ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Wed, 31 Jul 2024 14:50:30 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 หลวงเจ้: ความจริงสู่งานศิลปะสร้างสรรค์ https://thestandard.co/amitofo-truth-to-creative-art/ Wed, 31 Jul 2024 14:50:30 +0000 https://thestandard.co/?p=965679

ผู้เขียนไม่แน่ใจเหมือนกันว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นการสร้าง […]

The post หลวงเจ้: ความจริงสู่งานศิลปะสร้างสรรค์ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ผู้เขียนไม่แน่ใจเหมือนกันว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นการสร้างดราม่าหรือเรียกทัวร์มาลงให้กับตัวเองหรือไม่ เพราะสิ่งที่กำลังจะพูดถึงมันคือเสน่ห์ความน่ารักและความน่าหลงใหลของ ‘หลวงเจ้’

 

แต่หลวงเจ้ในที่นี้คนละความหมายกับหลวงเจ้ที่เป็นพระตุ๊ดหรือเณรแต๋วนะ หลวงเจ้ที่ผู้เขียนกำลังพูดถึงมันคือชื่อที่เหล่าสาวกใช้เรียก ‘AMITOFO’ อาร์ตทอยที่กำลังฮิตอยู่ ณ ตอนนี้

 

‘อมิตโตโฟ’ คืออะไร

 

ผู้เขียนขอเริ่มที่มาที่ไปแบบนี้ก่อน จริงๆ แล้ว AMITOFO (อมิตโตโฟ) เป็นอาร์ตทอยรูปแบบกล่องสุ่มตัวใหม่ที่กำลังมาแรง ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินชาวจีนคล้ายๆ กับ CRYBABY ของ มด-นิสา ศรีคำดี ศิลปินคนไทย หรืออาร์ตทอตสุดฮิตที่ไม่มีใครไม่รู้จักอย่าง LABUBU ของศิลปินชาวฮ่องกง

 

คำว่า ‘อมิตโตโฟ’ น่าจะมาจากคำว่า ‘อาหมีถวอฝอ’ ซึ่งเป็นการออกเสียงภาษาจีนเรียกชื่อ ‘พระอมิตภะพุทธเจ้า’ พระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่งในพุทธศาสนานิกายมหายาน ถ้าใครพอจะคุ้นๆ เวลาเราดู ไซอิ๋ว แล้วได้ยินพระถังซัมจั๋งชอบพูดว่า ‘อมิตาภพุทธะ’ นั่นแหละองค์เดียวกันเลย

 

ทีนี้อยู่ๆ ทำไมอมิตโตโฟถึงถูกเหล่าสาวกไทยเรียกว่า ‘หลวงเจ้’ ที่มาที่ไปคือ หนึ่งในชุดงานศิลปะอมิตโตโฟ ซึ่งเขามีชิ้นงานศิลปะแตกต่างกันไปหลายตัว น่าจะประมาณ 8 ตัวได้ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิด แต่ตัวที่เป็น Top Secret ซึ่งทุกคนอยากได้และทุกคนต้องสุ่มซื้อเอาถ้าอยากได้ก็คือ ตัวพระพุทธรูปปางมาสก์หน้า ติดโบ และนุ่งจีวรสีชมพู คนไทยก็เลยพากันเรียกว่า ‘ปางหลวงเจ้’

 

ปูพื้นที่มาที่ไปของหลวงเจ้เรียบร้อยแล้ว ต่อไปเรามาเข้าโหมดชวนคิดกันบ้าง เอาเข้าจริงความน่าสนใจของหลวงเจ้ นอกจากจะเป็นอาร์ตทอยงานศิลปะแห่งยุคสมัยที่สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับเหล่าศิลปินคนรุ่นใหม่กันอย่างมหาศาลแล้ว ความพิเศษและความน่าสนใจของหลวงเจ้มันอยู่ที่ ‘ความจริง’

 

‘ความจริง’ คืออะไร

 

ความจริงที่อาร์ตทอยชุดหลวงเจ้หยิบยืมมานำเสนอมันคือ การนำเอาความจริงที่เป็นอากัปกิริยาที่เป็นกิจวัตรประจำวันของคนในปัจจุบัน ไปล้อกับแนวคิดเรื่องปางต่างๆ ของพระพุทธรูปตามคติเดิม เช่น พระพุทธรูปบ้านเราก็จะมีปางประทานพร ปางมารวิชัย ปางอุ้มบาตร ปางไสยาสน์ อะไรก็ว่ากันไป 

 

แต่อาร์ตทอยหลวงเจ้กลับนำเอาอากัปกิริยาที่เป็นกิจวัตรประจำวันที่เป็นความจริงของคนในปัจจุบันไปออกแบบสร้างสรรค์ให้กลายเป็นงานศิลปะ มันเลยมีปางอะไรน่ารักๆ ออกมาหลายปางโดนใจกลุ่มเป้าหมาย เช่น ปาง It’s OK, ปางถือทิชชูนั่งอุนจิ (อึ), ปางรอกินข้าว, ปาง Work from Home, ปางนอนเล่นมือถือ และปาง Secret ปางอุ้มน้องแมว รวมถึงปาง Top Secret ที่เหล่าสาวกใฝ่ฝันอยากได้มาครอบครองนั่นคือ ปางมาสก์หน้า ติดโบ และนุ่งจีวรชมพู นั่นเอง

 

 

ทำไมอมิตโตโฟหลวงเจ้ถึงโดนใจคนไทย

 

จริงๆ จะว่าอาร์ตทอยชุดหลวงเจ้ช็อกวงการพุทธศาสนาไหม อันนี้ไม่แน่ใจ เพราะเอาเข้าจริง เรื่องการนำเอาพระพุทธรูปมาทำอะไรน่ารักๆ เป็นของฝาก เป็นของที่ระลึก เป็นตุ๊กตา เป็นขนม เป็นไอศกรีม ในต่างประเทศ พุทธโลกมหายานอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือฮ่องกง เขาก็ทำกันมาจนไม่ได้เป็นเรื่องชงเรื่องช็อกอะไรแล้ว

 

แต่ที่มันทำให้คนไทยเรารู้สึกตื่นตาตื่นใจ อาจจะเรียกได้ว่ามากกว่าคนประเทศอื่นๆ กับอาร์ตทอยชุดนี้ คงไม่ใช่เพราะความน่ารักของตัวงานศิลปะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ตื่นเต้นเพราะมันกำลัง ‘ท้าทายความจริง’ ความจริงที่พุทธศาสนาแบบไทยๆ เราไม่กล้าที่จะยอมรับมัน ความจริงที่ว่ามีพระตุ๊ดหรือเณรแต๋ว มีหลวงเจ้ที่มาสก์หน้า นุ่งผ้าเหมือนใส่กระโปรง ใช้ย่ามสีชมพู หรือจีวรเหมือนเกาะอก มีพระใช้มือถือ เล่นโซเชียลมีเดีย ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งความจริงเหล่านี้พุทธไทยเรารับไม่ได้ 

 

พูดง่ายๆ งานอาร์ตทอยอมิตโตโฟ หรือหลวงเจ้ มันกำลังเล่นกับความรู้สึกในจิตสำนึกของพุทธไทยที่ว่า โอ๊ย! พระไม่ควรจับเงิน พระไม่ควรเล่นโซเชียล พระต้องสำรวม พระต้องนั่งสมาธิ ห้ามนั่นห้ามนี่ ความตื่นเต้นและความสนุกมันอยู่ที่การมีงานศิลปะบางอย่างที่กำลังชาเลนจ์ขนบความเชื่อเก่าแบบนี้แหละ

 

ผู้เขียนต้องบอกก่อนว่า ทุกคนอาจไม่ได้คิดแบบผู้เขียนก็ได้นะ หลายคนเขาอาจจะแค่อยากสะสมหลวงเจ้ในฐานะที่มันเป็นเพียงงานศิลปะร่วมสมัยที่แสนมีเสน่ห์ก็เท่านั้นหรือเปล่า

 

ถ้าจะพูดถึงเรื่อง ‘ความจริง’ ให้มากขึ้น อาร์ตทอยหลายชิ้นก็นำความจริงบางอย่างไปสร้างสรรค์เป็นผลงานจนโด่งดังเหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น CRYBABY ก็นำเอาความจริงจากน้ำตาไม่ว่าจะน้ำตาในสภาวะอารมณ์ไหน น้ำตาจากความเศร้า น้ำตาจากความดีใจ น้ำตาจากความอ่อนไหว กระทั่งความสะเทือนใจ ไปสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะจนโด่งดัง

 

เพราะฉะนั้นจะเรียกได้ว่า ‘ความจริง’ คืออีกหนึ่งทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะในหลายๆ รูปแบบก็ว่าได้ รวมถึงหลวงเจ้อมิตโตโฟด้วยที่ใช้ความจริงมาเป็นทุนในการสร้างสรรค์งานศิลปะ 

 

แต่ประเด็นคือคนไทยหลายคนรับความจริงไม่ได้ เมื่อรับความจริงไม่ได้ก็เกิดความพยายามที่จะปกปิดความจริง หรือมากถึงขั้นทำลายความจริง สร้างชุดความรู้สึกบางอย่างมากลบความจริงที่ถูกซ่อนอยู่ ลองนึกถึงภาพคนสวมหน้ากากที่มีรอยยิ้มแต่กำลังร้องไห้ดู ลักษณะประมาณนั้นแหละ 

 

การไม่ยอมรับความจริงของคนไทยนี่เองที่เป็นประตูปิดกั้นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของคนไทย เช่น ปิดกั้นการนำเสนอความจริง ปิดกั้นการตีความความจริงที่อยู่นอกกรอบ ปิดกั้นการเปิดหน้ากากให้คนเห็นว่ากำลังร้องไห้ คนไทยรับไม่ได้กับสิ่งเหล่านี้

 

ลองคิดดูว่าคนไทยจะรับได้ไหมถ้ามีภาพยนตร์ไทยสักเรื่องกล้าที่จะทำภาพยนตร์ที่ไม่ได้เล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างที่เป็นขนบความเชื่อหลัก หรือสร้างตามข้อถกเถียงต่างมุมมองของนักวิชาการบางท่าน คนไทยจะรับการตีความเนื้อหาแบบนี้ได้หรือไม่

 

เล่าไปเสียไกลเลย จริงๆ ผู้เขียนอยากจะบอกเพียงแค่ว่า

 

งานศิลปะคือการสะท้อนความจริงในสังคม และความจริงมันก็คือต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ รวมถึงการส่งเสริมงานที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมสร้างสรรค์ก็ไม่ควรมีกรอบความผิด-ถูกมากำหนด ไม่ต้องมีหน่วยงานใดเป็นตำรวจศีลธรรม ตำรวจประวัติศาสตร์ตรวจความถูกต้องหรือกุมความจริงแท้อยู่คนเดียว ให้ความจริงที่เกิดจากบรรทัดฐานของพวกคุณมันถูกตีความอย่างเสรีเสียบ้างก็เท่านั้นเอง 

 

กลับมาถามว่า อมิตโตโฟหลวงเจ้จะดราม่าไหมในวงการพุทธไทย คำตอบของผู้เขียนคือ ‘ไม่มีแน่นอน’ แต่ถ้ามีก็ไม่เป็นไร ไม่กล้าสาบงสาบานอะไร เพราะอะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ 

 

ที่ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่าจะไม่มีดราม่าแน่ๆ เพราะงานศิลปะชิ้นนี้ไม่ใช่งานศิลปะของคนไทยและไม่ได้เกิดขึ้นที่เมืองไทย หากแต่เกิดขึ้นที่จีน เพราะพุทธไทยถือคติจะดราม่าได้ก็ต่อเมื่อผลงานหรือความจริงเหล่านั้นเกิดขึ้นในขอบขัณฑสีมาพุทธอาณาจักรไทยเท่านั้น

 

ลองคิดเล่นๆ ดูว่า ถ้างานศิลปะที่เกิดขึ้นจากความจริงชุดหลวงเจ้นี้เป็นผลงานของศิลปินไทย โลกนี้คงเหมือนจะพังพินาศ คงไม่ต่างจากภาพศิลปะภิกษุสันดานกา ภาพถ่ายศิลปะภิกษุแต่งหน้า หรือพระพุทธรูปอุลตร้าแมน

 

เพราะฉะนั้นผู้เขียนขอลงดื้อๆ และขอสรุปสั้นๆ ว่า ‘ความจริง’ และ ‘การยอมรับความจริง’ และความจริงเหล่านี้แหละที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่จะปลดปล่อยพลังของวัฒนธรรมสร้างสรรค์ให้กับคนไทย ‘จงยอมรับความจริงเสียเถิดคนไทย’ กล้าออกจากถ้ำมาเจอแสงสว่างสักที แม้เริ่มต้นมันจะทำให้คุณแสบตาจนทนไม่ไหวก็ตาม นี่คือสิ่งที่อยากจะฝากไว้ให้พิจารณา

The post หลวงเจ้: ความจริงสู่งานศิลปะสร้างสรรค์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
อ่านปรากฏการณ์ดราม่าปีชง ‘ไม่มีนอกรีต-ไม่มีลักเพศ’ ในโลกความหลากหลาย https://thestandard.co/cursed-year-drama-phenomenon/ Fri, 12 Jan 2024 10:22:19 +0000 https://thestandard.co/?p=887065 ปีชง

ปรากฏการณ์ดราม่ากันอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับเรื่อง ‘ปีชง’ […]

The post อ่านปรากฏการณ์ดราม่าปีชง ‘ไม่มีนอกรีต-ไม่มีลักเพศ’ ในโลกความหลากหลาย appeared first on THE STANDARD.

]]>
ปีชง

ปรากฏการณ์ดราม่ากันอย่างหนักหน่วงเกี่ยวกับเรื่อง ‘ปีชง’ ฟาดกันไปก็ฟาดกันมาจนกลายเป็นไฟลามทุ่ง ขณะที่เรื่องหนึ่งยังไม่จบ แต่โผล่ไปอีกเรื่องหนึ่ง จากเรื่องความเชื่อ ลามไปถึงเรื่องเหยียดเพศ ผู้เขียนในฐานะผู้เฝ้ามองเห็นแล้วก็รู้สึก ‘อิหยังวะ’ กับทั้งคู่ ถ้าเป็นภาษาเหนือคงต้องใช้สำนวนที่ว่า ‘ส้มพอเกลือ’ ความหมายก็ตรงๆ เลย คือพอๆ กันทั้งคู่

 

คำถามคือแล้วเราควรจะมองเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างไรดี เราจะทำความเข้าใจกับดราม่านี้อย่างไรดี หรือแม้แต่พวกเราในฐานะพลเมืองโลก อยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย และภายใต้โลกโลกาภิวัตน์ เราหรือพวกเราควรจะวางตัวหรือจัดวางความคิดของพวกเราอย่างไรดีกับเรื่องศาสนา ความเชื่อ และเรื่องเพศ

 

ผู้เขียนอยากจะเสนอให้เราลองมองสิ่งเหล่านี้ไม่ว่าจะความเชื่อ ศาสนา เพศ ในมุมมองของความหลากหลาย ทั้งความหลากหลายในมิติสังคม (Plural Society) ความหลากหลายในมิติทางวัฒนธรรม (Multicultural Society) ซึ่งน่าจะทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ดราม่านี้ และเข้าใจสังคมในโลกปัจจุบันนี้มากยิ่งขึ้น

 

หลากเชื้อหลายชาติ หลากศาสนาหลายความเชื่อ

หลายสังคม รวมทั้งสังคมไทยของเราเองด้วย เป็นสังคมที่รวมกลุ่มคนไว้หลากเชื้อหลายชาติ และความหลากเชื้อหลายชาตินี้ก็นำมาซึ่งความหลากศาสนาหลายความเชื่อ หรือภาษานักวิชาการเรียกว่าสังคมไทยเป็นสังคมแบบ ‘พหุสังคม’ และ ‘สังคมพหุวัฒนธรรม’

 

ต้องบอกว่าแนวคิดทั้งสองเติบโตมาจากรากฐานแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกันของคนทุกคน เมื่อทุกคนเท่ากัน ความเชื่อและศาสนา รวมถึงเรื่องเพศสภาพ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ควรจะได้รับสิทธิเสรีภาพ และควรได้รับความเคารพอย่างเท่าเทียมกันด้วย

 

ฉะนั้นความสำคัญของการทำความเข้าใจดราม่า ‘ปีชง’ ด้วยมุมมองนี้จึงไม่ควรมีใครถูกมองว่า ‘โง่’ เพราะไม่ได้เชื่อแบบที่ฉันเชื่อ และเช่นเดียวกัน ก็ไม่ควรมีใครถูกเหยียดเพศสภาพว่า ‘ลักเพศ’ เพียงเพราะวิจารณ์สิ่งที่ฉันเชื่อ หรือไม่เป็นไปตามสิ่งที่ฉันเชื่อด้วยเช่นกัน อันนี้คือคีย์เวิร์ดที่สำคัญ

 

ไม่มีคำว่า ‘นอกรีต’

ย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ ‘ปีชงมีไว้สำหรับหลอกคนโง่’ หากเราแกะชุดความคิดที่อยู่ในคำพูดสั้นๆ คำนี้ คำถามสำคัญที่เราควรจะตั้งคำถามคือ อะไรคือความไม่โง่? แล้วเพราะอะไรสิ่งนั้นจึงถูกมองว่าไม่ใช่ความโง่?

 

กลับไปที่แนวคิดความหลากหลายอีกครั้ง สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย ทั้งศาสนาและความเชื่อ เราอยู่กับความหลากหลายเหล่านี้มานานตั้งแต่กำเนิดเกิดหน่วยสังคมที่เรียกว่า ‘สยาม-ไทย’ เรามีความเชื่อที่หลากหลายที่ผสมปนเปกันอยู่ และยังคงแสดงให้เราเห็นอยู่อย่างเป็นปกติในทุกวันนี้ เรามีความเชื่อพื้นบ้านที่ผสมผสานระหว่างผีและพุทธ เรามีความเชื่อในสังคมที่ผสมผสานจากความเชื่อของแต่ละกลุ่มคน และ ‘ปีชง’ ก็เป็นหนึ่งในความหลากหลายของความเชื่อนั้นๆ

 

ย้อนกลับไปอีกครั้ง ประโยคที่ว่า ‘ปีชงมีไว้สำหรับคนโง่’ นั้นหมายความว่าคุณกำลังพยายามยัดเยียดชุดความถูกและดีในกรอบคิดของผู้พูด แล้วใช้มันตัดสินคนอื่นอยู่ใช่หรือไม่? อันนี้คือคำถาม แล้วคำถามคือ เราเชื่อได้อย่างไรว่าสิ่งที่ตัวเองคิดว่า ‘ถูกและดี’ นั้นคือสิ่งที่ ‘ถูกและดี’ สำหรับทุกคน

 

ยิ่งมีคำวิจารณ์ที่ตามมาหลังจากนั้นด้วยการผลักคนอื่นที่มีความเชื่อต่างจากตนเองว่าเป็น ‘พวกนอกรีต’ อันนี้ยิ่งบานปลาย เพราะคำคำนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเมืองศาสนามานานมากตั้งแต่สมัยพุทธกาล หากไปอ่านพุทธประวัติหรือเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวกับศาสนา เราจะเจอคำพวกนี้อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะ ‘พวกนอกรีต’ ‘พวกเดียรถีย์’ หรือ ‘พวกลัทธิเทวทัต’

 

คำพวกนี้เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองเท่านั้น ที่จะใช้สถาปนาชุดความถูกต้องให้กับศาสนาที่ตัวเองมองว่า ‘ถูกและดี’ และใช้เพื่อกำจัดคนเห็นต่างให้ออกไปนอกพื้นที่ความเชื่อที่ตัวเองมองว่า ‘ถูกและดี’

 

เพราะฉะนั้นหากเราใช้มุมมองจากแนวคิดเรื่องความหลากหลายทั้งสังคมและวัฒนธรรม ใช้วิธีคิดแบบประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิและเสรีภาพของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จึงไม่ควรมีคำว่า ‘ถูกและดี’ หรือ ‘ฉลาดหรือโง่’ ที่มีแกนกลางอยู่ที่หลักคิดทางใดหลักคิดหนึ่ง แต่จะเป็น ‘ถูกและดี’ ที่มีแกนกลางอยู่ที่สิทธิและเสรีภาพในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อของทุกๆ คนอย่างเท่าเทียมกัน

 

ไม่มีคำว่า ‘ลักเพศ’

ในด้านความเชื่อ เราพิจารณากันไปแล้วว่าในโลกปัจจุบัน โลกแห่งการยอมรับความหลากหลาย เราควรจะจัดวางมุมมองหรือวิธีคิดของเราอย่างไร

 

ทีนี้กลับมาเรื่องเพศกันบ้าง

 

ความหลากหลายทางเพศก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของแนวคิดความหลากหลายในสังคม สังคมปัจจุบันเราต่างเรียกร้องหาความเท่าเทียมทางเพศ เราเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการเลือกที่จะกำหนดนิยามเพศของตัวเราเองโดยไม่ต้องให้ใครมากำหนด หรือแม้แต่ลักษณะกายภาพทางชีววิทยา หรือเครื่องเพศที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิดก็ไม่อาจจะมากำหนดนิยามเรื่องเพศของเราได้ นี่คือเสียงเรียกร้องของยุคสมัย นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

หากย้อนกลับไปที่คำว่า ‘พวกลักเพศ’ ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า ‘การทำหรือแต่งตัวปลอมแปลงให้ผิดไปจากเพศของตน เช่น ผู้ชายแต่งตัวเป็นผู้หญิง’ หรือถ้าพูดในภาษาที่เข้าใจกันทั่วไปก็หมายถึง ‘พวกผิดเพศ’

 

คำถามที่ควรจะตั้งคำถามต่อคำคำนี้ก็คือ อะไรคือเพศที่ถูกต้อง? เพศที่ถูกต้องใครคือคนกำหนด? ในโลกที่เราเรียกร้องหาความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ คำคำนี้ยังควรถูกใช้เพื่อเหยียดคนให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอีกหรือไม่?

 

ในทางศาสนาคำว่า ‘ลักเพศ’ ก็เป็นวาทกรรมที่ใช้กีดกันคนอื่นออกจากศาสนา หรือ กีดกันคนอื่นไม่ให้เข้าถึงหลักธรรมทางศาสนาเช่นกัน หากไปดูคำขานนาคก่อนบวช ‘ปุริโสสิ’ เป็นชายแท้หรือไม่ นี่ก็คือการกีดกันที่ชัดเจนที่สุด

 

ไม่เพียงเท่านั้น ในแง่ของอคติทางเพศในโลกศาสนาที่เข้าใจกันทั่วไปก็ยังมองว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศคือ ‘พวกมีกรรม’ ไม่สามารถเข้าถึงหรือบรรลุหลักธรรมอันเป็นแก่นธรรมของพุทธศาสนาได้ นี่ก็คืออคติทางเพศในทางศาสนา

 

เช่นเดียวกันกับคำว่า ‘นอกรีต’ คำว่า ‘ลักเพศ’ ก็สะท้อนอคติวิธีคิดและมุมมองของผู้พูดเช่นกัน คือการมีชุดความคิดเรื่องเพศที่ ‘ถูกและดี’ และคำว่า ‘ถูกและดี’ ในความหมายนี้ก็คือควรมีเพียงแค่ชายและหญิงเท่านั้น ใครแตกต่างไปจากข้อกำหนดที่มีแกนกลางคำนิยามความถูกต้องนี้เท่ากับผิดครรลอง ไม่ถูกต้อง ไม่สมควร

 

แต่สิ่งที่สำคัญจากทัศนอคติของคำว่า ‘ลักเพศ’ มันยังเป็นส่วนหนึ่งในการพยายามจะสถาปนาและรักษาชุดความถูกต้องทางเพศในวิธีคิดแบบเดิมไว้อยู่ และก็เช่นเดียวกันกับคำว่า ‘นอกรีต’ ก็กำลังพยายามสถาปนาชุดความถูกต้องบางอย่างอยู่เช่นกัน

 

ส้มพอเกลือ

ดังนั้นในกรณีดราม่าเรื่อง ‘ปีชง’ มีไว้หลอกคนโง่ และการถูกตอบกลับด้วยคำว่า ‘ลักเพศ’ จึงเป็นเรื่องเดียวกันที่อยู่คนละมุมมองอคติเพียงเท่านั้น ทั้งที่แกนของคำทั้ง 2 ไม่ว่าจะ ‘นอกรีต’ หรือ ‘ลักเพศ’ ก็คือการไม่ยอมรับความหลากหลายของสังคมที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายทางศาสนา ความหลากหลายทางความเชื่อ ความหลากหลายทางเพศ และความหลากหลายอื่นๆ อีกมากมายที่มีอยู่ และยังคงดำรงอยู่ในโลกปัจจุบัน

 

เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่ผู้เขียนและผู้เฝ้ามองดราม่าในครั้งนี้อยากจะเสนอให้พวกเราร่วมกันพิจารณาและอาจจะนำไปใช้ในการทำความเข้าใจสังคมของเราในโลกปัจจุบันให้มากขึ้นก็คือ การทำความเข้าใจความหลากหลายของสังคมในทุกๆ มิติ เคารพความหลากหลายของสังคมในทุกๆ มิติ เคารพสิทธิเสรีภาพในความหลากหลายด้วยความเท่าเทียม ไม่ว่าจะในมิติใดก็ตาม

 

ดังนั้นหากจะให้อธิบายดราม่าปีชงที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็คงต้องย้อนกลับไปที่สำนวนสุภาษิตล้านนาที่ได้พูดไว้ตั้งแต่ต้นเลยก็คือ ‘ส้มพอเกลือ’ พอกันทั้งคู่

The post อ่านปรากฏการณ์ดราม่าปีชง ‘ไม่มีนอกรีต-ไม่มีลักเพศ’ ในโลกความหลากหลาย appeared first on THE STANDARD.

]]>
ครูกายแก้ว: ว่าด้วย ‘ความอัปมงคล vs. ความมงคล’ ของเสรีภาพประชาธิปไตย? https://thestandard.co/the-auspiciousness-of-democratic-freedom/ Fri, 18 Aug 2023 14:00:22 +0000 https://thestandard.co/?p=830789 ครูกายแก้ว

เป็นที่ถกเถียงกันหลายแง่หลายมุมกับเรื่องราวของ ‘ครูกายแ […]

The post ครูกายแก้ว: ว่าด้วย ‘ความอัปมงคล vs. ความมงคล’ ของเสรีภาพประชาธิปไตย? appeared first on THE STANDARD.

]]>
ครูกายแก้ว

เป็นที่ถกเถียงกันหลายแง่หลายมุมกับเรื่องราวของ ‘ครูกายแก้ว’ ที่กำลังพูดถึงกันในสังคมตอนนี้ ไม่ว่าจะเรื่องความงมงาย ไม่งมงาย เรื่องไสยศาสตร์สายดำ เรื่องความเป็นมา เรื่องมีจริงหรือไม่มีจริง ฯลฯ 

 

ต่างคนต่างมีมุมมองความคิดความเห็นที่แตกต่างกันไปตามทัศนะของแต่ละคน ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนต้องบอกก่อนเลยว่า ในแต่ละความเห็นไม่ใช่เรื่องผิดหรือเรื่องถูกต้องอย่างใด แต่ความเห็นเหล่านั้นคือเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็นของแต่ละคน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ 

 

ผู้เขียนอยากจะขอแสดงความเห็นส่วนตัวต่อความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในสังคมเกี่ยวกับกรณีครูกายแก้วดูบ้าง

 

อย่างแรกต้องบอกก่อนเลยว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายในมิติทางความเชื่อ ศาสนาบ้านเราก็มีการผสมผสานกับความเชื่อต่างๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะผสมกับผี กับพราหมณ์ กับความเชื่อต่างๆ อะไรต่อมิอะไรมากมาย พูดง่ายๆ คือคนไทยเราไหว้ทุกอย่าง

 

พุทธหรือผี ดีหรือชั่ว?

 

คำถามนี้น่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นที่เยอะที่สุดบนโลกออนไลน์ เอาเข้าจริงๆ ทัศนคตินี้เกิดขึ้นจากชุดความคิดที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากอิทธิพลของพุทธศาสนา และอิทธิพลนี้ถูกตอกย้ำโดยอำนาจรัฐที่เป็นผู้กำหนดความคิดของเราให้เดินไปในทิศทางตามที่รัฐต้องการ ชุดความคิดของเราจึงมีศูนย์กลางความถูกต้องและความดีงาม บนพื้นฐานวิธีคิดทางพุทธศาสนาที่รัฐกำหนดเป็นหลัก

 

ทั้งที่เอาจริงๆ แล้วหากเรามองโดยการโยนกรอบความคิดถูก-ผิดทางพุทธศาสนาแบบรัฐทิ้งไป ครูกายแก้วก็เป็นเพียงอีกหนึ่งชุดความเชื่อหรือความศรัทธาหนึ่งในสังคมไทย ที่มีความหลากหลายทางความคิดและความเชื่อเพียงเท่านั้น 

 

ไม่ได้ต่างจากความเชื่อในวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เราต่างไหว้ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่มีลักษณะผิดธรรมชาติหรือมีอะไรที่พิเศษไปกว่าธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้น เช่น วัวที่เกิดมามีสองหัว สัตว์ที่มีผิวเผือกต่างๆ ต้นไม้ใบหญ้าที่มีลักษณะพิเศษ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือความเชื่อดั้งเดิมที่มาอยู่ก่อนแล้ว และยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

 

หลายคนวิพากษ์วิจารณ์รูปลักษณ์ของรูปปั้นครูกายแก้วว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว เป็นเหมือนปีศาจ เป็นสิ่งที่ชั่วร้าย สิ่งเหล่านี้แหละคือความคิดที่ถูกสร้างขึ้นจากศูนย์กลางความคิด ความดี ความงาม ความประเสริฐ แบบศาสนา ไม่ว่าจะพุทธศาสนาหรือศาสนาใดก็ตามที่รัฐกำหนดว่า ‘มันคือสิ่งดี’

 

เพราะฉะนั้นต้องย้ำว่า สิ่งนี้ไม่มีผิด ไม่มีถูก ไม่มีดี ไม่มีชั่ว ผิด-ถูก ดี-ชั่ว เกิดขึ้นจากกรอบความคิดที่มีศูนย์กลางความดีอยู่ก่อนแล้ว

 

ศรัทธาหรืองมงาย?

 

คำถามนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคำถามใหญ่ที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์เหมือนกัน ซึ่ง ‘ความงมงาย’ หรือ ‘ไม่งมงาย’ ก็นับได้ว่าเป็นอีกชุดความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นจากศูนย์กลางความคิด ความไม่งมงายของแต่ละคนเช่นกัน ซึ่งเป็นศูนย์กลางความคิดที่มาจากองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่ชุดความคิดแบบพุทธศาสนาดังที่กล่าวไปข้างต้น

 

แน่นอนว่าวิทยาศาสตร์ถือเป็นอีกองค์ความรู้หนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิดความอ่านของคนในสังคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น เด็กรุ่นใหม่ พวกเรามักจะมองปรากฏการณ์ทางความเชื่อทางศาสนาว่าเป็นเรื่องงมงาย ไม่ใช่เรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลที่สามารถพิสูจน์ได้โดยหลักการทางวิทยาศาสตร์ และมีอีกหลายต่อหลายคนเลือกที่จะปฏิเสธชุดความเชื่อเหล่านี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนา เรื่องผี หรือเรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับเรื่องความเชื่อทางศาสนา ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอีกเช่นกัน มันเป็นเสรีภาพหนึ่งที่เราสามารถเลือกที่จะ ‘ไม่เชื่อ’ ได้

 

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เมื่อเราเลือกที่จะไม่เชื่อหรือไม่ศรัทธาชุดความคิดใดความคิดหนึ่ง นั่นเท่ากับว่าเราก็กำลังเลือกที่จะเชื่อและศรัทธาอีกชุดความคิดหนึ่งเช่นกัน พูดง่ายๆ คือ เมื่อคุณไม่ศรัทธาความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับศาสนา คุณก็กำลังศรัทธาความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์อยู่เช่นกัน 

 

ดังนั้นเราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเรามองเขาว่า ‘งมงาย’ ก็เท่ากับว่าเรามีศูนย์กลางความคิดที่ไม่งมงายอยู่ไม่ต่างกัน

 

มิติที่มากกว่าแค่ ‘งมงาย’

 

หลายครั้งที่ผมได้แสดงความเห็นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่ออื่นๆ ว่า ‘งมงาย’ ซึ่งผมมักจะพูดอยู่เสมอๆ ว่า หากมองปรากฏการณ์ความเชื่อเป็นเพียงแค่เรื่องงมงาย เราจะไม่เห็นปัญหาอะไรอีกมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ความเชื่อในปรากฏการณ์นั้นๆ 

 

ต้องบอกเลยว่าภายใต้ความเชื่อหรือศรัทธาต่อปรากฏการณ์ทางศาสนาหรือลัทธิความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง มันคือภาพสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างบางอย่างของสังคมอยู่ ยกตัวอย่างให้เห็นได้ชัดเช่น 

 

  1. กรณีเรื่องโชคลางหรือเงินทอง มันก็สะท้อนให้เห็นว่า คนในสังคมกำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และรัฐในฐานะผู้ที่จะต้องสร้างความกินดีอยู่ดีให้ประชาชน กลับไม่สามารถสร้างความมั่นคงในด้านนี้ให้กับผู้คนได้ นี่คือปัญหาศักยภาพของรัฐในทางเศรษฐกิจ 
  2. ปัญหาในแง่ของความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมของคน เช่น เคสนักศึกษาครุศาสตร์คนหนึ่ง ผู้เขียนเคยคุยกับเขาว่า ทำไมถึงวิ่งไล่บนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์หลายที่ แล้วเขาบนบานเรื่องอะไร คำตอบที่ได้มาคือ เขาบอกว่าเขาสอบบรรจุข้าราชการครูติดอยู่ลำดับต้นๆ แต่เขากลับไม่ถูกเรียกเข้ารับราชการสักที เพราะเขาเชื่อว่าเขาเป็นเพียงแค่ลูกตาสีตาสาคนหนึ่ง ไม่ได้ร่ำรวย มีเงินมีทอง หรือมีเส้นมีสายเหมือนใครๆ เขาจึงเลือกที่จะมาบนบานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เขาถูกเรียกตัว นี่ก็คือปัญหาหนึ่งที่มันถูกซุกซ่อนอยู่ภายใต้ความเชื่อที่หลายคนมองว่างมงาย

 

ดังนั้นมากกว่าเพียงแค่มองว่า ‘งมงาย’ แล้วตัดจบบทสนทนา เราควรมองปรากฏการณ์ทางความเชื่อเหล่านี้ในมิติที่ลึกขึ้นหรือไม่?

 

ไม่ใช่ความอัปมงคล แต่คือมงคลแห่งประชาธิปไตย

 

นอกจากดี-ชั่ว เท็จ-จริง ศรัทธา-งมงาย แล้ว ยังมีความเห็นอีกหลายความเห็นที่แสดงออกมาในทำนองที่ว่า ‘ครูกายแก้วเป็นความอัปมงคล’ ตัวรูปเคารพก็อัปมงคล ตัวคนบูชาก็บูชาสิ่งอัปมงคล และนี่คือความอัปมงคลของยุคสมัย โดยมักจะกล่าวถึงท่อนหนึ่งของ เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ที่ว่า ‘ผีป่าจะวิ่งเข้ามาสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ป่า’ และหลายคนก็โยงเอาเนื้อความท่อนนี้มาเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

แต่ในมุมมองของผู้เขียน ผมกำลังคิดว่าถ้าเราจะมองครูกายแก้วในมุมมองใหม่ว่า นี่ไม่ใช่สิ่งอัปมงคล แต่นี่คือมงคลแห่งประชาธิปไตยได้หรือไม่

 

เมื่อพูดแบบนี้ก็จะมีคำถามตามมาว่า ‘มันมงคลต่อประชาธิปไตยอย่างไร’ คำตอบของผมที่อยากจะชวนขบคิดมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ คือ

 

  1. เราจะมองว่าการเชื่อหรือการศรัทธาต่อครูกายแก้วคือภาพความงดงามของเสรีภาพทางความเชื่อ ซึ่งเป็นเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยได้หรือไม่ ปรากฏการณ์ครูกายแก้วกำลังบอกพวกเราว่า เราทุกคนกำลังมีเสรีภาพในทางศาสนาที่เบ่งบานมากขึ้น
  2. เราจะมองได้หรือไม่ว่า ครูกายแก้วกำลัง Decentralize ชุดความเชื่อที่ถูกรวมศูนย์อยู่ที่ศาสนาของรัฐ ศาสนาที่แท้จริง ศาสนาที่บังคับให้ผู้คนเชื่อฟังและปฏิบัติตาม ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้มีแค่ครูกายแก้วเท่านั้นที่เราจะมองแบบนี้ได้ แต่ความเชื่อหรือลัทธิพิธีอื่นๆ ก็กำลังทำหน้าที่นี้อยู่เหมือนกัน 
  3. เราจะมองได้หรือไม่ว่า ครูกายแก้วทำให้เกิดการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งมันคือความสวยงามตามหลักการประชาธิปไตย เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ครูกายแก้วหรือผู้ศรัทธาครูกายแก้วได้ และผู้ที่เชื่อหรือศรัทธาก็มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นต่อความเชื่อและศรัทธาของเขา ครูกายแก้วจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกที่สุดหรือดีที่สุดที่เราแตะต้องหรือพูดถึงไม่ได้ เหมือนชุดความเชื่อที่ถูกกำหนดโดยรัฐ

 

จากข้อคิดเห็น 3 ข้อที่ผมได้ยกขึ้นมา พอจะทำให้เรามองครูกายแก้วว่า นี่คือความมงคลแห่งเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยได้หรือไม่

The post ครูกายแก้ว: ว่าด้วย ‘ความอัปมงคล vs. ความมงคล’ ของเสรีภาพประชาธิปไตย? appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘งานศพ’ กับการเมืองในยุคสมัยปัจจุบัน? https://thestandard.co/funeral-and-modern-politic/ Fri, 23 Jun 2023 04:00:10 +0000 https://thestandard.co/?p=806282

หากเราพูดถึงการหาเสียงของนักการเมือง แน่นอนว่าพื้นที่หน […]

The post ‘งานศพ’ กับการเมืองในยุคสมัยปัจจุบัน? appeared first on THE STANDARD.

]]>

หากเราพูดถึงการหาเสียงของนักการเมือง แน่นอนว่าพื้นที่หนึ่งที่ใครหลายคนอาจนึกถึงคือพื้นที่ในพิธีกรรมสำคัญของชีวิตผู้คน โดยเฉพาะ ‘งานศพ’ แต่เอ๊ะ ทำไมงานศพถึงมีบทบาทน้อยลง แล้วบทบาทของงานศพในฐานะพื้นที่หาเสียงลดน้อยจริงไหม วันนี้จะชวนกันมาตั้งข้อสังเกตกัน

 

หากเราพูดถึงงานศพ พิธีกรรมนี้ถือว่าเป็นพิธีกรรมที่สำคัญมากกับชีวิตของคนในสังคม ต้องบอกว่างานศพไม่ได้เป็นเพียงงานที่จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลหรือประกอบพิธีกรรมขึ้นมาเพื่อผู้ตายเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในฐานะ ‘พื้นที่แสดงสถานะ’ ของคนเป็นด้วย โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนในชนบท 

 

ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่างานศพไม่สำคัญกับวิถีชีวิตคนในเมือง 

 

หลายคนอาจมองว่ามันก็ไม่เห็นจะแตกต่างกันเลย หลายคนก็ตั้งคำถามว่า “มันก็งานศพคล้ายๆ กัน” แตกต่างกันอย่างไร แน่นอนว่าถ้าเรามองงานศพเป็นเพียงพิธีกรรมมันจะไม่แตกต่างกัน แต่หากมองให้ละเอียดมากขึ้นจะเห็นว่าในแง่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน ชุมชน กับพิธีกรรม มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างงานศพของคนในชุมชนเมืองกับคนในชุมชนชนบท

 

งานศพในชุมชนชนบทจะพบว่าปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน ชุมชน และพิธีกรรมมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูง ความสัมพันธ์เหล่านี้เกิดขึ้นจากความเกื้อกูลและความสัมพันธ์กันอย่างแนบชิดของคนในสังคมชนบท หากมีใครเสียชีวิตในชุมชน งานศพจะถูกจัดขึ้นที่บ้านของผู้เสียชีวิต และงานศพจะถือว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นภาระหน้าที่ของคนในชุมชนจะต้องช่วยเหลือกัน 

 

ปฏิสัมพันธ์ในแง่ของการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชนในพิธีกรรมงานศพมีในหลายรูปแบบ ทั้งการจัดพิธีกรรม การจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น กลุ่มแม่บ้านชุมชนจะมาช่วยกันเตรียมอาหารเลี้ยงแขกที่จะมาร่วมงาน กลุ่มเยาวชนหมู่บ้านจะมาร่วมกันตักน้ำ เสิร์ฟอาหารให้ผู้มาร่วมงาน จัดดอกไม้ประดับประดาในจุดต่างๆ ล้างถ้วยล้างจาน ผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะมาช่วยกันจัดเครื่องบูชาในพิธีกรรมทางศาสนา นิมนต์พระ เตรียมสังฆทาน เครื่องประกอบพิธีกรรมต่างๆ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการจัดเวรผลัดกันมาเฝ้าศพและเจ้าภาพในแต่ละวัน มีการตั้งวงไพ่ ไฮโล เพื่อคลายความโศกเศร้าเป็นกิจกรรมระหว่างเวลาด้วย

 

หรือแม้แต่กลุ่มญาติๆ ในชุมชนที่จะมาช่วยกันลิสต์รายชื่อญาติของผู้ตายที่มีเครือข่ายครอบคลุมไปไกลถึงต่างหมู่บ้านและต่างจังหวัด เพื่อทำบัตรเชิญร่วมงานศพ ซึ่งในจดหมายเชิญก็จะระบุว่า ผู้เสียชีวิตคือใคร ลูกหลานเป็นใคร ชื่ออะไรบ้าง ตลอดถึงวัน-เวลาในการจัดกิจกรรม-พิธีกรรมจนถึงวันฌาปนกิจ 

 

ดังนั้นงานศพนอกจากเป็นพิธีกรรมเพื่อไว้อาลัยให้กับผู้ตาย หรือเป็นพื้นที่แสดงสถานะของคนเป็น แต่ยังถือเป็นพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ที่สำคัญของคนในชุมชน เครือข่ายคนในชุมชน และญาติพี่น้องที่ค่อนข้างใหญ่ และด้วยความสำคัญของงานศพนี้ พื้นที่นี้จึงกลายมาเป็นพื้นที่ในทางการเมืองร่วมด้วย

 

การหาเสียงของนักการเมืองในพื้นที่ชนบทกับพี่น้องชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีลักษณะของการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน หรือการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด ไม่ได้เป็นเพียงลงพื้นที่แจกใบปลิวนโยบาย หรือจัดปราศรัยขนาดเล็กในช่วงเวลาใกล้เลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นงานศพจึงเป็นพื้นที่สำคัญในการเข้ามามีบทบาทในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวนักการเมืองกับชาวบ้านได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถทำให้นักการเมืองเข้าถึงพี่น้องประชาชนได้จำนวนมากและหลายกลุ่มคน 

 

นักการเมืองท้องถิ่น หรือหากจะพูดเจาะจงลงไปอย่าง ส.ส. ในพื้นที่ ก็จะเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ในงานศพเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ไม่ว่าจะเข้าไปเป็นประธานในพิธีในกิจกรรมต่างๆ เช่น เป็นประธานในพิธีสวดในแต่ละคืน เป็นประธานในการวางผ้าไตรบังสุกุล เป็นประธานในการประชุมเพลิงหรือฌาปนกิจ หรือเข้าร่วมกิจกรรมกับประชาชนอย่างใกล้ชิด เช่น ไปร่วมเตรียมอาหารกับกลุ่มแม่บ้าน นั่งพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ขณะเตรียมเครื่องประกอบพิธีกรรม หรือให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น การร่วมเป็นเจ้าภาพน้ำแข็งในงาน การสนับสนุนรถเครื่องเสียงในงาน รวมถึงเต็นท์ที่ใช้รับแขกที่จะมาร่วมงานจำนวนมาก

 

การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับชาวบ้านในพื้นที่ในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นเพียงความต้องการของนักการเมืองเพื่อผลประโยชน์ในการหาเสียงเท่านั้น แต่ยังเป็นความต้องการของชาวบ้านที่ต้องการให้ ส.ส. หรือนักการเมืองในพื้นที่มาร่วมกิจกรรมและพิธีกรรมในงานศพด้วย 

 

ทั้งนี้ ชาวบ้านยังถือว่าการมาร่วมกิจกรรมของ ส.ส. หรือนักการเมืองเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมไว้อาลัยให้กับผู้ตาย เป็นเกียรติให้กับคนเป็น รวมถึงยังสร้างความรู้สึกว่าผู้แทนฯ หรือ ส.ส. คนนี้ยังเห็นความสำคัญและไม่ได้ละทิ้งประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นหากนักการเมืองคนไหนหายหน้าหายตาไป หรือไม่ได้เข้าไปร่วมกิจกรรมงานศพ ชาวบ้านก็มักจะบ่นกันในทำนองว่า “บ้านศพบ้านซากบ่หันหน้าหันตา จะมาก็ตอนใกล้เลือกตั้ง” 

 

เสียงสะท้อนเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความต้องการของประชาชนในพื้นที่กับบทบาทหน้าที่ของนักการเมืองหรือผู้แทนฯ ในพื้นที่ด้วยเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม ในบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปตามพลวัตทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อาจทำให้ ‘งานศพ’ ในมิติชาวบ้านถูกลดบทบาทลงไป แน่นอนว่าบทบาทนี้อาจไม่ถึงขั้นหายไปเลยเสียทีเดียว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของงานศพถูกลดทอนความสำคัญไปจริงๆ 

 

ในแง่ของระบบเครือญาติ ความสัมพันธ์ในลักษณะนี้มีมิติที่แคบลง จากเดิมที่มีปฏิสัมพันธ์กันในระดับกว้าง กลายเป็นเครือข่ายญาติพี่น้องที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น งานศพจากที่เคยเป็นงานรวมญาติมิตรในวงกว้าง กลับลดเหลือเพียงญาติพี่น้องที่สนิทชิดเชื้อกันจริงๆ เท่านั้น การเปลี่ยนแปลงนี้อาจเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของคนในรุ่นลูกหลาน สายสัมพันธ์จึงเริ่มแยกขาดกันออกไป และงานศพเริ่มกลายเป็นงานที่เป็นปัจเจกมากขึ้น

 

ในแง่ปฏิสัมพันธ์ของเครือข่ายในชุมชนก็ถูกลดทอนลง อาจด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ผู้คนมีทุนทรัพย์ในการจัดงานมากขึ้น จึงทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างงานศพกับชาวบ้านลดน้อยลงไป จากเดิมที่เคยเป็นงานที่ต้องใช้เครือข่ายในชุมชนช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเรื่องของการเตรียมเครื่องประกอบพิธี การเตรียมอาหารเลี้ยงแขก การจัดดอกไม้ กลายมาเป็นการจ้างกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานศพมาจัดการแทนการเกื้อกูลกันในระบบความสัมพันธ์เดิมในชุมชน

 

ในแง่ของวิธีคิดทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป คนในยุคปัจจุบันมองเห็นคุณค่าทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองมากขึ้น การเมืองในแง่การเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านของนักการเมืองในท้องถิ่นในรูปแบบเดิมจึงอาจมีความสำคัญที่ลดน้อยลงไปในมุมมองของคนรุ่นหลัง เช่น การลงพื้นที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านอาจไม่ได้มีผลในทางการเมืองมากเท่ากับสำนึกทางการเมืองของในรุ่นปัจจุบัน รวมถึงคนรุ่นใหม่อาจเห็นคุณค่าของการลงพื้นที่ในแบบเดิมๆ ของนักการเมืองในท้องถิ่นน้อยลง

 

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้ก็ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองในพื้นที่ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องกับชาวบ้านหรือในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น หรือก็ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ทุกคนจะไม่เห็นคุณค่าของการลงพื้นที่ของนักการเมืองไปเสียทุกคน คำอธิบายนี้เพียงจะชี้ให้เห็นว่าบทบาทการทำงานเชิงพื้นที่แบบเดิมอาจมีคุณค่าน้อยลงไปตามพลวัตเท่านั้น

 

ดังนั้นจากเนื้อหาที่ได้อธิบายไปจึงพอจะสรุปได้ว่า บทบาทของงานศพในฐานะเป็นพื้นที่ทางการเมืองอาจลดน้อยลงในสังคมปัจจุบัน จากพลวัตทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง และอาจทำให้การลงพื้นที่ของนักการเมืองท้องถิ่นในรูปแบบเดิมมีผลในทางการเมืองลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายนี้ก็ไม่ได้หมายความว่านักการเมืองท้องถิ่นควรลดบทบาทการหาเสียงในพื้นที่ลงนะครับ เพียงต้องการชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเผื่อจะเป็นประโยชน์ในการปรับตัว และก็ยังขอยืนยันว่าการมีปฏิสัมพันธ์ การลงพื้นที่ไปพบปะประชาชน แม้บทบาทของพิธีกรรมจะมีผลทางการเมืองน้อยลง แต่การลงไปพบปะประชาชนในพื้นที่ รับฟังปัญหาของคนในพื้นที่ ก็ยังคงมีความสำคัญไม่น้อยลงไปเลย

The post ‘งานศพ’ กับการเมืองในยุคสมัยปัจจุบัน? appeared first on THE STANDARD.

]]>
เลือกตั้ง 2566 : ศาสนาอยู่ตรงไหนในนโยบายพรรคการเมือง https://thestandard.co/religion-political-party-policy/ Fri, 07 Apr 2023 11:47:57 +0000 https://thestandard.co/?p=774239 ศาสนา นโยบายพรรคการเมือง

กำลังคึกคักกันเลยทีเดียวในแวดวงการเมืองกับโค้งสุดท้ายก่ […]

The post เลือกตั้ง 2566 : ศาสนาอยู่ตรงไหนในนโยบายพรรคการเมือง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ศาสนา นโยบายพรรคการเมือง

กำลังคึกคักกันเลยทีเดียวในแวดวงการเมืองกับโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่และครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สิบวัน

 

ทุกพรรคการเมืองต่างเดินสายเปิดเวทีปราศรัยประชันขันแข่งเสนอนโยบาย เสนอทางเลือก ทางออกในการแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ให้กับประชาชน เวียนกันไปทุกจังหวัดทั่วประเทศอย่างครึกครื้น

 

พวกเราในฐานะประชาชนต่างก็รู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นความเคลื่อนไหวเหล่านี้ และแน่นอนคงปฏิเสธไม่ได้ที่จะรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งในฐานะผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่ทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญ 

 

​นโยบายจำนวนมากที่พรรคการเมืองต่างนำเสนอออกมาให้กับประชาชนได้พิจารณานั้น ต่างก็มีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูประบบการศึกษา การกระจายอำนาจ รวมถึงการสร้างรัฐสวัสดิการให้กับประชาชน 

 

แต่เรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนสนใจ แต่รู้สึกว่ายังไม่ค่อยเห็นพรรคไหนกล่าวถึง หรือแม้กระทั่งจากพรรคการเมืองที่เราเห็นว่ามีแนวคิดที่ค่อนข้างจะก้าวหน้าก็ยังไม่เห็นข้อเสนอในเรื่องนี้เช่นกัน คือ ‘นโยบายด้านศาสนา’ ทั้งที่เรื่องนี้สำคัญและมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิต วิธีคิด รวมถึงอาจจะเป็นข้อจำกัดที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายของพรรคการเมืองในด้านต่างๆ ด้วย รวมถึงเป็นข้อกำกับ และจำกัดสิทธิในการทำมาหากินของประชาชนด้วย

 

​ยกตัวอย่างล่าสุดที่เกิดขึ้นคือการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เรื่อง หุ่นพยนต์ ภาพยนตร์ของ ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ผู้กำกับชื่อดังผู้สร้างตำนานภาพยนตร์สยองขวัญของไทยหลายเรื่อง ฉากสำคัญในภาพยนตร์หลายฉากถูกตัดออกด้วยเหตุผลที่เกี่ยวพันกับเรื่องทางศาสนา เช่น ฉากเณรต่อยกันในผ้าเหลืองและใช้คำหยาบคาย ฉากเณรกอดผู้หญิง ฉากท่องศีลข้อ 2 ขณะที่กำลังฆ่าคนที่ขโมยของ และหลายต่อหลายฉากมีภาพพระสงฆ์ สามเณรที่ไม่โกนคิ้ว โดยกองเซ็นเซอร์ให้เหตุผลว่าฉากต่างๆ เหล่านี้ ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี’ ของบ้านเมือง จึงพิจารณาให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ในเรต ฉ20- หรือห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชม และต้องมีการตรวจบัตรประชาชนสำหรับผู้ที่จะเข้าชมหน้าโรงภาพยนตร์ด้วย

 

แน่นอนหลายคนอาจจะมองว่าปัญหาหลักอยู่ที่กองเซ็นเซอร์ และอาจจะคิดว่าหากเราไม่มีกองเซ็นเซอร์ก็จะแก้ปัญหาเหล่านี้ไปได้ แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้มีแค่กองเซ็นเซอร์เท่านั้น เรายังมีหน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้น โดยมีพื้นฐานสำนึกผิด-ชอบ ชั่ว-ดี จากฐานคิดที่ได้รับอิทธิพลจากวิธีคิดทางศาสนา และแน่นอนว่าหน่วยงานเหล่านี้ต่างมีผลกระทบต่อการกำกับและจำกัดสิทธิในการทำมาหากินของประชาชน ทำให้ประชาชนและประเทศชาติเสียโอกาสในการสร้างรายได้ในหลายช่องทาง

 

​เรื่องบ่อนเสรีและเรื่องสุราเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกกำหนดและจำกัดโอกาสการสร้างรายได้จากวิธีคิดทางศาสนา นโยบายบ่อนเสรีมีให้เราเห็นหลายต่อหลายรัฐบาลตั้งแต่ปี 2546 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เกิดแนวคิดที่จะเปิดสถานประกอบการท่องเที่ยวครบวงจร (Entertainment Complex) หรือในปี 2551 สมัยนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ก็ประกาศว่าหากอยู่ครบ 4 ปีรับรองคนไทยได้เห็นบ่อนเสรีแน่ หรือในสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2554 ก็มีการเสนอแนวคิดบ่อนเสรีเช่นกัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ จัดเก็บรายได้จากคาสิโนถูกกฎหมายเข้ารัฐ สร้างงานและรายได้ให้กับประชาชน รวมถึงเพื่อป้องกันการลักลอบเปิดคาสิโนผิดกฎหมาย ซึ่งเราก็เห็นข่าวเรื่องบ่อนเถื่อนกันอยู่ประจำ

 

​แต่ทั้งนี้แนวคิดเหล่านี้ก็ถูกคัดค้านและตีตกมาโดยตลอดด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งมองว่าจะทำให้คนไทยเสพติดการพนันเพิ่มมากขึ้น หรือเป็นการสร้างแหล่งซ่องสุมอบายมุขและยาเสพติด และเหตุผลสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งเลยคือมองว่า ‘ขัดต่อหลักปฏิบัติของศาสนาและศีลธรรมทางศาสนา’

 

ดังกรณีของ จำลอง ศรีเมือง นักการเมืองและแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาให้สัมภาษณ์ในรายการทีวีช่อง ASTV ว่า “นโยบายบ่อนเสรีได้ไม่คุ้มเสีย เพราะการพนันเป็นอบายมุข เป็นหนทางแห่งความพินาศ และทุกศาสนาต่อต้านเรื่องนี้” นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้รัฐเสียโอกาส

 

เรื่องสุราก็ถูกกำกับและจำกัดด้วยหลักการทางศีลธรรมทางศาสนาเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องการจำหน่ายและการโฆษณา เช่น การกำหนดวันและเวลาจำหน่าย ห้ามขายในวันหยุดสำคัญทางศาสนา หรือขายสุราได้เพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งตามที่รัฐกำหนดเท่านั้น การกำหนดการโฆษณาหรือเชิญชวนให้คนดื่มสุรา เช่น ห้ามโฆษณาภาพที่มีคำเชิญชวนให้มีการบริโภคสุรา ห้ามแสดงชื่อหรือเครื่องหมายสุราพร้อมกับการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้คนอื่นอยากดื่มสุรา เป็นต้น ซึ่งหากใครฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกและปรับเป็นเงินสูงกว่า 500,000 บาท แม้ในภาคประชาชนจะมีการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายการคุมควบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป แต่ก็ไม่สามารถผลักดันให้สำเร็จได้

 

การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ การต่อต้านการเปิดบ่อนเสรี การกำหนดและจำกัดการจำหน่าย และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเพียง 3 ตัวอย่างสำคัญเท่านั้นที่ทำให้เห็นว่า วิธีคิดที่มีฐานคิดจากศีลธรรมทางศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามามีอิทธิพลต่อโอกาสการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนและประเทศชาติ ปิดกั้นช่องทางการทำมาหากินของประชาชน

 

แต่สิ่งที่เราเห็นจากนโยบายของหลายๆ พรรคการเมือง กลับพบว่ายังไม่เห็นพรรคการเมืองใดที่มีนโยบายพุ่งตรงไปที่ตัวของศาสนาเลย ทั้งที่ถือว่าเป็นแกนกลางสำคัญที่ทำให้ประเทศเสียโอกาส เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการจำกัดการทำมาหากินของประชาชน แม้กระทั่งพรรคการเมืองที่มีแนวคิดก้าวหน้า มีแนวคิดทลายโครงสร้างสังคมที่จะเป็นอุปสรรคต่ออนาคตและการเจริญเติบโตของประเทศ เช่น ประกาศยกเลิก-แก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 ที่เป็นโครงสร้างอำนาจที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กลับมองข้ามโครงสร้างปัญหาที่เกิดขึ้นจากวิธีคิดที่ได้รับอิทธิพลทางศาสนาและตัวองค์กรทางศาสนาเอง

 

หรือเพราะหลักคิดทางศาสนาหรืออิทธิพลทางศาสนาอีกด้วยหรือไม่ ที่ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคการเมือง แม้แต่พรรคที่เน้นย้ำเรื่องการทลายโครงสร้างกลับไม่สามารถ (กล้าพอ) ที่จะออกนโยบายในการกำกับหรือจัดการกับอิทธิพลทางศาสนาโดยตรง หรือเพราะนโยบายที่จะพุ่งตรงไปที่หลักการหรือองค์กรทางศาสนาสุ่มเสี่ยงต่อความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมืองหรือไม่ จึงทำให้ไม่มีใครกล้าพอที่จะเสนอนโยบายเหล่านี้ออกมา

The post เลือกตั้ง 2566 : ศาสนาอยู่ตรงไหนในนโยบายพรรคการเมือง appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘ครูบา’ คืออะไร ทำไมต้องเป็นครูบา ไขคำตอบจากคนศึกษางานครูบา https://thestandard.co/kruba-sri-wichai-who-is/ Tue, 28 Feb 2023 01:42:33 +0000 https://thestandard.co/?p=756374 ครูบา

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได […]

The post ‘ครูบา’ คืออะไร ทำไมต้องเป็นครูบา ไขคำตอบจากคนศึกษางานครูบา appeared first on THE STANDARD.

]]>
ครูบา

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา และต่อเนื่องมาถึงตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวงการพระสงฆ์มีเรื่องราวเป็นข่าวเป็นคราวกันว่อนโลกโซเชียล โดยเฉพาะกระแส ‘ครูบา’ ต่างๆ ไม่ว่าจะครูบาทางอีสานที่เป็นที่ฮือฮา ไม่ว่าจะครูบาทางเชียงใหม่ เชียงราย ล้านนาที่เป็นข่าว ต้องยอมรับเลยว่าของเขาแรงจริงๆ จนถึงล่าสุดรู้สึกว่าจะยังมีข่าวออกมาอยู่เรื่อยๆ ใครหลายคนที่ได้เสพข่าว ทั้งที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปที่รับรู้เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ผ่านข่าว ผ่านโซเชียลมีเดีย ก็คงมีความรู้สึกอยากรู้เรื่องราว เบื้องลึกเบื้องหลังกันอยู่พอสมควร

 

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนได้เข้าไปสังเกตในการแสดงความคิดเห็นในข่าวหลายๆ สำนัก ทุกสำนักจะมีหลายความเห็นที่ถามซ้ำๆ เหมือนๆ กันหลายครั้งว่า ‘ครูบา’ คืออะไร ทำไมต้องเรียก ‘ครูบา’ เอาเป็นว่าวันนี้ผู้เขียนในฐานะที่ศึกษาเกี่ยวกับ ‘ครูบา’ และเป็นติ่งครูบามาตั้งแต่เด็กๆ จะขอเล่าที่ไปที่มาของคำว่าครูบาให้ทุกท่านได้เข้าใจกันว่า คำว่าครูบาหมายความว่าอะไร มีความเป็นมาอย่างไร แตกต่างกันอย่างไรระหว่างครูบาอีสาน และครูบาล้านนา แล้วทำไมพระวัยรุ่นในปัจจุบันถึงอยากเป็นครูบากันนัก วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยไปด้วยกัน

 

ครูบาคือใคร

 

คำว่า ‘ครูบา’ จริงๆ แล้วส่วนใหญ่มักจะได้ยินมาจากทางภาคเหนือเสียเป็นส่วนใหญ่ หลายคนอาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักคำว่า ‘ครูบา’ จาก ‘ครูบาศรีวิชัย’ ซึ่งท่านได้รับการยกย่องว่าเป็นตนบุญแห่งล้านนา หรือแม้แต่ในปัจจุบันก็อาจจะเคยได้ยินหรือรู้จักจากครูบาดังๆ หลายๆ รูปไม่ว่าจะ ครูบาบุญชุ่ม (ถ้ำหลวง) หรือ ครูบาอริยชาติ 

 

เริ่มต้นทางจากภาคเหนือก่อน จริงๆ คำว่า ‘ครูบา’ ของภาคเหนือหรือพื้นที่วัฒนธรรมล้านนา ในอดีตมีความหมายมาจากคำว่า ‘คุรุ’ บวกกับคำว่า ‘อุปัชฌาย์’ หมายถึงพระที่มีความรู้ไม่ว่าจะทั้งปริยัติและปฏิบัติ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นอุปัชฌายาจารย์ของเหล่าพระสงฆ์ สามเณร เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนจำนวนมาก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นพระที่เป็นเกจิอาจารย์ หรือผู้ที่มีวิทยาอาคมใดๆ พูดง่ายๆ คือ ครูบาไม่เท่ากับผู้วิเศษ เป็นเพียงพระสงฆ์ผู้มีความรู้ และเป็นที่นับถือของชาวบ้าน เขาจึงเรียกพระสงฆ์รูปนั้นด้วยความเคารพว่า ‘ครูบา’

 

ปราชญ์ในท้องถิ่นภาคเหนือ และนักวิชาการทางด้านล้านนาศึกษาหลายท่าน พยายามให้นิยามคำว่า ‘ครูบา’ ว่าต้องเป็นพระสงฆ์ผู้ที่มีอายุพรรษามากพอ ถึงจะเหมาะสมที่จะได้รับการเรียกขานด้วยคำว่า ‘ครูบา’ เช่น ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี หรือมีอายุพรรษาไม่ต่ำกว่า 20 พรรษา แต่อย่างไรก็ตามหากนับเอาตามหลักเกณฑ์นี้ 

 

นั่นหมายความว่าครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งล้านนาก็ไม่เข้าเกณฑ์ที่ควรจะได้รับการเรียกขานด้วยคำว่า ‘ครูบา’ ด้วยหรือไม่ เพราะหากนับดูตามอายุของท่านแล้ว ครูบาศรีวิชัยเกิดในปี 2421 และมรณภาพในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2481 นั่นเท่ากับว่าครูบาศรีวิชัยมีอายุเพียง 60 ปี และมีพรรษาในปีที่ท่านมรณภาพ 20 ปีพอดิบพอดี

 

แต่ด้วยความศรัทธาอย่างล้นหลามต่อตัวครูบาศรีวิชัยในปัจจุบัน ปราชญ์และนักวิชาการท้องถิ่นล้านนาในปัจจุบันกลุ่มหนึ่ง ก็พยายามจะตีความความหมายใหม่เพื่อให้ความชอบธรรมว่า ครูบาศรีวิชัยควรค่าแก่การได้รับการยกย่องด้วยคำว่า ‘ครูบา’ เพราะท่านถือว่าเป็นพระสงฆ์ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในแง่ปริยัติและปฏิบัติ สร้างประโยชน์ต่อพุทธศาสนาล้านนา และดินแดนล้านนา โดยเฉพาะเรื่องของการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามจำนวนมาก ครูบาศรีวิชัยจึงควรค่าแก่การได้รับการยกย่องด้วยคำนำหน้าชื่อว่า ‘ครูบา’ พูดง่ายๆ คือเกณฑ์นี้มีข้อยกเว้นไว้ให้เฉพาะครูบาศรีวิชัยเพียงรูปเดียวเท่านั้น 

 

ส่วนคำว่า ‘ครูบา’ ในภาคอีสานนั้น กลับมีความหมายที่แตกต่างไปจากคำว่า ‘ครูบา’ ในภาคเหนือ ในภาคอีสาน ‘ครูบา’ หมายถึงพระนวกะ หรือพระบวชใหม่ที่มีอายุพรรษาไม่เกิน 10 พรรษา และที่สำคัญไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพียงพระสงฆ์เท่านั้น คำว่า 

‘ครูบา’ ในภาคอีสานสามารถนำไปกับฆราวาสทั่วไปได้ด้วย หากบุคคลนั้นมีความรู้ความสามารถไม่ว่าจะในด้านใดด้านหนึ่งก็ตาม 

 

ทำไมต้องอยากเป็นครูบา 

 

ทีนี้คำถามที่ตามมาก็คือว่า แล้วทำไม ‘ครูบา’ ในปัจจุบัน ถึงมีอายุพรรษาไม่มาก และรู้สึกว่า ‘ครูบา’ ส่วนใหญ่นั้นดูจะมีลักษณะของการเป็นเกจิอาจารย์ เป็นผู้มีฌานสมาบัติ เป็นผู้มีวิทยาอาคม ไม่เพียงเท่านั้น แลดูจะมีจำนวนมากขึ้นทุกวันๆ ด้วย

 

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 2530 เกิดปรากฏการณ์สำคัญทางศาสนาในภาคเหนือ คือการเกิดขึ้นของกระแส ‘ครูบาคติใหม่’ หรือหลายคนที่รู้สึกไม่ค่อยชื่นชอบเท่าไรก็มักจะเรียกว่า ‘ครูบาอุ๊กแก๊ส’ ซึ่งหมายถึงการบ่มให้สุกก่อนเวลาอันสมควร 

 

ปรากฏการณ์นี้เห็นได้ชัดเลยคือ มีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งในภาคเหนือพยายามนำเสนอภาพลักษณ์ของตนเองให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัย ไม่ว่าจะการนุ่งห่มจีวรสีกรักแดง กรักน้ำตาล นุ่งห่มแบบรัดอก ห้อยลูกประคำ ใช้ตาลปัตรที่ทำจากใบลานบ้าง หรือหางนกยูงบ้าง นำเสนอเรื่องราวของตนเองให้ผูกโยงกับเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับครูบาศรีวิชัย เช่น ถือวัตรปฏิบัติแบบครูบาศรีวิชัย เป็นพระนักสร้าง นักพัฒนา ก่อสร้างวัดวาอารามใหญ่โตอลังการบ้าง เป็นครูบาศรีวิชัยกลับชาติมาเกิดบ้าง หรือมีลักษณะเป็นตนบุญเหมือนครูบาศรีวิชัยบ้าง ภาพลักษณ์เหล่านี้ถูกนำมาใช้ และกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่พระสงฆ์ในภาคเหนือ 

 

คำถามต่อมาก็คือว่า ‘ทำไม’ ถึงต้องเป็นครูบาศรีวิชัย เหตุผลสำคัญก็คือ ในช่วงเวลาทศวรรษเดียวกันนั้น ก็เกิดอีกกระแสหนึ่งในท้องถิ่นภาคเหนือ คือกระแสท้องถิ่นนิยม ล้านนานิยม มีความพยายามจะรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น สร้างวีรบุรุษท้องถิ่นในทางประวัติศาสตร์ขึ้น และบุคคลที่ได้รับการเชิญชูขึ้นเป็นวีรบุรุษท้องถิ่นก็คือ ‘ครูบาศรีวิชัย’ ครูบาศรีวิชัยจึงถูกยกย่องให้กลายมาเป็น ‘ตนบุญแห่งล้านนา’ เพียงผู้เดียว

 

ดังนั้นภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยจึงถูกนำเสนอ ถูกตอกย้ำ ถูกผลิตสร้าง ถูกผลิตซ้ำ จนกลายเป็นการรับรู้ เป็นความเข้าใจหลักของสังคม และของคนในภาคเหนือ ภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยจึงกลายมาเป็นความหมายของคำว่า ‘ครูบา’ กลายมาเป็นภาพลักษณ์ ‘ต้นแบบ’ ของการเป็นครูบา และกลายมาเป็น ‘มาตรฐาน’ ความถูกต้องของการเป็นครูบา

 

พูดง่ายๆ คือกระแสท้องถิ่นนิยม ล้านนานิยม ทำให้ครูบาศรีวิชัยกลายเป็นศูนย์กลางในทุกๆ อย่างของการเป็นครูบา หากเราพูดถึงคำว่า ‘ครูบา’ ภาพแรกที่จะผุดขึ้นมาในหัวก็คือภาพของครูบาศรีวิชัยนั่นเอง

 

เมื่อครูบาเท่ากับภาพลักษณ์เกจิ

 

คำถามสุดท้าย แล้วทำไมครูบาถึงกลายมาเป็นพระเกจิ ผู้มีวิทยาอาคม ซึ่งแตกต่างไปจากความหมายเดิม และทำไมใครๆ ถึงอยากเป็นครูบา

 

การที่คำว่า ‘ครูบา’ กลายมาเป็นภาพลักษณ์ของพระเกจิ ผู้มีวิทยาอาคม ก็เกิดขึ้นจากการผลิตสร้าง ผลิตซ้ำภาพลักษณ์ของครูบาศรีวิชัยให้กลายเป็นผู้วิเศษ เป็นตนบุญ เป็นผู้มากบารมี ตามเรื่องเล่าตำนานต่างๆ ที่เกี่ยวกับครูบาศรีวิชัยด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเรื่องเล่าที่ว่า ครูบาศรีวิชัยเดินกลางสายฝนแต่กลับไม่เปียกฝน ครูบาศรีวิชัยเดินเหนือจากพื้นดินได้ ครูบาศรีวิชัยเกิดในวันฝนตก ฟ้าร้อง แผ่นดินไหว เชื่อกันว่าเป็นลักษณะของการลงมาเกิดของผู้มีบุญ เรื่องเล่าเหล่านี้กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักในการนำเสนอภาพลักษณ์ให้กับครูบาศรีวิชัย จนทำให้ท่านกลายเป็นพระสงฆ์ที่ไม่ธรรมดา กลายมาเป็น ‘พระผู้วิเศษ’ ไปด้วย

 

และการเป็นเกจิอาจารย์ ผู้มีวิทยาอาคมนี้เอง เป็นที่มาของชื่อเสียง แหล่งทุนและปัจจัยจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะทั้งจากการบริจาค การทำบุญ หรือการค้าวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง ดังนั้นนี่คือคำตอบที่ว่าทำไมใครๆ ถึงอยากจะเป็นครูบา และทำไมถึงมีจำนวนมากขึ้นทุกวันๆ ไม่ว่าจะทั้งทางภาคเหนือหรือภาคอีสาน

 

ดังนั้นสิ่งสำคัญของการเป็นครูบาในปัจจุบัน จึงเริ่มต้นจากการสร้างภาพลักษณ์ สร้างเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ นำเสนอสิ่งเหล่านี้สื่อสารออกมาเพื่อให้ชาวพุทธหรือคนทั่วไปได้รับรู้ และเข้าใจกันว่า ‘นี่คือครูบา’ ‘นี่คือผู้ไร้มลทิน’ ‘นี่คือผู้ศักดิ์สิทธิ์’ และ ‘นี่คือผู้มีบารมี’ ที่ควรค่าแก่การเคารพบูชา 

 

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมด ผู้เขียนไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่า เราไม่ควรไปหลงเชื่อกราบไหว้บูชาครูบาหรือพระเกจิอาจารย์ หรือแม้แต่จะบอกว่าการจะเป็นครูบา การนำเสนอภาพลักษณ์การเป็นครูบาของพระสงฆ์ในปัจจุบันเป็นเรื่องไม่ดี อย่าเพิ่งเข้าใจผิดเช่นนั้น เพราะทั้งหมดคือสิทธิและเสรีภาพทางศาสนาของทุกคน ใครอยากไหว้อะไรไหว้ ใครอยากกราบอะไรกราบ หรือใครไม่อยากเชื่อก็ไม่ต้องเชื่อ และเราควรเคารพสิทธิและเสรีภาพทางความเชื่อของกันและกัน

 

อ้างอิง: 

  • ณัฐพงศ์ ดวงแก้ว, ครูบาคติใหม่ แต่งองค์ทรงเครื่องพุทธศาสนายุคกึ่งพุทธกาล, กรุงเทพฯ: มติชน

The post ‘ครูบา’ คืออะไร ทำไมต้องเป็นครูบา ไขคำตอบจากคนศึกษางานครูบา appeared first on THE STANDARD.

]]>
ครูบาบุญชุ่ม: ปรากฏการณ์ความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรม https://thestandard.co/kruba-boon-chum-2/ Tue, 02 Aug 2022 12:12:32 +0000 https://thestandard.co/?p=661896 ครูบาบุญชุ่ม

ครูบาบุญชุ่มกับเหตุการณ์หมูป่าถ้ำหลวง     หลา […]

The post ครูบาบุญชุ่ม: ปรากฏการณ์ความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรม appeared first on THE STANDARD.

]]>
ครูบาบุญชุ่ม

ครูบาบุญชุ่มกับเหตุการณ์หมูป่าถ้ำหลวง

 

ครูบาบุญชุ่ม

 

หลายคนอาจจะเพิ่งเคยรู้จักครูบาบุญชุ่ม ตอนเหตุการณ์ถ้ำหลวงดอยนางนอนหลายปีที่ผ่านมา ท่านคือบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่ญาติของเด็กที่ติดอยู่ในถ้ำกว่า 13 ชีวิตที่มีเชื้อสายไทใหญ่หรือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ เรียกร้องให้ท่านเข้ามาช่วยเหลือในวันที่ทุกคนแทบจะไร้ความหวังในการค้นหาเด็ก 

 

ในวันที่ท่านมาถึง ท่านกลับพูดในทำนองที่ว่าเด็กทุกคนยังปลอดภัย และอีก 2-3 วันจะพบเด็ก คำกล่าวนี้อาจจะมองได้ใน 2 มุมมอง คือ 

 

  1. หลายคนเชื่อและมองว่าเป็นการหยั่งรู้ด้วยญาณวิเศษของท่าน ผู้ที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นตนบุญผู้นำจิตวิญญาณของเขา หรือ 

 

  1. มองว่าเป็นการให้ความหวังและกำลังใจจากบุคคลที่ทุกคนเชื่อว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นตนบุญของพวกเขา

 

และจะด้วยความบังเอิญหรือไม่อย่างไร ภายใน 2-3 วันที่ท่านกล่าวไว้นั้นก็ปรากฏว่านักดำน้ำถ้ำที่เข้าไปช่วยกันค้นหาเด็ก ก็เจอเด็กติดอยู่ในถ้ำจริงๆ 

 

เป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวความเชื่อเล่าขานอะไรต่อมิอะไรถึงความศักดิ์สิทธิ์ของครูบาบุญชุ่ม หรือความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างตัวครูบาบุญชุ่มกับเจ้าแม่นางนอน ที่เชื่อกันว่าเคยมีความสัมพันธ์กันมาในอดีตชาติก็ตาม เรื่องราวเหล่านี้ถูกกล่าวขานออกไปหลายมิติ ทั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการอวดอุตริ ถูกล้อเลียน บ้างก็เชื่อว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์จริง แต่อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักของคนจำนวนมากขึ้น 

 

ครูบาบุญชุ่ม

 

ครูบาบุญชุ่มออกถ้ำ 3 ปี 3 เดือน 3 วัน

 

ล่าสุดเมื่อวานนี้ (1 สิงหาคม) ถือเป็นวันครบกำหนดออกถ้ำ หลังจากที่ท่านได้ปลีกวิเวกเข้าถ้ำกว่า 3 ปี 3 เดือน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ถ้ำเมืองแก็ด ประเทศเมียนมา มีผู้คนจำนวนกว่าหลายหมื่นคนเข้าร่วมสักการะบูชาครูบาบุญชุ่ม ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทใหญ่ ไทลื้อ กลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จำนวนมาก ที่อยู่แถบทางตอนเหนือของประเทศเมียนมา สปป.ลาว และคนภาคเหนือของไทย

 

หากจะกล่าวถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่มีปฏิบัติสัมพันธ์กับครูบาบุญชุ่ม ต้องกล่าวว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีปฏิบัติสัมพันธ์กับครูบาอย่างมาก ถือได้ว่าครูบาเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพวกเขาเลยก็ว่าได้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ารูปภาพของครูบาบุญชุ่มถือเป็นรูปที่มีอยู่ทุกบ้านของพวกเขาจริงๆ แต่คำถามคือว่า เหตุใดกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ซึ่งถูกมองว่าเป็น ‘ชายขอบของสังคม’ ถึงรักและเคารพศรัทธาตัวครูบาบุญชุ่มอย่างมาก

 

 

คำสอนที่โอบอุ้มความเป็นชายขอบ

 

หากเรามองในแง่คำสอนและการวัตรปฏิบัติของครูบาบุญชุ่ม เราอาจจะเห็นคำตอบ ซึ่งในคำสอนและวัตรปฏิบัติของครูบานั้นจะมีมิติของความหลากหลาย และการโอบอุ้มความเป็นชายขอบของคนกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอย่างดี 

 

ในกิจกรรมไม่ว่าจะกิจกรรมใดๆ ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ครูบาบุญชุ่มจะต้องทำคือนำผู้คนจำนวนมากเหล่านี้สวดมนต์ แผ่เมตตา คือสร้างกุศลสั่งสมบุญตามความเชื่อในทางศาสนา รวมถึงการเทศนาของท่านด้วย ซึ่งนอกจากจะเทศนาเป็นภาษาไทใหญ่ ภาษาเหนือ (คำเมืองล้านนา) ภาษาเมียนมาแล้ว ท่านยังสามารถเทศน์ได้ในหลายภาษาที่เป็นภาษาที่กลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยต่างๆ ใช้กันด้วย

 

โดยแกนหลักคำสอนของครูบาบุญชุ่มที่สะท้อนผ่านการเทศนาและการนำผู้คนเหล่านี้สั่งสมบุญคือ การขอให้ได้เกิดมาเป็น ‘คน’ คำว่า ‘คน’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการเกิดเป็นมนุษย์เพียงเท่านั้น แต่ ‘คน’ ในที่นี้มีนัยถึง ‘คน’ ที่เป็นกลุ่มประชากรหลัก ไม่ใช่คนชายขอบที่ถูกมองว่าเป็นคนกลุ่มน้อยด้อยค่า แต่หมายถึง ‘คน’ ที่จะได้รับการยอมรับด้วยทั้งสถานะทางสังคมเทียบเท่ากับคนกลุ่มหลักอื่นๆ 

 

 

วัตรปฏิบัติที่มีอัตลักษณ์ความหลากหลายทางความเชื่อของครูบาบุญชุ่ม

 

ในแง่วัตรปฏิบัติของครูบาบุญชุ่ม ก็มีลักษณะที่มีการโอบอุ้มความหลากหลายทางความเชื่อไว้ และนี่คืออัตลักษณ์สำคัญของตัวครูบาบุญชุ่ม ไม่ว่าจะเป็นวัตรปฏิบัติแบบพุทธศาสนาแบบล้านนาที่สะท้อนผ่านหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อการเป็น ‘ครูบา’ ในภาคเหนือ และการเป็น ‘ตนบุญ’ หรือ ‘ผู้มีบุญ’ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นฐานของคนในภูมิภาค รวมถึงการนำสถาปัตยกรรมที่มีกลิ่นอายของความเป็นล้านนา เข้าสู่กระบวนการบูรณะก่อสร้างพุทธสถานสำคัญๆ หลายแห่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ตอนบนของครูบาบุญชุ่ม

 

วัตรปฏิบัติแบบพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน ที่มีความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องผี พราหมณ์ พุทธ และการกลับชาติมาเกิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั่วไปอย่างการทำนายทายทักที่เกิดขึ้นจากความศักดิ์สิทธิ์จากญาณวิเศษ หรือความเชื่อเรื่องการกลับมาเกิด เช่น ความเชื่อของชาวบ้านในภาคเหนือที่เชื่อกันว่าท่านคือครูบาศรีวิชัยกลับชาติมาเกิด หรือในกลุ่มชาวไทใหญ่ ไทลื้อ ก็เชื่อกันว่าท่านเป็นพระสงฆ์รูปสำคัญในอดีตกลับชาติมาเกิด ความเชื่อเรื่องการกลับมาเกิดใหม่นี้ ไม่ได้เป็นเพียงความเชื่อของพุทธศาสนากระแสหลักเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อของคนในท้องถิ่นที่ผนวกกับความเชื่อเรื่อง 32 ขวัญ ที่เชื่อว่าสามารถวนเวียนกลับมาเกิดได้ใหม่ โดยไม่ได้อิงอยู่กับความเชื่อการเวียนว่ายตายเกิดแบบพุทธศาสนากระแสหลัก หรือแม้แต่ในประเทศภูฏานก็เชื่อว่าท่านคือลามะคนสำคัญในอดีตกลับชาติมาเกิด ผ่านการทำการเสี่ยงทาย ซึ่งก็เป็นความเชื่อในทางศาสนาแบบมหายาน

 

หรือแม้แต่วัตรปฏิบัติที่ท่านได้รับมาจากอิทธิพลพุทธศาสนามหายาน ไม่ว่าจะเป็นการนุ่งห่มที่ผสมผสานระหว่างพุทธแบบล้านนาและพุทธมหายานเข้าไปด้วยกัน และองค์ประกอบในการแต่งกายต่างๆ มหรสพในกิจกรรมต่างๆ หรือแม้แต่การทำมุทธา ซึ่งอิทธิพลเหล่านี้เกิดขึ้นภายหลังจากการเข้าไปเผยแผ่คำสอน และได้เข้าไปจำพรรษาที่ประเทศภูฏาน จนแม้แต่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ก็ยังเคารพศรัทธาในตัวของท่าน 

 

วัตรปฏิบัติเหล่านี้ของครูบาบุญชุ่ม สะท้อนภาพการโอบอุ้มอัตลักษณ์ความเชื่อที่หลากหลายเหล่านี้ไว้ และเป็นภาพสะท้อนความไม่มีถูกและไม่มีผิดที่ชัดเจน ทลายกรอบพุทธแบบใดแบบหนึ่งออกไปได้อย่างหมดจด จึงอาจจะกล่าวได้ว่าวัตรปฏิบัติเหล่านี้ของครูบาบุญชุ่ม คือการก้าวข้ามพรมแดนความเชื่อที่ถูกขีดหรือถูกกำหนดโดยรัฐ กลายเป็นพุทธศาสนาแบบสากลที่ได้รับการยอมรับจากหลากหลายกลุ่มคน หลากหลายชาติพันธุ์ และหลากหลายประเทศ

 

ครูบาบุญชุ่ม

 

อัตลักษณ์ความหลากหลายคือความสำคัญของปรากฏการณ์ครูบาบุญชุ่ม

 

กล่าวโดยสรุป หากจะตอบคำถามว่าเหตุใดคนจำนวนมากถึงเคารพศรัทธาครูบาบุญชุ่ม หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในแถบภาคเหนือของไทย ไทใหญ่ ไทลื้อในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และ สปป.ลาว รวมถึงชาวพุทธศาสนานิกายมหายานอย่างกลุ่มผู้ศรัทธาจากประเทศภูฏาน คำตอบคือไม่ใช่เพราะเขาเหล่านั้นโง่หลงเชื่อ แต่คำตอบคือภาพลักษณ์ ไม่ว่าจะทั้งวัตรปฏิบัติและคำสอนของครูบาบุญชุ่มนั้น ได้โอบอุ้มอัตลักษณ์ความหลากหลาย ทั้งวัตรปฏิบัติ ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม รวมถึงตัวคำสอนของครูบาบุญชุ่มก็มีลักษณะของการโอบอุ้มความเป็นชายขอบของผู้คน กลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยต่างๆ จึงทำให้ท่านกลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนจำนวนมากเหล่านี้ 

 

ดังนั้นการมองปรากฏการณ์ครูบาบุญชุ่ม ผู้เขียนจึงอยากจะบอกว่าไม่ควรมองเพียงมุมมองใดมุมมองหนึ่ง หรือมุมมองเดียว หากแต่ต้องใช้มุมมองที่กว้างในระดับภูมิภาคและความเป็นสากลของพุทธศาสนา รวมถึงการยอมรับความหลากหลายทางความเชื่อในการมองด้วย จึงจะทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ครูบาบุญชุ่มได้เป็นอย่างดี 

 

ทำความรู้จักครูบาบุญชุ่มอีกครั้งผ่านบทความนี้ https://thestandard.co/kruba-boon-chum/

 

The post ครูบาบุญชุ่ม: ปรากฏการณ์ความหลากหลายทางความเชื่อและวัฒนธรรม appeared first on THE STANDARD.

]]>
อีสาน: วัฒนธรรมที่ไม่เคยมีคำว่า ‘เก่า’ เมื่อความปังบังเกิด อัตลักษณ์อีสานจึงทรงพลัง https://thestandard.co/isan-culture/ Sat, 02 Jul 2022 03:09:00 +0000 https://thestandard.co/?p=649192 วัฒนธรรมอีสาน

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราจะเห็นปรากฏการณ์หนึ่งของวั […]

The post อีสาน: วัฒนธรรมที่ไม่เคยมีคำว่า ‘เก่า’ เมื่อความปังบังเกิด อัตลักษณ์อีสานจึงทรงพลัง appeared first on THE STANDARD.

]]>
วัฒนธรรมอีสาน

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราจะเห็นปรากฏการณ์หนึ่งของวัฒนธรรมอีสานที่น่าสนใจคือ การร่วมงานกันระหว่างเวทีหมอลำชื่อดังอย่าง ‘ระเบียบวาทะศิลป์’ กับเวทีนางงามน้องใหม่ที่นับวันยิ่งเริ่มได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นอย่างมิสแกรนด์ไทยแลนด์ และไม่เพียงแค่ระเบียบวาทะศิลป์เท่านั้น เวทีนางงานน้องใหม่นี้ยังได้ร่วมงานกับวงหมอลำระดับตำนานอย่าง ‘เสียงอิสาน’ สองวัฒนธรรมใหญ่นี้ (วัฒนธรรมหมอลำ กับ วัฒนธรรมการดูนางงาม) ได้ผนวกและประสานกันได้อย่างลงตัว ระเบิดความสนุกสนาน สร้างความตื่นเต้นและตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ติดตามทั้งสองวัฒนธรรมได้อย่างมหัศจรรย์ 

 

ทำไมอีสานจึง ‘ปัง’

หากย้อนกลับไปจะพบว่าเอาเข้าจริงแล้ว กระแสวัฒนธรรมอีสานถูกนำเสนอและได้รับการยอมรับอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะวงหมอลำ บทเพลงลูกทุ่งอีสานอินดี้ หรือแม้แต่ภาพยนตร์หลายเรื่องที่บอกเล่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนอีสาน อย่าง ไทบ้านเดอะซีรีส์, ส่ม ภัค เสี่ยน, ส้ม ปลา น้อย หรือแม้แต่ภาพยนตร์แนวสยองขวัญระดับโลกอย่าง ‘ร่างทรง’

 

ไม่เพียงเท่านั้นในสื่อประเภทเพลงลูกทุ่งที่ใส่กลิ่นอายความเป็นอีสานผสมผสานเข้าไปอย่างเพลง ‘วอนหลวงพ่อรวย’ ของ มนต์แคน แก่นคูน ก็ได้รับการตอบรับจากคนในสังคมไทยล้นหลาม ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบทเพลงที่มียอดผู้รับชมในยูทูบสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย มียอดผู้รับชมมากกว่า 300 ล้านกว่าวิวถึง 2 ปีซ้อน 

 

หรือแม้แต่วงนักร้องเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังอย่าง BNK48 ก็ได้นำวัฒนธรรมเพลงอีสานไปทำเพลงของวงตนเองเป็นเพลงเด่นประจำรุ่นอย่าง ‘โดดดิด่ง’ และยังสร้างภาพยนตร์บอกเล่าที่มาของการทำเพลง โดดดิด่ง นี้ด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมอีสานเริ่มเป็นที่ยอมรับ และเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันมากขึ้น

 

คำถามสำคัญของผู้เขียนก็คือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมอีสานนั้นทรงพลัง และกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชนที่ต้องกล่าวว่า ทุกวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เคยฟังเพลงแนวลูกทุ่งอีสาน หรือเพลงที่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมอีสานผสานอยู่ในนั้น 

 

ก่อนได้รับการยอมรับ คือการดูถูก

ในวิธีคิดหรือมุมมองของคนทั่วไปก่อนหน้านี้สักสิบกว่าปีที่ผ่านมา หรืออาจจะยังคงหลงเหลืออยู่บ้างในปัจจุบัน มีวิธีคิดและมุมมองต่อภาพลักษณ์คนอีสานในแง่ลบมาตลอด เช่น มองว่าเป็นดินแดนแห่งความแร้นแค้น ดินแดนแห่งความจน ภาพลักษณ์เหล่านี้ถูกนำเสนออยู่อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อในหลายๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะทั้งละครทีวี หรือแม้แต่บทเพลงลูกทุ่ง

 

ในละครทีวีถ้าเราสังเกตกันให้ดี คนอีสานจะถูกจัดให้อยู่ในบทบาทของการเป็นคนใช้ และหากมองในมุมมองประวัติศาสตร์ คนอีสานถือว่าเป็นคนใช้ในขนบละครไทยลำดับสอง คำถามคือลำดับแรกคือใคร หากใครเคยได้ยินประโยคสั้นๆ ที่พูดว่า “คุณนายขาแมลงสาบ” (เสียงเหน่อๆ) ใช่แล้ว คนใช้ในขนบละครไทยลำดับแรกคือคนบ้านนอกจากสุพรรณบุรี หลังจากนั้นเมื่อสุพรรณบุรีเจริญขึ้น และคนอีสานเริ่มไหลเข้ามาหางานในเมืองกรุงในช่วงทศวรรษ 2530 คนอีสานถึงได้รับบทการเป็นคนใช้ในละครต่อจากคนสุพรรณบุรี และเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปัจจุบัน ขนบคนใช้ก็เปลี่ยนจากคนอีสานกลายเป็นคนต่างด้าว (ในความหมายที่รัฐมักเรียก) ที่เข้ามาค้าแรงงานในเมืองไทย

 

ในบทเพลงลูกทุ่งที่พูดถึงดินแดนอีสานหรือคนอีสาน ผู้เขียนมองอย่างคร่าวๆ ว่ามี 3 ยุคด้วยกัน

 

ยุคแรกคือเป็นลักษณะบทเพลงที่เป็น ‘คนกรุงต่างถิ่นเข้าไปเชยชมความแปลกหรือความมหัศจรรย์ของคนอีกสาน’ เช่น เพลง ฮักสาวขอนแก่น หรือ หนุ่ม น.ป.ข. ที่บอกเล่าลักษณะคล้ายผู้ชายที่กำลังไปเชยชมผู้หญิงอีสานที่มีลักษณะพิเศษบางประการ เช่น สวยงาม ขยันทำมาหากิน 

 

ในยุคที่สองคือ ‘ยุคกอดกระเป๋าเข้ากรุง’ หากจะนึกเร็วๆ เราก็จะนึกถึงนักร้องสองคนที่โดดเด้งขึ้นมาในหัวเลยคือ ไมค์ ภิรมย์พร เพลง ละครชีวิต “…จากแดนอีสานบ้านเกิดเมืองนอน มาเล่นละครบทชีวิตหนัก…” หรือ ต่าย อรทัย เพลง ดอกหญ้าในป่าปูน “…หัวใจติดดิน สวมกางเกงยีนส์เก่าๆ ใส่เสื้อตัวร้อยเก้าๆ กอดกระเป๋าใบเดียวติดกาย กราบลาแม่พ่อหลังจากเรียนจบ ม.ปลาย ลาทุ่งดอกคูณไสว มาอาศัยชายคาป่าปูน…” รวมถึงอีกหลายต่อหลายบทเพลงที่บอกเล่าถึงชีวิตที่ต้องหนีจากความแร้นแค้นจากดินแดนอีสาน มาหาความฝันความหวังในเมืองกรุง บทเพลงนี้จะเติบโตและเป็นที่นิยมในช่วงทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา 

 

จนเข้าสู่ยุคที่สาม คือยุคปัจจุบัน บทเพลงอีสานกลายเป็นบทเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวคนอีสานอย่างแท้จริง เป็นบทเพลงที่ถือว่าเป็นการประกาศอัตลักษณ์ความเป็นอีสานออกมาอย่างไม่สนไม่แคร์ว่าใครจะฟังได้หรือฟังไม่ได้ ซึ่งคลื่นลูกที่สามของเพลงอีสานนี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีการทำเพลง ไม่ว่าจะทั้งห้องอัด หรือช่องทางการเผยแพร่ที่มีมากมายและหลากหลายขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องหอบกระเป๋ามาตามหาฝันในเมืองกรุงที่ต้องพึ่งพานายทุนอีกต่อไป

 

ไม่เคยเก่า เพราะเข้าได้กับทุกแนว

คำถามคือ แล้วอะไรทำให้เพลงอีสาน หรือวัฒนธรรมอีสานได้รับการยอมรับขนาดนี้ คำตอบที่เข้าใจง่ายที่สุดคือ วัฒนธรรมอีสานไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ เป็นวัฒนธรรมที่ไม่มีความตายตัว ไม่มีความตายตัวในที่นี้หมายถึงว่าไม่มีกรอบของความถูกต้องที่สุด ไม่มีนิยามความถูกผิดที่ตายตัว เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมอีสานจึงเหมือนกับน้ำ น้ำที่สามารถอยู่ได้ในทุกบรรจุภัณฑ์ มันจึงทำให้เกิดความเป็นอีสานในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา 

 

ยกตัวอย่าง ‘วงหมอลำ’ จากหมอลำที่ลำกับแคน ประยุกต์มาเป็นหมอลำซิ่งที่นำความหลากหลายทั้งทางดนตรีและการแสดงเข้ามาผสมผสานกลายเป็นอีสานใหม่ ไม่ว่าจะ เครื่องเสียงปังๆ ดนตรีโจ๊ะๆ ที่เป็นรากฐานความมักม่วนของคนอีสานอยู่แล้ว หรือเราจะเห็นการแต่งกายของหมอลำในปัจจุบัน มีทั้งการใส่ชุดลิเก มีทั้งการแต่งกายเท่ๆ แบบหนุ่มสาวเกาหลี หรือแม้กระทั่งการนำวัฒนธรรมวายเข้าไปประกอบการนำเสนอ มีการจิ้นระหว่างพระเอกหมอลำกับนายเอกหมอลำ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่เคยมีคำว่า ‘ผิด’ ในวัฒนธรรมนี้ แต่ที่เขาคำนึงถึงคือ “ทำอย่างไรให้คนดูหน้าเวทีสนุกไปกับเรา” หรือแม้กระทั่งรถแห่ เราก็เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นใหม่ๆ ที่อีสานทั้งนั้น

 

หรือตัวอย่างที่เด่นชัดอีกอย่างหนึ่ง ‘ส้มตำอีสาน’ ส้มตำอีสานไม่ใช่สิ่งที่มีเพียงแค่ ‘ตำปูปลาร้า’ เท่านั้นที่ถูกต้องที่สุด แต่ส้มตำอีสานกินกับอะไรได้ทุกอย่าง จะกินกับหน่อไม้ กินกับกุ้งสด กินกับปูสด กินกับผักสด หมูทอด อะไรต่อมิอะไรได้หลากหลาย จนกลายเป็นเมนูตำใหม่ๆ เยอะแยะมากมาย ไม่ว่าจะตำซั่ว ตำถาด ตำปูสด ตำกุ้งสด ตำป่า ฯลฯ นี่คือเสน่ห์ของความไม่ตายตัวทางวัฒนธรรม 

 

ดังนั้นความสำเร็จ ความปัง ความใหม่ของวัฒนธรรมอีสาน เกิดขึ้นจากการไม่มีคำนิยามความ ‘ถูก-ผิด’ ที่ตายตัว ไม่เพียงเท่านั้นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมอีสานไม่มีถูกผิดที่ตายตัวคือ ความหัวขบถของคนอีสาน เพราะฉะนั้นอีสานพร้อมจะแตกแถวเปิดรับความใหม่ และต่อสู้กับกรอบคำนิยามเดิมๆ ด้วยความขบถจนกลั่นกรองออกมาเป็นวัฒนธรรมอีสานใหม่ได้ทุกยุค นี่คือความสำคัญและความปังที่ทรงพลังมหาศาล

 

เมื่อความปังบังเกิด อัตลักษณ์อีสานจึงทรงพลัง

จากปรากฏการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดของวัฒนธรรมอีสานอันทรงพลัง สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการลบภาพลักษณ์ และลบอัตลักษณ์ความเป็นอีสานเดิมๆ ที่เป็นมุมมองในแง่ลบของคนจำนวนมากได้เป็นอย่างดี ลบภาพความแร้นแค้น ลบภาพความกันดาร ลบภาพคนใช้ในละครหลังข่าวออกไป 

 

ดังนั้นเราจึงจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันการฟังเพลงอีสาน การแสดงตัวว่าเป็นคนอีสาน ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป วัฒนธรรมอีสานจากเคยเป็นคนใช้กลายเป็นนางเอกของเรื่องราวในละคร ดารา นักร้อง หลายต่อหลายคนกล้าที่จะพูดภาษาอีสานของตัวเอง ประกาศอัตลักษณ์ความเป็นอีสานผ่านภาษาของตนเองได้อย่างไม่เขินอายอีกต่อไป และความเป็นอีสานกลับเป็นความเท่ ความสนุก ความอร่อย ที่ใครต่อใครก็ต่างอยากเป็นส่วนหนึ่ง เช่นเดียวกับเวทีนางงามน้องใหม่อย่างมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 

 

อ้างอิง:

The post อีสาน: วัฒนธรรมที่ไม่เคยมีคำว่า ‘เก่า’ เมื่อความปังบังเกิด อัตลักษณ์อีสานจึงทรงพลัง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ไม่มี ไม่หนี ไม่สึก ภาพลักษณ์ที่ดีปาราชิกไปก็ไม่ต้องกลัว https://thestandard.co/thai-monk-offense/ Tue, 03 May 2022 05:57:30 +0000 https://thestandard.co/?p=624129 พระสงฆ์

จากกรณีเรื่องราวอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในวงการพระสงฆ์ภาคใต้ […]

The post ไม่มี ไม่หนี ไม่สึก ภาพลักษณ์ที่ดีปาราชิกไปก็ไม่ต้องกลัว appeared first on THE STANDARD.

]]>
พระสงฆ์

จากกรณีเรื่องราวอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในวงการพระสงฆ์ภาคใต้ กรณีคลิปเสียงพระชื่อดังกับสีกาที่หลุดออกมาจนเป็นข่าวครึกโครม อาจทำให้ใครหลายคนตกใจแล้วคิดว่าทำไมวงการพระถึงได้เกิดเรื่องอะไรแบบนี้ หรือบางคนอาจจะรู้สึกเฉยๆ เพราะก็คงเห็นกันอยู่แล้วว่าเรื่องพันนี้ยังไงก็มีข่าวเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในวงการผ้าเหลือง ตั้งแต่ในอดีตไม่ว่าจะกรณีของพระยันตระ พระนิกร หรือแม้แต่ล่าสุดที่หมอปลาไปบุกจับคาวัดกลายเป็นตำนานสายรัดแก้ปวดหัว 

 

แต่สำหรับกรณีนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจว่า มีข่าวอีกข่าวหนึ่งที่ออกมาท่ามกลางกระแสข่าวที่เป็นประเด็นร้อนคือ ดราม่าพระรูปหนึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปล่อยคลิปเสียงนี้ออกมาถูกไล่ออกจากวัด ด้วยเหตุผลว่าจะทำให้มันเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตทำไม? ซึ่งเราหลายคนที่ได้ฟังข่าวแล้วคงงงว่าคนเปิดโปงกลายเป็นคนโดนลงโทษ แทนที่คนที่ปรากฏในคลิปเสียงควรจะถูกสอบสวนหรือถูกตรวจสอบ 

 

ทำไมเป็นคนที่ทำถูกที่ต้องถูกลงโทษ วันนี้ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังว่าทำไมเรื่องราวถึงได้กลับตาลปัตรแบบนี้ในวงการผ้าเหลือง

 

อาบัติปาราชิก ความผิดที่ร้ายแรง

 

หากจะกล่าวถึงอาบัติหรือจะพูดง่ายๆ ข้อห้ามหรือข้อที่หากพระสงฆ์รูปใดกระทำแล้วจะมีความผิดนั้นมีรายละเอียดเยอะแยะมากมาย มีตั้งแต่ความผิดแบบเบาๆ ที่สามารถปลงอาบัติได้ ไปจนถึงความผิดที่เรียกได้ว่าหากกระทำแล้วต้องหลุดจากความเป็นสงฆ์และไม่สามารถกลับมาบวชได้อีกเลยในชีวิตนี้ ซึ่งอาบัติขั้นรุนแรงที่สุดนี้เรียกว่า ‘ปาราชิกสี่’ ประกอบไปด้วย 

 

  1. ‘เสพเมถุน’ ไม่ว่าจะกับคนหรือสัตว์

 

  1. ‘ลักทรัพย์’ ที่มีมูลค่าเกิน 5 มาสก โดยสมัยรัชกาลที่ 4 กำหนดว่าเป็นเงินสองสลึงเฟื้องกับห้ากล่ำ ซึ่งจะกระทำโดยเจตนาทำเองหรือให้ใครทำให้ก็ผิด

 

  1. ‘ฆ่าคน’ ไม่ว่าจะลงมือเองหรือจ้างวานให้ใครกระทำ

 

  1. ‘อวดอุตริมนุษยธรรม’ คือการแสดงตนว่าเป็นผู้วิเศษ 

 

แต่อย่างว่า อาบัติปาราชิกพวกนี้หลายคนที่พออ่านมาถึงตรงนี้ก็คงคิดว่าหลายข้อก็เห็นกันอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะข้อที่ 4 อวดอุตริมนุษยธรรมแสดงตนเป็นผู้วิเศษ เราก็เห็นกันมากมาย บ้างก็อ้างตนว่าสำเร็จเป็นพระอรหันต์ บ้างก็อ้างตนว่าสามารถเสกเป่าคาถาอาคมมนตร์วิเศษได้ หรืออ้างว่าเป็นผู้วิเศษมีบุญญาธิการมาแต่อดีตชาติปางก่อน ก็ไม่เห็นมีใครหรือพระรูปไหนโดนจับสึกหรือโดนตรวจสอบจากหน่วยงานของสงฆ์ที่อ้างว่ามีไว้เพื่อพิทักษ์ศาสนา ส่วนข้อ 3 ‘ฆ่าคน’ อันนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วใครทำก็คงมีหลักฐานชัดเจน 

 

แต่ข้อที่ค่อนข้างจะมีปัญหามันอยู่ที่ ข้อ 1 เสพเมถุน กับข้อ 2 ลักทรัพย์ มันดูช่างคลุมเครือ คำถามก็คือใครจะรู้ว่าทำหรือแอบทำแล้วไม่มีคนรู้ก็จบไหม แอบทำแล้วไม่มีหลักฐานก็จบไปหรือไม่

 

รักษาภาพลักษณ์ไว้เป็นยอดดี

 

หากจะพูดถึงเรื่องภาพลักษณ์ที่ดีของพระพุทธศาสนา เชื่อว่าจะต้องมีการพูดถึงความสัมพันธ์กับภาพลักษณ์ของของพระสงฆ์ควบคู่กันไปด้วย เท่ากับว่าภาพลักษณ์ที่ดีของพระสงฆ์คือภาพลักษณ์ที่ดีของพุทธศาสนา ซึ่งภาพลักษณ์นี้ถูกเน้นย้ำมาตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีความพยายามจะปฏิรูปพุทธศาสนาไทยให้มีความบริสุทธิ์ โดยการหวนคืนกลับไปหาความถูกต้องจากตัวบทคัมภีร์ต้นฉบับอย่างพระไตรปิฎก และมีความพยายามที่จะจัดการและกำจัด รวมถึงแบ่งแยกกลุ่มพระสงฆ์ที่คิดว่าไม่ถูกไม่ต้องออก เพื่อสร้างภาพลักษณ์และเน้นย้ำภาพลักษณ์ที่ดีของพระสงฆ์ไทย เพื่อรักษาภาพลักษณ์พุทธศาสนาไทย และชุดความคิดนี้ก็ถูกผลิตซ้ำมาจนถึงปัจจุบัน 

 

ดังนั้นภาพลักษณ์ที่ดีของพระสงฆ์ไทยตามอุดมคติพระสงฆ์ที่ดีดังที่พุทธศาสนาไทยต้องการนำเสนอคือ นิ่ง สงบ สำรวม สันโดษ ไม่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันกับเรื่องราวใดๆ ในทางโลกที่ทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์ ไม่ว่าจะเงิน การเมือง หรืออะไรก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นกิเลส เพราะถ้าทำให้ภาพลักษณ์ตนเองเสื่อมเสียก็เท่ากับทำให้ภาพลักษณ์พุทธศาสนาเสื่อมเสียไปด้วย เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ไทยจึงมีคติร่วมกันอย่างหนึ่งว่า ‘อย่าได้กระทำการใดๆ เพื่อให้คนรู้ว่าพระสงฆ์มีอะไรที่เสื่อมเสีย’

 

ดังที่กล่าวไปแล้ว จึงทำให้พระสงฆ์ไทยบางส่วนมีความตรรกะไม่อยู่กับร่องกับรอยอยู่อย่างหนึ่งคือ จะเน้นรักษาภาพลักษณ์ที่ดีไว้มากกว่าเปิดโปร่งความไม่ดีของพระ (บางรูป) คือผิดก็เงียบๆ จัดการกันเงียบๆ เดี๋ยวคนรู้คนเห็นก็จะทำให้ภาพลักษณ์พุทธศาสนาเสียหายไปเปล่าๆ จะทำให้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตทำไม แล้วใครที่เป็นคนทำ ใครที่เป็นคนเปิดโปงก็จะถูกกระทำ ถูกประณามว่าเป็นคนที่ทำให้ภาพลักษณ์พุทธศาสนาเสื่อมเสีย ทั้งที่เอาจริงๆ แล้ว เขาคนนั้นทำในสิ่งที่ถูกต้อง 

 

ไม่มี ไม่หนี ไม่สึก

 

ที่สำคัญอาจจะต้องถึงกับหลับหูหลับตาข้างหนึ่ง ทำเป็นมองไม่เห็น ทั้งที่รู้อยู่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นแต่หากไม่มีหลักฐานหลุดออกมาเป็นชิ้นเป็นอันจนจับได้แบบคาหนังคาเขา ดังกรณีคลิปเสียงพระดังภาคใต้ที่ปรากฏ หรือกรณีที่หมอปลาบุกวัดเข้าไปจับพระค้นหาสีกาคากุฏิ จนกลายเป็นมีมสายรัดผมแก้ปวดหัว ซึ่งเอาจริงๆ ผู้เขียนก็ไม่ได้เห็นดีเห็นงามอะไรเท่าไรกับการกระทำของหมอปลาที่ถืออำนาจเหมือนศาลเตี้ยบุกค้นวัด ค้นบุกกุฏิอะไรแบบนั้น (ถึงแม้หลายคนจะบอกว่าหากไม่ทำแบบนี้ก็คงจับไม่ได้ก็ตาม) ดังนั้นหากไม่มีหลักฐานก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น และก็จะมีคติร่วมกันอยู่อีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าใครกระทำการใดๆ แล้วทำให้เกิดหลักฐานมัดตัวจนไม่สามารถที่จะช่วยได้ ก็จำเป็นต้องรับผิดชอบความผิดของตนเองนั้นไป และอย่าได้สาวไส้ให้กากิน 

 

บ้างก็ถือคติตามสำนวนไทยที่ว่า ‘ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่’ ก็คือ รู้ๆ กันอยู่ก็หลับหูหลับตาไป จะเปิดจะโปงกันทำไม หรือถ้าเกิดอะไรก็ให้เรื่องมันจบกันแค่นั้น อย่าได้ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต จนทำให้เสื่อมเสียภาพลักษณ์พระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ‘หลักฐาน’ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

ดังนั้น ‘ไม่มี’ คือไม่มีหลักฐานก็จบ พอไม่มีหลักฐานก็ไม่สึก ทำไมต้องสึก อยากให้สึกหาหลักฐานมา แต่ก็เหมือนที่บอก ถ้าทำให้เกิดหลักฐานก็ต้องจบด้วยตัวของตัวเอง ‘อย่าสาวไส้’ 

 

นี่คือคติร่วมกันที่มีและเกิดขึ้นจริงๆ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของวงการสงฆ์และรักษาภาพลักษณ์ของพระพุทธศาสนาไทย ไม่ให้ประชาชนรู้สึกเสื่อมศรัทธา (ไปมากกว่านี้) ทั้งที่เอาเข้าจริงๆ การที่คนหรือใครจะเสื่อมศรัทธาต่อศาสนา ไม่ได้เพียงแค่อยู่ที่ภาพลักษณ์ของพระ แต่มันอยู่ที่การปรับตัวของพุทธศาสนาด้วย ว่าคำสอนของตนเองยังสามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้คนในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปหรือไม่ ดังนั้นการที่บอกรักษาภาพลักษณ์คือสิ่งสำคัญของการรักษาพุทธศาสนา มันคือการรักษาพุทธศาสนาในทางที่ผิด 

 

สรุป

 

พระสงฆ์ไทย (บางส่วน) ต้องเปลี่ยนทัศนคติ (Mindset) ใหม่ ไม่ใช่ช่วยกันปกป้องความผิด หรือทำเป็นหลับหูหลับตา เพียงเพราะคิดว่าจะได้ไม่เกิดภาพลักษณ์ที่ทำให้ภาพลักษณ์พุทธศาสนาไทยเสื่อมเสีย แต่ควรที่จะยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง และการกระทำนั้นๆ เป็นความผิดของตัวบุคคลไม่ใช่ตัวองค์กรศาสนาทั้งหมด

 

อย่าได้เอาภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนามาเหมารวมกับภาพลักษณ์ของพระสงฆ์เพียงหนึ่งรูป พระสงฆ์คือคน คือปุถุชนที่ยังมีความโลภ โกรธ หลง ก็มีดีบ้างไม่ดีบ้างเป็นเรื่องสามัญปกติ ผิดก็ว่ากันตามผิด จะช่วยกันปกปิดเพียงเพราะอ้างว่าช่วยกันรักษาภาพลักษณ์พระพุทธศาสนาทำไม เพราะจะทำให้ศาสนาอยู่ยั้งยืนยงได้โดยไม่เสื่อมสลายไปตามความเชื่อที่เชื่อกัน  

 

ดังนั้นศาสนาและคำสอนของศาสนาจะต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย ให้สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้คนในโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่การแช่แข็งคำสอน โลกมันเปลี่ยนไป ศาสนาก็ควรต้องเปลี่ยนตาม แล้วคนผิดก็คือคนผิด ไม่ใช่ไปเอาผิดกับคนที่ทำถูก แค่นี้พุทธศาสนาก็อยู่ไปได้อีกยาว ไม่มีวันเสื่อมสลายอย่างที่เชื่อกัน

 

อ้างอิง:

The post ไม่มี ไม่หนี ไม่สึก ภาพลักษณ์ที่ดีปาราชิกไปก็ไม่ต้องกลัว appeared first on THE STANDARD.

]]>
ปรากฏการณ์ ‘ยันตระ’ ว่าด้วยการเติบโตและร่วงโรยของอดีตพระผู้โด่งดังแห่งยุค: ภาคแรก https://thestandard.co/yantra-phenomenon/ Wed, 03 Nov 2021 11:08:12 +0000 https://thestandard.co/?p=555826 ยันตระ

คงจะไม่ถือว่าช้าไป หากผู้เขียนเพิ่งจะมากล่าวถึงกรณี ‘ยั […]

The post ปรากฏการณ์ ‘ยันตระ’ ว่าด้วยการเติบโตและร่วงโรยของอดีตพระผู้โด่งดังแห่งยุค: ภาคแรก appeared first on THE STANDARD.

]]>
ยันตระ

คงจะไม่ถือว่าช้าไป หากผู้เขียนเพิ่งจะมากล่าวถึงกรณี ‘ยันตระ’ หรือ ‘อดีตพระยันตระ อมฺโรภิกขุ’ กับกระแสที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนัก กรณีปรากฏภาพของอดีตพระยันตระที่นุ่งเขียวห่ม ได้รับการกราบไหว้จากพระสงฆ์และฆราวาสผู้ที่ยังคงเคารพนับถือ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ว่า ‘การไหว้ในครั้งนี้’ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมสำหรับเหล่าพระสงฆ์ผู้ที่ยังถือครองสมณเพศ แต่กลับไปกราบไหว้อดีตพระที่เคยมีมลทินทางศาสนา

 

ข้อเขียนชิ้นนี้ผู้เขียนจึงอยากจะพาผู้อ่านทุกท่านย้อนกลับไปพิเคราะห์ถึงเหตุการณ์อื้อฉาวที่เกิดขึ้นในกรณีของอดีตพระยันตระ เมื่อปี 2535 รวมถึงกรณีอื่นๆ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อพยายามทำความเข้าใจถึงรากของความคิดหรือต้นสายปลายเหตุทางประวัติศาสตร์ที่เป็นเหตุจากเรื่องพระเหล่านี้โด่งดังขึ้นมาในสังคมไทย และมองถึงเหตุแห่งความอื้อฉาวคาวมลทินที่เกิดขึ้น

 

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 2530-2540 จะพบว่า ในช่วงเวลานี้มีเรื่องราวอื้อฉาวระหว่างพระที่มีชื่อเสียงกับสีกาอยู่หลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นกรณีสมีเจี๊ยบ (2532) พระนิกร (2534) พระยันตระ (2537) ภาวนาพุทโธ (2538) และพระอิสระมุนี (2544) เป็นต้น ซึ่งกรณีทั้งหมดนี้มีเส้นเรื่องการเติบโตและจุดจบบางประการที่คล้ายคลึงกัน โดยผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างกรณีของพระยันตระเป็นพิเศษในการพิเคราะห์ในครั้งนี้

 

 

ต้นแบบพระดีที่ต้องการ

หากจะดูเส้นทางการเติบโตและการขึ้นมามีชื่อเสียงของอดีตพระยันตระ ผู้เขียนคิดว่ามีปัจจัยทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างน้อย 2 ชุดความคิดใหญ่ๆ คือ ‘พระที่ดี’ และ ‘พระหล่อ’

 

‘พระที่ดี’ เป็นชุดความคิดที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ แต่ทว่ากลับถูกสร้างและผลิตซ้ำเพื่อปลูกฝังขึ้นมาพร้อมกับสายธารทางประวัติศาสตร์ จริงๆ แล้วชุดความคิดพระดีถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนมาตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์ มีการเปลี่ยนแปลงมาต่อเนื่องจากอิทธิพลการควบคุมของอำนาจรัฐต่อศาสนา

 

แต่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีลักษณะของการสร้างและผลิตซ้ำชุดความคิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง จากอิทธิพลของแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่เติบโตและขยายวงกว้างอย่างมหาศาล ดังนั้นปัญหาความมั่นคงของรัฐที่ผูกกับความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์อย่างไม่ลืมหูลืมตากลายมาเป็นประเด็นสำคัญ เนื่องจากแนวคิดคอมมิวนิสต์จะทำลาย 3 สถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสน์ และกษัตริย์

 

รัฐไทยจึงพยายามปกป้องศาสนาจากการถูกโจมตีจากภายนอก ไม่เพียงเท่านั้นยังกระตุ้นให้มีการควบคุมพระสงฆ์ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง เพราะมองว่าหากพระประพฤติเสื่อมเสียจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าวิกฤตศรัทธาต่อพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแกนสำคัญหนึ่งที่เชื่อมโยงอุดมการณ์ความเป็นชาติที่มั่นคง

 

ความพยายามของรัฐที่จะปกป้องศาสนาและควบคุมพฤติกรรมของพระสงฆ์ คือการสร้างและผลิตซ้ำชุดความคิดว่าด้วย ‘พระที่ดี’ ให้กลับมามีอิทธิพลอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งในช่วงเวลานั้นตัวแทนที่เป็นแม่แบบของพระสงฆ์ที่ดีที่รัฐต้องการคือกลุ่มพระสงฆ์สายพระป่าธรรมยุติอีสาน คือพระป่าสายหลวงปู่มั่นที่เติบโตขึ้นมาในทศวรรษ 2510-2520

 

กลับมาที่อดีตพระยันตระ อมฺโรภิกขุ หรือชื่อเดิมคือ วินัย ละอองสุวรรณ เป็นอดีตภิกษุชื่อดังชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ต้องกล่าวว่ายันตระเติบโตมาในกระแสธารความคิดนี้เช่นกัน โดยเริ่มต้นเข้าสู่การเป็นนักบวชด้วยการปฏิบัติตนเป็นฤาษี ภายหลังเข้าอุปสมบทเป็นภิกษุในธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2517 ณ พัทธสีมาวัดรัตนาราม อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้เรียกตัวเองว่า พระยันตระ แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส

 

แนวปฏิบัติของพระยันตระสอดคล้องไปกับแนวคิดพระที่ดีที่ถูกผลิตสร้างโดยรัฐได้ คำสอนหลักของเขาคือเน้นแนวทางปฏิบัติกรรมฐานไม่ต่างจากพระธรรมยุติสายป่า ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการศาสนาว่าถูกต้องตามหลักพระไตรปิฎก จนทำให้มีญาติโยมทั้งในไทยและต่างประเทศนับถือจำนวนมาก เพราะเลื่อมใสในคำสอน คำสอนต่างๆ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ รวมถึงได้รับนิมนต์ไปเทศนาที่ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ถือว่าเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในยุคนั้นเลยก็ว่าได้

 

รูปงาม นามไพเราะ พระสงฆ์ในอุดมคติชาวพุทธไทย

อีกปัจจัยหนึ่งนอกจากลักษณะของการเป็น ‘พระดีที่ต้องการ’ แล้วนั้น อีกชุดความคิดหนึ่งคือเรื่อง ‘ความงาม’ ความงามในที่นี้ไม่ได้หมายถึงงามแบบผู้หญิงงาม แต่หมายถึงความงามที่ท่าทาง งามผิวพรรณวรรณะ และงามน้ำเสียง พระพยอมกล่าวชัดว่า ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมา อดีตพระยันตระมีชื่อเสียงโด่งดังมากถึงขนาด

 

ที่มีคนเตรียมของใส่บาตรรอวนรอบที่สองที่สาม เพราะใครๆ ก็อยากเห็นอยากเจอตัว ‘พระที่รูปหล่อ เสียงเพราะ พูดภาษาอังกฤษได้’ จนวัดแทบแตก

 

ซึ่งแน่นอนว่า ‘ความงามหรือความรูปหล่อ’ ดังที่กล่าวมานี้ ถือเป็นลักษณะพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับ ‘ผู้มีบุญ’ ในวัฒนธรรมความเชื่อแบบพุทธศาสนาไทย โดยความเชื่อนี้จะควบคู่มากับแนวคิดเรื่องบุญและการสั่งสมบุญ ดังนั้นผู้ใดที่มีลักษณะหน้าตาดี ผิวพรรณสดใส มีน้ำเสียงที่ไพเราะและทรงพลัง จึงเชื่อกันว่าเป็นผู้ที่กระทำบุญหรือสร้างบุญกุศลมามหาศาลในอดีตชาติ

 

บุญกุศลเหล่านั้นจึงสะท้อนมาที่รูปลักษณ์ที่หล่อเหลาสวยงาม และรูปลักษณ์นี้เองก็เป็นเหมือนหลักฐานเชิงประจักษ์ (ตามความเชื่อ) ว่าพระยันตระคือ ‘ผู้มีบุญ’, ผู้คนจึงแสวงหาเพื่อหวังจะได้ร่วมสร้างบุญกับผู้มีบุญด้วย และเช่นกันก็เชื่อกันว่าหากได้ร่วมบุญกับผู้มากด้วยบุญบารมีก็จะยิ่งทำให้ผู้ร่วมบุญได้บุญกุศลมากกว่าการทำบุญกับพระทั่วไป

 

ดังนั้นเมื่อ 2 ปัจจัยนี้มาผสานกันอย่างลงตัว รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ ในยุคนั้นเริ่มมีมากขึ้น การสื่อสารไม่ว่าจะทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ นิตยสาร วารสารต่างๆ จำนวนมากๆ ก็เป็นตัวช่วยสำคัญที่ผลักดันให้พระยันตระก้าวขึ้นมาเป็นพระที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งยุคด้วยเช่นกัน ซึ่งพูดให้เห็นภาพก็คงไม่ต่างจาก พส. ที่โด่งดังในโลกออนไลน์

 

นี่คือจุดเริ่มต้นของการก้าวขึ้นมีชื่อเสียงโด่งดังของอดีตพระยันตระ จนมีผู้เลื่อมใสศรัทธาอย่างล้นหลาม แต่ทว่าในความโด่งดังขั้นสุดของอดีตพระยันตระ สิ่งที่ขยี้อดีตพระยันตระจนแหลกไม่มีชิ้นดีนั้นก็คือแนวความเชื่อทางศาสนาที่เป็นตัวสร้างพระยันตระขึ้นมานั่นเอง 

 

บทความหลังจากนี้ผู้เขียนจะพิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ปัจจัย 2 ประการข้างต้นที่เคยเป็นแรงผลักดันให้อดีตยันตระโด่งดังนั้น ทำให้อดีตพระยันตระตกต่ำไปจนถึงโดนคดี ถูกขับให้ออกจากความเป็นสงฆ์จนต้องขอลี้ภัยไปต่างประเทศอย่างไร แผนนารีพิฆาตเป็นอย่างไร และทำไมหลายคนยังคงเคารพนับถืออดีตพระยันตระอยู่จนถึงทุกวันนี้ 

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

 

ภาพ: เฟซบุ๊ก ยันตระ แห่งสุญญตาราม

อ้างอิง:

  • ภิญญาพันธุ์ พจนะลาวัณย์, ไทยปิฎก ประวัติศาสตร์การเมืองสังคมร่วมสมัยของพุทธศาสนา, Illuminations Editons: กรุงเทพฯ, 2562.
  • เปิดประวัติ “อดีตพระยันตระ” ก่อนดราม่าพระสงฆ์กราบไว้, Workpoint today

The post ปรากฏการณ์ ‘ยันตระ’ ว่าด้วยการเติบโตและร่วงโรยของอดีตพระผู้โด่งดังแห่งยุค: ภาคแรก appeared first on THE STANDARD.

]]>