จักรกริช สังขมณี – THE STANDARD https://thestandard.co สำนักข่าวออนไลน์ นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ ให้ความรู้ ความคิด และแรงบันดาลใจ. Tue, 22 Nov 2022 09:57:49 +0000 th hourly 1 https://wordpress.org/?v=6.5.5 วัคซีนในสังคม: จาก ‘ข้อเท็จจริง’ สู่ ‘การตระหนักร่วม’ https://thestandard.co/social-immunity-of-vaccines-2/ Tue, 22 Nov 2022 14:00:09 +0000 https://thestandard.co/?p=713810

ในบทความก่อนหน้านี้ (ภูมิคุ้มกันเชิงสังคมของวัคซีน: การ […]

The post วัคซีนในสังคม: จาก ‘ข้อเท็จจริง’ สู่ ‘การตระหนักร่วม’ appeared first on THE STANDARD.

]]>

ในบทความก่อนหน้านี้ (ภูมิคุ้มกันเชิงสังคมของวัคซีน: การรับรู้ ความลังเล และการ (ไม่) ยอมรับ) ผู้เขียนได้ทำความเข้าใจการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด ตลอดจนการทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพ ไม่เพียงแต่ในแง่ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันไวรัสได้เท่านั้น หากแต่ต้องมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อความต้องการและความเชื่อมั่นทางสังคมด้วย ประเด็นหลังนี้ผู้เขียนเรียกว่า ‘ภูมิคุ้มกันทางสังคม’ ของวัคซีน ซึ่งเป็นมิติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง หากเราจะเข้าใจการทำงานและการแพร่กระจายของวัคซีน ซึ่งดำเนินไปพร้อมๆ กับการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสาร ความคาดหวัง และเชื้อไวรัสในสังคม 

 

ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่าประเด็นสำคัญของการอภิปรายถึงวัคซีน ‘ที่ดี’ นั้นไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงเรื่องประสิทธิภาพของการป้องกันรักษาโรค หากแต่เชื่อมโยงกับบริบทเรื่องเวลา มูลค่า กระบวนการได้มา และความน่าเชื่อถือของหน่วยงานที่ผลิตและจัดหาด้วย กล่าวอีกอย่างก็คือว่า การที่ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์หนึ่งใดจะได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และแพร่กระจายไปสู่วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมได้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าเทคโนโลยีหรือผลผลิตดังกล่าวนั้นมีประสิทธิภาพในเชิงเทคนิคในตัวมันเองแต่เพียงเท่านั้น หากแต่กระบวนการสร้างความตระหนักรู้และการยอมรับในสังคมย่อมเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เป็นผลมาจากการที่สังคมสามารถเข้าถึง มีส่วนร่วม และยึดโยงกับตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และอุดมคติของผู้คนที่หลากหลายด้วย

 

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นกระบวนการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ซึ่งต่อเนื่องจากกระบวนการทางเทคนิคและทางสังคมของการพัฒนาวัคซีนที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว กระบวนการที่ว่าก็คือ การกระจายวัคซีนให้แพร่หลายออกไปในสังคม การกระจายวัคซีนเป็นกระบวนการที่มีสำคัญ ซึ่งทำให้ประเด็นข้อเท็จจริง (Matters of Fact) จากการศึกษาค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่มคนและหน่วยงานเฉพาะกลุ่ม ปรับเปลี่ยนจนกลายมาเป็นประเด็นที่รับรู้และตระหนัก (Matters of Concern) ร่วมกันในสังคมวงกว้าง ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลายทั้งในเชิงความคิดและที่มา

 

การกระจายวัคซีนจึงเป็นกระบวนการที่จำเป็นในการเชื่อมโยงมิติเชิงสถาบันและความสัมพันธ์ที่หลากหลายแบบเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ สถาบันทางการเมือง เทคโนโลยีดิจิตัล เครือข่ายทางสังคม สื่อสารมวลชน ระบบระเบียบของการจัดกลุ่มประชากร และการให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม บทความนี้จะนำประเทศออสเตรเลียมาเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้กับสังคมไทยได้ลองขบคิดและเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยผู้อ่านเอง 

 

จากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ สู่การไหลเวียนของวัคซีนในสังคม

 

ในช่วงปลายปี 2020 หรือราว 1 ปีหลังจากการเริ่มแพร่ระบาดของโควิด เป็นช่วงที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มวางแผนในการรับเอาวัคซีนมาใช้เพื่อการบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาด ในเดือนพฤศจิกายน 2020 รัฐสภาของออสเตรเลียได้ลงมติเห็นชอบ The Australian COVID-19 Vaccination Policy ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางการกระจายวัคซีนโควิดในประเทศออสเตรเลีย โดยมีหลักสำคัญคือ ประชาชนออสเตรเลียต้องได้รับวัคซีนที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นโยบายดังกล่าวได้กำหนดกลยุทธ์การสื่อสารในการให้ข้อมูลที่ทันท่วงที โปร่งใส เชื่อถือได้ แก่สาธารณชนและผู้เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นการสื่อสารที่สม่ำเสมอและโปร่งใสผ่านช่องทางของรัฐบาลออสเตรเลียและสื่อต่างๆ โดยมีข้อความสำคัญ ประกอบด้วย 

 

  1. วัคซีนโควิดเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการปกป้องชุมชนชาวออสเตรเลีย 

 

  1. เป้าหมายคือการเข้าถึงและขนส่งวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพแก่ชาวออสเตรเลียทุกคน 

 

  1. รัฐบาลจะเฝ้าติดตามกระบวนการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัคซีนที่จะนำมาใช้นั้นมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการใช้งาน 

 

  1. วัคซีนจะถูกกระจายไปยังกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงก่อน 

 

  1. กลุ่มที่จะมีสิทธิ์ได้รับวัคซีนก่อนนั้นจะคำนึงจากคุณสมบัติของวัคซีน ผลการทดสอบของวัคซีน ตลอดจนสถานการณ์การระบาด 

 

  1. ประชาชนออสเตรเลียจะได้รับการสนับสนุนให้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามปริมาณวัคซีนที่มากขึ้น 

 

  1. ส่งเสริมให้ประชาชนออสเตรเลียรับข้อมูลจากแหล่งที่มีความน่าชื่อถือ เพื่อช่วยในการตัดสินใจและติดตามข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ 

 

รัฐสภาของออสเตรเลียได้ลงมติเห็นชอบ The Australian COVID-19 Vaccination Policy ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางการการกระจายวัคซีนโควิดในประเทศออสเตรเลีย โดยมีหลักสำคัญคือ ประชาชนออสเตรเลียต้องได้รับวัคซีนที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

ไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2021 ได้มีการเผยแพร่ Australia’s COVID-19 vaccine national roll-out strategy โดยกำหนดลำดับประชากรในการรับวัคซีน ซึ่งแบ่งออกเป็นช่วงเวลาที่ต่างกันออกไป ทั้งนี้ ประชากรถูกแบ่งออกเป็น 16 กลุ่ม อยู่ภายใต้ 5 ช่วงเวลา โดยในช่วงแรก ประชากรออสเตรเลียที่จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิดคือ ผู้พำนักในสถานดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ทำงานที่เกี่ยวข้อง, ผู้พิการ รวมถึงผู้ทำงานที่เกี่ยวข้อง, เจ้าหน้าที่การแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า และผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับพรมแดนและการกักกันโรค ผ่านโรงพยาบาลทั่วออสเตรเลียกว่า 30-50 โรงพยาบาล

 

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี Scott Morrison ได้กล่าวว่า ประชาชนกลุ่มแรกที่มีความเสี่ยงสูงจะได้รับวัคซีนประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยคาดการณ์ว่าจะได้รับวัคซีน Pfizer หากผ่านการรับรองจากหน่วยงานบริหารสินค้ารักษาโรค (Therapeutic Goods Administration: TGA) ซึ่งคาดว่ากระบวนการรับรองจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคม 2021 ทั้งนี้ จะเป็นวัคซีน Pfizer ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนประชากรส่วนใหญ่ภายในประเทศคาดว่าจะได้รับวัคซีน AstraZeneca ซึ่งสามารถผลิตได้ภายในประเทศ

 

ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2021 รัฐบาลสหพันธรัฐได้เริ่มการณรงค์ทางสังคมผ่าน COVID-19 vaccine information campaign ด้วยเงินลงทุนกว่า 23.9 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย การรณรงค์นี้เกิดขึ้นภาพหลัง TGA ได้อนุมัติวัคซีน Pfizer ซึ่งถือเป็นวัคซีนโควิดตัวแรก โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในวงกว้างในเรื่องของความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนการฉีดวัคซีน รวมไปถึงข้อมูลการเข้ารับวัคซีน ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย และดิจิทัลมีเดีย โดยการรณรงค์ที่ว่านี้ประกอบด้วย 3 ระยะ ได้แก่

 

  1. การยืนยันว่าวัคซีนได้ผ่านกระบวนการรับรองโดยหน่วยงานออสเตรเลียถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพ

 

  1. การให้ข้อมูลถึงแผนการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะแก่ Priority Groups ตลอดจนปริมาณโดสที่ควรได้รับ

 

  1. การแจ้งประชาชนถึงข้อมูลสำหรับการเข้ารับการฉีดวัคซีน ทั้งในเรื่องสถานที่ กระบวนการ ปริมาณโดสที่ควรได้รับ ตลอดจนแนวทางการสนับสนุนช่วยเหลือการเข้ารับวัคซีนอื่นๆ 

 

จากนโยบาย ‘ข้อเท็จจริง’ สู่ ‘ข้อตระหนัก’

 

นอกจากประชากรกลุ่มเสี่ยง และผู้เกี่ยวข้องหลัก เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ปฏิบัติการด่านหน้าด้านต่างๆ แล้ว การเริ่มกระจายวัคซีนออกสู่สาธารณชนโดยกว้างย่อมต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับ ท่ามกลางกระบวนการดังกล่าวนี้ ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องทำงานร่วมกับสถาบันทางการเมืองในเชิงนโยบาย และดึงเอาเครือข่ายทางสังคม รวมถึงมิติต่างๆ ทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม เข้ามาร่วมพิจารณาในการปรับเปลี่ยน ‘ข้อเท็จจริง’ ทางวิทยาศาสตร์ ให้กลายมาเป็น ‘ข้อตระหนัก’ ร่วมทางสังคม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างวัคซีนกับตัวแสดงอื่นๆ มากขึ้น ท่ามกลางกระบวนการดังกล่าวนี้ เราจะเริ่มเห็นว่าข้อมูลทางเทคนิคจะถูกนำมาผสมผสานและเชื่อมโยงกับมิติและความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบที่หลากหลายออกไป 

 

ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องทำงานร่วมกับสถาบันทางการเมืองในเชิงนโยบาย และดึงเอาเครือข่ายทางสังคม รวมถึงมิติต่างๆ ทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม เข้ามาร่วมพิจารณาในการปรับเปลี่ยน ‘ข้อเท็จจริง’ ทางวิทยาศาสตร์ ให้กลายมาเป็น ‘ข้อตระหนัก’ ร่วมทางสังคม

 

ในกรณีของประเทศออสเตรเลีย เราสามารถพิจารณากระบวนการดังกล่าวออกเป็นมิติต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ครอบคลุมแง่มุมทั้งหมด แต่ก็น่าจะเป็นประเด็นที่จะพอให้เห็นภาพของกระบวนการปรับเปลี่ยนที่ว่านี้ได้บ้าง

 

  • การสร้างข้อตระหนักในเรื่องความปลอดภัย

ระยะแรกของ COVID-19 vaccine information campaign จะเน้นการสื่อสารเพื่อยืนยันว่าวัคซีนได้ผ่านกระบวนการอนุมัติเพื่อรับรองถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ผ่านสื่อรณรงค์ประเภทต่างๆ ได้แก่ วีดิทัศน์ โปสเตอร์ และสื่อทางสังคมต่างๆ โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ เช่น 

 

  1. How COVID-19 Vaccines work ตัวอย่างเช่น วีดิทัศน์แสดงถึงขั้นตอนการทำงานของวัคซีนภายในร่างกายหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน จากวีดิทัศน์ดังกล่าวนั้นมีการใช้ Animated Explainer Video ผ่านกราฟิกที่เรียบง่าย และการอธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย รวมถึงการแสดงข้อความสำคัญ ‘Safe. Effective. Free’ อยู่หลายครั้งตลอดวีดิทัศน์

 

 

  1. How vaccines are tested and approved ตัวอย่างเช่น วีดิทัศน์รูปแบบ Animated Explainer Video อธิบายถึงขั้นตอนการทำงานของ TGA ในการรับรองและอนุมัติวัคซีนโควิด ทั้ง 6 ขั้นตอน โดยมีข้อความสำคัญคือ ความปลอดภัย คุณภาพ และประสิทธิภาพ (Safety. Quality. Effectiveness)

 

 

นอกจากวีดิทัศน์รูปแบบที่มีภาคกราฟิกเคลื่อนไหวประกอบแล้ว ยังมีวีดิทัศน์ที่มีบุคคลอธิบายถึงผลกระทบของโควิด กระบวนการรับรองวัคซีน และแนวทางการกระจายวัคซีน ยกตัวอย่าง ในสื่อวีดิทัศน์นี้ได้มีศาสตราจารย์ John Skerritt จาก TGA กล่าวยืนยันว่า “วัคซีนจะได้รับการอนุมัติก็ต่อเมื่อพวกเรามีข้อมูลที่เพียงพอว่าวัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพและปลอดภัย” ตลอดจนมีนายแพทย์ Nick Coatsworth แพทย์โรคติดเชื้อ และศาสตราจารย์ Alison McMillan หัวหน้าการพยาบาลและผดุงครรภ์ กลุ่มบุคคลเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีความน่าเชื่อถือที่จะเป็นโฆษกในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อคำถามที่ว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้เพียงพอแล้วหรือไม่ที่จะเจาะเข้าถึงคนทุกกลุ่ม เนื่องจากออสเตรเลียมีความหลากหลาย จึงอาจจะต้องใช้ตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้นำทางศาสนาและวัฒนธรรม อีกทั้งความปลอดภัยของวัคซีนถือว่าเป็นข้อกังวลหลักของสาธารณชน การสื่อสารที่ยืนยันถึงความปลอดภัยจึงถือว่าเป็นหัวใจหลัก อย่างไรก็ตาม การสื่อสารถึงผลข้างเคียง ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลความปลอดภัยอย่างโปร่งใสและสม่ำเสมอ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่สังคม

 

 

นอกจากสื่อวีดิทัศน์แล้ว สื่อทางโซเชียลมีเดียในรูปแบบภาพนิ่งถูกเผยแพร่ในระยะแรกของแคมเปญเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2021 เพื่อสนับสนุนโปรแกรมการฉีดวัคซีน โดยมีข้อความสำคัญ คือ 1. Stay up to date 2. Vaccine protect 3. TGA approval process และ 4. Vaccines free 

 

 

นอกจากการสื่อสารที่มาจากรัฐบาลสหพันธรัฐในข้างต้นแล้ว รัฐบาลมลรัฐยังมีการสื่อสารถึงความปลอดภัยของวัคซีนไปยังประชาชนในแต่ละรัฐเพื่อสร้างความมั่นใจเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เพจเฟซบุ๊กของ ACT Health ได้เผยแพร่โพสต์ในรูปแบบ Fact Check เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2021 ว่าการพัฒนาและรับรองวัคซีนโควิดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเร่งรัด (COVID-19 vaccine development and approvals were not rushed) พร้อมให้เหตุผลว่า การแพร่ระบาดของโควิดทำให้นักวิจัยและผู้พัฒนาวัคซีนจากทั่วโลกจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาวัคซีนเป็นลำดับแรก มีการลงทุนด้วยงบประมาณจำนวนมากในการทำวิจัย รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งช่วยให้นักวิจัยเข้าใจไวรัส ทั้งนี้ ไวรัสโคโรนาเป็นกลุ่มไวรัสที่รู้จักดีอยู่แล้วจากการระบาดของ SARS ในปี 2003 และ MERS ในปี 2012 ทำให้นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์มีความเข้าใจธรรมชาติของไวรัส 

 

ในออสเตรเลียมีหน่วยงาน TGA ซึ่งจะรับรองวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพเท่านั้น โดย TGA สามารถเข้าถึงข้อมูลการทดลองทางคลินิก (Clinical Trial Data) ได้ตลอดเวลา จึงทำให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว โพสต์ดังกล่าวนี้ได้รับเอ็นเกจเมนต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก โดยมีผู้กดรีแอ็กชันกว่า 14,000 คน มีการเผยแพร่ต่อกว่า 449 ครั้ง และมีการแสดงความเห็นใต้โพสต์ว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ลังเลที่จะเข้ารับวัคซีน เช่น คอมเมนต์ที่ว่า “This is a very good to read. Excellent information. Helping those who hesitate to make an informed decision – yes or no. Giving those who made the decision to have the vaccine to know there was a lot of research done before the Jan…”

 

 

  • การสร้างข้อตระหนักในเชิง ‘Community Spirit’

การสร้างข้อตระหนักในเรื่องของความปลอดภัยอาจจะยังมีความใกล้ชิดกับข้อเท็จจริงทางเทคนิคอยู่ไม่น้อย แต่อย่างที่เราจะได้เห็นต่อไป การสร้างข้อตระหนักจะเริ่มมีการดึงเอาส่วนผสมหรือมิติที่กว้างออกไปเข้ามาจัดวางร่วมกับข้อมูลของวัคซีนและการระบาดมากขึ้น เช่น 

 

1. การรณรงค์ว่าด้วย ‘Arm yourself against COVID-19’

 

รัฐบาลสหพันธรัฐได้ออกแคมเปญ Arm Yourself เพื่อรณรงค์ให้ชาวออสเตรเลียที่มีสิทธิ์รับวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อปกป้องตัวเอง คนที่รักและห่วงใย ตลอดจนชุมชน โดยสื่อด้วยภาพผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เพศ และช่วงอายุ ถกแขนเสื้อ โชว์พลาสเตอร์ยาปิดแผลบนพื้นฉากหลังสีพาสเทล เพื่อสื่อว่าคนเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีน พร้อมกับข้อความที่ว่า “การเข้ารับวัคซีนเป็นแนวทางป้องกันไวรัสที่ดีที่สุดสำหรับคุณ และเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เราก้าวต่อไปข้างหน้า ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะปกป้องตัวเอง และสนับสนุนครอบครัวของคุณ เพื่อนของคุณ เพื่อนร่วมงานของคุณ ชุมชนของคุณ หรือใครก็ได้ที่คุณรัก มาทำสิ่งเดียวกัน” (A COVID-19 vaccine is your best defence, and our only way forward. Now’s the time to protect yourself, and encourage your family, your friends, your workmates, your community, someone you love to do the same. Find out when you can book your vaccination.)

 

รัฐบาลสหพันธรัฐได้ออกแคมเปญ Arm Yourself เพื่อรณรงค์ให้ชาวออสเตรเลียที่มีสิทธิ์รับวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อปกป้องตัวเอง คนที่รักและห่วงใย ตลอดจนชุมชน โดยสื่อด้วยภาพผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เพศ และช่วงอายุ ถกแขนเสื้อ โชว์พลาสเตอร์ยาปิดแผลบนพื้นฉากหลังสีพาสเทล เพื่อสื่อว่าคนเหล่านี้ได้รับการฉีดวัคซีน

 

อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ Tom van Laer ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์เรื่องเล่า จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้กล่าวว่า การยอมรับพฤติกรรมนั้นอาศัยความเชื่อมั่นและแรงจูงใจ โฆษณาชิ้นนี้สร้างความเชื่อมั่นในวัคซีน แต่ยังขาดการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนเข้ารับการฉีดวัคซีน ถึงแม้ว่าการรณรงค์ดังกล่าวนี้มีการเผยเพร่ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ และได้ปรับให้เหมาะสมกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษา ตลอดจนประชากรชาวอะบอริจิน และคนพื้นเมืองหมู่เกาะช่องแคบทอร์เรส อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าการรณรงค์นี้อาจเข้าไม่ถึงกลุ่มชุมชนที่มีความหลากหลาย และถูกตั้งข้อสังเกตว่าคำว่า Arm Yourself นั้นถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ ได้หรือไม่ และอย่างไร 

 

 

นอกจากการรณรงค์ ‘Arm yourself against COVID-19’ ของรัฐบาลสหพันธรัฐ รัฐบาลมลรัฐได้สื่อสารเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนด้วยข้อความในเชิง Community Spirit เช่น เพจเฟซบุ๊กของ ACT Health ได้ใช้ภาพโปรไฟล์ที่มีข้อความว่า “I’ve had the COVID-19 vaccine. Keep CBR safe & strong.” รวมถึงการสื่อสารในทำนองเดียวกันในโพสต์อื่นๆ เช่น โพสต์อัปเดตจำนวนผู้เข้ารับวัคซีน พร้อมข้อความที่ว่า “Thank you for keeping Canberra safe and strong.” ที่บ่งบอกถึงการมีส่วนร่วมดูแลสังคมด้วยการเข้ารับวัคซีนโควิด

 

 

  • การสร้างความตระหนักในเชิง ‘Lure of Social Freedom’ 

 

‘Spread Freedom’ campaign?

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2021 รัฐบาลสหพันธรัฐได้เผยแพร่แคมเปญ Spread Freedom เพื่อรณรงค์ให้ผู้ที่มีสิทธิ์รับวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีน แคมเปญนี้ออกมาในขณะที่ประชากรออสเตรเลียที่มีสิทธิ์รับวัคซีนได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วกว่าร้อยละ 73 และต้องการให้ประชาชนออสเตรเลียออกมารับวัคซีนมากขึ้น ผ่านแท็กไลน์ที่ว่า ‘Spread Freedom’ แคมเปญนี้สื่อสารถึงการใช้ชีวิตอิสระ ผ่านเรื่องราวการไปผับ การพบปะครอบครัว และการเดินทาง เพื่อสื่อสารถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนว่าพวกเขาอาจจะพลาดสิ่งเหล่านี้ พร้อมกับข้อความปิดท้ายในเชิงเชิญชวนที่กล่าวว่า “We almost there Australia. Book your COVID-19 vaccination at Australia.gov.au” เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนทำนัดเข้ารับการฉีดวัคซีน

 

รัฐบาลสหพันธรัฐได้เผยแพร่แคมเปญ Spread Freedom เพื่อรณรงค์ให้ผู้ที่มีสิทธิ์รับวัคซีนเข้ารับการฉีดวัคซีน ผ่านแท็กไลน์ที่ว่า ‘Spread Freedom’ แคมเปญนี้สื่อสารถึงการใช้ชีวิตอิสระ ผ่านเรื่องราวการไปผับ การพบปะครอบครัว และการเดินทาง เพื่อสื่อสารถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนว่าพวกเขาอาจจะพลาดสิ่งเหล่านี้

 

 

Roll Up for WA Campaign

 

มลรัฐควีนส์แลนด์ และเวสเทิร์นออสเตรเลีย เป็นรัฐที่มีอัตราการเข้ารับวัคซีนโควิดน้อยที่สุด ดังนั้นรัฐบาลมลรัฐจึงรณรงค์ให้ประชาชน อาจเนื่องมาจากรัฐเหล่านี้ไม่มีการแพร่ระบาดที่รุนแรงเหมือนรัฐนิวเซาท์เวลส์, วิกทอเรีย และออสเตรเลียนแคพิทอลเทร์ริทอรี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมลรัฐได้พยายามสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน ตัวอย่างเช่น รัฐบาลมลรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียได้ลงทุนกว่า 3.6 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ผ่านแคมเปญ Roll Up for WA เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในรัฐเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยแคมเปญนี้มุ่งเป้าหมายรณรงค์ประชากรวัยรุ่น โดยสื่อสารว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วสามารถที่จะเดินทาง สนุกกับการเล่นกีฬา คอนเสิร์ต ตลอดจนกิจกรรมครอบครัว ไม่ใช่เฉพาะภายในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย แต่รวมถึงในรัฐอื่นๆ ตลอดจนในต่างประเทศ โดยโฆษณาชิ้นนี้จะถูกเผยแพร่ระหว่าง Australian Football League (AFL) Grand Final รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดีย วิทยุ และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ 

 

  • การสร้างความตระหนักในเชิง ‘Fear-Based’ 

 

Don’t be complacent

 

โฆษณา Don’t be complacent ได้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2021 ในซิดนีย์ขณะที่กำลังมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาและอยู่ภายใต้การล็อกดาวน์เป็นสัปดาห์ที่ 3 โฆษณาชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อติดไวรัส ผ่านภาพผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีปัญหากับระบบทางเดินหายใจและต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ ทั้งนี้ Paul Kelly, Chief Medical Officer ได้กล่าวว่า ข้อความสำคัญคือเราต้องการให้ประชาชนออสเตรเลียเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว เขากล่าวว่า “ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะชะล่าใจ ไม่ใช่เวลาที่จะลังเล แต่เป็นเวลาที่ควรตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม” (This is not a time for complacency, it is not a time for frustration, it is a time for actually recognising that and taking that responsibility for yourself, your family and the community.)

 

 

จะเห็นได้ว่ากระบวนการและปฏิบัติการปรับเปลี่ยนข้อเท็จจริงทางเทคนิคเกี่ยวกับวัคซีนให้กลายมาเป็นข้อตระหนักของผู้คนในสังคมนั้น ไม่สามารถจะดำเนินการไปได้หากเน้นไปที่การนำเสนอข้อเท็จจริงทางเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียว การจัดวาง การกระจาย และความแพร่หลายยอมรับวัคซีนในสังคม เป็นผลมาจากความสามารถในการเชื่อมโยงข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้นกับมิติและข้อห่วงใยอื่นๆ ในสังคม เช่น ความปลอดภัย จิตสำนึกของความเป็นชุมชน เสรีภาพ และความหวาดกลัว เป็นต้น ในที่นี้ ผู้เขียนไม่ได้ต้องการสนับสนุนหรือเสนอว่าข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่มีความสำคัญ หากแต่เป้าหมายของบทความพยายามจะชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จของการทำงานของผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคม ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการเชื่อมโยงความเป็นเทคนิคดังกล่าวกับบริบทเชิงการเมือง วัฒนธรรม อุดมคติ และความคาดหวังของสังคมให้ได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผลผลิตทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก็ไม่เคยดำรงอยู่ท่ามกลางสุญญากาศ หากแต่เป็นผลมาจากการผลิตสร้างขึ้นทางสังคมทั้งสิ้นนั่นเอง

 

อ้างอิง:

The post วัคซีนในสังคม: จาก ‘ข้อเท็จจริง’ สู่ ‘การตระหนักร่วม’ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ภูมิคุ้มกันเชิงสังคมของวัคซีน: การรับรู้ ความลังเล และการ (ไม่) ยอมรับ https://thestandard.co/social-immunity-of-vaccines/ Thu, 31 Mar 2022 13:02:02 +0000 https://thestandard.co/?p=612818 ภูมิคุ้มกันเชิงสังคม

ปรากฏการณ์การระบาดและความพยายามยับยั้งการแพร่กระจายของเ […]

The post ภูมิคุ้มกันเชิงสังคมของวัคซีน: การรับรู้ ความลังเล และการ (ไม่) ยอมรับ appeared first on THE STANDARD.

]]>
ภูมิคุ้มกันเชิงสังคม

ปรากฏการณ์การระบาดและความพยายามยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด เชื่อมโยงกับมิติความสัมพันธ์ที่หลากหลายในสังคม โดยพื้นฐานแล้ว การระบาดของไวรัสเกี่ยวข้องมิติเชิงชีวภาพของเชื้อไวรัส สภาพแวดล้อม ตลอดจนเกี่ยวข้องกับสุขภาวะของสิ่งมีชีวิตอย่างมนุษย์ แต่นอกเหนือจากมิติเชิงชีวภาพแล้ว การระบาดของไวรัสก็ยังเกี่ยวข้องกับมิติทางกายภาพที่วางอยู่บนความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่และการสัมผัส ทั้งยังเป็นเรื่องทางเทคนิคโดยเฉพาะการพัฒนา การเก็บรักษา การกระจายวัคซีน ตลอดจนการประเมินปฏิกิริยาของร่างกายต่อเชื้อโรคและวัคซีน และที่สำคัญยังเป็นเรื่องทางสังคมและการเมือง ที่ซึ่งการแพร่กระจายและการยับยั้งการระบาดมักเชื่อมโยงอย่างมากกับความน่าเชื่อถือของการผลิต ความโปร่งใสของข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน ความชอบธรรมในการจัดหาและแจกจ่าย ตลอดจนทัศนคติของสาธารณะต่อการจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในสังคม

 

เช่นนั้นแล้ว การทำความเข้าใจการระบาดและความพยายามในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด จึงต้องพิจารณาให้เห็นถึงระบบนิเวศหรือความสัมพันธ์ที่เหลื่อมซ้อนและยากที่จะแยกออกจากกันระหว่างปริมณฑลทางชีวภาพ กายภาพ เทคนิค สังคม และความเป็นการเมืองของวัคซีน

 

การทำงานของวัคซีน ตลอดจนความสำเร็จและข้อจำกัดของวัคซีน ในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคในสังคม จึงไม่ใช่เรื่องของประสิทธิภาพของมันในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค (Virulence-oriented Immunity) ในมนุษย์เท่านั้น หากแต่เชื่อมโยงอย่างมากว่าวัคซีนดังกล่าวมีภูมิคุ้มกันเชิงสังคม (Society-oriented Immunity) ในการถูกพัฒนา รับรู้ ได้รับการยอมรับ และสามารถกระจายไปอย่างทั่วถึงในสังคมหรือไม่ด้วย

 

ในบทความนี้ ผู้เขียนยกตัวอย่างกรณีศึกษาของประเทศออสเตรเลียและไทย ในด้านหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นถึงระบบนิเวศและกระบวนการการผลิต การจัดหา การให้ข้อมูล และการรณรงค์ ตลอดจนการแจกจ่ายวัคซีนในสังคม และในอีกด้านหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นถึงการรับรู้ของผู้คน ทัศนคติ ความกังวลใจ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนำมาซึ่งความลังเลในการรับหรือการปฏิเสธการรับวัคซีน ผู้เขียนเสนอว่า วัคซีนแต่ละประเภทดำรงอยู่ ได้รับการยอมรับ และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในลักษณะที่หลากหลายออกไป การดำรงอยู่และการทำงานร่วมกับผู้คนในสังคมที่แตกต่างกันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าวัคซีนเหล่านั้นไม่เพียงแต่มีศักยภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโรคที่ต่างกันเท่านั้น หากแต่มี ‘ภูมิคุ้มกันเชิงสังคม’ ที่ต่างกันไปออกไปด้วย   

 

แม้ว่าวัคซีนจะเป็นผลผลิตเชิงเทคนิคของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ แต่กระนั้นวัคซีนก็ไม่เคยเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างแยกขาดจากการให้คุณค่าทางสังคมการเมือง

 

 

ระบบนิเวศของวัคซีน

 

วัคซีนถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ที่ผ่านมา การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโดยการให้วัคซีน (Vaccination) ถือเป็นแนวทางด้านสาธารณสุขที่มีความปลอดภัยสูง มีต้นทุนต่ำ และสามารถเข้าถึงประชากรในโลกที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ความเชื่อ อายุ เพศสภาพ ฐานะ และระบบการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนถึงปัจจุบัน วัคซีนถูกนำมาใช้เพื่อการจัดการกับเชื้อโรคมากมายทั้งในคนและในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ความสำเร็จของวัคซีนนั้นทำให้โรคอย่างฝีดาษหรือไข้ทรพิษกลายเป็นเพียงอดีต และโรคคุดทะราด โปลิโอ มาลาเรีย กำลังถูกขจัดให้หมดไปในเวลาอันใกล้นี้ 

 

ในแง่นี้ วัคซีนจึงมีส่วนในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคเพื่อปกป้องชีวิตของผู้คน และเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญสำหรับการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ

 

แม้ว่าวัคซีนจะเป็นผลผลิตเชิงเทคนิคของวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ แต่กระนั้นวัคซีนก็ไม่เคยเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างแยกขาดจากการให้คุณค่าทางสังคมการเมือง ในแง่หนึ่ง กระบวนการทางเทคนิคที่เกิดขึ้นในห้องทดลองเป็นกระบวนการที่สำคัญในการได้มาซึ่งวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และสามารถขนส่งแจกจ่ายได้ง่าย แต่นั่นก็เพียงส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อกำจัดและป้องกันโรคเท่านั้น ในความเป็นจริงแล้ว ความสำเร็จของการป้องกันโรคอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่วัคซีนเหล่านั้นได้รับจัดสรรอย่างเหมาะสม ตลอดจนได้รับการยอมรับจากสาธารณะ และถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางในสังคมด้วย 

 

ในช่วงของการระบาดของเชื้อไวรัส มาตรการพื้นฐานในเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ และการกักตัวและติดตามผู้ติดเชื้อนั้นถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและเป็นสากล มาตรการที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เคยถูกนำมาใช้ในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้า เช่น SARS และ MERS ได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด มาตรการดังกล่าวกลับพบว่ายังเป็นแนวทางที่ไม่เพียงพอในการสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อโรค นั่นก็เพราะว่าโควิดมักจะแพร่เชื้อในช่วงที่ยังไม่มีอาการบ่งชี้แน่ชัด ด้วยเหตุนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันโดยการให้วัคซีนแก่ประชากรอย่างรวดเร็วและทั่วถึงจึงเป็นแนวทางที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นทางรอดระยะยาวในการต่อกรกับเชื้อโรคนี้ 

 

กระบวนการพัฒนาวัคซีนเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน และมักเข้าใจกันว่ามีจุดเริ่มต้นจากในห้องทดลองที่ไหนสักแห่งในโลก วัคซีน Sinovac (หรือ CoronaVac) ถูกพัฒนาขึ้นโดยห้องปฏิบัติการวิจัยของบริษัท Sinovac Biotech ร่วมกับ Wuhan Institute of Biological Products วัคซีนของ AstraZeneca คิดค้นโดยทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด วัคซีนยี่ห้อ Pfizer ผลิตขึ้นโดยบริษัท Pfizer Inc. บริษัทยาของสหรัฐฯ ร่วมกับ BioNTech บริษัทยาของเยอรมนี แน่นอนว่าศูนย์ปฏิบัติการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเภสัชกรรมเหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการพัฒนารูปแบบและแนวทางการทำงานของวัคซีนที่หลากหลาย ซึ่งเป็นทางเลือกให้กับสังคมที่มากขึ้น แต่กระนั้น ต้องไม่ลืมว่า การพัฒนาวัคซีนนั้นจุดเริ่มต้นที่แท้จริง ล้วนมาจากการเก็บตัวอย่างของเชื้อไวรัสที่แพร่อยู่ในสังคม เพื่อศึกษาถึงพันธุกรรม ลักษณะทางชีวกายภาพ ตลอดจนกลไกการดำรงอยู่และการแพร่กระจายของมันในโลกที่เป็นจริง นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจุดประสงค์หลักของการพัฒนาวัคซีนมีจุดเริ่มต้นจากความกังวลในสังคมมาตั้งแต่ต้น ในแง่ที่ว่ามันกำลังทำลายชีวิตของผู้คน เศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเมือง และดำเนินไปท่ามกลางความคาดหวังจากมวลมนุษย์ทั่วโลก

 

เชื้อที่ได้มาจากสภาพแวดล้อมจะถูกนำมาทดลองและพัฒนาต่อในห้องทดลอง กระบวนการดังกล่าวนี้แม้ว่าจะดำเนินไปในพื้นที่ปิด แต่ก็มักจะถูกจับตามองจากสังคมอย่างใกล้ชิด ขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะแนวทางของการพัฒนา เช่น การใช้เชื้อตาย การตัดต่อและสังเคราะห์สารพันธุกรรมจากส่วนต่างๆ ของไวรัส การทดลองในสัตว์ การทดลองในมนุษย์ การนำเสนอความก้าวหน้าและประสิทธิภาพ ตลอดจนการได้รับการรับรองจากสถาบันสาธารณสุขระดับชาติและหน่วยงานระหว่างประเทศอย่าง World Health Organization ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการที่ถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมแทบทั้งสิ้น

 

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด สิ่งที่แพร่หลายมากกว่าเชื้อโรคก็คงจะเป็นความสนใจใคร่รู้ การถกเถียงอภิปราย และการให้คุณค่าต่อวัคซีนที่กระจายอยู่ทั่วทุกอณูของสังคมโลก

 

วัคซีนเกิดขึ้นท่ามกลางพลวัตและความคาดหวังของสังคมเสมอ

 

การพัฒนาวัคซีนนั้นจุดเริ่มต้นที่แท้จริง ล้วนมาจากการเก็บตัวอย่างของเชื้อไวรัสที่แพร่อยู่ในสังคม

 

 

สังคมของวัคซีน วัคซีนในสังคมว่าด้วย ‘วัคซีนที่ดี’ และ ‘วัคซีนที่ดีน้อยกว่า’

 

 

ที่ประเทศออสเตรเลีย The Australian Technical Advisory Group on Immunisation (ATAGI) มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนแก่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข (Ministry of Health) ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานวิจัยและองค์กรต่างๆ โดยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2021 ได้ออกประกาศ (Statement) ด้านข้อคำนึงความปลอดภัยเกี่ยวกับวัคซีน AstraZeneca โดยแนะนำว่าวัคซีน Pfizer เป็น Preferred Vaccine สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ข้อแนะนำนี้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเกิดภาวะเกิดลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombosis with thrombocytopenia syndrome: TTS) หลังจากได้รับวัคซีน AstraZeneca ในกลุ่มผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2021 ATAGI ได้ออกประกาศคำแนะนำใหม่ว่าวัคซีน Pfizer เป็น Preferred Vaccine สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-60 ปี โดยคำแนะนำนี้ถูกปรับแก้เนื่องจากความเสี่ยงการเกิด TTS ที่สูงขึ้นจากการได้รับวัคซีน AstraZeneca ในกลุ่มอายุระหว่าง 50-59 ปีในออสเตรเลีย 

 

ทั้งนี้ในช่วงระหว่างต้นเดือนเมษายนจนถึงวันที่ 16 มิถุนายน 2021 ได้พบการรายงานผู้ป่วยจำนวน 60 รายที่ได้รับการยืนยันหรือมีความเกี่ยวข้องกับ TTS ในออสเตรเลีย โดย 7 รายในช่วงสัปดาห์ล่าสุดในขณะนั้นมีอายุระหว่าง 50-59 ปี ซึ่งส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการเกิด TTS ในกลุ่มอายุนี้เพิ่มขึ้นจาก 1.9 เป็น 2.7 ต่อ 1 แสนโดส AstraZeneca ทั้งนี้ TTS ถือเป็นภาวะที่มีความรุนแรงโดยมีอัตราการเสียชีวิตในออสเตรเลียที่ร้อยละ 3 (เสียชีวิตจำนวน 2 รายจากผู้ป่วย 60 ราย) AstraZeneca ถูกวางให้เป็นวัคซีนหลักของออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามคำแนะนำจาก ATAGI ส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อวัคซีน ซึ่งกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนของประเทศเนื่องจากออสเตรเลียมีการสำรองวัคซีน AstraZeneca เป็นจำนวนกว่า 53.8 ล้านโดส โดยมาจากการผลิตภายในประเทศถึง 50 ล้านโดส ขณะที่ประเทศมีการสำรองวัคซีน Pfizer อย่างจำกัด

 

คำแนะนำจาก ATAGI ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ของประชาชนต่อการแบ่งวัคซีนออกเป็น ‘วัคซีนที่ดี’ (Good Vaccine) และ ‘วัคซีนที่ดีน้อยกว่า’ (Less Good Vaccine) และมีคำถามตามมาว่า ‘Why can’t I have the good one?’ 

 

ถึงแม้จะมีการเปรียบเทียบความเสี่ยงที่เกิดจากการได้รับวัคซีน AstraZeneca กับความเสี่ยงที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือฟ้าผ่า อย่างไรก็ตามประชาชนยังคงเปรียบเทียบความเสี่ยงที่แตกต่างกันจากการได้รับวัคซีนระหว่าง AstraZeneca และ Pfizer โดยความกังวลนี้ส่งผลให้เกิดการยกเลิกนัดเข้ารับการฉีดวัคซีน AstraZeneca รวมไปถึงความกังวลในการเข้ารับวัคซีน AstraZeneca ในเข็มที่สอง 

 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติของออสเตรเลีย (Australian Bureau of Statistics) ในช่วงการสำรวจครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2021 พบว่า ร้อยละ 15 ของผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเป็นเพราะความต้องการวัคซีนทางเลือก (Wanting a different vaccine to what was available to them) โดยสัดส่วนความต้องการวัคซีนทางเลือกในกลุ่มที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 35 ในกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 50-69 ปี ขณะที่ร้อยละ 52 ของผู้ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีนให้เหตุผลเรื่องผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และร้อยละ 15 กังวลในประสิทธิภาพของวัคซีน   

 

ข้อมูลที่มีความขัดแย้งเหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2021 National Cabinet Statement 2021 ได้ระบุว่า แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปยังคงสามารถฉีดวัคซีน AstraZeneca แก่ประชาชนออสเตรเลียที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีต่อไปได้ อีกทั้งนายกรัฐมนตรี สกอตต์ มอร์ริสัน ได้กล่าวว่าประชาชนทั่วไปสามารถปรึกษาแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปเพื่อขอรับวัคซีน AstraZeneca ได้ไม่ว่าอยู่ในกลุ่มช่วงอายุใดก็ตาม รวมถึงกลุ่มประชากรอายุต่ำกว่า 40 ปี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ATAGI ได้ปรับคำแนะนำเรื่องช่วงอายุที่ควรได้รับวัคซีน AstraZeneca จากอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นอายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องจากพบความเสี่ยงต่อการเกิด TTS ในกลุ่มประชากรอายุ 50-59 ปี คำกล่าวจากนายกรัฐมนตรีก่อให้เกิดความสับสนของประชาชน รวมไปถึงความกังวลในกลุ่มแพทย์ปฏิบัติทั่วไปที่ยังคงยึดตามคำแนะนำของ ATAGI ว่าวัคซีน Pfizer เป็น Preferred Vaccine ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 60 ปี 

 

ถึงแม้ว่าวัคซีน Pfizer นั้นถูกมองว่าเป็นวัคซีนที่ดีกว่า AstraZeneca อย่างไรก็ตามความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ในการผลิตวัคซีน Pfizer ที่เกี่ยวข้องกับ mRNA นั้นเกิดขึ้นในประชาชนบางกลุ่มโดยผ่านการกระตุ้นจากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จในสังคมออนไลน์ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับวัคซีนประเภท mRNA ว่ามีผลกระทบต่อพันธุกรรมและการแสดงออกของยีน บน WeChat ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียสัญชาติจีน ทั้งนี้มีการรายงานว่าข้อมูลเท็จดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ในกลุ่ม WeChat อย่างน้อย 5 กลุ่ม โดยมี Chinese Australians จำนวนมากกว่า 2,000 คน ได้พูดคุยและเผยแพร่ข้อมูลนี้ และข้อมูลเท็จดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดโดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านการแพทย์ ข้อมูลเท็จ รวมถึงข้อมูลที่บิดเบือนถูกเผยแพร่ไปในสังคมออนไลน์โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ปัญหาผู้ที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักรับข้อมูลจากภายนอกก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในครอบครัวเกี่ยวกับโควิด และความปลอดภัยในการเข้ารับวัคซีน 

 

คำแนะนำจาก ATAGI ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ของประชาชนต่อการแบ่งวัคซีนออกเป็น ‘วัคซีนที่ดี’ (Good Vaccine) และ ‘วัคซีนที่ดีน้อยกว่า’ (Less Good Vaccine) และมีคำถามตามมาว่า ‘Why can’t I have the good one?’

 

 

ว่าด้วย ‘วัคซีนที่ดีที่สุด’: mRNA ดีกว่า Viral Vector ดีกว่าเชื้อตาย

ในประเทศไทยก็เช่นกัน มีการถกเถียงกันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละประเภท โดยในบรรดาวัคซีนทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ วัคซีน mRNA (Pfizer และ Moderna) วัคซีน Viral Vector (AstraZeneca) และวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac และ Sinopharm) มุมมองของประชาชนต่อวัคซีน Sinovac ถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับนักในเรื่องประสิทธิภาพการจัดการกับสายพันธุ์เดลตา ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากการที่กระทรวงสาธารณสุขได้เผยรายงานการศึกษาประสิทธิผลวัคซีน Sinovac จากการศึกษาในประเทศไทย ว่าสามารถป้องกันสายพันธุ์อัลฟาได้ร้อยละ 90 และสายพันธุ์เดลตาได้ร้อยละ 75 นั้น ได้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์เป็นอย่างมากถึงความน่าเชื่อถือของการศึกษา ความกังวลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac ส่งผลให้ประชาชนมีความต้องการวัคซีน mRNA ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากการสั่งจองวัคซีน Moderna เช่น ประชาชนเข้าจองวัคซีน Moderna เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 บนเว็บไซต์ของโรงพยาบาลรามาธิบดีจนระบบล่ม ขณะที่ชาวโคราชเข้าจองวัคซีน Moderna ล็อตที่ 2 บนระบบออนไลน์ของโรงพยาบาลเอกชนจนระบบล่มในทุกโรงพยาบาล

 

 

ความกังวลใจต่อประสิทธิภาพและอันตรายของวัคซีน และความไม่เชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อคำแนะนำของรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐ ส่งผลอย่างมากต่อการชะลอการรับวัคซีน Sinovac

 

 

นอกจากความกังวลในเรื่องของชนิดวัคซีนแล้ว แนวทางการฉีดวัคซีนแบบผสมยังก่อให้เกิดความกังวลในสังคมด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2021 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ฉีดวัคซีนต่างชนิดร่วมกันได้ โดยมติดังกล่าวระบุว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีน Sinovac เข็มที่ 1 ให้ฉีดเข็มที่ 2 เป็นวัคซีน AstraZeneca โดยเว้นระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุสายพันธุ์เดลตา ทั้งนี้ก่อให้เกิดความกังวลในกลุ่มประชาชน เนื่องจากองค์การอนามัยโลกได้กล่าวเตือนการฉีดวัคซีนสูตรผสมว่ามีงานวิจัยรับรองอยู่น้อยมากและมีความสับสน กังวล ไม่มั่นใจ และไม่พอใจกับการที่ต้องเป็นหนูทดลอง ขณะที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ได้กล่าวยืนยันว่าได้ทำการศึกษาและประเมินประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนสูตรผสมแล้ว 

 

ความกังวลใจต่อประสิทธิภาพและอันตรายของวัคซีน และความไม่เชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อคำแนะนำของรัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐ ส่งผลอย่างมากต่อการชะลอการรับวัคซีน Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนหลักของประเทศไทยในช่วงแรก และทำให้ประชาชนต้องรับภาระที่เพิ่มขึ้นในการเสียค่าใช้จ่ายและเวลาเพื่อจองวัคซีนทางเลือกกับโรงพยาบาลเอกชน ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและความไม่พอใจที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้คำโฆษณาของรัฐมนตรีสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญที่ว่า “วัคซีนที่ดีที่สุด คือวัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด” ได้กลายมาเป็นวลีตลกร้ายในสังคมและถูกนำมาล้อเลียนในสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง

 

มุมมองของประชาชนต่อวัคซีน Sinovac ถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับนักในเรื่องประสิทธิภาพการจัดการกับสายพันธุ์เดลตา

 

วัคซีนที่อ่อนแอ

วัคซีนที่อ่อนแอ คือวัคซีนที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในสังคม ด้วยว่ามันไม่เป็นที่ยอมรับอันเป็นผลมาจากความไม่ชัดเจนของข้อมูล การขาดความโปร่งใสของการจัดหา และรวมถึงการรณรงค์ที่ไร้ความน่าเชื่อถือ ความหวั่นวิตกของประชาชนผู้รับวัคซีนทำให้วัคซีนมีภูมิคุ้มกันในการทำงานต่อสู้กับเชื้อโรคร้ายในสังคมที่ลดลง ท่ามกลางการรับรู้ ความลังเลไม่แน่ใจ และการ (ไม่) ยอมรับวัคซีนที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่จะทำหน้าที่ในการเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญให้กับวัคซีนในเวลาที่มันแพร่กระจายไปในสังคม ก็คือการลดความกังวลใจของสาธารณชน ตลอดจนสร้างความชอบธรรมและการยอมรับวัคซีนให้เกิดขึ้นให้ได้  

 

ในตอนหน้า ผู้เขียนจะพูดถึงการกระบวนการสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับวัคซีน นั่นคือการรณรงค์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างการยอมรับวัคซีนให้เกิดขึ้นในสังคม 

 

 

อ้างอิง:

 

The post ภูมิคุ้มกันเชิงสังคมของวัคซีน: การรับรู้ ความลังเล และการ (ไม่) ยอมรับ appeared first on THE STANDARD.

]]>