ชัชพล เกียรติขจรธาดา – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Fri, 15 Mar 2019 03:46:55 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ทำไมเพลงป๊อปต้องมีท่อนฮุก? https://thestandard.co/hook-lyrics/ https://thestandard.co/hook-lyrics/#respond Wed, 13 Sep 2017 02:00:02 +0000 https://thestandard.co/?p=26584

     พูดถึงเพลงป๊อปที่ฮิตติดหูง่าย เชื่อ […]

The post ทำไมเพลงป๊อปต้องมีท่อนฮุก? appeared first on THE STANDARD.

]]>

     พูดถึงเพลงป๊อปที่ฮิตติดหูง่าย เชื่อว่าเกือบทุกท่านน่าจะนึกออกว่าเพลงประเภทนี้มีโครงสร้างของเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งอาจสรุปอย่างง่ายๆ ได้ว่า เนื้อเพลงมักจะเริ่มต้นด้วยท่อนธรรมดา หรือท่อนเวิร์ส ที่มีทำนองคล้ายๆ กันสัก 2 ท่อน หรืออาจจะ 3 ท่อน เพื่อความง่ายจะขอเรียกแทนท่อนเวิร์สนี้ว่า ท่อน A1, A2 และ A3 นะครับ

     จากนั้นก็จะเข้าสู่ท่อนฮุก หรือท่อนคอรัส ซึ่งมักจะมีทำนองแตกต่างออกไปจากท่อน A อย่างชัดเจน (จะขอเรียกสั้นๆ ว่าท่อน B) จากนั้นก็อาจจะวนกลับไปท่อนที่มีทำนองคล้ายท่อนเวิร์สอีก 1-2 ครั้ง ก่อนจะเข้าท่อนคอรัสอีกสักรอบ ตามด้วยท่อนที่มีทำนองแปลกใหม่อีกสักท่อนที่เรียกว่าท่อนบริดจ์ ซึ่งจะขอเรียกว่าท่อน C เพราะมีทำนองที่ต่างไปจากท่อน A และ B ค่อนข้างชัด

     หรือสรุปได้ว่าดนตรีป๊อปส่วนใหญ่มักจะมีโครงสร้างคล้ายๆ กับ A1 A2 A3 B – A1 A2 B – C ร้องวนไปมาเช่นนี้ก่อนจะจบเพลง

     คำถามคือ ทำไมเพลงป๊อปมักจะมีโครงสร้างที่คล้ายๆ กันเช่นนี้?

     คำตอบคือ เพราะโครงสร้างเพลงในลักษณะนี้ฟังแล้วติดหูได้ง่าย (ถ้าพูดให้ถูกคงต้องบอกว่าติดสมองได้ง่าย) คำถามต่อไปที่น่าถามต่อคือ ทำไมเพลงที่มีโครงสร้างเช่นนี้จึงติดหู (สมอง) ได้ง่าย?

     เรื่องราวที่จะนำไปสู่คำตอบของคำถามนี้มันมีอยู่สองตอนด้วยกันครับ

 

ตอนที่ 1 สมองชอบความแปลกใหม่

     ถ้าเราเปิดเสียงหนึ่งเสียงให้หนูทดลองตัวหนึ่งฟังเป็นครั้งแรก (ตั้งชื่อให้ว่าเป็นเสียง A) หนูจะหยุดนิ่ง ตั้งใจฟัง และอาจจะขยับหูเพื่อหาต้นเสียง ถ้าไม่มีอะไรน่าสนใจเกิดขึ้น สักพักมันก็จะเลิกสนใจแล้วทำธุระต่างๆ ของมันต่อไป ถ้าเราเล่นเสียง A นั้นซ้ำอีกครั้ง มันจะหยุดทำสิ่งที่กำลังทำอยู่แล้วตั้งใจฟังอีกครั้ง ถ้ายังไม่มีอะไรน่าสนใจ หนูก็จะเลิกสนใจแล้วทำธุระของมันต่อไป ถ้าเราเปิดเสียง A เช่นนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ หนูก็จะสนใจเสียง A อีกสัก 2-3 ครั้ง จากนั้นมันก็จะเลิกสนใจเสียง A ไปเลย

     ในภาษาทั่วไป เราอาจจะบอกว่าหนูเบื่อเสียง A ไปแล้ว หรือหนูเรียนรู้ว่าเสียง A ไม่มีอะไรน่าสนใจ ไม่น่ากลัว จึงเลิกสนใจเสียง A ไป แต่ถ้าจะพูดให้ฟังดูวิทยาศาสตร์กว่านั้นก็อาจจะพูดว่า หนูเกิดภาวะ habituation ต่อเสียง A คือสมองของหนูปรับที่จะไม่สนใจเสียง A นั้น

     ภาวะ habituation (แปลตรงตัวได้ว่า เคยชิน แต่ภาวะนี้ไม่ใช่ความเคยชินแบบที่เราใช้ในภาษาพูด จึงขอใช้ทับศัพท์ไปเลย) เป็นกลไกปกติของสมองที่เกิดขึ้นกับระบบประสาทต่างๆ คือสมองจะเลิกสนใจสิ่งกระตุ้นที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง เคยไหมครับที่เราได้กลิ่นบางอย่างเมื่อเดินเข้าไปในห้อง แต่เมื่ออยู่ไปสักพักกลิ่นก็จางหายไป แต่เมื่อเราเดินออกมานอกห้องแล้วเดินกลับไปใหม่ก็จะพบว่ากลิ่นไม่ได้จางหายไป แต่สมองเรา habituate ต่อกลิ่นนั้นไป

     เคยไหมครับเมื่อเรานั่งไปบนเก้าอี้ครั้งแรก เรารู้สึกได้ถึงความนุ่ม (หรือความแข็ง) ของเก้าอี้ต่อก้นของเรา แต่นั่งไปสักพัก ความรู้สึกกดทับที่ก้นของเราก็หายไป ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสมองเรา habituate ต่อประสาทสัมผัสที่ก้น

     ภาวะ habituate ยังเกิดกับการเห็นได้ด้วย (แต่เราไม่รู้ตัว) เช่น ถ้าตาของเราจ้องมองไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่หยุดนิ่งไปสักพัก สิ่งนั้นจะหายไปจากการรับรู้ของสมอง แต่ในชีวิตจริงภาวะนี้จะไม่เกิดขึ้นให้เราเห็น เพราะสมองเรามีกลไกป้องกันการ habituate ของตาด้วยการทำให้ตาเรากลอกไปมาน้อยๆ ตลอดเวลา (แม้ว่าเราจะพยายามไม่ขยับลูกตาแล้วก็ตาม) ภาวะที่ตากลอกไปมาตลอดเวลาเช่นนี้มีชื่อเรียกในภาษาวิทยาศาสตร์ว่า saccadic eye movement จะลองทดลองดูก็ได้ครับ โดยการให้เพื่อนของเราจ้องตาตัวเองในกระจกให้นิ่งที่สุด ห้ามขยับตาเลย ถ้าเราจ้องตรงๆ ไปที่ตาของเพื่อน เราจะเห็นตาเขาขยับไปมาตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง แต่ที่น่าแปลกคือ เพื่อนของเราจะไม่เห็นว่าตาของตัวเองกลอกไปมา เขาจะเห็นว่าตาของเขานิ่งสนิท ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในสมองของเพื่อน (และของทุกคน) จะมีอีกกลไกที่จะทำให้เจ้าตัวมองไม่เห็นว่าตาของตัวเองขยับไปมา

     เมื่อเข้าใจคำว่า habituation กันแล้วก็มาถึงคำถามที่น่าสนใจว่า ถ้าเกิดภาวะ habituation ขึ้นแล้ว เราจะแก้ภาวะนี้ได้ไหม? เราจะทำให้หนูหันกลับมาสนใจเสียง A อีกได้หรือไม่? คำตอบคือได้ครับ

     นักวิทยาศาสตร์พบว่าเมื่อเกิดภาวะ habituation ต่อเสียง A ไปแล้ว สามารถแก้ภาวะนี้ได้โดยการเล่นเสียงใหม่แทรกเข้าไป 1 ครั้ง (สมมติเรียกเสียงใหม่นี้ว่าเสียง B นะครับ) เมื่อเล่นเสียง B ให้หนูได้ยินเป็นครั้งแรก หนูจะตอบสนองเหมือนที่มันได้ยินเสียง A ครั้งแรกๆ คือหนูจะหยุดนิ่ง ตั้งใจฟัง และมองหาแหล่งของเสียง แต่ที่น่าสนใจคือหลังจากเล่นเสียง B ไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อเรากลับมาเล่นเสียง A ใหม่ ภาวะ habituation ต่อเสียง A จะหายไป (หรือน้อยลง) คือหนูจะกลับมาหยุดและตั้งใจฟังเสียง A อีกครั้ง เราเรียกภาวะนี้ว่า dishabituation หลังจากนั้นหนูก็จะหันกลับมาสนใจเสียง A อีกสักพักหนึ่ง ถ้าหนูเริ่ม habituate ต่อเสียง A แล้ว เราก็เติมเสียง B เข้าไปอีกครั้ง หนูก็จะกลับมาสนใจเสียง A ได้อีก

     อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วก็จะมีจุดที่หนูเริ่มเบื่อและไม่สนใจทั้งเสียง A และ B เมื่อถึงจุดนั้นแล้วนักวิทยาศาสตร์เติมเสียงใหม่เข้าไปอีกเสียง (เรียกว่าเสียง C) หนูก็จะกลับมาสนใจเสียง A และ B ได้อีกครั้ง หรืออาจจะพูดสรุปสั้นๆ ได้ว่า เล่นเสียงเดิมไปจนเริ่มไม่สนใจก็เติมเสียงใหม่เข้าไปสักครั้ง เสียงเก่าก็จะกลับมาใช้ได้อีกระยะหนึ่ง ถ้าเริ่มไม่สนใจอีกก็เติมเสียงใหม่อีกเสียงเข้าไป ความสนใจก็จะกลับมาอีกระยะหนึ่ง ถ้าเขียนแทนด้วยสัญลักษณ์ก็จะมีลักษณะประมาณนี้ (หรือใกล้เคียง)

 

     AAAAB-AAAB-AAB-AB-C-AB

 

     เมื่อเขียนออกมาในลักษณะนี้ เชื่อว่าหลายท่านเริ่มจะมองเห็นแล้วว่าโครงสร้างที่วนซ้ำสลับไปมาเช่นนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับเพลงป๊อปที่เราคุ้นเคยกันทั่วไป และจริงๆ ไม่ใช่แค่เพลงป๊อปเท่านั้น แต่เพลงประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเพลงร็อก เพลงโฟล์กซอง หรือเพลงพื้นเมืองหลายๆ วัฒนธรรมทั่วโลกที่ติดหูง่ายก็มักจะมีโครงสร้างที่คล้ายกัน คือเริ่มด้วยท่อนเวิร์สที่ทำนองคล้ายๆ หรือเหมือนกันสัก 2-3 ท่อน แล้วหยอดท่อนคอรัสเข้าไป ก่อนจะกลับมาวนท่อนเวิร์สอีกหน่อย จากนั้นก็วนเวิร์สกับคอรัสสักรอบ ก่อนจะตามด้วยท่อนบริดจ์ เพื่อที่จะกลับไปวนท่อนเวิร์สและคอรัสได้อีกหน่อย จากนั้นก็จบเพลง

     อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านที่ช่างคิดช่างตั้งคำถามอาจจะนึกสงสัยขึ้นต่อว่า ถ้าสมองเราชอบความแปลกใหม่จริง เราจะวนซ้ำ AAA ก่อนเติม B ไปเพื่ออะไร? เราจะวน AB AB ซ้ำๆ เพื่ออะไร? ทำไมเราไม่แต่งเพลงให้มีแต่ทำนองใหม่ๆ ทั้งเพลงไปเลย เช่น ABCDEFG ทำเช่นนี้สมองจะไม่ชอบมากกว่าหรือ? เพลงจะไม่ติดหูง่ายกว่าหรือ? เป็นคำถามที่ดีมากครับ จะตอบคำถามนี้ได้ เราก็ต้องไปคุยกันต่อในตอนที่ 2

 

ตอนที่ 2 สมองชอบสิ่งที่คุ้นเคย

     สำหรับตอนที่ 2 นี้เข้าใจได้ง่ายมากครับ เพราะเชื่อว่าทุกท่านคงเคยมีประสบการณ์กับตัวเอง เคยไหมครับ ฟังเพลงใหม่ครั้งแรกแล้วไม่ชอบ แต่เมื่อได้ยินซ้ำๆ แล้วกลับรู้สึกชอบขึ้นมา เคยไหมครับที่กินอาหารต่างชาติครั้งแรกแล้วไม่ถูกปาก แต่เมื่อมีโอกาสกินซ้ำก็เกิดรู้สึกชอบอาหารจานนั้นขึ้นมา เคยไหมครับ เห็นหน้าเขาครั้งแรกไม่รู้สึกว่าหล่อหรือสวย แต่เมื่อคุ้นเคยมากขึ้นแล้วกลับรู้สึกว่าหน้าตาเขาน่ารักขึ้น

     สมองของมนุษย์เราวิวัฒนาการมาจากโลกยุคหิน สิ่งแวดล้อมแบบยุคหินนั้นเต็มไปด้วยอันตรายจากสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ตลอดเวลา เราไม่รู้ว่าสิงโตจะโผล่ออกมาจากหลังพุ่มไม้เมื่อไร เราไม่รู้ว่าผลไม้หน้าตาแปลกๆ นี้กินแล้วจะตายหรือไม่ เราไม่รู้ว่าคนแปลกหน้าที่พบโดยบังเอิญในป่าและกำลังเดินตรงเข้ามาหาจะมาดีหรือมาร้าย (ส่วนใหญ่จะมาร้าย) สมองเราจึงมีแนวโน้มจะชอบสิ่งที่คุ้นเคย ภาวะที่สมองเราชอบสิ่งที่คุ้นเคยนั้น ในภาษาวิทยาศาสตร์จะใช้คำว่า mere exposure effect (คือสิ่งเดียวกับคำว่า brand awareness ในภาษาการตลาด) อาจจะแปลเป็นไทยได้ว่า เจอซ้ำๆ จนคุ้นเคยแล้วก็จะชอบไปเอง

     ดังนั้นการที่เพลงเดิมมีการวนของทำนองซ้ำๆ เช่น AAA หรือมีแบบแผนของการวนซ้ำๆ เช่น A แล้วตามด้วย B เช่นนี้ซ้ำๆ จึงทำให้ทำนองนั้นติดหู (จริงๆ คือติดสมอง) ได้ง่ายขึ้น

     ถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะค้านขึ้นมาว่า แล้วภาวะ mere exposure effect หรือชอบสิ่งที่คุ้นเคย มันไม่ค้านกับตอนต้นที่บอกว่าสมองเราชอบความแปลกใหม่หรือ? คำตอบคือไม่ค้านครับ คำอธิบายแบบสั้นที่สุดอาจจะพูดได้ว่า สมองชอบทางสายกลาง คือสมองชอบสิ่งที่คุ้นเคย แต่ต้องไม่คุ้นเคยหรือถี่จนเกินไป ถ้าซ้ำมากไป สมองก็จะเลิกสนใจสิ่งนั้น ในขณะเดียวกันสมองก็ชอบสิ่งแปลกใหม่ แต่ความใหม่นี้ก็ต้องไม่ใหม่หรือแปลกจนเกินไป ถ้าสิ่งใหม่นี้ต่างไปจากเดิมมากๆ สมองจะรู้สึกไม่ไว้ใจและไม่ชอบ และถ้าเราสามารถหาส่วนผสมหรือจุดสมดุลระหว่างความใหม่และความเก่าที่ลงตัวได้ เราก็จะสามารถสร้างสิ่งที่ฮิต ติดหู ติดใจ หรือติดตลาดได้ง่ายขึ้น

 

     สุดท้ายก่อนจะจากกันไป ผมอยากจะชวนให้นำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘สมองและเพลงป๊อป’ ไปลองใช้มองสิ่งต่างๆในบริบทอื่นๆ ดูบ้าง แล้วคุณจะเห็นว่าหลายอย่างที่ทำให้คนชอบหรือทำให้ฮิตเป็นกระแสขึ้นมาสามารถเข้าใจได้ด้วยหลักการนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพลง ผลิตภัณฑ์ใหม่ ดีไซน์ใหม่ หรือแม้แต่เรื่องง่ายๆ ใกล้ตัวอย่างความรักระหว่างคนสองคนก็ตาม

 

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

The post ทำไมเพลงป๊อปต้องมีท่อนฮุก? appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/hook-lyrics/feed/ 0
เมื่อนิวเคลียร์ฟิสิกส์ช่วยไขความลับของมัมมี่น้ำแข็งอายุ 5,000 ปี https://thestandard.co/opinion-tapioca-in-syrup-otzi-the-iceman/ https://thestandard.co/opinion-tapioca-in-syrup-otzi-the-iceman/#respond Fri, 07 Jul 2017 07:35:59 +0000 https://thestandard.co/?p=12781

         พวกเขาพบศพชายคนนี้ในว […]

The post เมื่อนิวเคลียร์ฟิสิกส์ช่วยไขความลับของมัมมี่น้ำแข็งอายุ 5,000 ปี appeared first on THE STANDARD.

]]>

 

 

     พวกเขาพบศพชายคนนี้ในวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1991 ขณะที่กำลังเดินเขาอยู่บนภูเขาเอิตซทัล ในเทือกเขาแอลป์ (Ötztal Alps) ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ด้วยสภาพศพที่แห้งมากทำให้พวกเขาเชื่อว่าชายคนนี้น่าจะเสียชีวิตมานานแล้ว แต่ไม่รู้ว่านานแค่ไหน พวกเขาจึงแจ้งให้ตำรวจทราบ หลังจากเจ้าหน้าที่นิติเวชมาศึกษาศพอย่างละเอียดก็พบว่า ชายคนนี้เสียชีวิตมานานแล้วอย่างที่คาดจริง แต่ไม่ใช่แค่นานธรรมดา เพราะชายคนนี้เสียชีวิตมานานกว่า 5,000 ปีแล้ว จากนั้นมาศพที่พบกลายสภาพเป็นมัมมี่นี้ก็เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกในชื่อว่า ‘เอิตซี’ (Otzi) มนุษย์น้ำแข็ง

     ด้วยความที่ศพของเอิตซีถูกแช่แข็งมานานจึงอยู่ในสภาพที่ดีมาก นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับเอิตซีและวิถีชีวิตของเขามากมาย ตัวอย่าง เช่น ชายคนนี้สูงประมาณ 160 เซนติเมตร หนักประมาณ 50 กิโลกรัม ตอนเสียชีวิตน่าจะมีอายุประมาณ 45 ปี มีโรคฟัน โรคเหงือก และโรคไขข้อ ก่อนเสียชีวิตถูกยิงด้วยลูกธนูเข้าที่หลังบริเวณกระดูกไหปลาร้าข้างซ้าย แต่น่าจะเสียชีวิตจากการที่สมองถูกกระแทก มื้ออาหารก่อนเสียชีวิตเขากินเนื้อกวางชามัวร์ กวางแดง และขนมปัง ชายคนนี้ในวัยเด็กเกิดและเติบโตในหุบเขาแห่งหนึ่งใกล้ๆ กับเมืองไทรอลในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อเติบโตขึ้นเขาก็ย้ายถิ่นฐานขึ้นมาอยู่บนที่ราบสูงบนภูเขา เขาทำอาชีพเกี่ยวกับการหลอมโลหะทองแดง

     อ่านถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า เรารู้เรื่องของเขามากขนาดนั้นได้อย่างไร

     การที่เรารู้ว่าเขาสูงเท่าไร น้ำหนักเท่าไร อายุประมาณเท่าไรขณะเสียชีวิต และเสียชีวิตด้วยเหตุใด ก็พอจะเข้าใจได้ เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถบอกจากศพได้ การที่รู้ว่าเขากินอะไรก่อนตายก็สามารถบอกได้เมื่อผ่าศพ (หรือส่องกล้องเข้าไป) ศึกษา เพราะเมื่อเสียชีวิตอาหารที่ยังไม่ย่อยก็จะตกค้างอยู่ในทางเดินอาหาร แต่คำถามที่น่าสนใจคือ นักวิทยาศาสตร์รู้ได้อย่างไรว่าตอนเด็กเขาเกิดและเติบโตที่ไหน แล้วต่อมาย้ายถิ่นฐานไปที่ไหน สิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะศึกษาจากศพได้หรือเปล่า

 

 

     นักวิทยาศาสตร์รู้เพราะสิ่งที่เรียกว่าไอโซโทปครับ

     ลองมองร่างกายของคุณเองแล้วตั้งคำถามว่า ร่างกายของฉันสร้างขึ้นมาจากอะไร คำตอบมีได้หลากหลายมากใช่ไหมครับ เช่น อวัยวะ เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แต่ถ้าเราถามคำถามเดียวกันนี้ไล่ลงไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งเราจะได้คำตอบว่า ร่างกายของเราประกอบขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า อะตอม หรืออาจจะพูดว่าร่างกายของคุณและผมประกอบขึ้นมาจากอะตอมจำนวนมหาศาล (ประมาณ 10 แล้วเติมศูนย์เข้าไปอีก 27 ตัว) คำถามต่อไปที่น่าสนใจคือ แล้วอะตอมเหล่านี้ที่ประกอบมาเป็นร่างกายของเรามาจากไหนกัน แน่นอนครับว่ามาจากอาหารที่เรากิน น้ำที่เราดื่ม และอากาศที่เราหายใจ ถ้าเราตั้งคำถามต่อว่า แล้วเราจะไล่หาต่อได้ไหมว่าอะตอมที่ประกอบเป็นร่างกายของเรามาจากดินแดนส่วนไหนของโลก คำตอบคือ ก็อาจจะพอเป็นไปได้ครับ แต่ก่อนอื่นเราต้องไปทำความรู้จักสิ่งที่เรียกว่า อะตอม และไอโซโทปกันก่อน

     คำว่า อะตอม แม้โดยรากศัพท์แล้วจะมีความหมายว่า ตัดอีกไม่ได้แล้ว แต่จริงๆ อะตอมยังแบ่งออกเป็นส่วนประกอบได้อีก 3 ส่วนคือ โปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน จำนวนของโปรตอนของธาตุจะเป็นตัวบอกเราว่าธาตุนั้นคืออะไร เช่น ถ้าธาตุนั้นมีเลขอะตอมเท่ากับ 6 ธาตุนั้นก็จะเป็นคาร์บอน ถ้าธาตุนั้นมีเลขอะตอมเท่ากับ 8 ธาตุนั้นก็จะเป็นออกซิเจน เป็นต้น ดังนั้นธาตุที่มีจำนวนโปรตอนเท่ากันก็จะมีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกันทุกประการ แต่บางครั้งธาตุชนิดเดียวกันก็อาจจะมีคุณสมบัติทางกายภาพต่างกันไปได้ถ้ามีจำนวนนิวตรอนไม่เท่ากัน เราเรียกธาตุที่มีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกัน แต่มีคุณสมบัติทางกายภาพต่างกันเช่นนี้ว่า เป็นไอโซโทปกัน

     ตัวอย่างเช่น ออกซิเจนที่พบในธรรมชาติมีด้วยกันหลายไอโซโทป ได้แก่ 16O,17O หรือ 18O แต่ไม่ว่าจะเป็นออกซิเจนไอโซโทป 16O,17O หรือ 18O ต่างก็มีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกันทุกประการคือ มนุษย์หายใจแล้วได้ผลลัพธ์เหมือนกัน หรือเมื่อ 16O,17O และ 18O รวมตัวกับไฮโดรเจน 2 ตัว ก็จะเกิดเป็นน้ำ H2O ที่ดื่มได้ไม่ต่างกัน สิ่งที่ต่างจะมีแค่คุณสมบัติทางกายภาพเท่านั้นคือ 16O จะเบากว่า 17O และ 17O จะเบากว่า 18O

 

 

     ในแง่นี้ถ้าจะเทียบเคียงเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นก็อาจจะคล้ายๆ กับการที่เราพูดว่า หมอ ไม่ว่าจะหมออ้วนหรือผอม (กายภาพต่างกัน) ก็รักษาโรคได้เหมือนกัน และเป็นคุณสมบัติทางกายภาพที่ต่างกันนี่แหละครับที่นักวิทยาศาสตร์นำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาเอิตซี

     เมื่ออะตอมของออกซิเจนมีน้ำหนักไม่เท่ากัน โมเลกุลของน้ำต่างๆ จึงมีน้ำหนักไม่เท่ากันด้วย เมื่อน้ำนี้ลอยตัวขึ้นจากทะเลแล้วก่อตัวเป็นก้อนเมฆ ภายในก้อนเมฆจึงมีโมเลกุลของน้ำที่น้ำหนักไม่เท่ากันปนอยู่ภายในมากมาย ต่อมาเมื่อเมฆนี้ลอยเข้าฝั่งแล้วทยอยตกลงมาเป็นฝน คำถามคือ น้ำที่เบาหรือหนักจะตกก่อนกัน?

     ต้องเป็นน้ำที่หนักใช่ไหมครับ เพราะของหนักย่อมตกลงมาง่ายกว่า ดังนั้นน้ำที่มีออกซิเจนชนิดที่หนักกว่า (18O) ก็มีแนวโน้มจะกลั่นตัวตกลงมาเป็นฝนก่อน กว่าที่ก้อนเมฆจะลอยขึ้นไปสูงถึงบนเขาสูงๆ ได้ โมเลกุลของน้ำในก้อนเมฆก็จะเหลือแต่น้ำที่มีออกซิเจนน้ำหนักเบาๆ (16O) จึงเป็นภาวะธรรมชาติว่า น้ำหรือแหล่งน้ำที่อยู่บนเขาสูงๆ มักจะมีน้ำที่สัดส่วนของ 18O น้อย เมื่อเทียบกับน้ำที่อยู่ตีนเขาหรือในหุบเขา

     ในอดีตมนุษย์หากินด้วยการล่าสัตว์หาของป่า ดังนั้นสัตว์และพืชผักที่กินเป็นอาหารจึงเป็นสิ่งที่หาได้รอบๆ ถิ่นที่อยู่อาศัย (ซึ่งต่างจากเราในทุกวันนี้ที่กินอาหารที่มาจากทั่วทุกมุมโลก) สัตว์ที่มนุษย์ล่าเองก็กินสัตว์อื่นที่อาศัยอยู่แถวนั้น สัตว์กินพืชก็กินพืชที่เติบโตแถวนั้น พืชเองก็ได้สารอาหารจากดินและน้ำในบริเวณนั้น ส่วนดินเองก็มาจากหินบริเวณนั้น ดังนั้นเราอาจจะพูดง่ายๆ ได้ว่าอะตอมที่สร้างร่างกายของมนุษย์ (ในอดีต) ก็มักจะมาจากอะตอมของ หิน ดิน ต้นไม้ สัตว์ ที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ นั้นนั่นเอง อ้อ แล้วก็รวมไปถึงน้ำที่ดื่มด้วยครับ

     ถึงตรงนี้ก็พอจะเริ่มเห็นแล้วใช่ไหมครับว่า ถ้าเราศึกษาสัดส่วนไอโซโทปของออกซิเจนในร่างกายเอิตซี เราก็พอจะบอกได้ว่าเขาอาศัยอยู่ในที่สูงหรืออาศัยอยู่ในหุบเขา แต่นั่นยังไม่ใช่ที่สุดครับ เรายังรู้อะไรได้มากกว่านั้นอีก เพราะจากความจริงข้อหนึ่งว่า เคลือบฟันหรืออีนาเมล (enamel) ของคนเราจะสร้างขึ้นในวัยเด็กและเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกเลยตลอดชีวิต ซึ่งจะต่างไปจากกระดูกส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ที่มีการทยอยทำลายแล้วสร้างขึ้นใหม่ตลอดเวลา หรือจะพูดว่าร่างกายของคุณในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะไม่มีกระดูกตอนนี้หลงเหลืออยู่เลย

 

 

 

     เมื่อนักวิทยาศาสตร์ศึกษาไอโซโทปของออกซิเจนจากฟัน กระดูก และต้นขาของเอิตซี ก็พบว่ามีสัดส่วนของ 18O ในเคลือบฟันสูงกว่าที่พบในต้นขา นักวิทยาศาสตร์จึงสรุปได้ว่า ในวัยเด็กเอิตซีคงจะเติบโต (และดื่มน้ำ)ในหุบเขาสักแห่ง ต่อมาเมื่อเขาอายุมากขึ้นเขาก็ย้ายขึ้นมาอาศัยอยู่บนที่ราบสูง คำถามต่อไปคือ เราพอจะบอกได้ไหมว่า หุบเขาที่เขาเติบโตนั้นอยู่ที่ไหน และบ้านใหม่ที่เขาย้ายไปเมื่อโตแล้วอยู่บริเวณไหน คำตอบของคำถามนี้มาจากการศึกษาสัดส่วนไอโซโทปของธาตุอีก 2 ชนิดครับ นั่นคือ ศึกษาสัดส่วนไอโซโทปของ สตรอนเทียม (Strontium) ต่อ ตะกั่ว

     เมื่อนักวิทยาศาสตร์ศึกษาสัดส่วนไอโซโธปของธาตุสตรอนเทียม (Strontium) และตะกั่วที่พบในหิน ดิน ของหลายพื้นที่ใกล้เคียง ก็พบว่าแต่ละบริเวณมีสัดส่วนไอโซโทปที่ต่างกันจนเกิดเป็นลักษณะเฉพาะของบริเวณนั้น ดังนั้นถ้าเราศึกษาสัดส่วนของไอโซโทปนี้ในฟันของเอิตซี แล้วเทียบดูว่าใกล้กับบริเวณไหน เราก็จะซูมเข้าไปได้อีกว่าเอิตซีน่าจะเติบโตมาในบริเวณนั้น แล้วผลของการศึกษาพบว่าเอิตซีน่าจะเติบโตมาในหุบเขาหนึ่งที่ปัจจุบันมีชื่อว่า ไอแซก (Eisack)

     สำหรับที่อยู่ใหม่เมื่อเขาเติบโตแล้วนั้น นักวิทยาศาสตร์สามารถรู้ได้จากการที่พบแร่ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ไมกา (mica) ปนอยู่กับอาหารที่ค้างในกระเพาะเล็กน้อย ส่วนสาเหตุที่แร่ไมกานี้เข้าไปอยู่ในท้องของเอิตซีได้นั้น เชื่อว่าน่าจะเกิดจากการที่แร่นี้ผสมอยู่ในหินที่ใช้โม่แป้ง ทำให้แร่นี้หลุดปนมาในขนมปัง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ศึกษาอายุของเศษไมกา 12 ชิ้นที่พบในกระเพาะก็พบว่าแร่ไมกาเหล่านี้อายุอยู่ในช่วง 95-300 ล้านปี ซึ่งใกล้เคียงกับอายุของหินในบริเวณหนึ่งที่ปัจจุบันมีชื่อเรียกว่า วินช์กอล (lower Vinschgau) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของไอแซกที่เขาเกิดและไม่ไกลจากที่เขาเสียชีวิตนัก บริเวณนี้น่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของเขาที่เขากินอาหารที่บ้านมื้อสุดท้าย ก่อนจะออกเดินทางมายังบริเวณที่เสียชีวิตนั้น

     คิดแล้วก็น่าทึ่งนะครับ ความรู้ของมนุษย์เราในปัจจุบันจะมาถึงจุดที่เราสามารถบอกข้อมูลมากมายได้จากศพคนคนหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 5,000 ปี ดีไม่ดี ทุกวันนี้เราอาจจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเอิตซีมากกว่าที่เพื่อนสนิทหรือคนใกล้ชิดของเขาเมื่อ 5,000 กว่าปีที่แล้วเสียด้วยซ้ำ!

 

Photo: Andrea Solero/AFP, VIENNA REPORT AGENCY

The post เมื่อนิวเคลียร์ฟิสิกส์ช่วยไขความลับของมัมมี่น้ำแข็งอายุ 5,000 ปี appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/opinion-tapioca-in-syrup-otzi-the-iceman/feed/ 0
ที่มาของหนังสือสุดอันตรายที่เด็กควรอ่าน!! https://thestandard.co/tapioca-in-syrup-encyclopedia-to-wikipedia/ https://thestandard.co/tapioca-in-syrup-encyclopedia-to-wikipedia/#respond Fri, 09 Jun 2017 05:14:55 +0000 http://thestandard.co:8000/?p=1954

    สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมจะมาเล่า […]

The post ที่มาของหนังสือสุดอันตรายที่เด็กควรอ่าน!! appeared first on THE STANDARD.

]]>

    สวัสดีผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมจะมาเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสิ่งที่เรารู้จักกันดีในชื่อ วิกิพีเดีย ครับ

    เชื่อว่าวิกิพีเดียสำหรับหลายๆ ท่านมันก็แค่สารานุกรมออนไลน์ธรรมดาที่คุ้นเคยกันดี แต่สิ่งของธรรมดาทั่วไปหลายอย่าง ถ้าเราพยายามจะตั้งคำถามถึงที่มาของสิ่งเหล่านั้นให้มากพอ เราอาจจะได้รู้ความลับพิเศษบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ความลับที่จะช่วยให้เราเข้าใจโลกปัจจุบันมากขึ้น

    ถ้าเช่นนั้นเรามาเริ่มตั้งคำถามกันดีกว่าว่าสารานุกรมออนไลน์ที่ชื่อวิกิพีเดียนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร แต่ก่อนจะกระโดดไปสารานุกรมออนไลน์ เราจะเริ่มกันที่ไอเดียของการทำสารานุกรมกันก่อน

    คำถามคือไอเดียที่จะทำสารานุกรม หรือ encyclopedia นั้นมีที่มาอย่างไร ขอบอกไว้ก่อนนะครับว่าการหาคำตอบนี้ เส้นทางเดินของเราจะซับซ้อนสักนิด คือเราต้องเดินทางกลับไปถึงยุคกรีกโบราณเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน แวะไปเยือนชาวโรมันนิดนึง แล้วข้ามไปฝรั่งเศสในยุคสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14-15 เพื่อไปดูว่าทำไมสารานุกรมจึงเคยเป็นของอันตรายที่ห้ามอ่าน ใครอ่านแล้วถึงขั้นบาปจนต้องขับออกจากศาสนา ก่อนจะแวะไปฮาวายเพื่อไปนั่งรถเมล์ที่วิ่งส่งคนภายในสนามบิน เมื่อการเดินทางจบสิ้นลง เราจะเข้าใจถึงสิ่งที่เรียกว่าวิกิพีเดียมากขึ้น

 

Photo: Wikipedia Commons

 

     ก่อนอื่นเราจะเดินทางย้อนอดีตไปยังกรุงปารีสในค.ศ. 1746 กัน ซึ่งฝรั่งเศสยุคนี้ไม่เหมือนยุคที่เราจากมา เพราะรัฐบาลฝรั่งเศสยุคนี้ควบคุมความคิด การพูด และการเขียนรุนแรงมาก ถ้าคุณเผลอไปพูดหรือเขียนอะไรที่ออกไปในทางต่อต้านหรือวิจารณ์รัฐบาล ศาสนา หรือสถาบันกษัตริย์ ก็มีโอกาสจะถูกจับแขวนคอหรือตัดคอประจานได้ง่ายๆ แล้วเขาก็ไม่ได้ทำกันในแดนประหารอย่างมิดชิดด้วย แต่ประหารกันสดๆ ตรงที่เรายืนกันอยู่นี่เลย

    แต่วันนี้ผมไม่ได้ชวนมาดูว่าใครโดนประหาร แต่เราจะมาดูหนังสือโดนเผา

    ทันใดนั้นเอง เบื้องหน้าของเรามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเดินออกมายังลานประหาร ในมือของเขามีหนังสือหนึ่งเล่ม จากนั้นเขาก็ชูหนังสือเล่มนั้นขึ้น ฉีกออกเป็นสองซีก แล้วก็ฉีกต่อจนหนังสือกลายเป็นเศษกระดาษ ก่อนจะโยนเศษกระดาษเหล่านั้นเข้าไปในกองเพลิงที่มีหนังสือหลายเล่มกำลังไหม้ไฟอยู่…

    หนังสือเล่มที่เราเห็นว่าถูกฉีกและเผาไปต่อหน้าต่อตานั้นมีชื่อว่า Philosophical Thoughts สาเหตุที่หนังสือเล่มนั้นโดนเผาเพราะมีเนื้อหาบางส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์ศาสนา จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของเราโดยตรงครับ แต่คนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ต่างหากที่เราสนใจ เขาผู้นั้นมีชื่อว่า เดอนี ดีเดอโร (Denis Diderot)

    หลังจากที่หนังสือของเขาถูกเผาไปแล้ว ดีเดอโรก็ยังไม่เข็ด เขายังเขียนหนังสือที่มีเนื้อหาวิจารณ์สิ่งที่รัฐห้ามต่อไป สุดท้ายในค.ศ. 1749 ดีเดอโรก็โดนจับเข้าคุกจนได้ แต่ก็ได้รับการปลดปล่อย เพราะสัญญาว่าจะไม่เขียนโจมตีรัฐบาล ศาสนา หรือสถาบันกษัตริย์อีก แล้วเขาจะทำตามที่สัญญาไว้ไหม แน่นอนครับว่า ‘ไม่’ และไม่เพียงแค่ไม่ทำตามสัญญา แต่โปรเจกต์ใหม่ของเขากลับต่อต้านรัฐหนักขึ้นไปกว่าเดิมเสียอีก

 

Photo: wikipedia commons

 

    เรื่องของเรื่องคือก่อนหน้าที่จะโดนจับประมาณ 4 ปี เขาไปรับงานจากชายคนหนึ่งที่ชื่ออังเดร เลอ บาตอง (Andre le Breton) งานที่ว่าคือเขาและนักคณิตศาสตร์อีกคนที่ชื่อฌ็อง เลอ รง ดาล็องแบร์ (Jean le Rond d’Alembert) จะช่วยกันแปลหนังสือชุดที่ชื่อ Cyclopaedia: or, An Universal Dictionary of Arts and Sciences จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาฝรั่งเศส

    จะว่าไปแล้ว หนังสือชุดสองเล่มนี้ก็จัดเป็นสารานุกรมแบบหนึ่ง แต่เป็นสารานุกรมที่มีหัวข้อค่อนข้างจำกัดมาก หลังจากคุยไปคุยมา ดีเดอโรก็เสนอว่า ไหนๆ จะทำหนังสือความรู้กันทั้งทีแล้ว เราจะแค่แปลหนังสือจากอังกฤษไปทำไมกัน สู้เรามาหาผู้มีความรู้หลายๆ คนแล้วเขียนความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่ในตอนนี้ให้สมบูรณ์ไปเลยดีกว่า บาตองซึ่งเป็นพ่อค้า ไม่ใช่นักคิดหรือนักปรัชญาที่มีอุดมการณ์เหมือนดีเดอโรพิจารณาแล้วเห็นว่า อภิมหาเมกะโปรเจกต์นี้น่าจะทำเงินได้มากกว่า ก็เลยเห็นดีเห็นงามตามไปด้วย สิ่งที่เรียกว่า encyclopedia ในแบบที่เรารู้จักกันทุกวันนี้จึงเกิดขึ้น

    ก่อนที่จะไปกันต่อ ผมอยากจะชวนไปดูคำว่า encyclopedia สักเล็กน้อย เพราะคำศัพท์หรือชื่อของสิ่งต่างๆ มักจะมีเรื่องราวที่น่าสนใจซ่อนอยู่ ถ้าเราไขความลับที่ซ่อนอยู่นั้นได้ เราอาจจะเข้าใจสิ่งนั้นได้มากขึ้น

    ที่มาของคำว่า encyclopedia นั้นมาจากคำสองคำ คือคำว่า cyclo ที่แปลว่า เป็นวง กับ pedia ที่แปลว่า การสอนหรือความรู้ รวมกันแล้วหมายถึง ความรู้ที่เชื่อมโยงกันเป็นวง คือรู้จนครบถ้วนหรือครบรอบนั่นเอง คำนี้มีรากที่มาย้อนกลับไปได้ตั้งแต่อายธรรมกรีกโบราณเมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว

    อย่างที่เราคุ้นเคยกันดีว่าอารยธรรมกรีกโบราณจะมีชื่อเสียงในเรื่องของการเรียนการสอน น่าจะพอนึกออกกันใช่ไหมครับ ภาพของคุณลุงหนวดเครายาว (คล้ายๆ ผู้พัน KFC) ใส่เสื้อคลุมสีขาว (คล้ายๆ เสื้อคลุมอาบน้ำ) ที่เรียกว่า toga ยืนอยู่ท่ามกลางลูกศิษย์ลูกหาที่รายล้อม การเรียนการสอนจะเป็นไปในลักษณะของการสนทนาถาม-ตอบ อาจารย์จะชวนตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวแล้วถกกันด้วยเหตุและผล นักปรัชญาสมัยกรีกเชื่อว่าความรู้ต่างๆ นั้นจะมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ถ้ารู้กว้าง รู้รอบ ก็จะรู้แบบครบวงจร ซึ่งเรียกว่า kyklos ในภาษากรีก หรือ cyclus ในภาษาละติน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า cycle ที่แปลว่า วง เช่นที่พบในคำว่า bicycle หรือ recycle เป็นต้น

    ส่วนคำว่า pedia ที่แปลว่า การสอน หรือความรู้นั้น แต่เดิมมีที่มาจากคำในภาษากรีกโบราณคือ pedos ที่หมายถึง เด็ก ดังนั้นคำว่าหมอเด็กหรือกุมารแพทย์ ภาษาอังกฤษจึงเรียกว่า pediatrician (ออกเสียงว่า พี-ดิ-ทริ-เชี่ยน) ส่วนป้ายชี้ไปแผนกรักษาโรคเด็กจะเขียนว่า Pediatrics (ออกเสียงว่า พี-ดิ-แอต-ทริกส์) ต่อมาจากความหมายว่าเด็กก็วิวัฒนาการกลายมาเป็นคำว่าอบรมสั่งสอน ก่อนจะแปลว่า การสอนและความรู้ ดังเช่นที่ใช้ในปัจจุบัน  

    คำว่า pedos ถ้าเราย้อนเวลากลับไปนานกว่านั้นอีก คือย้อนกลับไปหารากในภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียน (Proto-Indo-European หรือย่อว่า PIE) ซึ่งมีอายุมากกว่า 5,000 ปี คำนี้น่าจะมีรากศัพท์มาจากคำว่า pau- ที่แปลว่า น้อยหรือเล็ก คำนี้ยังเชื่อว่าเป็นที่มาของคำว่า poor, pauper และ poverty ในภาษาอังกฤษที่แปลว่า ยากจน (มีน้อย) และยังเป็นรากของคำในภาษาพระเวทที่ออกเสียงว่า putrah ก่อนจะวิวัฒนาการมาเป็นคำว่า ปุตฺร ในภาษาสันสฤต จนมาเป็นคำว่า บุตร ที่แปลว่า ลูกชาย บุตรี ที่แปลว่า ลูกสาว หรือเราอาจจะพูดได้ว่าคำว่า บุตร คำว่า pedia (ใน encyclopedia) และคำว่า poor, pauper และ poverty แม้จะมีความหมายต่างกัน แต่ก็เป็นญาติกันทั้งหมด

    เมื่ออารยธรมมกรีกเสื่อมลง อารยธรรมโรมันก็เข้ามาแทนที่ แม้ว่าโรมันจะแกร่งด้านทหาร แต่ในแง่วัฒนธรรมหรือความรู้แล้ว โรมันรับของคนอื่นมาใช้เกือบหมด โดยเฉพาะวัฒนธรรมของกรีกและอีทรัสคัน (วัฒนธรรมโบราณหนึ่งในคาบสมุทรอิตาลี) ด้วยความที่ชาวโรมันชื่นชมการศึกษาของกรีก เมื่อชาวโรมันเขียนหนังสือที่รวบรวมความรู้ทั้งหมดของยุคเข้าไว้ด้วยกันก็เรียกหนังสือนั้นว่า encyclopaedia (โรมันคัดลอกมาผิด เลยเขียนสองคำนี้ติดกันเป็นคำเดียว)

    เมื่อพอเข้าใจที่มาของคำแล้วก็กลับมาที่ดีเดอโรกับเมกะโปรเจกต์ของเขากันอีกรอบ จะเห็นว่าจริงๆ แล้วแนวคิดของการทำสารานุกรม หรือ encyclopedia นั้นไม่ใช่ความคิดใหม่เลย และไม่เพียงแค่ในวัฒนธรรมตะวันตกเท่านั้น แต่ในวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น วัฒนธรรมจีน ก็มีความคิดที่จะรวมความรู้ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันเป็นหนังสือมานานแล้วเช่นกัน แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไม encyclopedia ที่มีดีเดอโรเป็นบรรณาธิการจึงสำคัญสำหรับคนยุคเรานัก ความลับมันซ่อนอยู่ในรายละเอียดของการเขียนครับ

 

Photo: Pixabay.com

 

    อย่างแรกสุดเลย หนังสือเกือบทั้งหมดในยุคก่อนหน้าจะมีแต่หนังสือที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ ขุนนาง และนักบุญ แทบจะไม่มีเรื่องของคนธรรมดาสามัญเลย ดีเดอโรมองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยมีประโยชน์ เขาตั้งใจให้หนังสือสารานุกรมชุดนี้เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ต่อคนธรรมดาทั่วไป และสำคัญที่สุดคือเขาหวังว่าหนังสือชุดนี้จะเปลี่ยนวิธีคิดของคน หัวข้อในหนังสือจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตของชาวบ้านทั่วไป เช่น เกี่ยวกับงานช่าง เกี่ยวกับอาชีพต่างๆ อธิบายให้เข้าใจว่าแต่ละอาชีพมีบทบาทสำคัญในสังคมอย่างไร รวมไปถึงการนำเทคนิคลับต่างๆ ที่ปกติช่างฝีมือจะไม่ยอมบอกคนนอกวงการมาเปิดเผยให้รู้กัน เมื่อหนังสือเต็มไปด้วยเรื่องราวและความสำคัญของคนธรรมดาในสังคมก็เท่ากับลดความสำคัญของกษัตริย์ ขุนนาง และนักบวชในสังคมลงไปโดยอัตโนมัติ

    อย่างที่สองคือ สารานุกรมชุดนี้เรียงหัวข้อตามลำดับของตัวอักษร แม้แต่หัวข้อที่เกี่ยวกับกษัตริย์ ขุนนาง หรือนักบุญคนสำคัญก็ไม่ได้รับการยกเว้น การทำเช่นนี้จึงเท่ากับเป็นการทำให้หัวข้อต่างๆ ถูกมองว่ามีความทัดเทียมกันมากขึ้น ไม่มีหัวข้อไหนได้รับสิทธิพิเศษเหนือหัวข้ออื่น ถือได้ว่าเป็นรากฐานของสิ่งที่ต่อมาเรียกว่า ‘เท่าเทียมกัน’

    อีกสิ่งหนึ่งที่ปฏิวัติมากๆ ของหนังสือชุดนี้คือ ในยุคก่อนหน้านั้น สิ่งที่ปฏิบัติกันมาเป็นพันๆ ปีคือ ถ้าใครอยากจะอ้างว่าสิ่งที่พูดหรือเขียนน่าเชื่อถือจะต้องบอกว่าสิ่งนั้นเก่าแค่ไหน ยิ่งเก่าหรือยิ่งเข้าใกล้กรีกโบราณจะยิ่งน่าเชื่อถือ เช่น ถ้าอยากจะบอกว่าวิธีการรักษาโรคของเราดีกว่าวิธีการรักษาที่มีมาแล้ว 800 ปี เราก็ต้องบอกว่าวิธีการของเราใช้กันมา 1,000  ปีแล้วนะ คนก็จะตื่นเต้น อู้ว.. อ้า.. และยอมรับว่าเจ๋งกว่า แต่ใน encyclopedia ชุดนี้จะไม่ทำเช่นนั้น แต่จะชี้ให้เห็นว่าความเชื่อทุกอย่างที่เคยเชื่อตามๆ กันมาจะต้องถูกตรวจสอบ ต้องผ่านการถกด้วยเหตุผลแล้ว ไม่มีเรื่องใดได้รับการยกเว้น สิ่งที่ใส่ลงในหนังสือจึงเน้นไปที่ความรู้ใหม่เพื่อให้ความรู้ก้าวไปข้างหน้า เปลี่ยนแปลง และทันสมัย

    ปรากฏว่าสารานุกรมนี้ได้รับการตอบรับจากคนทั่วไปอย่างมาก คนอ่านกันทั่วบ้านทั่วเมือง และไม่เพียงแค่ในฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วยุโรป เรียกได้ว่าเป็น International Best Seller ของยุคนั้นเลย แต่หนังสือออกมาได้แค่ 2 เล่มก็โดนพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 สั่งแบน ห้ามอ่าน ห้ามพิมพ์ และห้ามซื้อขาย พระสันตะปาปาเคลมองต์ที่ 13 ก็บอกว่าเป็นหนังสือที่ห้ามอ่าน ถ้าใครอ่านจะถูกขับออกจากศาสนา (ที่เรียกว่า excommunication ถือว่าเป็นบาปหนัก คนกลัวกันมาก เพราะตายแล้วจะไม่ได้ไปอยู่กับพระเจ้า)

    รัฐถึงขั้นส่งคนไปค้นบ้านของดีเดอโรเพื่อหาต้นฉบับอื่นๆ ที่ยังไม่ได้จัดพิมพ์ แต่ค้นเท่าไรก็ไม่เจอ เพราะต้นฉบับถูกนำไปซ่อนที่อื่น และคนที่นำไปซ่อนก็ไม่ใช่ใครที่ไหนครับ แต่เป็นหัวหน้าใหญ่ของหน่วยงานที่สั่งให้มาค้นบ้านดีเดอโรนั่นเอง ส่วนสาเหตุที่เขาทำเช่นนั้น เชื่อว่าอาจจะเป็นเพราะเขาเห็นคุณค่าของหนังสือ และอาจจะมองว่าการทำเมกะโปรเจกต์เช่นนี้มีส่วนทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งดีต่อสังคม ต่อมาต้นฉบับก็ถูกลักลอบออกไปจัดพิมพ์ต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แล้วลักลอบกลับมาขายในรูปแบบของหนังสือเถื่อนในฝรั่งเศสอีกรอบหนึ่ง

    สารานุกรมชุดนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างที่ดีเดอโรตั้งใจไว้ นั่นคือเมื่อคนอ่านเกิดความคิดและสงสัยกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นไปรอบตัว แล้วก็อดถามต่อไม่ได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่นี้มันดีแล้วหรือ มีทางเลือกอื่นอีกไหม มีคำอธิบายอื่นอีกไหม แล้วสามารถเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้อีกไหม ซึ่งคำถามไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องที่เกี่ยวกับการทำมาหากิน แต่ยังรวมไปถึงการตั้งคำถามกับระบอบการปกครอง ตั้งคำถามกับระบอบศักดินา ตั้งคำถามกับศาสนา สารานุกรมชุดนี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำให้ฝรั่งเศสเข้าสู่ยุค enlightment หรือยุคเรืองปัญญา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่เกิดตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติในฝรั่งเศส (และในหลายประเทศทั่วยุโรป) เพื่อโค่นล้มระบอบศักดินา การปฏิวัติ และการประกาศแยกตัวจากสหราชอาณาจักรของประเทศอเมริกา การเกิดแนวคิดทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ ระบอบฟาสซิสต์ ลัทธิชาตินิยม รวมไปถึงการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา

    ประมาณ 200 กว่าปีต่อมา ชายชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ วอร์ด คันนิงแฮม (Ward Cunningham) เดินทางไปที่ฮาวายแล้วก็ไปถามเจ้าหน้าที่ที่สนามบินว่า ถ้าจะไปต่อเครื่องบินที่อีกเทอร์มินัลหนึ่งต้องทำอย่างไร เจ้าหน้าที่บอกว่าให้ใช้บริการ wiki wiki คำว่า wiki ในภาษาฮาวาย แปลว่า เร็ว เขียนติดกันแปลว่าเร็วมาก ต่อมาในปี 1994 เมื่อนายคันนิงแฮมคนเดิมนี้คิดระบบเว็บเพจแบบใหม่ที่ผู้ใช้คนไหนก็สามารถแก้ไขข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นมา เขาจึงเรียกเว็บเพจที่เขาคิดขึ้นมานี้ว่า wikiwikiweb แต่หลังจากที่เขาคิดขึ้นมาก็ไม่ได้มีคนสนใจนำไปใช้ประโยชน์มากนัก

    ในปี 2000 ชายชาวอเมริกันสองคนชื่อ จิมมี่ เวลส์ (Jimmy Wales) และแลร์รีแซงเกอร์ (Larry Sanger) อยากจะทำสารานุกรมออนไลน์ฟรีขึ้นมาให้คนทั่วไปได้อ่าน พวกเขาเรียกโปรเจกต์นี้ว่า นิวพีเดีย (nupedia) ความตั้งใจเดิมคือแต่ละหัวข้อจะเขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ และจะส่งบทความให้คนในวงการช่วยตรวจสอบความถูกต้องอีกรอบหนึ่ง (ที่เรียกว่าระบบ peer review) แต่พอดีตอนนั้นฟองสบู่ดอตคอมแตกพอดี โปรเจกต์ก็เลยไปไม่รอดและล้มไปในปี 2003 ซึ่งในวันที่โปรเจกต์ล้มนั้น รวมเวลา 3 ปี ผลิตบทความไปได้แค่ 24 บทความเท่านั้น

    ตอนที่เริ่มโปรเจกต์ เวลส์และแซงเกอร์สนับสนุนโปรเจกต์หลักอีกโปรเจกต์หนึ่งชื่อว่า wikipedia ความตั้งใจแรกคือจะให้คนทั่วไปเข้าไปเสนอหรือเขียนบทความอะไรก็ได้ทิ้งเอาไว้ใน wikipedia แล้วจะเอาบทความเหล่านั้นมาเป็นต้นฉบับที่จะส่งให้ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเลือก เรียบเรียง หรือเขียนใหม่อีกที เมื่อโปรเจกต์ nupedia ล้มไป ก็เลยเหลือแต่ wikipedia ซึ่งตอนนั้นมีบทความอยู่ 20,000 กว่าชิ้น เวลส์เลยเกิดความคิดที่จะโปรโมตโปรเจกต์นี้ขึ้นมาเป็นสารานุกรมหลัก แต่แซงเกอร์ไม่เห็นด้วยที่บทความในสารานุกรมจะให้ใครก็ได้เข้ามาเขียน จึงลาออกจากทีม จากนั้นมา ประวัติศาสตร์ส่วนที่เหลือก็เป็นอย่างที่คุณและผมรู้ๆ กันดีครับ

    จากที่คุยกันมา ผมเชื่อว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสารานุกรมเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีส่วนสำคัญให้เกิดการปฏิวัติโลกยุคอดีตแล้วกลายมาเป็นโลกปัจจุบันที่เราอาศัยอยู่ คำถามหนึ่งที่ผมอยากจะทิ้งท้ายไว้คือ เมื่อสารานุกรมซึ่งเดิมเคยเป็นบรรทัดฐานของ ‘ความรู้ที่ถูกต้อง’ ถูกเปลี่ยนมาเขียนด้วยใครก็ได้ ก็เท่ากับว่า ‘ความรู้ที่ถูกต้อง’ ซึ่งเคยอยู่ในกำมือของคนเพียงไม่กี่คนได้รับการปลดปล่อยให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แน่นอนครับว่าทุกอย่างคงมีข้อดีและข้อเสีย แต่ผลรวมของข้อดี-ข้อเสียนี้จะพาเราไปสู่อะไรบ้างในอนาคต ผมเองก็อยากรู้เหมือนกันครับ …

The post ที่มาของหนังสือสุดอันตรายที่เด็กควรอ่าน!! appeared first on THE STANDARD.

]]>
https://thestandard.co/tapioca-in-syrup-encyclopedia-to-wikipedia/feed/ 0