China – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Sat, 20 Apr 2024 12:12:01 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.3.1 ทำไมจีนต้านสหรัฐฯ ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในฟิลิปปินส์ https://thestandard.co/china-usa-mrc-philippines/ Sat, 20 Apr 2024 12:12:01 +0000 https://thestandard.co/?p=925009 จีน สหรัฐฯ และ ขีปนาวุธพิสัยกลาง

ในขณะที่ตะวันออกกลางกำลังร้อนระอุ อีกฟากฝั่งหนึ่งในทะเล […]

The post ทำไมจีนต้านสหรัฐฯ ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในฟิลิปปินส์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
จีน สหรัฐฯ และ ขีปนาวุธพิสัยกลาง

ในขณะที่ตะวันออกกลางกำลังร้อนระอุ อีกฟากฝั่งหนึ่งในทะเลจีนใต้ก็คุกรุ่นไม่แพ้กัน เมื่อกองทัพบกสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก (US Army Pacific) ประกาศผ่านเว็บไซต์ทางการว่า กองทัพประสบความสำเร็จในการติดตั้งระบบขีปนาวุธพิสัยกลาง (Mid-Range Capability: MRC) หรือที่รู้จักกันในชื่อระบบไทฟอน (Typhon Weapons System) บนเกาะลูซอนทางตอนเหนือของประเทศฟิลิปปินส์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมทางทหารประจำปีระหว่างกองทัพบกฟิลิปปินส์กับกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก การซ้อมรบร่วมดังกล่าวเปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน โดยใช้ชื่อปฏิบัติการว่า Salaknib 

 

แถลงการณ์ของกองทัพบกสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เมื่อวันที่ 15 เมษายน ระบุว่า หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ 1st Multi-Domain Task Force ได้เคลื่อนย้ายระบบขีปนาวุธพิสัยกลาง MRC โดยเครื่องบิน C-17 Globemaster ใช้เวลาเดินทางกว่า 15 ชั่วโมง รวมระยะทางมากกว่า 8,000 ไมล์ จากฐานทัพร่วม Joint Base Lewis-McChord ในรัฐวอชิงตัน มาถึงประเทศฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 11 เมษายน 

 

การติดตั้งระบบดังกล่าวถือเป็น “หลักชัยสำคัญสำหรับการนำสมรรถนะใหม่มาใช้ ในขณะเดียวกันก็ยกระดับความสามารถในการปฏิบัติการร่วมกัน ตลอดจนความพร้อมและการป้องกันประเทศร่วมกับกองทัพฟิลิปปินส์” แถลงการณ์ระบุ “สิ่งนี้จะสร้างโอกาสความร่วมมือใหม่ๆ สำหรับการฝึกซ้อมและการเตรียมพร้อมของเราทั้ง 2 ฝ่าย” พล.จ. เบอร์นาร์ด แฮร์ริงตัน ผู้นำหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ ระบุในแถลงการณ์

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการติดตั้งเครื่องยิงขีปนาวุธจากภาคพื้นดินครั้งแรกของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2019 เมื่อสหรัฐฯ ถอนตัวจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty: INF) ซึ่งสหรัฐฯ ทำร่วมกับสหภาพโซเวียตในปี 1987 โดยสนธิสัญญาดังกล่าวห้ามใช้ขีปนาวุธจากภาคพื้นดินทุกรูปแบบ ทั้งอาวุธทั่วไปและอาวุธนิวเคลียร์ ที่สามารถเดินทางได้ระหว่าง 500-5,500 กิโลเมตร 

 

ขณะที่นักเคราะห์บางคนเชื่อว่า การนำระบบอาวุธดังกล่าวมาใช้เป็นครั้งแรกนี้จะมีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ของกองทัพบกสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยจะช่วยเสริมศักยภาพในการป้องปรามจีนได้ 

 

จีนต่อต้านอย่างแข็งกร้าว

 

ล่าสุดจีนได้ออกมาคัดค้านอย่างแข็งกร้าว บอกว่าการติดตั้งระบบขีปนาวุธพิสัยกลางของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นเป็นการแสวงหาความได้เปรียบทางทหารแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

หลินเจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (18 เมษายน) ว่า จีนได้รับรายงานแล้วและมีความกังวลอย่างยิ่งต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว

 

“จีนขอคัดค้านอย่างรุนแรงกรณีที่สหรัฐฯ ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในเอเชียแปซิฟิก และเสริมกำลังมาถึงหน้าประตูบ้านของจีนเพื่อแสวงหาความได้เปรียบทางทหารฝ่ายเดียว” หลินกล่าว พร้อมทั้งระบุว่า ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ จะยิ่งทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาครุนแรงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการตัดสินใจผิดหรือเกิดการคำนวณที่ผิดพลาด

 

“เราขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ เคารพในความกังวลด้านความมั่นคงของประเทศอื่นๆ อย่างจริงจัง หยุดกระตุ้นการเผชิญหน้าทางทหาร หยุดบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าว

 

นอกจากนี้ จีนยังเตือนฟิลิปปินส์ด้วยว่า ฟิลิปปินส์จะต้องมองให้เห็นถึงสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการอย่างแท้จริง และคำนึงถึงผลที่ตามมาจากการร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง ฟิลิปปินส์จำเป็นต้องคิดให้รอบคอบอีกครั้งเกี่ยวกับการเป็นเครื่องมือให้กับสหรัฐฯ โดยแลกกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของตนเอง และหยุดก้าวเดินไปในเส้นทางที่ผิด 

 

จับตามาตรการตอบโต้จากจีน

 

พ.อ.พิเศษ อู๋เฉียน โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีน กล่าวเมื่อวันที่ 12 เมษายนว่า การที่สหรัฐฯ ผลักดันการติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถือเป็นความเคลื่อนไหวที่อันตรายที่จะคุกคามความมั่นคงของประเทศในภูมิภาคอย่างร้ายแรง ทั้งยังขัดขวางกระบวนการสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค จีนจึงคัดค้านอย่างแข็งกร้าวและจะใช้มาตรการตอบโต้อย่างเด็ดเดี่ยว 

 

“เราขอเรียกร้องให้สหรัฐฯ เคารพความกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยของประเทศอื่นๆ อย่างจริงจัง และหยุดบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค” โฆษกกลาโหมจีนกล่าว

 

ด้านนักวิเคราะห์มองว่า ปักกิ่งอาจเสริมกำลังทหารในทะเลจีนใต้เพิ่มเติม ภายหลังการติดตั้งเครื่องยิงขีปนาวุธพิสัยกลางของสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ที่จะทำให้จีนแผ่นดินใหญ่ในระยะโจมตี 

 

Global Times สื่อกระบอกเสียงพรรคคอมมิวนิสต์จีนรายงานอ้างผู้สังเกตการณ์บางคนระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้ความตึงเครียดในภูมิภาครุนแรงขึ้น นอกจากนี้ การติดตั้งระบบไทฟอนของสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้อีกด้วย

 

ขณะที่ผู้สังเกตการณ์คนอื่นๆ กล่าวว่า การติดตั้งระบบขีปนาวุธดังกล่าวสะท้อนถึงการที่สหรัฐฯ กำลังใช้อิทธิพลทางทหารต่อฟิลิปปินส์มากขึ้นด้วยการเปลี่ยนประเทศให้เป็นฐานทัพทหารโดยแท้จริง และความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ขีดความสามารถของขีปนาวุธพิสัยกลาง

 

Naval News หนังสือพิมพ์ของราชนาวีอังกฤษ รายงานว่า ระบบขีปนาวุธไทฟอนไม่เพียงครอบคลุมช่องแคบลูซอนทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังสามารถไปไกลถึงชายฝั่งจีนและฐานทัพหลายแห่งของกองทัพปลดปล่อยประชาชนในทะเลจีนใต้ด้วย

 

ด้าน Defense News ซึ่งเป็นสื่อด้านกลาโหมของสหรัฐฯ รายงานว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 กองทัพบกสหรัฐฯ มอบหมายให้สำนักงาน Rapid Capabilities and Critical Technologies Office ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำระบบขีปนาวุธพิสัยกลางมาใช้ โดยหลังจากการศึกษาการยิงเชิงยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการโดยฝ่ายพัฒนากำลังทหารของกองทัพบกเมื่อต้นปีนี้ ทีมพัฒนาพบช่องว่างในการเข้าถึงเป้าหมายของศัตรูในระยะ 500-2,000 กิโลเมตร

 

ขีปนาวุธพิสัยกลาง MRC จึงเหมาะนำมาใช้ร่วมกับขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่ยิงจากภาคพื้นดิน และระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นโจมตีความแม่นยำสูง (Precision Strike Missile) ซึ่งออกแบบมาเพื่อโจมตีเป้าหมายที่อยู่ห่างออกไป 499 กิโลเมตร 

 

ในเดือนพฤศจิกายน 2020 กองทัพเลือกบริษัทผลิตอาวุธรายใหญ่อย่าง Lockheed Martin มาช่วยสร้างต้นแบบขีปนาวุธพิสัยกลาง โดยทำสัญญามูลค่าเกือบ 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

MRC ประกอบด้วยระบบการยิงแนวดิ่ง เครื่องยิงขีปนาวุธ 4 เครื่อง ศูนย์ควบคุม  เครื่องต้นกำลัง (Prime Mover) รถพ่วงดัดแปลง และใช้ขีปนาวุธ SM-6 และโทมาฮอว์ก (Tomahawk) ที่ผลิตโดยบริษัท Raytheon

 

อย่างไรก็ตาม Global Times โควตนักวิเคราะห์ของจีนบางคนที่แสดงความเห็นว่า ระบบขีปนาวุธดังกล่าวจะสร้างภัยคุกคามต่อจีนอย่างจำกัดเท่านั้น โดยสามารถหวังผลทางการเมืองได้มากกว่าผลลัพธ์ทางการทหาร

 

ภาพ: US ARMY PACIFIC

อ้างอิง:

The post ทำไมจีนต้านสหรัฐฯ ติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในฟิลิปปินส์ appeared first on THE STANDARD.

]]>
สหรัฐฯ ชี้ จีนกำลังช่วยรัสเซียผลิตอาวุธสู้กับยูเครน หวังปักกิ่งหยุดสนับสนุน https://thestandard.co/usa-mention-china-help-russia-build-weapon/ Sat, 20 Apr 2024 03:31:05 +0000 https://thestandard.co/?p=924868 จีน

เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เปิ […]

The post สหรัฐฯ ชี้ จีนกำลังช่วยรัสเซียผลิตอาวุธสู้กับยูเครน หวังปักกิ่งหยุดสนับสนุน appeared first on THE STANDARD.

]]>
จีน

เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เปิดเผยว่า จีน กำลังช่วยรัสเซียยกระดับฐานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้ในปัจจุบันมอสโกสามารถขยายการผลิตทางการทหารได้มากที่สุดนับตั้งแต่ยุคโซเวียตเลยทีเดียว 

 

เจ้าหน้าที่ระบุว่า การสนับสนุนที่จีนมอบให้รัสเซียนั้น ได้แก่ เครื่องมือเครื่องจักรจำนวนมาก โดรนและเครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ต รวมไปถึงเทคโนโลยีสำหรับขีปนาวุธร่อน ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และไนโตรเซลลูโลส ซึ่งรัสเซียใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงขับเคลื่อนจรวด นอกจากนี้หน่วยงานของจีนและรัสเซียยังทำงานร่วมกันเพื่อผลิตโดรนภายในรัสเซียด้วย

 

การสนับสนุนจากจีนมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อความสามารถของรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครนมาได้จนถึงขณะนี้ ตรงข้ามกับยูเครนที่กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์และอาวุธ และยิ่งเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น เมื่อ สส. และ สว. พรรครีพับลิกัน ขัดขวางการโหวตอนุมัติเงินช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ให้กับเคียฟ 

 

พล.อ. คริส คาโวลี ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุโรปของสหรัฐฯ กล่าวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติในสัปดาห์นี้ว่า รัสเซีย ‘ค่อนข้างประสบความสำเร็จ’ ในการสร้างกองทัพขึ้นมาใหม่นับตั้งแต่รุกรานยูเครนเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว และความสามารถส่วนใหญ่ของรัสเซียกลับคืนมาเท่ากับช่วงก่อนสงคราม โดยที่จีนมีส่วนรับผิดชอบต่อการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังกล่าว 

 

การสนับสนุนจากจีนกำลังช่วยชดเชยความสูญเสียที่อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของรัสเซียต้องเผชิญในช่วงต้นของสงครามยูเครน เนื่องจากการคว่ำบาตรและการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างจีนและรัสเซียคือ ในปี 2023 การนำเข้าไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรัสเซียใช้ในการผลิตขีปนาวุธ รถถัง และเครื่องบินนั้น 90% มาจากประเทศจีน 

 

ขณะที่การผลิตกระสุนปืนใหญ่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วของรัสเซียส่วนใหญ่เป็นผลมาจากไนโตรเซลลูโลสที่มาจากจีน โดยมีการประมาณการว่ารัสเซียอาจผลิตอาวุธปืนใหญ่ได้มากกว่าสหรัฐฯ และยุโรปเกือบ 3 เท่า 

 

นอกเหนือจากอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว จีนกำลังช่วยรัสเซียปรับปรุงความสามารถด้านดาวเทียมและอวกาศอีกด้วย ซึ่งภาพถ่ายดาวเทียมนับเป็นประโยชน์ต่อรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน 

 

หวังปักกิ่งหยุดช่วยมอสโก

 

“หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สุดสำหรับเราที่จะพลิกสถานการณ์ในการสนับสนุนยูเครนคือ การโน้มน้าวจีนให้หยุดช่วยเหลือรัสเซียกอบกู้ฐานอุตสาหกรรมทางทหารขึ้นมาใหม่ รัสเซียคงจะประสบกับความยากลำบากในการทำสงครามหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากจีน” เจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งในฝ่ายบริหารของไบเดนกล่าว พร้อมเสริมว่า “เครื่องไม้เครื่องมือจากจีนกำลังเติมเต็มช่องว่างที่สำคัญในวงจรการผลิตอาวุธของรัสเซีย”

 

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการสนับสนุนของจีนต่อฐานอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของรัสเซียในระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หลังจากที่เจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ของสหรัฐฯ ได้หยิบยกข้อกังวลดังกล่าวขึ้นมาหารือทุกครั้งที่มีโอกาสได้พบปะกับเจ้าหน้าที่จีน เช่นเดียวกับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาหารือกับพันธมิตรระหว่างการเดินทางเยือนยุโรปครั้งล่าสุด 

 

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่า นับตั้งแต่การสนทนาทางโทรศัพท์ของไบเดนกับสี สหรัฐฯ ก็ยังไม่เห็นว่าจีนจะระงับการสนับสนุนดังกล่าว แต่ก็ยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลากว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น 

 

แม้จีนยังคงหลีกเลี่ยงการจัดหาอาวุธร้ายแรงให้แก่รัสเซียตามที่สหรัฐฯ ได้เตือนไว้ตั้งแต่เริ่มสงครามยูเครน แต่เจ้าหน้าที่ระบุว่า สิ่งที่ปักกิ่งป้อนให้มอสโกนั้นอาจส่งผลกระทบพอๆ กับอาวุธร้ายแรง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่สหรัฐฯ และพันธมิตรจะต้องโน้มน้าวจีนให้หยุดการกระทำนี้ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าอาจเป็นเรื่องยาก เนื่องจากสีได้ประกาศว่าจีนจะประสานงานกับรัสเซียเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ในระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อช่วงต้นปี 

 

ขณะที่เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ส่งคำเตือนจีนถึง ‘ผลพวงสำคัญที่จะตามมา’ หากบริษัทจีนให้การสนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามยูเครน 

 

นอกจากนี้ประธานาธิบดีไบเดนยังได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ห้ามธนาคารในประเทศที่ 3 ให้การสนับสนุนฐานอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของรัสเซีย และสหรัฐฯ ยังได้ติดต่อกับธนาคารทั่วโลกเพื่อสร้างระบบการปฏิบัติตามกฎระเบียบ เพื่อช่วยไม่ให้ธนาคารเหล่านั้นเข้าไปมีส่วนสนับสนุนมอสโกโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร 

 

ภาพ: Kremlin Press Office / Handout / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

The post สหรัฐฯ ชี้ จีนกำลังช่วยรัสเซียผลิตอาวุธสู้กับยูเครน หวังปักกิ่งหยุดสนับสนุน appeared first on THE STANDARD.

]]>
สหรัฐฯ-จีน เดินหน้าปรับปรุงความสัมพันธ์ต่อเนื่อง ทั้งหมดสะท้อนสัญญาณบวกจริงหรือ? https://thestandard.co/usa-china-continues-to-improve-relations/ Thu, 04 Apr 2024 13:37:12 +0000 https://thestandard.co/?p=919505

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และจีน […]

The post สหรัฐฯ-จีน เดินหน้าปรับปรุงความสัมพันธ์ต่อเนื่อง ทั้งหมดสะท้อนสัญญาณบวกจริงหรือ? appeared first on THE STANDARD.

]]>

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และจีนมีการขยับ ทั้งการแลกเปลี่ยนการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ไปจนถึงรัฐมนตรี ซึ่งในมิติภูมิรัฐศาสตร์ถือได้ว่าเป็นสัญญาณบวกต่อเนื่องนับตั้งแต่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC 2023 ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อันเป็นการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกในรอบ 6 ปีของผู้นำจีนด้วย

 

การพบปะทวิภาคีครั้งนั้นเกิดขึ้นนานหลายเดือนก่อนที่สีจิ้นผิงจะได้หารือกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทางโทรศัพท์อีกครั้งในช่วงสัปดาห์นี้ ท่ามกลางฉากหลังของความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศในหลายมิติที่ยังไม่สะสาง โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคงอย่างวิกฤตบอลลูนสอดแนมจีน วิกฤตไต้หวัน รวมถึงวิกฤตด้านสงครามการค้าและเทคโนโลยี

 

ไทม์ไลน์ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนที่กระเตื้องขึ้นในต้นปี 2024

 

เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ได้เดินทางมาพบ หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและนักการทูตระดับสูงของจีน ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ต่อมา แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการจีนที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน

 

ล่าสุดผู้นำทั้งสองประเทศได้พูดคุยหารือผ่านโทรศัพท์สายตรง เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา เป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง โดยทำเนียบขาวเผยว่า การพูดคุยกันระหว่างไบเดนและสีจิ้นผิงเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์และตรงไปตรงมา รวมถึงเน้นย้ำแนวทางลดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน

 

แม้ผู้นำทั้งสองประเทศจะมีจุดยืนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องไต้หวัน และประเด็นด้านเศรษฐกิจ การค้าและเทคโนโลยี โดยไบเดนยืนยันที่จะสนับสนุนไต้หวันต่อไป ขณะที่สีจิ้นผิงมองว่าการแทรกแซงของสหรัฐฯ ต่อกรณีไต้หวัน รวมถึงทะเลจีนใต้ เป็น ‘เส้นสีแดง’ ที่สหรัฐฯ ไม่ควรก้าวข้าม แต่ไบเดนก็ยังส่งสัญญาณเชิงบวกผ่านบัญชี X ว่าเขาตั้งตารอที่จะปรับและกระชับความสัมพันธ์กับจีนอีกในอนาคต

 

นอกจากการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีแล้ว เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ก็มีกำหนดการเยือนจีนในช่วงปลายสัปดาห์นี้ด้วย ต่อด้วย บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็เตรียมเยือนจีนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเช่นกัน

 

สัญญาณบวก ‘แบบผิวเผิน’

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง มองว่าสัญญาณที่เกิดขึ้นยังเป็นบวก ตราบเท่าที่รัฐมหาอำนาจใหญ่ยังมีช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างกัน โดยก่อนหน้านี้ที่จีนปิดช่องทางการติดต่อกับสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้

 

การพูดคุยหารือกันแต่ละฝ่ายมีเงื่อนไขของตัวเอง โดย ศ.ดร.สุรชาติ เชื่อว่า เงื่อนไขเฉพาะหน้าที่สำคัญคือการเมืองอเมริกัน โดยผลโพลล่าสุดชี้ว่าคนอเมริกันมองจีนในแง่ลบมากยิ่งขึ้น แม้ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลอาจไม่ถูกใจคนอเมริกันทั้งหมด แต่ก็ช่วยให้ความตึงเครียดในการเมืองโลกคลายตัวลงเล็กน้อย 

 

ขณะที่ฟากฝั่งของการเมืองจีน จีนเองก็น่าจะกำลังหาช่องทางปรับท่าทีและความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเช่นเดียวกัน เพราะจีนทราบดีว่าหากจีนยังคงเดินข้างรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นภาคีชุดใหญ่ในซีกโลกตะวันออกต่อไปเรื่อยๆ จีนอาจได้รับผลกระทบจากการขาดตลาดตะวันตก อีกทั้งพันธมิตรที่กล่าวมาข้างต้นก็ล้วนประสบกับปัญหาด้านการไม่ถูกยอมรับในเวทีโลก โดยเฉพาะโลกตะวันตก และถึงแม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่าโลกาภิวัตน์ในระยะหลังค่อนข้างถดถอย แต่ในความเป็นจริงแล้วโลกาภิวัตน์ยังมีพลัง และยังคงเดินอยู่ แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคจากสงครามก็ตาม จีนจึงอาจพยายามลดท่าทีที่แข็งกร้าวลง เพราะจีนเองก็กำลังเผชิญโจทย์การเมืองโลกที่ซับซ้อนไม่ต่างจากโลกตะวันตก

 

ศ.ดร.สุรชาติ ระบุว่า สัญญาณที่เราเห็นอาจไม่ได้บวกมากอย่างที่เราคิด การเมืองโลกยังมีโจทย์ที่สหรัฐฯ และจีน ยังต้องคุยกันมากกว่านี้ สิ่งที่เห็นจึงเป็นเพียงสัญญาณเชิงบวก ‘แบบผิวเผิน’ เท่านั้น ยังมีโจทย์สำคัญ ทั้งปัญหาไต้หวัน ปัญหาทะเลจีนใต้ และปัญหาสงครามกลางเมืองในเมียนมารออยู่ในปี 2024

 

นิ่งขึ้น แต่เปราะบาง

 

ด้าน ผศ.ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และอุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย แสดงความเห็นว่า สัญญาณเชิงบวกที่เราเห็นน่าจะเป็นผลพวงของการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนท่าทีของผู้นำทั้งสองประเทศ โดยมีการเมืองภายในและวิกฤตเศรษฐกิจเป็นแรงขับสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ในช่วงปีการเลือกตั้งใหญ่ ช่วงเวลานี้อาจเป็นเวลาสำคัญของไบเดนที่จะโชว์ผลงานช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2024 จะมาถึง พร้อมนำเสนอภาพที่จีนอาจเป็นโอกาสของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศมักจะร่วมมือกัน โดย ผศ.ดร.ประพีร์ เชื่อว่า ต่อให้ทั้งสองประเทศจะขัดแย้งกันในหลากหลายประเด็น และยังเป็นคู่แข่งกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และจีนเชื่อมโยงกัน และยังต้องพึ่งพาอาศัยกัน

 

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ประพีร์ ชี้ว่า แม้ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ก็ไม่มั่นคง ไม่มีเสถียรภาพและเปราะบาง ถ้ามีประเด็นละเอียดอ่อนเกิดขึ้นอีก ความสัมพันธ์นี้ก็พร้อมที่จะสั่นคลอนได้ตลอดเวลา 

 

ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน

 

ขณะที่ ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจ ‘อ้ายจง’ มองว่าทั้งสองประเทศโดยเฉพาะจีน พยายามแสดงจุดยืนมาโดยตลอดว่าสามารถร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้ และพร้อมเปิดกว้างกับทุกประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนสร้างประโยชน์แก่โลกและไม่ได้เป็นไปตามที่สหรัฐฯ และสังคมตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์กัน นอกจากนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนยังเชื่อมโยงกันไม่น้อย ถ้าหากปิดกั้นหรือแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) กันแบบเด็ดขาดไปเลย อาจไม่เป็นประโยชน์หรือไม่ได้ลดความเสี่ยง แต่กลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงต่อสหรัฐฯ เสียเอง

 

ประชาคมโลกจึงได้เห็นภาพที่จีนเปิดการสื่อสารกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่จีนเคยประกาศไว้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของจีนที่ต้องการผลักดัน ‘ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน’ ขณะเดียวกันก็ยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับมหาอำนาจทั้งสองประเทศที่อย่างน้อยยังมีความรับผิดชอบต่อโลก พยายามลดทอนความขัดแย้งและหันหาแนวทางที่ร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น แม้ภาพของการเป็นคู่แข่งกันจะยังคงอยู่ก็ตาม

 

แฟ้มภาพ: Muhammad Aamir Sumsum / Shutterstock

Jonah Elkowitz / Shutterstock

 

อ้างอิง:

The post สหรัฐฯ-จีน เดินหน้าปรับปรุงความสัมพันธ์ต่อเนื่อง ทั้งหมดสะท้อนสัญญาณบวกจริงหรือ? appeared first on THE STANDARD.

]]>
ไบเดน-สีจิ้นผิง หารือกันครั้งแรกในรอบเกือบ 4 เดือน เน้นย้ำแนวทางลดความขัดแย้ง https://thestandard.co/biden-xi-jinping-first-meet-up/ Wed, 03 Apr 2024 04:54:34 +0000 https://thestandard.co/?p=918717 ไบเดน-สีจิ้นผิง

ทำเนียบขาวสหรัฐอเมริกาเผยว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ […]

The post ไบเดน-สีจิ้นผิง หารือกันครั้งแรกในรอบเกือบ 4 เดือน เน้นย้ำแนวทางลดความขัดแย้ง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ไบเดน-สีจิ้นผิง

ทำเนียบขาวสหรัฐอเมริกาเผยว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พูดคุยหารือกับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ผ่านโทรศัพท์สายตรงเมื่อวานนี้ (2 เมษายน) เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง 45 นาที พร้อมระบุว่า การพูดคุยกันของผู้นำทั้งสองประเทศเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์และตรงไปตรงมา รวมถึงเน้นย้ำแนวทางลดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน

 

ด้านสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CCTV) รายงานว่า สีจิ้นผิงได้เสนอให้ทั้งจีนและสหรัฐฯ ยึดมั่นในหลักการพื้นฐาน ‘ไม่ปะทะ ไม่เผชิญหน้า’ (No Clash, No Confrontation) พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับความมั่นคงและเสถียรภาพ ไม่ก่อปัญหายั่วยุหรือล้ำเส้นใดๆ เพื่อรักษาระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ โดยสีจิ้นผิงยังเน้นย้ำว่า กรณีไต้หวันเป็นเส้นสีแดงที่สหรัฐฯ ไม่ควรก้าวข้าม

 

นอกจากนี้ผู้นำจีนยังระบุว่า ข้อจำกัดด้านการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงและมาตรการคว่ำบาตรต่อธุรกิจจีนได้สร้างความเสียหายให้กับจีนเป็นอย่างมาก ด้านสหรัฐฯ ชี้แจงว่า ข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงร่างกฎหมายแบน TikTok ของสหรัฐฯ เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลผู้ใช้งานถูกส่งไปยังรัฐบาลจีน ซึ่งนำไปสู่ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ 

 

ขณะที่ จอห์น เคอร์บี ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เชื่อว่า ไม่มีตัวเลือกใดจะแทนที่ช่องทางการสื่อสารตามปกติในระดับผู้นำได้ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยจัดการกับความซับซ้อนและความตึงเครียดที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในความสัมพันธ์ทวิภาคี

 

สหรัฐฯ-จีนเดินหน้าเคลียร์ใจ กระชับสัมพันธ์ต่อเนื่อง

 

การพูดคุยโทรศัพท์สายตรงในระดับผู้นำครั้งนี้นับเป็นการพูดคุยหารือกันครั้งแรกในรอบเกือบ 4 เดือน ตั้งแต่ที่ไบเดนและสีจิ้นผิงร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2023

 

โดยการพูดคุยนี้ยังมีขึ้นก่อนที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนจีนในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ขณะที่ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็มีกำหนดการเตรียมเดินทางเยือนจีนในอีกไม่กี่สัปดาห์หน้าด้วยเช่นกัน

 

ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างส่งผู้แทนระดับสูงร่วมหารือกัน พร้อมเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง โดย เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ได้เดินทางมาพบปะ หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและนักการทูตระดับสูงของจีน ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อีกทั้งบลิงเคนก็ได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการจีนที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และมีความเป็นไปได้ที่ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะร่วมหารือในประเด็นด้านความมั่นคงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีนผ่านทางโทรศัพท์ในเร็วๆ นี้อีกด้วย

 

ภาพ: Kevin Lamarque / File Photo via Reuters

อ้างอิง:

The post ไบเดน-สีจิ้นผิง หารือกันครั้งแรกในรอบเกือบ 4 เดือน เน้นย้ำแนวทางลดความขัดแย้ง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ฟิลิปปินส์เรียกพบทูตจีน ประท้วงเรือยามฝั่งจีนโจมตีเรือพลเรือน https://thestandard.co/philippines-summons-china-envoy/ Mon, 25 Mar 2024 09:51:37 +0000 https://thestandard.co/?p=915248 ฟิลิปปินส์ เรียกพบ ทูตจีน ประท้วงเรือยามฝั่งจีนโจมตีเรือพลเรือน

รัฐบาลฟิลิปปินส์เรียกทูตจีนเข้าพบ เพื่อประท้วงและต่อต้า […]

The post ฟิลิปปินส์เรียกพบทูตจีน ประท้วงเรือยามฝั่งจีนโจมตีเรือพลเรือน appeared first on THE STANDARD.

]]>
ฟิลิปปินส์ เรียกพบ ทูตจีน ประท้วงเรือยามฝั่งจีนโจมตีเรือพลเรือน

รัฐบาลฟิลิปปินส์เรียกทูตจีนเข้าพบ เพื่อประท้วงและต่อต้านการกระทำที่ก้าวร้าวของจีนในทะเลจีนใต้ หลังหน่วยลาดตระเวนชายฝั่งของจีนใช้ปืนฉีดน้ำโจมตีเรือพลเรือนซึ่งกำลังส่งมอบเสบียงให้กับกองกำลังทหารที่ประจำอยู่ในเขตพื้นที่แนวสันดอนโทมัสที่ 2 เป็นเหตุให้เรือลำดังกล่าวเสียหายและมีลูกเรือได้รับบาดเจ็บบางส่วนเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

ด้านกิลแบร์โต เทโอโดโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ หวังใช้สู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์และอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือเขตพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้

 

กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์เน้นย้ำว่า “การแทรกแซงอย่างต่อเนื่องของจีนต่อกิจกรรมใดๆ อันชอบด้วยกฎหมายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของฟิลิปปินส์นั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”

 

ขณะที่หน่วยลาดตระเวนชายฝั่งของจีนกล่าวว่า จีนจำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าวกับเรือของฟิลิปปินส์ที่รุกล้ำเข้ามาในเขตน่านน้ำของจีน พร้อมทั้งชี้ว่าฟิลิปปินส์จงใจจอดเรือรบเก่าลำหนึ่งไว้ที่แนวสันดอนดังกล่าวเมื่อปี 1999 เพื่อสนับสนุนการอ้างกรรมสิทธิ์ของตนเองเหนือพื้นที่แถบนั้น 

 

อย่างไรก็ตาม จีนยังคงส่งเรือลาดตระเวนชายฝั่งไปทั่วทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่จีนอ้างว่าเป็นเขตน่านน้ำของตน แม้ว่าศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศจะเคยมีคำตัดสินเมื่อปี 2016 ว่าการวัดอาณาเขตทางทะเลด้วยการใช้สิทธิทางประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏบนแผนที่ของจีนเท่านั้น ขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) 

 

ความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นในทะเลจีนใต้

 

ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาปมพิพาททางทะเลระหว่างจีนและฟิลิปปินส์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ความตึงเครียดแถบทะเลจีนใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

 

กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ระบุว่า “ฟิลิปปินส์ได้ใช้ความพยายามอย่างจริงใจในการปฏิบัติตามคำสั่งของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่เคยให้คำมั่นว่าทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้

 

“แต่การกระทำที่ก้าวร้าวของจีนทำให้เกิดคำถามถึงความจริงใจในการลดความตึงเครียดและส่งเสริมสันติภาพ” 

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ยังเรียกร้องให้จีนสนับสนุนการใช้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนมากกว่าที่จะปล่อยให้ประเด็นนี้คลุมเครือต่อไป พร้อมทั้งระบุว่า “ไม่มีประเทศใดเชื่อในคำกล่าวอ้างของจีน และพวกเขามองว่าทั้งหมดล้วนเป็นวิธีการใช้กำลังข่มขู่และบีบบังคับให้ฟิลิปปินส์ยอมทำตามความทะเยอทะยานของจีน”

 

นอกจากจีนและฟิลิปปินส์แล้ว เวียดนาม มาเลเซีย บรูไน และไต้หวัน ก็ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ด้วยเช่นกัน

 

แฟ้มภาพ: Ezra Acayan / Getty Images

อ้างอิง:

The post ฟิลิปปินส์เรียกพบทูตจีน ประท้วงเรือยามฝั่งจีนโจมตีเรือพลเรือน appeared first on THE STANDARD.

]]>
วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ไพ่ใบใหม่ของจีน หวังเพิ่มกำลังคน-ลดความเสี่ยงโลกที่ห่วงโซ่เทคโนโลยีแยกตัว https://thestandard.co/china-export-controls-semiconductor-war-explainer/ Sat, 23 Mar 2024 07:57:15 +0000 https://thestandard.co/?p=914644 semiconductors

‘เซมิคอนดักเตอร์’ หรือ ‘ชิป’ ชิ้นส่วนขนาดจิ๋วที่เป็นองค […]

The post วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ไพ่ใบใหม่ของจีน หวังเพิ่มกำลังคน-ลดความเสี่ยงโลกที่ห่วงโซ่เทคโนโลยีแยกตัว appeared first on THE STANDARD.

]]>
semiconductors

‘เซมิคอนดักเตอร์’ หรือ ‘ชิป’ ชิ้นส่วนขนาดจิ๋วที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ตั้งแต่ไมโครเวฟ คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน รถยนต์ ไปจนถึงจรวด ดาวเทียม และยานอวกาศ ล้วนอาศัยความสามารถอันน่าทึ่งของวงจรเล็กๆ นับล้านหรือพันล้านวงจรภายในชิป เพื่อเดินหน้าการทำงานของระบบ

 

ปริมาณชิปที่มนุษย์เราใช้งานในชีวิตประจำวันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าการซื้อขายในอุตสาหกรรมการผลิตชิปเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า 4.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 5.27 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 และมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าอุตสาหกรรมการผลิตชิปทั่วโลกจะสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030

 

ชิปจึงกลายเป็นปัจจัยในการชิงความได้เปรียบของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดใน ‘สงครามเทคโนโลยี’ เพื่อควบคุมห่วงโซ่การผลิตชิปทั่วโลกให้ได้โดยเร็ว และก้าวขึ้นเป็น ‘มหาอำนาจโลกด้านเทคโนโลยี’ ซึ่งจะเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางเทรนด์เทคโนโลยีโลกในอนาคต

 

‘วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ปริญญาตรีสาขาใหม่ในจีน

 

นับตั้งแต่ที่สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีนเปิดฉากขึ้นในสมัยของ โดนัลด์ ทรัมป์ มหาอำนาจทั้งสองประเทศต่างขับเคี่ยวกันอย่างหนัก มีความพยายามตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน โดยสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมสัญชาติจีนอย่าง Huawei ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง พร้อมสั่งห้ามไม่ให้บริษัทในสหรัฐฯ ทำธุรกรรมใดๆ กับบริษัทในลิสต์ดังกล่าว เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสหรัฐฯ

 

การตัดห่วงโซ่อุปทานและจำกัดการเข้าถึงทรัพยากรในแวดวงธุรกิจเทคโนโลยีจีน ทำให้จีนเสียผลประโยชน์อย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่บริษัทในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่สหรัฐฯ มีอิทธิพลอยู่ก็ระงับการมีปฏิสัมพันธ์ รวมถึงยุติการถ่ายโอนองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่จีน

 

จีนจึงพยายามปรับตัวและพัฒนาประเทศให้กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีใหม่ของโลก และหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญล่าสุดคือ การอนุมัติปริญญาตรีสาขาใหม่ในจีน โดยเฉพาะสาขา ‘วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ เพื่อสร้างบุคลากรที่จะมาช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของจีนในสมรภูมิ ‘สงครามชิป’

 

ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเจ้าของเพจ ‘อ้ายจง’ เชื่อว่า การอนุมัติปริญญาสาขาใหม่ที่มีความเฉพาะทางมากยิ่งขึ้นนี้ สะท้อนความมุ่งมั่นของจีนในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเป็น ‘นโยบายหลักของจีน’ 

 

ในที่ประชุมสองสภาที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2024 จีนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ ‘การผลิตคุณภาพสูง’ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนประเทศ โดยจีนพยายามทลายข้อจำกัดที่ชาติตะวันตกสร้างขึ้น พร้อมทั้งเดินหน้าลดการพึ่งพาและสร้างเทคโนโลยี ‘ของตัวเอง’ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI), เทคโนโลยี 6G (ที่กำลังวิจัยอยู่ขณะนี้), แบตเตอรี่พลังงานสะอาด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV)

 

นอกจากวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์แล้ว ยังมีสาขาอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น สาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุแร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) และเทคโนโลยีวัสดุอัจฉริยะ โดยภากรเชื่อว่า ปริญญาตรีสาขาใหม่ทั้ง 24 สาขาในจีน สะท้อนถึงยุทธศาสตร์ ‘การพัฒนาด้านการผลิตขั้นสูงและนวัตกรรม’ ของจีนที่จะไม่ใช่แค่ทำได้แล้วทำใช้เอง แต่จะส่งออกตลาดโลกด้วย 

 

ทั้งยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ‘การพัฒนาสู่ความทันสมัยแบบจีน’ ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยมีสาขา ‘ความมั่นคงและการรักษาผลประโยชน์ของจีนนอกอาณาจักร’ เพิ่มขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งสาขาใหม่

 

แร่ ‘แรร์เอิร์ธ’ ไพ่ใบสำคัญของจีน

 

แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) หรือกลุ่มแร่หายากที่มีคุณสมบัติเหมือนโลหะ เป็นแร่สำคัญที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิป แผงวงจร แบตเตอรี่ รวมถึงเครื่องบินรบและอาวุธทางการทหาร

 

ที่มาของชื่อไม่ได้หายากเพราะมีอยู่น้อย แต่เป็นเพราะกระบวนการทำเหมืองและถลุงแร่ที่ซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูงมาก อีกทั้งบางประเทศที่พบแร่เยอะก็อาจพบในลักษณะที่กระจายตัว ไม่รวมอยู่ในแหล่งเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกประเทศที่พบแร่แล้วจะใช้ประโยชน์จากแร่เหล่านี้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

 

จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเทคโนโลยีการถลุงแร่ที่ทันสมัย ประกอบกับจีนมีแร่แรร์เอิร์ธสำรองกว่า 44 ล้านเมตริกตัน จึงทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของโลกในการผลิตแร่ดังกล่าว ซึ่งครองสัดส่วนตลาดแร่แรร์เอิร์ธโลกถึง 80%

 

ภากรกล่าวว่า แร่แรร์เอิร์ธมีความสำคัญอย่างมากในการผลิตชิป แบตเตอรี่ รวมถึงอาวุธทางการทหาร โดยจีนยังคงเป็นผู้นำในการผลิตแร่หายากเหล่านี้อยู่ แม้ในระยะหลังหลายประเทศจะเริ่มให้ความสนใจกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเวียดนาม ที่เริ่มผลิตแร่แรร์เอิร์ธได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งแร่จากจีนเพียงประเทศเดียว

 

แร่หายากเหล่านี้ถือเป็นไพ่ใบสำคัญของจีนในการเพิ่มอำนาจต่อรองกับบรรดาชาติตะวันตก ขณะที่จีนถูกสหรัฐฯ จำกัดการเข้าถึงทรัพยากรและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี จีนก็ตอบโต้กลับด้วยการจำกัดการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธเหล่านี้ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นประเทศนำเข้าอันดับต้นๆ ของโลก และแร่แรร์เอิร์ธส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน

 

ภากรเชื่อว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์ของจีนยังคงต้องพัฒนาอีก จีนจึงนำแร่หายากเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอด เปลี่ยนวิกฤตเป็นแรงผลักดัน ดังนั้นถ้าจีนสามารถสร้างองค์ความรู้และเพิ่มบุคลากรด้านนี้ จนสามารถผลิตได้ครบวงจรของห่วงโซ่อุปทาน จากแร่แรร์เอิร์ธที่เป็นไพ่สำคัญ อาจกลายเป็น ‘ไพ่ปิดเกม’ ก็เป็นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนถึงแผนระยะยาวของจีน

 

แนวโน้มแยกห่วงโซ่เทคโนโลยีโลก 

 

สงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสองมหาอำนาจ ทำให้โลกมีแนวโน้มที่จะเกิดการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ออกจากกันเป็นก๊กเป็นเหล่า ทั้งยังเป็นแรงขับสำคัญที่ทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างต้องเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับห่วงโซ่อุปทานของตนเอง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการแยกห่วงโซ่กันอย่างชัดเจนในอนาคตและลดการพึ่งพาอีกฝ่ายมากจนเกินไป 

 

ภากรชี้ว่า จีนพยายามบอกมาตลอดว่าไม่ต้องการให้แบ่งเป็นค่าย จีนมองว่าเราควรร่วมมือกัน รวมถึงสหรัฐฯ ด้วย ตามแนวคิด ‘ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน’ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกกำลังแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายจริงๆ ห่วงโซ่ต่างๆ มีแนวโน้มที่จะแยกตัวออกจากกัน โดยจีนพยายามสื่อสารว่า การพัฒนาของจีนจะสร้างผลบวกต่อโลก ดังนั้นประเทศต่างๆ สามารถมาร่วมมือกับจีนได้ ขณะที่สหรัฐฯ อาจมองว่า จีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลและพยายามสร้างระบบของตนเอง

 

สำหรับประเทศไทยที่กำลังอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบของสองประเทศยักษ์ใหญ่ ภากรมองว่า เราควร ‘เลือกข้างไทย’ วางตัวแบบที่รักษาผลประโยชน์ของชาติมากที่สุด อาจไม่ใช่ว่าต้องเลือกข้างมหาอำนาจชาติใดชาติหนึ่งไปเลย และที่สำคัญไทยควรเริ่มมองถึงการสร้างจุดแข็งและจุดยืนบนเวทีโลก โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

 

แฟ้มภาพ: William Potter / Shutterstock

อ้างอิง:

The post วิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ไพ่ใบใหม่ของจีน หวังเพิ่มกำลังคน-ลดความเสี่ยงโลกที่ห่วงโซ่เทคโนโลยีแยกตัว appeared first on THE STANDARD.

]]>
C919 เครื่องบินสัญชาติจีน ขึ้นบินโชว์ตัวในงาน Singapore Airshow https://thestandard.co/c919-singapore-airshow-2024/ Tue, 20 Feb 2024 12:20:05 +0000 https://thestandard.co/?p=902280

เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่จีนพัฒนาขึ้นเองรุ่น C919 ทะย […]

The post C919 เครื่องบินสัญชาติจีน ขึ้นบินโชว์ตัวในงาน Singapore Airshow appeared first on THE STANDARD.

]]>

เครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่จีนพัฒนาขึ้นเองรุ่น C919 ทะยานขึ้นบินโชว์ในต่างประเทศครั้งแรกในเที่ยวบินสาธิตที่งานสิงคโปร์แอร์โชว์ ปี 2024 (#SingaporeAirshow2024) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-25 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีเครื่องบิน C919 ลำตัวเครื่องแคบจำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน ARJ21 จำนวน 3 ลำที่พัฒนาโดยบริษัทอากาศยานพาณิชย์แห่งประเทศจีน หรือ ‘โคแมก’ (COMAC) เข้าร่วมงานแอร์โชว์ครั้งนี้ด้วย

 

บริษัทผู้ให้บริการด้านการบินของจีน 2 แห่ง ได้แก่ สายการบิน Tibet Airlines และบริษัท Henan Civil Aviation Development and Investment Group ได้ลงนามคำสั่งซื้อเครื่องบิน C919 จำนวน 40 ลำ และเครื่องบิน ARJ21 จำนวน 16 ลำที่งานดังกล่าว ขณะที่ COMAC เผยว่า บริษัทฯ จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายที่งานสิงคโปร์แอร์โชว์ เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายกับกลุ่มลูกค้าและพันธมิตรต่อไป

 

ส่วนฝูงบินผาดโผนจากอินเดีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และเครื่องบิน Airbus รุ่น A350-1000 ร่วมทำการแสดงในงานแอร์โชว์นี้ด้วย ขณะที่กองทัพอากาศสิงคโปร์ก็ได้ส่งเครื่องบินขับไล่ F-15 และเฮลิคอปเตอร์โจมตีอาปาเช (Apache) ร่วมแสดงผาดโผน

 

งานสิงคโปร์แอร์โชว์ประจำปีนี้มีบริษัทและองค์กรด้านการบินเข้าร่วมมากกว่า 1,000 แห่ง คาดว่าจะดึงดูดผู้เข้าร่วมทางการค้า 50,000 ราย จากกว่า 50 ประเทศ โดยเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งพาวิลเลียนประจำประเทศ สำหรับผู้ประกอบการการบินและอวกาศของจีน 40 ราย

 

ด้านบริษัท Aerospace Times Feipeng Company จากมณฑลเจียงซูของจีน ได้นำอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน สำหรับขนส่งสินค้าเข้าร่วมงานดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เข้าร่วมงานแอร์โชว์ในต่างประเทศ โดยหวังว่าจะสร้างการเชื่อมต่อมากขึ้นกับลูกค้าต่างประเทศ พร้อมส่งมอบโซลูชันการขนส่งสินค้าใหม่ๆ ที่มีต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพสูง”

 

ภาพ: Xinhua Thai News Service

อ้างอิง: 

  • Xinhua Thai News Service

The post C919 เครื่องบินสัญชาติจีน ขึ้นบินโชว์ตัวในงาน Singapore Airshow appeared first on THE STANDARD.

]]>
นโยบายฟรีวีซ่า แรงผลักดันหนุนการท่องเที่ยวจีน-ไทย https://thestandard.co/visa-free-policy-to-boost-tourism/ Wed, 14 Feb 2024 10:30:40 +0000 https://thestandard.co/?p=899843

ถนนเยาวราชเป็นย่านไชน่าทาวน์ที่มีชื่อเสียงของไทย ประดับ […]

The post นโยบายฟรีวีซ่า แรงผลักดันหนุนการท่องเที่ยวจีน-ไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>

ถนนเยาวราชเป็นย่านไชน่าทาวน์ที่มีชื่อเสียงของไทย ประดับประดาด้วยโคมไฟสีแดง ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเทศกาลตรุษจีน ขณะที่บรรดาร้านค้าจัดเตรียมร้านของตนพร้อมรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนเยาวราชในช่วงเทศกาลวันหยุดตรุษจีนปีนี้

 

หวังเซวียนอวี่ วัย 36 ปี นักท่องเที่ยวจากกรุงปักกิ่งที่เลือกมาใช้เวลาวันหยุดตรุษจีนในไทยเล่าว่า พื้นที่ในถนนเยาวราชจัดกิจกรรมมากมาย สำหรับเทศกาลตรุษจีน ทำให้สัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองและความเป็นมงคล โดยเธอระบุว่า การเดินทางสะดวกมาก และขั้นตอนการเข้าเมืองราบรื่นมากเช่นกัน

 

รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่พลเมืองจีนชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2566 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากนั้นเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา จีนและไทยได้ลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกัน และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งการลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่านี้ ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยคาดการณ์ว่าในปี 2024 นักท่องเที่ยวชาวจีนราว 8 ล้านคนจะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทย และจะสร้างรายได้ราว 3.2 แสนล้านบาท

 

สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่าในช่วงวันที่ 7-15 กุมภาพันธ์นี้ ไทยจะต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกือบ 1 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ราว 180,000 คนมาจากจีน

 

ด้านผู้จัดการโรงแรมในหัวหินคนหนึ่งเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว โดยการลงนามข้อตกลงดังกล่าวทำให้มีการสอบถามจากแขกชาวจีนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ขณะที่ ชนะพันธ์ แก้วกล้าไชยวุฒิ อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน ระบุว่า การยกเว้นวีซ่าซึ่งกันและกันได้ลดกฎเกณฑ์และต้นทุนด้านการท่องเที่ยว เกื้อหนุนการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนสองประเทศ และอัดฉีดแรงผลักดันที่แข็งแกร่งสู่การฟื้นตัวและความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

 

ชนะพันธ์กล่าวเสริมว่า ทรัพยากรการท่องเที่ยวของไทยและจีนนั้นส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยจีนเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่ใกล้ที่สุดสำหรับคนไทยที่ชื่นชอบอากาศเย็นและหิมะ ซึ่งการลงนามข้อตกลงยกเว้นวีซ่าดังกล่าวจะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปยังจีนเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งมั่นใจว่าจะมีส่วนส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนอย่างแน่นอน

 

ภาพ: Xinhua News Agency

อ้างอิง: 

  • Xinhua Thai News Service

The post นโยบายฟรีวีซ่า แรงผลักดันหนุนการท่องเที่ยวจีน-ไทย appeared first on THE STANDARD.

]]>
รอลงอาญา! ศาลจีนตัดสินประหารชีวิตนักเขียนออสเตรเลีย ข้อหาสายลับ https://thestandard.co/chinese-court-put-to-death-australia-writer/ Tue, 06 Feb 2024 04:24:51 +0000 https://thestandard.co/?p=896525 นักเขียนออสเตรเลีย

กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียเผยว่า หยางเหิงจวิน นักเข […]

The post รอลงอาญา! ศาลจีนตัดสินประหารชีวิตนักเขียนออสเตรเลีย ข้อหาสายลับ appeared first on THE STANDARD.

]]>
นักเขียนออสเตรเลีย

กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียเผยว่า หยางเหิงจวิน นักเขียนชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีนถูกศาลจีนตัดสินโทษประหารชีวิต โดยให้รอลงอาญาในข้อหาเป็นสายลับ ซึ่งละเมิดกฎหมายจารกรรมของจีน หลังจากที่เขาถูกทางการจีนควบคุมตัวที่สนามบินในกว่างโจวเมื่อปี 2019

 

หยางเหิงจวินเกิดและเติบโตในประเทศจีน อีกทั้งยังเคยทำงานให้กับกระทรวงการต่างประเทศจีน ก่อนที่จะตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ออสเตรเลียและกลายเป็นพลเมืองของออสเตรเลีย โดยก่อนหน้าที่เขาจะถูกจับกุมตัว เขามักจะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจีนผ่านบัญชีโซเชียลมีเดียอย่าง X ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1.1 แสนคน นอกจากนี้หยางยังชื่นชอบการเขียนนวนิยายแนวสายลับอีกด้วย

 

แม้ว่าหยางจะถือสัญชาติออสเตรเลีย แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีสำหรับคนที่ติดตามเขาว่าหยางมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และบ่อยครั้งเขาก็เป็นวิทยากรรับเชิญให้กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ 

 

ด้านเพนนี หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ระบุถึงความเป็นไปได้ที่บทลงโทษประหารชีวิตอาจถูกปรับเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิตแทน หากในช่วงระหว่างที่รอลงอาญา 2 ปีนี้ หยางไม่ได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงใดๆ เพิ่มเติมอีก ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียจะตอบโต้ประเด็นนี้ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุด พร้อมทั้งเชิญเอกอัครราชทูตจีนประจำออสเตรเลียเข้าพบเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับคำตัดสินโทษประหารชีวิตที่เกิดขึ้น

 

คำตัดสินของศาลจีนสร้างความกังวลใจให้กับนักสิทธิมนุษยชนอย่างมาก โดยดาเนียลา กัฟชอน ผู้อำนวยการ Human Rights Watch ออสเตรเลีย ชี้ว่าบทลงโทษดังกล่าวถือเป็นหายนะที่ร้ายแรงมากต่อทั้งหยางและครอบครัวของเขา พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อจีน

 

“หลังจากการถูกคุมขังตามอำเภอใจมานานหลายปี ประกอบกับกระแสข่าวเรื่องการซ้อมทรมาน รวมถึงการพิจารณาคดีแบบปิดและไม่ยุติธรรม โดยไม่ให้หยางเลือกทนายความของตัวเอง คำตัดสินที่รุนแรงนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าตกใจอย่างมาก”

 

หยางไม่ใช่พลเมืองออสเตรเลียคนแรกที่มีคดีความด้านความมั่นคงกับจีน จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและจีนต้องสั่นคลอน โดยเดือนตุลาคม 2023 เฉิงเหล่ย อดีตผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ CGTN ชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีน ได้รับการปล่อยตัวจากทางการจีนและเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว หลังจากที่เธอถูกจับกุมตัวนานกว่า 3 ปี ในความผิดข้อหาจารกรรมข้อมูล ส่งความลับของทางการจีนไปต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยรัฐบาลจีนไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดคดีความของเธอตลอดช่วงระยะเวลาที่คุมขัง อีกทั้งยังเลื่อนการตัดสินออกไปหลายครั้งอีกด้วย 

 

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าคำตัดสินของศาลจีนในคดีของหยางอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลีย-จีนถดถอยลงไปอีก

 

ภาพ: Carlos Garcia Rawlins / File Photo / Reuters

@yanghengjun / X Account

อ้างอิง:

The post รอลงอาญา! ศาลจีนตัดสินประหารชีวิตนักเขียนออสเตรเลีย ข้อหาสายลับ appeared first on THE STANDARD.

]]>
สื่อนอกจับตา สมรภูมิทะเลแดงสั่นคลอนบทบาทจีนในฐานะ ‘ผู้ส่งออกสันติภาพโลก’ https://thestandard.co/red-sea-china-response-analysis/ Tue, 30 Jan 2024 11:42:45 +0000 https://thestandard.co/?p=893997

ใครจะคาดคิดว่าก้าวเข้าสู่ปี 2024 ได้เพียงไม่ถึงเดือน โล […]

The post สื่อนอกจับตา สมรภูมิทะเลแดงสั่นคลอนบทบาทจีนในฐานะ ‘ผู้ส่งออกสันติภาพโลก’ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ใครจะคาดคิดว่าก้าวเข้าสู่ปี 2024 ได้เพียงไม่ถึงเดือน โลกก็ได้เห็นสมรภูมิรบแบบดั้งเดิมที่เดือดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งนอกจากภาพการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 แล้ว ก็ยังมีสมรภูมิย่อยเกิดขึ้นในอีกหลายจุด รวมถึงสถานการณ์ในทะเลแดงที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย หลังกลุ่มฮูตีกระหน่ำยิงมิสไซล์และส่งโดรนโจมตีเข้าใส่เรือสินค้าของนานาชาติแทบจะรายวัน

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สื่อใหญ่หลายหัวเริ่มจับตาบทบาทของมหาอำนาจภายนอกอย่างจีน เพราะหากเราถอยกลับไปดูภาพรวมในปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าจีนมีบทบาทเด่นในการเล่นบทกาวใจคลี่คลายความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งทำให้เป็นผลบวกต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียงของจีนในฐานะมหาอำนาจผู้แสวงหาสันติภาพและความมั่นคงของโลก ทั้งเรื่องความคืบหน้าในการคืนดีกันระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่าน รวมถึงความเคลื่อนไหวทางการทูตของจีนในความพยายามที่จะฟื้นคืนกระบวนการสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ 

 

เวลานี้จึงเกิดคำถามที่ดังขึ้นอีกครั้งว่า ในวันที่ตะวันออกกลางเดือด-ทะเลแดงลุกเป็นไฟ จีนจะเข้ามามีบทบาทในการสลายวงความขัดแย้งหรือไม่ อย่างไร

 

ทะเลแดงเดือดพล่าน ทำไมจีนยังนิ่ง?

 

ก่อนจะไปถึงจีน THE STANDARD ขอปูพื้นให้อ่านกันสักนิดว่า ทะเลแดงถือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการส่งสินค้า น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเหลว ระหว่างเอเชียและยุโรป โดย 12% ของการค้าโลกต้องผ่านเส้นทางนี้ คิดเป็นมูลค่ารวมราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี การที่กลุ่มฮูตีโจมตีเรือสินค้าจึงเขย่าการค้าโลก และทำให้เกิดกระแสความวิตกกังวลด้วยว่าความขัดแย้งในภูมิภาคจะขยายวงกว้างกว่าเดิม ซ้ำเติมสงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอลที่กินเวลาล่วงเลยมาเกือบ 4 เดือน 

 

ตอนนี้ฮูตีไม่ได้โจมตีแค่เรือสินค้าของอิสราเอลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรือของชาติอื่นๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามด้วย ทำให้เรือจากหลายบริษัทจำต้องเลี่ยงเส้นทางไม่ให้ตัวเองถูกลูกหลง อาทิ เรือ COSCO ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือขนาดใหญ่ของจีนก็ต้องเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือที่ต้องอ้อมไกลกว่าเดิม ค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงแพงขึ้นด้วย 

 

เมื่อสถานการณ์ดูมีทีท่าว่าจะไม่ได้การเสียแล้ว ชาติมหาอำนาจใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาจึงได้ตั้งปฏิบัติการนานาชาติเพื่อปกป้องเส้นทางเดินเรือภายใต้ชื่อ Operation Prosperity Guardian ซึ่งเป็นกองเรือจากกว่า 20 ประเทศแนวร่วมที่อยากให้การค้าและการเดินทางเป็นไปอย่างสงบสุข

 

แต่ในรายชื่อนั้นไม่ได้มีจีนรวมอยู่ด้วย โดยสิ่งที่จีนทำมีเพียงออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการโจมตีเรือสินค้า พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ยกระดับความรุนแรงมากขึ้น

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนบางกลุ่มมองว่า รีแอ็กชันของจีนที่ดูถ้อยทีถ้อยอาศัยและระมัดระวังนี้เป็นแนวทางปกติที่จีนใช้รับมือต่อวิกฤตการณ์ในตะวันออกกลางอยู่แล้ว และคาดว่าจีนไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงด้วย เว้นแต่ว่าการโจมตีจะไปกระทบต่อผลประโยชน์ทางการค้าของตนเองเข้าอย่างรุนแรง

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อควรคำนึงด้วยว่า สินค้าส่งออกของจีนไปยังยุโรปส่วนใหญ่ต้องผ่านทางทะเลแดง ในขณะที่น้ำมันและแร่ธาตุหลายสิบล้านตันก็ถูกลำเลียงผ่านทะเลแดงก่อนจะถึงท่าเรือของจีน ทีนี้ ถ้าเราลองสมมติฉากทัศน์ขึ้นมาเล่นๆ ว่า เกิดเรือ (ที่ไม่ใช่ของจีน) ได้รับผลกระทบจากการโจมตีของฮูตี จนต้องอ้อมเส้นทางเดินเรือไปไกล และทำให้มูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าของจีนถีบตัวสูงขึ้นด้วย กรณีจีนจะแก้ปัญหาอย่างไร

 

เดวิด อาราเซ (David Arase) ศาสตราจารย์สาขาการเมืองระหว่างประเทศประจำศูนย์ฮอปกินส์-หนานจิงเพื่อจีนและอเมริกันศึกษา (Hopkins-Nanjing Centre for Chinese and American Studies) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ว่า เขามองว่าจีนก็คงเลือกที่จะยอมแบกต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ดีกว่ายอมไปจับมือกับสหรัฐฯ 

 

ที่สำคัญคือในตอนนี้เรือเดินสมุทรของจีนยังไม่ได้ถูกกลุ่มฮูตีโจมตีเหมือนชาติอื่นๆ ด้วย ด้วยเหตุนี้ จีนจึงไม่มีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะสร้างหลักประกันเสถียรภาพในทะเลแดง หรือปกป้องสิทธิในการเดินเรือระหว่างประเทศ และไม่กระตือรือร้นที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ 

 

บทบาทผู้ส่งออกสันติภาพที่สั่นคลอน

 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าทีของจีนในวันนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำโลกและผู้สร้างสันติภาพนั้น ‘อ่อน’ ลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในสายตาของโลกตะวันตก

 

โอริ เซลา (Ori Sela) รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ แสดงความคิดเห็นว่า ในขณะที่จีนพูดย้ำอยู่เสมอว่าตนเองพร้อมที่จะรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว จนถึงขณะนี้ดูเหมือนว่าจีนจะ ‘มีความสามารถเพียงเล็กน้อย’ ในการทำสิ่งนั้นไม่ว่าจะเป็นในแง่ของอำนาจทางทหารหรือการทูต

 

ด้านสำนักข่าว CNN ได้สอบถามความคิดเห็นไปยัง มอร์เดชัย ชาซิซา (Mordechai Chaziza) อาจารย์อาวุโสแห่งวิทยาลัยวิชาการแอชเคลอน (Ashkelon Academic College) ในอิสราเอล ซึ่งเชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับตะวันออกกลางโดยเฉพาะ เขากล่าวว่า ท่าทีของจีนที่เป็นไปอย่างระมัดระวังหรือดูลังเล เป็นเหมือนเงาดำที่มาบดบังภาพของความทะเยอทะยานที่จะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจโลกที่มีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสีจิ้นผิงได้กล่าวไว้เมื่อช่วงไม่กี่ปีก่อนว่าจะสนับสนุนบทบาทจีนในการส่งเสริมสันติภาพและความสงบในตะวันออกกลาง

 

สหรัฐฯ ขอจีนช่วยกดดันอิหร่านอีกทาง

 

ท่ามกลางสมรภูมิอันดุเดือด สหรัฐฯ พยายามเรียกร้องให้จีนไปช่วยกดดันอิหร่านอีกทางหนึ่ง เพราะอิหร่านเป็นผู้เล่นสำคัญในวงความขัดแย้งตะวันออกกลาง ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการฝึกฝน ให้เงินทุน และให้อาวุธกับกลุ่มฮูตี

 

ในระหว่างการหารือของ หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน และ เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่เปิดฉากขึ้นในประเทศไทยเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซัลลิแวนได้เรียกร้องให้จีนใช้อำนาจในการเจรจากับอิหร่านเพื่อหยุดยั้งการโจมตีที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

 

สำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (26 มกราคม) โดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า ในการประชุมระหว่างจีนและอิหร่านที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เจ้าหน้าที่จีนได้เรียกร้องให้ฝ่ายอิหร่านช่วยควบคุมฮูตีอยู่หลายครั้ง อีกทั้งยังกล่าวด้วยว่าถ้าคุมไม่ได้ก็เสี่ยงที่จะทำให้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างอิหร่านและจีนเกิดผลกระทบตามมา

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความขัดแย้งที่ดูไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ บทบาทของจีนในตะวันออกกลางจึงเป็น ‘เกมยาว’ ที่เราต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจีนจะขยับหมากไปในทิศทางใด ในช่วงเวลาที่สถานการณ์โลกหมิ่นเหม่พลิกผันได้ตลอดเวลา

 

อ้างอิง:

The post สื่อนอกจับตา สมรภูมิทะเลแดงสั่นคลอนบทบาทจีนในฐานะ ‘ผู้ส่งออกสันติภาพโลก’ appeared first on THE STANDARD.

]]>