สรสิช ลีลานุกิจ – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Wed, 08 May 2024 06:45:01 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 เงิน 750 บาท เลือกใช้ AI ตัวไหนให้ตรงใจและคุ้มค่า? https://thestandard.co/best-ai-for-750-baht/ Tue, 13 Feb 2024 12:08:10 +0000 https://thestandard.co/?p=899299

เป็นเวลากว่าปีเศษๆ แล้วที่ชื่อของ ChatGPT ติดหูในฐานะเค […]

The post เงิน 750 บาท เลือกใช้ AI ตัวไหนให้ตรงใจและคุ้มค่า? appeared first on THE STANDARD.

]]>

เป็นเวลากว่าปีเศษๆ แล้วที่ชื่อของ ChatGPT ติดหูในฐานะเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับใครหลายคน

 

หลังจาก ChatGPT ปล่อยฟีเจอร์ GPT Store ออกสู่ตลาดเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ทาง Google ก็ไม่อาจน้อยได้ และเร่งพัฒนาโซลูชัน AI ของตัวเองจนออกมาสู่ตลาดได้สำเร็จอย่าง Gemini Advanced ในปลายสัปดาห์ที่แล้ว (8 กุมภาพันธ์) โดย Google อ้างว่าปัญญาประดิษฐ์ตัวใหม่ของตัวเองนั้นล้ำกว่าโมเดล GPT-4

 

แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? ถ้าเรามีงบจำกัดอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน เราควรจะเลือกใช้ AI ตัวไหนให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของเราอย่างคุ้มค่ามากที่สุด?

 

บทความนี้เป็นการรีวิวของ Jose Antonio Lanz นักเขียนเพจ Decrypt รวมถึงตัวผมเองที่จะมาเปรียบเทียบข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบ ซึ่งอาจจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าเราควรเลือกจ่ายเงินกับตัวไหน

 

ก่อนอื่นต้องบอกว่าไม่มีโมเดลอันใดอันหนึ่งที่เหนือกว่าอย่างชัดเจน แต่มันขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้งานมองหาอะไร และฟังก์ชันของ AI อันไหนที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้

 

การสร้างรูปภาพ: ความเสมือนจริง vs. ความยืดหยุ่น

 

ในขณะที่ทั้ง 2 โมเดลสามารถสร้างภาพได้ ข้อแตกต่างหลักๆ ในเรื่องนี้คือ Gemini Advanced ทำภาพออกมาได้สมจริงมากกว่า แต่มีข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนรูปที่ทำออกมาได้แค่ไซส์สี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่านั้นในตอนนี้

 

ส่วนในฝั่งของ ChatGPT Plus นั้นจะให้ความยืดหยุ่นกว่า สามารถสร้างภาพได้ในหลายขนาด ไม่ว่าจะเป็นแนวตั้ง แนวนอน และอื่นๆ แต่ทว่ารูปจะติดความเป็นการ์ตูนและให้อารมณ์ที่ออกไปทางจินตนาการมากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม Adam Conway จากเพจ XDA Developers รวมทั้งตัวผมเองที่ได้ลองใช้ ก็รู้สึกคล้ายกันว่า แม้ Gemini Advanced จะเอนเอียงไปทางความสมจริงมากกว่า แต่ภาพที่สร้างออกมามีความไม่ตรงตามสิ่งที่ระบุไป เช่น Prompt ที่ระบุไปคือ ‘ช่วยสร้างภาพที่สื่อให้เห็นถึงความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลอินเดียและบริษัทสมาร์ทโฟน Xiaomi’ ซึ่งด้านล่างจะเป็นภาพที่ได้

 

 

ทั้ง 2 ภาพถูกป้อนคำสั่งเดียวกันแต่ผลลัพธ์ต่างกัน

 

ภาพซ้ายสร้างโดย Copilot ที่ใช้โมเดลภาษา DALL·E ซึ่งเป็นอันเดียวกับ OpenAI จะเห็นได้ว่าแม้ภาพจะติดความเป็นการ์ตูนแต่รายละเอียดเรื่องโลโก้และสีครบถ้วน ส่วนภาพขวาที่สร้างโดย Gemini Advanced ที่มีความสมจริง แต่ดูแล้วเหมือนโมเดลจะไม่เข้าใจคำสั่งทั้งหมด

 

แน่นอนว่า Google กำลังพัฒนาสิ่งนี้อยู่ แต่หากเรื่องการสร้างภาพเป็นสิ่งที่คุณมองหา ณ ตอนนี้ DALL·E ใน ChatGPT Plus น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกว่า

 

ความรวดเร็วในการสร้าง Output

 

ในส่วนนี้ Gemini Advanced ให้ความเร็วที่เหนือกว่า GPT-4 อย่างมีนัยสำคัญ โดยผลลัพธ์คำตอบที่ได้มีคุณภาพเทียบเท่า GPT-4 ด้วยความเร็วในระดับเดียวกันกับ GPT-3.5

 

ทีม Decrypt ได้ป้อนคำสั่ง ‘ลองเขียนเรียงความในหัวข้อที่ว่าคริปโตเคอร์เรนซีจะเข้ามามีบทบาทกับเศรษฐกิจโลกอย่างไรในอนาคต’ ซึ่ง Gemini Advanced ใช้เวลาเพียง 12.14 วินาที ในขณะที่ ChatGPT Plus ต้องใช้เวลามากกว่าประมาณ 4.5 เท่า ที่ 53.13 วินาที แต่เวอร์ชันฟรีของ ChatGPT นั้นกลับเร็วที่สุดที่ 11.06 วินาที แม้คุณภาพอาจจะไม่เท่ากับตัวที่ต้องเสียค่า Subscription

 

งานที่ต้องอาศัยการอ่านและวิเคราะห์ PDF เป็นหลัก

 

หากการทำงานของคุณมีส่วนเกี่ยวโยงกับเอกสาร PDF เป็นชีวิตจิตใจ ChatGPT Plus คือคำตอบของคุณ เพราะมันสามารถดึงอินไซต์ในไฟล์แบบสรุปออกมาได้ แต่ในส่วนของ Gemini Advanced ยังไม่มีฟังก์ชันนี้ในปัจจุบัน แต่ยังไม่มีรายงานจากบริษัทว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

 

ด้วยเหตุผลนี้คนที่ต้องจมปลักกับเอกสาร PDF จำนวนมากในแต่ละวันของการทำงาน ก็คงพอพิจารณาได้อย่างชัดเจนว่า ChatGPT Plus นั้นเป็นตัวเลือกที่เหนือกว่า Gemini Advanced หากจะต้องเลือกจ่ายเงินประมาณ 750 บาท

 

ผลลัพธ์ของการเสิร์ชหาข้อมูล

 

ถ้าคุณภาพของข้อมูลบนเสิร์ชเอนจินเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับงานของคุณแล้วล่ะก็ Gemini Advanced ชนะไปอย่างใสๆ ในมุมนี้ เพราะโมเดลนั้นมาพร้อมกับฟังก์ชันที่ช่วยให้ผู้ใช้งานเช็กกลับไปถึงแหล่งที่ Gemini Advanced ไปดึงข้อมูลมาได้เพื่อป้องกัน ‘อาการหลอน’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์การนำข้อมูลที่ไม่เป็นจริงมานำเสนอให้ดูเหมือนว่าเป็นจริง

 

ในขณะที่คู่แข่ง ChatGPT Plus อาศัย Bing เป็นตัวป้อนข้อมูล แต่ด้วยความนิยมของ Google ที่ครองตลาดเสิร์ชเอนจินมาอย่างยาวนาน ทำให้ Gemini Advanced มีความเหนือกว่าอยู่เยอะอย่างมีนัยสำคัญ ณ ปัจจุบัน แต่ทาง Bing ก็กำลังเร่งพัฒนาคุณภาพของข้อมูลให้ดีขึ้นเพื่อหวังกินส่วนแบ่งในตลาดจาก Google มาให้ได้

 

ปัจจัยอื่นที่ควรเช็กตัวเองว่า AI ตัวไหนเหมาะสมกับเรา

 

ด้วยราคาที่แทบจะไม่ต่างกัน ข้อดีของ Gemini Advanced ที่เป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจ ‘AI Premium’ จาก Google คือผู้ใช้งานจะได้พื้นที่คลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นมาถึง 2 TB รวมทั้งฟีเจอร์การปรับแต่งภาพบน Google Photos โดย AI ที่สามารถลบ ปรับโทนสี และอื่นๆ ได้ และยังมีฟีเจอร์ที่ผนวกเข้ากับบริการต่างๆ ของ Google เช่น Google Meets ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถอยู่บนออนไลน์คอลได้นานขึ้น

 

ในฟากของ ChatGPT Plus แม้พวกเขาจะไม่มีเรื่องของระบบเก็บข้อมูลหรือการผนวกแชตบอตเข้ากับซอฟต์แวร์อันใดอันหนึ่ง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแชตบอตตัวนี้จะล้าหลัง เพราะว่าผู้ใช้งานสามารถสร้าง GPTs ของตัวเองที่เป็นโหมดของแชตบอตที่ถูกออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกัน รวมทั้งยังสามารถปลั๊กอินเป็นโปรแกรมเสริมและยังสั่งให้รันโค้ด Python ได้ ซึ่ง Gemini Advanced ยังไม่สามารถทำได้ตอนนี้

 

ท้ายที่สุดนี้ AI ทั้งสองมีข้อได้เปรียบและเสียเปรียบเป็นของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตนั้นต่างฝ่ายต่างจะต้องพัฒนาให้มันดีขึ้นไปอีก แต่สำหรับคนที่ยังลังเลว่า 750 บาทจะเลือกใช้อันไหนดี บทความนี้ก็อาจจะพอให้เช็กลิสต์เพื่อนำไปพิจารณาเพิ่มเติมได้บ้าง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ภาพ: AI Assistant, ChatGPT for Search Engines

อ้างอิง:

The post เงิน 750 บาท เลือกใช้ AI ตัวไหนให้ตรงใจและคุ้มค่า? appeared first on THE STANDARD.

]]>
Google รีแบรนด์ Bard AI เป็น Gemini ปล่อยโมเดลล่าสุดพร้อมดวล ChatGPT เคาะราคา 750 บาทต่อเดือน https://thestandard.co/google-rebrand-bard-ai-to-gemini/ Fri, 09 Feb 2024 07:06:00 +0000 https://thestandard.co/?p=897914

Google เสิร์ชเอนจินชั้นนำของโลก ประกาศรีแบรนด์ครั้งสำคั […]

The post Google รีแบรนด์ Bard AI เป็น Gemini ปล่อยโมเดลล่าสุดพร้อมดวล ChatGPT เคาะราคา 750 บาทต่อเดือน appeared first on THE STANDARD.

]]>

Google เสิร์ชเอนจินชั้นนำของโลก ประกาศรีแบรนด์ครั้งสำคัญ โดยเปลี่ยนชื่อแชตบอตของตัวเองจาก Bard AI กลายเป็น Gemini เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (8 กุมภาพันธ์)

 

การเปลี่ยนโฉมครั้งนี้ยังคงอนุญาตให้ผู้ใช้งานใช้ Gemini ในเวอร์ชันฟรีได้ แต่สิ่งใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาสำหรับผู้ที่อยากเข้าถึงนวัตกรรมล่าสุดอย่างโมเดล Ultra 1.0 ที่ทางบริษัทเคลมว่าสามารถทำงานที่ซับซ้อนได้ เช่น การเขียนโค้ดและการอธิบายเหตุผลเชิงตรรกะได้ดียิ่งขึ้น โดยการเข้าถึงจะมีค่าบริการอยู่ที่ 19.99 ดอลลาร์ แต่ราคาไทยจะอยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ Google โดยระหว่างการรีแบรนด์ในช่วงแรกจะมีระยะเวลาให้ทดลองใช้ฟรีได้ 2 เดือน

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ Google ที่เปิดออปชันให้ผู้ใช้งานมีตัวเลือกที่ทั้งใช้แชตบอตได้แบบฟรีหรือแบบอัปเกรดแต่ต้องมีค่าใช้จ่าย ดูแล้วก็ไม่ได้ต่างอะไรกับกลยุทธ์ที่ OpenAI ทำเลย โดยในฝั่งนั้นมีการเรียกเก็บค่าบริการเช่นเดียวกันที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เพื่อเข้าถึง GPT-4 ซึ่งเป็นโมเดลขั้นแอดวานซ์ของบริษัทสตาร์ทอัพผู้สร้างกระแสให้ผู้คนในวงกว้างได้สัมผัสกับการใช้งาน AI

 

หลังจาก OpenAI จับมือกับ Microsoft เปิดตัวเครื่องมือเสิร์ชเอนจิน Copilot ซึ่งเป็นชื่อที่มาแทน Bing พวกเขาก็กลายเป็นภัยคุกคามหลักต่อ Google ในสังเวียนการแข่งแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดการค้นหาข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นแกนหลักทางธุรกิจที่ Google ครองตลาดมานับหลายสิบปี

 

อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบอันหนึ่งที่ผู้ใช้งานจะได้จากการตัดสินใจจ่ายเงิน 19.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนไปกับ Gemini ก็คือ พวกเขาสามารถใช้งานเทคโนโลยี AI ที่เป็นโมเดลล่าสุดได้กับผลิตภัณฑ์ยอดนิยมจากบริษัท อย่างเช่น Gmail และ Google Docs แทนที่จะต้องคลิกกลับไปกลับมาหากเลือกใช้ ChatGPT

 

สำหรับการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน ผู้ใช้ระบบ Android สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันแยกที่ทำออกมาโดยเฉพาะชื่อว่า ‘Google Gemini’ ส่วนผู้ใช้ iPhone สามารถใช้ Gemini ภายในแอปของ Google บน iOS ได้เลย

 

ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันแม้ว่า Gemini จะสามารถใช้งานได้ใน 150 ประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ยังใช้ได้แค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น โดยทาง Google ระบุว่า กำลังเตรียมขยายไปสู่ภาษาอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยในอนาคต

 

การรีแบรนด์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ความมุ่งมั่นของบริษัทในการติดตามและลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนา AI ที่ครอบคลุมตั้งแต่แชตบอตไปจนถึงผู้ช่วยการเขียนโค้ด และเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ของการทำงาน

 

“นี่เป็นก้าวแรกที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างผู้ช่วย AI อย่างแท้จริง” Sissie Hsiao ตำแหน่ง Vice President และผู้จัดการทั่วไปของ Google กล่าว

 

ภาพ: NurPhoto / Getty Images

อ้างอิง:

The post Google รีแบรนด์ Bard AI เป็น Gemini ปล่อยโมเดลล่าสุดพร้อมดวล ChatGPT เคาะราคา 750 บาทต่อเดือน appeared first on THE STANDARD.

]]>
อานุภาพ Apple Vision Pro ราคารีเซลในต่างประเทศกระโดดจาก 125,405 บาท ไปสู่ 226,500 บาทเลยทีเดียว! https://thestandard.co/apple-vision-pro-resell-price/ Fri, 09 Feb 2024 06:57:35 +0000 https://thestandard.co/?p=897911 Apple Vision Pro

ดูเหมือนว่ากระแสความนิยมของอุปกรณ์ตัวล่าสุดของที่ ทิม ค […]

The post อานุภาพ Apple Vision Pro ราคารีเซลในต่างประเทศกระโดดจาก 125,405 บาท ไปสู่ 226,500 บาทเลยทีเดียว! appeared first on THE STANDARD.

]]>
Apple Vision Pro

ดูเหมือนว่ากระแสความนิยมของอุปกรณ์ตัวล่าสุดของที่ ทิม คุก ชอบเรียกมันว่า ‘Spatial Computer’ จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดหลังจากเปิดจำหน่ายไปเมื่อต้นเดือน

 

ล่าสุด Bloomberg รายงานว่า Vision Pro รุ่นเริ่มต้นความจุ 256GB ของ Apple ที่เพิ่งเปิดตัวและออกวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีราคารีเซลหรือราคาที่ถูกนำมาจำหน่ายต่ออีกทอดในตลาดต่างประเทศได้สูงถึง 5,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 194,000 บาท) บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของญี่ปุ่นอย่าง Mercari จากราคาเริ่มต้นที่ทางบริษัทตั้งไว้ที่ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 125,405 บาท) 

 

ส่วนผู้ขายรายหนึ่งบน Lazada ของสิงคโปร์ เสนอขายสูงถึง 8,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (226,500 บาท) และในย่านมงก๊กของฮ่องกง ร้านนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็ตั้งราคาที่ 35,800 ดอลลาร์ฮ่องกง (164,700 บาท) โดยราคาจะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน

 

ไบรอัน หม่า นักวิเคราะห์จาก IDC มองว่า ปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ผู้คนต่างแย่งชิงกันเข้าซื้อ Vision Pro ตั้งแต่เนิ่นๆ นั้นไม่ได้มาจากแค่แฟนตัวยงของสินค้า Apple แต่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์รวมทั้งผู้เล่นอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งในอุตสาหกรรมที่ต้องการจะสัมผัสประสบการณ์ของแว่นอัจฉริยะตัวนี้ เพื่อนำไปต่อยอดกลยุทธ์และทิศทางการพัฒนาอุปกรณ์ของค่ายตัวเอง

 

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่า ยังคงต้องจับตารอดูตลาดต่อไปในระยะยาว เนื่องจากยังไม่แน่ชัดว่าขนาดตลาดที่แท้จริงของ Vision Pro นั้นมีมากน้อยแค่ไหน แต่ด้วยผลพวงจากกลยุทธ์ของ Apple ที่ยังผลิตออกมาขายได้ในจำนวนน้อยกว่าความต้องการของตลาดในช่วงเริ่มต้น คือเหตุผลหลักที่ผลักให้ราคาขายต่ออยู่ในระดับสูงกว่าราคาตั้งต้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปรากฏการณ์แบบนี้น่าจะเกิดขึ้นแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

 

ภาพ: Anadolu / Getty Images

อ้างอิง:

The post อานุภาพ Apple Vision Pro ราคารีเซลในต่างประเทศกระโดดจาก 125,405 บาท ไปสู่ 226,500 บาทเลยทีเดียว! appeared first on THE STANDARD.

]]>
Google ชน Microsoft แข่งปั้นศูนย์กลาง AI ระหว่างสิงคโปร์กับอินเดีย https://thestandard.co/google-microsoft-build-an-ai-center/ Thu, 08 Feb 2024 10:55:37 +0000 https://thestandard.co/?p=897603 Google Microsoft AI

การแข่งขันระหว่างสองบริษัทบิ๊กเทคอย่าง Google และ Micro […]

The post Google ชน Microsoft แข่งปั้นศูนย์กลาง AI ระหว่างสิงคโปร์กับอินเดีย appeared first on THE STANDARD.

]]>
Google Microsoft AI

การแข่งขันระหว่างสองบริษัทบิ๊กเทคอย่าง Google และ Microsoft ในความพยายามที่จะแย่งชิงตำแหน่งความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีแนวโน้มที่จะเข้มข้นขึ้น เมื่อต่างฝ่ายต่างเลือกที่จะผลักดันให้การใช้งานอย่างจริงจังเกิดขึ้นได้ในระดับประเทศ แต่ต่างสถานที่กันออกไป โดย Google พุ่งเป้าไปที่สิงคโปร์ ส่วน Microsoft นั้นก็กำลังเริ่มหนุนอินเดีย

 

Google เลือกดันสิงคโปร์เป็นฮับ AI 

 

ณ งาน Explore AI Summit เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2024 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง Google กับรัฐบาลสิงคโปร์ Caroline Yap ซีอีโอของบริษัท กล่าวกับ CNBC ถึงมุมมองเชิงบวกในศักยภาพของสิงคโปร์ว่า เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีแผนสำหรับ AI อย่างชัดเจน จากนโยบาย National AI Strategy 2.0 ที่เน้นขยายขอบเขตการใช้งานให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังวางกลยุทธ์ AI Trailblazers ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 100 ราย ให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ของ Google ได้ พร้อมทั้งมีพื้นที่แซนด์บ็อกซ์สำหรับพัฒนาและทดลองนวัตกรรมได้อย่างเปิดกว้าง โดยในสถานการณ์ปัจจุบันมีองค์กรภาครัฐและอุตสาหกรรม 43 แห่งที่ได้สร้างโซลูชัน Generative AI ของตัวเองได้สำเร็จแล้ว

 

“เมื่อเราทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพ มันไม่เพียงแค่จะทำให้บริการของภาครัฐแก่ประชาชนดีขึ้น แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตต่อไปอีกด้วย” Caroline กล่าวชื่นชมสิงคโปร์

 

ในฝั่งของ Kenddrick Chan นักวิเคราะห์นโยบายสถาบัน Tony Blair ก็มองว่า สิงคโปร์มีโครงการสนับสนุนการใช้งาน AI อย่างครอบคลุมในทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงรากฐานที่พร้อมต่อการเป็นศูนย์กลาง AI ของโลก

 

อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ได้มองข้ามแนวโน้มการแข่งขันจากประเทศอื่นที่ต้องการเป็นศูนย์กลางในด้านนี้เช่นเดียวกัน เพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มหาศาลของเทคโนโลยีตัวนี้เป็นสาเหตุให้หลายฝ่ายพยายามช่วงชิงโอกาสให้ได้มากที่สุด

 

Microsoft เลือกวางหมากในแดนภารัต

 

อีกหนึ่งประเทศที่มีโอกาสผงาดขึ้นมาแข่งขันในสังเวียนการแย่งชิงตำแหน่งเบอร์ 1 ศูนย์กลางของ AI ก็คืออินเดีย

 

ด้วยบุคลากรโปรแกรมเมอร์กว่า 5 ล้านคน อินเดียเป็นประเทศที่ครอบครองทรัพยากรคนที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ท่ามกลางช่วงเวลาที่บางประเทศกลับมีคนในด้านนี้ไม่พอ

 

ล่าสุด Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft ประกาศแผนของบริษัทในงานแถลงที่มุมไบว่า เขาจะลงทุนเพื่อผลักดันให้อินเดียกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของระบบนิเวศเทคโนโลยี AI ผ่านโปรแกรมที่ตั้งเป้าจะพัฒนาแรงงานมนุษย์เพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคนให้มีทักษะสำคัญด้าน AI ภายในปี 2025 ซึ่งโครงการนี้พยายามจะกระจายการศึกษาให้ทั่วถึงประชาชนในหลายพื้นที่มากขึ้น โดย Microsoft จะมุ่งไปตามหัวเมืองรองและพื้นที่ที่กำลังพัฒนาสู่ความเจริญมากขึ้น

 

วิสัยทัศน์ของ Microsoft ในการพาประเทศอินเดียไปสู่ฝันของศูนย์กลาง AI จะเริ่มจากการปูพื้นฐานทักษะความรู้ให้กับแรงงานยุคใหม่ในประเทศ เช่น นักเรียน และนักศึกษาที่กำลังมองหางาน เพื่อเปิดประตูทางโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้ประชาชนรุ่นต่อไปมีความรู้ที่พร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตที่ AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างแน่นอน

 

“ความสามารถใหม่ๆ จากปัญญาประดิษฐ์จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างแน่นอน” เขากล่าวเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัวและเร่งพัฒนาศักยภาพของตนไปกับนวัตกรรมตัวนี้ พร้อมทั้งยกตัวอย่างถึงความคุ้มค่าที่จะลงทุนกับ AI ว่ามันเป็นสิ่งที่เปรียบได้เหมือนกับตอนที่ประเทศอังกฤษตัดสินใจทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อสร้างทางรถไฟ จนสามารถดัน GDP ให้โตได้ 10% ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

และตอนนี้ AI ก็มีศักยภาพที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกของเราแบบนั้นอีกครั้งในยุคการปฏิวัติทางดิจิทัลเทคโนโลยี

 

สิงคโปร์และ Google โฟกัสน้ำหนักไปที่ความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เชิงกลยุทธ์ ในขณะที่อินเดียและ Microsoft กลับเทน้ำหนักความสำคัญไปกับการพัฒนาทักษะเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ว่าใครจะคว้าตำแหน่ง ‘ศูนย์กลาง AI’ มาไว้ในครอบครองได้ ประเด็นสำคัญก็คือ ทั้งสองชาติจะเข้ามามีบทบาทหลักในอุตสาหกรรม AI ของโลกอย่างแน่นอน

 

ภาพ: Microsoft Copilot

อ้างอิง:

The post Google ชน Microsoft แข่งปั้นศูนย์กลาง AI ระหว่างสิงคโปร์กับอินเดีย appeared first on THE STANDARD.

]]>
Taylor Swift สุดทน วอนชายวัยรุ่นให้หยุดติดตามเส้นทางเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ไม่อย่างนั้นจะฟ้องศาล! https://thestandard.co/taylor-swift-demands-21-year-old-to-stop-tracking-her/ Wed, 07 Feb 2024 10:08:46 +0000 https://thestandard.co/?p=897188

ดูเหมือนว่างานจะเข้านักศึกษาชายวัยรุ่น Jack Sweeney ที่ […]

The post Taylor Swift สุดทน วอนชายวัยรุ่นให้หยุดติดตามเส้นทางเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ไม่อย่างนั้นจะฟ้องศาล! appeared first on THE STANDARD.

]]>

ดูเหมือนว่างานจะเข้านักศึกษาชายวัยรุ่น Jack Sweeney ที่ชอบสอดส่องการเดินทางของเหล่าคนดังบนโลกอินเทอร์เน็ต เพราะล่าสุดทนายความของ Taylor Swift ออกมาขู่ดำเนินคดีทางกฎหมาย หากเขายังไม่หยุดติดตามการเดินทางโดยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวของศิลปินสาวชื่อดัง รวมถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ

 

Bloomberg ระบุว่า ในจดหมายจากทนายความบริษัท Venable LLP ที่ส่งถึง Jack Sweeney เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2023 มีเนื้อหาว่า “พฤติกรรมที่คุณกำลังทำโดยการโพสต์ตำแหน่งที่อยู่ของลูกค้าเราถือเป็นการสะกดรอยตาม ถึงแม้ว่าสิ่งนี้มันจะดูเหมือนเป็นแค่เกมหรือหนทางเพื่อสร้างชื่อเสียงในมุมของคุณ แต่นี่ถือเป็นสิ่งที่ชี้เป็นชี้ตายได้สำหรับลูกค้าของเรา”

 

Jack Sweeney เด็กหนุ่มวัย 21 ปี เปิดเผยว่า เขาได้ใช้ข้อมูลสาธารณะจากหน่วยงานองค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ เพื่อคอยติดตามการเคลื่อนไหวเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว รวมถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการเดินทางของบุคคลที่มีชื่อเสียง นักการเมือง ศิลปิน และมหาเศรษฐี 

 

หลังจากที่ Jack Sweeney ได้รับจดหมายเตือนให้เขาหยุดพฤติกรรมดังกล่าว เขาตอบว่า “ต่อให้ผมไม่ได้เป็นคนทำ ผมคิดว่าเครื่องบินเหล่านี้ก็ยังถูกตามอยู่ดี เพราะสุดท้ายแล้วอย่าลืมว่าสิ่งที่ผมใช้มันคือข้อมูลสาธารณะ”

 

จากข้อมูลรายงานของบริษัทที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน Yard พวกเขาพบว่า โปรแกรมการเดินทางทัวร์คอนเสิร์ตของ Taylor Swift กลายเป็นต้นเหตุทำให้ชาวเน็ตบนโซเชียลมีเดียบางคนออกมาเน้นเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากในปี 2022 รายงานพบว่า เธอเป็นบุคคลที่มีส่วนในการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด ซึ่งตัวเลขนี้อยู่ที่ 8,300 ตัน หรือประมาณ 1,100 เท่า เมื่อเทียบกับระดับที่คนทั่วไปสร้างต่อปี

 

อย่างไรก็ตาม โฆษกส่วนตัวของ Taylor Swift ก็ออกมาเคลียร์ประเด็นเรื่องก๊าซเรือนกระจกว่า “ก่อนที่จะเริ่มทัวร์คอนเสิร์ต ตัวของ Taylor Swift ได้ซื้อคาร์บอนเครดิตเกินกว่า 2 เท่าของปริมาณที่ยานพาหนะของเธอจะปล่อยออกมาตลอดทริปเสียอีก” 

 

ในฝั่งของ Jack Sweeney ก็ยังคงยืนกรานว่า สำหรับการที่เขาโพสต์ตำแหน่งที่ศิลปินหญิงเดินทางไปเยือนนั้นเป็นเพียงชื่อของเมืองเท่านั้น ซึ่งใครก็ตามที่เป็นแฟนคลับและติดตามทัวร์คอนเสิร์ตของเธอคงจะต้องทราบดีอยู่แล้วว่า Taylor Swift จะเดินทางไปที่ไหนบ้าง

 

นอกจากนี้ James Slater ผู้ที่เป็นทนายให้กับนักศึกษาหนุ่ม ยังมองว่า ข้อกล่าวหาที่ตัวของ Jack Sweeney โดนมันเป็นอะไรที่แทบจะไม่มีมูลเหตุเลย นอกเสียจากเหตุผลแอบแฝงที่น่าจะมาจากความพยายามที่ไม่ต้องการให้มีข่าวลบกับตัว Taylor Swift ในเรื่องก๊าซเรือนกระจกที่เป็นกระแสข่าวในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเมื่อไม่นานมานี้

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Jack Sweeney ต้องรับมือกับคนดังในประเด็นที่เขาคอยติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คนเหล่านี้ เพราะในปี 2022 เขาต้องเจอกับการที่บัญชีของเขาที่มีชื่อว่า @ElonJet ถูกถอดออกจากแพลตฟอร์ม โดยผู้ที่ตัดสินใจถอนบัญชีก็ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก Elon Musk

 

การกระทำครั้งนั้นของ Elon Musk ส่งผลให้สังคมออนไลน์เกิดประเด็นถกเถียงกันถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 

 

“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้มันไม่ต่างอะไรจากเมื่อตอนเดือนธันวาคม ปี 2022 ที่ Elon Musk โพสต์ว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมายกับผม เนื่องจากเขาอ้างว่าใครบางคนกำลังแอบตามลูกเล็กของเขาอยู่” Jack Sweeney กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เขาโดนกล่าวหาโดยทนายความของ Taylor Swift 

 

ภาพ: Jack Sweeney

อ้างอิง:

The post Taylor Swift สุดทน วอนชายวัยรุ่นให้หยุดติดตามเส้นทางเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ไม่อย่างนั้นจะฟ้องศาล! appeared first on THE STANDARD.

]]>
Semafor ร่วมมือ Microsoft ใช้แชตบอตดึงข้อมูลทั่วโลกเพื่อนำเสนอข่าวอย่างครอบคลุม https://thestandard.co/semafor-microsoft-ai/ Wed, 07 Feb 2024 09:52:03 +0000 https://thestandard.co/?p=897166

Microsoft จับมือกับสำนักข่าวสตาร์ทอัพ Semafor ในการนำปั […]

The post Semafor ร่วมมือ Microsoft ใช้แชตบอตดึงข้อมูลทั่วโลกเพื่อนำเสนอข่าวอย่างครอบคลุม appeared first on THE STANDARD.

]]>

Microsoft จับมือกับสำนักข่าวสตาร์ทอัพ Semafor ในการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยค้นหา สรุป และวิเคราะห์เนื้อหาข่าวจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้นักข่าวของ Semafor เข้าใจภาพรวมสถานการณ์ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดียิ่งขึ้น ผ่านการรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่งข่าวในหลายภาษา

 

แม้ว่ามูลค่าของเม็ดเงินการลงทุนจะไม่ถูกเปิดเผย แต่ Financial Times รายงานว่า Microsoft ได้ทุ่มเงินลงทุนจำนวนมากไปกับธุรกิจของ Semafor

 

บริการดังกล่าวที่ Microsoft พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า Signals ซึ่งจะคอยอัปเดตประเด็นสำคัญของเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที ทำให้นักข่าวมีอินไซต์ครอบคลุมในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงมุมมองจากหลายแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งสิ่งนี้เองก็เป็นความตั้งใจของ Semafor นับตั้งแต่วันที่ก่อตั้งในปี 2022 ที่ต้องการจะนำเสนอข่าวในมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย

 

Ben Smith ผู้ร่วมก่อตั้ง Semafor ยืนยันว่า ข้อมูลจาก Signals ทั้งหมดนั้นจะถูกเขียนโดยพนักงานบริษัทที่เป็นมนุษย์เท่านั้น แต่ AI จะมีบทบาทแค่เพียงค้นหาและรายงานข้อมูลให้นักข่าวสามารถเกาะติดสถานการณ์ได้แบบเรียลไทม์ โดยเขามองว่า ในโลกปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักของการเสพข้อมูล มันส่งผลให้การรายงานข่าวหันเหไปสู่ทิศทางที่คนส่วนใหญ่พยายามจะแข่งกันด้วยความเร็วของเนื้อหาในประโยคแรกๆ แต่ก็ไม่ได้พยายามใช้เวลาเพื่อนำเสนอมุมมองเชิงวิเคราะห์มากเท่าที่ควร

 

เมื่อปัญหาที่ Ben พบเห็นเป็นเช่นนี้ เขาจึงมีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจการรายงานข่าวที่ค่อนข้างสวนกระแสกับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ซึ่งสิ่งที่เขาต้องการมุ่งหน้าทำต่อไปคือการใช้ข้อมูลความจริงมาเป็นพื้นฐานเพื่อต่อยอดการวิเคราะห์ รวมถึงอธิบายบริบทเชิงลึกให้กับผู้อ่าน เพื่อความเข้าใจสถานการณ์อย่างครอบคลุมแทนที่จะเข้าใจเพียงแค่ผิวเผิน

 

สำหรับข่าวด่วนจากเหตุการณ์สำคัญๆ นักข่าว Semafor จะใช้เครื่องมือ AI เพื่อค้นหารายงานและความเห็นจากแหล่งข่าวในทุกมุมโลก โดยข่าวที่ Signals หามาได้อาจจะมาจากสำนักข่าวจีน อินเดีย หรือรัสเซีย เป็นต้น แต่คนที่นำข้อมูลเหล่านี้มานำเสนอเป็นเรื่องเล่าข่าวอีกทีก็คือตัวของนักข่าวนั่นเอง

 

“คนทำอาชีพสายข่าวควรจะต้องใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดและเติบโตต่อไปในอนาคต” Noreen Gillespie ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารมวลชนของ Microsoft กล่าวถึงอุตสาหกรรมข่าวที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเพราะการมาของปัญญาประดิษฐ์

 

อ้างอิง:

The post Semafor ร่วมมือ Microsoft ใช้แชตบอตดึงข้อมูลทั่วโลกเพื่อนำเสนอข่าวอย่างครอบคลุม appeared first on THE STANDARD.

]]>
ช่างไม่รู้อะไรเอาเสียเลย! ชาวสิงคโปร์เดือด ปมคำถามวุฒิสภาที่พยายามโยงซีอีโอ TikTok เข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์จีน https://thestandard.co/tom-cotton-backlash-tiktok-ceo-shou-chew/ Tue, 06 Feb 2024 12:37:02 +0000 https://thestandard.co/?p=896780

แม้การไต่สวนต่อหน้าวุฒิสภาสหรัฐฯ ของเหล่าซีอีโอบริษัทบิ […]

The post ช่างไม่รู้อะไรเอาเสียเลย! ชาวสิงคโปร์เดือด ปมคำถามวุฒิสภาที่พยายามโยงซีอีโอ TikTok เข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์จีน appeared first on THE STANDARD.

]]>

แม้การไต่สวนต่อหน้าวุฒิสภาสหรัฐฯ ของเหล่าซีอีโอบริษัทบิ๊กเทคในหัวข้อความปลอดภัยการใช้งานโซเชียลมีเดียในเด็กและเยาวชนจะจบลงไปสัปดาห์ที่แล้ว แต่หนึ่งประเด็นที่ยังคงถูกพูดถึงโดยเฉพาะในหมู่แวดวงชาวสิงคโปร์ก็คือการกระทำของ Tom Cotton สมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งที่พยายามถามย้ำถึงความเชื่อมโยงในตัวของ Shou Zi Chew ซีอีโอของ TikTok กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกันหรือไม่ และนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคำถามในโลกออนไลน์ถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของคำถามแนวนี้ แต่ที่แน่ๆ คือชาวสิงคโปร์ ‘ไม่ถูกใจสิ่งนี้’

 

ก่อนจะไปเล่าถึงความไม่พอใจของคนสิงคโปร์ เหตุการณ์โดยสรุปที่เกิดขึ้นคือ ในระหว่างช่วงกลางของการไต่สวน Chew ถูกถามโดย Cotton ว่าเขามีสัญชาติอะไร โดย Chew ตอบชัดเจนว่าเขาถือสัญชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตัวยืนยันว่าเขาไม่สามารถมีสัญชาติอื่นได้อีก เนื่องจากกฎหมายของสิงคโปร์ไม่อนุญาตให้ประชาชนถือครองสัญชาติอื่นได้ แต่ Cotton ยังคงถามจี้ว่า “คุณเคยยื่นขอสัญชาติจีนหรือไม่?” และ “คุณมีเอี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนทางใดทางหนึ่งหรือไม่?” และคำตอบของ Chew ก็แน่นอนว่าเป็น “ไม่เคยและไม่มี”

 

ในฝั่งของชาวสิงคโปร์ เมื่อได้เห็นวิดีโอการซักถามของ Cotton ก็เก็บอาการไม่อยู่ และออกมาวิจารณ์ความไม่เหมาะสม หรือกระทั่งบอกว่าวุฒิสภาท่านนี้ “ช่างไม่รู้อะไรเอาเสียเลย” ถึงได้ตั้งคำถามแบบนี้ และบางคนถึงขั้นมองว่าการถามของ Cotton อาจแฝงไปด้วยเป้าหมายอะไรบางอย่าง เพราะเขาทำเหมือนว่าไม่ได้ยินหรือไม่เข้าใจกับคำตอบที่ Chew พูดออกไป

 

คลิปในช่วงนี้ยาวประมาณ 1 นาที ได้ถูกอัปโหลดลงบน Instagram โดย The Straits Times สำนักข่าวหลักของสิงคโปร์ และตามมาด้วยคอมเมนต์ของชาวเน็ตที่วิจารณ์ รวมทั้งล้อเลียนการกระทำของ Cotton ว่า “ท่านวุฒิสภา คุณรู้หรือเปล่าว่าสิงคโปร์อยู่ตรงไหนของโลก?” บ้างก็บอกว่า “การที่เขา (Chew) มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับคนจีนมันไม่ได้แปลว่าเขาเป็นคนจีนนะ”

 

แม้ว่า 75% ของชาวสิงคโปร์จะมีเชื้อสายมาจากจีน เนื่องจากการอพยพของคนจีนครั้งใหญ่ในช่วงปี 1800 ถึงต้น 1900 แต่ ณ ปัจจุบันชาวสิงคโปร์รุ่นหลังก็ไม่ได้มองว่าตัวเองคือคนจีนแล้ว

 

Jojo Choo ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดกล่าวว่า “ในตอนแรกฉันรู้สึกภูมิใจมากที่คนสิงคโปร์ได้เข้าไปกล่าวชี้แจงในสภาคองเกรส แต่ฉันก็ใช้เวลาไม่นานเพื่อมารู้ตอนหลังว่า คำถามของสมาชิกวุฒิสภาคนนี้มันแสดงให้เห็นถึงความไม่รู้ไม่เข้าใจมากขนาดไหน” อีกทั้งเธอยังมองว่าแนวคำถามนี้แฝงไปด้วยแนวคิดการเหยียดเชื้อชาติ และเป็น ‘ความคิดที่แคบ’ ที่จะเข้าใจว่าคนที่มีเชื้อสายจีนน่าจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศจีน

 

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งของเจ้าตัวผู้ตั้งคำถามก็ออกมาให้เหตุผลการกระทำของตัวเองว่า “มันไม่เกี่ยวว่าใครจะอยู่ที่ไหน ใครก็สามารถมีส่วนเกี่ยวโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทั้งนั้น” Cotton กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ Fox News และยังให้การเพิ่มเติมว่า ชาวอเมริกันที่ถูกสงสัยว่าทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีอยู่เหมือนกัน

 

“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สิงคโปร์เองนั้นคือหนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพลและการแทรกซึมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก” แต่ Cotton ไม่ได้กล่าวหรือให้หลักฐานชัดเจนว่าข้อหานี้ที่เขาตั้งกับสิงคโปร์มีที่มาที่ไปอย่างไร

 

ภาพ: Alex Wong / Getty Images, Anna Moneymaker / Getty Images

อ้างอิง:

The post ช่างไม่รู้อะไรเอาเสียเลย! ชาวสิงคโปร์เดือด ปมคำถามวุฒิสภาที่พยายามโยงซีอีโอ TikTok เข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์จีน appeared first on THE STANDARD.

]]>
2 ทศวรรษของ Facebook กับ 4 เรื่องราวที่โซเชียลมีเดียตัวนี้เข้ามาเปลี่ยนโลก https://thestandard.co/2-decades-of-facebook/ Tue, 06 Feb 2024 01:00:51 +0000 https://thestandard.co/?p=896419

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2024 ถือเป็นวันครบรอบ 20 ปีของ Face […]

The post 2 ทศวรรษของ Facebook กับ 4 เรื่องราวที่โซเชียลมีเดียตัวนี้เข้ามาเปลี่ยนโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2024 ถือเป็นวันครบรอบ 20 ปีของ Facebook โซเชียลมีเดียอันดับ 1 ของโลกที่มียอดผู้ใช้งานต่อวันอยู่ราว 2.09 ล้านล้านราย โดยประมาณ 1 ใน 4 ของผู้คนทั่วโลกใช้บริการ Facebook ในทุกๆ วัน แสดงให้เห็นถึงความนิยมของแพลตฟอร์มที่ถูกใช้โดยคนจำนวนมากบนโลก

 

เนื่องในโอกาส 20 ปีนับตั้งแต่ Facebook เปิดตัว เราจะขอชวนมาดู 4 เรื่องราวที่ถูกเขียนขึ้นโดย โจ ไทดี นักข่าวไซเบอร์จาก BBC ว่าเจ้าแพลตฟอร์ม Facebook นั้นเข้ามาเปลี่ยนโลกเราไปโดยสิ้นเชิงอย่างไร?

 

ผู้พลิกโฉมวงการโซเชียลมีเดีย

 

แม้ Facebook จะไม่ใช่โซเชียลมีเดียรายแรก แต่แพลตฟอร์มของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีตั้งแต่เปิดตัวในปี 2004 โดยในเวลาไม่ถึง 12 เดือน Facebook สามารถกอบโกยผู้ใช้งานมาได้ถึง 1 ล้านบัญชี จนในที่สุดก็สามารถแซงหนึ่งในคู่แข่งที่เกิดขึ้นมาก่อนอย่าง MySpace ได้สำเร็จในระยะเวลา 4 ปี ด้วยนวัตกรรมอันหนึ่งที่ทำให้การ ‘แท็ก’ คนอื่นๆ บนรูปภาพเกิดขึ้นได้ ซึ่งถือเป็นฟีเจอร์ที่ใหม่และถูกใจชีวิตวัยรุ่น ณ ตอนนั้น

 

เพียงแค่ในปี 2012 แพลตฟอร์มก็มียอดผู้ใช้งานต่อเดือนเกิน 1 พันล้านรายไปแล้ว และตัวเลขในปัจจุบันยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการสะดุดระหว่างทางอยู่บ้างก็ตาม

 

ด้วยสถานะที่ได้ชื่อว่าเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่นิยมมากที่สุดในโลก บางคนมองว่า Facebook คือเครื่องมือการติดต่อสื่อสารที่ทรงพลัง แต่กลุ่มที่มองต่างก็เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนเสพติด จนอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อโครงสร้างทางสังคมได้

 

ผู้ที่ทั้งสร้างคุณค่าและบั่นทอนความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคล

 

ในปัจจุบัน Meta เป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรจากการเก็บบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูลของเราได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในฐานะบริษัทที่ทำรายได้จากการโฆษณาขนาดใหญ่ ผ่านบริการการเข้าถึงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำผ่านข้อมูลของผู้ใช้งาน Meta มีรายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 เป็นเม็ดเงินมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

อย่างไรก็ตาม แพลตฟอร์มอย่าง Facebook ก็เผยอีกด้านหนึ่งให้เห็นว่า ธุรกิจการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานนั้นมาพร้อมกับความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะมีหลายกรณีในอดีตนับตั้งแต่แพลตฟอร์มเปิดตัว ที่ข้อมูลเหล่านี้มิได้ถูกจัดเก็บไว้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

 

เคสหนึ่งที่ค่อนข้างโด่งดังเกิดขึ้นตอนปี 2014 เมื่อ Facebook ถูกเชื่อมโยงกับข้อกล่าวหาที่มีบริษัทนำข้อมูลผู้ใช้งานแพลตฟอร์มกว่า 50 ล้านรายไปทำแคมเปญหาเสียงทางการเมืองในสหรัฐฯ ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้บริษัทต้องชำระค่าปรับจำนวน 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเยียวยาความเสียหายต่อการถูกละเมิดข้อมูล

 

นอกจากนี้ในปี 2022 Facebook ก็ต้องเจอกับค่าปรับมูลค่า 265 ล้านยูโรอีกครั้ง เนื่องจากปล่อยให้มีเหตุการณ์ที่ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานถูกดึงออกไปจากแพลตฟอร์มได้

 

ผู้ที่ทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นสังเวียนทางการเมือง

 

สาเหตุที่ Facebook กลายเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นที่ต้องการของผู้ที่ทำแคมเปญการเมืองทั่วโลก เพราะบริการโฆษณาที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด เช่น เมื่อตอนปี 2020 ข้อมูลงานวิจัยจาก Statista เผยว่า ทีมงานของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทุ่มเงินถึง 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใส่เข้าไปในการยิงโฆษณาบน Facebook 

 

มากไปกว่านั้น การเมืองระดับรากหญ้ายังถูกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะมันกลายเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ใช้งานจากหลากหลายพื้นที่ในหลายประเทศ สามารถมารวมตัวและวางแผนความเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับโลกได้

 

ทว่าการใช้ Facebook เพื่อดำเนินความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ก็ตกเป็นสิ่งที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลกระทบที่ตามมาในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะในปี 2018 ทางแพลตฟอร์มออกมายอมรับถึงความล้มเหลวที่ตนไม่สามารถป้องกันเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาได้ ซึ่งอัลกอริทึมของ Facebook ที่ให้ความสำคัญกับ ‘กำไร’ ก็เป็นชนวนที่นำมาสู่ความรุนแรงดังกล่าว

 

ผู้ที่ให้กำเนิดอาณาจักร Meta ผู้ครองตลาด

 

ด้วยผลสำเร็จที่ท่วมท้นของ Facebook มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้สร้างอาณาจักรโซเชียลมีเดียที่ทรงพลัง ทั้งในมิติของจำนวนและอิทธิพลต่อผู้ใช้งาน

 

บริษัทอย่าง WhatsApp, Instagram และ Oculus ต่างถูกซื้อให้เข้ามาอยู่ในเครือเดียวกับ Facebook ที่หลังจากปี 2021 ก็เปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการภายใต้นาม Meta ซึ่งมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มอันใดอันหนึ่งประมาณ 3 พันล้านคนในแต่ละวัน

 

ถึงแม้ว่า Meta จะไม่สามารถเข้าซื้อโซเชียลมีเดียได้ทุกรูปแบบ แต่การออกผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกับคู่แข่งก็จำเป็นต้องมีออกมาให้ใช้เพื่อรักษาตำแหน่ง ‘เจ้าตลาด’ เอาไว้ให้ได้

 

ฟีเจอร์ Stories ที่มีอายุการมองเห็น ก็เป็นอะไรที่คล้ายกันกับของ Snapchat หรือ Reels ก็เป็นการโต้กลับของแพลตฟอร์มต่อการแข่งขันในฝั่งของ TikTok รวมถึง Threads ก็เป็นกลยุทธ์ที่ดูแล้วจะคล้ายกับ X (Twitter) ค่อนข้างมาก

 

สำหรับ 20 ปีที่ผ่านมา Facebook ได้เฉิดฉายและเติบโตมาอย่างต่อเนื่องจากวิสัยทัศน์ของซีอีโอ แต่ท่ามกลางอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การจะรักษาตำแหน่งเบอร์ 1 ต่ออีก 20 ปี ก็ดูแล้วจะเป็นอะไรที่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่างที่เราเห็นว่าทิศทางของบริษัทก็เริ่มจะหันเหออกจาก Facebook มาสู่เมตาเวิร์สมากขึ้น รวมทั้งปัญญาประดิษฐ์อีกด้วย

 

ดังนั้นต่อจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของเวลาในการพิสูจน์ว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก และอาณาจักรของเขา จะรักษาตำแหน่งเบอร์ 1 ไปได้อีกนานเท่าไร

 

ภาพ: Justin Sullivan / Getty Images

อ้างอิง:

The post 2 ทศวรรษของ Facebook กับ 4 เรื่องราวที่โซเชียลมีเดียตัวนี้เข้ามาเปลี่ยนโลก appeared first on THE STANDARD.

]]>
‘จวกยับ’ ซีอีโอโดนหนักหลังเยาวชนต้องจบชีวิตเพราะโซเชียลมีเดีย และ AI ยิ่งซ้ำเติม https://thestandard.co/social-media-ceo-gets-hit/ Fri, 02 Feb 2024 11:24:29 +0000 https://thestandard.co/?p=895438

สืบเนื่องจากความเสียหายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออ […]

The post ‘จวกยับ’ ซีอีโอโดนหนักหลังเยาวชนต้องจบชีวิตเพราะโซเชียลมีเดีย และ AI ยิ่งซ้ำเติม appeared first on THE STANDARD.

]]>

สืบเนื่องจากความเสียหายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่าง Facebook และ Instagram พร้อมด้วยซีอีโอจาก Snap, X, Discord และ TikTok ได้เข้าชี้แจงต่อหน้าวุฒิสภาถึงหนทางการคุ้มครองความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนต่อการถูกเอาเปรียบและล่วงละเมิดทางเพศผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นช่องทางการเสพเนื้อหาออนไลน์ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในกลุ่มเยาวชน

 

ท่ามกลางความดุเดือดของการหารือกว่า 4 ชั่วโมง สมาชิกวุฒิสภาหลายคนตอกย้ำถึงการจัดลำดับความสำคัญที่ไม่เหมาะสมของบริษัทบิ๊กเทคที่ให้คุณค่ากับ ‘กำไร’ บริษัท มากกว่า ‘ความปลอดภัย’ ของผู้ใช้งาน หรือบางคนถึงขนาดพูดว่า “มือของพวกคุณเปื้อนเลือดไปแล้ว” และ “ชีวิตของพวกเด็กๆ คงจะต้องมีการสูญเสียอีก” กว่าบรรดาบริษัทเทคต่างๆ จะตัดสินใจลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

 

สำนักข่าว TIME รายงานว่า การแถลงถูกเปิดฉากมาด้วยวิดีโอจากวุฒิสมาชิกนามว่า ริชาร์ด เดอร์บิน จากพรรคเดโมแครต ที่ฉายภาพเกี่ยวกับเหยื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศบนแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมทั้งครอบครัวที่ต้องสูญเสียลูกหลานของพวกเขาไปเพราะสาเหตุความเครียดจากประเด็นดังกล่าวที่นำไปสู่การจบชีวิตของเด็กผู้เป็นเหยื่อ

 

AI ป่วนโลกโซเชียล ล้ำหน้าหนทางการรับมือปัญหา

 

Washington Post ได้รายงานข้อมูลจากองค์กรคุ้มครองเด็กในสหรัฐอเมริกา (NCMEC) ที่เผยว่าในปี 2023 มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในเด็กถึง 36 ล้านรายการ และการมาของเทคโนโลยี Generative AI ก็ดูจะยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับปัญหาที่เดิมยังไม่มีหนทางในการรับมืออย่างจริงจัง

 

ผู้ควบคุมกฎหมายทั่วโลกกำลังเจอกับสถานการณ์รูปแบบใหม่ที่น่าปวดหัวกว่าเดิม เมื่อคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในเด็กและเยาวชนถูกสร้างขึ้นโดยเทคโนโลยี AI

 

ในวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา โซชิตล์ โกเมซ นักแสดงผู้รับบท America Chavez ในภาพยนตร์เรื่อง Doctor Strange in the Multiverse of Madness เคยออกมาพูดว่าเธอไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาพล่อแหลมที่มีภาพของเธอเองซึ่งถูกสร้างโดย AI บนแพลตฟอร์ม X ได้เลย โดยเธอยังอธิบายเพิ่มว่าทั้งแม่และทีมงานของเธอพยายามหาวิธีกำจัดโพสต์ต่างๆ แล้ว แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

 

เมื่อเทคโนโลยี AI พัฒนาเร็วขึ้นและเข้าถึงได้มากขึ้น หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกำลังเจอกับโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายที่จะต้องปราบปรามกิจกรรมเหล่านี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด แต่ประเด็นก็กลับมาที่การหาหนทางแก้ไขให้ได้ทันเวลา

 

“ยิ่งเราปล่อยให้ปัญหาดำเนินต่อไปโดยที่วิธีป้องกันยังไม่ชัดเจน ปัญหาพวกนี้ก็จะยิ่งทวีคูณในจำนวนและความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายเราก็จะอยู่ในบทบาทของผู้ไล่ตามปัญหาที่ทำได้เพียงตามปิดแผลของสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว” แดน เซกส์ตอน หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี Internet Watch Foundation ในสหราชอาณาจักร กล่าวถึงความเร่งด่วนในการป้องกันก่อนปัญหาจะลุกลามจนสายเกินแก้

 

ในปัจจุบัน AI มีความสามารถในการใช้รูปของเยาวชนตัวจริงหรือบุคคลในจินตนาการเพื่อสร้างภาพที่มีเนื้อหาล่อแหลมได้ผ่านการคลิกไม่กี่ครั้ง โดยศูนย์สังเกตการณ์อินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐฯ (SIO) พบว่าภาพล่อแหลมประมาณ 3,000 ภาพ ถูกใช้ในการฝึกฝนโมเดล AI ต่างๆ ที่เป็นแบบ Open Source ซึ่งทางศูนย์ยังค้นเจอหลักฐานเพิ่มเติมว่าโมเดลเหล่านี้ใช้ข้อมูลสาธารณะจากแหล่งที่มีชื่อว่า LAION-5B ซึ่งมีส่วนประกอบของภาพล่อแหลมที่ถูกดึงมาจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น X และ Reddit มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลอีกด้วย

 

เดวิด ธีล หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของ SIO อธิบายถึงเหตุผลความท้าทายของวิธีการรับมือในปัจจุบันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของภาพที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ว่า “ความยากของเรื่องนี้คือภาพใหม่ถูกสร้างและปล่อยออกมาอยู่ตลอด ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่เราสามารถชี้ชัดภาพต่างๆ ได้เพราะมันเป็นของเดิมที่ถูกใช้ซ้ำ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว”

 

การแข่งกับเวลาเพื่อรับมือปัญหาภาพล่อแหลมจาก AI

 

นักพัฒนาเครื่องมือ AI ต่างให้ข้อมูลว่าสิ่งที่เขาพัฒนาขึ้นนั้นมีมาตรการป้องกันการใช้ที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เช่น DALL·E จาก OpenAI มีวิธีกีดกันไม่ให้ผู้ใช้งานสร้างภาพล่อแหลม และในฝั่งของ Stability AI ก็เพิ่งอัปเดตซอฟต์แวร์เพื่อลดโอกาสการเกิดขึ้นของเหตุการณ์แบบนี้

 

อย่างไรก็ตาม ActiveFence องค์กรรักษาความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ตพบว่าผู้ใช้งานบางคนก็สามารถล่อลวงให้ระบบยอมคล้อยตามคำสั่งในท้ายที่สุดอยู่ดี แม้ว่าทางบริษัทผู้พัฒนา AI จะออกมาบอกว่าเครื่องมือของพวกเขามีมาตรการป้องกันแล้วก็ตาม

 

ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Google ได้จับมือกับองค์กรต่อต้านการค้าบริการทางเพศ Thorn ซึ่งได้พัฒนานวัตกรรมตัวหนึ่งที่เรียกว่า ‘Hash Matching’ สำหรับการตรวจจับ ลบทิ้ง และรีพอร์ตโพสต์ที่มีเนื้อหาล่อแหลม ผ่านการตรวจค้นด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่คอยหาไฟล์ผิดกฎหมายและเชื่อมโยงไปสู่ไฟล์ที่คล้ายกันเพื่อให้การพบเจอมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

อีกหนึ่งหนทางในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือ ‘จำกัด’ การเข้าถึงเทคโนโลยี โดยผู้สนับสนุนฝั่งนี้ให้เหตุผลว่าเมื่อเราปล่อยให้เทคโนโลยีที่มีอำนาจมากขนาดนี้ไปอยู่ในมือของทุกคน มันก็หมายความว่าเราเอาเครื่องมือดังกล่าวไปให้กับผู้ไม่ประสงค์ดีด้วย ไปอยู่กับคนที่ต้องการหาผลประโยชน์จากภาพล่อแหลม

 

ทว่าในอีกฟากหนึ่งที่สนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างกว้างขวาง (Open Source) กลับโต้ว่า การจำกัดการเข้าถึงเฉพาะกลุ่มคนเป็นเพียงวิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบของการตอบสนองตามสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่ได้แก้ที่ต้นตอ ซึ่งวิธีที่คนกลุ่มนี้เสนอคือการให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรการป้องกันตั้งแต่ต้นทางแทนที่จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ไม่ใช่เหรียญสองด้าน แต่เป็นปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนและยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงความชัดเจนของวิธีแก้ไข ความถูกต้องทางศีลธรรม และโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม

 

“ปัญหาภาพล่อแหลมนี้ไม่มีแนวโน้มว่าจะชะลอตัวลงเลย ดังนั้นเวลาเหลือไม่มากแล้ว เราจึงควรใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีเพื่อรับมือกับมัน ซึ่งจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันกับภาครัฐในเชิงกฎหมายและความร่วมมือจากบริษัทเทคโนโลยี” รีเบคก้า พอร์ตนอฟฟ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ภาพ: Tom Williams / Getty Images, ricochet64 / Getty Images

อ้างอิง:

The post ‘จวกยับ’ ซีอีโอโดนหนักหลังเยาวชนต้องจบชีวิตเพราะโซเชียลมีเดีย และ AI ยิ่งซ้ำเติม appeared first on THE STANDARD.

]]>
รีวิวจากผู้ใช้จริง! Apple Vision Pro สมฐานะแว่นตามูลค่า 1.25 แสนบาทหรือไม่? และสิ่งที่ควรถามตัวเองก่อนซื้อ https://thestandard.co/apple-vision-pro-worth-the-price-tag-or-not/ Fri, 02 Feb 2024 01:35:44 +0000 https://thestandard.co/?p=895066 Apple Vision Pro

นับตั้งแต่ Apple Vision Pro ประกาศเปิดตัวครั้งแรกเมื่อก […]

The post รีวิวจากผู้ใช้จริง! Apple Vision Pro สมฐานะแว่นตามูลค่า 1.25 แสนบาทหรือไม่? และสิ่งที่ควรถามตัวเองก่อนซื้อ appeared first on THE STANDARD.

]]>
Apple Vision Pro

นับตั้งแต่ Apple Vision Pro ประกาศเปิดตัวครั้งแรกเมื่อกลางปี 2023 หลายคนก็เริ่มตั้งคำถามว่าเจ้าแว่นตาอัจฉริยะตัวนี้จะไปอยู่ตรงส่วนไหนของชีวิต เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมาชีวิตประจำวันของคนทั่วไปส่วนใหญ่ก็มักจะติดอยู่กับ ‘หน้าจอ’ ของอุปกรณ์ต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่มีไว้ทำกิจกรรมมากมายที่เกิดขึ้นในชีวิต

 

ทีนี้แว่นราคาประมาณ 125,000 บาท มันคุ้มค่าจริงหรือ? THE STANDARD WEALTH จึงอยากขอสรุปมุมมองของคนที่เคยลองใช้ว่า ข้อดี ข้อเสีย และคำถามที่ควรถามตัวเองก่อนซื้อ Apple Vision Pro มีอะไรบ้าง โดยข้อมูลทั้งหมดมาจาก Nilay Patel บรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยี The Verge

 

ข้อดี:

  • Vision Pro มีการแสดงภาพที่ทำออกมาได้ดี มีความคมชัด สว่าง และให้มุมมองที่กว้างขวาง ซึ่งทำให้มันเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับดูหนัง เล่นเกม และทำงานโปรเจกต์ที่ต้องอาศัยความครีเอทีฟสูงๆ
  • ระบบติดตามความเคลื่อนไหวดวงตาและมือของ Vision Pro ถือเป็นหนึ่งในระบบที่ดีที่สุดในตลาดตอนนี้ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถสื่อสารกับตัวแว่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดย Nilay กล่าวว่า “ครั้งแรกที่คุณได้ลองเล่นกับมัน ประสบการณ์มันทำให้รู้สึกเหมือนว่าเรามีพลังพิเศษเลย” 
  • ฟีเจอร์การมองผ่านแบบทะลุ (Passthrough Video) เป็นฟังก์ชันที่ยังคงทำให้ผู้ใช้งานรับรู้และมองเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกภายนอกได้ ในขณะที่กำลังสัมผัสกับประสบการณ์ Mixed Reality
  • ซอฟต์แวร์ แม้ว่ากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่ก็มีของเล่นให้ลองหลายอย่างแล้ว และเรายังสามารถมองเห็นแอปพลิเคชันหลายแอปพลิเคชันได้ในเวลาเดียวกัน

 

ข้อเสีย:

  • Vision Pro มีน้ำหนักค่อนข้างสูงที่ 600-650 กรัม ขึ้นอยู่กับชนิดของสายรัดที่เลือกใช้ ซึ่งน้ำหนักประมาณนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับ iPad Pro ขนาด 12.9 นิ้ว (682 กรัม) ทำให้การสวมใส่ให้ความรู้สึกที่เหมือนมี iPad Pro ติดอยู่บนหน้าตลอด
  • ความจุของแบตเตอรี่ต่อการใช้งานยังไม่ค่อยดีนัก โดย Nilay กล่าวว่า การใช้งานแบบไม่เสียบสายชาร์จจะอยู่ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที
  • ฟีเจอร์การมองผ่านแบบทะลุ ที่แม้ว่าจะทำให้ผู้ใช้งานมองเห็นโลกภายนอก แต่ก็ไม่ได้ทำได้แบบสมบูรณ์และยังมีข้อจำกัดเรื่องภาพที่ยังมีความเบลออยู่
  • ข้อเสียอีกอย่างที่หลายคนน่าจะพอเห็นได้แม้จะยังไม่เคยลองใช้ก็คือ ‘ราคา’ ที่แพงกว่าคู่แข่งอย่าง Meta Quest 3 ที่สนนราคาอยู่ประมาณ 17,800 บาท หรือน้อยกว่าราว 7 เท่าตัว

 

โดยรวมแล้ว Apple Vision Pro เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี และคงเป็นอุปกรณ์ที่น่าจะถูกใจคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ไม่น้อย 

 

แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือความเข้าใจตัวอุปกรณ์ให้รอบด้านก่อนที่เราจะตัดสินใจสั่งซื้อเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดายทีหลัง เพราะต้องบอกว่านี่เป็นการลงทุนที่ราคาไม่ถูกเลย

 

ดังนั้นคำถามที่ The Verge แนะนำว่าเป็นประเด็นที่ควรถามตัวเองก่อนซื้อคือ

  1. Vision Pro มันน่าตื่นเต้นถึงขนาดว่าเราจะไม่สนใจเลยใช่ไหมว่าผมจะเสียทรงหลังจากการสวมใส่
  2. Vision Pro นั้นดีขนาดถึงขั้นที่ว่าเราจะยอมมองโลกผ่านแว่นตัวนี้แทนที่จะมองด้วยตาของเราจริงหรือ
  3. เราอยากได้อุปกรณ์ที่ไม่สามารถโชว์ให้คนอื่นดูได้ว่าเรากำลังทำอะไรนอกเสียจากแค่เราคนเดียวจริงหรือ

 

ถ้าตอบได้ก็ค่อยซื้อ แต่ในประเทศไทยอาจยังไม่ใช่ในเร็ววันนี้!

 

ภาพ: Justin Sullivan / Getty Images

อ้างอิง:

The post รีวิวจากผู้ใช้จริง! Apple Vision Pro สมฐานะแว่นตามูลค่า 1.25 แสนบาทหรือไม่? และสิ่งที่ควรถามตัวเองก่อนซื้อ appeared first on THE STANDARD.

]]>