ณัฐวุฒิ เผ่าทวี – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Mon, 07 Feb 2022 07:41:39 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ทำไมเราถึงปล่อยให้ ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ มองปัญหาจราจรไทยๆ ผ่านมุมมองนักพฤติกรรมศาสตร์ https://thestandard.co/thai-traffic-problems-perspective-behavioral-scientist/ Mon, 07 Feb 2022 07:41:39 +0000 https://thestandard.co/?p=591297 ปัญหาจราจร

ผมจำได้ว่าตอนที่ผมมาเรียนที่ประเทศอังกฤษใหม่ๆ ในเดือนกั […]

The post ทำไมเราถึงปล่อยให้ ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ มองปัญหาจราจรไทยๆ ผ่านมุมมองนักพฤติกรรมศาสตร์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ปัญหาจราจร

ผมจำได้ว่าตอนที่ผมมาเรียนที่ประเทศอังกฤษใหม่ๆ ในเดือนกันยายนป 1992 หรือเกือบ 30 ปีที่แล้วเวลาข้ามถนนตรงทางม้าลายใกล้ๆ โรงเรียนประจำของผม ผมจะหยุดรอให้รถขับผ่านไปก่อนที่ผมจะข้าม แต่ที่ไหนได้คนขับรถกลับหยุดให้ผมข้าม ในระหว่างที่ผมกำลังยืนงงอยู่ชั่วครู่คนขับรถคนนั้นก็โบกให้ผมข้ามถนนไป ผมยังจำความรู้สึกในตอนนั้นได้ว่าตัวเองโชคดีมากๆ ที่เจอคนขับรถใจดี อุตส่าห์หยุดรถของเขาให้ผมข้ามถนน 

 

หลายวันผ่านไป ตัวผมที่จำเป็นจะต้องข้ามทางม้าลายหน้าโรงเรียนเพื่อไปเรียนอีกฝั่งถนนก็หยุดยืนรอตรงทางม้าลายเพื่อรอให้รถขับผ่านไปอีก จนเพื่อนผมที่ยืนอยู่ข้างๆ ถามว่าทำไมถึงไม่ข้าม ผมตอบเขาไปว่าเดี๋ยวรถจะชนเอา เพื่อนผมตอบกลับมาว่าที่นี่รถทุกคันจำเป็นต้องหยุดตรงทางม้าลายให้คนข้าม ไม่ใช่คนข้ามจะต้องหยุดให้รถขับผ่านไปก่อน 

 

ผมจำได้ว่าผมงงกับคำพูดของเพื่อนวันนั้นมาก มันหมายความว่าอย่างไรที่ ‘รถจะต้องหยุดให้คนข้ามถนน’ แทน ‘คนข้ามจะต้องหยุดให้รถ’ แล้วถ้ารถมันไม่หยุดล่ะ คนอังกฤษนี่เขาไม่กลัวตายเลยเหรอเนี่ย

 

จากวันนั้นมาจนถึงวันนี้ ทุกประเทศที่ผมมีโอกาสได้ไปมา ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรป สิงคโปร์ ออสเตรเลียก็ตาม คนขับรถจะเป็นคนที่หยุดตรงทางม้าลายให้คนข้ามถนนกันทั้งนั้น มีแต่ประเทศไทยนี่แหละที่การข้ามทางม้าลายเป็นการเสี่ยงความตาย เพราะคนขับรถส่วนใหญ่จะไม่หยุดให้คนข้ามถนนกัน

 

มันเป็นเพราะอะไร และเราจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร จะบอกว่าเพราะเราไม่มีกฎหมายลงโทษคนขับรถที่ไม่หยุดให้คนข้ามถนนตรงทางม้าลายก็ไม่ใช่ เพราะจริงๆ แล้วเราก็มีกฎหมายลงโทษนะครับ แต่จะมีคนนำไปปฏิบัติหรือเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง แล้วการสอนให้คนมีจิตสำนึกเพิ่มขึ้นล่ะ จะสามารถช่วยลดพฤติกรรมแย่ๆ เช่นนี้ได้จริงๆ หรือเปล่า

 

ผมก็เลยนำทฤษฎีและมุมมองของพฤติกรรมศาสตร์ในเรื่องของพฤติกรรมการทำผิดกฎจราจรมาให้เพื่อนๆ ลองศึกษาและพิจารณาดูนะครับ  

 

ความเชื่อที่ว่า ‘คนต้องหยุดให้รถ’ ไม่ใช่ ‘รถหยุดให้คน’ เป็นความเชื่อที่เราเรียกว่า Super-Replicator พูดอีกอย่างก็คือคนที่มีความเชื่อว่า ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ จะมีโอกาสในการส่งต่อความเชื่อนั้นๆ ให้กับลูกหลานของเขาได้สูงกว่าคนที่มีความเชื่อว่า ‘คนเดินเท้าสำคัญกว่าคนเดินรถ’ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนที่มีความเชื่อว่า ‘คนเดินเท้าสำคัญกว่าคนเดินรถ’ มีโอกาสที่จะบาดเจ็บหรือสูญเสียชีวิตจากการถูกรถชนตรงทางม้าลายมากกว่าคนที่มีความเชื่อว่า ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ โดยเฉพาะในสังคมที่มีจุดเริ่มต้นการออกแบบกฎจราจรไม่ดีตั้งแต่แรกเช่นในเมืองไทย ซึ่งก็จะทำให้ความเชื่อที่ว่า ‘คนเดินเท้าสำคัญกว่าคนเดินรถ’ ไม่ได้ถูกส่งต่อไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งเมื่อเทียบกันกับความเชื่อที่ว่า ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ ซึ่งคนที่มีความเชื่อนี้มีโอกาสที่จะอยู่รอดและส่งต่อความเชื่อนี้ไปยังคนในรุ่นต่อไปได้มากกว่า และด้วยเหตุนี้นี่เองทฤษฎี Super-Replicator ก็เป็นหนึ่งในทฤษฎีที่ช่วยอธิบายได้ว่าทำไมความเชื่อ ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ ถึงอยู่รอดมานานถึงขนาดนี้ได้

 

ตามทฤษฎี Social Custom หรือวัฒนธรรมสังคมของ จอร์จ อะเคอร์ลอฟ (George Akerlof) พฤติกรรมของคนเราส่วนใหญ่มักจะถูกวัฒนธรรมสังคมเป็นตัวกำหนดสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่จะถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านของคนอื่น หรือแม้แต่บ้านของตัวเองก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะว่าการถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านเป็นวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ในประเทศเอเชีย 

 

แต่เจ้าตัววัฒนธรรมสังคมนี้มักจะเป็นฟังก์ชันของจำนวนคนที่เชื่อในวัฒนธรรมนั้นๆ ในสังคม ถ้าวันใดวันหนึ่งเราเริ่มเห็นจำนวนคนที่มีความเชื่อว่า ‘ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้านคนอื่น’ น้อยลงกว่าแต่ก่อนเยอะ ราคาหรือ Cost ของการไม่เชื่อวัฒนธรรมนั้นๆ ของเราก็จะลดลงตามจำนวนของคนที่เชื่อใน Social Code นั้นที่น้อยลงไปโดยปริยาย  

 

พูดง่ายๆ ก็คือ ถึงแม้ว่าเราอยากจะหยุดรถตรงทางม้าลายให้คนข้ามถนน ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่หยุด หรือบีบแตรใส่เราเวลาที่เราหยุด ตัวเราซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคมก็จะไม่มีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งที่เราควรจะทำ เพียงเพราะว่าวัฒนธรรมสังคมไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่เราเชื่อ มันคงจะคล้ายๆ กันกับคนที่ทำผิดแล้วชอบอธิบายพฤติกรรมของตัวเองว่า ‘ก็คนอื่นเขาก็ทำเหมือนกัน’

 

การลงโทษคนที่ทำผิดไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ มันคงจะเป็นเรื่องที่ยากมากๆ เลยนะครับที่เราจะเชื่อใจให้ตำรวจเป็นคนที่บังคับใช้กฎจราจรกับรถทุกคันที่ไม่หยุดรถตรงทางม้าลาย โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีวัฒนธรรมสังคมและความเชื่อที่ส่งต่อมานานแสนนานแล้วว่า ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าจำนวนคนที่ทำผิดนั้นเยอะมาก และด้วยเหตุผลที่คนส่วนใหญ่ก็ทำผิดกฎนี้ด้วย (ซึ่งคนที่ทำผิดก็รวมไปถึงตำรวจตามที่เราเห็นในข่าวนี้ด้วย) คนที่ทำผิดส่วนใหญ่เขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาทำอะไรผิด ซึ่งก็หมายความว่าการที่คนเราจะ Self-Correct หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองในอนาคตเพราะความรู้สึกผิด (Guilt) ก็ยากที่จะเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง

 

นอกจากนี้สภาวะของท้องถนนทั่วไปยังไม่ได้ถูกสร้างหรือถูกทะนุบำรุงเพื่อที่จะเอื้อพฤติกรรมที่ดีบนท้องถนนของคนขับรถทั่วไป จะเห็นได้จากที่เรามีทางม้าลายหลายจุดที่สีตก หรือป้ายเตือนที่ไม่ชัดเจนหรือเด่นชัดพอที่จะกระตุกสติของคนขับรถได้

 

แล้วการปลูกจิตสำนึกที่ดีของคนขับรถจะพอช่วยแก้ปัญหานี้ได้มากน้อยขนาดไหน

 

การปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับคนขับรถจะมีผลลัพธ์ที่ดีพอก็ต่อเมื่อเราสามารถเปลี่ยนจิตสำนึกของคนส่วนใหญ่ในสังคมพอจนทำให้ Social Custom เปลี่ยนได้ ซึ่งโดยความคิดเห็นส่วนตัวของผมแล้ว โอกาสที่การปลูกจิตสำนึกที่ดีจะมีประสิทธิภาพพอที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมสังคมของคนได้มีอัตราความสำเร็จที่น้อยเอามากๆ หรือแทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งนี้ก็เพราะว่าถ้าคนส่วนใหญ่ยังมีพฤติกรรมที่ยังแย่อยู่ โอกาสที่คนจะกลับไปมีพฤติกรรมที่ไม่ดีเช่นเดิมก็จะเกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

 

คำถามที่สำคัญคือเราจะเปลี่ยนวัฒนธรรมสังคมและความเชื่อที่เป็น Super-Replicator นี้อย่างไร

 

คำตอบมีอยู่หลายระดับนะครับ ตั้งแต่การปฏิรูปการสอนและสอบใบขับขี่ของคนรุ่นใหม่จากนี้เป็นต้นไป เราจำเป็นจะต้องยกระดับการสอนและการสอบให้ใกล้กับ International Standard ให้ได้ใน 5-10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เพราะเราจะต้อง Break the Cycle ของความเชื่อที่ว่า ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ ในอนาคตให้ได้ 

 

แต่การปฏิรูปการสอนและสอบใบขับขี่แค่อย่างเดียวก็คงจะไม่พอ เราจำเป็นต้องทำให้การปรับและลงโทษคนที่ทำผิดให้เป็นระบบอัตโนมัติให้ได้ ให้การปรับเกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องพึ่งคุณตำรวจจราจร เช่น การบังคับให้มีการลงทะเบียนรถยนต์ในชื่อของตัวเอง และให้มีการปรับเงินจากบัญชีโดยอัตโนมัติ และจะต้องมีการทะนุบำรุงทางม้าลาย ป้ายจราจร และไฟข้ามถนนหลายๆ ให้ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม และถ้าเราสามารถลดจำนวนของคนที่ทำผิดกฎให้น้อยลงจากการปรับเปลี่ยนแรงจูงใจของคนขับรถได้ ไม่นานนักเราก็จะสามารถปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมสังคมที่แย่ๆ นี้ให้เป็นวัฒนธรรมสังคมที่ดีได้นะครับ

 

ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราสามารถทำได้นะครับ อาจจะใช้เวลานานหน่อย แต่เราจะต้องไม่ปล่อยให้การสูญเสียหลายต่อหลายครั้งที่เกิดขึ้นเป็นการสูญเสียที่สูญเปล่า ลูกหลานของเราจะต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าตัวเราเองให้ได้

The post ทำไมเราถึงปล่อยให้ ‘คนเดินรถสำคัญกว่าคนเดินเท้า’ มองปัญหาจราจรไทยๆ ผ่านมุมมองนักพฤติกรรมศาสตร์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
วิเคราะห์กลยุทธ์รับมือโควิดของอังกฤษ ทำไมจึงคลายล็อกแม้มีผู้ติดเชื้อต่อวันหลักหมื่น https://thestandard.co/uk-covid-19-strategy/ Tue, 27 Jul 2021 10:33:21 +0000 https://thestandard.co/?p=518178

มีคนถามผมว่าตอนนี้อังกฤษกำลังใช้กลยุทธ์อะไรในการต่อสู้ก […]

The post วิเคราะห์กลยุทธ์รับมือโควิดของอังกฤษ ทำไมจึงคลายล็อกแม้มีผู้ติดเชื้อต่อวันหลักหมื่น appeared first on THE STANDARD.

]]>

มีคนถามผมว่าตอนนี้อังกฤษกำลังใช้กลยุทธ์อะไรในการต่อสู้กับโควิด ทำไมเขาถึงเปิดประเทศได้แล้ว ณ ตอนนี้ ทั้งๆ ที่จำนวนเคสกำลังพุ่งขึ้นสูงทุกวัน บางวันมากกว่าห้าหมื่นคนต่อวันด้วยซ้ำ

 

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูวิดีโอของ TED-Ed ในหัวข้อ When is a pandemic over? รัฐบาลจะมีกลยุทธ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคแบบ Global Scale อยู่สามกลยุทธ์ใหญ่ๆ ซึ่งก็คือ

 

  1. Race through it: ปล่อยให้เชื้อมันระบาดเองโดยธรรมชาติ โดยกลยุทธ์นี้คือการปล่อยให้คนติดเชื้อกันเอง ซึ่งก็จะทำให้จำนวนเคสสูงขึ้นเร็ว มีคนที่อาจจะเสียชีวิตสูงมากภายในพริบตา และก็อาจจะทำให้โรงพยาบาลเต็มจนรับผู้ป่วยใหม่ไม่ไหว จนกระทั่งมีผู้ที่ติดเชื้อแล้วหายเยอะพอในจำนวนประชากรจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นในที่สุด

 

  1. Delay and Vaccinate: การออกกฎหมายให้มีการล็อกดาวน์ เคร่งครัดเรื่อง Social Distancing มีการใส่หน้ากาก เพื่อที่จะชะลอการระบาดของเชื้อ ทั้งหมดนี้เป็นการยืดเวลาให้กับนักวิทยาศาสตร์ในการทำวิจัยค้นคว้าหาวัคซีนให้เจอ และการระบาดก็จะจบลงในตอนที่มีจำนวนประชากรได้รับการฉีดวัคซีนมากเพียงพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น

 

  1. Coordinate and Crush: กลยุทธ์นี้คล้ายกับกลยุทธ์ที่ 2 ซึ่งก็คือมีการออกกฎหมายล็อกดาวน์ มี Social Distancing มีการใส่หน้ากาก แต่แทนที่จะรอวัคซีนอย่างเดียว แต่ละประเทศจะมีการ Coordinate หรือร่วมมือกันในการปิดพรมแดนไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อจากประเทศตัวเองไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และจากความร่วมมือกันของคนในประเทศและประเทศข้างเคียง จะส่งผลให้แต่ละประเทศสามารถลดจำนวนผู้ที่ติดเชื้อได้มากพอ จนทำให้เชื้อหายไปจากสังคมจากการมีกฎหมายล็อกดาวน์

 

ตามทฤษฎีแล้ว กลยุทธ์ที่ 1 (Race through it) คือกลยุทธ์ที่จะทำให้ Pandemic จบเร็วที่สุด แต่ก็จะทำให้มีคนป่วยหนักและเสียชีวิตมากที่สุดเช่นเดียวกัน อีกอย่างหนึ่งคือกลยุทธ์นี้จะไม่เวิร์กหากคนสามารถติดเชื้อซ้ำๆ กันได้ กลยุทธ์ที่เร็วเป็นอันดับที่สองคือกลยุทธ์ที่ 3 (Coordinate and Crush) แต่กลยุทธ์นี้ต้องการความร่วมมือของคนในสังคมและรัฐบาลเพื่อนบ้านเยอะ ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าการขอความร่วมมือมักจะเป็นนโยบายที่ไม่ประสบความสำเร็จในโลกของความเป็นจริง ส่วนใหญ่เป็นเพราะแรงจูงใจในการขอความร่วมมือ โดยเฉพาะความร่วมมือจากประเทศอื่นๆ มักจะมีไม่พอ

 

กลยุทธ์ที่ช้าที่สุดแต่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จที่สุดก็คือกลยุทธ์ที่ 2 (Delay and Vaccinate) ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่หลายๆ ประเทศในโลกนี้กำลังใช้กันอยู่ รวมไปถึงประเทศไทยด้วย

 

และประเทศอังกฤษเองก็ใช้กลยุทธ์นี้มาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2020 ซึ่งตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายให้มีการล็อกดาวน์เต็มพิกัด มี Social Distancing มีการใส่หน้ากาก ซึ่งก็ทำให้การพีกของจำนวนผู้ที่ติดเชื้อและเสียชีวิตไม่มากจนเกินไป (แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันก็มากพอสมควร โดยเฉพาะในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อวันละห้าหมื่นและเสียชีวิตเกือบๆ สองพันกว่าคนเป็นเวลาติดกันหลายวัน)

 

แต่ในขณะนี้ วันที่ประเทศอังกฤษมีคนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วถึงสองเข็มมากกว่า 60% ของคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีในประเทศ รัฐบาลได้ทำการคลายล็อก (เกือบ) ทุกอย่างแล้วทั้งๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย (ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อแล้ววันละห้าหมื่นกว่าคนและอาจจะมีผู้ติดเชื้อมากถึงสองแสนคนต่อวันในเดือนสิงหาคม)

 

 

สรุปก็คือตอนนี้ที่ประเทศอังกฤษเปลี่ยนจากกลยุทธ์ที่ 2 (Delay and Vaccinate) ไปเป็นกลยุทธ์ที่ 1 (Race through it) เรียบร้อยแล้วนะครับ แต่ที่ทางรัฐบาลตัดสินใจแบบนี้ก็เพราะว่ามีหลักฐานพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าวัคซีนสามารถ Break the Link ระหว่างการติดเชื้อและการป่วยหนัก/การเสียชีวิตได้จริง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การ Break ที่มีประสิทธิภาพ 100% ก็ตาม แต่ก็พอที่จะทำการขยับเขยื้อนนโยบายไปสู่การทำให้ Pandemic ในเกาะอังกฤษจบเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนที่จะเริ่มมี Winter Flu ที่มักจะเริ่มระบาดในเดือนตุลาคม-ธันวาคมในทุกๆ ปีครับ

The post วิเคราะห์กลยุทธ์รับมือโควิดของอังกฤษ ทำไมจึงคลายล็อกแม้มีผู้ติดเชื้อต่อวันหลักหมื่น appeared first on THE STANDARD.

]]>
เมื่อการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ มีวิธีไหนทำให้คนไปฉีดวัคซีนด้วยหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม https://thestandard.co/vaccine-management-becomes-national-agenda/ Wed, 12 May 2021 06:10:06 +0000 https://thestandard.co/?p=487879 เมื่อการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ มีวิธีไหนทำให้คนไปฉีดวัคซีนด้วยหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ถ้าเราเริ่มต้นจากวันที่ผมเขียนบทความนี้ซึ่งก็คือวันที่ […]

The post เมื่อการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ มีวิธีไหนทำให้คนไปฉีดวัคซีนด้วยหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม appeared first on THE STANDARD.

]]>
เมื่อการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ มีวิธีไหนทำให้คนไปฉีดวัคซีนด้วยหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

ถ้าเราเริ่มต้นจากวันที่ผมเขียนบทความนี้ซึ่งก็คือวันที่ 10 พฤษภาคม 2021 แล้วเราลองย้อนเวลากลับไปเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น ในสหราชอาณาจักร (ซึ่งก็มีประเทศอังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือรวมกัน) ที่มีประชากรพอๆ กันกับประเทศไทยคือ 65 ล้านคนนั้น จะพบว่าสหราชอาณาจักรมีสถิติของคนติดโควิด-19 มากถึงวันละเกือบ 60,000 คนต่อวัน และมีสถิติของผู้เสียชีวิตถึงวันละเกือบ 2,000 คน ต้องบอกตามตรงว่าเป็นช่วงเวลาที่คนในประเทศทุกคน ซึ่งก็รวมถึงตัวผมและภรรยาที่อาศัยอยู่ในอังกฤษ รู้สึกหดหู่ใจกันเป็นอย่างมาก

 

แต่พอมาถึงวันนี้ วันที่บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศผ่านทีวีว่า อีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเราไม่จำเป็นต้อง Social Distancing กันอีกต่อไป และตั้งแต่วันพรุ่งนี้จะเป็นวันแรกที่เด็กนักเรียนไม่จำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยในห้องเรียนกันอีกต่อไปแล้ว 

 

ถึงแม้ว่าวันนี้จะยังมีสถิติของคนที่ตรวจเจอโควิด-19 อยู่ประมาณวันละ 2,000 คน แต่สถิติของการเสียชีวิตลดลงมาจาก 2,000 กว่าคนต่อวันจนเกือบจะเท่ากับศูนย์ ผมต้องบอกเลยว่าสภาพจิตใจของคนในประเทศในสหราชอาณาจักรเกือบทุกคนนั้นดีมาก และเราก็คงจะมายืนอยู่ ณ จุดนี้ไม่ได้เลย ถ้าไม่ใช่เพราะการร่วมมือร่วมใจของคนทั้งประเทศในการยอมรับการฉีดวัคซีน 

 

เพราะในวันนี้ หลังจากที่มีการเริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนส่วนใหญ่ โดยเริ่มจากผู้สูงอายุก่อน สหราชอาณาจักรได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกให้กับประชากรไปแล้วถึง 35.4 ล้านคน หรือประมาณ 53% ของคนใน 4 ประเทศทั้งหมด (และมีประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วทั้ง 2 เข็มถึง 17.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 27% ของประชากรทั้งหมด)

 

สหราชอาณาจักรจึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้รู้ว่า End Game ของโควิด-19 นั้นมีแค่วิธีเดียว คือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด

 

แล้วถ้ามันเป็นเช่นนั้นจริงๆ ทำไมในเมื่อวันนี้เรามีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ที่ได้รับการใช้ได้อย่างแพร่หลายแล้ว ถึงยังมีคนหลายคนในประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังไม่ยอมสมัครใจฉีดวัคซีนอยู่อีก

 

ความกลัวการฉีดวัคซีน (Vaccine Hesitancy)

ที่จริงปัญหาของความกลัวการฉีดวัคซีน หรือ Vaccine Hesitancy ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นตอนที่เรามีโรคโควิด-19 แพร่ระบาดนะครับ แต่มันมีมาตั้งนานนมแล้ว ตั้งแต่วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ วัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles) และก่อนที่ผมจะเขียนถึงวิธีการดุน หรือ Nudge ให้คนไปรับการฉีดวัคซีนมากขึ้น ผมว่าเรามาทำความเข้าใจที่มาของ Vaccine Hesitancy กันก่อนดีกว่าครับ

 

Vaccine Hesitancy นั้นมาจากความเชื่อที่ว่า วัคซีนฉีดเข้าไปในร่างกายของเรานั้นมักมาพร้อมกันกับความเสี่ยง (Risk) ไม่ว่าจะเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย หรือความเสี่ยงอะไรก็ตามที่มีมูลหรือไม่มีมูลความจริงเลย พูดง่ายๆ ก็คือ Vaccine Hesitancy เกิดขึ้นเพราะเราเชื่อว่าวัคซีนทุกตัวมีความเสี่ยงในการฉีดทั้งนั้น

 

ซึ่งถ้าพูดกันตามตรง เราต่างรู้ดีว่าไม่ว่าจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวไหน โอกาสที่เราจะได้รับผลข้างเคียง หรือ Side Effect เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปวดกล้ามเนื้อ ตัวร้อน หรือเป็นไข้นั้น (ซึ่งตัวผมเองที่ได้รับการฉีดวัคซีนของ AstraZeneca ไปเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ที่แล้ว ก็เจอผลข้างเคียงไปถึง 2 วัน) เพราะนั่นเป็นการแสดงว่าตัววัคซีนที่ฉีดเข้าไปในร่างกายของเรากำลังทำงาน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีมากเมื่อเทียบกับการที่เราไม่เจอผลข้างเคียงอะไรเลย

 

ส่วนความเสี่ยงที่จะเจอผลข้างเคียงหนักๆ เช่น การเป็นลิ่มเลือด (Blood Clot) นั้น เรียกว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ แค่ประมาณ 4:1,000,000 คนเท่านั้น ซึ่งน่าจะพอๆ กับโอกาสที่เราจะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1

 

แถมข่าวลือหรือเฟกนิวส์ต่างๆ ที่บอกว่าการฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกาย จะทำให้ดีเอ็นเอของเราเปลี่ยนไป นักวิทยาศาสตร์ก็ออกมาประกาศแล้วว่าไม่มีมูลความจริง หรือไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับอยู่เลยด้วย

 

แล้วทำไมความเสี่ยง (Risk) ของการป่วยรุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีน้อยขนาดนี้ ยังทำให้หลายคนไม่ยอมสมัครใจไปฉีดวัคซีนอีก

 

คำตอบอยู่ที่ The Possibility Effect หรือพลังของความ ‘อาจจะเกิดขึ้นได้’

 

ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายท่านที่เคยอ่านงานเขียนของผมก็คงจะรู้จักงานวิจัยของ แดเนียล คาฮ์นะมัน ในเรื่อง Loss Aversion หรือการที่คนส่วนใหญ่มักกลัวการสูญเสียมากกว่าการได้รับ แต่ในทฤษฎีนี้ยังมีข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ (Key Insights) มากกว่านั้น

 

คนส่วนใหญ่มักจะกลัวการสูญเสียกว่าชอบการได้นะครับ แต่ในทฤษฎีที่ว่านี้ยังมีข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญ (Key Insights) มากกว่าแค่ที่ว่าคนเราเกลียดความสูญเสียมากกว่าที่เราชอบการได้นะครับ นั่นก็คือ

 

 

ถ้าเราดูตามรูปข้างบน จะเห็นได้ว่าผลกระทบของความกลัวการสูญเสีย (Loss Aversion) ต่อการตัดสินใจของคนที่มีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง (Risk Behaviour) ถ้าจะบวก (ยอมเสี่ยง) หรือลบ (กลัวการเสี่ยง) ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น คนเรารู้ดีว่าโอกาสที่จะถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 มีน้อยมากๆ แต่ด้วยความที่โอกาสต่ำเมื่อเทียบกันกับผลลัพธ์ที่เราอาจจะได้มา ความหวังที่เราอาจจะได้รางวัลเยอะๆ จึงทำให้คนเรายอมเสียเงินซื้อลอตเตอรี่ มากกว่าจะเก็บเงินเอาไว้ใช้อย่างอื่น 

 

ในทางกลับกัน โอกาสที่เราจะประสบอุบัติเหตุในชีวิตประจำวันนั้นเป็นความเสี่ยงที่ต่ำ แต่ด้วยความกลัวการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นั้น ทำให้คนเรายอมควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อประกันชีวิต ทั้งๆ ที่มีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะเกิดความสูญเสียครั้งใหญ่

 

การอธิบายความกลัวที่คนเรามีต่อผลข้างเคียงรุนแรงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีเปอร์เซ็นต์ของการเกิดขึ้นต่ำมากๆ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรไปจากการอธิบายว่าทำไมคนเราถึงยอมซื้อประกันชีวิตนะครับ

 

พูดง่ายๆ ก็คือ Vaccine Hesitancy เกิดขึ้นเพราะความกลัวที่คนเรามีต่อความเสี่ยงที่ 1. มีผลลัพธ์ทางด้านลบที่ยิ่งใหญ่ แต่ 2. มีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะเกิดการสูญเสียขึ้น แถมการฉีดวัคซีนเป็นอะไรที่คนเราจำเป็นต้องสมัครใจไปฉีดด้วย โอกาสที่คนเราจะกลัวการเสียใจที่มาจากการเลือกด้วยตัวเองก็จะสูงมากกว่าถ้าเราไม่มีทางเลือกอะไรเลย

 

ด้วยเหตุผลนี้นี่เอง หลายคนจึงเลือกความแน่นอน (Certainty) จากการไม่เสี่ยงดีกว่ากว่า เช่น ถ้าเราไม่ฉีด เราก็ไม่ต้องเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับผลข้างเคียงของวัคซีนอะไรเลย ให้คนอื่นไปเสี่ยงดีกว่า ส่วนเราก็รอการเกิดขึ้นของ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ (Herd Immunity) แต่ปัญหาก็คือ ถ้าคนทั้งประเทศคิดกันแบบนั้น โอกาสที่คนจะฉีดวัคซีนในจำนวนที่มากพอ (80-95% ของประชากรทั้งหมด) ก็จะลดน้อยลงไปด้วย และโอกาสจะเกิด Herd Immunity อย่างรวดเร็วก็แทบไม่มีเลย เพราะอย่าลืมว่าในขณะเดียวกัน เชื้อไวรัสก็กำลังกลายพันธุ์ และอาจทำให้วัคซีนปัจจุบันหมดประสิทธิภาพไปด้วย 

 

แล้วเราสามารถทำอะไรได้บ้างในการผลักดันทำให้คนที่ไม่อยากฉีดวัคซีนหันมาฉีดวัคซีน เพื่อให้ประเทศกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนที่จะมีโรคระบาดนี้ได้เสียที

 

วิธีการดุน (Nudge) ให้คนไปรับการฉีดวัคซีนมากขึ้น

 

1. พลังของการกระจายข้อมูลสาธารณะสุขที่ถูกต้อง

จากผลงานวิจัยที่ผมกำลังทำกับ Juliane Wiese นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวอร์วิก เราพบว่าการสุ่ม (Randomise) ให้ข้อมูลสาธารณสุข เช่น บทความที่มีใจความว่า ‘การฉีดวัคซีนเป็นวิธีเดียวที่จะป้องกันการเสียชีวิตจากการติดโควิด-19 ได้เกือบ 100%’ และบทความที่มีใจความว่า ‘ฉีดวัคซีนเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยลดการระบาดของโควิด-19 ในชุมชน’ สามารถช่วยลดอัตราความกลัวที่คนเรามีต่อการฉีดวัคซีน (Vaccine Hesitancy Rate) ได้ค่อนข้างมากอยู่เหมือนกัน เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ถูกสุ่มมาเพื่อให้ไม่ได้รับข้อมูลนั้นเลย 

 

พูดง่ายๆ ก็คือ การกระจายข้อมูลทางด้านสาธารณสุขที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลบวกของการฉีดวัคซีนนั้นมีพลังในการเปลี่ยนทัศนคติที่คนมีต่อการฉีดวัคซีนได้จริงๆ ซึ่งพูดตามตรง ผลงานวิจัยของเราชิ้นนี้ไม่น่าจะสร้างความแปลกใจให้กับคนที่ออกนโยบายมากนัก แต่ถึงแม้ว่าจะตรงกับคอมมอนเซนส์ แต่มันก็ยังเป็นเรื่องน่าแปลกใจอยู่ดีที่ประเทศไทยยังไม่มีการกระจายข้อมูลสาธารณสุขที่ถูกต้องอย่างกว้างขวางเท่าที่เราสามารถจะทำได้

 

2. ผู้นำความคิดเห็น ดารา อินฟลูเอนเซอร์ กับบทบาทสะท้อนแง่ดีของการฉีดวัคซีน

ไม่ใช่แค่ใจความของข้อความสาธารณสุขเท่านั้นที่สำคัญ แต่คนสื่อสารข้อมูลนั้นๆ หรือที่เราเรียกกันว่า Messenger ก็สำคัญ

 

ยกตัวอย่างผลงานวิจัยของผมอีกชิ้นที่ทำกับเพื่อนร่วมงานที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง พวกเราพบว่าในสหรัฐฯ นั้น กลุ่มคนที่ใส่หน้ากาก (Face Mask) มักจะมองกลุ่มคนที่ไม่ใส่หน้ากากด้วยสายตาที่เกลียดชัง เช่นเดียวกับคนที่ไม่ใส่หน้ากาก พวกเขาก็มองคนในกลุ่มใส่หน้ากากด้วยความเกลียดชังพอๆ กัน 

 

ทั้งนี้ก็เพราะการใส่หรือไม่ใส่หน้ากากนั้นถูกนักการเมืองจากแต่ละพรรค (เดโมแครตและรีพับลิกัน) ในสหรัฐฯ นำมาเป็นประเด็นทางการเมืองในตอนที่เพิ่งจะเริ่มมีการระบาดใหม่ๆ ซึ่งก็ทำให้คนที่เชียร์พรรครีพับลิกันหลายคนไม่ยอมใส่หน้ากาก และเห็นว่าการไม่ใส่หน้ากากนั้นเป็น Identity หรือสัญญาณว่าเขาเชียร์พรรครีพับลิกัน และทำให้พวกเขาต่อต้านการใส่หน้ากากเป็นอย่างมาก

 

พวกผมเชื่อว่าทางออกนี้มีอยู่ทางเดียวก็คือ การให้ผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายออกมาพูดถึงประโยชน์ของการใส่หน้ากาก เพราะการที่ผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายออกมาพูดในเรื่องเดียวกัน เป็นการ Depoliticise หรือการทำให้ประเด็นหน้ากากไม่ใช่ประเด็นการเมืองอีกต่อไป พูดง่ายๆ ก็คือ การที่เห็นคนที่เราเชื่อถือ ที่เราเห็นเป็นผู้นำของเรา หรือแม้แต่เป็นคนที่เราชอบหรือติดตามออกมาพูดถึงประโยชน์ของการใส่หน้ากาก หรือการฉีดวัคซีน จะสามารถช่วยลด Identity ที่เราอาจจะนำไปผูกโยงกับการไม่อยากฉีดวัคซีน และอาจช่วยส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนใจของคน และช่วยลดความกลัวที่คนมีต่อการฉีดวัคซีนได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพพอสมควร

 

3. การทำให้การไปฉีดวัคซีนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย

“ถ้าเราอยากจะให้คนทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เราก็แค่ทำให้มันง่ายขึ้น” เป็นหนึ่งหลักการหลักของทฤษฎีการดุนนะครับ 

 

ในขณะนี้ คนที่อยากลงทะเบียนฉีดวัคซีนในไทยต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ ซึ่งสำหรับคนที่ใช้เทคโนโลยีไม่เป็นก็อาจเป็นเรื่องยาก แถมวันที่ต้องไปฉีดวัคซีนก็ต้องนั่งรถถ่อไปโรงพยาบาลที่อาจจะไกลจากบ้านตัวเองพอสมควร ด้วยความลำบากที่ต้องฝ่าฟันเพื่อไปฉีดวัคซีนที่ตัวเองอาจจะไม่ค่อยอยากได้ตั้งแต่แรก จึงไม่น่าแปลกใจนักที่ทำไมหลายคนเลือกจะไม่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนกัน

 

มาถึงตรงนี้ ผมขอยกตัวอย่างการฉีดวัคซีนของรัฐบาลอังกฤษให้คุณผู้อ่านลองพิจารณาดูนะครับ ที่ประเทศอังกฤษที่ผมอาศัยอยู่นี้ ทางรัฐบาลได้ทำการกระจายวัคซีนไปยังแต่ละพื้นที่ในประเทศได้อย่างเป็นระบบดีมากๆ โดยในแต่ละพื้นที่ คนส่วนใหญ่สามารถเดินทางไปฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย 

 

นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังเปิดคอร์สฝึกฝนอาสาสมัครหลายพันคนให้ฉีดวัคซีนให้กับผู้อื่นเป็น ซึ่งก็ช่วยทำให้มีบุคลากรเพียงพอที่จะเปิดสถานที่สาธารณะต่างๆ เป็นพื้นที่ฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน โรงยิม หรือแม้แต่คลินิกชนบทเล็กๆ ในแต่ละพื้นที่ย่อยในประเทศ 

 

โดยส่วนตัวแล้ว ตอนที่ผมฉีดวัคซีนเข็มแรก ผมแค่ต้องเดินออกจากบ้านไปฉีดในสถานที่ใกล้ๆ บ้านเท่านั้น ซึ่งการทำให้การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องง่ายเช่นนี้จะสามารถช่วยทำให้คนตัดสินใจออกไปฉีดวัคซีนได้ง่ายขึ้นนะครับ

 

4. ให้โอกาสบริษัทที่อยากทำความดีให้กับสังคม (Corporate Social Responsibility) มาช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนไปฉีดวัคซีน

อีกวิธีหนึ่งก็คือ การที่รัฐขอความร่วมมือจากฝั่งเอกชนที่อยากจะทำความดีให้กับสังคมออกมาช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนไปฉีดวัคซีน ยกตัวอย่าง บริษัท Krispy Kreme ที่ออกมาประกาศว่าพวกเขาจะแจกโดนัทฟรีให้กับคนที่พิสูจน์ได้ว่าไปฉีดวัคซีนมาเรียบร้อยแล้วทุกวันจนกว่าจะสิ้นปี 2021 ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยทำให้คนมีแรงจูงใจอยากจะไปฉีดวัคซีน บวกกับช่วยสร้างชื่อเสียงที่ดีผ่านทาง CSR ให้กับบริษัท Krispy Kreme อีกด้วย (แล้วก็เป็นแคมเปญที่ฮือฮามาก จนมีคนออกมาเขียนลงโซเชียลมีเดียว่า ไม่ว่าจะพูดให้พ่อเขาฟังในเรื่องคุณประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างไร พ่อของเขาก็ไม่ยอมเปลี่ยนใจ จนกระทั่งเขาบอกกับพ่อเขาว่า ถ้าพ่อฉีดล่ะก็ พ่อสามารถเอา Vaccination Card ไปรับโดนัทฟรีจาก Krispy Kreme ได้ทุกวันจนถึงสิ้นปีเลยนะ เท่านั้นแหละ พ่อเขาก็ถามเขาว่า แล้วมันต้องลงทะเบียนการฉีดอย่างไรบ้าง)

 

5. ลงโทษสื่อมวลชนที่เห็นแก่ตัว

ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นสื่อมวลชนหลายรายที่นำเสนอข่าวของผลข้างเคียงร้ายแรงที่เกิดขึ้น โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงสถิติหรือความน่าจะเกิดขึ้นของผลข้างเคียงนั้นๆ เลย

 

ยกตัวอย่างนะครับ สมมติว่ามีคนฉีดวัคซีน 1,000,000 คน แล้วมี 4 คนที่มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดวัคซีน 999,996 คนที่ฉีดแล้วไม่แพ้จะไม่ออกมาเป็นข่าว ทั้งนี้ก็เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เราคาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว (Expected Positive Event) แต่คนที่แพ้ยารุนแรง 4 คน ซึ่งคิดเป็นแค่ 0.0004% ของคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด จะเป็นคนที่สื่อให้ความสนใจเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนที่แพ้ยา 4 คนนี้เป็นเหตุการณ์ที่เราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้น (Absence of Expected Positive Event) และคนส่วนใหญ่ก็น่าจะรู้ดีว่าข่าวที่แพร่สะพัดได้ดี ข่าวที่ขายดีที่สุด และสามารถทำเงินให้กับสื่อมากที่สุด ก็คือข่าวเหตุการณ์ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้น

 

ผมเชื่อว่านี่เป็นปัญหาของวงการสื่อมาช้านานแล้ว และวิธีแก้ก็อาจจะมีอยู่หนทางเดียวก็คือ การที่สังคมเริ่มทำประณาม เริ่มทำ Fact Check สำหรับสื่อที่นำเสนอข้อมูลเหล่านี้

 

ที่จริงยังมีวิธีที่สร้างสรรค์อยู่อีกหลายวิธี แต่ผมขอฝากเอาไว้แค่ 5 วิธีนี้ก่อนนะครับ 

 

ท้ายที่สุดนี้ ผมขอให้ทุกท่านไปฉีดวัคซีนกันทุกคนเลยนะครับ อย่ารอดีกว่า เพราะไม่เช่นนั้นเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้อาจจะไม่สามารถจบลงได้เสียทีถ้าเราทุกคนไม่ร่วมมือกันทำให้มันจบนะครับ

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • Kahneman, D., 2011. Thinking, fast and slow. Macmillan.
  • Powdthavee, N., Riyanto, Y.E., Wong, E.C., Xiong-Wei, J.Y. and Qi-Yu, C., 2021. When Face Masks Signal Social Identity: Explaining the Deep Face-Mask Divide During the COVID-19 Pandemic (No. yp2jv). Center for Open Science.
  • Wiese, J., and Powdthavee, N. 2021. Individual differences and responses to public health messages aimed at reducing COVID-19 vaccine hesitancy: The case of belief in a just world, mimeo.

The post เมื่อการฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ มีวิธีไหนทำให้คนไปฉีดวัคซีนด้วยหลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม appeared first on THE STANDARD.

]]>
ความน่ากลัวของ Clubhouse ต่อสุขภาพจิตของคน https://thestandard.co/clubhouse-horrors-on-people-mental-health/ Tue, 11 May 2021 09:31:34 +0000 https://thestandard.co/?p=487515 Clubhouse สุขภาพจิต

ก่อนอื่นเลยผมต้องขอบอกว่าผมชอบ Clubhouse นะครับ เพราะ C […]

The post ความน่ากลัวของ Clubhouse ต่อสุขภาพจิตของคน appeared first on THE STANDARD.

]]>
Clubhouse สุขภาพจิต

ก่อนอื่นเลยผมต้องขอบอกว่าผมชอบ Clubhouse นะครับ เพราะ Clubhouse ทำให้ผมได้มีโอกาสสื่อสารทั้งความคิดและความรู้ของผมโดยใช้ Medium ของการเล่าเรื่องแทนการเขียนออกไปสู่ผู้คนเป็นร้อยๆ ได้อย่างง่ายดาย แถมยังมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับคนที่ฟังผมแบบสดๆ ด้วย 

 

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีฟีเจอร์หนึ่งของ Clubhouse ที่ผมว่าเป็นฟีเจอร์ที่อันตรายมากต่อสุขภาพจิตของผู้คนที่ใช้ โดยเฉพาะคนที่ต้องการจะสื่อสารความคิดของตัวเองมากกว่าคนที่ใช้ Clubhouse ในการฟังอย่างเดียว 

 

ฟีเจอร์นั้นคือการโชว์ว่าตนเองมี Followers กี่คน ซึ่งก็เป็นฟีเจอร์เดียวกันกับที่ Instagram และ Twitter มี

 

ครั้งหนึ่งผมได้มีโอกาสบรรยายใน Clubhouse เรื่องของเศรษฐศาสตร์ความสุข พอผมพูดเสร็จและปิดห้องออกมา ผมก็เห็นว่า โอ้ มีคนมาติดตามผมเพิ่มขึ้นถึง 300 กว่าคน และโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เจ้าตัวโดพามีนในสมองผมก็ทำงานไหลเข้าไปในสมองของผม ทำให้ผมรู้สึกดีโดยไม่รู้ตัว (นี่ขนาดผมบอกกับตัวเองก่อนไปแล้วนะว่าผมไม่แคร์จำนวนยอด Followers แต่ความรู้สึกว่าสิ่งที่ผมทำนั้นมีคนชอบเยอะมันเป็นสัญชาตญาณดิบมากๆ) 

 

แต่หลังจากนั้นไม่กี่นาทีผมก็รู้เลยว่า ไอ้เจ้าตัวโดพามีนที่ผมได้จากจำนวน Followers ที่เพิ่มขึ้นมานี่แหละคือตัวปัญหา เพราะผมรู้เลยว่าความรู้สึกดีๆ ที่ผมได้นั้นจะอยู่กับผมได้ไม่นาน และเมื่อใดก็ตามที่ผมไปเห็นคนอื่นๆ ที่มีจำนวน Followers มากกว่าผม โอกาสที่ผมจะรู้สึกไม่ดีหรือรู้สึกว่า ‘ไม่ได้แล้ว เราจำเป็นต้องจัดการพูดอีกเพื่อเพิ่มจำนวน Followers’ ก็จะมีสูงมากขึ้น ถึงแม้ว่าผมจะบอกกับตัวเองว่าผมไม่แคร์ในเรื่องการเปรียบเทียบก็ตาม

 

ทั้งนี้ก็เพราะผมรู้ว่าคนเราเกือบทุกคน ถ้าเราให้ความสำคัญกับอะไรสักอย่างหนึ่ง การที่เราจะตัดสินว่าเราประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราแคร์นั้นมันมักจะมาจากการเปรียบเทียบทางสังคม (Social Comparison) มากกว่าการที่เราพอใจในสิ่งที่เรามี

 

ผมก็เลยสรุปได้ว่า นี่ขนาดผมรู้ถึงความน่ากลัวของ Social Comparison ขนาดนี้ ผมยังอาจจะตกเป็นเหยื่อของมันได้ แล้วคนที่ไม่รู้ตัวล่ะ พวกเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง พวกเขาจะรู้สึกว่าต้องจัดทอล์กทุกวันไหม เพื่อที่จะ ‘Keep up with the Joneses’ (อยากได้อยากมีเหมือนคนอื่น) ในเชิงของ Followers แล้วมันจะมีผลต่อสุขภาพจิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง 

 

มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างน่ากลัวนะครับ ส่วนตัวผมเอง ผมก็คงจะยังมีจัดบรรยายในสิ่งที่ผมอยากจะบรรยายบ้างเป็นครั้งคราวไป แต่จะไม่บ่อย ก็คงเหมือนกันกับการตัดสินใจไม่เขียนอะไรลง Facebook มากเหมือนเมื่อก่อน เพื่อสุขภาพจิตของตัวผมเองและคนรอบข้าง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

The post ความน่ากลัวของ Clubhouse ต่อสุขภาพจิตของคน appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘เพราะไม่มั่นคงจึงต้องอวด’ ไขความลับของคนชอบอวดสถานะ https://thestandard.co/boaster-secrets/ Mon, 25 Jan 2021 09:22:20 +0000 https://thestandard.co/?p=447117 ‘เพราะไม่มั่นคงจึงต้องอวด’ ไขความลับของคนชอบอวดสถานะ

เมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสได้ไปงานประชุมว […]

The post ‘เพราะไม่มั่นคงจึงต้องอวด’ ไขความลับของคนชอบอวดสถานะ appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘เพราะไม่มั่นคงจึงต้องอวด’ ไขความลับของคนชอบอวดสถานะ

เมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสได้ไปงานประชุมวิชาการที่ประเทศไทย ตอนนั้นผมพึ่งจบปริญญาเอกใหม่ๆ ในงานนั้นผมได้เจอผู้คนคนหลากหลาย แล้วก็มีอาจารย์อยู่ท่านหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสเจอแบบผ่านๆ ผมจำได้ว่าท่านอาจารย์ท่านนี้ (ผมไม่ขอออกนามนะครับ) ได้กำชับกับเพื่อนรุ่นน้องของผมที่ช่วยจัดงานประชุมว่า อย่าลืมคำว่า ‘ศาสตราจารย์’ บนป้ายชื่อของเขา และเวลาประกาศชื่อของเขาให้ อย่าลืมใช้คำนำหน้าว่าศาสตราจารย์ด้วยนะ

 

ตัวผมในตอนนั้นคิดว่าเขาคงจะภูมิใจในสถานะของการเป็นศาสตราจารย์ของเขามาก ถึงขนาดต้องกำชับให้คนจัดงานอย่าลืมถึงสถานะของเขา แต่ผมก็จำได้ว่ามีศาสตราจารย์หลายๆ คนที่ผมเจอ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ต่างประเทศ และแทบจะไม่เคยนำสถานะของเขามาเอ่ยถึงให้ใครฟังเลย

 

อันนี้เป็นข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมมีเกี่ยวกับการตอกย้ำถึงสถานะของตนเองในอดีต แต่พอเวลาผ่านไปผมก็มีข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งที่ผมไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน นั่นก็คือ ส่วนใหญ่คนที่พูดถึงสถานะของตัวเองบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ศ. เป็น ดร. เป็นเศรษฐี หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ คนพวกนี้มักจะเป็น ศ. ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมาก เป็น ดร. ที่ไม่ได้จบมาจากสถาบันดีๆ มาก เป็นเศรษฐีแต่เป็นเศรษฐีย่อยๆ หรือเป็นอะไรก็ตามแต่ที่เป็นจริงๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นมาก ส่วนคนที่เก่งจริงๆ รวยจริงๆ พวกเขาส่วนใหญ่แทบจะไม่เคยพูดถึงสถานะที่แท้จริงของพวกเขาให้คนอื่นรู้เลย

 

ถามว่าทำไม… 

 

จากงานวิจัยของ Paul Rozin นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียและเพื่อนๆ ทำให้ผมมีคำตอบให้กับคำถามนี้

 

Rozin et al. พบว่า เมื่อใดก็ตามที่คนเรามีความรู้สึกมั่นคง หรือ Secure ในสถานะของตัวเราเอง เราจะไม่ค่อยพูดถึงมันให้คนอื่นฟังสักเท่าไร (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถึงเขาไม่ต้องพูด คนอื่นๆ ก็รู้ว่าเขามีสถานะที่ดี เพราะมันชัดเจนเหลือเกิน) 

 

แต่เมื่อใดก็ตามที่คนเรามีความรู้สึกว่าสถานะของตัวเองมันไม่มั่นคง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าความมีสถานะของเขามันช่าง Borderline หรือก้ำกึ่งเสียเหลือเกิน (ยกตัวอย่างเช่น คนที่จบ ดร. จากมหาวิทยาลัยที่ไม่มีชื่อเสียงก็ยังเป็น ดร. ในนิยามของการจบปริญญาเอกเหมือนๆ กับคนที่จบ ดร. จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง) โอกาสที่เขาจะตอกย้ำสถานะของเขาให้คนอื่นๆ รู้ก็จะมีมากกว่าคนที่มีความรู้สึกมั่นคงในสถานะของตัวเอง ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่า การตอกย้ำสถานะที่อาจจะมีจริงแต่มีน้อยของเขา สามารถช่วยทำให้เขาได้กำไรจากสถานะที่มีน้อยของเขามากกว่าถ้าเขาไม่พูดถึงมันเลย

 

ยกตัวอย่างนะครับ Rozin et al. พบว่า คนที่จบมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (U Penn) ซึ่งเป็นมหาลัยที่จัดอยู่ใน Ivy League เหมือนกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่สู้ฮาร์วาร์ดไม่ได้ในหลายๆ เรื่อง มักจะใช้คำว่า Ivy League ในการเรียกมหาวิทยาลัยที่เขาจบมากกว่าคนที่จบจากฮาร์วาร์ด แถมยังพบอีกว่าสนามบินอินเตอร์ขนาดเล็กๆ เช่น สนามบินดอนเมือง มักจะใช้คำว่า ‘International Airport’ ในการโฆษณาตัวเองมากกว่าสนามบินขนาดใหญ่ๆ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้น ผมขอให้คุณลองสังเกตด้วยตัวคุณเองดูนะครับ ว่าคนที่ชอบพูดถึงสถานะของตัวเองให้คนอื่นๆ ฟัง จริงๆ แล้วเขากำลังมีพฤติกรรมที่ตรงกับงานวิจัยชิ้นนี้หรือไม่ ส่วนคนที่แทบไม่เคยพูดถึงสถานะที่แท้จริงตัวเองเลย คนๆ นั้นอาจจะเป็นคนที่เก่งจริงๆ รวยจริงๆ หรือดีจริงๆ จนเขาไม่รู้สึกว่าจะต้องเอาสถานะของเขาไปป่าวประกาศให้ใครฟังก็ได้นะครับ

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • Rozin, P., Scott, S. E., Zickgraf, H. F., Ahn, F., & Jiang, H. (2014). Asymmetrical social Mach bands: Exaggeration of social identities on the more esteemed side of group borders. Psychological science, 25(10), 1955-1959.

The post ‘เพราะไม่มั่นคงจึงต้องอวด’ ไขความลับของคนชอบอวดสถานะ appeared first on THE STANDARD.

]]>
เลือกยืนตรงกลางไม่ใช่เรื่องผิด รู้จัก Disloyalty Aversion ความลำเอียงด้านพฤติกรรมที่ทำให้คนไม่กล้า ‘ทรยศ’ https://thestandard.co/disloyalty-aversion/ Mon, 28 Dec 2020 10:43:15 +0000 https://thestandard.co/?p=436774 เลือกยืนตรงกลางไม่ใช่เรื่องผิด รู้จัก Disloyalty Aversion ความลำเอียงด้านพฤติกรรมที่ทำให้คนไม่กล้า ‘ทรยศ’

ย้อนเวลากลับไปในปี 2018 ปีที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพการแข่งข […]

The post เลือกยืนตรงกลางไม่ใช่เรื่องผิด รู้จัก Disloyalty Aversion ความลำเอียงด้านพฤติกรรมที่ทำให้คนไม่กล้า ‘ทรยศ’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
เลือกยืนตรงกลางไม่ใช่เรื่องผิด รู้จัก Disloyalty Aversion ความลำเอียงด้านพฤติกรรมที่ทำให้คนไม่กล้า ‘ทรยศ’

ย้อนเวลากลับไปในปี 2018 ปีที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลก ผมและนักศึกษาปริญญาเอกของผมได้ทดลองพิสูจน์ความลำเอียงด้านพฤติกรรมตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘Disloyalty Aversion’ หรือการเกลียดการทรยศต่อสิ่งที่เราเคารพรัก

 

โดยในการพิสูจน์นี้ พวกเราได้ให้เงินกับอาสาสมัครที่เป็นแฟนฟุตบอลทีมชาติอังกฤษทั้งหมด เพื่อให้แต่ละคนเลือกพนันว่าใครจะแข่งชนะ ระหว่างทีมชาติอังกฤษหรือทีมฝั่งตรงข้าม เช่น ทีมชาติโปรตุเกส เป็นต้น 

 

ผลลัพธ์ที่พวกเราค้นพบคือ เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของอาสาสมัครทั้งหมดมักจะเลือกแทงทีมที่ตัวเองเชียร์ ซึ่งก็คือทีมชาติอังกฤษ แทนทีมฝั่งตรงข้าม ถึงแม้ว่าทีมอังกฤษจะเตะชนะ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ดีใจไปมากกว่าอาสาสมัครที่เชียร์ทีมอังกฤษ แต่ต้องเสียเงินไปเพราะพนันว่าฝั่งตรงข้ามชนะ (พูดง่ายๆ ก็คือทั้งสองกลุ่มดีใจพอๆ กัน) 

 

แต่พออังกฤษเตะแพ้ปุ๊บ อาสาสมัครที่พนันว่าอังกฤษจะชนะกลับเสียใจมากกว่าอาสาสมัครที่พนันว่าอังกฤษจะแพ้ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าไม่ใช่แค่ทีมที่ตัวเองเชียร์จะแพ้เท่านั้น แต่เงินที่ลงพนันไปก็หายวับไปกับตา ส่วนคนที่เชียร์อังกฤษแต่กลับพนันให้ทีมตัวเองแพ้ ถึงแม้ว่าทีมที่เขาเชียร์จะแพ้จริงๆ แต่อย่างน้อยเขาก็ได้รับเงินรางวัลกลับมาเป็นรางวัลปลอบใจ

 

แล้วถ้ากลยุทธ์ของการ Hedge ความเสียใจอย่างข้างบนนี้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ของการหาผลลัพธ์ที่อยู่ตรงกลางไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม และถือเป็นกลยุทธ์ที่ดี ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงไม่เลือกทำกัน

 

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าคนเรามี Disloyalty Aversion นี้เอง

 

Disloyalty Aversion มาจากไหน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความไม่ชอบ Cognitive Dissonance หรือการที่คนเรามีอะไรที่ขัดแย้งกันเองในหัว เช่น ก็ถ้าเราเชียร์อังกฤษ แล้วเราไปพนันให้อีกฝั่งชนะล่ะก็ อย่างนี้มันไม่ใช่การทรยศต่อสิ่งที่เราเคารพรักหรอกหรือ

 

แต่ผมคิดว่าส่วนหนึ่งของ Disloyalty Aversion นั้นมาจากความกดดันจากสังคมหรือตราบาปของการเลือกตัดสินใจอะไรก็ตามที่อยู่ตรงกลางด้วย เช่น ถ้าคนอื่นๆ ที่เชียร์ทีมอังกฤษรู้ว่าเรา ซึ่งเป็นแฟนคลับทีมชาติอังกฤษเหมือนๆ กันกับเขา เลือกที่จะไปพนันให้ทีมโปรตุเกสชนะล่ะก็ พวกเขาก็คงจะคิดว่าเราทรยศ ไม่ได้เชียร์ทีมอังกฤษจริงๆ เผลอๆ พวกเขาอาจจะขับไล่เราออกจากแฟนคลับเลยก็ได้

 

Disloyalty Aversion ในเกมกีฬาเป็นอะไรที่พอจะเข้าใจได้นะครับ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าเกมกีฬาส่วนใหญ่จะต้องมีผู้แพ้ผู้ชนะที่ค่อนข้างจะชัดเจน แต่ถ้าในเหตุการณ์ที่ไม่จำเป็นต้องมีผู้แพ้หรือผู้ชนะที่ชัดเจน การมองหาทางออกที่อยู่ตรงกลางที่ทั้งสองฝ่ายต่างสามารถยอมรับซึ่งกันและกันได้ ถือว่าเป็นทางออกที่ยั่งยืนในเชิงของผลประโยชน์ส่วนรวมที่สูงที่สุดก็ว่าได้ 

 

เพราะฉะนั้น Disloyalty Aversion จึงไม่ควรที่จะมีบทบาทอะไรมากนักในบริบทที่ไม่ใช่เกมกีฬา และเราก็ควรจะเลิกต่อว่าคนที่อยู่ตรงกลางว่าทรยศดีกว่านะครับ เพราะการพยายามหาทางออกที่อยู่ตรงกลางอาจจะไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้เคารพหรือไม่รักในสิ่งที่คุณเคารพรัก เพียงแต่พวกเขาอาจจะเป็นคนที่ ‘มีเหตุมีผล’ ในการตัดสินใจมากที่สุดเลยก็ว่าได้

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • Kossuth, L., Powdthavee, N., Harris, D., & Chater, N. (2020). Does it pay to bet on your favourite to win? Evidence on experienced utility from the 2018 FIFA World Cup experiment. Journal of Economic Behavior & Organization, 171, 35-58.

The post เลือกยืนตรงกลางไม่ใช่เรื่องผิด รู้จัก Disloyalty Aversion ความลำเอียงด้านพฤติกรรมที่ทำให้คนไม่กล้า ‘ทรยศ’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
พลังของเรื่องเก่าเล่าใหม่ ทำไมฟังเรื่องเก่ากี่ครั้งก็ยังจับใจเสมอ https://thestandard.co/novelty-seeking/ Thu, 22 Oct 2020 11:01:16 +0000 https://thestandard.co/?p=411480

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนน่าจะชอบของใหม่มากกว่าของเก่า ไ […]

The post พลังของเรื่องเก่าเล่าใหม่ ทำไมฟังเรื่องเก่ากี่ครั้งก็ยังจับใจเสมอ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายคนน่าจะชอบของใหม่มากกว่าของเก่า ไม่ว่าจะเป็นหนังใหม่ๆ, สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ, อาหารที่เราอาจยังไม่เคยทานมาก่อน หรือแม้แต่แฟนใหม่…

 

พฤติกรรมการชอบของใหม่มากกว่าของเก่าของคนส่วนใหญ่ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์เรา ซึ่งในทางจิตวิทยาเราเรียกพฤติกรรมนี้ว่า Novelty Seeking หรือการที่คนส่วนใหญ่ชอบมองหาของใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต เพราะเชื่อว่าของใหม่ๆ มักจะสามารถกระตุ้นอารมณ์ของเรามากกว่าของเก่าๆ ที่เคยได้ลิ้มรสมันมาก่อน

 

แต่มันเป็นอย่างนั้นเสมอไปจริงๆ หรือครับ

 

จากงานวิจัยชิ้นล่าสุดของ แดน กิลเบอร์ต, กัส คูนี และ ทิม วิลสัน พบว่าคนเรามักจะมีพฤติกรรม Novelty Seeking อย่างนั้นจริงๆ โดย แดน กัส และทิม ได้สุ่มคนมากลุ่มหนึ่ง หลังจากนั้นจึงถามคนที่ถูกสุ่มมาว่า

 

“วันนี้คุณจะมานั่งฟังนักพูดคนหนึ่ง คุณว่าคุณน่าจะชอบแบบไหนมากกว่ากันระหว่างเรื่องใหม่ๆ ที่คุณไม่เคยได้ยินหรือไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน หรือสิ่งที่เคยรู้และมีความคุ้นเคยกับมันมาก่อนอยู่แล้ว”

 

สรุปว่าคนที่ถูกสุ่มมาต่างก็ตอบกันเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาน่าจะชอบฟังนักพูดคนนี้เล่าในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยฟังมาก่อน มากกว่าเรื่องที่เขาทราบและคุ้นเคยดีอยู่แล้ว

 

หลังจากนั้นนักวิจัยทั้งสามก็แบ่งคนที่ถูกสุ่มออกเป็นสองกลุ่ม โดยให้คนกลุ่มแรกเข้าไปฟังนักพูดเล่าเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน ส่วนกลุ่มที่สอง ก็จัดให้ไปฟังนักพูดเล่าเรื่องที่คุ้นเคยดีอยู่แล้ว

 

เมื่อฟังเสร็จ นักวิจัยทั้งสามก็ให้คนทั้งสองกลุ่มให้คะแนนความพึงพอใจของตัวเองกับเรื่องที่พวกเขาเพิ่งฟังจบไป

 

คุณคิดว่าค่าเฉลี่ยของความพอใจของเรื่องเล่าทั้งสองเรื่องเท่ากันไหมครับ

 

ใช่ครับ ค่าเฉลี่ยมันไม่ได้เท่ากันเลย แต่ผลที่ได้กลับไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เพราะปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจของกลุ่มที่ฟังเรื่องคุ้นเคยกลับสูงกว่าอีกกลุ่มที่ได้ยินเรื่องราวใหม่ๆ เป็นครั้งแรก

 

พูดง่ายๆ ก็คือคนชอบ ‘เรื่องเก่าแต่เอามาเล่าใหม่’ มากกว่าเรื่องใหม่ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

 

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นไปได้ ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่อยากจะฟังเรื่องที่ไม่เคยฟังมาก่อนมากกว่า

 

คำตอบไม่ได้อยู่ที่ว่าเรื่องเก่ามันสนุกกว่าเรื่องใหม่นะครับ (อันนี้ทางทีมวิจัยได้ควบคุมความแตกต่างในการออกแบบการทดลองของเขาไว้เรียบร้อยแล้ว) แต่มันเป็นเพราะว่าวิธีการเล่าเรื่องของคนเรานั้นมักจะมี ‘Gap’ ของการให้ข้อมูลเยอะ (คือคนที่เล่าไม่มีทางที่จะสื่อสารข้อมูลทุกอย่างที่เกิดขึ้นในเรื่องที่เขาเล่าได้ และจะต้องมีการตกบกพร่องของข้อมูลในการสื่อสารทุกครั้งเสมอ) แต่สำหรับเรื่องที่เรามักจะคุ้นเคยอยู่แล้ว สมองของเราสามารถ ‘Fill in The Gap’ ได้ 

 

พูดอีกอย่างก็คือ ในเรื่องที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว เราสามารถต่อเติมข้อมูลที่ขาดหายจากการเล่าในสมองของเราให้มันเต็มได้

 

และด้วยเหตุผลนี้นี่เองทำให้การฟังเรื่องที่เราคุ้นเคยอยู่แล้วมักจะเพลิดเพลินมากกว่าเรื่องที่เราไม่เคยฟังมาก่อน ถึงแม้คนส่วนใหญ่มักจะเลือกฟังเรื่องใหม่ๆ มากกว่าเรื่องเก่าก็ตาม (ถ้าเลือกได้)

 

มันก็เลยอธิบายได้ว่าทำไมเวลาที่คนเราหลายคนดูหนังเก่าๆ เรามักจะรู้สึกฟินและอินมากกว่าหนังใหม่ๆ ที่เราไม่เคยดูมาก่อน

 

และนี่ล่ะครับคือพลังของการเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่

 

อ่านเพิ่มเติม

 

Cooney, G., Gilbert, D. T., & Wilson, T. D. (2017). The novelty penalty: why do people like talking about new experiences but hearing about old ones?. Psychological science, 28(3), 380-394.

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

The post พลังของเรื่องเก่าเล่าใหม่ ทำไมฟังเรื่องเก่ากี่ครั้งก็ยังจับใจเสมอ appeared first on THE STANDARD.

]]>
วิธีจับโกหกของคนพูดอย่างทำอย่าง คำพูดแบบไหนส่อแววกลับกลอกมากที่สุด https://thestandard.co/how-to-catch-lies/ Tue, 01 Sep 2020 13:14:21 +0000 https://thestandard.co/?p=393675

คุณจะทราบได้อย่างไรครับว่าคนที่พูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง เข […]

The post วิธีจับโกหกของคนพูดอย่างทำอย่าง คำพูดแบบไหนส่อแววกลับกลอกมากที่สุด appeared first on THE STANDARD.

]]>

คุณจะทราบได้อย่างไรครับว่าคนที่พูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง เขาใช้คำพูดของเขาในการโกหกอย่างไรบ้าง

 

มีงานวิจัยอยู่ชิ้นหนึ่งที่ดูวิธีการสื่อสารของคนสองคนในเกมโชว์ที่มีชื่อว่า Golden Balls ที่ต้องตกลงกันว่าจะร่วมมือกันไหม ถ้าหลังจากคุยกันแล้วทั้งสองคนตกลงร่วมมือกัน ต่างคนก็จะแบ่งเงินกองกลางกลับบ้านไปกันคนละครึ่ง แต่ถ้าคนหนึ่งตอบว่าจะร่วมมือแต่อีกคนหนึ่งหักหลัง คือบอกว่าจะร่วมมือแต่กลับไม่ร่วมมือจริงๆ คนที่หักหลังก็จะได้เงินกองกลางกลับบ้านไปทั้งหมด ส่วนคนที่โดนหักหลังก็จะไม่ได้อะไรเลย 

 

แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างหักหลังซึ่งกันและกัน ทั้งคู่ก็จะเสียเงินกองกลางด้วยกันทั้งคู่ และจะไม่มีใครได้รับเงินกลับบ้านไปเลย 

 

ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษารูปแบบการเจรจาของผู้เล่นเกมนับร้อยๆ คู่ โดยแบ่งจำพวกคำพูดของผู้เข้าแข่งขันเป็น 4 กลุ่ม คือ 

 

  1. Explicit-Unconditional (ชัดเจน-ไม่มีเงื่อนไข)

เช่น “I will split” (ฉันจะแบ่งเงินกับคุณ), “I will not steal” (ฉันจะไม่ขโมยเงินกองกลาง)

 

  1. Explicit-Conditional (ชัดเจน-มีเงื่อนไข)

เช่น “I will split if you split” (ฉันจะแบ่งเงินถ้าคุณแบ่งเหมือนกัน), “We will split together” (เดี๋ยวเราทั้งสองจะแบ่งเงินกันนะ)

 

  1. Implicit-Unconditional (ไม่ชัดเจน-ไม่มีเงื่อนไข)

เช่น “I want to split” (ฉันอยากจะแบ่ง), “It is not in my nature to steal” (ปกติฉันไม่ใช่คนที่ชอบขโมยอะไร), “If I stole from you, the audience will never forgive me!” (ถ้าฉันขโมยล่ะก็ คนดูต้องไม่อภัยฉันแน่ๆ เลย), “You can trust me” (คุณเชื่อฉันได้)

 

  1. Implicit-Conditional (ไม่ชัดเจน-มีเงื่อนไข)

เช่น “I think we should split” (ฉันคิดว่าเราน่าจะแบ่งเงินกันนะ), “I am willing to split if you split” (ฉันจะยอมแบ่งถ้าคุณแบ่ง)

 

ลองทายดูสิครับว่าคำพูดแบบไหนที่จะตามมาด้วยการหักหลังมากที่สุด

 

ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะพอเดากันถูกนะครับ คำตอบก็คือข้อ 4 นั่นเอง คือคำพูดแบบไม่ชัดเจน และมีเงื่อนไข รองลงมาก็คือข้อ 3 คือ ไม่ชัดเจน ไม่มีเงื่อนไข ส่วนคนที่ใช้คำพูดแบบชัดเจน และไม่มีเงื่อนไข ในข้อ 1 มากที่สุด ส่วนใหญ่มักจะทำตามที่พูดจริงๆ

 

สรุปก็คือเวลาที่คนส่วนใหญ่โกหก คำพูดที่เราใช้มักจะเป็นคำพูดที่ไม่บ่งบอกถึงเจตนาที่ชัดเจนของเรา ส่วนใหญ่จะเป็นคำพูดที่มีความยืดหยุ่น กำกวม และไม่แน่นอน และอาจจะเป็นคำพูดที่ค่อนข้างมีเงื่อนไข เช่น “ฉันคิดว่าฉันจะทำถ้าคุณจะทำ” เป็นต้น

 

เพราะฉะนั้นโปรดลองสังเกตการใช้คำพูดของคนรอบข้างดูนะครับว่า คำที่เขาใช้มักจะอยู่ในประเภทไหนบ้าง ทั้งแบบชัดเจนหรือไม่ชัดเจน มีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข

 

อ่านเพิ่มเติม

  • Turmunkh, U., van den Assem, M.J. and Van Dolder, D., 2019. Malleable lies: Communication and cooperation in a high stakes TV game show. Management Science, 65(10), pp.4795-4812.

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

The post วิธีจับโกหกของคนพูดอย่างทำอย่าง คำพูดแบบไหนส่อแววกลับกลอกมากที่สุด appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘เด็กสมัยนี้’ คิดอะไร ทำไมผู้ใหญ่ถึงไม่เข้าใจ รู้จัก The ‘kids these days’ effect https://thestandard.co/the-kids-these-days-effect/ Tue, 18 Aug 2020 10:03:10 +0000 https://thestandard.co/?p=389574

คุณเคยได้ยินคำว่า ‘เด็กสมัยนี้’ ไหมครับ   แล้วคุณเ […]

The post ‘เด็กสมัยนี้’ คิดอะไร ทำไมผู้ใหญ่ถึงไม่เข้าใจ รู้จัก The ‘kids these days’ effect appeared first on THE STANDARD.

]]>

คุณเคยได้ยินคำว่า ‘เด็กสมัยนี้’ ไหมครับ

 

แล้วคุณเคยสงสัยไหมครับว่าทำไมเราจึงได้ยินผู้ใหญ่หลายท่านใช้คำว่า ‘เด็กสมัยนี้’ บ่อยๆ เช่น เด็กสมัยนี้ขี้เกียจบ้าง เด็กสมัยนี้ไม่มีความเคารพผู้ใหญ่บ้าง เด็กสมัยนี้ไม่ชอบอ่านหนังสือบ้าง ไม่ฉลาดและคิดด้วยตัวเองไม่เป็นบ้าง ฯลฯ

 

วันนี้ผมจะนำงานวิจัยในเรื่องของ ‘เด็กสมัยนี้’ หรือ ‘Kids these days’ ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Science Advances เมื่อปลายปีที่แล้วมาเขียนเพื่อให้เพื่อนๆ อ่านกันนะครับ

 

ในงานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งทำโดย จอห์น พรอตซ์โก และโจนาธาน สกูเลอร์ นักจิตวิทยาสองคนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตา บาร์บารา ทั้งคู่ได้ทำการสำรวจโดยสอบถามคนอเมริกันอายุ 33-51 ปี จำนวน 3,458 คน เกี่ยวกับทัศนคติที่พวกเขามีต่อวัยรุ่นอเมริกันในสมัยนี้

 

พวกเขาพบว่าผู้ใหญ่อเมริกันเหล่านี้มักจะพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า “เด็กสมัยนี้มันแย่กว่าสมัยก่อนเยอะ”

 

แต่สิ่งที่ทั้งพรอตซ์โกและสกูเลอร์ยังพบเจออีกก็คือความรู้สึกที่พวกผู้ใหญ่เหล่านี้มีต่อ ‘เด็กสมัยนี้’ มีความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพและทัศนคติที่พวกผู้ใหญ่เหล่านี้มีในปัจจุบัน

 

ยังไงน่ะเหรอครับ

คือทั้งคู่พบว่า

 

  1. ผู้ใหญ่ที่มองว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีความเคารพผู้อาวุโสมากที่สุดมักจะเป็นคนที่ทำแบบสอบถามแล้วได้คะแนนในคำถามข้อที่เกี่ยวกับ Authoritarianism หรือความชอบพอในอำนาจเผด็จการสูง 

 

  1. ผู้ใหญ่ที่มองว่าเด็กสมัยนี้โง่เขลามากที่สุดมักจะเป็นคนที่ทำแบบสอบถามแล้วมีผลออกมาว่าเป็นคนที่มีไอคิวสูง

 

  1. ผู้ใหญ่ที่มองว่าเด็กสมัยนี้อ่านหนังสือไม่เป็นมากที่สุดมักจะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสืออยู่เป็นประจำอยู่แล้ว

 

ทั้งพรอตซ์โกและสกูเลอร์ได้สรุปผลงานวิจัยของเขาเอาไว้อย่างนี้ว่า สาเหตุที่ผู้ใหญ่มักมองว่าเด็กสมัยนี้ไม่ได้เรื่องนั้นเป็นเพราะความทรงจำ (Memory) ของคนเรามักจะถูกความรู้สึกของเราในปัจจุบัน (ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม) เบี่ยงเบน

 

พูดง่ายๆ ก็คือความรู้สึกของผู้ใหญ่ในปัจจุบันทำให้พวกเขาไม่สามารถมองเด็กสมัยนี้อย่างเป็นกลางได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าผู้ใหญ่ในปัจจุบันไม่สามารถมองผ่านเลนส์ของเด็กในสมัยนี้ได้ แต่สาเหตุใหญ่ที่เขาทำไม่ได้นั้นอาจจะมาจากกระบวนการที่เป็น Subconscious หรือจิตใต้สำนึก มากกว่าเป็น Conscious Choice 

 

เราเรียกอคติทางด้านความคิดนี้ว่า Presentism หรือการที่ความทรงจำและจินตนาการของคนมักจะถูกปัจจุบันควบคุมอยู่ข้างหลังอย่างที่เราไม่รู้ตัวอยู่

 

แต่มีอีกอย่างหนึ่งที่พรอตซ์โกและสกูเลอร์เจอนั่นก็คือขนาดคนที่ไม่ชอบระบบเผด็จการเลย พวกเขาก็ยังคิดว่าเด็กสมัยนี้ไม่มีความเคารพผู้ใหญ่เท่ากับเด็กสมัยก่อน ถึงแม้ว่าจะไม่แย่เท่าผู้ใหญ่ที่ชอบอำนาจเผด็จการก็ตาม ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอคติทางด้านความคิดอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ End-of-history Bias หรือการที่คนเราในแต่ละรุ่นมักจะคิด (ผิด) ว่าโลกเราเปลี่ยนมาเยอะแล้ว และไม่น่าจะเปลี่ยนอีกในอนาคต และพอเรามองย้อนกลับไปอดีต เราก็มักจะคิดว่าเราได้พัฒนาอะไรต่อมิอะไรมาเยอะในสมัยก่อน แต่ทำไมเด็กสมัยนี้ถึงไม่ได้พัฒนาได้เร็วเหมือนกับที่เราพัฒนา 

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใหญ่สมัยนี้จะมองเห็นแต่สิ่งที่เกี่ยวข้อง (Relevant) กับการพัฒนาของตนเอง และมองข้ามการพัฒนาอย่างอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนเองไป แต่กลับเกี่ยวข้องกับเด็กสมัยนี้มากกว่าเยอะ เช่น เด็กสมัยนี้มีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีมากกว่าผู้ใหญ่สมัยนี้เยอะมาก แต่มีโอกาสติดยาน้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ เยอะ    

 

คำอธิบายอีกอย่างหนึ่งของ The kids these days effect ก็คือคนที่มีอายุน้อยมักจะมองโลกอนาคตด้วยสายตาที่มีความหวังมากกว่า (พูดง่ายๆ ก็คือคนอายุน้อยมักจะคิดกันว่าชีวิตของเขาในอนาคตควรจะต้องดีกว่าชีวิตของเขาในปัจจุบัน) ส่วนคนที่มีอายุเยอะมักจะมองว่าชีวิตของเขาในอนาคตมันไม่น่าจะดีกว่าชีวิตของเขาในอดีต ซึ่งก็ไม่น่าเป็นที่แปลกใจเลยว่าทำไมผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จึงมองอดีตว่าดีกว่าปัจจุบัน  

 

สรุปก็คือการที่ผู้ใหญ่สมัยนี้มองเด็กสมัยนี้ไม่ได้ต่างจากการที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนมองเด็กสมัยก่อนสักเท่าไรนัก และผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า (ซึ่งก็คือเด็กสมัยนี้) ก็คงจะมองเด็กในวันข้างหน้าในสายตาที่คล้ายๆ กันเช่นเดียวกัน เพียงเพราะ Memory Bias ที่เรามีเหมือนกันทุกๆ คน

 

อ่านเพิ่มเติม 

  • Protzko, J. and Schooler, J.W., 2019. Kids these days: Why the youth of today seem lacking. Science advances, 5(10), p.eaav5916.

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

The post ‘เด็กสมัยนี้’ คิดอะไร ทำไมผู้ใหญ่ถึงไม่เข้าใจ รู้จัก The ‘kids these days’ effect appeared first on THE STANDARD.

]]>
ฆ่าตัวตาย… ป้องกันได้ ทำความรู้จักทฤษฎี Coupling สู่มาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างมีประสิทธิภาพ https://thestandard.co/coupling-theory/ Tue, 14 Jul 2020 12:25:05 +0000 https://thestandard.co/?p=379915

คุณคิดว่าจริงหรือไม่ที่หากใครสักคนจะอยากฆ่าตัวตาย ไม่ว่ […]

The post ฆ่าตัวตาย… ป้องกันได้ ทำความรู้จักทฤษฎี Coupling สู่มาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างมีประสิทธิภาพ appeared first on THE STANDARD.

]]>

คุณคิดว่าจริงหรือไม่ที่หากใครสักคนจะอยากฆ่าตัวตาย ไม่ว่าเราจะป้องกันอย่างไร จนแล้วจนรอดเขาก็จะหาวิธีอื่นเพื่อจบชีวิตตัวเองให้สำเร็จจนได้อยู่ดี

 

หลายคนอาจมีความเชื่อเช่นนั้นนะครับ เรามักคิดว่าคนที่หมดหวังในชีวิตแล้ว ไม่ว่าเราจะห้ามปรามเขาอย่างไร ถ้าเขาตั้งใจจะปลิดชีพตัวเองจริงๆ ไม่ว่าใครจะห้าม เขาก็คงไม่ฟังอยู่ดี 

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีทฤษฎีหนึ่งที่สามารถอธิบายพฤติกรรมการฆ่าตัวตายของคนจำนวนมากได้ดีเลยทีเดียว ซึ่งทฤษฎีที่ว่านี้ก็คือ Coupling หรือแปลเป็นไทยก็คือทฤษฎี ‘จับคู่’ นั่นเอง

 

ส่วนตัวผมเองเคยได้ยินเรื่องทฤษฎี Coupling ครั้งแรกตอนที่อ่านหนังสือเล่มใหม่ของ มัลคอล์ม แกลดเวล ที่มีชื่อว่า Talking to Strangers ซึ่งในตอนท้ายๆ ของเล่ม แกลดเวลเขียนถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ ริชาร์ด ไซเดน ศาสตราจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านสถิติการฆ่าตัวตายของคนที่มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์  

 

โดยในงานวิจัยชิ้นนี้ ไซเดนได้ทำการสัมภาษณ์คนที่คิดจะฆ่าตัวตายโดยการกระโดดสะพานโกลเดนเกตในเมืองซานฟรานซิสโก แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะมีคนมาห้ามไว้ก่อน โดยการสัมภาษณ์ของเขาเป็นลักษณะ Follow-up (การสัมภาษณ์หลังจากเกิดเหตุการณ์ไปแล้วหลายเดือน) และเป็นการสัมภาษณ์เพื่อพิสูจน์ว่าคนที่เคยฆ่าตัวตายแต่ทำไม่สำเร็จ วันนี้เขายังพยายามจะฆ่าตัวตายด้วยวิธีการอื่นอยู่หรือไม่ 

 

งานวิจัยของไซเดนพบว่าจาก 515 คนที่เคยจะฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดสะพาน กว่า 90% บอกว่าพวกเขาไม่ได้พยายามฆ่าตัวตายด้วยวิธีอื่นอีกเลย

 

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

 

ทฤษฎี Coupling มีคำตอบ… 

 

โดยทั่วไปการฆ่าตัวตายที่สำเร็จส่วนใหญ่จะมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ 1.ความต้องการที่จะฆ่าตัวตาย (Suicidal Intention) และ 2.วิธีการฆ่าตัวตายที่สามารถทำได้ง่าย (Suicidal Means) ซึ่งทฤษฎี Coupling บอกว่าถ้าเราสามารถกำจัดปัจจัย 1 ใน 2 นี้ออกไปได้ เราจะทำให้คนส่วนใหญ่ล้มเลิกความคิดที่จะฆ่าตัวตายได้

 

งานวิจัยของไซเดนถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกๆ ที่พิสูจน์ทฤษฎี Coupling นี้ เพราะมันพิสูจน์ให้เราเห็นว่าความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่อยากจะฆ่าตัวตายมักมาจากอารมณ์ชั่ววูบ ถ้าในระหว่างที่เกิดอารมณ์ชั่ววูบนั้นเขามีลู่ทางหรือวิธีการในการปลิดชีวิตตัวเองง่ายๆ โอกาสที่เขาจะลงมือฆ่าตัวตายและทำได้สำเร็จนั้นก็จะสูงมาก

 

แต่ถ้าในอารมณ์ชั่ววูบนั้นเขาไม่มีลู่ทางหรือวิธีง่ายๆ ในการปลิดชีพตัวเองให้สำเร็จ โอกาสที่เขาจะไม่ฆ่าตัวตายในเวลานั้นและในอนาคตก็จะสูงกว่า

 

นอกจากงานวิจัยของไซเดนแล้วก็ยังมีงานอื่นๆ เช่น งานของ โรนัลด์ คลาร์ก และแพต เมย์ฮิว ที่พบว่าหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษได้ทำการขจัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่มีอยู่ในเตาอบของบ้านเกือบทุกหลังในประเทศออกระหว่างปี 1963-1975 สถิติของคนที่ฆ่าตัวตายในประเทศก็ลดลงอย่างไม่น่าเชื่อจาก 5,714 รายเหลือเพียงแค่ 3,000 กว่าราย ทั้งนี้ก็เป็นเพราะการฆ่าตัวตายในบ้านด้วยการเอาศีรษะเข้าไปในเตาอบเพื่อสูดดมสารพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้อีกแล้ว

 

สรุปก็คือถ้าเราสามารถเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราให้การฆ่าตัวตายเป็นอะไรที่ทำได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น การติดตั้ง Safety Net ข้างสะพานโกลเดนเกต หรือการขจัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกจากเตาอบ หรือการทำให้การเปิดขวดยายากขึ้น เรียกอีกอย่างว่าวิธี ‘De-coupling’ หรือแยกคู่วิธีการฆ่าตัวตายจากความต้องการฆ่าตัวตาย เราก็จะสามารถป้องกันการฆ่าตัวตายของคนส่วนใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในวันนี้และในอนาคต

 

อ่านเพิ่มเติม:

  • Clarke, R.V. and Mayhew, P., 1988. The British gas suicide story and its criminological implications. Crime and justice, 10, pp.79-116.
  • Gladwell, M., 2019. Talking to strangers: What we should know about the people we don’t know. Penguin UK.
  • Seiden, R.H., 1978. Where are they now? A follow‐up study of suicide attempters from the Golden Gate Bridge. Suicide and Life‐Threatening Behavior, 8(4), pp.203-216.

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

The post ฆ่าตัวตาย… ป้องกันได้ ทำความรู้จักทฤษฎี Coupling สู่มาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายได้อย่างมีประสิทธิภาพ appeared first on THE STANDARD.

]]>