลายยิ่งมีประโยชน์ เพราะโลกในอนาคต ไม่สิ…โลกตอนนี้ด้วยซ้ำ ต้องการมนุษย์ที่มีความรู้และทักษะหลากหลาย ไม่ใช่เก่งบนเรื่องเดียวแล้วจบเหมือนก่อน
ถ้าเป็นไปได้อย่าเก่งแค่ในสาขาที่เราเรียน น้องควรมีทักษะความรู้ที่หลากหลายแบบข้ามสายพันธุ์ ถ้าให้เจ๋งเลยนะ ไปเรียนรู้สิ่งที่คนในสาขาน้องไม่รู้ นั่นแหละจะทำให้น้องไม่เป็นมนุษย์เบสิก น้องจะมีความโดดเด่นขึ้นมา ถ้าน้องรู้สิ่งที่คนในสาขาน้องรู้อยู่แล้ว น้องก็จะเป็นเหมือนคนอื่น
เพราะฉะนั้นเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็จริง แต่การเรียนรู้ต้องไม่มีวันเรียนจบ ไปติดอาวุธให้ตัวเองเพิ่มเติม ไม่ใช่แค่การเรียนอย่างเดียวนะครับ รวมไปถึงการหาประสบการณ์ด้วย ไปทำอะไรที่จะทำให้น้องมีประสบการณ์ที่แตกต่างจากการลงมือทำจริง ตั้งแต่การลองทำธุรกิจของตัวเอง การไปขอทำงานแบบไม่คิดค่าจ้าง มาเพื่อประสบการณ์ล้วนๆ (แต่ถ้าได้เงินด้วยก็เอานะ ฮ่าๆ) การทำงานอาสาสมัคร การช่วยเหลือคนอื่น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้น้องมีประสบการณ์ที่เอาไว้ใช้ต่อยอดได้ เรซูเมน้องก็น่าสนใจไปด้วย และก็รู้จริงจากการลงมือทำ ไม่ใช่แค่อ่านหรือจำจากคนอื่นมา เผลอๆ มีคนเห็นฝีมือชวนไปทำงานได้ต่อ หรือไม่น้องก็อาจจะเห็นลู่ทางเอง เปลี่ยนจากการเป็นคนหางานเป็นคนสร้างงานซะเลย
โควิด-19 มุมหนึ่งมันก็เป็นอุปสรรคนะครับ อีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสที่ถีบให้เราต้องเก่งกว่าเดิมมาก ประเด็นคือเราได้ใช้โอกาสนี้ทำให้เราเก่งขึ้นไหม ถ้าไม่มีอะไรเก่งขึ้นเลยสักอย่าง อันนี้เสียดายวิกฤตมากนะครับ ใช้วิกฤตไม่คุ้มเลย
สุดท้ายสิ่งที่พี่จะบอกก็คือ ชีวิตจริงเป็นแบบนี้แหละครับ น้องจะเจอความผิดหวังอีกหลายครั้ง ไม่ใช่ว่าทุกครั้งจะสมหวังไปหมด แต่ประสบการณ์ชีวิตในเวลานี้จะช่วยสอนเราให้รู้จักความผิดหวังและจัดการกับความผิดหวัง ทุกครั้งที่ผิดหวังมาให้กลับมาตั้งหลักแล้วเติมคุณค่าให้ตัวเองเพิ่มให้เยอะกว่าเดิม ที่สำคัญ ต่อให้ต้องเจอความผิดหวังเราก็ยังต้องมีความหวังเพื่อทำให้เรามีพลังในการใช้ชีวิตต่อ
พี่คิดว่านี่เป็นทักษะที่สำคัญที่น้องจำเป็นต้องมีไว้ ไม่ใช่แค่กับการหางาน แต่เอาไว้ใช้ตลอดชีวิตครับ
เอาใจช่วยนะครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
The post เศรษฐกิจเจอโควิด-19 แบบนี้ เด็กจบใหม่จะไปหางานได้อย่างไรคะ appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: เป็นลูกเรือสายการบินค่ะ แต่เจอโควิด-19 เข้าไป ธุรกิจ […]
The post ทำงานเป็นลูกเรือมาตลอด แต่ตอนนี้ดูไม่มั่นคงเลย จะเปลี่ยนงานไปทำอะไรได้บ้างคะ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: เป็นลูกเรือสายการบินค่ะ แต่เจอโควิด-19 เข้าไป ธุรกิจการบินก็แย่ไปอีกนาน องค์กรก็ไม่ค่อยมั่นคง จะโดนเลย์ออฟเมื่อไรก็ยังไม่รู้ อยากหางานใหม่ที่มั่นคงกว่านี้ แต่ที่ผ่านมาทำงานเป็นลูกเรือตลอดเลยค่ะ ยังไม่เคยทำงานอื่นเลย งานที่ทำอยู่ก็ไม่ได้ใช้ทักษะความรู้มากมายอะไร มาตอนนี้เลยลำบาก เพราะไม่รู้จะทำงานอะไรต่อดี ไปสมัครที่ไหนเขาจะรับไหมก็ไม่รู้ ทำอย่างไรดีคะ
A: โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตของทุกคน บางธุรกิจก็อาจจะต้องใช้เวลานานหน่อยกว่าจะฟื้นตัว อย่างธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจสายการบิน ฯลฯ ซึ่งตราบเท่าที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ธุรกิจก็จะยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ ไม่ใช่แค่ทำให้บ้านเราปลอดภัย แต่การเดินทางระหว่างประเทศก็ต้องปลอดภัยด้วย ทั้งหมดนี้คงต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นฟูกลับมาได้ อย่างที่คุณบอกเลยครับว่าธุรกิจการบินเจอสถานการณ์นี้เข้าไปก็เหนื่อยเลย
มีพี่ที่ผมเคารพท่านหนึ่งคือ พี่โจ้-ฉวีวรรณ คงโชคสมัย Managing Director RGB72 เคยแนะนำวิธีคิดหนึ่งที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในสถานการณ์นี้ พี่โจ้บอกว่า ถ้าเราคิดว่าเราไม่ติดโควิด-19 หรอก เราก็จะใช้ชีวิตอย่างประมาท เราอาจจะติดโควิด-19 เสียเอง หรือไม่ก็กลายเป็นคนแพร่เชื้อให้คนอื่นด้วยซ้ำ จากการที่คิดว่าเราไม่ติดหรอก กลับกัน ถ้าเราคิดว่าเราติดโควิดเรียบร้อยแล้ว ต่อให้จริงๆ เราไม่ติดก็เถอะ แต่เราจะระมัดระวังตัวมากขึ้น
พี่โจ้แนะนำว่า ให้ใช้วิธีคิดแบบนี้กับการคิดว่าเราจะตกงานไหม คือให้คิดไปเลยว่าเราตกงานแน่นอน ไม่ต้องรอให้มันเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยคิด พอคิดว่าเราตกงานแน่นอน เราจะใช้ชีวิตเปลี่ยนไปหมด เราจะรอบคอบกับชีวิตตัวเองมากขึ้น งานที่เราทำอยู่เราก็จะทำให้ดีขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าบริษัทจะเลย์ออฟเขา จะต้องเลือกคนที่ทำงานไม่ดีออกก่อนแน่นอน เราจะกลับมาดูเงินเก็บของตัวเอง เราจะหาความรู้ว่าถ้าโดนเลย์ออฟแล้ว ตามกฎหมายเราจะได้รับการคุ้มครองอย่างไรบ้าง เราจะเริ่มมองหาแผนสอง แผนสาม แผนสี่ ฯลฯ ในการใช้ชีวิต ผมคิดว่าวิธีคิดแบบนี้ก็ทำให้เราไม่ประมาทในการใช้ชีวิตดีครับ
ผมได้ลองคิดแบบนี้แล้วและพบว่า มีผลกับชีวิตจริงๆ อย่างน้อยทุกวันนี้ก็ประหยัดขึ้น คิดแล้วคิดอีกในการใช้เงิน รู้สถานะการเงินของตัวเองขึ้นมาทันทีว่าจะอยู่รอดไปได้อีกกี่นานถ้าตกงานขึ้นมา คิดแบบนี้แล้วแม้จะมีงานประจำอยู่ แต่ก็ไม่กล้าขี้เกียจเลยครับ ฮ่าๆ
ผมคิดว่าที่คุณรู้สึกว่าไม่รู้ว่าจะโดนเลย์ออฟเมื่อไรก็เหมือนกันครับ ให้คิดไว้ก่อนว่าโดนเลย์ออฟแน่นอน เพื่อให้เราอยู่ในโหมดของความไม่ประมาท
ทีนี้ ถ้าดูแล้วงานเก่าไม่มั่นคง คุณอยากมองหางานใหม่ ผมอยากให้คุณลองกลับมามองตัวเองใหม่ก่อนหางานใหม่ครับ คุณบอกว่าทำงานเป็นลูกเรือมาตั้งนาน แต่รู้สึกไม่ได้ใช้ทักษะอะไรเพิ่มเติม เลยรู้สึกไม่มั่นใจว่าจะไปทำงานอื่นได้ไหม ถ้าลองนึกดู คุณทำงานเป็นลูกเรือมาหลายปี ชีวิตลูกเรือมีความอดทนสูงมากนะครับ ผมยังเคยนึกอยู่เลยเวลาขึ้นเครื่องบินว่า ในระหว่างที่ผมนอนหลับสบาย ลูกเรือต้องทำงานอยู่ท่ามกลางคนที่กำลังนอนหลับ ทั้งที่ลูกเรือเองก็อยากนอนหลับบ้าง คุณทำงานตอนดึกดื่นข้ามเวลาได้อย่างไม่มีข้อแม้ แถมคุณเป็นอาชีพที่ได้รับการฝึกให้ต้องตรงต่อเวลา เผื่อเวลาเสมอ เราหาคนที่เผื่อเวลาก่อนเสมอแบบนี้ได้ง่ายที่ไหนล่ะครับ ฮ่าๆ
อาชีพของคุณยังทำให้คุณมี Soft Skill ที่สำคัญมากคือ มารยาทและการเห็นอกเห็นใจคนอื่น คุณอยู่ในธุรกิจการบริการ เรื่องมารยาท ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีอยู่แล้ว หน้าที่ของคุณยังทำให้คุณได้ดูแลคน ได้ทำให้คนปลอดภัย มีความสุข ไม่ใช่ทุกคนจะมี Soft Skill เหล่านี้นะครับ
ชีวิตลูกเรือของคุณคงทำให้คุณได้เจอคนที่หลากหลายมาก ผู้โดยสารคงไม่ได้น่ารักทุกคน เพื่อนร่วมงานคงไม่ได้แสนดีไปหมด เป็นเรื่องธรรมดา แต่คุณสามารถรับมือกับคนที่หลากหลายได้หมด คุณอ่านคนออกว่าจะจัดการคนแต่ละแบบอย่างไร คุณรับมือคนที่มีความต้องการหลากหลายได้ คุณทำงานเป็นทีมได้ แต่ละเที่ยวบินเจอทีมงานที่ไม่ซ้ำกันหมด แต่ทุกคนทำหน้าที่ไปถึงจุดหมายได้ ทุกเที่ยวบินคือการแก้ปัญหา งานของคุณคือการแก้ปัญหา นั่นไงครับ อาวุธของคุณ ทักษะของคุณ
อีกทักษะที่ผมคิดว่าอาชีพลูกเรือทำให้คุณมีคือ ความปล่อยวางได้ คุณจะเจอปัญหาในเที่ยวบินอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อเครื่องลงจอด ผู้โดยสารปลอดภัย หน้าที่คุณหมดแล้ว คุณไม่ต้องเก็บเอาเรื่องอะไรมาเครียดต่อ ถ้าคุณดีลกับปัญหาได้ด้วยการปล่อยวางมันได้ทุกครั้ง เสร็จแล้ววาง ไม่เอามาคิดต่อให้กวนใจ นี่ก็เป็นความสามารถของคุณเหมือนกันนะครับ
ที่ไล่มาทั้งหมดนี้ ผมคิดว่าอาชีพลูกเรือของคุณก็ทำให้คุณมีความสามารถอยู่หลายอย่าง เพียงแต่ ณ เวลานี้ที่คุณเครียด คุณรู้สึกว่ากำลังเผชิญปัญหา คุณอาจจะไม่ทันได้มองเห็นสิ่งที่มีในตัวเอง ก็เลยคิดว่าทำงานมาตั้งหลายปี ไม่มีความสามารถอะไรติดตัวมาเลย
Mindset การมองตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากครับ คุณกำลังจะไปสมัครงาน ถ้าคุณคิดว่า ‘ฉันไม่เก่งเลย ใครจะรับฉัน’ ถ้าขนาดตัวเรายังไม่ ‘ซื้อ’ เลย ใครจะอยากได้เราไปทำงานด้วย กลับกัน ถ้าคุณไปสมัครงานด้วยความรู้สึกว่า ‘ฉันมีดี ฉันมีความสามารถ ฉันพร้อม เลือกฉันสิ’ พลังในตัวคุณจะมีเต็มเปี่ยม เหมือนคุณเอาตัวคุณเวอร์ชันที่ดีที่สุดไปสมัครงาน เขาก็ต้องพิจารณากันบ้างแหละน่า
ทีนี้เราจะมี Mindset ว่า ‘ฉันมีดี ฉันมีความสามารถ ฉันพร้อม เลือกฉันสิ’ ได้อย่างไร ผมคิดว่าสิ่งนี้ต้องสร้าง ต้องฝึก จริงอยู่ว่างานลูกเรือของคุณจะให้ทักษะความสามารถและวิธีคิดบางอย่างกับคุณ แต่มันไม่พอครับ คุณต้องทำการบ้านว่าคุณต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง ไปลงเรียนเพิ่มเติม ไปเพิ่มทักษะให้ได้มากที่สุด คุณต้องทำให้ตัวเองมั่นใจได้ก่อนว่า คุณมีความรู้พอที่จะไปลุยบนเส้นทางใหม่ เช่นเดียวกับต้องทำให้บริษัทที่คุณจะสมัครมั่นใจได้ว่าคุณไม่ได้มีแค่ทักษะจากลูกเรือเท่านั้น แต่คุณมีอีกเยอะที่คุณรู้ และทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ในการทำงาน ยิ่งเรียนเยอะขึ้นจะยิ่งเปิดโลกคุณ และยิ่งทำให้คุณมั่นใจตัวเองมากขึ้น
ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะทำงานอะไรดี การเรียนเพิ่มก็ช่วยให้คุณเห็นลู่ทางมากขึ้นเหมือนกันครับ พอเรียนแล้วคุณจะเริ่มรู้ว่าคุณชอบอะไร อะไรไปต่อได้ไกล ตอนแรกอาจจะเรียนเน้นความหลากหลายก่อน ยังไม่ต้องเสียเงินก็ได้นะครับ ลองดูคอร์สออนไลน์เรียนฟรี หรือดูใน YouTube ไปก่อน แล้วจากนั้น พอเริ่มจับทางได้ว่าเราสนใจอะไรเป็นพิเศษ และความสนใจนั้นเป็นที่ต้องการของตลาด เราค่อยไปเรียนเพิ่มเติมจริงจัง ความรู้ดีๆ มีอยู่เต็มไปหมดครับ ฟรีก็มาก อยู่ที่เราแบ่งเวลาให้ความสำคัญ
อีกคำแนะนำที่ผมอยากบอกก็คือ คนเราไม่ต้องมีอาชีพเพียงอาชีพเดียวครับ อย่าฝากชีวิต ฝากรายได้ ฝากความหวังทั้งหมดไว้กับงานประจำเพียงงานเดียว มันคือการกระจายความเสี่ยง ถ้างานหนึ่งมีปัญหา อย่างน้อยยังมีงานอื่นที่ทำได้ต่อ การมีหลายงานยังทำให้เราได้ฝึกหลายความสามารถไปด้วย สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์ก็คือตัวเราเอง
ช่วงโควิด-19 นี้ผมได้เห็นธุรกิจมากมายที่เปลี่ยนแปลงตัวเองมาทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน สุดท้ายเขาไปต่อได้ ไม่เคยทำเขาก็เรียนรู้ ทดลอง ล้มลุกคลุกคลานจนทำได้ เอาจริงๆ ทุกคนบอกหมดว่า โควิด-19 ทำให้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนได้สำเร็จ ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ ก็ลุกขึ้นมาทำได้หมด เพราะสถานการณ์มันส่งให้เราต้องทำได้ เหมือนกับคุณที่ทำงานเป็นลูกเรือมาตลอด พอจะต้องเปลี่ยน คุณอาจจะรู้สึกว่ามันยากจังเลย แต่ลองให้เวลากับตัวเองในการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกครับ แล้วคุณจะหาทางของตัวเองได้
บินให้สูงกว่าเดิมไปเลยครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (Facebook.com/Toffybradshawwriter)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
The post ทำงานเป็นลูกเรือมาตลอด แต่ตอนนี้ดูไม่มั่นคงเลย จะเปลี่ยนงานไปทำอะไรได้บ้างคะ? appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: กำลังจะต้องสัมภาษณ์งานแบบ Virtual Meeting ตื่นเต้นมา […]
The post สัมภาษณ์งานผ่านกล้อง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ appeared first on THE STANDARD.
]]>Q: กำลังจะต้องสัมภาษณ์งานแบบ Virtual Meeting ตื่นเต้นมากครับ ปกติเคยแต่สัมภาษณ์แบบเจอกันตัวเป็นๆ แต่พอมีโควิด-19 จึงต้องสัมภาษณ์งานผ่านกล้องแทน ผมควรเตรียมตัวหรือระวังอะไรบ้างครับ
A: ยินดีด้วยครับที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์งานในช่วงนี้ เป็นโอกาสที่ดีเลยครับ ว่ากันตามตรงคือถ้าเข้าไปทำงานตอนนี้ ไม่ว่าที่ไหนก็มีปัญหาหมดล่ะครับ อ้าว! แล้วดีอย่างไร คุณคงสงสัยใช่ไหมครับ มันดีเพราะว่าเขามีปัญหา เขาถึงต้องการคนไปแก้ไงล่ะครับ ถ้าเขาไม่มีปัญหา ถ้าเขาอยู่ได้อยู่แล้ว เขาคงไม่ต้องการเรา และอีกมุมหนึ่งก็คือเพราะมีปัญหาเยอะนี่ล่ะ เข้าไปแล้วจะได้แสดงฝีมือเยอะ ได้เรียนรู้เยอะดี
ยิ่งตอนนี้ถ้ายังมีบริษัทไหนเปิดรับคนอยู่ ผมคิดว่าเขาก็ต้องคิดหนัก เลือกเฟ้นมากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้ได้คนที่เหมาะสมจริงๆ มาทำงาน และแน่นอนว่าภาวะแบบนี้ คู่แข่งของคุณก็จะมากขึ้นไปด้วย เจอทั้งการคัดเลือกที่เข้มข้นขึ้น คู่แข่งที่มากขึ้น แปลว่าคุณต้องเตรียมตัวให้ดียิ่งขึ้น
เรื่องการเตรียมตัว ผมอยากให้ลองทำการบ้านไว้ล่วงหน้าเลยว่าด้วยตำแหน่งที่คุณอยากเข้าไปนั้น คุณจะสามารถช่วยให้บริษัทที่ไปสัมภาษณ์ดีขึ้นได้อย่างไร ยิ่งตอนนี้ทุกที่คงเจอฤทธิ์เดชของโควิด-19 กันไปเยอะ คงต้องการคนมาช่วยด้วยวิธีการใหม่ๆ ลองทำการบ้านเยอะๆ ว่าคุณเห็นปัญหาอะไร และคิดว่าควรแก้ไขแบบไหน บริษัทต้องการคนที่มาบอกว่าจะช่วยแก้ปัญหาที่องค์กรเจออยู่ได้อย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่องค์กรรู้อยู่แล้ว หรือบางทีก็ไม่รู้ตัวเลยก็ได้ครับ ทำการบ้านให้เยอะทั้งในมุมของผู้บริโภคที่มีต่อองค์กร และในมุมของคนที่จะเข้าไปช่วยองค์กรแก้ปัญหานั้น ใช้เวลาในการสัมภาษณ์ที่ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องเก่าๆ ว่าเคยทำอะไรมาอย่างเดียว แต่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการคุยเรื่องวิสัยทัศน์ของคุณที่มองไปข้างหน้าว่าจะช่วยองค์กรได้อย่างไร
ทัศนคติก็เป็นเรื่องสำคัญครับ ทางข้างหน้ามันยากลำบากแน่นอน ใจคุณพร้อมไหมที่จะเจอกับความยากลำบาก ถ้ามีวิกฤตที่หนักกว่าโควิด-19 เข้ามาจะรับไหวไหม คุณพร้อมปรับตัวแค่ไหน คุณรับมือกับความผิดหวังได้ดีแค่ไหน คุณเรียนรู้ได้เร็วแค่ไหน สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าสำคัญมากในการทำงานต่อไปครับ ซึ่งแน่นอนว่าตอนสัมภาษณ์ใครๆ ก็พูดได้ว่า “ผมพร้อมเรียนรู้ ผมอดทน” ถ้าจะให้ดี ผมคิดว่าควรมีหลักฐานประกอบทัศนคติที่คุณพูด ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าคุณมีทัศนคติที่ดีต่อบริษัท แล้วเล่าออกมาด้วยนะครับ
สัมภาษณ์ด้วยวิดีโออาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกับสัมภาษณ์งานปกติอยู่บ้าง นอกจากเรื่องเนื้อหาที่ผมเล่าไปแล้วนั้น มีข้อควรระวังที่ผมอยากเพิ่มเติม โดยเฉพาะการสำหรับสัมภาษณ์งานผ่านวิดีโอครับ
แต่งกายให้ดีแม้แต่ส่วนที่ไม่คิดว่ามีใครเห็น: อย่าคิดว่าสัมภาษณ์งานผ่านกล้อง แล้วท่อนล่างคุณก็เลยใส่กางเกงขาสั้นเหมือนอยู่บ้าน อย่างไรเสีย ผมก็อยากแนะนำว่าให้คุณแต่งกายเต็มยศเหมือนไปสัมภาษณ์งานปกติ เพราะคุณไม่มีทางรู้ได้เลยครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น พร้อมไว้ก่อน สมมติมีเหตุให้ต้องลุกขึ้นมาแล้วคนสัมภาษณ์เห็นกางเกงขาสั้นที่คุณใส่ คุณก็จะดูไม่เป็นมืออาชีพเลยครับ
ฉากหลังดูดี: คุณควรจัดสภาพแวดล้อมในการสัมภาษณ์ให้ดูดี สะอาด มีระเบียบ จะใช้แบ็กกราวด์ที่โปรแกรมการประชุมมีอยู่แล้วก็ได้ แต่ควรเลือกแบบที่เรียบ เท่ ไม่เล่นจนเกินไป ถ้าจะใช้สถานที่จริง ระวังเรื่องฉากหลังให้ดี สัมภาษณ์งานแล้วฉากหลังเป็นเตียงนอน สวน หรือมีสิ่งรบกวนสายตาเยอะๆ ก็ดูไม่ดีครับ
ไฟมา แสงมา: บอกไว้ก่อนเลยว่าแสงมีส่วนมากๆ ในการประชุมผ่านกล้อง หลอดไฟที่บ้านของคุณอาจจะสว่างดี แต่ไม่เหมาะกับการสื่อสารผ่านกล้องก็ได้ เช่น ไฟที่อยู่บนหัวอาจทำให้หน้าคุณขาววอก ไม่มีมิติ ถ้าจะให้ดี ซื้อไฟมาจัดแสงให้คุณดูดีดีกว่าครับ และถ้าแต่งหน้าได้ก็แต่งเลยครับ แต่งไม่ได้ก็ฝึก เพราะบุคลิกเป็นเรื่องสำคัญ
ระวังสิ่งรบกวนมาขโมยซีน: ให้แน่ใจว่าระหว่างสัมภาษณ์อยู่นั้นจะไม่มีใครเข้ามารบกวน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ที่ไม่ได้ตั้งใจเลี้ยงอย่างจิ้งจก ตุ๊กแก หนู ยุง ฯลฯ แม้กระทั่งคนในบ้านหรือคนมาส่งของ ปิดแชต ปิดไลน์ ไม่ให้มีอะไรมารบกวนเลยแม้แต่น้อย ให้ทำทุกอย่างเหมือนว่าคุณตั้งใจอุทิศเวลาทั้งหมด ณ ตอนนั้นให้กับการสัมภาษณ์อย่างเดียว
มองกล้อง ไม่ใช่มองจอ: การมองกล้องทำให้คนดูรู้สึกเหมือนคุณกำลังมองตาเขาอยู่ และการมองตานี่ล่ะครับที่ทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกถึงความจริงใจ รู้สึกถึงการสื่อสารกับมนุษย์ ถ้าคุณมองจอ ภาพที่คู่สนทนาเห็นจะเหมือนคุณหลบตาเขา เหมือนไม่ได้คุยกับเขา จัดระดับของกล้องให้อยู่ระดับสายตาของคุณ ถ้าโน้ตบุ๊กต่ำกว่าสายตาก็เอาหนังสือหรืออะไรมาหนุนโน้ตบุ๊กก็ได้ครับ กล้องจะถ่ายให้เห็นเหมือนคุณอยู่สูงกว่าอีกคนแล้วมองต่ำลงมา เป็นภาพที่ดูไม่ดี ยังไม่นับว่าอาจจะทำให้คนเห็นเหนียงของคุณด้วยนะครับ
ถ้ามีสคริปต์ มันดูออกนะ: บางคนเห็นว่าเป็นสัมภาษณ์ผ่านวิดีโอ จึงมีสคริปต์ไว้เปิดอ่านที่จอตอนสัมภาษณ์ไปด้วย เวลาที่คุณมองจออยู่เพื่ออ่านอะไรสักอย่างบนจอ มันจะยิ่งดูออกมากๆ ครับเวลาอยู่ในกล้อง เพราะมันบังคับให้อีกฝ่ายเห็นหน้าคุณทุกรายละเอียดของอิริยาบถ เพราะฉะนั้นเตรียมตัวให้ดีที่สุด พูดเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องมีสคริปต์
เช็กก่อนว่าใช้โปรแกรมอะไรในการสัมภาษณ์: ทั้ง Zoom หรือ Google Hangouts หรือ Microsoft Teams มีวิธีการใช้งานที่แตกต่างกัน เอาให้ชัวร์ว่าคุณใช้เป็นแน่นอน ไม่ใช่ว่าไปมะงุมมะงาหราใช้ไม่เป็นตอนสัมภาษณ์หรืออัปโหลดไฟล์ไม่เป็นขึ้นมา มันดูไม่เป็นมืออาชีพ
เช็กสัญญาณอินเทอร์เน็ต: อันนี้สำคัญมากและฆ่าได้ทุกอย่าง เอาให้ชัวร์ตั้งแต่ว่าจ่ายเงินค่าอินเทอร์เน็ตเรียบร้อยแล้ว ทดลองทุกอย่างล่วงหน้า
ใช้หูฟังและไมค์ที่ดี: ทุกอย่างจะจบทันทีถ้าเสียงของคุณฟังไม่รู้เรื่อง เพื่อความแน่ใจและให้ได้คุณภาพ ขอแนะนำให้คุณลงทุนกับหูฟังและไมค์ที่ดี อย่าใช้ไมค์ที่มากับโน้ตบุ๊ก เพราะบางทีคุณอยู่ห่างไปบ้าง เสียงขาดไปบ้าง การสื่อสารจะไม่มีประสิทธิภาพ ใช้ไมค์แบบที่ติดกับปาก เสียงดี หูฟังก็เหมือนกันครับ หูฟังแบบแนบหูเลยย่อมดีกว่าใช้ลำโพงโน้ตบุ๊ก ลองคิดดูว่าเขาถามอะไรมาแล้วคุณฟังไม่รู้เรื่องจนต้องถามเขาอยู่ตลอดว่า อะไรนะครับ มันจะน่ารำคาญขนาดไหน แล้วถ้าเป็นสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษด้วยนะคุณเอ๊ย! ใช้หูฟังไว้ก่อนจะได้ยินชัดเจน ดูเป็นมืออาชีพ ที่สำคัญคือต้องลองทุกอย่างล่วงหน้าเสมอ
ใช้ชื่อให้เหมาะสม: นี่ก็เป็นอีกเรื่องเล็กแต่ฆ่าคุณได้เหมือนกัน เวลาเข้าโปรแกรมการประชุมออนไลน์จะมีการใส่ชื่อตัวเอง ให้ใช้ชื่อและนามสกุลจริงเสมอนะครับ บางคนเพิ่งใช้คุยกับเพื่อนมา อาจจะตั้งชื่อเป็นชื่อเล่นบ้าง ชื่อที่เรียกกันเองบ้าง หรืออาจจะมีชื่อบริษัทเก่าแปะอยู่ด้วย สิ่งเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากครับเมื่อคุณสัมภาษณ์งาน
เข้าไปรอก่อนเวลาเสมอ: เช็กเวลาให้ถูกต้อง ยิ่งถ้าข้ามประเทศแล้วยิ่งต้องเช็กเรื่องเวลาให้ดียิ่งกว่าเดิมอีก คุณควรอยู่ในสภาพที่พร้อมมากตั้งแต่ก่อนสัมภาษณ์ด้วยซ้ำ เข้าไปรอไว้ก่อน เกิดเหตุฉุกเฉินอะไรขึ้นมาจะได้แก้ไขทัน
เรื่องที่ผมเอามาเล่าให้ฟังนี้เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ทุกข้อเป็นเรื่องที่ถ้าไม่ทำก็ทำให้การสัมภาษณ์ล่มได้เลยล่ะครับ ต่อให้คุณมีเนื้อหาดีแค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็ไปไม่ถึงฝันได้เหมือนกัน และอย่างที่ผมบอกไว้ตอนต้นครับ บริษัทจะเลือกคนอย่างเข้มข้นมากขึ้น และคู่แข่งคุณก็จะมีมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ให้ดีครับ
เป็นกำลังใจให้นะครับ ขอให้คุณเตรียมตัวให้เต็มที่และทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ผมจะรอฟังข่าวนะครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
The post สัมภาษณ์งานผ่านกล้อง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ appeared first on THE STANDARD.
]]>