Science – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 10 Apr 2025 11:41:24 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 รู้จัก Kessler Syndrome ความเสี่ยงเกิดภัยในอวกาศ หากดาวเทียมชนกันอย่างควบคุมไม่ได้ https://thestandard.co/kessler-syndrome/ Thu, 10 Apr 2025 04:24:42 +0000 https://thestandard.co/?p=1062733 Kessler Syndrome

อวกาศ พรมแดนแห่งความหวัง และโอกาสอันไม่สิ้นสุดของมวลมนุ […]

The post รู้จัก Kessler Syndrome ความเสี่ยงเกิดภัยในอวกาศ หากดาวเทียมชนกันอย่างควบคุมไม่ได้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Kessler Syndrome

อวกาศ พรมแดนแห่งความหวัง และโอกาสอันไม่สิ้นสุดของมวลมนุษยชาติ ทุกวันนี้ผู้คนบนโลกได้ใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ ผ่านทั้งเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงกับดาวเทียมในวงโคจร องค์ความรู้จากการทดลองนอกโลก ไปจนถึงผลพลอยได้ระหว่างการพัฒนานวัตกรรมขั้นสูง

 

อย่างไรก็ตาม ห้วงอวกาศรอบโลกเป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางมาก เพราะนับตั้งแต่การส่งดาวเทียมดวงแรกอย่าง สปุตนิก 1 ไปโคจรรอบโลกในปี 1957 มนุษย์ได้ปล่อยจรวดขึ้นบินรวมไม่น้อยกว่า 6,700 ครั้ง ปัจจุบันมีดาวเทียมกับซากจรวดนำส่งมากกว่า 40,000 ชิ้น ที่มีขนาดใหญ่พอให้ตรวจจับตำแหน่งในวงโคจรรอบโลกได้

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อวกาศเต็มไปด้วยดาวเทียมและ ‘ขยะอวกาศ’ เป็นเพราะดาวเทียมยุคแรกที่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก ไม่ได้มีแผนการกำจัดอย่างปลอดภัยหลังสิ้นสุดการทำงาน ส่วนมากยังคงโคจรรอยู่ในอวกาศมาจนถึงทุกวันนี้ โดยบางดวงอาจอยู่ในวงโคจรได้เป็นเวลาหลายพันปี ก่อนลดระดับลงมาเผาไหม้ในบรรยากาศโลก

 

ในเวลาเดียวกัน บริษัทเอกชนอย่าง SpaceX, Rocketlab, และ Blue Origin ได้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อส่งดาวเทียมไปอวกาศมีราคาถูกลง ส่งผลให้หน่วยงานอวกาศต่างๆ สามารถพัฒนาดาวเทียมและเพย์โหลดสำหรับนำส่งได้มากขึ้น ทำให้มีดาวเทียมดวงใหม่ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

 

แต่เพราะวงโคจรรอบโลกไม่ได้มีพื้นที่เป็นอนันต์ นอกจากดาวเทียมชุดใหม่ที่ถูกส่งขึ้นมาทำงานในอวกาศ ก็ยังมีดาวเทียมที่ปลดระวางไปแล้ว รวมถึงซากของจรวดนำส่งที่ยังคงโคจรอยู่ ทำให้พื้นที่โดยรอบของโลกเต็มไปด้วยวัตถุต่างๆ ที่โคจรอยู่ด้วยความเร็วสูง และมีความเสี่ยงเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ ‘Kessler Syndrome’

 

Donald Kessler และ Burton Cour-Palais สองนักวิทยาศาสตร์ของ NASA ได้เสนองานวิจัยดังกล่าวในปี 1978 ว่าเมื่อวงโคจรโลกเริ่มหนาแน่นไปด้วยดาวเทียม อาจมีความเป็นไปได้ที่ดาวเทียมสองดวงมาชนกันด้วยความเร็วสูง ก่อให้เกิดขยะอวกาศขนาดเล็กเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ที่อาจโคจรไปชนกับดาวเทียมดวงอื่นๆ กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ เหมือนอย่างฉากในภาพยนตร์เรื่อง Gravity เมื่อปี 2013

 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่กับดาวเทียมไม่กี่ดวง แต่อาจส่งผลกระทบต่อดาวเทียมและภารกิจจำนวนมากในห้วงอวกาศ และการนำส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงระบบต่างๆ บนโลกที่เกี่ยวข้องกับด้านการสื่อสาร นำทาง ไปจนถึงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ที่อาจได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างจากทั่วทุกมุมโลก

 

หากนับจนถึงปัจจุบัน มีการชนกันของวัตถุบนห้วงอวกาศ หรือปรากฏการณ์ที่ทำให้เกิดเศษซากวัตถุเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 650 ครั้ง จากการเก็บข้อมูลขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA แต่ยังไม่มีเหตุการณ์ใดที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่แบบ Kessler Syndrome ขึ้น ทว่าก็เคยมีการทดสอบใช้ขีปนาวุธทำลายดาวเทียม จากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ซึ่งในแต่ละครั้งทำให้เกิดซากขยะอวกาศขนาดเล็กหลายพันชิ้น และส่วนมากยังคงอยู่ในวงโคจรรอบโลก เป็นความเสี่ยงก่อให้เกิดความเสียหายต่อดาวเทียมดวงอื่นได้จนถึงปัจจุบัน

 

ด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้นจากการนำส่งดาวเทียมดวงใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมกับความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ ห้วงอวกาศบางส่วนอาจกลายเป็นเขตแดนที่ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป หากมีเศษวัตถุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปฏิกิริยาลูกโซ่เมื่อดาวเทียมหรือขยะอวกาศพุ่งชนกันด้วยความเร็วสูง ทำให้หน่วยงานอวกาศต่างๆ ได้ริเริ่มกำหนดหลักเกณฑ์อย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดว่าดาวเทียมและจรวดนำส่งจะอยู่ในอวกาศได้นานกี่ปี ต้องนำกลับมาเผาไหม้ทำลายอย่างควบคุมได้ หรือต้องไม่รบกวนกับวงโคจรที่มีดาวเทียมปฏิบัติงานอยู่ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีระบบการจัดการจราจรอวกาศโดยหน่วยงานอวกาศนานาประเทศ เพื่อดูแลและป้องกันความเสี่ยงที่อาจมีวัตถุในอวกาศพุ่งชนกัน สำหรับในประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้มีการพัฒนาระบบ ZIRCON เพื่อติดตามและเฝ้าระวังการจราจรอวกาศ และมีภารกิจหลักในการป้องกันไม่ให้ดาวเทียมไทยโชต และ THEOS-2 ได้รับความเสียหาย หรือผลกระทบจากขยะอวกาศได้

 

แม้ในปัจจุบัน มาตรการและความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทำให้มีการนำดาวเทียมและซากจรวดกลับมาเผาไหม้ในบรรยากาศโลกอย่างควบคุมเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทันกับอัตราการนำส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปประจำบนวงโคจร จึงทำให้ ESA และบริษัทสตาร์ทอัพ ClearSpace SA ได้ร่วมกันพัฒนายาน ClearSpace-1 สำหรับการส่งขึ้นสู่อวกาศ และเก็บเอาขยะหรือซากดาวเทียมที่ใช้งานไม่ได้แล้ว เพื่อนำกลับมาเผาไหม้ในบรรยากาศโลกอย่างปลอดภัย นับเป็นก้าวแรกของมาตรการลดความหนาแน่นของวัตถุในวงโคจรรอบโลก และป้องกันความเสี่ยงในการเกิด Kessler Syndrome ขึ้นในอนาคตอันใกล้

 

ภัยอวกาศอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากยังไม่มีมาตรการ ความร่วมมือหรือแผนการควบคุมจัดการอย่างจริงจัง ภัยไกลตัวดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจริง ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้คนบนโลก จนผู้คนในรุ่นถัดไปอาจไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้งานวงโคจรบางส่วนของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้อีกต่อไป…

 

ภาพ: ESA

อ้างอิง:

The post รู้จัก Kessler Syndrome ความเสี่ยงเกิดภัยในอวกาศ หากดาวเทียมชนกันอย่างควบคุมไม่ได้ appeared first on THE STANDARD.

]]>
บริษัทไบโอเทคคืนชีพ ‘หมาป่าไดร์วูล์ฟ’ สัตว์สูญพันธุ์กลุ่มแรกได้สำเร็จ! https://thestandard.co/biotech-revives-extinct-animals/ Tue, 08 Apr 2025 13:45:59 +0000 https://thestandard.co/?p=1062061 biotech-revives-extinct-animals

นิตยสาร TIME ฉบับเดือนพฤษภาคมปี 2025 มาพร้อมกับหน้าปกที […]

The post บริษัทไบโอเทคคืนชีพ ‘หมาป่าไดร์วูล์ฟ’ สัตว์สูญพันธุ์กลุ่มแรกได้สำเร็จ! appeared first on THE STANDARD.

]]>
biotech-revives-extinct-animals

นิตยสาร TIME ฉบับเดือนพฤษภาคมปี 2025 มาพร้อมกับหน้าปกที่สร้างการพูดถึงระลอกใหญ่อีกครั้ง เมื่อภาพบนปกนั้นเป็นรูปหมาป่าตัวสีขาว พร้อมคำว่า Extinct ที่หมายถึงการสูญพันธุ์ แต่ถูกขีดฆ่าออก ซึ่งความหมายของมันตรงตัวว่า หมาป่าที่อยู่ในรูปนั้นเคยสูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน แต่วันนี้สัตว์ชนิดนี้ได้มีโอกาสกลับมาลืมตาดูโลกอีกครั้ง ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์ที่ต้องการฟื้นคืนชีพสัตว์ดึกดำบรรพ์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หมาป่าในรูปนี้มีชื่อว่า ‘รีมัส’ (Remus) เป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ไดร์วูล์ฟ และมันเกิดมาเพื่อเปลี่ยนโลกนี้ไปตลอดกาล

 

De-extinction ความทะเยอทะยานในการฟื้นคืนชีพสัตว์ป่า

 

ไดร์วูล์ฟ (Dire Wolf) หรือหมาป่าโลกันตร์ ตามชื่อภาษาไทยที่ปรากฏในซีรีส์ Game of Thrones เคยมีชีวิตอยู่จริงในทวีปอเมริกาเหนือช่วงยุคน้ำแข็งเมื่อราว 125,000-9,500 ปีก่อน ซึ่งไดร์วูล์ฟสูญพันธุ์ไปพร้อมๆ กับสัตว์ชนิดอื่นในยุคเดียวกันอีกจำนวนมาก เนื่องจากการสิ้นสุดลงของยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 10,000 ปีก่อน ที่ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปจนส่งผลต่อพืชพรรณต่างๆ สัตว์กินพืชที่เป็นเหยื่อของไดรฟ์วูล์ฟและตัวของไดร์วูล์ฟเองไม่อาจปรับตัวตามได้ทัน

 

มัมมี่ช้างแมมมอธขนยาวอายุ 39,000 ปีที่มีชื่อว่า ยูก้า (Yuka) ภาพ: Courtesy of Anastasia Kharlamova

มัมมี่ช้างแมมมอธขนยาวอายุ 39,000 ปีที่มีชื่อว่า ยูก้า (Yuka)
ภาพ: Courtesy of Anastasia Kharlamova

 

เมื่อพูดถึงยุคน้ำแข็ง สัตว์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของยุคดังกล่าวคงหนีไม่พ้น ‘ช้างแมมมอธ’ สัตว์ที่มีลักษณะคล้ายช้างแต่ตัวใหญ่และขนยาวกว่า ซึ่งก็เคยมีชีวิตอยู่ร่วมยุคกับไดร์วูล์ฟและมนุษย์ แต่เมื่อราว 4,000 ปีก่อน ช้างแมมมอธตัวสุดท้ายก็ได้ตายลง ทำให้พวกมันสูญพันธุ์ไปก่อนที่มนุษย์ยุคหลังอย่างพวกเราจะได้เห็นหน้าตาจริงๆ ของพวกมัน มีเพียงแค่ภาพวาด ภาพยนตร์ และเรื่องราวของมันเท่านั้น ที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพื่อให้เราทำความรู้จักกับมัน

 

แต่สัตว์ยุคโบราณที่กล่าวถึง ทั้งช้างแมมมอธ และไดร์วูล์ฟ ล้วนมีซากดึกดำบรรพ์ หรือ ‘ฟอสซิล’ ที่ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ ที่ทำให้เรารู้จักมันมากขึ้น โดยฟอสซิลที่อยู่ในยุคน้ำแข็งมักพบในลักษณะที่มีความสมบูรณ์มากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์ เพราะปัจจัยทางสภาพแวดล้อม อุณหภูมิหนาวเย็นที่เก็บตัวอย่างได้ดีกว่า รวมถึงระยะเวลาที่สัตว์ในยุคน้ำแข็งเคยมีชีวิตอยู่ก็ใกล้เคียงกับช่วงเวลาปัจจุบันมากกว่าไดโนเสาร์ที่อาศัยอยู่บนโลกเมื่อโบราณกาล

 

เบน แลมม์ (Ben Lamm) ผู้ก่อตั้ง โคลอสซอล ไบโอไซน์ (Colossal Biosciences) ภาพ: Colossal Biosciences

เบน แลมม์ (Ben Lamm) ผู้ก่อตั้ง โคลอสซอล ไบโอไซน์ (Colossal Biosciences)
ภาพ: Colossal Biosciences

 

ฟอสซิลที่สมบูรณ์ของสัตว์ในยุคน้ำแข็งไปเตะตาบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพชื่อว่า โคลอสซอล ไบโอไซน์ (Colossal Biosciences) ที่ก่อตั้งโดย เบน แลมม์ (Ben Lamm) ให้เกิดการระดมทุนเพื่อทำการวิจัยเทคโนโลยีที่จะฟื้นคืนชีพให้กับสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วหลายชนิด เช่น นกโดโด้ เสือแทสเมเนียน ช้างแมมมอธ หรือแม้กระทั่งไดร์วูล์ฟ โดยการวิจัยเพื่อฟื้นคืนชีพให้กับสัตว์ที่เคยสูญพันธุ์ไปแล้วเช่นนี้ ถูกเรียกว่า De-extinction

 

แนวคิดที่บริษัท โคลอสซอล ไบโอไซน์ ยึดถือในการศึกษาหาวิธีคืนชีพให้กับสัตว์สูญพันธุ์นั้นไม่ใช่เพียงแค่การคืนความหลากหลายทางชีวภาพให้กับโลกยุคใหม่ แต่เป็นการหาองค์ความรู้ด้านพันธุวิศวกรรม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับวงการเทคโนโลยีชีวภาพ เพราะระหว่างการหาวิธีฟื้นคืนชีพให้สัตว์ชนิดต่างๆ แล้ว นักวิจัยยังค้นพบแนวทางใหม่ๆ ในการตัดต่อพันธุกรรมของสัตว์อีกหลากหลายแนวทาง

 

ตัวอย่างของการวิจัยที่น่าสนใจก่อนหน้านี้ คือ เมื่อเดือนกันยายนปี 2024 ทาง โคลอสซอล ไบโอไซน์ สามารถสร้างหนูที่มีขนยาวแบบช้างแมมมอธได้สำเร็จ จากการตัดแต่งยีน 7 ตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัมผัส ความยาว และสีของขน ในร่างกายของหนูทดลอง โดยวิธีการตัดแต่งยีนทำได้โดยการปิดการทำงานของยีนที่ควบคุมความยาวของขน ทำให้หนูสามารถมีขนยาวได้มากกว่าปกติ 3 เท่า รวมถึงระหว่างการทดลอง นักวิจัยยังให้ความสนใจกับยีนที่ควบคุมการเผาผลาญไขมัน ที่อาจทำให้หนูทดลองเจริญเติบโตในที่อุณหภูมิต่ำได้ดีไม่แพ้ช้างแมมมอธด้วย

 

เมื่อสัตว์ดึกดำบรรพ์ลืมตาดูโลกได้อีกครั้ง

 

โรมูลัส (Romulus) และรีมัส (Remus) สองไดร์วูล์ฟยุคใหม่คู่แรกของโลก ตอนอายุประมาณ 1 เดือน ภาพ: Colossal Biosciences

โรมูลัส (Romulus) และรีมัส (Remus) สองไดร์วูล์ฟยุคใหม่คู่แรกของโลก ตอนอายุประมาณ 1 เดือน
ภาพ: Colossal Biosciences

 

การคืนชีพของไดร์วูล์ฟด้วยฝีมือของนักวิจัยในครั้งนี้ เกิดเป็นลูกไดร์วูล์ฟตัวน้อยถึง 3 ตัว โดยมีเพศผู้สองตัวชื่อว่า โรมูลัส (Romulus) กับรีมัส (Remus) ที่มีอายุ 6 เดือนทั้งคู่ กับน้องเล็กเพศเมียชื่อว่า คาลีซี (Khaleesi) ที่มีอายุ 2 เดือน โดยการคืนชีพของทั้งสามเป็นผลมาจากการตัดแต่งยีนด้วยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรมเหมือนกันกับการทดลองอื่นๆ ของ โคลอสซอล ไบโอไซน์

 

เนื่องจากบนโลกของเราไม่มี ไดร์วูล์ฟ (Aenocyon dirus) อยู่แล้ว นักวิจัยจึงใช้ต้นแบบพันธุกรรมเป็นหมาป่าสีเทา (Canis lupus) แทน แต่ถึงแม้ว่าต้นแบบในการสร้างไดร์วูล์ฟขึ้นมาจะไม่ใช่ไดร์วูล์ฟจริงๆ แต่หมาป่าสีเทาถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับไดร์วูล์ฟมาก รหัสพันธุกรรมมีความเหมือนกันถึง 99.5%

 

นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์รหัสพันธุกรรมในจีโนมของไดร์วูล์ฟอย่างละเอียด จากตัวอย่างดีเอ็นเอทีสกัดมาจากฟันอายุ 13,000 ปีและกะโหลกอายุ 72,000 ปีของไดร์วูล์ฟ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบรหัสพันธุกรรมกับหมาป่าสีเทาแล้ว พบว่ามีความแตกต่างอยู่ 20 ตำแหน่งบน 14 ยีน ที่ทำให้สัตว์สองชนิดนี้มีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านไซซ์ สีขน ขนาดหัวและฟัน ขนาดของกล้ามเนื้อ รวมถึงเสียงเห่าและหอนของสัตว์ทั้งสองชนิดนี้ด้วย

 

หลังจากที่วิเคราะห์ยีนของไดร์วูล์ฟและหมาป่าสีเทาเทียบกันแล้ว ลำดับต่อไปคือการเก็บ Endothelial Progenitor Cells (EPCs) ซึ่งเป็นสเต็มเซลล์ที่สามารถเจริญไปเป็นเซลล์เยื่อบุโพรง โดยเซลล์เยื่อบุโพรงเป็นส่วนประกอบสำคัญของหลอดเลือด นักวิจัยจึงต้องเก็บ EPCs จากหลอดเลือดของหมาป่าสีเทา แล้วนำมาตัดแต่งทั้ง 14 ยีนในนิวเคลียส เพื่อให้ได้ 20 ลักษณะของไดร์วูล์ฟกลับคืนมา

 

ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งที่นักวิจัยต้องพบ คือ มี 3 ยีนของไดร์วูล์ฟที่ทำให้ขนเป็นสีขาวสว่าง แต่ยีนเหล่านั้นในหมาป่าสีเทาส่งผลให้มีอาการหูหนวกและตาบอดได้ ทางทีมวิจัยจึงตัดแต่งยีนอื่น 2 ยีน เพื่อปิดการแสดงออกของเม็ดสี สีดำและสีแดงในขน เพื่อให้ขนมีสีขาวสว่างจากการลดเม็ดสีเข้มลงแทน ไดร์วูล์ฟที่ถือกำเนิดใหม่นี้จึงมีสีขาวราวหิมะไม่ต่างจากไดร์วูล์ฟในสมัยอดีต โดยที่ไม่มีอาการแทรกซ้อน ความเจ็บปวด หรือภาวะหูหนวกและตาบอดเลย

 

เมื่อตัดแต่งพันธุกรรมภายในเซลล์จนเสร็จสิ้น ลำดับถัดไปคือการสร้างตัวอ่อนขึ้นมา โดยทีมวิจัยนำนิวเคลียสของ EPCs ที่ทำการตัดต่อพันธุกรรมเรียบร้อยแล้ว ใส่ลงไปเซลล์ไข่ของหมาป่าสีเทาที่นำนิวเคลียสออกมาก่อนหน้านั้น และปล่อยให้เกิดการแบ่งเซลล์ กลายเป็นตัวอ่อนในระยะเอ็มบริโอ เมื่อเอ็มบริโอเจริญเติบโตถึงจุดหนึ่ง ทีมนักวิจัยจะทำการแบ่งเอ็มบริโอไปใส่ในมดลูกของแม่อุ้มบุญ ซึ่งเป็นหมาบ้านพันธุ์ทาง 2 ตัว หลังจากอุ้มท้อง 65 วัน โรมูลัสและรีมัสก็ได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2024 จากนั้นอีกไม่กี่เดือนต่อมาก็มีการทำแบบเดียวกันซ้ำอีกครั้งกับแม่อุ้มบุญตัวที่ 3 จนได้ลูกไดร์วูล์ฟอีกอย่าง คาลีซี มาด้วยอีกตัว

 

ลูกไดร์วูล์ฟทั้งสามตัวนี้ เกิดมาด้วยวิธีการผ่าคลอด เพื่อลดความเสี่ยงของอาการบาดเจ็บระหว่างการคลอด และลดความเสี่ยงของการแท้งระหว่างกระบวนการ ลูกไดร์วูล์ฟทั้งสามตัวนี้จึงมีโอกาสได้ออกมาลืมตาดูโลกได้สำเร็จจริงๆ

 

ลูกไดร์วูล์ฟยุคใหม่ตอนแรกเกิด ภาพ: Colossal Biosciences

ลูกไดร์วูล์ฟยุคใหม่ตอนแรกเกิด
ภาพ: Colossal Biosciences

 

ทางบริษัท โคลอสซอล ไบโอไซน์ ภูมิใจกับผลงานการสร้างลูกไดร์วูล์ฟออกมาในครั้งนี้มาก แต่ทีมนักวิจัยก็จะไม่หยุดแค่นี้ แต่จะนำความรู้จากการฟื้นคืนชีพหมาป่าโบราณนานหมื่นปีชนิดนี้ เพื่อใช้ในการฟื้นคืนชีพช้างแมมมอธขนยาวเป็นลำดับถัดไป ซึ่งทีมนักวิจัยคาดการณ์ว่าจะมีการใช้เทคนิคแบบเดียวกัน และสามารถให้กำเนิดลูกช้างแมมมอธขนยาวได้ภายในปี 2028 จากการดัดแปลงพันธุกรรมของช้างเอเชียที่มีความเหมือนกันของรหัสพันธุกรรมถึง 99.6% ซึ่งตอนนี้กระบวนการศึกษาอยู่ในขั้นตอนเตรียมการอุ้มบุญในมดลูกช้างเอเชียภายในปี 2026 และช้างจะใช้เวลาในการอุ้มท้องอีก 2 ปี ก่อนจะคลอดลูกแมมมอธขนยาวตามแผน

โดยข้อมูลล่าสุดที่มีการเปิดตัว โรมูลัสและรีมัส ซึ่งเติบโตมาได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง ปัจจุบันไดร์วูล์ฟอายุ 6 เดือนคู่นี้ มีความยาวลำตัวกว่า 1.2 เมตร และมีน้ำหนักกว่า 36 กิโลกรัม โดยพวกมันอาจจะเติบโตได้มากกว่านี้จนมีความยาวลำตัว 1.8 เมตร และมีน้ำหนักถึง 70 กิโลกรัมได้ ซึ่งลักษณะความใหญ่โตของพวกมันมีความแตกต่างจากลูกหมาป่าทุกวันนี้อย่างมาก รวมถึงพฤติกรรมของพวกมันด้วย โดยลูกไดร์วูล์ฟคู่นี้มักรักษาระยะห่างจากมนุษย์เสมอ ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับพฤติกรรมของไดร์วูล์ฟจริงๆ

 

เรากำลัง ‘คืนชีพ’ ให้สัตว์สูญพันธุ์ หรือเรากำลัง ‘สร้างใหม่’ ให้เกิดสายพันธุ์สัตว์ที่ไม่เคยมีมาก่อนกันแน่

 

หลังจากการเปิดตัวลูกไดร์วูล์ฟคู่แรกของโลกที่มีลักษณะสมบูรณ์แข็งแรงในครั้งนี้ก็มีกระแสตอบรับอย่างมากมาย ทั้งในแง่บวกที่แสดงความตื่นเต้นกับเทคโนโลยีการฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์ ที่เคยเป็นเพียงแค่จุดขายของภาพยนตร์เท่านั้น ให้กลายเป็นสิ่งที่เราเห็นกันได้ด้วยตาของตัวเอง แต่ก็มีกระแสตอบรับในแง่ลบเช่นกัน ที่ไม่เห็นด้วยว่า ทั้งโรมูลัสและรีมัส นับได้ว่าเป็นไดร์วูล์ฟจริงๆ

ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการถกเถียงว่า โรมูลัสและรีมัส ไม่ใช่ไดร์วูล์ฟ เป็นเพราะแนวคิดที่ว่า การวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นมาหลายล้านปีบนโลกนี้ไม่ได้ทำงานอย่างที่ทีมนักวิจัยนำเสนอ การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในหลักหมื่นปีจนสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนแปลงจากสปีชีส์หนึ่งไปเป็นอีกสปีชีส์หนึ่ง ไม่น่าจะขึ้นอยู่กับยีนในร่างกายเพียงแค่ 14 ยีน รวมถึงไดร์วูล์ฟตัวจริงในสมัยโบราณนั้น แยกสายวิวัฒนาการออกจากหมาป่าและหมาบ้านมาตั้งแต่ 5.7 ล้านปีที่แล้ว ยากที่จะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมไม่กี่ตำแหน่งจะทำให้สิ่งมีชีวิตโบราณอย่างไดร์วูล์ฟถือได้ว่าฟื้นคืนชีพขึ้นมาจริงๆ

หลักฐานชัดเจนที่สนับสนุนกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับเปิดตัวไดร์วูล์ฟในครั้งนี้ คือ กระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมของหมาป่าสีเทา เพื่อทดแทนยีนที่อาจทำให้เกิดภาวะหูหนวกและตาบอดได้ ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่ายีนที่อยู่ในร่างกายลูกไดร์วูล์ฟยุคใหม่เหล่านี้ ไม่ใช่ยีนของไดร์วูล์ฟแท้ๆ จนเกิดการตั้งคำถามว่า ลูกหมาป่าที่เปิดตัวมานี้ อาจเป็นเพียงแค่ หมาป่าสีเทาธรรมดาๆ ที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมใหม่เพียงเท่านั้น ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการคืนชีพสัตว์ดึกดำบรรพ์

 

เรื่องนี้ชวนให้เกิดการตั้งคำถามว่า กระบวนการ De-extinction ทำได้จริงหรือไม่? สิ่งที่บริษัท โคลอสซอล ไบโอไซน์ กำลังทำนั้นนับว่าเป็นการ ‘ฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์’ หรือเป็นการ ‘สร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่’ ที่ไม่เคยมีบนโลกขึ้นมา ซึ่งถ้าหากว่าอิงกับภาพยนตร์ที่เป็นต้นแบบงานวิจัยเหล่านี้อย่าง Jurrassic World ก็มีการกล่าวถึงเรื่องการพัฒนาไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ที่ดุร้ายกว่าไดโนเสาร์ที่เคยมีอยู่จริง เป็นพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยให้ชื่อมันว่า Indominus Rex ซึ่งนักอนุกรมวิธานก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า มันเพียงแค่หน้าตาคล้ายไดโนเสาร์ แต่เราไม่อาจจัดมันว่าเป็นไดโนเสาร์ได้อย่างเต็มปาก เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถหาตำแหน่งทางวิวัฒนาการให้มันได้ ว่าควรเป็นลูกหลานสัตว์พันธุ์ไหน เพราะมันเกิดจากการสร้างผ่านพันธุกรรมและลักษณะทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด

 

อินโดมินัส เร็กซ์ (Indominus Rex) ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่จาก Jurassic World ภาพ: https://jurassicpark.fandom.com/wiki/Indominus_rex

อินโดมินัส เร็กซ์ (Indominus Rex) ไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่จาก Jurassic World
ภาพ: https://jurassicpark.fandom.com/wiki/Indominus_rex 

 

ในโลกแห่งความจริงนี้ก็เคยมีการสร้างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ขึ้นมา โดยเรียกมันว่า Chickenosaurus โดยเป็นการพยายามสร้างไดโนเสาร์ขึ้นมา โดยใช้ร่างกายต้นแบบจากไก่ แต่ทำให้มีลักษณะบางอย่างเหมือนกับไดโนเสาร์ ซึ่งแบบนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ถือว่าเป็นไดโนเสาร์ เพราะไม่ได้มีการสร้างมาจากเนื้อเยื่อของไดโนเสาร์จริงๆ

 

นอกจากนี้ยังมีความกังวลจากคนอีกกลุ่มหนึ่งว่า ถ้าหากมันเป็นการสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ที่ไม่เคยมีบนโลกขึ้นมา จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อระบบนิเวศ เพราะไม่เคยมีการศึกษามาก่อนว่าสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยมีมาก่อนจะล่าเหยื่อแบบไหน แข่งขันกับใคร แล้วจะทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลหรือไม่

 

สุดท้ายนี้ยังมีอีกความคิดเห็นที่น่าสนใจกล่าวว่า การฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์ อาจไม่ได้ทำให้การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพลดลง มนุษย์อาจคิดว่าหากสัตว์บางชนิดสูญพันธุ์ไปก็สามารถสร้างใหม่ได้เรื่อยๆ แม้ว่ามันจะไม่ใช่สัตว์พันธุ์แท้อย่างที่เคยเป็นก็ตาม การฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์จึงไม่ใช่สัญลักษณ์ของการดูแลรักษาโลก แต่เป็นเพียงการระลึกถึงความสวยงามยุคโบราณด้วยเทคโนโลยียุคใหม่เพียงเท่านั้น

 

ความหวังในการคืนชีพสัตว์อีกนานาพันธุ์

 

การฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์ในครั้งนี้ แม้ว่าจะยังมีข้อถกเถียงมากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สามารถตัดแต่งพันธุกรรมสิ่งมีชีวิตอื่นได้อย่างไร้ขีดจำกัด สามารถสร้างลักษณะที่ต้องการให้แสดงเกิดขึ้นในสัตว์ทดลองได้ ซึ่งนอกจากจะได้รับองค์ความรู้ใหม่ในการประยุกต์ต่อยอดเข้ากับเทคนิคทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ แล้ว มันอาจจะยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนยุคใหม่อยากพัฒนาสัตว์อีกหลากหลายชนิด

เมื่อปัจจุบันนี้ เราได้เข้าสู่ยุคของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สัตว์หลายชนิดที่เราเคยมีโอกาสได้เห็น ลูกหลานของพวกเราอาจจะไม่ทันได้พบเจอมันได้ตาตัวเองอีกต่อไป แต่เทคโนโลยีใหม่ในการฟื้นคืนชีพสัตว์สูญพันธุ์นี้ อาจรักษาชีวิตสัตว์หลายชนิดให้ไม่สูญพันธุ์ตั้งแต่แรก และอาจจะนำพาความสวยงามในอดีตกลับมาด้วยการคืนชีวิตให้แก่สมัน แรดชวา กระซู่ หรือกูปรี ที่เคยสูญพันธุ์จากในไทยให้กลับมาเดินท่องไปในธรรมชาติได้อีกครั้ง

The post บริษัทไบโอเทคคืนชีพ ‘หมาป่าไดร์วูล์ฟ’ สัตว์สูญพันธุ์กลุ่มแรกได้สำเร็จ! appeared first on THE STANDARD.

]]>
รู้จัก X-37B ยานอวกาศลับ กองทัพอวกาศสหรัฐฯ เพื่อภารกิจทดสอบเทคโนโลยีในห้วงอวกาศ https://thestandard.co/get-to-know-x-37b/ Wed, 12 Mar 2025 03:00:54 +0000 https://thestandard.co/?p=1051162 ยานอวกาศลับ

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2025 กองทัพอวกาศสหรัฐฯ ได้นำยานอวก […]

The post รู้จัก X-37B ยานอวกาศลับ กองทัพอวกาศสหรัฐฯ เพื่อภารกิจทดสอบเทคโนโลยีในห้วงอวกาศ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ยานอวกาศลับ

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2025 กองทัพอวกาศสหรัฐฯ ได้นำยานอวกาศลับเดินทางกลับมาลงจอด ณ รันเวย์ของฐานทัพอวกาศสหรัฐฯ ได้สำเร็จ ปิดฉากภารกิจการทำงานในห้วงอวกาศนานกว่า 434 วันลง โดยไม่มีใครทราบรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับภารกิจดังกล่าวมากนัก

 

ยานอวกาศลำดังกล่าวมีชื่อว่า X-37B มีลักษณะและรูปร่างคล้ายกับกระสวยอวกาศ แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก ไม่มีที่นั่งสำหรับผู้โดยสาร แต่สามารถทำงานอยู่ในอวกาศโดยอัตโนมัติได้เป็นเวลายาวนานหลายปี

 

ยานอวกาศลำนี้ผลิตโดยบริษัท Boeing และมีจุดเริ่มต้นมาจากการพัฒนาโดย NASA ในปี 1999 ก่อนถูกโอนย้ายมาเป็นโครงการของกระทรวงกลาโหม นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา

 

X-37B เป็นยานอวกาศแบบไม่มีมนุษย์เดินทางไปด้วย สามารถขับเคลื่อนได้โดยอัตโนมัติ และไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเชิงเทคนิค หรือข้อมูลของภารกิจโดยแน่ชัด โดยกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ระบุว่ายานอวกาศลำนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อการปฏิบัติภารกิจการทดลองขั้นสูง และสาธิตเทคโนโลยีต่างๆ ในห้วงอวกาศได้เป็นระยะเวลายาวนาน

 

เที่ยวบินแรกของยาน X-37B เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2010 โดยเดินทางขึ้นสู่อวกาศไปกับจรวดนำส่งเหมือนดาวเทียมปกติ ก่อนใช้เวลาอยู่ในห้วงอวกาศนานกว่า 224 วัน และเดินทางกลับมาลงจอดบนรันเวย์ของฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก

 

จนถึงปัจจุบันกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ได้ส่งยานอวกาศ X-37B ขึ้นบินรวมทั้งสิ้น 7 ครั้ง โดยแต่ละภารกิจมีชื่อเรียกว่า ‘พาหนะทดสอบในวงโคจร’ (Orbital Test Vehicle) และตามด้วยลำดับของเที่ยวบิน โดยทุกภารกิจต่างมีกำหนดปล่อยขึ้นสู่อวกาศที่ชัดเจน แต่ไม่มีการติดตั้งกล้องถ่ายทอดสดที่แสดงให้เห็นลักษณะการปล่อยยานเข้าสู่วงโคจร เพื่อปกปิดรายละเอียดของภารกิจ รวมถึงวงโคจรที่นำส่งให้เป็นความลับ ทำให้เป็นเรื่องยากในการติดตามดูตำแหน่งของยานลำนี้จากอุปกรณ์บนโลกได้

 

ภารกิจ OTV-6 เป็นสถิติการทำงานในอวกาศยาวนานที่สุดของ X-37B โดยใช้เวลานานกว่า 908 วันบนวงโคจรรอบโลก ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2020 จนกลับมาลงจอดในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2022 และในภารกิจล่าสุดอย่าง OTV-7 นับเป็นครั้งแรกที่กองทัพอวกาศสหรัฐฯ มีการเปิดเผยข้อมูลว่าจะทดสอบการทำ ‘Aerobraking’ หรือการใช้บรรยากาศโลกเพื่อลดระดับวงโคจรของยานลง หลังจากขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในวงโคจรแบบ High Earth Orbit ได้ก่อนหน้านี้

 

พลเอก Chance Saltzman ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการอวกาศ กองทัพอวกาศสหรัฐฯ กล่าวว่า “การทำ Aerobraking เป็นครั้งแรกของยาน X-37B นับเป็นหมุดหมายสำคัญของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถในห้วงอวกาศที่ท้าทายนี้ ความสำเร็จของภารกิจแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทและเพียรพยายามของทีมงานทุกคน”

 

นอกจากมีการเปิดเผยรายละเอียดของภารกิจบางส่วนออกมาเป็นครั้งแรกแล้ว ภาพถ่ายภาพแรกจากยานอวกาศ X-37B ก็ได้ถูกบันทึกขึ้นระหว่างภารกิจ OTV-7 เมื่อปลายเดือนมกราคม 2024 แสดงให้เห็นบางส่วนของอุปกรณ์บนยาน เช่นเดียวกับโลกทั้งใบปรากฏอยู่ไกลออกไป บ่งชี้ว่ายานอวกาศอยู่ในวงโคจรที่ไกลจากโลกมากพอให้เห็นโลกทั้งใบได้ นับเป็นครั้งแรกที่กองทัพอวกาศสหรัฐฯ เผยข้อมูลจากภารกิจดังกล่าวออกสู่สาธารณะ

 

นอกจากฝั่งของสหรัฐฯ ที่มียานอวกาศลับอยู่ในปฏิบัติการแล้ว ทางจีนก็มียานอวกาศชื่อ Shenlong (神龙) จากการพัฒนาของบริษัท China Aerospace Science and Technology ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมามากนัก นอกจากรูปลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับยาน X-37B ของสหรัฐฯ และมีภารกิจขึ้นบินรวมไม่น้อยกว่า 3 ครั้งจนถึงปัจจุบัน

 

หลังจากภารกิจ OTV-7 กลับมาลงจอดบนโลกอย่างปลอดภัยแล้ว กองทัพอวกาศสหรัฐฯ ยังไม่มีการเปิดเผยกำหนดขึ้นบินของภารกิจ OTV-8 แต่หากอ้างอิงจากตารางนำส่งในช่วงก่อนหน้านี้ คาดว่าเที่ยวบินถัดไปจะเกิดขึ้นในเวลาไม่เกิน 1 ปีจากนี้ 

 

ภาพ: USSF

อ้างอิง:

The post รู้จัก X-37B ยานอวกาศลับ กองทัพอวกาศสหรัฐฯ เพื่อภารกิจทดสอบเทคโนโลยีในห้วงอวกาศ appeared first on THE STANDARD.

]]>
มองอนาคตเศรษฐกิจอวกาศ เมื่อยานอวกาศเอกชนสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ https://thestandard.co/space-economy-future-after-moon-mission-success/ Tue, 04 Mar 2025 01:29:54 +0000 https://thestandard.co/?p=1048137 เศรษฐกิจอวกาศ

เมื่อเวลา 15.34 น. ของวันที่ 2 มีนาคม 2025 ยานอวกาศ Blu […]

The post มองอนาคตเศรษฐกิจอวกาศ เมื่อยานอวกาศเอกชนสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ appeared first on THE STANDARD.

]]>
เศรษฐกิจอวกาศ

เมื่อเวลา 15.34 น. ของวันที่ 2 มีนาคม 2025 ยานอวกาศ Blue Ghost ภารกิจที่ 1 ของบริษัท Firefly Aerospace ประสบความสำเร็จในการลงจอดใกล้กับภูเขา Mons Latreille บริเวณด้านใกล้ของดวงจันทร์ เป็นยานอวกาศลำแรกของบริษัทเอกชนที่เดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์อย่างนุ่มนวลได้สำเร็จ

 

ไม่นานหลังจากนั้น ยานได้ถ่ายภาพและข้อมูลกลับโลกมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมนำอุปกรณ์ทดลองเพื่อศึกษาบริเวณโดยรอบจุดลงจอด เช่นเดียวกับการสาธิตเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจต่อยอดไปปรับใช้กับภารกิจสำรวจดวงจันทร์โดยมนุษย์ในอนาคต

 

ก่อนหน้านี้มีความพยายามโดยยานอวกาศของบริษัทเอกชนอิสราเอล ญี่ปุ่น รวมถึงของสหรัฐฯ แต่ต่างจบลงด้วยความล้มเหลวทั้งหมด แม้กระทั่งยานอวกาศ Odysseus ของบริษัท Intuitive Machines ที่ไปลงดวงจันทร์ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2024 แต่กลับเอียงตะแคงข้างหลังลงจอดได้ไม่นาน จนไม่สามารถทำภารกิจได้เต็มรูปแบบตามแผนการที่วางไว้

 

สิ่งที่น่าสนใจจากการลงจอดของยาน Blue Ghost และรวมถึงยาน Odysseus คือทั้งสองภารกิจเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Commercial Lunar Payload Services หรือ CLPS ของ NASA ที่มีการมอบสัญญาจ้างมูลค่า 93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้บริษัท Firefly Aerospace พัฒนายานอวกาศ เพื่อขนส่งอุปกรณ์ทดลองของ NASA และหน่วยงานต่างๆ ลงไปปฏิบัติงานบนดวงจันทร์

 

โครงการ CLPS ไม่ได้มีการมอบสัญญาให้กับเอกชนเพียงบริษัทเดียว โดยปัจจุบันมีบริษัท Astrobotic Technology, Intuitive Machines, ispace และ Draper Laboratory ที่ได้รับสัญญาสำหรับนำส่งการทดลอง รวมถึงยานอวกาศต่างๆ ไปลงดวงจันทร์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของโครงการอาร์ทีมิส และกระตุ้นเศรษฐกิจอวกาศของสหรัฐฯ ออกสู่เอกชนรายย่อยมากยิ่งขึ้น

 

เจเน็ต เปโตร รักษาการผู้อำนวยการ NASA ระบุว่า “นี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า NASA และบริษัทสัญชาติอเมริกันกำลังบุกเบิกเส้นทางในการสำรวจอวกาศ เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ”

 

อุปกรณ์การทดลองบนเที่ยวบินของ Blue Ghost ประกอบด้วยการทดลองจากหน่วยงานต่างๆ เช่น บริษัท Blue Origin, องค์การอวกาศอิตาลี (ASI), บริษัท Aegis Aerospace และมหาวิทยาลัยต่างๆ ของสหรัฐฯ เพื่อใช้ศึกษาและเก็บข้อมูลจากบริเวณที่ยานไปลงจอด ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Mare Crisium และเป็นหลุมอุกกาบาตโบราณ ที่ถูกเติมเต็มด้วยลาวาจำนวนมาก ซึ่งเย็นตัวลงกลายเป็นชั้นหินบะซอลต์ในปัจจุบัน

 

นอกจากการเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์เชิงวิทยาศาสตร์แล้ว อุปกรณ์บนยาน Blue Ghost ยังมีการสาธิตเทคโนโลยีสร้างสนามไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการก่อตัวของฝุ่นบนพื้นผิว ที่อาจนำไปต่อยอดพัฒนาใช้กับสถานีอวกาศบนดวงจันทร์ในอนาคต รวมถึงการสาธิตระบบรับสัญญาณจาก GPS และดาวเทียมนำทางบนโลก เพื่อนำไปพัฒนาใช้กับการนำทางบนดวงจันทร์ในภารกิจหลังจากนี้

 

ในเวลาเดียวกันกับที่ยาน Blue Ghost ภารกิจ 1 ลงทำงานบนพื้นผิวดวงจันทร์ ยานอวกาศ Athena ความพยายามลงดวงจันทร์ครั้งที่สองของบริษัท Intuitive Machines ก็มีกำหนดลงจอด ณ ขั้วใต้ดวงจันทร์ วันที่ 6 มีนาคมนี้ เช่นเดียวกับภารกิจ Hakuto-R เที่ยวที่ 2 ของบริษัท ispace ซึ่งเคยพยายามลงจอดครั้งแรกไปเมื่อปี 2023 ก็กำลังอยู่ระหว่างเดินทางไปลงจอดอย่างเร็วที่สุดในเดือนเมษายน 2025

 

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีแผนส่งนักบินอวกาศกลับไปบินผ่านดวงจันทร์อีกครั้งในเดือนเมษายน 2026 ในภารกิจอาร์ทีมิส 2 โดยที่จีนก็กำลังเร่งพัฒนายานฉางเอ๋อ 7 เพื่อไปลงจอดเหนือขั้วใต้ดวงจันทร์ในปีเดียวกัน พร้อมกับมีอุปกรณ์ทดลองเพื่อวัดสภาพอวกาศในวงโคจรรอบดวงจันทร์ ชื่อ MATCH ภายใต้การพัฒนาของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) และมหาวิทยาลัยมหิดล ติดตั้งไปกับยานโคจรรอบดวงจันทร์ด้วย

 

อาจกล่าวได้ว่าภารกิจสำรวจดวงจันทร์กำลังกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เมื่อสหรัฐฯ ได้มีการกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ ด้วยการให้บริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทกับโครงการอาร์ทีมิสมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับฝั่งจีนที่มีแผนการสำรวจดวงจันทร์อย่างชัดเจน พร้อมเป้าหมายสูงสุดในการสร้างสถานีวิจัยนานาชาติบนขั้วใต้ดวงจันทร์ โดยอาศัยการเรียนรู้จากภารกิจต่างๆ ในโครงการฉางเอ๋อไปตามลำดับขั้น

 

แต่ในท้ายที่สุด การแข่งขันและพัฒนาด้านอวกาศอย่างรวดเร็วของหน่วยงานต่างๆ อาจเป็นผลพลอยได้ที่สร้างประโยชน์ให้กับชีวิตบนโลก ดั่งเช่นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนามาใช้ในสมัยโครงการอพอลโล เช่น อาหารแบบฟรีซดราย ระบบกรองน้ำ หรือชั้นป้องกันไฟ ก็ได้ต่อยอดมาใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ดั่งคำพูดที่ วิลเลียม แอนเดอร์ส นักบินอวกาศภารกิจอพอลโล 8 ได้เคยกล่าวไว้ว่า

 

“เราเดินทางมาตั้งไกลเพื่อสำรวจดวงจันทร์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เราค้นพบคือโลกของพวกเราเอง”

 

ภาพ: Firefly Aerospace

อ้างอิง:

The post มองอนาคตเศรษฐกิจอวกาศ เมื่อยานอวกาศเอกชนสหรัฐฯ ลงจอดบนดวงจันทร์สำเร็จ appeared first on THE STANDARD.

]]>
นักดาราศาสตร์พบการปลดปล่อยเปลวไฟต่อเนื่อง จากหลุมดำมวลยิ่งยวดที่ใจกลางทางช้างเผือก https://thestandard.co/astronomers-discover-flare-activity-supermassive-black-hole/ Fri, 28 Feb 2025 05:58:44 +0000 https://thestandard.co/?p=1046833 ทางช้างเผือก

หลุมดำที่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก กำลังดูเหมือนมีงานป […]

The post นักดาราศาสตร์พบการปลดปล่อยเปลวไฟต่อเนื่อง จากหลุมดำมวลยิ่งยวดที่ใจกลางทางช้างเผือก appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทางช้างเผือก

หลุมดำที่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก กำลังดูเหมือนมีงานปาร์ตี้ฉลองกันอยู่ เมื่อคณะนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ได้พบว่ามีการปลดปล่อยเปลวไฟอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก จากบริเวณโดยรอบหลุมดำมวลยิ่งยวดแห่งนี้

 

การค้นพบดังกล่าวได้ใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เพื่อศึกษาพฤติกรรมของฝุ่นก๊าซในจานพอกพูนมวล หรือ Accretion Disk ที่โคจรรอบหลุมดำ Sagittarius A* ณ ใจกลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกด้วยความเร็วสูง ก่อนพบว่ามีการปลดปล่อยเปลวไฟออกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความรุนแรงและช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

 

Farhad Yusef-Zadeh หัวหน้าคณะวิจัยจาก Northwestern University ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เราคาดว่าหลุมดำมวลยิ่งยวดทุกแห่งจะมีการปลดปล่อยเปลวไฟ แต่หลุมดำแห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะมันมีการปลดปล่อยอย่างต่อเนื่อง และจากการสำรวจอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2023-2024 เราได้พบอะไรใหม่ๆ ในทุกครั้ง”

 

สำหรับการศึกษาหลุมดำที่ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ถึง 4 ล้านเท่า นักดาราศาสตร์ใช้อุปกรณ์ NIRCam ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของจานพอกพูนมวลที่โคจรอยู่รอบหลุมดำด้วยความเร็วสูง โดยพบว่าหลุมดำ Sagittarius A* มีการปล่อยเปลวไฟรุนแรง 5-6 ครั้งต่อวัน และเปลวไฟที่มีกำลังอ่อนกว่านั้นอย่างต่อเนื่อง

 

Yusef-Zadeh ระบุเพิ่มในแถลงการณ์ว่า “เราพบความเปลี่ยนแปลงของความสว่าง (ที่จานพอกพูนมวล) อยู่ตลอดเวลา และบางครั้งก็เกิดการปะทุจ้าขึ้นมาทันทีทันใด ก่อนที่ทุกอย่างจะสงบลงอีกครั้ง

 

เรายังไม่พบรูปแบบที่ตายตัวของปรากฏการณ์นี้ การปลดปล่อยเปลวไฟของหลุมดำอาจเกิดขึ้นแบบสุ่ม ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกใหม่และน่าตื่นเต้นอยู่เสมอ”

 

กระบวนการดังกล่าวอาจคล้ายคลึงกับการปลดปล่อยเปลวสุริยะจากดวงอาทิตย์ ที่มักมีการปล่อยพลังงานออกมาอย่างรุนแรงจากรอยต่อระหว่างขั้วของสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ แต่กระบวนการปล่อยเปลวไฟของหลุมดำมีความรุนแรงมากกว่า เนื่องจากสภาพแวดล้อมโดยรอบหลุมดำ Sagittarius A* นั้นมีความสุดขั้วยิ่งกว่าโดยรอบดาวฤกษ์ของระบบสุริยะ จนทำให้นักดาราศาสตร์สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ จากระยะห่างมากกว่า 26,000 ปีแสง

 

ทั้งนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ไม่มีความสามารถในการบันทึกภาพถ่ายหลุมดำได้โดยตรง ซึ่งภาพถ่ายหลุมดำ Sagittarius A* ที่มีการเผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2022 เป็นผลจากความร่วมมือของกล้องโทรทรรศน์วิทยุจากทั่วโลก ในโครงการ Event Horizon Telescope

 

งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Astrophysical Journal Letters เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

 

ภาพจำลอง: NASA, ESA, CSA, Ralf Crawford (STScI)

อ้างอิง:

The post นักดาราศาสตร์พบการปลดปล่อยเปลวไฟต่อเนื่อง จากหลุมดำมวลยิ่งยวดที่ใจกลางทางช้างเผือก appeared first on THE STANDARD.

]]>
SpaceX เตรียมทดสอบยาน Starship เที่ยวบินที่ 8 ขึ้นสู่อวกาศ เช้าวันที่ 4 มีนาคม https://thestandard.co/spacex-starship-flight8/ Fri, 28 Feb 2025 05:29:48 +0000 https://thestandard.co/?p=1046823 spacex-starship-flight8

SpaceX เตรียมปล่อยยาน Starship ในเที่ยวบินทดสอบครั้งที่ […]

The post SpaceX เตรียมทดสอบยาน Starship เที่ยวบินที่ 8 ขึ้นสู่อวกาศ เช้าวันที่ 4 มีนาคม appeared first on THE STANDARD.

]]>
spacex-starship-flight8

SpaceX เตรียมปล่อยยาน Starship ในเที่ยวบินทดสอบครั้งที่ 8 อย่างเร็วที่สุดในเช้าวันอังคารที่ 4 มีนาคม 2025 ตามเวลาประเทศไทย เป็นครั้งแรกหลังเกิดอุบัติเหตุระหว่างขึ้นบินเมื่อเดือนมกราคม 2025

 

ภารกิจดังกล่าวจะเป็นการทดสอบปล่อยดาวเทียม Starlink แบบจำลองรวม 10 ดวง เพื่อสาธิตความสามารถในการนำส่งดาวเทียมและเพย์โหลดต่างๆ สู่วงโคจรรอบโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ถูกวางไว้ในเที่ยวบินทดสอบครั้งที่ 7 ที่เกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้นระหว่างขึ้นบิน

 

SpaceX ระบุว่าพวกเขาได้สืบสวนสาเหตุข้อผิดพลาดจากเที่ยวบินก่อนหน้า ร่วมกับองค์การบริหารการบินแห่งชาติ หรือ FAA เช่นเดียวกับ NASA และกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ก่อนนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงความปลอดภัยด้านฮาร์ดแวร์ และขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาน Starship ในเที่ยวบินนี้

 

ยาน Starship ในเที่ยวบินนี้จะขึ้นบินแบบ Suborbital และกินระยะเวลารวมประมาณ 66 นาที ตั้งแต่ขึ้นบินจนกลับมาลงจอด โดยมีการสาธิตนำส่งดาวเทียม เดินเครื่องยนต์ Raptor ของยานระหว่างอยู่ในอวกาศอีกครั้ง และเก็บข้อมูลประสิทธิภาพของวัสดุต่าง ๆ ระหว่างกลับมาลงจอดบนโลกในมหาสมุทรอินเดีย โดยยังไม่ถูกส่งเข้าสู่วงโคจรรอบโลกแต่อย่างใด

 

ด้านบูสเตอร์ Super Heavy จะถูกนำกลับมาลงจอดที่ฐานปล่อย เพื่อใช้แขนกลยักษ์ ‘Mechazilla’ คีบรับบูสเตอร์สูง 70 เมตรอีกครั้ง แต่หากคอมพิวเตอร์บนยานพบว่าฐานปล่อยหรือบูสเตอร์ไม่ปลอดภัยเพียงพอต่อการนำกลับมาฐานปล่อย จะมีการส่งคำสั่งให้เปลี่ยนวิถีไปลงจอดอย่างนุ่มนวล เหนือผืนน้ำ Gulf of America (Gulf of Mexico) แทน

 

หากภารกิจทดสอบดังกล่าวประสบความสำเร็จตามแผนการที่วางไว้ SpaceX อาจผลักดันภารกิจทดสอบแบบนำส่งขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกภายในปีนี้ เพื่อเป็นการพัฒนารองรับการสร้างยานลงดวงจันทร์ หรือ Starship HLS สำหรับภารกิจอาร์ทีมิส 3 ของ NASA ที่มีกำหนดนำส่งนักบินอวกาศกลับไปลงดวงจันทร์อีกครั้งในช่วงกลางปี 2027

 

ภาพ: SpaceX

 

อ้างอิง:

The post SpaceX เตรียมทดสอบยาน Starship เที่ยวบินที่ 8 ขึ้นสู่อวกาศ เช้าวันที่ 4 มีนาคม appeared first on THE STANDARD.

]]>
ราวกับหลุดมาจากไซไฟ: นักดาราศาสตร์สร้างแผนที่ 3 มิติ ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบเป็นครั้งแรก https://thestandard.co/3d-exoplanet-atmosphere-mapping/ Sat, 22 Feb 2025 06:57:45 +0000 https://thestandard.co/?p=1044742 แผนที่ 3 มิติบรรยากาศดาวเคราะห์ Tylos จากกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope

นักดาราศาสตร์ประสบความสำเร็จในการสร้างแผนที่ 3 มิติ เผย […]

The post ราวกับหลุดมาจากไซไฟ: นักดาราศาสตร์สร้างแผนที่ 3 มิติ ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบเป็นครั้งแรก appeared first on THE STANDARD.

]]>
แผนที่ 3 มิติบรรยากาศดาวเคราะห์ Tylos จากกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope

นักดาราศาสตร์ประสบความสำเร็จในการสร้างแผนที่ 3 มิติ เผยให้เห็นลักษณะโครงสร้างชั้นบรรยากาศดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นครั้งแรก ก่อนพบกับสภาพอากาศอันแสนสุดขั้วบนดาวดวงนี้

 

Julia Victoria Seidel หัวหน้าคณะวิจัยจาก ESO เปิดเผยว่า “บรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้มีพฤติกรรมที่ท้าทายความเข้าใจว่าสภาพอากาศควรเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่บนโลก แต่รวมถึงทุกหนแห่งในจักรวาล มันเหมือนกับว่าเป็นดาวที่หลุดมาจากนิยายวิทยาศาสตร์เลย”

 

ดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวมีชื่อว่า Tylos หรือ WASP-121b เป็นดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ประเภท ‘Ultrahot Jupiter’ ที่โคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากเสียจนถูกแรงโน้มถ่วงของดาวล็อกเอาไว้ ให้หันแค่ด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์อยู่ตลอดเวลา ขณะที่อีกฝั่งอยู่ในความมืดชั่วนิรันดร์

 

ดาว Tylos มีมวลมากกว่าดาวพฤหัสบดี 1.16 เท่า และมีขนาดใหญ่กว่าดาวพฤหัสบดีประมาณ 1.75 เท่า แต่โคจรรอบดาวฤกษ์ที่ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย (WASP-121 เป็นดาวฤกษ์แบบชนิด F) ด้วยระยะเวลาเพียง 30 ชั่วโมงเท่านั้น กล่าวคือวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงนี้ใกล้ดาวฤกษ์ของมันยิ่งกว่าวงโคจรของดาวพุธรอบดวงอาทิตย์เสียอีก

 

แม้อาจเคยมีการศึกษาองค์ประกอบของดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นมาก่อน แต่นี่คือครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในจักรวาลที่ไม่ได้โคจรรอบดวงอาทิตย์ ด้วยรายละเอียดมากพอจนแบ่งแยกบรรยากาศและกระแสลมในแต่ละระดับชั้นได้

 

ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope พบว่า บรรยากาศของดาวดวงนี้แบ่งได้เป็น 3 ชั้นหลัก เริ่มจากชั้นลมของเหล็กและไทเทเนียมที่พัดออกจากฝั่งกลางวันของดาวไปยังด้านกลางคืน ตามด้วยชั้นของกระแสลมกรด (Jet Stream) ที่อุดมไปด้วยโซเดียม ซึ่งพัดเร็วกว่าความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของดาวดวงนี้เสียอีก ขณะที่บรรยากาศชั้นบนสุดของดาว ประกอบด้วยลมไฮโดรเจนที่พัดออกไปสู่ห้วงอวกาศรอบนอก

 

Seidel เสริมว่า “สภาพอากาศแบบนี้ไม่เคยถูกพบบนดาวดวงไหนมาก่อน แม้แต่เฮอริเคนที่รุนแรงที่สุดในระบบสุริยะ ยังดูสงบไปเลยเมื่อนำมาเทียบกับลมบนดาวดวงนี้”

 

การค้นพบดังกล่าวเกิดขึ้นจากการใช้อุปกรณ์สเปกโตรกราฟ ‘ESPRESSO’ (Echelle SPectrograph for Rocky Exoplanet and Stable Spectroscopic Observations) บนกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope เพื่อตรวจดูการดูดกลืนแสงดาวฤกษ์ของอะตอมในบรรยากาศดาวเคราะห์ดวงนี้ เมื่อโคจรตัดผ่านหน้าดาวฤกษ์ระหว่างสังเกตจากโลก ซึ่งแต่ละธาตุจะดูดกลืนในช่วงคลื่นแสงแตกต่างกัน จนเป็นข้อมูลให้นักดาราศาสตร์นำมาสร้างแผนที่บรรยากาศดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะแบบ 3 มิติได้เป็นครั้งแรก

 

ESO ระบุว่ากล้อง Very Large Telescope สามารถศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ได้ แต่สำหรับการศึกษาบรรยากาศของดาวเคราะห์คล้ายโลก นักดาราศาสตร์อาจต้องรอข้อมูลจากกล้อง Extremely Large Telescope ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในประเทศชิลี ซึ่งอาจมีส่วนสำคัญต่อการค้นพบบรรยากาศของดาวคล้ายโลกเพิ่มเติมได้ในอนาคต

 

งานวิจัยจากการค้นพบครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ภาพ: NASA / ESA / STScI

อ้างอิง:

The post ราวกับหลุดมาจากไซไฟ: นักดาราศาสตร์สร้างแผนที่ 3 มิติ ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบเป็นครั้งแรก appeared first on THE STANDARD.

]]>
รู้จักยาน DART: ซ้อมแผน ‘พิทักษ์โลก’ ด้วยการส่งยานอวกาศไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย https://thestandard.co/nasa-dart-mission-asteroid-impact-defense-system/ Fri, 21 Feb 2025 13:25:32 +0000 https://thestandard.co/?p=1044622 ยาน DART ของ NASA ขณะพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย Dimorphos เพื่อทดสอบเทคนิคการเบี่ยงวิถีวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย

ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 เป็นหนึ่งในวัตถุบนท้องฟ้าที่นัก […]

The post รู้จักยาน DART: ซ้อมแผน ‘พิทักษ์โลก’ ด้วยการส่งยานอวกาศไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย appeared first on THE STANDARD.

]]>
ยาน DART ของ NASA ขณะพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย Dimorphos เพื่อทดสอบเทคนิคการเบี่ยงวิถีวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย

ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 เป็นหนึ่งในวัตถุบนท้องฟ้าที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกกำลังจับตามอง หลังพบว่าอาจมีความเสี่ยงพุ่งชนโลกมากถึง 3.1% ในช่วงปลายปี 2032 (ล่าสุด NASA ปรับลดลงเหลือโอกาส 0.36%)

 

ด้วยขนาดใหญ่ประมาณ 55 เมตร ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะพุ่งชนโลกด้วยความเร็วประมาณ 17 กิโลเมตรต่อวินาที ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายในท้องที่นั้นๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวหรือสึนามิ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่พุ่งชน ขณะที่ความเสี่ยงในการพุ่งชนที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานอวกาศต่างๆ เริ่มพิจารณาแผนการ ‘พิทักษ์โลก’ อย่างจริงจัง

 

หนึ่งในภารกิจที่มักถูกยกขึ้นมากล่าวถึง คือยานอวกาศ DART หรือ Double Asteroid Redirection Test ยานของ NASA ที่ถูกส่งไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยในปี 2022 เพื่อซ้อมแผนการพิทักษ์โลกเชิงรุกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

ดาวที่เป็นเป้าหมายของยาน DART มีชื่อว่า Dimorphos ซึ่งเป็นดวงจันทร์บริวารที่โคจรอยู่รอบดาวเคราะห์น้อย Didymos โดยทั้งสองดวงนี้อยู่ห่างจากโลกในระยะปลอดภัย ไม่ไกลเกินจนพ้นระยะสังเกตเห็นได้จากโลก และไม่ใกล้จนส่งผลให้มีโอกาสพุ่งชนโลกในอนาคตอันใกล้ จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับภารกิจทดสอบแผนการใช้ยานอวกาศเพื่อทำ ‘Kinetic Impactor’ หรือการพุ่งชนด้วยพลังงานจลน์

 

ระบบดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีความเหมาะสมสำหรับภารกิจนี้ เนื่องจากดาว Didymos มีขนาดใหญ่ประมาณ 780 เมตร ขณะที่ดวงจันทร์ Dimorphos มีขนาดประมาณ 160 เมตร และนักดาราศาสตร์ทราบว่ามันใช้เวลาโคจรรอบดาวเคราะห์น้อย 11 ชั่วโมง 55 นาที โดยเป้าหมายจากการพุ่งชนของยาน DART คือคาบการโคจรของดาว Dimorphos จะต้องสั้นลง บ่งชี้ว่าภารกิจเบี่ยงวิถีวงโคจรด้วยการพุ่งชนนั้นประสบความสำเร็จ

 

DART ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2021 ไปกับจรวด Falcon 9 ของบริษัท SpaceX และเดินทางไปพุ่งชนดาว Dimorphos ในเช้ามืดวันที่ 27 กันยายน 2022 ด้วยความเร็วประมาณ 6 กิโลเมตรต่อวินาที (22,530 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) พร้อมกับส่งภาพสุดท้ายจากกล้องบนยานพุ่งชน ที่ความสูงประมาณ 6 กิโลเมตรจากพื้นผิว หรือในช่วงประมาณ 1 วินาทีก่อนพุ่งชนเท่านั้น

 

ยานพุ่งชนเข้ากับดาว Dimorphos ได้อย่างแม่นยำ ขณะที่กล้องโทรทรรศน์ต่างๆ จากโลก รวมถึงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและเจมส์ เว็บบ์ ต่างร่วมบันทึกภาพวินาทีการพุ่งชน ซึ่งแรงกระแทกดังกล่าวส่งผลให้ฝุ่นหินจากผิวดาวมากกว่า 1,000,000 กิโลกรัม กระเด็นลอยออกสู่อวกาศ มีส่วนสำคัญในการช่วยชะลอความเร็วในวงโคจรลงไปได้มากกว่าเดิม

 

ก่อนการพุ่งชน NASA คาดการณ์ว่ายาน DART จะเปลี่ยนคาบการโคจรของดาว Dimorphos ได้ไม่น้อยกว่า 73 วินาที แต่ข้อมูลที่ได้จากภารกิจ พบว่าดาวดวงนี้มีคาบการโคจรสั้นลงไปถึง 32 นาทีด้วยกัน จากเดิมที่ใช้เวลา 11 ชั่วโมง 55 นาทีเพื่อโคจรหนึ่งรอบ ลดเหลือเพียง 11 ชั่วโมง 23 นาทีเท่านั้น นับเป็นความสำเร็จที่เกิดคาดอย่างยิ่ง และพิสูจน์ว่าเทคนิคการพุ่งชนด้วยพลังงานจลน์ สามารถถ่ายโอนโมเมนตัมของดาว ส่งผลให้เราสามารถเบี่ยงตำแหน่งของดาวเคราะห์น้อยได้จริง

 

นอกจากนี้ องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ยังได้ส่งยานอวกาศ Hera เดินทางตามไปสำรวจระบบดาว Didymos และ Dimorphos โดยมีกำหนดเข้าสู่วงโคจรในวันที่ 14 ธันวาคม 2026 เพื่อศึกษาองค์ประกอบของดาวเคราะห์น้อยทั้งสองดวงอย่างละเอียด และนำข้อมูลดังกล่าวมาแทนค่าในตัวแปร จากการถ่ายโอนโมเมนตัมเมื่อถูกยาน DART พุ่งชนในปี 2022 ที่ผ่านมา

 

ข้อมูลที่ได้จากภารกิจของ DART และยาน Hera จะเป็นบทเรียนสำคัญเพื่อให้หน่วยงานอวกาศบนโลกพัฒนายานพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย ที่อาจได้ทดสอบแบบจริงจังกับดาว 2024 YR4 ซึ่งมีกำหนดโคจรมาเฉียดใกล้โลกครั้งแรกในปี 2028 และเป็นโอกาสสำคัญที่นักดาราศาสตร์จะได้ศึกษาวิถีวงโคจรอย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ว่าการส่งยานอวกาศไปพิทักษ์โลกแบบ DART จะมีความจำเป็นหรือไม่

 

แต่ด้วยสนนราคาประมาณ 308 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1 หมื่นล้านบาท) ในการสร้างยานลำนี้ขึ้น ทำให้ DART เป็นยานอวกาศที่มีราคาปานกลาง สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับพิสูจน์ได้แล้วว่าสามารถเบี่ยงทิศทางดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่กว่า 150 เมตร ซึ่งใหญ่กว่า 2024 YR4 ได้ และในกรณีที่ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มาพุ่งชนโลกจริง มนุษยชาติอาจมีแผนพิทักษ์โลกเชิงรุกแบบจริงจังได้แล้ว…

 

ภาพ: NASA

อ้างอิง:

The post รู้จักยาน DART: ซ้อมแผน ‘พิทักษ์โลก’ ด้วยการส่งยานอวกาศไปพุ่งชนดาวเคราะห์น้อย appeared first on THE STANDARD.

]]>
อีลอน มัสก์ โพสต์ด่านักบินอวกาศ ‘โง่-สมองน้อย’ ตอบโต้เรื่องนักบินติดอยู่บนสถานีอวกาศ https://thestandard.co/elon-musk-and-astronaut-clash/ Fri, 21 Feb 2025 11:48:12 +0000 https://thestandard.co/?p=1044586

อีลอน มัสก์ โพสต์ตอบโต้อดีตผู้บัญชาการสถานีอวกาศนานาชาต […]

The post อีลอน มัสก์ โพสต์ด่านักบินอวกาศ ‘โง่-สมองน้อย’ ตอบโต้เรื่องนักบินติดอยู่บนสถานีอวกาศ appeared first on THE STANDARD.

]]>

อีลอน มัสก์ โพสต์ตอบโต้อดีตผู้บัญชาการสถานีอวกาศนานาชาติว่า ‘โง่’ และ ‘สมองน้อย’ หลังถูกตอบโต้เรื่อง 2 นักบินอวกาศ NASA ที่ ‘ติด’ อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน

 

จุดเริ่มต้นของสถานการณ์ดังกล่าวมาจากวิดีโอที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ อีลอน มัสก์ ได้ให้สัมภาษณ์ร่วมกันกับสื่อ Fox News เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ โดยมีช่วงหนึ่งที่มัสก์ได้กล่าวถึงแผนการช่วยเหลือสองนักบินอวกาศ ซึ่ง ‘ติด’ อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ

 

ทรัมป์ตอบคำถาม ฌอน ฮานนิตี พิธีกรของ Fox News ว่า “พวกเขาถูกทิ้งไว้บนอวกาศ” ก่อนกล่าวถึงชื่อของ โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดี โดยที่มัสก์เสริมว่า “พวกเขาถูกทิ้งไว้บนนั้นด้วยเหตุผลทางการเมือง”

 

นักบินอวกาศที่ทั้งคู่กล่าวถึงคือ แบรี วิลมอร์ และ สุนิตา วิลเลียมส์ นักบินอวกาศ NASA ที่เดินทางไปสถานีอวกาศกับยาน Starliner ของบริษัท Boeing ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2024 และยังคงทำงานอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติจนถึงปัจจุบัน

 

เมื่อวิดีโอดังกล่าวถูกนำมาเผยแพร่ต่อบน X แอนเดรส โมเกนเซ่น นักบินอวกาศขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) อดีตผู้บัญชาการสถานีอวกาศนานาชาติ ภารกิจ Expedition 70 ที่เดินทางไปกับยาน Crew Dragon ของ SpaceX ในปี 2023 โพสต์ตอบโต้ว่า “มีแต่เรื่องโกหก และมาจากคนที่บ่นว่าสื่อกระแสหลักขาดความซื่อสัตย์ในการรายงานข่าวเสียด้วย”

 

มัสก์โพสต์ตอบโต้ในทันที “คุณมันพวกสมองน้อย SpaceX สามารถพาพวกเขากลับมาได้หลายเดือนแล้ว ผมเสนอให้กับรัฐบาลของไบเดนโดยตรง และพวกเขาปฏิเสธมัน ที่นักบินอวกาศต้องกลับโลกช้าเป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง” ก่อนเสริมด้วยคำว่า “ไอ้โง่” ปิดท้ายในโพสต์

 

ทั้งนี้ วิลมอร์และวิลเลียมส์ไม่ได้ติดอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ นักบินอวกาศทั้ง 2 คนมียานอวกาศของ SpaceX รอรับกลับโลกตั้งแต่เดือนกันยายน 2024 โดยมีกำหนดเดินทางกลับในเดือนมีนาคม 2025 ตามแผนการหมุนเวียนลูกเรือของ NASA และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียบพร้อมขณะทำงานอยู่บนอวกาศ

 

หลังจากโพสต์ตอบโต้นักบินอวกาศ ESA และผู้ใช้งาน X มัสก์ได้โพสต์เพิ่มว่า “ถึงเวลาเตรียมความพร้อมปลดประจำการสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว” และเสริมว่า “ได้เวลาไปดาวอังคารกัน” โดยระบุว่าเจ้าตัวแนะนำให้ปลดประจำการภายใน 2 ปีจากนี้ แต่การตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

NASA และหน่วยงานอวกาศที่มีส่วนร่วมกับการปฏิบัติงานของสถานีอวกาศนานาชาติ ยังไม่มีการให้ข้อมูลหรือความเห็นใดๆ กับสถานการณ์ดังกล่าว

 

ภาพ: The Royal Society, NASA / ESA

อ้างอิง:

The post อีลอน มัสก์ โพสต์ด่านักบินอวกาศ ‘โง่-สมองน้อย’ ตอบโต้เรื่องนักบินติดอยู่บนสถานีอวกาศ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ปลาป่วยหรือโลกเปลี่ยน? หลังนักวิจัยถ่ายภาพปลาตกเบ็ด (Anglerfish) ตัวเป็นๆ กลางแสงแดดใกล้ผิวน้ำ จนภาพกลายเป็นไวรัล https://thestandard.co/the-viral-anglerfish-explained/ Fri, 21 Feb 2025 05:55:47 +0000 https://thestandard.co/?p=1044417

เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ลาอิอา วาลอร์ นักวิจัยจา […]

The post ปลาป่วยหรือโลกเปลี่ยน? หลังนักวิจัยถ่ายภาพปลาตกเบ็ด (Anglerfish) ตัวเป็นๆ กลางแสงแดดใกล้ผิวน้ำ จนภาพกลายเป็นไวรัล appeared first on THE STANDARD.

]]>

เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ลาอิอา วาลอร์ นักวิจัยจากองค์กร NGO Condrik – Tenerife สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติขณะที่กำลังนำเรือเดินทางกลับเข้าฝั่งเกาะเตเนริเฟในหมู่เกาะคานารีของสเปนหลังภารกิจสำรวจฉลาม เมื่อเขาพิจารณาให้ชัดเจนจึงพบว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือปลาตกเบ็ด (Anglerfish) หรือที่เรียกว่าปลาปีศาจทะเลดำ (Melanocetus johnsonii) ตัวเป็นๆ กำลังว่ายน้ำอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ เพราะปลาชนิดนี้จะพบได้ที่ความลึกนับพันเมตรเท่านั้น

 

ทีมงานทั้งหมดให้ความสนใจกับสิ่งนี้ทันที เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ได้พบปลาน้ำลึกที่ยังมีชีวิตแหวกว่ายในน้ำตื้นริมชายฝั่งกลางแสงแดด 

 

เดวิด จารา โบกูนญา ช่างภาพรีบนำกล้องลงไปถ่ายภาพใต้น้ำทันที ทีมงานใช้เวลากับปลาตัวเมียที่มีขนาดยาวเพียง 6 เซนติเมตรตัวนี้อยู่ไม่ถึง 2 ชั่วโมงมันก็เสียชีวิต ทีมงานจึงได้นำซากปลาตกเบ็ดที่พบนี้ไปเข้าห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุต่อไปว่าทำไมถึงได้เกิดเรื่องแปลกนี้ขึ้นมาได้

 

 

ปลาป่วยหรือโลกเปลี่ยน

 

ปลาตกเบ็ด (Anglerfish) เป็นสัตว์ทะเลน้ำลึกที่พบเห็นได้ยาก แยกออกเป็นหลายสายพันธุ์ มีลักษณะเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปจะมีเฉพาะปลาตัวเมียเท่านั้นที่มีสายล่อเหยื่อเรืองแสงบนหน้าผาก แสงนี้เกิดจากแบคทีเรียบางชนิดในน้ำลึกที่คอยดึงดูดให้เหยื่อของมันว่ายเข้ามาใกล้หรือว่ายเข้าไปในปากของมันซึ่งมีฟันยาวแหลมงอกย้อนกลับเข้าด้านใน ป้องกันไม่ให้เหยื่อที่เข้าไปในปากหนีรอดออกมาได้ ปลาตัวผู้นั้นแตกต่างออกไป พวกมันจะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียมาก โดยมีความยาวไม่ถึง 3 เซนติเมตร ขณะที่ตัวเมียจะใหญ่กว่ามัน 2 เท่าขึ้นไป และบางสายพันธุ์อาจยาวได้ถึง 18 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มวัยปลาตัวผู้จะไม่หาอาหาร แต่จะใช้ชีวิตเพื่อหาปลาตัวเมียเท่านั้น เมื่อพบแล้วบางสายพันธุ์จะรวมร่างเข้ากับปลาตัวเมีย เหลือเพียงอัณฑะห้อยอยู่ภายนอก เคยมีรายงานพบปลาตัวเมียที่มีอัณฑะของตัวผู้ห้อยอยู่ตามร่างกายหลายชุด

 

การขึ้นมาใกล้ผิวน้ำของปลาตกเบ็ดนี้ก่อให้เกิดคำถามมากมายถึงสาเหตุที่แท้จริง

 

ดร.เอเลนา มาร์ติเนซ นักชีววิทยาทางทะเลจาก Condrik – Tenerife แสดงความเห็นว่า การพบเห็นปลาปีศาจทะเลดำใกล้ผิวน้ำอาจมาจากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเล

 

 

“หนึ่งในทฤษฎีที่เป็นไปได้คือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเลอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในน้ำลึกถูกรบกวน พวกมันจึงต้องหนีไปยังที่ที่ไม่คุ้นเคย อีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นไปได้ก็คือมลพิษและความเครียดทางสิ่งแวดล้อม ในสภาพแวดล้อมน้ำลึกกำลังบังคับให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ขึ้นมาบนผิวน้ำ”

 

ดร.มาร์ติเนซ เตือนว่า “การปรากฏตัวของปลาน้ำลึกอย่างปลาปีศาจทะเลดำใกล้ผิวน้ำอาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของเราทุกคนในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและปกป้องมหาสมุทรของเราจากมลพิษ”

 

แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ เพราะหากเป็นเหตุจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เราน่าจะพบปลาน้ำลึกมากกว่า 1 ตัว และมากกว่า 1 สายพันธุ์ปรากฏตัวในน้ำตื้น การที่เราพบปลาน้ำลึกเพียงตัวเดียวตามเหตุการณ์ที่เกิดนี้ อาจบ่งบอกถึงว่ามันอาจเป็นปลาที่มีความผิดปกติของถุงลม (Swim Bladder Malfunction) หรือเจ็บป่วยด้วยสาเหตุอื่น เป็นอาการเฉพาะตัวจนอยู่ในที่อยู่เดิมไม่ได้ แต่ก็มีข้อสังเกตว่าจำนวนประชากรของปลาชนิดนี้ไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด หากจำนวนประชากรเบาบางมาก ความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ เช่น อุณหภูมิ ความดันน้ำ หรือปริมาณออกซิเจนในน้ำลึก ก็อาจส่งผลต่อพวกมันจริง แต่เนื่องจากมีประชากรน้อย จึงลอยขึ้นมาให้พบเห็นเพียงตัวเดียวก็เป็นได้

 

อ้างอิง:

The post ปลาป่วยหรือโลกเปลี่ยน? หลังนักวิจัยถ่ายภาพปลาตกเบ็ด (Anglerfish) ตัวเป็นๆ กลางแสงแดดใกล้ผิวน้ำ จนภาพกลายเป็นไวรัล appeared first on THE STANDARD.

]]>