×

อ่านปรากฏการณ์สื่อผ่านข่าวลือ ‘คมชัดลึก’ จะปิดตัว

15.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • มีข่าวลือว่า หนังสือพิมพ์ ‘คมชัดลึก’ เตรียมปิดตัว และมีแผนลดพนักงานจาก 54 คน เหลือ 24 คน โดย ‘จ้าง’ หรือ ‘จิ้ม’ ให้ออก 30 คน
  • เทพชัย หย่อง ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชี้แจงประเด็นนี้ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 28 เมษายน ว่า ‘บริษัทไม่มีแผนที่จะปิดหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก…’
  • สื่อสิ่งพิมพ์เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนการขาดทุนมากที่สุดถึง 48 เปอร์เซ็นต์ในบรรดากลุ่มธุรกิจของเครือเนชั่น

     เนชั่นจะปิดหนังสือพิมพ์ ‘คมชัดลึก’ และขายช่อง ‘Now 26’

     ข่าวหลุด ข่าวลือ หรือข่าวจริง ยังไม่มีการยืนยันจากทางต้นสังกัด

     เพราะข่าวนี้มีที่มาจากเฟซบุ๊ก Sompop Lee  หรือ สมภพ รัตนวลี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของเวิร์คพอยท์ (บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)) อดีตพนักงานเนชั่น ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนแนล

 

     หลังจบการประชุมเมื่อวาน (14 มิ.ย.) การ ER (Early Retirement หรือการลาออกโดยสมัครใจ) รอบที่ 3 กำลังจะเริ่มขึ้น (ก่อนหน้านี้มี ER มาแล้ว 2 รอบ)

     ฝ่ายบริหารมีเป้าลดพนักงาน 543 คน (เนชั่นทีวี 400 คน + Now 26 ทีวี 143 คน) ให้เหลือ 300 คน

และขายช่อง Now 26 ให้กลุ่มบีทีเอสเข้ามาบริหารเต็มตัว

     ขณะที่หนังสือพิมพ์ ‘คมชัดลึก’ ซึ่งเตรียมปิด

     จะลดพนักงานจำนวน 54 คน โดยให้ออก 30 คน ส่วนคนที่เหลือ 24 คน จะสลับไปทำงานส่วนอื่นในเครือ

     *หมายเหตุ: รับรายชื่อถึงวันที่ 30 มิ.ย. และประกาศรายชื่อ 16 ก.ค. / นอกจากสมัครใจลาออก ครั้งนี้มีการ ‘จิ้ม’ ออกด้วย แต่ชดเชยตามกฎหมายแรงงานทุกประการ

 

     คือข้อความที่เราเรียบเรียงจากสเตตัสของ Sompop Lee

     นอกจากนี้ สเตตัสดังกล่าวยังโพสต์ภาพใบประกาศโครงการดังกล่าว

 

     แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการยืนยันเรื่องนี้จาก ‘คนใน’

     เท็จจริงหรือไม่ แค่ไหน ยังไม่มีใครรู้

     แต่คำถามคือ เรื่องนี้มีความเป็นไปได้แค่ไหน?

 

วิกฤติสื่อยุค ‘ใบไม้ร่วง’

     ข่าวสื่อเก่าปิดตัวดูจะไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์อีกต่อไป

     เพราะตั้งแต่ปี 2558-2559 นิตยสาร สื่อสิ่งพิมพ์ และทีวีบางช่อง ต่างพาเหรดกันปิดตัวเป็นว่าเล่น 

     ล้มหายไม่ต่างจากใบไม้ร่วง

     โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ‘บ้านเมือง’ ที่ประกาศยุติการผลิตหนังสือพิมพ์-เลิกจ้างพนักงาน เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว (มีผล 1 มกราคม พ.ศ. 2560)

     ขณะที่องค์กรสื่อที่เป็นสำนักข่าวขนาดใหญ่ต่างก็ได้รับพิษบาดแผล และมีการบังคับใช้นโยบายลดค่าใช้จ่ายกันถ้วนหน้า

     เช่น ไทยรัฐทีวี ประกาศให้พนักงานยื่นเข้าโครงการลาออกโดยสมัครใจ เพิ่งหมดเขตยื่นความสมัครใจเมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.) และมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป

     ทีเอ็นเอ็น (บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแม่) มีกระแสข่าวจะเลิกจ้างพนักงานฟรีแลนซ์ 9 คน จาก 110 คน โดยไม่มีเงินชดเชย ปรับลดค่าล่วงเวลา ไม่จ่ายเงินให้พนักงานที่ทำในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ไม่ให้เบิกค่ารถสำหรับคนเลิกงานหลัง 4 ทุ่ม

     ฯลฯ

      และล่าสุดกับกรณีข่าวลือว่า หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก จะปิดตัว

 

ปี 2559 ถึงไตรมาสที่ 1/60 ขาดทุนต่อเนื่อง 1.3 พันล้านบาท

     เมื่อย้อนดูงบการเงิน/ผลประกอบการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG ในตลาดหลักทรัพย์ พบว่าสัญญาณของวิกฤติเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ปี 2558

 

 ที่มา: www.set.or.th

 

     เมื่อเทียบ ‘รายได้รวม’ ระหว่างงบปี 2558 กับปี 2559

     งบปี 2558 รายได้รวม 3,165 ล้านบาท

     งบปี 2559 รายได้รวม 2,183 ล้านบาท

      พบว่ารายได้ลดลง 982 ล้านบาท หรือมากถึง 31 เปอร์เซ็นต์

     และถ้าดู ‘กำไรสุทธิ’ จะพบว่า

     ปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิ 35 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิของ 2 ปีก่อนหน้านี้ (ปี 2556-2557) จะพบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง

     ปี 2556 = 251 ล้านบาท

     ปี 2557 = 64 ล้านบาท

     ปี 2558 = 35 ล้านบาท

     ก่อนจะ ‘ขาดทุน’ อย่างหนักในปี 2559 มากถึง -1,102 ล้านบาท

     ล่าสุด จากงบไตรมาสแรก 1/60 ปีนี้ (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560) พบว่า ผลประกอบการยังคงขาดทุน -255 ล้านบาท

     คำถามคือ ทำไมเนชั่นถึงขาดทุนในปี 2559 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/60 มากถึงพันกว่าล้านบาท?

 

‘ความจริง’ ในบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น ปี 2560

     ในบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมามีคำชี้แจงสาเหตุการขาดทุนสุทธิ ปี 2559 มากถึง 1,102 ล้านบาท ว่าเกิดจาก 2 สาเหตุคือ ‘รายได้รวม’ ลดลง และ ‘ค่าใช้จ่ายรวม’ เพิ่มขึ้น

     สาเหตุที่ ‘รายได้รวม’ ปี 2559 ลดลงมากถึง 982 ล้านบาท หรือ 31 เปอร์เซ็นต์  (จากปี 2558) เกิดจากความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์สวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ช่วงไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้มีการชะลอใช้งบโฆษณา

     ขณะที่ ‘ค่าใช้จ่ายรวม’ ปี 2559 จำนวน 3,284 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2558: 155 ล้านบาท หรือ 5 เปอร์เซ็นต์) มาจากสาเหตุหลัก 2 ข้อคือ

     การปรับโครงสร้างธุรกิจผลิตและจำหน่ายสิ่งพิมพ์ (204 ล้านบาท)

     และค่าใช้จ่ายโครงการสมัครใจเกษียณก่อนกำหนดของพนักงานประมาณ 100 คน (90 ล้านบาท)

 

‘คำถาม-คำตอบ’ ในบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น ปี 2560

     บันทึกการประชุมดังกล่าวมีการอ้างถึง วิฑูรย์ นาล้วน ผู้ถือหุ้นที่เปิดประเด็นถามผู้บริหารว่า

     ‘บริษัทมีนโยบายจะปิดหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หลักหรือไม่?’

     เทพชัย หย่อง ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชี้แจงประเด็นนี้ว่า

     ‘บริษัทไม่มีแผนที่จะปิดหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก แต่จะปรับเปลี่ยนการหารายได้จากสื่อสิ่งพิมพ์เดิมไปสู่เว็บไซต์และออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มรายได้ค่าโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์จะลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสื่ออื่นๆ ทั้งอุตสาหกรรม’

     ส่วนคำตอบกรณีช่อง NOW 26 ปรากฏในคำถามเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการภาระใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง (Nation TV, NOW 26) ซึ่งตกปีละประมาณ 700 ล้านบาทว่า

     ‘…ช่อง NOW 26 อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ซึ่งจะช่วยลดภาระในอนาคต’ เทพชัย หย่อง ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ชี้แจง

 

ความน่าจะเป็นของ ‘คมชัดลึก’ และ ‘NOW 26’

     จาก ‘คำตอบ’ ของเทพชัย หย่อง ในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา

     จะพบว่า ‘ไม่มีแผนจะปิดหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก

     แต่เมื่อดูจากสัดส่วนการขาดทุน (ที่มีบันทึกในรายงานฯ) จะพบว่า ธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนขาดทุนเยอะที่สุด

     เยอะแค่ไหน?

     จากคำชี้แจงต่อผู้ถือหุ้นของสุพจน์ เพียรศิริ กรรมการบริหารและผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบัญชี เผยว่า การขาดทุน 1,102 ล้านบาท มาจาก 4 ส่วน ได้แก่

     – 88 ล้านบาท: งบเฉพาะกิจการ

     – 212 ล้านบาท: ธุรกิจสื่อด้านการศึกษาและต่างประเทศ

     – 275 ล้านบาท: ธุรกิจกระจายภาพและเสียง

     – 527 ล้านบาท: กลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์ (ในรายงานฯ ไม่ได้ระบุถึงตัวเลขที่แน่นอน ระบุเพียงว่าการขาดทุนที่เหลือจาก 3 ส่วนข้างต้นมาจากสิ่งพิมพ์)

     เท่ากับว่ากลุ่มสื่อสิ่งพิมพ์มีสัดส่วนจากการขาดทุนทั้งหมดมากถึง 48 เปอร์เซ็นต์

     เพราะฉะนั้น แม้ก่อนหน้านี้เทพชัย หย่อง จะชี้แจงว่าไม่มีแผนปิด คมชัดลึกก็ตาม แต่ก็ไม่แน่ว่าอาจมีการเปลี่ยนแผนกลางคัน เนื่องจากไม่อาจทนพิษบาดแผลจาก ‘รายได้สื่อสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างต่อเนื่อง’ ได้

      เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้มีการสั่งลานิตยสาร ‘เนชั่นสุดสัปดาห์’ ที่วางแผงมา 25 ปี เป็นฉบับสุดท้าย เมื่อ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา

     ดังนั้นถ้า คมชัดลึก จะโบกมือลาบ้าง ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ

     ขณะที่ช่อง NOW 26 แม้ในรายงานฉบับดังกล่าวจะระบุว่า แนวโน้มรายได้โทรทัศน์ 2 ช่องจากโฆษณาปี 2560 น่าจะดีขึ้นคือ

     ‘Nation TV 22 ที่ยังคงเป็นช่องข่าวอันดับ 1 และช่อง NOW 26 ที่เป็นช่องสารคดีอันดับ 1

     แต่จากคำชี้แจงของเทพชัย หย่อง ที่ว่า

     ‘…ช่อง NOW 26 อยู่ระหว่างการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ซึ่งจะช่วยลดภาระในอนาคต’

     ก็คงไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์อะไร ถ้าจะมีการตัดสินใจให้ขายช่องนี้ให้กลุ่มบีทีเอสเข้ามาบริหารเต็มตัว

 

ความหวังในวิกฤติ

     หากยังไม่ลืม…

     เมื่อปี 2540 ธุรกิจหนังสือพิมพ์เคยเผชิญวิกฤติมาแล้วรอบหนึ่ง แต่วิกฤติรอบนั้นเกิดจากพิษเศรษฐกิจ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นรายได้หลักของหนังสือพิมพ์ยุคนั้นต่างหยุดชะงักการลงโฆษณา รายได้จึงหดหาย นักข่าวตกงานเป็นสายฝน

     แต่วิกฤติในพ.ศ. นี้ต่างจากรอบนั้นและอาจวิกฤติกว่า เนื่องจากภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไปเพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของเทคโนโลยี และเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตั้งแต่วิธีการทำงานของนักข่าว สถานะการเป็นสื่อที่สั่นคลอนจากโซเชียลมีเดีย รวมถึงโมเดลธุรกิจที่ต้องฉีกตำราเดิม เพราะไม่อาจอยู่รอดได้ หากยังคิดแบบเดิมและไม่คิดใหม่

      วิกฤติที่ (คาดว่าจะ) เกิดขึ้นกับเนชั่นรอบนี้ รวมถึงสื่อยักษ์ใหญ่เจ้าอื่นๆ ที่ต่างกำลังเผชิญหน้ากับลมแรงของความเปลี่ยนแปลง

     ชวนให้นึกถึงคำพูดของ ธนาชัย ธีรพัฒนวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริษัท สปริงนิวส์ฯ) กล่าวในหนังสือ 3 ทศวรรษ NATION จากกลิ่นหมึกสู่ดิจิทัล ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2544 ว่า

     “แม้สิ่งที่เราจะพบเห็นในอีก 30 ปีข้างหน้านับแต่บัดนี้เป็นต้นไปอาจจะไม่เหมือน 30 ปีที่ผ่านมา แต่สำหรับผู้ที่เตรียมตัวเตรียมใจพร้อมจะรับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า จะเป็นผู้ที่ได้เปรียบและมีอนาคตอันรุ่งโรจน์กว่าผู้ที่ไม่มีความพร้อมอย่างไม่ต้องสงสัย”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising