ยานอวกาศแคสสินี (Cassini Spacecraft) เป็นยานอวกาศที่ถูกส่งออกนอกโลกไปเมื่อปี 1997 พร้อมๆ กับหัวสำรวจฮอยเกนส์ (Huygens Probe) เพื่อทำการสำรวจระบบดาวเสาร์อย่างละเอียด
ชื่อของยานอวกาศแคสสินีมาจากชื่อของนักดาราศาสตร์ จิโอวานนี แคสสินี (Giovanni Cassini) ผู้ค้นพบว่าวงแหวนดาวเสาร์นั้นไม่ได้ติดกันเป็นแผ่นเดียว แต่มีช่องว่างระหว่างวงแหวนอยู่ด้วย ทุกวันนี้นักดาราศาสตร์เรียกช่องว่างนั้นว่า ช่องว่างแคสสินี
ส่วนชื่อของหัวสำรวจฮอยเกนส์นั้นมาจากชื่อของนักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ คริสเตียน ฮอยเกนส์ (Christiaan Huygens) ผู้มีผลงานทางวิทยาศาสตร์มากมาย หนึ่งในนั้นคือการค้นพบคำอธิบายว่าวงแหวนของดาวเสาร์มีลักษณะเหมือนแผ่นซีดี และยังค้นพบไททัน ซึ่งเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์
กว่าจะเดินทางไปถึงดาวเสาร์ ยานอวกาศแคสสินีต้องเข้าไปโคจรเฉียดดาวศุกร์ถึง 2 ครั้ง แล้วจึงโคจรกลับมาเฉียดโลกเราอีกครั้ง แล้วโคจรเฉียดดาวพฤหัสบดีอีก 1 ครั้ง เพื่ออาศัยแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์เหล่านี้ในการเหวี่ยงตัวเองไปให้ถึงดาวเสาร์
ยานอวกาศแคสสินีเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดาวเสาร์ในปี 2004 ใช้เวลาเดินทางราวๆ 7 ปีในอวกาศ
ภาพพื้นผิวของดวงจันทร์ไททันที่ถ่ายโดยหัวสำรวจฮอยเกนส์
การลงจอดด้วยร่มชูชีพของหัวสำรวจฮอยเกนส์
หลังจากนั้นในปี 2005 หัวสำรวจฮอยเกนส์ได้ถูกปล่อยเข้าสู่ดวงจันทร์ไททัน โดยใช้ระบบร่มชูชีพในการลดความเร็ว ซึ่งสามารถนำหัวสำรวจลงจอดได้สำเร็จ และทำการเก็บภาพพื้นผิวของดวงจันทร์ไททันได้ ปัจจุบันหัวสำรวจฮอยเกนส์เป็นยานอวกาศที่ลงจอดได้ไกลจากโลกที่สุด
ส่วนยานแคสสินีได้โคจรรอบดาวเสาร์และเข้าใกล้ดวงจันทร์ต่างๆ ของดาวเสาร์เพื่อเก็บข้อมูลและค้นพบสิ่งใหม่ๆ มากมาย ได้แก่
- ค้นพบดวงจันทร์ของดาวเสาร์ 7 ดวงคือ ดวงจันทร์ Methone, Pallene, Polydeuces, Daphnis, Anthe, Aegaeon และ S/2009 S1
- วัดอัตราการหมุนรอบตัวเองของดาวเสาร์ได้อย่างแม่นยำ
- ค้นพบทะเลสาบมีเทนบนดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ ซึ่งกินพื้นที่ตั้งแต่ระดับตารางกิโลเมตรไปจนถึงหมื่นตารางกิโลเมตร ปัจจุบันไททันเป็นสถานที่เดียวในระบบสุริยะที่นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีภูมิประเทศในลักษณะทะเลสาบอย่างโลกของเรา
ภูมิประเทศรูปลายเสือบนดวงจันทร์เอนเซลาดัส
น้ำพุที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์เอนเซลาดัส
- ค้นพบบรรยากาศบางๆ บนดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์ รวมทั้งลักษณะภูมิประเทศที่มีลักษณะคล้ายรอยข่วน หรือลายเสือ (Tiger stripe) นอกจากนี้ยังยืนยันว่ามีพวยน้ำพุที่พุ่งออกมาจากขั้วใต้ของดวงจันทร์เอนเซลาดัส ส่งผลให้ในตอนนี้มันเป็นวัตถุในระบบสุริยะที่มีโอกาสพบสิ่งมีชีวิตมากที่สุดแห่งหนึ่งเลยทีเดียว
- ทำการทดลองที่น่าทึ่งด้วยการปล่อยคลื่นวิทยุให้ทะลุผ่านวงแหวนของดาวเสาร์มายังส่วนตรวจจับบนโลกของเรา เพื่อวัดขนาดอนุภาคในวงแหวนดาวเสาร์ว่ามีการกระจายตัวอย่างไร
- ฯลฯ
เนื่องจากดาวเสาร์ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ราวๆ 30 ปี และมีระนาบการหมุนเอียงทำมุมเกือบ 27 องศากับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ดาวเสาร์มีฤดูกาลในลักษณะเดียวกับโลกของเรา แต่ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานกว่า
โครงการแคสสินีจึงทำการขยายภารกิจเพื่อทำการสังเกตดาวเสาร์ในช่วงฤดูกาลต่างๆ แน่นอนว่ามีการสังเกตเห็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น สังเกตเห็นว่าพายุรูปหกเหลี่ยมมีการเปลี่ยนสี ฯลฯ
นอกจากนี้ยังโคจรไปหลบหลังดาวเสาร์เพื่อเก็บภาพย้อนแสง ซึ่งนอกจากจะสวยงามและสามารถมองเห็นโลกได้ ยังแสดงให้เห็นถึงชั้นบรรยากาศและวงแหวนที่ชัดเจนอีกด้วย
สุดท้ายในวันที่ 15 กันยายนนี้ ยานอวกาศแคสสินีจะโคจรพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์จนมอดไหม้และรวมเป็นหนึ่งเดียวกับดาวเสาร์ไปตลอดกาลเพื่อมิให้ตัวมันโคจรเท้งเต้งอย่างไร้การควบคุม และอาจพุ่งเข้าชนดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ที่อาจมีสิ่งมีชีวิตจนเกิดการปนเปื้อนทางชีวภาพ
หากกำลังสงสัยว่า พุ่งชนแบบนี้แล้วดาวเสาร์จะไม่เป็นอะไรหรือ?
คำตอบคือ ยานอวกาศแคสสินีนั้นเล็กมากเมื่อเทียบกับดาวเสาร์ การพุ่งชนดาวเสาร์ในครั้งนี้ไม่ต่างอะไรกับอุกกาบาตเล็กๆ พุ่งเข้าชนโลกเราแล้วมอดไหม้ไปในชั้นบรรยากาศโดยที่โลกไม่กระทบกระเทือนใดๆ
ชุดวงโคจรสุดท้ายของยานแคสสินีมีชื่อว่า Grand Finale Orbit ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2017 ลักษณะวงโคจรดังกล่าวค่อนข้างบ้าบิ่นและมีความเสี่ยงสูง เพราะมีการโคจรเข้าไประหว่างช่องว่างของวงแหวนดาวเสาร์ชั้นในสุดและตัวดาวเสาร์ ซึ่งเป็นช่องที่แคบมากๆ หากไม่ใช่ภารกิจสุดท้าย คงไม่มีการโคจรในลักษณะนี้แน่
ข้อมูลล่าสุดที่ได้จากชุดการโคจรสุดท้ายที่ปล่อยออกมาคือ การค้นพบว่าที่ว่างระหว่างวงแหวนและตัวดาวเสาร์นั้นแทบไม่มีอะไรอยู่เลย จนนักวิทยาศาสตร์ถึงขั้นเรียกว่า The Big Empty การค้นพบนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างเหนือความคาดหมาย เพราะโดยทั่วไปมันควรมีอนุภาคฝุ่นอยู่มากกว่านี้
ส่วนข้อมูลใหม่ๆ นั้นจะสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง 15 กันยายน นี้เราคงต้องจับตาดูกัน และถึงแม้ว่าหลังวันที่ 15 กันยายนนี้ เอกภพจะไม่มียานอวกาศชื่อแคสสินีอีก แต่ความรู้ต่างๆ ที่แคสสินีได้ค้นพบจะอยู่กับมนุษย์เราต่อไปตราบนานเท่านาน
Photo: www.nasa.gov