On this day – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Tue, 20 Aug 2024 15:42:04 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ON THIS DAY: 21 สิงหาคม 1959 ฮาวายเป็นรัฐที่ 50 ของสหรัฐฯ https://thestandard.co/on-this-day-21-august-1959/ Wed, 21 Aug 2024 00:00:54 +0000 https://thestandard.co/?p=973296

21 สิงหาคม 1959 ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ลงนามป […]

The post ON THIS DAY: 21 สิงหาคม 1959 ฮาวายเป็นรัฐที่ 50 ของสหรัฐฯ appeared first on THE STANDARD.

]]>

21 สิงหาคม 1959 ประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ลงนามประกาศรับฮาวายเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาในฐานะรัฐลำดับที่ 50 หรือเพียง 8 เดือนหลังจากที่ประกาศรับอลาสก้าเข้าเป็นรัฐที่ 49

 

ในอดีตฮาวายถือเป็นหนึ่งในดินแดนที่น่าดึงดูดใจสำหรับสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลทั้งทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 คณะมิชชันนารีชาวอเมริกันล่องเรือมาเยือนดินแดนนี้ และพบว่าพื้นที่ของฮาวายเอื้อต่อการปลูกอ้อย หลังจากนั้นบรรดานักลงทุนผิวขาวก็เข้ามาเยือนและกว้านซื้อพื้นที่เป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลในฮาวายขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ในช่วงทศวรรษที่ 1870 มีหลายสนธิสัญญาที่ส่งผลให้การค้าของฮาวายผูกติดกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำตาลที่มีการทำสนธิสัญญาต่างตอบแทน (Reciprocity Treaty) ซึ่งเปิดทางให้ฮาวายได้สิทธิพิเศษในการส่งน้ำตาลเข้าไปขายในสหรัฐฯ โดยไม่ต้องจ่ายภาษี ขณะที่สหรัฐฯ เองก็สามารถส่งสินค้ามาขายในฮาวายได้แบบไม่ต้องจ่ายภาษีด้วยเช่นเดียวกัน จนในช่วงหลังปี 1885 ชาวอเมริกันและชนเชื้อสายยุโรปก็กลายเป็นนายทุนเจ้าของไร่อ้อยบนพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะ อีกทั้งกลุ่มนายทุนดังกล่าวยังมีความทะเยอทะยานที่จะเข้าไปควบคุมรัฐบาลฮาวายด้วย

 

กลุ่มทุนผิวขาวผู้มั่งคั่งพยายามอย่างยิ่งที่จะตัดทอนอำนาจอธิปไตยของชนพื้นเมือง ในปี 1887 กลุ่มสันนิบาตชาวฮาวาย (The Hawaiian League) ซึ่งนำโดยกลุ่มนักธุรกิจผิวขาว บีบบังคับให้กษัตริย์เดวิด คาลาคาอัว (David Kalakaua) แห่งฮาวาย ลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญดาบปลายปืน (Bayonet Constitution) โดยกษัตริย์คาลาคาอัวถูกกดดันให้ลงนามในขณะที่มีการเล็งปืนมาที่พระองค์ด้วย รัฐธรรมนูญนี้ลดทอนพระราชอำนาจของกษัตริย์ รวมถึงลดทอนอำนาจของชนพื้นเมือง ในทางกลับกันก็ให้อำนาจแก่นายทุนน้ำตาลเข้ามาควบคุมเกาะแห่งนี้ได้มากขึ้น

 

และในที่สุดวันที่ 17 มกราคม 1893 ชนชั้นนำและนักธุรกิจผิวขาวกลุ่มเล็กๆ ก็สามารถโค่นล้มระบอบกษัตริย์ของฮาวายได้สำเร็จ โดยมีพระราชินีองค์สุดท้ายคือสมเด็จพระราชินีนาถลิลิอูโอคาลานี (Liliʻuokalani) กลุ่มชนชั้นนำได้รับความช่วยเหลือจากทูตอเมริกาประจำฮาวาย ซึ่งสมคบคิดนำเรือรบของสหรัฐฯ มาจอดที่ชายฝั่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ ในเวลานั้นพวกเขาขู่ว่าจะบุกฮาวายหากองค์ราชินีขัดขืน อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ ของสหรัฐฯ กล่าวประณามการปฏิวัติ อีกทั้งยังกล่าวสนับสนุนพระราชินีด้วยวาจา แต่รัฐบาลเฉพาะกาลก็ปฏิเสธที่จะถอย และสถาปนาสาธารณรัฐฮาวายขึ้นในที่สุด

 

รัฐบาลใหม่ผลักดันให้มีการผนวกฮาวายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ทันที แต่ท่าทีดังกล่าวก็ทำให้เกิดการถกเถียงทางการเมืองเป็นเวลานานถึง 5 ปีด้วยกัน โดยผู้สนับสนุนมองว่าฮาวายเป็นประตูสู่ตลาดเอเชีย และเป็นจุดที่เรือของทหารและเรือค้าขายสามารถมาจอดแวะพักในช่วงกลางมหาสมุทรแปซิฟิกได้ ขณะผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่าการผนวกรวมฮาวายเป็นภาระ ผิดศีลธรรม และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 1898 สหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องใช้ฮาวายเป็นฐานทัพสำหรับการต่อสู้ในสงครามสเปน-อเมริกา จึงผนวกรวมฮาวายเข้าเป็นดินแดนของตนอย่างเป็นทางการภายใต้สนธิสัญญา Newlands Resolution หลังจากนั้นฮาวายก็พยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะการเป็นรัฐของสหรัฐฯ แม้การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ความพยายามดังกล่าวต้องล่าช้าออกไปหลายปี แต่ในที่สุดประชาชนชาวฮาวาย 2 ใน 3 ก็ลงมติเห็นชอบให้ฮาวายเข้าร่วมเป็นรัฐของสหรัฐฯ และในปี 1959 สภาคองเกรสก็ผ่านร่างกฎหมาย Hawaii’s Statehood Bill และนำไปสู่การลงนามของประธานาธิบดีในที่สุด

 

อ้างอิง:

The post ON THIS DAY: 21 สิงหาคม 1959 ฮาวายเป็นรัฐที่ 50 ของสหรัฐฯ appeared first on THE STANDARD.

]]>
26 กรกฎาคม – วันเกิด ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี https://thestandard.co/on-this-day-26072567/ Fri, 26 Jul 2024 00:43:14 +0000 https://thestandard.co/?p=963024

วันนี้ (26 กรกฎาคม) ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ 75 ของ ทักษิ […]

The post 26 กรกฎาคม – วันเกิด ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (26 กรกฎาคม) ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ 75 ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขาถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 ทำให้ต้องพักอาศัยอยู่ต่างประเทศมาเป็นเวลาเกือบ 17 ปี โดยปัจจุบันทักษิณได้มีชื่อเรียกตนเองอีกชื่อหนึ่งว่า โทนี วูดซัม (Tony Woodsome) ซึ่งใช้สำหรับการพูดคุยกับประชาชนในแอปพลิเคชัน Clubhouse

 

ทักษิณต้องเผชิญกับคดีความจำนวนมาก หลังคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจเขาในปี 2549 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. เพื่อมาตรวจสอบและดำเนินคดีกับรัฐบาลของทักษิณ

 

หลังเดินทางกลับเข้าไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551 นับจากรัฐประหาร ให้หลังเพียง 5 เดือน ทักษิณได้ขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศ โดยให้เหตุผลว่าเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศจีนและญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 10 สิงหาคม 2551 ก่อนที่จะชัดเจนในเวลาต่อมาเมื่อถึงวันนัดให้ไปรายงานตัวต่อศาลในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 แต่เขาไม่มารายงานตัวต่อศาล

 

กระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ทักษิณเดินทางกลับเข้าประเทศไทยและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก่อนจะได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษคงเหลือโทษจำคุกต่ออีก 1 ปี ในวันที่ 1 กันยายน 2566 และในที่สุดวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ทักษิณได้รับการพักโทษและกลับมาพักที่บ้านจันทร์ส่องหล้าในรอบกว่า 17 ปี

 

และหนนี้ถือเป็นการฉลองวันเกิดแรกของเขาในประเทศไทย นับแต่ต้องเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน

The post 26 กรกฎาคม – วันเกิด ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี appeared first on THE STANDARD.

]]>
24 มิถุนายน 2475 – วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง https://thestandard.co/on-this-day-24062475/ Mon, 24 Jun 2024 01:33:10 +0000 https://thestandard.co/?p=948621

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญสำหรับการสร้างประชา […]

The post 24 มิถุนายน 2475 – วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญสำหรับการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทย เพราะเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

 

ในวันนั้นคณะราษฎรนำกำลังทหารและพลเรือนเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ในขณะนั้นรัชกาลที่ 7 เสด็จแปรพระราชฐานประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คณะผู้ยึดอำนาจที่มี พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า ตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารที่มีนายทหารระดับนายพันเอก 3 คน คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์

 

เมื่อสามารถระดมกำลังทหารมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้เป็นจำนวนมากจากหลายกองพันในกรุงเทพฯ จึงประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรถึงเหตุและความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตลอดจนกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็มีหนังสือ และส่ง น.ต. หลวงศุภชลาศัยไปยังพระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลอัญเชิญรัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร ดังมีความสำคัญว่า

 

“คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”

 

วันรุ่งขึ้น 25 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร มีความตอนหนึ่งว่า

 

“…คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกัน ทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก”

 

ในคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งที่คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ และในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และพระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย

 

พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน

 

ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งเดิมทีคณะผู้ก่อการตั้งใจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับถาวร

 

ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 จึงมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

The post 24 มิถุนายน 2475 – วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง appeared first on THE STANDARD.

]]>
22 พฤษภาคม 2567 – 10 ปี คสช. ก่อรัฐประหารรัฐบาลเลือกตั้ง https://thestandard.co/on-this-day-22052567/ Wed, 22 May 2024 05:39:28 +0000 https://thestandard.co/?p=936418

ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือวันที่ 22 พฤษภาค […]

The post 22 พฤษภาคม 2567 – 10 ปี คสช. ก่อรัฐประหารรัฐบาลเลือกตั้ง appeared first on THE STANDARD.

]]>

ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งรักษาการแทนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

คสช. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง และต่อมาได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แทน

 

รัฐประหารโดย คสช. นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ

 

ก่อนหน้านั้น 2 วัน คือวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 03.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งขึ้น กอ.รส. ใช้วิธีการปิด-ควบคุมสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ

 

วันที่ 21-22 พฤษภาคม 2557 พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) เรียกประชุมผู้แทนรัฐบาล, วุฒิสภา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, นปช. และ กปปส. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อหาข้อสรุปในการก้าวผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมือง แต่ไม่อาจหาข้อสรุปได้

 

พล.อ. ประยุทธ์ และผู้บัญชาการเหล่าทัพ จึงประกาศกระทำรัฐประหารในที่ประชุม และควบคุมตัวผู้เข้าร่วมประชุม ยกเว้นตัวแทนวุฒิสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยนำตัวไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งใช้เป็นกองบัญชาการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

คสช. ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 16.30 น. หลังรัฐประหารมีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา

 

จนเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ซึ่งให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา วันที่ 21 สิงหาคม 2557 สภามีมติเลือก พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

 

นอกจากนี้ คสช. ยังได้ดำเนินการภารกิจด้านการปฏิรูป โดยการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งต่อมาถูกยุบและตั้งเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในปัจจุบัน ก่อนคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ในอีก 5 ปีต่อมา คือวันที่ 24 มีนาคม 2562

 

กว่า 10 ปีหลังการยึดอำนาจโดย คสช. ประเทศไทยอยู่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ กว่า 9 ปี และอยู่ภายใต้กลไก กติกา และ สว. แต่งตั้ง 250 คน ซึ่งมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาล 5 ปีแรกนับแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562

 

พล.อ. ประยุทธ์ ประกาศเดินหน้าอาสาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 โดยลงสนามเลือกตั้งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ ทว่าผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรครวมไทยสร้างชาติได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร 36 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง แม้จะเพียงพอสำหรับการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้รัฐสภาโหวตลงมติ แต่เสียงก็ไม่เพียงพอที่จะรวบรวมจำนวนตั้งรัฐบาล

 

สุดท้ายพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำรัฐบาล ส่งให้ เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 หลังพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้งอันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ขณะที่ 250 สว. หมดวาระ และอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรีของ สว. สิ้นสุดลง โดยขณะนี้กำลังเดินหน้ากระบวนการเลือก สว. ใหม่ 200 คน

The post 22 พฤษภาคม 2567 – 10 ปี คสช. ก่อรัฐประหารรัฐบาลเลือกตั้ง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ON THIS DAY: 14 พฤษภาคม 1948 ก่อตั้งรัฐอิสราเอล https://thestandard.co/on-this-day-14051948/ Tue, 14 May 2024 01:55:52 +0000 https://thestandard.co/?p=933009

รัฐอิสราเอลสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤษภ […]

The post ON THIS DAY: 14 พฤษภาคม 1948 ก่อตั้งรัฐอิสราเอล appeared first on THE STANDARD.

]]>

รัฐอิสราเอลสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 หลังการประกาศอิสรภาพจากเครือจักรภพอังกฤษ โดยมี เดวิด เบน-กูเรียน (David Ben-Gurion) ผู้นำองค์กรไซออนิสต์โลก (World Zionist Organization) เป็นนายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนแรก

 

การก่อตั้งรัฐอิสราเอลมีขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคที่รู้จักกันในอดีตว่า ‘คานาอัน (Canaan)’ โดยเคยเป็นถิ่นอาศัยของชาวอิสราเอล (Israelites) หรือฮีบรู (Hebrews) ในยุคหลายพันปีก่อนคริสตกาล และมีการเปลี่ยนผู้ปกครองมากมาย ทำให้ชาวอิสราเอลจำนวนมากอพยพและกระจัดกระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรป

 

ช่วงคริสต์ศักราชที่ 1500-1900 ชาวอิสราเอลพลัดถิ่นจำนวนมากไม่มีที่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และถูกกีดกันจากชาวยุโรป ทำให้ต้องกลับไปยังดินแดนปาเลสไตน์ และเกิดขบวนการไซออนิสต์ ที่มีเป้าหมายกลับไปตั้งรัฐอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าที่นี่คือดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promised Land) หรือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Land) ที่คัมภีร์ฮีบรูระบุไว้ว่าพระเจ้าให้สัญญาว่าจะมอบให้ 

 

ขณะที่ชาวอาหรับหรือชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่ยุคจักรวรรดิออตโตมันในปี 1566 ต่อมาหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 จักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้ ส่งผลให้ปาเลสไตน์ไปอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในปี 1918 แต่นับตั้งแต่ปี 1920 ชาวยิวบางส่วนเริ่มอพยพกลับไปยังปาเลสไตน์ และเริ่มเกิดความขัดแย้งกับชุมชนชาวอาหรับที่อาศัยอยู่ก่อน ก่อนที่อังกฤษจะออกนโยบายจำกัดชาวยิวที่อพยพเข้าไปในปาเลสไตน์

 

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวซึ่งรอดชีวิตการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีในยุโรป ได้อพยพเข้าไปยังปาเลสไตน์มากขึ้น ส่งผลให้ความขัดแย้งกับชาวอาหรับยิ่งรุนแรงมากขึ้น

 

ความขัดแย้งที่บานปลายทำให้อังกฤษขอความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ก่อนที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) จะมีการลงมติในปี 1947 สนับสนุนแผนแบ่งประเทศ แยกดินแดนปาเลสไตน์เป็น 2 รัฐ โดยแบ่งพื้นที่ 55% ให้กับชาวยิว และ 43% ให้กับชาวอาหรับ และให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองนานาชาติ

 

ฝ่ายชุมชนชาวยิวยอมรับการแบ่งประเทศ พร้อมประกาศสถาปนารัฐอิสราเอล หรือรัฐยิวขึ้นในทันที แต่ฝ่ายอาหรับและผู้นำปาเลสไตน์ปฏิเสธ และหลังจากนั้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 1948 ชาติอาหรับที่อยู่รายล้อม ทั้งอียิปต์, จอร์แดน, ซีเรีย, เลบานอน และอิรัก ตัดสินใจเปิดฉากสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรก แต่กลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้อิสราเอลขยายพื้นที่ในดินแดนปาเลสไตน์เพิ่มเป็น 78% โดยเขตเวสต์แบงก์พร้อมกับเยรูซาเล็มตะวันออกและฉนวนกาซา ถูกผนวกโดยจอร์แดนและอียิปต์ และมีการตกลงสงบศึกพร้อมกำหนดแนวสงบศึกในปี 1949 

 

อย่างไรก็ตาม ชาติอาหรับและอิสราเอลยังมีความขัดแย้งในช่วงหลายปีหลังจากนั้น โดยในปี 1967 เกิดสงคราม 6 วันระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ จอร์แดนและซีเรีย และในปี 1973 เกิดสงครามยมคิปปูร์ (Yom Kippur War) ระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์และซีเรีย 

 

ขณะที่อิสราเอลได้มีการขยายการตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์ที่ยึดครองมาได้อย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการกระทำที่ถือว่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

 

ส่วนความพยายามระหว่างประเทศในการแก้ไขข้อขัดแย้งและสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ โดยเฉพาะแนวทางแก้ไขปัญหาแบบสองรัฐ (Two-State Solution) เคยมีความพยายามผลักดันมาหลายครั้ง เช่นในปี 1993 ที่มีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพออสโลในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่ผลที่ได้ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน 

 

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

The post ON THIS DAY: 14 พฤษภาคม 1948 ก่อตั้งรัฐอิสราเอล appeared first on THE STANDARD.

]]>
12 พฤษภาคม 2008 – แผ่นดินไหวใหญ่เสฉวน https://thestandard.co/onthisday12052008/ Sun, 12 May 2024 00:00:09 +0000 https://thestandard.co/?p=932170

12 พฤษภาคม 2008 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แมกนิจูด 7.9 […]

The post 12 พฤษภาคม 2008 – แผ่นดินไหวใหญ่เสฉวน appeared first on THE STANDARD.

]]>

12 พฤษภาคม 2008 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แมกนิจูด 7.9 สั่นสะเทือนมณฑลเสฉวนของจีน โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างจากเมืองเฉิงตูซึ่งเป็นเมืองเอกของมณฑลเสฉวนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 80 กิโลเมตร และลึกลงไปใต้พื้นดิน 19 กิโลเมตร รวมถึงตรวจพบรอยแยกบนพื้นเป็นแนวยาวกว่า 240 กิโลเมตร

 

เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 87,150 คน ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 3.7 แสนคน และอีกราว 4.8 ล้านคนกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย นับเป็นเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดของจีนนับตั้งแต่ปี 1950 และเป็นเหตุแผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนในช่วงศตวรรษที่ 21 ไปมากที่สุดอันดับที่ 3 เป็นรองเพียงเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ปลายปี 2004 (2.27 แสนคน) และเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เฮติ ต้นปี 2010 (1.6 แสนคน)

 

รัฐบาลจีนมีคำสั่งให้ทหารและเจ้าหน้าที่กู้ภัยกว่า 1.3 แสนคนเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมทุ่มงบประมาณกว่า 1.37 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในการฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหายจากเหตุภัยพิบัติในครั้งนี้ จนได้รับเสียงชื่นชมไม่น้อยจากประชาคมโลกถึงแผนงานบรรเทาทุกข์และสาธารณภัยที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

 

ทางการจีนรายงานว่า ตัวเลข GDP ของเศรษฐกิจในมณฑลเสฉวนฟื้นตัวและปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านหยวน (ราว 3.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2011 หรือเพียง 3 ปีหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่นี้

 

 

ภาพ: Chien-min Chung / Getty Images

 

ภาพ: China Photos / Getty Images

 

ภาพ: Liu Jin / AFP

 

ภาพ: Paula Bronstein / Getty Images

 

ภาพ: Liu Jin / AFP

 

ภาพ: STR / AFP

 

อ้างอิง:

 

The post 12 พฤษภาคม 2008 – แผ่นดินไหวใหญ่เสฉวน appeared first on THE STANDARD.

]]>
11 MAY 1947 – เฟอร์รารีคันแรก https://thestandard.co/onthisday11051947/ Sat, 11 May 2024 02:00:51 +0000 https://thestandard.co/?p=932149

เอ็นโซ เฟอร์รารี ก่อตั้งบริษัท Ferrari ขึ้นในปี 1947 ด้ […]

The post 11 MAY 1947 – เฟอร์รารีคันแรก appeared first on THE STANDARD.

]]>

เอ็นโซ เฟอร์รารี ก่อตั้งบริษัท Ferrari ขึ้นในปี 1947 ด้วยเป้าหมายอันทะเยอทะยานในการสร้างรถแข่งที่สามารถคว้าชัยในกีฬามอเตอร์สปอร์ตระดับสูงสุดได้ และในวันที่ 11 พฤษภาคม 1947 รถแข่งภายใต้แบรนด์ Ferrari คันแรกก็ได้อวดโฉมสู่สายตาชาวโลก ณ สนาม Piacenza Circuit ประเทศอิตาลี

 

ก่อนหน้าที่เอ็นโซจะก่อตั้งแบรนด์ Ferrari เขาเคยเป็นนักแข่งรถและผู้จัดการทีมของอัลฟา โรเมโอมาก่อน ฉะนั้นเขาจึงรู้ดีว่าหัวใจสำคัญของรถแข่งคือเครื่องยนต์ที่จะพานักแข่งพุ่งทะยานสู่เส้นชัย รถแข่งรุ่นแรกอย่าง Ferrari 125S จึงมาพร้อมกับเครื่องยนต์ V12 ขนาด 1.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 118 แรงม้าที่ 6,800 รอบต่อนาที ตัวถังเป็นแบบท่อเหล็ก อันเป็นดีไซน์ที่กลายมาเป็นเอกลักษณ์ของรถแข่ง Ferrari ในช่วงหลายปีต่อมา และที่ขาดไม่ได้คือโลโก้ม้าดำลำพองตัดกับพื้นเหลือง คาดด้วยสีของธงชาติอิตาลี

 

แม้เป็นที่น่าเสียดายที่ในการเดบิวต์ลงสนามครั้งแรก Ferrari 125S จะยังไม่สามารถคว้าชัยชนะไปได้ แต่ผลงานก็จัดว่าโดดเด่นเมื่อเทียบกับผู้ชนะซึ่งคือ Maserati 6CS 1500s ที่โด่งดังเป็นพลุแตกในยุคนั้น 

 

นับตั้งแต่นั้นชื่อเสียงของ Ferrari ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่เป็นเลิศในด้านความเร็วและได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลกยานยนต์

 

 

 

ภาพ: Francesco Reggiani / LiveMedia

อ้างอิง:

The post 11 MAY 1947 – เฟอร์รารีคันแรก appeared first on THE STANDARD.

]]>
1 พฤษภาคม – วันแรงงานแห่งชาติ https://thestandard.co/onthisday01052024/ Wed, 01 May 2024 00:00:43 +0000 https://thestandard.co/?p=928637

วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ขณะที […]

The post 1 พฤษภาคม – วันแรงงานแห่งชาติ appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ขณะที่ทั่วโลกหยุดฉลองวันเดียวกันนี้ในฐานะวันกรรมกรสากล เรียกเป็นภาษาอังกฤษต่างกันไปว่า International Workers’ Day, Labour Day หรือ Workers’ Day โดยในบางประเทศกำหนดวันฉลองแตกต่างออกไป เช่น แคนาดาและสหรัฐอเมริกาฉลองวันแรงงานในวันจันทร์แรกของเดือนกันยายน

 

วันแรงงานเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เพื่อที่จะฉลองให้กับหยาดเหงื่อของผู้ใช้แรงงานที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม 

 

โดยในอดีต วันแรงงานถือเป็นวันเริ่มต้นการเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ เกษตรกรในยุโรปจะจัดพิธีฉลองและบวงสรวงเทพเจ้าแห่งการเกษตร 

 

แต่ที่มาของการหยุดงานในวันนี้เกิดขึ้นเมื่อยุโรปเปลี่ยนถ่ายจากสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม แรงงานเข้าสู่วงจรการผลิตในรูปแบบต่างๆ โดยเริ่มต้นทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 10-16 ชั่วโมงในหลายประเทศ สภาพแวดล้อมในการทำงานอยู่ในระดับเลวร้าย ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เริ่มมีการเรียกร้องให้ปรับปรุงเวลาและเงื่อนไขการทำงานในหลายประเทศ สหภาพแรงงานของหลายองค์กรในเมืองใหญ่ๆ ได้ข้อสรุปที่ออกมาในรูปของ ‘วันทำงาน 8 ชั่วโมง’ หรือ ‘Eight Hour Day’ ซึ่งต่อมาได้นำมาใช้เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานที่ยึดถือกันทั่วโลก

The post 1 พฤษภาคม – วันแรงงานแห่งชาติ appeared first on THE STANDARD.

]]>
30 เมษายน 2564 – ค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต ปิดตำนานคำด่าที่หลายคนยังจดจำ https://thestandard.co/onthisday-30042564/ Tue, 30 Apr 2024 02:00:52 +0000 https://thestandard.co/?p=928250 น้าค่อม เสียชีวิต

ค่อม ชวนชื่น เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 หลังจา […]

The post 30 เมษายน 2564 – ค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต ปิดตำนานคำด่าที่หลายคนยังจดจำ appeared first on THE STANDARD.

]]>
น้าค่อม เสียชีวิต

ค่อม ชวนชื่น เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 หลังจากติดโควิดและเข้ารักษาตัวอยู่ 19 วัน ปิดตำนาน ‘ไอ้สัส!’ คำพูดติดปากที่เป็นดั่งลายเซ็นประจำตัวของตลกวัย 63 ปีคนนี้ลง

 

และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เสียงหัวเราะและรอยยิ้มที่น้าค่อมฝากไว้ให้กับแฟนๆ ชาวไทยที่ติดตามน้ามาตลอด แต่น้าค่อมคือบุคลากรตลกที่มีความสำคัญกับวงการบันเทิงไทยที่สุดคนหนึ่ง ทั้งการเล่นมุกอันเป็นเอกลักษณ์และการเป็นที่รักของคนที่ร่วมงานด้วยเสมอ

 

ค่อม ชวนชื่น หรือ อาคม ปรีดากุล พื้นเพเดิมเป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เติบโตมาในครอบครัวที่มีพ่อและแม่ทำงานในโรงลิเก และเขาเองต้องเดินตามเส้นทางชีวิตแบบเดียวกันตั้งแต่ยังเด็ก เขารับบทเป็นตัวโจ๊กในคณะลิเก ตีกลองตะโพนประกอบจังหวะ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของงานที่เขาฝึกฝนและทำเป็นอาชีพโดยแท้จริง

 

หลังจากนั้นน้าค่อมและเพื่อนสนิทของเขาที่เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่อายุ 12-13 ปีอย่าง โน้ต เชิญยิ้ม (บำเรอ ผ่องอินทรกุล) จึงเริ่มเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อเล่นตลก และใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในช่วงหนึ่งของชีวิต

 

โน้ต เชิญยิ้ม หรือ ‘พี่เรอ’ ของน้าค่อม คือบุคคลที่เริ่มต้นเดินทางสายตลกมาพร้อมๆ กัน ซึ่งโน้ตเคยเล่าว่า สมัยก่อนเขาทั้งคู่นั้นลำบากมาก ต้องเอาไม้ประกอบฉากลิเกมาทำเป็นที่อยู่อาศัย และมีกางเกงที่สั่งตัดจากร้านแถวศรีย่านไว้ใส่ออกไปข้างนอกแค่ตัวเดียว แบบที่ถ้าสมมติน้าค่อมจะออกไปข้างนอก น้าโน้ตก็ต้องใส่ผ้าขาวม้าอยู่ห้อง สลับกันไปมาแบบนี้

 

น้าค่อมมีผลงานภาพยนตร์และละครรวมกันมากกว่า 70 เรื่องตลอดระยะเวลาการทำงาน และฝากผลงานที่น่าจดจำไว้มากมาย โดยเฉพาะเซ็ตภาพยนตร์ที่เขาร่วมแสดงกับภาพยนตร์ตระกูลของ ยอร์ช-ฤกษ์ชัย พวงเพ็ชร์ ทั้ง พยัคฆ์ร้ายส่ายหน้า (2548) และ แสบสนิท ศิษย์ส่ายหน้า (2549) ที่สร้างเคมีใหม่ทางการแสดงให้กับน้าค่อม กลายเป็นผลงานขึ้นหิ้งที่แฟนๆ ชื่นชอบ และเป็นจุดเริ่มต้นที่หลายๆ คนจำได้กับคีย์เวิร์ดการด่า “ไอ้สัส!” ที่ถ้าหากเขาด่า แฟนๆ ก็จะไม่รู้สึกโกรธ ถึงขนาดที่ ตูน บอดี้สแลม ยังเอ่ยปากว่าอยากโดนน้าค่อมด่าสักครั้งในชีวิต ขณะไปร่วมรายการ ตลาดใจ String Combo ของ โน้ต-อุดม แต้พานิช

 

นอกจากนั้นน้าค่อมยังมีงานแสดงอีกหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งเป็นงานที่น้าค่อมไม่เคยได้ลองทำ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Die Tomorrow (2560) ของผู้กำกับ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กับบทนักดนตรีอาวุโสที่เรียบง่ายและไม่มีซีนตลกเลย หรืออย่างใน คุณนายโฮ (2555) กับบท ผู้กองบูรพา พ่ออดีตทหารที่เป็นโฮโมโฟเบีย ที่ร่วมจอกับนักแสดงแถวหน้าของประเทศอย่าง ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต หรือแม้แต่บทคนตาบอดในเรื่อง น้ำ ผีนองสยองขวัญ (2553) ก็เป็นที่จดจำและสร้างเสียงหัวเราะที่แตกต่างได้อย่างมาก

 

ค่อม ชวนชื่น ในหลายปีให้หลังที่ผ่านมา เขาเติบโตและสร้างเสียงหัวเราะที่เป็นเอกลักษณ์ให้กับผู้ชมอยู่เสมอ โดยเฉพาะการปรากฏตัวของเขากับทีมบริษัทฮาไม่จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ แจ๊ส ชวนชื่น, ตั๊ก บริบูรณ์, บอล เชิญยิ้ม และ นุ้ย เชิญยิ้ม กลายเป็นรสชาติใหม่ของวงการบันเทิงไทย ที่สร้างรายการตลกที่โดดเด่นทั้งเรื่องราวและการอิมโพรไวส์แบบที่คาดเดาไม่ได้

 

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าการเสียชีวิตของน้าค่อมหลังติดโควิดถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของความรุนแรงในการระบาดจากคลัสเตอร์ทองหล่อ ซึ่งต่อมาสถานการณ์ก็บานปลาย มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนระบบสาธารณสุขในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลรองรับไม่ไหว ทำให้สังคมไทยได้เห็นภาพผู้ติดเชื้อนอนเจ็บป่วยอยู่ในบ้าน และหลายรายเสียชีวิตที่บ้าน เพราะไม่สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

The post 30 เมษายน 2564 – ค่อม ชวนชื่น เสียชีวิต ปิดตำนานคำด่าที่หลายคนยังจดจำ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ON THIS DAY: 26 เมษายน 1986 หายนะเชอร์โนบิล https://thestandard.co/on-this-day-26041986/ Fri, 26 Apr 2024 03:23:52 +0000 https://thestandard.co/?p=926913 เชอร์โนบิล

26 เมษายน 1986 คือวันที่หายนะใหญ่คืบคลานมาสู่สหภาพโซเวี […]

The post ON THIS DAY: 26 เมษายน 1986 หายนะเชอร์โนบิล appeared first on THE STANDARD.

]]>
เชอร์โนบิล

26 เมษายน 1986 คือวันที่หายนะใหญ่คืบคลานมาสู่สหภาพโซเวียต มันคือวันที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด กลายเป็นอุบัติเหตุด้านนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดของมวลมนุษยชาติ

 

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1977 ท่ามกลางช่วงเวลาที่รัฐบาลโซเวียตทุ่มเงินมหาศาลเพื่อพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์หลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองพริเพียตของสหภาพโซเวียต หรือปัจจุบันคือทางตอนเหนือของยูเครน ใกล้ชายแดนเบลารุส โดยมีเตาปฏิกรณ์ 4 เครื่องด้วยกัน 

 

25 เมษายน 1986 พนักงานดำเนินการทดสอบเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ตามกำหนดการซ่อมบำรุงปกติ เพื่อทดสอบว่าระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ยังสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่หากระบบไฟฟ้าถูกตัด อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการทดสอบ พนักงานฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัย ทำให้ไม่สามารถควบคุมกำลังของเครื่องปฏิกรณ์ได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยจากข้อผิดพลาดทางเทคนิคในการออกแบบเครื่องปฏิกรณ์ ทำให้ระบบตัดการทำงานอัตโนมัติไม่ทำงาน เมื่อเกิดความร้อนและแรงดันสูงจนเครื่องปฏิกรณ์รับไม่ได้ ในที่สุดแกนเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ก็หลอมละลาย เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ภายใน และระเบิดขึ้นในวันที่ 26 เมษายน 1986 ปลดปล่อยกัมมันตรังสีออกสู่ชั้นบรรยากาศ และตกลงในหลายพื้นที่ของสหภาพโซเวียต รวมถึง รัสเซีย เบลารุส และทางเหนือของยุโรป

 

เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตทันที 31 คน และบาดเจ็บมากกว่า 100 คน แต่ในระหว่างเกิดเหตุรัฐบาลโซเวียตยังไม่ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนในเมืองพริเพียต เมืองต้นแบบที่รัฐบาลโซเวียตสร้างขึ้นในปี 1970 สำหรับบุคลากรชั้นนำกว่า 50,000 คนที่ทำงานในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 3 กิโลเมตร กระทั่ง 36 ชั่วโมงต่อมาจึงออกประกาศให้ประชาชนนับหมื่นคนอพยพ โดยให้นำข้าวของที่จำเป็นเท่านั้นติดตัวไป และไม่มีใครได้กลับมาอีกเลย

 

ในช่วงแรกนั้น สหภาพโซเวียตปิดเรื่องนี้เป็นความลับ แต่ฝุ่นกัมมันตรังสีที่พวยพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศถูกกระแสลมพัดพาไปบริเวณกว้าง และลอยไปไกลจนถึงสวีเดน ทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจพบระดับรังสีที่สูงผิดปกติ กดดันให้รัฐบาลสหภาพโซเวียตต้องยอมออกมาอธิบายเรื่องอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 1986 

 

ตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้ได้สัมผัสกับรังสีปริมาณสูงมีอย่างน้อย 600,000 คน รวมถึงนักดับเพลิงและเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาเก็บกวาดดูแลหลังเกิดเหตุ นอกจากนี้ยังมีประชาชนอีกเกือบ 8.4 ล้านคนในเบลารุส รัสเซีย และยูเครน ที่ได้รับรังสีด้วย

 

หนึ่งในผลกระทบสืบเนื่องคือ ปัญหาสุขภาพของประชาชนในระยะยาว โดยเฉพาะมะเร็งไทรอยด์ การที่รัฐบาลไม่เปิดเผยสถานการณ์จริงในทันที ทำให้ผู้คนหายใจเอาอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นกัมมันตภาพรังสีเข้าไปนานกว่าสัปดาห์ ส่งผลให้ลูกของคนที่ประสบกับเหตุการณ์ตรง ซึ่งจะมีอายุราว 30 ปีในปัจจุบัน มีอัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งไทรอยด์สูงผิดปกติ 

 

การระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลทำให้เกิดการแพร่กระจายของรังสีที่มีอนุภาคมากกว่ารังสีจากระเบิดปรมาณูที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิถึง 100 เท่า นับเป็นหายนะจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่รุนแรงมากที่สุดในโลก และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การอพยพย้ายถิ่น สิ่งแวดล้อม รวมถึงการตั้งคำถามต่อการใช้พลังงานนิวเคลียร์

 

เชอร์โนบิล เชอร์โนบิล

 

อ้างอิง:

The post ON THIS DAY: 26 เมษายน 1986 หายนะเชอร์โนบิล appeared first on THE STANDARD.

]]>