ชนาธิป ไชยเหล็ก – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Sat, 21 Dec 2024 06:36:24 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 นโรไวรัสระบาดจริงหรือไม่? รับมือกับข่าวโรคระบาดอย่างไรไม่ให้ตื่นตระหนก https://thestandard.co/norovirus-outbreak-how-to-handle-news/ Sat, 21 Dec 2024 06:36:24 +0000 https://thestandard.co/?p=1022081 norovirus-outbreak-how-to-handle-news

ทุกครั้งที่เราได้ยิน ‘ข่าวการระบาด’ ของโรคที่ไม่คุ้นหู […]

The post นโรไวรัสระบาดจริงหรือไม่? รับมือกับข่าวโรคระบาดอย่างไรไม่ให้ตื่นตระหนก appeared first on THE STANDARD.

]]>
norovirus-outbreak-how-to-handle-news

ทุกครั้งที่เราได้ยิน ‘ข่าวการระบาด’ ของโรคที่ไม่คุ้นหู

 

โรคนั้นอาจเป็นโรคที่ไม่เคยพบมาก่อน (โรคอุบัติใหม่) โรคที่ไม่ได้ยินมานานแล้ว (โรคอุบัติซ้ำ) หรือโรคที่พบบ่อยแต่ไม่ค่อยเป็นข่าว (โรคประจำถิ่น) แต่เราก็มักจะนึกถึงฝันร้ายโควิด-19 เมื่อ 5 ปีก่อน เกิดเป็นความกังวลว่าสถานการณ์จะเลวร้ายเช่นนั้นอีก ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ เราจะรับมือกับข่าวโรคระบาดอย่างไรไม่ให้ตื่นตระหนก

 

ในฐานะแพทย์ระบาดวิทยา ขอแนะนำให้ใช้ ‘คำถาม 3 ข้อ’ ในการรับมือกับข่าวโรคระบาด และยกตัวอย่างข่าว ‘โนโรไวรัสระบาด’ ที่กำลังเป็นที่สนใจของประชาชนในขณะนี้

 

ถามตัวเองก่อน 3 ข้อ

 

ก่อนที่สิ่งที่เรารับรู้จะกลายเป็นความกังวล ผมอยากให้ตั้งสติด้วยคำถามที่ผมประยุกต์มาจากขั้นตอนการทำงานของทีมตระหนักรู้สถานการณ์ (Situation Awareness Team: SAT) ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ซึ่งทำหน้าที่เฝ้าระวัง เตือนภัย ประเมินสถานการณ์ และรายงานโรคและภัยสุขภาพในพื้นที่ที่รับผิดชอบ สรุปเป็นคำถาม 3 ข้อ ดังนี้

 

  1. ข่าวจริงหรือไม่? เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของข่าว เริ่มจากตรวจสอบ ‘แหล่งข่าว’ คือมีที่มาชัดเจน เป็นบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานรัฐ สำนักข่าว เพราะบางครั้งอาจเป็นข่าวลือ จากนั้นตรวจสอบ ‘ข้อเท็จจริง’ โดยอาจเปรียบเทียบ (รีเช็ก) กับแหล่งข่าวอื่น หรือสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนั้นๆ 

 

เมื่อตรวจสอบแล้วว่าเป็นข่าวจริง ก็ไปต่อกันที่ข้อถัดไป

 

  1. เราเสี่ยงแค่ไหน? เป็นการประเมินความเสี่ยงจากโรคนั้นๆ พิจารณาจาก ความเสี่ยง = โอกาสที่จะเกิด x ความรุนแรง แปลให้เข้าใจง่ายคือ ความเสี่ยงขึ้นกับว่าโรคนี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับเราหรือไม่ และถ้าเกิดแล้วเราจะป่วยรุนแรงหรือไม่

 

ปัจจัยแรก เรามีโอกาสป่วยเป็นโรคนั้นหรือไม่ การตอบคำถามนี้เราควรมีความรู้เกี่ยวกับ ‘โรค’ ก่อน จากนั้นเปรียบเทียบกับ ‘ตัวเรา’ ว่าเกี่ยวข้องกับโรคนั้นเพียงใด

 

เราควรมีความรู้เกี่ยวกับโรคใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. เชื้อโรค เกิดจากเชื้ออะไร ติดต่อผ่านทางไหน มีพาหะนำโรคหรือไม่ 2. คน เกิดขึ้นกับใคร ที่ไหน และเมื่อไร เช่น กลุ่มอายุใดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด มีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทยหรือไม่ เมื่อเดือนอะไร 3. สิ่งแวดล้อม เกิดในสภาพแวดล้อมแบบใด เช่น ฤดูอะไรที่พบผู้ป่วยมากที่สุด หลังจากเกิดภัยพิบัติอะไรแล้วพบผู้ป่วยมากขึ้น

 

ตัวอย่างการเปรียบเทียบกับตัวเรา เช่น เรามีพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นช่องทางให้เชื้อเข้าสู่ตัวเราหรือไม่ เรามีอายุอยู่ในกลุ่มที่พบผู้ป่วยจำนวนมากหรือไม่ เราอยู่ในพื้นที่ที่มีรายงานโรคหรือไม่ เป็นต้น

 

ปัจจัยที่ 2 ถ้าป่วยแล้ว เราจะป่วยรุนแรงหรือไม่ พิจารณาจาก ‘อัตราป่วยตาย’ ว่าในคนป่วย 100 ราย พบเสียชีวิตกี่ราย เช่น โควิด-19 ในช่วงแรกมีอัตราป่วยตาย 2% บางโรคมีอัตราป่วยตายสูงกว่านั้น เช่น อีโบลา 25-90% และพิจารณาจาก ‘กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง’ ว่ากลุ่มใดที่ต้องนอนโรงพยาบาล/เสียชีวิตบ้าง ซึ่งมักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป

 

นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาจาก ‘การรักษา’ ว่ามียารักษาเฉพาะ เช่น ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัสหรือไม่

 

เมื่อพิจารณาทั้งสองปัจจัยแล้วก็จะสามารถสรุปได้ว่า เรามีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง-สูง

 

  1. เราควรทำอะไร? เป็นการระบุวิธีการป้องกันการป่วยและอาการรุนแรง ระดับความเข้มขึ้นกับความเสี่ยงที่เราประเมินได้ โดยการปฏิบัติตัวแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 

 

  1. การป้องกันโรค มีวัคซีนป้องกันโรคหรือไม่ มีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคอะไรบ้าง ซึ่งจะขึ้นกับวิธีการติดต่อ เช่น โรคติดต่อทางเดินหายใจ ป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือเป็นประจำ 2. การสังเกตอาการ อาการของโรคมีอะไรบ้าง อาการแบบใดที่ควรไปพบแพทย์ เพื่อจะได้รีบไปโรงพยาบาล และ 3. การรักษาโรค หากไม่มียารักษาเฉพาะก็จะเป็นยารักษาตามอาการ

 

ยกตัวอย่างข่าวโนโรไวรัสระบาด

 

โนโรไวรัส เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง มักพบการระบาดในฤดูหนาว หลายคนมักจะเชื่อมโยงโรคอุจจาระร่วงกับฤดูร้อน เพราะอากาศร้อนทำให้อาหารบูดเสียง่าย ซึ่งเป็นผลมาจาก ‘แบคทีเรีย’ เติบโตได้เร็วขึ้นเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ทว่าตรงกันข้ามกับ ‘ไวรัส’ ที่มีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานขึ้นเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลง จึงพบโรคอุจจาระร่วงในช่วงนี้ได้เช่นกัน

 

ข่าวโนโรไวรัสระบาดมี 2 ข่าวหลักด้วยกัน คือ การระบาดของโนโรไวรัสที่ประเทศจีน และการระบาดของโรคอุจจาระร่วงในงานกีฬาสีที่จังหวัดระยอง มีนักเรียนป่วยมากกว่า 1,400 ราย

 

เริ่มจากคำถามข้อแรก 1. ข่าวจริงหรือไม่? วิธีการตรวจสอบข่าวที่ผมใช้บ่อยคือการค้นหาในเว็บไซต์ Google ด้วยคำค้น ชื่อโรค ตามด้วยชื่อสถานที่ และเวลา และหากเป็นการระบาดในต่างประเทศควรใช้ภาษาอังกฤษ เช่น Norovirus China 2024 พบว่า

 

– การระบาดของโนโรไวรัสในหลายพื้นที่ของประเทศจีน เป็น ‘ข่าวจริง’ และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งประเทศจีนได้ออกคำแนะนำแนวทางการป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัสในโรงเรียนและสถานที่สำคัญ เช่น ศูนย์เด็กเล็ก และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ

 

– การระบาดของโรคอุจจาระร่วงในงานกีฬาสีที่จังหวัดระยองจากโนโรไวรัส เพจกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ว่าเป็น ‘ข่าวปลอม’ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สาเหตุจากเชื้ออีโคไล และโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (แบคทีเรียที่พบในแหล่งน้ำ ดิน และอุจจาระ)

 

ทว่าเมื่อสืบค้นข่าวย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 เคยแถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า เกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนมากับน้ำและน้ำแข็ง ซึ่งหากอ้างอิงตามข่าวนี้ก็ไม่น่าจะใช่ ‘ข่าวปลอม’ แต่อย่างใด ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึง

ควรอธิบายเพิ่มเติมว่าเพราะอะไรที่ทำให้ข้อเท็จจริงถึงไม่ตรงกัน 

 

  1. เราเสี่ยงแค่ไหน? โนโรไวรัสก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง สามารถติดต่อได้ง่าย เนื่องจากไวรัสจำนวนไม่ถึง 100 ตัวสามารถก่อให้เกิดโรคได้ ติดต่อผ่านการปนเปื้อนของอาหารและน้ำ พื้นผิวที่ปนเปื้อนอาเจียนหรืออุจจาระ และมีรายงานว่าติดต่อผ่านอากาศได้ โดยละอองขนาดเล็กเกิดจากการอาเจียนแรงหรือแรงดันน้ำหลังกดชักโครก แต่ไม่ใช่วิธีการติดต่อหลัก

 

เด็กและผู้ใหญ่สามารถติดเชื้อโนโรไวรัสได้ ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว ไข้ต่ำๆ มักหายได้เองภายใน 1-3 วัน แต่บางรายอาจมีอาการรุนแรงจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ได้แก่ เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ ไม่มียาต้านไวรัส ดังนั้นอาการและความรุนแรงของโนโรไวรัสจึงใกล้เคียงกับโรคอุจจาระร่วงทั่วไป

 

เมื่อพิจารณาจากความสามารถในการติดเชื้อ และช่วงนี้เป็นฤดูหนาว ซึ่งอากาศเย็นต่อเนื่องหลายวัน ผมจึงประเมิน ‘โอกาสที่จะเกิด’ อยู่ในระดับปานกลาง ส่วน ‘ความรุนแรง’ อยู่ในระดับต่ำ ประมวลเป็นความเสี่ยง = โอกาสที่จะเกิด x ความรุนแรง ในระดับปานกลาง

 

  1. เราควรทำอะไร? โนโรไวรัสยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จึงต้องเน้นที่สุขอนามัยส่วนบุคคล 

 

โรคนี้ติดต่อผ่านอาหารและน้ำ จึงควรยึดหลัก ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ และ ‘สุก ร้อน สะอาด’ คืออาหารต้องปรุงสุก หากปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมงควรนำมาอุ่นร้อน น้ำและน้ำแข็งต้องสะอาด ที่สำคัญคือต้องล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่ เนื่องจากแอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าเชื้อโนโรไวรัสได้

 

การรักษาเหมือนโรคอุจจาระร่วงทั่วไป คือ ดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชย ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง อาการจะดีขึ้นเองภายใน 1-3 วัน อาการที่ควรไปพบแพทย์คือ ถ่ายอุจจาระมากหรือเป็นมูกเลือด อาเจียนบ่อย ดื่มน้ำเกลือแร่ไม่ได้ อ่อนเพลีย

 

โดยสรุปเมื่อได้ยินข่าวการระบาดของโรค ผมแนะนำให้รับมือด้วยการถามตัวเองก่อน 3 ข้อ คือ 1. ข่าวจริงหรือไม่ เพราะบางครั้งอาจเป็นข่าวปลอม 2. เราเสี่ยงแค่ไหน ขึ้นกับโอกาสที่จะเกิด x ความรุนแรง ทำให้เราไม่กังวลมากเกินไป แต่ก็ไม่ชะล่าใจ และ 3. เราควรทำอะไรเพื่อป้องกันโรค ส่วนโนโรไวรัสไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ เป็นโรคประจำถิ่นที่มักพบการระบาดในช่วงฤดูหนาว การป้องกันและการรักษาเหมือนกับโรคอุจจาระร่วงอื่น ที่ต้องเน้นย้ำคือต้องล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่เท่านั้น

 

อ้างอิง:

The post นโรไวรัสระบาดจริงหรือไม่? รับมือกับข่าวโรคระบาดอย่างไรไม่ให้ตื่นตระหนก appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทำไมหมอ (ไม่ทั้งหมด) ถึงคิดว่า ‘บัตรทอง’ ทำให้คนไข้ไม่ดูแลตัวเอง https://thestandard.co/doctors-universal-coverage/ Sat, 29 Oct 2022 07:06:59 +0000 https://thestandard.co/?p=701775

‘บัตรทอง’ หรือสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือแรกสุด […]

The post ทำไมหมอ (ไม่ทั้งหมด) ถึงคิดว่า ‘บัตรทอง’ ทำให้คนไข้ไม่ดูแลตัวเอง appeared first on THE STANDARD.

]]>

‘บัตรทอง’ หรือสิทธิ์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือแรกสุดคือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ที่เริ่มนำร่องมาตั้งแต่ปี 2544 และต่อมายกเลิกการเก็บเงิน 30 บาทไปเมื่อปี 2549 การรักษา ‘ฟรี’ นี้ทำให้เกิด ‘สมมติฐาน’ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเวลาพูดถึงข้อดี-ข้อเสียของนโยบายนี้มาตลอด นั่นคือ

 

คนไข้ไม่ดูแลตัวเอง จนทำให้ป่วยขึ้นมา หรือพอป่วยแล้วก็มาโรงพยาบาล ทั้งที่สามารถดูแลตัวเองก่อนได้

 

อย่างเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565 ‘หมอริท’ แพทย์และนักร้องชื่อดังทวีตแสดงความเห็นถึง ‘โตโน่’ นักร้องนักแสดงที่ว่ายข้ามแม่น้ำโขงในโครงการ One Man and The River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้ เพื่อระดมทุนจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลนครพนมและฝั่ง สปป.ลาวว่า

 

“…ต่อให้พี่ว่ายน้ำข้ามโขงเป็น 10 รอบ ได้เงินบริจาคมากว่า 1,000 ล้าน หมอ พยาบาล เขาก็เหนื่อยเท่าเดิมครับ ขอยกตัวอย่างในฝั่งของหมอนะครับ ระบบสุขภาพของประเทศไทยคือ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แปลว่าคนไทยจะป่วยยังไง ก็มีการรักษารองรับ

 

(ซึ่งจริงๆ ดีกับคนไทยในบางมุมนะ เช่น คนจนมีสิทธิ์เข้าถึงการรักษา แต่ข้อเสียก็คือ คนไทยไม่ใส่ใจสุขภาพ เกิดปัญหา เช่น ติดเหล้า ติดบุหรี่ และเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทำให้คนต้องมาโรงพยาบาลกันเยอะ) ซึ่งทำให้หมอต้องทำงานหนัก แต่ยังได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม…”

 

ไม่ปฏิเสธว่าผมเองก็เคยคิดว่าบัตรทองทำให้คนไข้ไม่ดูแลตัวเอง แต่นั่นก็เมื่อหลายปีก่อนตอนที่ยังเรียนอยู่จนถึงเรียนจบมาทำงานปีแรก บทความนี้จะย้อนกลับไปทบทวนว่าอะไรที่ทำให้ผมคิดเช่นนั้น อะไรที่ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดต่อเรื่องนี้ใหม่ และปัจจุบันมีงานวิจัยอะไรที่พิสูจน์สมมติฐานนี้บ้าง

 

อะไรที่ทำให้ผมคิดเช่นนั้น

ถ้าจำไม่ผิดผมได้ยินความคิดนี้ครั้งแรกจากเพื่อนระหว่างที่ฝึกงานในโรงพยาบาล แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ถามเพื่อนว่าฟังมาจากไหน พอเรียนจบมาทำงานปีแรกที่โรงพยาบาลศูนย์ได้เจอคนไข้หลายรูปแบบ คนไข้ที่ทำให้คิดว่านโยบายบัตรทองมี ‘ข้อเสีย’ มักจะเป็นคนไข้ที่แผนก ‘อุบัติเหตุและฉุกเฉิน’

 

เช่น คนไข้ที่ดื่มเหล้าจนเมาแล้วประสบอุบัติเหตุมา หรือดื่มเหล้าจนเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ต้องมาฉีดยาลดกรดเป็นประจำ แต่ก็เลิกเหล้าไม่ได้

 

คนไข้ที่อาการไม่มาก แต่มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน เช่น อาการไข้วันแรกๆ อาการหวัด อาการถ่ายเหลวเล็กน้อยที่น่าจะมาตรวจรักษาในเวลาได้ ถ้าเปรียบเทียบกับโควิดก็จะเป็นคนไข้สีเขียว แต่มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ซึ่งควรสำรองไว้สำหรับคนไข้สีแดง

 

คนไข้กลุ่มโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง มาขอรับยาเดิมที่ห้องฉุกเฉินก็มี (เคยคุยกับเพื่อนต่างโรงพยาบาลก็เจอเหมือนกัน)

 

จึงอดคิดไม่ได้ว่าเป็นเพราะนโยบายบัตรทองหรือเปล่าที่ทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาง่ายขึ้นจนมาใช้บริการไม่เหมาะสม ถ้าเปรียบการรักษาเป็นสินค้า สินค้าราคาถูกทำให้คนตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น และหากเป็นสินค้าราคาแพง คนจะต้องคิดก่อนซื้อว่าจำเป็นต้องมาโรงพยาบาลหรือไม่

 

แผนกถัดมาที่มีความคิดนี้เกิดขึ้นบ่อยคือ ‘อายุรกรรม’ เช่น คนไข้โรคถุงลมโป่งพองที่ต้องนอนโรงพยาบาลพ่นยาขยายหลอดลมเป็นประจำ แต่ก็เลิกบุหรี่ไม่ได้ คนไข้โรคไตวายเรื้อรังหรือโรคหลอดเลือดหัวใจที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการควบคุมโรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตไม่ได้

 

กรณีนี้น่าจะใกล้เคียงกับเรื่อง ‘ภาวะภัยทางศีลธรรม’ (Moral Hazard) ที่นักเศรษฐศาสตร์มีแนวคิดว่าคนจะมีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้นหลังถ่ายโอนความเสี่ยงไปให้ผู้รับประกันแล้ว นั่นคือ คนไข้จะไม่ดูแลตัวเอง ไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะถึงป่วยมาโรงพยาบาลก็ไม่ต้องเสียค่ารักษา

 

สุดท้ายคือแผนก ‘ผู้ป่วยนอก’ สภาพแออัดหรือ ‘คนไข้ล้นโรงพยาบาล’ ทุกวันทำให้อดคิดเช่นนั้นไม่ได้ บางคนป่วยเป็นโรคที่ป้องกันได้ บางคนป่วยเป็นโรคทั่วไปที่น่าจะดูแลตัวเองก่อนได้ บางคนขอยาเพิ่มนอกจากอาการที่ทำให้มาโรงพยาบาล เช่น ยาแก้แพ้ ยานวด ยาหยอดตา 

 

คนไข้กลุ่มโรคเรื้อรังบางคนควบคุมระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือดไม่ได้ตามเป้าหมาย เพราะบางคนไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บางคนได้รับยาไปแล้วกินยาไม่สม่ำเสมอ หากคนไข้ร่วมจ่ายจะทำให้ตระหนักถึงต้นทุนของการรักษาและหันมาควบคุมตัวเองมากขึ้นหรือไม่

 

อะไรที่ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดต่อเรื่องนี้ใหม่

ผมคิดว่าหมอส่วนหนึ่ง (ไม่ทั้งหมด) น่าจะมีความคิดคล้ายกับที่เขียนมาข้างต้น อ่านแล้วเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรบ้างครับ ผมเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับบัตรทอง และเปลี่ยนความคิดต่อเรื่องนี้ใหม่ตอนทำงานที่แผนก ‘กุมารเวชกรรม’ ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของการทำงานในปีแรก

 

ถึงแม้จะป่วยเป็นโรคที่ป้องกันได้ แต่ด้วยความเป็นเด็ก คนไข้ไม่สามารถดูแลตัวเองได้เหมือนผู้ใหญ่ จึงไม่ค่อยสมเหตุสมผลที่จะเรียกโรคในแผนกนี้ว่า ‘โรคทำตัวเอง’ คนไข้บางคนมีความพิการตั้งแต่เกิดหรือเป็นโรคทางพันธุกรรม ซึ่งไม่มีทางที่จะเกิดจากการไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้

 

คนไข้อีกกลุ่มเป็นเด็กที่มีปัญหาเรื่องสิทธิ์การรักษา พ่อแม่ที่เป็นแรงงานต่างชาติต้องจ่ายค่ารักษาของลูกเองทั้งหมด ซึ่งต่อให้ทำงานทั้งเดือนก็คงหาเงินมาจ่ายได้ไม่ครบ โครงการบัตรทองจึงลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยและมี ‘ข้อดี’ ในทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

 

สำหรับผู้ใหญ่ คำว่า ‘โรคทำตัวเอง’ ยังมีคำถามตามมาว่าต้องดูแลตัวเองขนาดไหนถึงจะเรียกว่าเหมาะสมแล้ว ถ้าจะให้คนไข้กลุ่มนี้ร่วมจ่ายค่ารักษาจะวัดระดับการดูแลตัวเองอย่างไร หรือแม้กระทั่งโรคทำตัวเองมีจริงหรือไม่ เพราะพฤติกรรมเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อโรค

 

นักระบาดวิทยามีแนวคิดว่าโรคเกิดจากอิทธิพลของ 3 ปัจจัยหลัก (Epidemiological Triad) ได้แก่

 

  • ตัวก่อโรค (Agent) เช่น เชื้อโรค อาหารที่มีโทษต่อสุขภาพ เหล้า บุหรี่
  • คน (Host) เช่น พันธุกรรม อายุ อาชีพ พฤติกรรม
  • สิ่งแวดล้อม (Environment) เช่น ฤดูกาล (อย่างที่ผ่านมาฝนตกหนักก็จะป่วยเป็นโรคที่เกิดจากน้ำท่วม) ครอบครัว ชุมชน (ยกตัวอย่างโควิด ชุมชนแออัดเสี่ยงต่อการระบาดมากกว่าชุมชนบ้านจัดสรร) เศรษฐกิจ สังคม

 

ขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนด้วย คนไข้บางคนไม่ได้ทำกับข้าวกินเอง คนในครอบครัวเป็นคนปรุงหรือต้องซื้อแกงถุงจากร้านค้า ทำให้ไม่สามารถลดหวานมันเค็มอย่างที่หมอแนะนำ ร้านสะดวกซื้อทำให้เข้าถึงขนมขบเคี้ยวและน้ำหวานง่ายขึ้นจึงพบภาวะอ้วนมากขึ้น

 

การออกกำลังกายอาจต้องมีชมรมชวนกันไปออกกำลังกาย มีสถานที่ออกกำลังกายใกล้บ้าน หรือแม้แต่มีทางเท้า ทางปั่นจักรยานที่เอื้อให้มีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่วนการที่เลิกบุหรี่หรือเหล้าไม่ได้อาจเป็นผลมาจากเพื่อนร่วมงานหรือวัฒนธรรมย่อยในสังคม

 

โครงการบัตรทองรักษา ‘ฟรี’ แต่การเจ็บป่วยก็มี ‘ต้นทุนค่าเสียโอกาส’ (Opportunity Cost) ผมได้ยินเรื่องนี้จากเพื่อนที่เป็นนักการเงินคนหนึ่ง เมื่อป่วยแล้ว คนไข้ไปทำงานไม่ได้ ถูกตัดเงินค่าจ้าง หรือแม้แต่การมาโรงพยาบาลก็มีค่ารถ ญาติบางคนต้องลางานมาส่ง คนไข้ที่มารักษาก็คงมีความจำเป็นระดับหนึ่ง

 

การมาโรงพยาบาลยังขึ้นกับความกังวลของคนไข้ และ ‘ความรอบรู้ด้านสุขภาพ’ (Health literacy) ในการดูแลตัวเองด้วย คือเข้าถึงแหล่งข้อมูล เข้าใจเกี่ยวกับอาการที่เป็น/โรคที่ป่วย อาจมีผู้ให้ซักถามข้อสงสัย ประเมินและนำมาใช้กับตัวเองได้ว่าแบบไหนควรสังเกตอาการที่บ้าน หรือต้องไปโรงพยาบาล

 

‘สุขภาพ’ เป็นเรื่องซับซ้อน ‘ระบบสุขภาพ’ ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก ‘บัตรทองทำให้คนไข้ไม่ดูแลตัวเอง’ จึงเป็นสมมติฐานที่อาจแคบไป ในทางกลับกันหากให้คนไข้จ่ายค่ารักษาก็ไม่แน่ว่าคนไข้จะดูแลตัวเองมากขึ้น และอาจเป็นอุปสรรคให้คนไข้ไม่กล้ามารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จนมีอาการหนักก็ได้

 

ปัจจุบันมีงานวิจัยอะไรที่พิสูจน์สมมติฐานนี้บ้าง

สมมติฐาน ‘การรักษาฟรี’ ของโครงการบัตรทองต่อ ‘การดูแลตัวเอง’ ของคนไข้น่าจะแบ่งเป็น 2 ประเด็นย่อย คือ

 

  • ก่อนป่วยหรือก่อนป่วยซ้ำ โครงการบัตรทองทำให้คนไม่ดูแลตัวเองจนป่วยขึ้นมา หรือคนไข้ที่ป่วยแล้วไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนป่วยซ้ำ
  • หลังป่วย โครงการบัตรทองทำให้พอป่วยแล้วก็มาโรงพยาบาล ทั้งที่สามารถดูแลตัวเองก่อนได้

 

ถ้ามองเป็นลำดับขั้น คนไข้ในประเด็นแรกก็อาจต่อด้วยประเด็นที่ 2 ทำให้ ‘คนไข้ล้นโรงพยาบาล’ และขยายต่อเป็น ‘หมอทำงานหนัก’ และ ‘โรงพยาบาลขาดทุน’ อย่างที่หลายคนตั้งข้อสังเกต แต่ในบทความนี้จะยังไม่พูดถึง 2 ประเด็นหลัง เพราะยังมีปัจจัยฝั่งทรัพยากรบุคคลและการเงินการคลังด้วย

 

เริ่มจากประเด็นที่ 2 โครงการบัตรทองทำให้คนไข้มาใช้บริการโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นหรือไม่ จากรายงานการประเมินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วงทศวรรษแรกของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่าอัตราการมาโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยระหว่างปี 2547 ถึงปี 2553

 

  • อัตราการใช้บริการแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 2.45 ครั้ง/คน/ปี เป็น 3.22 ครั้ง/คน/ปี
  • อัตราการใช้บริการแบบผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นจาก 0.094 ครั้ง/คน/ปี เป็น 0.116 ครั้ง/คน/ปี

 

แต่การแปลผลมีข้อจำกัดคือไม่ได้เปรียบเทียบกับช่วงก่อนมีโครงการบัตรทอง (ข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติยากต่อการนำมาใช้) นอกจากนี้อัตราการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นยังอาจเป็นผลมาจากความกังวลต่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าถึงข่าวสารมากขึ้น และการเดินทางที่สะดวกมากขึ้นด้วย

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงานประจำปี 2564 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ปัจจุบันมีอัตราการใช้บริการแบบผู้ป่วยนอก 3.437 ครั้ง/คน/ปี และแบบผู้ป่วยใน 0.122 ครั้ง/คน/ปี ทั้งนี้ ค่านี้เป็นค่าเฉลี่ยของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด บางคนอาจไม่ได้มาใช้สิทธิ์ และบางคนก็อาจมาใช้สิทธิ์มากกว่านี้

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการบัตรทองทำให้คนไข้เข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันคนไข้ก็ได้รับการรักษาที่จำเป็นมากขึ้นเช่นกัน โดยจากการสำรวจในปี 2553 พบว่าความจำเป็นที่ไม่ได้รับการตอบสนองด้านสุขภาพ (Unmet health need) ต่ำมากใกล้เคียงกับประเทศที่มีรายได้สูง (OECD)

 

โดยประชาชนสิทธิ์บัตรทองมีความจำเป็นที่ไม่ได้รับการตอบสนองแบบผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในเท่ากับ 1.61% และ 0.45% ในขณะที่สิทธิ์ข้าราชการเท่ากับ 0.80% และ 0.26% ตามลำดับ นั่นคือโครงการบัตรทองยังลดช่องว่างระหว่างสิทธิ์การรักษาในประเทศด้วย

 

สำหรับประเด็นที่ 1 โครงการบัตรทองทำให้คนไข้ไม่ดูแลตัวเองหรือไม่ จากงานวิจัยผลของโครงการบัตรทองต่อพฤติกรรมเสี่ยงของนักวิจัยต่างชาติและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Health Economics, Policy and Law เมื่อปี 2558 พบว่า

 

  • สิทธิ์บัตรทองไม่เพิ่มพฤติกรรมเสี่ยง (การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแล้วขับรถ) และไม่ลดพฤติกรรมการป้องกัน (การตรวจสุขภาพประจำปี) เมื่อเทียบกับสิทธิ์ข้าราชการและประกันสังคม

 

นอกจากนี้ยังพบว่าสิทธิ์บัตรทองทำให้การตรวจสุขภาพประจำปีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิง ส่วนอัตราการมาโรงพยาบาลในงานวิจัยนี้สอดคล้องกับรายงานที่กล่าวไปข้างต้น ว่าอัตราการนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% และอัตราการมาตรวจแบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 13%

 

ความจริงแล้วโครงการบัตรทองยังให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคหรือ ‘สร้างนำซ่อม’ โรงพยาบาลและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถของบประมาณจาก สปสช. มาดำเนินโครงการส่งเสริมสุขภาพในชุมชนได้ รวมถึงการพัฒนาระบบบริการ ‘ปฐมภูมิ’ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วย

 

กล่าวโดยสรุป ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าโครงการบัตรทอง ทำให้คนไข้ ‘ไม่ดูแลตัวเอง’ หมออาจสังเกตว่าคนไข้ไม่ดูแลตัวเองหรือไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่นั่นก็ไม่ใช่ผลจากการที่เขาใช้สิทธิ์บัตรทอง หรือข้อสังเกตนี้อาจเป็นจริงใน ‘ระดับบุคคล’ แต่ใน ‘ระดับประชากร’ ไม่เป็นเช่นนั้น

 

ส่วนโครงการบัตรทองทำให้คนไข้ ‘เข้าถึงบริการ’ มากขึ้นจริง ซึ่งถ้าการบริหารทรัพยากรบุคคลไม่เหมาะสมก็จะทำให้หมอ (พยาบาล เภสัชฯ ฯลฯ) รู้สึกว่างานหนัก และจะต้องแยกว่าเป็นบริการที่ ‘จำเป็น’ หรือ ‘ไม่จำเป็น’ ซึ่งต้องมีนโยบายหรือมาตรการลดการเข้าถึงบริการที่ไม่จำเป็นลง

 

สำหรับผม เมื่อได้กลับมาทบทวนในประเด็นนี้อีกครั้ง คิดว่าน่าจะ ‘มูฟออน’ ก้าวข้ามสมมติฐานนี้ได้ (แต่ถ้ามีงานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจะดีมาก) แล้วค้นหาแรงจูงใจอื่นๆ ที่ทำให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และปรับปรุงข้อเสียอื่นๆ ของโครงการบัตรทองและสิทธิ์การรักษาต่างๆ ให้มีความยั่งยืน 

 

อ้างอิง:

The post ทำไมหมอ (ไม่ทั้งหมด) ถึงคิดว่า ‘บัตรทอง’ ทำให้คนไข้ไม่ดูแลตัวเอง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ปลูก ปรุง ปุ๊น ควรระวังอะไรบ้าง หลังปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด https://thestandard.co/marijuana-cropping-caution/ Thu, 09 Jun 2022 06:20:37 +0000 https://thestandard.co/?p=639888 กัญชา

9 มิถุนายน 2565 เป็นวันที่ ‘กัญชา’ ถูกปลดล็อกทั้งต้น ไม […]

The post ปลูก ปรุง ปุ๊น ควรระวังอะไรบ้าง หลังปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด appeared first on THE STANDARD.

]]>
กัญชา

9 มิถุนายน 2565 เป็นวันที่ ‘กัญชา’ ถูกปลดล็อกทั้งต้น ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเทศไทยอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของต้นกัญชาก็ตาม นับเป็นเวลา 3 ปีตั้งแต่พรรคภูมิใจไทยเสนอนโยบาย ‘กัญชาไทยปลูกได้เสรี’ แก้ พ.ร.บ.ยาเสพติด กัญชาเพื่อการแพทย์ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างความร่ำรวยให้คนไทย ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562 และเป็นนโยบายหลักของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ตั้งแต่เข้ารับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

 

หลังจากปลดล็อกแล้วประชาชนสามารถปลูก ปรุง หรือปุ๊นกัญชาได้หรือไม่ มีข้อควรระวังอะไรบ้าง และทำไมถึงต้องมี พ.ร.บ.กัญชา ควบคุมการบริโภคกัญชาหลังเปิดเสรีแล้ว

 

☘ ไทม์ไลน์กฎหมายกัญชาเสรี ☘

 

เดิม ‘ทุกส่วน’ ของกัญชา รวมถึงยางและน้ำมันกัญชา จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ใหม่ ยกเว้น ‘บางส่วน’ ของกัญชา ได้แก่ เปลือก ลำต้น กิ่งก้าน ราก ใบที่ไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย รวมถึงสารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังปลูกและขายไม่ได้ 

 

หากต้องการปลูกจะต้องดำเนินการในลักษณะของวิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์การเกษตร (เช่น ปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น) ภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐ/มหาวิทยาลัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการรักษาผู้ป่วย ตามที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เปิดช่องไว้ (สังเกตว่านโยบายกัญชาทางการแพทย์เริ่มมาตั้งแต่ยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเป็นการเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาเป็นระยะ)

 

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ใหม่ ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 (เมื่อปีที่แล้วมีการยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ และประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดแทน) ระบุเพียง ‘สารสกัด’ จากกัญชา โดยไม่มีการระบุส่วนของกัญชา ทำให้ปลดล็อก ‘ทุกส่วน’ ของกัญชาพ้นจากยาเสพติดให้โทษ และยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชา

 

ประกาศฉบับนี้บังคับใช้ในอีก 120 วันถัดมา ซึ่งก็คือวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ดังนั้น ‘กัญชาไทย’ จึง ‘ปลูกได้เสรี’ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาและนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องหมายเหตุว่าจุดเริ่มต้นของการปลดล็อกนี้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก และถึงแม้จะกัญชาจะไม่ใช่ยาเสพติดตามกฎหมาย แต่สารออกฤทธิ์ในกัญชาอาจมีโทษต่อสุขภาพได้ ทำให้แพทย์หลายสาขากังวลถึงผลกระทบของการเปิดเสรีกัญชา

 

 ☘ สารในกัญชา และการปรุงอาหาร ☘

 

ในกัญชามีสารอยู่หลายชนิด แต่สารออกฤทธิ์ที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ

  • THC (Tetrahydrocannabinol) หรือ ‘สารเมา’ ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ในขนาดที่เหมาะสมจะลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้ แต่หากได้รับในขนาดสูงจะทำให้เมาเคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน พบมากในส่วนช่อดอกและเมล็ด ในขณะที่การใช้สาร THC ขนาดสูงสม่ำเสมอทำให้เกิดการติดยาได้ สารสกัด THC เข้มข้นเกิน 0.2% จึงถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายอยู่ 
  • CBD (Cannabidiol) ออกฤทธิ์ตรงข้ามกับ THC คือต้านการเมาเคลิ้มและอาการทางจิต ลดอาการวิตกกังวล ไม่มีฤทธิ์เสพติด ในทางการแพทย์นำมาใช้รักษาโรคลมชัก กัญชาแต่ละพันธุ์มีระดับสาร THC และ CBD แตกต่างกัน ขณะเดียวกันเทคนิคการปลูกก็มีผลต่อปริมาณสารด้วย แต่ทั้ง 2 ชนิดละลายได้ดีในน้ำมัน การประกอบอาหารที่ใช้น้ำมันหรือเนย หรือส่วนผสมมีไขมันจากสัตว์ จะทำให้ได้รับสารเหล่านี้เพิ่มขึ้น

 

ดังนั้นการนำกัญชามาใช้ในการปรุงอาหารจะต้องระมัดระวัง 2 เรื่อง คือ ส่วนของกัญชาที่นำมาใช้ ควรเป็นส่วนของใบ ตามภูมิปัญญาเดิม แนะนำให้ใช้ไม่เกินวันละ 5-8 ใบ สำหรับผู้ที่ไม่เคยกินกัญชามาก่อน และควรกินในปริมาณน้อย หากใช้ช่อดอกอาจทำให้ได้รับสาร THC เกินขนาดและมีอาการข้างเคียงได้ กับวิธีการประกอบอาหาร ประเภทผัดหรือทอด เช่น ผัดกะเพรา ไข่เจียว จะทำให้ได้รับสารออกฤทธิ์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเภทต้ม เช่น ต้มเล้ง ก๋วยเตี๋ยว หรือเครื่องดื่ม จะมีอาการข้างเคียงน้อยกว่า

 

☘ ใครบ้างที่ต้องระวังสารในกัญชา ☘

 

คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 (มกราคม 2564) ระบุข้อห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี THC เป็นส่วนประกอบ ดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสารสกัดกัญชา ซึ่งอาจเกิดจากส่วนประกอบอื่นๆ หรือสารที่เป็นตัวทำละลายที่ใช้ในการสกัด
  • ผู้ที่มีอาการรุนแรงของโรคหัวใจและปอด หรือมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ผู้ที่เป็นโรคจิตมาก่อน หรือมีอาการของโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรควิตกกังวล
  • สตรีมีครรภ์หรือให้นมบุตร รวมถึงสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิดหรือวางแผนจะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีรายงานทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย และพบสารกัญชาในน้ำนมแม่

 

นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังอื่นๆ ได้แก่

  •  ผู้มีอายุต่ำกว่า 25 ปี เนื่องจากผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากสาร THC ส่งผลต่อสมองที่กำลังพัฒนา
  • ผู้ที่เป็นโรคตับ
  • ผู้ป่วยที่ติดสารเสพติด รวมถึงนิโคติน หรือเป็นผู้ดื่มสุราอย่างหนัก
  • ผู้ใช้ยาอื่นๆ เช่น ยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids), ยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) และยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • ผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการมากเพียงพอในสองกลุ่มนี้

 

ไม่เพียงแต่ผู้ป่วยที่ต้องการใช้สารสกัดกัญชา ประชาชนทั่วไปที่ต้องการใช้กัญชาก็ต้องระมัดระวังข้อห้ามข้างต้นด้วย ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ที่พรรคภูมิใจไทยเสนอ และเพิ่งผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระแรกเมื่อวานนี้ (8 มิถุนายน) มีบทบัญญัติห้ามขายกัญชาเพื่อนำไปบริโภคแก่บุคคล 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร และบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่จะไม่บังคับสำหรับในทางการแพทย์

 

☘ กลิ่นและควันจากการปุ๊นเป็นเหตุรำคาญ โทษหนักกว่าบุหรี่ ☘

 

ถึงแม้จุดเริ่มต้นของกฎหมายกัญชาจะเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นหลัก และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 อนุทินกล่าวในการแถลงข่าวร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ว่า “การใช้ทางการแพทย์ เศรษฐกิจ ค้นคว้า วิจัย พัฒนานวัตกรรมจากกัญชา คือเจตนารมณ์หลัก ส่วนนันทนาการเป็นสิ่งสุดท้าย ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามี-ไม่มีผลต่อจิตประสาทค่อยมาพิจารณากัน” แต่การปลูกกัญชาได้ในครัวเรือนทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกัญชาได้ง่าย และอาจนำไปใช้เพื่อนันทนาการหรือ ‘ดูดปุ๊น’ ได้ 

 

การเสพกัญชามีผลระยะยาวต่อจิตประสาท ทำให้เกิดโรคจิต การฆ่าตัวตาย การติดยา สมองฝ่อ ความคิด-ความจำผิดปกติ รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ ถุงลมโป่งพอง และมะเร็งอัณฑะ ในต่างประเทศที่เปิดเสรีกัญชาพบผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์หรือผู้ทำร้ายตนเองที่ตรวจพบสารกัญชามากขึ้น และมีอัตราการนอนโรงพยาบาลจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับกัญชามากขึ้น จึงควรมีกฎหมายควบคุมการเสพกัญชาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคม

 

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 กระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีปลดล็อกกัญชา กัญชง ว่าได้เตรียมความพร้อมรองรับในเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในการนำกัญชา กัญชงไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม โดยการออกประกาศกำหนดให้กลิ่นควันกัญชา กัญชงเป็น ‘เหตุรำคาญ’ ซึ่งตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 25 หมายถึง เหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้น

 

โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในทางปฏิบัติอาจบังคับใช้ได้ยาก เพราะนิยามเหตุรำคาญอาจไม่ครอบคลุมการปุ๊นภายในครัวเรือน และผู้บังคับใช้กฎหมายนี้คือเจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้แก่ นายก อบจ., นายกเทศมนตรี/อบต., ผู้ว่าฯ กทม., นายกเมืองพัทยา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น โดยมีเจ้าพนักงานสาธารณสุขให้การสนับสนุนการทำงาน เช่น การลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง การให้ข้อเสนอแนะหรือให้คำแนะนำแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น

 

นอกจากนี้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดยังส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อให้ช่วยออกกฎหมายป้องกันการโฆษณากัญชาในทางนันทนาการ เช่น Ganja Night ในสถานบันเทิง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมาย ส่วนกรณีการป้องกันชาวต่างชาติเข้าใจผิดว่าไทยใช้กัญชาเสรี ทางสถาบันกัญชาทางการแพทย์จะดูแลเรื่องการให้ความรู้ประชาชน ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางความรอบรู้เกี่ยวกับกัญชา (Cannabis Literacy)

 

☘ ถ้าจะปลูกกัญชาต้องทำอย่างไร ☘

 

ต่อเนื่องจากการแถลงข่าวข้างต้น กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่า ผู้ที่ต้องการปลูกกัญชาสามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน ‘ปลูกกัญ’ หรือเว็บไซต์ของ อย. (https://plookganja.fda.moph.go.th) และสามารถถอนการจดแจ้งได้เมื่อพบการกระทำความผิดที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้การจดแจ้งแอปพลิเคชันปลูกกัญนั้นเป็นไปเพื่อรักษาสิทธิของผู้ปลูกก่อนที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชงจะประกาศบังคับใช้ 

 

โดยแจ้งตามวัตถุประสงค์การปลูก ซึ่งการปลดล็อกนี้จะทำให้ประชาชนสามารถปลูกเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและใช้ในครัวเรือน, เพื่อนำไปใช้ในการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายในกรณีที่เป็นแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน และเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์หรือในทางอุตสาหกรรมได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอจดแจ้งแล้วเกือบแสนราย ทั้งนี้การปลูกในเชิงพาณิชย์ในอนาคตน่าจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เช่น การจดแจ้ง และได้รับการประเมิน ตรวจสอบ และพิจารณาอนุญาต

 

☘ ข้อเสนอจากสมาคมจิตแพทย์ฯ ☘

 

จะเห็นว่าการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษของกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับเรื่องผลกระทบอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่เพิ่งเริ่มพิจารณาในรัฐสภา มาตรการป้องกันการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการยังขาดความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และกฎหมายอื่นๆ เช่น การโฆษณากัญชายังอยู่ระหว่างการพิจารณา รวมถึงการแนะนำการใช้ประโยชน์และการสร้างความตระหนักถึงโทษของกัญชาที่ต้องดำเนินไปพร้อมกัน

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้เสนอคำแนะนำต่อการอนุญาตให้มีการใช้ ปลูก หรือผลิตกัญชาในประเทศไทย 5 ข้อดังนี้

  • กระทรวงสาธารณสุขควรมีคำแนะนำที่ชัดเจนว่าส่วนไหนของกัญชาควรและไม่ควรใช้
  • การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ควรเริ่มจากการใช้กัญชาในทางการแพทย์
  • การส่งเสริมให้ปลูกกัญชาก่อนจึงให้ความรู้ตามหลัง จะก่อให้เกิดปัญหาการใช้กัญชาที่เป็นอันตรายได้
  • สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยมีความห่วงใยและอยากเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องสร้างการจำกัดการเข้าถึงกัญชาของกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์
  • สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยจึงเรียกร้องให้ทางรัฐบาลจัดทำมาตรการที่นอกเหนือไปจากที่มีในขณะนี้อย่างเป็นรูปธรรมก่อนการปลูกอย่างเสรี เพื่อป้องกันกลุ่มเปราะบาง เพราะ
    • เด็กและเยาวชนมีโอกาสเสพติดกัญชามากกว่าผู้ใหญ่ 
    • กัญชาส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา การคิดแบบมีเหตุผล และการยับยั้งชั่งใจทั้งขณะเสพและหลังเสพ และต่อลูกในครรภ์ของมารดาที่ใช้ 
    • การเสพติดกัญชาส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น
    • กัญชาเป็นเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคจิตและจิตเภทได้

 

โดยสรุปตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ทุกส่วนของกัญชา ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย ประชาชนสามารถปลูกและนำกัญชามาใช้ในครัวเรือนได้ โดยควรจดแจ้งการปลูกต่อ อย. เด็กและสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ควรบริโภคกัญชา รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาบางชนิด การปรุงอาหารควรเลือกใช้ส่วนของใบ ในขณะที่การใช้เพื่อนันทนาการมีผลเสียต่อสุขภาพและอาการทางจิต อาจส่งผลต่อครอบครัวและสังคมได้

 

อ้างอิง:

The post ปลูก ปรุง ปุ๊น ควรระวังอะไรบ้าง หลังปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด appeared first on THE STANDARD.

]]>
พื้นที่เสี่ยงต่ำไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เปิดแนวทางใหม่ CDC ให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามระดับความเสี่ยง https://thestandard.co/no-face-mask-needed-new-cdc-measure/ Tue, 01 Mar 2022 01:18:32 +0000 https://thestandard.co/?p=600190

ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประชาชนมากกว่า 70% ในส […]

The post พื้นที่เสี่ยงต่ำไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เปิดแนวทางใหม่ CDC ให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามระดับความเสี่ยง appeared first on THE STANDARD.

]]>

ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ประชาชนมากกว่า 70% ในสหรัฐอเมริกาไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะอีกต่อไป ภายหลังศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศแนวทางประเมินความเสี่ยงของโควิดในชุมชนใหม่ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงต่ำ ปานกลาง และสูง โดยแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงสูงเท่านั้น CDC มีเกณฑ์ประเมินความเสี่ยงอย่างไร และประเทศไทยจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หรือไม่

 

เกณฑ์ประเมินความเสี่ยงเดิม

 

หลังจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศแนวทางประเมินความเสี่ยงของโควิดในชุมชนใหม่ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้เกิดการเปรียบเทียบภาพสองภาพระหว่างภาพแผนที่ที่ประเมินด้วยเกณฑ์เดิมกับเกณฑ์ใหม่ ว่าการระบาดของโควิดหายไปภายใน 1 วัน เพราะภาพที่ใช้เกณฑ์เดิม พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นสีแดง ในขณะที่ภาพที่ใช้เกณฑ์ใหม่ จะมีทั้งสีเขียว-เหลือง-ส้มปะปนกันไป และพื้นที่เสี่ยงสูงสุด (สีส้ม) ลดลงเหลือประมาณ 40%

 

 

‘ระดับการระบาดในชุมชน’ (Levels of Community Transmission) เป็นแนวทางประเมินความเสี่ยงเดิม ส่วนแนวทางใหม่เรียกว่า ‘ระดับโควิดในชุมชน’ (COVID-19 Community Levels) ถึงแม้อาจฟังดูคล้ายกัน แต่คำที่ถูกตัดออกไปคือ ‘การระบาด’ (Transmission) นั่นคือ CDC ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์การแพร่เชื้อในชุมชนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่จะสนใจสถานการณ์ผู้ป่วยอาการรุนแรง และความสามารถของระบบสาธารณสุขในชุมชนด้วย

 

สำหรับแนวทางเดิม CDC ประกาศใช้มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 มีเป้าหมายเพื่อการจำกัดการแพร่เชื้อในชุมชน ในระหว่างที่รอการวิจัยและกระจายวัคซีน แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่

  • สีแดง: สูงมาก (High)
  • สีส้ม: สูง (Substantial)
  • สีเหลือง: ปานกลาง (Moderate)
  • สีน้ำเงิน: ต่ำ (Low)

 

พิจารณาจากตัวชี้วัด 2 ข้อ คือ

  • อัตราป่วยรายใหม่ต่อ 1 แสนประชากรใน 7 วันที่ผ่านมา
  • ร้อยละการตรวจพบผลบวกด้วยวิธี RT-PCR (% Positive) ใน 7 วันที่ผ่านมา

 

 

แนวทางนี้บอกสถานการณ์การระบาดในชุมชนได้ครอบคลุม (ตามชื่อ) เพราะประเมินจากอัตราป่วย ถ้าอัตราป่วยเพิ่มขึ้น แสดงว่าการระบาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับ % Positive ซึ่งสะท้อนความเหมาะสมของการตรวจหาเชื้อ ถ้า % Positive สูง แสดงว่ายังตรวจหาเชื้อได้น้อย ควรเพิ่มการตรวจเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อ ต่อด้วยการสอบสวนโรคติดตามผู้สัมผัส จะได้ควบคุมการระบาดได้ ส่วนประชาชนควรระมัดระวังตัวเพิ่มขึ้น เพราะอาจยังมีผู้ติดเชื้ออีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการตรวจ

 

ทว่าเกณฑ์นี้ไม่ได้สะท้อนความรุนแรงของโรค หรือแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข เพราะระดับภูมิคุ้มกันของประชาชนที่สูงลดความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ทั้งอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น ความครอบคลุมของเข็มกระตุ้น (Booster) ในกลุ่มเสี่ยง และอัตราการติดเชื้อที่สูงในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ทำให้มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมียาต้านไวรัส และการตรวจหาเชื้อที่เข้าถึงได้มากขึ้น CDC จึงเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการลดผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมแทน

 

แนวทางประเมินความเสี่ยงใหม่

 

นำมาสู่แนวทางประเมินความเสี่ยงใหม่ ซึ่งมีตัวชี้วัด 3 ข้อ ได้แก่

  • อัตราป่วยรายใหม่ต่อ 1 แสนประชากร (รวม 7 วัน)
  • อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาลต่อ 1 แสนประชากร (รวม 7 วัน)
  • อัตราครองเตียงของผู้ป่วยโควิด (เฉลี่ย 7 วัน)

 

 

ถึงอัตราป่วยรายใหม่จะเป็นตัวชี้วัดเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือเกณฑ์แบ่งระหว่างความเสี่ยงต่ำกับปานกลาง-สูง ซึ่งเดิมถ้ามากกว่า 100 รายต่อ 1 แสนประชากร คือ จะถือว่ามีความเสี่ยง ‘สูง’ (เทียบกับกรุงเทพฯ ซึ่งมีประชากรประมาณ 8.5 ล้านคน จะเท่ากับ 8,500 รายต่อสัปดาห์หรือ 1,200 รายต่อวัน) แต่แนวทางใหม่ใช้เกณฑ์ 200 รายต่อ 1 แสนประชากร ถ้ามากกว่านี้จะถือว่าไม่ใช่ความเสี่ยงต่ำ (เทียบกับกรุงเทพฯ คือ 17,000 รายต่อสัปดาห์หรือ 2,400 รายต่อวัน) 

 

สมมติว่ามีอัตราป่วยรายใหม่มากกว่า 200 รายต่อ 1 แสนประชากร ถัดมาจะต้องพิจารณาอัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล ถ้าน้อยกว่า 10 รายต่อ 1 แสนประชากรจะถือว่าความเสี่ยง ‘ปานกลาง’ แต่ถ้ามากกว่าจะถือว่าความเสี่ยง ‘สูง’ (เทียบกับกรุงเทพฯ คือ 850 รายต่อสัปดาห์) และพิจารณาอัตราครองเตียงเฉลี่ย ถ้าน้อยกว่า 10% ต่อวันจะถือว่าความเสี่ยง ‘ปานกลาง’ แต่ถ้ามากกว่าจะถือว่าความเสี่ยง ‘สูง’ โดยยึดตามระดับความเสี่ยงที่สูงที่สุดระหว่าง 2 ตัวชี้วัดนี้

 

ทั้งนี้ CDC มีหลักการในการเลือกตัวชี้วัดว่าจะต้องเป็นข้อมูลที่มีการรวบรวมในระดับเคาน์ตี (County หรือเขตการปกครองที่ต่ำกว่ารัฐ) มีความครอบคลุมในระดับประเทศ สะท้อนเป้าหมายในการเน้นความรุนแรงของโรค หรือแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข และมีการรายงานอย่างน้อยรายสัปดาห์เพื่อที่จะสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการควบคุมโรคได้ทันเวลา อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ (Correlation) ของตัวชี้วัดกับการระบาดและความรุนแรงของโรคในอีก 3 สัปดาห์ถัดไปด้วย

 

คำแนะนำการปฏิบัติตัวในแต่ละระดับมีดังนี้

  • ทุกพื้นที่ ต้องได้รับวัคซีนและเข็มกระตุ้น และตรวจหาเชื้อเมื่อมีอาการ
  • พื้นที่สีเหลือง ผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการสวมหน้ากาก
  • พื้นที่สีส้ม สวมหน้ากากเมื่ออยู่ในภายในอาคาร (Indoor) ที่เป็นพื้นที่สาธารณะ รวมถึงโรงเรียน โดยไม่คำนึงถึงประวัติการได้รับวัคซีน

 

สังเกตว่าการปรับมาตรการในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนที่อเมริกาอยู่ในช่วงขาลง หลังผ่านจุดสูงสุดของการระบาดเมื่อกลางเดือนมกราคม 2565 ด้วยจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เกือบ 1 ล้านคนต่อวัน แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 70,000 รายต่อวัน ซึ่งกลับลงไปใกล้เคียงกับช่วงท้ายของระลอกเดลตาแล้ว ในขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มเท่ากับ 76.9% ครบ 2 เข็ม 65.1% (ต่ำกว่าไทย) และเข็มกระตุ้น 28.5%

 

การประเมินความเสี่ยงของไทย

 

สำหรับประเทศไทยก็อาจเตรียมตัวหลังผ่านการระบาดของโอมิครอนในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งเมื่อปลายธันวาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขเคยประกาศระดับความเสี่ยง (Risk) และระดับการเตือนภายจากโควิด (Alert Level) ไว้แล้ว โดยแบ่งระดับความเสี่ยงแบ่งเป็น 5 ระดับ ได้แก่

  • เสี่ยงต่ำมาก (Very Low)
  • ต่ำ (Low)
  • เสี่ยงปานกลาง (Moderate)
  • เสี่ยงสูง (Substantial)
  • วิกฤต (High)

 

ใช้ตัวชี้วัด 2 ข้อ คือ

  • อัตราป่วยต่อ 1 แสนประชากรต่อวัน เฉลี่ย 7 วัน (รักษาในโรงพยาบาล) 
  • อัตราครองเตียงเหลืองแดงต่อวัน เฉลี่ย 7 วัน

 

ตัวชี้วัดแรกแบ่งเป็น 5 ระดับ ระดับสูงสุดคือมากกว่า 50 รายต่อแสนประชากรต่อวัน (สำหรับกรุงเทพฯ คือ 4,250 รายต่อวัน) ไขว้กับตัวชี้วัดหลัง ซึ่งเป็นแบ่งเป็น 4 ระดับ เริ่มต้นที่อัตราครองเตียงเหลืองแดงน้อยกว่า 50% เป็นตารางประเมินความเสี่ยง (Risk Matrix) 5×4 ดังภาพประกอบ

 

 

ข้อมูลจากการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดที่มีอัตราครองเตียงเหลือง-แดงมากที่สุดคือ ภูเก็ต 69.0% รองลงมาเป็นสมุทรปราการ 39.0% และสุราษฎร์ธานี 37.2% ส่วนกรุงเทพฯ ยังอยู่ที่ 19.6% ในขณะที่อัตราป่วยรายใหม่เฉลี่ย 35.1 รายต่อ 1 แสนประชากรต่อวัน เมื่อนำมาเทียบในตารางจะได้ระดับความเสี่ยง ‘ต่ำ’ (สีเหลือง) แต่หากใช้แนวทางของ CDC จะได้ความเสี่ยง ‘สูง’ จึงยังต้องสวมหน้ากากต่อ

 

อย่างไรก็ตาม ‘ระดับความเสี่ยง’ จะไม่เท่ากับ ‘ระดับการเตือนภัย’ เพราะในการเตือนภัย (ขณะนี้เป็นระดับ 4) กระทรวงสาธารณสุขยังคำนึงถึงความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มในกลุ่ม 607 และการพบการระบาดแบบคลัสเตอร์เกินศักยภาพการควบคุมโรคของพื้นที่ และเกิดขึ้นพร้อมกันหลายจังหวัด/ภูมิภาคด้วย ซึ่งคำแนะนำการปฏิบัติตัวจะขึ้นกับระดับการเตือนภัย และขณะนี้ทุกระดับการเตือนภัยยังแนะนำให้สวมหน้ากากอยู่

 

โดยสรุปในต่างประเทศเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิดมากขึ้นหลังจากการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนมีแนวโน้มลดลง บทความนี้ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) ประกาศแนวทางประเมินความเสี่ยงของโควิดในชุมชนใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความรุนแรงจากโควิดและผลกระทบต่อสังคม ใช้ตัวชี้วัด 3 ข้อ ได้แก่ อัตราป่วยรายใหม่ อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล และอัตราครองเตียงของผู้ป่วยโควิด 

 

แบ่งความเสี่ยงเป็น 3 ระดับคือ ต่ำ-ปานกลาง-สูง สังเกตว่า CDC ลดความสำคัญของจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยกำหนดเกณฑ์อัตราผู้ป่วยรายใหม่สูงขึ้น และเพิ่มตัวชี้วัดเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคและศักยภาพของระบบสาธารณสุข แล้วแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามระดับความเสี่ยงในชุมชน ซึ่งพื้นที่เสี่ยงต่ำประชาชนทั่วไปไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก พื้นที่เสี่ยงปานกลางแนะนำเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และพื้นที่เสี่ยงสูงแนะนำให้ทุกคนสวมกากภายในอาคารสาธารณะ

 

อ่านเพิ่มเติม

 

อ้างอิง:

The post พื้นที่เสี่ยงต่ำไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย เปิดแนวทางใหม่ CDC ให้ประชาชนปฏิบัติตัวตามระดับความเสี่ยง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ข้อดี-ข้อเสียของการยกเลิกสิทธิฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยโควิด (UCEP COVID) https://thestandard.co/pros-and-cons-on-dismissing-ucep-covid-emergengy-right/ Mon, 28 Feb 2022 02:53:03 +0000 https://thestandard.co/?p=599684 ข้อดี-ข้อเสียของการยกเลิกสิทธิฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยโควิด (UCEP COVID)

ถ้าป่วยเป็นโควิดยังรักษาฟรีอยู่หรือไม่ ถ้ายกเลิกนโยบายผ […]

The post ข้อดี-ข้อเสียของการยกเลิกสิทธิฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยโควิด (UCEP COVID) appeared first on THE STANDARD.

]]>
ข้อดี-ข้อเสียของการยกเลิกสิทธิฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยโควิด (UCEP COVID)

ถ้าป่วยเป็นโควิดยังรักษาฟรีอยู่หรือไม่ ถ้ายกเลิกนโยบายผู้ป่วยโควิดเป็น ‘ผู้ป่วยฉุกเฉิน’ (UCEP COVID) จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยอย่างไร เรื่องนี้มีความกังวลมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2565 ยิ่งในช่วงนี้มีการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น การยกเลิกนโยบายนี้อาจทำให้ผู้ติดเชื้อถูกปฏิเสธการรักษา แล้วจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปอีกหรือไม่

 

เพราะตามแผนปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ของกระทรวงสาธารณสุข นโยบายนี้จะถูกยกเลิกในวันที่ 1 มีนาคม 2565 และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้โรคโควิด-19 ‘รักษาตามสิทธิ’ ตามที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเสนอขึ้นมาเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

 

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงสาธารณสุข ‘ทบทวน’ การยกเลิกนโยบายนี้ หลังจากนำเรื่องหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเข้า ครม. ดังนั้นในขณะนี้ผู้ป่วยโควิดยังถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน จึงรักษาฟรีได้ทุกที่ทุกสิทธิ และโรงพยาบาลเอกชนไม่สามารถปฏิเสธผู้ป่วยได้ หากโรงพยาบาลไม่มีศักยภาพหรือไม่มีเตียงต้องส่งต่อผู้ป่วย และไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้

 

ความกังวลต่อการยกเลิกนโยบายนี้มีหลายประเด็นที่จะต้องพิจารณาพร้อมกัน ทั้งทางการแพทย์ (โควิดจำเป็นต้องรักษาแบบฉุกเฉินหรือไม่) สาธารณสุข (ถ้าผู้ป่วยต้องไปรับการรักษาตามสิทธิมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร) เศรษฐศาสตร์ (UCEP COVID มีภาระด้านงบประมาณเท่าไร) และการเมือง (ทำไม ครม. ถึงให้ สธ. กลับไปทบทวน และหากยกเลิกจริง รัฐบาลควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยหรือไม่)

 

ระบบประกันสุขภาพของไทย

ก่อนจะพูดถึงสิทธิ UCEP ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพของไทยก่อน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 3 ระบบหลัก ได้แก่ 

  1. ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ ‘บัตรทอง’ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 
  2. ระบบประกันสังคม ของสำนักงานประกันสังคม 
  3. ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ของกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

 

ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา คนไทยทุกคนจะได้รับสิทธิบัตรทองเป็นพื้นฐานตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรือนโยบาย ‘30 บาท รักษาทุกโรค’ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยผู้ป่วยจะต้องร่วมจ่ายค่าบริการ 30 บาท ต่อมาปี 2549 รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ยกเลิกการเก็บค่าบริการนี้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่ารักษาหรือ ‘รักษาฟรี’ มาตลอด

 

หากทำงานเป็นข้าราชการ สิทธิบัตรทองก็จะเปลี่ยนเป็นสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2521 แต่ถ้าทำงานภาคเอกชน หรือเป็นลูกจ้างในภาคราชการก็จะกลายเป็น ‘ผู้ประกันตน’ และได้รับสิทธิประกันสังคมแทน ซึ่งเริ่มในปี 2533 ผู้ป่วยทั้ง 2 สิทธิไม่ต้องเสียค่ารักษาเช่นกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันคนไทยได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิ ‘ทุกคน’

 

โดยระบบบัตรทองครอบคลุมประชาชนมากที่สุด 49 ล้านคน รองลงมาเป็นระบบประกันสังคม 12 ล้านคน และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 5 ล้านคน ทั้งนี้สิทธิประโยชน์และงบประมาณของแต่ละระบบยังมีความเหลื่อมล้ำ (ไม่ได้กล่าวถึงในบทความนี้) แต่การรักษาโรคทั่วไป รวมถึงโรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไม่ได้แตกต่างกันในประเด็นสำคัญ

 

สิทธิ UCEP คืออะไร

ในขณะที่ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) เป็นสิทธิการรักษาฟรีของผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบาย ‘เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่’ เริ่มในปี 2560 เพื่อแก้ปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ‘นอกสิทธิ’ ซึ่งเดิมต้องสำรองค่ารักษาไปก่อนแล้วมาเบิกคืนตามอัตราที่กำหนด ทำให้ถูกเรียกเก็บค่ามัดจำก่อนให้บริการ หรือไม่ยอมให้คนไข้กลับหรือย้ายจนกว่าจะจ่ายค่ารักษา

 

ถึงแม้จะแก้ด้วยนโยบาย ‘เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน’ (EMCO) ในปี 2555 แล้ว แต่ยังขาดกฎหมายรองรับ และการจ่ายชดเชยมีอัตราต่ำ โรงพยาบาลยังเรียกเก็บค่ารักษาจากประชาชน จึงมีการแก้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล และกำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเสนอ ครม. เห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่จำกัดเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือ ‘สีแดง’ และสำหรับการรักษาภายใน 72 ชั่วโมงแรกเท่านั้น

 

โดยภาวะ ‘ฉุกเฉินวิกฤต’ ตามเกณฑ์ของ สปสช. มีทั้งหมด 6 อาการที่เข้าข่าย ได้แก่

  • หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  • หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง
  • ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น
  • เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  • แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
  • อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่าย

 

ทำไมถึงเตรียมยกเลิก UCEP COVID  

สำหรับโควิด กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ผู้ป่วยโรคโควิดเป็น ‘ผู้ป่วยฉุกเฉิน’ (UCEP COVID) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล และมติ ครม. ที่เห็นชอบหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ผู้ป่วยโควิดจึงสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ ขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนก็ไม่สามารถปฏิเสธผู้ป่วยได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเรียกเก็บจาก สปสช.

 

จนกระทั่งปี 2565 สธ. มีแผนปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น จึงเตรียมยกเลิกนโยบายนี้ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าในช่วงแรกยังมีความรู้ความเข้าใจทั้งการรักษาและการควบคุมโรคน้อย ผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้น จึงนำ UCEP เข้ามาใช้ควบคู่กับการควบคุมโรค คือทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าสู่โรงพยาบาลให้มากที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

 

แต่ขณะนี้มีความรู้เกี่ยวกับโควิดมากขึ้น และเป็นการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนที่รุนแรงน้อยกว่าเดลตา โดยผู้ติดเชื้อกว่า 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล จึงเน้นให้รับการดูแลในระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) รวมถึงเตรียมปรับให้ผู้ติดเชื้อโควิดเข้าสู่ระบบการ ‘รักษาตามสิทธิ’ ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่าย 

 

ยกเว้นไปโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบโดยไม่มีอาการจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แต่หากผู้ป่วยมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤตยังใช้สิทธิ UCEP ได้ตามปกติเหมือนโรคอื่นๆ ซึ่งการเตรียมปรับโควิดมาสู่การรักษาตามสิทธิจะช่วยให้ระบบสาธารณสุขมีเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคอื่นได้ ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งกำกับดูแลโรงพยาบาลเอกชนชี้แจงในวันเดียวกันว่า

 

ยืนยันว่าการปรับโควิดมาสู่การรักษาตามสิทธิ ไม่กระทบในช่วงนี้ที่มีการติดเชื้อสูงขึ้น เนื่องจากเป็นการกระจายผู้ป่วยไปตามจุดต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนตามสิทธิ และหากผู้ติดเชื้อโควิดมีอาการเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤต ยังเข้ารักษาทุกที่ได้ตามสิทธิ UCEP โดยจะมีการเพิ่มเติมรายการที่ยังไม่ครอบคลุม เช่น อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายได้ 

 

แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ครม. ได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง โดยจะเน้นทำความเข้าใจประชาชน ทั้งการเข้าสู่ระบบเมื่อติดเชื้อ ช่องทางติดต่อ การใช้สิทธิรักษาของแต่ละระบบประกันสุขภาพ ความเข้าใจเรื่องระดับอาการที่มีการดูแลแตกต่างกัน เช่น อาการสีเหลือง-แดงที่เข้ารักษาได้ทุกที่มีเกณฑ์อย่างไร เพื่อให้ประชาชนเข้ารับบริการได้ถูกช่องทาง 

 

ภาระด้านงบประมาณของ UCEP

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงข่าวถึงงบประมาณที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่ง สปสช. ได้นำเสนอในที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ว่าทั้ง 3 ระบบประกันสุขภาพใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 3,841.15 ล้านบาท และ 97,747.94 ล้านบาทในปี 2563 และปี 2564 ส่วนปีนี้ สปสช. ตั้งงบไว้ 32,4888 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเสนอขอรับงบเพิ่ม 51,065.12 ล้านบาท

 

และเมื่อเฉลี่ยค่ารักษาต่อผู้ป่วย 1 ราย แบ่งตามระดับอาการและประเภทโรงพยาบาล เป็นดังนี้

  • สีเขียว โรงพยาบาลรัฐ 23,248 บาท โรงพยาบาลเอกชน 50,326 บาท (2.2 เท่าของโรงพยาบาลรัฐ)
  • สีเหลือง โรงพยาบาลรัฐ 81,844 บาท โรงพยาบาลเอกชน 92,752 บาท (1.1 เท่าของโรงพยาบาลรัฐ)
  • สีแดง โรงพยาบาลรัฐ 252,182 บาท โรงพยาบาลเอกชน 375,428 บาท (1.5 เท่าของโรงพยาบาลรัฐ)

 

การแถลงข่าวครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่พูดถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโควิด ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมยกเลิกนโยบาย UCEP COVID เพราะ นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวถึงสัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับสิทธินี้ด้วยว่า ระหว่างปี 2563-2564 มีจำนวนบริการ 768,491 ครั้ง แบ่งเป็นผู้ป่วยสีเขียว 88% สีเหลือง 11% และสีแดง 1% สะท้อนถึงภาระด้านงบประมาณของนโยบายนี้ได้ชัดเจน

 

ทำไม ครม. ถึงให้ สธ. กลับไปทบทวน

ข้อดีของการยกเลิกนโยบาย UCEP COVID อย่างแรกคือการประหยัดงบประมาณ เพราะจากที่ นพ.ทวีศิลป์แถลง ผู้ใช้สิทธินี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว และยอดการจ่ายค่าชดเชยกรณี UCEP COVID ให้โรงพยาบาลเอกชนสูงถึง 16,225 ล้านบาท ถึงแม้เมื่อผู้ป่วยกลับไปรักษาตามสิทธิ ทั้ง 3 ระบบก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่ดี แต่น่าจะควบคุมการเบิกจ่ายได้ง่ายกว่า 

 

เพราะอัตราจ่ายกรณี UCEP เป็นการจ่ายตามรายการบริการ (Fee Schedule) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไว้ ในขณะที่การรักษาตามสิทธิ สปสช. จะจ่ายตามรายป่วย (Per-Case Payment) โดยใช้กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (Diagnosis-Related Groups: DRGs) ว่าผู้ป่วยโควิดสีเขียว-เหลือง-แดงจะเหมาจ่ายเท่าใด

 

อย่างต่อมาคือความเท่าเทียมของการเข้าถึงบริการตามความจำเป็น (Equal access for equal need) โควิดจะกลายเป็น ‘โรคทั่วไป’ (สธ. มักใช้คำว่า ‘โรคประจำถิ่น’) ผู้ป่วยโควิดสีเขียวจะไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วย ‘ฉุกเฉินวิกฤต’ จึงไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เหมือนกับผู้ป่วยโรคหวัดที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ทำให้ระบบสาธารณสุขมีเตียงสำหรับดูแลผู้ป่วยโรคอื่นได้

 

ทว่าการยกเลิกนโยบายนี้จะมีข้อเสียในสถานการณ์ที่การระบาดรุนแรง เพราะเมื่อผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดภาวะคอขวดที่ระบบคัดกรองผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยสีเหลือง-แดงอาจได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีโรงพยาบาลรัฐไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่มีโรงพยาบาลเอกชนกระจายอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งสามารถช่วยดูแลผู้ป่วยสิทธิ UCEP COVID ได้

 

ที่สำคัญผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิไม่ตรงกับที่อยู่จริง ซึ่งค้างคามานาน หลายคนย้ายเข้ามาทำงานจึงมีสิทธิการรักษาบัตรทองอยู่ต่างจังหวัด บางคนยังไม่ได้ติดต่อย้ายสิทธิประกันสังคม รวมถึงบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ หากยกเลิกสิทธิ UCEP COVID คนกลุ่มนี้จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ทำให้ไม่ได้รับการดูแลรักษาตามมาตรฐาน

 

สำหรับเหตุผลที่ ครม.ให้ สธ. กลับไปทบทวนการยกเลิกนโยบายนี้ ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ว่า เพราะต้องมีการซักซ้อมทำความเข้าใจ ปรับการบริการ รองรับผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการหรือกลุ่มสีเขียวที่มีค่อนข้างมาก รวมถึงให้เพิ่มคู่สาย 1331 ให้การบริการครอบคลุม ก่อนที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวกลับมาสู่ที่ประชุม ครม. อีกครั้ง

 

สิทธิสำหรับผู้ป่วยโควิดจะเป็นอย่างไร

เนื่องจาก ครม. มีมติให้ ‘ชะลอ’ ประกาศยกเลิกสิทธิ UCEP COVID ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ออกไปก่อน ดังนั้นในขณะนี้ผู้ป่วยโควิดจึงยังเป็น ‘ผู้ป่วยฉุกเฉิน’ สามารถสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่ สธ. อาจเสนอเรื่องนี้เข้า ครม. ใหม่อีกครั้ง โดยน่าจะเป็นนโยบาย UCEP Plus แทน

 

ซึ่ง นพ.ธเรศ เคยกล่าวถึงเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ว่าผู้ป่วยสีเขียวจะได้รับการ ‘รักษาตามสิทธิ’ ที่บ้านหรือชุมชนเป็นหลัก (นโยบาย HI/CI First) ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ส่วน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าจะมีการเพิ่มในส่วนผู้ป่วยสีเขียวที่มีโรคประจำตัวที่ควบคุมไม่ได้ให้สามารถใช้สิทธิ UCEP Plus ได้เช่นกัน

 

ทั้งนี้วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าเตรียมแผนปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น กล่าวว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนจากนี้ โดยจะจัดระบบบริการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพิ่มการดูแลในระบบผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ‘เจอ แจก จบ’ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนถึงกรณีผู้ป่วยที่อาจมีปัญหาเรื่องสิทธิ

 

สุดท้ายการบริหารจัดการให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นคงไม่ใช่แค่การยกเลิก ‘สิทธิฉุกเฉิน’ สำหรับผู้ป่วยโควิด หรือ UCEP COVID เท่านั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาควบคู่กันคือความจำเป็นของ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน’ ในการบริหารสถานการณ์โควิดหรือไม่ และควรเร่งพิจารณา พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่จะนำมาใช้แทนหลังจากนี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนเตรียมตัว

 

ผู้เขียนขอขอบคุณ นพ.ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ข้อเสนอแนะในการเขียนบทความ

 

อ้างอิง:

  • TDRI Factsheet 29: ความเหลื่อมล้ำ 3 ระบบประกันสุขภาพ https://tdri.or.th/2014/09/tdri-factsheet-29/ 
  • นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP) https://www.nhso.go.th/page/coverage_rights_emergency_patients 
  • ประสบการณ์ของผู้ป่วยที่ใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชนนอกเครือข่ายระบบประกันสุขภาพภาครัฐและขอใช้สิทธิ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ (UCEP)” https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/4934/hsri-journal-v12n3-p370-383.pdf 
  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฏหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/080/T_0047.PDF 
  • สธ.แจงเตรียมปรับ “โควิด” รักษา รพ.ตามสิทธิฟรี หากมีอาการวิกฤตยังรักษาทุกที่ตามสิทธิ UCEP ได้ https://pr.moph.go.th/index.php?url=pr/detail/2/04/170824/ 
  • เปิดเกณฑ์ “UCEP พลัส” ป่วยโควิด19 รักษาฟรีทุกที่ https://www.bangkokbiznews.com/social/989085 
  • สธ.ทบทวน “โควิด” รักษาฟรีตามสิทธิ ตามมติ ครม. ขณะนี้ยังใช้กลไก UCEP COVID ตามเดิม https://pr.moph.go.th/index.php?url=pr/detail/2/04/171136/ 
  • ครม. ให้ผู้ป่วยโควิดยึดหลักเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่ เบรกประกาศ ‘ยกเลิก UCEP หรือสิทธิฉุกเฉิน’ ออกไปก่อน https://thestandard.co/cabinet-let-coronavirus-patients-have-free-cure-and-dismiss-ucep/ 
  • ไทยจ่ายค่ารักษาโควิดแล้วกว่า 1 แสนล้าน พร้อมปรับอัตราใหม่ 1 มี.ค.65 https://www.hfocus.org/content/2022/02/24539

The post ข้อดี-ข้อเสียของการยกเลิกสิทธิฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยโควิด (UCEP COVID) appeared first on THE STANDARD.

]]>
เช็กข้อมูล ‘เดลตาครอน’ (Deltacron) สายพันธุ์ลูกผสมหรือปนเปื้อนในแล็บ https://thestandard.co/deltacron/ Sun, 09 Jan 2022 11:14:14 +0000 https://thestandard.co/?p=580568 Deltacron

เดลตาครอน (Deltacron) หรือ ‘สายพันธุ์ลูกผสม’ ระหว่างเดล […]

The post เช็กข้อมูล ‘เดลตาครอน’ (Deltacron) สายพันธุ์ลูกผสมหรือปนเปื้อนในแล็บ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Deltacron
  1. เดลตาครอน (Deltacron) หรือ ‘สายพันธุ์ลูกผสม’ ระหว่างเดลตา (Delta) กับโอมิครอน (Omicron) ยังไม่ใช่ชื่อสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกตั้งขึ้น แต่เป็นรายงานข่าวที่อ้างถึงการค้นพบไวรัสที่มีสารพันธุกรรมคล้ายกับเดลตาและโอมิครอนในตัวอย่างจากผู้ป่วยจำนวน 25 รายที่ประเทศไซปรัส เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (8 มกราคม)

 

  1. ดร.ลีออนดิออส คอสทริคิส (Leondios Kostrikis) ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยไซปรัส ให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นว่า “เราพบการกลายพันธุ์ที่จำเพาะกับสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นตรงที่มีการกลายพันธุ์ 30 ตำแหน่ง โดยในจำนวนนี้ 10 ตำแหน่งพบในตัวอย่างที่เก็บได้ในไซปรัส” สำหรับรายละเอียดผู้ป่วยทั้ง 25 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล 11 ราย และอีก 14 รายมาจากในชุมชน

 

  1. “ความถี่ของการกลายพันธุ์สูงกว่าในผู้ป่วยในโรงพยาบาล ซึ่งอาจหมายความว่ามีความสัมพันธ์กันระหว่างเดลตาครอนกับการรักษาตัวในโรงพยาบาล” ดร.คอสทริคิสให้ข้อมูลเพิ่มเติม และได้ส่งผลการถอดรหัสพันธุกรรมไปยัง GISAID ซึ่งเป็นฐานข้อมูลนานาชาติแล้ว แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมีมากกว่านี้หรือไม่ หรือผลกระทบที่อาจเกิดจากสายพันธุ์นี้

 

  1. แต่ ดร.ทอม พีค็อก (Tom Peacock) นักไวรัสวิทยาแห่งอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ว่ามีความเป็นได้สูงที่จะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสารพันธุกรรมของสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนในห้องปฏิบัติการ เนื่องจากเมื่อนำข้อมูลมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ (Phylogenetic Tree) พบว่าตัวอย่างทั้งหมดไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน

 

  1. ขณะนี้เรายังมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับ ‘เดลตาครอน’ คงต้องรอการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติก่อน ซึ่งอาจต้องแยกความเป็นไปได้ 3 กรณีคือ ไวรัสลูกผสม (Hybrid) การติดเชื้อมากกว่า 1 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน (Mixed Infection) ซึ่งในประเทศไทยเคยมีรายงานกรณีสายพันธุ์อัลฟาและเดลตาในคนเดียวกัน หรือการปนเปื้อนของสารพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการ 

 

อ้างอิง:

The post เช็กข้อมูล ‘เดลตาครอน’ (Deltacron) สายพันธุ์ลูกผสมหรือปนเปื้อนในแล็บ appeared first on THE STANDARD.

]]>
หน้ากากผ้าป้องกัน ‘โอไมครอน’ ได้หรือไม่ https://thestandard.co/cloth-masks-are-useless-in-fight-against-omicron/ Tue, 04 Jan 2022 09:30:03 +0000 https://thestandard.co/?p=578802 หน้ากากผ้า

“ตกลงแล้วหน้ากากผ้าป้องกันโควิดได้หรือไม่” ที่ผ่านมาเวล […]

The post หน้ากากผ้าป้องกัน ‘โอไมครอน’ ได้หรือไม่ appeared first on THE STANDARD.

]]>
หน้ากากผ้า

“ตกลงแล้วหน้ากากผ้าป้องกันโควิดได้หรือไม่” ที่ผ่านมาเวลา ศบค. รณรงค์ให้ประชาชนใส่ ‘หน้ากาก’ จะหมายถึงหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก็ได้ แต่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 เพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ของ ศบค. ได้เผยแพร่อินโฟกราฟิกชิ้นหนึ่งที่มีข้อความว่า ‘เตือน! หน้ากากผ้ากัน Omicron ไม่ได้’ จากนั้นเพจไทยรู้สู้โควิดและกรมควบคุมโรคก็นำไปเผยแพร่ต่อ และมีผู้แชร์โพสต์นี้จำนวนมาก

 

แต่ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กลับชี้แจงว่า หน้ากากผ้ายังสามารถป้องกันโอไมครอนได้ เพราะโอไมครอนยังออกมากับสารคัดหลั่ง ไม่ต่างจากสายพันธุ์เดลตา อัลฟา และเบตา

 

และวันที่ 31 ธันวาคม 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ก็ยืนยันว่า การสวมหน้ากากเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อโควิดได้ทุกสายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์โอไมครอน เพราะเชื้อจะสามารถติดต่อผ่านทางละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย มีส่วนน้อยที่ติดต่อผ่านทางอากาศ ทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่าจะสามารถใช้หน้ากากผ้าต่อไปได้หรือไม่

 

หลักการเลือกใช้หน้ากาก

ก่อนหน้าที่จะมีโควิดระบาด ในโรงพยาบาลจะมีหน้ากากให้เลือกใช้ 2 ประเภทหลัก คือ ‘หน้ากากอนามัย’ หรือหน้ากากสีเขียว (ปัจจุบันมีให้เลือกหลายสี) กับ ‘หน้ากาก N95’ ซึ่งหลายคนรู้จักในช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่วนหลักการเลือกว่าจะสวมหน้ากากประเภทไหนขึ้นอยู่กับเชื้อโรค/โรคที่รักษาว่ามีวิธีการแพร่กระจายเชื้อจากคนสู่คนอย่างไร ระหว่างละอองฝอย (Droplet) กับทางอากาศ (Airborne)

 

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนใหญ่แพร่กระจายเชื้อผ่านละอองฝอยหรือละอองขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอน เช่น ละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ฯลฯ​ ป้องกันด้วยหน้ากากอนามัย จึงมักเห็นแพทย์และพยาบาลใส่เป็นประจำ แต่จะมีบางโรคที่แพร่กระจายผ่านทางอากาศหรือละอองขนาดเล็ก (Aerosal) เช่น วัณโรค ต้องสวมหน้ากาก N95 เพราะขอบหน้ากากจะแนบกับใบหน้าและป้องกันละอองขนาดเล็กได้ ≥95%

 

ต่อมามีโควิดระบาด หน้ากากอนามัยขาดแคลน จึงมีคำแนะนำให้คนทั่วไปใช้ ‘หน้ากากผ้า’ แทน ซึ่งสามารถป้องกันละอองขนาดใหญ่ได้ทั้งขาเข้าและขาออก (หายใจเข้าและพูดคุย ไอ จาม ที่อาจมีละอองกระเด็นออกไป) ส่วนหน้ากากอนามัยสำรองไว้ให้ผู้ติดเชื้อ/ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ ในขณะที่หน้ากาก N95 บุคลากรทางการแพทย์จะใช้สำหรับการ Swab หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อละอองขนาดเล็ก

 

แสดงว่าโควิดแพร่กระจายได้ทั้งละอองขนาดใหญ่และขนาดเล็กใช่หรือไม่ 

 

ใช่แล้ว ปัจจุบันเราทราบแล้วว่าโควิดแพร่กระจายผ่านละอองขนาดใหญ่ในระยะการพูดคุย 1-2 เมตร และผ่านละอองขนาดเล็ก ซึ่งลอยอยู่ในอากาศได้นานและไกลกว่า 1-2 เมตร โดยเฉพาะในสถานที่ปิด อับ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ส่วนการสัมผัสตา/จมูก/ปากด้วยมือที่ปนเปื้อนเชื้ออาจติดเชื้อได้ แต่ไม่ใช่ช่องทางหลัก

 

ในเมื่อเชื้อแพร่ผ่านทางอากาศ ตัวเลือกก็จะเหลือหน้ากาก N95 อย่างเดียวเลยใช่หรือไม่ 

 

คำถามนี้เองที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นไม่ตรงกัน บางคนเห็นว่าหน้ากากผ้าอย่างเดียวพอ (กระทรวงสาธารณสุข) บางคนเห็นว่าไม่พอ ต้องใช้สวมทับหน้ากากอนามัยด้านนอกเป็น 2 ชั้น บางคนเห็นว่าอย่างน้อยต้องสวมหน้ากากอนามัย (แพทย์ที่เพจ ศบค. อ้างถึง) บางคนเห็นว่าต้องสวมหน้ากาก N95 เพื่อความปลอดภัยสูงสุด

 

ถ้าเป็นนักวิชาการก็คงต้อง ‘เอาหลักฐานมากาง’ ตัดสินใจบนหลักฐานที่มีว่าหน้ากากแต่ละประเภทกรองละอองขนาดเล็กได้เท่าใด และประเมินความเสี่ยงว่ายอมรับได้แค่ไหน แต่สำหรับประชาชนก็อาจยึดตามที่อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้แจงล่าสุดก่อนสิ้นปี 2564 ว่า ‘หน้ากากผ้าป้องกันโควิดได้ทุกสายพันธุ์ เพราะมีส่วนน้อยที่ติดต่อผ่านทางอากาศ’ (ส่วนอินโฟกราฟิกของเพจ ศบค. ขอพูดถึงในตอนท้าย) 

 

แต่ถ้ายังไม่มั่นใจก็อาจยืนยันด้วยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐอเมริกา ซึ่งก็แนะนำให้ใช้หน้ากากผ้าที่หายใจได้สะดวกตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป ถ้าเป็นผ้าคลุมหน้าหรือผ้าบัฟฟ์ที่ใช้กันแดดและฝุ่นก็ควรพับให้เป็น 2 ชั้น โดย CDC ได้ทบทวนหลักฐานทางวิชาการแล้วพบว่า หน้ากากผ้าไม่เพียงป้องกันละอองขนาดใหญ่ แต่ยังป้องกันละอองขนาดเล็กได้ 50-70% สำหรับขาออก และอาจมากถึง 50% สำหรับขาเข้า

 

คำแนะนำเรื่องหน้ากากของ WHO

WHO ก็เพิ่งปรับปรุงข้อมูลเกี่ยวกับหน้ากากเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 ว่า หน้ากากที่แนะนำสำหรับคนทั่วไปมี 3 ประเภท ได้แก่

 

  1. หน้ากากทั่วไปและใช้ซ้ำได้ (Reusable Non-Medical Masks) ที่ผ่านมาตรฐาน ASTM F3502 หรือ CEN Working Agreement 17553 หรือเกณฑ์ที่ WHO กำหนด*

 

  1. หน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable Medical Masks) ที่ผ่านมาตรฐาน EN 14683 Type I หรือ ASTM F2100 Level 1 หรือ YY/T 0969 หรือ YY 0469 หรือเทียบเท่า

 

  1. หน้ากากทั่วไปอื่นๆ ที่สวมได้กระชับ (Other Types of Well-Fitting Non-Medical Masks) ซึ่งรวมถึงหน้ากากหลายชั้นที่ทำใช้เอง เป็นทางเลือกที่ยอมรับได้เมื่อไม่มีหน้ากากประเภทอื่น

 

*หากทำหน้ากากผ้าใช้เอง WHO แนะนำให้ประกอบด้วย 3 ชั้น โดยชั้นในสุดเป็นวัสดุดูดซับ เช่น ผ้าฝ้าย ชั้นกลางเป็นวัสดุไม่ผ่านการถักทอและไม่ดูดซับ เช่น โพลีโพรพิลีน (Polypropylene) และชั้นนอกเป็นวัสดุไม่ดูดซับ เช่น ผ้าโพลีเอสเตอร์ (Polyester) ซึ่งต่างจากที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า ให้ใช้ผ้ามัสลิน 2 ชั้น ซึ่งควรมีการวิจัยเพิ่มเติมหรือเพิ่มผ้าใยสังเคราะห์ด้านนอกอีกชั้นหนึ่งได้หรือไม่

 

นอกจากนี้ยังแนะนำ ‘หน้ากากอนามัย’ สำหรับกลุ่มต่อไปนี้

 

– ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

– ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง อ้วน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเบาหวาน เนื่องจากถ้าติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง

– ผู้มีอาการไม่สบาย รวมถึงผู้มีอาการเล็กน้อย เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ไอ เจ็บคอ หรืออ่อนเพลีย

– ผู้ที่รอผลการตรวจหาเชื้อหรือเพิ่งตรวจพบเชื้อ

 

ส่วนผู้ที่ต้องดูแลผู้ติดเชื้อควรสวมหน้ากาก N95 (มาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า เช่น KN95, FFP2) หรือหน้ากากอนามัย

 

ในการเลือกซื้อหน้ากากจึงต้องตรวจสอบว่าหน้ากากผ่านมาตรฐานข้างต้นหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์ในการประเมินอย่างน้อย 2 ข้อ คือ ประสิทธิภาพการกรอง (Filtration) และการหายใจ (Breathability) ยกตัวอย่าง หน้ากากผ้าต้องผ่านมาตรฐาน ASTM F3502 โดยสามารถกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน 20-50% และความต้านทานของการผ่านอากาศ <6-15 มิลลิเมตรน้ำ (ยิ่งต่ำยิ่งหายใจสะดวก)

 

ส่วนหน้ากากอนามัยต้องผ่านมาตรฐาน ASTM F2100 Level 1 โดยสามารถกรองแบคทีเรีย (Bacterial Filtration Efficiency: BFE) ขนาด 3 ไมครอน ≥95% กรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอน (Particle Filtration Efficiency: PFE) ≥95% ความต้านทานของการผ่านอากาศ <5 มิลลิเมตรน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องป้องกันการซึมผ่านของของเหลว 80 มิลลิเมตรปรอท และต้องทดสอบการติดไฟ (Flammability) ด้วย

 

การสวมหน้ากากที่ถูกวิธี

 

ตามมาตรฐานหน้ากากอนามัยสามารถกรองละอองขนาดเล็กได้ ≥95% แต่เมื่อสวมกับใบหน้า ถึงแม้จะดัดลวดตรงสันจมูกให้แนบกับใบหน้าแล้ว หน้ากากอนามัยยังมีช่องว่างตรงด้านข้าง มีงานวิจัยของ CDC พบว่า การสวมหน้ากากแบบปกติจะป้องกันละอองขนาดเล็กได้ 56.1% แต่ถ้าผูกสายคล้องหูเป็นปม หรือสวมหน้ากากผ้าทับด้านนอกอีกชั้นจะสามารถป้องกันได้เพิ่มขึ้นเป็น 77.0 และ 85.4% ตามลำดับ

 

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้า (หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศยอมรับว่าใช้ป้องกันโควิดได้ แต่ต้องผ่านมาตรฐาน และผู้สูงอายุควรใช้หน้ากากอนามัยมากกว่า) หน้ากากอนามัย หรือแม้แต่หน้ากาก N95 สิ่งสำคัญคือต้องสวมให้คลุมจมูกและปาก และสวมให้กระชับกับใบหน้ามากที่สุด หากต้องเข้าไปในสถานที่ปิด เช่น ห้องปรับอากาศ เป็นเวลานาน ควรสวมหน้ากาก 2 ชั้น เพื่อความปลอดภัย

 

นอกจากนี้การสวมหน้ากากเป็นเพียง 1 ใน 6 มาตรการที่ WHO แนะนำว่า ‘ต้องทำทั้งหมด’ (Do It All!) เพื่อลดการแพร่ระบาดและป้องกันชีวิต โดยอีก 5 มาตรการที่ต้องทำควบคู่กันคือ การฉีดวัคซีนเมื่อถึงกำหนด การเว้นระยะห่าง การล้างมือเป็นประจำ การไอ จาม ปิดปากด้วยทิชชู/ข้อศอก และการเปิดหน้าต่างเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ (เป็นอีกวิธีที่ลดความเสี่ยงจากละอองขนาดเล็ก)

 

สุดท้ายเรื่องอินโฟกราฟิกของเพจ ศบค. แล้วเพจอื่นๆ รวมถึงสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ต่อ การชี้แจงของผู้บริหารระดับกรมในภายหลังเพื่อแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด แสดงให้เห็นถึงการทำงานไม่ประสานกันระหว่างทีมสื่อสารความเสี่ยงและทีมวิชาการ การสวมหน้ากากเป็นมาตรการหลักในการป้องกันโควิด หากมีการเปลี่ยนแปลงควรออกประกาศเป็นทางการ ไม่ใช่เพียงอ้างอิงความเห็นผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่ง

 

อ้างอิง:

The post หน้ากากผ้าป้องกัน ‘โอไมครอน’ ได้หรือไม่ appeared first on THE STANDARD.

]]>
เคานต์ดาวน์ปีนี้จะเหมือนปีที่แล้วหรือไม่ มาตรการโควิดช่วงปีใหม่เป็นอย่างไร https://thestandard.co/covid-measures-in-the-new-year/ Mon, 20 Dec 2021 02:34:48 +0000 https://thestandard.co/?p=573293 มาตรการโควิดช่วงปีใหม่

เคานต์ดาวน์ปีใหม่เมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ไหนกันบ้างครับ… & […]

The post เคานต์ดาวน์ปีนี้จะเหมือนปีที่แล้วหรือไม่ มาตรการโควิดช่วงปีใหม่เป็นอย่างไร appeared first on THE STANDARD.

]]>
มาตรการโควิดช่วงปีใหม่

เคานต์ดาวน์ปีใหม่เมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ไหนกันบ้างครับ…

 

สัปดาห์ก่อนสิ้นปี 2563 ผมอยู่เวรสอบสวนโรคของกรมควบคุมโรค เลยได้เคานต์ดาวน์ที่ จ.สมุทรสาคร จำได้ว่าวันนั้นทีมสอบสวนโรคเลิกงานกันตามปกติคือประมาณ 1-2 ทุ่ม แวะซื้อมื้อเย็นที่ตลาดโต้รุ่งรอบวงเวียนน้ำพุ (ถึงแม้จะชื่อว่า ‘โต้รุ่ง’ แต่ตอนนั้นทุกร้านจะต้องเก็บร้านให้ทันเคอร์ฟิว 22.00-05.00 น.) ก่อนเข้าที่พัก คืนนั้นผมหิ้วกับข้าวไปล้อมวงกินกับทีม ไม่ถึงกับเป็นงานเลี้ยงฉลอง แต่ก็ให้สมกับเป็นวันสิ้นปี

 

บรรยากาศส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของหลายคนคงเงียบเหงาคล้ายกัน เพราะอยู่ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกที่ 2 ที่เริ่มพบการระบาดจากตลาดกลางกุ้ง แพร่กระจายไปยังจังหวัดข้างเคียงและต่างจังหวัด แม้ว่า ศบค. จะกำหนดมาตรการตามพื้นที่สีแทนการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่ก่อนสิ้นปีกระทรวงสาธารณสุขก็ออกมาขอให้งดเดินทางออกนอกจังหวัดโดยไม่จำเป็น และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมากในช่วงปีใหม่

 

หนึ่งปีผ่านไป กลางเดือนธันวาคมปีนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันสูงกว่าเมื่อสิ้นปีที่แล้ว 20 เท่า (จำนวนผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 7 วันย้อนหลังในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เท่ากับ 151 ราย) แต่ความตื่นตระหนกหรือความวิตกกังวลกลับต่ำกว่ามาก ในขณะที่ ศบค. ประกาศใช้แนวคิดอยู่ร่วมกับโควิด (Living with COVID) และผ่อนคลายมาตรการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 ทำให้บรรยากาศการเคานต์ดาวน์ปีใหม่ปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว

 

ทว่าสถานการณ์โควิดท้ายปีนี้ต่างกับท้ายปีที่แล้วหรือไม่ และมาตรการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นอย่างไร

 

เมื่อมองผ่านกรอบสามเหลี่ยมทางระบาดวิทยา

 

เชื้อโรค โฮสต์ (Host) และสิ่งแวดล้อมเป็น 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการระบาดของโรค หรือที่ในทางวิชาการเรียกว่า ‘สามเหลี่ยมทางระบาดวิทยา’ สำหรับโควิด-19 เชื้อโรคคือไวรัสซาร์ส-โควี-2 โฮสต์คือคน อาจมีรายงานติดเชื้อในสัตว์เลี้ยงบ้างแต่ไม่ได้เป็นโฮสต์หลัก ส่วนสิ่งแวดล้อมหมายถึงสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ-สังคม ระบบบริการสุขภาพ และมาตรการควบคุมโรค เมื่อมองผ่านกรอบแนวคิดนี้จะเห็นว่าสถานการณ์ท้ายปีนี้ค่อนข้างต่างจากปีที่แล้ว

 

ไวรัสซาร์ส-โควี-2: ไวรัสมีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ ใน ‘ระดับประเทศ’ สายพันธุ์ที่ระบาดหลักเมื่อปลายปีที่แล้วคือสายพันธุ์ B.1.36.16 ส่วนในปัจจุบันคือสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2) ซึ่งมีความสามารถในการแพร่กระจายและมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระลอกที่ 4 สูงกว่าระลอกก่อนหน้า ในขณะที่ใน ‘ระดับโลก’ พบการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน (B.1.1.529) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป ไทยจึงมีความเสี่ยงจากสายพันธุ์นี้เช่นกัน

 

ย้อนกลับไปทบทวนการระบาดระลอกก่อน อัลฟา (B.1.1.7) เริ่มระบาดในอังกฤษปลายปี 2563 ใช้เวลา 4 เดือนกว่าจะเข้ามาระบาดในสถานบันเทิงย่านทองหล่อช่วงเมษายน 2564 ส่วนเดลตาเริ่มระบาดในอินเดียช่วงกุมภาพันธ์ 2564 ใช้เวลา 3 เดือนถึงเข้ามาระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างช่วงพฤษภาคม เนื่องจากช่วงนั้นไทยมีมาตรการควบคุมการเข้าออกทางอากาศอย่างเข้มงวด ‘ช่องทางธรรมชาติ’ จึงเป็นช่องโหว่ในการนำเข้าผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ

 

แต่ในช่วงนี้ไทยเปิดประเทศมากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพบการระบาดจากผู้เดินทางเข้ามา ‘ทางอากาศ’ ด้วย โดยเฉพาะระบบ Test & Go ซึ่งถึงแม้จะเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว และต้องตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ในวันแรก และ ATK ในวันที่ 6-7 แต่เนื่องจากวัคซีน 2 เข็มป้องกันการติดโอไมครอนได้น้อยมาก และยังไม่มีข้อมูลระยะฟักตัว (สายพันธุ์ดั้งเดิมเฉลี่ย 5-6 วัน และนานที่สุด 14 วัน) การแพร่เชื้อจึงอาจเกิดขึ้นในระหว่างที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้

 

คน: หลายคนยังคงสวมหน้ากากเมื่อออกจากบ้าน เว้นระยะห่างจากผู้อื่น (บางสถานการณ์ก็ไม่สามารถทำได้ เช่น บนรถโดยสารสาธารณะ) และล้างมือบ่อยๆ แต่มุมมองที่มีต่อโควิดอาจแตกต่างจากเดิมที่ ‘ไม่ต้องการติดเชื้อ’ เป็น ‘ติดเชื้อได้’ แต่อาการจะไม่รุนแรง (ยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น) เพราะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม และต้องการกลับไปใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงกับปกติ จึงมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น เช่น รับประทานอาหาร ประชุม/สัมมนา ท่องเที่ยวในวันหยุดมากขึ้น

 

ปัจจุบันไทยมีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ประมาณ 50 ล้านคน หรือ 61% ของประชากรทั้งหมด ถึงแม้แนวคิดเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จะไม่สามารถนำมาใช้ได้กับโควิด เพราะยิ่งกลายพันธุ์ยิ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดหรือค่าการระบาด ® เพิ่มขึ้นและยังสามารถติดเชื้อซ้ำได้ แต่ยิ่งมีจำนวนประชากรได้รับวัคซีนมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสพบผู้ป่วยอาการหนักน้อยลงมากเท่านั้น ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานที่วัคซีนทุกชนิดป้องกันอาการรุนแรงได้

 

ทว่าวัคซีนชนิดเชื้อตายกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีได้ไม่สูงนัก และไม่กระตุ้นทีเซลล์ (T-Cell) ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm ยังมีความเสี่ยงต่อสายพันธุ์ใหม่อยู่ (ข้อมูลจนถึงเดือนกันยายน 2564 มีผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม ประมาณ 3.5 ล้านคน) และสำหรับสายพันธุ์โอไมครอน หากต้องการประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อจะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งตอนนี้ไทยมีผู้ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว 4.5 ล้านคน หรือ 6.3% เท่านั้น

 

สิ่งแวดล้อม: ปลายปีนี้กับปลายปีที่แล้วเป็นฤดูหนาวเหมือนกัน และฤดูหนาวของไทยไม่ได้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากนัก (ฤดูหนาวในต่างประเทศจะทำให้ประชาชนต้องอยู่รวมกันภายในอาคารมากขึ้น ส่วนไทยน่าจะมีผลต่อการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุด) สิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลต่อการระบาดน่าจะเป็นด้านสังคม-เศรษฐกิจ เพราะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะพูดในถึงหัวข้อถัดไปว่า ศบค. มีการปรับมาตรการอย่างไรบ้าง

 

ส่วนระบบบริการสุขภาพ หากเกิดการระบาดขึ้นอีกครั้งจากโอไมครอน ไทยน่าจะมีความพร้อมในการรับมือกับผู้ติดเชื้อมากกว่าปีที่แล้ว เพราะมีประสบการณ์ในการระดมทรัพยากรเพิ่มมาตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย (Community Isolation: CI) การดูแลผู้ติดเชื้อที่แยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation: HI) เทียบกับเมื่อปลายปีที่แล้วกว่า จ.สมุทรสาคร จะสร้างโรงพยาบาลสนามเสร็จต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย และยังไม่มี HI อย่างเป็นระบบ

 

มาตรการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 เป็นอย่างไร

 

ศบค. ลดระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อย หรือ ‘พื้นที่สี’ มาเป็นระยะ (ในช่วงแรกที่ประกาศใช้ นายกฯ ไม่ให้เรียกชื่อพื้นที่ตามชื่อสี) โดยยกเลิกพื้นที่สีแดงเข้ม (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) มาตั้งแต่วันที่ 1 ธันาคม 2564 และยกเลิกพื้นที่สีแดง (พื้นที่ควบคุมสูงสุด) มาตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม คงเหลือเฉพาะจังหวัดสีส้ม 39 จังหวัด สีเหลือง 30 จังหวัด และพื้นที่สีฟ้า (นำร่องการท่องเที่ยว) 8 จังหวัด ทำให้ร้านอาหารสามารถเปิดบริการได้ตามปกติ

 

แต่ในพื้นที่สีส้ม (พื้นที่ควบคุม) ยังไม่สามารถดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านได้ ยกเว้นในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2564 – 1 มกราคม 2565 ที่ ศบค. อนุญาตให้นั่งดื่มสุราได้ไม่เกิน 01.00 น. และเฉพาะร้านที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวกเท่านั้น ทั้งนี้ ให้เคร่งครัดตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แสดงว่า ศบค. ยังคงกังวลการระบาดจากการนั่งดื่มสุราอยู่ ทั้งที่แต่ละโต๊ะก็นั่งรับประทานอาหารร่วมกันอยู่แล้ว และไม่มีการเปิดสถานบันเทิง

 

ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่อาจทำให้เกิดการะบาดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้แก่ การเดินทางข้ามจังหวัด การรวมตัว/ความหนาแน่น เช่น การรวมเครือญาติ การจัดงานสังสรรค์ปีใหม่ การสวดมนต์ข้ามปี การทำบุญตักบาตร ศบค. จึงกำหนดให้ใช้มาตรการที่มีตัวย่อว่า VUCA คือการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ (Vaccine) การป้องกันตัวแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการความปลอดภัยระดับองค์กร (COVID Free Setting) และการตรวจหาเชื้อด้วย ATK

 

นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการจัดงานช่วงเทศกาลปีใหม่แยกตามขนาดงาน ซึ่งก็คือมาตรการ COVID Free Setting ที่มีการแบ่งมาตรการออกเป็น 3 ด้าน คือ ด้านผู้จัดงาน/พนักงาน ด้านผู้เข้าร่วมงาน และด้านสิ่งแวดล้อม แต่ความแตกต่างคือผู้เข้าร่วมงานขนาดใหญ่ (ตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป) นอกจากมีหลักฐานการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์แล้ว จะต้องมีผลการตรวจ ATK เป็นลบก่อนเข้างานภายใน 72 ชั่วโมงด้วย

 

ปีนี้ ศบค. มีเครื่องมือในการควบคุมโรคมากกว่าปีที่แล้วนั่นคือวัคซีน และชุดตรวจ ATK ซึ่งน่าจะช่วยให้งานมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยชุดตรวจ ATK เป็นการคัดกรองผู้ติดเชื้อก่อนเข้าร่วมงาน ถ้าจะให้ดีควรเป็นผลตรวจก่อนออกจากบ้านในวันเดียวกับงาน ส่วนวัคซีน ถึงแม้จะมีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อลดลงแต่ยังป้องกันอาการรุนแรงได้ หากเกิดการระบาด ผู้ป่วยอาการหนักก็จะไม่เกินศักยภาพของโรงพยาบาล เว้นแต่จะมีการระบาดของโอไมครอนคู่กับเดลตา

 

ความเสี่ยงของสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น ไทยมีความเสี่ยงจากการนำเข้าผู้ติดเชื้อผ่านช่องทางธรรมชาติอยู่เดิม ประเทศที่พบโอไมครอนระบาดภายในประเทศ (Local Transmission) ในขณะนี้คืออินเดีย พบผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 100 ราย ด้วยความเร็วเท่าเดิมอาจใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 เดือนถึงจะเข้ามาในประเทศ แต่ไทยมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวทางเครื่องบิน ซึ่งในสหราชอาณาจักรใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์ หลังจากพบผู้ติดเชื้อรายแรก ก็ทำให้สถานการณ์หนักใกล้เคียงระลอกก่อนหน้า

 

ปัจจุบัน (วันที่ 18 ธันวาคม 2564) ยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทย ประโยคนี้คล้ายกับวันนี้เมื่อปีที่แล้วที่ยังไม่พบการระบาดในตลาดกลางกุ้งและเพิ่งควบคุมการระบาดข้ามชายแดนเมียนมา-ไทยที่ จ.เชียงราย ได้ ไทยน่าจะฉลองปีใหม่ตามที่คาดหวัง แต่ในท้ายที่สุดกลับไม่เป็นเช่นนั้น บทเรียนที่สำคัญเมื่อปีที่แล้วคือระบบเฝ้าระวังที่ไม่ครอบคลุมสถานที่เสี่ยง ทำให้ไม่สามารถตรวจจับคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งได้ตั้งแต่เนิ่นๆ (Early Detection)

 

ดังนั้นนอกจากการเตรียมป้องกันการระบาดในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนที่เน้นการฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม (การฉีดเข็มกระตุ้นก็สำคัญ) และการจัดหาชุดตรวจ ATK ให้เพียงพอกับความต้องการแล้ว ไทยยังต้องควบคุมการระบาดในขณะนี้ให้อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอไมครอนอย่างเข้มข้นในกลุ่มอาชีพที่ใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวและในจังหวัดสีฟ้า อย่างน้อยก็ต้องยื้อให้สายพันธุ์นี้ไประบาดช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ให้ได้

 

อ้างอิง:

The post เคานต์ดาวน์ปีนี้จะเหมือนปีที่แล้วหรือไม่ มาตรการโควิดช่วงปีใหม่เป็นอย่างไร appeared first on THE STANDARD.

]]>
วัคซีนที่มีอยู่ป้องกันอาการป่วยจากโอไมครอนได้แค่ไหน https://thestandard.co/existing-coronavirus-vaccine-protect-omicron-type-or-not/ Sat, 18 Dec 2021 06:09:16 +0000 https://thestandard.co/?p=572899 โอไมครอน

Get Boosted Now หรือ ‘ฉีดเข็มกระตุ้นตอนนี้’ คือคำขวัญล่ […]

The post วัคซีนที่มีอยู่ป้องกันอาการป่วยจากโอไมครอนได้แค่ไหน appeared first on THE STANDARD.

]]>
โอไมครอน

Get Boosted Now หรือ ‘ฉีดเข็มกระตุ้นตอนนี้’ คือคำขวัญล่าสุดที่ใช้ในการรณรงค์ฉีดวัคซีนของสหราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันแนะนำให้ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนโควิดครบ 2 เข็มแล้ว เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือบูสเตอร์โดสหลังจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน เนื่องจากการะบาดของโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในขณะนี้

 

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2564 สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีน 2 เข็มในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนแบบมีอาการ ‘ลดลง’ มากเมื่อเทียบสายพันธุ์เดลตา แต่การฉีดวัคซีน Pfizer เข็มที่ 3 มีประสิทธิผลระหว่าง 70-75% ไม่ว่าวัคซีน 2 เข็มแรกจะเป็น AstraZeneca หรือ Pfizer ก็ตาม

 

ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ทีมรับมือโควิดแห่งอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน (Imperial College London COVID-19 Response Team) ได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ประสิทธิผลอีกรูปแบบหนึ่ง* เปรียบเทียบระหว่างการฉีดวัคซีน AstraZeneca หรือ Pfizer 2 เข็ม การฉีดวัคซีน Pfizer เป็นเข็มกระตุ้น โดยแยกตามระยะเวลาหลังได้รับเข็มสุดท้ายสั้นกว่า/นานกว่า 2 สัปดาห์ และตามสายพันธุ์ พบว่า

 

ประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยหลังได้รับเข็มสุดท้ายนานกว่า 2 สัปดาห์

  • AstraZeneca 2 เข็ม: เดลตา 25% โอไมครอน 0%
    • หลังได้รับเข็มกระตุ้น: เดลตา 89.7% โอไมครอน 55%
  • Pfizer 2 เข็ม: เดลตา 55.9% โอไมครอน 19%
    • หลังได้รับเข็มกระตุ้น: เดลตา 88.6% โอไมครอน 54%

 

แสดงว่าวัคซีน Pfizer สามารถใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันอาการป่วยจากสายพันธุ์โอไมครอนได้ (และสายพันธุ์เดลตาได้ดีมาก) ส่วนประสิทธิผลป้องกันอาการรุนแรงทั้งการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตยังต้องรออีกหลายสัปดาห์ถึงจะสามารถวิเคราะห์ได้ แต่แนวโน้มจากสายพันธุ์ก่อนหน้า วัคซีนจะสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้มากกว่าการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ

 

ข้อมูลจากรายงานฉบับเดียวกันระบุว่า สายพันธุ์โอไมครอนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำมากกว่าสายพันธุ์เดลตา 5 เท่า เมื่อควบคุมอิทธิพลของการฉีดวัคซีนและปัจจัยอื่นๆ แล้ว โดยก่อนหน้านี้การศึกษาที่ชื่อ SIREN Study เคยคาดการณ์ว่า ‘การติดเชื้อมาก่อน’ จะสามารถป้องกัน ‘การติดเชื้อซ้ำ’ ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้ 89% แต่สำหรับสายพันธุ์โอไมครอนลดลงเหลือเพียง 19% เท่านั้น

 

“การศึกษานี้ให้หลักฐานเพิ่มเติมที่สำคัญว่า โอไมครอนสามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นก่อนหน้าทั้งจากการติดเชื้อหรือการฉีดวัคซีน การหลบหลีกภูมิคุ้มกันในระดับนี้หมายความว่า โอไมครอนเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อสาธารณสุข” ศาสตราจารย์ นีล เฟอร์กูสัน หัวหน้าทีมรับมือโควิดแห่งอิมพีเรียลคอลเลจกล่าวถึงผลการศึกษา ทำให้เราต้องติดตามสถานการณ์ในสหราชอาณาจักรอย่างใกล้ชิด 

 

หมายเหตุ: *อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน ใช้การวิเคราะห์แบบตามรุ่น (Cohort Analysis) ในขณะที่สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร ใช้การศึกษามีกลุ่มควบคุมโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มที่มีผลการตรวจเชื้อเป็นลบ (Test-Negative Case-Control Study) ทำให้ผลการวิเคราะห์ประสิทธิผลเข็มกระตุ้นต่างกัน ทั้งนี้ เป็นรายงานเบื้องต้น ยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ

 

 

ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย

อ้างอิง:

The post วัคซีนที่มีอยู่ป้องกันอาการป่วยจากโอไมครอนได้แค่ไหน appeared first on THE STANDARD.

]]>
เจาะลึกวัคซีน Pfizer เข็มกระตุ้น เมื่อสหรัฐฯ แนะนำให้ฉีด 6 เดือนหลังเข็มที่ 2 https://thestandard.co/pfizer-covid-19-vaccine-booster-doses/ Mon, 29 Nov 2021 04:22:47 +0000 https://thestandard.co/?p=565431 Pfizer

‘การได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์’ อาจเปลี่ยนจากการได้รับวัคซ […]

The post เจาะลึกวัคซีน Pfizer เข็มกระตุ้น เมื่อสหรัฐฯ แนะนำให้ฉีด 6 เดือนหลังเข็มที่ 2 appeared first on THE STANDARD.

]]>
Pfizer

‘การได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์’ อาจเปลี่ยนจากการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด 2 เข็ม เป็น 3 เข็ม เร็วๆ นี้ เพราะเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (CDC) แนะนำให้ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 6 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนสูตร 2 เข็ม (วัคซีน Pfizer หรือ Moderna) หรือ 2 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนสูตร 1 เข็ม (วัคซีน Johnson & Johnson: J&J) หลังจากที่เริ่มให้ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นมาก่อนหน้านี้

 

“ปัจจุบันการได้รับวัคซีนครบหมายถึงการได้รับวัคซีนชนิด mRNA 2 เข็ม และวัคซีน J&J 1 เข็ม แต่ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่สามารถเปลี่ยนแปลงได้” นพ.แอนโทนี เฟาซี ที่ปรึกษาระดับสูงด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว Reuters เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ว่า โควิดกำลังจะเปลี่ยนจากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) และในท้ายที่สุดวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจกลายเป็นมาตรฐานของการได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ “เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกัน”

 

CDC พิจารณาข้อมูลอะไรบ้างในการตัดสินใจให้คำแนะนำวัคซีนเข็มกระตุ้น

 

สถานการณ์การระบาดในสหรัฐฯ

บริบทสถานการณ์การระบาดในสหรัฐฯ ในขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะทางตอนกลางและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ปัจจัยสำคัญคือภูมิอากาศในฤดูหนาว ทำให้มีการรวมตัวกันภายในอาคารมากขึ้น การเฉลิมฉลองวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day) และเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะมาถึง ทำให้มีการรวมตัวกันในวันหยุด ถึงแม้ปัจจุบันสหรัฐฯ จะมีผู้ได้รับวัคซีนครบแล้วมากกว่า 195 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 60% ของประชากรทั้งหมด 

 

วัคซีนสามารถป้องกันอาการรุนแรงได้ดี ผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ข้อมูลจากการศึกษาของ CDC พบว่า ‘ผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน’ มีอัตราการตรวจพบเชื้อมากกว่า ‘ผู้ที่ได้รับวัคซีน’ 6 เท่า มีอัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 9 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 14 เท่า แต่เนื่องจากไวรัสกลายพันธุ์ (สายพันธุ์เดลตา) และระดับภูมิคุ้มกันลดลงตามระยะเวลา ทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อลดลงตามไปด้วย ดังภาพที่ 1

 

Pfizer

ภาพที่ 1: แสดงประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ เปรียบเทียบระหว่างระยะก่อน (สีน้ำเงิน) และหลัง (สีแดง) การระบาดของสายพันธุ์เดลตา ของวัคซีน Pfizer (บน) และ Moderna (ล่าง) จำแนกตามกลุ่มอายุเรียงจากซ้ายไปขวา 

 

ยกตัวอย่างช่องบนขวาสุดคือ วัคซีน Pfizer ในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป เส้นสีน้ำเงินสูงกว่าเส้นสีแดงแสดงว่าประสิทธิผลต่อสายพันธุ์เดลตาต่ำกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า (75% เทียบกับ 89%) และประสิทธิผลลดลงตามระยะเวลา (75% ลดลงเหลือ 68% เมื่อผ่านไป 200 วัน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่องถัดลงมาด้านล่างคือ วัคซีน Moderna ในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปจะพบว่า ประสิทธิผลของวัคซีน Moderna ลดลงน้อยกว่าวัคซีน Pfizer (79% เทียบกับ 68% เมื่อผ่านไป 200 วัน)

 

หมายุเหตุ: ภาพในบทความนี้นำมาจากเอกสารประกอบการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสหรัฐฯ (ACIP) เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564

 

ประสิทธิผลของวัคซีนเข็มกระตุ้น

วัคซีนเข็มกระตุ้นมีประสิทธิผลหรือไม่? เพื่อตอบคำถามนี้ บริษัท Pfizer ออกแบบการศึกษาประสิทธิผลเหมือนการวิจัยวัคซีนในระยะที่ 3 คือใช้รูปแบบการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (Randomized Control Trial; RCT) ในอาสาสมัครอายุ 16 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ที่สหรัฐฯ บราซิล และแอฟริกาใต้ จำนวน 10,000 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นขนาด 30 ไมโครกรัม (= 3 เข็ม) ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มควบคุมได้รับวัคซีนหลอก (= 2 เข็มเท่าเดิม) พบว่า

 

  • กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ติดเชื้อ 6 ราย
  • กลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอก ติดเชื้อ 123 ราย
  • ประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ 95.3%

 

ข้อมูลนี้เป็นผลการวิเคราะห์เบื้องต้นหลังติดตามผู้ที่ได้รับวัคซีนไปประมาณ 2 เดือนหลังได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เมื่อวิเคราะห์กลุ่มย่อยพบว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นมีประสิทธิผลสอดคล้องกันในทุกกลุ่มอายุ เพศ เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ และโรคประจำตัว ทั้งนี้ ไม่มีผู้ติดเชื้อที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต แสดงว่าการได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มยังป้องกันอาการรุนแรงได้ดี และค่าเฉลี่ยระยะห่างระหว่างเข็มที่ 2 และ 3 ในการวิจัยนี้ประมาณ 10 เดือน แสดงว่าผู้ที่เว้นนานกว่า 6 เดือนก็สามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้

 

Pfizer

ภาพที่ 2: แสดงอัตราการติดเชื้อสะสมหลังได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (สีน้ำเงิน) และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอก (สีแดง) ตามระยะเวลาหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ติดตามจนถึง 2 เดือน

 

นอกจากนี้ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่อิสราเอลตีพิมพ์ในวารสาร Lancet เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เป็นการศึกษาเชิงสังเกต (Observational Study) คือไม่ได้มีการสุ่มว่าใครจะได้หรือไม่ได้รับวัคซีน แต่วิเคราะห์จากฐานข้อมูลบริการสุขภาพซึ่งครอบคลุมประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ เปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเว้นระยะห่างอย่างน้อย 5 เดือน กับกลุ่มที่ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ติดตามผู้ที่ได้รับวัคซีนไปประมาณ 3 สัปดาห์หลังได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น พบว่า

 

  • ประสิทธิผลป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาล 93%
  • ประสิทธิผลป้องกันอาการรุนแรง 92%
  • ประสิทธิผลป้องกันการเสียชีวิต 81%

 

ดังนั้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer ในผู้ที่ได้รับวัคซีน Pfizer ครบ 2 เข็ม จึงมีงานวิจัยรองรับว่าประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการและป้องกันอาการรุนแรงจะเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 90% (วัคซีนเข็มที่ 3 = วัคซีนเข็มที่ 2 + 90%) ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถลดการแพร่เชื้อได้หรือไม่ แต่เมื่อเทียบกับประสิทธิผลของวัคซีนในช่วงแรกที่สามารถป้องกันการติดเชื้อแบบไม่มีอาการได้ ก็คาดว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นจะลดการแพร่เชื้อได้

 

ความปลอดภัยของวัคซีนเข็มกระตุ้น

ผลข้างเคียงของวัคซีนเข็มกระตุ้นที่รายงานในการศึกษาของบริษัท Pfizer ไม่พบอาการแพ้หรือภาวะแพ้รุนแรง รวมถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ/เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่อาจเป็นเพราะขนาดกลุ่มตัวอย่างยังน้อย ทำให้ไม่พบผลข้างเคียงที่พบได้ยาก ส่วนอาการที่พบมากขึ้นคือต่อมน้ำเหลืองโต 2.7% เทียบกับ 0.4% ในการฉีดวัคซีน 2 เข็มแรก ส่วนใหญ่อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง เกิดขึ้นภายใน 1-3 วันหลังได้รับวัคซีน และหายดีใน 1-3 วันหลังจากมีอาการ พบมากในผู้ที่มีอายุน้อยและในกลุ่มอาสาสมัครผู้หญิง

 

ในขณะที่ข้อมูลจากอิสราเอลที่เริ่มฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นมาก่อนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยกว่าการฉีดวัคซีน 2 เข็มแรก และไม่พบในผู้หญิงเลย สำหรับผู้ชายเมื่อเทียบกับประชากร 100,000 คน กลุ่มอายุ 16-19 ปี พบ 5.2 ราย (เทียบกับ 16.1 รายหลังการฉีดเข็มที่ 2) กลุ่มอายุ 20-24 ปี พบ 3.6 ราย (เทียบกับ 10.3 ราย ) กลุ่มอายุ 25-29 ปี พบ 0.7 ราย (เทียบกับ 8.4 ราย) และกลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไปพบ 0.4 ราย (เทียบกับ 1.7 ราย)

 

Pfizer

ภาพที่ 3: แสดงประโยชน์และความเสี่ยงของวัคซีน Pfizer เข็มกระตุ้น เปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลที่สามารถป้องกันได้ (สีน้ำเงิน) และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (สีแดง) โดยคาดการณ์จากความเสี่ยงของวัคซีน 2 เข็มแรก

 

สรุปข้อมูลวัคซีน Pfizer เข็มกระตุ้น

หลักการพื้นฐานของการพิจารณาให้คำแนะนำวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยประโยชน์ของวัคซีนมี 4 ด้าน และผู้เชี่ยวชาญของ CDC ได้สรุปข้อมูลของวัคซีน Pfizer เข็มกระตุ้น ดังนี้

 

  • การป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ: ประโยชน์สูง
  • การป้องกันการรักษาตัวในโรงพยาบาล: ประโยชน์ต่ำมาก
  • การป้องกันการเสียชีวิต: ไม่มีข้อมูล
  • การป้องกันการแพร่เชื้อ: ไม่มีข้อมูล

 

ส่วนความเสี่ยงของวัคซีนมี 2 ด้าน ได้แก่

 

  • ผลข้างเคียงรุนแรง: เสี่ยงต่ำ
  • อาการไม่พึงประสงค์ (Reactogenicity): เสี่ยงต่ำมาก

 

นำมาสู่การตัดสินใจขยายคำแนะนำให้ ‘ผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปทุกคน’ มีสิทธิ์ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็น Pfizer หรือ Moderna อย่างน้อย 6 เดือนหลังเข็มที่ 2 และ “ยังคงสนับสนุนให้ผู้ใหญ่ 47 ล้านคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อตนเอง ครอบครัว บุคคลอันเป็นที่รัก ชุมชน และสนับสนุนอย่างยิ่งให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์อยู่แล้วคือผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนวันหยุดเทศกาล” CDC ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564

 

แนวทางวัคซีนเข็มกระตุ้นในประเทศไทย 

สำหรับประเทศไทย แนวทางการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 แนะนำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm ครบ 2 เข็ม ฉีดวัคซีน AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3 โดยเว้นระยะห่างประมาณ 4 เดือน ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็ม ฉีดวัคซีน Pfizer เป็นเข็มที่ 3 โดยเว้นระยะห่างประมาณ 6 เดือน ส่วนวัคซีนสูตรอื่นๆ เช่น วัคซีนสูตรไขว้ อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยให้รอประกาศในระยะถัดไป

 

ทว่า ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เรื่อง คำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิดในส่วนของวัคซีน Moderna ว่าสามารถฉีดเป็นวัคซีนเข้มกระตุ้นโดย

 

  • ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm ครบ 2 เข็ม เว้นระยะห่างตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไปหลังเข็มที่ 2 ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำแนะนำข้างต้น (คาดว่าแผนข้างต้นน่าจะมีข้อจำกัดในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มในแต่ละเดือน)
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็ม เว้นระยะห่างประมาณ 6 เดือนตรงกัน แต่เพิ่มเติมว่าสามารถฉีดก่อน 6 เดือนได้ตามดุลพินิจของแพทย์

 

ล่าสุดวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อประกาศผ่านหน้าเพจ ‘CVC กลางบางซื่อ’ ว่า วัคซีนเข็มที่ 1, 2, 3 สามารถปรับเป็นชนิดวัคซีน Pfizer หรือ Moderna ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดวัคซีนที่ได้รับจัดสรรในแต่ละวัน เท่ากับว่าผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm ครบ 2 เข็ม สามารถเลือกวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ 3 ยี่ห้อ คือ AstraZenca (ตามแนวทางเดิม) และวัคซีนชนิด mRNA (ตามประกาศนี้) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าประกาศนี้จะครอบคลุมถึงศูนย์การฉีดวัคซีนอื่นหรือไม่

 

อ้างอิง:

The post เจาะลึกวัคซีน Pfizer เข็มกระตุ้น เมื่อสหรัฐฯ แนะนำให้ฉีด 6 เดือนหลังเข็มที่ 2 appeared first on THE STANDARD.

]]>