China – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Thu, 14 Nov 2024 01:01:56 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 ทำไมไทยอาจเจ็บหนักกว่าจีนจาก Trade War 2.0? https://thestandard.co/thailands-risks-under-trade-war-2-0/ Thu, 14 Nov 2024 01:01:56 +0000 https://thestandard.co/?p=1008329 Trade War 2.0

หลายคนมองว่าสงครามการค้ารอบใหม่ของ โดนัลด์ ทรัมป์ จีนจะ […]

The post ทำไมไทยอาจเจ็บหนักกว่าจีนจาก Trade War 2.0? appeared first on THE STANDARD.

]]>
Trade War 2.0

หลายคนมองว่าสงครามการค้ารอบใหม่ของ โดนัลด์ ทรัมป์ จีนจะเจ็บหนัก ส่วนไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทย และจากที่ไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาแทนสินค้าจีน แต่ผมเกรงว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นเลยครับ

 

จีนเจ็บแน่ แต่เกรงว่าที่จะเจ็บหนักยิ่งกว่าจีนคือประเทศกลุ่ม Middle Power ต่างๆ รวมทั้งไทยด้วย

 

เพราะ Trade War 2.0 จะไม่เหมือนกับสงครามการค้ารอบก่อนที่ประเทศกลุ่ม Middle Power เช่น เวียดนาม เม็กซิโก อินเดีย รวมถึงไทย ได้ประโยชน์ ส้มหล่นจากการย้ายฐานการลงทุนออกจากจีน และสหรัฐฯ เองซื้อสินค้าราคาถูกจากประเทศเหล่านี้แทนสินค้าจีน

 

แต่นโยบายการค้ารอบนี้ของทรัมป์ชัดมากว่าไม่เหมือนเดิม เพราะเขาประกาศ 3 ข้อ

 

ข้อแรก จะขึ้นกำแพงภาษีสินค้าจีนที่อัตราร้อยละ 60 เท่ากับ 4 เท่าจากรอบที่แล้ว


ข้อ 2 จะขึ้นกำแพงภาษีสินค้าทั่วโลกที่อัตราร้อยละ 10

 

ข้อ 3 จะขึ้นกำแพงภาษีสินค้ากับคู่ค้าแต่ละประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ (อัตราร้อยละ 10 นั้นแค่เริ่มต้น) จนกว่าจะถึงจุดสมดุลการค้ากับประเทศนั้นๆ

 

ความเข้าใจผิดของเราคือ เราไปโฟกัสความสนใจกันที่ข้อ 1 เพราะถ้ามีแค่ข้อ 1 ผลก็จะคล้ายๆ สงครามการค้ารอบที่แล้วที่บริษัทจะย้ายออกจากจีนไปที่อื่น เพื่อขายไปยังตลาดสหรัฐฯ

 

แต่เป้าหมายของทรัมป์รอบนี้ชัดเจนว่ารอบก่อนยังแรงไม่พอ เพราะรอบก่อนทำให้สหรัฐฯ เพียงเปลี่ยนจากซื้อจากจีนเป็นซื้อจากเวียดนาม เม็กซิโก ไทย และประเทศอื่นๆ แทน แต่รอบนี้เขาต้องการให้เกิดผลให้โรงงานย้ายกลับไปผลิตที่สหรัฐฯ เพื่อให้เกิดมหกรรมการลงทุนครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ และฟื้นอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ ให้เกิดการจ้างงานชนชั้นกลางคนขาวชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นฐานเสียงของเขา

 

ถ้าเพิ่มจากข้อแรกซัดจีน บวกแค่ข้อ 2 คือขึ้นภาษีทั่วโลกอัตราร้อยละ 10 ก็ยังพอเป็นไปได้ว่าจะย้ายฐานการผลิตจากจีนไปที่อื่นและปรับตัวกันไป ยอมเสียภาษีร้อยละ 10 (แต่ดีกว่าผลิตที่จีนเสียร้อยละ 60) แต่นี่เขายังมีข้อ 3 ด้วย คือจะค่อยๆ ขึ้นภาษีสูงขึ้นเรื่อยๆ หากสหรัฐฯ ยังขาดดุลการค้ากับประเทศนั้นๆ อยู่ จนกว่าจะถึงจุดสมดุลทางการค้า

 

ถ้าเราเป็นบริษัทในจีนที่ผลิตสินค้าส่งไปสหรัฐฯ สัญญาณจากทรัมป์กำลังบอกว่า ถ้าอยากขายให้ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในโลก ทางเดียวคือต้องมาผลิตที่สหรัฐฯ เท่านั้น หากย้ายไปเวียดนาม เม็กซิโก ไทย หรือที่อื่น ต่อไปก็จะโดนภาษีอยู่ดี และจะค่อยๆ เก็บสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

 

ผมจึงมีข้อสรุปที่อาจแปลกกว่าที่พวกเราเคยได้ยินกันคือ คนที่จะเจ็บหนักที่สุดจาก Trade War 2.0 อาจไม่ใช่จีน แต่กลายเป็นประเทศกลุ่ม Middle Power เดิมที่เคยได้ประโยชน์จากสงครามการค้ารอบแรก รอบนี้จะไม่ได้ประโยชน์และจะเจ็บตัวหนัก

 

เพราะประเทศกลุ่ม Middle Power (รวมทั้งไทยด้วย) กำลังจะถูกแรงบีบทั้ง 3 ทางพร้อมกัน ตลาดใหญ่ที่สุดอันดับ 1 อย่างสหรัฐฯ ก็ส่งไปไม่ได้ เพราะสหรัฐฯ จะปิดตลาด เพื่อบีบให้บริษัทย้ายฐานกลับมาผลิตที่สหรัฐฯ

 

ตลาดอันดับ 2 อย่างจีนก็จะปิดตัวมากขึ้นเองโดยธรรมชาติ (ถึงแม้จีนคงจะประชาสัมพันธ์ว่าจะเปิดตลาด) เพราะสินค้าจีนส่งไปสหรัฐฯ ไม่ได้ ก็ต้องเน้นขายในตลาดจีน สินค้าต่างชาติยากจะเข้าไปแย่งส่วนแบ่ง แถมเศรษฐกิจจีนที่มีปัญหาภายในก่อนหน้านี้อยู่แล้ว และถูกซัดซ้ำจากสงครามการค้าของทรัมป์ ก็จะมีกำลังซื้อลดลงจากเดิมมาก

 

ส่วนตลาดที่เหลือทั่วโลกก็จะแย่ลง เพราะ 1. คลื่นสินค้าราคาถูกจากจีนเมื่อไปสหรัฐฯ ไม่ได้ และเมื่อกำลังซื้อภายในจีนเองก็ลด ก็ย่อมจะออกมาบุกตลาดเหล่านี้มากขึ้น 2. ทุกคนย่อมจะอ่อนแอลงหมด เพราะภาคส่งออกของแต่ละที่ไม่สามารถส่งสินค้าไป 2 ตลาดใหญ่ที่สุดของโลกได้อย่างเมื่อก่อน กำลังซื้อโลกก็จะหดตัวลงมาก ก้อนการค้าโลก ก้อนโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ยังเหลืออยู่จะเล็กลงจากเดิมมาก

 

จีนนั้นเจ็บหนัก เจ็บแน่ ประเมินว่าการเติบโตของ GDP จีนอาจติดลบจากเดิมถึงร้อยละ 2 แต่จีนก็ยังพอมีความแข็งแกร่งภายในที่ยังอดทนฝ่ามรสุมไปได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดภายในที่ใหญ่ ความได้เปรียบเรื่องราคาสินค้าจีนที่จะส่งออกไปยังตลาดอื่นแทน คนจีนยังมีเงินเก็บมากและไม่มีหนี้ครัวเรือน ทำให้อดทนต่อความยากลำบากได้ และจีนยังมีภาคเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมา รวมทั้งภาคพลังงานสะอาดที่จีนจะสวมบทผู้นำแทนสหรัฐฯ ที่จะถอยจากวงการนี้

 

ส่วนสหรัฐฯ เองก็คงแย่ลง คนสหรัฐฯ จะต้องซื้อของราคาแพงขึ้น แต่ทีมมันสมองด้านเศรษฐกิจของทรัมป์อย่าง โรเบิร์ต ไลต์ไทเซอร์ ประกาศแล้วว่า ถ้าให้เลือกระหว่างคนสหรัฐฯ ตกงาน แต่ได้ซื้อของราคาถูกจากจีน เวียดนาม และเม็กซิโก กับให้คนสหรัฐฯ มีงานดีๆ ในโรงงานทำ แต่ซื้อของราคาแพงขึ้นหน่อย เขาเลือกแบบที่ 2 เขาต้องการให้อุตสาหกรรมการผลิตกลับมาเป็นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (ไม่ต้องพึ่งสินค้าจากข้างนอก โดยเฉพาะจากศัตรูคู่แข่งอย่างจีน รวมทั้งจากที่อื่นที่ก็อาจเป็นจีนแปลงตัวไปผลิตที่นั่นหรือเชื่อมกับซัพพลายเชนจีนอยู่ดี) 

 

แต่ประเทศ Middle Power นี่สิครับจะแย่กันหมด ไม่ว่าจะเป็นยุโรปที่น่าจะเกิดภาวะ Recession ต่อเนื่องแน่ โดยเฉพาะเยอรมนีที่พึ่งพาทั้งตลาดสหรัฐฯ และจีน และแน่นอน เวียดนาม เม็กซิโก อินเดีย รวมทั้งไทย ก็จะเจ็บตัวกันหมด อย่าหวังว่าจะเป็นตาอยู่ได้คว้าพุงปลามากินเหมือนครั้งก่อน

 

ยิ่งหากเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสูง และพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ และตลาดจีนสูงอย่างไทย และกำลังซื้อภายในเปราะบางด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือน ย่อมจะเผชิญความท้าทายจากโครงสร้างเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษจากสงครามการค้ารอบใหม่ของทรัมป์ 

 

ส่วนหากใครยังแอบหวังลึกๆ ว่านโยบายการค้าของทรัมป์เป็นเพียงคำขู่เอาไว้ใช้เจรจาต่อรอง หรือคงไม่ทำถึงในระดับที่หาเสียงไว้ ผมคิดว่าท่านน่าจะผิด เพราะทรัมป์และทีมของทรัมป์ชัดเจนในทุกการสัมภาษณ์ว่าแผนการใหญ่ของเขาเป็นแผนในระดับ ‘ปฏิวัติ’ โครงสร้างเศรษฐกิจโลก เลิกโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ และมีทีมของเขาออกมาเตือนนักลงทุนแล้วว่าทำจริง และที่สำคัญจะทำเร็ว (เริ่มทันที) และทำแรงด้วย

 

ใครจึงอย่าคิดว่าสงครามการค้ารอบใหม่จะคล้ายรอบเก่า เรากำลังพูดถึง Trade War คนละสเกลและคนละเป้าหมาย ครั้งที่แล้วแค่เพียงว่าจะไม่ซื้อจากจีน ไปซื้อจากที่อื่นแทน แต่ครั้งนี้ต้องการถึงขั้นบีบให้บริษัทมาผลิตที่สหรัฐฯ หากยังต้องการเข้าถึงตลาดใหญ่ที่สุดในโลกต่อไป

 

ภาพ: Allison ROBBERT / POOL / AFP

The post ทำไมไทยอาจเจ็บหนักกว่าจีนจาก Trade War 2.0? appeared first on THE STANDARD.

]]>
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ SMR ปลอดภัยจริงไหม ทำไมจีนไม่กลัว https://thestandard.co/china-smr-nuclear-power-plant/ Sat, 02 Nov 2024 08:04:04 +0000 https://thestandard.co/?p=1003119

ในยุคสีจิ้นผิง จีนมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการทำ Green Tr […]

The post โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ SMR ปลอดภัยจริงไหม ทำไมจีนไม่กลัว appeared first on THE STANDARD.

]]>

ในยุคสีจิ้นผิง จีนมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการทำ Green Transition มุ่งสู่เศรษฐกิจสีเขียวและพัฒนาพลังงานสะอาด เช่น การระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับล่าสุด กำหนดให้ดัชนีด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานเป็นเป้าหมายที่มีสภาพบังคับต้องทำให้สำเร็จตามกรอบเวลาที่วางไว้ ทิศทางจีนจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และทุ่มเทพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง เช่น การตั้งเป้าหมายที่จะให้รถทุกคันในจีนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด รวมทั้งล่าสุดมีการผลักดันอุตสาหกรรม ‘สามใหม่’ (New Three Industries) ได้แก่ 1. รถยนต์ไฟฟ้า EV 2. แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และ 3. เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Photovoltaic) ซึ่งล้วนมุ่งสู่ทิศทางหลักของประเทศจีนในการพัฒนาพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง

 

ทั้งภาครัฐและเอกชนของจีนต่างทุ่มเทพัฒนาและคิดค้นวิธีการใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ยุคใหม่ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น และเป็นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ของจีน คือการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2060

 

ล่าสุดจีนกลายเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กหรือ Small Modular Reactor (SMR) ซึ่งเป็นนวัตกรรมล้ำสมัยของเทคโนโลยีพลังงานนิวเคลียร์ หรือ Nuclear 4.0 โรงไฟฟ้า SMR มีขนาด 300 เมกะวัตต์ ควบคุมดูแลความปลอดภัยได้ง่าย เป็นพลังงานสะอาด และสามารถผลิตไฟฟ้าที่มีความเสถียรสูง รวมทั้งมีอีกหลายประเทศที่เริ่มพัฒนาและออกแบบโรงไฟฟ้า SMR เช่น เกาหลีใต้ รวมทั้งเพื่อนบ้านอาเซียนของไทยคืออินโดนีเซีย

 

กรณีศึกษาประสบการณ์ของจีนในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR 

 

ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดิฉันมีโอกาสเดินทางไปลงพื้นที่เกาะไห่หนาน (ไหหลำ) เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR แห่งแรกของจีน โดยเดินทางร่วมกับคณะผู้บริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และทีมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายท่าน

 

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ Changjiang Nuclear Power Plant ที่คณะจากไทยมีโอกาสเข้าไปสำรวจ Site Visit ตั้งอยู่ริมทะเลที่เมืองฉางเจียงบนเกาะไห่หนาน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR แห่งแรกของจีน ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท Hainan Nuclear Power: HNPC เป็นบริษัทในสังกัดของ China National Nuclear Corporation: CNNC รัฐวิสาหกิจหลักของจีนที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มานานกว่า 40 ปี

 

ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของ HNPC แห่งนี้เปิดใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบ CNP650 เพื่อผลิตไฟฟ้าอยู่ก่อนแล้ว (กำลังการผลิตหน่วยละ 650 เมกะวัตต์) และมีเครื่องปฏิกรณ์แบบ ACP1000 ที่เปิดใช้งานแล้วเช่นกัน (กำลังการผลิตหน่วยละ 1200 เมกะวัตต์)

 

ในส่วนของโรงไฟฟ้าแบบ SMR ที่คณะจากไทยเข้าไปเยี่ยมชมจะใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กที่เรียกว่า ACP100 หรือ Linglong One ขนาด 125 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ได้รับการพัฒนาและออกแบบโดยบริษัท CNNC และผ่านการตรวจสอบด้านความปลอดภัยโดยสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) โดยล่าสุดเดือนสิงหาคม 2023 เริ่มมีการติดตั้งเตาปฏิกรณ์ Linglong One ซึ่งคาดว่าจะเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2026

 

สำหรับเชื้อเพลิงที่ใช้ในเครื่องปฏิกรณ์ SMR คือยูเรเนียมออกไซด์ (ความเข้มข้นน้อยกว่า 5%) ออกแบบให้เดินเครื่องอย่างต่อเนื่องได้นาน 24 เดือน มีอายุการใช้งานนาน 60 ปี และโรงไฟฟ้า SMR ใช้เนื้อที่โดยรวมประมาณ 125 ไร่

 

ในการลงพื้นที่ดูงานครั้งนี้ ฝ่ายจีนที่มาให้ข้อมูลมีทั้งทีมผู้บริหาร CNNC ที่บินตรงมาจากกรุงปักกิ่ง และทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จากมณฑลอื่น (เช่น เสฉวน) มาร่วมให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม และพาคณะฯ เข้าเยี่ยมชมใน Exhibition Hall จัดแสดงข้อมูลและวิดีโอแบบจำลองของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีการใช้งานจริงในจีน รวมทั้งพาเยี่ยมชมศูนย์ฝึกอบรมฯ ที่มีการจำลองระบบทั้งหมดอยู่ในห้องคอนโทรล เพื่อควบคุมเครื่องปฏิกรณ์ที่มีการใช้ผลิตพลังไฟฟ้าแบบ Real Time จากของจริง ซึ่งพนักงานทุกคนจะต้องผ่านการอบรมและจะต้องสอบใบอนุญาตอย่างเป็นระบบตามหลักสากล

 

แน่นอนว่าประเด็นที่คนทั่วไปอาจกังวลและตั้งคำถามคือ การใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าแบบ SMR จะมีความปลอดภัยแค่ไหน มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ ทีมวิศวกรที่ร่วมประชุมหารือด้วยจึงอธิบายในประเด็นนี้ว่า “เครื่องปฏิกรณ์แบบ SMR มีความปลอดภัยสูง ออกแบบให้เป็นเครื่องปฏิกรณ์ประเภทใช้ระบบน้ำอัดแรงดันที่มีการรวมอุปกรณ์หลายส่วนไว้ภายในถังปฏิกรณ์ (Integrated PWR) โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางระบายความร้อน และใช้หลักการออกแบบให้ง่ายขึ้น (Simplification) มีการรวมระบบกำเนิดไอน้ำไว้ในโมดูล และเพิ่มระดับความปลอดภัยแบบ Passive ซึ่งทำงานโดยไม่ต้องใช้แหล่งจ่ายไฟภายนอก อาศัยหลักการพาความร้อนแบบธรรมชาติ (Natural Convection) เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น”

 

สำหรับจุดเด่นของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก SMR มีอะไรบ้าง และจะมีความแตกต่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่แบบดั้งเดิมอย่างไร จากข้อมูลที่ได้รับจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ขอสรุปในแต่ละประเด็น ดังนี้

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR เป็นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นพลังงานสะอาดและก่อให้เกิดกากกัมมันตรังสี (Nuclear Waste) ในปริมาณน้อยกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิม

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR มีขนาดเล็กลง ทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างต่ำกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิม และลดความเสี่ยงทางการเงินได้มากกว่า

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR ให้กำลังการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ จัดการด้านความปลอดภัยได้ง่ายกว่า และเพียงพอในการใช้ประโยชน์ (สามารถเพิ่มจำนวนโมดูลหากต้องการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า) ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วไปแบบเดิมจะให้กำลังการผลิตมากกว่า 1000 เมกะวัตต์

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR ใช้พื้นที่น้อยกว่า (ประมาณ 100-125 ไร่) ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิมจะใช้เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR ก่อสร้างได้รวดเร็วกว่าคือประมาณ 3-4 ปี ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิมใช้เวลาก่อสร้างนาน 5-6 ปี

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR ก่อสร้างได้สะดวกกว่า เนื่องจากอุปกรณ์หลักจะประกอบเบ็ดเสร็จจากโรงงานผลิตก่อนจะมาติดตั้งในพื้นที่ ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิมจำเป็นต้องมีการก่อสร้างในพื้นที่เป็นหลัก

 

  1. โรงไฟฟ้า SMR มีการออกแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งการผลิตไฟฟ้า ผลิตความร้อน ผลิตไอน้ำ หรือแยกเกลือออกจากน้ำทะเล และเหมาะกับพื้นที่ที่มีโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กหรือพื้นที่ห่างไกล

 

  1. ด้านระบบความปลอดภัย เทคโนโลยีของ SMR มีความปลอดภัยสูง ทำงานแบบไม่ต้องอาศัยแหล่งจ่ายไฟภายนอก ใช้หลักการพาความร้อนแบบธรรมชาติ (Natural Convection) เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ และอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น

 

  1. ในการจัดทำแผนฉุกเฉิน Emergency Zone สำหรับโรงไฟฟ้า SMR จะอยู่ภายในรัศมีน้อยกว่า 1 กิโลเมตร ในขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบเดิมที่มีขนาดใหญ่ต้องทำแผนฉุกเฉินรัศมี 16 กิโลเมตร

 

 

ไทยเรียนรู้อะไร

 

ในยุคที่โลกเราขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI และมีการใช้เครื่องมือเครื่องใช้อัจฉริยะในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมหาศาล ในขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะลดการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากฟอสซิลแบบดั้งเดิมที่ก่อมลพิษ หันมาผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดให้มากขึ้น ดังนั้นโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด SMR ที่ไม่ปล่อยก๊าซ CO₂ จึงเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก หลายบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลก เช่น Microsoft และ Google ก็เริ่มที่จะนำไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ SMR มาป้อนให้กับศูนย์ Data Center ของตน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงไฟฟ้า SMR คือตัวเปลี่ยนเกมสู่อนาคต แล้วประเทศไทยจะพร้อมรับกับ SMR นวัตกรรมสุดล้ำแห่งอนาคตนี้หรือไม่

 

ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีน หากแต่มีมากกว่า 18 ประเทศที่มีการพัฒนาและออกแบบโรงไฟฟ้า SMR มากกว่า 80 แบบ ประเทศไทยจึงควรคัดเลือกแบบและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทและเงื่อนไขของประเทศไทย และจำเป็นต้องศึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริงเพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมในทางเทคนิคเพื่อการใช้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้า SMR อย่างปลอดภัยสูงสุด ตลอดจนหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการสื่อสารส่งต่อข้อมูล SMR ที่ควรรู้สำหรับคนไทยทั่วไป เพื่อให้มีความเข้าใจ คลายข้อกังวล และมีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับนวัตกรรมแห่งอนาคตเหล่านี้ด้วย

 

ภาพ: Luo Yunfei / China News Service / VCG via Getty Images

The post โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ SMR ปลอดภัยจริงไหม ทำไมจีนไม่กลัว appeared first on THE STANDARD.

]]>
รัฐบาลอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) 4 ธ.ค. – 14 ก.พ. 68 ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ สานสัมพันธ์ 50 ปี ไทย-จีน https://thestandard.co/buddha-tooth-relic-4-dec-14-feb-68/ Tue, 29 Oct 2024 09:35:14 +0000 https://thestandard.co/?p=1001377

วันนี้ (29 ตุลาคม) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายก […]

The post รัฐบาลอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) 4 ธ.ค. – 14 ก.พ. 68 ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ สานสัมพันธ์ 50 ปี ไทย-จีน appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันนี้ (29 ตุลาคม) จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานครเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 และในโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนในปี 2568

 

จิรายุกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลของสาธารณรัฐประชาชนจีนเคยอนุญาตให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) จากวัดหลิงกวง กรุงปักกิ่ง ไปประดิษฐานในประเทศต่างๆ แล้ว 6 ครั้ง โดยอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ พุทธมณฑล ที่ประเทศไทยครั้งแรกในปี 2545 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญ เป็นสิริมงคลยิ่งต่อพุทธศาสนิกชนไทย-จีน โดยทั้งสองประเทศต่างมีพระพุทธศาสนาเป็นที่ยึดโยงจิตใจ และเป็นรากฐานสำคัญทางวัฒนธรรม

 

ทั้งนี้ รัฐบาลเชื่อมั่นว่าการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานที่ประเทศไทยในครั้งนี้ จะช่วยสานต่อมิตรภาพอันยาวนานระหว่างไทย-จีนให้แน่นแฟ้น โดยผ่านสายสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนา และผลักดันการเสริมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันระหว่างไทย-จีน พร้อมส่งเสริมในคำว่า ‘ไทย-จีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’ ให้ยิ่งหยั่งลงรากลึกในจิตใจ จึงขอเชิญชวนประชาชนไปร่วมนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ

The post รัฐบาลอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) 4 ธ.ค. – 14 ก.พ. 68 ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ สานสัมพันธ์ 50 ปี ไทย-จีน appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทรัมป์มองการค้าโลกต่างจากไบเดนอย่างไร? กับคำถามโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจถึงทางตัน? https://thestandard.co/trump-biden-world-trade-policies-compared/ Tue, 29 Oct 2024 07:48:25 +0000 https://thestandard.co/?p=1001326 ทรัมป์ ไบเดน

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัดยิ่งกว่าชัดว่าจะขึ้นกำแพงภาษีสิ […]

The post ทรัมป์มองการค้าโลกต่างจากไบเดนอย่างไร? กับคำถามโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจถึงทางตัน? appeared first on THE STANDARD.

]]>
ทรัมป์ ไบเดน

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศชัดยิ่งกว่าชัดว่าจะขึ้นกำแพงภาษีสินค้าต่อจีน 4 เท่าตัวจากเดิม และจะขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าทั่วโลกร้อยละ 10 เรียกได้ว่าหากเขาชนะจะเกิดสงครามการค้าที่ใหญ่กว่าในยุครัฐบาลทรัมป์รอบแรกหลายเท่า

 

หลายคนนึกว่าทรัมป์คงพูดเล่นๆ เอามันเพื่อเรียกคะแนนนิยม ไม่ได้คิดมาอย่างจริงจังนักหรอก แต่ผมเกรงว่านี่อาจเป็นนโยบายที่มีมันสมองชั้นเลิศคิดมาให้แล้ว (ซึ่งทำให้มีแนวโน้มที่จะถูกนำไปปฏิบัติจริงหากเขาชนะการเลือกตั้ง)

 

มันสมองคนนี้ก็คือ โรเบิร์ต ไลต์ไทเซอร์ (Robert Lighthizer) อดีตผู้แทนการค้าของรัฐบาลทรัมป์ ซึ่งเคยรับผิดชอบการทำสงครามการค้ากับจีน เขาเขียนอธิบายแนวคิดเบื้องหลังนโยบายการค้านี้ไว้อย่างละเอียดในหนังสือชื่อ No Trade Is Free: Changing Course, Taking on China, and Helping America’s Workers ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปีที่แล้ว

 

ไลต์ไทเซอร์อธิบายว่า ในด้านการค้าระหว่างประเทศ รัฐบาลทรัมป์ชุดใหม่จะมีเป้าหมาย 4 ข้อ หากเราเอา 4 ข้อนี้มาพิจารณากันแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นแนวคิดที่แตกต่างโดยพื้นฐานจากแนวคิดของไบเดนและพรรคเดโมแครต 

 

เป้าหมายหนึ่งของทรัมป์คือ เลิกโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ทรัมป์มองว่าโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Globalization) ซึ่งหัวใจก็คือการค้าเสรี (Free Trade) เป็นโทษต่อชนชั้นแรงงานสหรัฐฯ เพราะส่งผลให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เหือดแห้งไป ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำและการสูญสลายของชนชั้นกลาง 

 

ความเชื่อนี้แตกต่างโดยพื้นฐานจากแนวคิดของทีมไบเดน อย่าง เจเน็ต เยลเลน รมว.คลังของไบเดน ยังคงมองว่าการค้าเสรีเป็นคุณต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าโทษ (ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ยอมรับกันทั่วไป) เพียงแต่ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง จึงจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงออกจากจีน ทำการ ‘Friendshoring’ ไปยังประเทศอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนของสหรัฐฯ แทน

 

ในยุคไบเดน แทนที่จะนำเข้าจากจีน สหรัฐฯ ก็นำเข้าจากเวียดนามและอินเดียแทน แต่สหรัฐฯ ก็ยังได้สินค้าราคาถูกและผู้บริโภคชาวอเมริกันก็ยังได้ประโยชน์จากสินค้าราคาถูกเหล่านี้ โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจจึงไม่ได้สิ้นสุด เพียงแต่ย้ายออกจากจีนไปที่อื่นเท่านั้น ทั้งหมดนี้แตกต่างจากแนวคิดของทรัมป์ที่ต้องการเลิกโลกาภิวัตน์ 

 

เป้าหมายที่ 2 ของทรัมป์คือ การรื้อฟื้นอุตสาหกรรมการผลิตขึ้นอีกครั้งในสหรัฐฯ (Reindustrialization of US Manufacturing) ทีมทรัมป์ต้องการให้โรงงานย้ายฐานการผลิตกลับมาที่สหรัฐฯ และสร้างงานให้ชนชั้นแรงงานในสหรัฐฯ

 

ต่างจากแนวคิดของทีมไบเดนที่ขอเพียงโรงงานย้ายจากจีนไปที่อื่น เช่น เวียดนาม อินเดีย หรืออินโดนีเซีย ก็เพียงพอแล้ว ทีมไบเดนไม่เชื่อว่าสหรัฐฯ มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในด้านการผลิตอีกต่อไป ซื้อจากต่างประเทศถูกและคุ้มค่ากว่า

 

เป้าหมายที่ 3 ของทรัมป์คือ บรรลุสมดุลการค้า (Trade Balance) กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในหนังสือของไลต์ไทเซอร์จึงเสนอว่าจะต้องขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าจากคู่ค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนกว่าสหรัฐฯ จะหยุดขาดดุลการค้ากับประเทศนั้นๆ

 

แตกต่างจากทีมไบเดนที่ไม่ได้มองว่าการขาดดุลการค้าเป็นปัญหาโดยตัวมันเอง ทีมไบเดนมองว่าเป็นไปตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ เมื่อสหรัฐฯ ไม่มีความได้เปรียบในเรื่องค่าแรงและการผลิต ก็ยกระดับไปทำภาคอุตสาหกรรมขั้นสูงกว่า เช่น ภาคการเงินหรือภาคการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งใช้ประโยชน์จากการค้ากับคู่ค้าที่ถนัดในเรื่องการผลิตมากกว่าสหรัฐฯ 

 

อ่านหนังสือของไลต์ไทเซอร์แล้วขอเตือนว่า นโยบายของทรัมป์ที่ประกาศจะขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าทั่วโลกร้อยละ 10 อาจเป็นเพียงอัตราเริ่มต้นเท่านั้น โดยอาจขึ้นไปมากกว่านี้ตามระดับการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับแต่ละประเทศคู่ค้า

 

ส่วนเป้าหมายสุดท้ายของทรัมป์ก็คือ การหย่าขาดจากจีนในทางเศรษฐกิจ (Complete Decoupling from China) ในหนังสือของไลต์ไทเซอร์ถึงกับเสนอให้ยกเลิกสถานะการเป็นชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation Status) ของจีนในทางการค้ากับสหรัฐฯ 

 

ข้อนี้ก็แตกต่างจากทีมไบเดนและพรรคเดโมแครตที่ต้องการแยกห่วงโซ่ออกจากจีนเพียงบางส่วน (Partial Decoupling) หรือที่ไบเดนเรียกศัพท์ใหม่ว่า ‘De-risking’ ซึ่งหมายถึงการกระจายความเสี่ยงในบางอุตสาหกรรมที่สำคัญออกจากจีน แต่ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะหย่าขาดจากจีน

 

จีนา เรมอนโด รัฐมนตรีพาณิชย์ในรัฐบาลไบเดน ย้ำมาตลอดว่ายังยินดีค้าขายกับจีนในสินค้าส่วนใหญ่ เพราะผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้ประโยชน์ สหรัฐฯ จึงยังคงยินดีจะซื้อเสื้อผ้า, แปรงสีฟัน, ยาสีฟัน และต้นคริสต์มาส ราคาถูกจากเมืองจีน เพียงแต่ไม่ยินดีที่จะค้าขายกับจีนในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์และความมั่นคง เช่น รถยนต์ EV, แบตเตอรี่, เซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งเธอบอกว่าจริงๆ แล้วเป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่ได้มีปริมาณมากเมื่อเทียบกับปริมาณการค้ารวมระหว่างสองประเทศ จึงเรียกนโยบายการค้าของไบเดนว่า ‘พื้นที่เล็ก กำแพงสูง’ (Small Yard, High Fence) คือจะตั้งกำแพงภาษีสูงเป็นพิเศษเฉพาะสินค้าเชิงยุทธศาสตร์เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น

 

เมื่อพิจารณาความแตกต่างระหว่างทรัมป์และไบเดนทั้ง 4 ข้อแล้ว เราจำเป็นต้องทบทวนความเชื่อที่ว่า ทรัมป์กับไบเดนไม่น่าจะต่างกันมากในเรื่องนโยบายการค้า หลายคนมองว่าไบเดนเองไม่ได้ยกเลิกกำแพงภาษีสินค้าที่ทรัมป์เคยตั้งมาแต่เดิม และทั้งสองพรรคการเมืองต่างก็ไม่ชอบจีนเช่นเดียวกัน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ แนวคิดเบื้องหลังนโยบายการค้าของทรัมป์กับไบเดนนั้นแตกต่างกันมากในเชิงอุดมการณ์พื้นฐานครับ 

 

ไบเดนและทีมของพรรคเดโมแครต ซึ่งหาก คามาลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้งคงสืบต่อนโยบายเหล่านั้น ไม่ได้มีแนวคิดที่จะหย่าขาดจากจีนอย่างถาวร และไม่ได้มีแนวคิดที่จะเลิกโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและการค้าเสรีอย่างกลับหลังหัน แตกต่างจากแนวคิดของทรัมป์และทีมงานซึ่งมีไลต์ไทเซอร์เป็นมันสมองหลัก ที่ต้องการปฏิวัติ (Revolutionize) ระเบียบการค้าโลก และตอกฝาโลงโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่เป็นกระแสหลักของโลกมายาวนานกว่า 30 ปีหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น

 

หลายคนยังหวังลึกๆ ว่า ถึงทรัมป์จะพูดหาเสียงอย่างดุดัน แต่ในทางปฏิบัติไม่น่าจะทำได้จริง แต่ท่านต้องทราบนะครับว่า นโยบายการขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าเป็นอำนาจเด็ดขาดของประธานาธิบดีที่ไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาคองเกรส 

 

ส่วนประเด็นที่ว่า นโยบายลักษณะนี้จะสร้างหายนะต่อเงินเฟ้อ เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงมากในสหรัฐฯ แต่ทีมทรัมป์มองว่าโรงงานสามารถปรับเป็นระบบ Automation ได้ ไม่ต้องใช้แรงงานมาก และหากตั้งใกล้ผู้บริโภค ก็สามารถประหยัดต้นทุนโลจิสติกส์ สุดท้ายแม้ต้นทุนการผลิตรวมจะสูงกว่าที่ผลิตที่ต่างประเทศ แต่ก็อาจไม่ได้สูงกว่าในต่างประเทศมากหลายเท่าตัวอย่างที่หลายคนนึกก็ได้ 

 

มีทีมนักวิเคราะห์ของ Barclays ประเมินว่า หากทรัมป์ทำสงครามการค้าในระดับที่เขาหาเสียงจริง GDP ของสหรัฐฯ จะลดลง 1.4% ขณะที่ GDP ของจีนจะลดลงถึง 2% 

 

นี่แหละครับที่บอกว่าสงครามการค้านั้นเจ็บทั้งคู่แน่นอน เพียงแต่ทรัมป์บอกว่าจีนจะเจ็บมากกว่าและจะเจ็บหนักด้วยท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวอยู่แล้ว ส่วนผลต่อโลกคือทุกคนเจ็บกันถ้วนหน้า แต่สหรัฐฯ หวังว่าสุดท้ายจะกดดันให้บริษัทย้ายฐานการผลิตกลับเข้าสหรัฐฯ ได้ ซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าจะได้ผลจริงหรือไม่ หรือจะหายนะกันหมดเพราะเงินเฟ้อก่อน

The post ทรัมป์มองการค้าโลกต่างจากไบเดนอย่างไร? กับคำถามโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจถึงทางตัน? appeared first on THE STANDARD.

]]>
4 ประชุมบอสใหญ่ของจีนที่นักลงทุนต้องจับตา https://thestandard.co/4-chinese-big-boss-meetings/ Sun, 27 Oct 2024 04:57:26 +0000 https://thestandard.co/?p=1000555

ในทศวรรษนี้การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและตลาดการเงินจีนมี […]

The post 4 ประชุมบอสใหญ่ของจีนที่นักลงทุนต้องจับตา appeared first on THE STANDARD.

]]>

ในทศวรรษนี้การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและตลาดการเงินจีนมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนทั่วโลก

 

หนึ่งเดือนที่ผ่านมา การปรับตัวขึ้นลงอย่างรวดเร็วของหุ้นจีนจากการเปลี่ยนทิศนโยบายเศรษฐกิจเป็นเรื่องตอกย้ำว่านักลงทุนควรเข้าใจนโยบายเศรษฐกิจจีนให้มากยิ่งขึ้น ผมจึงสรุป 4 การประชุมใหญ่ระหว่างปีที่สำคัญมาแชร์ให้ทุกท่านได้ติดตามไปพร้อมกัน

 

1. การประชุมคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo Meeting)

 

การประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองของจีนเป็นการประชุมระดับสูงสุดด้านการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการเมือง มีประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเป็นผู้ดำเนินการประชุม จัดขึ้นทุกไตรมาสในเดือนมกราคม, เมษายน, กรกฎาคม และกันยายนหรือธันวาคม

 

Politburo Meeting เน้นไปที่การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน ก่อนที่จะประกาศนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

 

การประชุมครั้งที่โดดเด่นในอดีต เช่น การออกมาตรการรับมือวิกฤตตลาดหุ้นจีนในเดือนกรกฎาคม ปี 2015 ตอบสนองต่อวิกฤตตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงอย่างรุนแรง มีการประกาศมาตรการฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน เช่น การอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดและควบคุมการขายหุ้น ช่วยให้ตลาดหุ้นจีนประคองตัวได้

 

หรือเดือนกรกฎาคม ปี 2020 Politburo Meeting ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด ช่วยให้จีนฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

 

และการประชุมครั้งล่าสุดเดือนกันยายน ปี 2024 ที่มีการเสนอเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจและการปรับปรุงตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยความหวังของการกระตุ้นจากภาครัฐ

 

2. การประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC)

 

การประชุม NPC เป็นการประชุมระดับชาติ จัดขึ้นในเดือนมีนาคมของทุกปี โดยมุ่งเน้นการกำหนดงบประมาณ ออกกฎหมาย และการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว การประชุมนี้เป็นเวทีของการอนุมัติงบประมาณ ทุกนโยบายที่มีตัวเลขจึงมักต้องผ่านการประชุมนี้

 

NPC ครั้งสำคัญในอดีต เช่น ปี 2013 เรื่องการประกาศวิสัยทัศน์ ‘Chinese Dream’ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงใช้เวที NPC ในการประกาศแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งทางสังคม ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้จีนเป็นประเทศที่มั่นคงทางเศรษฐกิจ

 

หรือ NPC ปี 2021 มีการเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (Five-Year Plan) ฉบับที่ 14 เน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจจีนไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่ยั่งยืน การลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว

 

ในปี 2024 การประชุม NPC ครั้งล่าสุด รัฐบาลจีนได้อนุมัติการออกพันธบัตรพิเศษจำนวน 2.3 ล้านล้านหยวน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการกู้ยืมเพื่อส่งเสริมการซื้อบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อบ้านเป็นครั้งแรก และออกมาตรการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงิน

 

สำหรับ NPC ปี 2025 คาดว่าจะเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 15 (2025-2030) การปฏิรูปภาคการเงิน การจัดการหนี้สิน และการกระตุ้นการบริโภคในประเทศเป็นหลัก

 

3. การประชุมคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission: NDRC)

 

NDRC มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมการเติบโตในภาคอุตสาหกรรม

 

อย่างไรก็ดี NDRC ไม่มีตารางประชุมประจำ แต่จะมีการจัดเมื่อมีการพิจารณาโครงการสำคัญ มักจัดประชุมในช่วงเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อประกาศโครงการลงทุนในปีถัดไป

 

ตัวอย่างการประชุม NDRC ครั้งสำคัญ เช่น ปี 2013 NDRC ได้ประกาศแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐาน นำไปสู่การสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ

 

หรือปี 2017 ที่มีการประกาศโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ (Belt and Road Initiative: BRI) เชื่อมต่อประเทศจีนกับภูมิภาคต่างๆ นำไปสู่การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับนานาประเทศในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

 

NDRC เป็นคณะที่มีหน้าที่หลักในการวางแผนและกำกับดูแลเศรษฐกิจให้เป็นไปตามแผน ล่าสุดในวันที่ 8 ตุลาคม แม้จะมีแถลงการณ์เกี่ยวกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ 5% แต่เนื่องจากไม่ได้มีการระบุวงเงินการกระตุ้นใหม่หรือนโยบายที่ชัดเจน จึงเป็นเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับฐานในเวลาต่อมา

 

4. การประชุมธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China: PBOC Meeting)

 

ธนาคารกลางจีน (PBOC) เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดนโยบายการเงิน การประชุม PBOC จึงเกี่ยวข้องกับเรื่องอัตราดอกเบี้ย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจัดการสภาพคล่องในระบบการเงิน และการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน

 

PBOC กำหนดการประชุมประจำไตรมาส (4 ครั้งต่อปี) มักเกิดขึ้นในช่วงท้ายไตรมาสหรือต้นไตรมาสใหม่

 

การประชุม PBOC ครั้งสำคัญในอดีต เช่น ในเดือนธันวาคม ปี 2021 PBOC ได้ตัดสินใจเพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยลดข้อกำหนดในการปล่อยสินเชื่อ และเพิ่มการสนับสนุนภาคธุรกิจที่กำลังประสบปัญหาหลังการฟื้นตัวจากโควิด

 

และในเดือนสิงหาคม ปี 2022 PBOC ประกาศลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาหลังจากเกิดวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ และปัญหาการกู้ยืมที่เกินตัวในบางพื้นที่ ทำให้ตลาดคลายความกังวลเรื่องวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนลง

 

ล่าสุดในการประชุม PBOC เดือนกันยายน ปี 2024 ได้มีการประกาศมาตรการที่สำคัญเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ประกอบด้วย การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การลดอัตราสำรองตามกฎหมาย Reserve Requirement Ratio (RRR) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง (Mortgage Rate) และกระตุ้นตลาดหุ้นด้วยมาตรการสนับสนุนสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารให้สามารถกู้ยืมเงินโดยตรงจากธนาคารกลางได้ภายใต้หลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงการสนับสนุนการซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน

 

นอกจากการประชุมปกติแล้ว PBOC มีกำหนดการประกาศดอกเบี้ยรายเดือนที่เรียกว่า Loan Prime Rate (LPR) เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เกิดจากการสำรวจธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 18 แห่งในจีน สะท้อนถึงต้นทุนการกู้ยืมระหว่างธนาคาร ซึ่งนำไปใช้ในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจและผู้บริโภค

 

ส่วน PBOC นั้นจะกำหนด Medium-Term Lending Facility (MLF) ปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ ระยะเวลาการกู้ราว 1 ปี เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม ส่วนในระยะสั้นจะใช้ Repo 7 (7-Day Reverse Repo Rate) เป็นดอกเบี้ยที่ใช้ปรับสภาพคล่อง

 

เมื่อรู้จักการประชุมระหว่างปีที่สำคัญทั้ง 4 กลุ่มของจีน ก็มาถึงคำถามสำคัญว่าเรื่องไหนสำคัญที่สุดในการติดตามเศรษฐกิจจีน?

 

ในมุมมองของผม การประชุมที่สำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจต้องพุ่งเป้าไปที่การกระตุ้นการเติบโตผ่านการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้น Politburo Meeting และ NPC จึงสำคัญที่สุด ส่วนด้านต่างประเทศที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทย การติดตามการประชุม NDRC และการประกาศนโยบายการลงทุนของจีนเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน แต่ถ้าจะติดตามตลาดหุ้น PBOC เป็นการประชุมที่ต้องติดตามมากกว่าเรื่องอื่น

 

นักลงทุนหลายท่านอาจรู้สึกผิดหวังว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของจีนนั้นช่างขาดตอน ให้จำไว้ว่าทุกนโยบายมีเงื่อนไขและลำดับของมัน การรีบเร่งเกินไปมักไม่สำเร็จ สิ่งใดที่ต้องการผลลัพธ์ที่ดีจำเป็นต้องมีลำดับและทำอย่างรอบคอบครับ

 

ภาพ: Sapphire / Getty Images

The post 4 ประชุมบอสใหญ่ของจีนที่นักลงทุนต้องจับตา appeared first on THE STANDARD.

]]>
มองให้ขาด แผนสามขั้นกุมเศรษฐกิจโลกของรัฐบาลจีน https://thestandard.co/china-three-step-world-economy-plan/ Tue, 15 Oct 2024 06:46:47 +0000 https://thestandard.co/?p=995992

ตกลงจีนคิดอะไรอยู่กันแน่ เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในภาวะซบเซ […]

The post มองให้ขาด แผนสามขั้นกุมเศรษฐกิจโลกของรัฐบาลจีน appeared first on THE STANDARD.

]]>

ตกลงจีนคิดอะไรอยู่กันแน่ เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในภาวะซบเซามากที่สุดช่วงหนึ่ง มังกรจีนยังมีเขี้ยวเล็บซ่อนอยู่หรือไม่ และซ่อนอะไรไว้

 

จีนมีแผนการใหญ่สามขั้นที่จะนำไปสู่การทะยานรอบใหม่ จะสำเร็จไม่สำเร็จนั้นไม่มีใครรู้ แต่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจภาพยุทธศาสตร์ระยะยาวของจีน เพราะจะมีผลกว้างไกลต่อไทยและภูมิภาคต่อจากนี้

 

ที่ผ่านมาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเกิดวิกฤต ภาคอสังหาของจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 15-30 ของ GDP จีน ภาคเศรษฐกิจนี้ไม่ฟื้นคืนชีพ คำถามที่ทุกคนถามคือ เศรษฐกิจจีนจะไปต่อได้อย่างไร

 

แถมรัฐบาลจีนเองก็ตั้งใจแน่วแน่ว่าภาคอสังหาที่ผ่านมาเป็นฟองสบู่ก้อนมหึมา รัฐบาลจีนจะไม่เอาเงินดีไปอุ้มหรือฟื้นชีพบริษัทอสังหาซอมบี้ที่หนี้ท่วมอีก แล้วทางออกของจีนคืออะไร

 

การจะกระตุ้นเศรษฐกิจแบบสมัยก่อนที่เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะจีนสร้างครบหมดแล้วทั้งรถไฟความเร็วสูง, ถนน, สะพาน, ท่าเรือ สร้างอีกก็จะมีแต่โครงการที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

 

ส่วนนักวิเคราะห์ฝรั่งอยากให้จีนกระตุ้นเศรษฐกิจโดยแจกเงินเข้ากระเป๋าผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและเพิ่มสัดส่วนการบริโภคใน GDP แต่จีนมองว่าการแจกเงินผู้บริโภคจะได้ผลเพียงระยะสั้นเท่านั้น ไม่ยั่งยืน หากไม่นำไปสู่การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

 

ทางเดียวของการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่เหลืออยู่จึงเป็นการลงทุนในภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคการผลิตใหม่ที่เรียกว่า Three New ได้แก่ โซลาร์เซลล์, รถยนต์อีวี และอุตสาหกรรมแบตเตอรี่

 

จะเห็นว่าทั้งสามเรื่องเป็นภาคพลังงานสะอาด ซึ่งจีนมองว่ามีศักยภาพที่ตลาดจะโตต่อไปได้อีกมหาศาล ฝรั่งชอบบอกว่าจีนผลิตเกินตัว (Overcapacity) แต่จีนมักตอบโต้ว่าจะเรียกผลิตเกินตัวได้อย่างไร ในเมื่อในอนาคตข้างหน้าทุกคนต่างจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ตลาดมีแต่จะเติบโตไปได้อีกมาก ตอนนี้ยังผลิตได้ห่างไกลจากดีมานด์ที่จะมีขึ้นในอนาคต

 

จึงเป็นที่มาของแผนการใหญ่สามขั้นของรัฐบาลจีน

 

ขั้นแรกคือ ทุ่มทุนสุดตัวให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีในภาคพลังงานสะอาด นี่เป็นแนวคิดทางยุทธศาสตร์ของจีนที่ต้องการผันเงินทุนจากเดิมที่จมอยู่ในภาคอสังหาให้ถ่ายมาสู่ภาคการผลิตในอุตสาหกรรมใหม่แทน

 

สิ่งนี้ทำให้จีนแตกต่างจาก Lost Decade ของญี่ปุ่น เพราะในช่วงที่ฟองสบู่อสังหาของญี่ปุ่นแตกโพละ นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาและทศวรรษที่สูญหายนั้น บริษัทของญี่ปุ่นไม่มีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ และตกขบวนภาคเทคโนโลยีดิจิทัลที่บูมต่อมา แต่ตอนนี้ที่จีนกลายมาเป็นวาระแห่งชาติว่าจะต้องทุ่มให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเฉพาะพลังงานสะอาด

 

แต่ทางฝรั่งจะยอมให้บริษัทจีนครองตลาดในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเหล่านี้ได้อย่างไร ยุทธศาสตร์ของทางฝั่งตะวันตกตอนนี้จึงมีสองข้อ ข้อแรกคือต้องตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้าเหล่านี้จากจีน เพราะขืนปล่อยให้เข้าตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปโดยไม่มีกำแพงกั้น ด้วยต้นทุนที่ถูกของบริษัทจีน บริษัทในอุตสาหกรรมเหล่านี้ของฝรั่งก็คงเจ๊งกันหมด ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอุตสาหกรรมเหล็กและโซลาร์เซลล์ และกำลังจะเกิดขึ้นตามมาในอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีและแบตเตอรี่ ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป จึงต้องใช้มาตรการภาษีเพื่อคุ้มครองบริษัทเหล่านี้ของตนให้อยู่รอด

 

นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังกลับมาใช้นโยบายอุตสาหกรรม (Industrial Policy) เต็มสูบในการสนับสนุนการลงทุนและส่งเสริม R&D ในอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ ด้วยหวังว่าความคิดสร้างสรรค์และสังคมที่เปิดกว้างของสหรัฐฯ จะทำให้เกิด Breakthrough ทางเทคโนโลยี สุดท้ายจะทำให้สหรัฐฯ สามารถเปลี่ยนยุคเทคโนโลยีในเรื่องเหล่านี้ได้ก่อนจีนและทิ้งห่างจีนอีกครั้ง

 

ส่วนจีนเมื่อถูกตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ปิดทางเข้า แต่จีนยังต้องการเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ต่อไป จึงนำมาสู่แผนขั้นที่สองของจีนคือ ต้องเดินหน้าบุกตลาดประเทศกำลังพัฒนาแทน ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน, ตะวันออกกลาง, แอฟริกา, ลาตินอเมริกา โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายตลาดและกำลังการผลิต เมื่อสเกลการผลิตใหญ่โตมโหฬารขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลง และจะทำให้มีเม็ดเงินมหาศาลที่ขายของได้ไหลกลับมาพัฒนา R&D ให้ก้าวหน้าขึ้นไป การมีตลาดใหม่ที่ใหญ่และรองรับการเพิ่มกำลังการผลิตจึงสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเหล่านี้ของจีน

 

ส่วนแผนขั้นสุดท้ายของจีนก็คือ หากจีนทำได้สำเร็จ ด้วยสเกลการผลิตมหาศาลและตลาดที่ใหญ่โต จนสามารถขึ้นเป็นผู้นำในเทคโนโลยีเหล่านี้แบบทิ้งห่างฝรั่งได้จริงในอนาคต สุดท้ายถึงเวลาหนึ่งกลไกตลาดก็จะกดดันให้ฝรั่งต้องยอมรับความจริงและยอมเปิดทางให้สินค้าจีน เมื่อฝรั่งเองก็ต้องเผชิญแรงกดดันที่จะต้องเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด หรือเมื่อกลับกลายเป็นว่าประเทศกำลังพัฒนาจะนำหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดได้เร็วกว่าทางฝั่งตะวันตกด้วยโซลาร์เซลล์, รถยนต์อีวี และแบตเตอรี่ราคาถูกคุณภาพดีจากจีน

 

ถึงจุดนั้นจีนก็จะกลายเป็นเหมือนสหรัฐฯ ของโลกยุคใหม่ เหมือนที่สหรัฐฯ เคยเป็นเจ้าตลาดและผู้นำในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลและอุตสาหกรรมรถยนต์ในยุคก่อนหน้านี้มาแล้ว

 

และนี่จึงเป็นสาเหตุที่สำหรับจีน ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วภาคพลังงานสะอาดจึงสำคัญและมีศักยภาพกว่าภาคเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะอย่างมากแล้วในภาคเทคโนโลยีดิจิทัลบริษัทจีนก็คงประสบความสำเร็จเพียงการครองตลาดภายในของจีน แต่ยากที่จะบุกตลาดตะวันตกหรือตลาดโลก ด้วยข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคง เช่น ความปลอดภัยของข้อมูล รวมทั้งด้วยศักยภาพที่สูงกว่าและเงินทุนที่ยังหนากว่าของบริษัทฝรั่งยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล แต่ภาคพลังงานสะอาดนั้นยังเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ที่ยังมีพื้นที่และโอกาสให้จีนยึดครองตลาดโลกให้สำเร็จได้อยู่

 

เศรษฐกิจจีนจึงไม่มีวันจะกลับไปโตหวือหวาแบบในอดีตอีกแล้ว ภาคอสังหาของจีนก็จะไม่ฟื้นกลับมาฟู่ฟ่าอีก เพราะจีนกำลังเล่นเกมยาวในเชิงยุทธศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งทำให้จำเป็นต้องทนเจ็บและยอมรับสภาพซบเซาในช่วงเปลี่ยนผ่าน แน่นอนว่าภาพฝันดูดี แต่ในโลกความเป็นจริงก็ยังมีคำถามว่าจีนจะทนเจ็บได้แค่ไหน เพียงใด จะไม่ลามจนเป็นวิกฤตสังคมใช่ไหม และภาคอุตสาหกรรมใหม่สุดท้ายจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ (และจะไม่ถูกฝรั่งคิดอะไรใหม่ได้ก่อนและแซงทิ้งห่างจีนอีกครั้งแน่ใช่ไหม)

 

หากเราเข้าใจภาพยุทธศาสตร์ใหญ่ของรัฐบาลจีนทั้งหมดนี้ ย่อมจะทำให้เรามองเห็นเทรนด์ระยะยาวต่อจากนี้ชัดเจนขึ้น

 

การแข่งขันทางเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดระหว่างมหาอำนาจและการทุ่มทุนมหาศาลให้กับการวิจัยและพัฒนา จะนำไปสู่การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากในอุตสาหกรรมเหล่านี้

 

การบุกของทุนและสินค้าจีนเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนาจะมาแรงและเร็วมาก เป็นคลื่นระยะยาว ไม่ใช่เพียงคลื่นระยะสั้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนช่วงนี้เท่านั้น

 

โจทย์ทางนโยบายสำหรับโอกาสของไทยจะอยู่ที่เราจะร่วมแบ่งเค้กก้อนโตในภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร ด้วยการพยายามเข้าเป็นส่วนหนึ่งเกาะไปกับการผลิตบางชิ้นส่วนเชื่อมโยงกับห่วงโซ่ซัพพลายเชนทั้งของฝั่งจีนและฝั่งตะวันตก ที่ต่างทุ่มทุนขยายอุตสาหกรรมใหม่และยังไม่รู้ผลแพ้-ชนะ

 

ภาพ: Costfoto / NurPhoto via Getty Images

The post มองให้ขาด แผนสามขั้นกุมเศรษฐกิจโลกของรัฐบาลจีน appeared first on THE STANDARD.

]]>
แจกเงินแบบจีน: ไม่ใช่โปรยเงินเฮลิคอปเตอร์มันนี่ https://thestandard.co/chinese-style-money-giveaway/ Fri, 11 Oct 2024 11:21:10 +0000 https://thestandard.co/?p=994994

กระแสข่าวการแจกเงินของรัฐบาลจีนในช่วงก่อนวันชาติจีนที่ผ […]

The post แจกเงินแบบจีน: ไม่ใช่โปรยเงินเฮลิคอปเตอร์มันนี่ appeared first on THE STANDARD.

]]>

กระแสข่าวการแจกเงินของรัฐบาลจีนในช่วงก่อนวันชาติจีนที่ผ่านมาได้รับการพูดถึงอย่างมากบนหน้าสื่อหลายสำนักของไทย และมีการใช้คำศัพท์ที่ฟังดูน่าตื่นเต้น เช่น จีนแจกเงินสุดฉ่ำ หรือจีนแจกเงิน 7 แสนล้านรับวันชาติจีน รวมทั้งบางสื่อพยายามที่จะเปรียบเทียบกับมาตรการแจกเงินของรัฐบาลไทย เช่น จีนเอาบ้าง! แจกเงินประชาชน หรือจีนเอาด้วย! ไทย-จีน แจกเงินเหมือนกัน เป็นต้น

 

ในความเป็นจริงการแจกเงินแบบจีนในยุคสีจิ้นผิงไม่ใช่การแจกเงินในลักษณะ ‘เฮลิคอปเตอร์มันนี่’ บทความนี้จึงจะมาวิเคราะห์การแจกเงินแบบจีนในประเด็นต่างๆ เช่น จีนแจกเงินอย่างไร, แจกให้ใคร, หน่วยงานไหนรับผิดชอบ เป็นต้น โดยสรุปในแต่ละประเด็นดังนี้

 

ก่อนอื่นขอเริ่มจากประเด็นแรก เพื่อทำความเข้าใจว่าเฮลิคอปเตอร์มันนี่คืออะไร

 

โดยทั่วไปการแจกเงินในลักษณะเฮลิคอปเตอร์มันนี่จะเปรียบเสมือนการโปรยเงินจากเฮลิคอปเตอร์ เพื่อแจกจ่ายเงินที่หล่นลงมาสู่พื้นดินให้กับประชาชน เป็นการอัดฉีดแจกเงินจำนวนมากให้ถึงมือประชาชนโดยเร็ว เพื่อนำไปใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

สำหรับนโยบายดั้งเดิมในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยที่จะแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 50 ล้านคน โดยจะใช้งบประมาณราว 5.6 แสนล้านบาท จึงถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงินแจกให้เปล่าในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นเฮลิคอปเตอร์มันนี่

 

แต่การแจกเงินแบบจีนไม่ใช่เฮลิคอปเตอร์มันนี่ และที่สำคัญจีนในยุคสีจิ้นผิงจะไม่สนับสนุนการแจกเงินแบบถ้วนหน้า (Universal and Unconditional) เพราะการแจกเงินหรือแจกสิ่งของให้ประชาชน จนไม่ยอมทำงาน จะทำให้คนขี้เกียจ งอมืองอเท้า เฝ้ารอคอยการช่วยเหลือจากรัฐ สีจิ้นผิงมองว่าจะกลายเป็นปัญหาติดกับดักสวัสดิการ ดังนั้นจีนจะเน้นแจกเงินแบบมุ่งเป้า จะให้เงินช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ หรือที่เรียกกันว่ากลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มชาวจีนที่ยังคงยากจนข้นแค้น

 

ทั้งนี้ในเชิงวิชาการเฮลิคอปเตอร์มันนี่เป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญ คือ Milton Friedman โดยมีลักษณะสำคัญ คือ ธนาคารกลางพิมพ์เงินแจกให้ถึงมือประชาชนโดยตรง (ไม่ต้องผ่านกลไกดอกเบี้ยหรือใช้นโยบายการเงิน) และจำนวนเงินที่จะให้ประชาชนต้องมีสเกลขนาดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ ที่สำคัญการใช้นโยบายเฮลิคอปเตอร์มันนี่ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในกรณีที่การใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอื่นๆ ล้มเหลว

 

ประเด็นที่สอง แจกเงินแบบจีนเป็นอย่างไร, แจกให้ใคร, หน่วยงานไหนรับผิดชอบ

 

ในช่วงก่อนวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางการจีนได้แจกเงินให้กับกลุ่มผู้เปราะบาง เช่น ชาวจีนที่ยากจนข้นแค้น, เด็กกำพร้า และผู้ที่ไร้บ้าน โดยหน่วยงานจีนที่รับผิดชอบ คือ กระทรวงการคลัง และกระทรวงกิจการพลเรือนของจีน ได้ออกคำสั่งให้เร่งแจก ‘เงินอุดหนุนการดำรงชีพให้กับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส’ ให้ครบภายในวันที่ 1 ตุลาคม และเป็นการแจกเงินแบบครั้งเดียวแบบมุ่งเป้า เพื่อบรรเทาความยากลำบากให้กับผู้ที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง และในแง่วงเงินงบประมาณที่ใช้ในปีนี้ รัฐบาลจีนประกาศจัดสรรงบประมาณวงเงิน 1.54 แสนล้านหยวน เพื่ออุดหนุนและช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มผู้เปราะบาง

 

ทั้งนี้ตามข้อมูลของกระทรวงกิจการพลเรือน ประชากรจีนที่ยากจนข้นแค้น คือ มีรายได้น้อยกว่า 2.3 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.74 ล้านคน และกลุ่มเปราะบางในจีนที่จะได้รับเงินอุดหนุนรายเดือนจากรัฐมีอยู่ประมาณ 40.4 ล้านคน

 

ที่น่าสนใจ คือ รัฐบาลจีนในระดับมณฑลและท้องถิ่นยังได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินให้กับชาวจีนในท้องที่ของตน โดยใช้เงินงบประมาณของท้องถิ่นตนเอง เช่น รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ประกาศแจกคูปอง e-Coupon มูลค่าราว 500 ล้านหยวน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในเซี่ยงไฮ้ ผ่าน WeChat Pay โดยแบ่งเป็นการแจกคูปองสำหรับการรับประทานอาหารในร้านอาหาร รวม 360 ล้านหยวน, การอุดหนุนค่าที่พักในโรงแรม 90 ล้านหยวน, การให้ส่วนลดการชมภาพยนตร์ 30 ล้านหยวน และส่วนลดสำหรับกิจกรรมกีฬา เช่น การใช้บริการสระว่ายน้ำสาธารณะ อีก 20 ล้านหยวน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีอีกกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีนในปีนี้ ได้แก่ บัณฑิตจบใหม่แต่ยังหางานทำไม่ได้ในช่วง 2 ปีหลังเรียนจบแล้ว โดยรัฐบาลจีนมีนโยบายสวัสดิการประกันสังคมให้แก่บัณฑิตจบใหม่กลุ่มนี้ เพื่อกระตุ้นการจ้างงานต่อไป

 

ประเด็นที่สาม จีนเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสม (Right Timing) ในการแจกเงินให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อซื้อใจประชาชนในวาระสำคัญ นั่นคือ วันชาติจีน

 

รัฐบาลจีนรอจังหวะเวลาในการส่งเงินช่วยเหลือให้ถึงมือชาวจีนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำไปใช้จ่ายในวาระวันชาติจีน คือ วันที่ 1 ตุลาคม และในปีนี้เป็นวาระพิเศษครบรอบ 75 ปีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อแสดงให้เห็นถึง ‘ความรักและความห่วงใยของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนที่มีต่อชาวจีนที่กำลังเดือดร้อน เผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิต’

 

ดังนั้นทางการจีนตั้งใจเลือกจังหวะเวลาในการมอบเงินอุดหนุนค่าครองชีพในวาระสำคัญเช่นนี้ เพื่อให้ชาวจีนได้มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดยาว 1-7 ตุลาคม หรือ Golden Week เพื่อหวังกระตุ้นกำลังซื้อ เร่งการบริโภค และบรรเทาความกังวล เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นของชาวจีนให้กล้าใช้เงินมากขึ้น ไม่เน้นประหยัดอดออมมากเกินไป จนทำให้การบริโภคในจีนไม่คึกคัก ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนยังคงอึมครึมซึมเซาในปีนี้

 

มีข้อสังเกตว่ารัฐบาลจีนมักจะเลือกจังหวะเวลาในการมอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้หรือผู้เดือดร้อนในช่วงวาระสำคัญของชาติ ตัวอย่างเช่น ในปี 2015 ในวาระครบรอบวันสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจีนแจกเงินอุดหนุนให้แก่ทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่ 2 คนละ 5,000 หยวน เป็นต้น

 

ประเด็นสุดท้าย การแจกเงินของจีนเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการอัดฉีดบาซูก้าทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ให้เติบโตร้อยละ 5 ตามเป้าหมาย

 

สำหรับการแจกเงินให้กลุ่มผู้เปราะบางในครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการอัดฉีดบาซูก้าทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค และเพื่อให้เศรษฐกิจจีนในปีนี้สามารถขยายตัวเติบโตได้ตามเป้าหมายร้อยละ 5

 

ก่อนหน้าจะมีการประกาศแจกเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ รัฐบาลจีนก็ได้เร่งใช้ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวจีน และหวังจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เช่น ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางของจีนประกาศลดอัตราส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) และลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Reverse Repurchase Rate) ระยะ 7 วัน รวมทั้งนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน และลดเงินวางดาวน์เพื่อซื้อบ้านหลังที่ 2

 

นอกจากนี้ทางการจีนยังใช้นโยบายตลาดทุน เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้น เช่น การตั้งกองทุนพยุงตลาดหุ้น, การอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์และประกันสามารถเข้าถึงเงินทุนของธนาคารกลาง เพื่อนำไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ และธนาคารกลางจีนยังมีโครงการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ (Swap Facility) วงเงินเบื้องต้น 5 แสนล้านหยวน เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ กองทุน และบริษัทประกัน ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อสนับสนุนตลาดหุ้น เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นในตลาดทุนของจีน

 

โดยสรุปรัฐบาลจีนต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก เพื่อที่จะประคับประคองเศรษฐกิจจีนในปี 2024 ให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ร้อยละ 5 รวมทั้งการแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ดี การแจกเงินแบบจีนไม่ใช่การเหวี่ยงแหโปรยเงินเฮลิคอปเตอร์มันนี่แบบสะเปะสะปะ แต่รัฐบาลจีนยังคงมีความระมัดระวัง ไม่ละเลงงบแก้ปัญหาแบบไร้ทิศทาง แต่จะยังคงเน้นดำเนินนโยบายแบบมุ่งเป้าที่ยึดโยงกับเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาประเทศ และเน้นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อไปนั่นเอง

 

ภาพ: Nicolas Asfouri / AFP

The post แจกเงินแบบจีน: ไม่ใช่โปรยเงินเฮลิคอปเตอร์มันนี่ appeared first on THE STANDARD.

]]>
สิ่งที่จีนไม่ได้บอก แต่โลกต้องตีความ กับการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปครั้งแรกในรอบ 44 ปี https://thestandard.co/china-missile-launch-global-implications/ Tue, 01 Oct 2024 11:13:21 +0000 https://thestandard.co/?p=990302 ขีปนาวุธข้ามทวีป

สัปดาห์ที่แล้ว ในระหว่างที่ทั่วโลกมุ่งความสนใจไปที่ตะวั […]

The post สิ่งที่จีนไม่ได้บอก แต่โลกต้องตีความ กับการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปครั้งแรกในรอบ 44 ปี appeared first on THE STANDARD.

]]>
ขีปนาวุธข้ามทวีป

สัปดาห์ที่แล้ว ในระหว่างที่ทั่วโลกมุ่งความสนใจไปที่ตะวันออกกลางที่กำลังมีสงครามร้อนระอุ จีนยิงขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ไปตกในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่น่าสนใจก็เพราะเป็นการทดสอบ ICBM แบบเปิดเผยต่อสาธารณะครั้งแรกในรอบ 44 ปี คำถามคือ ทำไมต้องเลือกเวลานี้ และจุดประสงค์แท้จริงคืออะไร

 

เรารู้อะไรเกี่ยวกับการยิง ICBM รอบนี้

 

สิ่งที่เรารู้จากข้อมูลที่เปิดเผยออกมา บวกกับรายงานข่าวและบทวิเคราะห์คือ ขีปนาวุธลูกนี้เดินทางในอากาศรวมระยะทาง 12,000 กิโลเมตร จากฐานยิงในมณฑลไห่หนาน ทางใต้ของจีน บินเฉียดน่านฟ้าฟิลิปปินส์ และเกาะกวมของสหรัฐอเมริกา ก่อนจะตกใกล้หมู่เกาะมาร์เคซัสของฝรั่งเศสในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

จีนชี้แจงว่าเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกซ้อมตามปกติของกองกำลังจรวด โดยที่ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ และได้แจ้งให้สหรัฐฯ และฝรั่งเศส ทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะยิงขีปนาวุธรอบนี้ ซึ่งสหรัฐฯ บอกว่าเป็นนิมิตหมายดีที่จีนสื่อสาร และหวังว่าจะสื่อสารเช่นนี้เป็นประจำหากจีนจะทดสอบอาวุธทางยุทธศาสตร์แบบนี้อีกในอนาคต

 

แม้จีนจะไม่บอกรายละเอียดว่าขีปนาวุธ ICBM ที่ทดสอบด้วยหัวรบจำลองคือรุ่นอะไร เป็นแบบไหน แต่นักวิเคราะห์และผู้สังเกตการณ์ทางทหารได้อาศัยภาพถ่ายที่จีนเผยแพร่และมีข้อสรุปว่า น่าจะเป็นขีปนาวุธในตระกูลตงเฟิง-31 (DF-31)

 

ตงเฟิงแปลว่า ‘ลมตะวันออก’ เป็นชื่อที่จีนใช้เรียกขีปนาวุธที่ผลิตในประเทศ โดยมีเลขกำกับท้ายบอกชื่อรุ่น สำหรับ DF-31 เป็นขีปนาวุธ ICBM 1 ใน 3 รุ่นที่จีนมีประจำการในกองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ตั้งแต่ปี 2006 ส่วนอีก 2 รุ่นคือ DF-5 ที่เข้าประจำการตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 และ DF-41 ที่ใหม่กว่าและทันสมัยกว่า

 

ขีปนาวุธในตระกูล DF-31 แบ่งย่อยออกได้ 2 รุ่น คือ DF-31A และ DF-31AG สามารถติดตั้งหัวรบได้ตั้งแต่ 1 หัวรบ ไปจนถึง 3 หรือ 4 หัวรบที่เล็กลง และสามารถโจมตีหลายเป้าหมายได้พร้อมกัน โดยมีพิสัยทำการไกลถึง 13,200 กิโลเมตร นั่นหมายความว่าดินแดนของสหรัฐฯ อยู่ในระยะโจมตีของจีนด้วยขีปนาวุธชนิดนี้

 

ย้อนกลับไปครั้งล่าสุดที่จีนทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปโดยยิงออกนอกประเทศคือเดือนพฤษภาคม 1980 ซึ่งครั้งนั้นเป็นการยิง DF-5 ไปตกในน่านน้ำแปซิฟิกใต้ โดยปกติแล้วจีนจะทดสอบขีปนาวุธในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ที่อยู่ห่างไกล หรือไม่ก็ในทะเลป๋อไห่ ซึ่งอยู่ภายในอาณาเขตอธิปไตยของจีน

 

ทำไมเลือกทดสอบเวลานี้ จุดมุ่งหมายคืออะไร

 

ในบทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ South China Morning Post ฝูเฉียนเส้า อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านยุทโธปกรณ์ของกองทัพจีนบอกว่า จีนมีความจำเป็นต้องทดสอบขีปนาวุธรุ่นนี้ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการโจมตีระยะไกล เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยทดสอบยิงเต็มระยะมาก่อน แม้ DF-31 จะมีพิสัยทำการในระดับ ICBM ก็ตาม

 

ขณะที่ มัลคอล์ม เดวิส นักวิเคราะห์อาวุโสแห่งสถาบันนโยบายยุทธศาสตร์ในออสเตรเลีย คิดว่าการทดสอบครั้งนี้น่าจะเป็นรุ่น DF-31AG ที่ยิงจากระบบยานเคลื่อนที่ และอาจเป็นการทดสอบในภูมิประเทศป่าเขา เพื่อเปิดทางให้กองทัพสามารถกระจายหัวรบออกจากเครือข่ายถนนหนทาง ทำให้ศัตรูตรวจจับและทำลายยากขึ้น สำหรับ DF-31AG นี้จีนเปิดตัวครั้งแรกในระหว่างพิธีสวนสนามฉลองครบรอบ 90 ปีแห่งการสถาปนากองทัพ PLA เมื่อปี 2017

 

ส่วนคำถามว่า ทำไมจีนเลือกเวลานี้ในการทดสอบขีปนาวุธ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง มองว่าเป็นคำถามที่ตอบได้ยาก แต่สิ่งที่บอกได้ก็คือ การทดสอบ ICBM ครั้งนี้ทำให้สถานการณ์โลกซับซ้อนขึ้น

 

จากปัจจัยแวดล้อมในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสงครามในยูเครนที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียออกมาเตือนบ่อยขึ้นว่า จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีกับคู่สงครามและพันธมิตร รวมถึงการที่เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธถี่ขึ้นในคาบสมุทรเกาหลี และสหรัฐฯ ยกระดับการเตรียมพร้อมด้านอาวุธนิวเคลียร์ ล้วนมีส่วนทำให้จีนขยับทั้งสิ้น

 

ส่วนในแง่การตีความนัยต่อปัญหาการเมืองระหว่างประเทศนั้น ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ มองว่าจีนอาจกำลังส่งสัญญาณเตือนบางอย่าง ท่ามกลางความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในเอเชีย ทั้งในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกที่สถานการณ์ล้วนพัฒนาไปในทางลบมากขึ้น เช่น เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเรือยามฝั่งของจีนและฟิลิปปินส์ และเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นอ้างว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดของจีนล่วงล้ำน่านฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น

 

ในอดีตจีนมักไม่ยิงขีปนาวุธไปตกในน่านน้ำสากล แต่จะทดสอบภายในประเทศ ครั้งนี้จึงถือเป็นสัญญาณใหญ่ เราได้เห็นพัฒนาการของขีปนาวุธจีน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่เหมาเจ๋อตงเริ่มคิดสร้างจีนให้มีอาวุธนิวเคลียร์ในปี 1955 ซึ่งสมัยนั้นจีนพึ่งพาสหภาพโซเวียตอย่างมาก แต่ต่อมาจีนกับโซเวียตเริ่มแตกคอกันในปี 1960 โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจีนพยายามเรียกร้องให้โซเวียตสนับสนุนโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งรัสเซียไม่อยากเปิดเผยความลับ ดังนั้นจีนจึงต้องพึ่งพาตนเองในมิติทางอาวุธนับแต่นั้น และพัฒนาจนมีอาวุธนิวเคลียร์สำเร็จในปี 1964 แต่ในช่วงสงครามเย็น การพัฒนาของจีนค่อนข้างจำกัด เป็นหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็กที่ไม่น่ากังวลมาก และมีในครอบครองไม่เกิน 200 หัวรบ ในขณะที่สหรัฐฯ และโซเวียตมีมากกว่ากันมาก

 

ช่วงหลังจีนหันมาพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์มากขึ้น จากรายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือเพนตากอน ประเมินว่า ปัจจุบันจีนมีหัวรบนิวเคลียร์ที่พร้อมใช้งานอยู่ที่ประมาณ 500 หัวรบ ขณะที่สหรัฐฯ มีจำนวน 5,044 หัวรบ และรัสเซียมี 5,580 หัวรบ ซึ่งจะเห็นว่า 90% ของหัวรบนิวเคลียร์บนโลกอยู่ในสหรัฐฯ และรัสเซีย อย่างไรก็ตาม หากไม่นับหัวรบที่ปลดประจำการและอยู่ในคลังสำรองแล้ว สหรัฐฯ มีหัวรบที่พร้อมใช้งานอยู่ที่ 1,419 หัวรบ และรัสเซียมีอยู่ 1,549 หัวรบ

 

สัญญาณรอบนี้จีนบอกอะไรเรา ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ มองว่าในมิติความมั่นคงนั้นถือเป็นสัญญาณทางการทหารบนเวทีโลกที่จีนประกาศว่า มีศักยภาพด้านนิวเคลียร์ที่ทันสมัยขึ้นแล้วและสามารถยิงข้ามทวีปได้จริง

 

ขณะเดียวกันก็เป็นการประกาศว่า จีนกลายเป็นรัฐมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์อย่างแท้จริง จากที่เคยถูกมองว่าเป็นมหาอำนาจชั้นรอง แต่ตอนนี้น่าจะขยับขึ้นเป็นมหาอำนาจหัวแถว

 

นอกจากนี้จีนยังพยายามบอกด้วยว่าจีนมีศักยภาพในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1964 ตั้งแต่หัวรบ ไปจนถึงขีปนาวุธที่ยิงจากยานเคลื่อนที่ ขีปนาวุธที่ติดตั้งในเรือดำน้ำ และระเบิดที่บรรจุในเครื่องบินทิ้งระเบิด

 

อีกเรื่องที่ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจคือ จีนพยายามสร้างชุดความคิดการถ่วงดุลทางยุทธศาสตร์ (Strategic Counterbalance) คล้ายกับที่รัสเซียพยายามทำในช่วงสงครามเย็น นั่นคือการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยอมรับความเท่าเทียมทางนิวเคลียร์ หรือก็คือการเคารพสถานะทางทหารของจีนบนเวทีโลก

 

เช่นเดียวกับในมิติทางการเมือง จีนก็พยายามเรียกร้องว่าสหรัฐฯ ควรเคารพสถานะการเมืองของจีนบนเวทีระหว่างประเทศด้วยเช่นกัน

 

และสุดท้ายจีนพยายามคานอิทธิพลของสหรัฐฯ ในเอเชีย ซึ่งเป็นนัยในมิติทางยุทธศาสตร์ ปัจจุบันจีนแสดงให้เห็นว่ามีขีปนาวุธพิสัยกลางที่สามารถโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในเอเชียได้ นอกจากนี้ยังโจมตีพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชียได้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นกังวล โจทย์ใหญ่ในเวลานี้ของเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นคือ พวกเขาต้องคิดพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์รอบด้านพร้อมกัน ทั้งจากจีน เกาหลีเหนือ และรัสเซียที่พูดถึงการใช้นิวเคลียร์บ่อยขึ้น แม้จะในบริบทของสงครามกับยูเครนก็ตาม

 

คงต้องติดตามพัฒนาการด้านนิวเคลียร์ของจีนกันต่อไป มีแนวโน้มที่จีนจะขยับเพดานหัวรบนิวเคลียร์ให้แตะ 1,000 หัวรบ ซึ่งจะทำได้เมื่อใดยังเป็นคำถาม ส่วนรัสเซียและสหรัฐฯ นั้นมีการควบคุมจำนวนหัวรบภายใต้สนธิสัญญา New START ซึ่งจำกัดหัวรบที่มีประจำการสำหรับสหรัฐฯ และรัสเซียไว้ที่ประมาณ 1,400 และ 1,500 หัวรบตามลำดับ นั่นหมายความว่า หากจีนเพิ่มไปถึง 1,000 หัวรบ ก็จะสามารถทาบมหาอำนาจ กลายเป็นคู่แข่งบนเวทีนิวเคลียร์อย่างเต็มตัว จากปัจจุบันที่ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ มองว่าจีนยังเป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์ในระดับกลาง

 

ในรายงานของเพนตากอนที่เผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม 2023 ระบุว่า กองกำลังจรวดของจีนมีขีปนาวุธประเภท ICBM อยู่ราว 350 ลูกในปี 2022 และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงจำนวนแท่นยิงด้วย ขณะที่รายงานอีกฉบับจากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศในสตอกโฮล์มประเมินว่า จีนเพิ่มหัวรบนิวเคลียร์ในคลังแสงมากถึง 90 หัวรบเมื่อปีที่แล้ว

 

ซึ่ง ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ ชี้ว่าการที่จีนจะเพิ่มจำนวนหัวรบนิวเคลียร์แตะ 1,000 หัวรบภายในปี 2030 ตามที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ไว้ก็มีความเป็นไปได้ และมีโอกาสที่จะมีขีปนาวุธข้ามทวีปแซงหน้าทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียภายใน 10 ปีข้างหน้าด้วย

 

ภาพ: Jason Lee / Pool / Getty Images

อ้างอิง:

The post สิ่งที่จีนไม่ได้บอก แต่โลกต้องตีความ กับการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปครั้งแรกในรอบ 44 ปี appeared first on THE STANDARD.

]]>
จีนกระชับมิตรแอฟริกา เตรียมสนับสนุนเงินทุนราว 3.6 แสนล้านหยวน พร้อมให้คำมั่นสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง https://thestandard.co/china-offers-africa-billions-fresh-financing-promises-1-million-jobs/ Thu, 05 Sep 2024 08:19:11 +0000 https://thestandard.co/?p=979930 FOCAC

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนร่วมประชุมหารือกับบรรดาผู้นำ […]

The post จีนกระชับมิตรแอฟริกา เตรียมสนับสนุนเงินทุนราว 3.6 แสนล้านหยวน พร้อมให้คำมั่นสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง appeared first on THE STANDARD.

]]>
FOCAC

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนร่วมประชุมหารือกับบรรดาผู้นำและผู้แทนระดับสูงของกว่า 50 ประเทศจากทวีปแอฟริกา ในการประชุมสุดยอดความร่วมมือจีน-แอฟริกา (FOCAC) ปี 2024 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 กันยายนในกรุงปักกิ่งของจีน

 

โดยผู้นำจีนประกาศเตรียมสนับสนุนเงินลงทุนราว 3.6 แสนล้านหยวน (ราว 1.7 ล้านล้านบาท) ในเมกะโปรเจกต์ด้านโครงสร้างขั้นพื้นฐานกว่า 30 โครงการทั่วทวีปแอฟริกา พร้อมให้คำมั่นเตรียมสร้างงานอย่างน้อย 1 ล้านตำแหน่ง

 

จีนยังเตรียมที่จะผลักดันโครงการที่เชื่อมต่อโครงข่ายทางบกและทางทะเลระหว่างจีนกับบรรดาประเทศต่างๆ ในแอฟริกาอีกด้วย โดยสีจิ้นผิงเน้นย้ำถึงความพร้อมที่จีนจะช่วยเหลือและสนับสนุนการพัฒนา ‘เขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา (African Continental Free Trade Area: ACFTA)’ และกระชับความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และการเงิน เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาข้ามภูมิภาคในทวีปแอฟริกา

 

 

ภาพ: Reuters

อ้างอิง:

 

The post จีนกระชับมิตรแอฟริกา เตรียมสนับสนุนเงินทุนราว 3.6 แสนล้านหยวน พร้อมให้คำมั่นสร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง appeared first on THE STANDARD.

]]>
ตั้งหลักให้ถูกในการรับมือคลื่นสินค้าและทุนจีน https://thestandard.co/opinion-adapting-chinese-funds/ Tue, 03 Sep 2024 12:40:11 +0000 https://thestandard.co/?p=979131

การไหลทะลักของคลื่นสินค้าและทุนจีนจนส่งผลกระทบต่อผู้ประ […]

The post ตั้งหลักให้ถูกในการรับมือคลื่นสินค้าและทุนจีน appeared first on THE STANDARD.

]]>

การไหลทะลักของคลื่นสินค้าและทุนจีนจนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยได้กลายมาเป็นวาระแห่งชาติ ทางแก้ตรงไปตรงมาของเรื่องนี้ก็คือการบังคับใช้และพัฒนากฎเกณฑ์การค้าของไทยให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเราต้องชัดเจนว่าเป้าหมายคือไม่ได้กีดกันสินค้าจีน แต่เป็นกฎเกณฑ์เพื่อการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งใช้บังคับกับทุกชาติเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานสินค้า มาตรการทางภาษี การป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าหรือหลีกเลี่ยงภาษี การห้ามใช้นอมินีในการทำธุรกิจ การสอบสวนการทุ่มตลาด เป็นต้น

 

แต่นอกเหนือจากเรื่องการบังคับใช้และการพัฒนากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เรายังจำเป็นต้องตั้งหลักที่สำคัญ 3 ข้อในเชิงกลยุทธ์ระยะยาว เพื่อรับมือความท้าทายจากคลื่นสินค้าและทุนจีน

 

หลักแรกคือ ‘นำด้วยข้อมูล’ ภาครัฐควรจัดตั้ง Taskforce พิเศษ ซึ่งรับผิดชอบการรวบรวมและประมวล Data ความรุนแรงของปัญหาการทะลักของสินค้าจีนในแต่ละภาคสินค้าและภาคอุตสาหกรรม

 

จะสังเกตได้ว่ากระแสเรื่องคลื่นสินค้าจีนทะลักในขณะนี้มักเป็นการกล่าวอ้างเรื่องราวหรือต่อยอดมาจากกระแสข่าวการต่อต้านสินค้าจีนในตะวันตก แต่ยังมักขาดข้อมูลตัวเลขกรณีสินค้าจีนในไทยที่ผ่านการศึกษา วิจัย และประมวลอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจความหนัก-เบาของปัญหาที่อาจแตกต่างกันในแต่ละสินค้าและอุตสาหกรรม

 

ตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบหนักชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่น่าตั้งคำถามว่า ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มีอุตสาหกรรมใดบ้างที่ประสบความท้าทายจากการเข้ามาบุกตลาดของสินค้าจีน และปัญหานั้นมีลักษณะเฉพาะที่อาจแตกต่างกันในแต่ละสินค้าและภาคอุตสาหกรรมอย่างไร คำถามเหล่านี้จะช่วยในการจัด Priority สินค้าและอุตสาหกรรมที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก

 

กระแสข่าวเรื่องการทะลักของสินค้าจีนยังมักเป็นการพูดในเชิงเหมารวม ซึ่งทำให้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้ยาก ตัวอย่างของการคิดเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เช่น การจำแนกเส้นทางของสินค้าจีนเป็นแม่น้ำ 6 สาย ของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย อันได้แก่ 1. ผู้ขายไทยนำเข้าสินค้าจากจีน 2. ผู้ขายจีนขายสินค้าให้ผู้บริโภคไทยผ่านแพลตฟอร์ม 3. ผู้ขายจีนแปลงตัวเป็นไทย 4. โรงงานจีนขายตรงผู้บริโภคไทยผ่านแพลตฟอร์ม 5. ไทยนำเข้าสินค้าจีนมา ก่อนส่งออกไปประเทศอื่น 6. แพลตฟอร์มต่างชาติในไทย ซึ่งแต่ละเส้นทางของสินค้าจีนย่อมต้องอาศัยแนวนโยบายที่แตกต่างกันในการจัดการกับปัญหา และความหนัก-เบาของปัญหาและผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยก็แตกต่างกัน

 

หลักที่สองคือ ‘ปรับจากการตั้งรับเป็นรุกกลับ’ ปรากฏการณ์การออกมาของสินค้าและทุนจีน ด้านหนึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องตั้งรับให้ดี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยด้วย เราต้องชวนคุยกันมากขึ้นเรื่องกลยุทธ์เชิงรุกในการแสวงโอกาสจากคลื่นทุนจีน

 

โอกาสแรกคือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เครื่องจักร และวัตถุดิบ ราคาถูกจากจีน รัฐบาลอาจตั้ง Taskforce ขึ้นมาอีกหนึ่งหน่วยที่จะรับผิดชอบเรื่องการวิเคราะห์ทำ Matching เทคโนโลยี เครื่องจักร และวัตถุดิบ จากจีนที่เหมาะสมเข้ากับภาคธุรกิจไทย

 

ปัจจุบันจีนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเหล่านี้มีต้นทุนถูกเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในประเทศอื่น และมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ยกระดับการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ

 

โอกาสที่สองคือการดึงคลื่นการลงทุนจากจีนที่ตอนนี้ต่างก็สนใจที่จะออกมาแสวงโอกาสทางเศรษฐกิจในอาเซียน จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวในจีน และปัญหาสงครามการค้าและการกีดกันจากตะวันตก หัวใจของโอกาสนี้คือการพยายามดึงดูดทุนจีนที่มีคุณภาพและทุนจีนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์แห่งอนาคต

 

การดึงดูดการลงทุนจากจีนต้องเน้นผลลัพธ์ 2 ประการ คือการถ่ายทอดเทคโนโลยี กับการพยายามส่งเสริมให้ทุนจีนที่มาลงทุนใช้ห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องหรือ Local Content ภายในประเทศไทยให้มากที่สุด ซึ่งก็จำเป็นที่ไทยต้องมียุทธศาสตร์ในการยกระดับธุรกิจ SMEs ไทยให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตใหม่ของจีน โดยอาจเจรจาขอให้ทุนใหญ่ที่มีคุณภาพของจีนร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่รายย่อยในไทยขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับจีนในแง่ต้นทุนและในแง่ความสัมพันธ์ระยะยาวและภาพลักษณ์ที่บวกต่อทุนจีน

 

โอกาสที่สามคือการส่งเสริมให้ทุนไทยร่วมกับทุนจีนรุกตลาดอาเซียนภาคพื้น (ตลาด CLMV) ร่วมกัน โดยอาศัยฐานการผลิตในประเทศไทย ศักยภาพของตลาดผู้บริโภคในภูมิภาคที่ยังเติบโต และจุดแข็งในความเข้าใจกลไกธุรกิจและวัฒนธรรมของอาเซียนภาคพื้นของทุนไทย การมองอาเซียนภาคพื้นเป็นตลาดผู้บริโภคจะช่วยยกระดับความน่าสนใจของไทยและดึงดูดทุนจีนที่มีคุณภาพ และช่วยพาทุนไทยออกไปร่วมคว้าโอกาสในพื้นที่รอบบ้านของไทยที่กำลังมีการเติบโตสูง

 

โอกาสที่สี่คือการใช้แพลตฟอร์มจีนรุกกลับเข้าในตลาดจีน แม้ท่ามกลางปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ตลาดผู้บริโภคของจีนก็ยังคงเป็นตลาดที่มีขนาดมหึมาและมีพลังการบริโภคมหาศาล เพียงแต่ต้องจับเทรนด์การบริโภคในจีนให้ถูก เช่น การบริโภคตามกระแสไวรัลทางวัฒนธรรม การบริโภคสินค้าราคาถูกที่มีคุณภาพ การบริโภคสินค้าต่างชาติที่มีเอกลักษณ์แทนการเดินทางออกมาช้อปปิ้งยังต่างประเทศ

 

การใช้แพลตฟอร์มจีนรุกเข้าไปในตลาดจีนยังจะทำให้ผู้ประกอบการไทยและภาคนโยบายไทยได้เรียนรู้อุปสรรคทางการค้ากับจีน ซึ่งจะช่วยในการสื่อสารและเจรจากับจีน เพื่อผ่อนคลายอุปสรรคทางการค้าเหล่านั้นด้วย

 

หลักที่สามคือ ‘เปิดกลไกการทูตเศรษฐกิจไทย-จีนในระดับสูง’ ด้วยการเร่งรื้อฟื้นกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (Joint Committee on Trade, Investment and Economic Cooperation) โดยให้มีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายนั่งหัวโต๊ะ

 

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจท่านปัจจุบันของจีนคือ เหอลี่เฟิง ซึ่งได้เคยติดตาม สีจิ้นผิง ผู้นำจีน ในการเยือนไทยในการประชุม APEC ในปี 2022 และยังเป็นคนสนิทของสี ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นกระบี่คู่ใจสีในเรื่องเศรษฐกิจ

 

กลไกการเจรจากับจีนในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้นำในระดับสูง เพราะลักษณะการผลักดันทางนโยบายของจีนในปัจจุบันมีลักษณะ Top Down และรวมศูนย์มากกว่าในอดีต หากเรื่องใดก็ตามได้รับการชี้ขาดทางนโยบายจากระดับสูง ย่อมจะช่วยผลักดันกลไกต่างๆ ระดับล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องอุปสรรคทางการค้าที่อาจเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนมณฑลของจีน

 

ก่อนการประชุมระดับสูง ฝ่ายไทยต้องทำการบ้านให้ดีว่าประเด็นใดควรยกขึ้นหารือ เพื่ออาศัยการสั่งการและชี้ขาดทางนโยบายระดับสูง และมีเหตุผลที่ชัดเจนว่าเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร เพราะนโยบายหลักของประเทศจีนในขณะนี้ประกาศชัดเจนเรื่องการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการเปิดตลาด ต่อต้านสงครามการค้าและการกีดกันทางการค้า

 

ปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐจีน เช่น การสกัดทุนจีนสีเทา และการส่งเสริมทุนจีนที่มีคุณภาพ โดยแนวนโยบายพื้นฐานร่วมกันต้องเน้นการสร้างภาพลักษณ์และความเข้าใจที่ดีต่อทุนจีนที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องเริ่มต้นจากโมเดลตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของทุนจีนคุณภาพในไทย เพื่อเป้าหมายการร่วมมือทางการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศ หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ซ้ำรอยกระแสการต่อต้านและกีดกันสินค้าญี่ปุ่นที่ก็เคยเกิดขึ้นในไทยมาแล้วในช่วงทศวรรษ 2510

 

เราจำเป็นต้องตระหนักว่าข้อกังวลเรื่องสินค้าราคาถูกจากจีนไหลทะลักและคลื่นการสะพัดของทุนจีนจะไม่ใช่เพียงภาพระยะสั้นจากการชะลอตัวช่วงสั้นๆ ของเศรษฐกิจจีน แต่จะเป็นภาพระยะยาวตามเทรนด์การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนที่จะเน้นการออกมาแสวงโอกาสที่ต่างประเทศมากขึ้น เราต้องตั้งหลักให้ถูกตั้งแต่ต้นในการรับมือและคว้าโอกาสจากเทรนด์ระยะยาวดังกล่าว

 

หากในอดีต เรามักถามคำถามว่า เราจะเต้นระบำไปกับการทะยานของมังกรอย่างไร วันนี้เราต้องตั้งคำถามใหม่ทางนโยบายว่า เราจะรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ส่งผลให้เกิดคลื่นทะลักออกมาของสินค้าและทุนจีนอย่างไร ซึ่งคำตอบต้องเริ่มต้นจากการมีข้อมูลเชิงประจักษ์รายสินค้า อุตสาหกรรม และเส้นทางที่ชัดเจนของสินค้าจีนมากกว่าเพียงกระแสหรือเรื่องบอกเล่า การปรับกลยุทธ์จากการตั้งรับเป็นรุกกลับเพื่อแสวงโอกาสจากปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจใหม่ของจีน และการเปิดกลไกการทูตเศรษฐกิจไทย-จีนในระดับสูง เพื่อสื่อสารปลดล็อกอุปสรรคและข้อกังวลทางการค้า ภายใต้หลักการของการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม และการต่อต้านการกีดกันทางการค้า ซึ่งก็เป็นแนวทางที่จีนเองยืนยันมาตลอดเช่นกัน

 

ภาพ: VCG / VCG via Getty Images

The post ตั้งหลักให้ถูกในการรับมือคลื่นสินค้าและทุนจีน appeared first on THE STANDARD.

]]>