×

จาก Sodomy Law สู่การสมรสเพศเดียวกัน ย้อนดูประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ยาวนานของ LGBTQ ในอเมริกา

12.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 mins. read
  • การเหยียดและกีดกันกลุ่ม LGBTQ ในสหรัฐฯ มีมาตั้งแต่สมัยที่อเมริกายังมีสถานะเป็นอาณานิคม (Colony) ของอังกฤษ สมัยนั้นมีกฎหมายที่เรียกว่า Sodomy Law ซึ่งบัญญัติว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นความผิดทางอาญา
  • ผลจากการกดดันทั้งจากภาครัฐและสังคมอย่างหนักหน่วงในยุค 50 ทำให้ชาว LGBTQ จำนวนหนึ่งคิดว่าพวกเขาจำเป็นต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองบ้าง โดยได้แรงหนุนจากกระแสตื่นตัวเรื่องความเท่าเทียมจากกรณีการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองของกลุ่มคนผิวดำ 
  • ปี 1969 เกิดเหตุจลาจลที่บาร์สโตนวอลล์ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องความเสมอภาคของชาว LGBTQ รวมทั้งเรียกร้องให้ยอมรับอัตลักษณ์และตัวตนของพวกเขา ซึ่งนำไปสู่การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติต่อชาว LGBTQ ในสหรัฐฯ
  • ชาว LGBTQ ต้องรอถึงยุคของ บารัก โอบามา ในปี 2010 ที่พรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสทั้งสภาสูงและสภาล่าง จึงสามารถผ่านกฎหมายยกเลิกการแบน Homosexual ในกองทัพได้อย่างสมบูรณ์
  • อีกหนึ่งการต่อสู้ที่ชาว LGBTQ พยายามเรียกร้องมาตั้งแต่ยุค 90 คือสิทธิในการแต่งงาน (Same-Sex Marriage) จนกระทั่งปี 2004 รัฐแมสซาชูเซตส์กลายเป็นมลรัฐแรกที่ออกกฎหมายรองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอีกหลายรัฐหลังจากนั้น  

เนื่องในโอกาสที่เดือนมิถุนายนของทุกปีเป็น Pride Month หรือเดือนแห่งความภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เราจึงขอพาย้อนเวลากลับไปดูการต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQ ในสหรัฐอเมริกาว่ากว่าจะมีวันนี้ วันที่คนกลุ่มนี้มีที่ยืนในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ พวกเขาต้องผ่านความยากลำบากและความเจ็บปวดอะไรมาบ้าง

 

 

เมื่อ Homosexuality เคยถูกนิยามเป็นความป่วยไข้และผิดกฎหมาย

การเหยียดและกีดกันกลุ่ม LGBTQ ในสหรัฐฯ มีมาตั้งแต่สมัยที่อเมริกายังมีสถานะเป็นอาณานิคม (Colony) ของประเทศอังกฤษ โดยบรรดาดินแดนอาณานิคมทั้งหลายมักมีกฎหมายที่เรียกว่า Sodomy Law ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันนั้นเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งในหลายๆ อาณานิคม การฝ่าฝืน Sodomy Law มีโทษถึงจำคุกตลอดชีวิต 

 

แนวคิดนี้เกิดจากความเชื่อทางศาสนาที่ว่า การมีเพศสัมพันธ์ควรมีไว้เพื่อการสืบเผ่าพันธุ์เท่านั้น การมีเพศสัมพันธ์เพื่อความสนุกสนานอย่างเดียวในกรณีของคนเพศเดียวกันจึงถือเป็นความผิดบาป กฎหมาย Sodomy Law ถูกส่งต่อมาเรื่อยๆ จนถึงยุคที่อเมริกาประกาศตัวเป็นอิสรภาพจากประเทศอังกฤษในปี 1776

 

ชาว LGBTQ เริ่มออกมาปรากฏตัวสู่สายตาของสังคมผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และภาพยนตร์ในช่วงยุค 1900 โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1918 อย่างไรก็ดีในชีวิตจริงชาว LGBTQ ก็ยังต้องอยู่กันแบบหลบๆ ซ่อนๆ (หรือที่เรียกกันว่า Stay in the Closet) กันต่อไป เพราะการบังคับใช้ Sodomy Law ยังเข้มข้นอยู่ และเสรีภาพของชาว LGBTQ ก็ยิ่งมาถูดลิดรอนลงไปอีกในช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะในยุค 50 เพราะรัฐบาลกลางในเวลานั้นมีความเชื่อว่าชาว LGBTQ มีโอกาสจะไปเป็นสปายให้กับสหภาพโซเวียตได้มากกว่าคนปกติ เพราะมีความเป็นไปได้ที่คนกลุ่มนี้อาจถูกแบล็กเมลจากกิจกรรมทางเพศ จนถูกโซเวียตบังคับให้ทำอะไรก็ได้ 

 

ยิ่งไปกว่านั้นในปี 1952 สมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกายังประกาศอีกว่า การมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน (Homosexuality) ถือเป็นความผิดปกติทางจิต (Mental Disorder) รูปแบบหนึ่ง ดังนั้นในปี 1953 ประธานาธิบดีดไวท์ ไอเซนฮาวร์ (Dwight Eisenhower) จึงได้ออกคำสั่งของประธานาธิบดี (Executive Order) ให้หน่วยงานของรัฐบาลไล่ออกเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็น LGBTQ ซึ่งคำสั่งนี้ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ 5,000 คน ต้องตกงานโดยที่ไม่มีความผิดอะไร (ยกเว้นแค่ว่าเป็น LGBTQ) นอกจากนี้ไอเซนฮาวร์ยังสั่งให้ FBI และไปรษณีย์กลางเก็บข้อมูลและสอดส่องความเคลื่อนไหวของชาวอเมริกันที่เป็น LGBTQ ไว้ บนพื้นฐานของความหวาดกลัวเรื่องการเป็นสายลับดังที่กล่าวไว้ข้างต้น 

 

 

Homophile Activism

ผลจากการกดดันทั้งจากภาครัฐและสังคมอย่างหนักหน่วงในยุค 50 ทำให้ชาว LGBTQ จำนวนหนึ่งคิดว่าพวกเขาจำเป็นต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองบ้าง ประกอบกับตอนนั้นสังคมอเมริกันกำลังตื่นตัวกันถึงแนวคิดเรื่องคนเท่าเทียมกันพอดีจากกรณีการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง (Civil Rights) ของกลุ่มคนผิวดำ ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้กลุ่ม LGBTQ ออกมาเรียกร้องความเสมอภาคบ้าง

 

องค์กรแรกๆ ที่มีชื่อเสียงที่บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTQ ได้รวมกันจัดตั้งขึ้นมามีชื่อว่า Mattachine Society โดยมีแกนนำคนสำคัญคือ แฮรรี เฮย์ องค์กรนี้พยายามรณรงค์ให้สังคมเข้าใจว่าเกย์และเลสเบี้ยนก็เป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่งในสังคมเหมือนกับชายหญิงทั่วไป จุดมุ่งหมายของกลุ่มในตอนนั้นคือ พยายามที่จะกลืนชาว LGBTQ ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากกว่าที่จะมาเรียกร้องให้สังคมยอมรับอัตลักษณ์ (Identity) ของพวกเขา ทั้งนี้ จะสังเกตได้ว่าเวลาสมาชิกในกลุ่มจัดกิจกรรมหรือประท้วง สมาชิกจะแต่งตัวเรียบร้อย ใส่สูท ผูกเนกไท เหมือนผู้ชายปกติ ไม่ยอมให้มีการแต่งกายข้ามเพศ นอกจากนี้ Mattachine Society ยังพยายามที่จะรณรงค์ให้ใช้ศัพท์คำว่า Homophile (คนรักเพศเดียวกัน) แทนที่คำว่า Homosexual (คนชอบมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน) เพื่อพยายามลบล้างตราบาป (Stigma) ที่สังคมชอบมองว่าชาว LGBTQ หมกมุ่นอยู่แต่กับกิจกรรมทางเพศ ทำให้การรณรงค์ในยุคนั้นถูกเรียกโดยรวมว่ายุค Homophile Activism

 

อีกองค์กรที่มีชื่อเสียงในยุค Homophile Activism คือ One, Inc ซึ่งนำโดย เดล เจนนิงส์ โดยองค์กรนี้ได้ผลิตนิตยสารเพื่อชาว LGBTQ ในอเมริกาเป็นฉบับแรก มีชื่อว่านิตยสาร ONE โดยเริ่มวางแผงในปี 1953 แต่พอนิตยสารเปิดตัวได้ไม่นานก็เริ่มเจอปัญหาเรื่องการกีดกัน เพราะไปรษณีย์ของอเมริกาปฏิเสธที่จะส่งนิตยสารนี้ไปให้บ้านสมาชิก โดยอ้างว่าเป็นสื่อลามกอนาจาร (ทั้งๆ ที่นิตยสาร ONE เป็นนิตยสารที่ลงบทความทางสังคมและการเมืองเกี่ยวกับคนรักเพศเดียวกัน ไม่ใช่นิตยสารแนวอีโรติกหรือโป๊เปลือยอะไร) 

 

ทางองค์กรจึงตัดสินใจต่อสู้ทางกฎหมายจนไปถึงศาลสูงสุด (Supreme Court) และศาลสูงฯ ก็ได้ตัดสินให้ One, Inc ชนะ โดยศาลอ้างถึงบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment) ที่ว่า คนอเมริกันทุกคนย่อมมีเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็น

 

ผลคดีนี้ทำให้ชาว LGBTQ รู้สึกว่าตัวเองมีที่มีทาง มีตัวตนในสังคมและการเรียกร้องสิทธิในยุค 50 ตอนปลายจนถึงยุค 60 (ซึ่งเป็นช่วงที่การเรียกร้อง Civil Rights ของคนผิวดำมาถึงจุดพีกพอดีเช่นกัน) ก็เริ่มเปลี่ยนไปจากความพยายามที่จะกลืนตัวเองเข้าสู่สังคม ไปเป็นการเรียกร้องให้สังคมยอมรับการมีอยู่และอัตลักษณ์ของพวกเขา ซึ่งการรณรงค์ของกลุ่ม LGBTQ ก็ประสบความสำเร็จในหลายๆ เรื่อง เช่น การล้มเลิก Sodomy Law ในมลรัฐอิลลินอยส์ในปี 1962, การล้มเลิกกฎหมายห้ามจำหน่ายสุราให้ LGBTQ ในบาร์ของนิวยอร์กซิตี้ ซึ่งการรณรงค์นี้มีจุดเริ่มต้นจากชายเกย์ 3 คน ที่เป็นสมาชิก Mattachine Society เข้าไปนั่งบาร์ที่มีชื่อว่า Julius และสั่งเครื่องดื่มพร้อมกับแสดงตนว่าเป็นเกย์ ทำให้บาร์เทนเดอร์ปฏิเสธที่จะเสิร์ฟเครื่องดื่มให้พวกเขา ส่งผลให้พวกเขาทั้ง 3 คน นั่งประท้วงอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน และกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ The New York Times สุดท้ายกระแสสังคมก็เข้าข้างกลุ่ม LGBTQ และนำไปสู่การยกเลิกการเลือกปฏิบัติของบาร์ในนิวยอร์ก (การประท้วงของพวกเขาครั้งนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการประท้วงของคนผิวดำ เพื่อต่อต้านการเหยียดผิวของร้านอาหารที่ปฏิเสธการบริการกับลูกค้าที่ไม่ใช่คนขาว ซึ่งคนผิวดำเหล่านั้นทำการประท้วงโดยการเข้าไปนั่งในร้านโดยไม่ยอมลุกไปไหน) 

 

 

เหตุจลาจลที่สโตนวอลล์ และ Gay Liberation Front

ในปี 1969 เกิดเหตุการณ์ที่สำคัญมากที่เป็นตัวกระตุ้นให้การเรียกร้องความเสมอภาคของชาว LGBTQ ทวีความเข้มข้นขึ้น เหตุการณ์นี้มีชื่อว่า การจลาจลที่สโตนวอลล์ (Stonewall Riot) 

 

สโตนวอลล์ อินน์ เป็นบาร์เกย์ใต้ดินที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในเมืองนิวยอร์กซิตี้ โดยบาร์เกย์ในยุคนั้นเกือบทั้งหมดจะอยู่ใต้ดิน เพราะเป็นเรื่องยากมากที่บาร์เกย์จะได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายสุราจากสภาเมือง 

 

บาร์เกย์เกือบทั้งหมด (รวมทั้งสโตนวอลล์ อินน์) ต้องเปิดกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ รวมทั้งต้องมีการส่งส่วยให้กับตำรวจเสมอๆ เพื่อให้บาร์สามารถดำเนินกิจการได้โดยไม่มีตำรวจมารบกวน กระนั้นก็ตาม ตำรวจก็มักเข้ามาตรวจค้นบาร์เกย์เป็นระยะๆ เพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ที่ว่าตัวเองไม่ได้ปล่อยปละละเลย 

 

อย่างไรก็ดี การบุกตรวจค้นในย่ำรุ่งของวันที่ 28 มิถุนายน 1969 นั้นไม่เหมือนครั้งไหนๆ เพราะวันนั้นความอดทนของชาว LGBTQ ได้มาถึงขีดจำกัด กลุ่มลูกค้าที่อยู่ในร้านวันนั้นได้ต่อสู้ขัดขืนการจับกุม ทำให้ตำรวจต้องใช้ความรุนแรงกับฝูงชนด้วยการใช้กระบองทุบตีและใช้กุญแจมือ แต่นั่นยิ่งทำให้ฝูงชนยิ่งโกรธแค้น จนนำไปสู่การจลาจลในที่สุด 

 

ด้วยจำนวนลูกค้าที่มีมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ตำรวจควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ เกิดความรุนแรงมากขึ้น มีการทำลายข้าวของ และเกิดเพลิงไหม้ในที่สุด เหตุการณ์จลาจลนี้ดำเนินไปต่อถึง 5 วัน กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ และจุดประกายความโกรธแค้นให้กับชาว LGBTQ ทั่วประเทศ

 

Stonewall Riot เป็นตัวเร่งให้แนวคิดของนักเคลื่อนไหวเพื่อ LGBTQ ในยุค 60 เปลี่ยนมาสู่การรณรงค์ในรูปแบบของการเรียกร้องการยอมรับอัตลักษณ์ การรณรงค์ในยุคนี้ถูกเรียกว่ายุค Gay Liberation ซึ่งในยุคนี้เองนักเคลื่อนไหวจำนวนมากเห็นว่าวิธีการต่อสู้ของ Mattachine Society นั้นหน่อมแน้มเกินไป จึงออกมาตั้งองค์กรใหม่ของตัวเองที่มีชื่อว่า Gay Liberation Front ซึ่งองค์กรนี้ได้ออกแคมเปญหลายอย่าง เพื่อให้สังคมอเมริกันรับรู้ถึงการมีอยู่ของชาว LGBTQ เช่น แคมเปญรณรงค์ให้ชาว LGBTQ ออกมายอมรับกับครอบครัวและเพื่อนถึงเพศสภาพของตัวเอง (Come Out) รวมไปถึงการเดินขบวนในที่สาธารณะ โดยมีการจูบกันของคนเพศเดียวกัน, การล็อบบี้นักการเมืองให้ล้มเลิกกฎหมายที่ต่อต้านชาว LGBTQ และการจัด Pride Parade ในเดือนมิถุนายนของทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกเหตุการณ์ Stonewall Riot และเป็นการกระตุ้นให้ชาว LGBTQ ที่ยังไม่ยอมรับตัวเองได้เห็นว่าเพศภาวะของเธอและเขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นความผิดปกติอะไรเลย

 

หนึ่งในแคมเปญที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของ Gay Liberation Front คือการไปประท้วงการประชุมวิชาการของสมาคมจิตแพทย์ของสหรัฐฯ (American Psychiatric Association หรือ APA) ณ เมืองลอสแอนเจลิส ในปี 1970 โดยการประท้วงเกิดในขณะที่แพทย์ในสมาคมกำลังประชุมถึงแนวทางการใช้การช็อกด้วยไฟฟ้าเพื่อ ‘รักษา’ การเป็นเกย์และเลสเบี้ยน 

 

กลุ่มนักเคลื่อนไหวได้เข้าไปยึดห้องประชุม ยึดไมโครโฟนมาอภิปรายถึงความเป็นคนปกติของชาว LGBTQ จนทำให้งานประชุมต้องล่มในที่สุด เรื่องนี้เป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ และทำให้ทาง APA ต้องยอมมาตั้งโต๊ะคุยกับกลุ่ม LGBTQ ซึ่งสุดท้ายในปี 1973 APA ก็ยอมลดระดับการนิยมของ Homosexuality จากโรค (Mental Disorder) ลงมาสู่แค่ความเบี่ยงเบียน (Disturbance) ก่อนที่จะยอมรับว่าเป็นความปกติ (Normal Variation) ในปี 1987

 

ซึ่งสาเหตุที่ APA ออกมายอมรับว่า Homosexuality ไม่ใช่โรคนั้นไม่ได้เกิดจากแค่แรงกดดันจาก Gay Liberation Front เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ด้วย มีงานวิจัยอยู่ 2 ชิ้น ที่มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจในครั้งนี้ของ APA 

 

งานวิจัยชิ้นแรกเป็นของนักเพศศึกษาที่มีชื่อว่า อัลเฟรด คินซีย์ เขาได้สำรวจในคนที่ไม่มีประวัติโรคทางจิตเวชนับพันคนแล้วพบว่า ความชุกของการเป็น Homosexual มีอยู่สูงถึง 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ขัดกับความเชื่อในสมัยก่อนที่ว่าภาวะ Homosexuality มักจะเจอเฉพาะในคนที่มีโรคทางจิตเวชเท่านั้น 

 

ส่วนงานวิจัยชิ้นที่ 2 เป็นของนักจิตวิทยาชื่อ เอเวอลิน ฮุกเคอร์ ซึ่งทดสอบทางจิตเวชกับชาย Homosexual 30 คน โดยเปรียบเทียบกับชาย Heterosexual (กลุ่มคนที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม) 30 คน แล้วพบว่าคะแนนของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน ขัดกับความเชื่อเดิมที่ว่าชาย Homosexual มักมีปัญหาทางจิตมากกว่า

 

การที่ APA ออกมายอมรับว่า Homosexuality ไม่ใช่โรค ส่งผลกระทบในวงกว้างของสังคม อันดับแรกเลยคือ ทำให้มลรัฐต่างๆ เริ่มกลับมาพิเคราะห์ Sodomy Law ของตัวเองเสียใหม่ และกว่า 20 มลรัฐ ได้ยกเลิกกฎหมายนี้ในยุค 70 นอกจากนี้ Stigmata ของชาว LGBTQ ก็ลดน้อยลงไปมาก พวกเขาเริ่มกล้าที่จะ Come Out หรือเปิดเผยตัวตน รวมทั้งเริ่มสร้างชุมชนของ LGBTQ ขึ้นมา ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดก็คงจะไม่พ้นย่านถนนแคสโตรในเมืองซานฟรานซิสโก และการที่ LGBTQ รวมกันเป็นชุมชนได้ ก็ทำให้พวกเขามีพลังมากเพียงพอที่จะโหวตชนะเลือกตั้ง ทำให้ในปี 1977 ฮาร์วีย์ มิลก์ ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นสมาชิกสภาเมืองซานฟรานซิสโก (Board of Supervisor) ถือเป็นนักการเมืองเกย์แบบเปิดเผยคนแรกที่ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา

 

 

การระบาดของโรคเอดส์

อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าของสิทธิ LGBTQ ก็มาชะงักงันในช่วงยุค 80 อันเป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อ HIV และโรคเอดส์ (AIDS) เนื่องจากการระบาดของโรคในสหรัฐอเมริกาในยุคแรกเกิดกับชายรักเพศเดียวกัน ทำให้สถานภาพของชาว LGBTQ ในสายตาคนอเมริกันกลับมาตกต่ำอีกครั้ง พวกเขาถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนบาปที่มีพฤติกรรมอันผิดศีลธรรม จนกลายเป็นตัวแพร่เชื้อโรค

 

และก็เป็นโชคร้ายของชาว LGBTQ ที่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ณ ขณะนั้นคือ โรนัลด์ เรแกน ที่มีความคิดแบบขวาจัด ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลของเรแกนไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการระบาดของโรคเอดส์ในช่วงแรกๆ ซึ่งนักเคลื่อนไหวจำนวนมากเชื่อว่า เป็นเพราะการระบาดในช่วงแรกค่อนข้างจำกัดวงอยู่เพียงในหมู่ชายรักเพศเดียวกัน และผู้นำที่มีความคิดแบบขวาจัดอาจจะมองว่าปัญหามันเกิดจากความสำส่อนของเกย์เอง ไม่ใช่เรื่องที่รัฐจะต้องไปจัดการอะไร

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของความไม่ใส่ใจของรัฐบาลของเรแกนคือ การให้สัมภาษณ์ของโฆษกของทำเนียบขาว เมื่อนักข่าวถามถึงแผนการรับมือของการระบาดของโรคเอดส์ในปี 1982 (ที่ตอนนั้นมีผู้ติดเชื้อแล้วเกือบพันคน) โฆษกฯ หัวเราะ และตอบเป็นนัยว่า ไม่มีใครในรัฐบาลจะป่วยเป็นโรค Gay Plague หรอกนะ (กว่าที่รัฐบาลของเรแกนจะออกมายอมรับ และพูดถึงปัญหาโรคเอดส์กับสาธารณชนเป็นครั้งแรกก็ปาไปปี 1985 ทั้งๆ ที่มีรายงานการระบาดตั้งแต่ปี 1980) 

 

ด้วยความนิ่งเฉยของเรแกน และการที่ต้องทนเห็นเพื่อนชายรักเพศเดียวกันทยอยเสียชีวิตกันไปทีละคน ทำให้บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อ LGBTQ ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ให้รัฐบาลหันมาเห็นความสำคัญของปัญหา โดยการจัดการประท้วงในเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์โจมตีความเพิกเฉยของรัฐบาล โดยใช้สโลแกนว่า Silence = Death หรือ ความเงียบ = ความตาย ในที่สุดแรงกดดันจากการรณรงค์และการที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนลามไปถึงกลุ่ม Heterosexual ทำให้เรแกนต้องหันกลับมาเอาจริงกับการระบาดของเชื้อ HIV มีการจัดสรรเงินทุนจำนวนมากเพื่อการวิจัย จนทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถผลิตยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพเป็นจำนวนมากในช่วงกลางยุค 90 

 

อย่าถาม อย่าบอก และการสมรสเพศเดียวกัน

หลังจากปัญหาเรื่องการระบาดโรคเอดส์ทุเลาลง บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อ LGBTQ ก็เริ่มหันกลับมาต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมในสังคมอีกครั้ง โดยประเด็นต่อมาที่พวกเขาหยิบมาต่อสู้คือเรื่องของสิทธิในการเข้าเป็นทหาร เพราะกฎหมายในขณะนั้นไม่อนุญาตให้รับ LGBTQ เข้าเป็นทหาร และหากถูกจับได้หลังเป็นทหารแล้วก็จะถูกไล่ออกทันที

 

ประธานาธิบดีในขณะนั้นคือ บิล คลินตัน ซึ่งเห็นด้วยกับการรณรงค์ของบรรดานักเคลื่อนไหว และพยายามผลักดันให้สภาคองเกรสผ่านกฎหมายยกเลิกการแบนให้ได้ แต่คลินตันไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. ได้อย่างเพียงพอ สุดท้ายคลินตันจึงไปผลักดันกฎหมายที่สุดโต่งน้อยกว่าที่เรียกว่า Don’t Ask Don’t Tell ขึ้นมาแทนในปี 1994 

 

โดยกฎหมายฉบับนี้ยังแบนการเป็น Homosexual อย่างเปิดเผยอยู่ (ส่วน Don’t Tell คือห้ามบอกใครว่าคุณเป็น Homosexual) แต่กองทัพสัญญาว่าจะไม่พยายามขุดคุ้ยหรือสืบหาว่าคุณเป็น Homosexual ไหม (ส่วน Don’t Ask) พูดง่ายๆ คือกองทัพจะรับคุณเข้ามาเป็นทหารตราบที่คุณไม่แสดงออกมาเอง (Stay in Closet) 

 

ในทางทฤษฎีแล้วกฎหมาย Don’t Ask Don’t Tell เหมือนจะเป็นการประนีประนอมและเป็นชัยชนะในระดับหนึ่งของชาว LGBTQ แต่ในทางปฏิบัติ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ช่วยปกป้องทหารที่เป็น Homosexual มากกว่าสมัยก่อนหน้าเลย เพราะก็ยังมีการสืบหาในทางลับอยู่ดีว่าทหารนายไหนเป็น Homosexual และมีการไล่ออกทหารเหล่านั้นอยู่เนืองๆ (กล่าวคือไม่ได้ Don’t Ask กันจริงๆ) 

 

ชาว LGBTQ ต้องรอถึงยุคของ บารัก โอบามา ในปี 2010 ที่พรรคเดโมแครต (ซึ่งเป็นฝ่ายเสรีนิยม) ครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสทั้งสภาสูงและสภาล่าง จึงสามารถผ่านกฎหมายยกเลิกการแบน Homosexual ในกองทัพได้อย่างสมบูรณ์

 

อีกหนึ่งการต่อสู้ที่ชาว LGBTQ พยายามเรียกร้องมาตั้งแต่ยุค 90 คือสิทธิในการแต่งงาน (Same-Sex Marriage) และผลของการรณรงค์ก็ทำให้คนอเมริกันเริ่มเห็นดีเห็นงามกับแนวคิดเรื่อง Same-Sex Marriage มากขึ้นเรื่อยๆ 

 

แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะอนุรักษ์นิยมเคร่งศาสนากังวลกับประเด็นนี้มาก เพราะพวกเขาถือว่าคำว่าแต่งงานเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องสงวนไว้ให้ชายกับหญิงใช้เท่านั้น ในปี 1996 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสจึงผ่านกฎหมายที่เรียกว่า Defense Of Marriage Act (DOMA) ที่มีสาระสำคัญ 2 อย่างคือ 1. ห้ามรัฐบาลกลางยอมรับสถานะ Same-Sex Marriage ที่อนุมัติจากรัฐบาลมลรัฐ (เช่น ห้ามยอมรับการยื่นภาษีของรัฐบาลกลางร่วมกันของคู่สมรสชาย-ชาย, ห้ามคู่สมรสหญิง-หญิงรับผลประโยชน์จากประกันสังคมในกรณีที่คนใดคนหนึ่งเสียชีวิตไป เป็นต้น) และ 2. มลรัฐที่ไม่ได้มีกฎหมายยอมรับ Same-Sex Marriage ไม่จำเป็นต้องยอมรับสถานะการแต่งงานระหว่างชาย-ชาย หรือหญิง-หญิง ที่อนุมัติมาจากมลรัฐอื่น ซึ่งสาเหตุที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมตรากฎหมายนี้ขึ้นมา เพราะพวกเขารู้ว่ากระแสสังคมกำลังเทไปทางเห็นใจกลุ่ม LGBTQ และอีกไม่นานคงเริ่มมีมลรัฐเสรีนิยมที่ออกกฎหมายมารองรับสถานะ Same-Sex Marriage

 

ไม่นานสิ่งที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกังวลก็เป็นจริง เพราะในปี 2000 มลรัฐเวอร์มอนต์ก็กลายเป็นมลรัฐแรกที่ออกกฎหมายมารองรับการจดทะเบียนคู่ชีวิตของคนเพศเดียวกัน (Civil Union) และในปี 2004 มลรัฐแมสซาชูเซตส์ก็กลายเป็นมลรัฐแรกที่ออกกฎหมายมารองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน (Same-Sex Marriage) 

 

ตามมาด้วยการรองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในอีกหลายๆ มลรัฐในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่เพราะกฎหมาย DOMA ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมออกมากันท่าไว้ตั้งแต่ปี 1996 ทำให้เกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติ เพราะการแต่งงาน LGBTQ ถูกยอมรับแค่ในมลรัฐของตัวเอง กลุ่มนักเคลื่อนไหว LGBTQ จึงพยายามฟ้องร้องต่อศาลสูงสุดว่า กฎหมาย DOMA นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งสุดท้ายแล้วในปี 2013 ศาลสูงก็ตัดสินว่า สาระสำคัญข้อที่ 1 ของ DOMA ขัดกับบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 และ 14 และในปี 2015 ก็ตัดสินว่า สาระสำคัญข้อที่ 2 ของ DOMA ขัดกับรัฐธรรมนูญบทบัญญัติเพิ่มเติมฉบับที่ 14 อันเป็นผลทำให้ Same-Sex Marriage ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการทั่วสหรัฐอเมริกา

 

เทียบกับเมื่อ 100 ปีก่อน เราจะเห็นได้ว่า สิทธิและความเท่าเทียมของชาว LGBTQ ในปี 2020 นั้นดีกว่า แต่หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราก็จะมองเห็นว่า ทุกความเท่าเทียมที่ได้มาต้องต่อสู้แลกมาด้วยความบากบั่น โดยไม่เคยมีอะไรได้มาอย่างง่ายดาย 

 

บทความนี้ขอปิดท้ายด้วยสุนทรพจน์ที่ประธานาธิบดีโอบามากล่าวให้กำลังใจกับเยาวชนที่เป็น LGBTQ ในปี 2010 ว่า

 

“As a nation we’re founded on the belief that all of us are equal and each of us deserves the freedom to pursue our own version of happiness… That’s what America is all about.  And every day, it gets better”  

 

“ประเทศนี้เราสร้างขึ้นบนความเชื่อที่ว่า ทุกคนเท่าเทียมกัน และทุกคนสมควรได้รับเสรีภาพในการแสวงหาความสุขตามแบบฉบับของเราเอง… นั่นคือสิ่งที่อเมริกาเป็น และทุกๆ วัน มันจะดีขึ้นเรื่อยๆ”

 

พิสูจน์อักษร:  ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising